ฉันเป็นดั่งนกไร้ขา บินไปบินมาไร้จุดหมาย โอกาสลงดินนั้นไซร้ ต่อเมื่อความตายมาเยือน
Group Blog
 
<<
เมษายน 2552
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
2 เมษายน 2552
 
All Blogs
 

+-+-+-+บทความเพื่อโลกจากโครงการ April Truth's Day ของคุณทรงกลด บางยี่ขัน+-+-+-+

มาคราวนี้ ขออนุญาตอู้งาน ไม่เขียนบลอกเองอีกครั้งนึงครับ

ด้วยการนำเอาบทความที่อยู่ในโครงการ April Truth's Day ของคุณทรงกลด บางยี่ขันมาเผยแพร่

ดูรายละเอียดของโครงการได้ที่นี่ครับ
//www.lonelytrees.net/?p=640



แถลงการณ์ของคุณทรงกลดมีดังนี้ครับ

ผม ทรงกลด บางยี่ขัน ครับ : )
ผมมีกิจกรรมสนุกๆ มาเล่าสู่กันทำครับ

เรื่องมันเริ่มต้นจากการเดินทางที่ชื่อ ‘ไม้-เมือง-ร้อน’ เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ครั้งนั้นอาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์พาผู้ร่วมเดินทางไปถ่ายทอดเรื่องราวกับเกี่ยวกับโลกร้อน
ในมุมที่ง่ายดาย ใกล้ตัว แต่ไม่น่าจะเคยได้ยินที่ไหน
พ่วงด้วยเรื่องราวของภูมิปัญญาแบบวิถีไทยที่แสนจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเรากลับหนีห่างจากมันออกไปเรื่อยๆ
ผู้ร่วมเดินทางทุกคนมีสัญญาใจกันว่า กลับมาแล้วจะช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ตามวิธีที่ถนัด
ส่วนใหญ่เน้นบอกเล่ากันผ่านเว็บไซต์ เราเลยนัดแนะกันว่า
จะอัพโหลดเรื่องราวทั้งหมดขึ้นเว็บ (รวมถึงทำกิจกรรมรูปแบบอื่น) พร้อมๆ กัน
ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 1 เมษายน 2552 หรือวัน April Fool’s Day
วันที่ผู้คนสนุกสนานกับการเล่าความเท็จ
เราจะพูดความจริงกันครับ

แคมเปญนี้มีชื่อว่า April Truth’s Day
ลองนึกดูสิครับว่า ถ้าในวันนั้น อยู่ดีๆ เว็บไซต์และบล็อกหลายสิบ หลายร้อยแห่งเขียนถึงเรื่องเดียวกัน
อีเมลมากมายถูกส่งออกไปเล่าเรื่องเดียวกัน
โปสการ์ดจำนวนมากถูกส่งออกไปเพื่อถ่ายทอดเรื่องเดียวกัน
ครูในโรงเรียนสอนเรื่องเดียวกัน
บอร์ดในออฟฟิศแปะเรื่องเดียวกัน
หนังสือพิมพ์เขียนเรื่องเดียวกัน
รายการวิทยุพูดเรื่องเดียวกัน
รายการโทรทัศน์นำเสนอเรื่องเดียวกัน
ทุกคนพูดเรื่องเดียวกัน
มันจะมีพลังขนาดไหน
การที่คนต่างเพศ ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างความสนใจ และไม่เคยรู้จักกันมาก่อน
มาพูดเรื่องเดียวกัน ด้วยความปรารถนาเดียวกัน คืออยากเห็นโลกดีขึ้น
มันจะมีพลังขนาดไหน

ผมก็เลยอยากชวนทุกคนมาร่วมสนุกในแคมเปญนี้ร่วมกันครับ
จะเขียนถึงแคมเปญนี้เฉยๆ ก็ได้
หรือจะเขียนด้วยการนำเนื้อหาที่ผู้ร่วมทริปเขียนไปเผยแพร่ต่อก็ได้
เข้าไปเลือกเรื่องที่สนใจจะนำไปเล่าต่อได้ที่นี่
งานเขียนทั้งหมดในโครงการนี้เป็น creative common ครับ
คืออนุญาตให้ผู้อื่นนำไปเผยแพร่ต่อได้ โดยไม่นำไปใช้เพื่อการค้า
แค่อ้างชื่อผู้เขียนเสียหน่อยก็พอ
เรื่องดีๆ สมควรถูกขยายผลต่อไปอย่างไม่รู้จบครับ

ตอนนี้มีเว็บไซต์ 124 แห่ง ตกลงปลงใจจะร่วมเล่าเรื่องนี้พร้อมกัน
และมีกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้น

ผมตั้งใจว่า จะชวนทุกคนร่วมแคมเปญนี้ทุกปีในวันที่ 1 เมษายน
ในวันที่มีแต่คนพูดเรื่องลวง
เราจะมาร่วมพูดเรื่องจริงกันครับ : )


****************************

โดยโครงการนี้ เขาจะให้นำข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์โลกที่อยู่ในเวบของคุณทรงกลดมาโพสต์พร้อมกัน
ในวันที่ 1 เมษายน 2552 ตั้งแต่ 00:01 น.ครับ
(แล้วข้าพเจ้าทำไมเพิ่งมาโพสต์เอาป่านนี้ล่ะเนี่ย แหะๆๆ)

เนื่องจากมีเรื่องให้เลือกมากมายเหลือเกิน
จนป่านนี้ ขอสารภาพว่า ผมก็ยังอ่านไม่ครบเลยครับ
ผมก็เลยขอเลือกเรื่องตามสัญชาตญาณ (ดิบ) ของตัวเองแล้วกันนะครับ โดยมีหลักเกณฑ์ในการเลือกดังนี้

1.ตัดเรื่องของผู้ชายทิ้ง (สรุปคือ เลือกแต่เรื่องของสาวๆ นั่นเอง)
2.เลือกเรื่องที่อ่านไปแล้ว

สรุป เลือกได้ทั้งหมด 3 เรื่อง
(สรุปคือ แกได้อ่านแค่นี้ใช่ไหมเนี่ย!)
บวกกับเรื่องของเจ้าของโครงการอีกหนึ่งเรื่อง
รวมเป็น 4 เรื่อง

ถ้าใครอ่านแล้วติดใจ เขามีไว้ให้ไปติดตามต่อที่
//www.lonelytrees.net/?p=952
ว่างๆ ลองไปโหลดมาอ่านได้นะครับ มีประโยชน์มาก
โหลดเพลงโหลดหนังโป๊มาก็เยอะแล้ว (พูดถึงคนอื่นนะครับ ไม่ใช่ผมแหะๆๆ.)
ลองเปลี่ยนมาโหลดบทความดีๆ เหล่านี้มาอ่านบ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ

ขอบคุณครับ

***********************************

หนึ่งบอกหนึ่งเป็นสอง
เรื่องและภาพ > ทรงกลด บางยี่ขัน



1.
“เรากำลังโกหกโลกกันอยู่”
อาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์บอกผมอย่างนั้น เมื่อผมเล่าว่าหลังจากทริปไม้-เมือง-ร้อน ผ่านพ้นไป ผู้คนที่ร่วมเดินทางด้วยกันในครั้งนี้จะลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อบอกเล่าความจริงเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อนให้โลกรู้ในวัน April Fool’s Day หรือ ‘วันแห่งการโกหก’
เราไม่ได้เล่าความเท็จเรื่องโลกร้อนแค่ในวันที่ 1 เมษายน แต่เรากำลังเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน
เรื่องนี้น่าจะสนุกขึ้น ถ้าเราย้ายไปยืนคุยกันข้างนาเกลือ สถานที่แสนธรรมดาที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับทางออกของปัญหาโลกร้อน
“โลกร้อนเพราะคนใจร้อน” อาจารย์ยงยุทธพูดถึงต้นตอของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างที่ตำราเล่มไหนก็ไม่เคยเขียนถึง “พอคนใจร้อน เราก็มีเทคโนโลยี เครื่องอำนวยความสะดวกเยอะขึ้น เราอำนวยความสะดวกกันจนเกินความพอดีของธรรมชาติ”
สิ่งที่ไม่ได้อยู่ในตำรา ไม่ได้แปลว่า ไม่น่าเก็บไปคิด
“โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้เป็นมายาหมดเลย เพราะเราชอบเอาความรู้จากตำรา ไม่เอาความรู้ที่แท้จริงในตัวคน ทำไมความรู้ในตัวคนถึงเป็นความรู้จริง เพราะเวลาเขียนตำรา เขาเขียนจากสิ่งแวดล้อมที่ไหนก็ไม่รู้ วัฒนธรรมแบบไหนก็ไม่รู้ ปัจจัยมันแตกต่างกันหมดเลย แล้วก็ไปบังคับให้ทุกคนใช้เหมือนกัน ฝรั่งเขาเน้นตำรา แต่วิถีไทยของเราเน้นความรู้ในตัวคน เรามีตำราน้อยมาก แต่มีภูมิปัญญาเยอะ” อาจารย์ยงยุทธย้ำอย่างที่เคยพร่ำบอกมาตลอดอีกครั้งว่า “ผมอยากให้ทุกคนมีปัญญา ไม่ใช่ความรู้”
ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ขาดเกลือไม่ได้ ครั้งหนึ่งเกลือจึงถูกยกย่องว่ามีค่าประหนึ่งทองคำ จนเกิดประโยคที่ว่า White is new gold. จากนั้นไม่นาน ในยุคอุตสาหกรรมที่น้ำมันทำหน้าที่เป็นเลือดของโลก ก็มีคนพูดกันว่า Black is new gold. พอเราเผาน้ำมันกันจนเริ่มคิดได้ เราก็เปลี่ยนใจมาบอกว่า Green is new gold. สิ่งแวดล้อมต่างหากที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด
การทำงานของนาเกลือนั้น ไม่มีอะไรซับซ้อน พอน้ำขึ้น น้ำทะเลก็ไหลเข้ามาสู่แปลงที่เตรียมไว้ด้วยแรงวิดของกังหันลม แล้วแดดก็ช่วยแยกตะกอน ทำให้น้ำทะเลตกผลึกกลายเป็นเกลือ มองเผินๆ การทำเกลือนั้นไม่มีอะไรน่าสนใจ แต่เมื่อมองดีๆ จะพบว่ามันเป็นการผลิตที่แสนจะสะอาด ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่บรรยากาศแม้เพียงนิด
พลังงานที่ใช้ในนาเกลือนั้นมาจากดวงอาทิตย์ เริ่มจากแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แล้วความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็ทำให้น้ำทะเลระเหยหายเหลือไว้แต่เกลือ แล้วก็ตั้งกังหันใช้พลังงานลมช่วยวิดน้ำเข้านาเกลือ การทำเกลือจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมาตั้งแต่อดีตกาลนานโพ้น
“พลังงานหลักจริงๆ ของโลกคือดวงอาทิตย์ ส่วนพลังงานน้ำมันกับไฟฟ้าคือพลังงานทดแทน แต่เรากลับไปบอกว่า พลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทน แล้วพลังงานหลักคือน้ำมันกับไฟฟ้า มันตลกไหม” อาจารย์ยงยุทธหันมาถามพวกเรา
“โลกไม่เคยโกหกเราหรอก มีแต่เราที่โกหกโลก”



2.
เมื่อตอนที่โลกถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ๆ อากาศในตอนนั้นมีส่วนผสมของคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ 98 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีออกซิเจนเลย แต่ตอนนี้ คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเหลือเพียง 0.03 เปอร์เซ็นต์ ส่วนออกซิเจนเพิ่มเป็น 21 เปอร์เซ็นต์ คำถามคือ คาร์บอนไดออกไซด์มันหายไปไหน?
เมื่อโลกเย็นตัวลง จนเกิดน้ำ ทุกอย่างในโลกก็เปลี่ยนไป น้ำทำให้แร่ธาตุและสารประกอบต่างๆ ไหลมารวมกันจนเกิดเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวแล้วพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อเกิดต้นไม้ต้นแรกในโลก มันก็หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป แล้วเอาพลังงานแสงที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ไประเบิดโมเลกุลของน้ำในลำต้น ปล่อยเป็นออกซิเจนออกมา ส่วนไฮโดรเจนก็เอาไปใช้เกี่ยวคาร์บอนเพื่อเก็บพลังงานไว้ในรูปของน้ำตาล การปล่อยออกซิเจนออกมาก็ช่วยให้สามารถสันดาปน้ำตาลให้คืนพลังงานคาร์บอนกลับมาได้ และเมื่อพืชรับพลังงานความร้อนและพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์มาเก็บไว้ มันก็สามารถคืนรูปให้กลายเป็นพลังงานความร้อนและแสงเมื่อเราเผามัน การทำงานของพืชจึงเป็นเทคโนโลยีที่สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่โลกนี้เคยมีมา
เมื่อพืชดูดคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาแล้วปล่อยออกซิเจนกลับไปนานๆ เข้าก็ทำให้คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดปริมาณลง และออกซิเจนเพิ่มปริมาณมากขึ้น คาร์บอนที่หายไปจากบรรยากาศนั้นถูกเก็บไว้ในพืช เมื่อสัตว์มากินพืช คาร์บอนก็ถูกถ่ายโอนไปอยู่ในร่างกายสัตว์ และเมื่อทั้งพืชและสัตว์ล้มตายลง ทับถมกันอยู่ใต้โลกเป็นเวลานาน คาร์บอนเหล่านั้นก็เปลี่ยนรูปเป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
เมื่อวันหนึ่งที่มนุษย์รู้จักการขุดเชื้อเพลิงฟอสซิลจากใต้โลกเหล่านี้ขึ้นมาใช้ ก็เท่ากับว่า เราได้เอาคาร์บอนที่ต้นไม้ดูดจากบรรยากาศมาปล่อยคืนสู่บรรยากาศนั่นเอง
คาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก และเป็นตัวการสำคัญที่สุดที่กักเก็บความร้อนภายในโลกเอาไว้ไม่ให้ระบายออก โลกเราจึงเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ



3.
“ร้อนไหม” อาจารย์ยงยุทธถามพวกเราในระหว่างที่นั่งพักในศาลาบนเขายี่สารตอนบ่ายต้นๆ
“ไม่ร้อน” ใครบางคนตอบ
“ทำไมถึงไม่ร้อน” อาจารย์ยงยุทธหันมาถาม ก่อนจะเฉลยว่า “ดวงอาทิตย์ทำให้เราไม่ร้อน พลังงานส่วนหนึ่งของดวงอาทิตย์ที่ส่องลงมาเมื่อกระทบพื้น มันก็เปลี่ยนเป็นความร้อน ดินกับน้ำมันมีความจุความร้อนไม่เท่ากัน ดินมันจะร้อนก่อน อากาศเหนือดินที่ร้อนเลยยกตัวขึ้น ส่วนอากาศเหนือน้ำที่เย็นกว่าก็ไหลเข้ามาแทนที่ เราเรียกว่าอากาศที่ไหลนี้ว่า กระแสลม (wind) ส่วนอากาศร้อนที่ยกตัวขึ้นเราเรียกว่า กระแสอากาศ (current) ที่ไหนก็ตามที่ร้อนจัด ความเร็วของ current จะแรง กระแสลมที่มาตามพื้นก็จะแรงตาม เพราะฉะนั้นเมื่ออุณหภูมิของอากาศสูงขึ้น เลยทำให้เกิดวาตภัยบ่อย และรุนแรงขึ้น”
เมื่อโลกร้อนขึ้นก็เผาน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ให้ระเหยมากขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น แต่ในพื้นที่หลังเขาที่ฝนตกน้อยก็จะแล้งขึ้น “สิ่งที่สำคัญของภาวะโลกร้อนคือ การเปลี่ยนแปลงของกระแสอากาศ พอกระแสอากาศเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตในโลกทั้งหมดก็เปลี่ยน เพราะถ้าอากาศและฤดูกาลมันสม่ำเสมอ ผลหมากรากไม้ก็ออกดอกออกผลตามฤดูกาล สร้างอาหารตามฤดูกาล แต่พอมันไม่เป็นไปตามฤดูกาล ผลผลิตทางอาหารก็ปั่นป่วนทั้งโลก ผลผลิตข้าวในเมืองไทยก็ลดลง เมื่อขาดอาหาร มนุษย์ก็ต้องลุกขึ้นมาแย่งชิงกัน ฆ่าฟันกันมากขึ้น”

4.
“เราชอบความสะดวกสบาย พลังงานไฟฟ้ามันสบายตรงไหน ตรงที่มันอยู่ในอำนาจของมนุษย์ อยากให้มีก็กด มันก็มี อยากให้หยุด มันก็หยุด เราชอบทำตัวอหังการ์ ชอบควบคุมทุกอย่างให้เป็นไปอย่างที่ฉันต้องการ แสงอาทิตย์คือพลังงานหลัก ส่วนไฟฟ้าคือพลังงานที่เลวที่สุดในโลก” อาจารย์ยงยุทธเว้นจังหวะให้หยุดคิด
“กว่าจะมาเป็นไฟฟ้า ดวงอาทิตย์ต้องส่งพลังงานมาที่โลก แล้วก็ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานความร้อน เหลือแค่ 0.2 เปอร์เซ็นต์ที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานชีวภาพเก็บไว้ในพืช เราต้องรอให้ 0.2 เปอร์เซ็นต์นี้จมดินกลายเป็นถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติก่อนแล้วค่อยขุดมาใช้ พลังงาน lost ไปแล้วเท่าไหร่
“พอขุดพลังงานพวกนี้ขึ้นมาใช้ ก็เอามาเผาให้กลายเป็นความร้อนอีกครั้ง แต่ไอ้ความร้อนที่เรามีดันไม่ใช้ เพราะเราอยากได้ความร้อนที่ควบคุมได้ พลังงานความร้อนที่เผาได้ จะเอาไปใช้เลยก็ไม่ได้ เอาไปต้มน้ำกว่าจะเดือด กว่าจะกลายเป็นไอน้ำวิ่งไปตามท่อ lost ไปตลอดทาง เมื่อถึงปลายทางปะทะกับใบพัดก็ lost ออกไปเรื่อยๆ กว่าใบพัดจะหมุนปั่นออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วก็ต้องยกให้เป็นกระแสไฟแรงสูง จะได้มีแรงดันส่งไปตามสายได้ ซึ่งก็ lost ไปตลอดทางอีกมหาศาล จากไฟฟ้าแรงดันสูงพอมาถึงในเมือง ก็ต้องผ่านสถานีไฟฟ้าย่อยเพื่อลดให้กลายเป็นไฟฟ้าแรงดันต่ำ ส่งมาถึงหน้าบ้านก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องผ่านหม้อแปลงเปลี่ยนให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ วิ่งตามสายเข้ามาในบ้าน ผ่านสวิตช์ไฟไปติดหลอดไฟ เกิดเป็นพลังงานความร้อนเพื่อเผาหลอดให้เรืองแสงขึ้นมา เราถึงได้พลังงานแสง เห็นไหมว่ามัน lost ไปเท่าไหร่ ในการกดสวิตช์ไฟหนึ่งแก๊ก เพื่อให้ได้แสงสว่าง”
อาจารย์ยงยุทธชี้มือให้ดูนอกศาลา นั่นคือแสงสว่างที่เราได้มาฟรีๆ จากดวงอาทิตย์ พร้อมใช้งานได้ทันที
“ในวิถีไทยของเรา เราใช้พลังงานน้ำ พลังงานกล เสื้อผ้าเราก็ตากลมตากแดด เราไม่ต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าเลย เรามีแหล่งพลังงานเยอะมาก แต่เราบอกว่ามันไม่ทันสมัย เฮาต้องพัฒนา วิธีการของเฮาก็ทำอย่างเนี้ย วิธีการสู้กับโลกร้อนที่ดีที่สุดคือ ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ใช้ทุกอย่างที่ธรรมชาติให้มาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”



5.
“ถ้าโลกนี้ไม่มีคนจะเป็นยังไง”
อาจารย์ยงยุทธโยนอีกคำถามให้พวกเรา
“ป่าจะเต็มโลกเลย” อาจารย์เฉลย “เมื่อป่าเต็มโลก สัตว์ป่าก็เต็มโลก โลกจะมีความมั่นคงมากขึ้น เพราะต้นไม้คือพลังงานแปรรูป แหล่งอาหาร แล้วต้นไม้ก็มีความหลากหลาย สัตว์ที่มากินก็มีความหลากหลาย ระบบนิเวศก็จะมีเยอะขึ้นเป็นล้านระบบ เมื่อล่มไประบบนึง ระบบอื่นก็ยังหมุนได้ตามปกติ โลกจึงมั่นคงมาก
“แต่พอมนุษย์เกิดมา มนุษย์คิดว่าเขาเป็นเจ้าของโลก ไปอยู่ที่ไหนก็ห้ามชีวิตอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยว เอาปูน เอายางมะตอยเททับ ไม่ให้ชีวิตอื่นอยู่นอกจากตัวเอง เราใช้ที่นอนแค่เตียงเดียว ถ้าต้นไม้จะขึ้น ใบไม้จะร่วงก็ควรปล่อยเขา จุลชีพหรืออะไรก็อยู่ของเขาไป เพราะมันเป็นของโลก ไม่ใช่ของเรา เราก็อยู่เท่าที่จำเป็นต้องอยู่ ไม่ใช่ไปจำกัดสิทธิ์ของคนอื่นเขาหมด แล้วก็ไปรุกรานธรรมชาติ”

6.
“เราจะสู้โลกร้อนด้วยธรรมะได้ยังไงครับ” ใครบางคนถามขึ้นมาต่อหน้าพระพุทธบาทจำลอง
“การสู้โลกร้อนด้วยธรรมะก็คือ การทำบุญด้วยการไม่ทำ” อาจารย์ยงยุทธตอบ “ที่เราทำบุญน่ะ เราทำด้วยสิ่งที่เหลือจากตัวเรา ถ้าเราไม่เทคจนเหลือ คนอีกหลายคนก็จะไม่เดือดร้อน”
การไม่ทำบุญ อาจจะได้บุญมากกว่าการที่เรามุ่งแสวงหาผลประโยชน์จนคนอื่นเดือดร้อน แล้วเอาเพียงส่วนเล็กๆ ของผลประโยชน์ที่ได้นั้นมาทำบุญ
อาจารย์ยงยุทธท่านมองแบบนั้น



7.
“พัฒนา แปลว่าอะไร แปลว่าทันสมัยหรือเปล่า” อาจารย์ยงยุทธชวนทุกคนคิด
"ไม่ใช่ พัฒนาแปลว่า พึ่งตนเอง มันคือ self-survive ไม่ใช่ modernize เพราะ modernize คือการทำให้เหมือนคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเรา เราต้องเปลี่ยนการใช้ชีวิต นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เมืองไทยร้อน เมืองไทยควรจะเย็นสบาย เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลอง เราก็ถมหมด แล้วหันมาใช้เทคโนโลยี รถยนต์ อะไรต่ออะไร
“การพึ่งตัวเอง เราต้องทบทวนว่าชีวิตเราในวันนี้ อะไรบ้างที่เราพึ่งตัวเองไม่ได้ ที่บ้านมีตุ่มน้ำไหม ไม่มี มีแต่น้ำจากฝักบัว ถ้าน้ำประปาหยุดไหลล่ะ เราจะทำยังไง ที่บ้านมีแสงสว่างให้ใช้โดยที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้าไหม ถ้าไฟฟ้าดับทำยังไง ครัวเรามีเตาถ่านไหม ถ้าแก๊สหมดทำยังไง
“เรามีขาไว้เดิน เราใช้มันบ้างไหม พอไม่ใช้มันก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ แล้วเราก็จะพึ่งตัวเองไม่ได้”
อาจารย์ยงยุทธบอกว่า ประเทศไทยของเราเป็นชาติเดียวในโลกที่มีพัฒนาการสูงที่สุด เพราะในระดับครัวเรือนเราสามารถพึ่งตัวเองได้ทุกอย่าง ไม่อะไรต้องซื้อหา พาหนะ เรือนแพ ก็ทำเอง เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ก็คิดเองได้ ทุกคนล้วนมีความรู้ทางการแพทย์
“แต่เพราะเราอยากสร้างความทันสมัย เราเลยทำลายศักยภาพตัวเองหมด แล้วก็หันไปพึ่งทุกอย่าง”
แล้วทางรอดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คืออะไร?
“เราต้องอยู่ให้ได้เหมือนแมลงสาบ มันอยู่มาก่อนไดโนเสาร์ แต่มันก็ยังอยู่มาได้ถึงวันนี้ เพราะมันทำตัวเองให้ไม่มีข้อจำกัด ยืดหยุ่นตลอด ในน้ำก็อยู่ได้ บนดินก็อยู่ได้ บนต้นไม้ก็อยู่ได้ อะไรก็กินได้หมด มันไม่เดือดร้อนว่าโลกจะเป็นยังไง เพราะมันพึ่งตัวเองมาตลอด ถ้าเราพยายามปรับชีวิตของเราให้ยืนหยัดด้วยขาของเรา ความคิดของเรา ด้วยมือของเรา ไม่ว่าโลกจะเป็นยังไง เราจะไม่เดือดร้อน เพราะเราจะปรับตัวตามโลกได้ทัน”


***********************************

เด็กหญิงชะเอม ฟ้าคราม
‘มือใหม่หัดปลูก’

ณ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพแห่งหนึ่งกลางเมืองใหญ่ ใต้ชื่อร้านมีข้อความเขียนไว้ว่า
‘สัมผัสกับธรรมชาติ จากอาหารธรรมชาติ สด สะอาด ปราศจากสารพิษ’
เด็กหญิงหน้าตาสะอาดสะอ้านอวดยิ้มกว้างโชว์ฟันเหล็กสั่งอาหารและเครื่องดื่มแทนเพื่อนๆ
ซึ่งจดจ่ออยู่กับกิจกรรมของตัวเองโดยไม่สนใจพนักงานของร้านที่มายืนรออยู่
“สั่งอาหารทั้งหมดอาหาร 6 อย่าง และน้ำแครอทเพื่อสุขภาพสำหรับทุกคนนะคะ”
พนักงานสาวทวนรายการอาหารอีกครั้ง

เด็กชายรูปร่างสูงโปร่ง ผมสีทองสไตล์ J-PoP นึกถึงการ์ตูนเรื่อง บั๊็กบันนี่
ที่เพิ่งดูจบก่อนออกจากบ้านเมื่อเช้านี้ ถามขึ้นว่า
“สงสัยเหมือนกันบ้างไหม ว่าทำไมผลแครอทถึงไปงอกที่ใต้ดิน”
(สงสัยด้วยได้ป่ะ? ที่น้องเค้ามีผมสีทอง คาดว่าคุณตาทวดน่าจะสืบเชื้อสายมาจากซุปเปอร์เซย่า)
“ใครบอกเล่า ไม่ใช่ซะหน่อย!”
เด็กหญิงหน้าละอ่อนวัยม.ต้นในมือถือหนังสือติวเข้มชีวะฯ ปลาย
เกิดอาการทนฟังไม่ได้จึงรีบตอบข้อสงสัยของเพื่อนทันที
“แครอทส่วนที่เรากินน่ะ มันคือหัวที่อยู่ใต้ดินต่างหาก
ไม่ใช่ผล แต่เป็นส่วนของรากที่ทำหน้าที่สะสมอาหาร”
“อ๋อออออ!” ทุกคนอุทานออกมาพร้อมกัน และแสดงสีหน้าชื่นชมเพื่อนคนเก่ง

“แล้ว..?”
เด็กชายที่นั่งเล่มเกมส์ PSP เครื่องใหม่ล่าสุดของขวัญจากคุณแม่ ถามโดยที่ไม่ได้ละสายตาจากจอ
“ผลแครอทมันเป็นยังไงเหรอ กินได้เหมือนรากของมันหรือเปล่า
“นั่นสิ” เสียงอู้อี้อีกเสียงแทรกขึ้นมา หลังจากที่อาหารคำสุดท้ายถูกป้อนเข้าปาก
“แล้ว...ต้นแครอท และดอกของมันล่ะ เคยเห็นกันไหม”เด็กหญิงตัวอ้วนรีบถาม
แล้วก็ต้องรีบหยิบกระดาษทิชชูขึ้นมาเช็ดปากไปพลาง
ก็สมควรอยู่หรอกนะ ถ้าต้องรีบเช็ดปากที่เลอะเทอะ เพราะพูดทั้งๆ ที่เคี้ยวอาหารอยู่เต็มปาก
แต่กระดาษทิชชูแผ่นที่เธอกำลังใช้เช็ดปากอยู่นั้น
เป็นกระดาษแผ่นที่ 2- นับตั้งแต่เธอเข้ามานั่งที่โต๊ะอาหาร...

ไม่มีคำตอบเหมือนทุกครั้ง...
ทุกคนก้มหน้าก้มตาทานอาหารที่อยู่ตรงหน้า
บทสนทนาบนโต๊ะอาหารเงียบลง เงียบจนได้ยินเสียงเพลงจากข้างนอกร้านแว่วเข้ามาเบาๆ

….ผ ม เ อ า แ ค ร อ ท ม า ฝ า ก อ ย า ก ใ ห้ เ ธ อ ไ ด้ กิ น
ผั ก มี วิ ต า มิ น ไ ม่ ต้ อ ง กิ น ข อ ง แ พ ง
ผ ม เ อ า แ ค ร อ ท ม า ฝ า ก อ ย า ก ใ ห้ เ ธ อ แ ก้ ม แ ด ง
แ ก้ ม ข อ ง เ ธ อ จ ะ แ ด ง แ ด ง เ ห มื อ น สี แ ค ร อ ท ๆ ๆ ๆ….




ปรืนๆ... ปรืนๆ...
เสียงรถขยะเคลื่อนเข้ามาตามทางแคบๆ หลังร้าน
ขยะหลายถุงถูกมัดปากถุงไว้และวางเรียงกันอยู่ที่ประตูหลังร้านอย่างเป็นระเบียบ
ดูจากด้านนอกคงไม่มีใครรู้หรอกว่าภายในถุงนั้นมีอะไรทิ้งรวมกันอยู่บ้าง
ถุงขยะทั้งหมดถูกยกขึ้นรถไปแล้ว เหลือแต่น้ำเยิ้มๆ
ที่ไหลย้อยลงมาจากรถ ลงบนถนนเป็นทางและส่งกลิ่นเหม็น
“โอ้ย! เลอะเทอะไปหมดเลย นี่ใจคอจะเก็บขยะกันวันละกี่หนกันละเนี้ย”
เสียงของคุณป้าร้านขายของชำเล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีลูกค้า
และว่างมากเลยฆ่าเวลาด้วยการนับจำนวนเที่ยวที่รถขยะผ่านเข้ามา
ชายแก่เนื้อตัวมอมแมมกำลังสาละวนควานหาอะไรบางอย่างในถุงพลาสติกสีดำพวกนั้น
มีเสียงพรึมพรำแว่วออกมาเบาๆ
“โอ้ย เลอะเทอะไปหมดเลย กระดาษพวกนี้ถ้าไม่เปียกซะก่อน
ก็น่าจะเก็บไปขายได้นะเนี้ย เสียดายจัง...”

ยานพานะอำนวยความสะดวกของคนกรุงเคลื่อนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้าจอดสนิทแล้ว
เด็กๆ เดินออกจากอาคารผู้โดยสาร และเร่งก้าวเท้ายาวๆ เพื่อหลบให้พ้นจากแสงแดดจ้าอันร้อนแรง
ศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในย่านนั้น เปิดประตูบานกว้างให้ความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ
ออกมาต้อนรับลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย...

ครืนๆ... ครืนๆ... ครืนๆ... ครืนๆๆๆ
เสียงเครื่องปรับอากาศจากตึกสูงหลายตึก ทำงานพร้อมกันอย่างแข็งขัน
ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวกว่าทุกวัน...
เอ๊ะ! ต้องบอกว่ามันร้อนขึ้นทุกวันๆ ...ทุกปีๆ แบบนี้ถึงจะถูก

‘
‘
ลมเย็นปะทะเข้าใบหน้าและพัดเส้นผมของเด็กหญิง
ย่างเข้าเดือนเมษายนแล้ว แต่ที่นี่อากาศยังเย็นสบาย
ตาพาชะเอมออกจากบ้านมาแต่เช้า เลียบทะเลมุ่งหน้าไปสวนมะพร้าวของลุงกำนัน
ชาวบ้านแถวนี้ปลูกมะพร้าวกันเป็นจำนวนมาก บ้างก็เก็บส่วนต่างๆ ไปขาย
เช่น ผล และทางมะพร้าว หรือไม่ก็ทำน้ำตาลปึก ซึ่งเป็นน้ำตาลที่ได้จากจั่นมะพร้าว(ช่อดอก)
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ตาเพิ่งเล่าให้ชะเอมฟังว่า น้ำมันจากมะพร้าวสามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ได้
อย่างอีแก่คันนี้ก็วิ่งได้ด้วยน้ำมันไบโอดีเซล ผลิตผลของมะพร้าวจากสวนหลังบ้านเรานี่แหละ
วันนี้ตากับลุงกำนันก็เลยจะมาหารือกัน เพื่อเผยแพร่การผลิตไบโอดีเซลไว้ใช้ในชุมชน

ระหว่างทางตากับหลานแวะทักทายลุงชิดที่กำลังเดินแบกไม้โกงกางออกมาจากป่าชายเลนข้างทาง
ชาวบ้านแถวนี้ ใช้ถ่านจากฝีมือของลุงชิดกันทั้งนั้น เพราะว่าติดไฟดี และให้ไฟแรง
ชะเอมรู้จักลุงชิดมานานแล้ว ยิ้มของแกเห็นทีไรก็ขาววับตัดกับสีดำจากถ่านที่เปื้อนตัวไปหมด
ไม้โกงกางเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการทำเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ
ต้นโกงกางที่ถูกตัดมาถูกใช้ทุกส่วนไปอย่างคุ้มค่า
ลำต้นใช้ทำถ่าน ส่วนรากก็เป็นเชื้อไฟในการเผาถ่าน
นอกจากนี้ก็ยังมีการปลูกทดแทนกันทุกปี ปีที่แล้วชะเอมกับเพื่อนที่โรงเรียนก็ไปช่วยกันปลูกต้นโกงกาง
พอกลับมาถึงบ้าน เนื้อตัวมอมแมมมากจนยายจำแทบไม่ได้ นึกแล้วยังขำไม่หาย...

ชะเอมมาอยู่ที่นี่กับตาและยายมากี่ปีแล้วนะ?... ชะเอมถามตัวเองในใจ
แล้วเรื่องที่ยายเคยเล่าก็ผุดขึ้นมาในหัวอีกครั้ง
ยายเล่าว่าตอนที่แม่พาชะเอมมาหาตากับยายครั้งแรก
ไม่รู้เป็นเพราะอะไร พอเห็นหน้าตากับยายชะเอมก็ร้องไห้จ้าละหวั่น
ยายบอกว่าร้องอยู่นานเลยเชียวล่ะ แต่เสียงเล็กๆ นั้น ก็ยังใสแจ๋วไม่มีวี่แววว่าจะแหบแห้ง
พอยายหยิบเอาปลาตะเพียนที่อุตส่าห์ตั้งใจสานไว้เป็นของขวัญสำหรับหลานตัวน้อยออกมาให้
เท่านั้นแหละ...ชะเอมก็ทำตาแป๋ว สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า จนลืมไปเลยว่าเมื่อกี้เพิ่งจะร้องไห้ไปหยกๆ

ยายขอเป็นคนตั้งชื่อให้ชะเอม เพราะชะเอมทำให้ยายนึกถึงสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง
ที่ใช้ต้นหรือแก่นมาต้มดื่ม มีสรรพคุณ ทำให้ชุ่มคอ แก้โรคในคอ แก้ไอและน้ำลายเหนียว
นอกจากนี้ รากยังใช้เป็นยาระบายได้ดี ส่วนดอกช่วยย่อยและขับเสมหะได้ดีมาก
เอามาต้มกินจิ้มน้ำพริกก็ได้ หรือจะต้มดื่มก็ดี
สมุนไพรที่ว่านี้ มีชื่อว่า ‘ชะเอม’
ได้กินชะเอมแล้วจะได้มีเสียงใสแจ๋วแบบชะเอมตัวน้อยนี่แหละ
จึงเป็นที่มาของชื่อ ที่ชะเอมจำได้ขึ้นใจ

ชะเอมชอบชื่อของตัวเองมาก พอๆ กับนามสกุล
‘ฟ้าคราม’ เป็นนามสกุลของพ่อ ชะเอมชอบมองท้องฟ้า
เหมือนกับว่ามีความรู้สึกบางอย่างที่ผูกพันอย่างบอกไม่ถูก
ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกครั้งที่มองท้องฟ้า ชะเอมมักจะคิดถึงพ่อโดยไม่รู้ตัว
ชะเอมโตขึ้นมาอย่างเด็กอารมณ์ดี และชอบร้องเพลง
เพลงที่ชะเอมแต่งไว้มีเยอะมาก และถ้ามีโอกาสเธอก็จะร้องมันออกมาดังๆ ให้คนอื่นได้ฟัง
ยายบอกว่านั่นคือสิ่งที่ชะเอมทำแล้วมีความสุข
และในขณะเดียวกันคนอื่นๆ ที่ได้ยินเสียงเพลงจากเธอก็พลอยมีความสุขตามไปด้วย

ตากับชะเอมกลับถึงบ้านแล้ว ได้กลิ่นกับข้าวฝีมือยายลอยมาแต่ไกล
ความสุขของชะเอมอีกอย่างหนึ่งก็คือการได้กินกับข้าวฝีมือยาย
หน้าที่ทำกับข้าวยังคงเป็นยายเหมือนเช่นทุกวัน แต่วันนี้พิเศษกว่าทุกวัน
เพราะว่าอาหารเย็นมื้อนี้เป็นเมนูจาก ‘ชะคราม’
ชะคราม เป็นผักพื้นบ้านที่ขึ้นอยู่ตามทุ่งนาเกลือบริเวณริมคันนา
ใบใช้ประกอบอาหาร รสชาติตอนที่ยังไม่ล้างจะเค็มจัด
แต่จะนำไปล้างหรือต้มก่อน เพื่อลดความเค็ม
เมนูแรกที่ชะเอมตักใส่ปาก คือ น้ำพริกกะปิที่ทานพร้อมกับผักชะครามลวก
ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ พอดีคำ และต้องไม่ลืมราดด้วยน้ำกะทิเข้มข้น
ตามด้วยแกงส้มผักชะคราม รสชาติเปรี้ยวเผ็ดถึงใจ
และห่อหมกผักชะคราม ที่เปลี่ยนจากใบยอ เป็นใบชะคราม แถมด้วยเนื้อปลาอินทรีชิ้นโต
ขณะที่เคี้ยวผักชะครามชุ่มฉ่ำอยู่ในปาก ชะเอมก็หันไปยิ้มให้ยาย แล้วพูดออกมาว่า
“ฝีมือยายอร่อยที่สุดในโลกเลยค่ะ”

...ยังไม่ดึกมากนัก แต่พระจันทร์ก็ปรากฏเห็นเป็นเสี้ยวสว่างบางๆ อยู่บนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกตั้งแต่หัวค่ำ
วันพรุ่งนี้เป็นวันขึ้น 7 ค่ำ ยายเตรียมของที่จะเอาไปขายไว้พร้อมแล้ว
และชวนชะเอมไปด้วยกันเหมือนเช่นเคย
ยายบอกว่า เดี๋ยวนี้มีคนจากที่อื่นสนใจมาเที่ยวตลาดน้ำที่บ้านเราเยอะขึ้น
มีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับชะเอมที่มาเที่ยวพร้อมกับครอบครัวด้วย
คืนนี้ชะเอมเลยตั้งใจฝึกสานปลาตะเพียนจากใบมะพร้าวที่ยายสอนอีกครั้ง
เพื่อจะได้มั่นใจว่า วันพรุ่งนี้ถ้าชะเอมเจอเพื่อนใหม่ที่ตลาด จะได้ชวนมาสานปลาตะเพียนด้วยกัน

ยายเข้าไปล้างจานที่ในครัวแล้ว ส่วนตาเดินไปดูเจ้าโต้งที่เล้าได้สักพัก
ชะเอมยังไม่อยากลุกไปไหน นั่งนึกอะไรอยู่เพลินๆ ทันใดนั้นก็อุทานออกมาว่า
“ ใช่! ลองซ้อมดูซะหน่อยสิ” ชะเอมบอกกับตัวเอง

. . . วั น นี้ ฟ้ า กั บ ท ะ เ ล ดู ง า ม . . . กิ น น้ำ พ ริ ก กั บ ข้ า ว พู น จ า น . . .
ชะ! เ อิ ง เ งิ ย . . . ชะ! อิ่ ม เ อ ม ใ จ . . .

เพลงสำหรับวันนี้ของชะเอมแต่งเสร็จแล้ว
พรุ่งนี้ตอนที่พายเรือไปตลาดกับยาย ...ชะเอมจะร้องเพลงนี้ให้ยายฟัง..^^



ชื่อไทย ชะคราม
ชื่อวิทยาศาสตร์ Suaeda maritima (L.) Dumort.
วงศ์ CHENOPODIACEAE
ชื่ออื่น ชักคราม (กลาง), ส่าคราม (สมุทรสาคร)
เป็นไม้ล้มลุกที่มีอายุหลายปี เมื่ออายุมากขึ้นจะพัฒนาจนลำต้นมีเนื้อไม้ เป็นพุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 เมตร ลำต้นเดี่ยว ทรงพุ่มแผ่กระจาย แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น มักมีรากงอกบริเวณข้อในระดับต่ำ
ลำต้นแก่มีผิวหยาบจากรอยแผลที่เกิดจากใบ ที่ร่วงหล่นไปแล้ว
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับ เบียดกันแน่น ไม่มีก้านใบ
ใบรูปแถบยาว 1-6 ซม.ใบอวบน้ำมีนวลสีเขียวสดหรือสีเขียวอมม่วงในฤดูแล้งจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วงอ่อนๆ
ดอกออกที่ปลายยอด เป็นช่อแบบช่อแยกแขนง
ช่อดอกยาว 3-18 ซม. แต่ละกระจุกประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ใบประดับที่อยู่ระดับต่ำ มีขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายใบ และมีขนาดเล็กลงไปทางปลายช่อ
ใบประดับย่อยที่ฐาน วงกลีบรวม มี 2-3ใบ รูปขอบขนานมนโปร่งใสและติดคงทน
วงกลีบรวมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1-0.2ซม. สีเขียวหรือสีเขียวอมม่วง ออกดอกตลอดปี
ผล มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2-2.5ซม.อยู่ภายในวงกลีบรวม แต่ละผลมีเมล็ดจำนวนมาก


**********************************************

‘โรคโลกร้อน’
เม*

๑.
ฉันสงสัย
‘โรคโลกร้อน’ นี่มันเป็นอาการป่วยในคนหรือโลกกันแน่?

๒.
ตอนยังเด็ก..ฉันไม่เคยคิดว่าโลกจะป่วย
ไม่คิด ไม่รู้ หรือเพราะไม่สนใจเลย ฉันก็จำไม่ได้แล้วล่ะ
หรืออันที่จริง โลกของฉันในตอนนั้นคืออะไรกันแน่
ไอ้ลูกกลมสีเขียวๆฟ้าๆหมุนรอบแกนกลางด้วยไม่กี่มือโอบ
หรือโลกใบน้อยที่แวดล้อมด้วยคนที่รัก ปลาที่เลี้ยง โรงเรียนที่อยู่
ท่าทางจะเป็นโลกใบไม่ใหญ่ จุไว้แต่เรื่องสดใสที่อยากจำก็พอ
ตอนโตขึ้น..โลกกว้างขึ้นตามการเติบโตของสายตาและสัมผัส
แต่เอาเข้าจริง ‘สังคม’ มากกว่าที่ขยายตัว ไม่ใช่ขนาดของโลกในจักรวาล
แม้จะยังไม่มีใครทำแบบจำลองใหม่ มาเทียบอัตราส่วนสีเขียวๆฟ้าๆ
ในทรงกลมอันเดิมที่เราเคยหมุนเล่นให้มันส์มือ ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
รู้ตัวอีกที สีเขียวๆฟ้าๆที่แวดล้อมเราก็กลายเป็นข่าวที่มาของ ‘โรคโลกร้อน’ ที่ระบาดไปทั่วซะแล้ว..ฤาโลกจะป่วยเป็นไข้? ฤาคนจะล่ำลือกันตามกระแสเกินไป?

๓.
เค้าว่ากันว่า โลกร้อน อากาศเปลี่ยน หน้าฝนน้ำแห้ง หน้าร้อนฝนตก หน้าหนาวเมืองไทยจะมีหิมะ!
มีข่าวว่า น้ำแข็งละลายจนหมีขั้วโลกจมน้ำตาย ลูกเห็บตกผิดฤดู พายุพัดรุนแรง คลื่นยักษ์ในทะเลพิโรธ .. อื่นๆอีกมากมาย
คุณเชื่อเค้า หรือ เชื่อข่าว

๔.
ฉันเชื่อครู
‘ครูยงยุทธ จรรยารักษ์’
ครูคนที่สอนฉันให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ดาราศาสตร์
และทุกศาสตร์ มันคือ เรื่องเดียวกัน และสำคัญที่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้

๕.
‘โลกร้อน เพราะ ใจคนร้อน’
คนปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเข้าหาตัว เราต้องการความสบาย อยากได้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวก เราสะสมความรู้มากมายเพื่อสร้างและเปลี่ยนธรรมชาติให้มาอยู่ในการควบคุมด้วยคำว่าพัฒนา จนละเลยและลืมภูมิปัญญาที่มาจากรากเหง้าของตน
‘ไฟฟ้าคือพลังงานทดแทน พลังงานแสงจากตะวันสิของจริง’
ในหนึ่งๆวัน เรากดสวิตช์ไฟคนละหลายๆครั้งด้วยความเคยชิน
ในหนึ่งครั้งที่กด พลังงานได้เปลี่ยนรูปจากพลังงานความร้อนของดวงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม ถูกปั่นเป็นกระแสไฟฟ้า ผ่านสถานีย่อยเพื่อจ่ายไฟให้เข้าถึงมือเรากด
กว่าจะออกมาเป็นแสงสว่างให้เราใช้..มีอะไรหายไปมั่งระหว่างทาง..ดูน่าเหนื่อยไหม?
ลองเทียบกับการใช้แสงจากตะวันในเวลากลางวัน ใช้แสงจันทร์เวลากลางคืนสิ!
‘เรากลัวไม่เจริญเพราะเดินช้า’
เราเลยรีบเดินจนมองไม่ได้หยุดดู ว่าดอกไม้ข้างๆทางบานแล้วมันสดใสแค่ไหน
ต่อมาเราอาศัยพาหนะเดินทางแนวราบ ก็มองพุ่งตรงแต่หนทางข้างหน้า ไม่ได้ใส่ใจนอกลู่ทางที่เป็นเป้าหมาย จนบางทีก็ลืมมองหลัง ว่าเราละทิ้งหมอกหรือควันไว้กันแน่
ยิ่งกว่านั้น เมื่อเราเดินทางฝืนแรงโน้มถ่วงโลกเป็นแนวตั้งขึ้นไปด้านบน เรามองไม่เห็นรายละเอียดของสิ่งมีชีวิตที่เราพรมรมควันทิ้งไว้ในขณะเริ่มเดินทางอีกต่อไป
น่าแปลกที่ระหว่างทาง ฉันพบป้าย “ขับรถช้าๆ พ่อจ๋าหนูรออยู่” ..ช้าแต่ปลอดภัย!
‘มะขามหน้าหนาว มะนาวหน้าฝน มะม่วงหน้าร้อน และมะดันปลายร้อน’
คนไทยเคยใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เมื่ออากาศและฤดูกาลมันสม่ำเสมอ ผลผลิตเคยคาดการณ์ได้ตามช่วงเวลา เราก็กินอยู่ตามจังหวะชีวิตของธรรมชาติ อยู่อย่างสอดคล้อง ใช้เท่าที่จำเป็น แม้แต่ทำนา ตากผ้า จับปลา ก็สังเกตจังหวะของผู้อื่นในระบบนิเวศน์เดียวกัน เบียดเบียนแต่น้อย ส่วนเหลือจากเราก็น้อย

๖.
‘ภาวะโลกร้อน’
เมื่อตอนเกิดโลกใหม่ๆ ในอากาศมีแต่คาร์บอนไดออกไซด์ จนเมื่อโลกเย็นลง จึงเกิดน้ำ แร่ธาตุ และสิ่งมีชีวิตขึ้น ต้นไม้ต้นแรกได้ดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปทำงานร่วมกับพลังงานแสงจากดวงอาทิตย์ แล้วจึงปล่อยออกซิเจนออกมา คาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศจึงลดลง ออกซิเจนมีมากขึ้น นานๆเข้า คาร์บอนจึงถูกสะสมในพืชและสัตว์ หมุนเวียนตามห่วงโซ่อาหาร จนได้ถูกทับถมกลายเป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ
แต่ทุกวันนี้ มนุษย์ผู้คิดว่าตนเป็นเจ้าของโลก ได้เพียรพยายามหาวิธีที่จะขุดเชื้อเพลิงเหล่านั้นมาใช้เป็นพลังงานหลักๆ คาร์บอนที่ถูกสะสมไว้จึงถูกนำมาปล่อยคืนสู่บรรยากาศ อาการแปลกๆป่วยๆของโลกจึงเกิดขึ้น
‘ดวงอาทิตย์ทำให้เราไม่ร้อน’
ส่วนหนึ่งของพลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นพลังงานความร้อน ในน้ำมีความจุความร้อนไม่เท่ากับในดิน เมื่ออากาศเหนือดินร้อนและยกตัวขึ้น อากาศเหนือน้ำก็จะเข้ามาแทน อากาศที่ไหลนี่คือ ‘ลม’ ส่วนอากาศร้อนที่ยกตัว คือ ‘กระแสอากาศ’
เมื่ออุณหภูมิอากาศสูงขึ้น จึงเกิดวาตภัยบ่อยและรุนแรง และยิ่งน้ำโดนเผาให้ระเหยมากขึ้น ปริมาณฝนก็มากด้วย การเปลี่ยนแปลงของกระแสอากาศจึงส่งผลต่อวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตในโลก

๗.
บนรถ มีกิจกรรมผลัดกันร้องเพลงตามลำดับที่นั่ง
ฉันนั่งลุ้นอยู่ว่าจะถึงตาเราไหมหนอ
เสียงที่ต้องคอยตามหากุญแจ(คีย์)จะต้องหลุดจากปากเราถึงหูใครในคราวซวยนี้มั่ง
ปรากฎว่าผู้ร่วมทริปโชคดีกันหมด ฉันจึงได้แต่เก็บเพลงวันนั้นไว้ในใจ

‘ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน รับรู้ด้วยกัน แล้วทำให้โลกนี้สดใส
อยากให้โลกน่าอยู่กว่านี้ เป็นโลกที่เราฝันใฝ่ จะสวยอย่างไร เป็นไปได้ด้วยมือของเรา’

แล้วโลกที่คุณฝันใฝ่เป็นอย่างไร
เราคนเดียวมีสองมือ ถ้าเราหลายคนล่ะ
หวังว่าจะมีอีกหลายมือช่วยกันส่งต่อสารในโครงการ April’s Truth Day*
ช่วยกันสานฝันให้โลกของเราทุกคนสวยงาม : )

ป.ล. ขอแอบกระซิบ (เผื่อว่าคุณจะถาม) โลกในฝันของฉันน่ะ เป็นโลกที่ทั้งคนและโลกจะช่วยกันรักษาอาการป่วยจากคนละโรคเดียวกัน ก่อนที่จะสายเกินแกงแล้ว ไม่มีเวลาให้ฝันถึงโลกหน้าโลกไหนอีก ..ก็ไอ้โรคโลกร้อนที่มันระบาดไปทั่วเนี่ยแหละ!


**********************************************


ห้องเรียนที่ไม่มีฝาผนัง
เรื่อง > แอน

ห้องเรียนของวันนี้ไม่เหมือนเช่นทุกวัน มีนักเรียนมาเข้าเรียนกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อนร่วมชั้นของฉันก็มากันหลากหน้าหลายตา บางคนก็คุ้นหน้าคุ้นตารู้จักมักจี่กันดีอยู่ บางคนก็เป็นเพื่อนใหม่ที่วันนี้เราจะได้ทำความรู้จักกัน

ครูของพวกเราชื่ออาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ แต่ครูบอกว่าครูใช้ชื่อในวงการนี้ว่า ‘เจ้าทุย’ ได้ยินครูบอกว่าปรัชญาของเจ้าทุยคือ ‘ไม่รู้’ เมื่อไม่รู้ก็ให้ตั้งคำถามแล้วค่อยสืบเสาะหาคำตอบกันต่อไป เอกลักษณ์ของครูท่านนี้ไม่เหมือนครูคนไหน ก็คือ ครูมีแต่คำถามแล้วให้เราช่วยกันโต้ตอบกันทางความคิด ครูไม่มีตำราหรือเอกสารประกอบการสอน แต่ครูพาให้เราได้ไปเห็นของจริง แล้วให้เราสังเกต ตั้งคำถามและสร้างความรู้ด้วยตนเองที่เรียกว่า ‘ปัญญา’ ด้วยกัน

ครูบอกพวกเราว่าบทเรียนในวันนี้ ชื่อว่า ‘สู้โลกร้อนด้วยวิถีไทย’ พูดถึงโลกร้อนกับวิถีไทยมันมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร ครูเล่าให้ฟังว่า วิถีไทยของเราเป็นชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เลยมีคำพังเพยที่ว่า ‘น้ำขึ้นให้รีบตัก’ เพราะว่าเวลาที่น้ำทะเลลง น้ำจืดจากต้นน้ำจะเข้ามา ช่วงขณะที่น้ำขึ้นลงจะขุ่น แต่ช่วงน้ำเปลี่ยน น้ำก็จะใสก็เลยต้องรีบตักใส่ตุ่ม ในวิถีไทยมีความอุดมสมบูรณ์หลากหลายในเรื่องของอาหารการกิน เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ในน้ำมีปลาในนามีข้าว

ครูพาพวกเราย้อนกลับเข้าไปสู่ในอดีตไปดูวิถีไทยของชุมชนในแถบอัมพวาที่เกี่ยวพันกับสายน้ำ เป็นเวนิชตะวันออกแหล่งสุดท้าย สมัยก่อนคนโบราณเดินทางสัญจรกันโดยทางเรือ เมื่อก่อนคนเอาของแลกกัน ชาวเลออกเรือไปได้อาหารทะเลก็เอาของมาแลกกับชาวสวน แลกน้ำตาล แลกมะพร้าว ที่ตรงนี้ก็เลยกลายเป็นจุดนัดพบที่ว่า นัดมาเจอกัน คือ เอาของเหลือใช้มาแลกเปลี่ยนกันและกลายเป็นตลาดนัด ซึ่งเป็นแบบธุรกิจไทย ที่พยายามเอาของไร้ค่าของตนเอง ทำให้มีค่าสำหรับคนอื่น และของไร้ค่าของคนอื่นก็กลับกลายเป็นของมีค่าสำหรับตน ที่ในวันนี้พวกเราได้มาเห็นวิถีวัฒนธรรมแบบนี้ที่เรียกว่า ‘ตลาดน้ำท่าคา’

ท่ามกลางบรรยากาศ 2 ฝั่งน้ำ มีสะพานข้ามคลองที่เป็นจุดชมตลาดที่สวยที่สุดอีกจุดหนึ่ง สองข้างฝั่งร่มรื่นไปด้วยสวนผลไม้และสวนมะพร้าว ที่สวนมะพร้าวนี่เองทำให้ฉันค้นพบคำตอบบางอย่างที่เกี่ยวพันกับในวิถีชีวิตของฉัน

จากข้อคำถามที่ว่า ทำไมต้องใช้ลิงเก็บมะพร้าว ข้อความในประโยคคำตอบของครูบอกไว้ว่า การที่จะให้แรงงานลิงเก็บมะพร้าวแทนคนได้นั้น ต้องมีการฝึกฝนและเข้าใจวิถีชีวิตของลิง เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนั้นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างของลูกมะพร้าว นิสัยของลิงรวมทั้งนิสัยของเราที่เป็นครูผู้สอน คำตอบนี้เองทำให้ฉันย้อนกลับไปคิดถึงการสอนคน ที่ต้องเริ่มจากการรู้จัก เข้าใจธรรมชาติของผู้เรียน เชื่อมั่นและศรัทธาในศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน แล้วในการถ่ายทอดความรู้ในระหว่างการเรียนการสอน ทั้งผู้สอนและผู้เรียนต่างได้เรียนรู้และฝึกตนเองไปพร้อมๆ กัน พร้อมกับให้ความรักความเมตตา สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญในการที่จะสร้างสัมพันธภาพ ที่ก่อให้เกิดความผูกพันและใช้ชีวิตในการเรียนรู้ร่วมกันอย่างได้มีความสุข

ยามบ่ายที่แดดร้อนจ้าของวันนั้น ครูพาพวกเราเดินขึ้นไปบนเขายี่สาร ที่ข้างบนนั้นมีศาลาไม้เก่าแก่ดูโบราณคร่ำคร่าหลังหนึ่ง นอกศาลาร้อนไปด้วยแดด ครูเรียกให้พวกเราเข้าไปนั่งในศาลาด้วยกัน นั่งไปสักพักก็รู้สึกเย็น
เพราะมีลมพัดโชยมา ครูก็เริ่มเล่าเรื่องราวที่พวกเราอยากรู้ให้ฟังกัน
ที่ว่าโลกร้อน ความจริงแล้วโลกไม่ได้ร้อน แต่ที่โลกร้อนก็เพราะว่าอากาศที่ห่อหุ้มโลกเปลี่ยน อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น อากาศจึงมีการเคลื่อนตัวเร็วและแรงขึ้น ดังนั้นจุดเปลี่ยนแปลงของโลกร้อน คือ ‘กระแสอากาศ’ ส่งผลไปถึงผลผลิตในด้านต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เช่น ผลผลิตด้านอาหารเปลี่ยน แต่ความต้องการบริโภคของมนุษย์ยังมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์เลยต้องแย่งชิงกัน ส่งผลให้เกิดความขาดแคลนด้านอาหาร ครูยังชี้ให้เห็นอีกว่าในความเป็นมนุษย์ของเรานั้น เราหลงแต่ในมายายึดเอาความสะดวกสบายของเราเป็นที่ตั้ง เราไปรุกรานธรรมชาติคิดว่าโลกทั้งโลกเป็นของเราห้ามไม่ให้ชีวิตอื่นมาร่วมอาศัยอยู่ด้วย ที่ร้ายกว่านั้นมนุษย์เราชอบควบคุมทุกอย่างให้เป็นอย่างที่ฉันต้องการ อย่างเช่นที่เราบอกว่าเราทันสมัยและมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกมากมายกว่าแต่ก่อน ร้อนนักก็เปิดแอร์ เปิดพัดลม แค่นี้ก็สบายแล้ว อันที่จริงแล้วสิ่งนี้ล่ะที่นำมาสู่ความจริงที่ว่า ทำไมโลกถึงร้อน เพราะความทันสมัยและเทคโนโลยีมันนำไปสู่การใช้และสูญเสียพลังงานที่แปรรูปมากมายนัก ต่างจากวิถีไทยอาศัยความรู้ที่สั่งสมกันมาเป็นภูมิปัญญาถ่ายทอดกันมา เราจึงใช้พลังงานหลักโดยตรงจากดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนเป็นพลังงานแสง ใช้พลังงานลม มาช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตได้อย่างสอดคล้องไปกับธรรมชาติ

แล้วพวกเราจะสู้โลกร้อนกันได้อย่างไร อย่างแรกคงต้องเริ่มต้องตั้งแต่เปลี่ยนวิธีคิด ปรับวิถีชีวิตของเราให้สอดคล้องตามอย่างวีถีไทยที่พึ่งพาตนเอง อย่าไปเปลี่ยนธรรมชาติให้เป็นไปตามตัวเรา ธรรมชาตินั้นมันสร้างสมดุลให้กับเราอยู่แล้ว ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีใช้ให้น้อยที่สุด เราต้องมีการพัฒนา ที่หมายความว่า เราต้องยืดหยุ่นและทำชีวิตให้ไม่มีข้อจำกัด ที่สามารถปรับตัวอยู่ให้ได้ทุกที่และพึ่งตนเองให้ได้ในการใช้ชีวิต

ห้องเรียนของวันนี้ที่ไม่เหมือนเช่นทุกวัน ครูพาฉันและเพื่อนๆ ออกไปสู่ห้องเรียนเคลื่อนที่ ห้องเรียนที่ไม่มีฝาผนัง มีสื่อการสอนที่เป็นของจริงให้เราได้พบ ได้เห็น ได้ตั้งคำถามและได้เรียนรู้ไปด้วยกัน ตั้งแต่นาเกลือ ตลาดน้ำ
ท่าคา สวนมะพร้าว เตาน้ำตาล วัดจุฬามณี วัดเขายี่สาร โรงเผาถ่าน วัดกุฏิ และวัดบางกะพ้อม ที่ต่างก็เป็นห้องเรียน ทำให้ได้ย้อนกลับไปเห็นรากเหง้า ภูมิปัญญาและวิถีไทยในการดำเนินชีวิตและที่สำคัญที่สุด ก็คือ ทำให้ฉันรู้สึกและได้รับรู้ว่าการได้ใช้ชีวิตที่สอดคล้องไปกับธรรมชาติ สิ่งนี้นี่ล่ะน่าจะเป็นธรรมชาติที่ดีของมนุษย์

**********************************************




 

Create Date : 02 เมษายน 2552
4 comments
Last Update : 2 เมษายน 2552 6:15:04 น.
Counter : 1113 Pageviews.

 

เป็นครั้งแรกในชีวิตชาวบลอก ที่เขียนแล้วไม่มีใครมาเม้นต์ให้เลย

สงสัยมัวแต่อึ้งกันหมด ฮ่าๆๆ

 

โดย: ฟ้าดิน 7 เมษายน 2552 2:29:29 น.  

 

ยาวดีค่ะ

คุณทรงกลดมีโปรเจคท์อะไรเก๋ๆ อย่างนี้เรื่อยๆ นะคะ เป็นโครงการที่ดี

แต่เสียดาย มารู้เอาเวลานี้แล้วน่ะนะ


อ่า.งอยากรู้จัง คุณคือใครหนอในหนังสือ ไม่บอกหน่อยเหรอคะ?

 

โดย: สาวไกด์ใจซื่อ 8 เมษายน 2552 16:53:22 น.  

 

+ แหะๆ จริงๆ ผมแวะเข้ามาหน้านี้ 2-3 รอบแล้วเหมือนกันนะครับ ตั้งแต่คุณฟ้าดินอัพ ... แต่มาทีไรก็ดึกดื่นค่อนคืนแล้วทุกที เซลล์สมองค่อนข้างตายไปเยอะแล้ว เลยอ่านไม่จบสักที และยังไม่กล้าเม้นต์ เด๋วรออ่านจบแล้วขอเม้นต์รวดเดียวเลยแล้วกันอ่ะครับผม (ถ้าไม่เปลี่ยนหน้าไปซะก่อนนะ)

 

โดย: บลูยอชท์ 9 เมษายน 2552 0:53:13 น.  

 

+ ใช่ครับ ผมเป็นริซซี่ เป็นมานานแล้วด้วย เคยแบบก้มลงไปมองแล้วโถแดงเถือก เลือดสดๆ ทั้งโถเลยอ่ะครับ แต่เพิ่งกล้าเอายาเหน็บมาใช้เนี่ยแหละ เมื่อก่อนอายหมอง่ะ

+ ของผมก็เห็น tag นี้ตั้งแต่ต้นปี ต้องรอจนล่วงไป 3 เดือนถึงจะมีวันดีๆ (ที่กิจกรรมดูเป็นผู้เป็นคนหน่อย) เอามาอัพกับเค้าได้เนี่ยแหละครับ

+ นอนดึก (กว่าผมซะอีก ... เห็นจากเวลาที่ไปเม้นต์บล็อกอื่นวันก่อนๆ) แล้วก็กินเบียร์ด้วย ระวังฉุไวนะคร้าบผม แหะๆ

 

โดย: บลูยอชท์ 9 เมษายน 2552 2:00:27 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ฟ้าดิน
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ความจำสั้น ความฝันยาว.....
Friends' blogs
[Add ฟ้าดิน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.