space
space
space
<<
พฤษภาคม 2566
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
space
space
18 พฤษภาคม 2566
space
space
space

Unable to DC Fast Charge -OK to AC charge

May 18 , 2023

CP_a163 Unable to DC Fast Charge - OK to AC charge

 

จ้ะ มันขึ้นข้อความนี้มาตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. ปีที่แล้ว (คศ.2022 หรือ พ.ศ.​ 2565) แล้วจ้ะ ไม่ช้าไม่นานหลังจากพวกเรา road trip ไป-กลับ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่กันไปเมื่อตอนต้นเดือน ธ.ค.

มันไม่ได้ขึ้นมาตลอด มันขึ้นมาเป็นระยะ ๆ ขึ้นมั่งไม่ขึ้นมั่ง พอขึ้นที เราสองคนก็เอาไปทดสอบเสียบชาร์จที่ DC charging station มันก็ชาร์จได้ ก็เลิกสนใจเค้า เค้าก็หายไปพักนึง แล้วจู่ ๆ มันก็จะโผล่มาอีก

อ๊ะ โผล่มาอีกเหรอ ก็ไปเสียบชาร์จอีก ก็ชาร์จได้ ก็เลิกแคร์​ข้อความก็จะหายไป แล้วเด้ว ๆ สักพัก มันก็จะโผล่มาอีก เรียกว่า ยั่วกันน่าดู 

เราก็พยายามนึกว่า เอ๊ มีอะไรผิดสังเกตทำให้อันนี้มันเกิดขึ้น ถ้ารถมันยอมให้ AC charge ก็แปลว่าจากเต้าเสียบส่วนที่เป็นเบ้ารับหัว type 2 IEC 62196 มันไม่มีอะไรเสีย แล้วก็ตัวแบตก็คงโอเค เหลือแต่ตรงแผลวงจรที่เค้าควบคุมให้ไฟตรงจ่ายเข้าแบตโดยตรงคงมีปัญหาตรงนั้น สิ่งที่เรารำลึกได้จากเหตุการณ์ road trip ก็คือคืนแรกที่เราไปจอดนอนพักที่ นครสวรรค์และเสียบ AC charge ข้ามคืนที่โรงแรม 42C The Chic Hotel ซึ่งคืนนั้นฝนตกแรงมาก ตกจนไฟที่โรงแรมดับไปสองรอบตอนกลางคืน และน้องโบลต์ก็จอดชาร์จอยู่กลางแจ้ง (ไม่แจ้งแล้วจ้ะ เป็นเวลากลางคืน) หมายความว่า จอดอยู่ที่โล่งไม่มีหลังคา ฝนตกหนัก ซึ่งตามสเปคการเสียบจอดรถไฟฟ้า เค้าไม่ได้ห้าม เพราะหัวเสียบ เบ้าเสียบ จะต้องสามารถผนึกแน่นกันน้ำ กันฝนได้ ซึ่งเค้าก็ชาร์จสำเร็จนะ ตอนเช้าตื่นมา ก็ได้ 95% ตามที่ตั้งไว้ ขนาดไฟฟ้าดับไปตั้งสองรอบ ฝนตกหนัก ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไร

จนกระทั่งเมื่อวันคริสตมาส (ปลายเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว) ที่เรามาสังเกตว่าทำไม เขี้ยวในเบ้าเสียบที่เรียกว่า CP (Control Pilot) มันจมกว่าเขี้ยวอันอื่น แถมมันมีผง ๆ คราบ ๆ สีเขียว ๆ ที่หน้าตาเหมือน Verdigris หรือเกลือทองแดงของกรด acetic อยู่ตรงขั้วนี้ ซึ่งเราก็ได้ทำความสะอาดเช็ดคราบเช็ดผลตรงนี้ออกไป แต่ความสงสัยที่ว่าทำไมเขี้ยวนี้มันถึงดูจมกว่าคนอื่น ก็ไปเฉลยกันตอนที่เราเอาน้องโบลต์ไปชาร์จ DC supercharger ครั้งแรกเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา และได้ไปขอดูเบ้าเสียบเทสลาของคนอื่น ก็เลยได้เห็นว่าของเค้าก็จมเหมือนกัน ก็จบความสงสัยตรงนี้ไป
 

อีตาคนขับเราก็โทษ software update ตามฟอร์ม เอะอะ อะไร ก็จะโทษ software update เค้าหักปักหัวปำว่ามันขึ้นข้อความมาหลังจาก update software แล้วพอมันหายไป เค้าก็จะยกคุณความดีว่าเนี่ยหลังจาก software update แล้วมันหายไปนะ

แต่เราไม่เชื่อหรอก เนื่องจากเราสองคนก็อัพเดต software กันอยู่เรื่อย ๆ ทุก ๆ ครั้งที่อัพเดตก็อัพทุกที เราก็ไม่คิดว่ามันเกี่ยวกัน อีกอย่างถ้ามีปัญหาจาก software อัตเดตจริง ก็น่าจะมีคนเหมือนเราไม่น้อย เอ แต่ไม่เห็นมีใครบ่น ค้นบนเน็ตดูยังหาคนที่มันปัญหาแบบเรายากมาก แต่เนื่องจากทุกครั้งที่ข้อความนี้ขึ้นแล้วเราเอาไปเสียบ DC fast charge ทดสอบ มันก็จะชาร์จได้และหายไปทุกครั้ง

ยิ่งตอนที่ Tesla Thailand เปิดสถานี DC supercharging แห่งแรกที่ WTC ตอนนั้นเราก็เอาเข้าไปลองเสียบ ก็ชาร์จได้ปกติ ความเร็วก็เร็วสุดยอด เหมือนไม่มีปัญหาอะไร หลังจากได้เสียบชาร์จยานแม่ เค้าก็ไม่ขึ้นข้อความอีกเลย พักนึงเลย

 

จนกระทั่ง ...​ในที่สุด มันก็ขึ้นมาอีก และรอบนี้ มันชาร์จไม่เข้าจริง ๆ ซวยล่ะสิ เอาไปเสียบที่สถานีชาร์จยานแม่ที่ WTC ก็ชาร์จไม่ได้ ย้ายตู้ชาร์จจนเกือบจะครบทุกช่อง ก็ยังชาร์จไม่ได้ ทีนี้ล่ะ เหงื่อตก เพราะอัลไล ก็เลยต้องโทรหาคุณเกดเจ้าประจำที่วสุธา คุณเกดบอกว่าตอนนี้คิวซ่อมยาวมาก ขอนัดหลัง 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้มันก็ดันมี software update (2023.12.5) โผล่มาอีกรอบ และเราก็มีการทำความสะอาดตรงขั้วที่เสียบชาร์จโดยเฉพาะอันที่มันจมลงไปด้วยน้ำยา contact cleaner ก็เลยสงสัยว่าจะเวิ้คไหม ก็เลยแอบเอาไปเสียบทดสอบอีกรอบที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรงบางพลัด ซึ่งไม่ใกล้จากบ้านเท่าไหร่ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. มันก็เจือกชาร์จได้อีก ทดสอบซ้ำอีกทีที่สถานี DC supercharge ของยานแม่ที่ WTC เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ก็ชาร์จได้ฉลุย แต่รอบนี้หลังชาร์จที่เทสลาก็ยังมีข้อความเตือนขึ้นมากวนใจอีก ตอนแรกก็ว่าจะยกเลิกนัดเข้าไปเช็ค แต่นึกไปนึกมา ขืนมันยังมีข้อความขึ้นมั่ง และมีชาร์จได้มั่งไม่ได้มั่ง นี่มันคงรับไม่ได้อะนะ ซึ่งไอ้ความไม่แน่นอนอันนี้มันลำบากใจตรงที่ว่าถ้าเกิดต้องเดินทางตจว.อีกขึ้นมาแล้วจะทำยังไง มันก็เดือดร้อนอยู่นะ สรุปว่าก็เลยยึดวันนัดตามนั้น ถึงเวลาก็ยอมเอารถเข้าไปให้วสุธาเช็คให้ ในใจก็คิดสงสัยว่าจะเช็คเจอรึเปล่า ช่างเค้าจะเก่งแค่ไหน และถ้าต้องเปลี่ยนอะไหล่ มันจะอยู่ในประกันไหม (เค้ายืนยันว่าอยู่) ก็อะ ไปเช็ค ก็ เช็ค

ส่วนที่ลำบากใจที่สุดก็คือพอใช้ EV จนติด (นี่ขนาดเป็นผู้โดยสารอย่างเดียว) เวลาต้องกลับไปใช้รถ ICE มันเกิดอาการหมดความสุขทันที เบื่อที่ต้องมีส่วนร่วมในการเผาพลาญน้ำมันเชื้อเพลิงทำลายโลก มันช่างเป็นบรรยากาศที่น่าเศร้า เราก็หลอกคนขับเราว่าอันนี้เป็นโอกาสดีที่จะหาเช่าน้องแมวมาขี่เล่น แต่พอถึงเวลา เค้าก็ไปยืมรถพ่อเค้า รถ ICE - Honda Accord คันเดิม นี่มันไอซ์สุด ๆ

รถเข้าไปตั้งแต่วันอังคารที่ 16 พ.ค. วันพุธที่ 17 เป็นวันพืช ก็ได้คำตอบว่า สายหลวมฮะ เสียบใหม่ ขันสกรูแน่นแระ ไม่มีขึ้นข้อความแระ แค่เนี้ยเหรอ??? แหม แล้วมันหลวมได้ไงฟระ จะหลวมอีกไหมเนี่ย เราก็พอทราบมาอยู่นะว่าสกรูพวกที่ไขกับสายไฟหรือขั้วแบตที่ประจุมันวิ่งเยอะ ๆ มันหลวมได้โดยเฉพาะถ้ามี vibration (รถวิ่ง) เนี่ย แต่ส่วนใหญ่เค้าก็จะมีแหวนล็อคเกลียวหรือไม่ก็ต้องหยอดกาวสำหรับขันสกรูให้เรา (locktite หรืออะไรพวกนั้นน่ะ) แต่เอาเถอะมันก็ดีกว่ามีอะไหล่ต้องเปลี่ยน เพราะถ้ามี ต่อให้อยู่ในประกัน ก็ต้องรอเวลาสั่งอะไหล่ เอารถกลับเข้าไปอีกครั้ง แค่สายไฟมันหลวม แล้วเค้าซ่อมได้ ไม่มีอะไหล่อะไรต้องเปลี่ยนให้ ข้อความไม่ขึ้นมาอีกและชาร์จ DC ได้ปกติ แค่นี้ก็ควรจะดีใจแระ

จบไปเรื่องนั้น

ปรากฎว่า มีอีกเรื่องที่คนขับเราเพิ่งจะมาสารภาพ เพราะก่อนหน้านี้เค้าไม่เคยเอ่ยปากบอกเราเลย เรื่องมาแดงตอนที่เราชวนเค้าว่าถ้าวสุธาซ่อมรถเสร็จแล้วเราก็เข้าไปเอารถกันเถอะ แล้วเค้าก็ถึงเสียงอ่อยบอกว่า one more thing ...

เค้าบอกเราว่ามันมีเรื่องแผ่นอลูมิเนียมใต้มอเตอร์หน้าที่บุบ เนื่องจากเค้าขับรถไปทับหินหรืออะไรก็ไม่ทราบ แล้วแผ่นอลูฯ มันมีรอยบุบกับแผ่นพลาสติกที่เป็นส่วนหนึ่งของซุ้มล้อมันฉีกขาด เราก็ขอดูรูป พอส่งรูปมาให้ดูแค่นั้นแหละ ตกกะจาย โอ้โห มันบุบอย่างแรง ขนาดขั้นว่ามีรอยฉีกของแผ่นพลาสติกซุ้มล้อ แถมใต้ต่อแผ่นพลาสติกนั้นมันมีท่อน้ำยา coolant พาดไปมาอย่างน่าหวาดเสียว แถมยังมีรอยข่วนเล็ก ๆ (ผิวๆ) ไม่ถึงกะบุบรุนแรงที่ตรงส่วนแผ่นโลหะที่ปกป้องแบตเตอรี่อยู่ด้วย เกิดความเสียวสันหลังวาบขึ้นมาเลยว่านี่ฟาดเคราะห์ไปแค่นิดเดียว เกิดท่อ coolant ฉีกขาดนี่ เป็นเรื่องซ่อมใหญ่ บางคนโดยเทสลาขอเปลี่ยนแบตทั้งก้อนมาแล้วเพียงแค่ท่อ coolant ฉีกขาด เรายังรู้สึกว่าถ้าไม่มีแผ่นอลูมิเนียมชิ้นนี้อยู่ น่าจะมีการบาดเจ็บต่อชิ้นส่วนภายในอื่น ๆ ไม่มากก็น้อย ก็ถือว่าฟาดเคราะห์ไป คนขับเราไม่ระวังเอง เค้าอ้างว่ามันมืดมองไม่เห็น  ถ้ามืดมองไม่เห็นและมันไม่ใช่ถนนดี ๆ วันหลังคุณก็ไม่ควรจะขับไปสิฮะ นี่ยังดีนะว่าช่วงล่างปีกนกมันไม่มีอะไรบาดเจ็บ เห็นร่องรอยแล้วเรียกว่าเซ็งไปเลย

 
สภาพความยับเยินที่เห็นหลังจากยกน้องโบลต์ขึ้น hoist คือแผ่นอลูมิเนียมที่สั่งมาจากอีเบย์ด้านหน้าฝั่งคนขับ ยู่ยี่ไปเลย มีรอยอยู่ตรงท่อเหล็กที่เป็นส่วนช่วงล่าง มีรอยอยู่บนแผ่นปิดแบตเป็นรอยข่วน และก็ส่วนที่เป็นแผ่นพลาสติกที่เป็นส่วนนึงของแผ่นปิดซุ้มล้อถึงกับฉีกขาด ตอนแรกก็คิดว่าต้องให้ทางวสุธาสั่งอะไหลชิ้นนี้มาเปลี่ยน

 
ให้ดูว่าใต้แผ่นพลาสติกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพลาสติกแผ่นที่เป็นหลังคาซุ้มล้อต่อลงมายังด้านล่างที่มีรอยฉีกขาด ถ้าแอบแง้มรอยฉีกดูจะเห็นข้างในเป็นท่อ collant ซึ่งจะเห็นว่ารอยกดบีบชัดเจน ซึ่งส่วนนี้คิดว่าก็เป็นระเบิดเวลาว่าเมื่อไหร่มันจะรั่ว โดยเฉพาะอากาศร้อน ๆ ของประเทศไทย ส่วนนี้เราก็ได้ขอทางวสุธาให้ช่วยสั่งอะไหล่ส่วนนี้ให้ด้วย กะว่าจะเอามากอดไว้ก่อน แล้วคอยหมั่นส่องดูใต้ท้องรถ เมื่อไหร่ถ้า collant รั่ว ก็ค่อยให้เค้าเปลี่ยน 

 
สภาพแผ่นอลูมิเนียมหลังจากถอดออกมา จะเห็นว่ารอยบุบค่อนข้างแรงมาก แถมตรงช่วงล่าง ๆ มีรอยฉีกขาดด้วย แสดงว่าน้ำหนักรถที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงกระแทก (เดาว่าคนขับรถเราขับไปตกหล่มแล้วกระแทกกะอะไรสักอย่าง) ก็แผ่นนี้ตอนหลังก็ว่าจะให้เค้าซ่อม เคาะให้มันคืนรูป เค้าจะหาคนทำให้น่าจะมีค่าซ่อมประมาณ 2,700 บาท แต่คงทำสีไม่ได้ (ก็ไม่รู้จะทำไปทำไป แผ่นนี้มันอยู่ด้านล่าง) เป็นสาเหตุที่เราทิ้งแผ่นนี้ไว้ที่วสุธา บังเอิญว่าแผ่นพลาสติกเดิมที่เราเปลี่ยนออกมา เราไม่ได้ทิ้งไป ก็เอาไปให้เค้าปิดไปก่อน แต่ตอนหลัง หลังจากได้ไปดูคลิปจารย์วัฒน์จัดให้ ก็ตกลงไปใช้แผ่นของจารย์วัฒน์เค้า แผ่นนี้ก็เลยไม่ได้ใช้ ตอนนี้เก็บกลับมาไว้ รอทางจารย์วัฒน์ส่งคนมาเอาไป เค้าอยากได้เอาไปไว้โชว์หรือไปศึกษา ยกให้เลย


วันรุ่งขึ้นเราก็ชวนกันไปรับน้องโบลต์กลับบ้าน รอบนี้ไปวสุธาก็ตกกะจายอีกรอบ เพราะอาคารเดิมที่เคยมีสองหลังตอนนี้กลายร่างเป็นโชว์รูม BYD ไปซะแล้ว 1 หลัง เหลืออาคารหลังเก่าเดิม ส่วนเพิงหลังคาด้านในที่มี hoist อยู่  5 ตัวที่เราเคยเอาน้องโบลต์ไปให้เค้าเช็ค ก็กลายสภาพเป็นศูนย์ training ของ BYD ซะงั้น เรียกว่าพื้นที่เดิม กลายเป็นให้ BYD ซะเกินครึ่ง ก็ไปถึงก็ถามคุณเกด ก็เจอว่ามีรถเทสลาหลายคันเลยมารอซ่อม พวกที่ไม่มีล้อล้วนแล้วแต่สถิตอยู่บนขาตั้ง 4 อัน ซึ่งชวนให้เราสงสัยเป็นที่สุดว่าเค้าตั้งขึ้นไปได้ยังไง (ปกติ จุดรับน้ำหนักเค้ามี  4 จุดแค่นั้น) ถ้าจะตั้งรถเทสลาขึ้นไปบนขาตั้งต้องใช้ขาตั้งพิเศษที่เรียกว่า Renn stand (ซึ่งเราก็เคยเกือบจะควักตังค์ซื้อ 4 อัน แต่ตอนแรกก็ไม่ดีกว่า) 

เราไปถึงก็ขอดูสภาพ แต่เหมือนคุณเกดตอนแรกจะอิดออดไม่อยากให้ดู เค้าอายที่ตอนนี้ศูนย์ซ่อมเค้ามันดูอนาถา แต่เราไม่ถือหรอก ก็นโยบายบริษัทบอกว่ากันเอง เหมือนญาติ เราย่อมอภัยให้ได้หากในครัวหลังบ้านจะดูไม่เรียบร้อย เราต้องการดูสภาพร่องรอยบาดเจ็บเพราะต้องตัดสินใจหลายเรื่อง สุดท้ายก็ยืนยืนว่าขอไปดู แล้วก็ให้คนขับรถเราเค้าไปรูดบัตรเพื่อสั่งอะไหล่ (แผ่นพลาสติกซุ้มล้อที่ฉีกขาด ราคา THB 8500) หลังจากเราได้ตรวจสภาพ ก็เห็นชัดว่าไอ้รอยฉีกขาดของแผ่นพลาสติกดังกล่าวมันพออภัยให้ได้ (หมายถึงไม่ต้องเปลี่ยน) ถ้าเราไปซื้อแผ่นอลูมิเนียมที่มีขายบน shopee (เพิ่งไปค้นเจอตอนพยายามหาแผ่นอลูฯ ใต้ท้องรถ) ราคา 1,274 บาท เพื่อที่จะเอามาติดเข้าไปซึ่งจะทับตรงส่วนของซุ้มล้อพลาสติกที่มีรอยฉีกขาดนี้ได้พอดี เพราะยังไง ๆ พอเราเห็นแบบนี้ ก็รู้สึกว่าส่วนนี้ก็คงต้องปกป้องแล้วล่ะ มันมี coolant tube อยู่แบบนี้

แล้วก็มาถึงเรื่องแผ่นอลูมิเนียมแผ่นเก่า อันนี้ให้คุณเกดลองช่วยถามหาคนซ่อม ก็มีคนรับซ่อมให้ในราคา 2,700 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้แพงมาก เพราะแผ่นนี้เราซื้อมาจากอีเบย์ในราคาเงินไทยประมาณ 12,000 บาท ซึ่งตอนนี้ไม่มีขายแล้ว แต่โดนค่าส่ง (โดย ushop อีก 10,000 บาทเศษ ๆ) ก็เท่ากับค่าอลูมิเนียมสองชิ้นนี้หน้าหลังรวมกันกับค่าส่งมาเมืองไทยประมาณ 22,000 บาท พอดีเราเคยเห็นคลิปยูทูปช่องจารย์วัฒน์จัดให้(iron Work Studio) เค้าเป็นผู้เชี่ยวชาญทำแผ่นเหล็กปิดใต้ท้องรถ เราก็เลยลองค้นหาดูและสอบถามไปว่าเค้ามีขายแผ่นด้านหน้า Tesla Model 3 ไหม เค้าก็ตอบมาว่ามีขายรวม 3 ชิ้น แผ่นหน้า แผ่นกลาง แผ่นหลัง รวมกันราคาพิเศษ 28,000 บาท โปรฯ​พิเศษ เราก็ขอซื้อแต่แผ่นหน้าแผ่นเดียวเพราะตรงกลางเราไม่ค่อยสนมาก (แอบสนอยู่ แต่ของเดิมมันเป็นโลหะอยู่แล้ว แถมเราขี้สงสัยว่าเค้าจะยึดน็อตติดเข้าไปตรงไหน เพราะแผ่นเดิมมันจะเจาะไม่ได้ (จริง ๆ เจาะได้นะ ถ้าไม่เข้าไปลึกมาก) เค้าก็ยอมขายแผ่นหน้าแผ่นเดียว 8,500 บาท ก็ถือว่าแพงอยู่ แต่จุดที่ทำให้ตัดสินใจได้มันอยู่ตรงนี้คับ

คุณเกดแจ้งว่าถ้าจะให้ซ่อม ต้องเอารถมาทิ้งไว้ 2-3 วัน (หรืออาจจะนานกว่านั้น เพราะช่างเค้าต้องเคาะและดัด และลองทาบดูว่ามันตรงกับรูน็อตอันเดิม แล้วไปทำสี แล้วถึงจะติดกลับเข้าไปได้) มากไปกว่านั้นก็คือพอเรามาตรวจแผ่นจริง นอกจากบุบแล้ว เค้ายังมีรอยขาดด้วย (คิดดูว่ากระแทกแรงขนาดไหน) ซึ่งรอยขาดนี้ช่างเค้าจะไม่เชื่อมให้เพราะเค้าไม่มีอุปกรณ์เชื่อมอลูฯ หรืออลูฯ มันเชื่อมไม่ได้ง่าย ๆ ต้องใช้เทคนิคพิเศษเพราะโลหะมันนำความร้อนได้ดี (ทำนองเดียวกับทองแดง) ก็ถ้าเราต้องใช้รถ ICE หลายวัน คิดซะว่า จ่ายแพงขึ้นจะได้ไม่ต้องทิ้งรถไว้ หรือทิ้งไว้แค่วันเดียว หรืออย่างน้อยแผ่นอ.วัฒน์ก็น่าจะหนากว่าแผ่นเก่ารึปะ... ก็เลยตามนั้น จัดไป

คุณเกดก็โวยขึ้นมาอีกว่าตะกี้รูดบัตรจ่ายค่าอะไหล่พลาสติกซุ้มล้อไปแล้ว 8500 บาท เราก็บอกว่าไม่เป็นไร เก็บไว้เป็น store credit ไว้วันหลังมาทำอะไรก็หักไป เค้าก็บอกไม่ได้ ฝ่ายบัญชีเค้าไม่ยอม สุดท้าย เราต้องไปเปลี่ยนรายการเป็น แบต 12V 1 ลูก (ประมาณ 5000 บาท) กะ แผ่นกรองอากาศ (3000 บาท) คือจะบอกว่าแอบแพงทั้งสองรายการ ทั้ง ๆ ที่ทั้งสองรายการนี้ไม่ต้องซื้อของ OEM Tesla ก็ได้ โดยเฉพาะแบตเตอรี่ แต่เพื่อให้มันจบลงตัว อีกอย่างถ้าเราเอาซุ้มล้ออันใหม่เค้ามา มีอีกเรื่องนึงก็คือเรื่องแผ่นโฟมซับเสียงที่แปะอยู่ด้านบน อันนี้ก็ต้องไปทำใหม่อีกอะนะ แค่คิดก็เซ็งแระ เอาเป็นว่ามันฉีกนิดหน่อย ใช้แผ่นเดิมไป แล้วเด้วซื้อแผ่นอลูมาแปะทับและเสริมความแข็งแรงตรงนี้เพิ่ม

วันนี้ก็เอาแผ่นพลาสติกเดิมของเทสลามาให้เค้าแปะคืนกลับลงไปก่อน ก็ยอมให้วสุธาเปิดบิลมาทั้งหมด 10,550.20 บาท เป็นค่าแบต 12V (5,000 บาท) ราคาจริงที่เมกา 85$ ค่าแผ่นกรองแอร์ 3,960 (เค้าคิดราคา 4,400 ลด 10%) และคิดค่าแรง (เขียนว่าเช็คระยะ) 900 บาท สรุปรายการนี้เจ็บรวมกันทั้งหมด คิดเป็นเงิน 

1) วสุธาชาร์จ 10,550.20 บาท
2) แผ่นอลูมิเนียมใต้มอเตอร์หน้าแผ่นใหม่ของอ.วัฒน์ 8500 + ค่าส่ง 350 = 8,850 บาท
3) แผ่นอลูมิเนียมคู่ใหม่ที่จะปิดตรงซุ้มล้อจากช็อปปีอีก 1,274 บาท 

รวมกันเป็น 20,674.2 บาท คิดซะว่า ได้ของแถมเป็นแบต 12V ลูกใหม่ กะ แผ่นกรองอากาศ 1 อัน

จบข่าว หวังว่าข้อความ CP_a163 Unable to DC Fast Charge - OK to AC charge จะไม่โผล่ขึ้นมาให้เห็นอีก และคนขับเราจะขับระวังมากกว่านี้

ปล. ขากลับ เราขับตามกันกลับมา แน่นอนว่าเราก็ต้องขับโบลต์สินะ ปกติไม่เคยขับเลย ได้มาขับโบลต์รอบนี้ ยอมรับว่ารถมันขับมันส์จริง ๆ เร่งแซง เร่งไฟแดง เข้าโค้ง เปลี่ยนเลน สะใจมากจ้า

 
ถ้าแอบเข้าไปดูใน service mode (แตะนิ้วแช่ไว้ที่รูปรถตอนรถอยู่ใน parking mode) จำ password ไม่ได้ เด้วไปลองดูแล้วมาบอกใหม่ ไม่ admin ก็ service นี่แหละ เค้าจะโชว์รายละเอียดบางอย่างเกี่ยวกับรถให้ดูซึ่งในหน้าที่เกี่ยวกับ HV (High voltage battery) เค้าก็ขึ้นตัวแดงอยู่ตรงส่วนที่เสียบนั่นแหละ แต่รอบแรกที่เราไป วสุธาบอกว่า อ๋อ สายไม่แน่น (เค้าเอารูปทางขวาให้ดู ว่าสายนี้ไงฮะที่หลวม) เจอบ่อย ไขให้แน่นแล้ว แต่มันไม่เวิ้คอะ มันไม่ใช่ ถ้าไขแน่นแล้วมันก็ไม่ควรจะเป็นอีก เด้วอ่านต่อในส่วนอัพเดต

July 3, 2023
หลังจากเอารถกลับมาจากวสุธาเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็ต้องกลับมาเขียนอัพเดตทั้งสองเรื่อง ว่า

1) เรื่องแผ่น underguard สรุปว่า อ.วัฒน์ Iron work studio เค้าลงมากรุงเทพฯ​ เนื่องจากมีลูกค้าเทสลาในกทม.หลายราย เค้าเลยนัดมาทำวันเดียวให้เสร็จ เราก็เลยสนองไปทั้งสามแผ่น คือเอาแผ่นกลางด้วย รู้ทั้งรู้ว่าตรงกลางมันเป็นแผ่นเหล็กอยู่แล้ว แต่เห็นความพยายามของจารย์วัฒน์แกในการออกแบบ ก็เลยอะ ๆ ติด ๆ ไปอีกแผ่นละกัน แอบเสียใจว่ารถมันหนักขึ้นพอสมควร (3 แผ่นรวมกัน ประมาณ 30 โล) แล้วก็ทำให้รถด้านล่างเค้ามี clearance หายไปอีก 3 มม. (ความหนาของแผ่นอลูมิเนียม) ส่วนเรื่องราคาไม่ติดใจมาก ก็สามแผ่นรวมกันจ่ายไปประมาณ 28,500 บาท งานนั้นก็จบเรียบร้อย

 
สภาพแผ่นอลูของอ.วัฒน์ หนา 3 มม. เป็นแบบเกรดอย่างหนา (marine grade) ออกแบบให้สามารถระบายความร้อนจากมอเตอร์ได้ ทั้งแผ่นหน้าและแผ่นหลัง ตอนแรกเราก็จะเอาแค่ 2 แผ่นนี้แหละ ราคาแผ่นละ 8,500 บาท แผ่นอลูฯของเก่าของเราที่ซื้อจากอีเบย์น่าจะหนาแค่ 2 มม. และก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่เห็นจะแข็งแรงเท่าไหร่

  
แผ่นตรงกลางที่สำหรับ cover ส่วนที่เป็นแบต (ในรูปซ้ายมันซ้อนกันอยู่สองแผ่น) ตอนแรกเราก็ไม่ได้จะเอาหรอก เพราะของรถเค้ามามันเป็นโลหะอัลลอยด์อยู่แล้ว ถ้าใครอยากจะประหยัดงบ ก็ไม่ต้องเอาส่วนนี้ก็ได้ เพราะสองแผ่นนี้ราคาสูงหน่อย แต่เราก็ประทับใจในความอุตสาหะของอ.วัฒน์ที่พยายามออกแบบตรงส่วนที่ยึดติดกับใต้ท้องรถให้สามารถใช้กับรูสกรูเก่าได้โดยไม่ต้องรูเพิ่ม ก็เลยช่วยอุดหนุนไอเดียหน่อย และทางร้านก็มีโปรฯ​ให้พอดี ติดรวมกัน 3 แผ่น ราคา 28,500 บาท ก็เลยจัดไป หลังจากติดตั้งเสร็จ มีความเสียใจอยู่อย่างเดียวคือนน.รถเพิ่มขึ้นประมาณ 30 โล (จารย์วัฒน์เค้าบอกเอง แต่มันเป็น sprung weight) เอาเป็นว่าเราสองคนอย่าอ้วน ก็น่าจะโอเค

 
ทีมติดตั้งก็เป็นน้อง ๆ เกรียน 3 ด้าน สถานที่ก็เป็นที่ของทหาร (โรงเรียนช่างฝีมือทหาร) เนื่องจากจารย์วัฒน์เค้าเคยเป็นอ.พิเศษของที่นี่มาก่อน เราก็ถูกเรียกเก็บค่าสถานที่ (และค่าแรงน้อง ๆ) เพิ่มจากราคาเบื้องต้นอีก 1 พันบาท แต่จารย์วัฒน์อยากซื้อแผ่นอลูเก่าของเราในราคา 1 พันบาทเช่นกัน สรุปว่ายอดค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ถ้ายอมขับรถไปถึงที่สตูดิโอของร้านเค้าที่ลพบุรี ก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ส่วนแผ่นปิดแผ่นพลาสติก (รูปขวามือ) ที่เราซื้อมาจากช็อปปี้ จารย์วัฒน์เค้าก็ติดให้ไม่คิดค่าแรง แผ่นนี้ก็กาจอก กาจอกหน่อย เป็นอลูบาง ๆ ราคาสองแผ่นประมาณ​ 1,200 บาท อย่างน้อยก็ดีกว่าแผ่นพลาสติกของเดิมละกัน

2) เรื่องสองคือเรื่องที่ต้องการมาอัพเดตว่า ไอ้ที่ฟ้องว่า DC charge ไม่ได้ มันยังไม่หายขาด หลังจากรับรถกลับมาได้ไม่ถึง 1 สัปดาห์ โดยที่ไม่ได้ทดลองเสียบ supercharge ไอ้เจ้าข้อความดังกล่าวมันก็โผล่ขึ้นมาอีก เป็นความเซ็งอย่างที่บอกไม่ถูก ประจวบกับพอดี๊พอดีมี Tesla supercharger มาเปิดที่ iconSiam ซึ่งเราไปถึงวันแรกที่เค้าเปิดพอดี๊พอดี เรียกว่าไปคนแรกเลย เป็นคนไปยกรั้วกั้นของเค้าออก จอดคนแรกตอนเปิดห้าง แล้วก็เสียบ แล้วมันก็ไม่ยอมชาร์จจริง ๆ หน้าแตกสุด ๆ เป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูก (คือปกติก็ไม่เคยจะอยาก DC supercharge กะเค้าเลย แต่พอไม่ชาร์จไม่ได้เท่านั้นแหละ เป็นเดือดเป็นร้อนหนักหนา) ก็เลยต้องแจ้งคุณเกดขอเอารถเค้าไปทำอีกรอบ กว่าเค้าจะเคลียร์คิวให้เราได้ ก็ปาเข้าไปปลายเดือน (มิ.ย.) ก็เลยได้เอารถเข้าไปเช็คอีกรอบวันจันทร์ที่ผ่านมา 27 มิ.ย. ตอนแรก เราก็คิดว่า แค่สายหลวม ก็ไขให้มันแน่น ๆ สิ ไม่น่าจะซ่อมนาน (แต่ก็แอบคิดในใจว่าไม่ใช่หรอก) ปรากฎว่ารอบนี้ซ่อมนานมาก เค้าบอกว่า เค้าลองเปลี่ยนกล่องข้างหลังแล้วไม่เวิ้ค ต้องลองเปลี่ยนนู่น เปลี่ยนนี่ ท้ายที่สุด เค้าก็บอกว่าต้องเปลี่ยนตัวแป้นสีดำที่เป็นที่เสียบ ที่เดิมที่เราเคยรายงานว่าหลังจากไปจอดชาร์จรถตากพายุฝนแล้วมันเหมือนมีขี้เกลือทองแดงขึ้น ที่ถ่ายรูปให้ดูข้างต้น  ในใจเราก็รู้สึกว่าเค้าซ่อมเหมือนไม่รู้จริง (ตั้งแต่รอบแรก) ลองเปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่ไปทีละอย่าง แต่นึกไปนึกมา อย่างน้อยก็ดีตรงที่เค้ามีอะไหล่พร้อม (แอบสงสัยเหมือนกันว่าทำไมอะไหล่เยอะจัง) แต่รอบเนี้ย เค้าใช้เวลาตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ นับให้ 4 วันทำการ เพราะเราเอารถไปส่งเย็นวันจันทร์ ก็ถือว่าเริ่มทำตั้งแต่วันอังคาร วันพฤหัส วันศุกร์มีเอารถไปลองเสียบชาร์จ DC สองรอบ แล้วก็นัดเราไปรับรถคืนวันเสาร์ เราก็เลยขอให้เค้าเปลี่ยนแบต 12V กะไส้กรองแอร์ (ที่จ่ายเงินซื้อไปตั้งแต่รอบแรก) เลย

 
ครั้งนี้เอารถเข้าไป สาย High voltage เดิมที่บอกว่าหลวม ทำให้แน่นแล้วก็ยังไม่หายจ้า เค้าก็เลยลองเปลี่ยนนู่นนี่นั่น สำหรับชิ้นแรกที่เค้าลองเปลี่ยนคือเจ้ากล่องสีขาวนี้ อันนี้มันอยู่ข้างในรถ ในกล่องนี้จะมีแผงวงจรสำหรับควบคุมการชาร์จอยู่ ปรากฎว่าเปลี่ยนกล่องนี้เสร็จก็ยังไม่หาย ยังมีข้อความขึ้นเหมือนเดิม

 
สุดท้ายเค้าก็ลองเปลี่ยนตัวนี้ มันเป็นตัวแป้นดำ ๆ ที่เอาไว้เสียบชาร์จนั่นแหละ ภาพซ้ายคือมุมมองจากด้านใน ด้านนอกมันก็คือแป้นเสียบเราดี ๆ ซึ่งปกติ charging port unit มันก็จะรวมฝาปิด มอเตอร์ด้วย แต่กรณีของวสุธานี่ เราก็ไม่แน่ใจว่าเค้าเปลี่ยนให้ทั้งยูนิตหรือเฉพาะตัวใน แต่ที่แน่ ๆ เรามั่นใจว่ามันไม่ใช่อะไหล่ใหม่แน่นอน จากสภาพความเขรอะ ฝุ่นจับ และร่องรอยที่ดูเหมือนมี่การใช้งานมาแล้ว (มีรอยจ้า) เราก็ไม่แน่ใจว่าเค้าไปเลาะเอาออกจากรถคันไหนมาใส่ให้เรา แต่มันอยู่ในประกัน และเราก็ไม่แน่ใจว่าถ้าเค้าแจ้งว่าเอารถกลับไปก่อน รอสั่งอะไหล่อีก 3 เดือนแล้วค่อยเอารถเข้าไปให้เค้าทำให้ อย่างไหนมันจะถูกใจลูกค้ามากกว่ากัน เอาเป็นว่า เราก็เช็ดฝุ่นออกซะ แล้วตอนนี้มันก็ใช้งานได้เหมือนปกติแล้ว ก็ไม่ต้องบ่นมาก เค้าก็ทำให้มันกลับมาทำงานได้ปกติแล้ว


ก็รอบนี้ หลังจากเจอประสบการณ์ซ่อมแล้วไม่หาย ก็เลยต้องเอาไปลองเสียบ ตอนแรกเราก็ชวนคนขับเราไปลองสำรวจทำเลแถว Central village เพราะไม่เคยไป ซึ่งต้องขับรถไปอีก 36 km ใช้เวลาอีกครึ่งชม. ปรากฎเค้าไม่อยากไป เค้าบอกเสียเวลา ก็เลยพาเราไปชาร์จที่ประจำที่เดิมคือ Central world ปรากฎว่าเสียเวลากว่าเดิมอีกเพราะรถติด 55 

แต่รอบนี้ก็น่าจะโอเค เพราะเอารถกลับมา ลองชาร์จที่ Central world ก็ชาร์จได้ปกติ ป่านนี้ก็ยังไม่มีข้อความขึ้นอีก และคิดว่าคงจะไม่มีอันนี้ขึ้นมาละ และก็จะไม่เอาไปชาร์จตากพายุฝนอีกด้วย ถ้าชาร์จอยู่แล้วฝนตกหนัก ก็จะหยุดชาร์จไปก่อน ฝนหยุดตกแล้วค่อยชาร์จใหม่ ไม่รู้เกี่ยวกับฝนรึเปล่า แต่คืนนั้นที่นครสวรรค์ฝนตกแรงมาก มีพายุฝนเข้าและจำได้ว่าไฟฟ้าโรงแรมดับไปสองรอบ

ที่น่าสังเกตก็มีสองสามเรื่องคือ
1) ชิ้นส่วนที่เปลี่ยนให้เรา ดูไม่เหมือนอะไหล่ใหม่ มันมีฝุ่นเกาะเยอะมาก (ดูรูป) แอบหลอกถามคุณเกดว่า สนนราคาเท่าไหร่ คุณเกดกระซิบมาว่า 34,000 บาทค่ะ โชคดีนะเนี่ยว่ารถยังอยู่ในประกัน (วสุธา) ยังเหลืออีก 1 ปีเท่านั้น
2) อะไหล่สำรองมีในประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ต้องส่งรถกลับอังกฤษไปซ่อมก็ใช้ได้ละ ถึงจะซ่อมแบบลองผิดลองถูก แต่รถไม่พังก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าสอบผ่าน
3) มี gap ฮะ เด้วต้องไปหารูปเก่า ๆ ดูว่าน้องโบลต์เราก่อนซ่อมมีช่องว่างระหว่างฝาปิดกับไฟท้ายกว้างเท่านี้ไหม แต่ตอนนี้ช่องว่างกว้างมาก โดยเฉพาะถ้าเทียบกับอีกด้าน (ที่ไม่มีฝาปิด)
4) แอบเปิดดูตัวแบต 12V ปรากฎเป็นแบต GS -GSMFX-60L ดูหุ่นแล้ว ดูทรงสู้แบตตัวเก่าของที่มากับรถไม่ได้ แถมรูต่อ vent ก็ไม่มีให้เสียบ ชวนให้สงสัยว่าเป็น AGM (Absorbent Glass Mat) รึเปล่า แต่บนช็อปปี้ เค้าขายถูกกว่าที่วสุธาชาร์จเราพอสมควร ไม่เชื่อไปลองเช็คดูสิ อีกอย่าง เรามั่นใจว่าแบต 12V ที่มากับรถยังสามารถใช้งานได้อย่างน้อยก็อีก 1-2 ปี แต่เอาเถอะ ตอนนั้นเค้าดันรูดบัตรไปแล้วนิ

ก็หวังว่าจะไม่มีงอแงอีกนะ น้องโบลต์ 

 
อาจจะรู้สึกไปเองรึเปล่าไม่แน่ใจเพราะไม่มีรูปถ่ายเปรียบเทียบก่อนทำกับหลังทำ แต่เรามีความรู้สึกว่าหลังทำ ฝาปิดพอร์ทชาร์จของเรามันดูเหมือนจะมีแก็ป (ช่องว่าง) กับตัวถังรถ แต่คนขับเราเค้าบอกว่ามันโอเค หลังจากซ่อมหายดีแล้ว เราเข้าไปลองเช็คใน service mode อีกที ทีเคยขึ้นสีแดงตรงฝาชาร์จก็หายไปแล้วจ้า


รายการนี้ที่ไม่ไลค์เลยก็น่าจะเป็น GS battery ลูกนี้ สภาพเค้าดูห่างชั้นจากลูกเดิมมาก แถมรูต่อท่อ vent ก็ไม่มี จริง ๆ เราก็ได้ประกอบแบต 12V ที่ทำจาก LFP เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่สามารถติดตั้งเข้าไปได้ เนื่องจากปรากฎการณ์ Ohmmu battery ที่เมกา ตอนนี้ก็เลยต้องยอมใส่ Lead acid battery เข้าไปก่อน ก้อนนี้ ดูสมราคาจริง มีภาษาไทยด้วย
 




 

Create Date : 18 พฤษภาคม 2566
0 comments
Last Update : 31 กรกฎาคม 2566 18:29:16 น.
Counter : 1533 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space