"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2565
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
15 พฤษภาคม 2565
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 
98. การปฏิบัติโอวาทปาฏิโมกข์ 3 เพื่อความดับทุกข์ ตอนที่ 9



การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อทำความดับทุกข์
 
โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ
 
จะทำให้เกิด “การบรรลุธรรม” ตามลำดับ
 
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
***************
 
การบรรลุธรรมตามลำดับ
 
คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และ พระอรหันต์
 
จะใช้ “สังโยชน์ 10” เป็นเกณฑ์
 
สังโยชน์ หมายถึง น. เครื่องพัวพัน, เครื่องผูกรัด, หมายเอากิเลสที่ผูกคนไว้กับวัฏสงสาร มี ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฐิ เป็นต้น พระอริยบุคคลเมื่อละสังโยชน์เป็นลําดับจนหมด ก็เป็นพระอรหันต์


...ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน
 
สังโยชน์ 10 ประกอบด้วย

1. สักกายทิฏฐิ หมายถึง การยึดมั่นถือมั่นเป็นตัวเป็นตนของตน หรือ เป็นของของตน

2. วิจิกิจฉา หมายถึง ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ

3. สีลัพพตปรามาส หมายถึง การถือศีลแบบลูบๆคลำๆ การถือศีลตามหลักศาสนาหรือตามประเพณีนิยม เป็นการถือศีลหรือการปฏิบัติศีล ที่ไม่ก่อให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง หรือ การดับสิ้นไป” ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน หรือ เป็นการถือศีลหรือการปฏิบัติศีล ที่ไม่ก่อให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง หรือ การดับสิ้นไป” ของความทุกข์ (ไม่ก่อให้เกิดมรรคผล ที่จะทำให้ดับทุกข์ได้)

4. กามราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในกาม (รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส)

5. ปฏิฆะ หมายถึง ความเคืองใจ ความขัดใจ

6. รูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในความสุขอันเกิดจากรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตโดยอาศัยรูปในจิต

7. อรูปราคะ หมายถึง ความหลงใหลติดใจในความสุขอันเกิดจากอรูปฌาน หรือ ความสุขที่เกิดขึ้นในจิตโดยไม่อาศัยรูป

8. มานะ หมายถึง ความถือตัวยกตนข่มท่าน

9. อุทธัจจะ หมายถึง ความฟุ้งซ่านของจิต

10. อวิชชา หมายถึง ความไม่รู้จริง “จนชัดแจ้งที่ใจ” ใน “ความทุกข์ ความเกิดแห่งกองทุกข์ ความดับแห่งกองทุกข์ และ วิธีการทำความดับแห่งกองทุกข์” 
 
“จนชัดแจ้งที่ใจ หมายถึง จนใจยอมรับ จนใจยอมปรับยอมเปลี่ยน และ จนใจยอมปล่อยยอมวาง”
 
สังโยชน์ ข้อที่ 1 ถึง ข้อที่ 5 เรียกว่า สังโยชน์เบื้องต่ำ หรือ โอรัมภาคิยสังโยชน์

สังโยชน์ ข้อที่ 6 ถึง ข้อที่ 10 เรียกว่า สังโยชน์เบื้องบน หรือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์
 
***************
 
๘. สังโยชน์สูตร
ว่าด้วยผู้สิ้นสังโยชน์
[๘๘] ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก บุคคล ๔ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว
๒. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก
๓. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม
๔. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ
บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระโสดาบัน เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า บุคคลเป็นสมณะผู้ ไม่หวั่นไหว เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระสกทาคามี เพราะสังโยชน์ ๓ ประการสิ้นไป เพราะราคะโทสะและโมหะเบาบาง มาสู่โลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว ก็จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นโอปปาติกะ เพราะสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการสิ้นไป จะปรินิพพานในภพนั้น ไม่หวนกลับมาจากโลกนั้นอีก บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บุคคล ๔ จำพวกนี้แล มีปรากฏอยู่ในโลก
สังโยชน์สูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา: โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๑ หน้า :๑๓๔-๑๓๕}
 
***************
 
บุคคลผู้บรรลุธรรม มี 4 จำพวก คือ
 
1. บุคคลเป็นสมณะผู้ไม่หวั่นไหว หมายถึง พระโสดาบัน

พระโสดาบัน หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 3 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส

พระโสดาบัน เป็นผู้พ้นจากภัยเวร 5 ประการแล้ว คือ เป็นผู้ที่มีราคะโทสะและโมหะ อยู่ในระดับที่ไม่ก่อให้เกิดภัยเวร 5 ประการแล้ว

2. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปุณฑริก หมายถึง พระสกิทาคามี

พระสกิทาคามี หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 3 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา และ พ้นสีลัพพตปรามาส และ เป็นผู้ที่สามารถทำให้ราคะโทสะและโมหะเบาบางลงแล้ว (ยังคงเหลือ กามราคะและปฏิฆะ)

3. บุคคลเป็นสมณะเหมือนดอกปทุม หมายถึง พระอนาคามี

พระอนาคามี หมายถึง ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 5 ประการแล้ว คือ พ้นสักกายทิฏฐิ พ้นวิจิกิจฉา พ้นสีลัพพตปรามาส พ้นกามราคะ และ พ้นปฏิฆะ

พระอนาคามี เป็นโอปปาติกะ มีการผุดเกิดขึ้นของสุข (สุขที่ไม่อาศัยรูป) และ รูปในจิต (นามรูป) โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยจากภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส และ สัมผัส (เป็นส่วนของธรรมารมณ์) ทำให้เกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) เป็นอารมณ์สุข เป็นมานะ เป็นอุทธัจจะ (ยังมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่)
 
4. บุคคลเป็นสมณะผู้ละเอียดอ่อนในหมู่สมณะ หมายถึง พระอรหันต์

พระอรหันต์ หมายถึง  ผู้ปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” จนพ้นสังโยชน์ 10 ประการแล้ว เป็นผู้ที่ทำให้แจ้งทั้งเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ (ไม่มีกิเลสที่หมักหมมนอนเนื่องอยู่ในจิต) คือ หมดสิ้นกิเลสโดยบริบูรณ์แล้ว
 
เจโตวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นอันเกิดจากการปฏิบัติ “สมถะ” คือ ละราคะได้แล้ว

ปัญญาวิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้นอันเกิดจากการปฏิบัติ “วิปัสสนา” คือ ละอวิชชาได้แล้ว
 
***************
 
[๓๒] ธรรม ๒ ประการนี้เป็นฝ่ายวิชชา
ธรรม ๒ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมถะ (การฝึกจิตให้สงบเป็นสมาธิ)
๒. วิปัสสนา (ความเห็นแจ้ง)
สมถะที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้จิตเจริญ
จิตที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละราคะได้
วิปัสสนาที่ภิกษุเจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมให้ปัญญาเจริญ
ปัญญาที่เจริญแล้ว ย่อมให้สำเร็จประโยชน์อะไร
คือ ย่อมละอวิชชาได้
จิตที่เศร้าหมองเพราะราคะ ย่อมไม่หลุดพ้น
ปัญญาที่เศร้าหมองเพราะอวิชชา ย่อมไม่เจริญ
เพราะสำรอกราคะ จึงมีเจโตวิมุตติ
เพราะสำรอกอวิชชา จึงมีปัญญาวิมุตติ
พาลวรรคที่ ๓ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๐ หน้า :๗๖ }
 
****************
 
การปฏิบัติ “ศีล สมาธิ และ ปัญญา” เพื่อทำความดับทุกข์

โดยใช้ “อริยมรรคมีองค์ 8” เป็นแนวทางในการปฏิบัติ

จะทำให้เกิด “การลดลง การจางคลายลง การเบาบางลง และ การดับหมดสิ้นไป” ของความทุกข์

และ จะทำให้เกิด "ความสุขสงบของจิตใจ (วูปสโมสุข) เพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ จนถึงที่สุดของความสุขสงบของจิตใจ คือ ความสุขในพระนิพพาน"
 
ชาญ คำพิมูล
15 พฤษภาคม 2565 วันวิสาขบูชา

 


Create Date : 15 พฤษภาคม 2565
Last Update : 15 พฤษภาคม 2565 8:05:18 น. 0 comments
Counter : 383 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.