space
space
space
<<
พฤษภาคม 2565
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
space
space
29 พฤษภาคม 2565
space
space
space

Switched 12V or Continuous 12V DC supply in Tesla model 3 จะไป tap ตรงไหน
June 6, 2022

ตอนช่วงที่ติดตั้ง Hansshow auto present door handle ก็จำเป็นจะต้องไปหาแหล่งจ่ายไฟ 12V มาให้เค้า ซึ่งทาง Hansshow ขอให้ต่อตรงจาก 12V battery ที่อยู่ใต้ฝากระโปรงหน้า ปัญหาคือจะเจาะออกไปรูไหนดี (เจอช่องจะเจาะแล้วล่ะ แต่ไม่อยากเจาะ) สงสัยว่ามันพอจะหาสายไฟเส้นไหนภายในรถที่มันจ่ายไฟ 12V จากแบตลูกเล็กโดยตรงได้เลยไหมจะได้ไม่ต้องเจาะ นอกจากนี้มันยังมีไฟ 12V อีกแบบในรถที่ฝรั่งเรียกว่า switched 12V ซึ่งอันนี้หมายถึงไฟ 12V ที่จะจ่ายต่อเมื่อรถยัง active กรณีรถ ICE ก็คือเวลาสตาร์ทรถแล้ว หลังดับรถปิดประตู ไฟส่วนนี้ก็จะถูกตัด ถ้าเป็น Tesla ก็คือจะจ่ายไฟตอนรถตื่นเท่านั้น ถ้าเมื่อไหร่รถหลับ ไฟตรงนี้ก็จะถูกตัดไป อันนี้เหมาะกับอุปกรณ์ที่เราต้องการให้หลับนอนไปพร้อมกับรถ ส่วนอุปกรณ์ที่เราจำเป็นต้องให้เค้ามีไฟป้อนตลอดเวลา (มันก็จะแอบแหลกไฟ) ก็ต้องจ่ายไฟ 12V แบบ continuous 

หลังจากค้นคว้าหาดูยูทูปกันจนตาเล็ด มีพรรคพวกแนะนำให้ tap ตรงนั้น tap ตรงนี้ ตรงนี้ดีกว่าตรงนั้น ตรงโน้นดีกว่า เราก็อุตส่าห์ไปหาซื้ออุปกรณ์ tap สายไฟมาหลากหลายเบอร์ หลายรูปแบบ เตรียมจะหาสายไป tap มาตามเค้า เวลาเปิด panel มาดูก็เห็นสายละลานตาไปหมด ตรงนู้นก็เหมือน ตรงนี้ก็น่าจะใช่ ไอ้สายไฟสีแดง ๆ เส้นโต ๆ น่ะ เราว่าถ้า tap อันนั้นออกมาต้องเป็น 12V แน่นอน ส่วน ground ก็แปะเอากับตัวถังรถ ง่ายนิดเดียว บางคนก็บอกให้ tap เอาจากตรงใต้ที่นั่งเบาะหลังเลย มีสายเส้นแดงใหญ่ ๆ วิ่งจากแบตก้อนใหญ่ ทอดไปตามกาบบันไดด้านข้างของฝั่งขวาไปยังด้านหน้า เส้นนั้นน่ะ เป็น 12V เชื่อมระหว่างก้อนใหญ่กับแบตก้อนเล็ก อันนั้นน่าจะเป็น continuous 12V DC supply ที่ tap เอาง่ายที่สุดในห้องผู้โดยสาร แต่สุดท้ายเราก็ไม่ได้ไป tap ตามใครสักคนเพราะหลังจากศึกษาไปมาก็พบว่ามันไม่น่าทำซักกะรายการ เราว่าจะหาสายที่วิ่งไปที่จุดบุหรี่อันนั้นน่าจะเป็นอันที่ปลอดภัยสุด การจะหาสายไฟว่ามาจากไหนไปที่ไหน เราคิดว่าถ้าเอาง่ายสุดก็น่าจะเริ่มจาก fuse box เพราะไฟที่เข้าระบบต่าง ๆ สุดท้ายมันก็จะต้องมาผ่าน fuse ก่อนจะไปหาอุปกรณ์หรือระบบอะไรต่าง ๆ รถ (ICE) ทุกคันเค้าก็มี fuse box กันทั้งนั้น ไม่ได้มีที่เดียวด้วย ส่วนใหญ่มักจะแยกสองอัน มีอันนึงอยู่ใต้ฝากระโปรง (ของ Mercedes C350e นี่อยู่ใต้ฝากระโปรงหลัง) อีกอันมักจะอยู่ในห้องผู้โดยสารเพราะควบคุมกันคนละส่วน  เราก็ไปหาใหญ่เลยว่า fuse box ของน้องโบลต์เราอยู่ที่ไหน ปรากฎว่า

นี่มันรถบ้าอะไรเนี่ย มันไม่มี fuse box ใช่แล้วฮับ The new Tesla cars no longer uses a fuse box

มันเป็นไปได้ยังไง อุปกรณ์สำคัญเช่นนี้ แล้วเกิดไฟเกิน ไฟช็อต ไฟกระชาก กาแฟหกใส่ที่จุดบุหรี่ จะทำยังไง มันไม่อันตรายเกินไปเหรอ  ก็ไปถามผู้รู้ ศึกษาเพิ่มเติม เค้าก็ให้ไปอ่านเรื่อง MOSFET (Methal Oxide Semiconductor Field Effect Transister) ใครจะไปอ่าน อย่าลืมว่าเราไม่ใช่วิศวกรไฟฟ้า ไม่ใช่ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่พนักงานขายชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิคส์ที่บ้านหม้อ งานที่เราทำประจำมีความห่างไกลกับด้านนี้พอควร แต่ก็สงสัยเป็นนักหนา ก็ต้องถามผู้รู้ผู้มีดีกรีระดับวิศวกรและเชี่ยวชาญเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขอใช้นามแฝงว่า "เฮียหมู" เค้าก็ตอบเรามาว่า "MOSFET เป็นเหมือนประตูเปิดปิดให้ไฟไหลผ่านครับ ถ้าทั้งรถไม่มี fuse เนื่องจาก Tesla เขา high so, ผมคิดว่าเขาใช้วิธีนี้: คือมี current sensor กับทุกสายไฟบนรถ ซึ่งคงติด sensor เป็นสิบ ๆ ตัวบนแผงวงจรแล้ว monitor current sensor ทุกตัวด้วย microcontroller ถ้ามันตรวจจับว่าเส้นไหนกระแสสูงในเสี้ยววินาทีมันก็สั่ง MOSFET ให้ปิดประตูไฟที่ไปเข้าสายนั้น ซึ่ง MOSFET ก็ต้องมีจำนวนเป็นสิบ ๆ ตัวตาม sensor ครับ จริง ๆ microcontroller สามารถสั่งให้ MOSFET เปิดประตูให้ไฟผ่านน้อยๆ หรือปิดไปเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับเขียน program มายังไง พอมี current sensor จับทุกเส้นอยู่แล้วเลยทำได้แบบ realtime". 

เนื่องจากเราก็ยังไม่เคยเห็นหน้าตา MOSFET เป็นยังไง ก็ไปหาดูรูป ไปเจอมีสินค้าขายในเมืองไทยด้วย สนนราคาต่างกันออกไปมีตั้งแต่ตัวนึงไม่กี่สิบบาทเป็นถึงตัวนึงเป็น ร้อยบาท รูปด้านบนขอยืม(ไม่ได้ขออนุญาต) มาจาก https://www.changamnuai.com

ก็ยังไม่หายสงสัย สงสัยว่าเวลาเด็กซนเอาปั้มสูบลมยางมาเสียบซึ่งอาจจะกระชากไฟสูงถึง 20-30A แล้วเกิด MOSFET มันตัดไฟไป มันจะรีเซ็ทยังไง ถ้าไม่ให้ user เข้าไปเปลี่ยนฟิวส์ ไปยกเบรกเกอร์ขึ้นหรือไปรีเซ็ทอะไรได้ แล้วมันปล่อยไฟมาใหม่ได้เหรอฮะ มันจะรู้ได้ไงว่าปลอดภัยปล่อยไฟมาได้แล้ว เฮียหมูก็แจงมาว่า "รู้จาก sensor ครับถ้าลองปล่อยไฟใหม่แล้วค่ายังเกิน threshold มันก็ปิดใหม่ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเสี้ยววินาที แล้วมันคง hold ไว้สักช่วงนานหน่อยแล้วลองใหม่เป็นระยะ"

ฟังแล้วทึ่งในความเว่อวัง ความสะเหร่อไม่เหมือนใคร และก็รู้สึกเสียววูบที่จะบังอาจไป tap ไฟนู่นนี่ซี้ซั้ว รู้รึเป่า ว่าเวลาฟิวส์ขาด เปลี่ยนฟิวส์ 1 ตัว อันน้อย ๆ นั่นอันละ 2-5 บาท  แต่ถ้าอีแผงวงจรที่มี MOSFET นี่เจ๊งไป มันคงต้องเปลี่ยนทั้งแผง แอบได้ยินมาว่าราคาประมาณ $1400 ยังอยากจะ tap มั่วซั่วอยู่ไหมล่ะ


แผนผังอันนี้เราตัดแปะมาจากคู่มือ service manual ของ Tesla model 3 รุ่น 2018-2019 เค้าแยก wiring diagram กันระหว่างรถพวงมาลัยขวา (RHD) กับรถพวงมาลัยซ้าย (LHD) ก็จะเห็นว่าไฟออกจากแบตก้อนเล็ก 12V (รวมทั้งก้อนใหญ่ด้วย) เค้าจะวิ่งมาผ่านสิ่งที่เรียกว่า Body Controller Front ก่อน หรือที่เราเคยเกริ่นไปก่อนหน้านี้ ว่า VC (Vehicle Control) front นอกจากนี้ยังมีอีก 2 แผง คือ VC left, VC right ของ Model S/X รุ่นใหม่ดูเหมือนจะมีอีกแผงอยู่ด้านหลังด้วย แต่จะเห็นว่าไม่มีสายไฟวิ่งตรงเข้าไปในรถโดยไม่ผ่าน VC front อันนี้ เพราะฉะนั้นถ้าคิดจะ tap ไฟ 12V ใด ๆ ก็ตามภายในห้องผู้โดยสาร รับรองได้ว่าจะเป็นสายไฟที่ผ่านจาก controller ตัวนี้มาแล้วทั้งนั้น

ในบรรดาคลิปยูทูปทั้งหลายที่เราดู ๆ เกี่ยวกับ tesla ก็มีคุณ Ingineerix หรือคุณ Phil Sodow คนนี้นี่แหละที่เราถือว่าเค้าอธิบายอะไรต่าง ๆ อย่างผู้รู้จริง หลังจากแอบไปสืบก็ทราบมาว่าเค้าเป็นวิศวกรคนหนึ่งในเมกาที่เชี่ยวชาญในด้านการม็อดรถ EV โดยเฉพาะ tesla มีประวัติการกู้ซากประกอบหรือซ่อมรถ tesla จากชิ้นส่วนรถที่ totaled แล้ว (แทงศูนย์) มาเกินสิบปี คนนี้เค้าก็มาอธิบายเรื่องแผง VC front ในคลิปวิดิโอนี้ และอธิบายทั้งหมดเกี่ยวกับวงจร low voltage circuit (12V) ทั้ง VC front, left, right ในคลิปวิดิโอนี้ ดูแล้วก็ได้แต่ซึ้งใจ ประทับใจในความล้ำเลิศของเทสล่า แต่ก็หวาดเสียวจะทำเจ๊ง ถ้าไป tap ไฟมั่วซั่ว

 
 
รูปซ้ายมือบนจะสังเกตุเห็นว่าด้านหลังแบตเตอรี่ 12V จะมีกล่องที่ฝาครอบด้านขวาเค้าเป็นโลหะ ซึ่งกล่องดังกล่าวมีแผงวงจร VC front (รูปด้านขวา) อยู่ข้างใน ถ้าสังเกตสายไฟขั้ว + ออกจากแบตแล้วเค้าก็จะเลี้ยวตรงไปเข้าแผงนี้ก่อนเลย หลังจากแผงนี้ถึงจะมีสายวิ่งออกไปต่อซึ่งมีทั้งที่ไป VC left และ VC right  ดังนั้นอาจจะพูดได้ว่ากล่องนี้/แผงวรจรนี้ก็ทำตัวเปรียบเสมือนเป็น fuse box ในรถทั่ว ๆ ไป เพียงแต่อันนี้เค้าไม่ให้ user เข้าไปยุ่งอะไร ข้อดีก็คือสะดวกสบายดี เค้าตัดไฟให้ถ้าไฟเกิน คืนไฟมาให้เมื่อถึงเวลาหรือทดสอบแล้วว่าผ่าน ไม่ต้องไปเปลี่ยนฟิวส์ ไม่ลำบาก มีข้อความขึ้นเตือนถ้ามีปัญหา ข้อเสียคือ เวลาแผงมันเจ๊ง ค่าซ่อมเปลี่ยนแผงทีก็หลายตังค์อยู่ (ได้ยินว่าประมาณ $1400)

คุณ Phil Sodow เค้าก็คงโดนคนถามเยอะแยะว่าจะ tap ไฟ 12V ได้จากตรงไหนบ้าง พวกฝรั่งนี่เค้าก็ mod (modify) -พี่ไทยเรียก โม  เค้าก็ม็อดกันเยอะแยะ อย่างบ้า ๆ เราก้อเห็นติดตั้ง air suspension ใส่ปืนกลใน frunk ก็ยังเห็น  ติดเครื่องเสียงแหลกไฟมหาศาลก็มี  คุณ Phil เค้าเคยแนะนำวิธี tap ไฟ 12V แบบ switched 12V ภายในห้องผู้โดยสารไว้ 2 clips (clip แรกคลิ๊กนี่  clip ที่ 2 คลิ๊กที่นี่) แต่บังเอิญว่าคลิปมันเก่าตั้ง 3 ปีแล้ว ของเค้าเป็นพวงมาลัยซ้ายและน่าจะเป็น Model 3 ยุคแรก ๆ แถว ๆ 2018 แล้ว Tesla เค้าก็ปรับปรุงไปเรื่อย ๆ ทุกปี มาถึงปีรถเรา 2021 มันก็หาไอ้สิ่งที่เค้าเคยแนะนำไม่เจอซะแล้ว มันไม่มีให้ tap

ในเมื่อสิ่งที่คุณ Phil แนะนำมันไม่มีในรถเรา จุดที่เราคิดว่าจะ tap switched 12V ได้อย่างถูกกฎหมายที่สุดก็น่าจะเป็นตรงที่เสียบจุดบุหรี่นั่นแหละ เพราะจุดนี้ tesla ยอมให้ผู้ใช้งานเสียบนู่นนี่ และน่าจะยอมปล่อยกระแสไฟตรง 12V มาได้ไม่ต่ำกว่า 10A เราก็คิดว่าเราจะ tap จากตรงนี้ ก็พยาย๊าม พยายามหาสายไฟที่จะวิ่งไปตรงกลางคอนโซลจากด้านหน้า ปรากฎเธอก็ซ่อนไว้ได้มิดชิดมาก มีการห่อ tesa tape พันเหนียวแน่น หลบซ่อน จนเราไม่มีปัญญาหาเจอ ในเมื่อหาตรงต้นตอไม่เจอ สุดท้ายเราก็จำใจต้องรื้อ center console ด้านบน (ไม่ต้องรื้อทั้งหมด แค่พอให้เกี่ยวสายไฟที่มายังที่เต้าเสียบที่จุดบุหรี่ได้) ซึ่งวิดิโอเกี่ยวกับการรื้อ center console เพื่อ tap สายไฟตรงนี้มีให้ดูหลายอัน การรื้อก็ไม่ยากจนเกินไป แค่มีสกรูหลายตัวแค่นั้นเองแล้วก็ระมัดระวังหน่อย (ถ้ารื้อประตู 4 บานได้  ฮะ ๆ อินิมันของกล้วย ๆ เลยนะฮ๊าบ เหงื่อตกเล็ก ๆ ไม่มาก ไม่มาก) 

แล้วจะเอา switched 12V ไปทำไม ในเมื่อตอนต้นบล็อกบอก Hansshow auto present door handle ขอ permanent 12V DC power เราลืมเล่าไปว่าในรถเรายังมีอุปกรณ์ Air Wick essential mist diffuser อันนึงซึ่งตกทอดมาจากรถเก่า (สโนว์ - Mercedes C350e) อุปกรณ์นี้จริงๆ แล้วเค้าใช้ไฟจาก AA battery 3 ก้อนหรือ 4.5V แต่เราก็ไปดัดแปลงใช้ไฟตรง DC จ่ายเข้าอุปกรณ์ ซึ่งเดิมเราเคยเสียบสายเอาไฟตรงออกจาก USB type A ซึ่งจ่ายไฟ 5V ในรถสโนว์  บังเอิญว่าเต้าเสียบ USB ในรถ tesla มันเจือกเป็น USB-C ทั้งหมด แล้วก็ USB-C นี่เค้ามีความซับซ้อนมาก ไม่ได้จ่ายไฟออกมาเป๊ะ ๆ 5V ตรงไปตรงมาเหมือน USB-A เค้าจะต้องมีการเจรจาระหว่างอุปกรณ์ที่มาขอต่อกับต้นทาง ถ้าคุยถูกคอกันเค้าถึงจะจ่ายไฟ และสามารถจ่ายไฟได้หลาย voltages ได้หลาย amps เป็นความมหัศจรรย์น่าทึ่งของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทำให้อุปกรณ์ Air Wick ของเรา ซึ่งไม่สามารถต่อรองค่าไฟอะไรได้ ก็เลยไม่สามารถรับไฟอะไรจากเต้า USB C ของรถ tesla ได้ จำเป็นที่เราจะต้องหาไฟ 4.5V ให้เค้า ไม่งั้นก็ต้องมานั่งเปลี่ยนถ่าน AA 3 ก้อนอยู่เรื่อย ๆ ไอ้เรื่องเปลี่ยนถ่านก็เรื่องนึง แต่เรื่องความเปลืองก็อีกเรื่องนึง ถ้าเราใช้ถ่าน AA เราก็ต้องนั่งปิดเปิดเครื่องทุกครั้งเวลาขึ้นรถลงรถ สมัยก่อนมันรับไฟแบบ switched ตามรถอยู่แล้ว เราไม่ต้องปิด ไม่ต้องเปิด มันทำเองตามสภาพรถ active/inactive น้ำหอมขวดนึงอยู่ได้เกือบปี พอมาเป็น Tesla ก็เลยต้องเดือดร้อนหาไฟ 4.5 จ่าย วิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ คือเสียบ Cigarrett plug to USB-A ให้เค้า แต่ใครอยากจะมาเสียบปลั๊กนั่นตลอดเวลา เต้าเสียบมันอยู่ใน console ปิดฝา ฝาก็ทับสายไฟตลอดเวลา แถมเวลาจะต้องเสียบเต้าใช้ไฟ 12V สูบลมทีก็ต้องถอดเข้าถอดออก สุดท้ายก็ต้องหาทาง tap switched 12V (เราเอาไป buck down to 4.5V ทีหลังได้) ให้อยู่ดีนั่นแหละ

   
อุปกรณ์สำหรับ air freshener ในรถเรา AirWick essential mist ใช้มาตั้งแต่รถคันเก่า ซื้อมานานแระ ตอนนี้เค้าก็มีรุ่นใหม่ออกมาเรียบร้อย ถ้าใช้แบบที่เค้าอยากให้ใช้ก็คือใส่แบต AA 3 ก้อน เค้ามีสวิทซ์เลื่อนเปิด เปลี่ยนระดับได้ 3 ระดับ low - medium -high ปกติถ้าเปิดเครื่องแล้ว เค้าจะทำงาน 8 hr นอน 16 hr ความถี่ในการระเหยน้ำหอมออกมาก็ตามในรูป (ที่ 3) ปกติเราใช้ low ก็คือ ทุก 17 นาที ของเค้าโฆษณาว่าถ้าใช้ตามเค้าบอก น้ำหอมขวดนึงใช้ได้ 45 วัน แต่ของเราพอต่อกับไฟ switched (12V -> 4.5V) ซึ่งเค้าจะมีโอกาสได้ทำงานเฉพาะตอนรถตื่นเท่านั้น ปรากฎน้ำหอมขวดนึงอยู่ได้เกือบปี

ยังมีอีก เรื่องซนไม่จบ ตรงกระจกช่องสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ด้านหลัง รถเรามีสติ๊กเกอร์รูปหมาโบลต์แปะอยู่ เนื่องจากรถคันนี้ชื่อโบลต์ บังเอิญว่าฟิล์มกระจกมันดำมาก มันทำให้สติ๊กเกอร์นี้ถ้าแปะด้านใน ด้านนอกก็จะมองไม่เห็น ครั้นจะไปแปะด้านนอก ก็ดูสะเหร่ออย่างบอกไม่ถูก เพราะมันจะเห็นชัดเกินไป สุดท้ายเราก็ไปประดิษฐ์ไฟ LED เป็น backlight ให้สติ๊กเกอร์หมาน้อยเราขึ้นมาโดยดัดแปลงจากวงจรที่ detect การสั่นสะเทือน กล่าวคือ ถ้ารถขยับ หรือมีคนเคาะกระจก หรือใครปิดประตู (หลัง) กระแทก ไฟจะติด และจะติดเป็นเวลาประมาณ 2 นาทีครึ่ง ซึ่งไฟ backlight ดังกล่าวก็ใช้งานมาเป็นเวลากว่า 3-4 เดือนแล้ว โดยใช้พลังงานจากแบต 12V ที่เราผลิตเอง (มี 3 version เลย) แต่ละก้อน จะอยู่ได้ประมาณ 1 เดือน - 1.5 เดือน ขึ้นอยู่กับก้อนไหน) ก็รำคาญไหมอ่า ต้องเปลี่ยนแบตอยู่เรื่อย ก็ว่าจะให้เค้าใช้ไฟ 12V จากระบบนี่แหละ คิดว่าจ่ายเป็น switched 12V ก็ดี หลับไปแล้วหมาโบลต์ไม่ต้องมีไฟติดหรอก คงไม่มีใครมาเคาะปลุกหนู

 
รูปน้องหมาโบลต์ เอามาแปะไว้เพราะมันน่ารักดี โดยเฉพาะตอนมันกำลังวิ่ง เนื่องจากรถคันนี้ชื่อ Bolt ก็ต้องมีอัตลักษณ์ติดรถ บังเอิญว่ารูปมันแปะไว้ด้านในกระจก (แปะไว้ด้านนอกคงทนแดด ทนฝนไม่ได้ และมันเห็นชัดเกินไป) ฟิล์มกระจกก็ดำมากมองไม่เห็นถ้าไม่มี backlight เราก็เลยไปประดิษฐ์ไฟ LED backlight มาไว้ส่องด้านหลังเค้า ถ้าไฟติดก็เห็น ไม่ติด ก็มองไม่เห็น เรียบร้อย ไม่มีอะไรสะดุดตา 

สรุปว่าเราก็ไป tap switched 12V มาจากสายไฟตรงหลังที่จุดบุหรี่นั่นแหละ น่าประหลาดตรงที่สายไฟเป็นสีฟ้ากับสีน้ำตาล ปกติสีคู่นี้มักจะเป็นสัญลักษณ์ไฟ AC ของทางยูโรป โดยที่สีฟ้าจะเป็น neutral -N ส่วนสีน้ำตาลจะเป็น Live -L เราก็เดาว่ายังงั้น สีน้ำตาลน่าจะเป็น 12V+ ปรากฎว่าผิดถนัด กลายเป็นตรงกันข้าม สีฟ้ากลายเป็น + สีน้ำตาลกลายเป็น - เราว่างาน tap เราเรียบร้อยกว่าในวิดิโอเจ้าอื่น ๆ (แอบเข้าข้างเตง) แถมเราพันสาย tesa tape คืนไปอย่างสวยงามและเรา tap ไกลจากขั้นตรงตูด socket พอควร เรียกว่าถ้าช่างของ Tesla มาแกะส่วนนี้ออกมา service ถ้าไม่สาวออกมาไกลพอ ก็คงจะไม่รู้ว่ามีการ tap ไฟออกมา ฮี่ ๆ 

 
งานแกะ center console ก็ไม่ยากเย็นจนเกินเหตุ แค่มี screws เยอะแยะเต็มไปหมด ถ้ามี gentle impact driver (ช่างที่บ้านเรียกซากูไรไฟฟ้า) ก็ทุ่นแรงร่นเวลาไปได้เยอะ เราไปเสียเวลาตอนพยายามหาทางสอดสายไฟลงไปด้านล่าง สอดตรง ๆ ไม่ลงนะคับ ต้องสอนไปด้านข้าง ๆ ด้านใดด้านนึง ของเรา เราเลือกมาด้านซ้าย เป็นด้านผู้โดยสาร พื้นที่ทำงานเยอะกว่าไปข้างนู้น หลีกเลี่ยงด้านขวาก็ดี เพราะอีกหน่อยต้องเปลี่ยน air cabin filter มันต้องเข้าทางด้านนั้น

  
สภาพ connector เค้าสามารถแงะเขี้ยวออกมาได้ไม่ยาก ระวังแค่ตัว socket เค้ามีสามรู แต่เขี้ยว contact มีแค่สองอัน เราเลือกถอดทีละอัน ป้องกันไฟช็อต ทำเสร็จอันนึงก็เสียบคืนเข้าไป แล้วค่อยเอาอีกอันนึงออกมา สาเหตุที่ต้องเอาออกมาจาก socket เพียงเพื่อที่จะทำให้สามารถร้อยท่อหดได้ ทดสอบทุกครั้ง จะได้ไม่พลาด ยืนยันว่าสีฟ้าคือขั้วบวก สีน้ำตาลคือขั้วลบ หากระดาษมารองไว้ดี ๆ เกิดหัวแร้งไปละลายเบาะหรือพลาสติกตรงไหนในรถ อาจจะต้องร้องไห้ ช้าไว้ก่อนไม่ต้องรีบ รูปขวามือคือสายหลังจากบัดกรีสายคู่ขนานเรียบร้อย สีแดงเป็นบวก ต่อออกมาจากสายเดิมสีฟ้า สีดำเป็นลบต่อออกมาจากสายเดิมสีน้ำตาล บัดกรียึดแน่น ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ tap สายไฟเลย


 
เสร็จงานแล้วก็พัน tesa tape ให้เรียบร้อย ยัดคืนกลับลงไป ถ้าไม่สาวออกมายาว ๆ ก็จะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีการขโมย tap สายออกมา หลังจากนั้นเราก็ร้อยสายดำ-แดงคู่นี้ไปยัง split connector แอบผูกไว้ตรงเสาแล้วก็แปะป้ายว่าเข้าเป็น switched 12V มี fuse จัดไปเรียบร้อย เผื่อ VC front Tesla ไม่ตัด (fuse เราแหมะไว้ที่ 8A น่าจะตัดก่อนของ Tesla หวังว่า แต่ MOSFET อาจจะตัดไว้กว่า fuse รึเปล่าไม่แน่ใจ)

หลังจาก tap ไฟ switched 12V ออกมาได้สำเร็จโดยที่ Tesla ไม่รู้ (อุ๊บส์ ลืมเอากระดาษปิดกล้อง selfie ในรถ) หรือเรียกว่า tap ออกมาโดยได้รับอนุญาต (เพราะเป็นที่ที่ tesla อนุญาตให้เสียบอุปกรณ์) เราก็ลองจ่ายไฟนี้เข้าระบบ auto present door handle และก็ลองใช้ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ ซึ่งก็ใช้งานได้เกือบจะปกติ ข้อดีคือเวลารถหลับแล้ว ก็ไม่มีไฟจ่ายไปที่กล่อง control ของ Hansshow เด็กน้อยมือซนที่ไหนมากดตรงด้านหน้าของมือจับประตูก็ไม่มีการอ้า ๆ หุบ ๆ ไฟติด (ปกติก็ไม่ค่อยมีเด็กน้อยที่ไหนมาซนอะนะ ที่จอดทั้งที่คอนโดและที่ทำงานอยู่ในลานสายตา รปภ.เกือบตลอดเวลา) แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันไม่เป๊ะ คือความหนืด พอรถหลับไปแล้วระบบ Hansshow เค้าก็ไม่มีไฟเลี้ยง พอเราเองเดินมา เค้าก็ไม่มีการเสนอตัวโดยการอ้าออกมาแน่นอน (เพราะหลับอยู่ ต่อให้มีไฟ 12V จ่ายตลอด ถ้ารถหลับแล้ว เดินมาก็ไม่อ้าเหมือนกัน) แต่ความแตกต่างเล็ก ๆ มันอยู่ที่ตรงนี้ รถน่ะ พอเค้า sense ว่ามีกุญแจ (โทรฯ) มาใกล้ เค้าเร่ิมกระบวนการตื่นแระ แต่เสี้ยววินาทีที่เค้ากำลังเริ่มจ่ายไฟ 12V ออกมาตำแหน่งนี้ เราก็ยังไม่สามารถกดปลายหน้าของมือจับให้เค้าอ้าออกมาให้เราเปิดประตูได้ เค้ายังไม่พร้อม ถ้าอยากจะเปิดประตูวิธีนี้ต้องรออีกอึดใจนึงก่อน ถ้าจะเปิดเลย ก็ต้องเปิดแบบปกติ คือกดด้านหลังเพื่อให้ปลายหน้าอ้าออกมา ซึ่งในแง่ของผู้ใช้ ไอ้การที่จะต้องมานั่งคอยจำเงื่อนไขว่าถ้าโง้นงี้ให้เปิดแบบนี้ ถ้านู้นนี้ให้เปิดแบบนี้ บางทีมันก็ขี้เกียจจะจำ อยากจะเปิดแบบนี้ให้ได้ทุกครั้ง ก็จะเป็นจะต้องทำให้เค้าพร้อมใช้งานเสมอ วิธีทำก็คือปฏิบัติตามที่ผู้ขายของเค้าแนะนำก็คือจ่ายไฟ 12V แบบตลอดเวลาให้ระบบเค้า

ก็คงจะต้อง tap จากแบตเตอรี่ด้านหน้าจริง ๆ ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้แล้วยังไม่ซึ้งว่าทำไมไม่ tap จากตรงนั้น ตรงนี้ในรถเทสล่า ก็กรุณาย้อนกลับไปอ่านข้างบนใหม่อีก 3 จบ แสดงว่ายังไม่เข้าใจว่าคุณกำลังเล่นกับอะไรที่มันล้ำขนาดไม่มีฟิวส์แล้วยังจะแส่หาเรื่องต้องเปลี่ยนอะไหล่สนนราคาจริง $1400 ซึ่งไม่มีในประเทศไทย และถ้าสั่งซื้อเข้ามาจะต้องโดนทั้งค่าส่ง ค่าศุลกากร ราคาเผลอไผลจะกลายเป็น 3 เท่าของราคาที่แจ้งไป ยังไม่นับความยากในการหาช่างที่ชำนาญพอ มีประสบการณ์และรู้ว่าจะต้องเปลี่ยนยังไง

ถ้าคุณเป็นนักเจาะมือฉมัง ก็ลุยได้เลยฮะ มีจุดให้เจาะได้อยู่ 3 จุดดังรูป แต่ละจุดก็ล้วนแล้วแต่มีข้อดีข้อเสีย ความแตกต่างของรถ RHD/LHD ก็ไม่เหมือนกัน เจาะแล้วจะเป็นยังไง จิ้งจก แมงสาบ มด ปลวก หนู น้ำจะซึมเข้ามาในห้องผู้โดยสารไหม อันนี้ก็แล้วแต่พลังการจินตนาการจะพาไป เราเองก็ลังเลอยู่หลายตลบ เตรียมหาตำแหน่ง ลู่ทาง อุปกรณ์ และวิธีจะเจาะไว้พร้อม สุดท้ายเอาเข้าจริง ไม่อยากเจาะ ไม่กล้าเจาะ ไม่อยากมากกว่าไม่กล้า ท้ายที่สุดเราก็เลยหันไปใช้วิธีพับแผ่นทองแดงให้มันแบน ๆ แล้วแนบพับไปกับตัวถังรถออกไปด้านข้างโดยที่เค้าจะถูกยางขอบประตูหนีบไว้แล้วก็เราก็พยายามหาทางให้มันไม่มีวันสัมผัสกับตัวถังรถได้ (ดูรูปและคำบรรยาย)  ถ้าถามว่าเราโปรโมต แนะนำวิธีนี้มากเลยไหม อันนี้ก็แล้วแต่ทุก ๆ ท่านเลยนะ แล้วแต่ความสบายใจของแต่ละคน ไปด้านข้าง ๆ รอบ ๆ มันก็มีจุดน่าวิตกกังวลบางอย่าง แต่เราก็ทำให้สิ่งเหล่านั้นมันมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยที่สุดแล้ว ปราการด่านสุดท้ายก็คือ fuse หรือ resettable circuit breaker ที่ขวางเอาไว้ระหว่างสายนี้กับแบต อันนั้นคือที่พึ่งอันสุดท้าย


สำหรับนักเจาะ ใครที่ตัดสินใจแน่แน่วว่าจะเจาะ มีตำแหน่งให้เจาะได้อย่างน้อย 3 จุด คือที่วงกลมสีแดง ไว้และวงกลมไข่ปลาสีน้ำเงิน ถ้าเอาง่ายสุด ก็คงจะเป็นที่วงกลมไข่ปลาสีน้ำเงิน เพราะเค้าอยู่ต่ำสุด อันนี้คือรูที่ก้านพวงมาลัยมันจะยื่นออกไปที่ห้องเครื่องที่ไม่ได้ใช้งาน พอดีในรูปเป็นรถ LHD (Left Hand Drive) ดังนั้นสำหรับรถในประเทศไทย (RHD) รูดังกล่าวก็จะอยู่ด้านซ้ายมือ ตรงที่ผู้โดยสารนั่ง หาไม่ยาก ก้มลงไปมองใต้ glove box ก็จะเห็นยาง/โฟมสีดำ ๆ อยู่ (ดูรูปล่าง วงสีส้ม) คุณสามารถเอาสว่าน หรือ เหล็กแหลม ๆ เจาะจากข้างในออกไปข้างนอกได้เลย ถ้าจะรอบคอบหน่อยก็ให้ใครคอยดูข้างนอกไว้ แต่มันไม่มีอะไรขวางอยู่ด้านนอกชัด ๆ  ข้อเสียคือตรงตำแหน่งนี้อยู่ต่ำกว่าสองจุดบน และยาง/โฟมค่อนข้างหนาทั้งด้านในและด้านนอก ถ้าไม่ซีลให้ดี ๆ เอารถแช่น้ำอาจจะมีน้ำรั่วซึมเข้ามา และอาจจะเห็นสายไฟโผล่ด้านใน ก็ต้องปัดหลบกันดี ๆ หน่อย  รูที่วงกลมไว้สีแดงข้างบนทั้งสองรู ซ้าย-ขวา เป็นรูที่ทางเทสล่าใช้ร้อยสายไฟอยู่เดิม แต่ที่มาจากโรงงานเค้าจะรวบไว้เป็นมัดเดียวกันใหญ่ ๆ และพันเทปไว้หนาแน่น ยากที่จะแทรกไปตรงกลางหรือไปกะเค้า ถ้าจะใช้ทางนี้ก็คงต้องเจาะใหม่ด้านข้าง ๆ ไม่ไปยุ่งกับมัดสายไฟของเค้า สำหรับรถ RHD รูด้านขวามือ ด้านคนขับจะค่อนข้างยุ่งเป็นพิเศษ สายไฟเยอะ เวลาดูจากภายในรถ แต่ถ้าจะเจาะจากข้างนอกเข้ามาก็อาจจะทำได้ง่ายกว่าถ้าเอาฝาปิดช่องอากาศเข้า (ระบบแอร์) ปล่องช่องอากาศเข้าออก หาคนคอยดูภายในว่าเหล็กหรือดอกสว่านไม่ได้ไปจิ้มโดนสายไฟอะไรข้างใน  ส่วนด้านซ้ายมือ ด้าน passenger side ด้านนอกจะมีหม้อ windshiled wiper fluid บังทำให้การเจาะจากด้านนอกยากกว่า ถ้าจะใช้รูนี้ คงต้องเจาะจากด้านในออกไปซึ่งสายไฟดูไม่ยุ่งเท่าฝั่งคนขับ แต่คงไม่มีพื้นที่ให้สว่านเข้า หรือถ้าจะใช้สว่านก็คงต้องติด right angle adapter ตอนแรกเราก็ว่าจะไปรูนี้ จะใช้เหล็กแหลม ๆ ทะลวงแผ่นยางออกไป พอถึงเวลาจะลงมือจริง ก็ทำไม่ลง มีความรู้สึกไม่อยากเจาะอะไรเท่าไหร่ สุดท้ายก็ไปใช้วิธีแผ่นทองแดงโอบขอบดังที่จะกล่าวต่อไป
 
อันนี้ภาพแสดงรูสอดก้านพวงมาลัยที่ไม่ได้ใช้ของรถ RHD ซึ่งตำแหน่งนี้ ก้มลงไปมองก็เห็น ไม่ต้องแกะ panel อะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าเจาะตรงนี้จริง ก็คงต้องหลบสายไฟดี ๆ อย่าให้โผล่แพรมออกมา แต่ก็จะทำงานได้สะดวกสบายที่สุด  รูปขวามือเป็นรูเดียวกันมองจากด้านนอก สามารถเห็นได้โดยไม่ต้องถอด underhood storage unit (frunk basin) ออก ต้องส่องไฟดี ๆ มันอยู่ด้านล่างลงไป  ถ้าเจาะจากด้านในออกมาแล้วสอดลวด/fishing tape ออกมา ก็น่าจะคีบจากด้านนอกขึ้นมาต่อแบตได้สบาย ๆ 

 
อันนี้เป็นรูที่เราเดิมเคยเล็งไว้ว่าจะเจาะ เป็นรูปกติที่ทางซ้ายมือที่เทสล่าใช้สำหรับร้อยสายไฟจากห้องเครื่องเข้ามาในห้องผู้โดยสารอยู่แล้ว ในรูปวาดจะเห็น VC-left อยู่ด้านข้าง รูปขวาถ่ายจากของจริง ซึ่งสามารถเอื้อมถึงได้ง่ายหลังจากถอด panel trim ใต้กล่อง glovebox ออก เราก็เตรียมเหล็กแหลม ๆ ไว้ว่าจะจิ้มด้านข้างๆ รูตรงกลางที่เค้า bundle สายไฟเป็นกำไว้ แต่พอถึงเวลาก็ใจเสาะ ไม่อยากจิ้ม แล้วก็เลยไปใช้วิธีโอบแผ่นทองแดงข้ามขอบประตูรถแทน

 
กระบวนการโอบสายไฟไปตามขอบประตูใต้ยางซีล เริ่มโดยการตัดแผ่นทองแดง เราเลือกแผ่นทองแดงหนา 0.3 มม. ซึ่งหนากำลังพอดี (ถ้าบางกว่านี้ก็ต้องกว้างกว่านี้ หนากว่านี้ก็จะพับยาก) คำนวนพื้นที่ให้ได้ตามขนาดสายไฟที่ใช้ งานนี้เราเลือกสายไฟขนาด 12AWG ซึ่งมีพื้นที่ผิว 3.3 mm2 ผ่านกระแสไฟได้สูงสุด 25A สำหรับสายไฟยาวไม่เกิน 6 เมตร ดังนั้นถ้าเราตัดทองแดงหนา 0.3 mm ก็ต้องตัดกว้าง 11 มม. เพื่อให้พื้นที่ทองแดงเท่าสายไฟ เราก็ตัดความยาวแผ่นทองแดงเท่าที่มันจะโอบรอบตัวถังรถได้ บัดกรีส่วนปลายทั้งสองด้านเข้ากับสายซิลิโคน 12AWG  หลังจากนั้นก็ห่อด้วย Kapton tape เพื่อกันความร้อน ก่อนเอาไปหุ้มด้วยท่อหด

 
ตรงรอยเชื่อมบัดกรีทั้งสองด้านเราหยอดด้วยกาวซิลิโคน Kafuter K-705 สีขาว เราชอบกาวซิลิโคนยี่ห้อนี้เพราะมันใช้เวลา set ตัวกำลังพอเหมาะ ไม่เร็วไปไม่นานไป  (เฉพาะสีขาวกะสีดำ แบบใสนี่เซ็ทนานมาก ข้ามวัน) ข้อดีของกาวแบบนี้คือไม่เคยแห้งคาหลอด ขนาดฝาแตกหมุนได้ไม่แน่น กาวเค้าก็ไม่แห้งคาหลอดเหมือนยี่ห้ออื่น ๆ ก่อนกาวจะเซ็ทตัว ก็รีบเอาท่อหดสวม กาวมันจะได้ยึดแนบแน่นติดทั้งผิวนอกของสายไฟและผิวในของท่อหด

 
ภูมิใจในผลงาน แค่กาว Kafuter เราก็ว่ามันน่าจะซีลได้ค่อนข้างสนิทแล้ว เพราะกาวยังไม่ทันเซ็ทตัวดี เราก็เป่าท่อหดมันแนบแน่นกาวมันได้สัมผัสทั้งผิวนอกสายไฟและผิวในท่อหด แต่กระนั้นก็ยังไม่วางใจ อุตส่าห์ไปจัดท่อหดใสแบบมีกาวหุ้มด้านนอกอีกทอดนึง งานนี้ถ้าไม่ซีลก็ไม่รู้จะว่าไงแระ

 
ดูผลงานทั้งสองด้านของสายแบน เปรียบเสมือนนึงว่าสายไฟมันวิ่งมาแล้วมันก็แบนลงเฉย ๆ ซะงั้น ด้านในของท่อหดมี Kapton tape ห่อไว้อีกชั้นเป็นฉนวนความร้อนกันท่อหดละลาย ส่วนฉนวนซิลิโคนนี่น่าจะทนได้หลายร้อยองศา

 ]
แล้วเราก็พับสายแบนโอบรอบตัวถังใต้ต่อ rubber seal อันยักษ์ โดยที่เราแอบแปะเทปพันสายไฟสีขาวไว้บนตัวถังอีกชั้นนึง (มองไม่เห็น rubber seal ทับ) เพื่อความมั่นใจว่าสายแบนทองแดงเราจะไม่แอบแตะตัวถัง (ซึ่งเป็นขั้วลบ) ได้ง่าย ๆ จริง ๆ เคลือบสีของตัวถังมันก็หนาพออยู่แหละ อีกอย่างไอ้เจ้า rubber seal รอบประตูนี่มันก็หนามาก โอกาสจะถูกงับ กด เบียดไปบนแผ่นทองแดงโดยตรงก็ค่อนข้างน้อยมาก ส่วนด้านนอกขอบยางออกมาเรามีเทป 3M VHB สองหน้าแปะไว้อีกที ใช้ประโยชน์ทั้งเป็นตัวยึดแผ่นทองแดงติดตัวถังกับเป็นฉนวนอีกชั้นกันสัมผัสตัวถัง สายไฟแอบมุดเข้ารู (เบ้อเริ่มเลย) ของช่อง fender ตัวถังหน้าแล้วขึ้นไปยังห้องเครื่อง  ภาพขวา ถ่ายจากมุมบนให้เห็นว่าสายมันแนบไปกับตัวถัง และเข้ารูไปอย่างไร

  
รูปเดิม ๆ ถ่ายแล้วถ่ายอีก หลายมุม หลายระยะซูม ด้วยความภูมิใจในผลงาน เวลาปิดประตูก็ไม่มีการงับสาย เพราะแผ่นทองแดงมันอยู่ใต้ rubber seal ปลอดภัยหายห่วง

 
สายไฟสีแดงที่ขึ้นมาโดนเราเอา tesa tape พันไว้มิดชิดแล้วก็เดินมาตามทางที่ไม่ไปเกะกะใครแล้วก็มุดไปด้านหน้าของแบตเพื่อปีนขึ้นมาหาขั้วบวกของแบตเตอรี่

 
สุดท้ายสายก็ปีนขึ้นมาหา resettable DC breaker ของเรา (จัดไป 30A -แบบว่าสั่งแบบ 20A ไป แต่ได้แบบ 30A มาแทน) ข้อดีของเบรกเกอร์แบบนี้คือมันรีเซ็ทได้ หรือเราสามารถเปิดปิดตัดไฟจ่ายเข้าไปใน cabin ได้ง่าย   รูปขวามือเป็นผลงานประกอบแบต 12V ของเรา อันนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว มีช่วงนึงฝันไปนึกว่าตัวเองเป็นช่างประกอบแบต แบตดำก้อนใหญ่มี 2 อัน อันนึงประกอบจาก LiFe 25650 (16P 4S) อันนี้กะจะเอามาใส่แทนแบตกรด-ตะกั่วในรถเทสล่า แต่ยังไม่กล้าพอ แล้วตอนนี้รอดูปัญหาระหว่าง Ohmmu battery กับ Tesla  ส่วนลูกใหญ่สีดำอีกลูกนี่ข้างในเป็น Headway 32180 LiFe (4P 4S) ที่คุยว่าปล่อยได้ 200A อันนี้กะจะเอาไว้เผื่อต้องชาร์จรถ ICE หรือเอาไว้ยิงเชื่อมนิกเกิล มันเปรี้ยงแรงดี ค่า CCA สูงจัด  ส่วนลูกเล็ก ๆ 3 ลูกข้างหน้านี่มีหลายขนาด หลายแบบ ก้อนเล็กสุดจะเป็น 2P 3S 18650 Panasonic NCR   ก้อนกลางที่ใหญ่ ๆ หน่อยนี่เป็น 1P4S LiFe 3270 ส่วนก้อนขวามือแบน ๆ นี่เด็ดสุด ข้างในเป็น 3P 3S Tesla battery 2170 เป็นเซลชนิดเดียวกับรถ เราซื้อ salvaged cells มาจาก https://www.batteryhookup.com ราคาก้อนละ 1.xx USD ถูกมาก ใช้งานได้ดี (ของแท้จะมีขีดสามขีดที่ขั้วลบ) อันนี้จ่ายไฟได้แรงสุดในบรรดาก้อนเล็กสามก้อน แต่ก็ยังสู้แบต headway ไม่ได้

สรุปว่าตอนนี้น้องโบลต์เรามีแหล่งจ่ายไฟภายในรถ ซ่อนไว้ภายใน lower A-pillar trim panel ฝั่งด้านผู้โดยสาร และซ่อนไว้หลัง center console trim panel (ด้านผู้โดยสารอีกเช่นกัน เราจะไม่พยายามไปยุ่งกับอะไรกับฝั่งด้านคนขับ - เด้วตอนเปลี่ยน HEPA filter ต้องไปแกะด้านโน้น)  อีกจุดนึงที่เราร้อยสายไฟเดินไปคือกระโปรงหลัง ก็มีอีกจุดนึงสำหรับจ่ายไฟ 12V ได้ทั้งไฟแบบ switched และ continuous ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ระบบไฟ LED (vibration sensor triggered) สำหรับไฟ backlight หมาโบลท์เค้าเชื่อมต่ออยู่ 

หมดแล้วฮะ รถคันนี้ รื้อโน้นนี้ จนเกือบจะทะลุปรุโปร่ง แต่ยังไม่กล้าเจาะเค้าอยู่ดี ไปอ้อม ๆ ละกัน  ถึงเวลาไม่อยากเอาก็ดึงออกให้หมดทีเดียว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแก้กลับไม่ได้ ภูมิใจในผลงาน

อยากจะหยอดท้ายว่าตรงช่องที่สายไฟเดินจากภายในห้องโดยสาร เข้าไปหาประตู มันน่าสงสัยว่ามีรูเล็ก รูน้อยจะพอสอดสายไปยังห้องเครื่องผ่านทางนี้ได้ไหม แต่เราจะตอบไม่ได้จนกว่าเราจะสอยเอา flexible tip borescope มาลองส่องดู ไว้ยังไงจะมา update ให้ทีหลังนะคับ ถ้าไปทางนี้ได้ก็ไม่ต้องพับทองแดงอ้อมขอบรถไป
 


Create Date : 29 พฤษภาคม 2565
Last Update : 15 มิถุนายน 2565 8:30:02 น. 0 comments
Counter : 1091 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

gollygui
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]






space
space
[Add gollygui's blog to your web]
space
space
space
space
space