space
space
space
<<
สิงหาคม 2564
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
26 สิงหาคม 2564
space
space
space

เตรียมตัวเป็นเจ้าของ Tesla ต้องดาวน์โหลดแอพอะไรบ้าง
อยากจะเขียนเรื่องแอพ แต่ก็อยากจะรอไปสักพักนึง เพราะตัวเองก็ยังเพิ่งจะเริ่มใช้น้องโบลต์ ก่อนจะไปลงลึกถึงรายละเอียดของแต่ละแอพโดยเฉพาะที่ตัวเองใช้ตอนนี้มากที่สุด (Teslafi) ใช้เยอะกว่า Tesla app ซะอีก ก็เลยอยากจะมาเกริ่นว่าช่วงระหว่างรอรถมา เพราะทุกคนจะมีระยะเวลานี้ไม่ว่าจะซื้อรถที่ไหน ระหว่างรอเราจะทำอะไรกันบ้าง

ประสบการณ์การรอเป็นเจ้าของรถเทสล่าอาจจะต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ในส่วนของประเทศไทย ก็อาจจะซับซ้อนตรงที่ว่าท่านซื้อรถจากประเทศต้นทางที่ใด  ถ้าไม่ได้เลือกรถที่มีอยู่ใน inventory ก่อนอยู่แล้ว ก็จะต้องมีการรอเสมอ เนื่องจากตอนนี้กำลังผลิตไม่ทันกับความต้องการของรถในท้องตลาด  ทำให้การคาดการณ์ว่าเมื่อไหร่เทสล่าจะมาขายเมืองไทย ที่เดิมเคยเดาว่าอาจจะมาในปีนี้มีโอกาสร้อยละ 5 เนื่องจากตอนนี้มาจนจะถึงไตรมาสสุดท้ายของปีแล้ว และด้วยสถานกรณ์ที่เป็นอยู่จริงไม่วาจะเรื่อง chip shortage, battery constaints เทสล่าแอบขึ้นราคารถหลายต่อหลายรอบ เพิ่มเงินค่าจอง ดีเลย์การออก cybertruck, semi ยกเลิก model S plaid+, refreshed model X ยังไม่ได้ส่งมอบ วันส่งมอบรถ(บางรุ่น)ในเมกาถูกดันไปถึงเกือบจะไตรมาส 2 ของปีหน้า สรุปว่าแทบจะกล่าวได้เลยว่าโอกาสจะมาขายเมืองไทยปีนี้น่าจะร้อยละ 0.0000000001 เท่านั้น (ไม่มา)  ต้องรอลุ้นปีหน้าต่อไปซึ่งหากโรงงานที่เบอร์ลินเปิด ตลาดยุโรปทั้งหมดก็จะถูกป้อนด้วยโรงงานนั้น จังหวะนี้ ถ้าใครนิยมชมชอบรถนำเข้าแบบ CBU ถือเป็นโอกาสดีมากที่จะได้รถที่ผลิตในเยอรมันโดยการซื้อผ่านเกรย์ แต่ถ้าใครอยากจะรอพร้าเล่มงาม คงจะต้องรอรถจากเมืองจีนที่เทสล่าจะนำเข้ามาขายเองในประเทศไทยและได้สิทธิพิเศษลดหย่อนทางภาษีเหมือนที่ MG ได้  แต่อันนั้นอาจจะต้องรอดูกำลังความแรงของตลาดอื่น ๆ นอกยุโรปที่โรงงานจีนจะผลิตป้อน รวมถึงความแรงในการเปิดตัวในอินเดีย เพราะดูเหมือนเทสล่าต้องการจะทำตลาดในอินเดียก่อนทำตลาดในโซนบ้านเรา แง...  อาจจะเป็นปี 2023-4 ก็ได้นะ ถึงคนที่ซื้อเกรย์ไปแล้วอย่างเรา ก็ยังอยากให้เทสล่าเข้ามาอย่างเป็นทางการนะ มันได้ความอุ่นใจในเรื่องบริการหลังขาย การซ่อม รวมถึงคุณลักษณะอย่างอื่นที่ตอนนี้สำหรับรถเกรย์นำเข้ายังไม่ได้ใช้สามารถใช้งานได้เหมือนที่เมกาเค้ามี เช่น navigation, full self driving, enhanced autopilot, etc.

ระหว่างรอรถท่านมาท่านสามารถทำอะไรได้บ้าง
1) ติดตามข่าวสายการผลิต เนื่องจากตอนนี้รถเทสล่าที่ขายเมืองไทยจะมาจากอังกฤษหรือไม่ก็ฮ่องกง ซึ่งก็เป็นรถที่ผลิตจาก giga Shanghai ทั้งคู่ เทสล่ามักจะเร่งป้อนส่งรถให้ทันทีละไตรมาส ดังนั้นรถจะส่งมอบเยอะสุดในเดือนสุดท้ายของแต่ละไตรมาส
2) ติดตามการเดินทางของรถ (ใช่แล้วคับ) เกาะติด Mr Miserable บนเว็บ Tesla Motors Club ให้ดี ๆ ท่านก็จะพอทราบว่ารถของท่านเดินทางมาบนเรือลำใด การติดตามการเดินเรือก็เพลินดี  หลังจากรถของท่านส่งมอบที่ประเทศปลายทางแล้ว อันนี้ท่านต้องไปคาดเค้นจากบริษัทผู้นำเข้าอิสระของท่านอีกทีเพื่อให้ได้มาซึ่งชื่อเรือ container ที่จะขนรถมาแหลมฉบัง แล้วท่านก็จะได้ตามเรืออีกลำอีกเกือบเดือนเพราะลำนี้จะจอดบ่อยหน่อย
3) เตรียมซื้อ accessories อันนี้จิปาถะ เยอะมาก เด้วจะเขียนอีกบล็อกนึง แล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะเห็นว่าอะไรจำเป็น อะไรไม่จำเป็น อะไรติดแล้วอาจจะนำมาซึ่งหายนะเล็ก ๆ เช่น กระจกแตก (อ่านบล็อกก่อนหน้า) เป็นต้น
4) ลงแอพเตรียมศึกษาเรื่องการใช้งาน อ่านคู่มือ สิคับเค้ามี pdf ให้ดาวน์โหลด โหลดให้ถูกกับประเทศที่รถจะส่งไปขายด้วยนะคับ 

แอพที่ท่านอาจจะอยากลงแน่ ๆ ก็คือแอพของเทสล่า Tesla app ถามว่าไม่มีได้มั้ย จริง ๆ ก็ยังได้อยู่ ถ้าท่านไม่อยากจะใช้ฟังก์ชั่นอะไรผ่านแอพเลย Tesla app จะดาวน์โหลดก็ไม่ใช่ง่าย ๆ นะคับ เพราะเค้าจะสงวนไว้เฉพาะในประเทศที่เค้าไปทำตลาดเป็นทางการเท่านั้น กรณีพี่ไทย ยังนำรถเข้าผ่านศูนย์เกรย์อยู่ เค้าก็ไม่ได้จะยอมให้ดาวน์โหลดแอพง่าย ๆ ขนาดตอนที่เราพยายามจะสั่งของผ่านเว็บไซต์เค้าในเมกา ก็ยังสั่งไม่ได้ โดนเค้าจับได้ว่าปิงมาจากไทยแลนด์ เท่านั้นแหละ เค้า flag ไว้ทุกที่ ขนาดให้เพื่อนที่อยู่ที่เมกาสั่งให้ก็ยังไม่ได้ flag ไปทุก address และบัตรเครดิตที่เกี่ยวข้องกับ account นี้  สุดท้ายต้องติดต่อให้ freight forwarder คนอื่นเค้าสั่งให้ ถึงจะได้ของสมใจ 

สำหรับ Tesla app ถ้าท่านคีย์หาในแอพสโตร์ไม่เจอก็ไม่ต้องแปลกใจ ท่านต้อง logout จาก user account ในประเทศไทย แล้วไปตั้ง account ใหม่โดยกำหนดพื้นที่เป็นประเทศที่เราอ่านภาษาเค้าออกและมีเทสล่าขายอย่างเป็นทางการ ของเราใช้ USA เนื่องจากเราถนัด US มากกว่า มีที่อยู่ (เพื่อน) มีบัตรเครดิตของ US ก็เลยใช้ account ของ USA ดังนั้นก็เลยต้อง log-out (Thai), log-in (US), log-out (US), log-in (Thai) ทั้งหมด 4 รอบ ถ้ายังไม่มีก็สร้างใหม่ซะ แค่ใช้ email address อีกอันกำหนดพื้นที่เป็นเมกา แล้วก็คีย์หา Tesla app แล้วก็ดาวน์โหลดมา (ถ้าใครบังเอิญอยู่เมืองไทยแต่ใช้ account USA/UK or China or etc ที่มีเทสล่าขายอยู่แล้วอย่างเป็นทางการ ก็ไม่ต้องนะคับ พอดีโทรศัพท์ยี่ห้อผลไม้นี่ถ้าเลยเคยดาวน์โหลดอะไรไว้ เค้าจะมี copy อยู่บน icloud ของบริษัทผลไม้เค้า มันก็จะยังอยู่บนเครื่องเราแม้จะ log out หรือ log in ด้วย account อะไรก็ตาม ดังนั้นพอเรา log-in รอบสุดท้ายด้วย account Thailand แล้ว แอพมันก็ยังอยู่ จริง ๆ ถ้าเค้ารู้กันอยู่แล้วว่ามันทำได้ ก็ไม่เห็นจะต้องกันไว้ไปทำไม

พอดาวน์โหลด tesla app เสร็จ ท่านก็ได้แต่รอ เพราะถ้าพยายาม log in เข้าไปในแอพ ด้วย e-mail address ของตัวท่านเอง ท่านก็จะไม่เจออะไรในนั้นยกเว้นคำเชื้อเชิญให้ไปซื้อรถเค้า แล้วก็มีลิงค์พาไปหน้าเว็บไซต์ tesla เพื่อไปซื้อรถ

สิ่งที่เรามารู้ตอนหลังก็คือ ทางบริษัทผู้นำเข้าอิสระของท่านเค้าจะได้ VIN number มาก่อนที่รถจะส่งมอบจริง ๆ ที่ประเทศต้นทางซะอีก หรืออย่างช้าสุดก็ตอนที่รถส่งมอบที่ประเทศต้นทางแล้ว  กรณีท่านเป็นผู้ซื้อผู้ lease ตัวจริงที่ประเทศต้นทาง ท่านก็ไป register VIN number อันนี้บน tesla website ของ account ของท่านเองเลย  แต่กรณีของเรา ไม่ทราบว่าทางบริษัท W เค้าดำเนินการที่อังกฤษอย่างไร ดูเหมือนจะมีคนไป register ให้โดยใช้ e-mail/password ตามใจคนคนนั้น (ไม่ได้มาถามเราว่าเราอยากใช้ e-mail อะไร password อะไร) อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ ถ้าท่านคาดคั้นขอ e-mail address และ password สำหรับ tesla account ที่สัมพันธ์กับรถของท่านมาได้ ท่านก็จะใช้ username (email address) ดังกล่าวและ password เพื่อเข้า Tesla app ได้เลย ท่านก็จะเห็น VIN Number และสามารถควบคุมรถได้จากประเทศไทย (ฟังดู spooky ดี) ทำอะไรได้มั่งเหรอ  ท่านยังขับรถด้วย smart phone ไม่ได้แน่นอน จนกว่าท่านจะซื้อ enhanced autopilot/full self driving  แต่ท่านอาจจะสั่งล็อกรถ เปิดฝากระโปรงรถด้านหน้า ด้านหลัง เปิดแอร์ เปิด sentry mode (เปิดไปก็ดูทางไกลไม่ได้อยู่ดี) บีบแตร เปิดไฟส่องหน้าชาวบ้านเล่น อะไรประมาณนี้

  
อันนี้เป็นหน้าตาของ Tesla app หลังจากที่ท่าน log in เข้ามาด้วย username (e-mail) และ password ที่รถลงทะเบียนไว้กับ tesla account  ถ้ามีคนใช้รถหลายคนท่านก็บอก username & password ให้เค้าไปเพื่อให้เค้าใช้แอพได้ ถ้าท่านจะคนในบ้านใช้รถได้เฉย ๆ ไม่ใช้แอพ ก็ไม่ต้องบอกข้อมูลตรงนี้ แต่ท่านไป add โทรศัพท์มือถือ/tablet ของคนในบ้านท่าน (ต้องใช้บัตรกุญแจรถที่ให้มา) ให้เป็นเสมือนหนึ่งกุญแจรถ ซึ่งเค้าก็จะสามารถควบคุมรถได้ ขับได้  แต่เข้าแอพ tesla ไม่ได้แค่นั้นเอง  หน้าตาของแอพที่เห็นข้างบนเป็น version เก่า (V 3.10.9) ทางเทสล่าเพิ่งจะออก version ใหม่ (V 4.0.0-644-7cf9c8e00) ออกมาเมื่อประมาณวันที่ 26 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา

  
ในแอพก็จะให้ท่านทำได้สารพัดอย่างโดยมีข้อแม้ว่าท่านจะต้องอยู่ในระยะ Bluetooth (10-20 ม.) หรือถ้าอยู่เลยระยะ Bluetooth ก็สั่งการผ่าน cellular ได้หากรถยังตื่นอยู่  กรณีจอดรถทิ้งไว้ ไม่เปิดแอร์ ไม่เปิดโหมดสุนัข ไม่ใช้โหมดแคมป์ ไม่ใช้โหมด sentry อะไรก็ตามที่ยังทำให้รถ active อยู่ตลอดเวลา หลังจากรถเสร็จ รถเค้าก็จะหลับไปเพื่อประหยัดพลังงาน เราพบว่าหลังจากรถหลับไปแล้ว ถ้าท่านกับโทรศัพท์ท่านไม่อยู่ในระยะ Bluetooth ก็จะสั่งอะไรไม่ได้เพราะเค้าจะขึ้นว่า Waking up แล้วก็หมุนอยู่อย่างนั้น อันนี้เป็นสาเหตุที่เขียนในบล็อกที่แล้วว่าทำไมต้องไปเปลี่ยนซิมเป็นซิมแบบรายปี ไม่ใช้ multisim เพื่อให้สามารถส่ง SMS ไปปลุกเค้าได้ วิธีจะปลุกอีกวิธีก็คือมีคนไปเปิดประตู คือถ้ามีคนไปยุ่งกับรถปุ๊บ เค้าก็จะตื่นปั๊บทันที แล้วก็จะสั่งงานได้เหมือนกัน ของบางอย่างสั่งได้แต่ก็ยังจำกัด เช่น sentry mode สั่งให้เปิดปิดได้ และหากมีคนมากระตุกให้ทำงาน เค้าก็จะส่งข้อความมาแจ้งท่าน แต่ที่ยังทำไม่ได้คือยังไม่สามารถเปิดดูจากทางไกลได้ ต้องมาเปิดดูเองที่จอในรถ การชาร์จรถ สามารถสั่งเริ่มชาร์จ หยุดชาร์จ เปิดฝาชาร์จพอร์ท ดูสถานะการชาร์จกับเลื่อนระดับความเต็มของแบตที่อยากจะชาร์จ ส่วนกระแสไฟที่จะชาร์จและเรื่องตารางการชาร์จทำผ่านแอพยังไม่ได้ ต้องไปตั้งในรถ นอกจากนี้ก็ยังมีการขายฟังก์ชั่นเพิ่ม สำหรับรถจากในอังกฤษตอนนี้มี Enhanced autopilot ตกเป็นเงินไทยประมาณแสนห้า เท่าที่มีคนเล่าให้ฟังคือใช้บัตรเครดิตสั่งซื้อได้เลย เนื่องจากรถเราเป็น performance อยู่แล้วเค้าก็มีให้เลือกแค่สองอัน คือ Enhanced autopilot กับ Full Self-Driving (สามแสน) ส่วนคนที่มีรถ long range จะมี option Accerelation Boost upgrade ราคา $2000 (ตอนปี 2019 เพิ่งจะ $1,500) โผล่ขึ้นมาให้เลือก

บังเอิญเรื่อง username/password ที่เค้าจะ assign ให้เราเลย อันนี้เราไม่รู้มาก่อน ไม่ได้ขอเค้าไว้ ก็เลยรู้สึกเสียดาย ที่เสียดายไม่ใช่เสียดายที่ไม่ได้ล็อกเข้าไปในเทสล่าแอพ แต่เสียดายที่ไม่ได้เข้าไปสมัคร Teslafi ไว้ก่อน ทำให้เราไม่มีสถิติตั้งแต่รถออกจากโรงงานหรืออย่างน้อยก็ตั้งแต่วันที่ส่งมอบที่ประเทศต้นทาง เพราะเราก็สงสัยว่าทำไมรถที่ส่งมอบเราวันที่เรารับรถระยะทางเริ่มที่ 35 กม. สมัยเราถอยสโนว์ตอนนั้นจดไว้ว่ามิเตอร์อ่านแค่ 5.1 กม.ในวันรับรถ ซึ่งก็สมเหตุสมผลกับการขับไปขับมาแถวๆ โชว์รูม สำหรับคันนี้ 35 กม. ไม่ใช่เรารับระยะทางไม่ได้ เพราะที่เมกากฎหมายกำหนดว่ารถใหม่ขาย มิเตอร์ต้องไม่เกิน 50 ไมล์ สำหรับเมืองไทยเราหาตัวเลขไม่เจอ ตอนเค้าขนรถเราจาก Southampton ไป Thames ระยะทาง 118 กม.เค้าเอาขึ้นรถยกไปแน่นอน แต่ที่เราแอบสงสัยก็คือตอนเรากดดู Energy consumption จะเห็นยอดพีคขึ้นมายอดนึงตรงแถว ๆ กิโลที่ 30-35 นั่นแหละ มันบ่งชี้ว่ามีใครเอารถไปขับและมีการเร่งอย่างบ้าคลั่งเพื่อทดสอบอะไรบางอย่าง อันนี้เราเห็นตั้งแต่วันรับรถ ตอนแรกเราก็นึกว่าอาจจะเป็นจากโรงงานเค้าทดสอบรถ แต่นึกไปนึกมา เค้าคงไม่ทดสอบกันตั้ง 35 กม. พอไปเช็คกับพรรคพวกในฟอรั่มที่เมกา คนรับรถใหม่เค้าแชร์กันว่าระยะทางวันรับรถใหม่เป็นตัวเลขหลักเดียวกันทุกคน  เราเลยจะขอสรุปว่าต้องมีการให้ใครเอาไปขับเล่นแน่นอน ไม่ว่าจะเกิดที่อังกฤษ (คิดว่าที่อังกฤษมากกว่า) หรือที่ประเทศไทยซึ่งน่าจะโอกาสน้อย เพราะเรารู้วันและเวลาที่รถลงจากเรือ ดูแล้วไม่น่าจะมีใครเอาไปหรือกล้าเอาไปซิ่งที่แหลมฉบัง ถ้าเค้าแอบซิ่งทดสอบรถกันตั้งแต่ที่อังกฤษ แล้วเราสมัคร TeslaFi ไว้ตั้งแต่แรก เราก็จะเห็นมันขึ้นมาทันที นอกจากอีคนแอบเอาไปซิ่งมันรู้ทันแล้วมันปิด connectivity ก็จะปิงไม่ได้ แต่หลังจากรถออกจากอังกฤษมาแล้ว ช่วงนั้นไม่มี cellular connectivity จนมาถึงแหลมฉบัง จนกว่าจะถึงที่บริษัท W แล้วเค้าใส่ซิมใหม่ให้เราหรือเค้าตั้งให้รถต่อกับ wifi ในบริษัทเค้า ต่อให้มี TeslaFi ถ้าไม่มี cellular/wifi connectivity ก็ไม่มีทางรู้เหมือนกันว่าแอบเอารถไปทำอะไร พอดีตอนรับรถก็ลืมถาม ว่าเด้วจะลองถามย้อนหลังเพราะยังติดใจอยู่  คือไอ้ตัวเลขดังกล่าวมันทำให้สถิติเรื่อง drive efficieciency ของเราเสียไปเหมือนกันเพราะมันมาถัวให้เราดูใช้เปลือง (ดูรูป)


ต้องมีไอ้ตีนผีเอารถคันนี้ไปซิ่งก่อนมาถึงเราแน่นอน มันมีหลักฐานอยู่ในจอรถว่าช่วงระยะประมาณ 30-35 กม. มีการเร่งอย่างบ้าคลั่งเพราะกราฟการผลาญไฟมันฟ้องว่า consumption ขึ้นไปเกิน 500 Wh/km ในฐานะเจ้าของรถตัวจริงที่ต้องจ่ายเงินซื้อรถคันนี้มาก็อยากจะตะโกนด่าว่า ขออนุญาตกันบ้างรึเปล่า แต่นึกไปนึกมา ก็คงทำอะไรมันไม่ได้ ต้องอโหสิกรรมให้มันไป คิดว่ามันเอาไปทดสอบมอเตอร์+แบตให้ ถือเป็นช่วงรันอิน ตัวเลขนี้คงจะทำให้เราด่างพร้อยไปอีกพักนึงเลยเพราะตัวเลขเฉลี่ยเลยตกที่ 247 Wh/km

อันอื่นที่ท่านอาจจะอยากเล่น ถ้าท่านเป็นคนบ้าข้อมูล ชอบดูสถิติ ชอบดูรายละเอียด (เหมือนใครก็ไม่รู้) ที่อาจจะมีหลุดกล่าวถึงไปบ้างแล้ว ก็คือ TeslaFi

TeslaFi เป็น data logger แบบหนึ่ง ในบรรดา data logger อีกหลาย ๆ เจ้า (มีกันเกือบ 10 ยี่ห้อให้เลือก ทั้งฟรีและไม่ฟรี) TeslaFi เค้าไม่ทำแอพแต่ทำเป็นรูปแบบการเก็บข้อมูลและดูผลผ่านทางเว็บไซต์ สำหรับคนบ้าสถิติ บ้าตัวเลขเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เรียกว่าถึงจะต้องจ่ายเงินปีละ 50 USD ก็ยอมโดยสดุดี แถมยังแอบเสียดายด้วยที่ไม่ได้ขอ e-mail address และ username ของรถเราจากทางบริษัท W ซะตั้งแต่วันแรกที่ส่งมอบที่อังกฤษ  สิ่งที่เราไม่รู้ก็คือเราไม่รู้ว่าเกรย์แต่ละเจ้าเค้ามีกระบวนการซื้อรถสั่งจองที่ประเทศต้นทางอย่างไร เราไม่รู้ว่าเค้าซื้อผ่านใครที่นู่น หรือเค้ามีคนของบริษัทเค้าไปอยู่ที่อังกฤษ/ฮ่องกงแล้วซื้อรถในชื่อของคนคนนั้น ในกรณีคนที่ซื้อรถที่ประเทศต้นทาง เค้ายังมีผลประโยชน์ของการได้ supercharging 1000 ไมล์ จากการใช้ referal code ซึ่งกรณีของเราตรงนี้ก็อดเลย เพราะได้มาก็ไม่รู้จะขับไปเสียบ supercharge ฟรีที่ไหน   ไม่ว่าทางเกรย์เค้าจะซื้อรถโดยใครก็ตาม เราไม่ทราบ แต่กรณีของบริษัท W เค้าให้คนที่เป็น alias บริษัทเค้าที่ซื้อรถ (ของเรา) ให้เค้า create tesla account ขึ้นมาเลย เป็นที่มาที่ว่าทำไมวันรับรถ เราถึงได้รับแจ้งจากคุณเกดว่าให้ใช้ e-mail account ที่เราไม่ได้ตั้งเอง Xxxxxx@gmail.com และ password xxxx12345 อะไรประมาณนี้ และห้ามเปลี่ยนด้วยนะ ก็ประหลาดดี


หน้าตาของหน้าแรกเวลาท่านล็อกเข้ามาน TeslaFi รายละเอียดเยอะสะใจ เรียกว่าทำอะไรไว้ รู้ไปหมด จะนอน จะหลับ จะตื่น จะขับ จะชาร์จรถ จะใช้ sentry mode สารพัด การที่ TeslaFi รับทราบข้อมูลได้ขนาดนี้เพราะมีการดึงข้อมูลจากรถแบบ real time ผ่าน Tesla API โดยได้รับอนุญาตจากท่าน (ก็เราให้ API token หรือ username & password เค้าไป) อยากจะรู้เยอะ ๆ ทุกนาที ก็ได้ ถ้าท่านให้ TeslaFi ปิงรถท่านทุก ๆ 1 นาที แต่การทำเยี่ยงนี้ก็จะทำให้รถไม่เคยหลับ เพราะถูกดึงข้อมูลตลอดเวลา นำไปสู่ phantom drain มหาศาล สุดท้ายท่านต้องไปตั้งใน settings เองว่าจะให้เค้าหยุดปิงรถเมื่อไหร่ เผื่อให้รถได้มีโอกาสหลับ  หลังจากเราใช้ TeslaFi มาได้เกือบสามสัปดาห์ก็รู้สึกถูกใจมาก จนตัดสินใจว่าจะสมัครรายปีต่อ และกำลังพิจารณาจะย้ายฐานข้อมูลจาก TeslaFi ไป Teslalogger (ขอศึกษาเรื่อง RaspberryPi แพร๊บ) ไว้เดี๋ยวเขียนอีกบล็อกนึงเรื่อง TeslaFi นะคับ แบบว่ามันถูกใจอะ  ชอบถึงชอบที่สุด

พวกแอพหรือคนเขียนซอฟท์แวร์ที่เป็น data logger เค้าจะดึงข้อมูลจากรถผ่าน Tesla API (application programming interface) อีกทีนึง เนื่องจากรถเทสล่าทุกคันเค้าจะมากับ premium connectivity ในปีแรก หมายความว่ารถมันออนไลน์อยู่ (เกือบจะ) ตลอดเวลา ดังนั้นมีข้อมูลบางอย่าง (หลาย ๆ อย่าง) ที่รถเค้าส่งไปยัง server ของบริษัท ซึ่งตรงนี้เทสล่าเค้ายอมให้ผู้ใช้ (เรา) หรือ ตัวแทนของเรา (พวกผู้พัฒนา software ไม่ว่าจะในรูปแอพ หรือ เว็บไซต์) เค้าเข้ามาดึงข้อมูลได้ (ถ้าเราอนุญาต) ข้อมูลที่ดึงได้ก็จะถูกกำหนดโดยเทสล่า เราเข้าใจว่าเค้ามีข้อมูลเกี่ยวกับรถอยู่เยอะ เพราะเวลาดูข่าวว่ากรณีเกิดอุบัติเหตุ เทสล่าเค้าสามารถเช็คได้เลยว่ารถขับอยู่ด้วยความเร็วเท่าไหร่ เบรคเมื่อไหร่ ถุงลมกางหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ user และกลุ่ม data logger ทั้งหลายไม่สามารถเข้าถึงได้  แต่ข้อมูลอย่างอื่น ๆ ที่เค้ายอมให้ล้วงไปดูก็อาจจะได้แก่ พวก ระยะทางการขับขี่ ปริมาณแบตที่ใช้ อุณหภูมิภายนอกภายใน การจอดนิ่ง การหลับ ฯลฯ ซึ่งอันนี้สำหรับเราเป็นข้อมูลที่ค่ามาก (สำหรับเรา) ทำให้เราเข้าใจรถได้มากขึ้น แค่นี้ก็ถือว่าใจดีมาก ไม่มีบริษัทไหนที่ยอมให้ทำขนาดนี้

TeslaFi เค้าไม่ฟรี เค้าให้ใช้ฟรีแค่ 2 สัปดาห์แรก แต่ถ้าท่านใส่ referal code เช่น "undecided" ของคุณ Matt Ferrell (ยูทูปเบอร์ท่านหนึ่ง) ก็จะได้ free trial เพิ่มจาก 2 สัปดาห์เป็น 4 สัปดาห์ หลังจากนั้น ถ้าไม่อยากดูแล้วก็เลิกไป หรือไปสมัคร data logger เจ้าอื่น ๆ ที่เค้าอาจจะไม่เก็บเงินท่านแต่อาจจะเอาข้อมูลไปแชร์ เช่น Teslab (Tezlab) เนื่องจากเราไม่อยากให้ 3rd party, Mark Zuckerberg หรือใครก็ได้ในโลกนี้รู้ว่าเราขับรถไปไหน จอดตรงไหน ชาร์จไฟเท่าไหร่ แบตเสื่อมขนาดไหน ฯลฯ โดยไม่ขออนุญาตเรา เราก็เลยคิดว่าเรายอมจ่ายเงิน หลัง free trial สำหรับ TeslaFi มีให้เลือกได้สองแบบ จะยอมจ่ายเดือนละ $5 หรือจ่ายรายปี ปีละ $50 เราเลือกจ่ายแบบรายปีไปเพราะตั้งใจจะดูไปอีกนานเลย (อีกหน่อยอาจจะดูบ่อยน้อยลง)

TeslaFi ไม่มีแอพ แต่ข้อมูลที่ท่านจะได้จากเว็บไซต์เค้าจะค่อนข้างละเอียดมาก มากจนคิดว่าถ้าจะทำเป็นแอพ คงจะลายตาไปหมด ถ้าท่านไม่กังวลว่าข้อมูลท่านจะรั่วไหลไปที่ไหน ไม่อยากเสียเงินรายเดือนหรือรายปี อาจจะพิจารณาสมัคร Teslab ซึ่งเค้าก็เป็น data logger อีกเจ้าหนึ่ง แต่เค้าทำรูปแบบเป็น app platform ซึ่งก็จะมีความสะดวกในการใช้งานมากกว่าเว็บไซต์เบส เนื่องจากเค้าไม่เก็บเงินท่าน ก็จะแลกมาด้วยการแอบแชร์ข้อมูล ถ้าท่านไม่รังเกียจว่าโลกจะรับรู้ ก็สามารถใช้ได้เหมือนกัน  ทั้ง Teslab และ TeslaFi เป็น data logger การที่เค้าจะเข้าไปล้วงข้อมูลรถเทสล่าของท่านได้ก็หมายความว่าท่านต้องอนุญาตเค้า วิธีอนุญาตที่ง่ายที่สุดก็คือท่านให้ Tesla username & password เค้าไป  ถ้าวันใดที่ท่านเลิกไว้ใจเค้า ไม่อยากให้เค้า log ข้อมูล ก็แค่เปลี่ยน password กรณีของเรา เนื่องจากได้รับการข้อร้องจากบริษัท W ไม่ให้ทำการเปลี่ยน username หรือ password คิดว่าก็คงต้องไว้ใจเค้าไปตลอด  สำหรับคนที่ไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ ท่านอาจจะทำการอนุญาตเค้าอีกแบบโดยการ create API token ให้เค้าแทนที่จะให้ username + password เค้าไป ซึ่งอันนี้ทาง TeslaFi มี support feature นี้ ส่วน Teslab นี่ไม่ทราบ  ถ้าท่านเป็นพวกที่ชาตินี้อั๊วไม่ไว้ใจใครเลยทั้งสิ้น API token ก็ไม่ให้ ท่านก็จะต้องล็อกด้วยตัวเอง ใช้คอมพิวเตอร์ตัวเอง ก็อาจจะพิจารณา Teslalogger หรือ Teslamate กรณี Teslalogger ท่านจะต้องมี rasberry mini-PC ที่ online อยู่ตลอดเวลาแล้วก็ log ตัวเองดูเอง รู้อยู่คนเดียว ไม่ต้องแชร์ tesla account username + password ให้ใคร ไม่ต้องให้ API token ใคร data เป็นของท่าน มีแต่ท่านกับ tesla เท่านั้นที่จะรู้ เราก็แอบเข้าไปดู Teslalogger แพร๊บนึง พยายามจะทำความเข้าใจแต่เค้ามีแต่คู่มือที่เป็นภาษาเยอรมันเท่านั้น ก็เลยคิดว่ากลับไปใช้ TeslaFi เหมือนเดิมดีกว่า ในอนาคตอันใกล้ คิดว่าน่าจะได้ลงมือเล่น Teslalogger เนื่องจากผู้พัฒนาเค้าเป็นทีมเดียวกับที่ทำแอพ Scan my tesla ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป  ส่วน Teslamate และ data logger เจ้าอื่น ๆ (มีกันเกือบ 10 เจ้า) เรายังไม่มีความรู้มาก คิดว่าทุกวันนี้ก็โอเคกับสิ่งที่ได้จาก TeslaFi ดีอยู่แล้ว ราคาก็โอเค

เรื่องของรถยนต์ปล่อยไอเสียเป็นเรื่องใหญ่ (คือปฐมเหตุที่ทำให้เราเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า) ตามที่ท่านเห็นปรากฎการณ์หลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไปบนโลกใบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือในหลาย ๆ ประเทศมีการกำหนดมาตรฐานการบังคับการตรวจไอเสีย ก๊าซพิษต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ต่าง ๆ และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า OBD (On-Board Diagnostics) ขึ้นมา โดยกลุ่มประเทศทางยุโรปกำหนดให้รถเผาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกคันที่ขายในยุโรปจะต้องมีระบบ (E)OBD ตั้งแต่ปี 2001 ในเมกาบังคับตั้งแต่ปี 2008 พี่ไทยไม่เห็นว่าอะไร แต่ถ้ารถคันไหนที่เป็นรถยี่ห้อของที่มีการส่งไปขายในยุโรป เมกา ออสเตรเลีย+นิวซีแลนด์ (2006) จีน (2008) ก็จะต้องมีระบบ OBD กันทั้งหมด ซึ่งเค้าจะมีเหมือน port (OBD connector) ซ่อนอยู่ในที่ต่าง ๆ เช่น ในคอนโซล ในลิ้นชัก ฯลฯ เพื่อให้เสียบต่อกับคอมพ์ หรือต่อกับอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณ bluetooth เพื่อส่งรายงานได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ใช้ก็จะเป็นหน่วยงานที่ไว้ทดสอบการปล่อยไอเสีย (ไม่ต้องเป็นวัดจากท่อไอเสียอีกต่อไป หรือกรณีรถยนต์มีปัญหา ทางอู่ซ่อมรถก็จะสามารถต่อกับคอมพ์เพื่อดูรายละเอียดหรือข้อมูลภายในรถได้เช่นกัน  ซึ่งตอน Tesla ผลิต Model S, X รุ่นแรก เป็นช่วงระยะที่กำลังจะมีการบังคับใช้ OBD เค้าก็ยังมี OBD connector ให้เสียบอยู่ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นรถไฟฟ้า แต่พอเวลาผ่านไป มาถึงยุค Model 3 (เริ่มผลิตปี 2017) ก็กลายเป็นว่า Model 3 เป็นรถเทสล่ารุ่นแรกที่ไม่มีช่องสำหรับเสียบต่อ OBD connector อีกต่อไป เพราะรถไม่มีการปล่อยของเสีย แต่เค้าก็ยังมีเหมือนกับ socket+jack ให้เราสามารถเชื่อมต่อสายพ่วงและเพิ่ม OBD connector socket เข้าไปเพื่ออ่านนู่นนี่ได้ 

ถ้าใครสนใจอยากต่อ OBD connectorบน Tesla model 3 ก็ต้องมีอุปกรณ์ 2 ชิ้นกับแอพเพื่อใช้งานคู่กัน สำหรับใครที่ใช้โทรศัพท์ระบบ Android ก็จะประหยัดเงินหน่อย เพราะตัวส่งสัญญาณบลูธทูธสำหรับ Android (และ Windows)เรียก OBDLink LX OBD2 bluetooth scanner มีขายบน amazon ราคา $59.95  ส่วนใครที่ใช้ยี่ห้อผลไม้เหมือนเราก็ต้องจ่ายแพงหน่อยเพราะตัวส่งสัญญาณบลูทูธของยี่ห้อผลไม้คือ OBDLink MX+ OBD2 bluetooth scanner (ใช้ได้กับผลไม้ Android และหน้าต่างs) ราคา $99.95 และเนื่องจาก model 3 ไม่มี socket ให้เสียบ ท่านต้องควักตังค์ซื้อสายต่อขวางอีกอันชื่อ OHP OBD2 adapter harness (for Model 3 & Y 2019-2021) อีกราคา $32.75 สองชิ้นนี้เป็นแค่ hardware สำหรับ software ถึงแม้ทาง OBDlink (คนขายตัวส่งสัญญาณ bluetooth น่ะ) จะมีแอพ OBDLink ฟรี ให้ ท่านก็จะพบว่ามันอ่านรถเทสล่าไม่ออก เพราะพอเชื่อมต่อปุ๊บ มันจะแจ้งว่าให้สตาร์ทเครื่องยนต์ เรางี้ถึงกับงงเลย ไม่มีเครื่องยนต์จะให้สตาร์ทอะคับ

           
สายสำหรับต่อกับ OBDLinkMX+ (ซ้ายมือ) ราคา $32.75 แค่เอาหัวต่อไปขวางกลางตรงคอนโซลกลางรถ ก้มลงไปถอดแงะออกง่ายนิดเดียว (เป็นคลิปติดอยู่) แต่ต้อง power off รถก่อนถอด แล้วก็ยื่นหางสีดำออกมาก่อนปิดฝา panel คืนกลับไปเอาไว้ต่อกับตัวปล่อยสัญญาณ OBDLinkMX+ ทางขวามือ ราคา $99.95 คนที่ใช้ android จะใช้อันนี้ก็ได้แต่เค้ามี OBDLink LX (สีเขียว ราคาถูกกว่า $59.95) ก็จะประหยัดเงินไปได้อีกนิดนึง อุปกรณ์ทั้ง 3 ชิ้น (ซื้อแค่สายกับ OBDlink อันใดอันหนึ่งพอ ขึ้นกับจะต่อกับอุปกรณ์อะไร) หาซื้อได้บนอะมาซอนดอทคอม หรือจะซื้อที่เว็บของ Scan my t3sla ก็ได้  สำหรับสายต่อ ตอนหลังเราต้องเอามาต่อสายสีดำให้มันยาวขึ้น เพราะเรานั่งข้างหน้ามันล้วงไปเสียบ OBDLink เข้า-ออก ยาก  ถ้าไม่ถอดออกตอนจอดรถ รถเค้าก็ไม่ยอมหลับ

 
สรุปว่าต้องไปเสียเงินซื้อแอพ Scan my t3sla อีกที ซึ่งแอพนี้ราคา $8.99 (จ่ายไป 279 บาท) สำหรับเครื่องระบบผลไม้ จ่ายครั้งเดียวไม่ต้องจ่ายเพิ่ม ได้ข้อมูลแบบสะใจไปเลย และเหมือนที่กล่าวไปเบื้องต้นว่าผู้พัฒนา scan my tesla คือคุณ Armund Bu'rsand ซึ่งเป็นชาวเยอรมันที่อยู่แก๊งเดียวกับคุณ Christian Pogea ชาวเยอรมันอีกคนที่พัฒนา Teslalogger ดังนั้นถ้าท่านมี Teslalogger (เด้วรอจ่ายตังค์ผ่อนรถหมดก่อน) ด้วยก็จะสามารถดึงข้อมูลจาก Scan my tesla ที่อ่านจาก OBD ไปไว้ใน Teslalogger ได้เลย สำหรับเราน่าสนใจมาก แต่ถ้าใครไม่อยากยุ่งตรงนี้ก็ข้ามไป  การเสียบต่อ OBDLink MX+ ก็ไม่ยาก เพราะการต่อสายทำแค่ครั้งแรกครั้งเดียวมียูทูปวิดิโอให้ดูเยอะแยะ เร่ิมด้วยการปิด power off รถเทสล่า (ห้ามนั่งเบาะหน้า ห้ามเปิดปิดประตู (เปิดไว้ตั้งแต่แรก) ห้ามเท้าเหยียบเบรก รอจนเค้าดับจริง ๆ) แล้วล้วงแกะฝาตรงด้านล่างใต้ช่องแอร์ออกด้านหลัง แล้วปลดตัวต่อตัวผู้กับตัวเมียออกและก็ใส่ หัวต่อสาย OHP OBD2 adapter harness เข้าไปตรงกลาง ต่อเชื่อมกลับเข้าไป (เหมือนไปต่อ Y หรือ T ออกมา) แล้วก็ power on รถใหม่ได้ (แค่เปิดประตูไปนั่งหน้าก็เปิดแล้ว เค้าเปิดง่ายกว่าปิดเยอะมาก)

  
  
   
ข้อมูลที่จะได้ แบบเห็นแล้วอ้วกแตกไปเลย เกินพอ อ่านได้ละเอียดยิบย่อยมาก ไม่น่าเชื่อว่าสายไฟสองเส้น (can bus high ตำแหน่งที่ 6 สายสีดำ, can bus high ตำแหน่งที่ 14 สายสีน้ำตาล) กับสายไฟนำไฟเข้าอีกสองเส้น (+12V สายสีเหลือง ตำแหน่งที่ 16 กับ ground สายสีแดง (ระวังโดนหลอก ฮับ ใช่คับสายมันสีแดง แต่ดันเป็นสาย groundX ตำแหน่งที่ 4) แค่เนี้ยสามารถอ่านข้อมูลออกมาได้เยอะแยะ ที่ประทับใจในรายละเอียดมากที่สุดก็ตรงหัวข้อ BMS เพราะอ่านเซลได้ทุก ๆ กลุ่มตั้งแต่กลุ่ม 1-96 ครบถ้วน แสดงให้เห็นคุณภาพของแบตเตอรี่และประสิทธิภาพของระบบ BMS ของเทสล่าได้เป็นอย่างดี

ข้อมูลที่อ่านได้จาก OBDLink โดย Scan my T3esla แอพ ละลานตาไปหมด ของจริงเค้าจะอ่านแบบ real time เลยคือถ้าเป็นการแสดงผลแบบเป็นหน้าปัทม์ เข็มก็จะกระดิกดิ๊ก ๆ ๆ ตลอดเวลา เนื่องจากข้อมูลมันเยอะมาก ผู้ใช้สามารถเลือกวิธีการแสดงผลได้ว่าจะเอาทั้งหมด หรือจะเอาทีละหมวด รวมถึงจะให้เป็นแบบหน้าปัทม์เป็นเข็มชี้เอา (แบบเป็นเกจหรือนาฬิกาน่ะ) หรือจะอ่านเฉพาะตัวเลขก็ได้ สิ่งที่เราอยากรู้เกี่ยวกับแบต เค้าก็จะอ่านให้ละเอียดยิบ ๆ เรียกว่าทุก ๆ กลุ่มที่มาอนุกรมกัน อ่านตั้งแต่ cell แรก ไปจนถึง cell สุดท้าย เรียกว่าถ้ามีกลุ่มไหนเดี้ยงก็เห็นกันชัด ๆ ไปเลย สำหรับแบต Li-NCA (Li, Ni, Co, Al) ใคร ๆ ก็อยากได้แบต Panasonic และดูเหมือนว่าจะไม่มีทางรู้ว่าแบตของเราเป็น LG or Pana แต่พอได้เห็นคำว่า Full pack when new = 82.1 kWh ก็ทำให้รู้สึกใจชื้นว่าน่าจะเป็น Panasonic น่า  จะเห็นว่าทางเทสล่ามีการล็อกแบตไว้ เต็มก้อน 82.1 kWh แต่ให้ใช้ได้จริงแค่ 79.6 kWh เผื่อไว้สำหรับหยดสุดท้ายจริง ๆ  ใครที่แพลนจะเอารถไปเหยียบจับเวลา ไม่อยากจะซื้ออุปกรณ์แพง ๆ ก็ใช้ OBDLink อ่าน 0-60 ได้ตามนี้ บางคนก็ต่อโทรศัพท์วางไว้หน้าคนขับ กลายเป็น headup display ไปเลย

แอพสุดท้ายที่อยากจะกล่าวถึงคือ Stats App for Tesla อันนี้เป็นแอพไม่ฟรี สำหรับยี่ห้อผลไม้ต้องจ่าย $49.99 ราคาประเทศไทย 1,600 บาท จ่ายครั้งเดียว ไม่มีเก็บเพิ่ม สามารถแชร์กับคนอื่นในครอบครัวที่อยู่ใน apple family plan ได้ หลังจากซื้อมาลองใช้ได้สองสัปดาห์ เราก้อรู้สึกเสียดายตังค์จัง ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าถ้าไม่รีบสมัคร เด้วข้อมูลสถิติจะไม่สามารถย้อนหลังไปได้  หารู้ไม่ว่าพอซื้อมาลองแล้วก็ ไม่มีอารายเท่าไหร่ รายละเอียดนี่ สู้ TeslaFi ไม่ได้เลย  ที่มีให้เล่น (เล่นไปแค่ทีสองที) ก็คือสามารถสั่ง voice commands ได้ เช่น hey siri, open the frunk  พอใช้จริง ๆ เอามือกดเอาเร็วกว่าเยอะ เพราะบางทีสั่งนางสิริไป นางก็ยังเถียงกลับมาเช่น you have to turn on the app first แล้วไม่ยอมทำตามสั่ง เป็นต้น เกิดความน่าเบื่อจนไม่อยากเล่นไปเอง ในแอพเองก็ไม่มีรายละเอียดให้แก้การตั้งค่าอะไรเท่าไหร่ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเค้า ping รถบ่อยแค่ไหน ตั้งอะไรก็ไม่ได้ ไม่ให้ควบคุมอะไรสักอย่าง ตอนนี้ก็เลยปิดแอพไป ไม่ให้เชื่อมต่อกับ data แต่ก็ไม่แน่ใจว่าที่ server เค้ายังมีการ data polling อยู่รึเปล่า ถ้าจะให้ชัวร์ต้องเปลี่ยน username/password ของ tesla account ซะเลย แต่ก็ติดว่าคุณเกดขอห้ามไว้ อย่าเพิ่งเปลี่ยน ตอนนี้ก็เลยแทบจะไม่ได้ใช้ อยากขอคืนเงินมาก จะเอาเงินไปซื้อ raspberry pi + Teslalogger แทน  ความที่ตอนนี้ใช้แต่ TeslaFi เป็นหลัก ทำให้ Stats App for Tesla ไม่ค่อยถูกใช้ มูลค่าที่จ่ายไป 1,600 บาท ดูเหมือนจะได้ใช้จริง ๆ แค่ 100 บาท

   
   
หน้าตาของแอพ Stats for Tesla เค้าทำมาสำหรับยี่ห้อผลไม้โดยเฉพาะ หน้าตา UI ก็ดูโอเค แต่ข้อมูลที่อ่านไม่ละเอียดเท่า TeslaFi ตอนหลังเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ ยังรู้สึกเสียดายเงินอยู่เลย ขายแพงไปหน่อย ตอนนั้นที่รู้สึกน่าสนใจก็ตรงที่เค้าจ่ายครั้งเดียว ไม่ต้องมี subscription เพิ่ม เพราะเราเดาว่าตอนหลัง ๆ เราก็คงดู TeslaFi น้อยลงไปเอง ถ้ามีแอพ มันก็ดวกดี แล้วก็เรื่อง Siri integration กรณีเราถือของมาเยอะ ๆ มือไม่ว่าง ถ้าเดินมาถึงรถ เรายกข้อมือขึ้นมาพูดใส่นาฬิกาก็คงดีเหมือนกันนะ 

พอดีหลังวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมาทางเทสล่าก็ออกอัพเดตแอพ Tesla ของตัวเองออกมาเป็น major upgrade คือมี UI ที่เปลี่ยนไป อันนี้สำหรับเราผู้ใช้รถเกรย์ในเมืองไทยกว่าจะอัพเดทได้ก็แสบมาก เร่ิมแรกเราก็ลองเข้าไปใน app store ก็มีคำว่า update app แต่พอ update แล้วก็ยังเป็น V. 3 เหมือนเดิม สุดท้ายก็ต้องทำ trick เดิม คือ log out จาก account เมืองไทย re-log in ด้วย account USA แล้วถึงจะ update สำเร็จ ครั้งแรกสุดเราอัพเดตแอพบน iPad ตัวใหม่ของเราก่อน คาดหวังว่าพอได้ V.4 มาแล้ว เค้าจะมี copy บน icloud แล้วก็สามารถลงไปทุก ๆ devices ของผลไม้ได้เหมือนตอนแรกที่เราไปดาวน์โหลดเค้ามา  ปรากฎมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มา ตามคาด สุดท้ายเราก็ต้องไปทำอย่างเดียวกับบนโทรศัพท์  รอบนี้มีพลาดเล็กน้อยเพราะตอนจะ re-log in เค้าถามว่ามี data บน icloud จะ merge ไหม ดันไปตอบว่าไม่ต้อง พอ log-in ใหม่ครั้งสุดท้ายด้วย Thai account ปรากฎ contacts มันหายเกลี้ยงแต่ข้อมูลในปฏิทินไม่ยักกะหาย งงเหมือนกัน  เพราะตอนเราทำรอบแรกบน iPad อันใหม่เราก็คิดว่าเราตอบว่าไม่ต้อง merge แล้วบน iPad มันก็อยู่ครบไม่มีอะไรหายไป แต่ของโทรศัพท์ contacts หาย โชคดีมีคนสอน trick ไว้ว่าให้เค้าไปกดเลื่อนปุ่มใน settings ตรง contacts ใน icloud แล้วเค้าก็จะถามอีกรอบว่าจะ merge ไหม ตอบว่า merge เลยจ้า แล้ว contacts บนโทรศัพท์ก็กลับมาครบทุกอันอีกครั้ง โล่ง  ยังเหลือ iPad ตัวเก่าเราอีกอัน อันนี้เราเลยไม่ยอม update เก็บ V.3 ไว้ใน iPad ตัวเก่าไว้เป็นที่ระลึก

อัพเดตแล้วมีอะไรใหม่ สำหรับเราที่น่าดีใจที่สุดก็คือมีปุ่มสำหรับกดอุ่นพวงมาลัยโผล่มา เดิมทีตอนที่เราไปรับรถเมื่อวันที่ 6 ก็เช็คแล้วว่าไม่มี บนรถก็ไม่มีปุ่มให้กด คุณเกดที่ W ก็ยืนยันว่าไม่มีนะคะ ตอนนั้นก็ไม่ได้แคร์อะไรมากเพราะมีก็คงไม่ได้ใช้ สำหรับเมืองไทย ปรากฎพออัพเดตเป็น V4 แล้วเค้ามีสัญลักษณ์ให้กด heated steering wheel โผล่มาในหน้า climate เลยดีใจ๊ ดีใจ อย่างอื่นก็ไม่มีอะไรมากสำหรับเรา นอกจาก UI ที่ดูเก๋ไก๋ขึ้น หรือการย้ายที่ของบางอย่างซึ่งอาจจะดู make sense ขึ้น ของใหม่ให้ใส่รูปลงไปได้ แล้วก็พยายามขายของมากขึ้น เดิมทีมีแต่ขาย upgrade (softwares เกี่ยวกับรถ) ตอนนี้เธอจะขายเสื้อ ขายเหล้า ขายร่มทางแอพด้วยอะ เราก็บ้าจี้ กดซื้อนู่นนี่ใหญ่เลย เพราะตอนนู้นเราพยายามจะสั่งซื้อทางเว็บไซต์แล้วเค้าบล็อกเรา รู้ว่าสั่งจากเมืองไทย ก็เลยอยากรู้ว่าตอนนี้มาโผล่ในแอพจะให้สั่งใหม่ ปรากฎพอจะเช็คเอ้าท์ ตูม ที่อยู่เมืองไทยไม่ได้ซะแล้ว ก็เลยยกเลิกไปก่อน เด้วว่าง ๆ จะลองสั่งให้ส่งไป US freight forwarder อีกทีว่าจะสำเร็จไหม ตอนนู้นไม่สำเร็จ ฮี่ ๆ อยากขึ้นมายั่วขายเองนี่นา

  
  
  
ตอนดาวน์โหลด (เข้า account เมกาก่อน) เค้าก็สาธยายว่ามีอะไรใหม่บ้าง หน้าตาก็ดูดีขึ้น มี control สำหรับ music โผล่มาด้วย แต่เวลาเราอยู่ในรถก็คงกดบนจอใหญ่ ของบางอย่างก็ใช้ไม่ได้สำหรับเรา เช่นเรื่อง Powerwall, go off-grid (ไม่มี Tesla Powerwall อะ) ที่ปลื้มสุดก็คงเป็นสัญลักษณ์ควันขึ้นตรงพวงมาลัย ฮะฮ่า ในที่สุด เราก็มีปุ่ม heated steering wheel โผล่มา ลองกดดูแล้ว คนขับยืนยันว่าอุ่นขึ้นจริง ๆ มันช่างดี๊ดีนะ เวลาเค้าใส่ hardware มาให้ แล้วเราไม่รู้หรือนึกว่าเราไม่มี พอตอนหลังได้อัพเดตซอฟท์แวร์แล้วมันโผล่มาให้เล่นน่ะ สุดท้ายก็คงไม่ได้ใช้อยู่อะนะ ขอเปลี่ยนเป็น lumbar support ได้ไหมฮับ ก็ต้องยอมรับว่า UI ใหม่ สวยขึ้น เรียบร้อยขึ้น แล้วก็พยายามขายของกันมากขึ้น อีกในไม่ช้าอาจจะมี Full Self-Driving เป็นแบบ subscription ขึ้นมาเนื่องจากคนที่เค้าไม่ค่อยได้ใช้อาจจะไม่อยากจ่าย GBP 6,800 แถมฟังก์ชั่นนี้มันติดตัวรถไปไม่ได้ติดตัวเจ้าของ นึกถึงว่าเวลาเราจะอัพเกรด คงเสียดายแย่  ถ้าเทสล่ายอมขาย FSD แบบให้ติดตัวคนซื้อไป และถ้ามันใช้ได้จริงในประเทศไทย เราคิดว่าก็คงจะซื้อแน่นอน ที่น่าอิจฉาก็คงเป็นระบบ service คือของประเทศที่เค้าเข้าไปขายอย่างเป็นทางการ ผู้ใช้มีปัญหาอะไรเกี่ยวกับรถสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางแอพได้เลย ส่งข้อความ นัดหมาย จิปาถะ  ในอังกฤษและเมกา มีกระทั่ง service van ออกมาบริการให้ถึงที่ (ถ้าไม่ต้องเอาเข้าไปที่อู่) สุดยอดจริง ๆ  ของเราก็ต้องฝากความหวังไว้กับ W ที่สัญญาว่าจะดูแลกันเหมือนคนในครอบครัว

จริง ๆ แล้วมันยังมีแอพเกี่ยวกับเทสล่าเต็มไปหมดเลยนะคับ บางอันก็ไม่น่าสนใจมากสำหรับคนไทยหรือใช้ไม่ได้เช่น แอพเกี่ยวกับการหาที่ชาร์จรถ หรือพวกแอพเกี่ยวกับ map หรือ navigation  บางอันก็ไม่ค่อยมีอะไรน่าเล่นเท่าไหร่หรือค่อนข้างซ้ำ ๆ กับแอพที่กล่าวไปข้างบน ไว้เด้วจะมาเขียนเล่าให้ฟังต่อเรื่อง TeslaFi ในอนาคตอันใกล้ อาจจะได้ถอย raspberry pi มาต่อเล่น Teslalogger

ขออนุญาตแอบมาอัพเดตเพิ่มเรื่อง heated steering wheel สรุปว่าเค้ามีมาตั้งแต่แรกแล้ว มีแต่เรากะคุณเกดเองที่ไม่รู้ แต่ปุ่มควบคุมในรถเค้าซ่อนไว้ใน submenu ของ HVAC ต้องกดสัญลักษณ์พัดลมเข้าไป เลือกสัญลักษณ์อุ่น แล้วในนั้นถึงจะมี ฝรั่งที่ใช้บ่อย ๆ เค้าถึงกะบ่นว่าเอาไปซ่อนไว้ซะลึก เค้าแชร์วิธีสั่งงานง่ายสุดคือสั่งผ่าน voice command ....จริง  ไม่เป็นไร ยังไงความรู้สึกดี ๆ ที่เราสัมผัสได้ มันไม่หายไปไหน


Create Date : 26 สิงหาคม 2564
Last Update : 30 สิงหาคม 2564 9:29:11 น. 0 comments
Counter : 3333 Pageviews.

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณnewyorknurse


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space