ความวิปโยคสุดพรรณนาและความยิ่งใหญ่คือชาตากรรมแห่งความรักของฉันที่มีต่อเธอ Unsagbares Leid und Größe ist das Schicksal meiner Liebe für dich. Untoldly sorrowful and great is the destiny of my love for you.
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2548
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
22 ตุลาคม 2548
 
All Blogs
 
ยอดรักอมตะ

ยอดรักอมตะ ของ ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

เบื้องหลัง
มีการค้นพบเอกสารที่สำคัญมาก ในโต๊ะของเบโธเฟน ภายหลังมรณกรรมของเขาไม่นานนักในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๘๒๗ ในจำนวนเอกสารที่ค้นพบนั้น มีคำสั่งเสียหรือพินัยกรรมไฮลิเกนชตัดท์และจดหมายรักฉบับหนึ่ง สำหรับพินัยกรรมไฮลิเกนชตัดท์นั้น เขียนขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๐๒ ในเมืองไฮลิเกนชตัดท์ ชานกรุงเวียนนาแต่เดี๋ยวนี้เป็นส่วนหนึ่งของกรุงเวียนนาไปแล้ว เบโธเฟนอาศัยอยู่ที่นั่นหลายช่วงรวมทั้งในช่วงปลายของชีวิตด้วย สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความยุ่งเหยิง ที่เบโธเฟนต้องเผชิญอยู่ระหว่างการเริ่มหูหนวก จดหมายที่เรียกกันว่า “ยอดรักอมตะ” นั้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการระเบิดอารมณ์ ความโมโหโทโส และความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ของเบโธเฟน แม้กระทั่งกับคนแปลกหน้า ตั้งแต่พบจดหมายนั้นเป็นต้นมา ก็ทำให้คนจำนวนมากสนใจใคร่รู้ว่าใครเป็น “ยอดรักอมตะ” ของเบโธเฟนในวงกว้าง และมีการสืบหา “ยอดรักอมตะ” กันอย่างถึงพริกถึงขิง เพราะไม่ปรากฏปีที่เขียนจดหมาย สถานที่ที่เกี่ยวข้อง และรายชื่อว่าจดหมายน่าจักเขียนถึงใคร ถึงแม้ว่าโชคดีที่เบโธเฟนเขียนวันที่กำกับอยู่ในจดหมายด้วยก็ตาม (ดังจักกล่าวต่อไป)
ต่อไปนี้ ขอนำเสนอจดหมายของเบโธเฟนที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว (จากต้นฉบับของโซโลโมน) ตลอดจนความเป็นมาของการสืบหา “ยอดรักอมตะ” ของเบโธเฟน โซโลโมน แก้ปมพิศวงนี้ออกมา และปัจจุบันนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันส่วนใหญ่ว่าถูกต้อง เป็นประวัติชีวิตช่วงหนึ่งของเบโธเฟน และสุดท้ายจักมีความเคลื่อนไหวของเบโธเฟนระหว่างฤดูร้อนของปี ค.ศ. ๑๘๑๒ ประกอบด้วย อนึ่งในการแปลจดหมายเป็นภาษาไทย ผู้แปลพยายามรักษาสำนวนและวิธีการเขียนในภาษาเดิมเอาไว้ ความสละสลวยในภาษาไทยจึงอาจสะดุดอยู่บ้าง จึงเรียนมาเพื่อทราบ

จดหมายฉบับแรก
เช้า ๖ กรกฎาคม
นางฟ้าของฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างของฉัน เพียงไม่กี่ถ้อยคำวันนี้และด้วยกับปากกา(ด้วยกับเธอ) –ห้องพักของฉันไม่เสร็จเรียบร้อยจนกว่าจักถึงพรุ่งนี้ – ผลาญเวลาเปล่าประโยชน์ – ทำไมความเศร้าเร้นลึกเช่นนี้เมื่อจำเป็นต้องพูด – ความรักของเราจักยั่งยืนต่อไปได้หรือไม่ ยกเว้นโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยความไม่ประสงค์ทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งกันและกัน เธอเปลี่ยนความจริงที่ว่าเธอไม่ใช่ของฉันทั้งหมด ฉันไม่ใช่ของเธอทั้งหมดได้หรือไม่ – โอ พระองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ ทรงทอดพระเนตรความงามพิลาศแห่งธรรมชาติ และปลอบประโลมดวงใจของเธอด้วยสิ่งซึ่งต้องเป็นด้วยเถิด – ความรักต้องการทุกสิ่งทุกอย่าง และนั่นมันก็ยุติธรรมยิ่งนักแล้ว – ดังนี้มันจึงต้องเป็นฉันด้วยกับเธอ และความรักของเธอด้วยกับฉัน แต่เธอก็ลืมเหลือเกินว่าฉันต้องมีชีวิตอยู่เพื่อฉันและเพื่อเธอ หากเพียงแต่ว่าเราเป็นหนึ่งในเนื้อเดียวกันแล้ว เธอจักรู้สึกเจ็บปวดร้าวรานในความรักน้อยเท่าน้อยเท่ากับที่ฉันรู้สึก – การเดินทางของฉันน่ากลัว ฉันเดินทางมาถึงที่นี่เมื่อ ๔ นาฬิกา เมื่อเช้าวันวานนี้แล้ว เพราะมีม้าเทียมรถไม่พอ จึงต้องใช้เส้นทางสายอื่น แต่มันช่างน่าสยองอะไรปานนั้น ก่อนช่วงสุดท้ายของการออกเดินทาง มีคนเตือนฉันแล้วว่าอย่าเดินทางตอนกลางคืน เพราะป่ามันน่ากลัว แต่นั่นก็หาได้ทำให้ฉันระย่อไม่ กลับทำให้ฉันกระหายอยากออกเดินทางมากขึ้น – และฉันเองผิด รถม้าต้องพังลงกลางคันอย่างแน่นอนบนเส้นทางร้ายสายนั้น ถนนหล่มโคลนตมลึกเป็นแอ่งไร้ก้น ถ้าไม่มีม้าเทียมรถตัวซ้ายดังที่ฉันมีเสียแล้ว ฉันควรจักยังติดอยู่บนถนนนั่นเสียแล้ว เจ้าชายเอซแตร์ฮาทสือ ซึ่งเดินทางมายังที่นี่โดยถนนสายปกติ ก็ยังประสบชะตากรรมอย่างเดียวกับฉัน ด้วยม้าเทียมรถแปดตัว แต่ฉันมีเพียงสี่ – กระนั้นก็ตามฉันก็ยังเบิกบานใจดีพออยู่ เหมือนเช่นที่ฉันเป็นเสมอเมื่อผ่านความยุ่งยากไปได้สำเร็จ – ตอนนี้มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลันจากสิ่งภายนอกไปสู่สิ่งภายใน เราควรจักได้พบกันในไม่ช้านี้แน่นอน ยิ่งกว่านั้น วันนี้ ฉันแบ่งปันความคิดคำนึงที่มีมากับเธอไม่ได้ ซึ่งฉันมีมาในห้วงสองสามวันนี้อย่างเข้าถึงขั้วแห่งชีวิตของฉันเอง – หากว่าดวงใจของเราอยู่ใกล้กันเสมอแล้ว ฉันก็ไม่มีความรู้สึกเช่นนั้นไปได้ ในหัวใจของฉันมีสิ่งต่างๆมากมายที่อยากบอกให้เธอรู้ – อาห์ –มีโอกาสหลายครั้ง เมื่อฉันสัมผัสได้ถึงถ้อยวจีที่สรุปรวมแล้วไร้สาระทั้งเพ – สนุกสนานเถิด – โปรดยังเป็นความจริงของฉัน เป็นสมบัติเพียงสิ่งเดียวของฉัน เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของฉัน ดังที่ฉันเป็นต่อเธอ ทวยเทพทั้งหลายจักต้องบัญชาให้เราสงบสุข สิ่งที่ต้องเป็นมาสำหรับเราและจักเป็น –
ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น ลุดวิก

จดหมายฉบับที่สอง
เช้าวันจันทร์ที่ ๖ กรกฎาคม
เธอกำลังระทมทุกข์ ยอดพธูของฉัน – เพียงเพราะว่าตอนนี้ฉันรู้มาว่าต้องส่งจดหมายทุกตอนเช้าตรู่วันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี – ซึ่งในวันดังกล่าวเท่านั้นที่รถไปรษณีย์ออกเดินทางจากที่นี่ไปยัง K.(คา ตัวอักษรภาษาเยอรมัน) – เธอกำลังระทมทุกข์ - อาห์ ไม่ว่าฉันอยู่ที่ใดก็ตาม เธอก็อยู่ที่นั้นด้วย – เธอจักจัดแจงกับเราว่าฉันและเธอใช้ชีวิตร่วมกันได้ มันน่าจักเป็นชีวิตที่รื่นรมย์เพียงใดหนอ!!! ด้วยเหตุดังนี้ หากปราศจากซึ่งเธอเสียแล้ว –และตามมาด้วยความดีงามแห่งมนุษยชาติ– ซึ่งฉันต้องการว่าฉันควรจักได้น้อยเท่าน้อยที่มันสาสมแล้วเช่นดังที่ได้รับตอบกลับมา – ความต่ำต้อยของคนที่มีต่อคนด้วยกัน – มันทำให้ฉันเจ็บปวดร้าวราน – และเมื่อฉันใคร่ครวญตัวเองในความสัมพันธ์ที่มีต่อจักรวาล ฉันเป็นอะไรและพระผู้เป็นเจ้าทรงเป็นอะไร – ทรงเป็นผู้ซึ่งเราเรียกว่ายิ่งใหญ่ที่สุด – และกระนั้นก็ตาม – ในนี้ยังมีคำพยากรณ์ในมนุษย์ –ฉันบีบน้ำตาเมื่อฉันสะท้อนให้เห็นว่าเธออาจจักไม่ได้รับการรายงานฉบับแรกจากฉันจนกว่าจักถึงวันเสาร์ – มากเท่าที่เธอรักฉัน – ฉันรักเธอยิ่งกว่า – แต่อย่าซ่อนเร้นตัวเธอเองจากฉันเลย –ราตรีสวัสดิ์ – เมื่ออาบน้ำในอ่างเสร็จฉันต้องเข้านอน – โอ พระเจ้า – ขอได้โปรดประทับอยู่ใกล้! ขอได้โปรดประทับอยู่ใกล้! ไม่ใช่ความรักของเราดอกหรือที่เป็นโครงสร้างสวรรค์ที่แท้จริง และยังมั่นคงสูงลิบลิ่วราวกับสรวงสวรรค์อีกด้วย

จดหมายฉบับที่สาม
อรุณสวัสดิ์ วันที่ ๗ กรกฎาคม
ถึงแม้ว่ายังนอนอยู่ในเตียง ความคิดของฉันก็ล่องลอยออกไปหาเธอ ยอดรักอมตะของฉัน บางครั้งก็ปีติร่าเริง บางครั้งก็เศร้าสร้อย ได้แต่รอเพื่อรับรู้ว่าโชคชาตาจักได้ยินเสียงเพรียกร้องของเราหรือไม่ – ฉันมีชีวิตอยู่ได้เพียงเธอเท่านั้น หรือไม่ก็ขอตายดับดิ้นไปเสียดีกว่า – ใช่ซิ ฉันจำยอมออกห่างไกลจากเธอจนกระทั่งฉันโบยบินสู่อ้อมแขนของเธอได้ และบอกเธอว่าฉันอยู่บ้านพร้อมกับเธอ และส่งเลือดเนื้อของฉันเข้าไปในดินแดนแห่งจิตวิญญาณห้อมล้อมเธอ – ใช่สิ ไม่มีความสุขเลย มันต้องเป็นเช่นนั้น – เธอจักสำเหนียกได้ดีเมื่อเธอรู้ซึ้งถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดีที่ฉันมีต่อเธอ ไม่เคยมีใครเลยที่เป็นเจ้าครอบครองหัวใจของฉันได้ – ไม่เคย – ไม่เคย – โอ พระเจ้า ทำไมคนเราจำต้องพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รักด้วยเล่า และกระนั้นก็ตาม ชีวิตของฉันใน W (เว ตัวอักษรภาษาเยอรมัน) ขณะนี้มันเป็นชีวิตของคนเคราะห์ที่หมองหม่นเหลือเกิน – ความรักของเธอทำให้ฉันครั้งหนึ่งเป็นคนที่มีความสุขที่สุด และไม่มีความสุขที่สุด – ฉันอายุปูนนี้แล้ว ก็ย่อมต้องการชีวิตที่สงบและมั่นคง – มันจักเป็นเช่นนั้นได้ไหมในความสัมพันธ์ของเรา? นางฟ้าของฉัน – ฉันรู้แล้วว่ารถไปรษณีย์ออกเดินทางทุกวัน – ดังนั้นฉันจึงต้องจบจดหมายฉบับนี้ทันที เพื่อเธอจักได้รับจดหมายจากฉันทันทีเช่นกัน – นิ่งเสียเถิดยอดรัก โดยการใคร่ครวญคำนึงถึงการดำรงอยู่ของเราอย่างสงบอารมณ์เท่านั้น จึงจักช่วยให้ความปรารถนาของเราสำเร็จได้ดังมโนรถ เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน – นิ่งเสียเถิดนะ - ยอดรักของฉัน – วันนี้ – เมื่อวานนี้ – ความปรารถนาในตัวเธอมันช่างเศร้าเคล้าน้ำตาเสียนี่กระไร – เธอ – เธอ – ยอดชีวิตของฉัน – ทุกสิ่งทุกอย่างของฉัน – ขอให้เป็นสุขเถิด ลาก่อน โอ ขอให้รักฉันต่อไปเถิด – อย่าได้ตัดสินดวงใจมั่นรักและภักดีที่สุดของผู้เป็นที่รักยิ่งของเธอผิดไปเลย
ของเธอตลอดไป
ของฉันตลอดไป
ของเราตลอดไป
(หน้าสุดท้ายของจดหมายฉบับนี้แสดงดังรูป)


การติดตามหายอดรักอมตะของเบโธเฟน
ชินท์ลาร์ (Schindler) ผู้เขียนประวัติของเบโธเฟนเล่มแรก ได้ตีพิมพ์จดหมายของเบโธเฟนในปี ๑๘๔๐ และเห็นว่าขุนนางหญิงกิอูเลททา กูอิชชิอาร์ดิ (Gräfin Giuletta Guicciardi) เป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน เขาเชื่อว่าเบโธเฟนเขียนจดหมายขึ้นในปี ๑๘๐๖ จึงได้ใส่ปีนั้นลงไปในจดหมาย และในปี ๑๘๖๐ ชินท์ลาร์ก็รู้แล้วว่า กูอิชชิอาร์ดิได้แต่งงานเมื่อปี ๑๘๐๓ และเดินทางออกจากกรุงเวียนนา มุ่งหน้าสู่เมืองเนเปิลส์ ดังนั้นเขาจึงแก้วันที่ของจดหมายใหม่เป็นปี ๑๘๐๓ แทน
ส่วนหนังสือชีวประวัติโดย ลุดวิก โนห์ล ในปี ๑๘๖๗ นั้นยอมรับข้อพิสูจน์ของชินท์ลาร์ แต่เห็นว่าปีที่เบโธเฟนเขียนจดหมายน่าจักครอบคลุมระหว่างปี ๑๘๐๐ และ ๑๘๐๖ ยกเว้นปี ๑๘๐๑ ถึงแม้ว่าออกจักไม่สอดคล้องต้องกันก็ตาม

ภาพเหมือนสองภาพของขุนนางหญิง กิอูเลททา กูอิชชิอาร์ดิ
(Gräfin Giuletta Guicciardi) Gräfin = Countess
ชีวประวัติเล่มใหญ่ของเบโธเฟน เขียนโดยธายาร์ในปี ๑๘๗๘ มีความเห็นขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงต่อสิ่งที่ชินท์ลาร์ทึกทักเอาเอง เท่าที่เคารพต่อชีวิตของเบโธเฟน รวมทั้งการพิสูจน์ว่า ใครเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟนอีกด้วย ธายาร์ทราบดีว่าวันจันทร์ที่ ๖ กรกฎาคม นั้นมีเฉพาะในปี ๑๗๙๕, ๑๘๐๑, ๑๘๐๗ และ ๑๘๑๘ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความผิดเพี้ยนในการตัดสิน ที่เขาเสนอว่าเบโธเฟนนั้นมีความผิดพลาดเรื่องวันที่ และเสนออีกว่าจดหมายนั้นเขียนถึง เธเรเซอะ ฟอน บรุนสวิค ในปี ๑๘๐๖ ความมีศีลธรรมแบบวิคตอเรียนของธายาร์นั้น ทำให้เขาปฏิเสธ ไม่เชื่อว่าเบโธเฟนจักไปหลอกลวงผู้หญิงที่แต่งงานแล้วคนหนึ่ง อย่าง กูอิชชิอาร์ดิ หรือที่น่าจักเป็นไปได้อีกคนหนึ่งก็คือ เธเรเซอะ มาลฟาททิ เด็กอายุ ๑๔ ขวบ ได้ลงคอ
ถึงแม้ว่าหลักฐานสำหรับเหตุผลที่ว่า เธเรเซอะ ฟอน บรุนสวิค นั้นเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน ออกจักอ่อนมากจริง หรือมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ตีพิมพ์ในปี ๑๘๙๐ อ้างใจความที่ชวนให้เข้าใจว่า เธเรเซอะ และ เบโธเฟน นั้นหลงกิเลสตัณหากันอย่างดูดดื่ม หรืออ้างว่าแม้กระทั่งแต่งงานกันอย่างลับๆในปี ๑๘๐๖ ก็ตาม แต่ในปี ๑๘๙๐ คาลิชาร์ (Kalischer) พบว่าหนังสือทั้งเล่มนั้นกุเรื่องขึ้นมาทั้งเพ แต่ก็ภายหลังจากที่ธายาร์และจอร์จ โกรฟ แสดงความเห็นออกมาแล้ว
ในที่สุดก็ตัด เธเรเซอะ ฟอน บรุนสวิค ออกไปจากการเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟนในปี ๑๙๐๙ เมื่อมีหลักฐานชัดเจนหนักแน่นว่า เบโธเฟนอยู่ในกรุงเวียนนา และเธออยู่ในเมืองทรานซืลฟานิอา (Transylvania) ในปี ๑๘๐๖ อนุทินประจำจันของเธอเองก็แสดงว่าเธอเชื่อว่า โยเซฟีเนอะ น้องสาวของเธอเองเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน
(หรือจักพูดป้องไปอีกอย่างหนึ่ง: งานเปียโนที่มีชื่อเสียง “เฟือร์ เอลิเซอะ” (Für Elise: สำหรับผู้หญิงชื่อเอลิเซอะ) นั้น แท้ที่จริงแล้วเบโธเฟนประพันธ์สำหรับ เธเรเซอะ เมื่อตอนที่เธอยังเป็นนักเรียนของเบโธเฟน)

เธเรเซอะ ฟอน บรุนสฟิค (Therese von Brunsvik) (ซ้าย) และ โยเซฟีเนอะ ฟอน บรุนสฟิค (Josephine von Brunsvik).ภาพวาดสีน้ำมันภาพนี้อยู่ในความครอบครองของเบโธเฟน คำอุทิศหลังภาพอ่านได้ความว่า “แด่อัจฉริยะที่หาได้ยากยิ่ง ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด บุรุษคนดี จาก T”
ในปี ๑๙๑๑ นิตยสารดนตรี “ดี มูซิค” (Die Musik) ได้ตีพิมพ์จดหมายถึงยอดรักอมตะฉบับหนึ่ง ที่ค้นพบใหม่ๆ เป็นที่ฮือฮากันมาก แต่ในไม่ช้าก็พบว่าเป็นเพียงจดหมายล้อเล่นที่ทำขึ้นมาสนุกๆเท่านั้น
ในปี ๑๙๐๙ และ ๑๙๑๐ มีหนังสือสองเล่ม โดย โธมาส-ซาน-กาลลิ (Thomas-San-Galli) และอีกเล่มหนึ่งโดย มักซ์ อุนการ์ (Max Unger) ได้นำสืบย้อนค้นปมประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับยอดรักอมตะของเบโธเฟน โดยอ้างอิงความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ทั้งหมด ที่เกิดขึ้นตามหลักวิทยาศาสตร์ หนังสือคลี่ปมเวลาออกมาเป็นปีๆ กับทุกๆปีที่น่าจักเป็นไปได้ว่าจดหมายเขียนขึ้นปีใดในช่วงปี ๑๗๙๕ และ ปี ๑๘๑๘ ยกเว้นก็แต่ปี ๑๘๑๒ – และปี ๑๘๑๒ นั้นเป็นปีที่วันที่ ๖ กรกฎาคมตรงกับวันจันทร์ ในที่สุดอย่างน้อยก็ชำระประเด็นของเรื่องปีที่เขียนจดหมายกันได้แล้ว
เกือบแน่นอนเลยว่า เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๑๘๑๒ เบโธเฟน อยู่ในเมืองเทพลิทส์ เขียนจดหมายถึงยอกรักอมตะที่อยู่ในเมืองคาร์ลซบาด (ตัวอักษร K –คา- ในจดหมายนั่นเอง) นั่นแสดงว่าเท่ากับจริงเลยทีเดียว จากเนื้อความของจดหมายว่ายอดรักอมตะอยู่ในกรุงปราก ณ เวลาเดียวกันนั้นกับเบโธเฟน และนั่นหมายความว่าหลังจากนั้นทั้งคู่ต่างก็พบกันอีกทีที่เมืองคาร์ลซบาด
หนังสือชีวประวัติของเบโธเฟน เขียนโดยโซโลโมน ในปี ๑๙๗๗ ในที่สุด แม้จักยังมีข้อกังขาบางประการ แต่ก็ไขความลับดำมืดของยอดรักอมตะออกมา การแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่โซโลโมนยอมรับวิสัยทัศน์ของเขาเองที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ความคิดของบุคคลอื่นๆก็ยังมีเหตุผลน่ารับฟังอยู่ (นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความคิดเห็นของบุคคลอื่นๆอีก) หนังสือเล่มนี้และนักแสดงความคิดเห็นอีกจำนวนมากต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่า ขุนนางหญิงมารี แอร์เดอดือ (Gräfin Marie Erdödy)นั่นเองเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน เบโธเฟนเรียกขานขุนนางหญิงท่านนี้ว่า “ผู้สารภาพบาปต่อบิดา” ของฉัน เธอเป็นผู้ช่วยจัดแจงสัญญาทางด้านการเงิน กับองค์อุปถัมภกที่สำคัญที่สุดสามองค์ของเบโธเฟน
จุลหนังสือที่ออกเป็นทางการโดย “บ้านเบโธเฟน” (Beethovenshaus) ในเมืองบอนน์ มีภาพเหมือนดังแสดงข้างล่างนี้ ปรากฏอยู่บนหน้าแรกของหนังสือ แต่ตั้งคำถามปลายเปิดคาไว้ให้จินตนาการเองว่า ใครคือยอดรักอมตะของเบโธเฟน
รูปเหมือนขนาดเล็ก ค้นพบในโต๊ะของเบโธเฟนภายหลังมรณกรรม ทำใหม่เป็นรูปสีดังปรากฏข้างบนของหน้านี้แล้ว ภาพนี้เชื่อกันมานานว่า เป็นภาพของขุนนางหญิงมารี แอร์เดอดือ (Gräfin Marie Erdödy) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเชื่อกันว่า ภาพนี้อาจจักเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน และต่างก็หาเหตุผลมาหักล้างกันอย่างดุเดือดว่านี่เป็นใบหน้าของใครกันแน่

ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดเกี่ยวกับเบโธเฟน คือเรื่อง “ยอดรักอมตะ” (The Immortal Beloved) เนื้อหาอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก เนื้อเรื่องดำเนินไปว่า โยฮันนา ฟาน เบโธเฟน (สกุลเดิม เน ไรซซ์ : nee Reiss) น้องสะไภ้ของเบโธเฟนเองเป็นผู้ที่เบโธเฟนเขียนจดหมายรักถึง การนำเสนอแนวความคิดอย่างตรงกันข้ามกันความเป็นจริงเช่นนี้ ฟาดแสกหน้าผู้รู้หลักฐานข้อเท็จจริงเข้าอย่างจัง เบโธเฟนและโยฮันนานั้นเกลียดชังซึ่งกันและกันเข้ากระดูกดำอย่างออกนอกหน้า ทั้งคู่ต่างก็ต่อสู้กันถึงโรงถึงศาลเป็นเวลาหลายขวบปี เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการปกครองคาร์ล(ลูกชายของโยฮันนา และหลานชายผู้เกิดแต่คาร์ลน้องชายของเบโธเฟน)

นอกจากนี้ นักร้องหญิง เอมาลี เซบัลท์ (ซ้ายสุด) และเธเรเซอะ มาลฟาททิ (Therese Malfatti) ต่างก็มีความเป็นไปได้ว่าจักเป็น ยอดรักอมตะของเบโธเฟน

การพิสูจน์ยอดรักอมตะของเบโธเฟน
อันโทนี เบรนทาโน เป็นคำตอบของ ไมย์นาร์ด โซโลโมน ต่อคำถามที่ว่าใครเป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน มันมีประเด็นต่างๆหลายอย่างมาก ที่ใส่สีตีใข่ในการตีความครั้งนี้ ประเด็นต่างๆนั้นมีดังต่อไปนี้:-
• อันโทนี เบรนทาโน อาศัยอยู่ในกรุงเวียนนา ตั้งแต่เดือนกันยายน ๑๘๐๙ จนกระทั่งถึงเดือน พฤศจิกายน ๑๘๑๒ เธอพบเบโธเฟนในเดือนพฤษภาคม ๑๘๑๐ และมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างบุคคลทั้งก็ได้พัฒนาขึ้น เบโธเฟนมักไปเยี่ยมคฤหาสน์ที่พำนักของครอบครัว เบียร์เคนชตอค (Birkenstock) ซึ่งครอบครับเบรนทาโนอาศัยอยู่ด้วย และเล่นเปียโนให้เธอฟังอยู่เสมอในช่วงที่เธอป่วย ในเดือนมิถุนายน ๑๘๑๒ เบโธเฟนได้เขียนสารอุทิศด้วยความรักใคร่ต่อลูกสาวของเธอไว้บนกระดาษบันทึกดนตรีเปียโนทริโอ ในบันไดเสียงบีแฟล็ต (WoO 39)
• อันโทนี เบรนทาโน อยู่ในกรุงปราก พร้อมด้วยสามีและลูกสาวของเธอ ตั้งแต่วันที่ ๑-๔ กรกฎาคม ๑๘๑๒ ณ ห้วงเวลาเดียวกับ เบโธเฟน แต่ไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันใดๆเลยว่าทั้งคู่พบกัน
• ครอบครัวเบรนทาโน อยู่ในเมืองคาร์ลซบาด ตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม เป็นต้นมา อันโทนี เป็นผู้หญิงคนเดียวซึ่งบรรลุความต้องการเดินทางถึงเมืองคาร์ลซบาด ไม่นานนักภายหลังเบโธเฟนเดินทางถึงเมืองเทพลิทส์
• เบโธเฟน เดินทางถึงเมืองคาร์ลซบาดในวันที่ ๒๕ และพักอยู่เรือนรับรองเดียวกันกับครอบครับเบรนทาโน กรณีที่เบโธเฟนส่งจดหมายจริง ณ ที่ตรงนี้เองที่น่าจักเป็นไปได้ว่าเบโธเฟนได้รับจดหมายกลับคืนมา
• เบโธเฟน และครอบครับเบรนทาโน ออกเดินทางร่วมกันไปยังเมืองฟรันท์เสนบาด ในตอนต้นเดือนสิงหาคม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆอีกมาก ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบาะแสในจดหมายถึงยอดรักอมตะโดยตรง และประเด็นต่างๆเหล่านั้นล้วนแต่มีแนวโน้มว่าอันโทนี เบรนทาโน เป็นยอดรักอมตะของเบโธเฟน
• เพลงร้อง “แด่ยอดรัก” (An die Geliebte, WoO 140) เบโธเฟนประพันธ์ขึ้นในเดือนธันวาคม ๑๘๑๑ ในมุมหนึ่งของแผ่นกระดาษต้นฉบับ เป็นลายมือของอันโทนี เขียนคำว่า “ได้รับการร้องขอจากฉัน จากเจ้าของลายมือ” วันที่ ๒ มีนาคม ๑๘๑๒
• ในโต๊ะของเบโธเฟน ค้นพบหลังมรณกรรม เป็นรูปเหมือนสองรูป ทั้งคู่วาดบนงาช้าง รูปหนึ่งเป็นของ กิอูเลททา กูอิชชิอาร์ดิ อีกรูปหนึ่งก่อนหน้านั้นพิสูจน์ผิดว่าเป็นขุนนางหญิงแอร์เดอดือ แต่ปัจจุบันนี้ยืนยันแล้วว่าเป็น อันโทนี เบรนทาโน
• อนุทินประจำวันของเบโธเฟน อ้างถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เรียกว่า “A” และ “T” ด้วยความรักใคร่เสน่หา หลักฐานจากกรณีแวดล้อมชี้ให้เห็นว่า ยอดรักอมตะคือ อันโทนี เบรนทาโน หรือชื่อเล่น โทนี (ตัวอักษร T ที่น่าเป็นไปได้มีเพียง เธเรเซอะ มาลฟาททิ, เธเรเซอะ ฟอน บรุนสวิค หรือ โทนี อาดามแบร์การ์ –Toni Adamberger)


อันโทนี เบรนทาโน

Antonie Brentano
อันโทนี ฟอน เบียร์เคนชตอค (Antonie von Birkenstock) ถือกำเนิดในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๗๘๐ ดังนั้นจึงมีอายุเยาว์กว่าเบโธเฟน ๑๐ ปี ได้รับการศึกษาตามบัญชาของอัวร์ซูลีเนอะ (Ursuline) ในเมืองเพรซ์ซบวร์ก ภาพเหมือนของเธอแสดงอยู่ข้างบน
ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๑๗๙๘ แต่งงานกับ ฟรันทส์ เบรนทาโน นายวานิชจากเมืองฟรังค์ฟัวร์ท (Frankfurt) ผู้มีอายุมากกว่าเธอ ๑๕ ปี ย้ายไปอยู่ที่เมืองฟรังค์ฟัวร์ทตามสามี ลูกคนโตของเธอเกิดในปี ค.ศ. ๑๗๙๙ แต่ถึงแก่กรรมในอีกหนึ่งปีถัดมา มีลูกแล้ว ๔ คนก่อนปี ค.ศ. ๑๘๐๖ ทั้งหมดไม่มีใครถึงแก่กรรมอีก อ้างตามโซโลโมนแล้ว มีหลักฐานว่าการแต่งงานของเธอนั้นไม่มีความสุขเลย
ในมิถุนายน ๑๘๐๙ อันโทนี ทราบว่าบิดาป่วยหนักในกรุงเวียนนา และเดินทางกลับมาพร้อมลูกๆในต้นเดือนตุลาคม สามีเดินทางติดตามมาสมทบหลังจากนั้นอีกไม่นาน และตั้งบริษัทสาขาของตัวเองขึ้นในกรุงเวียนนา ในเดือนพฤษภาคม ๑๘๑๐ เบททินา(Bettina)น้องสะไภ้ของเธอเองเป็นผู้แนะนำเธอต่อเบโธเฟนเป็นครั้งแรก
ครอบครับเบรนทาโน ยังคงพักอยู่ที่กรุงเวียนนาจนถึงปลายปี ๑๘๑๒ ส่วนหนึ่งก็เพราะอันโทนีเองก็ไม่ชอบเมืองฟรังค์ฟัวร์ทเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และอีกส่วนหนึ่งนั้นเธอเองก็มีสุขภาพไม่ดี ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ ช่วงที่เธอป่วยอยู่นั้น เบโธเฟนเล่นเปียโนให้เธอฟังอยู่บ่อยๆ มีหลักฐานชัดเจนว่าจดหมายถึงยอดรักอมตะของเบโธเฟนนั้น เขียนขึ้นมาเมื่อเธอเดินทางออกจากกรุงเวียนนาไปแล้ว หลังจากที่เธอจากไปแล้วในปลายปี ๑๘๑๒ เธอกับเบโธเฟนไม่เคยได้พบกันอีกเลย
อันโทนี เบรนทาโน ถึงแก่กรรมในปี ๑๘๖๙ มีอายุยืนยาวกว่าเบโธเฟนถึงกว่า ๔๐ ปี สิริรวมได้ ๘๙ ปี

ความเคลื่อนไหวของเบโธเฟนในครึ่งหลังของปี ค.ศ. ๑๘๑๒
• ๒๘ หรือ ๒๙ มิถุนายน เบโธเฟนเดินทางออกจากกรุงเวียนนา
• ๑ กรกฎาคม เบโธเฟน เดินทางถึงกรุงปราก เข้าพักที่โรงแรมม้าดำ ได้รับเงินปีบางส่วนจากเจ้าชายคินสกี
• ๒ กรกฎาคม เบโธเฟน พบ ฟาร์นฮาเกน ฟอน เอนเซอะ
• ๔ กรกฎาคม เบโธเฟน เดินทางออกจากกรุงปรากก่อนเที่ยง มุ่งหน้าสู่เมือง เทพลิทส์ โดยรถเทียมม้าสี่ตัว ในเวลาเดียวกัน เจ้าชายเอซแตร์ฮาทสือ ก็ออกเดินทางโดยรถเทียมม้าแปดตัว มุ่งหน้าสู่จุดหมายปลายทางเดียวกัน เพราะว่ารถของเบโธเฟนมีม้าไม่พอเทียมเพื่อเดินทางข้ามช่องเขา จึงใช้เส้นทางสายอื่น – ถึงแม้ได้รับคำเตือนไม่ให้ใช้เส้นทางดังกล่าวในตอนกลางคืน เบโธเฟนก็ยังมุ่งหน้าไปตามเส้นทางสายนั้น และรถม้าจึงเสียในหล่มโคลน (อ่านประเด็นสัมพันธ์กันได้ในจดหมายฉบับแรก)
• ๕ กรกฎาคม เบโธเฟน เดินทางถึงเมืองเทพลิทส์ ในเวลา ๔ นาฬิกา (ยืนยันได้จากจดหมายที่เบโธเฟนเขียนถึงผู้รับพิมพ์ดนตรีของเขา ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม) เบโธเฟนได้รับที่พักชั่วคราวในห้องคนรับใช้ ด้วยเหตุว่าเดินทางมาถึงช้า
• ๖ กรกฎาคม เบโธเฟน อาจจักได้รับจดหมายฉบับหนึ่งจาก ยอดรักอมตะ ในไปรษณีย์เที่ยวเช้า ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เบโธเฟน ลงมือเขียนจดหมายฉบับแรกของเขา แต่เบโธเฟนเองคิดว่าเขาพลาดไปรษณีย์เที่ยวเช้า จึงเขียนจดหมายฉบับที่สองในเย็นวันเดียวกันนั้น
• ๗ กรกฎาคม เบโธเฟน ลงทะเบียนเข้าพักในบัญชีแขกของเมืองเทพลิทส์อย่างเป็นทางการ เบาะแสตรงนี้ทำให้ธายาร์ (Thayer) หลงประเด็นไปทึกทักเอาว่า เบโธเฟนไม่มีทางเขียนจดหมายได้ในตอนเช้าวันที่ ๖ ในขณะอยู่ระหว่างการเดินทาง อย่างไรก็ตาม โซโลโมน ยอมรับว่า เบโธเฟนต้องลงทะเบียนช้า อันเนื่องมาจากการที่เบโธเฟนเดินทางมาถึงตอน ๔ นาฬิกา มันน่าสงสัยว่าทำไม เบโธเฟนถึงลงทะเบียนเข้าพักไม่ได้ในวันที่ ๖ ตรงนี้โซโลโมนเองก็ไม่มีคำตอบให้ เบโธเฟน ลงมือเขียนจดหมายฉบับที่สาม – ถึงตอนนี้เบโธเฟนเองตระหนักดีแล้วว่า เขาอ่านข้อมูลของการไปรษณีย์ผิดพลาดไป และยังส่งจดหมายได้ในตอนเช้าวันเดียวกัน ว่าแต่ว่าจดหมายฉบับนั้นเคยส่งจริงหรือไม่
• ๑๔ กรกฎาคม เจ้าชายคาร์ล ลิคชนาวสกี เดินทางถึงเมืองเทพลิทส์ และฟื้นฟูมิตรภาพกับเบโธเฟน เกอเธ่ก็เดินทางมาถึงในวันเดียวกันนี้
• ๒๔ กรกฎาคม ครอบครัว ฟอน อาร์มิน เดินทางถึงเมืองเทพลิทส์
• ๒๕ กรกฎาคม เบโธเฟน เดินทางออกจากเมืองเทพลิทส์ มุ่งหน้าส่เมือง คาร์ลซบาด (Karlsbad) และเข้าพักยังเรือนรับรอง Zum Aug Gottes auf der Wiese ที่เดียวกันกับครอบครัวเบรนทาโน (Brentano)
• ๖ สิงหาคม เบโธเฟน และโพลเลโดร(Polledro)นักไวโอลิน ออกแสดงคอนเสิร์ตหารายได้ช่วยผู้ประสบอัคคีภัยในเมืองบาเดน (Baden)
• ๗ สิงหาคม เบโธเฟน ออกเดินทางจากเมืองคาร์ลซบาด มุ่งหน้าสู่เมือง ฟรันทส์อันซบาด(Franzansbad) ในกลุ่มเดียวกับครอบครัวเบรนทาโน เข้าพักที่เรือนรับรอง “สิงโตทองสองตัว” (Zu den zwei goldenen Löwen)
• ๘ กันยายน เบโธเฟน เดินทางกลับไปยังเมืองคาร์ลซบาดตามลำพัง เยี่ยมเกอเธ่ที่นั่นด้วย
• ๑๖ กันยายน เบโธเฟน ไปเมืองเทพลิทส์อีกครั้งหนึ่ง ล้มป่วย เอมาลี เซบัลท์ นักร้องจากกรุงเบอร์ลินคอยเฝ้าไข้
• ตุลาคม เบโธเฟน เยี่ยมน้องชายที่เมืองลินทส์ บ่นร้องทุกข์กับตำรวจเกี่ยวกับสัมพันธภาพที่ไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมของน้องชายกับแม่บ้าน น้องชายของเบโธเฟนตอบโต้โดยการแต่งงานกับแม่บ้านคนนั้นทันที
• ๒๙ ธันวาคม เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เบโธเฟน กลับมาอยู่ในกรุงเวียนนา ถึงแม้ว่าจักไม่ทราบวันที่เดินทางมาถึงที่แน่นอนของเขาก็ตาม



Create Date : 22 ตุลาคม 2548
Last Update : 22 ตุลาคม 2548 12:35:34 น. 1 comments
Counter : 1463 Pageviews.

 
ขอบคุณครับ สำหรับสิ่งดีๆที่ให้ได้รับรู้ร่วมกัน


โดย: neo IP: 202.129.54.103 วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:23:17:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลุดวิก
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Ich bin nur ein Mensch! Alles Leben ist leiden. Alles ist nichtig!
ตรวจผลสลากกินแบ่งรัฐบาล

Bangkok

Friends' blogs
[Add ลุดวิก's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.