"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2564
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
28 สิงหาคม 2564
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

80.ครบรอบ 36 ปี...การปฏิบัติธรรม


 

เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2564


ครบรอบ 36 ปี ของการศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม (จากอายุ 24 ปี ถึงอายุ 60 ปี)


ครบรอบ 36 ปี ของการกินอาหารมังสวิรัติ


และ ครบรอบ 10 ปี ของการกินอาหารมื้อเดียว (เอกาสนโภชนัง)
 

***************

 

การศึกษาธรรม และการปฏิบัติธรรม

 

ทำให้ได้เห็น “ความจริง” จนชัดแจ้งที่ใจว่า

 

“คนเราเกิดมา เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำ สั่งสมเอาไว้ ในชาติก่อนๆ”

 

กรรมดี หรือ กุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก ได้แก่ การได้รับสุข (โลกียสุข) การได้รับลาภ การได้รับยศ การได้รับคำสรรเสริญ การได้ห่างไกลจากโรค การได้ห่างไกลจากภัย การมีมิตรมาก การมีคนคอยช่วยเหลือเกื้อกูลมาก การได้ประสบกับความโชคดี การมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในชีวิต และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ดีๆ” ทั้งหลาย

 

กรรมไม่ดี หรือ อกุศลกรรม มีผลเป็น วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก ได้แก่ การได้ประสบกับความทุกข์ การไม่มีลาภ การไม่มียศ การไม่ได้รับคำสรรเสริญ การเสื่อมลาภ การเสื่อมยศ การได้รับคำนินทา การมีโรค การได้รับโทษ การได้รับภัย การมีมิตรน้อย การมีศัตรูมาก การได้ประสบกับเคราะห์ร้าย และ การได้รับหรือการได้ประสบกับ “สิ่งที่ไม่ดี” ทั้งหลาย

 

“เมื่อคนเราเกิดมาแล้ว คนเราก็จะกระทำ “ทั้งกรรมดีและกรรมไม่ดี” คละเคล้ากันไป ตามอำนาจของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของคนเราอยู่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเป็นอกุศลกรรม

 

ทำให้ ต้องเวียนวนกลับมาเกิดอีก เพื่อมารับผลของกรรม ที่ตนได้เคยกระทำเอาไว้ เป็นวังวน ไม่มีที่สิ้นสุด (เป็นวัฏสงสาร)”

 

***************

 

ผลของกรรมดี หรือ กุศลวิบาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา เป็นสุข เรียกว่า “โลกียสุข (สุขในทางโลก)”

 

โลกียสุข เป็นสิ่งที่ มีความไม่เที่ยง มีความไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวน มีความไม่แน่นอน ไม่อาจจะกำหนดได้ ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ ต้องแสวงหา จึงจะได้

 

โลกียสุข เป็นสิ่งที่ ไม่ควรไปหลงใหลติดใจ และไม่ควรไปหลงยึดมั่นถือมั่น เป็นตัวเป็นตนของตน หรือเป็นของของตน เพราะ จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา อย่างแน่นอน

 

การหลงใหลติดใจในโลกียสุข จะทำให้เกิดความโลภ หรือเกิดความอยากได้มากๆ และเมื่อไม่ได้ตามใจที่อยากได้ ก็จะเกิดความโกรธ ตามมา

 

ความหลง ความโลภ และความโกรธ คือมูลเหตุที่ทำให้คนเรา ต้องกระทำอกุศลกรรมต่างๆ อันมีผลเป็นวิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก

 

ผลของกรรมดี เป็นสิ่งที่ลดลงได้ หมดสิ้นไปได้ มีความไม่เที่ยง มีความไม่แน่นอน ไม่อาจจะกำหนดได้ ไม่อาจจะยึดถือเอาไว้ได้ และเป็นสิ่งที่ ต้องหมั่นเพียรสร้างต้องหมั่นเพียรก่อ เข้ามาเติมเพิ่ม ถ้าไม่หมั่นเพียรสร้างไม่หมั่นเพียรก่อ ก็จะหมดสิ้นไป

 

 ผลของกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก เป็นสิ่งที่ทำให้คนเรา เป็นทุกข์ 

 

***************

 

ทุกๆความรู้สึกนึกคิดที่ไม่ดี

 

ทุกๆการพูดจาที่ไม่ดี

 

ทุกๆการกระทำทางกายที่ไม่ดี

 

ล้วนมีผลเป็น “วิบากกรรมไม่ดี หรือ อกุศลวิบาก”

 

***************

 

ทุกๆความรู้สึกนึกคิดที่ดี

 

ทุกๆการพูดจาที่ดี

 

ทุกๆการกระทำทางกายที่ดี

 

ล้วนมีผลเป็น “วิบากกรรมดี หรือ กุศลวิบาก”

 

***************

 

ทุกคนที่เกิดมาแล้ว

 

ไม่ว่าจะเกิดมา “เพื่อมารับผลของกรรมดี เป็นส่วนใหญ่”

 

หรือเกิดมา “เพื่อมารับผลของกรรมไม่ดี เป็นส่วนใหญ่”

 

ล้วนต้องประสบพบกับความทุกข์ เป็นธรรมดา

 

ความทุกข์ ที่คนเราต้องประสบพบเจอ เป็นธรรมดา ได้แก่ ความทุกข์อันเกิดจาก ความเจ็บความป่วย ความแก่ความชรา ความตาย ความพัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความทุกข์อันเกิดจากกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ความทุกข์อันเกิดจาก ความร้อน ความหนาว ความหิว ความกระหาย ความกลัว ความวิตกกังวล ฯลฯ

 

“โดยสรุปแล้ว การเวียนเกิดเวียนตาย เพื่อมารับผลของกรรม เป็นการเวียนวน อยู่วังวนของความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด”

 

***************

 

ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและจิตใจของคนเรา โดยส่วนใหญ่แล้ว มีมูลเหตุมาจาก “กิเลส ตัณหา และอุปาทาน”

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งชักนำให้คนเรา “ทำอกุศลกรรม”

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งที่ทำให้คนเรา ต้องเวียนเกิดเวียนตาย อยู่ในวังวนของความทุกข์ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

กิเลส ตัณหา และอุปาทาน คือสิ่งที่เกิดขึ้นจาก “อวิชชา หรือ ความไม่รู้” (ตาม ปฏิจจสมุปบาท)

 

ดังนั้น ถ้าเราต้องการจะพ้นทุกข์ หรือ ดับทุกข์

 

เราต้องชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่ครอบงำจิตใจของเราอยู่ ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้น

 

หรือ เราต้องทำการ “ดับอวิชชา”

 

***************

 

การปฏิบัติธรรม เพื่อทำความดับทุกข์ คือการปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ 3”

 

โอวาทปาฏิโมกข์ 3 ประกอบด้วย

 

1. ไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง ไม่สร้างอกุศลวิบาก(วิบากกรรมที่ไม่ดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

 

2. หมั่นทำกุศลทั้งหลาย ให้ถึงพร้อม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ หมายถึง หมั่นสร้างกุศลวิบาก(วิบากกรรมดี) มาเติมเพิ่มให้กับชีวิต

 

3. ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส หมายถึง หมั่นชำระล้าง กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ซึ่งเป็นอกุศลมูล (มูลเหตุของอกุศล) ออกจากจิตใจ ให้หมดสิ้น (ดับอวิชชา)

 

การปฏิบัติตาม “โอวาทปาฏิโมกข์ 3” คือ การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” โดยใช้ "ศีล สมาธิ และปัญญา" ขับเคลื่อน

 

การใช้ “ศีล สมาธิ และปัญญา” ขับเคลื่อน “มรรคมีองค์ 8” ต้องใช้ อิทธิบาท 4 สัมมัปปธาน 4 สติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 และ โพชฌงค์ 7 ร่วมด้วย

 

 

อิทธิบาท 4 สัมมัปปธาน 4 สติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และ มรรคมีองค์ 8 คือ โพธิปักขิยธรรม 37

 

โพธิปักขิยธรรม คือธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ (ความดับอวิชชา)

 

***************

 

มรรคมีองค์ 8 คือทางเดินสู่ความพ้นทุกข์ หรือ ความดับแห่งกองทุกข์

 

การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งทำให้ “ความทุกข์” ลดลง โดยลำดับ

 

การเดินไปตามทาง “มรรคมีองค์ 8” ยิ่งเดินไปข้างหน้า ยิ่งได้รับ “ความสุขสงบ” มากขึ้น โดยลำดับ

 

ชาญ คำพิมูล

28/8/2564




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2564
0 comments
Last Update : 28 สิงหาคม 2564 7:26:52 น.
Counter : 623 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.