ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย
<<
ตุลาคม 2554
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
13 ตุลาคม 2554

จำจากงานที่ทำ ... จำจากที่ทำงาน ตอนที่ 7

ผมมีงานเหลือเชื่อให้ทำด้วย ก็เป็นงานเกี่ยวกับพิธีเปิดอาคารสำนักงานใหญ่สีลมเช่นเดียวกัน คือจัดทำหนังสือลักษณะไทย

เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของธนาคารที่ริเริ่มไว้โดย ท่านบุญชูโ ดยมี ศ.พล.ต.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นบรรณาธิการ และมาสำเร็จเมื่อธนาคารจัดพิมพ์ถวายพระสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา นับเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามหาศาล ใช้งบประมานมากที่สุด ใช้นักวิชาการมากที่สุด ใช้เวลานานที่สุด ทำให้ผมได้ต่ออายุทำงานที่ธนาคารได้นานที่สุด (รายละเอียดผมเขียนไว้ต่างหากใน ชื่อว่า ๓ ทศวรรษลักษณะไทย – ลงเวบไซด์พันทิพแล้ว ด้วยความอนุเคราะห์ของคุณธาริณี ทวีเจริญ มิตรผู้น้อง ที่เข้ามารับช่วงงานประชาสัมพันธ์ต่อจากผม ซึ่งเสร็จธุระชีวิตการงาน ท่านผู้นี้มีใจเมตตา สร้างเสน่ห์ ให้เป็นที่รักใคร่ของเพื่อนและลูกน้องตลอดการทำงานในหน้าที่ของเธอที่นั่นครับ)

ภายหลังจากเปิดอาคารได้สักระยะหนึ่ง ผมเคยจัดประกวดภาพถ่ายอาคารสำนักงานสีลมใหญ่ในแง่มุมต่างๆ ไว้ด้วยเจตนาว่า ตอนนั้นยังไม่มีตึกรามใกล้เคียงเลย ควรบันทึกภาพอาคารตระหง่านนี้ไว้เป็นอนุสรณ์ ได้ภาพสวย ๆ เยอะแต่ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนหมดแล้ว เพราะย้ายที่ทำงานบ่อยมาก (เสียดาย)

ผมมีเกร็ดทำงานที่พอเล่าสู่กันฟังได้บ้าง

ผมมีผู้อาวุโสท่านหนึ่งคือ คุณสนิท เจริญรัฐ อดีตท่านเคยเป็นนักหนังสือพิมพ์เขียนข่าวเขียนสารคดีการบ้านการเมือง ท่านทำงานที่ฝ่ายการประชาสัมพันธ์อยู่ก่อนผม

หน้าที่หลักก็คือทุกเช้าท่านจะทำรายงานภาวะเศรษฐกิจจากทั่วโลกต่อท่านบุญชู

ธนาคารเช่าหน้าหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ท่านก็เป็นผู้ดูแลโดยเอาบทความทางเศรษฐกิจ การเงินธนาคาร ฯลฯ ไปลงทุกสัปดาห์ ก็ดังอีกเหมือนกัน

นักศึกษามหาวิทยาลัยที่เรียนวิชาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเงินการธนาคารต้องทำรายงานส่งอาจารย์ จึงมักใช้เป็นเอกสารอ้างอิงอยู่เสมอ ท่านถูกชะตาผมอย่างไรไม่รู้ ท่านมักจะเรียกผมไปคุยบ้าง สอนงานให้บ้าง

วันหนึ่งท่านชวนให้ผมไปทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการประชาสัมพันธ์ ที่ตอนนั้นมีท่านวิระ รมยะรูป เป็นประธาน ผมก็รับอาสาโดยไม่รีรอ

ตรงนี้ทำให้การทำงานของผมเปลี่ยนไป เพราะต้องทำงานกับผู้บริหารที่เป็นกรรมการหลายระดับมาก ผมจึงรู้จักคนมากขึ้น ได้ความรู้อะไร ๆเยอะไปหมด เวลาทำงานที่ต้องพึงหน่วยงานอื่นๆ ผมจึงได้รับความกรุณาจากทุกท่าน

ผมเป็นเลขานุการคณะนี้กับท่านประธาน วิระ จนผมเกษียณ สามารถเอื้อประโยชน์ระหว่างธนาคารกับองค์กรภายนอกได้เป็นอย่างดี

สำหรับท่านประธานประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ท่านก็อนุเคราะห์ผม เรียกใช้สอยอยู่เสมอ เพราะระยะหลังท่านไม่ได้เล่นการเมือง จึงทำงานการกุศลต่าง ๆ

ผู้คนที่ท่านเคยใช้เขาสมัยก่อน ก็มาขอโน่นขอนี่เป็นประจำ ท่านก็ส่งมาหา ผมก็จัดให้ตามความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป พักหลังท่านป่วยก็ขาดคนดูแลนะ ผมสงสารท่านมาก คุณติ๋มเลขาฯท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า เธอเคยพูดกับท่านว่าท่านสงเคราะห์คนอื่นจนจะหมด(ตัว)แล้วนะ ท่านจะลำบากตอนเจ็บป่วย ท่านบอกว่าไม่เป็นไร ถ้าฉันตายแกก็เรียกปอเต็กตึ้งมาเอาไปก็แล้วกัน

ผมเคยได้ยินชาวแปดริ้วให้ฉายาท่านว่า”ชายผู้นี้มีแต่ให้” ในที่สุดท่านก็ถึงอนิจกรรมไปโดยสงบ ปิดฉากตำนานนักการเมืองอาวุโสที่อดีตเป็นประธานสภา เป็นรองนายก ฯ เป็นรัฐมนตรี เป็นทูตไปเจรจากับท่านประธานเหมาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและฯลฯ

ธนาคารรับเป็นเจ้าภาพงานศพให้ตลอด (ผมเล่าแบบย่นย่อที่สุด)

จำต้องแทรกเรื่องน่าสนใจไว้หน่อยครับ นั่นก็คือเมื่อประมาณปี ๒๕๔๐ คณะกรรมการโครงการหอจดหมายเหตุฯ แห่งมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้ประสานงานมายังธนาคาร เพื่อขอเอกสารส่วนตัวของท่านประธานประสิทธิ์ ขอเหรียญตรา สมุดบันทึก รูปภาพและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว รวบรวมจัดเก็บตามหลักวิชาการจดหมายเหตุ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของมหาวิยาลัยแห่งนี้ โดยจะทำสมุดภาพ ”๘๔ ปี ประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์” ขึ้น พร้อมแผ่นซีดีรอม ประมวลภาพและบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่มีค่าของสังคมผู้เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของชาวธรรมศาสตร์ และนี่เป็นต้นเหตุที่ท่านคิดจะทำชีวประวัติตัวท่านเองไว้ในเวลาต่อมา (เกี่ยวกับเรื่องนี้ผมไม่ได้ติดตามว่าสำเร็จหรือไม่ครับ)

ผมมีเรื่องเล่าขานต่อมาคือ เมื่อธนาคารจะขอพระราชทานเพลิงศพ และคิดจะทำหนังสือที่ระลึกในงาน ผมก็ถูกเรียกให้ไปพบท่านผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ คุณอภิชาต รมยะรูป คุยกันแล้วก็ตกลงว่าจะพิมพ์หนังสือชื่อ ”จอมยุทธโค้วตุงหมง” ที่สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์จำหน่าย และจะต้องมีคำไว้อาลัยจากผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้รู้จักคุ้ยเคยกับท่านด้วย ทั้งหมดผมได้รับมอบหมายให้มาดำเนินการครับ (ผมเกษียณแล้ว)

ทุกอย่างโดยเฉพาะคำไว้อาลัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีติดขัด สำหรับจอมยุทธโค้วตุงหมง ผมติดต่อไปยังผู้เขียนซึ่งใช้นามปากกาว่า อภิวัฒน์ วรรณกร ซึ่งเขาก็ให้ความร่วมมือด้วยดี

ผมบอกเขาว่าที่ธนาคารต้องการเรื่องจอมยุทธฯ ที่เขาเรียบเรียงนั้นเป็นประวัติชีวิตของท่านประสิทธิ์เอง และเป็นความประสงค์ของท่านที่เคยปรารภกับผมก่อนหน้านั้น ให้หานักเขียนไปสัมภาษณ์ แล้วร้อยเรียงเป็นประวัติของท่าน (ผมก็เดาว่าท่านคงเตรียมของท่าน ตามที่ทางหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์เคยเสนอเรื่องไว้)

เมื่อเขารับปากรับคำแล้ว ท่านก็พาเขานั่งรถของท่านไปทุกบ่ายวันศุกร์ที่บ้านบางขนาก บางน้ำเปรียว ฉะเชิงเทรา วันจันทร์ก็นั่งรถท่านมากรุงเทพ สัปดาห์หนึ่งก็เขียนได้ตอนหนึ่ง แล้วก็นำไปลงใน มติชนสุดสัปดาห์ ส่วนภาพประกอบเขาก็ค้นจากบ้านท่าน แล้วให้ผมก๊อปปี้สำหรับเอาไปลงหนังสือ ท่านเกรงว่าต้นฉบับภาพถ่ายจะหาย (ภาพถ่ายเดิมก็ใส่อัลบั้มคืนท่านไป) ทำเช่นนี้หลายเดือน(หรือเป็นปี) แปลว่าเขาไปกินไปนอนอยู่ที่บ้านบางขนาก อาจจะได้ค่าป่วยการจากท่านทุกอาทิตย์ด้วยหรือไม่ ผมไม่ได้ถามทั้งท่านและเขาเสียด้วย

มื่อลงมติชนสุดสัปดาห์ก็น่าจะได้ค่าเขียน เมื่อลงเป็นตอน ๆ เสร็จแล้ว สำนักพิมพ์มติชนก็เอามารวมพิมพ์เป็นเล่มขนาดพอคเก็ตบุ๊คจำหน่าย (ซึ่งก็น่าจะได้เงินอีก)

เมื่อเจรจาจนเป็นที่เข้าใจ และผมก็พอใจแล้ว เขาก็เอารูปถ่ายที่ยังเก็บรักษาไว้มาให้ผม เราช่วยกันค้นภาพที่เคยพิมพ์ในหนังสือได้เรียบร้อย ก็ส่งต้นฉบับทั้งหมดแก่โรงพิมพ์พิฆเณศ

จอมยุทธฯ นี่เป็นภาคหลัง ตอนต้นก็เป็นประวัติ ตามด้วยคำไว้อาลัยของผู้ใหญ่ นักการเมือง ญาติมิตรและผู้รู้จักคุ้นเคยตามระเบียบ

ภาคต่อมา ก่อนถึงจอมยุทธฯ จะเป็นการรวบรวมบทความไว้อาลัยจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ที่เขียนถึงท่าน ตรงนี้เปิดเผยความผิดฉกรรจ์ของผม ขอเรียนว่าเล่มที่แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ ไม่มีท่อนนี้ครับ ผมลืมใส่ และไม่มีใครทราบเลยนอกจากจะได้มาอ่านข้อเขียนชิ้นนี้ของผม ๆ ปิดเป็นความลับมิดชิดมาตลอด เพราะทำคนเดียวรู้คนเดียว

สาเหตุที่ลืมก็เพราะว่า เรียงเรื่องต่าง ๆไว้มันลงยกพอดี จึงไม่มีใครๆสังเกตุ เรื่องมาแดงอีกทีก็หลังงานแล้ว มีคนไปเจอปรู๊ฟ ผมเลยเอามาเย็บเข้าเล่มเป็นของผม ซึ่งมีเพียงเล่มเดียวในโลก

เรื่องมันควรจะจบตรงนี้ แต่ท่านเป็นจอมยุทธ ฯ จึงยังไม่จบง่าย ๆ

ผมพบกับผู้เรียบเรียงในวันงาน เขาขอหนังสือผมจำนวนหนึ่ง วันนั้นยุ่ง ๆ อยู่ก็เลยบอกเขาว่าหลังจากวันนี้แล้ว คุณแวะไปหาผมที่ๆทำงานหน่อย รู้สึกว่าเขาจะได้หนังสือจากผมไป คราวนั้น ๕ เล่มหรือ ๑๐ เล่มก็จำไม่ได้ เขาก็ลาไปแล้วก็หายตัวไป ไม่มีการติดต่อใด ๆอีกเลย

แล้วจู่ ๆ ก็มีหมายเรียกจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯให้ไปให้ปากคำ เพราะมีผู้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารเป็นเงิน ๗๐๐,๐๐๐.-บาท ทนายแบ๊งค์ตามหาผม ๆไปถึง ทนายก็ส่งหมายศาลให้อ่าน ผมแทบตกเก้าอี้ เคราะห์ดีที่มีคนจับไว้ทัน

ผมก็เล่าสาเหตุให้ฟังอย่างที่เล่ามาตอนต้นนั่นแหละครับ ศาลนัดไกล่เกลี่ย ทางผู้ฟ้อง (ต่อไปจะเรียกว่าโจทก์)ไม่ยอบรับ เขาจะเอายอดเงินเท่าที่อยู่ในคำฟ้องนั้นให้ได้ ผลที่สุดศาลก็นัดไต่สวนคู่กรณี ผมก็ต้องไปให้การต่อศาลในฐานะจำเลย (แทนธนาคาร) หลายครั้ง แต่ดูเหมือนผมจะให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีก็ได้ ท่านผู้พิพากษาซึ่งก็ดูจะเข้าใจเจตนาของธนาคาร ในการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้น

คำพิพากษาความตอนหนึ่งว่า”ศาลเห็นว่าหนังสืออนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ เป็นเรื่องส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้ตาย การนำชีวประวัติของบุคคลผู้ถึงแก่กรรมนั้นมาลงไว้เป็นหลักฐานก็สมควรที่จะให้ได้ใจความครบถ้วน การนำเอางานทั้งหมดของโจทก์มาลงไว้จึงไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่เกินสมควร จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยมิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฏหมายของโจทก์แต่อย่างใด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามที่ได้พิจารณามาและตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากข้อยกเว้นตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๒ วรรคแรกแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อที่ ๓ เรื่องค่าเสียหายของโจทก์

พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

สำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ทป ๓๗/๒๕๔๓ คดีหมายเลขแดง ทป ๖/๒๕๔๔ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๔

ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะต้องขึ้นศาลด้วยเรื่องร้ายแรงพอสมควร แต่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ความตั้งใจที่จะตอบแทนพระคุณท่านประธานฯ ประสิทธิ์ที่ผมคิดว่า ท่านชุบผมให้เป็นคนมีหน้าตาในสังคม ทำให้ผมให้การต่อศาลด้วยความมั่นใจ ตอบคำถามศาลตามความเป็นจริงด้วยถ้อยคำฉะฉาน คดีจึงสิ้นสุดลงด้วยดีครับ




Create Date : 13 ตุลาคม 2554
Last Update : 26 ตุลาคม 2554 1:39:21 น. 0 comments
Counter : 729 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

พ คชา
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




พยงค์ คชาลัย
เกิด ๒๔๗๘ (น่าจะแก่) จ. ราชบุรี
ตกฝากเวลาพระออกบิณฑบาต(๐๖.๐๐ น.)

เจ็บ เป็นครั้งคราว(เคยหนัก แต่รอด)
ตาย ยังไม่ได้กำหนด(วัน /เวลา)
สมรส หม่าย
บุตร ๒ คน และ หลาน ๒ คน

การศึกษา
ประถมที่ รร.เทศบาล๑ หน้าวัดสัตตนาถ ปริวัตร ราชบุรี
รร.ประชาบาลไพลประชานุกูล วัดบางแคกลาง อ.อัมพวา จ,สมุทรสงคราม (หนีภัยสงครามโลกครั้งที่ ๒)

มัธยม ที่ รร.บำรุงราษฎร์และรร.เบญจมราชูทิศ หลังวัดสัตตนาถฯ จ,ราชบุรี / โรงเรียนทหารม้า(ยานเกราะ)และ
สูงสุด ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิชาการหนังสือพิมพ์ แผนกวารสารศาสตร์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

การงาน
รับราชการทหาร และเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นผู้ควบคุมเสียง เป็นผู้ประกาศ เล่นละครวิทยุ ประจำกองบรรณาธิการนิตยสารยานเกราะ เขียนบทความ เขียนสารคดี เป็นบรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อฟ้าของอภิธรรมมูลนิ ฯลฯ

เข้าทำงานธนาคารกรุงเทพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๒ เป็นเจ้าหน้าที่ตั้งแต่เป็นพนักงานอันดับหนึ่งจนถึงเจ้าหน้าที่บริหารชั้น AVP ในฝ่ายการประชาสัมพันธ์(ยุคบุกเบิก)รวมเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี(และยังช่วยทำอยู่)

มีผลงานที่น่าคุย คือ เสนอก่อตั้งศูนย์สังคีตศิลป์ ที่สร้างชื่อให้ธนาคารได้มาก และ

ร่วมประสานงานโครงการหนังสือ”ลักษณะไทย”
จนบรรลุผลสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สำคัญ คือ

ธนาคารจัดพิมพ์ทูนเกล้าฯถวายในวโรกาส ๘๐ พรรษามหาราช(นับจากจะพิมพ์เนื่องในวันเปิดอาคารสำนักงานใหญ่ สีลมเมื่อ ปี ๒๕๒๕)
และงานอื่น ๆอีกเยอะมาก
ทั้งยังร่วมก่อตั้งชมรมประชาสัมพันธ์ธนาคารด้วย

งานเขียน
หนังสือชื่อ ๓๖๖ อดีต พิมพ์แจกห้องสมุดประจำจังหวัด
เขียนเรื่องสั้นชื่อ”คำสั่ง”ลงในป๊อกเก็ตบุ๊ค(คงไม่มีใครได้อ่าน)
และเขียนอะไรต่อมิอะไรในหน้าที่การงานเยอะเหมือนกัน

งานพิเศษ ร่วมกับอาจารย์ประจวบ อินอ๊อด สอนวิชาประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ในคณะนิเทศศาสตร์ ม.กรุงเทพ หลายปี
รับเชิญบรรยายตามสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย

เกียรติยศ ได้รับเหรียญกาชาดสรรเสริญชั้น ๒ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ๕ เบญจมาภรณ์มงกุฏไทย
เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาธรรมศาสตร์

กีฬา กอล์ฟ (พอเล่นได้ถ้วยบ้างเท่านั้น)
[Add พ คชา's blog to your web]