Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2563
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
12 มิถุนายน 2563
 
All Blogs
 
ประวัติความเป็นมาของเทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยเฉพาะสุขาภิบาลที่ปัจจุบันได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลทั้งหมด นอกจากนั้นเทศบาลและ อบต. ยังเป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีผู้สนใจสมัครสอบบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่น โดยการสอบจากส่วนกลาง หรือสอบ ก.พ. กับท้องถิ่น เป็นจำนวนมากไม่แตกต่างจากการสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไป

ประวัติความเป็นมาของเทศบาล

เทศบาล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2476 ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476  ภายใต้รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น การจัดตั้งเทศบาลมีเหตุผล 3 ประการ ได้แก่

  1. เพื่อให้สอดคล้องกับการเมืองการปกครองในระดับชาติที่เป็นระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้าไปทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ โดยที่เทศบาล เป็นองค์กรทางการเมืองแรกที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นปกครองตนเองได้อย่างเต็มที่ตามหลักการกระจายอำนาจ  ที่ได้แบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
  2.  เพื่อเป็นการแบ่งเบาภารกิจของรัฐบาล เพราะนอกจากจากภารกิจของรัฐบาลที่มีมากอยู่แล้ว การลงไปควบคุมดูแลหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อาจทำได้ยาก หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนได้ทันต่อเหตุการณ์  เมื่อรัฐบาลได้แบ่งภาระหน้าที่บางอย่างไปให้แก่เทศบาล ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นการให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนจึงสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว  
  3. เพื่อเป็นสถาบันฝึกประชาธิปไตยให้แก่ประชาชน  เนื่องจากเมื่อเริ่มจัดตั้งเทศบาล ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยได้เพียง 1 ปี การจัดตั้งเทศบาล จึงเป็นเสมือนสถาบันหนึ่งที่จะช่วยให้ประชาชนในท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองการปกครองมากขึ้น

ประเภทและขนาดของเทศบาล

ในการจัดตั้งเทศบาล จะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามจำนวนประชากรและรายได้ของเทศบาลนั้น ๆ ซึ่งได้แก่ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ในพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496 ได้กำหนดขนาดเทศบาล ดังนี้

  • เทศบาลตำบล ได้แก่ ท้องถิ่นซึ่งมีการประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล
  • เทศบาลเมือง ได้แก่ ท้องถิ่นอันเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดหรือท้องถิ่นชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 10,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลเมือง พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย
  • เทศบาลนคร ได้แก่ ท้องถิ่น ชุมนุมชนที่มีราษฎรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไป ทั้งมีรายได้พอควรแก่การที่จะปฏิบัติหน้าที่อันต้องทำตามพระราชบัญญัตินี้ และซึ่งมีพระราชกฤษฎีกายกฐานะเป็นเทศบาลนคร พระราชกฤษฎีกานั้นให้ระบุชื่อและเขตของเทศบาลไว้ด้วย

ประวัติความเป็นมาของขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2538 และมีฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โดยได้ยกฐานะสภาตำบลซึ่งมีรายได้ตามเกณฑ์ขึ้นเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท

รูปแบบการบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล

  • สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง หมู่บ้านละ 2 คน ในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 1 หมู่บ้าน ให้หมู่บ้านนั้นเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวน 6 คน และในกรณีที่องค์การบริหารส่วนตำบลใดมี 2 หมู่บ้าน ให้องค์การบริหารส่วนตำบลนั้นมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหมู่บ้านละ 3 คน
  • นายกองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน และรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ไม่เกิน 2 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ 1 คน

นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ จะดำรงตำแหน่งได้อีกครั้งเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง แม้ดำรงตำแหน่งไม่ครบระยะเวลา 4 ปีก็ให้นับเป็น 1 วาระ

โครงสร้างและบุคลากรขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

  1. ด้านนโยบาย  มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารงานองค์การบริหารส่วนตำบล
  2. ด้านบริหาร มีข้าราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ปฏิบัติงาน โดยมีปลัด รองปลัด อบต.และ ผู้อำนวยการกอง เป็นหัวหน้างานบริหาร ภายในองค์กรมีการแบ่งออกเป็นหน่วยงานต่าง ๆ ได้เท่าที่จำเป็นตามภาระหน้าที่ของ อบต.แต่ละแห่ง ดังนี้
    • สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล
    • กองคลัง
    • กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
    • กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
    • กองช่าง
    • กองสวัสดิการสังคม
    • กองส่งเสริมการเกษตร

สำหรับการสอบบรรจุเป็นข้าราชการท้องถิ่นกับการสอบบรรจุเป็นข้าราชพลเรือนสามัญ ก.พ. กับท้องถิ่น จะมีความแตกต่างกัน คือผู้สอบเป็นข้าราชการท้องถิ่นไม่จำเป็นจะต้องสอบผ่าน ภาค ก.ของ ก.พ. มาก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ท้องถิ่นจะเปิดสอบ ภาค ข.และภาค ค พร้อมกันในวันเดียว หลังจากนั้น จะเปิดสอบ ก.พ.ภาคพิเศษ ให้กับผู้ที่สอบผ่าน ภาค ข.และภาค ค.ของท้องถิ่น ในภายหลัง

https://gorporonline.com/articles/history-of-the-municipality/




Create Date : 12 มิถุนายน 2563
Last Update : 12 มิถุนายน 2563 19:21:55 น. 0 comments
Counter : 64 Pageviews.

nhumnoi
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add nhumnoi's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.