ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
กันยายน 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
4 กันยายน 2551
 
All Blogs
 
ความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองในขณะนี้!!!!!

เหตุการณ์บ้านเมืองทุกวันนี้ มันทำให้ผมจุกจนพูดไม่ออก...



นอกจากจะพูดไม่ออกเพราะจุกแล้ว อีกสาเหตุนึงคือ ผมคิดว่า มีนักคิดที่พูดได้ดีกว่าผม (แถมตรงกับที่ผมคิดไว้) หลายท่าน



ผมจึงขออนุญาต นำบทความของอาจารย์ทั้งสามท่านนี้มาลงซ้ำในบลอกของผม



ใครที่มีความคิดเห็นอย่างไร เรามาคุยกันอย่างสันติได้ครับ



Imagine all the people, living lives in peace


************************************



นำมาจาก
//www.prachatai.com/05web/th/home/13485



ทางออกธรรมดาๆ ที่ตรงไปตรงมา


ธงชัย วินิจจะกูล



 



 


ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน 2551 มีแถลงการณ์จากกลุ่มบุคคลใหญ่น้อยสารพัดพยายามเสนอทางออกต่อสถานการณ์ขณะนี้รวม 17 ฉบับ ผมได้รับร่างที่ส่งผ่านกันมาให้พิจารณาอีก 2 ฉบับ รวมเป็น 19 ฉบับ


ในจำนวนนี้ 11 ฉบับเสนอให้นายกรัฐมนตรีลาออก อีก 3 ฉบับเสนอให้ยุบสภา อีก 2 ฉบับเสนอว่ายุบสภาก็ได้ นายกฯ ลาออกก็ได้ อีก 3 ฉบับไม่เสนออะไรเลย   ข้อเสนอเหล่านี้ให้เหตุผลไปต่างๆกัน ผู้สนใจการเมืองคงคิดคำนวณข้อดีข้อเสียของแต่ละทางออกด้วยความลำเอียงเลือกข้างตามจริตของตน


 น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกซึ่งอาจอยู่ในใจบางคนแต่ไม่กล้าพูดออกมา นั่นคือรัฐประหาร อย่างน้อยก็ยังมีความละอายใจกันอยู่บ้าง


 น่าดีใจที่ไม่มีใครเสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจอยู่ในใจหลายคน แต่มิอาจเอื้อมเสนอ อย่างน้อยก็ยังมีความยับยั้งชั่งใจกันอยู่บ้าง


 แต่น่าตกใจที่มีไม่กี่คนที่เสนอทางออกอีกอย่างซึ่งอาจจะง่ายที่สุดและถูกต้องชอบธรรมที่สุด (เกษียร เตชะพีระเสนอความคิดนี้ในบทความของเขาแต่โดนปัญญาชนพันธมิตรฯโจมตีราวเป็นศัตรู นักวิชาการจำนวนหนึ่งก็เสนอในการประชุมเร็วๆนี้ที่จุฬาฯ ก่อนการปะทะกัน) นั่นคือ


 ผู้นำพันธมิตรฯ ควรมอบตัวแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจตามหมายศาล เพื่อให้เผชิญกับกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนการชุมนุมประท้วงรัฐบาลยังคงดำเนินต่อไปได้ในที่อื่นที่เหมาะสมกับการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย (ที่ไม่ใช่เพื่อยึดอำนาจรัฐ) 


 


ทางออกนี้ต้องการความกล้าหาญและความรับผิดชอบของผู้นำพันธมิตรฯ เมื่อกล้าก่อปัญหา กล้าขัดขืน ก็สมควรกล้าเผชิญหน้ากับกฎหมายอย่างมีอารยะ ต้องทำเช่นนี้ต่างหาก การประท้วงของพันธมิตรฯ จึงจะนับเป็นอารยะขัดขืน


 หากไม่ทำเช่นนี้การกระทำของพันธมิตรฯ ย่อมนับเป็นการกระทำของอันธพาลการเมืองที่วางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ถึงจะใหญ่โตแค่ไหนก็เป็นแค่กุ๊ยการเมืองระดับชาติที่น่ารังเกียจ


 ในสังคมไทย แม้แต่พระมหากษัตริย์ยังอยู่ใต้กฎหมาย ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันจึงวางอำนาจบาตรใหญ่เหนือกฎหมายได้


 เกลียดทักษิณ ก็อย่าทำตัวอย่างเดียวกับที่ตนกล่าวหาทักษิณ


 ผมอยากเห็นท่าน ผบ.ทบ. หรือคนระดับนั้นไปเชิญตัวผู้นำพันธมิตรฯถึงที่ชุมนุม ไปมือเปล่าๆ ขอให้ผู้ชุมนุมเปิดทางให้มีการมอบตัวกันแต่โดยดี  จากนั้นเป็นเรื่องของศาล


 ผู้นำพันธมิตรฯ ควรกล้าหาญรับผิดชอบความบกพร่องของตน (หรือใครคิดว่าพวกเขาไม่มีความบกพร่อง?) อย่าเอาชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนผู้สนับสนุนตน เข้าเสี่ยงตายแทนตัวเองเลย


 ความกล้าหาญอาจช่วยให้ผู้นำพันธมิตรฯ กลายเป็นวีรบุรุษในฉับพลันอีกด้วย


 


 อาจมีข้อโต้แย้งว่าเป็นไปได้ยาก เพราะผู้นำพันธมิตรฯ คงไม่ยอม เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่นก็ไม่ง่ายสักข้อ และก็คงมีคนอื่นไม่ยอมเช่นกัน ผู้นำพันธมิตรฯเป็นใครยิ่งใหญ่มาจากไหนกันที่เราต้องคอยเอาใจ


 อาจมีข้อโต้แย้งว่าทางออกนี้ไม่ยุติความขัดแย้งในปัจจุบันอย่างถึงราก เหตุผลนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะทางออกอื่น ไม่ว่ายุบสภาหรือลาออก ก็ไม่ยุติความขัดแย้งพื้นฐานแต่อย่างใด  เรากำลังหาทางเพียงแค่ลดการประจันหน้าและลดอุณหภูมิทางการเมืองลง ทุกทางออกหวังผลแค่ต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยกันทั้งนั้น


 อาจมีข้อโต้แย้งว่า มวลชนของพันธมิตรฯ คงยอมไม่ได้ เหตุผลข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เพราะขึ้นอยู่กับผู้นำพันธมิตรฯ จะกล้าหาญทำความเข้าใจกับคนของตนหรือไม่ต่างหาก มวลชนของพันธมิตรฯ เป็นคนมีการศึกษาและโตๆกันแล้วทั้งนั้น


 ทั้งทางออกอื่นก็คงมีมวลชนของฝ่ายตรงข้ามพันธมิตรไม่ยอมรับเช่นกัน ไม่เห็นมีปัญญาชนนักวิชาการคิดถึงเขาบ้างเลย


 ทางออกที่เสนอนี้ยังเป็นการรักษาระบอบประชาธิปไตย และไม่ทำลายความน่าเชื่อถือของศาลอีกด้วย ในทางกลับกันการทำตัวอยู่เหนือกฎหมายของพันธมิตรฯ เป็นการทำร้ายอำนาจตุลาการที่ตนยกย่องเชิดชู


 อยากจะสร้างการเมืองใหม่ ก็กรุณาอดทนจนกว่าประชาชนจะเห็นด้วย  มิใช่ใช้อำนาจบาตรใหญ่ บังคับขู่เข็ญ ยัดเยียดให้คนครึ่งค่อนประเทศจำต้องยอมรับ


 


 ทางออกง่ายๆ ตรงๆ และถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายข้อนี้ถูกมองข้ามเสียสิ้นเพราะความลำเอียงที่แผ่ซ่านจนน่ากลัว  จนไม่ฟังกันอีกต่อไป


 น่าตกใจที่ปัญญาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน นักกฎหมายทนายความและนักสิทธิมนุษยชนทิ้งหลักการ หลักวิชาชีพ กลายเป็นนักเคลื่อนไหวมวลชนที่มุ่งเอาชนะกันไปหมด ต่างลำเอียงกระเท่เร่ให้ท้ายการวางอำนาจบาตรใหญ่อยู่เหนือกฎหมาย ลำเอียงจนขาดความยั้งคิด เอาแต่ได้ เลือกปฏิบัติ ขาดหลักการ เกลียดชังทักษิณจนขาดสติ ทำลายทุกอย่างและใครก็ตามที่ขวางหน้า 


 พวกตนข่มขู่คุกคามคนอื่นก็ถือเป็นความรักชาติ  ใช้ความรุนแรงก็ถือเป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ พกอาวุธก็ถือเป็นสันติวิธี  รวมกันแล้วก็ถือเป็น “ข้ออ่อนที่มีอยู่บ้าง”พอรับได้ หากฝ่ายตรงข้ามตนทำผิดก็เรียกร้องเอาผิดราวจะกินเลือดกินเนื้อ


 คนมากมายไม่กล้าทักท้วงทัดทานเพราะไม่อยากโดนก่นด่าทำลาย เสียเพื่อนเปลืองตัว


 ประชาชนหลายสิบล้านที่กำลังเฝ้าดูพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุง จะให้พวกเขาเข้าใจว่าประชาธิปไตยคืออะไรกัน พวกเขาย่อมคิดว่าประเทศชาติไม่ใช่ของเขาแต่เป็นของเทวดาชาวกรุงที่เห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง แถมยังมีนิสัยเด็กๆ คือ เอาแต่ได้แต่ไม่กล้ารับผิดชอบ 


 พวกเขากำลังอัดอั้นตันใจจนกำลังจะระเบิดสักวันว่า พวกเขาเป็นแค่ไพร่ทาส เป็นพลเมืองชั้นต่ำกว่าพันธมิตรฯ และปัญญาชนชาวกรุงหรืออย่างไร


           


 ทางออกที่ถูกมองข้ามนี้ เป็นวิถีปฏิบัติปกติที่ใช้กันอยู่เป็นประจำในนานาอารยะประเทศที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เพื่อไม่ให้การประท้วงลามปามกลายเป็นการนองเลือด  เป็นทางออกอย่างแรกๆที่ใครๆก็นึกได้จนเป็นสามัญสำนึก


 ประเทศไทยประหลาดกว่าใครอื่นขนาดไหนกัน จึงมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้กันหมด  หรือประเทศไทยมีระดับอารยะธรรมสูงต่ำผิดปกติกว่าคนอื่น จึงถือกฎหมายเป็นของเล่นที่จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ทิ้งเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ


 หรือปัญญาชนประเทศไทยมีระดับสติปัญญา ความเที่ยงตรงและความยึดมั่นในหลักการ อยู่ในระดับสูงต่ำผิดปกติต่างจากที่อื่นๆในโลก จึงนึกไม่ถึงทางออกอย่างแรกๆที่น่าจะเป็นสามัญสำนึก 


 ผมพบว่า มีหลายคนยอมรับว่าตนลำเอียง และเห็นว่าการเลือกปฎิบัติและเลือกใช้กฎหมายตามแต่ประโยชน์ของฝ่ายตนเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเขาเห็นว่ามีภารกิจที่สำคัญกว่ากฎหมายซึ่งต้องเอาชนะให้ได้


 พวกเขาจึงจงใจมองข้ามทางออกธรรมดาๆและตรงไปตรงมาข้อนี้ เพราะเขาหวังบรรลุชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่าการเคารพกฎหมาย


 ความขัดแย้งทางการเมือง 2-3 ปีที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับหายนะก็เพราะความคิดสั้นพรรค์นี้แหละ


 


 สรุป ยุบสภา?  ลาออก?  หรือมอบตัวแล้วเชิญชุมนุมกันต่อไปในสถานที่อื่นที่เหมาะสม?


 ขอความกรุณาพิจารณาอย่างมีสติ อย่าเอาแต่ได้ อย่าคิดแต่จะเอาชนะกันจนทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้า อย่าเกลียดกลัวจนถูกอวิชชาครอบงำ


 ขณะนี้สายไปแล้วที่สำหรับทางออกที่สมบูรณ์ มีแต่ทางออกที่ก่อความเสียหายมากกว่ากับน้อยกว่า รักษาระบบสถาบันหลักต่างๆ มากกว่ากับน้อยกว่า และเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เฉพาะหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน


 ผมเบื่อแถลงการณ์ทั้งหลายเต็มทน แต่หากมีใครเสนอทางออกนี้ ผมจะขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง และขอจองลงชื่อล่วงหน้าตั้งแต่ยังไม่ทันร่างไว้เลย






//////////////////////////////////////////////////////////////////////////



นำมาจาก


//www.midnightuniv.org/forum/index.php?topic=9081.0;wap2

Free TextEditor



ปรากฏการณ์ม็อบพันธมิตรฯ



โดย เกษียร เตชะพีระ




 


ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ และจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างก็ตาม การเคลื่อนไหวประท้วงของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” รอบ ๒ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้เป็นต้นมา นับเป็นปรากฏการณ์น่าสนใจชวนขบคิดวิเคราะห์


โดยที่ยังไม่อาจคิดเรียบเรียงเป็นระบบครบถ้วนกระบวนความ ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตขั้นต้นบางอย่างเกี่ยวกับบุคลิกลักษณะและแนวโน้มของม็อบพันธมิตรฯในที่นี้: -


๑) การชุมนุมมาราธอนของพันธมิตรฯที่ยืดเยื้อมาได้นานร่วม ๑๐๐ วันเพราะได้แรงความชอบธรรมหรืออย่างน้อยก็อดกลั้นอดออมจากสาธารณชนที่ตระหนักเห็นความบกพร่องพิกลพิการของระบบการเมืองประชาธิปไตยรัฐสภาจากการเลือกตั้งดังที่เป็นอยู่


จะว่าไปแล้วตลอด ๑๐๐ วันที่ผ่านมานั้น ตัวรัฐบาลสมัครและระบบรัฐสภาเองนั่นแหละที่ราวกับเปิดช่องชงเรื่องตั้งลูกจุดประเด็น – ไม่ว่าโดยจงใจหรือไร้เจตนา ไม่ว่าโดยแผนการหรือเป็นไปตามระบบ - ให้พันธมิตรฯ หยิบไปเปิดโปงตีกินขยายความปลุกระดมความไม่พอใจและไม่ไว้วางใจของสาธารณชนได้เรื่องแล้วเรื่องเล่าไม่หยุดหย่อน


ตั้งแต่กรณีผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างปิดแคบรีบร้อนรวบรัด, คำปราศรัยในอดีตของรมว.จักรภพ, มรดกโลกเขาพระวิหาร, การปรับเปลี่ยนโยกย้ายข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับคดีความของ พ.ต.ท. ทักษิณและครอบครัว, แผนเมกะโปรเจกต์บางโครงการ, การแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับควบคุมตลาดหลักทรัพย์และธนาคารแห่งประเทศไทย, ไปจนถึงโครงการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เบียดขับรุกรานเด็กนักเรียนและชาวบ้าน ฯลฯ


พูดอีกอย่างก็คือ โดยไม่ต้องเห็นด้วยกับเป้าหมายและวิธีการทั้งหมดทุกอย่างของพันธมิตรฯ แต่สาธารณชนก็รู้สึกได้ว่าระบบประชาธิปไตยรัฐสภายังแสดงอาการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอธิปัตย์ (centralism & monism ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์) เรื้อรังออกมาไม่หยุดหย่อนเหมือนดังที่เคยเป็นมาและเป็นอยู่ จึงต้องการพลังอะไรสักอย่างไปคัดคานถ่วงดุลตรวจสอบมันไว้


หากศาลตุลาการและองค์กรอิสระเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบภายในระบบ พันธมิตรฯก็ทำตัวเสมือนเป็นพลังถ่วงดุลตรวจสอบหนุนเสริมอยู่นอกระบบ - ในกรณีที่พลังภายในระบบทัดทานไม่ไหวหรือไม่ทันกาล


มองเฉพาะแง่มุมเดียวนี้ พันธมิตรฯจึงดูเหมือนแสดงบทบาทหน้าที่จำเป็นบางอย่างสำหรับระบบการเมืองแบบนี้ (systemic function)

๒) ม็อบมาราธอนของพันธมิตรฯน่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งแรกของโลกที่ถ่ายทอดสดทางทีวีดาวเทียม, วิทยุและอินเทอร์เน็ต ๒๔/๗ (วันละ ๒๔ ชั่วโมง/สัปดาห์ละ ๗ วัน) ต่อเนื่องกันนานนับ ๑๐๐ วัน


ทำให้มันมีลักษณะผสมผสานอย่างพิสดารระหว่าง reality show กับการรณรงค์ต่อสู้ทางการเมือง


ซึ่งเปลี่ยนขยายปรากฏการณ์ audience democracy (ประชาธิปไตยของผู้ชมในตะวันตกช่วงหลังนี้ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นแค่ผู้ชมผู้ฟังบรรดานักการเมืองอาชีพเล่นบทบาทกันไปบนเวทีการเมืองแล้วก็ให้เรตติ้งคะแนนนิยมผ่านการสำรวจหยั่งเสียง) ออกไป


ให้สามารถมี virtual participants นอกสถานที่ชุมนุม (ผู้เสมือนเข้าร่วมจริง - ไปม็อบได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้านหรือออฟฟิศ) มากมายเหลือคณานับกว่าที่พบเห็นในที่ชุมนุม โดยเสียบหูฟังวิทยุคลื่น FM 97.75 หรือเปิดโฮมเธียเตอร์ช่องเอเอสทีวีดังสนั่นลั่นห้อง ให้ความรู้สึกเหมือนร่วมรับฟัง/รับเห็น/รับรู้/รู้สึกอยู่ในที่ชุมนุมตลอดเวลาไม่ว่ากำลังทำงาน ทานข้าวหรือเข้านอน


ทว่าผลด้านกลับของมันคือทำให้การชุมนุมของพันธมิตรฯน่าจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายรายวันแพงที่สุดในโลกด้วย เพราะไม่เพียงค่าเช่าเวทีอุปกรณ์แสงเสียง ค่าน้ำมันปั่นเครื่องไฟ ค่าสวัสดิการอาหารของคณะทำงาน วิทยากรและศิลปิน ยังมีเงินเดือนและค่าดำเนินการถ่ายทอดสดจากที่ชุมนุมของทีม เอเอสทีวีอีกต่างหาก รวมแล้วตกถึงวันละ ๕ แสน – ๑ ล้านบาทแล้วแต่จำนวนผู้ชุมนุม ขณะเงินบริจาคและรายได้จากการขายเสื้อยืดสิ่งของเครื่องใช้เกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงเข้ามาประมาณวันละ ๓ แสน – กว่า ๑ ล้านบาท


ด้วยเงินงบประมาณรายวันขนาดนี้คงพอให้การชุมนุมประท้วงปกติธรรมดาของชาวบ้านหรือแม้แต่ของ นปก. ที่ย่อมเยากว่ายืนยาวไปได้นานเป็นสัปดาห์ทีเดียว


ปรากฏว่าใน ๒๕ วันแรกของการชุมนุม พันธมิตรฯมีรายได้ ๒๖ ล้านบาท ใช้จ่ายไป ๒๔ ล้านบาท (สุริยะใส กตะศิลา), ในการชุมนุมกว่า ๓ เดือน พันธมิตรฯผลิตเสื้อ “ลูกจีนรักชาติ” ออกขาย ๙ หมื่นตัว ได้เงินกว่า ๒๕ ล้านบาท (ชัยอนันต์ สมุทวณิช), จนหลังบุกยึดทำเนียบ พันธมิตรฯก็ยังมีเงินเหลือในบัญชี ๖.๖ ล้านบาทและทองคำแท่งหนัก ๘๐ บาท (จำลอง ศรีเมือง)


การชุมนุมแบบพันธมิตรฯ จึงมีภาระทางการเงินหนักเป็นพิเศษ ความข้อนี้บ่งชี้ลักษณะด้านฐานะเศรษฐกิจสังคมและวิถีชีวิตของฐานผู้สนับสนุนและเข้าร่วมได้พอสมควร


๓) พูดอย่างรวบยอด การชุมนุมของพันธมิตรฯคือพลังฝ่ายค้านทางการเมืองตัวจริงเสียงจริงในปัจจุบัน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแค่ตัวประกอบ (ใครยังจำได้ว่ามีพรรคฝ่ายค้านนี้อยู่บ้าง…?)


เพียงแต่ข้อต่างที่มีนัยสำคัญคือพันธมิตรฯ เป็นพลังฝ่ายค้านที่ต่อต้านทั้งระบบการเมือง (ในความหมาย a force of resistance to the whole political system) ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคฝ่ายค้านปกติธรรมดาในระบบการเมือง (ในความหมาย an opposition party in the political system)


พูดเพื่อเข้าใจง่ายๆ ได้ว่าพันธมิตรฯคือ “พรรค” ราชาชาตินิยมฝ่ายค้านตัวจริงนอกระบบรัฐสภา ที่ไม่ลงเลือกตั้งเพราะถึงลงก็คงแพ้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นซึ่งทุนหนาและกุมเสียงส่วนใหญ่ในชนบทแน่นกว่า


ทางเดียวที่ “พรรค” พันธมิตรฯจะชนะและยึดอำนาจรัฐได้จึงไม่ใช่ผ่านการเลือกตั้ง แต่ต้องโดยวิถีทางอื่น – ดังได้พิสูจน์ให้เห็นซ้ำซากครั้งแล้วครั้งเล่าตลอด ๓ ปีที่ผ่านมา - ไม่ว่าโดยการชุมนุมประท้วง, รัฐประหาร, หรือลุกขึ้นสู้ (general uprising – ปราโมทย์ นาครทรรพ) ในครั้งนี้ก็ตามที


การดำรงอยู่ของพันธมิตรฯรวมทั้งพลังทางการเมืองและสังคมซึ่งมีพวกเขาเป็นตัวแทนในฐานะขั้วหนึ่งของคู่ขัดแย้งหลักทางการเมืองปัจจุบันจึงเป็นปัจจัยแห่งความไร้เสถียรภาพในระบอบการเมืองอยู่แล้วโดยตัวของมันเองเป็นธรรมดา


ยิ่งกว่านั้นการที่พันธมิตรฯ เข้าใจว่าตนเองเป็นเครื่องมือแบบการเมืองมวลชนเพื่อไปบรรลุสิ่งซึ่งตนเองเข้าใจว่าเป็นพระราชประสงค์ขององค์พระประมุข โดยก้าวข้ามช่องทางสถาบันการเมืองทางการทั้งหมด (คำปราศรัยบนเวทีก่อนเป่านกหวีดบุกยึดทำเนียบของสนธิ ลิ้มทองกุล, พิภพ ธงไชย เป็นต้น) จึงน่าวิตกว่าจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิอาจทำงานตามครรลองกลไกกระบวนการปกติของมันได้ เกิดอาการไฟช็อตลัดวงจร กระทั่งหมดสภาพลง


กรณีตัวอย่างที่พอยกมาเปรียบเทียบได้ในบางแง่มุมคือสถานการณ์ในเมืองจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม


๔) ในสายตาผม แนวโน้มน่าห่วงที่สุดของม็อบพันธมิตรฯ คือท่าทีต่อปัญหาจริยธรรมว่าด้วยวิธีการ (the ethics of means)


เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองที่ตนเห็นว่าถูกต้องดีงาม พันธมิตรฯไม่เลือกวิธีการที่ใช้ จะใช้วิธีการอะไรก็ได้ จะชอบหรือไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือหลักการทางการเมืองอย่างไรก็ได้ ขอแต่ให้บรรลุเป้าหมายได้เป็นพอ เข้าทำนอง The end justifies the means. หรือเป้าหมายให้ความชอบธรรมกับวิธีการ


เหตุผลที่พันธมิตรฯอ้างมักมี ๒ ประการด้วยกัน คือ


ก) ศัตรูที่เราสู้ด้วยเป็นคนสกปรกเลวทรามต่ำช้าถึงขนาดฝ่ายมันเองก็ไม่เลือกวิธีการเวลาสู้กับเรา ฉะนั้น จัดการกับคนชั่วช้าแบบนี้ ก็ไม่ต้องเลือกหรือจำกัดรูปแบบวิธีการเหมือนกัน มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อมัน (ประพันธ์ คูณมี, และชุดคำอธิบายเหตุที่พยายามบุกยึดสถานี NBT ของผู้นำพันธมิตรฯ)


ข) สิ่งที่เรามุ่งพิทักษ์ปกป้องไว้นั้นสำคัญสูงสุดเสียจนกระทั่งกดลบกลบทับหลักเกณฑ์หลักการอื่น ๆ ทั้งหมด หลักเกณฑ์หลักการอื่นจึงชาชืดจืดจางลงสิ้นเมื่อนำมาเปรียบด้วย เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสิ่งสำคัญสุดยอดไว้ แม้จะต้องละเมิดหักรานหลักเกณฑ์หลักการอื่นไปบ้าง ก็ต้องทำ (สนธิ ลิ้มทองกุล)


พันธมิตรฯจึงพร้อมหยิบฉวยประเด็นร้อนแรงแหลมคมต่าง ๆ ไม่ว่าข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ปลุกความคลั่งชาติเรื่องดินแดน ฯลฯ มาเป็นยุทธวิธีปลุกเร้าผู้คนให้ลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาลและทักษิณ


ผมไม่เห็นด้วยกับท่าทีเช่นนี้ ผมเห็นว่ามันสุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะปลุกพลังรุนแรงที่อาจควบคุมไว้ไม่อยู่ขึ้นมาจนพลอยไปทำร้ายทำลายผู้คนที่ไม่เกี่ยวข้องหรืออย่างเกินกว่าเหตุ อีกทั้งยังเห็นมนุษย์คนอื่นเป็นเครื่องมือ เป็นเหยื่อและเป็นเครื่องบูชายัญสังเวยเป้าหมายความเชื่อของตนเอง


ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ว่า วิธีการคือหน่ออ่อนที่จะเติบใหญ่ขยายตัวกลายเป็นเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า (Means is the end in the process of becoming.) ฉะนั้นหากเลือกวิธีการเลวร้ายตอนนี้แม้ในนามของเป้าหมายที่ดีงามในอนาคต แต่ในที่สุดแล้ววิธีการเลวร้ายที่เลือกก็รังแต่จะเติบใหญ่ขยายตัวลงเอยกลายเป็นเป้าหมายที่เลวร้ายในบั้นปลายนั่นเอง


ฐานคิดทางปรัชญาของปฏิบัติการไม่รุนแรงและอารยะขัดขืนที่แท้จึงได้แก่หลักความเป็นเอกภาพของคุณค่าทางศีลธรรมระหว่างเป้าหมายกับวิธีการ (moral unity of the end and the means) เป้าหมายดี ต้องเลือกใช้วิธีการดีด้วย, หากเลือกใช้วิธีการเลว เป้าหมายจะออกมาดีนั้นเป็นไปไม่ได้


๕) ตอนนี้บ้านเมืองของเรากำลังอยู่ตรงริมเหวแห่งการลุกขึ้นสู้ทั่วไปของประชาชนกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ต่อต้านรัฐบาล


เป็นจุดเดียวกับที่บ้านเมืองเราเคยเดินมาถึง ณ วันสุกดิบก่อน ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕….และแล้วเราก็ถลำลึกลงไป


เราเดินมาถึงจุดนี้วันนี้ได้ก็เพราะความผิดพลาดใหญ่บ้างเล็กบ้างและที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจของคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย


จากจุดนี้ไปอีกนิดเดียว น่ากลัวว่าไฟจะลุกเผาบ้านเผาเมือง เลือดไทยจะนองถนนด้วยฝีมือไทยกันเองอีก


จะหยุดและหลีกพ้นหุบเหวนี้ได้


-ฝ่ายรัฐต้องถอนกำลังฝ่ายความมั่นคงหลีกห่างออกมาจากการเผชิญหน้ากับมวลชนพันธมิตรฯ ทุกที่ทุกแห่งอย่างเร่งด่วน


-ผู้นำพันธมิตรที่ถูกออกหมายจับทั้ง ๙ คนต้องมอบตัวต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพื่อเข้าสู่การต่อสู้ในกระบวนยุติธรรมตามกฎหมายทันที


จากนี้กระบวนการทางการเมืองและกฎหมายจะได้ดำเนินต่อไปตามกฎเกณฑ์กติกาของมัน แทนที่จะเดินหน้าสู่การทำร้ายทำลายกันที่ทุกฝ่ายล้วนพ่ายแพ้



//////////////////////////////////////////////////////////////////////////


นำมาจาก
//www.fringer.org/?p=381


 


ความเห็นสั้นๆ ต่อสถานการณ์การเมืองไทย & เหตุผลที่สมัครควรยุบสภา


คนชายขอบ


 


ยังรู้สึกหดหู่ใจกับการเมืองมาก ขอโพสความเห็นสั้นๆ เพื่อแสดงความชัดเจนว่าคิดอย่างไร เพราะตอนนี้เจ้าของบล็อกถูกประณามจากทั้งสอง “ขั้ว” ในสังคมไทยแล้ว ตอนนี้บ้านเมืองเราแตกแยกกันรุนแรงน่ากลัวมากๆ


ก่อนอื่น ในฐานะคนที่เคยไปร่วมชุมนุม “กู้ชาติ” กับพันธมิตรเมื่อปลายปี 2548 (สมัยที่ยังเป็น “เมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร” ที่สวนลุมฯ อยู่) ต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2549 ผู้เขียนยังยืนยันและยึดมั่นในสิ่งที่เคยเขียนในบล็อกนี้แล้วว่า เหตุผลหลักที่ไปประท้วงคือ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลของทักษิณหมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมือง เพราะเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้อง แทรกแซงและครอบงำองค์กรอิสระและกลไกต่างๆ ในระบอบประชาธิปไตยจนทำงานถ่วงดุล ตรวจสอบ และเช็กบิลไม่ได้เต็มที่ ตัวอย่างโพสก่อนๆ จากช่วงนั้นคือ –



หลังจากวันนั้นจนถึงวันนี้ สองปีกว่าผ่านไป พฤติกรรมทุจริตต่างๆ ก็ทยอยขึ้นสู่ชั้นศาล และศาลก็จะทยอยอ่านคำพิพากษาไปเรื่อยๆ


กระบวนการยุติธรรมกำลังดำเนินไป ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีการประท้วง จะมีหรือไม่มีการนองเลือด


ตอนนั้นผู้เขียนไม่เคยคิดว่าพันธมิตรฯ มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเปลี่ยนไปใช้ “ระบอบ” อื่นใดที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผู้เขียนเพียงแต่คิดว่าพันธมิตรเป็น “กลไกคัดง้าง” นอกรัฐสภา (หรือที่หลายท่านเรียกว่า “พรรคฝ่ายค้านนอกสภา”) ที่ทำงานได้ดี และช่วยเปิดโปงกรณีไม่ชอบมาพากลทั้งหลายให้สาธารณชนได้รับรู้และตื่นตัว และดังนั้นจึงสมควรสนับสนุน


(จริงๆ ตอนที่พันธมิตรเริ่มอ้างมาตราเจ็ดขอ “รัฐบาลพระราชทาน” ผู้เขียนก็เริ่มรู้สึกตะหงิดๆ แล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่คิดมากอะไร เพราะคิดว่าถึงอย่างไรเราก็กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ (ที่ต่อมา กกต. ประกาศว่าเป็นโมฆะ) อยู่แล้ว ถ้าใครจะด่าว่าผู้เขียนตอนนั้น “โง่” และ “ไร้เดียงสา” ที่มองไม่เห็นวาระที่แท้จริงของพันธมิตร ผู้เขียนก็ขอน้อมรับคำด่าแต่โดยดี)

แต่มาถึงตอนนี้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า จุดมุ่งหมายสูงสุดของพันธมิตรไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเปิดโปงและตรวจสอบการคดโกงในระบบอีกต่อไป การประกาศ “การเมืองใหม่” ของพันธมิตร เท่ากับเป็นการประกาศความต้องการที่จะล้างไพ่หรือล้มกระดานอีกครั้งหนึ่งโดยไม่สนใจว่ากลไกในระบบปัจจุบันกำลังทำงานอย่างไร และความต้องการที่จะ “รื้อระบบ” ใหม่ทั้งยวง ให้เป็นระบบอะไรสักอย่างที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง (เช่น เสนอว่าระบบเลือกตั้งควรเป็นแบบ 70/30 ฯลฯ)


ถ้าจะต้อง “ล้างระบอบทักษิณ” ด้วยการเมืองใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยน้อยลง ผู้เขียนคิดว่าเราจะได้ไม่คุ้มเสีย และจริงๆ เราก็ไม่ควรจะต้องเลือกด้วย เพราะตอนนี้ศาลก็กำลังทยอยพิพากษาคดีความผิดต่างๆ ที่เกิดในสมัยทักษิณ ซึ่งนั่นก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วมิใช่หรือว่า กลไกในระบบอย่างน้อยบางส่วนก็กำลังทำงาน?


การชุมนุมในรอบนี้นั้น แรกๆ ก็ทำท่าว่าจะเข้าท่า เพราะพันธมิตรประกาศต่อต้านความพยายามที่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อ “ฟอก” ความผิดให้กับรัฐบาลชุดก่อน (ซึ่งเป็นจุดยืนที่ผู้เขียนเห็นด้วย คือถึงแม้ว่าจะไม่ชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อเทียบกับฉบับปี 2540 ก็ไม่อยากเห็นรัฐบาลแก้เพื่อฟอกใคร)


พันธมิตรจึงมี “ความชอบธรรม” ทางสังคมที่จะชุมนุม และก็น่าปลื้มใจที่ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก


แต่วันที่พันธมิตรประกาศ “ยกระดับ” การชุมนุมไปเป็นการ “ไล่รัฐบาล” วันเดียวกับที่สมัครประกาศถอนญัตติแก้รัฐธรรมนูญตามที่พันธมิตรต้องการ – นั่นคือวันที่ “ความชอบธรรม” ทางสังคมของพันธมิตรเริ่มถึงจุดเสื่อมถอย


เพราะการเป็น “นอมินี” ให้ใครของรัฐบาลสมัคร ถึงจะน่าเกลียดแค่ไหน ก็ไม่ใช่ความผิดทางกฎหมาย


ประเด็นร้อนที่สุดและมีความไม่ชอบมาพากลที่สุดที่พันธมิตรหยิบขึ้นมาโจมตีรัฐบาล คือประเด็นเรื่องเขาพระวิหาร แต่ประเด็นนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าขอบเขตที่รัฐบาลทำ “ผิด” จริงๆ นั้น อยู่ตรงไหน (เพราะต้องยอมรับว่าพันธมิตรกระพือเรื่องนี้ไปเยอะมาก) และ “ความผิด” นั้นสมควรต้องทำให้ ครม. ลาออกทั้งคณะเพื่อรับผิดชอบเลยหรือเปล่า


ประเด็นอื่นๆ ผู้เขียนไม่คิดว่ามี “เหตุผล” เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการขับไล่รัฐบาล จริงอยู่ รัฐบาลนี้ดำเนินนโยบายแย่ๆ หลายเรื่อง และ “หน้าด้าน” ค่อนข้างมากในการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เช่น การแทรกแซงและความไม่โปร่งใสในการแต่งตั้งผู้บริหารของ ธปท. ก.ล.ต. ตลท. ฯลฯ


แต่ “ความร้ายแรง” ของเรื่องเหล่านี้ “แย่” จนถึงขนาดที่ประชาชนควรจะออกมาบุกทำเนียบ บุกทีวี ปิดสนามบิน ฯลฯ เรียกร้องให้นายกฯ ลาออกเลยหรือ?


ใครกล้ายืนยันหรือไม่ว่าระดับการ “ครอบงำ” และ “แทรกแซง” องค์กรอิสระและกลไกในระบบต่างๆ ของรัฐบาลนี้ (รวมทั้งศาลด้วย) เลวร้ายยิ่งกว่าหรือพอๆ กับในสมัยของทักษิณ ชินวัตร ช่วงกลางปี 2548?


ถ้าทักษิณสมัยนั้น “ลุแก่อำนาจ” และครอบงำระบบยิ่งกว่าสมัครสมัยนี้ เหตุใดตอนนั้นการประท้วงของพันธมิตรจึงกระทำอย่างสันติและอหิงสาได้ ไม่เห็นต้องไปบุกทำเนียบ บุกทีวี และการกระทำอื่นๆ ที่เป็น “อนารยะขัดขืน” มากกว่า “อารยะขัดขืน” ไปแล้ว?


ผู้เขียนคิดว่า การดื้อดึงชุมนุมในทางที่ “ไม่เป็นอารยะ” ขึ้นเรื่อยๆ ของพันธมิตร โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่บุกทำเนียบเป็นต้นมานั้น ไม่มีความชอบธรรมเพียงพอ และไม่มี “เหตุผล” อะไรที่อธิบายได้จริงๆ ยกเว้นแต่เหตุผลข้อเดียวที่ว่า พันธมิตรจงใจยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เพื่อ “สร้างเงื่อนไข” ให้ทหารออกมาทำรัฐประหารหรือจัดตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ”


ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เราจะเรียกการกระทำที่จงใจเอาชีวิตประชาชนไปเสี่ยงกับความรุนแรง (โดยเฉพาะในเมื่อผู้ชุมนุมหลายคนเป็นคนแก่ เด็ก และผู้หญิง) เพื่อมุ่งไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลนอกกลไกการเลือกตั้ง ว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ได้อย่างไร?


(ประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่าเป็นประเด็นที่แยก “แฟนพันธุ์แท้พันธมิตร” ออกจากกลุ่มอื่นๆ ได้ดี คือแฟนพันธุ์แท้ดูจะไม่สนใจว่าพันธมิตรจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็น เพราะไม่เชื่อว่าประชาธิปไตย “เหมาะสม” กับประเทศนี้อยู่แล้ว อยากได้ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” มากกว่า แฟนพันธุ์แท้จึงคิดว่าถึงอย่างไรพันธมิตรก็มีความชอบธรรม แตกต่างจากผู้สนับสนุนแบบ “แฟนขาจรที่ยินดีร่วมอุดมการณ์เมื่อมีเป้าหมายเฉพาะหน้าตรงกัน” อย่างผู้เขียน ที่พร้อมจะถอนตัวออกจากการชุมนุมเมื่อใดก็ตามที่มองว่าพันธมิตรเริ่มใช้วิถีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือตั้งเป้าที่ระบอบอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ประชาธิปไตยเจือจางลง)


ถ้าเราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เป้าหมายเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ 1) ระงับสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจปะทุได้อีกทุกเมื่อระหว่างคนไทยด้วยกัน อันจะนำไปสู่การสูญเสียเลือดเนื้ออย่างแน่นอน และ 2) หลีกเลี่ยงเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่อาจนำไปสู่การเกิดรัฐประหารหรือรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากข้อแรก)


“ทางออก” ที่ดีที่สุดที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ (ซึ่งอาจแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อดูจากนิสัยและพฤติกรรมที่ผ่านมาของสมัครและรัฐบาล แต่อย่างน้อยผู้เขียนคิดว่ามันก็เป็นไปได้ที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่เป็น “อุดมคติ” ยิ่งกว่า) คือ สมัคร สุนทรเวช ในฐานะผู้นำรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐไว้ในมือ ควรตัดสินใจเสียหน้าและเสียสละเพื่อชาติ ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ ระบอบประชาธิปไตยจะได้เดินต่อไปได้


ตอนนี้การรักษาเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด


อะไรจะเกิดขึ้นในระยะยาว ก็ค่อยมาว่ากันอีกที.




Create Date : 04 กันยายน 2551
Last Update : 4 กันยายน 2551 1:59:40 น. 16 comments
Counter : 551 Pageviews.

 
จาก 3 อัน ผมเห็นด้วยกับ อ.ธงชัย มากที่สุด เห็นด้วยว่าง่ายที่สุด และควรเกิดขึ้นที่สุด เหล่านักวิชาการบางส่วนก็กระทำตนได้น่ารังเกียจจริงๆ (โดยเฉพาะคนที่ชักชวนคนไปสร้างภาพเดินจงกรมรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยที่ยังไม่เคยด่าพันธมิตรสักแอะ ทั้งที่เป็นนักกฎหมาย เป็นต้น) สมควรให้ อ.ธงชัย ด่าแล้ว

ในขณะที่ข้อเสนอของ fringer ในตอนท้ายที่เรียกร้องให้ยุบสภานั้น ออกจะแปร่งๆไปสักหน่อย เพราะผมไม่คิดว่าการยุบสภาจะสงบกลุ่มพันธมิตร ที่กระทำตนเสมือนเป็นเจ้าของประเทศอยู่ในขณะนี้ได้เลย ผมเลยงงๆ กับความคิดคุณสฤณีเธออยู่เล็กน้อย เพราะการสรุปลงท้ายดูจะขัดกับการบรรยายที่ผ่านมาทั้งหมดของเธอ

ในขณะที่ภาพรวมของม็อบพันธมิตรฯ ที่อ.เกษียรสรุปไว้ก็น่าสนใจมากเช่นกัน

ตอนนี้บทความ อ.ชาญวิทย์ ที่พี่ส่งมาในเมลยังไม่ได้อ่านเลยครับ ขอเวลาอีกสักหน่อยดีกว่า


โดย: nanoguy IP: 125.24.136.204 วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:2:56:37 น.  

 
เห็นด้วยครับ พธม ควรนำตัวเองเข้าระบบตุลาการ และควรยอมรับผลที่ตัวเองทำไว้ตามกติกา จากนั้นก็รอดูทักสินจะทำไงรวมทั้งคนที่ พธม กล่าวหาว่าเอื้อทักสิน ถ้า พธม บอกว่าเสียสละจริงก็ควรเอาตัวเองเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อใช้เปรียบเทียบกับผ่ายที่ตัวเองเรียกร้อง ถึงตอนนั้นถ้ากลุ่มคนที่ถูกกล่าวหาทำการเอื้อทักสินจริงๆกระทำการที่ประจักต่อสายตา ว่าช่วยเหลือไม่ใช่แค่กำลังจะช่วย คงไม่มีใครโง่ยอมรับหรอกครับ ถ้าศาลตัดสินว่าทำผิดก็ควรติดคุก ทั้งพธม และ ทักสิน


โดย: ติ๊ก IP: 61.90.174.226 วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:8:41:02 น.  

 
นักวิชาการจำแนกแยกแยะประเด็นได้ดีจังเลยค่ะ

ใจจริงแล้วเห็นด้วยกับทั้งสามท่านเลยค่ะ

แต่ยังไง บ้านเมืองไทยก็ไม่เคยมีวรบุรุษ และเมืองไทยไม่เคยนำประวัติศาสตร์ไทยมาศึกษาเลยนะคะ


โดย: แค่คนหนึ่งคน วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:10:53:24 น.  

 
คิดถึงก้อยกับแนนจัง


โดย: จารย์อั๋น IP: 203.147.51.82 วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:16:31:48 น.  

 
+ เป็นหัวข้อที่ 'แหลมคม' มากๆ สำหรับสถานการณ์บ้านเมือง ณ ตอนนี้ ... และบทความทั้ง 3 ชิ้นที่คุณฟ้าดินที่คุณฟ้าดินยกมาให้อ่านนี้ ผมก็เห็นด้วยในหลักการเป็นอย่างยิ่งครับ
+ ผมรู้สึกเหมือนกับตอนนี้ผมยืนอยู่ตรงกลางระหว่างทั้ง 2 ขั้ว แล้วก็ไม่มีที่ยืน ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียง ยังไงไม่รู้แฮะ (ซึ่งผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ ค่อนประเทศ ก็น่าจะรู้สึกเหมือนกัน เพียงแต่พวกเรายังหาวิธีการมาจัดการกับสิทธิ์ตรงนี้ไม่ได้เท่านั้นเอง)

+ และขอกระตุ้นเตือนว่า ช่วงที่ข่าว พธม. กลบเรื่องอื่นๆ ไปหมดสิ้นนี้ ได้มีเรื่องไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอีกแล้ว
* มติ ครม. อนุมัติการขึ้นค่าทางด่วน และรถเมล์ (ทั้ง ปอ. และธรรมดา) เริ่มมีผลบังคับใช้ (เดิมใช้ไม่ได้ เพราะศาลสั่งทุเลาอยู่) ... ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ make sense เอาซะเลย น้ำมันก็ลดราคาลงมาตั้งมากแล้ว ทำไมมติ ครม. นี้ ยังมีผลบังคับใช้อยู่อีก ... เครือข่ายคัดค้านฯ ตอนนี้ก็คงดำเนินการอะไรไม่ถนัดนัก เพราะเงาการประท้วงของ พธม. ครอบคลุมประเทศอยู่

* มติ ครม. วันอังคารที่ผ่านมา อนุมัติเรื่องการเช่ารถเมล์ 10 ปีแล้ว (ลดจาก 6,000 เหลือ 4,000 คัน) ซึ่ง นสพ. เขียนว่าเป็น 'การเช่ารถสาธารณะที่แพงที่สุดในโลก'

... เราๆ ก็คงต้องช่วยกันจับตาดูความฉ้อฉลเหล่านี้กันต่อไปครับ

+ ผมใช้เวลาเปิดหน้านี้ และอ่านนานมากเลยนะเนี่ย (ทำงานไปด้วย) เปิดตอนกลางวัน กว่าจะอ่านจบ คีย์โพสต์ตอบ ก็เพิ่งตอนนี้แหละครับ ... แต่ยอมรับว่าเป็นประโยชน์มากๆ ขอบคุณคุณฟ้าดินด้วยครับ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 4 กันยายน 2551 เวลา:16:43:01 น.  

 
เอ่อ จะไปเชียงใหม่ก็ฝากไปดูมันหน่อยนะ

//tnews.teenee.com/politic/26566.html


โดย: calcium_kid วันที่: 5 กันยายน 2551 เวลา:23:52:33 น.  

 
5 ชอบตอนนี้

-อัลบั้ม Herspective
-บทความ "หวั่นใจชำรุด มนุษย์ค้างคาว" ของคุณ "ผมอยู่ข้างหลังคุณ" ใน Filmax
-บทสัมภาษณ์รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ในนิตยสารสารคดีเล่มล่าสุดและบทความอ.ธงชัย ข้างบน
-คอนเสิร์ต Groove Raiders : Last Call for GR007
--งานหนังสือที่ TBT book tower

3 ไม่ชอบตอนนี้

-ฉากเต้นไก่ย่างในบุญชู ไอ-เลิฟ-สระ-อู
-หนังของคุณ Nicolas Cage ช่วงหลังๆ
-อนารยะขัดขืน


โดย: ฟ้าดิน วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:3:47:38 น.  

 
ฟ้าดินจ๋า
เราก็จุกพูดไม่ออกบอกไม่ถูกจริง ๆ ยิ่งเห็นมีคนตายมีคนบาดเจ็บ

บทความที่ท่านนำมาเสนอน่าสนใจยิ่งขอบคุณมาก ๆ เจ้าที่เอามาแบ่งกันอ่าน
รวมกันคุย


โดย: แพรจารุ วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:5:04:28 น.  

 
ขอบคุณสำหรับคำอวยพรในวันเกิดของผมครับ

บทความทั้งสามน่าสนใจ
แต่ผมไม่คิดว่าคู่ขัดแย้งจะอ่านหรอกครับ

ช่วงแรกที่ท่าน ว.วชิรเมธีออกมาชี้ทางธรรม
นั่นก็เป็นข้อคิดที่ดีมากครับ
แต่ผมก็คิดว่าไม่มีใครใส่ใจ "ฟัง" อยู่ดีครับ


ตอนนี้คนในชาติเรากำลังมีปัญหากับการ
"ฟังอย่างลึกซึ้ง" ครับ
เมื่อขาดการฟังที่ดี ก็จะพูดอย่างเดียว จะทำอย่างเดียว จะคิดอย่างเดียว
คิด พูด ทำอย่างที่ตัวเองคิดและต้องการ

บ้านเมืองก็เลยเดือนร้อนเป็นไฟ
และหาทางออกไม่เจอครับ




โดย: ก๋า เก็กเสียง (กะว่าก๋า ) วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:6:33:30 น.  

 
จุกจนไม่รูจะจุกยังไงแล้วจ้าคุณฟ้าดิน
เป็นห่วงประเทศชาติของเราจัง
ไม่รู้จะหาทางออกเจอกันไหม


โดย: fonrin วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:9:48:14 น.  

 
นี่เป็นการอัพบล็อคในระหว่างการท่องเที่ยว หรือว่ากลับมาแล้วครับเนี่ย

เป็นบล็อคที่มีเนื้อหาสาระมากๆ ซึ่งโดยปกติแล้วบล็อคที่มีสาระผมจะไม่ค่อยอ่าน แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ไม่อ่านคงไม่ได้ เฮ้อ แต่อ่านแล้วก็ได้แต่ถอนใจ เพราะความจริงที่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

ฉากไก่ย่าง ไม่ชอบเหมือนกันครับ และฉากการไล่ต่อสู้อันแสนยาวนานนั่นก็ด้วย รวมถึงฉากจบที่เหมือนไม่รู้จะจบยังไงนั่นอีก ดูแล้วรู้สึกขัดใจเหลือเกิน ทั้งๆที่ขึ้นต้นมาดีแล้วเชียว เฮ้อ...


โดย: แฟนผมตัวดำ IP: 124.157.140.77 วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:12:44:58 น.  

 
ผมก็เห็นเหมือนกับสามท่านข้างบนครับ


โดย: Johann sebastian Bach IP: 118.172.59.55 วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:7:09:28 น.  

 
ขอบคุณสำหรับบทความทั้งสามที่ชวนให้มาอ่านครับ ขอบคุณด้วยใจจริง

คำพูดของตัวจริงเสียงจริงที่เคยเรียกร้องเรื่องเหล่านี้มาในอดีตย่อมสมควรฟัง



ตอนนี้คนส่วนหนึ่งเหมือนถูกสะกดจิตหมู่ไปแล้ว ไม่ได้ใช้สติพิจารณาให้ดีเสียก่อน

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลหรือพันธมิตร ไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือ ไม่ชอบอีกข้างหนึ่งแล้วทำอย่างไรต่างหาก


ขอยืมคำของท่านสนธิ ลิ้มทองกุล มาใช้หน่อย

เขาเคยพูดว่า "เวลาเห็นหมาฉี่ เราต้องไปฉี่ตามหมาด้วยหรือ" (จริงๆ เขาไม่ได้ใช้คำว่า "ฉี่" แต่ผมกลัวถูกเซ็นเซอร์...)

ถ้าเห็นคนทำเลว เราก็ไม่ควรจะไปทำเลวเพื่อสั่งสอนเขา

แล้ววันนี้คุณสนธิกำลังทำอะไรอยู่???


โดย: คนทับแก้ว วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:9:35:30 น.  

 
เพราะเราไม่ฟังกัน ไม่ยอมก้าวหลังคนละก้าว
แล้วก็มองเห็นถึงประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง
และก็เห็นแก่อำนาจที่วางไม่ลง

คานกันไป คานกันมา .. จนแบบว่าตอนนี้กลายเป็น
อะไรที่น่าสมเพชแก่ชาวโลกมากที่สุดแลว้อ่ะคะ


โดย: JewNid วันที่: 8 กันยายน 2551 เวลา:15:18:58 น.  

 
นึกถึงหนังเรื่อง The Mist ไม่รู้ทำไม


โดย: calcium_kid วันที่: 10 กันยายน 2551 เวลา:8:59:16 น.  

 
บ้านเมืองต้องการการแก้ไข
ทุกฝ่ายควรเข้ามาเจรจา
ตามกฎหมาย


โดย: สิงห์แดงรุ่น61 IP: 203.114.112.102 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา:12:21:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.