|
|
|
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 |
7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 |
14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 |
21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 |
28 | |
|
|
|
|
|
|
|
|
.. ธี..(เรื่องต่อจาก สโตน เฮนจ์..บทที่ 2)
.... ธี ....
บทที่ ๒
กลิ่นเกสรบัวลอยกรุ่นจากสระ แสงสว่างส่องลงต้องกลีบบัว...
ธี นั่งริมสระวักน้ำไล่กอบัวให้พ้นทาง ค่อยๆแทรกกายลงไป ใจอยากจะดำผุดดำว่ายทั่วสระ หากเกรงกลีบบัวขาวจะชอกช้ำ กระนั้นแมลงภู่ผึ้งยังไม่วายโผฮือออกจากลางเกสร บินวนรอบเหนือหัวของ ธี เหมือนข้องใจ มาณพหนุ่มแหงนมอง ยิ้มขำกับอารมณ์ของหมู่ภมรและตนเอง ครั้นแล้วจึงดำผลุบลงในน้ำ ถือโอกาสขยี้ผมดำสลวยไล่ละอองมลทิน
ธี เปลื้องผ้าผืนเดียวที่พันกายอยู่ออก ทำความสะอาดคราบเหงื่อไคลและฝุ่นดินออกจากผ้า..ดำลงในน้ำอีกครั้งเพื่อมุดลงไปถูชำระร่างกายส่วนล่างไม่ให้เป็นที่ประเจิดประเจ้อกับเหล่าเทพยดาฟ้าดิน..
พลันสายตา ธี พบประกายตาสีน้ำเงินคู่นั้นกำลังมองเธออยู่..ทันทีที่สบตา ธี รู้สึกแปล๊บไปทั่วร่าง ซ่าเกษมสุขตั้งแต่หัวจรดเท้า ด้วยความละอายเธอจึงนำผ้าที่ถืออยู่ปิดบังองคาพยพแห่งชายชาตรี พลางประสานสายตาตอบ...
แม้มิได้ตั้งใจ แต่นวลเสียดสีจากเนื้อผ้าก็ทำให้ ธี ถึงซึ่งความปิติปฏิพัทธกิจ เป็นอาหารแก่หมู่ปลาเล็กปลาน้อยที่ว่ายตอดเวียนวน
“เฮ้อ!..” ธี โผล่พรวดขึ้นผิวน้ำ แทบขาดใจเพราะกลั้นลมปราณ ปลาสองสามตัวดีดตัวตามขึ้นมา
“เจ้าปลาเอ๋ย บัวเอ๋ย ข้ามิได้ตั้งใจ อภัยด้วยเถิด” ธี กล่าววาจาขอโทษหมู่มัจฉาและบรรดาบัวที่เธอลงไปรบกวนและสร้างมลทิน
ธี คลี่ผ้ากางผึ่งระหว่างกิ่งไม้ ห้อยชายประหนึ่งม่านกั้นหับรโหฐาน เธอลงนั่งสมาธิเปลือยเปล่าหลังม่าน ผมยาวสลวยที่สถิตหมู่เทพเจ้าทั้งมวล (๑) สยายประบ่าคลุมหลังและย้อยลงเคลียแผงอกอันอุดมด้วยมัดกล้ามเนื้อ..ประหนึ่งนี้คล้ายดั่งอาชีวก (๒) แลนิครนถ์ (๓) นั่งบำเพ็ญเพียรภายใต้ความว่างเปล่าแห่งอาภรณ์...
ธี หาเป็นเช่นนั้นไม่ เธอทำเพราะเพียงผึ่งผ้าให้แห้งเท่านั้น แต่ก็เริ่มรู้สึกโล่งผิวกายและโปร่งใจด้วยมิต้องแบกภาระอะไรไว้เลย
ดวงจันทร์ข้างขึ้นเดือนหกนี้ช่างงามจับใจ แม้จะยังไม่เต็มเพ็ญหากดวงโตกว่าทุกเพลาที่ผ่านมา เพ่งพินิจอีกคราคล้ายประหนึ่งโศกเศร้า..เพราะเหตุใดฤๅ? คงมิได้ล่วงรู้ความในใจของ ธี ที่กำลังสับสนกับชีวิตและวิถีกรรมของเธอ...
ทุกวันนี้ ธี อยู่กับการต่อสู้ การทหาร รบราฆ่าฟัน ซึ่งเธอไม่เห็นดีเห็นงาม ธี ชอบที่จะเห็นชีวิตสงบ ความรัก ความเมตตาช่วยเหลือกัน มากกว่าการประหัตถ์ประหารซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธี ในวันข้างหน้า..เหตุนี้ ธี จึงหนีออกจากพรหมจริยอาศรมทั้งยังไม่จบการศึกษา
เมื่อสิบกว่าปีก่อน ธี เกิด..
มีสมณะท่านหนึ่งมาจำพรรษาอยู่ที่ทักขิณาคีรี (๔) ณ หมู่บ้านเอกนาลา (๕) แถวถิ่นกำเนิดของ ธี ...สมณะท่านนี้เป็นที่ยอมรับของหมู่พราหมณ์และสมณพราหมณ์ ว่าท่านคือ พระสมณโคดม คือเป็นผู้ดำรงชีวิตด้วยภิกขาจาร และถือการปฏิบัติบำเพ็ญตบะ มุ่งทำลายกิเลสเป็นสำคัญ...ครั้งนั้นได้มีเดียรถีย์ (๖) ยอมเข้าอยู่ติตถิยปริวาส (๗) ประพฤติปริวาส (๘) ๔ เดือน และขอบวชเป็นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
พระธรรมของ พระสมณโคดม คือสัจจธรรม ความจริงของชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุผลและแนวทางปฏิบัติให้หลุดพ้นจากการเกิดแก่เจ็บตาย หรือถึงที่สุดคือไม่เกิดอีกเลย ธรรมแก่นนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับที่ ธี ได้เคยเรียนรู้มาว่า การทรมานตนให้ได้รับความลำบาก และการแสวงหาความสุขจากกามคุณ เป็นทางแห่งความสุข ความหลุดพ้น
ธี ปรารถนาถึงคำสอนของ พระสมณโคดม ว่าคืออย่างไร ปรารถนาเข้าใกล้แม้เพียงรัศมีแห่งฉัพพรรณรังสี (๙) ทั้ง ๖ ซึ่งแผ่ประมาณ ๑๒ ศอก รอบพระวรกายแห่งพระองค์...แค่เพียงได้เห็นเป็นศิริบุญแก่ชีวิตเธอ และที่ดั้นด้นอย่างมืดมนมานี้ก็เพื่อเพียงเห็นธรรมนั้นแม้มิรู้หนทิศทาง ธี ก็จะพยายาม อย่างน้อยดวงจิตที่ตั้งมั่นก็อาจนำมาซึ่งแสงสว่างส่องทาง
เพียงแค่คิดถึงพระธรรม แม้มิได้ล่วงรู้สักน้อยแห่งรสนั้น ธี บังเกิดความละอายในรูปเปลือยของเธอ จึงหยิบผ้าจากราวไม้ห่มอำพราง กลิ่นเกสรบัวคลุ้งจรุงจากนวลผ้าเกินกว่าควรจะเป็น
ธี ลงนั่งสมาธิโคนต้นจามาน หงายฝ่ามือบนเข่าทั้งสองข้าง หลับตาเพ่งเข้าในความมืดไร้ขอบเขต เห็นละอองธุลีความสงสัยลอยระยิบอยู่ท่ามกลางความอนธการ เธอเพ่งจิตอยู่นานก็มิเห็นซึ่งแสงสว่างแม้เพียงน้อยนิด...
เวลาล่วงไปสักชั่วยามก็มิเกิดผลต่างอะไรจากเมื่อแรกเริ่ม ธี เขม้นสายตาเพ่งเข้าอีก...เธอปิตินักที่เห็นจุดแสงเรืองเล็กๆ บังเกิดขึ้น..จากจุดหนึ่งกลายเป็นสอง จุดนั้นเรืองแสงเป็นสีฟ้ามิใช่สีทองอุทัยหรือสีเงินแต่อย่างใด สีฟ้านั้นชัดเจนขึ้นเป็นสีน้ำเงิน..สีน้ำเงินใส...
และแล้วดวงตาแห่งความกำหนัดปฏิพัทธ์ก็ปรากฎต่อหน้า...ธี เริ่มพ้นจากการควบคุมของจิต ล่วงเข้าสู่ภาวะกามอย่างไม่สามารถหักห้าม
“โอ้..เจ้าดวงตาสีน้ำเงินเอ๋ย..” ธี เผลออารมณ์ ครางกระเส่า..ฉับพลันนั้นเธอผุดลุกขึ้น แต่ยังไม่ยอมลืมตาด้วยอาลัยอาวรณ์กับความสุขเกษมที่กำลังบังเกิด..ใจหนึ่งอยากยุติความรู้สึกแห่งกามที่มีข้ออ้างถึงวิถีแห่งการหลุดพ้น อีกใจหนึ่งทนการยั่วยุจากสายตาคู่นั้นไม่ได้ มิใยรู้ดีว่ากำลังจะทำให้ผ้าแห่งนวลเกสรบัวมีมลทิน
“ท่านมาณพเอย..” เสียงหนึ่งดังอยู่ไม่ไกล
“ท่าน!” ธี อุทานด้วยความตกใจ ลืมตาขึ้นพบนักบวชท่านหนึ่งยืนอยู่ตรงหน้า
“ขอโทษด้วยที่เรามาผิดกาล” นักบวชนั้นอยู่ด้วยความรีบร้อนจนไม่ทันสังเกตความลำพองแห่งองคาพยพของมาณพ
“มิเป็นไรท่าน ข้าพเจ้าเพียงบำเพ็ญตบะแห่งกามคุณ” ตอบไปแล้ว ธี ก็อดละอายใจไม่ได้ หน้าแดงดั่งผลจามานแรกดรุณ
“เราขอแนะนำท่านมาณพว่า ทางที่เธอปฏิบัติอยู่นั้นหาใช่วิถีทางที่ถูกไม่ ขณะนี้มีสมณะท่านหนึ่ง ชื่อว่า พระสมณโคดม ท่านล่วงรู้สัจจธรรมอันเป็นทางพ้นทุกข์อย่างแท้จริง เรากำลังมุ่งไปนมัสการท่านที่เมืองกุสินารา ดั่งได้ข่าวมา”
“ข้าพเจ้าประมาณว่าเรากำลังอยู่ในป่าแห่งนครไพสาลี ระยะทางอีกไกลกว่าจะถึงเมืองกุสินารา ขอเชิญท่านผู้เหนื่อยล้าพักใต้ร่มจามานนี้สักราตรีก่อนเถิด มีผลจามานสุกมากมายให้รับประทานเพื่อสะสมเป็นแรงสำหรับเดินทางวันพรุ่งนี้” ธี น้อมตัวเชื้อเชิญนักบวชอาวุโสอย่างจริงใจ
“จะไม่ทันการสิท่านมาณพ เราได้ข่าวมาว่าเมื่อเกือบสามเดือนที่แล้วพระสมณโคดมท่านได้ปลงสังขาร ประกาศจะปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนหกที่จะถึง อีกไม่กี่วันนี้” ท่านนักบวชแหงนหน้าดูดวงจันทร์ค่อนดวงบนฟ้า “ต้องรีบเดินทางทันที เราเห็นท่านจึงเข้ามาทักเพื่อถามทาง”
“ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าขอร่วมทาง ด้วยศรัทธาและมุ่งปรารถนาสัจจะความจริงแห่งชีวิตจากธรรมะที่ท่านพระสมณโคดมทรงตรัสรู้” ธี แหงนหน้ามองดวงจันทร์เช่นกัน “เราคงต้องรีบเดินทางดั่งท่านว่า แต่จะมั่นใจในหนทางสักเพียงใด”
“เราพอจะรู้เส้นทางโดยประมาณ หากแวะถามท่านเพื่อความแน่ใจ แม้นท่านไม่ทราบจงตามเรามา” นักบวชไม่รอคำตอบ หันออกเดินไปทางตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมั่นใจ
ธี ก้มลงเก็บผลจามานใส่ย่ามเป็นเสบียง เหลียวมองอำลาสระบัวขาว แลก้าวยาวตามท่านนักบวชผู้นั้น
ตลอดสามวันสามคืนแห่งการเดินทาง ทั้งสองแทบมิได้พูดคุยกันด้วยสงวนพละกำลังไว้สำหรับวิถีอันรีบเร่ง ประมาณว่าผ่านบ้านภัณฑคาม บ้านหัตถีคาม อัมพุคาม ชัมพุคาม และโภคนคร โดยลำดับ ใกล้เมืองกุสินาราเข้าไปทุกขณะ มีนักบวชอีกสองท่านร่วมสมทบทางบุญ
“นี้อย่างไรคืออัมพวัน สวนมะม่วงของนายจุนกัมมารบุตร ซึ่งเป็นผู้ถวายอาหารบิณฑบาตพระสมณโคดม ด้วยสุกรมัททวะ อันเป็นเหตุให้ท่านทรงประชวรพระโรคโลหิตปักขัณทิกาพาธ (๑๐)” นักบวชผู้อยู่ในละแวกเขตเมืองปาวานคร ใกล้สวนมะม่วงอัมพวัน แจงเหตุ
“แลพระสมณโคดม พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดีสู่สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ผู้ครองแคว้นมัลละที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำเมื่อหัวค่ำนี้เอง” อีกนักบวชหนึ่งเสริมและเร่งฝีเท้าจนเกือบจะเป็นวิ่ง
“โอ้..วันเพ็ญ เดือน ๖ ปีมะเส็ง..คือวันนี้แล้ว..” นักบวชอาวุโสที่ร่วมทางกับ ธี มาแต่แรกชูมือทั้งสองขึ้นไปบนฟ้าอันกระจ่างด้วยแสงจันทร์ พลางวิ่งมุ่งไปเบื้องหน้าประหนึ่งคลุ้มคลั่ง..อาการนี้มิได้ต่างจากกันทั้งกลุ่ม แม้แต่ ธี
จันทร์เพ็ญลอยสูงขึ้นทุกขณะ..ใจ ธี เหมือนจะลอยสวนทางกับดวงจันทร์ ความตั้งใจจะได้เข้าถึงสัจจธรรมและคุณวิเศษ อานุภาพแห่งบุญบารมีที่เธอเข้าใจผิดว่าสามารถนำพาสู่การล่วงรู้นิมิต กำลังริบหรี่ลง
นอกเหนือจากธรรมะวิเศษที่ ธี ใฝ่ถึงแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ ธี ปรารถนาเนื่องในการเดินทางมาเฝ้าพระสมณโคดม
มันอาจเป็นบาปที่เจตนาติดตามมาตั้งแต่เกิด บาปที่ ธี เลี่ยงไม่ได้และไม่อยากเลี่ยง แม้จะเริ่มเข้าใจชีวิต แม้จะหนีจากพรหมจริยอาศรม แม้จะเดินทางมาเพื่อรับรสพระธรรม แต่ ธี ก็ยังกรุ่นคิดถึงบาปสีน้ำเงินนั้นอยู่มิรู้วาย
ธี ปรารถนาล่วงรู้ธรรมะอันจะนำให้หลุดพ้นจากความทุกข์แห่งโลก..ปรารถนาอำนาจวิเศษพาไปคลี่คลายความสงสัยที่ติดตัวมานาน...ธี ไม่รู้หรอกว่าความต้องการทั้งสองของเธอไม่อาจร่วมทางกัน
ดวงจันทร์ลอยสูงสุดฟ้า...สามนักบวชและ ธี พากันวิ่งไปทิศทางแห่งแม่น้ำหิรัญวดี มวลดอกไม้ทั้งป่าเริ่มผลิบานอย่างไม่ควรเป็น ส่งกลิ่นหอมอบอวล ดาวดารดาษฟ้า ระยิบระยับ แสงสว่างเรืองรองทาบผืนฟ้าด้านทิศแห่งสาลวโนทยาน...
ข้อมูลชี้แจง
(๑) ในสมัยพุทธกาลบุรุษเพศและพราหมณ์ต้องไว้ผมยาวแล้วมุ่นเป็นมวยไว้ที่ท้ายทอย เพราะตามหลักศาสนาเชื่อว่าบริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของเทวดา
(๒) อาชีวก หมายถึงนักบวช หรือสมณะประเภทเปลือยกายเช่นเดียวกับ นิครนถ์ (๓)
(๔) ทักขิณาคีรี ณ ภูเขาลูกนี้ ที่หมู่บ้านพราหมณ์ชื่อ เอกนาลา (๕) พระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาที่ ๑๑ ภายหลังจากตรัสรู้ เวลา๔๕ ปีแห่งการบำเพ็ญพุทธกิจ
(๖) เดียรถีย์ คือนักบวชภายนอกพระพุทธศาสนา
(๗) ติตถิยปริวาส คือวิธีอยู่กรรมสำหรับเดียรถีย์ที่ขอบวชในพระพุทธศาสนา...จะต้องประพฤติปริวาส (๘) คือการอยู่ชดใช้กรรม ก่อน ๔ เดือนจึงจะอุปสมบทได้
(๙) ฉัพพรรณรังสี คือแสงสว่างที่พวยพุ่งออกจากจุดกลางเป็นรัศมี ๖ ประการ ซึ่งเปล่งออกจากพระสรีรกายของพระพุทธเจ้า คือ
๑. นีละ เขียวเหมือนดอกอัญชัน
๒. ปีตะ เหลืองเหมือนหรดาลทอง
๓. โลหิตตะ ขาวเหมือนแผ่นเงิน
๕. มัญเชฏฐะ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
๖. ปภัสสระ เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
(๑๐) ปักขัณทิกาพาธ คือโรคท้องร่วงเป็นโลหิต
Create Date : 20 กุมภาพันธ์ 2564 |
|
0 comments |
Last Update : 20 กุมภาพันธ์ 2564 11:51:35 น. |
Counter : 739 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
|
BlogGang Popular Award#20
|
สมาชิกหมายเลข 2607062 |
|
|
|
|