"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
<<
มีนาคม 2563
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
8 มีนาคม 2563
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

44. โสดาบัน...ผู้ระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว



การปฏิบัติธรรม เพื่อการพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) หรือ การปฏิบัติธรรม เพื่อการบรรลุธรรม (โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และ อรหันต์) คือ การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘

การเดินไปตามทางอริยมรรคมีองค์ ๘ คือ การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา (ไตรสิกขา) ให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อให้เกิดเป็น อธิศีล (ศีลอันยิ่ง) อธิจิต (สมาธิอันยิ่ง) และ อธิปัญญา (ปัญญาอันยิ่ง)

การปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สูงขึ้นโดยลำดับ คือ การนำเอา “กิเลส” ในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) ระดับกลาง (ปริยุฏฐานกิเลส) และ ระดับละเอียด (อนุสัยกิเลส) มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” โดยลำดับ แล้วเพียรทำ “ศีล” ที่กำหนดตั้งเอาไว้ ให้บริบูรณ์ โดยใช้ “สมาธิ (สมถภาวนา)” และ “ปัญญา (วิปัสสนาภาวนา)” ร่วมกัน

***************


ในเบื้องต้น พระพุทธองค์ได้ทรงนำเอา “ภัยเวร ๕ ประการ” มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อให้ผู้ที่ปรารถนาจะพ้นทุกข์ (ดับทุกข์) หรือ ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุธรรม ได้ยึดถือปฏิบัติ ให้บริบูรณ์ เป็นเบื้องต้น เรียกว่า ศีล ๕

ศีล ๕ ประกอบด้วย

๑. งดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. งดเว้นจากการลักทรัพย์
๓. งดเว้นจากการประพฤติในกาม
๔. งดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. งดเว้นจาก การดื่มสุรา เมรัย และ การเสพของมึนเมาทั้งหลาย (มัชชะ)

***************

ศีล ๕ ข้อที่ ๑ – ๔ เป็นสัมมากัมมันตะและสัมมาวาจาอันเป็นเบื้องต้น และ เป็นกุศลกรรมบถ (การละอกุศลกรรม)

ศีล ๕ ข้อที่ ๕ ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นกุศลกรรมบถ อาจเป็นเพราะ การดื่มสุรา เมรัย และ การเสพของมึนเมาทั้งหลาย เป็นการกระทำต่อตน มีโทษและมีภัยต่อตนโดยตรง

อกุศลกรรม หรือ กรรมไม่ดี หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ที่ไม่ดี ที่เป็นการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่เป็นการทำร้ายทำลายชีวิตผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่เป็นการทำให้ผู้อื่นและสัตว์อื่นเป็นทุกข์ เดือดร้อนกายและเดือดร้อนใจ มีผลเป็น อกุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมไม่ดี

กุศลกรรม หรือ กรรมดี หมายถึง การกระทำทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ที่ดี ที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและสัตว์อื่น ที่ทำให้ผู้อื่นและสัตว์อื่น พ้นจากทุกข์ ได้รับสุข สบายกาย และ สบายใจ มีผลเป็น กุศลวิบาก หรือ วิบากกรรมดี

กุศลกรรมบถ หมายถึง ธรรมที่ชี้ทางไปสู่ความดี หรือ ทางเดินไปสู่ความดี มี ๑๐ ประการ คือ

๑. การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
๒. การงดเว้นจากการลักทรัพย์ 
๓. การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
๔. การงดเว้นจากการพูดเท็จ
๕. การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ
๖. การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด
๗. การงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
๘.
การไม่โลภ การไม่อยากได้ การไม่อยากมี และ การไม่อยากเป็น ในสิ่งที่เกินความจำเป็นของชีวิต (อนภิชฌา)
๙. การไม่พยาบาทปองร้าย (อัพยาบาท)
๑๐. การเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) 

***************

ผู้ที่ปรารถนาจะบรรลุพระโสดาบัน ต้องทำตนให้พ้นจาก “ภัยเวร ๕ ประการ” ให้ได้ เป็นเบื้องต้นก่อน โดยการปฏิบัติศีล ๕ ให้บริบูรณ์หรือให้เป็นปกติของตน

เมื่อปฏิบัติศีล ๕ ได้บริบูรณ์หรือได้เป็นปกติของตนแล้ว ให้นำเอากิเลสในระดับหยาบ (วีติกกมกิเลส) มากำหนดตั้งให้เป็น “ศีล” เพื่อยึดถือปฏิบัติให้บริบูรณ์หรือให้เป็นปกติของตน เป็นลำดับต่อไป

***************

. ปฐมภยเวรูปสันตสูตร
ว่าด้วยอริยสาวกระงับภัยเวร สูตรที่ ๑

[๑๐๒๔] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคหบดี ผู้นั่ง ณ ที่สมควรว่า
“คหบดี เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการได้แล้ว ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกาเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
 
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. บุคคลผู้ฆ่าสัตว์ เพราะการฆ่าสัตว์เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์แล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
๒. บุคคลผู้ลักทรัพย์ ฯลฯ
๓. บุคคลผู้ประพฤติผิดในกาม ฯลฯ
๔. บุคคลผู้พูดเท็จ ฯลฯ
๕. บุคคลผู้เสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เพราะการเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาท เป็นปัจจัย จึงประสบภัยเวร ที่เป็นไปในปัจจุบันบ้าง ในสัมปรายภพบ้าง เสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง บุคคลผู้เว้นขาดจากการเสพของมึนเมา คือสุราและเมรัย อันเป็นเหตุแห่งความประมาทแล้ว ย่อมระงับภัยเวรนั้นได้ อย่างนี้
อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้
 
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
๑. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
๒. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
๓. ประกอบด้วย ความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
๔. ประกอบด้วย ศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ สมาธิ
อริยสาวกประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้
 
อริยสาวกนั้น เห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มนสิการโดยแยบคายด้วยดี ซึ่งปฏิจจสมุปบาท
คือ เมื่อเหตุ (มีอวิชชาเป็นต้น) นี้มี ผล (มีสังขารเป็นต้น) นี้จึงมี เพราะสหชาตปัจจัยนี้เกิด ผลนี้จึงเกิด เมื่อเหตุนี้ไม่มี ผลนี้จึงไม่มี เพราะเหตุนี้ดับ ผลนี้จึงดับ คือ
เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
ฯลฯ
ความเกิดแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
 
เพราะอวิชชาดับไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
อริยสาวกนั้น เห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญา เป็นอย่างนี้แล
 
เมื่อใด อริยสาวกระงับภัยเวร ๕ ประการนี้ ประกอบด้วยองค์เครื่องบรรลุโสดา ๔ ประการนี้ และเห็นแจ้งแทงตลอดอริยญายธรรมด้วยปัญญาแล้ว เมื่อนั้น อริยสาวกนั้น เมื่อหวังอยู่ พึงพยายากรณ์ตนเองได้ว่า ‘เรามีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานสิ้นแล้ว มีภูมิแห่งเปรตสิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ และวินิบาต สิ้นแล้ว เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า”
 
ปฐมภยเวรูปสันตสูตรที่ ๘ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า :๕๔๓-๕๔๕ }

ชาญ คำพิมูล
 




 

Create Date : 08 มีนาคม 2563
0 comments
Last Update : 22 มีนาคม 2563 7:17:54 น.
Counter : 1338 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.