space
space
space
<<
มกราคม 2565
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
29 มกราคม 2565
space
space
space

สถานีชาร์จรถไฟฟ้าอยู่ไหนบ้าง DC supercharge อยู่ไหน

Jan 30, 2022

ขออนุญาตเล่าต่อทริปขากลับจากเชอราตัน หัวหินจากเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วที่เราขับจากกทม.ไปหัวหินกัน ขากลับเราแวะชาร์จที่ปั้ม ปตท. ท่าจีน รอบนี้ ชาร์จ DC supercharging สำเร็จ แถมฟรีอีกตะหาก นับเป็น DC supercharging ครั้งแรกของน้องโบลต์ในที่สุด เธอก็เสียพรมจรรย์จนได้ ฮ่า ฮ่า 

ได้รถมาตั้งแต่ สค. ปี 64 ไม่เคยจะเดือดร้อนเรื่องชาร์จรถนอกบ้านเลย รอบนี้ ไปกลับ กทม.-หัวหิน จริง ๆ แล้วจะไม่ไปกระเสือกกระสนดิ้นรนหาที่ชาร์จกลางทางก็ยังได้อยู่ คิดว่าจะไป-กลับไม่ชาร์จเลยก็ยังพอไหว แต่คงจะเป็นการประมาทไปหน่อย อีกอย่าง แบตเหลือน้อย ๆ เหลือเปอร์เซ็นต์เป็นเลขตัวเดียว มันไม่น่าจะดีต่อสุขภาพแบตเตอรี่ ถึงกระนั้นก็ตาม เชอราตัน หิวหินก็ยังมี Type 2 AC 16A destination charging stations ของ Mercedes และความที่ ณ ขณะนี้ค่ายตราดาวก็ยังไม่ได้ขาย pure EV อย่างเป็นทางการ (เห็นเอา Mercedes EQS ขึ้นเว็บและเห็นมียูทูปเบอร์ไปรีวิวอยู่) เดาว่าน่าจะขายได้ไม่เกิน 20 คัน ไม่ใช่ไม่มีคนซื้อ น่าจะมีเศรษฐีไทยอยากซื้อ แต่ค่ายตราดาวจะนำเข้ามาได้โควต้ากี่คันจากต่างประเทศนี่ยังไม่ทราบเลย ราคาก็ยังไม่เห็นแต่คิดว่า 2 หลัก ล้านบาทขึ้นไปแน่นอน ในเมื่อยังไม่มี EV จะมาเสียบชาร์จ ก็ให้น้องโบลต์เทสล่าเสียบไปก่อนนะ

เราก็จอดชาร์จแช่อยู่ 2 คืนที่เชอราตัน คืนวันศุกร์และคืนวันเสาร์ ตามที่ได้แจ้งไปว่าไม่มีใครมาจอดเสียบเพิ่ม มีแต่รถตราดาวซึ่งเป็นรถ ICE (Internal combustion engine) มาจอด icing อยู่สองคันตอนวันเสาร์ ก็ตามเดิมเราชาร์จไปถึง 95% พอ ไม่เอา 100% เหตุผลเดิม จะเอาพื้นที่ไว้รีเจน จะปกป้องแบตนิดนึง

ขากลับเราก็แวะซื้อขนมปังร้านขนมปังฝรั่งเศสที่ชะอำเล็กน้อย เด้วไม่มีของฝาก แล้วก็บึ่งตรงกะว่าจะไปลองเสียบ DC charging ที่ปั้ม ปตท. ตรงท่าจีน ซึ่งก็ใกล้กับกทม.มากแล้ว ที่เลือกสถานีนี้ก็เพราะตั้งใจจะลองของปตท.ดูบ้าง หลังจากที่ขามาหัวหินได้ลองของ PEA Volta แล้วไม่ได้เรื่อง ตอนแรกก็นึกเสียดายตัง 1 พันบาทที่เติมเข้าไปใน account PEA Volta แต่ก็ไม่อยากได้ประสบการณ์ขมขื่นอีก อีกอย่าง แอบงก เนื่องจากทราบมาว่าของปตท.ชาร์จฟรี ก็เลยแอบเลือกสถานีใกล้ ๆ กทม. จะได้แบตเหลือน้อย ๆ หน่อย จะได้เก็บไฟฟ้าฟรีไปเยอะ ๆ (งกจริง ๆ) ชาร์จได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ เด้วต้องรอดู แต่ก็แพลนแบบงก ๆ ไว้ก่อน


จากข้อมูล TeslaFi ก็จะเห็นว่าวิ่งจาก เชอราตันไปร้านขนมปังเป็นระยะ 14.35 กม. จากนั้นวิ่งอีก 133.52 กม.ก็ถึงปตท.ท่าจีน จากปตท.ท่าจีนวิ่งอีก 53.78 กม. ก็ถึงบ้าน รวมระยะทางทั้งหมด 201.66 กม. ใช้ไฟฟ้าไป 31.67 kWh (ยูนิต) คิดเป็น 126.69 บาท (คิดยูนิตละ 4 บาท) วิ่งกลับรอบนี้นั่งกันไปแค่สองคน ของฝากเล็กน้อยไม่ถือว่าหนัก ได้ประสิทธิภาพ 157 Wh/km พอ ๆ กับขามาหัวหิน ทั้ง ๆที่ขามาหัวหินนั่งกันมา 3 คน

ไม่อยากจะออกตัวว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการชาร์จ เพราะวันนี้เพิ่งจะเคยได้ชาร์จ DC เป็นครั้งแรก แต่ก็อยากจะสรุปให้ฟังดังนี้ สำหรับผู้ที่มีแพลนจะเอารถพลังงานไฟฟ้าไปวิ่งตจว.

1. โปรดดาวน์โหลดแอพ PlugShare มาก่อนเลย แอพนี้แอพเดียวก็เวิ้คมากเพราะเธอแสดงสถานีชาร์จให้ดูทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นยี่ห้ออะไร ถึงขึ้นให้เราสามารถเพิ่มสถานีชาร์จด้วยตัวเองได้ เวลาเราไปชาร์จที่ไหนมาก็สามารถปักหมุดแล้วเขียนรีวิวสั้น ๆ รวมถึงเพิ่มเติมรูปถ่ายได้ด้วย แต่ก่อนเราก็รู้สึกว่าสถานีชาร์จในเมืองไทยมีไม่เยอะ แต่พอดูใน PlugShare อู้หู มันขึ้นมาตั้งหลายที่ ขนาดที่ที่เราไม่นึกว่าจะขึ้นมาได้ก็ขึ้น ตัวอย่างเช่น สถานีชาร์จของตราดาวที่เชอราตัน หัวหินก็ขึ้น สถานีชาร์จของปั้มตราหอย Hua Hin One ที่ชะอำก็ขึ้น เรียกว่าตรงไหนที่มีที่ชาร์จมันขึ้นหมด แต่ส่วนใหญ่ที่ขึ้นมาตอนนี้จะเป็น AC type 2 charger เป็นส่วนใหญ่ ที่เป็น DC supercharging นั้นก็ยังมีค่อนข้างน้อย PlugShare จะลิสต์สถานีชาร์จแต่ละแห่งขึ้นมา แต่พอจะใช้งานจริง ก็คงจะต้องไปใช้แอพของแต่ละเจ้าอีกที แต่การที่มีแอพที่สามารถแสดงจุดชาร์จได้ทั้งหมด มันก็ทำให้การวางแผนมันง่ายขึ้น ดังกล่าวไปว่าระบบ charging ของประเทศไทยยังไม่ดีพอ การวางแผนคงต้องมีแผน 1, 2, 3 วางไว้เป็นชั้น ๆ อย่าได้ประมาทขับเหลือไม่กี่ % ไปถึงที่สถานีชาร์จเพราะตู้ชาร์จอาจจะเจ๊ง หรือมีคนอื่นเสียบชาร์จอยู่ ต้องเผื่อไว้หลาย ๆ ชั้น

     
อยู่เมืองไทยกว่าจะได้ชาร์จรถ ก็ต้องดาวน์โหลดแอพกันอย่างมึน เพราะมีกันหลายยี่ห้อเหลือเกิน ที่ต้องมีแน่ ๆ คือ PlugShare เพราะเธอสามารถแสดงสถานีชาร์จทุกยี่ห้อได้ครบ (คิดว่าครบ) ส่วนปตท.ก็กลายเป็นขวัญใจเราสำหรับทริปนี้เพราะได้ชาร์จจริงแถมฟรีอีกตะหาก สถานีก็ครอบคลุมเกือบทั่วไทยใช้ได้ อย่างน้อยรถ EV ที่วิ่งได้ถึง 300 กม. น่าจะไปได้ทั่วไทยไม่ยากเย็น ส่วนของการไฟฟ้า นี่น่าจะไปปรับปรุงอีกเยอะ สามหน่วยงานควรจะรวมพลังกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างแพล็ทฟอร์ม เง็งไปหมดแถมประสบการณ์ครั้งแรกของเรากับ PEA Volta กลายเป็นความขมขื่นอีกตะหาก อย่างไรก็ดี EleXa กะ PEA Volta น่าจะเวิ้คสำหรับเดินทางมากกว่า MEA EV สำหรับการเดินทางออกตจว. หรือ MEA EV ก็อาจจะเวิ้คสำหรับคนตจว.ขับเข้ากทม.ก็เป็นได้ 

2. สถานีชาร์จของการไฟฟ้า โปรดอย่างง (เพราะเราก็งงไปแล้ว) ประเทศไทยมีการไฟฟ้าซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน่วยงานย่อยทั้งหมด 3 ส่วนได้แก่ EGAT (Electricity Generating of Thailand) หรือ กฟผ - การไฟฟ้าฝ่ายผลิต  MEA (Metropolitan Electricity Authority) หรือ กฟน. - การไฟฟ้านครหลวง และ PEA (Provincial Electricity Authority) หรือ กฟภ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งทั้งสามหน่วยงานก็ต่างคนต่างให้บริการสถานีอัดประจุรถไฟฟ้าอย่างไม่ขึ้นกันและกัน แต่ละคนต่างก็มีแอพของตัวเอง เช่น EleXA เป็นชื่อแอพของ EGAT สถานีประจุเค้าเรียก EleX by EGAT โดยตัวสถานีเค้าอาจจะอยู่ในหน่วยงาน กฟผ หรือโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งเองหรืออยู่ตามสถานีบริการน้ำมัน PT ซึ่งสองแบบนี้มักจะมี DC supercharging (ส่วนใหญ่ 50 kW แต่บางที่ก็ถึง 120 kW) บางสถานีก็อยู่ตามสนามกอล์ฟ โฮมโปร ร้านกาแฟ ศูนย์การค้า โรงพยาบาล ร้านอาหาร เชื่อน! (คงเพราะเป็น กฟผ) ซึ่งสถานีพวกนี้มักจะเป็น type 2 AC แบบบ้าน ๆ แอพ EleXa จะแสดงสถานี้ชาร์จของ EGAT ทั้งหมด ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีอยู่ 15 สถานี แต่ในแอพก็ยังขึ้นสถานีของ PEA Volta สถานีของ MEA และสถานีอื่น ๆ ที่ถือเป็นเครือข่ายแต่ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด สู้ PlugShare ไม่ได้เลย  ระบบจองก็ไม่ค่อยเวิ้ค เริ่มจากที่สถานีส่วนใหญ่ตอนนี้จะเป็นแบบไม่มีการจองคือให้ Walk-in ไปทะเลาะเอากันหน้าตู้ ส่วนบางสถานีที่ยอมให้กดจองเค้าก็ขีดเส้นให้เวลาเรามาว่าเราต้องไปให้ถึงสถานีที่จองภายในเวลา 15 นาที ถ้าเราไปไม่ทันก็อดอีก ส่วนการเก็บเงินก็จะเป็นการตัดบัตรเครดิต โดยสนนราคาแตกต่างกันไปเห็นมีแตั้งแต่ 6.5 ไปจนถึง 9 บาทต่อ kWh

ของ กฟน. MEA ก็ต้อง ไปใช้แอพ MEA EV ซึ่งก็จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับของ EleXa ของ EGAT เค้าตรง ๆ หลาย ๆที่ เนื่องจาก กฟน.ทำหน้าที่จ่ายไฟเฉพาะ กทม. นนทบุรี และ สมุทรปราการ ทำให้สถานีอัดประจุเค้ากระจุกกันอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางซึ่งตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 15 แห่งโดยส่วนใหญ่อยู่ในสำนักงานของ กฟน.แต่ละสาขา เช่น ที่สำนักงานใหญ่เพลินจิต วัดเลียบ สามเสน บางขุนเทียน ลาดกระบัง ฯลฯ เราเข้าใจว่าเค้าอาจจะต้องการเน้นการบุกเบิกเพิ่มสถานีชาร์จเฉพาะในเขตเมืองหลวงตามชื่อหน่วยงาน แต่มันก็ทำให้เรามีโอกาสใช้ประโยชน์จากเค้าได้น้อยมาก อย่างไรก็ตามในแอพของ MEA เค้าก็ยังขึ้นสถานีชาร์จของ EA anywhere แต่สถานีของเครือข่ายการไฟฟ้าของตัวเอง ทั้ง EleX by EGAT และ PEA Volta ไม่เห็นจะขึ้นมา การจองก็ค่อนข่างจำกัด คือจะจองได้ก่อนจะไปถึงแค่ 15 นาที เหมือน EleXa ของ EGAT ซึ่งทำให้ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ พวกสถานีที่อยู่ตามสำนักงานการไฟฟ้าก็เปิดเฉพาะเวลาราชการจริง ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายของสถานีเราเข้าใจว่าน่าจะยังฟรีอยู่ ส่วนของ EA หรือที่อยู่ในห้างก็คงตามราคาตามเงื่อนไขเค้า  คิดว่าคงจะไม่ได้ใช้บริการ MEA EV แน่นอน ถ้าจะใช้งานลำบากขนาดนี้ เด้วกลับบ้านไปชาร์จที่บ้านดีกว่า ต่อให้ฟรีก็ไม่สน เพราะไฟฟ้าเราก็อาจจะอนุมานว่าฟรีจากแสงแดดธรรมชาติ (ลืมค่าติดตั้งแผงไปแระ !)

ของการไฟฟ้าอันสุดท้ายก็คือ PEA Volta ของ กฟภ ซึ่งอันนี้ต้องเน้น ถึงคราวที่แล้วจะไม่เวิ้คแต่เราคิดว่าน่าจะเป็นอันที่มีผลต่อเรามากกรณีเดินทางไกลเกินกว่าระยะทางที่น้องโบลต์จะไปได้ เอาปากกามาวงรัศมี สัก 400 กม. จากจุดที่เราเดินทาง (เผื่อระยะทางไว้หน่อย) PEA Volta ก็มีแอพของเค้าอีกแระ ต่างคนต่างออกแอพ ชื่อ PEA Volta เลย เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมทั้งการไฟฟ้าทั้งส่วนงานเค้าไม่รวมพลังกันแล้วทำเป็นอันเดียวแพลทฟอร์มเดียว คำว่าสามัคคีคือพลังคืออะไร นี่แยกกันต่างคนต่างทำแอพ ทำให้คนใช้งงเปล่า ๆ สรุปว่า กฟภ. หรือ PEA เค้าก็มีของเค้าต่างหาก ใช้แอพชื่อ PEA Volta ก็ดาวน์โหลดมาตอนนี้มี 32 สถานีแระ และกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็คล้าย ๆ ทั้งสองที่คือนอกจากจะมีสถานีอยู่ตามการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคต่าง ๆ แล้วเค้าก็ยังไปตั้งสถานีอยู่ตามถนนใหญ่ ๆ ร่วมกับสถานีเติมน้ำมันบางจากที่มีกาแฟยี่ห้ออินทนิลน่ะ ของ PEA Volta ส่วนใหญ่ก็เป็น DC charging เยอะ แต่ก็ได้แค่ 50 kW แต่เท่าที่เห็นแต่ละสถานี ตอนนี้มักจะมีอยู่ 2 ตู้ แต่ละตู้อาจจะมีหัวเสียบได้ไม่เหมือนกันทีเดียว ของ PEA ต้องเติมเงินเข้าไปก่อนไม่ได้รับบัตรเครดิต แล้วก็อัตราคิดเงินก็จะค่อนข้างคงที่ดังที่ได้กล่าวไปบล็อกก่อนว่าออนพีก คิด 7.726 บาท ออฟพีกคิด 4 บาทกว่า ไม่มี penalty charge สำหรับพวกจอดแช่ ระบบการจองผ่านแอพไม่มี ใช้วิธีใครมาก่อนได้ก่อนไปทะเลาะกันหน้าตู้กันเอง (หวังว่าไม่ทะเลาะกัน คนกลุ่มเรา early adopter ต้องรักกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย)  ก็สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวก็ยังไม่เวิ้คฮะ  แต่สักวันก็ต้องหาทางลองอีก เติมเงินไปแล้ว 1 พันบาท ต้องขอชาร์จหน่อย ก่อนเงินหมดอายุ

3. ตอนนี้ที่มีสถานีชาร์จเยอะสุดก็คงเป็นบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ EA anywhere จากรูปข้างล่างก็จะเห็นว่ามีทั้งหมด 417 สถานีแต่เจ้ากรรมบังเอิญว่ามักจะเป็นสถานี type 2 AC charging อยู่ตามห้างในกทม.หรือหัวเมืองใหญ่ ๆ ค่อนข้างเยอะ บางอันก็อยู่กับโชว์รูมรถยนต์ ร้านปะยาง ปั้มซัสโก้ คอนโด โรงแรม โกลบอลเฮ้าส์ ฯลฯ ส่วนที่จะอยู่บนถนนใหญ่ ๆ ให้คนเดินทางได้ชาร์จระหว่างทางมีค่อนข้างน้อย EA ก็โม้ว่าตัวเองมีสถานี DC charging ที่เร็วที่สุดในประเทศไทยตอนนี้ 150 kW ซึ่งเราก็ยังหาไม่เจอว่าเค้าซ่อนไว้ตรงไหน  อัตราค่าบริการก็มีทั้งสองแบบ ทั้งคิดเงินเป็นราย ชม. กับคิดเป็นยูนิต ของ EA มีระบบการจองที่ดี และก็มีค่าปรับหากจอดเกินเวลาที่กำหนด โดยส่วนตัวเราเคยเอาน้องสโนว์ไปลองเสียบขำ ๆ ที่พารากอนตอนช่วงสาย ๆ บ่าย ๆ ที่หาที่จอดไม่ได้ ยอมจ่าย ชม.แรก 50 บาท ได้จอดง่ายขึ้น ได้ไฟฟ้านิดหน่อย (type 2 AC ช้ามาก) เพราะแบตของรถ plug-in hybrid จะขนาดค่อนข้างเล็ก แต่น้องโบลต์ยังไม่เคยได้ลองเสียบกับยี่ห้อ EA ชาตินี้อาจจะไม่ได้เสียบถ้าเค้าไม่วางสถานีไว้ตามถนนใหญ่ ๆ และเน้น DC charging มากกว่านี้ นอกจากมันมาเป็น destination charge ตามโรงแรมหรือรีสอร์ท อันนี้อาจจะได้เจอกันอีก ได้แต่เอาใจช่วยให้พัฒนาสถานีอัดประจุให้มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และรู้สึกขอบคุณที่เอาเรือด่วนเจ้าพระยาแบบ E-boat มาวิ่งให้เห็น ขอบคุณที่ช่วยเป็นเสาหลักของประเทศไทย เป็นหัวหอกในการเปิดโรงงานผลิตแบตเตอรี่และทุกๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานบริสุทธิ์ให้สมชื่อบริษัท ดีขนาดนี้มันก็ต้องร่วมลงทุนบ้างอะนะ


กราบขอบพระคุณสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT - Electric Vehicles Association of Thailand)  ที่กรุณารวบรวมข้อมูลสถานีชาร์จในประเทศไทยไว้ให้ ซึ่งอันนี้รวบรวมไว้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. ปีที่แล้วนี้เอง (2564) ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าลิสต์จะต้องเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเอกชนเจ้าล่าง ๆ ซึ่งเบอร์ 1 ตอนนี้ก็ยังเป็น EA anywhere อยู่ มากกว่าชาวบ้านหลายเท่าตัว  ทั่วประเทศตอนนี้เรามี 693 จุดบริการ เทียบกับจำนวนปั้มน้ำมันในประเทศที่จดทะเบียนเป็นทางการ 29,596 จุด (อยู่ในกทม.เพียง 932 จุด) โดยส่วนตัวเราคิดว่า EV charging station ไม่จำเป็นต้องมีจำนวนจุดเท่ากับปั้มน้ำมันด้วยจำนวนรถที่เท่า ๆ กันเพราะเรายังเชื่อมั่นว่า EV ส่วนใหญ่จะอัดประจุที่บ้านหรือที่จุดหมายมากกกว่าสถานีอัดประจุระหว่างทาง  ส่วนชื่อสมาคมก็อาจจะมีคำว่า "ยนต์" เกินมานิดนึง เราติดปากเรียกรถ ว่ารถยนต์เพราะมันมีเครื่องยนต์ พอเป็นรถไฟฟ้ามันไม่มีเครื่องยนต์จะเรียกรถยนต์ก็ไม่ค่อยจะถูกทีเดียว แต่พอจะเรียกว่ารถไฟฟ้า คนก็จะพากันนึกถึงรถไฟฟ้าสายนู้นนี้ (เฉพาะคนกทม.และปริมณฑล) ตอนนี้เราก็เรียกว่ารถ EV ไปพลาง ๆ ถ้าจะเรียกภาษาไทยให้ตรงตัวก็ต้องรถไฟฟ้านั่นแหละ หรือจะเรียก รถใส่ถ่าน รถใช้มอเตอร์ ฯลฯ ดี

4. สถานีปตท. เดิมก็คิดว่าจะจัดพอร์ทการลงทุนให้เรียบร้อยในปีนี้โดยกำจัดหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสกปรกทั้งหมดทิ้งจากพอร์ทและไปลงทุนเพิ่มเกี่ยวกับพลังงานบริสุทธิ์ แต่บังเอิญว่าปตท.เองก็มีการปรับแผนและมีการพัฒนาในส่วนนี้ ซึ่งตอนนี้ทางปตท.ก็มีสถานีประจุไฟฟ้าตามปั้มน้ำมันตัวเองเหมือนกัน จากภาพข้างบนก็จะเห็นว่ามี 30 สถานีและก็คงจะขยายจุด เพิ่มตู้ไปเรื่อย ๆ เช่นกัน (บนแอพแจ้งว่าตอนนี้มี 40 สถานีแล้ว) ที่สำคัญคือ ณ ปัจจุบัน ยังไม่เก็บเงินเลยใช้ฟรีมาตลอด รุ่นพี่ที่ทำงานท่านหนึ่งที่ถอยรถเทสล่า M3LR มาก่อนเราปีหนึ่งแกก็เล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่าบังเอิญปั้มปตท.หน้าบ้านแกมีสถานีชาร์จอยู่ ตั้งแต่แกซื้อเทสล่ามาจะสองปีแล้ว แกเสียบที่นี่ตลอด ไม่เคยต้องจ่ายค่าไฟเลย เติมพลังงานเหมือนตอนใช้รถน้ำมันเลยแกบอกสะดวกมาก เพราะระหว่างเติมแกก็ไปเดินช๊อปปิ้งซื้อกับข้าวซื้อหาหารเข้าบ้าน ก็พอดีกัน  ของปตท.ก็ต้องดาวน์โหลดแอพชื่อ EV station ลงมา ในแอพก็จะแสดงสถานีของปตท.ที่มีอยู่ทั้งหมด ถึงตอนนี้ทางปตท.จะยังไม่เก็บตังค์แต่ก็ยังต้องการให้เราผูกกับบัตรเครดิตการ์ด ก็ผูกไปให้ ที่เราชอบมากคือระบบการจองของเค้า เค้าให้เราจองเป็นห้วงเวลา ได้ทีละ 50 นาที และเราเลือกได้ว่าจะไปถึงที่หมายเวลาไหน ไม่เหมือนของ EleXa กับ MEA EV ที่ให้จองล่วงหน้า 15 นาที จองแบบของ EV station เวิ้คกว่ามาก ก็รอบนี้ขากลับจากหัวหินเราก็เลือกที่สถานีปตท.ที่ท่าจีน ซึ่งอยู่ใกล้กทม.พอสมควร นึกว่าจะไปถึงแล้วชาร์จได้เยอะหน่อย งกจะเอาไฟฟ้าฟรี ปรากฎว่าน้องโบลต์เราวิ่งจากหัวหิน แบต 95% ไปถึงสถานีปตท. ท่าจีน ยังอุตส่าห์เหลือแบตตั้ง 60% เราก็สั่งจองล่วงหน้า เอาตามเวลาที่กูเกิลแม๊พบอกว่าเราจะไปถึง มันเลือกเวลาเป๊ะ ๆ เป็นเศษ ๆ ไม่ได้ แต่ก็ต้องเลือกห้วงเวลาที่จะตรงกับเวลาที่เราจะไปถึงให้มากที่สุด โชคดีว่าไม่มีใครแย่ง พอไปถึงก็พบว่าเป็นสถานีใหญ่โต จริง ๆ เราเคยมาแวะสถานีนี้มาก่อนตอนมาสัมมนากะที่ทำงาน เค้าจอดแวะเข้าห้องน้ำ สำหรับสถานีชาร์จที่นี่ก็มีแค่ตู้เดียว แต่เค้าทำช่องให้จอดทั้งหมด 3 ช่อง เท่ากับจำนวนหัวเสียบ ก็ได้แต่สงสัยว่าตู้เดียวจะเสียบชาร์จพร้อมกันได้ 3 คันเชียวหรือ หรือ 3 ช่องจอดทำเผื่อไว้ในอนาคต หรือทำไว้เผื่อคนมา ICE (พวกรถ ICE- Internal combustion engine มาจอดแช่) เพราะถ้าทำตู้เดียวให้เสียบชาร์จพร้อมกันได้ 3 คัน มันจะมีปัญหาเรื่องสายต้องทำยาวขึ้น สายพวกนี้ค่อนข้างอ้วนใหญ่ ยิ่งยาวยิ่งแพง voltage drop เยอะ ไม่ค่อยเวิ้ค อีกเรื่องก็คือรูเสียบชาร์จพอร์ทของแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นแบบเม้งกวงจะเวิ้คสุด (และน่าเกลียดที่สุด) คืออยู่ตรงกลางรถด้านหน้า (จะด้านหลังก็ได้)  แต่ยี่ห้ออื่น ๆ เค้ามักจะเสียบด้านข้าง ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง หน้าบ้าง หลังบ้าง เรียกว่ามั่วกันไปหมดไม่มีมาตรฐาน ถ้าสายมันลากไปไม่ถึง เพราะมีคันอื่นจอดชาร์จอยู่ก่อนแล้วพอร์ทเสียบของรถเรามันอยู่ด้านที่มันไม่เอื้อ มันก็จะชาร์จไม่ได้เลย ที่บังเอิญดีมากก็คือตรงตำแหน่งช่องจอดเสียบชาร์จมีห้องน้ำไฮโซติดแอร์อยู่ ต้องหยอดเหรียญ 10 บาท เค้าเคลมว่ารายได้จะไปช่วยเหลือนักเรียนที่ไหนจำไม่ได้ แต่เราก็แอบเข้าไปใช้บริการ เป็นปลื้มเพราะส้วมเหมือนที่บ้าน (Toto พร้อมที่ล้างก้น) เสียดายได้ใช้แต่เบอร์ 1 เบอร์ 2 ยังไม่มา แล้วก็นอกจากเราสองคน ก็ไม่เห็นมีใครมาใช้อีก เรื่องพวกนี้คนไทยคงจะไม่ยอมจ่าย เกรงว่าคราวหน้ามาอาจจะไม่อยู่ กลัวเจ๊งจัง
      เวลาเปิดแอพขึ้นมาแล้วมันให้แสกนบาร์โค๊ด QR code แล้วแอพมันดับไป อย่าลืมเข้าไปเช็คใน setting ว่าเราได้ยอมให้แอพเค้าใช้กล้องรึยัง เพราะเราก็เสียเวลาโง่อยู่ตรงนี้ตั้งแต่ตอน PEA Volta ทีนึง รอบนี้ก็เลยรู้งานแระ ตอนให้ใส่บัตรเครดิตปรากฎว่าบัตรกสิกรของเราไม่เวิ้คเฉยเลย ก็เลยใส่บัตร SCB ของคนขับเราลงไป คนละชื่อกับเราแต่ก็ยังเวิ้ค แต่เค้าก็ไม่ได้เก็บตังค์อะนะ ในแอพเค้าแจ้งว่าหัว CCS combo จะได้ 120 kW แต่พอของเราชาร์จจริงจ่ายแค่ 65 kW ให้แพร๊บนึงแล้วก็ลงไปเหลือประมาณ 56 kW พอตอนใกล้ ๆ เต็มจะยิ่งช้าลงไปอีก ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะแบตที่เราเริ่มชาร์จมันตั้งต้นที่ 60% รึเปล่า คือถ้าแบตมันเหลือน้อยกว่านี้ เช่น 10% เค้าอาจจะชาร์จให้เร็วกว่านี้รึเปล่าไม่ทราบ ทีแรกก็กะว่าจะชาร์จเล่น ๆ ขำ ๆ แล้วไปต่อ ปรากฎคนขับเราเค้าเห็นมีร้านอาหารพอควรก็เลยชวนเรากินข้าวไปเลย เราก็ว่าดีเหมือนกันจะได้ไม่เสียเวลา เนื่องจากเวลาที่ไปถึงเป็นตอนบ่าย (13:05) แดดกำลังเปรี้ยง ก็เลยเป็นครั้งแรกที่เราได้ใช้ climate control คือเปิดแอร์ในรถทิ้งไว้ รถเทสล่าจะให้เรากดบังคับได้ว่าจะเอากระจกหน้าต่างทั้ง 4 ประตูลงเล็กน้อย (Vent) แล้วก็ควบคุมอุณหภูมิในรถที่เราต้องการ (ถ้าเป็นเมืองนอกตอนหน้าหนาว เค้าคงเปิด heat pump) ระหว่างที่หัวเสียบชาร์จยังเสียบอยู่ ระบบ HVAC ก็จะเสมือนไม่ได้ใช้แบต (จริง ๆ แล้วใช้แบต แต่มีไฟฟ้าเติมให้อยู่) พอเค้าเติมเต็ม เราก็ลุ้นว่าหัวจ่ายเค้าจะยังจ่ายไฟให้เราเปิดแอร์ต่อไปไหม  คำตอบคือไม่ พอถึงกำหนดที่เราสั่งให้ชาร์จ (เอา 97%) ตู้ชาร์จเค้าก็ตัดไฟเลย ดังนั้นแอร์ที่เปิดหลังจากจุดนี้ก็จะ drain batt ไปเรื่อย ๆ อีกอันที่เราสนใจกว่าคืออุณหภูมิแบต เราอยากรู้ว่าเวลา DC charging แบตมันร้อนแค่ไหน ก็เลยต้องงัดเอา OBDC ขึ้นมาเสียบ (เคยเขียนไปบล็อกก่อนหน้านี้) ปรากฎว่าตอน DC supercharging นี่ cooling capacity จะทำงานเต็มที่และอุณหภูมิแบตจะกระโดดขึ้นไปถึง 57.5 C ซึ่งเป็นอุณหภูมิแบตที่อุ่นที่สุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน (ปกติจะอยู่ประมาณ 33-40 C) ชวนให้นึกถึงคู่มือ Nissan leaf ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าที่ไม่มี active cooling แล้วเค้าก็เขียนไว้ในคู่มือรถว่าให้พยายามหลีกเลี่ยง DC charging หลังจากชาร์จเสร็จ เราก็นั่งจ้องดูว่าเมื่อไหร่อุณหภูมิแบตจะลง เค้าก็ลงแบบช้ามาก ๆ ทีละ 1 C จนกระทั่งกลับถึงบ้านจะมาล้างรถ ก็เพิ่งจะลงมาแค่ 50 C  ไม่ยอมจะลงง่าย ๆ จนกระทั่งเราเช็คอีกทีประมาณ 17:33 (หลัง DC ชาร์จประมาณ 4 ชม.) อุณหภูมิเค้าเพิ่งจะลงมาถึง 44 C เราก็ไม่แน่ใจว่าแบตอุ่นขนาดไหนจะถึงขีดอันตราย คิดว่าเทสล่าเค้าคงดูแล้วว่า 57C น่าจะโอเค แต่การเห็นแบตอุ่นขึ้นขนาดนี้ก็อดสยองการชาร์จแบบ DC ไม่ได้ 

  
ของปตท.ที่เราไปมีอยู่ตู้เดียวแต่ก็ทำช่องจอดไว้สามช่อง  ขนาดมีป้ายมีกรวยติดตั้งวางไว้ ก็ยังอุตส่าห์มีขาแว๊นเอามอไซต์มา ICE จนได้ ไม่แน่ใจว่าตู้เดียวสามช่องนี่ทำไว้เพราะตู้เดียวชาร์จได้พร้อมกัน 3 คันเลย?

  
โชคดีไม่มีใครมาชิงแย่ง แต่เราก็บุ๊คจองไว้ผ่านแอพ ก็น่าจะเวิ้คอยู่  หัวเสียบของ Tesla เราก็เป็น type 2 CCS combo ซึ่งน่าจะกำลังเป็นมาตรฐานไทยต่อไปตามประกาศสมาคมยานยนต์แห่งประเทศไทย ซึ่งตอนนี้ทาง BMW ก็เปลี่ยนมาใช้ type 2 แล้ว เด้วต้องดูว่าพวก Nissan หรือค่ายญี่ปุ่น (ซึ่งยังไม่ค่อยทำรถไฟฟ้าหรือแม้แต่ plug-in hybrid กันเท่าไหร่ จะยอมเปลี่ยนไหม หรือจะยัง J1772/ChaDeMo กันอยู่ต่อไป)

  
  
ประมวลภาพห้องน้ำไฮโซซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งของตู้ชาร์จรถพอดี หยอดเหรียญสิบบาทก็เข้าไปปลดทุกข์กับห้องน้ำติดแอร์ได้อย่างดี ส้วมก็มีที่พ่นฉีดน้ำเหมือนที่บ้านเด๊ะ โถฉี่ก็เหมือนที่บ้านอีกตะหาก ก๊อกน้ำล้างมือก็ดูดี กลัวมาคราวหน้าจะไม่อยู่ให้ใช้งานรึเปล่าไม่ทราบ

  
หัวชาร์จสามหัว สายไฟสามเส้นเปรียบเทียบขนาดกันจะเห็นว่าของ CCS combo รูปซ้ายสุดใช้สายใหญ่สุดคือ 2x70mm2 สำหรับการชาร์จโดยมีสายย่อย ๆ อีก 6 เส้น (2x0.75mm2 + 4 x 0.5 mm2) เป็นสายจากกวองดอง จีน  ส่วนสายของ ChaDeMo (รูปกลาง) ซึ่งเป็น DC charging อีกแบบจะใช้ 2x35 mm2 ซึ่งเล็กกว่ากันประมาณครึ่งนึง (มิน่าถึงไม่ค่อยมีใครใช้กัน)และมีสายส่งสัญญาณอีก 9x0.75 mm2 เป็นสายไฟสัญชาติญี่ปุ่นกระมัง (Nichigoh)  ส่วนสายของ type 2 AC (รูปขวามือสุด) อันนี้เป็นสายแบบ 3 เฟสมี 5 เส้น ขนาด 6.0 mm2 (L1, L2, L3, N, PE) และสายนำสัญญาณอีกอย่างน้อย 2 เส้น

   
ตอนเริ่มชาร์จใหม่ ๆ เค้าก็ยิงมา 65 kW ซึ่งก็ถือว่าเร็วใช้ได้ ปรากฎว่าที่แอพของปตท. รายงานอาจจะไม่ตรงกับที่อ่านได้ในรถหรือผ่านแอพเทสล่า คงต้องเอาที่ในรถหรือในแอพเทสล่าแจ้งไว้เป็นหลัก ปริมาณไฟฟ้าที่ตู้จ่ายออกมาจะมากกว่าที่ชาร์จเข้าเสมอ ซึ่งตรงนี้คือตัวกำหนดสิ่งที่เรียกว่า charging efficiency ซึ่งส่วนหนึ่งที่หายไปก็คือความร้อน ทั้งส่วนที่ไปทำให้แบตอุ่นขึ้นและส่วนที่ร้อนที่สายไฟ  สายไฟยาวขึ้นก็มี resistance มี voltage drop ถ้าลองเอามือจับสายไฟดูก็จะรู้สึกถึงพลังงานที่กำลังเคลื่อนที่ ชาร์จไปพักนึง สายก็อาจจะอุ่น ๆ นิดนึง

   
รูปซ้ายมือเป็น screen capture จากโทรศัพท์ที่ดึงข้อมูลผ่านสัญญาณบลูธูทจากตัว ODBC ที่ต่อกับรถทำให้เราเห็นข้อมูลมากขึ้นก็เอาอุณหภูมิแบตมาให้ดูว่าสูงขึ้นมาถึง 57.5 C ซึ่งเป็นอุณหภูมิแบตที่สูงที่สุดที่เราเคยเห็นมา หลังจากชาร์จไปได้สักพักนึง แบตขึ้นมาเป็น 82% เค้าก็จะลดความเร็วการชาร์จลง ตอนนี้เหลือ 52 kW


   
ข้อมูลการชาร์จก็สามารถดูได้จากแอพเทสล่าเช่นกัน กรณีเราหนีไปกินข้าวหรือไปซื้อนู่นนี่ ก็เช็คได้ตลอด รูปขวาให้ดูว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราใช้ climate control เพราะรถจอดตากแดดทิ้งไว้ร้อนมาก ตอนนี้ตั้งอุณหภูมิภายในไว้ที่ 22 C (รถเทสล่าต้องตั้งประมาณ 21-23 องศา ถ้าตั้งสูงกว่านี้จะได้ลมอุ่น ๆ) 


5. สถานีชาร์จยี่ห้ออื่น ๆ จากในรูปข้างบนจะเห็นว่ายังมีอีกหลายยี่ห้อที่เรายังไม่ได้กล่าวถึงหรือบางอันเราก็ไม่รู้จักเลย เช่น อันที่สองที่เขียนเหมือน EV charging station ที่ว่ามี 68 สถานี ไม่แน่ใจว่าอันนี้คือของ MG เค้ารึเปล่า เค้ายังไม่ได้เปิดให้รถยี่ห้ออื่น ๆ ชาร์จสถานีของเค้าได้ ส่วนของ Chargenow หรือค่าย greenlots นี่เราก็ไม่เคยใช้ ไม่ได้ยุ่งด้วย เห็นอยู่ตามห้างมี แต่เหมือนจะเป็นของพวก BMW ซึ่งใช้หัว J1772 (เห็นว่าตอนหลังยอมเปลี่ยนมาใช้ Type 2 Mennekes IEC 62196 ตามมาตรฐานยุโรปแล้ว) บางอันก็ลองไปดาวน์โหลดแอพของเค้ามาดู เช่น Sharge หรือ Pump charge ซึ่งแอพก็ดูดีใช้ได้ มีระบบการจองค่อนข้างดีเลือกเวลาได้เป๊ะๆ เลย ระบบการจองดีกว่าของปตท.ซะอีก แต่สถานียังมีน้อยมาก ก็ต้องรอให้เค้าเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ 

สรุปเบ็ดเสร็จสำหรับผู้ที่จะเดินทางไกลด้วยรถไฟฟ้า ณ ปี 2022 เราขอสรุปข้อแนะนำไว้ดังนี้
1) เอาให้แน่ใจว่าจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่จะจอดนอนค้างคืน มี destination charger แม้จะเป็นใช้ไฟบ้านเสียบก็ตาม ถ้าบังเอิญว่าระยะที่เดินทางไปถึงได้ ก็ไปชาร์จตรงนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาระหว่างทางและได้หลีกเลี่ยงการชาร์จ DC ซึ่งอาจจะช่วยรักษาแบตให้อายุยืนได้ (ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นกับ cooling capacity ของรถแต่ละยี่ห้อด้วย)
2) ใช้แอพ PlugShare หาสถานีชาร์จตามทางไว้โดยกำหนดระยะทางที่รถเราสามารถเดินทางได้ไกลสุดโดยเผื่อเหลือเผื่อขาดแบตไว้สัก 20% และเตรียมสถานีสำรองไว้อย่างน้อยใกล้ ๆ ไว้ อีก 2-3 แห่ง
3) เผื่อเวลาเดินทางและทำใจว่าอาจจะไปถึงช้ากว่าเดิม
4) รอให้มันเจริญกว่านี้ มีสถานีชาร์จมากกว่านี้ ทำใจ




 

Create Date : 29 มกราคม 2565
0 comments
Last Update : 25 กุมภาพันธ์ 2565 19:20:03 น.
Counter : 1997 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space