ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
13 ตุลาคม 2554

จำจากงานที่ทำ ... จำจากที่ทำงาน ตอนที่ 8

ทีนี้อยากเล่าเรื่องคณะกรรมการประชาสัมพันธ์บ้าง (เดี๋ยวนี้คือคณะกรรมการพัฒนาสังคม) ซึ่งท่าน ดร.อำนวย วีรวรรณ ท่านเห็นว่าคณะกรรมการประชาสัมพันธ์น่าจะเป็นงานนโยบาย จึงแต่งตั้งเจ้าหน้าบริหาร ระดับคณะกรรมการบริหารเลย เป็นกรรมการประชาสัมพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายการประชาสัมพันธ์เป็นเลขานุการ ผลคือมีการประชุมกันครั้งสองครั้งแล้วก็สาบสูญไปครับ ผมเอ่ยถึงคณะกรรมการนี้ไว้เป็นครั้งคราวบ้างแล้ว

ผลงานของคณะกรรมการนี้สร้างประโยชน์หลายสถาน แต่เล่าแบบนี้ไม่สมควร พูดง่าย ๆงานประชาสัมพันธ์นั้นมีแผนงาน มีงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายบริหารแล้ว ต้องดำเนินงานตามที่มีในแผนกำหนดไว้เท่านั้น

แต่ธนาคารกรุงเทพเป็นองค์กรใหญ่ ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากมาย จึงเป็นที่เข้าใจว่าองค์กรอื่นๆหากคิดจะทำอะไรแล้วติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายหรือไม่ ก็เชิญให้ไปร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่แรก (ธนาคารเลยตั้งสำนักกิจกรรมพิเศษขึ้นรองรับงาน)

งานเหล่านี้มีมากและไม่มีในแผนงานประจำปี เช่น ครั้งหนึ่ง ไม่แน่ใจว่าเป็นรัฐบาลหรือรัฐสภา ซึ่งมีคณะเดินทางไปเยือนเมืองจีน เขาจัดให้ไปชมการแสดงกายกรรม เมื่อการแสดงจบลงก็มีการตบมือกันเกรียวกราว ท่านผู้นำจีนถามผู้แทนไทยว่าชอบไหม ถ้าชอบจะส่งกายกรรมชุดนี้ให้มาแสดงที่เมืองไทย

แล้ววันดีคืนดีทางจีนก็ส่งผู้แทนมาเจรจารายละเอียด คือสถานที่แสดง วันแสดง ฯลฯ ทางราชการไม่มีคนรับงานนี้ได้ จึงขอให้ธนาคารรับเป็นภารธุระจัดให้ทุกอย่างเลย

ครับ ธนาคารจะปฏิเสธก็ใช่ที่

งานนี้ถ้าใครจำได้ คือกายกรรมกวางเจา ทำตั้งแต่โฆษณา ขายบัตร เก็บตั๋ว ฯ ตอนนั้นถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ไว้ แต่ไม่รู้อยู่ไหน ใครเก็บไว้ เอามาคืนก็ดีครับ

นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างในหลายสิบอย่างที่ผ่านมาช้านาน ที่ธนาคารต้องรับ แล้วก็ยังมีโครงการต่าง ๆ อีกมาก

สิ่งเหล่านี้ฝ่ายการประชาสัมพันธ์จะเป็นผู้พิจารณากลั่นกรอง บางเรื่องก็เสนอขออนุมัติ แต่มากมายหลายเรื่องก็นำเสนอผ่านคณะกรรมการ ฯ รวมทั้งที่อาจมีงานสำคัญเกิดขึ้นระหว่างปี ที่ไม่ได้ใส่ไว้ในแผนงานประจำปี ก็อาจนำเสนอมายังคณะกรรมการฯพิจารณาเป็นครั้งคราว แต่เรื่องของสถาบันอื่น ๆนั้นมีมาก สัปดาห์ละหลายเรื่อง

ผมเป็นเลขานุการก็ต้องหาข้อมูลมาประกอบการพิจารณาของกรรมการ จนเคยมีกรรมการบางท่านค่อนแคะว่า ถ้าใครอยากได้อะไรก็ให้มาขอผม แล้วก็จะได้สมประสงค์ (เล่นเอาเขิน) แต่ท่านประธานวิระ ท่านเป็นนักบริหารที่มีคุณธรรม ทำให้งานของกรรมการราบรื่น ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของธนาคารที่ผ่านมาเป็นภาพที่ดีตลอด

เคยมีผู้เสนอให้ยุบกรรมการนี้อยู่เรื่อย แต่เพราะมันเป็นจุดผ่านที่สำคัญของผู้บริหาร ช่วยประเทาทางออกให้ได้เยอะครับ

ท่านวิระ รมยะรูป ท่านเมตตาผมมาก ให้ความเอ็นดู อบรมสั่งสอนงานให้ด้วยความกรุณา รักใคร่ผมเหมือนลูกหลาน ซึ่งผมก็ให้ความเคารพรักท่านดุจบิดา ท่านใช้สอยผมอยู่เสมอ ทั้งยังให้ติดสอยห้อยตามไปงานต่างๆ

เมื่อผมเกษียณ ท่านไปเป็นนายกสมาคมกรุงเทพกรีฑา(สนามกอล์ฟ) ก็เรียกให้ผมไปเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการสมาคม ผมไปทำประวัติสมาคมฯ ซึ่งจะจัดกอล์ฟการกุศลให้สภากาชาดไทย ไปเผยแพร่ทางยูบีซี หรือทรูวิชั่น ตอนนี้นั่นแหละครับ ไม่ต้องพูดถึงงานที่ผ่านมา

แต่ตอนก่อนที่ท่านจะป่วยมากยังเรียกผมไปปรึกษา เรื่องการทำประวัติชีวิตของท่าน ซึ่งผมเคยเรียนให้ท่านทำไว้ก่อน เพราะชีวิตและงานของท่านเป็นที่น่าศึกษาไม่น้อยเลย แต่ท่านผลัดผ่อนเรื่อยมาด้วยอาการเจียมเนื้อเจียมตัว

ท่านเกรงว่าคนอื่นเขาจะหมั่นไส้ แต่ในที่สุดก็ยอม แรกเริ่มก็เล่าให้ผมฟังก่อน ผมก็ไปเรียงร้อยแล้วเอาไปให้ท่านแก้ไข ทำไปได้เรื่อย ๆ รู้สึกว่าจะจบช่วงแรกลงตรงชีวิตตั้งแต่กำเนิด เรียนหนังสือทำงานที่ธนาคารชาติ แต่งงานจนถึงภารกิจของท่านที่ผ่านมามากมายทั้งเป็นนายกสมาคมชาวอุบราชธานี ยุวพุทธิกสมาคม เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลฯลฯ ก่อนจะถึงงานที่ท่านก้าวเข้ามาในธนาคารกรุงเทพ และสร้างความเจริญรุดหน้าโดยเฉพาะนำสาขาต่างจังหวัดจนรุ่ง กระทั่งได้ฉายาว่าเป็นบิดาแห่งสาขาภูมิภาค หรืออะไรเทือกนี้เท่านั้น (ตอนต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของทายาทของท่านต้องทำต่อครับ)

ในหน้าที่การงานนอกจากเป็นผู้จัดการฝ่ายอำนวยการสาขาแล้ว ตัวของท่านวิระ ดูเหมือนจะทำหน้าที่เลขานุการส่วนตัวของนายห้างชินกรายๆด้วย

ผมก็ได้รู้ได้เห็นชีวิตการทำงานบางส่วนของนายห้างชินฯ ทำให้ทราบเกร็ดบางเรื่อง เช่น ประวัติของธนาคารที่นายห้างเล่าว่าสมัยนั้นคุณควง อภัยวงศ์ (อดีตนายกรัฐมนตรีไทย) มาชวนให้ท่านเข้าหุ้นตั้งธนาคาร ท่านบอกว่าแต่ก่อนมีแต่ธนาคารต่างชาติ อนาคตเมืองไทยจะต้องค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ควรมีธนาคารของไทยไว้สู้กับธนาคารต่างประเทศ ซึ่งตอนนั้นธนาคารต่างประเทศมีเหตุต้องปิดตัวลงเพราะสงครามโลกครั้งที่ ๒ เกิดในไทยด้วย ญี่ปุ่นเข้ามายึดรัฐบาลไทยไว้ได้

เรื่องของธนาคารกรุงเทพมีประวัติเป็นเล่มหาดูได้

นายห้างชิน ฯ เล่าว่าท่านก็ไม่ได้ติดใจอะไร ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาทำกิจการธนาคารด้วยซ้ำ แต่เมื่อธนาคารมีปัญหาทางการเงิน ผู้จัดการคนเก่าลาออกไป ผู้ถือหุ้นจึงมอบหมายให้ท่านเป็นผู้จัดการ ท่านก็จำต้องยอม

ท่านเล่าด้วยว่าเรื่องการบัญชีท่านก็ทำไม่เป็น ท่านจึงไปเชิญคุณ
บุญชู โรจนเสถียร มาเป็นสมุห์บัญชี กฎหมายผมก็ไม่รู้เรื่อง ผมก็ไปเชิญคุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ มาเป็นที่ปรึกษากฏหมาย เรื่องต่างประเทศผมก็ไม่สันทัด ผมก็ไปเชิญคุณว.อธิ อาวิลาสกุล มาช่วยงานด้านต่างประเทศ (เล่าตอนทำประวัติธนาคารเพื่อเตรียมเปิดอาคารสำนักงานใหญ่สีลม – ผมหาวีดีโอชุดนี้ไม่เจอแล้วครับ)

ผมขอออกนอกเรื่องไปหน่อยนะครับ เพราะมันก็เกี่ยวกับธนาคารอยู่ด้วย

ผมเคยได้รับคำบอกเล่าว่า เวลาธนาคารขาดสภาพคล่อง นายห้างยังต้องไปเอาเงินจากนายห้างมัสกาตีกับบริษัทมัชชการ (อยู่แถว ๆ ทรงวาด) มาหมุนอยู่บ่อย ๆ

คนเก่าสมัยอยู่ราชวงศ์มาก่อนเล่าให้ฟัง ผมไม่ยืนยันนะครับ คนเล่าก็สิ้นชีพไปหมดแล้ว

มีอยู่ครั้งหนึ่งพระยามานวราชเสวีมาเยี่ยมนายห้างที่สำนักงานใหญ่ ชั้น๖ ที่พลับพลาไชย สนทนากันหลายเรื่อง ผมจำไม่ได้ แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมจำได้คือ ท่านเจ้าคุณถามนายห้างชิน ฯ ถึงพนักงานคนหนึ่งที่เคยดูแลท่านเมื่อคราวไปเที่ยวญี่ปุ่น

เจ้าคุณเล่าว่าพนักงานผู้นั้นจะมาคอยดูแลเอาใจใส่ท่านตลอดเวลา แต่พอตกเย็นเขาจะมาขออนุญาตไปเรียนหนังสือตอนค่ำ เขาคงเรียนจบและทำงานธนาคารแล้ว ชมนายห้างฯ ว่าเลี้ยงดูพนักงานดี ส่งเสริมให้คนได้รับการศึกษา(ผมจึงเชื่อว่านายห้างมีความคิดในเรื่องการเรียนอยู่เสมออย่างที่เล่าไว้ตอนท่านมอบทุนการศึกษา)

ผมพยายามตามหาพนักงานท่านนั้นอยู่เสมอ ผมเดาเอาว่าถ้าไม่ใช่ พี่สุพงศ์ โสตถิทัต ก็น่าจะเป็น คุณประสิทธิ์ มกรากร แต่จนแล้วจนรอดผมก็ไม่กล้าถามสักทีทั้งๆที่ก็สนิทกันนะ (ถ้าเป็นเฮียสิทธิ์ไม่ต้องแย้งผม ถ้าไม่ใช่เฮียต้องเคลียให้ผมด้วยว่าใคร เพราะรุ่นเดอะขนาดนั้น ผมรู้จักเฮียที่เคยเป็นพนักงานสาขาโตเกียวคนเดียว)

ผมจำคำให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ถึงเรื่องการดูแลลูก ๆให้เป็นคนดีได้ทุกคน และทุกคนอยู่ในระเบียบวินัย โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงิน ท่านพูดว่า

ผมเป็นลูกคนจน ชีวิตลำบาก จึงจำเป็นต้องกระเบียดกระเสียน ส่วนลูกของผมเขาเป็นลูกคนรวย ชีวิตเขาสบาย แต่เขาก็จดจำคำสอนของผมได้ทุกคน

ครับ ก็เท่านั้นที่เป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งที่มีมากมายในชีวิตของท่าน

ผมคิดเองว่าท่านใช้ชีวิตวัยหนุ่มด้วยความเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด ท่านอดทนขยันหมั่นเพียร ยามนั้นผมเชื่อว่า การกินอยู่ท่านแม้จะไม่อดมื้อกินมื้อ แต่ก็คงไม่ใช่หูฉลาม ปลากะพงน้ำแดงอะไรเทือกนี้หรอก

แต่เมื่อท่านล้มป่วยในวาระสุดท้าย พูดจาไม่ได้ท่านขอปากกาจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งแล้ววาดรูปเป็ด ท่านคงอยากกินเป็ดย่างไฟแดงหรือเป็ดปักกิ่งอะไรสักอย่าง แต่ท่านก็กินไม่ได้เสียแล้ว

นี่แหละคนเวลาจนไม่มีจะกิน แต่เวลามีจะกิน ก็ไม่ได้กิน(โธ่)



Create Date : 13 ตุลาคม 2554
Last Update : 17 ตุลาคม 2554 2:20:28 น. 0 comments
Counter : 929 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]