ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
26 เมษายน 2552
 
All Blogs
 
"นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม" โดย คำ ผกา - บทความที่ผมชอบมากที่สุดในรอบปีนี้

ว่าจะเลี่ยงไม่พูดถึงเรื่องการเมืองแล้ว
แต่พอได้อ่านบทความของคุณคำ ผกาในมติชนสุดสัปดาห์เล่มใหม่ (ปกคุณสนธิ ลิ้มทองกุล) แล้ว อยากลุกขึ้น standing ovation ให้เลย

ใครก็ได้ ช่วยรวมเล่มบทความในมติชนสุดสัปดาห์ของคุณคำ ผกาให้หน่อยครับ อยากอ่านมาก ตอนนี้

หมายเหตุ - เน้นคำสีแดงเป็นของผมเอง



*************************





นับแต่นี้ไปไม่เหมือนเดิม

คำ ผกา

มติชน สุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24-30 เมษายน 2552



ป้าทองไม่ได้สวมเสื้อแดง แกเป็นแค่ชาวบ้านสันคะยอม เรียนหนังสือจบชั้นประถมหรือเปล่าไม่แน่ใจอาชีพของแกคือ แม่บ้าน

แม่บ้านในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเมีย เพราะผัวแกตายไปนานแล้วแม่บ้านในที่นี้ ภาษาละครหลังข่าวเขาเรียกกันว่า คนใช้

ป้าทองจะเป็นอะไรก็ช่างฉันรู้แต่ว่า แกเป็นคนบ้านเดียวกับฉัน วันหนึ่งแกมาซื้อเนื้อที่หมู่บ้าน ฉันก็เลยหยั่งเสียงเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง และเหตุการณ์วุ่นวายที่เกิดขึ้นระหว่างสงการณ์ ในขณะที่พวกเรากำลังยุ่งอยู่กับการทำแกงฮังเลไปวัด

“คนเขาไปเดินขบวนไล่รัฐบาลกันป้าทองว่ายังไง”

"อู๊ยย...บ้านเมืองวุ่นวายร้อนร้าย ถ้าป้าทองเป็นรัฐบาล จะลาออก รู้ทั้งรู้ว่าประชาชนไม่ได้เลือกตัวเองมาเป็นรัฐบาลยังจะหน้าด้านอยู่ได้ เออ ถ้ายุบสภา เลือกตั้งใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ชนะ ป้าไม่ว่าซ๊ากคำ จะยอมรับเสียงคนที่เขาเลือกโดยดี แต่นี่อะไรไม่รู้ อยู่ ๆ ก็ขึ้นมาเป็นรัฐบาล สมควรแล้วที่จะโดนประชาชนขับไล่ จริงไหม”

ป้าตอบยืดยาว สมฉายา ป้าทอง(โว) โว แปลว่าคุยโวโอ้อวดนั่นเอง

ฉันยอมรับว่าอึ้งกับคำตอบของป้าทอง ป้าไม่ได้เรียนหนังสือมาก ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ป้าดูข่าวและติดละครของแพนเค้ก เหมือนชาวบ้านอีกทั้งประเทศไทย ไม่ได้พูดคำว่าประชาธิปไตยแต่ป้าช่างอธิบายมันออกมาชัดเจนแจ่มกระจ่าง ความจำของป้าไม่ได้สั้นเหมือนใครบางคน ป้ายังจำได้ว่าการเลือกตั้งครั้งล่าสุด หลังจากรัฐบาลของ คมช. ป้ายังจำได้ว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากคือพรรคพลังประชาชน และหัวหน้าพรรคคือนายสมัคร สุนทรเวช ที่เป็นหัวหน้าพรรค ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

เหตุการณ์หลังจากนั้นป้าคงเข้าใจไม่ได้ ทำไม นายกฯ ที่มาจากพรรคที่ครองเสียงข้างมากถึงถูกถีบออกไปจากเวทีการเมืองไทยในเวลาอันสั้น

ทำไมพันธมิตร ถึงสามารถชุมนุมยืดเยื้อได้หลายเดือนโดยไม่มีใครกล้าทำอะไร

ทำไมคนเหล่านั้นถึงเข้าไปร้องรำทำเพลงในทำเนียบได้ นานนานแถมยังมีใครไม่รู้ไปอุตริจัดงานแต่งงานเป็นที่ครื้นเครง

ทำไมแก๊สน้ำตาทำให้คนแขนขาขาดอย่างมีนัยสำคัญ

งง ยิ่งกว่านั้น กลุ่มพันธมิตรไปยึดสนามบินตั้งหลายวัน ผู้คนเดือดร้อนมหาศาล เศรษฐกิจของชาติยับเยิน แต่คนที่เสียงดังในสังคมนี้กลับยกย่องคนยึดสนามบินว่าเป็นพวกกู้ชาติ กู้ประชาธิปไตย แกนนำไม่มีใครโดนจับดำเนินคดี

น่าเจ็บใจกว่านั้น บางคนที่ชื่นชมม๊อบพันธมิตรออกหน้าออกตา ยังได้เป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่กระทรวงขี้หมูขี้หมา เป็นกระทรวงการต่างประเทศเสียด้วย

ป้าทองไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์หรอก และไม่รู้ด้วยว่าฉายาของรัฐบาลนี้คือ เทพประทาน ป้าทองแค่ไม่เข้าใจว่าทำไมเสียงโหวตของประชาชนจึงไม่ได้รับการเคารพ ป้าทองไม่เข้าใจหรอกว่ามือที่มองไม่เห็น แปลว่าอะไร และเป็นใคร ป้าทองเข้าใจตามประสาป้าทองว่า เรามีการเลือกตั้งและเราควรจะยอมรับผลการเลือกตั้งนั้นแม้มันจะไม่ถูกใจเรา

ฉันอึ้งกับคำตอบของป้าทองเพราะมันแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมไทยไม่เหมือนเดิม และไม่มีวันจะเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ไม่มีครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ชาวบ้านธรรมดา ๆ อย่างป้าทองจะตระหนักในความหมายของเสียงหนึ่งเสียงที่ตัวเองกากบาทลงไปในบัตรลงคะแนน

ไม่ว่าสื่อมวลชน ชนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ที่คิดว่าตัวเองเป็นสัตว์ประเสริฐเหนือชาวบ้านร้านช่อง จะเฝ้าเรียกคนที่มาร่วมชุมนุมเสื้อแดงว่า เป็นผู้หลงผิด เป็นสาวกทักษิณ เป็นพวกขายสิทธิ ขายเสียง และยังไม่รู้ทันเล่ห์กลของนักการเมือง

หนังสือพิมพ์บางเล่มยิ่งอาการหนัก เพราะเรียกผู้ชุมนุมสีแดงว่า หางแดง หรือ แดงประจำเดือน สะท้อนและส่อให้เห็นถึงวุฒิภาวะ และรสนิยมของหนังสือพิมพ์นั้นได้อย่างดี นักวิชาการที่สังวาสเสพสุขกับสื่อชนิดนี้ คงหมดแล้วซึ่งสามัญสำนึกแห่งผิดชอบชั่วดี โดยสิ้นเชิง

มีคนพูดกันมากเรื่อง 2 มาตรฐาน ความแตกต่างระหว่างม๊อบมีเส้น กับไม่มีเส้น มีหลายคนบอกว่าม๊อบเสื้อแดงกำลังรุกเร้าให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งการเผารถเมล์ การเอารถแก็สมาขู่ การปะทะกันตรงนั้นตรงนี้ระหว่างคนหลายกลุ่ม หลายฝ่าย และความตึงเครียดระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน ที่ผ่านมา

แต่ฉันอยากจะทบทวนอีกสักนิดว่าก่อนที่จะเกิดการจลาจลและกีฬาสีสงคราม แดง เหลือง น้ำเงิน นั้น มันเกิดอะไรขึ้น

จะปฏิเสธไหมว่า หากไม่มีรัฐประหาร 2549 จะไม่มีสงครามสีในวันนี้

และใครก็ตามที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารควรสำเหนียกว่าประเทศไทย ณ พ.ศ.นี้ ไม่เหมือนกับประเทศไทยปี 2550 อีกต่อไปแล้ว คนไทย ชาวนา ชาวไร่ กรรมกรไทย ไม่ใช่ราษฎรโง่ ๆ เชื่อง ๆ แบบตัวละครเรื่องสั้น เขียดขาคำ ของลาว คำหอมอีกต่อไป

ชาวบ้านไม่ได้เห็นนายอำเภอแล้วรีบก้มกราบอีกแล้ว เราไม่ได้อยู่ในยุคที่ขึ้นไปบนที่ว่าการอำเภอแล้วขาสั่นผับ ๆ เพราะกลัวเจ้ากลัวนาย เราไม่ได้อยู่ในยุคที่เรียกข้าราชการว่า เจ้าคนนายคน

เราอยู่ยุคที่ นายกเทศบาลตำบลนั้นเป็นลูกของลุงศรีทน ที่มีนาติดกับนาของเราแถมยังฟ้อนผีมดร่วมกันทุกปี นายก อบต. ก็เป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ เราอยู่ในยุคที่ไม่ได้ตื่นเต้นกับการไปดำหัวผู้ว่าฯ ที่ขอโทษเดี๋ยวนี้แทบไม่รู้เรื่องว่าชื่ออะไร เพราะมันช่างเป็นตำแหน่งที่ไร้ความหมาย หลังการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

คำว่าสถานที่ราชการ ที่เคยทรงอำนาจขู่ให้ประชาชนต้องเดินตัวลีบ ๆ บางทีถึงขั้นถอดรองเท้านั้นเกือบจะมีความหมายเท่ากับศาลพระภูมิ ในสมัยที่ชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา

เทคโนโลยีของการสื่อสาร วิทยุชุมชน การทำงานภาคประชาชนของ NGO ที่ดำเนินการมายาวนานเราต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของประชาชนคนเดินดิน ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นประชาชน มีสิทธิ มีเสียง มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเองผ่านสิ่งที่เรียกว่านโยบายของรัฐบาล ชาวบ้านได้เรียนรู้ว่าหากเราไม่พอใจการตัดสินใจของรัฐบาล เราสามารถเรียกร้อง ต่อรอง ทำการรณรงค์กับประชาชนกลุ่มอื่น ๆ เพื่อหาแนวร่วม หรือเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ขอมูลข่าวสาร ที่แตกต่างออกไปจากโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล

สังคมไทยมีคนอย่างยายไฮ เกิดขึ้นแล้ว มีสมัชชาคนจน มีสหภาพแรงงานที่กำลังตื่นตัว มีกลุ่มพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างแข็งขัน เรามีคนไข้ที่ลุกขึ้นฟ้องร้องหมอ (50 ปีที่แล้วยังเห็นหมอเป็นเทวดา และพูดภาษาเทพที่คนธรรมดาไม่เคยฟังรู้เรื่อง)

เรามีกลุ่มองค์กรนอกรัฐที่เกิดขึ้นมาเพื่อยืนยันสิทธิ์ศักดิ์ศรีของคนไทย ที่หรือหน่วยราชการไม่เคยอ่าน เขาว่าเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีและสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ เท่ากับคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเคืรอข่ายผู้ติดเชื้อฯ เครือข่ายหญิงบริการ ฯลฯ

ลองคิดดูแล้วกันว่าสังคมเราเดินมาไกลขนาดไหน ไกลจนถึงจุดที่ทั้งกะหรี่ ทั้งกะเทย ออกมาเป็นแอ็คทิวิสต์ เดินสายประชุมกับเฟมินิสต์ นักวิชาการ และเพื่อนนักกิจกรรมทั่วโลกเพื่อยืนยันศักดิ์ศรีแห่งอาชีพของตน

แล้วใครหน้าไหน ยังจะคิดว่าจะลุกขึ้นมาทำรัฐประหารได้ง่ายดายเหมือนยุคของสฤษดิ์ แล้วใครอย่ามาคิดว่าจะลุกขึ้นมา Exercise อำนาจอย่างเดียวกับที่ สฤษดิ์ เคยทำกับคนไทยสมัยนั้น ร้ายไปกว่านั้นในยุคแห่งการรื้อสร้างและเสียดสี การรณรงค์และโฆษณาชวนเชื่อในกฤษฏาภินิหารต่าง ๆ นานาเพื่อให้ประชาชนสมยอมอำนาจนั้นทำได้ยากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นอกจากจะไม่ชวนเชื่อ แล้วยังน่าหัวเราะเยาะและรังแต่จะถูกนำมาล้อเลียนให้เสียผู้เสียคนกันไปข้าง

เราอยู่ในยุคเทคโนโลยี่อยู่แค่การ คลิก คลิก คลิก โทรศัพท์มือถือของนาย ก. นาง ข. ที่ไหนก็ถ่ายรูปได้ สื่อของรัฐแสดงรูป ๆ หนึ่ง ประชาชนก็สามารถเอารูปอีกรูปหนึ่งมาแสดงทาบกันคัดง้างความหมาย ความเชื่อกันได้อย่างทันท่งที เพราะฉะนั้น การผูกขาดข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นแค่ฝันเปียกของรัฐบาล ICT ทำได้แค่วิ่งไปปิดเวปนั้น เวปนี้ไปวัน ๆ ทว่ายิ่งปิดกั้น ยิ่งกักกัน ประชาชนยิ่งหลีกเร้น แหวกทางหาช่องใหม่ ภาษาใหม่ ถ้อยคำใหม่ สัญลักษณ์ใหม่ ๆ ทีรัฐไม่มีวันจะตามไปปิดหูปิดตาได้มิดชิดอีกต่อไป ยิ่งปิดเรายิ่งสามารถค้นหาทางหนีได้แยบยลยิ่งขึ้น

คำสามัญอย่าง “ซาบซึ้ง” กลับซ่อนนัยชวนหัวมีพลังถึงขั้นพลิกขั้วของโลกให้กลับตาลปัตรได้

เพราะฉะนั้นที่วิ่งไล่ปิดวิทยุชุมชน จนหัวสั่นหัวคลอนนั้นอย่าหวังว่าจะสามารถทำการผูกขาดข่าวสารข้อมูลได้ง่ายดาย และจะเอาประชาชนมาใส่ขื่อใส่คาได้ตามใจชอบ เพราะยิ่งปิดก็จะยิ่งมีช่องทางใหม่ ๆ มาทดแทน

นี่จึงเป็นกระบวนการต่อต้านรัฐประหาร (และขอไว้อาลัยแก่ภาพประชาชนที่เอาดอกกุหลาบไปให้ทหาร) หลังจากนั้นที่ดำเนินการมาอย่างเป็นอารยะนั่นคือ ไม่มีการออกมาชุมนุมหรือใช้ความรุนแรงใด ๆ นอกจากภาพการรณรงค์ด้วยข้อมูลเท่าที่จะทำได้ ส่วนชาวบ้านอย่างป้าทองเชื่อว่า เมื่อมีการคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยการเลือกตั้ง ทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง
ทีไหนได้ กลายเป็นว่ามีการใช้สถาบันตุลาการอย่างตั้งใจที่จะตัดตอนพรรคไทยรักไทย สุดท้ายเมื่อผลการเลือกตั้งออกมา กลับมีความพยายามที่จะใช้วิธีนอกกฎหมายในการกำจัดพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างกดดันและต่อเนื่องผ่านพันธมิตรฯ ใส่เสื้อสีเหลือง

มาถึงวันนี้ฉันคงไม่ต้องอ้อมค้อม เด็กมัธยม ยังรู้เลยว่านี่ไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการ exploit การเมือง ภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด corrupt ที่สุดหน้าด้านและดัดจริตที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

วาทกรรมว่าด้วยประชาธิปไตยแบบไทย ๆ บวกกับมายาคติว่าด้วยนักการเมืองชั่วช้าสามานย์ เข้ามาเพื่อกอบโกย มือสกปรกโกงกิน ถูกนำเสนออย่างต่อเนื่อง พร้อมกับกระแสเรียกร้องหาผู้ปกครองในอุดมคติปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน การเมืองโปร่งใส good governance ศีลธรรม คุณธรรม ไปจนถึงเกมชิงความจงรักภักดีอย่างเข้มข้นถึงตอนนี้คำว่า ประชาธิปไตย
ไม่สำคัญเท่ากับ ฆ่าทักษิณออกจากจักรวาลการเมืองไทย ไม่มีประชาธิปไตยไม่เป็นไรขอให้เอาทักษิณออกไปให้ได้ก่อน ความผิด และความไม่ชอบธรรมของทักษิณ ไม้ได้นำมาพิจารณาไต่สวนกันด้วยเหตุผล

แต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อปลุกเร้าความเกลียดชังและ simplified ปัญหาของประเทศไปไว้ที่ผู้ชายชื่อทักษิณ ราวกับว่าหากไม่มีทักษิณเสียคน ประเทศไทยจะเรืองรองผ่องอำไพ ผุดผ่องงดงาม ขึ้นมาในบัดดล เมื่อดึงดัน ถีบส่ง และฆ่าทิ้งรัฐบาลที่ประชาชนเลือกเข้ามาอย่างหน้าด้าน และอีกพรรคหนึ่งก็หน้าด้านพอที่จะขึ้นมาเป็นรัฐบาล คุณอภิสิทธิ์ก็กล้าขึ้นมาเป็นนายกฯ ท่ามกลางเครื่องหมายคำถามจากทั่วโลก (ฉันอายแทนมาก ๆ ) และในที่สุดประชาชนก็ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงลุกข้นมาชุมนุมเพื่อทวงถามความเป็นธรรม ความยติธรรม และความหมายของประชาธิปไตย ในขณะที่ก่อนหน้านี้กลุ่มพันธมิตรทำในสิ่งตรงกันข้าม

นี่คือสัญญาณที่บอกชนชั้นนำไทยว่า การเมืองไทยจะไม่เหมือนเดิม คนไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วสำนึกทางการเมืองของพวกเราเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ชนชั้นนำไม่อาจ manipulate ชี้นำและสนตะพายเราด้วยคำพูดเพราะ ๆ หน้าหล่อ ๆ ยิ้มหวาน ๆ พิธีกรรมสารพัดพิธี อย่างที่เคยทำอีกต่อไป

ประชาชนไทยเปลี่ยนไปแล้วมีแต่ชนชั้นนำที่ไม่รู้ตัว หรือเฝ้าหลอกตัวเองว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม และจะต้องเหมือนเดิมตลอดไป

*************************************

ใครคิดเห็นอย่างไร บอกกล่าวกันได้ครับ





Create Date : 26 เมษายน 2552
Last Update : 26 เมษายน 2552 2:56:44 น. 8 comments
Counter : 2706 Pageviews.

 
Greatest discovery this month!

-Greasy Cafe': สิ่งเหล่านี้
ตอนแรก ฟังแบบไม่ตั้งใจ รู้สึกแปลกๆ กับเสียงนักร้อง เลยไม่ได้หยิบขึ้นมาฟังอีกเลย
พอกลับมาตั้งใจฟังอีกที รู้สึกว่า สุดยอดมาก โดยเฉพาะเนื้อเพลง ลึกซึ้งจริงๆ

-The Rich Man Toy: แดนสวรรค์คอยอยู่
ที่ไม่ฟังเพราะเหตุผลเดียวกับข้อข้างบน แถมด้วยความหมั่นไส้คุณนักร้องนำเป็นการส่วนตัว
แต่พอเอามาฟังตอนนี้จากที่เคยรู้สึกหนวกหู กลับกลายเป็นฟังแล้วเพลินมาก
ตอนนี้ฟังวันละ 5 รอบอย่างต่ำ

-Blackhead : Full Favour
ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสมัยก่อนชุดนี้ถึงดังมาก
ประทับใจมาก และอยากให้แบลกเฮดทำเพลงให้ได้แบบนี้อีก

-หนังสือข้างหลังโปสการ์ด : หลานเสรีไทย (136)
แซ่บมากๆๆๆๆ อารมณ์เหมือนคุณคำ ผกาเขียนหนังสือท่องเที่ยว
อ่านเล่มนี้จบ รู้สึกว่าหนังสือท่องเที่ยวเล่มอื่นจืดไปเลย

-Phoeby Cates
เพิ่งได้ดูหนังที่เธอแสดงตอนสาวๆ
เธอสวยและน่ารักมากจนน่าตกใจ
เป็นความสวยน่ารักที่หาไม่ค่อยได้จากดาราสมัยนี้


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:2:48:54 น.  

 
ประชาธิปไตยคือหัวใจสีแดง


โดย: Stjerne Ng วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:3:15:54 น.  

 
"ใครคิดเห็นอย่างไร บอกกล่าวกันได้ครับ"

ไม่รู้จะบอกยังไงครับ ไอ้ที่คุณคำ ผกาเขียน (รวมทั้งแนวคิดที่จขบ.เสริมเข้ามา) ก็เห็นด้วย แต่ในฐานะคนที่ความมั่นคงของหน้าที่การงานขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจและความรุ่งเรืองของการลงทุน ผมไม่อยากให้สีอะไรออกมาทั้งนั้นในตอนนี้ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า เราไม่มีเวลาจะเสียไปกับเรื่องพวกนั้นแล้ว ประเทศชาติตอนนี้เหมือนเด็กที่กำลังป่วยหนัก ผมอยากเห็นใครช่วยรักษาเยียวยาเค้า มากกว่าจะมาตบตีกันว่าใครกันแน่ที่ควรจะเป็นผู้ปกครอง (เรื่องนั้นรอให้เด็กแข็งแรงก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกทีดีไหม?)


โดย: แฟนผมฯ (ที่สะดุ้งตื่นมาเข้าห้องน้ำแล้วดันนอนไม่หลับ) IP: 117.47.194.194 วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:6:00:12 น.  

 
ประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้ว และ ไม่อาจพลิกย้อนกลับไปได้ มีแต่จะต้องเดินหน้าต่อไป

เป็นการต่อสู้ระหว่าง ระบอบอภิชณาธิปไตย และ ประชาธิปไตย...


โดย: moonfleet วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:10:44:23 น.  

 
ดูแลตัวเองดีดี สร้างภูมิคุ้มกันตัวเองให้แข็งแกร่ง ยืนอยู่ได้ด้วยลมหายใจของตัวเอง อดทนครับ เหล็กที่แข็งกล้าก็ต้องผ่านการตีอย่างหนักผ่านเปลวไฟที่แผดร้อน ประเทศชาติจะเจริญก็ต้องผ่านสิ่งเหล่านี้ครับ ส่วนจะเดินทางไปทางใดก็ต้องแล้วแต่หมู่มวลประชาเสียงส่วนใหญ่ชี้นำ ผมไม่ได้ลำเอียงแต่ก็คิดว่ารัฐบาลตอนนี้ก็มาจากเสียงส่วนใหญ่ เพราะได้รับเสียงโหวตมากที่สุดที่ตัวแทนของประชาชนเลือกเขาเข้ามา ถ้าประชาชนเห็นว่าตัวแทนประชาชน (สส.)ไม่ได้ทำหน้าที่ตามความประสงค์ของเจ้าของเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าก็อย่าให้เสียงแก่เขาแต่ตอนนี้ต้องทำใจครับเพราะคุณมอบอำนาจให้เขาแล้วส่วนจะถูกใจหรือไม่ประชาชนต้องตัดสินใจเองและใช้อำนาจผ่านตัวแทนในครั้งต่อไปก็เหมือนตอนรัฐบาลก่อน ๆ ที่ประชาชนที่เขาเลือกอีกฝั่งและไม่ได้คนที่ตัวเองชอบเข้ามาทำงานเขาก็ต้องยอมรับมันก็ไม่ถูกต้องที่จะเคลื่อนไหวให้ได้ตามใจของตัวเอง... อำนาจของประชาชนคือใช้อำนาจผ่านตัวแทนของเขาถ้าไม่พอใจก็เคลื่อนไหวอยู่ในกฏหมายให้ฝ่ายที่อยู่ในอำนาจได้รับรู้ ถ้าฝ่ายอำนาจไม่คล้อยตามความ่เห็นของคุณ คุณก็ลงโทษเขาด้วยการไม่เลือกเขาในสมัยต่อไป...ส่วนรัฐประหารนั้นมันเป็นเรื่องของกรรมครับ ใครทำอย่างไรเขาก็ได้รับอย่างนั้นไป ถ้าคณะปฏิวัติจิตไม่บริสุทธิซักวันกรรมก็จะตามสนองเขาไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ส่วนคนที่ถูกปฏิวัติถ้าเขาทำผิดจริงสักวันเขาก็จะรับผลกรรมที่เขาได้ทำไว้...แต่ประชาชนอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ก็ไม่ควรจะเคลื่อนไหวอะไรจนเกินเลยขอบเขตให้ส่วนรวมเสียหาย ไม่ใช่หนามยอกก็เอาหนามบ่ง ลองเอาจเป้าหมายความสงบและความเจริญ่ของประเทศชาติมาเป็นที่ตั้งและก็ค่อยเคลื่อนไหวตามอุดมการณ์จากจุดเป้าหมายนั้นผมว่าน่าจะสร้างสรรค์กว่าคับ..

ปล. ผมชอบวิธีการณ์และแนวคิดของคุณ รมย์รวินท์(ขออภัยถ้าเขียนชื่อผิด) ที่มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์การเคลื่อนไหวแบบนี้คือประชาธิปไตยแบบก้าวหน้าครับ ผมว่าเขายึดจุดความสงบและความเจริญของประเทศมาเป็นจุดยึดเหนี่ยวและเคลื่อนไหวอุดมการณ์จากจุดนั้นครับ... ยังไงก็ฝากไว้น่ะครับ..พี่น้องประชาชนคนไทยทุกท่าน


โดย: I'm espresso IP: 202.176.167.200 วันที่: 26 เมษายน 2552 เวลา:17:37:30 น.  

 
สัมภาษณ์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ : วันที่สังคมไทย...ไร้มืออาชีพ วิกฤตฝังลึก...อภิสิทธิ์ทำอะไรไม่ได้ ! ...ต้องกลับไปสู่หลักที่ถูกต้อง

//www.matichon.co.th/prachachat/prach...;sectionid=0223

ประชาชาติธุรกิจ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

ก่อน เหตุการณ์สงกรานต์จลาจล ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ระวังรัฐธรรมนูญปี 2550 จะนำสังคมไทยไปสู่ทางตัน

คำเตือน...มาถึงเร็วเกินคาด วันนี้สังคมไทยไร้ทางออกจากความขัดแย้ง

ปลาย เมษายน "ประชาชาติธุรกิจ" นั่งสนทนากับ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อีกครั้ง ในห้วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุด เพราะแม้แต่คนในครอบครัวเดียวกันยังทะเลาะกันเรื่องการเมือง

นี่คือบทวิพากษ์ที่เผ็ดร้อนอีกครั้งหนึ่ง...ก่อน ดร.วรเจตน์จะเดินทางไปพักผ่อนยาวที่ประเทศเยอรมนีในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้


มองปรากฏการณ์เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่ม นปช.อย่างไร

ผม คิดว่าการมองกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องมองแบบแยกแยะหน่อย เพราะถ้าไปมองอย่างเหมารวม เราก็จะไม่เห็นประเด็นของการเคลื่อนไหว และจะไม่เข้าใจความเคลื่อนไหว แน่นอนว่าฝ่ายหนึ่งที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับคุณทักษิณก็ต้องมองว่ากลุ่ม นปช.เป็นพวกพ้องของคุณทักษิณ เคลื่อนไหวเพื่อตัวคุณทักษิณ

แต่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเคลื่อนไหวของ นปช. คุณทักษิณได้ประโยชน์ แต่ผมไม่คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.เป็นไปเพื่อคุณทักษิณเพียง อย่างเดียวเท่านั้น แต่ผมคิดว่ามีประเด็นในทางหลักการที่มีมากกว่านั้น ซึ่งน่าเสียดายว่าถูกละเลยโดยสื่อกระแสหลัก โดยนักวิชาการกระแสหลัก

เหตุผล ที่ละเลยหรือพยายามไม่เข้าใจเรื่องนี้ ผมคิดว่าเข้าใจได้ไม่ยาก ก็คือมาจากความเกลียดชังคุณทักษิณนั่นเอง จึงไม่พยายามมองภาพการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ในเชิงหลักการ เพราะถ้าหันกลับมามองในเชิงหลักการเคลื่อนไหว ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มีประเด็นเคลื่อนไหวน่าสนใจหลายประเด็น บางประเด็นถูกจุดขึ้นมาแล้วก็หายไป

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันคือ การพุ่งเป้าไปที่กลุ่มอำนาจ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มอำนาจที่เป็นทางการในทางการเมือง หรือกลุ่มคนที่อยู่นอกรัฐธรรมนูญ ที่มีบทบาทกำหนดทิศทางความเป็นไปในทางการเมือง เดิมทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ เวลาผมมองประเด็นทางกฎหมาย ผมก็มีความรู้สึกว่ากระบวนการใช้กฎหมายที่เป็นมาในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไม่สอดคล้องกับหลักการหรือหลักวิชาที่ควรจะเป็นในหลายเรื่อง

และผม ก็ยืนยันความเห็นที่เคยให้ไปทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรากฎหมายย้อนหลัง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคล การที่บุคคล คนเดียวกระทำความผิดแล้วยุบพรรคการเมืองทั้งพรรค หรือก่อนหน้านั้น ก็คือการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา ซึ่งผมบอกว่า จะไม่แก้ปัญหาอะไรเลย รวมถึงเรื่องการยุบพรรคครั้งล่าสุด การทำให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไปด้วยการทำกับข้าว ออกอากาศ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการต่อสู้กันในเชิงของอำนาจระดับบน

ผม คิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง มีประเด็นสำคัญคือ ชี้ไปซึ่งตัวบุคคลที่มีบทบาทในแง่ของการขับเคลื่อนในทางการเมือง ซึ่งเดิมทีเป็นคนในสังคมทั่วไปยกเอาไว้ ไม่แตะต้อง เช่น กลุ่มองคมนตรี หรือคนในองค์กรตุลาการ เช่น ประธานศาล

แต่วันนี้เราปฏิเสธข้อเท็จ จริงไม่ได้ว่า มีการกินข้าวกันจริงที่บ้านคุณปีย์ มาลากุล คนที่ไปทานข้าวก็มีทั้ง องคมนตรีและประธานศาล ซึ่งเป็นฝ่ายตุลาการ ผมว่าแค่ประเด็นนี้ประเด็นเดียวก็ชี้ให้เห็นว่าการต่อสู้ทางการเมืองนี้ มีอะไรมากกว่าที่เราเห็นกันบนสื่อกระแสหลัก

อีกเรื่องที่อาจจะ เกี่ยวพันกันก็คือ เรื่องของสิทธิของบุคคล ผมว่าถ้าตัดเรื่องคุณทักษิณไปแล้ว การเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ด้านหนึ่งมีความชอบธรรมในระดับหนึ่งทีเดียวในทางการเมือง

ถามว่า ความชอบธรรมอยู่ตรงไหน ก็ตรงที่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขา ในแง่ของการที่เขาตั้งรัฐบาล แต่รัฐบาลถูกล้มโดยกลุ่มบุคคลหรือชนชั้นกลางระดับหนึ่งในเมือง กลุ่มนักวิชาการจำนวนหนึ่งในเมือง ซึ่งรับไม่ได้กับการทำงานหรือพฤติกรรมของคุณทักษิณ

แต่ปัญหาไม่ได้ อยู่ตรงนั้น ปัญหาอยู่ที่คุณไม่ชอบคุณทักษิณ ถามว่าจะมีความชอบธรรมมั้ยที่จะล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยที่ประชาชนเลือก อย่างที่ผมบอก เขาจะเลือกผิดเลือกถูก แต่เขาตัดสินใจเลือก

ผมจึงรู้สึกว่า การที่เสื้อแดงเคลื่อนเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อเขาจะมา บอกว่า นี่คือรัฐบาลที่เขาตั้งขึ้น (นะ) คุณไม่มีสิทธิที่จะล้มไม่ว่าจะโดยกลไกในนามของอะไรก็ตาม เช่น ในนามของตุลาการภิวัตน์ ที่มีการพูดกันมา 3 ปีแล้ว แล้วทุกคนก็เห็นว่าทำให้ประเทศเข้ารกเข้าพง ทำให้ปัญหาแก้ยากยิ่งขึ้นลึกลงไปอีก

แต่อย่างไรก็ตาม เสียงของคนเสื้อแดงที่ผมติดตามจากสื่อกระแสหลัก ไม่ได้ให้พื้นที่เขา ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์สงกรานต์ การชุมนุมก่อนหน้านั้นมีพื้นที่ในสื่อค่อนข้างน้อย ฉะนั้น ผมจึงบอกว่าในแง่มุมนี้ หลักการหลายเรื่องถูกต้อง และเป็นสิทธิที่เขาจะเคลื่อนไหว แต่พ่วงไปกับ คุณทักษิณ

แต่เท่า ที่ผมตามประเด็นในการเคลื่อนไหว ผมคิดว่ากลุ่มเสื้อแดงเคลื่อนไหวในเชิงหลักการ เขาไปไกลกว่าคุณทักษิณมากแล้ว แต่ว่าสื่อกระแสหลักก็ดี นักวิชาการกระแสหลักก็ดี ยังติดอยู่กับประเด็นของคุณทักษิณ

- แต่ช่วงสงกรานต์จลาจล การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงรุนแรงไปหรือเปล่า ทำให้ภาพลักษณ์การเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป

ใช่ ครับ อันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าพูดประเด็นนี้ก็อาจจะต้องแฟร์กับเขานิดหนึ่ง ผมคิดว่าคนที่ใส่เสื้อแดง คนที่หยิบเสื้อแดงมาสวมกับคนเสื้อแดง ต้องแยกกันให้ดี ไม่ใช่คนทุกคนซึ่งใส่เสื้อแดง เอาเสื้อแดงมาสวมจะเป็นคนเสื้อแดง เราอย่าเพิ่งไปสรุปแบบนั้น

ในเชิง ของข้อเท็จจริง ยังต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไปอีกว่า ตกลงบุคคลซึ่งสวมเสื้อ สีแดง แล้วกระทำการก่อการจลาจล เป็นคนเสื้อแดง หรือเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวของเสื้อแดงจริงหรือไม่อย่างไร ซึ่งต้องรอพิสูจน์ในทางข้อเท็จจริง แต่ประเด็นวันนี้ได้เกิด การพิพากษาไปแล้วในสกู๊ปข่าวที่ทำทางโทรทัศน์ หรือในหนังสือพิมพ์ต่างๆ ว่าคนที่สวมเสื้อแดงกับคนเสื้อแดงที่เคลื่อนไหวเป็นกลุ่มเดียวกัน

ถ้า ถามผม ผมว่ามีทั้ง 2 ส่วน คือมีทั้งคนเสื้อแดงจริงๆ ที่ร่วมอยู่ในการเคลื่อนไหว ที่มีปฏิกิริยาแล้วก็โต้กลับไปด้วยความรุนแรง แต่ผมไม่แน่ใจว่าเป็นทั้งหมดหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่ายังปรู๊ฟไม่ได้ การยิงกันตายที่นางเลิ้งก็ดี การเผามัสยิดก็ดี เหล่านี้ยังต้องการพิสูจน์ ยังต้องการข้อเท็จจริงที่หลากหลายกว่านี้

แต่ว่าข้อเท็จจริงที่ ผ่านมาในโทรทัศน์หรือในหนังสือพิมพ์ก็ดี มันไปในทิศทางเดียว คือไม่เปิดพื้นที่อีกด้านหนึ่งให้มีโอกาสได้พูด แล้วคนในสังคมรับข้อเท็จจริงในกรอบแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อทำโพลสำรวจความคิดเห็น จึงออกมาแบบนั้น คือตำหนิการเคลื่อนไหว เพราะการรับรู้ข้อเท็จจริง รับรู้ผ่านทีวี ผ่านสื่อที่เป็นสื่อกระแสหลัก ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเราไม่ได้ฟังว่ามีอะไรเกิดขึ้น

ที่พูดอย่างนี้ ผมไม่ได้จะให้ความชอบธรรมกับการใช้ความรุนแรง แต่ผมคิดว่ามันต้องแยกแยะ และระหว่างที่เราพูดถึงเรื่องความรุนแรง อีกด้านหนึ่งจะต้องตั้งคำถามกลับไปด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้น เป็นปฏิกิริยาที่มีต่ออะไร แต่เราไม่ตั้งคำถามแบบนี้ เพราะฝ่ายอำนาจรัฐอ้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจรัฐ แต่ถามว่าหากมองย้อนกลับไปในอดีต มีอะไรมากไปกว่านั้นหรือไม่

การ ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา คือการใช้กำลังในทางทหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย เป็นคนเลือกรัฐบาล แต่ล้มไปโดยการที่ทหารเอารถถังออกมายึดอำนาจ นี่เป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง

ตาม มาด้วยการใช้กลไกในทางกฎหมาย มีการตรากฎหมายโดยประกาศ คปค.ออกกฎหมายมา แล้วใช้กฎหมายย้อนหลัง โดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยุบพรรค การเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองทุกคน เป็นความรุนแรงอีกด้านหนึ่งเหมือนกัน

ตามมาด้วยการล้มรัฐบาลคุณ สมัคร (สุนทรเวช) และการยุบพรรคพลังประชาชน วันนั้นสภาพการคือ ความไม่พอใจมันฝังอยู่ในกลุ่มคนเสื้อแดงสูงมาก นี่คือความรู้สึก ที่บอกว่าเกิดการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรม

แน่นอน...การเผารถเมล์หรือ อะไรต่างๆ ถ้าเป็นความรุนแรงที่มีความผิด ก็ต้องว่ากันไปตามผิด แต่ต้องพูดในมาตรฐานเดียวกัน แต่วันนี้เราไม่ได้พูดในมาตรฐานเดียวกัน เราไม่ได้รู้สึกว่าการยึดอำนาจมาใช้กฎหมายไปย้อนหลังยุบพรรค การปลดนายกฯโดยเรื่องคุณสมบัติ เราไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นความรุนแรง

ผม คิดว่าความรุนแรงพูดได้หลายมิติ ความรุนแรงของคนเสื้อแดง อาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดร้อน แต่ความรุนแรงอีกด้านหนึ่งอาจเป็นความรุนแรงแบบเลือดเย็น

ฉะนั้น เวลาเราพูด คุณต้องแฟร์ ปัญหาก็คือ บ้านเมืองจะไม่จบเลย (ครับ) ถ้าไม่ยอมรับกัน ถ้าอีกด้านหนึ่งบอกว่าถูกอยู่อย่างเดียว ซึ่งสำหรับผม (นะ) ที่ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรกับเขาด้วย ผมก็บอกว่าไม่ถูก 3 ปีแล้วมันผิด แล้วก็ผิดกันมาตลอด

- แล้วจะออกจากวิกฤตที่ผิดมาตลอดจะต้องทำอย่างไร

ก็ ต้องกลับเข้าสู่หลักที่ถูกต้อง แล้วให้ระบบเดินไป อะไรที่เบี่ยงไปจากความถูกต้องเราต้องกล้าบอกว่าผิด อย่าไปทำให้มันถูกเพียงเพราะว่าเกลียดหรือชังทักษิณ

- หากย้อนกลับไปในหลักการที่ต้องเป็นรูปธรรมควรจะเป็นยังไง แก้รัฐธรรมนูญหรือออกกฎหมายนิรโทษกรรม อย่างนั้นหรือเปล่า

อัน นี้จะยากแล้ว พอพูดในทางที่เป็นรูปธรรมจะยาก คือ ถ้าพูดให้ถึงที่สุด จะต้องสมมติสถานการณ์ที่ย้อนกลับไปก่อนรัฐประหาร 19 กันยาน่าจะดีที่สุด ซึ่งคนก็จะไม่ยอมรับ แต่ว่าในเชิงของการจำลองผมอาจจะหมายความว่า สิ่งที่ทำถัดจากนั้นมา ต้องใช้ไม่ได้หมดทุกฝ่าย แล้วกลับไปเริ่มต้นตรงจุดที่เป็นศูนย์ใหม่

ทุกฝ่ายเริ่มต้นในกติกา กันใหม่ แล้วองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ก็ต้องออกไปให้หมด องค์กรอิสระต่างๆ ต้องไปกันหมด แล้วก็เริ่มต้นจากจุดจากศูนย์ใหม่ หมายความว่าก็ต้องมีการเลือกตั้ง รีฟอร์มรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมด ก็ต้องเริ่มอย่างนั้น ไม่มีทางอื่น

ทาง ที่พอจะเป็นไปได้ ที่ผมเคยเสนอก็คือ ช่วงที่มีการดีเบตรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผมบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นปัญหากับสังคมของเราในวันข้างหน้าอย่าง แน่นอน ในหลายเรื่อง และวันนี้คนจำนวนไม่น้อยก็เริ่มเห็นว่าเป็นปัญหา คนที่ยังบอกว่าไม่เป็นปัญหาผมคิดว่าก็อาจจะเหลือสุดท้ายคือ ท่านที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ กับองค์กรที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือกลุ่มพันธมิตรฯ

แต่ในระยะถัดไป ผมคิดว่าคนจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหาหมด ทั้งปัญหาเรื่องที่มา กระบวนการจัดทำ และทั้งภาพรวมในการจัดสถาบันในทางการเมืองและโครงสร้างขององค์กรในทางรัฐ ธรรมนูญทั้งหมด ฉะนั้นตอนนี้ถ้ามีใครบอกว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เป็นเพียงแค่การปะ ชุน มันจะไม่แก้ปัญหาหรอก (ครับ) แม้อาจจะทำให้เรื่องบางเรื่องหายไป สมประโยชน์ของบางฝ่าย แต่อีกหลายจุดก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ ความไม่เป็นหลักเกณฑ์ของมาตรา 190 เรื่องการทำสัญญาระหว่างประเทศก็ยังอยู่ในรัฐธรรมนูญ นี่เป็นตัวอย่าง

- แต่การย้อนกลับไปก่อน 19 กันยาคง ไม่ง่าย เพราะตอนนี้บ้านเมืองขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันมากเหลือเกินแล้ว

ที่สุดผมถึงบอกว่า...ผมไม่เห็นทาง ผมพูดอย่างคนจนปัญญาว่า ผมไม่เห็นทางจริงๆ เพราะสั่งสมเหตุปัจจัยกันมาเป็นลำดับ คือไม่รู้จะพูดยังไง ตอนนี้สถานการณ์ไปเร็วกว่าที่ผมคิด

- อาจารย์มองบทบาทคุณอภิสิทธิ์ยังไง จะเข้ามาแก้วิกฤตรอบนี้ได้หรือไม่

ผม คิดว่า คุณอภิสิทธิ์ทำไม่ได้ เพราะปัญหามันลึกและฝังรากเกินกว่าที่รัฐบาลจะทำได้ แล้วบางเรื่องในสังคมไทยยังมีเรื่องที่ต้องห้ามอยู่ ซึ่งเรื่องต้องห้ามบางเรื่องต้องพูดกันให้ชัดเจนบนโต๊ะ เพราะบางทีก็คือมูลเหตุของปัญหาอย่างหนึ่งเช่นกัน แต่หลายเรื่องถูกจำกัดในข้อกฎหมาย ในทางธรรมเนียมปฏิบัติหลายเรื่อง

พูด ง่ายๆ คือมีหลายเรื่องที่เราไม่สามารถพูดกันตรงไปตรงมาในสังคมบ้านเราได้ เมื่อพูดกันไม่ได้ก็จะไม่ตรงไปที่ตัวปัญหาจริงๆ หรือบางที บางคน ก็อาจจะรู้ แต่ไม่รู้จะพูดยังไง ที่เราเห็นอยู่ก็เป็นเพียงภาพข้างนอก

หากเราติดตามสถานการณ์แล้วไล่วิเคราะห์กันมาโดยตลอด ถ้าเกิดปัญหาเป็นแค่อย่างที่เราเห็นคงแก้ไม่ยากหรอก แต่คงจะมีอะไรมากไปกว่านั้น

คำว่าอะไรมากไปกว่านั้น บางเรื่องผมก็ไม่รู้ บางเรื่องผมก็เพิ่งมารู้ เช่น เรื่องการรับประทานข้าว ซึ่งก็เพิ่งมา รู้ว่ามีสภาพอย่างนี้ จากปาก พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี แต่ก็ไม่มีการพูด ไม่มีการตั้งคำถามว่าเหมาะสมถูกต้องหรือไม่

- ที่สุดแล้วกระบวนการตุลาการภิวัตน์จะเดินไปทางไหน

ตุ ลาการภิวัตน์ในแง่การเอาศาลมาแก้ปัญหาในการเมือง โดยคิดว่าศาลเป็นองค์กรที่มีความวิเศษในตัว แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง...มันผิด และมีข้อจำกัดหลายประการ แล้วผมก็เคยบอกว่าถ้าไม่ระวังข้อจำกัดนี้จะย้อนกลับมาเป็นบูมเมอแรงกลับมา ทำลายศาลในทุกระบบศาล

ฉะนั้น วันนี้เมื่อมีคนจำนวนไม่น้อยเขาคลางแคลงใจจะทำยังไง เมื่อสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้ว ก็ลึกมากและแก้ยากมาก เพราะจริงๆ องค์กรนี้อาจเป็นองค์กรสุดท้ายที่ชี้ให้อยู่ในทางกฎหมาย ฉะนั้น ผมไม่คิดว่าวิกฤตรอบนี้จะถูกแก้โดยใครคนใดคนหนึ่งได้ เพราะมันลึกมาก

- ที่อาจารย์กล่าวมา ดูเหมือนว่าสถาบันในบ้านเราเสื่อมกันไปหมด ไม่ว่าจะสถาบันศาล หรือสื่อ

รวม ทั้งสถาบันองคมนตรีด้วย (ครับ) ซึ่งใกล้ชิดอย่างยิ่งกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าจะบอกว่าไม่เสื่อมลงก็คงจะไม่ได้ ถ้าดูจากการโจมตีจากฝ่ายกลุ่มคนเสื้อแดง หรือการออกมาเปิดเผยข้อเท็จจริงบางอย่าง ซึ่งได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นอย่างนั้นจริง ผมคิดว่าแค่นี้ก็พอแล้ว คือ ผมสนใจน้อยมากว่าคุณไปวางแผนการทำรัฐประหารหรือไปทำอะไรหรือไม่ ผมว่าเราไปสนใจประเด็นนั้นมากไป แต่ประเด็นที่ว่าได้มานั่งพูดคุยกัน โดยที่ไม่ได้ตระหนักถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของตัว สำหรับผมคิดว่าก็เสียมากแล้ว

- ถ้าย้อนไปก่อน 19 กันยาอย่างที่อาจารย์ว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ต้องสูญสลายไปด้วย

ใน ทางปฏิบัติอาจจะเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด คำว่าย้อนกลับไปก่อน 19 กันยา เรากลับไปจินตนาการว่า ควรจะเป็นยังไง เพราะในทางความจริงย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว หมายความว่า คุณทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ รัฐบาลชุดก่อนต้องกลับฟื้นคืนมา นี่ไม่มีทางเป็นไปได้

แต่ผมบอกว่า เราจำลองสถานการณ์ว่าไม่มีเหตุการณ์ 19 กันยา ตัวระบบกฎหมายที่ใกล้เคียงที่สุด กับตอนนั้นจะเป็นยังไง แล้วก็เป็นสภาพการณ์ชั่วคราว เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การเลือกตั้งใหม่ในระยะอันใกล้ ผมจึงมองว่า ก็อาจจะต้องเลือกตั้งใหม่ แล้วหลังเลือกตั้งก็ต้องทำรัฐธรรมนูญใหม่

แต่ ก็มีคนบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว แต่อย่างที่ผมบอก ก็กลับไปดูสิครับว่า กระบวนการและกลไกในการได้มาซึ่งตัวการยอมรับของประชาชนที่ออกเสียงประชามติ เป็นยังไง คนไม่ยอมรับเท่าไหร่ จึงอ้างความชอบธรรมเต็มที่ไม่ได้ เพราะเป็นผลพวงจากการรัฐประหาร แต่วันนี้คนก็จะไม่พูดประเด็นพวกนี้แล้ว ก็จะอ้างว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปแล้ว

ผมว่ารากปัญหาสำคัญอัน หนึ่งเกิดจากความกลัว ถ้าพูดกันตรงไปตรงมา เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชนจำนวนไม่น้อย หลังจากที่เขาได้รับผลจากนโยบายประชานิยมในสมัยรัฐบาลคุณทักษิณ เราไปตัดสินว่าตกลงแล้วผิดหรือถูกโดยความรู้สึกนึกคิดของเราเอง

สำหรับ ผม ไม่เห็นด้วยกับนโยบายคุณทักษิณหลายเรื่อง แต่ถ้ามีการเลือกตั้ง มีการโหวตออกมาแล้ว ก็ต้องยอมรับผลการเลือกตั้งนั้น และไม่ควรจะมาทำลายการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่เกิดจากการเลือกตั้งโดยอำนาจ นอกระบบ แต่ปัญหาก็คือ คนกลุ่มหนึ่งเกรงว่ารัฐบาลทักษิณจะเข้มแข็งมากเกินไป

- แต่นักวิชาการจำนวนมากชี้ว่า มาจากการเลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องดูเรื่องการทุจริตซื้อเสียง คอร์รัปชั่น แทรกแซงองค์กรอิสระ ถึงจะเป็นประชาธิปไตย ?

สมมติถ้ามองแบบนั้น คำถามก็คือ คุณจะใช้วิธีการอะไร อย่างที่ทำกันอยู่หรือครับ เอาทหารลากรถถังออกมายึดอำนาจ แล้วอำนาจกลับไปอยู่อีกขั้วหนึ่ง เสร็จแล้วก็กลับไปอยู่ในพรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างนั้นหรือ ควรจะเป็นอย่างนั้นหรือในแง่ของการแก้ปัญหา

ต่อให้เป็นเช่นนั้น จริง ก็ต้องแก้กันในทางระบบ ผมคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะเข้มแข็งยังไงก็ตาม เขาต้องกลับไปสู่ประชาชนในทุก 4 ปี แล้วผมก็เรียนว่าช่วงสมัยปลายคุณทักษิณ เสียงที่ออกมาทำให้ท่าทีของรัฐบาลคุณทักษิณเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนด้วยความเต็มใจหรอก แต่เปลี่ยนแปลงไปเพราะถูกบังคับ โดยพลังหรือการกดดันในทางสังคมในระดับหนึ่ง ที่ยอมรับว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นทิศทางอันหนึ่งที่จะทำให้แก้ปัญหาไปในทางระบบ

แต่ว่าเรา ไม่ได้อดทนที่จะรอคอย เพราะทุกคนรู้สึกว่าจะสิ้นชาติ แล้วก็มาสร้างเป็นกระแสขึ้นมา แล้วหลายเรื่องทำให้รุนแรงกว่าความเป็นจริงมาก คือ ไม่ได้หมายถึงว่า ไม่ได้มีมูลอะไรเลยนะ แต่หลายเรื่องเกินจากความเป็นจริง

- มีคนบอกว่า ชนชั้นกลางไทย ใจร้อนและเห็นแก่ตัว

ก็ คงเป็นส่วนหนึ่ง ชนชั้นสูงด้วย กลุ่มชนชั้นนำในสังคมของไทย ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงกลุ่มอำนาจเดิมด้วยนะครับ ที่ในอีกด้านหนึ่งยามเรืองอำนาจก็ใช้อำนาจมากไปในบางเรื่องก็ถูกโต้กลับจาก อีกกลุ่มหนึ่ง

แต่การโต้กลับ เป็นการโต้กลับแบบชนิดที่เรียกว่า กัดเซาะตัวระบบทั้งหมด นี่คือปัญหา คือจะว่าไปก็ไม่ได้มีใครดีไปกว่าใครหรอกในทางการเมือง แต่ในทางหลักการ เพื่อให้อยู่กันได้ ต้องกลับมาที่หลักก่อน แต่เรามักคิดว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ใครได้ใครเสีย ก็อาจจะเป็นนิสัยของมนุษย์ธรรมดา ปัญหาจึงไม่จบ ที่สุดก็จะนำไปสู่การปะทะกัน แล้วในความรู้สึกของผม ผมบอกได้เลยว่า การกดในน้ำหนักแบบนี้ กดได้ไม่นานหรอก

- คนชั้นกลางก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง แล้วก็อยู่ร่วมกัน

ผม คิดว่า ไม่ใช่เรื่องชนชั้นกลาง ผมคิดว่าสื่อมวลชนเป็นคนที่มีส่วนสำคัญในด้านนี้ ผมพูดมานานแล้วเรื่องความเป็นมืออาชีพของสถาบัน ความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชน ความเป็นมืออาชีพของฝ่ายวิชาการ ซึ่งขาดหายไป พอขาดความเป็น มืออาชีพ ก็จะนำมาซึ่ง 2 มาตรฐานทันที

ผม ถึงบอกว่าถ้ากลับมาสู่หลักการก็จะไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด แต่ผมไม่แน่ใจว่าในสังคมไทย คนที่เป็นคนชั้นนำในสังคม ไม่อยากให้เป็นแบบนั้นหรือเปล่า ไม่รู้ได้ ถึงเกิดสภาพการณ์ในลักษณะแบบนี้ขึ้นมา คือมุ่งหวังจะเกาะกุมอำนาจ เอาไว้ที่ตัวเองเท่านั้นหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องตั้งคำถาม แล้วในที่สุดประชาชนก็ถูกใช้เป็นเบี้ยมาสู้กัน

- การสร้างความเป็นธรรมในสังคมระหว่างให้คนรากหญ้ากับชนชั้นนำให้อยู่ร่วมกันได้ แก้ไขด้วยรัฐธรรมนูญได้หรือไม่

คง แก้ไม่ได้ทั้งหมด แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นตัวหนึ่ง ผมเคยได้ยินรัฐบาลพูดเรื่องภาษีมรดก แต่ก็หายไป ภาษีที่ดินหายไปไหนแล้ว ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ที่ต้องโยนเข้าไปในสังคม เราต้องมาพูดกันถึงเรื่องช่องว่างในทางสังคมว่าเป็นยังไง การเอารัดเอาเปรียบกัน ในเชิงโครงสร้างเป็นยังไง

สำหรับผม คิดว่าในเชิงโครงสร้าง คนที่เป็นคนระดับล่างเขารู้สึกว่าเขาถูกเอาเปรียบอยู่มากแล้ว แค่เขามาเรียกร้องสิทธิของเขาว่าเขามีหนึ่งเสียงเหมือนกับคนอื่นๆ คุณยังปฏิเสธเขาเลย ซึ่งสะท้อนถึงวิธีคิด พื้นฐานในสังคมอุปถัมภ์แบบนี้ การมองคนอื่น ไม่ได้มองแบบที่เขาเป็นมนุษย์ เราเขียนเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นแค่ตัวหนังสือสวยหรู (ครับ) ก็แค่สิทธิเลือกตั้งที่เขาเลือกมา คุณยังยอมรับ ไม่ได้เลย

- ทางออกสังคมในระยะอันใกล้ ถ้าพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ใครควรเข้ามามีส่วนร่วม

ผม คิดว่าต้องทุกฝ่าย แต่ว่าในที่สุดต้องกลับไปเชื่อมกับประชาชน ซึ่งก็อาจจะเป็นปัญหาอีก โดยที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้า ผมก็เลยไม่แน่ใจว่าจะรับกันได้มั้ย ว่าคนพวกนี้เลือกมาทำรัฐธรรมนูญแล้วเนี่ย จะรับกันได้หรือเปล่า ที่สุดก็อาจจะเป็นคนจำนวนน้อยกว่า ที่เป็นคนชั้นกลางอาจจะรับไม่ได้ ก็จะกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหางแบบนี้ คำถามคือเรารับกันตรงนี้ได้หรือยัง

ที่ ผมพูดแม้แต่ในครอบครัวก็พูด แล้วก็แตกกันไปหมด เพราะคิดกันคนละอย่าง ที่บ้านผมแม่ผมก็บอกว่ารับไม่ได้กับนักการเมือง ผมก็ถามว่าถ้ารับไม่ได้แล้วประโยชน์ทางการเมือง แม่คิดว่าจะอยู่กับใครล่ะ แม่ก็บอกว่าอยู่กับคนที่ดี ผมถามแม่ว่า ตกลงรู้ได้ยังไงว่าเขาดีจริง

- ถ้าให้เวลาอีกสัก 2 การเลือกตั้งผ่านไป ตะกอนของความขุ่นเคืองจะค่อยดีขึ้นหรือไม่

ถ้า ยังเป็นอยู่อย่างนี้ กติกาไม่มีการเปลี่ยน ไม่แก้หรอกครับ ผมเคยบอกหลายครั้งแล้วว่ารัฐธรรมนูญ 2550 นำไปสู่ทางตันอย่างแน่นอน ผมก็ยังยืนยัน ถ้ายังเป็นอย่างนี้

หน้า 40


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 27 เมษายน 2552 เวลา:18:24:46 น.  

 
ชอบเหมือนกันเลยค่ะ แนะนำให้อ่านบทความล่าสุดของ คำ ผกา ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับ 16 เม.ย เรื่อง ..and I won't bite นะคะ โดนใจสุดๆ


โดย: Dr.Mint IP: 192.168.10.81, 180.180.179.222 วันที่: 18 เมษายน 2553 เวลา:13:26:20 น.  

 
งั้นก็ไม่เหมือนเดิมมานานแล้วจิคะ


โดย: Nodame IP: 58.8.182.184 วันที่: 24 เมษายน 2553 เวลา:21:38:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.