Group Blog
 
<<
กันยายน 2548
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
4 กันยายน 2548
 
All Blogs
 
ช้างเป็นสินค้า ค้าช้าง ในสมัยอยุธยา

โดย : ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / มติชน

ช้างเป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสังคมชาวสยามมาเป็นเวลายาวนานไม่ต่ำกว่าพันปี จากตำนานและเอกสารโบราณกล่าวถึงบทบาทของช้างในแง่มุมต่างๆ
จารึกหลักที่ ๑ สมัยสุโขทัย กล่าวถึงช้างในฐานะสินค้าที่ใครจะใคร่ค้าก็ค้าได้ ทั้งยังเป็นทรัพย์ที่ลูกเจ้าลูกขุนจะได้รับเป็นมรดกตกทอดจากพ่อเจ้าพ่อเชื้อด้วย๑ มูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวถึงสงครามบนหลังช้างระหว่างพระนางจามเทวีกับขุนหลวงมิลังคะกษัตริย์ชาวลัวะก่อนจะมีการสถาปนารัฐหริภุญชัยในภาคเหนือ ประติมากรรมรูปกองทัพของชนชาติเสียมหรือสยามที่ผนังระเบียงคดปราสาทนครวัดในประเทศกัมพูชา สะท้อนถึงความชำนาญในการใช้ช้างที่คู่กับอารยธรรมชนชาติไทยมาช้านาน

นอกจากนี้ช้างยังได้รับยกย่องว่าเป็นสัตว์ที่ค้ำจุนพระพุทธศาสนา เห็นได้จากประติมากรรมรูปช้างประดับรอบฐานพระสถูปเจดีย์ที่เมืองเก่าสุโขทัย เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช เป็นต้น

จากป่าสู่เมือง
ช้างไทยมีอยู่ชุกชุมในป่าทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะผืนป่าเขตหัวเมืองเหนืออย่างสุโขทัย พิษณุโลก เขตหัวเมืองฝั่งตะวันตกอย่างกาญจนบุรี เพชรบุรี ราชบุรี ฝั่งตะวันออกคือแถบจันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และทางใต้คือแถบตะนาวศรีลงไปถึงพุนพิน และจัมโปนหรือพัทลุง

ผู้เขียนเคยขึ้นช้างมาหลายครั้งทำให้พอเข้าใจได้ว่าช้างเป็นพาหนะที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้เดินทางรอนแรมไปในภูมิประเทศที่รกชัฏ ตามแม่น้ำลำธารที่มีโขดหินหรือแก่ง แม้จะตัวใหญ่และค่อนข้างเชื่องช้ากว่าม้า หรือโค แต่ก็รับน้ำหนักบรรทุกได้มาก ทั้งยังทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้นของป่าเมืองไทยได้ดีกว่าม้าและโค

แม้ช้างจะเป็นสัตว์ที่ฉลาดและฝึกฝนได้ง่าย แต่การจับช้างป่าก็มีกระบวนการและขั้นตอนที่สลับซับซ้อนมิใช่น้อย ตามตำราคชศาสตร์๒ กล่าวว่าการจับช้างป่าหรือช้างเถื่อนมีด้วยกัน ๓ วิธี คือ

วังช้าง เป็นการจับช้างเถื่อนทั้งโขลงคือจับหมดทั้งพลายพังตัวใหญ่ตัวน้อย

จับเพนียด คือสร้างคอกใหญ่สำหรับต้อนโขลงช้างเข้าไปขังไว้ โยสต์ สเคาเต็น (Joost Schouten) หัวหน้าสถานีการค้าของฮอลันดาประจำกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จดบันทึกเกี่ยวกับการคล้องช้างในเพนียดของชาวสยามสรุปความได้ว่า ชาวสยามจะใช้ช้างพังหรือช้างตัวเมียประมาณ ๒๐ ถึง ๓๐ เชือกเป็นตัวล่อช้างจ่าฝูงซึ่งเป็นช้างตัวผู้ เมื่อจ่าฝูงตามช้างล่อเข้าไปในเพนียดบรรดาช้างอื่นๆ ในฝูงจะตามเข้าไปด้วย เมื่อเข้าไปแล้วช้างจะออกจากเพนียดไม่ได้ จากนั้นควาญก็จะเลือกคล้องช้างตามความต้องการ ตัวที่ไม่ได้ลักษณะจะถูกปล่อยกลับเข้าป่าไป
โพนช้าง เป็นการล้อมจับในที่แจ้งทีละตัวโดยใช้ช้างที่เชื่องล้อมช้างป่า แล้วใช้บ่วงเชือกคล้องเท้ามัดจนดิ้นหนีไม่ได้ การคล้องวิธีนี้ยากกว่าทุกวิธีเพราะต้องเอาล่อเอาเถิดกันระหว่างคนกับช้าง มักนิยมใช้จับช้างที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษในฝูงอย่างช้างเผือก

ราชพาหนะ และยุทธปัจจัย
ช้างจัดเป็นหนึ่งในรัตนะหรือดวงแก้วคู่กับพระจักรพรรดิราช เรียกว่า "หัตถีรัตนะ" ในสมัยอยุธยา พระยาช้างต้นมีสถานภาพสูงส่งเทียบได้กับขุนนางในตำแหน่งเจ้าพระยา ฟรังซัวส์ อังรี ตุรแปง ชาวฝรั่งเศส ผู้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับสยามไว้ในหนังสือเรื่อง "ประวัติศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรสยาม" (Histoire du Royaume de Siam) ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๔ กล่าวว่า "ขุนนางที่มีเกียรติสูงที่สุดก็ไม่ถือเป็นการเสื่อมเกียรติที่จะมาทำการรับใช้ช้าง (ของพระมหากษัตริย์)"๓

ช้างตัวที่ต้องตามตำราคชลักษณ์คือมีลักษณะอันเป็นมงคลโดยเฉพาะช้างเผือก จะได้รับเลือกให้เป็นช้างทรงหรือช้างต้นของพระมหากษัตริย์ ส่วนตัวที่คุณสมบัติด้อยลงมาจะพระราชทานให้เจ้านายและขุนนางลดหลั่นไปตามศักดิ์ ช้างลักษณะดีจึงมักถูกเลี้ยงอยู่ในเมืองหลวงหรือตามหัวเมืองสำคัญๆ มีกฎระเบียบระบุจำนวนช้างในครอบครองสำหรับบุคคลฐานะต่างๆ ไว้อย่างเข้มงวด อย่างเช่นในกฎมณเฑียรบาลกล่าวว่า "พระเยาวราช (โอรสที่เกิดจากพระสนม) (ได้) ช้างตัวหนึ่ง ม้าตัวหนึ่ง คน ๒๐ มากกว่านั้นเอาออกกินเจียด แว่นฟ้า"๔ แม้แต่พระอัครมเหสีก็ได้รับพระราชทานช้างต้นม้าต้นประจำพระองค์หลายเชือกหลายตัว พร้อมกับขุนช้างขุนม้า๕

ช้างส่วนใหญ่จะขึ้นระวางเป็นช้างหลวงโดยสังกัดในกรมพระคชบาล ซึ่งเป็นกรมใหญ่ขึ้นตรงต่อพระมหา กษัตริย์ แบ่งการบังคับบัญชาเป็น ๒ กรมย่อยคือ กรมพระคชบาลขวา มีออกพระเพทราชาธิบดีศรีสุริยาภิชาติ สุริวงษ์องคสมุหพระคชบาล ว่าที่ตำแหน่งจางวางขวา และกรมพระคชบาลซ้าย มีออกพระสุรินทราชานราบดีศรีสุริยศักดิสมุหพระคชบาล ว่าที่ตำแหน่งจางวางซ้าย

เจ้าพนักงานในกรมพระคชบาลมีจำนวนมากทีเดียว จัดแบ่งเป็นกลุ่มๆ คือ ฝ่ายบริหารประกอบด้วยจางวาง เจ้ากรม และปลัดกรม ฝ่ายคชศาสตร์คือครูผู้สอนเกี่ยวกับการฝึกช้าง ฝ่ายควาญช้างมีรายนามพนักงานคล้องจองไพเราะน่าฟัง เช่น นายเสพกะเชน นายกะเรนทภัชชา นายมหาคชรัตน์ นายสวัสดิคชฤทธ์ นายจิตรคชลักษณ์ นายจักคชศรี นายคีรีคชแกว่น นายแม่นคชสาร นายบาลกีรีอาจ นายราชกีรียง เป็นต้น อีกฝ่ายหนึ่งคือบรรดาหมอปะกำหรือผู้ประกอบพิธีกรรม และสุดท้ายคือฝ่ายกำลังพลหรือทหารที่ติดตามในกระบวนช้าง

นอกจากกองทหารช้างชาวสยามแล้วยังมีกองทหารช้างข้างฝ่ายมอญด้วย โดยแบ่งเป็น ๒ กรมย่อยเหมือนกันคือ กรมโขลงขวา มีพญาอนันตโยทังเป็นเจ้ากรม และกรมโขลงซ้าย มีพระยาอนันตจ่อสู่เป็นเจ้ากรม มีหน้าที่ควบคุมไพร่พลกองทหารช้างที่น่าจะได้แก่พวกมอญและกะเหรี่ยงที่มีความชำนาญในการใช้ช้าง

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา กรมช้างหรือกรมพระคชบาลมีบทบาทสำคัญอย่างสูงในทางการเมือง เพราะการช่วงชิงอำนาจถึงสองครั้งมีขุนนางในกรมช้างเกี่ยวข้องด้วย คือครั้งที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงก่อการยึดอำนาจจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาพระปิตุลาก็ทรงได้รับความร่วมมือจากขุนนางส่วนใหญ่ในกรมพระคชบาล และเมื่อครั้งที่ออกพระเพทราชาเจ้ากรมพระคชบาลก่อการยึดอำนาจปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และสามารถโค่นอำนาจของออกญาวิชาเยนทร์กับฝรั่งเศสลงได้

ตุรแปงกล่าวถึงความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ในการขี่ช้างของชาวสยามไว้ว่า "การฝึกหัดอย่างหนึ่งซึ่งเขาฝึกบรรดาเจ้านายในพระราชอาณาจักรก็คือการขี่ช้าง เช่นเดียวกับในทวีปยุโรปเขาสอนผู้มีสกุลให้ขี่ม้า ความสามารถจริงๆ ก็คือวิธีขึ้นขี่บนคอช้างเป็นต้น"๖

ช้างจะใช้ในการสงครามทั้งเป็นพาหนะของนายทัพนายกอง ขนส่งลำเลียงเสบียงและอาวุธ สเคาเต็นกล่าวว่า ช้างป่าจะได้รับการฝึกปรือเพื่อใช้ในการรบ ลากปืนใหญ่ ขนสัมภาระและเสบียงอาหาร๗

ความสำคัญของช้างนี่เองเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราชสำนักเข้ามาควบคุมการค้าช้างอย่างเข้มงวด และช้างได้กลายเป็นสินค้าผูกขาดอย่างหนึ่งของราชสำนัก

การค้าช้างของราชอาณาจักรอยุธยา
การค้าช้างคงมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยาแล้วดังหลักฐานจารึกสุโขทัยหลักที่ ๑ กล่าวว่ารัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมีการค้าช้างและม้าในกรุงสุโขทัย อย่างไรก็ดีการค้าช้างในยุคนั้นยังเป็นการค้าในวงจำกัดคือระหว่างชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากกันนัก เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่การขนส่งลำเลียงค่อนข้างยุ่งยาก ต่อเมื่อถึงสมัยอยุธยาการค้าช้างได้ขยายตัวกลายเป็นสินค้าส่งออกข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังดินแดนที่ห่างไกลออกไป

การค้าช้างทางทะเลของสยามน่าจะเริ่มมีในช่วงหลังเสียกรุงครั้งที่ ๑ เพราะจากเอกสารต่างชาติในช่วงสมัยอยุธยาตอนต้นไม่ได้กล่าวถึงการส่งช้างของสยามไปขาย มีเพียงงาช้างเท่านั้นที่เป็นสินค้าส่งออกร่วมกับสินค้าของป่าอื่นๆ นอกจากนี้หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่ข้าศึกพม่าก็ยึดเอายุทธปัจจัยจำนวนมากมายมหาศาลลำเลียงไปยังหงสาวดี ช้างม้าซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธปัจจัยก็น่าจะถูกยึดเอาไปด้วยเพื่อป้องกันไม่ให้อยุธยามีกำลังเพียงพอต่อต้านพม่า

จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาจนถึงช่วงที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชย์มีสงครามติดพันยาวนาน สมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามกับหัวเมืองต่างๆ เมื่อทรงได้ชัยชนะก็ทรงให้รวบรวมกำลังพลและช้างม้าเอาไว้ใช้งาน พระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่าครั้งที่ทรงทำสงครามยุทธหัตถีมีชัยชนะทรงได้ช้างใหญ่สูง ๖ ศอก มาถึง ๓๐๐ ช้าง ช้างพลายและพังระวางเพรียวอีก ๕๐๐ เชือก๘ ช่วงเวลานั้นจึงน่าจะยังไม่มีการส่งช้างไปขายต่างประเทศเพราะมีความจำเป็นในการใช้อยู่มาก ประกอบกับหัวเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางฝั่งตะวันตกของสยามถูกพม่ายึดไว้ตั้งแต่ครั้งเสียกรุง (ทำให้สยามไม่มีเมืองท่าส่งออกสินค้าไปยังอ่าวเบงกอล) จนกระทั่งช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวร จึงทรงยึดหัวเมืองดังกล่าวกลับมาไว้ในพระราชอำนาจได้สำเร็จ

การค้าช้างน่าจะเริ่มมีขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถหรือรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งเป็นช่วงเวลาบ้านเมืองสงบสุขปราศจากศึกสงครามใหญ่ และมาเจริญถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์ปราสาททอง

การค้าช้างในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมน่าจะมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองถึงรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถและรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น สยามประสบปัญหาจากการขึ้นมามีอำนาจของฟิลิป เดอ บริโต (Philip de Brito)๙ ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสที่ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองสิเรียมของมอญ และพยายามขยายอิทธิพลลงมาควบคุมเมืองท่าฝั่งตะวันตกของสยาม เมื่อเดอ บริโตถูกพม่าปราบปรามลงไปได้ พม่าก็พยายามขยายอิทธิพลเข้ามาทางตะวันตกแทน จนกระทั่งปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจึงมีการตกลงทำสัญญาสงบศึกระหว่างสยามกับพม่า โดยพม่ายอมคืนหัวเมืองทางฝั่งตะวันตกให้สยาม๑๐ ส่งผลให้การค้าที่เมืองมะริดและตะนาวศรีได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง

เมื่อถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง หัวเมืองมะริด และตะนาวศรีก็อยู่ในความควบคุมของอยุธยาโดยสมบูรณ์ ทำให้สยามมีเมืองท่าสำหรับส่งออกสินค้าสู่ฝั่งตะวันตกได้สะดวกขึ้น ประกอบกับสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงต้องการขยายการค้าในฝั่งตะวันตกเพื่อทดแทนความตกต่ำของการค้าที่เกิดขึ้นในฝั่งตะวันออกอันเนื่องมาจากทางการญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศ และการขยายอิทธิพลของฮอลันดาในทะเลตะวันออกจนส่งผลกระทบต่อสยาม การค้าฝั่งตะวันตกที่เพิ่มขึ้นพลอยทำให้ตลาดค้าช้างของสยามเติบโตตามไปด้วย

ในสมัยอยุธยา ช้างไม่ใช่สินค้าที่ใครจะใคร่ค้าได้เหมือนในสมัยสุโขทัย แต่พระมหากษัตริย์ทรงสงวนสิทธิ์ประกอบการค้าช้างเพียงพระองค์เดียว และไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใดทำการค้าได้๑๑

หนังสือ "สำเภากษัตริย์สุไลมาน" ซึ่งเป็นบันทึกการเดินทางของคณะทูตอิหร่านที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ กล่าวว่า ช้างเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับช้างได้ราว ๒๐๐-๔๐๐ ตัว ช้างส่วนหนึ่งจะถูกฝึกให้เชื่องเพื่อใช้งานและส่งขาย๑๒

จากจำนวนช้างที่กล่าวถึงในบันทึกของอิหร่าน แสดงว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์การค้าช้างเป็นกิจการใหญ่ที่ทำรายได้เข้าพระคลังมิใช่น้อย นอกจากราชสำนักจะดำเนินการจับช้างเองแล้ว ยังอนุญาตให้ชาวบ้านจับช้างป่ามาใช้งานได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุมโดยต้องแจ้งจำนวนของช้างต่อทางราชการ นอกจากนี้ช้างบางเชือกยังถูกส่งมาเป็นค่าภาคหลวงแทนภาษีของราษฎรที่จ่ายให้แก่ราชสำนัก๑๓ ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ราชสำนักจะได้ช้างมาไว้ใช้งานและส่งขายต่างประเทศ

ตลาดค้าช้างใหญ่ที่สุดคือบริเวณรอบอ่าวเบงกอล ได้แก่แถบเมืองท่าชายทะเลฝั่งตะวันตกของสยาม และฝั่งตะวันออกของอินเดีย เมืองท่าหลักที่ส่งออกช้างจากสยามมีอยู่ ๒ จุด คือ เมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี กับเมืองที่อยู่ในคาบสมุทรภาคใต้ฝั่งตะวันตก คือตรัง๑๔ จากเมืองท่าเหล่านี้ช้างจะถูกลำเลียงโดยทางเรือเพื่อไปยังเมืองท่าฝั่งตะวันออกของอินเดียโดยมีตลาดรับซื้อใหญ่ ๒ แห่ง ได้แก่เมืองท่าของอาณาจักรเบงกอล และเมืองท่าแถบชายฝั่งโคโรแมนเดล (เอกสารไทยเรียกว่า "โจฬมณฑล" คือบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย) ลงไปจนถึงศรีลังกา

ในเบงกอลช้างของสยามจะใช้ชักไม้ออกจากป่า เป็นพาหนะในการเดินทางและทำสงคราม เช่นเดียวกับในแถบที่ราบสูงเดคคานตอนกลางค่อนไปทางใต้ของชมพูทวีปอันเป็นที่ตั้งของราชอาณาจักรอิสระ ๓ แห่งคือ พิชปูร (Bijapur) อะหมัดนคร (Ahmadnagar) และกอลกอนดา(Golgonda) อาณาจักรทั้งสามแห่งเป็นรัฐมุสลิมที่ปกครองโดยกษัตริย์ผู้นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์๑๕ ซึ่งทำสงครามต่อต้านการขยายอำนาจของจักรพรรดิโมกุลที่มีอำนาจอยู่ทางตอนเหนือและพยายามขยายอาณาเขตลงมาครอบครองรัฐแถบเดคคาน

จักรพรรดิโมกุลสองพระองค์คือชาห์เจฮัน (Shah Jahan -ครองราชย์ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) และออรังเซบ (Aurangzeb-ครองราชย์อยู่ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนารายณ์) เป็นกษัตริย์มุสลิมนิกายสุหนี่ที่เคร่งครัดมาก ทั้งสองพระองค์พยายามจะยึดครองรัฐมุสลิมนิกายชีอะห์ทั้งสามด้วยการส่งกำลังทหารไปโจมตีหลายครั้ง สงครามระหว่างจักรวรรดิโมกุลและอาณาจักรชีอะห์ดำเนินอยู่ยาวนาน เป็นสาเหตุที่ทำให้กษัตริย์เหล่านั้นต้องทรงใช้ช้างเพื่อการสงครามเป็นจำนวนมากจึงมีการสั่งนำเข้าช้างจากสยาม
*
คุณลักษณะพิเศษของช้างสยามที่ทำให้บรรดาเจ้าเมืองแขกต้องการ คือความฉลาด ฝึกฝนง่าย แข็งแรงอดทน บรรทุกสัมภาระได้มาก ทั้งยังเหมาะกับภูมิอากาศของแคว้นต่างๆ ในอินเดีย เช่นป่าฝนเขตร้อนของเบงกอลเป็นต้น อันที่จริงในศรีลังกาก็มีช้างอยู่มากแต่ช้างลังกามีขนาดเล็กกว่าช้างสยามไม่เหมาะกับงานหนัก๑๖ เจ้าเมืองแขกจึงนิยมชมชอบช้างสยามซึ่งมีรูปร่างใหญ่โตสูงสง่า

ราชสำนักสยามส่งเสริมให้มีการค้าช้างอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการพัฒนาเมืองท่าเพื่อส่งออกรวมทั้งจัดให้มีการจับและฝึกฝนช้างคัดเลือกและลำเลียงสู่เมืองท่าฝั่งตะวันตก ช้างที่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศคงไม่ใช่ช้างเถื่อนหรือช้างป่า แต่ต้องเป็นช้างที่ผ่านการฝึกฝนหรือเลี้ยงดูโดยมนุษย์มาระยะหนึ่ง มิเช่นนั้นจะควบคุมให้อยู่ในเรือซึ่งมีพื้นที่จำกัดได้ยาก เพราะช้างอาจตื่นตกใจจนก่อให้เกิดอันตรายได้

จากโครงสร้างหน่วยงานกรมพระคชบาลแสดงว่ามีครูผู้ฝึกช้างอยู่ในสังกัดเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเชื่อว่ากรมพระคชบาลน่าจะมีหน้าที่ฝึกช้างทั้งที่เป็นช้างหลวงใช้ในราชการและช้างที่จะส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้บรรดาทูตเมืองแขกซึ่งต้องการซื้อช้างต้องติดต่อโดยตรงกับราชสำนักซึ่งทำหน้าที่ผู้จัดหา ลำเลียง และฝึกช้างเพื่อส่งขาย

ช้างที่มาจากทุกภูมิภาคน่าจะลำเลียงเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาก่อนเพื่อคัดเลือกไว้ฝึกใช้งานหรือส่งขาย ในสมัยราชวงศ์ปราสาททองตลาดกลางค้าช้างในกรุงศรีอยุธยาคงคึกคักพอสมควร เพราะจากเอกสารต่างชาติระบุว่าสยามจะค้าช้างเป็นประจำทุกปี ขบวนคาราวานช้างจากป่าทั่วราชอาณาจักรที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยาคงเป็นภาพที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ จึงมีบันทึกถึงเรื่องราวของช้างสยามไว้ในจดหมายเหตุหลายฉบับ

พ่อค้าที่ต้องการซื้อช้างจากสยามจะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ในการประกอบการค้าแต่ละครั้ง โดยต้องมีหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายก่อน เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชานุญาตแล้วจึงจะดำเนินการได้ อย่างเช่นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พ่อค้าจากเบงกอลได้ทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือเพื่อขออนุญาตนำช้างออกนอกพระราชอาณาจักรหลายครั้งด้วยกัน๑๗

ตุรแปงกล่าวถึงความสำคัญของการค้าช้างของสยามไว้ดังนี้

...พระเจ้าแผ่นดินและบรรดาเจ้านายจับช้างได้เป็นอันมาก จึงทรงเลือกช้างงามๆ ไว้ใช้งานและส่งเชือกที่เหลือไปเมืองมะริดเพี่อขายให้แก่พ่อค้าที่มาจากฝั่งโคโรแมนเดลเพื่อทำการค้านี้ และนำเอาผ้างามๆ จากเบงกอล เมืองสุหรัตและประเทศเปอร์เซียมาแลกเปลี่ยน เกือบทุกปีมีการขายช้างอย่างน้อยห้าสิบเชือก การค้าช้างนี่แหละทำให้พระราชอาณาจักรสยามมีผ้าทุกชนิดมากมายซึ่งนำมาจากทุกภูมิภาคในเอเชีย นี่แหละความร่ำรวยอันแท้จริงของชาวสยามซึ่งอาศัยการค้าช้างและค้างาช้างจึงได้รับผลผลิตต่างๆ จากต่างประเทศ...๑๘

ช้างที่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ขายได้จะถูกลำเลียงต่อไปยังเมืองตะนาวศรีและมะริดซึ่งมีท่าเรือขนส่งสินค้าต่อไปยังเมืองท่าต่างๆ ในอินเดีย เมืองท่าสำคัญของอาณาจักรเบงกอลที่เป็นแหล่งรับซื้อช้างสยามคือบะละซอร์ (Balasore) พิพลี (Pipli) และฮักลี (Hugli) พ่อค้าจากเมืองท่าเหล่านี้จะนำเรือมาซื้อช้างที่เมืองตะนาวศรี๑๙ นอกจากนี้พระเจ้ากรุงสยามยังทรงมีสถานีการค้าอยู่ที่บะละซอร์เพื่อทรงค้าช้างและดีบุก จากบันทึกของพ่อค้าชาวอังกฤษระบุว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๒ พระเจ้ากรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์) ทรงส่งเรือหลวงจำนวน ๒ ลำจากตะนาวศรีบรรทุกช้างมาขายที่บะละซอร์๒๐

สำหรับเมืองท่าของอาณาจักรในแถบเดคคาน ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อช้างสยามคือมะสุลีปะตัม (Masulipatum) ซึ่งเป็นเมืองท่าริมทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย ตั้งอยู่บนชายฝั่งโคโรแมนเดล

มะสุลีปะตัมเป็นเมืองท่านานาชาติของราชอาณาจักรกอลกอนดา ปกครองโดยข้าหลวงหรือนิชามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกุตาบ ชาฮีร์แห่งไฮเดอราบัด (Qutab Shahi of Hydarabad) ประมุขของกอลกอนดา ข้าหลวงแห่งมะสุลีปะตัมจะมีกองเรือค้าขายของตนเองเพื่อประกอบการค้าระหว่างสยามกับกอลกอนดา นอกจากนี้ราชสำนักสยามก็ยังว่าจ้างเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเมืองมะสุลีปะตัม ทำหน้าที่นายหน้าคอยจัดหาสินค้าที่สยามต้องการและระบายสินค้าของสยามสู่ตลาดฝั่งตะวันตกด้วย๒๑ จากมะสุลีปะตัมสินค้าจะถูกลำเลียงไปยังรัฐข้างเคียงทางแม่น้ำกฤษณา ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่มีสาขาแยกออกไปอีกหลายสายโดยไหลผ่านไปจนถึงพิชปูรทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย มะสุลีปะตัมจึงเป็นเมืองท่าระบายสินค้าต่างๆ ของสยามรวมทั้งช้างไปสู่อินเดียภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้

การค้าช้างของสยามส่วนใหญ่ดำเนินการโดยพวกพ่อค้าแขก โดยเฉพาะพ่อค้าชาวอินเดีย เนื่องจากช้างสยามเป็นที่นิยมมากในอินเดีย ทั้งในเบงกอล และเดคคาน๒๒ พ่อค้าเหล่านี้จะนำช้างลำเลียงใส่เรือ ซึ่งน่าจะมีการออกแบบห้องบรรทุกให้เหมาะสมจะนำช้างเดินทางออกไปในทะเลได้หลายวัน "สำเภากษัตริย์สุไลมาน" เล่าว่าราคาช้างในสยามตกอยู่ราวตัวละ ๗ ถึง ๘ โตมาน (เงินอิหร่าน ๑ โตมาน เทียบได้กับเงินอังกฤษประมาณ ๓ ปอนด์เศษในช่วงเวลานั้น ราคาช้างหนึ่งเชือกจึงน่าจะอยู่ที่ ๒๐-๒๕ ปอนด์อังกฤษ) แต่ถ้าหากช้างรอดชีวิตจากการเดินทางและนำไปขายยังต่างประเทศจะได้ราคาถึง ๓๐ โตมาน (ราว ๑๐๐ ปอนด์) เลยทีเดียว๒๓ ราคาที่สูงขึ้นถึง ๔ เท่านี่เองเป็นแรงจูงใจอย่างดีที่ทำให้พ่อค้าแขกอินเดียเข้ามาหาซื้อช้างสยามไปขาย การค้าช้างจึงเฟื่องฟูมากในช่วงเวลานั้น

ความซบเซาของการค้าช้าง
หลังจากเฟื่องฟูอยู่หลายสิบปี การค้าช้างของสยามก็ประสบปัญหาอันเนื่องมาจากอิทธิพลที่เพิ่มมากขึ้นของชาวตะวันตกในราชสำนักสยาม ส่งผลให้การค้าที่เคยอยู่ในมือของพวกมุสลิมถูกชาวตะวันตกแย่งชิงผลประโยชน์ไป โดยเฉพาะเมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน พ่อค้าและนักแสวงโชคชาวกรีกได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งออกญาวิชาเยนทร์ ที่ปรึกษาของสมเด็จพระนารายณ์ แทนที่อกามะหะหมัด หรือออกญาศรีเนาวรัตน์ ขุนนางมุสลิมเชื้อสายอิหร่านซึ่งถึงอนิจกรรมไปเสียก่อน
*
ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส โดยขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรปโดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังขัดขวางการค้าของสยามไม่ให้ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนารายณ์ภายใต้การถวายคำแนะนำของฟอลคอนจึงตอบโต้ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม นอกจากนี้ฟอลคอนยังจัดตั้งกองเรือเพื่อปล้นสะดมสินค้าของพ่อค้าแขกและยังส่งกองเรือไปเผาทำลายเมืองท่าหลายแห่งของอาณาจักรกอลกอนดา ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทั้งสองอาณาจักรประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

"สำเภากษัตริย์สุไลมาน" กล่าวว่าด้วยปัญหาความขัดแย้งระหว่างสยามกับอินเดียช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ทำให้พ่อค้ามุสลิมจากอินเดียหันไปซื้อช้างจากที่อื่นซึ่งมีราคาถูกกว่า๒๔ โดยพ่อค้าเบงกอลและเดคคานได้หันไปซื้อช้างจากพะโคหรือหงสาวดี ซึ่งกลายเป็นตลาดการค้าที่รุ่งเรืองขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๓๒๕ ช้างจากหัวเมืองมอญและพม่าได้กลายเป็นคู่แข่งของช้างสยามแถมยังมีราคาถูกกว่าช้างของสยามอีกด้วย จากบันทึกของตุรแปงทำให้พอจะประมาณช้างที่สยามส่งออกไปขายในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาว่ามีประะมาณ ๕๐ เชือกต่อปี ซึ่งน้อยกว่าในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ซึ่งน่าจะมีถึง ๓๐๐ เชือก

สาเหตุอีกประการหนึ่งที่ทำให้การค้าช้างซบเซาลงก็เพราะ Demand หรือความต้องการช้างในการใช้งานน้อยลง เนื่องจากรัฐมุสลิมชีอะห์ในแคว้นเดคคาน รวมทั้งอาณาจักรเบงกอลได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของจักรพรรดิโมกุลเสียแล้ว ทำให้ความต้องการช้างเพื่อใช้ในสงครามพลอยลดน้อยลงไปด้วย

แม้การค้าช้างของสยามหลังสมัยราชวงศ์ปราสาททองจะซบเซาลงไปมาก แต่ราชสำนักราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็ยังคงส่งช้างออกไปขายที่อินเดียอยู่เป็นระยะๆ ดังหลักฐานในพระราชพงศาวดารกรุงเก่ากล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงให้ต่อเรือกำปั่นขนาดระวางปากกว้าง ๖ วา แล่นใบไปที่เมืองมะริดเพื่อบรรทุกช้างออกไปขายที่อินเดียจำนวน ๔๐ ช้าง๒๖

การค้าช้างยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า และได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ได้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางค้าขายที่เมืองตรังแทน เพราะทวาย มะริด และตะนาวศรีถูกพม่ายึดไปได้ตั้งแต่เสียกรุงครั้งที่ ๒

การค้าช้างของหลวงคงยกเลิกไปในรัชกาลที่ ๔ เมื่อมีการยกเลิกพระคลังสินค้า อันเป็นการยกเลิกระบบผูกขาดทางการค้าของราชสำนักนั่นเอง

แม้ปัจจุบันการค้าช้างจะไม่เป็นที่ยอมรับ และได้รับการต่อต้านจากองค์กรคุ้มครองสัตว์ป่าสากล แต่ด้วยคุณลักษณะอันโดดเด่นและมีชื่อเสียง ทำให้ช้างสยามยังเป็นที่ต้องการในหลายแห่ง และได้รับความนิยมสูง ทุกวันนี้ยังคงมีการค้าช้างกันทั้งภายในประเทศและตามรอยต่อชายแดนโดยเฉพาะด้านตะวันตก ช้างจากประเทศไทยเข้าไปทำงานชักลากไม้อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านจนหลายเชือกได้รับบาดเจ็บเพราะถูกสะเก็ดระเบิด หรือลูกหลงจากการสู้รบระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ช้างยังเป็นของขวัญที่รัฐบาลไทยมอบให้กับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในฐานะทูตสันถวไมตรีผู้นำความปรารถนาดีจากประชาชนชาวไทยสู่คนทั่วโลก

นอกจากคุณูปการที่ได้รับใช้สังคมไทยมายาวนาน ร่วมต่อสู้กอบกู้ชาติบ้านเมืองมาพร้อมกับบรรพชนแล้ว ช้างสยามยังเป็นตัวแทนภาพลักษณ์สินค้าคุณภาพของไทยซึ่งบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์การค้าโลก คือเรื่องราวของเดรัจฉานที่มีคุณต่อชาติบ้านเมือง สมควรที่สัตว์ประเสริฐทั้งหลายจะพึงรู้ค่าและร่วมกันดูแลให้สมกับที่บรรพบุรุษของช้างเหล่านั้นได้สร้างคุณความดีไว้ให้แก่ชาติบ้านเมือง






Create Date : 04 กันยายน 2548
Last Update : 28 ธันวาคม 2548 20:11:15 น. 22 comments
Counter : 4213 Pageviews.

 
เห็นช้างแล้วอยากเข้าไปกอดจัง ระหว่างทางขึ้นบ้านสะเมิงของป้ามด ตอนเช้าๆ ช้างจะเดินไปทำงานที่ปางช้างเป็นแถว พร้องถ่ายมูลเรี่ยราด ดูน่ารักทีสุดเลยค่ะ


โดย: ป้ามด วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:8:38:03 น.  

 
ข้อมูลดีดีมีประโยชน์ทั้งนั้นเลยค่ะ
ขอบคุณมากค่ะ....


โดย: สเลเต วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:9:02:51 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณ Aisha


ขอบคุณนะค่ะ ที่นำสิ่งดีมีประโยชน์มาให้อ่านกัน

ขอให้มีความสุขในวันอาทิตย์นะค่ะ















Aisha




โดย: โอน่าจอมซ่าส์ วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:9:22:03 น.  

 
เห็นช้างมาเดินในกรุงเทพฯแล้วสงสารมากๆค่ะ พี่จูสบายดีนะคะ


โดย: อู้ค่ะ IP: 61.90.9.90 วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:10:49:52 น.  

 
ขอบคุณค๊าพี่จู


โดย: yadegari วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:17:06:24 น.  

 
สบายดีค่ะ พี่ไปอ่านเรื่องน้องอู้คุยเรื่องสุนัขกับน้องเลเต
ขำดีค่ะ


โดย: Aisha วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:19:07:47 น.  

 
ขอบคุณนะคะสำหรับสาระดีๆ ที่นำมาฝากกัน (อยากขี่หลังช้างดูบ้าง แต่ไม่กล้าง่ะ กลัวความสูง)


โดย: รัตน์ดา วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:20:30:48 น.  

 
ดีจังครับ ที่ได้แวะมาอ่าน


โดย: ultraman seven วันที่: 4 กันยายน 2548 เวลา:21:39:12 น.  

 
โห...ยังไม่นอนเหรอคะ


โดย: อิงคยุทธ วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:4:43:12 น.  

 
ตื่นแล้วค่ะ


โดย: Aisha วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:5:01:55 น.  

 
สวัสดีค่ะ
ยาวจังยังอ่านไม่หมดเลยค่ะ
แปะไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวมาอ่านอีกทีนะคะ


โดย: oneni วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:6:20:46 น.  

 



จ๊ะเอ๋ ..
ได้ความรุ้เพียบเลยค่ะ
หัวโต๊โต แต่เช้าเลย ขอบคุณค่ะ




โดย: หนี่หนีหนี้ วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:8:54:03 น.  

 
Good story krab! There are some elephants in Smithsonian Zoo at Washington D.C. too; they look like Thai elephant mak mak; they are very intelligent too!


โดย: POL_US วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:9:40:23 น.  

 
หวัดดีค่ะ พี่จู ใกล้จะได้พักผ่อนวันปิดเทอม แล้วใช่ไม๊คะ ดีใจด้วยค่ะ


โดย: อู้ค่ะ IP: 61.91.79.153 วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:14:16:03 น.  

 
หวัดดีค่ะ ทำไมตื่นเช้าจังอ่ะคะ ไปหาหนมชั้นตั้งแต่ยังไม่ตี 5 เลย

หนมชั้นว่าช้างน่ารักดีค่ะ แต่ว่าเวลาหนมชั้นเห็นทีไร หนมชั้นไม่กล้าเข้าใกล้อ่ะ กลัว อยากจะจับแต่ก็ไม่กล้าอีก แต่หนมชั้นเคยจับละมั่งแล้ว เอานิ้วไปจิ้มๆ ตัวมันสั่นใหญ่เลย



โดย: ขนมชั้น...เธอห้ามกิน!!! วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:15:00:03 น.  

 
แบบว่าเหมือนเข้ามาอ่านหนังสือสอบเยยอ่ะ


โดย: ปลาทูน่าในบ่อปลาพยูน วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:17:51:13 น.  

 



จ๊ะเอ๋ ..หนี่ฯมาอีกแล้วค่ะ
อิ .. อิ..


มาแอบบบบบบบ ดู ชอ ช้างค่ะ




โดย: หนี่หนีหนี้ วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:19:38:13 น.  

 
สวัสดีค่ะน้องอู้ ลูกๆสบายดีนะคะ


โดย: Aisha วันที่: 5 กันยายน 2548 เวลา:20:28:35 น.  

 


โดย: นฤมล IP: 124.121.123.8 วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:16:59:16 น.  

 


โดย: นฤมล IP: 124.121.123.8 วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:00:59 น.  

 


โดย: นฤกรส IP: 124.121.123.8 วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:01:26 น.  

 


โดย: กรชกร IP: 124.121.123.8 วันที่: 3 ตุลาคม 2550 เวลา:17:01:52 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Aisha
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




สวัสดีค่ะ ยินดีต้อนรับสู่
Aisha's blog ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

Friends' blogs
[Add Aisha's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.