space
space
space
<<
มกราคม 2566
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
24 มกราคม 2566
space
space
space

เมื่อไหร่เทสลาจะลดราคาในประเทศไทย?
Feb 8, 2023

คำถามยอดฮิตสำหรับชาวไทยที่งบไม่ถึงแต่อยากได้เทสลาและไม่รักสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่หรือไม่ก็งบถึงอยู่แต่งกอยากจะได้ถูก ๆ คิดแต่เรื่อง (กระเป๋า) ตัวเองเป็นหลัก  ที่ขำก็คือ ถามอยู่ได้ ถามเช้า ถามเย็น ถามซ้ำ ๆ ซาก ๆ ว่าเมื่อไหร่เทสลาไทยแลนด์จะลดราคาบ้าง ผ่านไปอีกไม่ถึงเดือนเค้าก็แอบขึ้นราคาขึ้นมาขยักนึง และก็ตามมาอีก 2-3 ขยัก ทีนี้ไม่ยักกะมาถามว่าเมื่อไหร่เทสลาจะขึ้นราคาในประเทศไทยล่ะคับ ขี้คร้าน พวกงบถึงแต่งกเกิดอยากได้ขึ้นมาก็รีบไปกดจอง แต่ก็พบว่าคิวรับรถนู่นเลย กลางปี

คำตอบต่อคำถามในหัวข้อกระทู้จริง ๆ ก็คือ "กรู" ก็ไม่รู้เหมือนกัน ตอบไม่ได้อะ รู้แต่ว่าเทสลาน่าจะเป็น automaker รายแรกที่กล้าลดราคา ประกาศสงคราม price war ไม่เกรงใจใคร และเหตุผลที่เค้าทำได้ จะขอสาธยายต่อไป แต่ก็อีกแหละ ก่อนหน้านี้เค้าก็ขึ้นราคาให้เห็นมาแล้วหลายระลอก และแม้แต่หลังจากประกาศลดราคาครั้งแรกไปก็แอบขึ้นราคามาอีกก็มีเหมือนกัน สรุปว่า มันอยากจะลด มันก็ลด มันอยากจะขึ้น มันก็ขึ้น จะเอาไงกะมันล่ะ เอาเป็นว่า...

ใครจะใช้รถเทสลา ก็ต้องทำใจ อีบริษัทนี้มันแปลกประหลาด เหมือนอีตา CEO ของมัน ทำอะไรไม่ได้เหมือนชาวบ้าน ชอบก็ใช้ไป ไม่ชอบ ไม่ถูกจริต รับไม่ได้ ก็กลับไปคบ legacy automaker เจ้าเดิม ๆ ไม่ว่าค่ายเยอรมัน ค่ายญี่ปุ่น ค่ายเกาหลี ค่ายเมกา (ฟอร์ด GM) ซึ่งไม่เคยจะลดราคาให้เห็นมาก่อน หรือ ค่ายจีนซึ่งกำลังมาแรงแซงทางโค้งหลายจังหวะ สำหรับคนที่งบไม่ถึง เราก็เข้าใจจริง ๆ ก็อยากจะบอกว่าถ้าคุณอยากได้รถถูก ๆ ก็อย่ารอเค้าลดราคาเลยไปซบอกค่ายจีนเถอะ ถ้าคุณงบไม่ถึง แล้วคุณจะเอาเทสลา โอกาสที่คุณจะไม่สบอารมณ์กับอีตาอีลอนมัสก์จะยิ่งสูงมาก มาก มาก ส่วนพวกงบถึงแต่ซูเปอร์งก ก็ขอให้มองลูก ๆ หลาน ๆ ที่กำลังทำตาปริบ ๆ ดูสิว่าถึงตอนนู้น (ตอนโลกใบนี้มันอยู่ยากแล้วจริง ๆ อะ) เค้าจะรู้สึกยังไง ที่ทำงานเราก็มีเพื่อน (รุ่นน้อง) ร่วมงานท่านนึงที่กล่าวสบถสาบานว่าชาตินี้จะไม่มีวันใช้รถไฟฟ้าเด็ดขาดถ้าน้ำมันไม่ขึ้นราคาถึงลิตรละ 100 บาท  เราก็ตอบไปแค่ว่าไม่เป็นไร ให้รอลูกสาวเค้าโตกว่านี้แล้วเค้าถามว่า "พ่อ ทำไมพ่อยังขับรถน้ำมันอีกคะ?" เพราะคนรุ่นที่จะต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัสต่อไปเป็นรุ่นเค้า รุ่นลูกหลานของเค้า ส่วนตัวเองน่ะ คงตายไปซะก่อน

ทำไมเทสลาถึงลดราคา ทำไมกล้าลด...  หุ หุ ก็กรูทำได้อะ ช่ายฮะ จะเห็นว่า 1) เทสลาเค้ายังมีกำไรพอสมควรจากการขาย EV ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่เจ้าอื่นเค้ายังไม่มี หลาย ๆ เจ้า โดยเฉพาะพวกน้องใหม่ทั้งหลาย ขายรถแบบขาดทุนด้วยซ้ำ ก็คือต้นทุนที่เสียไปในการทำ R&D รวมถึงกระบวนการผลิตและกระบวนการขายผ่านดีลเล่อร์ มันทำให้กำไรที่ขายได้ต่อคันน้อยกระจิหริด หรือดีไม่ดีคือ ขายขาดทุน แต่ก็ต้องผลิตเพราะแบรนด์ยังต้องไปต่อ ไม่งั้นก็ต้องล้มตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งสิ่งนี้ก็กำลังเกิดขึ้นอยู่กับ EV เจ้าใหม่อื่น ๆ ที่เมกา ไม่ว่าจะเป็น Lucid หรือ Rivian และเราเชื่อว่าพวก Xpeng, Nio อะไรทั้งหลายก็เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะเรื่องแบบนี้มันก็เคยเกิดกับ Tesla มาก่อนหน้านี้แล้วเมื่อตอนเค้าเริ่มผลิตรถไฟฟ้าใหม่ ๆ นั่นก็คือเมื่อเกือบ ๆ 20 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้เค้าก้าวพ้นข้ามตรงนั้นมาแล้ว ถ้าคนติดตามประวัติศาสตร์มาดี ๆ จะเห็นว่าช่วงประมาณ 2017 ตอนที่เค้าจะเริ่ม mass production model 3 ตอนนั้นเค้าก็เกือบจะล้มมาแล้วทีนึงเหมือนกัน  มาถึงตอนนี้ กลายเป็นหนังคนละม้วน ตอนนี้เค้าขายรถได้กำไรต่อคันมากกว่าเจ้าอื่น จากสถิติของปีที่แล้วที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเทสล่าได้กำไรเฉลี่ยตกคันละ 15,653 USD เรื่องที่ 2) ถ้าเชื่อเค้า ก็ต้องยอมรับว่าเค้าพยายาม accelerate mission to sustainable energy จริง ๆ คือกำไร ไม่ได้สนมากขนาดนั้น เอาแค่บริษัทอยู่ได้ มีเม็ดเงินพอพัฒนาสินค้าและลงทุนเพื่อเน้นบริการ (เช่น ขยายเครือข่าย supercharger) และก็มุ่งเป้าเอายอดขาย เพื่อให้รถทุกคันในท้องถนนเป็นรถไฟฟ้า ให้ทุก ๆ คนสามารถเค้าถึงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ ถ้าอันนี้เป็นเรื่องจริง (เด้วรอฟังเค้าแถลงวันที่ 1 มี.ค. Tesla Master plan part III)

ชาวงกและงบไม่ถึงหรือชาวงกจริง ๆ ก็จะเกิดอารมณ์ว่า เห็นไหม กำไรตั้งเยอะ ลดราคามาให้พวกเราเด้วนี้ จะขอส่วนลด 15,653 * 35 บาท   นั่นมันส่วนลด 5 แสนเลยนะนั่น นี่ตกลงจะไม่ให้เค้ามีกำไร จะไม่ให้เค้าลงทุน supercharger ตั้งสำนักงาน โชว์รูม ศูนย์บริการ กันเลยเหรอ??? (ก็ไม่เห็นจะเปิดตรงไหน นอกจากจุดรับมอบรถ กับจุดจอดรถ test drive จะเรียกโชว์รูมหรือศูนย์บริการ ก็ไม่เข้าข่าย) เอาแต่จะได้นะเนี่ย


รูปจากสำนักข่าวรอยเตอร์ จะเห็นว่ากำไรที่เป็น net profit ต่อคันของ Tesla ก็เยอะกว่าชาวบ้านอยู่แล้ว ถ้าดู gross profit ก็ยิ่งเยอะกว่าคนอื่นมากเพราะเค้ายังสามารถทำกำไรจากการขาย software (FSD, EAP) การเรียกเก็บค่า premium connectivity กำไรจากเครือข่าย DC supercharging รวมถึงการขายประกันรถ(ในเมกา) ผลกำไรโดยรวมมาอันดับหนึ่ง ในขณะที่ผู้ผลิตบางรายเช่น Ford, Xpeng, Nio นี่ เข้าข่ายขาดทุนด้วยซ้ำ หรือถ้าจะเปรียบเทียบกับผู้ผลิตรถยอดอันดับหนึ่งก็คือพี่โต พี่โตผลิตและขายรถได้ไตรมาสนึงประมาณ 2.6 ล้านคัน ในขณะที่เทสลาขายรถ (ปีที่แล้ว 2022) ไตรมาสนึงได้ประมาณ 3.4 แสนคันเท่านั้น แต่กำไรเฉลี่ยพี่โตได้แค่ $1200 ต่อคัน ในขณะที่เทสลาได้ $9570 ต่อคัน ต่างกันเกือบ 9 เท่า

สาเหตุที่เทสลาผลิตรถได้กำไรเยอะและกล้าลดราคาเมื่อตัวเองอยากขายมากขึ้น ไม่เหมือน automaker เจ้าอื่น ๆ ก็เพราะความมี vertical integration อย่างที่บริษัทอื่นไม่มี บริษัทที่อาจจะถือว่าใกล้เคียงมาก ก็อาจจะเป็น BYD แต่ก็ไม่เหมือนซะทีเดียว เพราะ BYD เร่ิมต้นจากเป็นบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่มาก่อน ก่อนที่จะเปิดบริษัทลูกย่อยและเร่ิมผลิตรถ ICE ตามมาด้วยรถ Plug-in hybrid แล้วต่อมาถึงมาผลิต pure EV ขาย ยังไม่เคยได้ยินข่าวว่า BYD ผลิต drive train, motor หรืออื่น ๆ เอง หรือแม้แต่ระบบ software, AI, autopilot or autonomous driving ก็ยังถือว่าแบเบาะ ยิ่งถ้าจะนับ supercharging network ก็ฝันไปเหอะ ยังไม่เห็นมี แต่กระนั้นก็ตามในกราฟฟิกข้างบน จะเห็นมาร์จิ้นในการทำกำไร ถ้าใครจะกล้าลดราคาแข่งกับเทสลา BYD นี่แหละเป็นบริษัทที่มีโอกาสมากกว่าเจ้าอื่น แต่ so far ก็ยังไม่ได้ยินข่าวว่า BYD ประกาศลดราคาลงมาสู้ตามเค้า (ถ้าดู business model ในไทย ก็คิดว่าคงยังไม่กล้าลดราคาสู้แน่นอน เพราะ BYD ไม่ได้ขายตรงจากบริษัทแม่เหมือน Tesla ศูนย์บริการและโชว์รูมที่เปิดเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศไทยเป็นของบริษัทคนไทย -กลุ่มพรประภา ที่เซ็นสัญญากับบริษัทแม่ BYD ลงทุนเปิดศูนย์บริการซะเยอะแยะหลายแห่งทั่วประเทศ แถมยังยิงช็อตโฆษณาทุกสี่แยก เม็ดเงินกำไรจากบริษัทแม่ก็ต้องแบ่งเค๊กมาให้บริษัทลูกซึ่งน่าจะหมดตรงนี้ไปเยอะ ขายก็ถูกอยู่แล้ว จะเอาที่ไหนมาลดราคาให้อีก) ในขณะที่ automaker เจ้าอื่น ๆ (โดยเฉพาะในจีน) ประกาศลดราคาลงมาสนอง price war ที่เทสลาเริ่มต้นขึ้น แต่ดูรูปการณ์แล้วไม่มีใคร อยู่ในสถานะที่จะเอาชนะเทสลาได้ และการลดราคาของเทสลาก็ได้ผลชะงัด เพราะหลังจากประกาศลดราคาลงมา demand ก็กลับพุ่งพรวดขึ้นไปมากกว่าเดิมอย่างทันตาเห็น และตอนนั้นก็เข้าข่ายผลิตป้อนไม่ทันเหมือนเดิม อาจจะแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำเพราะคิวนานขึ้น ขนาดที่เทสลาก็แอบค่อย ๆ ย่องมาขึ้นราคาอีกจนได้ คันไหนขายดี คิวรับนานก็ขึ้นอันนั้น อันไหนสต๊อกเยอะอยากระบาย หรือมีแผนจะอัพเดตไลน์การผลิตใหม่ก็ทรงราคาไว้ หรือลดราคาให้อีก (Model 3) ควบคุมเองหมดทุกอย่างดั่งกดปุ่ม แสบไหมล่ะอีตานี่ งานนี้ ใครที่รีรอ ไม่รีบตัดสินใจ ก็จะได้รอต่อไปสมใจ แต่ถ้าอยากได้เร็วก็ต้องรีบจอง จ่ายเงินสด และรับป้ายขาวไปซะ

ถ้าย้อนหลังกลับไปดูตามประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าเทสลาเค้าไม่มาถึงจุดนี้ได้ง่าย ๆ มันเริ่มจากการมีทัศนวิสัย และการสร้าง product ที่ตอบโจทย์ ถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อตอนบริษัทเร่ิมก่อตั้งเมื่อปี 2003 ไม่ใช่ชาวโลกใบนี้ไม่เคยเห็นรถ EV มาก่อน เมื่อประมาณช่วงปี 1996-1999 บริษัท General Motors (GM) เคย mini-mass produce รถ EV ที่ชื่อ EV1 ประมาณ 1,117 คัน แต่ไม่ยอมขายให้ใคร ใช้วิธีให้ลูกค้า leasing (เช่าใช้) ซึ่งตอนนั้นรายงานว่าผู้ใช้หลาย ๆ คนก็ชอบและติดใจ สามารถเร่งได้เร็ว ตอบสนองทันใจ เงียบ ขับขี่ดี maintenance ต่ำ ประหยัดค่าพลังงาน ชาร์จไฟ (ที่บ้าน)สะดวก แต่หลังจากปี 2003 จู่ ๆ ทางบริษัทก็ยกเลิกการต่อสัญญาลีสทุก ๆ คัน แทนที่จะขายและพัฒนาต่อไป แค่นั้นไม่พอ หลังจากเรียกรถคืนมาจากลูกค้าได้(เกือบหมด) ก็เอาไปบี้ทำลายที่สุสานรถเก่าหมดเลย เหลืออยู่ไม่กี่คันที่รอดมาได้ มีบางคันที่เค้าบริจาคไปให้พิพิธภัณฑ์ (Smithsonian) กลายเป็นประวัติศาสตร์ให้ชาวโลกจารึกไว้ว่าเป็นตัวอย่างของความโง่เขลาเบาปัญญาหรือความไร้ทัศนวิสัยของผู้บริหาร เพราะมัวแต่งกจะทำกำไรจากรถยนต์สันดาป การขายของเหลว ขายอะไหล่ที่เกิดจากการสึกหรอของเครื่องยนต์ การ maintenance รวมถึงอิทธิพลจากกลุ่มนายทุนพวกที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิล ถ้าตอนนั้นทาง GM มองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและได้พัฒนาโปรแกรมรถ EV ต่อ เชื่อว่า Tesla อาจจะไม่ได้เกิด 

หลังจาก GM เรียกคืน EV กลับไปทั้งหมดเพื่อทำลายทิ้ง ตลาดก็หงอยเหงา ชาวโลกก็กลับไปพึ่งพา fossil fuels ต่อไป คนหลาย ๆ คน ไม่มีโอกาสได้รู้จัก EV ด้วยซ้ำ ปรากฎการณ์ที่มาทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์แอบกระเพื่อมอีกครั้งน่าจะเป็นพี่โต ที่เข็นเอา Toyota prius ออกมาและเปิดตลาด hybrid cars แบบ mainstream ในช่วงประมาณปีคศ. 2000 ให้ชาวโลกรู้จักเทคโนโลยี hybrid ได้รับความสนใจและมี celebrity หลายคนก็เป็นผู้ใช้ ช่วย PR  เกิดภาพลักษณ์ของการประหยัดและการรักษ์โลกโผล่ขึ้นมา ตอนนั้นความสนใจรถ hybrid มาจากการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าความรักษ์โลก แต่แทนที่พี่โตเค้าจะไปต่อและพัฒนา EV เค้ากลับหยุดอยู่แค่ตรงนั้น และหันไปพัฒนารถยนต์ hydrogen fuel cell แทน ทุกวันนี้ทั้งพี่โตและพี่ฮอน ก็ยังงมงายอยู่กับเทคโนโลยี hybrid กับแบตเตอรี่ NiMH อยู่เลย แทบจะไม่ทำ plug-in hybrid ด้วยซ้ำ ในขณะที่ค่ายญี่ปุ่นอีกค่ายก็คือ Nissan กลับแซงหน้าไปพัฒนา Nissan Leaf ออกมาในช่วงประมาณปี 2010 และก็ขายดีขึ้นเรื่อย ๆ เคยครองตำแหน่งยอดรถ EV ขายดีอันดับหนึ่งจนกระทั่งถูก Tesla Model 3 ชิงตำแหน่งไปในปี 2017 ถึงปัจจุบันยอดขาย Nissan Leaf รวมกันได้ประมาณ​ 3 แสนกว่าคัน ตามไม่ทันเทสลาและยังมีคู่แข่งอีกหลายเจ้า เยอะมาก คงจะไม่สามารถจะแย่งตลาดมาครองได้อีก (เค้าก็พยายามเข็น Nissan Ariya ออกมาสู้อะนะ) เพราะเทคโนโลยีเค้าตามไม่ทัน พวกค่ายเกาหลีทำรถไฟฟ้าได้ดีกว่าเค้า ค่ายจีนทำรถไฟฟ้าได้ถูกกว่า เราคิดว่า ไม่เทสลาก็รถ EV จีนนี่แหละ คงจะครองตลาด พี่โตกะพี่ฮอนก็คงจะกลายเป็นโกดัก #2 ไปซะ

อะไรที่ทำให้เทสลามาได้จนถึงจุดนี้ ก็ตามประวัติศาสตร์ก็ต้องเครดิตให้อีตาคนเพี้ยน ๆ คนนี้แหละ อีลอน มัสก์ เค้าไม่ใช่คนที่ก่อตั้งบริษัทเทสลามอเตอร์มาตั้งแต่แรก แต่คนสองคนที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมากำลังอยู่ในสภาพย่ำแย่เพราะกำลังจะเจ๊ง อีลอน มัสก์นี่แหละที่เป็นคนเข้าไปกอบกู้ วางนโยบาย (Master plan part I) เค้าเห็นอยู่แล้วว่าบริษัทตั้งต้นใหม่ ก็จะต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ ไม่มีนายทุนให้เงินสนับสนุน สมัยนู้นบริษัทยังไม่เข้าตลาดหุ้นด้วยซ้ำ เค้าก็เร่ิมโดยการวางแผนที่จะผลิตรถไฟฟ้าคนแรก โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนมีตังค์ รถคันแรกของเทสลาจึงเป็น Tesla Roadster เนื่องจากบริษัทยังแบบเบาะ เงินทุนไม่หนาพอ เค้าก็ไปขอใช้ platform ของรถแข่งยี่ห้อ Lotus ซึ่งมีแบบ มีตัวถังรถอยู่แล้ว นำมาดัดแปลงให้กลายเป็นรถไฟฟ้า แล้วก็แปะป้ายยี่ห้อ Tesla เข้าไป  Tesla Roadster รุ่นแรก เปิดขายในปี 2008 ขายไปได้ทั้งหมดแค่ 2 พันกว่าคัน เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเพราะ Tesla ทำให้คนเห็นว่า รถไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องหน้าตาเหมือนรถกอล์ฟ หรือ Nissan Leaf ไม่ต้อง compromise ไม่ต้องวิ่งช้า ๆ หน้าตาประหลาด ๆ รถไฟฟ้าสามารถมีหน้าตาเหมือนรถสปอร์ต วิ่งได้เหมือนรถปกติ ทำระยะทางไกล ๆ ได้ ความเร็วเทียบเท่ารถแข่ง Tesla Roadster gen แรก กลายเป็นรถไฟฟ้าคันแรกที่สามารถไปได้ไกลเกือบ 400 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ตั้งราคาขายอย่างโหด ตกราคาคันละ $112,000 (สมัยนู้น ราคานี้สำหรับรถนั่งได้แค่ 2 คน คันกระจิ๊วเดียว ถือว่าแพงมาก ปัจจุบันกลายเป็นรถ vintage, rare item หายาก มีการประมูลขายราคาขึ้นไปถึง 200,000 USD) Tesla roadster ไม่ได้ตั้งใจจะให้ทำขายเยอะ ๆ แต่จะขายน้อย ๆ แพง ๆ เฉพาะคนมีกะตังค์ เป็นของเล่นคนรวยจริง ๆ ซึ่งบริษัทก็ทำเงินไปเกือบ ๆ 200 กว่าล้าน USD เสร็จแล้วเค้าก็ใช้เม็ดเงินตรงเนี้ยไปต่อยอด ผลิตรถไฟฟ้ารุ่นต่อไปซึ่งจะขายกลุ่มคนมีตังค์เหมือนเดิม แต่ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่หน้าตารถแข่งหรือรถสปอร์ต แต่เป็นรถ sedan แบบ full size และรถครอบครัวสไตล์ SUV แบบ full size ได้แก่ Model S, model X ซึ่งสองคันนี้ก็เป็นรุ่นแรก ๆ ที่เทสลาออกแบบเองขึ้นมาทั้งหมด ไม่ได้ไปยืมเค้าโครงหรือแบบรถคนอื่นมาดัดแปลงอีกต่อไป ในขณะเดียวกันก็เริ่มวางเครือข่าย DC supercharging โดยรถ Model S/X รุ่นแรก ก็ขายค่อนข้างแพงอยู่เมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาปรุ่นใกล้เคียงกัน (ประมาณ 60,000 USD) แต่ได้ชาร์จไฟจาก DC supercharing network ฟรี  ในขณะเดียวกันเค้าก็ลงทุนเปิดโรงงาน Gigafactory แห่งแรก โดยร่วมทุน ร่วมหลังคา(โรงงาน) กับ Panasonic เพื่อผลิตแบตเตอรี่เอง ทำ motor/drivetrain เอง  ในระหว่างที่ Tesla เริ่มทำกำไร make revenue จากการขาย Model S,X และก็ลงทุนเม็ดเงินในการขยายเครือข่าย DC supercharger ไปเรื่อย ๆ ตลาดก็เริ่มหันมามองให้ความสนใจเพราะรถเทสลาทุกรุ่น ทุกคันเป็นรถที่วิ่งได้เร็ว แรง และประหยัด (พลังงาน) ความกลัวเรื่อง range anxiety ก็หมดไปเพราะการมี DC supercharging network   จนกระทั่งเทสลามาออกแบบ model 3 โดยตั้งใจจะให้เป็นรถตลาด เป็น mass car สำหรับคนทั่วไปเข้าถึงได้ โดยตั้งใจว่าราคาจะอยู่ประมาณ 30K (USD) (ไป ๆ มา ๆ ราคาลอยขึ้นไปถึง 50K USD, ในขณะที่ Model S/X ในปัจจุบัน ราคาขึ้นไปถึง 6 หลัก) ตอนช่วงที่เทสลาเร่ิมพยายาม mass produce model 3 นี่แหละเป็นจุดหักเหที่สำคัญเพราะมันเกือบทำให้เค้าเจ๊งไปเหมือนกันเนื่องจากเค้าลงทุนมากไปกับหุ่นยนต์ผลิตรถ และก็โดนด่าเรื่องคุณภาพงานประกอบว่า ห่วยแตก กว่าจะเข้าที่เข้าทาง เร่ิม mass production ได้ แต่ท้ายที่สุดเค้าก็ข้ามจุดนั้นมาได้ จนในปัจจุบัน ก็มี model Y ซึ่งกลายเป็นรถรุ่นที่เทสลาสามารถ mass produce และได้กำไรอย่างจริงจัง นอกจากนี้เทสลายังเป็นผู้นำเทคโนโลยีในตัวรถ จนคนเอาไปล้อว่าเป็นคอมพิวเตอร์ติดล้อ เรื่อง OTA (over the air) software update ก่อนใครทั้งหมด พวกที่เอาเค้าไปล้อ แต่ตอนหลังก็มาทำตามเค้า เทสลาเป็นผู้ผลิตรถเจ้าแรก ที่เอา heat pump, liquid cooling battery (and also liquid cooling MCU - media control unit) เข้ามาใช้ รวมถึงการทำ mega casting ส่วนผสม alloy ที่มาเป็นโครงโลหะของรถ โดยจะใช้วิธีปั้ม ๆ ออกมาเป็นชิ้นเดียว (ตอนนี้ยังไม่ได้ 1 ชิ้น แต่ก็เหลือไม่กี่ชิ้น) ส่วนนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับ model Y ไปได้เยอะ ซึ่งน่าจะถูกนำมาใช้ใน model อื่น ๆ เช่นกัน หรืออย่างกรณีที่รถ EV จีนยี่ห้อ Nio เค้าพยายามทำระบบ swap battery เทสลาเคยมีไอเดียอันนี้มาก่อน แต่ตอนนี้เค้าไม่เอาด้วยกับระบบนี้ กลายเป็นตรงกันข้ามก็คือการทำ structural battery pack เอาแบตเค้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถเลย สิ่งเหล่านี้ทั้งหลายที่เทสลาทำ จะเห็นว่ามันล้ำหน้าผู้ผลิต EV เจ้าอื่นไปเยอะมาก มันเป็นการพัฒนาเพื่อ mass product สินค้าอย่างแท้จริง (ทำนองเดียวกับ Ford model T ในอดีต) เพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำที่สุดและผลิตได้จำนวนเยอะที่สุด และคนอื่น ๆ ก็กำลังจะทำตามเช่นกัน ดังนั้น เห็นอีตาคนคนนี้ (อีลอน มัสก์) มันเพี้ยน ๆ อย่างนี้ ก็อย่าได้ดูถูกไป อีตานี่มันมีตาทิพย์ มองเห็นอะไรบางอย่างในอนาคต บางเรื่องก็อาจจะหลุดโลกไปเลย เช่น เรื่องไปดาวอังคาร แต่คุณกล้าเถียงไหมล่ะว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ใครจะมีเทคโนโลยีและ know how เท่า Tesla อีก นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่อง innovation อื่น ๆ ของเค้าไม่ว่าจะเรื่อง Tesla Bot, Starlink, neuralink, boring company, etc คือ กลัวแต่ว่าอีกหน่อย มนุษยโลกจะตกเป็นข้าทาสบริวารของสินค้าหรือบริการจากเทสลา มันน่ากลัวตรงนี้แหละ

ย้อนกลับมาเรื่อง vertical integration ของบริษัท จะเห็นได้ว่าเทสลานั้น ทำตัวเสมือนหนึ่งเจ้าสัวซีพีในประเทศไทยเด๊ะ คือกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู สู่ร้าน 7-11 สำหรับ EV เทสลาก็ทำเองเกือบทั้งหมดที่เป็นองค์ประกอบหรือส่วนผสมหลัก ออกแบบเอง ผลิตแบตเตอรี่เอง ผลิตมอเตอร์ drive train เอง software ในรถก็ทำเอง FSD software ก็มีข้อมูลเยอะสุด AI ก็มี Dojo superserver ก็มี เทคโนโลยี full self driving ก็ advanced กว่าคนอื่น เหลือที่ยังไม่ได้ทำคือเปิดเหมืองหาแร่ lithium, nickel เอง (ซึ่งเค้าก็เคยเกริ่น ๆ ว่าอาจจะต้องทำเอง)  ความแปลกประหลาดของเค้าก็ไม่ได้จบแค่นี้ ในขณะที่การขายรถยนต์แบบเดิม ๆ ต้องขายผ่านดีลเลอร์ ทางเทสลาเค้าไม่เอาด้วย เค้าจะกินเอง รวบเบ็ดเสร็จ เค้าไม่ขายผ่านดีลเลอร์ เค้าขายตรง สั่งออนไลน์ ช่วงโควิดมีการนัดรับรถแบบ contactless คือไปรับแบบเกือบจะไม่ต้องเจอมนุษย์

ความแตกต่างเรื่องการขายตรงกับการขายผ่านดีลเลอร์ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เทสลาสามารถขยับราคาได้ตามใจตัวเองแบบทันที ลดราคาหรือเพิ่มราคาก็มีผลทันที เพราะตัวเองรวบหมด อันนี้จะต่างจากดีลเล่อร์​เพราะถ้าขายผ่านดีลเล่อร์ ก็ต้องเฉือนเค้กให้ดีลเล่อร์รับประทาน จะขึ้นราคาลงราคา ผู้บริโภคอาจจะไม่ทราบเพราะดีลเล่อร์อาจจะ absorb เอาไป หรือแอบอมกำไรไว้เองแล้วแจกเป็นของแถมสารพัด เช่น ให้ประกันชั้นหนึ่งฟรี ฟรี connectivity ฟรี maintenance (ซึ่งไม่มีอะไรจะให้ทำนอกจากเปลี่ยน filter แผ่นละไม่กี่ร้อย กับสลับยาง) อะไรเงี้ย อันนี้มีส่วนสำคัญเลยที่ทำให้ net profit/gross profit ต่อคันของเทสลาสูงกว่า automaker อื่น ๆ ดังนั้น ถ้าใครไม่ชิน ไม่ต้องหวังว่าเทสลาประเทศไทยจะไปเปิดบู๊ธงานมอเตอร์โชว์ ไม่ต้องรอว่าเค้าจะมีโปรฯ อะไรช่วยมอเตอร์โชว์ (ไม่มี) เค้าจะขึ้นราคา ลดราคา อะไรก็ตามแต่บริบทของเค้าแล้วเค้าก็เก็บความลับเก่งมาก ไม่มีรั่วไหล เค้าไม่โฆษณาและไม่มีแผนก PR ตอบคำถามใด ๆ ด้วย ขนาดส่งมอบรถยนต์แล้ว ป่านนี้ผู้ซื้อรถยังไม่ทราบว่าถ้ารถมีปัญหาต้องเข้ารับบริการที่ศูนย์แห่งไหน ??? ไม่ต้องหวังว่าจะมีค่าประกันภัยชั้นหนึ่ง ติดฟิล์มฟรี นู่นนี่นั่น ขนาด wall box อันเล็กอันใหญ่ ก็ไม่มีให้ ซื้อเองตะหากนะจ๊ะ

ข้อเสียของการขายเอง ก็คือ ตัวเองก็ต้องลงทุนเองนะ เปิดศูนย์บริการ โชว์รูม จ้างเจ้าหน้าที่ ทำเองหมดทุกอย่าง แล้วเค้าทำไม๊ล่ะ เราก็คงเห็น ๆ กันอยู่ว่าเค้าก็ทำในสภาพที่เราเห็น ๆ ดู ๆ แล้วก็สนุกดี

ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไทยหลาย ๆ คนไม่ชินเอาซะเลยกับระบบนี้ เรารู้จักเพื่อน ๆ หรือ รุ่นพี่ที่ทำงานหลายคนที่จริง ๆ ก็อยากออกรถเทสลา แต่รีรี รอรอ ดูว่าเค้าจะตอกเสาเข็มเปิดโชว์รูมที่ไหน เมื่อไหร่ จะเปิดศูนย์กี่แห่ง จะบริการหลังขายยังไง ฯลฯ และเราก็ได้เห็นอะไรที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น 

1) Tesla ไม่ไปงาน motor expo ไม่มี promotion อะไรพิเศษ ราคาเซ็ทมาแบบนี้ จะซื้อก็ซื้อ ไม่ซื้อก็อย่าซื้อ อย่ามาถามว่าเมื่อไหร่จะลด เพราะกรูพอใจจะลดเมื่อไหร่ กรูก็ลด พอใจจะขึ้นก็ขึ้นราคาไม่สนใครใด ๆ ทั้งสิ้น
2) อีนี่ไม่เคยเสียตังค์โฆษณา อาศัยพวกยูทูปเบอร์ หรือ social media แพร่กระจายข่าว ที่สำคัญคือยังไม่มีฝ่าย PR ด้วย เวลามีข่าวลบ เช่น อุบัติเหตุ พวงมาลัยหลุด ไม่เคยออกมาแก้ต่าง หรือมีคำอธิบายอะไรออกมาจากบริษัท ทุกอย่างอยู่ในบรรยากาศอึมครึม ขนาดเข้ามาขายเมืองไทย ก็ไม่มีใครรู้ว่าโชว์รูม หรือ ศูนย์บริการจะอยู่ตรงไหน ต้องยอมรับว่า ขัดกับวัฒนธรรมซื้อรถของชาวไทยอย่างรุนแรง
3) วิธีการขายรถประหลาดโลกที่สุด คือ คุณต้องเข้าไปสั่งของ online ถ้าคุณไม่จ่ายสด ก็เป็นธุระคุณไปหาไฟแนนซ์รถเอาเอง ไม่มีเซลล์ จะหาให้ (ไม่มีค่าคอมฯ? เดาว่าพนักงานทุกคนต้องเซ็น NDA คงจะไม่มีใครออกมาเล่าให้คุณฟังว่าเค้าได้ค่าตอบแทนรูปแบบไหน นอกจากพนักงานนั้นเป็นญาติคุณ เล่าให้คุณฟังและคุณห้ามไปเขียนบล็อกหรือโพสต์ใน soical media) หลังจากคุณได้ไฟแนนซ์มาหรือจะซื้อสดก็ตาม ต้องโอนเงินก่อนรับรถ 14 วัน จะให้โอนเงินเป็นหลักล้าน โดยลูกค้ายังไม่เคยเห็นของ ยังไม่ได้ตรวจเช็คของ ไม่ได้ลูบคลำ ต้องเชื่อใจอย่างเดียวเลย แถมเวลาโอนก็สร้างความหวาดหวั่นว่าบัญชี Citibank ที่ให้มามันเป็นบัญชีมิจฉาชีพรึเปล่าน๊า จิตใจตุ๊มๆ ต่อม ๆ จะรู้ได้ไงว่าอันนี้ของจริง โอนก็โอนได้ทีละ 7 แสน เป็นหน้าที่ลูกค้าเองที่ต้องโอน 3-4 ที จนกว่ายอดจะครบ ป้ายขาวก็ไปจัดหามาเองให้เรียบร้อย เค้าจะให้ออกรถป้ายขาว ใครได้ป้ายขาวก่อนได้รถก่อน ใครไม่พร้อมให้รอไปก่อนใครจะออกป้ายแดง ก็รอไปนู่นเลย ถ้าจะเอาป้ายแดง ต้องเอาหลักฐานการขอป้ายขาวมาโชว์ด้วย และให้ยืมป้ายแดงได้แค่ 30 วัน  (อันนี้ถูกใจเรานะ เราว่าพวกคนไทยที่ชอบติดป้ายแดงคาเป็นปี นี่เป็นพวกทำผิดกฎหมาย)  วันออกรถได้ป้ายทะเบียนขาวและสมุดสีน้ำเงินเลย (ถ้าคุณซื้อสด) พวกเงินผ่อน พวกอยากออกป้ายแดง ให้รอไป ซะให้เข็ด
4) น่าจะเป็นผู้ขายรถรายแรกในประเทศไทยที่ขายรถได้ทั้งที่ยังไม่มีศูนย์บริการ โชว์รูมแบบ official จริง ๆ  มีข่าวลือออกมาแล้วว่าจะไปเปิดที่ Em District ซึ่งเป็นโครงการที่กำลังก่อสร้าง ระหว่างนี้ เค้ามีสำนักงานอยู่ตรงถนนวิทยุ แต่ที่ไปอาศัยพื้นที่รับมอบรถและเป็นสถานที่ test drive อยู่ที่ห้างชานเมืองที่ใคร ๆ ก็ไม่รู้จักมาก่อน Paseo town รามคำแหง ศูนย์บริการอยู่ที่ไหนก็ไม่ทราบ ไม่มีหลักแหล่ง ไม่เคยแจ้งว่าลงเสาเข็มที่ไหน คนรับรถแล้ว ถ้ารถมีปัญหาก็ติดต่อผ่านทางแอพ อาจจะมี Tesla mobile service วิ่งออกไปจัดการให้ งง เหมือนกันแฮะ ก็สนุกดีนะ นั่งดูเค้าขายรถ หยั่งกะขายโทรฯ มือถือ นี่ไม่ชิพมาทีละคันจากสิงคโปร์แบบสมัยก่อนยี่ห้อผลไม้เคยทำก็บุญแล้ว 
5) ลูกค้าเอารถไปติดฟิล์ม ติดนู่นติดนี่ เคลือบแก้วเองนะฮับ ไม่มีบริการให้ที่โชว์รูม 
6) สงสัยนักเชียวว่าจ้างพนักงานทำงานถึง 20 คนไหม ข่าวลือมาว่าติดต่อยาก ใช้วิธีสื่อสารทางอีเมลเป็นหลัก โทรฯ​ ไปก็ไม่รับ ใคร ๆ ก็บ่น สร้าง barrier ให้ลูกค้าทุกรูปแบบ เกือบจะนึกว่าบริษัท run ด้วย AI กะหุ่นยนต์ ไม่มีคนทำงาน ตอนรับมอบรถ ก็ทำเป็นล็อต ๆ ทีละ 15 คัน วันนึงส่งมอบสามรอบ ได้วันละ 45 คัน มีจุดรับมอบอยู่แห่งเดียวคือที่ Paseo town กว่าจะรับมอบเสร็จ 7000 คันนี่คงปาเข้าไปหลายเดือน แถมตอนรับรถที่เกณฑ์พนักงานมาคอยตอบคำถาม มีสายสืบมารายงานว่ามีคนไม่พูดภาษาไทยด้วยแฮะ อย่างงง เลย ประหลาดดี

นอกจากเรื่องขายรถที่ไม่เหมือนชาวบ้านแล้วเทสลาก็ยังมีอะไรประหลาด ๆ ที่ automaker เจ้าอื่นเค้าไม่ได้ทำ (อาจจะเริ่มมีคนเลียนแบบในไม่ช้า) เช่น
1) Vertical integration ผลิตชิ้นส่วนสำคัญเองทั้งหมด (อันนี้พูดไปแล้ว)
2) ปรับสายการผลิตเพื่อลดต้นทุน เห็นได้ชัดจากการทำ gigapress ปั้มโครงรถออกมา ตอนนี้ใช้กับ Model Y เป็นหลัก อีกไม่ช้าไม่นาน ก็คงใช้กับทุกรุ่น อันนี้ช่วยให้ผลิตรถได้เร็ว ลดขั้นตอนการประกอบ ทำให้ควบคุมคุณภาพได้มากขึ้น
3) น่าจะเป็นบริษัทผลิตรถเจ้าเดียวที่พยายามลดต้นทุนการผลิตตลอดเวลา มีการถอดนู่นถอดนี่ออก เช่น เอาเรด้าร์ออก (อันนี้เราไม่เห็นด้วยอย่างแรง) เอา lumbar support ท่ีนั่งฝั่งผู้โดยสารออก (ไม่เห็นด้วย โกรธมาก แต่ตอนใช้ Mercedes C350e ก็ไม่เคยกดจริงๆ ตามที่คุณอีลอนกล่าวอ้างไว้) เอาลำโพงออก ultrasonic sensor แม้แต่น็อต หรือ vehicle clips retainer สารพัด อันไหนตัดออกได้ อีเอาออกหมด ลามปามมาถึงสิ่งสำคัญเช่น UMC (Universal mobile connector) ก็ยังเอาออก ขายต่างหาก 10,000 บาท (แอบแพง เห็นเมกาขายแค่ $230 แถมมีหัวต่อ NEMA adapter สำหรับชาร์จเร็วให้เพิ่มอีกหัวนึง) อันนี้ก็อาจจะเหมือนตอนบริษัทผลไม้แอบเอา AC 5V USB adapter ออก ก็มีบริษัทคู่แข่งมาด่าใหญ่เลย สุดท้ายก็เอาออกตามเหมือนกัน เด้วรอดูต่อไป สรุปว่า ใครอยากใช้เทสลาต้องทำใจ สมยอมทำตามเงื่อนไขเค้าเพราะอีนี่มันประหลาดโลก มันขายรถแบบไม่ง้อ (เท่าไหร่) อยากซื้ออยากใช้รถเค้า ก็ต้องทำตามที่เค้าเงื่อนไขที่เค้ากำหนด ไม่งั้นก็ bye bye goes BYD เลยนู่น
4) Tesla มีเครือข่าย DC supercharger ของตัวเอง คนอื่นยังไม่ทำ ไม่มี หรือมีก็เบบี๋ (Rivian กำลังงอก แต่ยังน้อยมาก) อันนี้เป็นจุดแข็งของแบรนด์ เพราะ Tesla DC supercharger ค่อนข้าง reliable เวิ้คเสมอ (เทียบกับการตระเวณไปเสียบของชาวบ้านแล้วมันไม่เวิ้คหรือเวิ้คที่แรงไฟต่ำ) อันนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่เทสลาสามารถสร้าง revenues ได้ และปัจจุบันก็มีการเปิดเครือข่ายตัวเองให้รถแบรนด์อื่น ๆ ใช้ได้ที่ต่างประเทศ เวลาเทสลาเค้าตั้งสถานี supercharger เค้าก็จะเปิดสถานีนึงมีหลาย ๆ ตู้ เช่น 9 stalls อย่างที่เปิดอันแรกที่ Central World ไม่ใช่มาตั้งทีละตู้สองตู้ ชาร์จได้แค่ 50 kW เหมือนพี่ไทยทำ พอขายรถเยอะขึ้น เค้าก็ขยายสถานีเดิมให้มีตู้ชาร์จเพิ่มขึ้นหรือเพิ่มสถานีโดยเปิดโอกาสให้ผู้ใช้รถมีสิทธิ์เข้าไปโหวตได้ว่าอยากให้เค้าเพิ่มสถานีชาร์จตรงจุดไหน แถมสถานีชาร์จของเทสลาก็ไม่ได้ใหญ่เทอะทะ เหมือนเจ้าอื่น สายชาร์จก็ไม่ได้ใหญ่หนักอึ้งเพราะใช้ระบบ liquid cooling (ร้อนตรงหัวชาร์จ สายอุ่น ๆ) ชาร์จได้สูงสุด 250 kW (V3) ในขณะที่เจ้าอื่น ๆ ในประเทศไทยที่เคลมไว้สูงสุดยังอยู่แค่ 120-150 kW แถมเวลาชาร์จจริง ก็ได้ไม่ถึง เหมือนกะคนละยี่ห้อกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง ดังนั้นโปรดได้อย่าบ่นว่าเค้าขายรถทำกำไรเยอะ ถ้าเค้ามาลงทุน DC supercharger ให้ มันก็หายไปตรงนั้นแหละ (เคยดูคลิปประเทศไทย ตู้ DC charger ที่ปตท.จ้างเค้ามาลง ตกราคาตู้ละล้าน ใครจะเชื่อว่ามันแพงขนาดนั้น)
5) คอมพ์ติดล้อ connectivity เทสลาเป็นรถเจ้าเดียวที่ยอมให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลจากรถได้(อย่างจำกัด) ทำให้ผู้ใช้รถสามารถ track ติดตาม เก็บสถิติ การใช้รถ การใช้พลังงาน ตำแหน่ง geolocation การชาร์จ ประเมินความเสื่อมแบตเตอรี่ อันนี้ยังไม่เห็นเจ้าไหนทำ และอาจจะเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เราไม่อยากไปใช้รถยี่ห้ออื่น ๆ เพราะเป็นพวกบ้าเก็บข้อมูล
6) เทสลามีข้อมูลการขับขี่ของผู้ใช้รถเยอะที่สุด อันเป็นเหตุผลต่อเนื่องมาจากข้อ 5) ทำให้เทสลาสามารถพัฒนาซอฟท์แวร์และ AI เพื่อต่อยอดไปสู่การทำเทคโนโลยี full self driving ได้ โดยอาศัยเพียงแค่กล้อง (Tesla vision) ความล้ำของเทสลาในด้านนี้คู่แข่งยังตามไม่ทัน และถ้าคิดไปไกล ๆ จะกลายเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก สมมุติว่าในอนาคตเทสลาเป็นผู้ผลิตรถเจ้าเดียวที่ทำ full self driving ได้จริง เค้าสามารถปั้มรถออกมาราคาถูก ๆ ขายในราคาถูก ๆ แต่ไปฟันค่าซอฟท์แวร์ FSD แบบแพง ๆ ได้ง่าย  ๆสบาย ๆ ทำนองเดียวกับบริษัทผลิตปริ๊นเตอร์ ยอมขายปริ๊นเตอร์ราคาทุนหรือราคาขาดทุน แต่ไปฟันกำไรจากตลับหมึก สำหรับผู้บริโภคก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้มันผูกขาดเลย ให้ผู้ใช้ได้มีทางเลือกบ้าง

สำหรับเราตอนเค้าเปิดตัวก็เกือบไป ตอนช่วงที่เค้าประกาศราคาเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ด้วยความเจ็บใจที่ดอยอย่างแรง แต่เจือกเป็นผู้ที่การงานมั่นคง เงินก็พอมี แถมปลอดหนี้สินและลูกเต้า ก็เกิดความอย๊าก อยาก จะไปสั่ง Model Y อีกคัน อยากขายราคาถูกนัก (ถูกสำหรับชาวเกรย์ที่ดอย) โชคดีที่คนที่บ้าน (คนขับรถนั่นแหละ) บล็อกไว้ มาถึงตอนนี้ ผ่านไปเกือบ 2 เดือน เราก็รู้สึกว่าดีแล้วล่ะที่ไม่ได้ไปสะเหร่อไปสั่งจองไว้กะเค้า เพราะจริง ๆ น้องโบลต์ (Tesla model 3 PF) ก็ยังใช้งานดีอยู่ มีคันเดียวก็พออยู่ ล้างก็ล้างแค่คันเดียว ดูแลก็ง่าย  แต่ก็ยังอุตส่าห์ไปชักจูงน้องที่หน่วยที่ทำงานให้สั่งจอง model Y ได้ 1 คันและทุก ๆ วัน ที่เจอหน้าน้องเค้าเราก็มารับฟังเสียงบ่นน้องเค้าว่าประสบการณ์การซื้อรถโดยตรงจากเทสลามันขมขื่นขนาดไหน ไม่มีใครในประเทศไทยมีประสบการณ์ซื้อรถแบบนี้มาก่อน คืออีไม่ลงทุนอะไรเท่าไหร่เลยนะเนี่ย สถานที่ก็ยังไม่มี (ต่อให้มีก็มีน้อย) โฆษณาก็ไม่จ่าย พนักงานก็จ้างน้อย ไม่งั้นจะได้กำไรต่อคันเยอะขนาดนี้เหรอ จริง ๆ เราก็ไม่รู้สึกอะไรมากนะ อยากให้เค้าเอาเม็ดเงินกำไรไปลงทุนสร้าง supercharger network ในประเทศไทยที่ทางรัฐบาลไม่ได้สนใจจวางมาตรการสนับสนุนเท่าไหร่

ก็มีความดีใจตรงที่ว่าทุก ๆ วันที่ออกจากบ้าน ตัวเองก็จะคอยนับรถไฟฟ้าที่ผ่านหูผ่านตาในท้องถนน ในอดีต ถ้าไม่นับรถตัวเอง ก็จะพอได้เจอ MG สีฟ้าบ้างประปราย เรียกว่าวันละไม่เกิน 1 คัน แต่เด้วนี้ พอออกจากบ้านมา ก็มักจะเห็นน้อง BYD หลากสี หลายต่อหลายคัน ล้วนแล้วแต่ป้ายแดง และก็เห็นน้องแมวหลากหลายสี น่าเอ็นดู มี Neta โผล่มาบ้าง แล้วก็เห็นรถเมล์ไฟฟ้า เห็นรถบัสของที่ทำงานซึ่งเป็นรถไฟฟ้า ก็ยอมรับว่ารู้สึกว่าดีขึ้น อีกไม่ช้าไม่นาน ก็จะเห็นเทสลามากขึ้นเต็มท้องถนน อีกไม่ช้าไม่นาน ก็จะกลายเป็นรถโหล 

ก็อยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบเทสลา หรืออาจจะชอบเทสลาแต่ไม่ชอบอีตาอีลอน มัสก์ ก็ช่วยกรุณาหันมาพิจารณารถไฟฟ้าจะยี่ห้อไหนก็ได้ที่คุณชอบ หรือ รถไฮโดนเจน (บอมบ์) ก็ได้ ถ้ารักพี่โต พี่ฮอน มากขนาดนั้น ทำยังไงก็ได้ที่จะไม่ต้องเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไปสูบออกมาจากใต้เปลือกโลกทุกวันและปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้โลกถูกทำร้ายทุก ๆ วัน  ช่วย ๆ กัน ทำให้โลกใบนี้มันน่าอยู่มากขึ้นกว่านี้ ไม่ใช่เวลาฝุ่น PM 2.5 มันมาทีก็มาโวยวายกันทีนึง หารู้ไม่ว่าไอ้ค่าฝุ่น PM 2.5 มันก็แค่เป็น surrogate หรือตัวแทนของคุณภาพอากาศเท่านั้น ในอากาศที่เราหายใจเข้าไป มันมีสารพิษ มลภาวะ ก๊าซไม่พึงประสงค์ และของเสียอื่น ๆ อีกเยอะแยะ และก็ต้องยอมรับว่านอกเหนือจากการเผานู่นนี่นั่น ไซต์งานก่อสร้างแล้ว อะไรเอ่ย ที่พ่นอากาศเสียออกมาตลอดเวลาจากสิ่งที่เรียกว่า "ท่อไอเสีย" ตามชื่อเลย ท่อไอเสีย เอามาจ่อจมูกหายใจเข้าไปมันดีไหมล่ะ ถ้ามันไม่ดี โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ทำไมถึงยังทำกันอยู่ด้าย ไม่ใช่ไม่มีทางเลือกซะหน่อยเนอะ  ..

ช่วยได้ก็ช่วย ๆ กันทำนะ  ความเลวร้ายของมนุษย์เนี่ยมันเห็นมาแต่ในอดีต ก่อนจะรู้จักขุดบ่อน้ำมัน ก็ฆ่าปลาวาฬเอาไขมันเค้า จนปลาวาฬเกือบจะหมดโลก ถัดยุคนั้นมาก็ขุด ก็สูบน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติซะจนโลกวิบัติ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด โลกร้อน จนซะขนาดนี้ ตอนนี้ได้เรียนรู้ว่าแสงแดด สายลม สายน้ำ geothermal มันเอามาใช้ได้เหมือนกัน มีเทคโนโลยีที่มันใช้งานได้แล้ว (อ๊ะ ไม่มีโทรฯ​มือถือใช้แบตลิเธียม เหรอ) ทำไมถึงไม่ใช้นะ พลังงานส่งตรงถึงหลังคาบ้านเนี่ยเอามาเก็บไว้ในสิ่งที่เรียกว่าแบตเตอรี่ ทำไมถึงไม่อยากทำ ไม่เข้าใจเลย....


Create Date : 24 มกราคม 2566
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2566 15:15:57 น. 0 comments
Counter : 1034 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space