"ไม่มีใครผู้ใด ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้ ตัวของเราเท่านั้น ที่จะทำให้เรา พ้นทุกข์ได้"

สมาชิกหมายเลข 5067499
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ศึกษาและปฏิบัติธรรม มากกว่า 38 ปี
Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2562
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
10 กุมภาพันธ์ 2562
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 5067499's blog to your web]
Links
 

 

10. การปฏิบัติไตรสิกขา เพื่อให้เกิด การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘


 
หลักไตรสิกขา ประกอบด้วย
 
๑. ศีล หมายถึง สิ่งที่กำหนดตั้งขึ้นมา เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ

การกำหนดตั้งศีล จะกำหนดตั้งให้สูงขึ้นโดยลำดับ เพื่อทำให้เกิด "การเคลื่อนที่ไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘"
 
๒. สมาธิ หมายถึง การทำจิตใจ ให้ตั้งมั่น ให้ไม่หวั่นไหว ให้ไม่กระเพื่อมไหว ให้ไม่เกิดการปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล
 
๓. ปัญญา หมายถึง การทำความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล เพื่อทำให้เกิด การละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ 
(ไม่เกิดการหลงใหล หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน อันจะทำให้เกิด การละเมิดศีล และ ไม่เกิดการหลงยึดมั่นถือมั่น ในกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะทำให้เกิด การละเมิดศีล)
 
 
การกำหนดตั้งศีล ต้องกำหนดตั้งให้สูงขึ้นโดยลำดับ โดยนำเอากิเลสในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด มากำหนดตั้งให้เป็นศีลตามลำดับ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ระดับกลาง และ ระดับละเอียด ออกจากจิตใจ ตามลำดับ เรียกว่า “อธิศีล”
 
การปฏิบัติสมาธิ จะทำให้เกิดสมาธิจิต ที่สูงขึ้นโดยลำดับ ตามศีล เรียกว่า “อธิจิต”
 
การปฏิบัติปัญญา จะทำให้เกิดปัญญา ที่สูงขึ้นโดยลำดับ ตามศีล เรียกว่า “อธิปัญญา”
 
ส่งผลให้เกิด การเคลื่อนไปตามทาง มรรคมีองค์ ๘ โดยลำดับ
 
การปฏิบัติศีล สมาธิ และปัญญา (ไตรสิกขา) จะต้องปฏิบัติ ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป
 
จึงจะเกิดมรรคผล โดยลำดับ คือ
 
๑. เกิดการลดลง จางคลายลง ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน โดยลำดับ
 
๒. เกิดจิตที่ตั้งมั่น เป็นสมาธิ (สัมมาสมาธิ) มากขึ้น โดยลำดับ
 
๓. เกิดปัญญาในทางธรรม (สัมมาทิฏฐิ) มากขึ้น โดยลำดับ
 
 
หลักการปฏิบัติ ศีล สมาธิ และปัญญา ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป คือ
 
๑. กำหนดตั้งศีล เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ
 
ในลำดับแรก ให้ปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา โดยใช้ ศีล ๕ เป็นหลักปฏิบัติ
 
และ เมื่อเรามี ศีล ๕ เป็นปกติของตนแล้ว
ให้นำเอากิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ มากำหนดตั้ง ให้เป็นศีลของตน เพื่อยึดถือปฏิบัติ ให้เป็นปกติ หรือ เพื่อชำระล้าง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ ออกจากจิตใจ
 
กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ในระดับหยาบ หมายถึง กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่จะก่อให้เกิด การละเมิดศีล ๕ หรือ ที่จะก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น ได้แก่
 
ความโลภ ความอยากได้ ความอยากมี ความอยากเป็น ที่มีมากมาย เกินความจำเป็นของชีวิต ไม่มีที่สิ้นสุด จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความโกรธ ความโทสะ ความผูกโกรธ ความพยาบาท ความอาฆาตแค้น
 
ความหลงใหลติดใจในอบายมุขทั้งหลาย
 
ความหลงใหลติดใจในกามเมถุน ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความหลงใหลติดใจ ในรูป รส กลิ่น เสียง และ สัมผัส ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
ความหลงใหลติดใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ ที่มีมากมาย จนก่อให้เกิด ทุกข์ โทษ ภัย แก่ตน แก่ผู้อื่น หรือ แก่สัตว์อื่น
 
๒. ทำจิตใจให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ” ไม่ปล่อยให้จิตใจ กระเพื่อมไหว ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อระงับ ไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (เพียรระงับ ดับกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น)
 
๓. เพียรเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของกิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อทำให้เกิด ”ปัญญา” ในทางธรรม จนเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ (ทำศีล ให้เป็นปกติ ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ)
 
 
แนวทางการปฏิบัติ ศีล สมาธิ และ ปัญญา ให้สอดร้อยเกี่ยวเนื่องกันไป คือ
 
๑. ทำความมีสติ (ระลึกรู้ตัว ทั่วพร้อม อยู่เสมอ) เพียรตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น สภาวะจิต (เพื่อระมัดระวัง ไม่ให้เกิดการละเมิด ในสิ่งที่เราได้กำหนดตั้งเอาไว้ ให้เป็น “ศีล”)
 
๒. เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น แล้วทำให้เกิด กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ขึ้นในจิตใจ ให้มีสติรับรู้ การเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และ การดับไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน และ ให้เพียรพยาม ทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ” ไม่ปล่อยให้จิตใจ กระเพื่อมไหว ปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม กิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ที่เกิดขึ้น เพื่อระงับ ไม่ให้เกิดการละเมิดศีล (เป็นการทำจิตใจ ให้สงบระงับ ให้ตั้งมั่น ให้เป็น “สมาธิ”)
 
๓. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง จนชัดแจ้งถึง ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) ของ กิเลส ตัณหา และอุปาทาน ที่เกิดขึ้น จนเกิดการละหน่ายคลาย และ การปล่อยวางได้ เป็นการทำให้ศีล กลายเป็นสิ่งปกติ (ปกติวิสัย) ไม่ต้องยึด ไม่ต้องถือ (ทำความรู้แจ้งเห็นจริงที่ใจ จนเกิด “ปัญญา” ล้างอวิชชา)
 
๔. เพียรหมั่นเพ่งพิจารณา ตามดู ตามรู้ และ ตามเห็น ความลดลง ความจางคลายลง และ ความดับสิ้นไป ของกิเลส ตัณหา และ อุปาทาน ภายในจิตใจ เพื่อให้มองเห็น “มรรคผล” แม้มีประมาณน้อย
 
 
การปฏิบัติไตรสิกขา ที่ถูกที่ตรง จะทำให้เกิด
 
๑. ความเห็นที่ถูกที่ตรง (สัมมาทิฐิ) ไม่หลงยึดมั่นถือมั่นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๒. ความคิดที่ถูกที่ตรง (สัมมาสังกัปปะ) ไม่หลงคิดปรุงแต่งไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๓. การพูดที่ถูกที่ตรง (สัมมาวาจา) ไม่หลงพูดไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๔. การกระทำที่ถูกที่ตรง (สัมมากัมมันตะ) ไม่หลงกระทำไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๕. การประกอบอาชีพที่ถูกที่ตรง (สัมมาอาชีวะ) ไม่หลงประกอบอาชีพ ที่เป็นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๖. ความเพียรที่ถูกที่ตรง (สัมมาวายามะ) ไม่หลงเพียรกระทำ ในสิ่งที่เป็นไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๗. ความมีสติที่ถูกที่ตรง (สัมมาสติ) ไม่เผลอสติ หลงปรุงแต่ง (สังขาร) ไปตาม อำนาจของกิเลส
 
๘. ความมีสมาธิที่ถูกที่ตรง (สัมมาสมาธิ) สงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อมไหวไปตาม อำนาจของกิเลส
 
ชาญ คำพิมูล




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2562
0 comments
Last Update : 23 กุมภาพันธ์ 2563 3:45:13 น.
Counter : 931 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.