ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
 
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
17 พฤษภาคม 2554

สามทศวรรษ ลักษณะไทย ตอนที่ ๑๑

ประเพณีและการละเล่นพื้นเมือง
ผู้เขียน มงคล สำราญสุข
จุลทัศน์ พยาฆรานนท์

การศึกษาค้นคว้าทางวัฒนธรรมของสังคมใดก็ตาม ย่อมจะไม่สมบูรณ์ถ้าไม่ได้กล่าวถึงว่า สามัญชนได้นำมรดกทางวัฒนธรรมของตน มาปรับเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ใช้ในชีวิตประจำวันของตนอย่างไร

เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าพุทธศาสนาเป็นแหล่งสำคัญที่สุด ในการหล่อหลอมปรัชญาชีวิตของชาวไทย แต่ประเทศไทยก็ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอื่นอีกหลายศาสนาตลอดช่วงความเป็นมาในประวัติศาสตร์ ชาวไทยได้ผสมผสานความเชื่อถือเหล่านี้เข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อรวมความเชื่อถือแต่ดั้งเดิมในเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์และปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ ก็ได้เกิดขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่าง ๆ ที่ครอบคลุมไปทุกแง่ทุกมุมของชีวิตประจำวันของคนไทย

สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติก็มีความสำคัญต่อการวางรูปแบบในการดำรงชีวิตของชาวไทย ดังนั้นขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีต่าง ๆ ที่ถือเป็นแบบปฏิบัติกันอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อยในแต่ละท้องถิ่น ก็ได้ถือกำเนิดมาจากภูมิหลังทางเกษตรกรรมที่เป็นอาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่

ข้อเขียนภาคนี้ได้เขียนถึงการละเล่นพื้นบ้านบางประเภทในท้องถิ่นต่าง ๆ กัน เพราะการละเล่นซึ่งเป็นการบันเทิงของประชาชน แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีถึงสภาพและจังหวะของการดำรงชีวิตโดยเฉพาะตามหมู่บ้านในชนบท นอกจากนั้น กีฬาและการละเล่นบางประเภท เช่น การทายปริศนาซึ่งเด็ก ๆ ชอบเล่นกันนั้น สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่มีต่อชีวิตและอิทธิพลบางประการในการอบรมบ่มนิสัยและค่านิยมของไทย

ในการเรียบเรียงในเล่มที่ ๔ ภาคประเพณีและการละเล่นพื้นบ้านนี้ โครงการได้รับความร่วมมือจาก
วิยาลัยครูหลายแห่ง ที่จัดหาข้อมูลส่งให้กองบรรณาธิการและนักวิชาการในส่วนนี้ได้เรียบเรียงให้เกิดความสมบูรณ์ ซึ่งในตอนที่เป็นการละเล่นของไทยช่วงท้ายนี้ ธนาคารกรุงเทพ ได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ และคณะ เข้ามาร่วมเขียนทั้งเรื่องและภาพประกอบ

ดร.คุณนิออน สนิทวงศ์ กล่าวไว้ในคำนำภายหลังอีกตอนหนึ่งว่า

หากเปรียบเทียบกับศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การเสนอเรื่องประเพณีและการละเล่นพื้นบ้านมีปัญหามากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมเกือบจะทั้งหมด แทบจะไม่มีวัตถุที่จะเป็นข้ออ้างอิงที่เป็นรูปธรรม กิจกรรมและประเพณีบางเรื่องที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ ก็มักจะตัดทอนลงให้เข้ากับจังหวะชีวิตที่รีบเร่งในปัจจุบัน จนเหลืออยู่แต่รูปแบบ โดยที่ผู้ปฏิบัติมิได้เข้าใจถึงความหมายที่อยู่เบื้องหลัง

ชีวิตคนไทยเคยผูกพันอยู่กับครอบครัวที่เรียกกันว่า วงศาคณาญาติ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมากก็สับสนในการลำดับญาติพี่น้องอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยนัยนี้การจะรวบรวมบันทึกลงไว้จึงเป็นความจำเป็นก่อนที่สูญสลายไปจนหมดสิ้น เพราะเรื่องเหล่านี้มักเป็นเรื่องที่ถ่ายทอดกันมาด้วยการปฏิบัติหรือการบอกเล่าปากต่อปาก

อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการเสนอเรื่องของประเพณีและการละเล่นพื้นบ้านเป็นผู้ที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นผู้ที่รอบรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยในด้านต่าง ๆ มากที่สุดผู้หนึ่ง นอกจากจะเป็นผู้ที่เขียนเรื่องที่ต้องการความเชี่ยวชาญและประสบการที่มิได้อยู่ในตำราด้วยตนเองหลายเรื่อง อาจารย์จุลทัศน์ได้ออกแบบและควบคุมการเขียนลายเส้นประกอบเรื่องการละเล่นพื้นบ้าน ซึ่งบัดนี้หาดูไม่ได้แล้ว และเป็นผู้ที่วางแนวทางให้ผู้เขียนอีก ๓ คน คือ
คุณบุญหลง ศรีกนก
คุณฉวีวรรณ มาเจริญและ
คุณเบญจมาศ แพทอง นักอักษรศาสตร์ ๘ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

รวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านแต่ละด้าน ที่ท่านผู้รู้ได้เสนอไว้ในที่ต่าง ๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมของแบบแผนชีวิต ระบบความเชื่อถือและค่านิยมของสังคมไทยในอดีต ซึ่งมีพระพุทธศาสนาเป็นพื้นฐาน

หนังสือเล่มนี้มิได้ก้าวล่วงไปในเรื่องของคนไทยที่นับถือศาสนาอื่น ซึ่งต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก

ภาพที่ออกมาเป็นชุมชนที่มีความผูกพันใกล้ชิด มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่กำหนดให้การดำรงชีวิตเป็นไปตามจังหวะที่แน่นอนตามสภาพของธรรมชาติ และทั้งหมดอยู่ในกรอบของหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน ความเชื่อว่า ต้องบวชก่อนเบียด เป็นวิธีการสืบพระพุทธศาสนาที่มีผลแน่นอนที่สุด เมื่อผู้นำครอบครัวเป็นผู้ที่ได้บวชเรียนมาแล้ว การวางแผนการดำรงชีวิต ก็ต้องได้รับอิทธิพลจากระบบศีลธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาไม่มากก็น้อย

กิจกรรมของชาวบ้านในภาคต่าง ๆ ของไทยอาจจะแตกต่างกันในรูปแบบตามความนิยมของท้องถิ่น แต่จุดประสงค์ร่วมกันก็คือการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เช่น ประเพณีการทำขวัญข้าวก็เพื่อร่วมกันนำข้าวจำนวนมากมายถวายวัดเพื่อจำหน่ายหาเงินเข้าวัด ประเพณีขันหมากปฐมของภาคใต้ก็คือการนำเงินส่วนหนึ่งจากสินสอดมาทำเป็นถุงของขวัญถวายวัดเป็นต้น

นอกจากคติในทางพระพุทธศาสนาแล้ว คนไทยในสมัยก่อนยังยึดมั่นในประเพณีความเชื่อถือที่สืบทอดกันลงมาจากปู่ย่าตายายอีกมากมาย ซึ่งคนสมัยใหม่อาจจะเห็นเป็นเรื่องเหลวไหลไร้เหตุผล เช่นการเชื่อโชคลางนิมิตต่าง ๆ แต่คติเหล่านั้นบางเรื่องก็ยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของคนไทยเช่น การเชื่อในฤกษ์ผานาที

อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะมองข้ามเสียมิได้ก็คือภาษาและสำนวนโวหารที่ใช้ในการถ่ายทอดคติความเชื่อต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวาจาบอกเล่าลงมาปากต่อปากหรือที่ได้บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

อาจารย์จุลทัศน์ได้รวบรวมและยกตัวอย่างประเพณี คติความเชื่อต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ตั้งแต่พระราชพงศาวดาร วรรณคดี ตำราที่เกี่ยวกับคติต่าง ๆ เช่น ตำราพิชัยสงคราม ตำราโหราพยากรณ์ ตำรานิมิตร ตำราทำนายฝัน ไปจนถึงบทร้องในการละเล่นของเด็ก ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องยืนยันในอัจฉริยภาพของคนไทยทางภาษาในทุกชั้นและทุกภูมิภาคของสังคมไทย

เราอาจจะไม่สามารถฝืนกระแสของการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิต ในการเก็บประเพณีปฏิบัติบางอย่างไว้ได้ แต่ควรต้องช่วยกันรักษาและสืบทอดภาษาไทยซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าคู่บ้านคู่เมืองไว้จนสุดความสามารถ

เนื้อหาและบทคัดย่อข้างต้นนี้ได้พิมพ์ออกมาใช้ประกอบในการแถลงข่าว ซึ่งต่อมาได้มีการสั่งจองหนังสือนี้ไปยังสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเป็นจำนวนมาก ราคาขายที่ตั้งไว้เล่มละ ๑,๙๕๐ บาท ซึ่งนับว่ามีราคาสูงมากในเวลานั้น

เรื่องการจัดพิมพ์นี้ คุณบุญชู โรจนเสถียร ให้ความเชื่อถือและไว้วางใจสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นผู้ที่จัดพิมพ์รายงานประจำปีให้กับธนาคารกรุงเทพตลอดมาโดยได้เชิญคุณพีระ ต.สุวรรณ ผู้จัดการสำนักพิมพ์ในตอนนั้นไปร่วมหารือด้วยหลายครั้ง กระทั่งตกลงกันว่า

ธนาคารกรุงเทพ เป็นผู้จัดหาข้อมูล เรียบเรียงและจัดทำรูปเล่ม
สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จัดพิมพ์และจัดจำหน่าย
จำนวนพิมพ์ก็ให้เป็นตามกลไกตลาดยุคนั้น ที่จะทำให้ทางโรงพิมพ์ได้กำไรพอควร
ส่วนจำนวนพิมพ์นั้น โรงพิมพ์จะมอบหนังสือให้ ธนาคารคราวละ ๕๐๐ เล่ม
ข้อตกลงนี้เป็นไปตามสัญญาสุภาพบุรุษ

ผมทราบว่านายห้างคุณบุญธรรมและคุณบุญพริ้ง ต.สุวรรณ สนใจงานพิมพ์นี้มากถึงกับลงทุนซื้อกระดาษจากเยอรมันมาสำรองโดยเฉพาะทั้งยังถามไถ่ถึงความคืบหน้าของงานอยู่ไม่ขาด จนในที่สุดท่านก็จากไปโดยที่หนังสือยังเสร็จไม่ครบชุด

ในระหว่างการดำเนินงานในช่วงนี้ ที่ต้องเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะมีปัญหาติดขัดหลายประการซึ่งพรรณนายากยิ่ง เจ้าหน้าที่หลายคนต้องมีอันเปลี่ยนแปลงหน้าที่และความรับผิดชอบ เหลือแต่ผมที่ยังทำงานนี้ติดต่อกันมา จังหวะนี้จึงได้ขอตัว คุณอัจฉรา คำเมือง จากฝ่ายผู้จัดการใหญ่ ผู้มีพื้นฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ ทำหน้าที่ดูแลสมบัติล้ำค่าและงานก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ธนาคารกรุงเทพให้มาช่วยงานนี้ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เมื่อคุณอัจฉรามารับทราบข้อมูลต่างๆแล้ว ก็เต็มใจปฏิบัติหน้าที่นี้ และก็เอาใจใส่ แม้จะมีงานประจำล้นมืออยู่แล้วก็ตามที

อย่างที่กล่าวไว้ว่า เนื่องจากเวลาที่เนิ่นนานทำให้คนทำงานนี้กระจัดกระจายไปอยู่ที่หน่วยงานอื่นกันไปหมด เมื่อมีชุดใหม่เข้ามา เพื่อความสบายใจและเป็นศิริมงคลแก่คณะผู้ร่วมงานจึงได้มีการทำพิธีบวงสรวงขึ้นอีกครั้งที่บนดาดฟ้าของธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม โดยคุณดำรงค์ กฤษณามระเป็นประธานในพิธี

ไม่เฉพาะแต่ผู้คนเท่านั้นที่โยกย้าย แม้แต่สำนักงานของบรรณาธิการ ข้าวของเครื่องใช้ต้นฉบับแม้กระทั่งฟิล์มก็ถูกย้ายไปไหนต่อไหนอีกหลายครั้งหลายหน ไปอยู่วัดพระแก้วก็เคย ล่าสุดก็ได้มาอยู่ที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชที่ถนนพระราม ๑ ตรงข้ามกรีฑาสถานแห่งชาติ

ไทยวัฒนาพานิชเองก็มีคุณธีระ ต.สุวรรณมาสานงานแทนพี่ชาย(และมาถึงรุ่นลูกคุณธีระด้วยแล้ว) มีคุณใจดล ไกรฤกษ์มาทำรูปเล่มแทนคุณศักดา วิมลจันทร์

ผมต้องกราบขออภัยทุกท่านที่เอ่ยนาม และไม่เอ่ยนามไว้ในหนังสือเล่มนี้ ด้วยเห็นว่าบางตอนจำเป็น เพราะเป็นหลักฐานอ้างอิงได้ บางตอนข้ามไปเสียน่าจะเหมาะสมกว่า อะไรเทือกนั้น





Create Date : 17 พฤษภาคม 2554
Last Update : 22 พฤษภาคม 2554 21:17:04 น. 0 comments
Counter : 783 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]