ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
<<
มิถุนายน 2554
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
10 มิถุนายน 2554

ชีวิตเด็กวัด ตอนที่ 1

ผมเป็นเด็กวัดสัตตนารถปริวัตรโดยกำเนิด เพราะพอจำความได้ผมก็อยู่กับยาย(ที่จริงเป็นยายทวดด้วยซ้ำ) ที่บ้านเลขที่ ๒๐๔๖ ถนนวรเดช ก็คือหน้าวัดนั่นแหละครับ โตที่ริมแม่น้ำแม่กลอง

สมัยก่อนนั้นมีรางรถเข็นหินจากเรือนจำจังหวัดราชบุรีเอาหินมาเทใส่เรือต่อ ขนไปไหนผมก็ไม่รู้ เป็นหินสำหรับใช้ในการก่อสร้างที่ผู้ต้องขังในเรือนจำใช้ฆ้อนทุบจนเป็นหินเล็ก ๆ

พอโตหน่อยยายก็ให้นั่งรถ ๓ ล้อไปเรียนอนุบาลที่โรงเรียนหมอกิ้งกู่ ผมจำได้ว่าเรียกอย่างนี้ แต่ชื่อจริง ๆ เป็นอย่างไรเพื่อนที่เรียนสมัยนั้นช่วยแก้ไขให้ด้วย

ขยับโตขึ้นมาอีกหน่อยก็เข้าโรงเรียนเทศบาล ๑ ที่หน้าวัดสัตตนารถ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ตอนเป็นเด็กก็ดูใหญ่โต ไปเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้เล็กไปถนัดใจ (อาคารเดิมนะครับ) เรียนอยู่ที่นั่นถึงชั้น ป.๒ ได้กระมังครับ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยายก็พาอพยพไปฝากท่านมหาหวล ซึ่งเป็นญาติกัน ผมเรียกท่านว่าหลวงปู่ แต่ตอนนั้นท่านยังเป็นพระมหาหนุ่ม หุ่นดี ที่วัดเกตุการาม อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ตอนนั้นโรงเรียนต่าง ๆ หยุดเรียนหนีภัยสงครามกันหมด สงครามกำลังเข้มข้น

ขอย้อนนิดหนึ่ง ตอนเรียนชั้นประถม ๑ – ๒ ผมเป็นนักเรียนบรรดาศักดิ์หรือเพราะฉลาดน้อยที่สุดก็ได้ คือตอนเย็นเลิกเรียนแล้วประมาณ ๓-๔ โมงเย็น จะต้องไปเรียนเลข อ่านหนังสือภาษาไทยกับหลวงลุง (พระพูน หลำวิไล จำฉายาท่านไม่ได้) ก่อนไปเรียนก็ต้องไปกราบหลวงปู่ (พระครูปลัดเปรม) ก่อน

พอเรียนเสร็จประมาณ ๕ โมงเย็นก่อนกลับบ้านก็ต้องไปกราบหลวงปู่ ตอนนี้ก็จะมีขนมเปี๊ยะ กล้วยหอม เงาะ มังคุดใส่จานหล่อน้ำกันมดขึ้น ท่านก็ชี้ไปที่จานนั้นผมก็หยิบของเหล่านั้นติดมือใส่กระเป๋ากางเกง อิ่มทั้งสมอง อิ่มทั้งลำไส้ เป็นเด็กน่าจะสบาย แต่ก็ไม่ได้เรื่องจนกระทั่งบัดนี้

กลับเข้าประเด็นสงครามโลกครั้งที่ ๒ อีกนิด ที่ลงไปอยู่ที่วัดเกตุการามนั้นหลวงปู่หวล (ท่านเจ้าคุณ พระเทพเมธาภรณ์ สมณศักดิ์ปัจจจุบัน ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมนิมิตร อ.เมือง สมุทรสงคราม นัยว่าเป็นเจ้าคณะจังหวัดฝ่ายธรรมยุติ) ได้มานิมนต์หลวงปู่ปลัดเปรมกับหลวงลุง ไปจำพรรษาที่วัดเพื่อหลบภัยสงคราม หลวงปู่มีอายุมากแล้วยอมลงไป ส่วนหลวงลุงคงจำพรรษาที่วัดสัตตนารถต่อไป ผมก็ติดตามหลวงปู่ไปเป็นศิษย์วัดเกตุการาม

ยายหวังจะให้ไปเรียนหนังสือต่อที่นั่น ยายก็ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่บ้านย่า (ปู่เงิน ย่าแปลก) ที่บ้านบางแค อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แต่ขึ้นมาเยี่ยมผมบ่อย ๆ

ยายพายเรือเก่งมาก ผมจำได้ว่า เมื่อตอนอยู่ที่หน้าวัดสัตตนารถ ปีหนึ่งยายจะต้องลงไปที่บ้านบางแค หรือต่อไปที่บ้านบางขันแตก ยายจะพายเรือไป

ผมก็มีพายเล็ก ๆ พายไป นั่งหลับไปบ้าง ยายก็เอาใบพายตีน้ำให้กระเซ็นเปียกผม ก็สะดุ้งตื่นตาสว่าง ช่วยยายพายต่อไป พายเป็นวัน

ถ้าถึงเวลาเที่ยงยายก็จะจอดเรือริมแม่น้ำที่มีร่มเงาไม้กินข้าวกินน้ำที่ยายเตรียมมา อิ่มดีแล้วก็พายเรือกันต่อไป

สมัยนั้นเรือยนต์มีไม่มาก เรือหางยาวยังไม่เกิดนาน ๆ จึงเจอคลื่นจากเรือยนต์บ้างทำให้ตื่นเต้นดี เมื่อเรือเข้าคลองบางแค ที่หน้าวัดบางแคใหญ่ ก็พายผ่านวัดบางแคกลาง เลยมานิดก็ถึงคลองแยกเข้าบ้านบางแค จะพักอยู่ ๓ – ๔ คืนหรือตามอัธยาศัย

ขากลับก็จะได้น้ำตาล มะพร้าวแห้ง หมาก พลู สิ่งเหล่านี้เป็นเสบียงเก็บไว้ได้นานหลายเดือนทีเดียว

คิดถึงเรื่องนี้ทีไรก็อยากกลับไปเห็นสภาพบ้านเมืองที่เหมือนเดิมอีก เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วความร่มรื่น สภาพแม่น้ำลำคลองเปลี่ยนแปลง จำแทบไม่ได้

นี่เพียง ๔๐ – ๕๐ ปีเท่านั้น ฉะนั้นที่ว่านครปฐมเคยเป็นทะเลมาก่อนนั้นเป็นไปได้ครับ ประเทศไทยอาจกลายเป็นทะเลทรายได้นะครับ ถ้าเรายังไม่หยุดหักร้างถางป่าและไม่ช่วยกันปลูกป่าถาวรขึ้น

ชีวิตเด็กวัดเกตุการาม เป็นอีกแบบหนึ่ง ผมต้องถือปิ่นโตตามพระท่านไปบิณฑบาต มีบ้านหลังหนึ่งใหญ่โตมาก มีขันทองเหลืองใบเท่ากะละมัง หมาดุเป็นบ้า มีเกือบสิบตัว

เวลาเดินไปตามร่องสวนผมเดินตามหลังพระ พอถึงบ้านหลังนั้นพระท่านจะให้ผมเดินหน้า คำกล่าวที่ว่าเดินตามหลังพระหมาไม่กัดนั้นน่าจะไม่จริง เพราะผมเดินตามหลังทีไร กางเกงขาดก้นทุกที

อีกเรื่องหนึ่งตอนผมเด็ก ๆ ตัวผอมกะหร่อง เพื่อน ๆ มักเรียกว่าไอ้หยองกรอด

สมัยสงครามโลกขาดแคลนทุกอย่างถ้วยโถโอชามก็มีไม่มาก ข้าวที่พระท่านบิณฑบาตมาก็จะใส่ในกะละมัง พระฉันเช้าแล้วที่เหลือส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นมื้อกลางวัน ส่วนหนึ่งลูกศิษย์ก็กิน ภาชนะไม่มี ก็เอาข้าวกองไว้ในกะละมังใบใหญ่เขี่ยไปกองไว้คนละมุม ใช้มือเปิบข้าว

เด็กโตก็มักจะเอาเปรียบมีข้าวกองโต กับข้าวดี ๆ เหลือให้เรากินกับน้ำแกง มันบ่อยครั้งเข้าก็เหลืออด

ผมใช้วิชามารถ่มน้ำลายลงไปในกองข้าวของเรา แต่มันก็กระเด็นไปที่กองของคนอื่นด้วย เรื่องก็ถึงชกต่อยกันเป็นธรรมดา พระที่เป็นผู้ดูแลเด็กวัด ผมจำชื่อท่านไม่ได้ สอบสวนแล้วก็ลงโทษหมดทุกคน ท่านใช้วิธีเฆี่ยนด้วยหวายคนละ ๖ ที ที่สำคัญก็คือท่านให้นอนคว่ำกับพื้น ๖ ทีก็ ๖ แผลสบายไป

ตอนโดนตีนั้นมือเป็นหิดทั้งสองข้าง คันเป็นบ้า มันจะขึ้นตามง่ามมือ เป็นหัวใส ๆ บีบแตกก็จะคัน สงครามไม่มียาอะไรทา พระท่านก็เพียงเอาสมุนไพรที่เป็นเปลือกไม้ฝนกับน้ำสุกบนฝาละมีทาให้ ก็ไม่เห็นมันจะหาย

ตอนหลังมียาที่เรียกว่าขี้ผึ้งนายพล ใช้ได้ดีพอสมควร คิดดูเอาเองก็แล้วกันว่าชีวิตเด็กวัดเป็นยังไง

นี่เป็นเพียงเรื่องสองเรื่องเท่านั้น นิยายเด็กวัดมีอีกเยอะมาก




Create Date : 10 มิถุนายน 2554
Last Update : 10 มิถุนายน 2554 1:25:18 น. 6 comments
Counter : 716 Pageviews.  

 
แวะมาอ่านเรื่องราวเด็กวัด ค่ะ


โดย: Gunpung วันที่: 10 มิถุนายน 2554 เวลา:5:50:23 น.  

 
ผมก็เคยเป็นเด็กวัดครับ..


โดย: batoka วันที่: 10 มิถุนายน 2554 เวลา:5:59:17 น.  

 
เรื่่องราวมีคุณค่ามากค่ะ คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวในอดีดที่สวยงามค่ะ อยากจะย้อนกลับไปเกิดในยุดคุณยาย ที่มีแต่เสียงเพลงฟังสบาย ๆ อารมณ์ อย่างบุษบา รังสี วงจันทร์ ไพโรจน์ ค่ะ เปิดฟังใน youtube บ้าง คุณแม่เปิดบ้าง

แล้วจะแวะมาอ่าน เรื่อย ๆ ค่ะ


โดย: วันสดใส วันที่: 10 มิถุนายน 2554 เวลา:10:20:00 น.  

 
สวัสดีค่า วันนี้มาขอความช่วยเหลือค่ะ
ช่วยเข้าไปตามลิงค์นี้

//www.my3space.com/activity/writestory/read-story.php?id=36

แล้วกดปุ่ม vote ให้หน่อยนะคะ
เห็นแก่นัก(หัด)เขียน ตัวน้อยๆ (ไปหมด) คนนี้ด้วยนะคะ
ขอบคุณมากๆเลยค่า^__^


โดย: dayydream_m วันที่: 12 มิถุนายน 2554 เวลา:23:48:25 น.  

 
เรื่องราวน่าประทับใจค่ะ เป็นคนบางคนที คลองบางน้อย.....บ้านใกล้เรือนเคียงค่ะ


โดย: จารุวรรณ IP: 58.9.121.61 วันที่: 16 มีนาคม 2556 เวลา:18:14:00 น.  

 
ผมก็เป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อหวล เหมือนกันสมัยนั้นแกได้ชั้นราช เป็น พระราชธรรมโมลี ผมเป็นเด็กวัดอยู่วัดธรรมนิมิต ตอนเป็นลูกศิษย์ก็ไปๆ มาๆ วัดเกตุตลอดครับ มีเพื่อนอยู่วัดเกตุหลายคนอยู่ครับ สมัยเด็กก็ไปวัดสัตตนารถกับหลวงพ่อหลายครั้งอยู่เพราะแกเป็นคนพื้นเพ ราชบุรีมั้งครับถ้าจำไม่ผิดนะ
ขอบคุณมากนะพี่ที่ทำให้คิดถึงความหลัง


โดย: JiwMaeklong IP: 125.25.143.93 วันที่: 16 มกราคม 2560 เวลา:23:19:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]