|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
|
15 ตุลาคม 2567
|
|
|
|
บางปู : กระสานวล
ฤดูหนาวย่างกรายเข้ามา นกอพยพที่บางปูก็มากันแล้วนำทีมด้วยนกจับแมลงสีสวยๆ และนกกระเต็นหายาก เราก็อยากลุ้นดวงตัวเองบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มี ก็อาจไม่ใช่ดวง แต่อาจเป็นเพราะเราไม่ได้ไป ในเวลาที่เหมาะสม แต่อย่างน้อยวันนี้ก็มีนกใหม่ที่เราถ่ายรูปได้มาหนึ่งตัว ความจรืงก็ไม่ใช่นกใหม่ เราเคยเห็นนกตัวนี้ที่บ่อน้ำเสียที่ ม. เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อนานมาแล้ว นกกระสานวล (grey heron) เป็นนกยางขนาดใหญ่สีเทา มีหัวสีดำ สูงถึงราว 1 เมตร อยู่ในสกุล Ardea เดียวกันกับนกกระสาแดงที่เล็กกว่า แล้วก็เป็นเพียงสองสายพันธุ์ในสกุลนี้ ที่สามารถพบเห็นได้ในบ้านเรา
นกกระสานวลแบ่งเป็น 4 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งมีพื้นที่อยู่อาศัยคล้ายกับนกระสาแดงอีกด้วย เริ่มจากสายพันธุ์หลัก A. c. cinerea ตั้งชื่อโดยคาร์ล ลินเนียส ในปี 1758 พบที่ยุโรป ยูเรเซียจนถึงแมนจูเรีย หมู่เกาะซาคาริน แอฟริกาตอนใต้ และหมู่เกาะโคโมโรใกล้กับเกาะมาดากัสการ์ A.c. jouyi, Clark 1907 พบที่ประเทศจีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินเดีย พม่า เวียดนาม กัมพูชา ปลายสุดของมาเลเซีย เกาะสุมาตรและชวา A. c. firasa, Hartert, 1917 พบที่เกาะมาดากัสการ์ A. c. monicae, Jouanin & Roux 1963 เป็นนกเฉพาะถิ่น พบได้ที่ Banc d'Arguin ประเทศมอริเตเนียเท่านั้น https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A A%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A5#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5% E0%B9%8C:Ardea_cinerea_map.png ในฤดูหนาวนกกลุ่มหลักจะทำรังอยู่ในยุโรป แต่มีบางส่วนที่อพยพ ลงมาทำรังทางใต้ที่ประเทศลัตเวีย คาบสมุทรอาหรับ แอฟริกาเหนือ ปากีสถาน เติร์กเมนิสสถาน ปากีสถาน อินเดีย ศรีลังกา ส่วนนกในแอฟริกาใต้จะบินขึ้นเหนือไปยังตอนกลางของทวีป นกกลุ่มเอเชียตะวันออก (A.c. jouyi) จะอพยพลงมายังเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา มาเลเซีย ส่วนนกหายากอีกสองสายพันธุ์ย่อย มักจะไม่อพยพ หรืออาจจะอพยพใกล้ๆ ราว 100-200 กม จากถิ่นอาศัยเท่านั้น จะเห็นได้ว่านกกระสานวลเป็นนกที่กระจายตัวอย่างกว้างขวาง เนื่องมาจากเป็นนกน้ำที่ขนาดตัวใหญ่ทำให้สามารถหากินได้หลากหลาย ความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์จึงจัดอยู่ในระดับ less concern ยกเว้นสองสายพันธุ์ในแอฟริกาที่มีจำนวนน้อยกว่าสายพันธุ์หลัก เช่นเดียวกับกระสาแดง ที่ในประเทศไทยนกกระสานวล จะพบได้ง่ายในฤดูหนาวที่มีการอพยพลงมาจากทวีปเอเชียตอนเหนือ ดังนั้นนกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ คือกลุ่มนกประจำถิ่นที่ทำรังวางไข่ และหากินอยู่ตลอดปีในไทย กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เราไม่รู้ว่า ปัจจุบันประชากรกลุ่มนี้นั้นเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/0/03/Bennu_bird.svg ในสมัยอียิปต์โบราณ มีเทพองค์หนึ่งชื่อ เบนนู เป็นสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่ เช่นเดียวกับนกฟีนิกซ์ในสมัยกรีก ถูกพรรณนาด้วยภาพของนกที่มีแสงสว่างและพลังจากดวงอาทิตย์ และถูกบูชาในฐานะสัญลักษณ์ของชีวิตและการเกิดใหม่ที่ไม่รู้จบ ภาพสลักในสมัยอียิปต์เก่า ถูกตีความว่าอาจเป็นนกได้หลายชนิด อาจจะเป็น yellow wagtail หรือกระทั่งนกกระเต็น จนมาถึงภาพวาดในสมัยอียิปต์ใหม่ นกเริ่มตัวสูงเพรียวขึ้น มีขนที่ท้ายทอย 2 เส้น ที่สำคัญมีการพบการลงสีในภาพๆ หนึ่ง เป็นภาพนกตัวใหญ่สีเทา ทำให้เชื่อกันว่ามันคือ นกกระสานวล ซึ่งมีความเป็นได้มาก เพราะพวกมันก็พบได้ตามลุ่มแม่น้ำไนล์ และที่สำคัญ เทพเบ็นนูยังหมายถึงฤดูใบไม้ร่วงอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็จะตรงกับช่วงเวลาอพยพมา ของนกกระสานวล แต่นั่นก็ไม่ใช่สมมุติฐานที่ทุกคนเชื่อ ในปี 1845 Mr. Boonmi ได้เขียนบทความลงในวารสาร American Journal of Science เล่าเรื่องหนึ่งย้อนกลับไปในปี 1821 และปี 1823 ว่ามีนักเดินทางชื่อ James Burton ได้ไปที่อียิปต์และพบรังนกเก่าๆ จำนวน 3 รัง ที่ Gebel ez Zeit แถบชายฝั่งทะเลแดงตรงข้ามกับภูเขาไซนาย สิ่งที่สนใจคือขนาดของรังขนาดกว้างราว 15 ฟุต และสูง 2.5 -3 ฟุต ประกอบไปด้วยวัสดุหลายอย่าง เช่น กิ่งไม้ วัชพืช กระดูกปลา และสิ่งที่คาดว่าจะมาจากเรือแตกเช่น รองเท้า เส้นใยจากเสื้อผ้า นาฬิกาเงิน และซี่โครงมนุษย์
ด้วยความตื่นตะลึง เค้าได้ถามชาวอาหรับท้องถิ่นว่า รู้จักนกที่สร้างรังนี้ไหม คำตอบคือ พวกมันเป็นนกกระสาขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย และน่าจะเพิ่งทิ้งรังนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งที่น่าสนใจคือ ทางวิทยาศาสตร์ในเวลานั้นไม่พบว่า มีนกกระสาชนิดใด ที่ทำรังใหญ่เท่านี้ ทำให้ผู้เขียนตามหาว่า น่าจะเป็นนกอะไร
อันนำไปสู่ภาพสลักบนผนังในหลุมฝังศพกษัตริย์คูฟู ที่กล่าวถึง นกชนิดหนึ่งที่อยู่กันเป็นฝูง มีลำตัวสีขาว ขนหางและปากยาว ตัวผู้มีเปียอยู่ด้านหลังหัวและมีแผงขนตรงอก เป็นไปได้หรือไม่ว่านกยักษ์ชนิดนี้คือที่มาของเทพเบ็นนูของอียิปต์
https://cryptozoologicalreferencelibrary.wordpress.com/wp-content/uploads/2023/08/hoch-1979.pdf ในปี 1958 ทางการโอมานได้เปิดให้นักโบราณคดีเข้ามา เพื่อขุดสุสานในวัฒนธรรมโบราณ 3,000 ปี ที่ Umm an-Nar ปัจจุบันอยู่ในประเทศ UAE วัตถุแบบหนึ่งที่ค้นพบคือกระดูกสัตว์โบราณ ที่ปัจจุบันสูญพันธุ์ไปจากคาบสมุทรอาระเบีย โดยมีกระดูกนกอยู่ 5 ชนิด ชิ้นที่น่าสนใจ คือกระดูกขาส่วน tibiotarsus ข้างซ้ายที่หัก เหลือเฉพาะส่วน distal end (หมายเลข 7) ที่มีขนาดที่ใหญ่กว่า กระดูกขาของนกยางโกไลแอธ (หมายเลข 8) ที่เป็นนกยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสูงกว่า 1.2 -1.5 เมตร ในปี 1979 การศึกษาของ Ella Hoch เชื่อว่ามันนกยางชนิดใหม่ ที่เคยอาศัยอยู่ที่นั่น โดยมีความสูงเท่ากับร่างกายของมนุษย์ และสูญพันธุ์ไปราว 2700-1800 ก่อน คศ. ตรงกับราชวงศ์ที่ 5 ในสมัยอียิปต์และอาจเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเทพเบ็นนู เค้าจึงตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ของนกชนิดนี้ว่า Ardea bennuides
แต่เรื่องราวนี้ก็ยังไม่ได้มีการรับรองอย่างเป็นทางการ บางส่วนก็เชื่อว่า มันคือนกกระสานวลที่ตัวใหญ่กว่าธรรมดา แต่ในขณะเดียวกันกระดูกเพียงท่อนเดียวก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า จะมีนกยางสายพันธุ์โบราณตัวใหญ่อยู่ที่นั่นเมื่อสองพันปีก่อนจริงๆArdea bennuides ยังคงเป็นปริศนาที่รอการค้นหาต่อไป
Create Date : 15 ตุลาคม 2567 |
|
3 comments |
Last Update : 20 ตุลาคม 2567 1:16:32 น. |
Counter : 262 Pageviews. |
|
|
|
| |
โดย: หอมกร 15 ตุลาคม 2567 10:02:26 น. |
|
|
|
| |
โดย: หอมกร 15 ตุลาคม 2567 12:42:43 น. |
|
|
|
| |
โดย: ทนายอ้วน 15 ตุลาคม 2567 16:43:06 น. |
|
|
|
| |
|
BlogGang Popular Award#20
|
|
ผู้ชายในสายลมหนาว |
|
|
|
|