ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
29 กันยายน 2554

จำจากงานที่ทำ... จำจากที่ทำงาน ตอนที่ 2

ที่บอกว่าอาจารย์สถิตย์ เสมานิล หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยนั้น ควรเล่าเสริมไว้หน่อย เพราะตั้งแต่ท่านหายไปผมก็รู้สึกไม่สบายใจมาจนถึงทุกวันนี้ จริง ๆ ครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ล่าสุด อาจารย์สถิตย์ ท่านนั่งทำงานอยู่กับพวกเราที่ศูนย์สังคีตศิลป์ คุณเนาวรัตน์ ก็ช่วยดูแลสารพัด แม้กระทั่งค่าใช้จ่าย ตอนนั้นพักอยู่กับใครหรือเช่าบ้านใครก็จำไม่ได้ จำได้เพียงว่าผมเคยไปหาท่านที่ๆพำนักอยู่ บ้านอยู่ถนนประชาราษฎร์สาย ๒ แถวบางโพ พ.ศ.นี้(๒๕๕๔) คงไม่เหลือร่องรอยแล้ว เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปเกือบหมด

อาจารย์สถิตย์ ตามประวัติ ไม่มีลูกเมีย ดูเหมือนจะมีน้องหรือหลานอยู่ แต่ก็ไม่ใคร่ได้ติดต่อกัน หลัง ๆ มีเด็กผู้หญิงมาหาบ่อย ๆท่านก็ให้สตุ้งสตางค์ไปใช้ เราก็มอง ๆ กันไว้

มีอยู่ครั้งหนึ่งท่านขอเบิกเงินจากคุณเนาวรัตน์ ๆไม่ให้ เพราะเห็นมีเด็กผู้หญิงมายืนลับ ๆล่อ ๆ

อาจารย์ก็โทรศัพท์ไปหาผมที่สาขาสุรวงศ์แจ้งความต้องการ ผมก็ให้อาจารย์รออยู่ที่ศูนย์สังคีตศิลป์นั่นแหละ ผมจะไปหาเดี๋ยวนี้ กว่าผมจะไปถึงเรื่องที่นั่นก็จบไปแล้ว ดูเหมือนอาจารย์จะเคืองหรือน้อยใจคุณเนาวรัตน์อยู่หน่อย ๆ พูดเหมือนกับว่าอยากจะตาย

มีใครแกล้งถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่ อาจารย์บอกว่าวันสองวันนี่แหละวันที่ผมก็แย้งว่าอีก ๒ วันก็คือวันที่ ๑๒ สิงหาคมนี่นา (ปีไหนก็ขี้เกียจไล่ครับ) ผมเลยแกล้งแซวอาจารย์ว่า อาจารย์ตายวันสำคัญอย่างนั้นไม่ได้นะ เดี๋ยวพวกเราเดือดร้อน

ตอนนั้นไม่มีเสียงหัวเราะเพราะกำลังหน้าสิ่วหน้าขวาน อาจารย์พูดแบบงอน ๆ ตามประสาคนแก่ว่า ถ้าผมจะตายผมจะไม่ให้พวกคุณต้องเดือดร้อนเพราะผมหรอก

เรื่องวันนั้นจะผ่านไปอย่างไรลืมไปแล้ว

วันหนึ่ง ธนาคารเปิดทำการหลังหยุดปีใหม่ได้สักวันสองวัน อาจารย์ไม่ได้มาทำงานเหมือนเช่นเคย เริ่มมีคนตั้งข้อสังเกต แล้วก็เริ่มโทรศัพท์ไปตามบ้านลูกศิษย์ลูกหา ที่เคยรับอาจารย์ไปพักผ่อนหรืออาจารย์ไปหาเป็นครั้งคราวตามอัธยาศัย

คำตอบก็คือไม่มีใครพบเห็นอาจารย์เลยแม้แต่คนเดียว

เราหลายคนพยายามทบทวนเหตุการณ์เพื่อจะได้ไปแจ้งความคนหาย

เรื่องก็มีอยู่ว่า วันศุกร์สุดท้ายของเดือนธันวาคม (ปีไหนก็ไม่ไล่แล้ว) อาจารย์ดูเหมือนจะได้เบิกเงินเดือน และอาจจะมีโบนัสด้วยนะ เย็นวันนั้นอาจารย์ก็ลงจากที่ทำงาน โดยไม่ได้มีใครสังเกตุว่าจะมีลางบอกเหตุใด ๆ และจากวันนั้นถึงวันเขียนบันทึกนี้ ก็ไม่มีโอกาสเห็นอาจารย์สถิตย์อีกเลย

เราลงแจ้งความ ออกข่าว ติดตามทุกหนแห่ง แม้ทุกโรงพยาบาลที่บอกว่ามีคนแก่ประสบอุบัติเหตุ ก็ไปขอเปิดดูศพที่ห้องดับจิต

ไม่มี ไม่พบจริง ๆครับ

“ปราชญ์..ผู้ปราศไปโดยไร้ร่องรอย”แท้ ๆ (อาจารย์พูดจริงทำจริง ศพเลยไม่ได้เผา) และขอเอาบทสักวาที่คุณเนาวรัตน์ เขียนให้อาจารย์ในงาน ๑๐๐ ปีอาจารย์สถิตย์ เสมานิล ไว้ดังนี้

สักวาถวายพานอาจารย์สถิตย์
สร้อยโสภิตภาษาไทยใส่พานถวาย
จำเรียงถ้อยร้อยคำจำรัสราย
เป็นสร้อยสายอักษราเสมานิล
สถิตที่ทิพย์สถานอันสูงสถิต
ศักดิ์สิทธิ์สรวงสวรรค์แห่งวรรณศิลป์
ทุกวันแว่วสักวาน้ำตาริน
ยังถวิลถึงอาจารย์ทุกวันเอย.

งานที่ท่านบุญชู เริ่มไว้ก่อนผมเข้าทำงาน คือการจัดประกวดวรรณกรรมไทย ด้วยมุ่งหวังให้เกิดมรดกทางภาษาและหนังสือ มีคุณเอกไท นิลโกสิตย์เป็นผู้รับผิดชอบ ผมก็เป็นผู้ช่วยท่านเรื่อยมา

ทำให้เกิดวรรณกรรมชั้นครูเกิดขึ้นหลายเล่ม เช่น ภูมิวิลาสินี วิมุติรัตนมาลีและกรรมทีปนี ของพระศรีวิสุทธิโสภณ (ท่านเจ้าคุณวิลาศ ญาณวโร วัดดอนยานนาวาซึ่งได้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดยานาวา -มรณภาพแล้ว) และอีกหลายเรื่อง ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง

กรรมการตัดสิน คือ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร เป็นประธาน
คณะ กรรมการได้แก่
อ. เกษม บุญศรี
อ.สถิตย์ เสมานิล
อ.เสฐียร พันธรังษี
คุณณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม
ภายหลังมี อ.จำนงค์ ทองประเสริฐ และ
คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

หลัง ๆมีประกวดอีกหลายประเภทเช่น หนังสือสำหรับเด็กและเรียงความด้วย
ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล
อาจารย์แม้นมาส ชวลิต
ดร.นิตยา มาศวิสุทธิ์
อาจารย์ชมัยพร แสงกระจ่าง
และอีก ๒-๓ท่าน ยังนึกชื่อท่านไม่ออก

ธนาคารได้เชิญเข้ามาเป็นกรรมการในการประกวดตามประเภทที่จัด งานวรรณกรรมไทย

เมื่อจัดประกวดและตัดสินแล้วมีพิธีมอบรางวัล ธนาคารได้รับพระเมตตาจากเสด็จในกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นผู้วินิจฉัยขั้นสุดท้าย และประทานรางวัลผู้ชนะประกวดด้วยพระองค์เองจนสิ้นพระชนม์

ท่านจอมพลประภาส จารุเสถียร ท่านเป็นประธานแบงค์ ก็เป็นผู้มอบรางวัลต่อมา

ที่สำคัญคืองานจัดประกวดวรรณกรรมนี้ธนาคารได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์อุปถัมภ์และทรงวินิจฉัยงานวรรณกรรม

น่าเสียดายที่มูลนิธิธนาคารกรุงเทพเลิกราไปอย่างเงียบ ๆ

นอกจากท่านผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวแล้ว เรายังได้ท่านผู้รู้ทางพุทธศาสนามาอีกท่านหนึ่ง คืออาจารย์วิจิตร สมบัติบริบูรณ์ ปธ.๙(อดีตพระราชวิสุทธิเมธี)

ท่านได้มาสร้างกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอีกหลายโครงการที่เหลืออยู่ และทำให้ธนาคารเป็นที่รู้จักของพระเถระผู้ใหญ่ตลอดมา ก็คือ การจัดแสดงมุทิตาธรรมแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค

เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับพิธีการทางศาสนาไว้อีกหลายเล่ม (และอีกมากโครงการด้วย) และขออนุญาตเอ่ยนามนักการศาสนาคนสำคัญ ที่อยู่ธนาคารอีกท่านหนึ่งมาช่วยงานเลขานุการด้านภาษาไทย ให้ท่านบุญชู เราเรียกท่านผู้นี่ว่า มหาสังเวียน มีเผ่าพงศ์ เป็นสหธรรมิกกับอาจารย์วิจิตร เสียดายท่านอายุสั้นเกินไป

ตรงนี้ขอแทรกเรื่องตัวเองไว้หน่อย คือผมเข้าทำงานหลายปีเงินเดือนก็ขึ้นปีละ ๒๕๐ บาทเรื่อยมา ก็ดีใจนะ

อยู่มาวันหนึ่งหลังจากที่ทุกคนเป็นปลื้มกันกับเงินเดือน พี่ราศรี เป็นพี่ที่ทำงานอยู่ก่อนผมและสนิทสนมกันดี ก็ถามว่าเงินเดือนขึ้นเท่าไหร่ ผมก็บอกว่า ๒๕๐ บาท

พี่ราศรีบอกว่าอะไร ปีที่แล้วก็ขึ้นเท่านี้ไม่ใช่หรือ
ผมก็บอกว่าใช่ครับ
แกก็บอกว่ามันต้องขึ้นมากว่าเก่าซิ ยังงี้น่าจะมีอะไรผิดปกตินะ
แล้วก็เลยถามผมว่า ก่อนเข้ามาทำงานแบงค์ผมไปบนบานศาลกล่าวที่ไหนไว้บ้างหรือเปล่า
ผมก็ร้อง อ๋อ! ทันที
ผมไปหาเพื่อนที่เรียนที่ธรรมศาสตร์ด้วยกันเขามีที่ทำการคือเชิงสะพานพุทธ(น.ส.พ.ข่าวพาณิชย์) ไปบอกเขาว่าจะไปสัมภาษณ์เข้าธนาคาร
เพื่อนก็ให้ผมขึ้นไปอธิษฐานขอพรที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ผมก็ทำตาม และเมื่อเข้าทำงานแล้ว ลืมไปแก้บนเสียสนิท
ผมก็เลยต้องรีบเอาดอกไม้ธูปเทียนไปกราบขอขมาและแก้บน
เชื่อไม๊ครับ

ปีต่อมาผมเงินเดือนขึ้น ๖๐๐ บาท เท่ากับอาจารย์วิจิตร ที่ถูกให้ไปนั่งเก็บแฟ้มประวัติพนักงานอยู่หลายปีเหมือนกัน

กล่าวถึงอาจารย์วิจิตร ต้องยกนิ้วให้ท่าน ในการจัดทำโครงการแสดง
มุทิตาธรรมพระเปรียญ ๙ ว่าเป็นสุดยอด

ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรเปรียญที่ได้รับตาลปัตรพัดรองจากธนาคารไปหลายร้อยรูป และหลายสิบรูปเป็นพระราชาคณะปกครองสงฆ์ในพระอารามต่าง ๆ เป็นครูบาอาจารย์ในสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณรมากมาย

โครงการนี้จึงส่งผลในด้านภาพลักษณ์ที่ดีมาตราบเท่าทุกวันนี้

มีเรื่องสำคัญแทรกไว้ตรงนี้นิดหนึ่งราวปี ๒๕๑๓-๑๔
ธนาคารกรุงเทพ นำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในกิจการธนาคารเป็นแห่งแรกแล้วก็ใช้ online กับสาขานครหลวงก่อน ก่อนที่องค์กรใดในเมืองไทยด้วย (ฟันธง)

แต่เรื่องที่จะเล่าไม่เกี่ยวกับงานธนาคาร

เมื่ออาจารย์วิจิตรมารวมงานทางศาสนา ผมก็ได้ความคิด ถ้านำพระไตรปิฎกมาใส่ในคอมพิวเตอร์น่าจะเกิดประโยชน์ต่องานเผยแพร่พระศาสนา เพราะธนาคารได้พัฒนาโปรแกรมมาพักใหญ่แล้ว

ผมจึงไปกราบนมัสการพระพรหมคุณาภรณ์หรือท่านเจ้าคุณประยุทธ (ป.อ.ปยุตโต) ซึ่งท่านจำพรรษาที่วัดพระพิเรนทร์ แถววรจักร(สมณศักดิ์ตอนนั้นผมจำไม่ไดครับ) ได้นำดำรินี้ไปหารือกับท่าน โดยมีเจ้าหน้าที่จากฝ่ายคอมพิวเตอร์ไปกับผมด้วยคนนึงจำชื่อ จำหน้าเขาไม่ได้แล้ว มันหลายสิบปีเต็มที

ท่านเจ้าคุณประยุทธท่านเป็นนักวิชาการ มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์มากกว่าผมหลายร้อยเท่า ท่านเจ้าคุณสนทนากับเจ้าหน้าที่ธนาคารเราท่านนั้น โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆและแนะนำวิธีอย่างละเอียดซึ่งกันและกัน

ผมได้แต่รับฟังเฉย ๆ

นั่นเป็นการจุดประกายการนำพระไตรปิฎกลงในคอมพิวเตอร์ จากนั้นผมก็นมัสการลาท่าน มาทำเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชา

คำตอบก็คือธนาคารไม่พร้อม งานธนาคารล้นมือ เรื่องจบลงแค่นั้น

แต่มหาวิทยาลัยมหิดลทำสำเร็จไปหลายปีแล้ว

ผมเห็นข่าวครั้งนั้นก็ทำได้แค่ระลึกชาติ เมื่อเร็ว ๆนี้คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ พบผมแล้วถามว่า ธนาคารเคยคิดนำพระไตรปิฎกลงคอมพิวเตอร์ด้วยหรือ ผมก็บอกไปเหมือนที่เล่าไว้ข้างต้น

คุณเนาว์รัตน์จึงบอกกับผมว่า ท่านเจ้าคุณประยุทธ เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ในเรื่อง พระไตรปิฎกคอมพิวเตอร์ เมื่อเริ่มคิดทำในยุค mainframe” ตอนหนึ่งว่า...
...เมื่อ ๓๐ กว่าปีมานี้ อย่างช้าก่อน พ.ศ. ๒๕๒๓
วันหนึ่งได้มีผู้ติดต่อไปที่วัดบอกอาตมาว่า จะขอปรึกษา เรื่องการที่จะใช้คอมพิวเตอร์นำธรรมะจากพระไตรปิฎกมาตอบคำถามของประชาชน ต่อมาได้ความว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ มูลนิธิธนาคารกรุงเทพและเจ้าของความคิดนี้คือ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ที่นั่นมีการคิดกันว่า เวลานั้น ธนาคารกรุงเทพมีคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาก้าวหน้าที่สุดมาใช้คือเมนเฟรม (mainframe) ซึ่งมีกำลังมหาศาลและโปรแกรมคอมพิวเตอร์เวลานั้น ก็พัฒนาถึงขั้นมี expert system ธนาคารควรใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่นี้ให้เป็นประโยชน์ในการบริการประชาชน...” (จากหนังสือนักวิชาการไทย หาความรู้ให้แน่ ใช่แค่คิดเอา”)

ตรงนี้ขอขยายความสักเล็กน้อยครับ บทความของท่านเจ้าคุณถูกต้องแล้ว แต่ผมกับคุณเนาวรัตน์อาจไปพบท่านกันคนละครั้ง เป็นธรรมดาที่ท่านจะจำคุณเนาวรัตน์ได้ดีกว่าผมแน่นอน

อย่างไรก็ตามต้องขอกราบขอบพระเดชพระคุณ พระพรหมคุณาภรณ์เป็นอย่างสูงที่ให้ข้อมูลนี้แก่สาธารณชน

ช่วงนี้ เป็นเวลาก้าวกระโดดของงานประชาสัมพันธ์ของธนาคารกรุงเทพ

โครงการต่าง ๆเกิดขึ้นหลายสิบโครงการ โดยความเห็นชอบของท่านบุญชู อนุมัติให้ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ดำเนินการ

พูดก็พูดเถอะ งานที่หน่วยงานของรัฐและเอกชนที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ล้วนเป็นกิจกรรมที่ธนาคารกรุงเทพทำมาก่อนแล้วแทบทั้งสิ้น

รึใครว่าไม่จริง

ซึ่งผมจะเก็บมาเล่าในบางโครงการที่ยังยืนยงมาถึงทุกวันนี้

นอกจากรายการวิทยุแล้ว ธนาคารมีรายการโทรทัศน์สำหรับเด็ก เกิดขึ้นก่อนใครๆ ชื่อว่า
รายการยุวทัศน์
คุณศุภวรรณ สวนศิลป์พงศ์ เป็นพิธีกรทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม (คือช่อง ๙ อสมท.ในปัจจุบัน)

รายการนี้ดังไม่เบา รายการโทรทัศน์ที่ดังมากอีกรายการหนึ่งคือ

รายการสังคีตภิรมย์
เป็นรายการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทย รายการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จมาทรงดนตรีและทรงขับร้องในรายการหลายครั้ง นับตั้งแต่ยังทรงเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ มหาวิทยาลัย
ต่อมารายการยุวทัศน์เลิกไป ก็มาทำรายการทีวี ที่สร้างภาพลักษณ์ธนาคารได้มาก

อีกรายการหนึ่งคือ”หนึ่งในร้อย”เป็นรายการบันเทิงคดี คุณวิไล
(เพ็ชรเงาวิไล) อิสสระ อดีตนางเอกหนัง เป็นพิธีกร
ทำหลายปี เคยได้รางวัลเมขลา หรือโทรทัศน์ทองคำ สักอย่างด้วย

รายการโทรทัศน์และวิทยุอีกรายการหนึ่งที่ทำมานานเปลี่ยนแปลงไปหลายครั้งหลายคนคือ
รายการเพื่อนคู่คิด ตอนนี้ออกอากาศทางช่อง ๓

เดิมคุณอัจฉรา (บุนนาค) นววงศ์เป็นพิธีกร และดำเนินธุรกรรมการจัดรายการมานานมาก

ายการเหล่านี้เกิดจากอาจารย์จำนง รังสิกุล เป็นผู้ริเริ่มขึ้นในตอนที่ท่านมาเป็นที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพแล้ว รายการทีวีและรายการวิทยุดีๆหลายรายการเลิกราไปแล้วจนกลายเป็นตำนาน

มีที่ต้องกล่าวถึงไว้ด้วยก็คือ ธนาคารได้รับความร่วมมือในการทำรายการวิทยุ จากกรมประชาสัมพันธ์อีกสามรายการได้แก่

รายการลูกทุ่งเกษตร อาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ เป็นผู้จัดเนื้อหาเกี่ยวกับการเพาะปลูกทั้งสิ้น

รายการหมอชาวบ้าน ศ.นายแพทย์เสนอ อินทรสุขศรี เป็นผู้จัดเนื้อหาก็เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

รายการการสังคีตภิรมย์ อาจารย์หมอพูนพิศ อมาตยกุลเป็นผู้ดำเนินรายการ เนี้อหาเกี่ยวกับการส่งเสริมดนตรีไทย

ที่ทำนี้ธนาคารจัดทำสำเร็จส่งให้สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เกือบหรือกว่า ๓๐ สถานี

ทำอยู่หลายปี ก่อนที่กรมประชาสัมพันธ์จะตั้งศูนย์ผลิตรายการขึ้นแล้ว จึงล่าถอยออกมา

โครงการสำคัญอีกอันหนึ่งที่สองท่านที่ปรึกษาคืออาจารย์จำนง กับอาจารย์ประคิณ เป็นต้นคิดขึ้นคือ

จิตรกรรมบัวหลวง

ก่อนจะมาจัดประกวดก็ได้รับความกรุณาจาก ท่านอาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข (ก่อนที่ท่านจะเป็นศิลปินแห่งชาติ) เป็นผู้วางรากฐานการจัดประกวด

เริ่มแรกมีเพียง ๒ ประเภท คือ ประเภทร่วมสมัยและไทยประเพณี

ต่อมาจึงมีแนวไทยประเพณีเกิดขึ้นอีกประเภทหนึ่ง

เมื่อแรกประกวดได้จัดพิธีมอบรางวัลที่หอศิลป์ พีระศรี ซอยอรรถการประสิทธิ์ ซึ่งเป็นของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร และท่านเป็นประธานมอบรางวัลอยู่หลายครั้ง

ต่อมาย้ายมาจัดที่ชั้น ๙ อาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม

ต่อมาธนาคารจำเป็นต้องใช้พื้นที่จึงย้ายไปจัดที่วังที่พระ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานศิลปกรรมแห่งชาติ

จำได้ว่าครั้งหนึ่งที่ท่านบุญชู ไปเป็นประธานเปิดนิทรรศการ
ท่านอังคาร (คุณอังคาร กัลยาณพงศ์-ศิลปินแห่งชาติ) ยังได้ปะทะคารมกันตามประสาคนเก่งทั้งคู่

ผมจำถ้อยคำที่ต่อปากต่อคำกันไม่ได้ครับ
ได้แค่จำเหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเท่านั้น

เมื่อธนาคารก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ขึ้นที่สาขาสะพานผ่านฟ้า จึงได้มาจัดแสดงถาวรมาจนถึงทุกวันนี้










Create Date : 29 กันยายน 2554
Last Update : 23 มกราคม 2555 1:28:30 น. 1 comments
Counter : 2334 Pageviews.  

 
< font color=red size=9>ได้รู้ที่มาของหลายๆเรื่อง ขอบคุณค่ะ


โดย: deco_mom วันที่: 3 ตุลาคม 2554 เวลา:17:25:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]