บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส(ตอน 8)

พุทธบูรณารำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 8)

โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย 20 มิถุนายน 2549 14:52 น.



8. บันลือสีหนาท

“ผู้ที่อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาเช่นเรา ถ้ามีการศึกษาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับเวลาแห่งอายุ ก็อาจเป็นผู้มีการงานที่มีค่ามากได้ในภายภาคหน้า”

จดหมายจากพุทธทาสภิกขุถึงเณรกรุณา พ.ศ. 2480

วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940)

ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ

บัดนี้ เวลาแห่งการบันลือสีหนาท ของพระหนุ่มอินทปัญโญ ได้มาถึงแล้ว เพราะตัวเขาได้รับเชิญจากพุทธสมาคมที่กรุงเทพฯ ให้มาแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” หัวข้อปาฐกถานี้เป็นหัวข้อที่ตัวอินทปัญโญเองก็ต้องการบรรยายและทางพุทธสมาคมก็ต้องการจะฟังเพราะ “การเข้าถึงพุทธธรรม” เป็นเรื่องเดียวที่อินทปัญโญมุ่งมั่นที่จะเข้าถึงนับตั้งแต่ตัวเขากลายมาเป็น “พระป่า” ที่สวนโมกขพลาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 ซึ่งเวลาก็ผ่านมาร่วมเก้าปีแล้ว ผู้คนที่ติดตามการเคลื่อนไหวของอินทปัญโญผ่านหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” มาโดยตลอด ซึ่งรวมทั้งเหล่าสมาชิกของพุทธสมาคมด้วย จึงอยากจะรู้ว่าในช่วงเวลาเก้าปีมานี้ อินทปัญโญได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับพุทธธรรมบ้าง พวกเขาจึงอยากฟังจากปากของอินทปัญโญโดยตรง

บัดนี้ อินทปัญโญอยู่ในวัยฉกรรจ์มีอายุ 34 ปี และมีอินทรีย์ที่แก่กล้า ทั้งทางด้านปริยัติ และด้านปฏิบัติสมาธิภาวนาพอที่สามารถเปล่งบันลือสีหนาทปลุกให้คนที่พอมีปัญญาสามารถ “ตื่น” ขึ้นมาในทางธรรมได้แล้ว

หาก “ตามรอยพระอรหันต์” ที่อินทปัญโญเริ่มเขียนในวัยยี่สิบหก เป็นงานเขียนที่ฉายแวว อัจฉริยะทางธรรม ของตัวเขา ปาฐกถาเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ในครั้งนี้ ก็ไม่ต่างไปจาก “รายงานความคืบหน้า” ในการแสวงหาพุทธธรรมของเขา ก่อนที่จะมาสิ้นสุดที่ “อานาปานสติ” (ฉบับสมบูรณ์) ในปี พ.ศ. 2502 หรืออีกยี่สิบปีให้หลัง

ใน “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” นี้ อินทปัญโญได้บอกว่า พุทธธรรม มีความหมายได้ 3 อย่าง ทั้งในเชิงพระปริยัติธรรม ในเชิงพระปฏิบัติธรรม และในเชิงพระปฏิเวธธรรม

พุทธธรรมในเชิง พระปริยัติธรรม หมายถึง คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ส่วนพุทธธรรมในเชิง พระปฏิบัติธรรม หมายถึง การปฏิบัติประเภทหนึ่ง ที่ทำให้คนธรรมดาผู้ปฏิบัตินั้นสามารถกลายเป็น พุทธะ หรือ อริยบุคคลได้

และพุทธธรรมในเชิง พระปฏิเวธธรรม นั้น หมายถึง “สิ่ง” หนึ่งที่เป็น “สิ่งนั้น” ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ

อินทปัญโญให้ความสำคัญ และให้ความสนใจเป็นที่สุดกับพุทธธรรมในเชิงพระปฏิเวธธรรมอันเป็นผลขั้นสุดท้ายของการศึกษา และการปฏิบัติธรรม เพราะเขาได้เล็งเห็น รวมทั้งได้ผ่านการทดลองด้วยตัวเองมาอย่างโชกโชนแล้วว่า พุทธธรรมในเชิงพระปริยัติธรรมซึ่งหมายถึง พระไตรปิฎกนั้น คงมีคนไม่กี่คนหรือไม่มากนักที่จะสามารถศึกษาได้ทั่วถึง ส่วนพุทธธรรมในเชิงพระปฏิบัติธรรม ก็คงมีแต่เฉพาะยอดคนที่เป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง และมุ่งมั่นในการบำเพ็ญตบะกรรมฐานอย่างเอาเป็นเอาตายเท่านั้น ที่จะทำได้ซึ่งคงเป็นคนส่วนน้อยเท่านั้น

ในช่วงเก้าปีมานี้ อินทปัญโญได้ศึกษาพระไตรปิฎกฉบับบาลีจนแตกฉาน นอกจากนี้ เขายังสามารถฝึกสมาธิภาวนาจนการเข้าฌานเป็นเรื่องง่ายสำหรับตัวเขา แต่ ตัวเขาก็รู้ดีว่า กว่าตัวเขาจะศึกษาและฝึกจิตมาได้จนถึงขั้นนี้ ตัวเขาต้อง “จ่าย” ไปด้วย “ราคา” ที่แพงขนาดไหน คงเกินกว่าที่คนธรรมดาทั่วไปจะแบกรับได้

ด้วยจิตใจที่เมตตากรุณา นึกถึงความยากลำบากของเพื่อนร่วมโลก อินทปัญโญจึงให้ความสำคัญกับพุทธธรรมในเชิงพระปฏิเวธธรรม โดยการชี้ให้เห็นว่า คนเราสามารถลุถึง “สิ่ง” สิ่งนี้ อันได้แก่ ญาณและศานติของพุทธะที่เป็นผล (ปฏิเวธ) ของพุทธธรรมได้ โดยไม่ต้องผ่านทางพระไตรปิฎก หรือผ่านการบำเพ็ญตบะ การนั่งสมาธิอย่างเข้มงวด

“ญาณ” คือความรู้ชนิดที่ทำให้ผู้รู้นั้นหมดความทะเยอทะยานในโลก ซึ่งอาจเกิดได้แม้แก่ผู้ที่ได้ชิมโลกมาจนเบื่อ จึงเหนื่อยหน่ายที่จะเสพคบกับอารมณ์นานาชนิดอีกต่อไป โดยที่ผู้นั้นไม่ต้องผ่านพระไตรปิฎก และการฝึกจิตฝึกสมาธิอันเคร่งครัดก็ได้

“ศานติ” คือความสงบที่ปลอดจากทุกข์ทั้งมวล คือความบริสุทธิ์และสงบเย็นแห่งจิต

ความเข้าใจพุทธธรรมแบบที่เน้นในเชิงปฏิเวธ (ผลของการปฏิบัติธรรม) ของอินทปัญโญนี้ถือว่าเป็นทัศนะที่ต่างออกไปจากทัศนะกระแสหลักของสายเถรวาทไทยในขณะนั้น ที่ถ้าไม่โน้มเอียงไปทางปริยัติ ก็โน้มเอียงไปในทางปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ อินทปัญโญเชื่อว่า พุทธธรรมหรือ “สิ่ง (นั้น)” ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนั้น เป็นสิ่งที่สาธารณะแก่ทุกคน และมีอยู่ทั่วไปพร้อมที่จะสัมผัสกับคนทุกคนอยู่ทุกเมื่อ แต่เมื่อคนเรามองไม่เห็น การก็เป็นราวกับว่า เป็นของที่เร้นลับจนสุดวิสัย

สิ่งที่อินทปัญโญเข้าใจเกี่ยวกับพุทธธรรมในฐานะที่เป็น “สิ่งนั้น” นี้ ตัวเขามิได้รู้จากคัมภีร์ตำราหนังสือแต่อย่างใด แต่ เขารู้มาจากชีวิตจากธรรมชาติ และจากจิตใจของตัวเขาเองที่เข้าถึงญาณและศานติได้แล้ว ไม่ว่าเขาจะอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ เดินจงกรม สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา หรือแม้แต่ออกไปบิณฑบาต กล่าวคือแม้เขาจะอยู่ในอิริยาบถใด มันก็เป็นสิ่งที่กระจ่างแจ้งแก่ใจเขาอย่างชัดเจนยิ่งอยู่เสมอ

คำอธิบายตรงนี้ของอินทปัญโญเกี่ยวกับพุทธธรรมในฐานะที่เป็น “สิ่ง” หนึ่งนี้จึงถือว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่ เซน เรียกว่า “จิตหนึ่ง” หรือ วัชรยาน เรียกว่า “ธรรมกาย” อยู่มากโขแล้ว แต่ก็ยังมีความต่างอยู่หน่อยหนึ่งตรงที่ว่า ในตอนนั้น อินทปัญโญยังมีความเห็นแบบ ทวิภาวะ อยู่ว่า “สิ่ง” สิ่งหนึ่งหรือพุทธธรรมนี้สามารถพบได้ เมื่อผู้นั้นมองเข้าไปในด้านใน หรือมองด้วยเครื่องมือสำหรับมองในด้านใน

ในขณะที่ เซน กลับบอกว่า การแสวงหาพุทธะ ภายนอก จิต ไม่มีทางเจอ แต่การแสวงหาพุทธะ ภายในจิต ก็ไม่อาจเจอเช่นกัน! ดังที่ ฮวงโป เคยบอกว่า

“จิตไม่อาจจะใช้จิตให้แสวงหาจิต พุทธะไม่อาจใช้พุทธะ ให้แสวงหาพุทธะ และไม่อาจใช้ธรรมให้แสวงหาธรรม”

เพราะฉะนั้น แม้ตอนนั้นอินทปัญโญจะมีความเข้าใจพุทธธรรมในระดับที่ล้ำลึกจนน่าทึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ถึงระดับที่ข้ามพ้นทวิคติ หรือทวิภาวะ จนอยู่ในระดับ อทวิภาวะ (nondual) ได้ แต่ก็ใกล้เคียงมากแล้ว เพราะใน “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” นี้เอง อินทปัญโญก็ได้ย้ำว่า การมองในด้านในเพื่อพบพุทธธรรมนั้น ต้องใช้ “ญาณ” ในการสัมผัส คือต้องใช้ “ตาใน” หรือ “ตาแห่งธรรมจิต” สัมผัส ไม่อาจใช้ “ตาเนื้อ” หรือใช้ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจตามธรรมดาในการสัมผัสได้

เขายังบอกอีกว่า หากจิตของผู้นั้นปราศจากโลกียธรรมอันเป็นเปลือกหุ้มที่รึงรัดได้เมื่อไหร่ ผู้นั้นก็จะพบพุทธธรรม หรือพุทธะที่มีพร้อมอยู่ทั่วไปได้ทันทีเลย

โลกียธรรมที่เป็นเปลือกหุ้มจิตอันเป็นพุทธะนั้น ในความเห็นของอินทปัญโญมีอยู่ 3 ชั้นด้วยกัน ชั้นนอกที่หยาบสุด คือรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัสอันเป็นภาพลวงของโลก หรือตัวโลกเอง ในด้านที่ปรากฏแก่คนธรรมดา

ชั้นกลาง คือความยึดมั่นในความเชื่อ ความคิดเห็น หรือลัทธิที่คนเราทุกคนตามธรรมดา ย่อมติดอยู่ไม่อย่างหนึ่งก็อย่างใดเสมอ

และ ชั้นในสุดที่ละเอียดที่สุด คือความยึดติดตัวเองของตัวเองที่จำเป็นต้องปลดเปลื้องออกไปเช่นกัน หากต้องการเข้าถึงพุทธธรรม

คำอธิบายตรงส่วนนี้ของอินทปัญโญ คือส่วนที่ลึกล้ำที่สุดในปาฐกถา “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ของเขาในวันนั้น เพราะตัวเขากล้าบันลือสีหนาทว่า

“ในการจะเข้าถึงพุทธธรรมนั้น แม้แต่ความเชื่อในครูของตน หรือแม้แต่การถือเอาพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งก็ต้องเปลื้องออก!”

เพราะสิ่งเหล่านี้ เขาบอกว่า แทนที่จะเป็นเครื่องช่วยเหลือ กลับจะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งจมติด ไม่มีวันที่จะเข้าถึงนิพพานได้เลย พอฟังถึงตรงนี้ ผู้คนที่นั่งฟังกันอย่างตั้งอกตั้งใจในห้องประชุมนั้น ถึงกับช็อกไปตามๆ กัน เพราะมันกระทบความรู้สึก ความเชื่อดั้งเดิมของพวกเขาอย่างรุนแรงอย่างที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน

อินทปัญโญ อธิบายต่อไปอีกว่า เพราะ นิพพานเป็นความไม่ยึดติดในสิ่งทั้งปวง พุทธธรรมจึงจะปรากฏเฉพาะแก่จิตที่เป็นอิสระ ไม่มีอะไรผูกมัดหรือย้อมติดเท่านั้น การยึดมั่นในองค์ศาสดาหรือครูบาอาจารย์ของตน แม้อาจเป็นประโยชน์ใน จิตระดับขั้นศีลธรรม ก็จริง แต่มันจะกลับเป็นอุปสรรคในขั้นหลุดพ้นทำให้จิตไม่อาจเป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวงได้

เพราะ สิ่งที่เป็นอิสระ จึงจะพบสิ่งที่เป็นอิสระด้วยกันได้ ถ้าคนเราไม่มีความคิดที่เป็นอิสระในขั้นความเชื่อแล้ว ความคิดอันเป็นอิสระขั้นสูงสุดจักเกิดขึ้นไม่ได้เลย เนื่องจาก “พุทธธรรม” ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบนี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือพื้นที่และกาลเวลา สามารถสัมผัสได้ด้วยญาณจักษุเท่านั้น และพุทธธรรมยังเป็นสิ่งที่มีอิสระในตัวมันเองด้วย ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าถึงสิ่งนี้ได้ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็น ผู้มีใจอิสระ ก่อนเท่านั้น คือ เป็นอิสระโดยจิตใจ เป็นอิสระต่อความลุ่มหลงมัวเมาต่อเหยื่อล่อของโลก และเป็นอิสระต่อความเชื่อที่ยึดมั่นติดมั่นจำกัดวงปัญญาให้คับแคบ ถ้าคนเราปราศจากเสียซึ่งความเป็นอิสระดังกล่าวแล้ว ย่อมไม่อาจเข้าถึงพุทธธรรมได้เลย

อินทปัญโญกล่าวย้ำอีกว่า การยึดถือที่พึ่งอย่างไตรสรณะ เป็นจิตในระดับขั้นศีลธรรม หรือขั้นที่ยังต้องทำความดีความงามวนเวียนอยู่ในโลกเพื่อไปสู่โลกที่สูงขึ้นไป เช่น โลกสวรรค์ การยึดถือที่พึ่งจึงไม่อาจมีในขั้นที่เป็นความหลุดพ้น เพราะความหลุดพ้นของผู้ที่หลุดพ้นแล้วไม่ว่าก่อนหรือหลัง ไม่ว่าเก่าหรือใหม่ย่อมเสมอกัน และเป็นอันเดียวกันหมด จึงไม่มีใครเป็นที่พึ่งแก่ใครได้ ในขั้นนี้เป็นขั้นที่แต่ละคนเป็นอิสระโดยตัวเองอย่างเด็ดขาดแล้ว จึงไม่มีใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์กันอีกต่อไป จะมีก็แต่กัลยาณมิตรของกันและกันเท่านั้น

อินทปัญโญจึงบอกว่า การยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจึงมีความหมายเพียงในขั้นต้นๆ สำหรับ คนผู้ยังต่ำเกินไป ยังไม่สามารถเข้าใจในการยึดตัวเองเป็นที่พึ่ง และยังไม่มีปัญญาขนาดเลิกการถือที่พึ่ง โดยประการทั้งปวงในที่สุด สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้แก่สาวกทั้งปวงนั้น คือ “การหลุดพ้นออกไปเสียจากความผูกพันกับสิ่งใดๆ ทั้งหมด รวมทั้งพระองค์เองด้วย และรวมทั้งตัวของตัวเองด้วย"

ทั้งหมดนี้คือ ความเข้าใจขั้นเยี่ยมยอดที่สุดของพุทธแบบเถรวาท ที่อินทปัญโญได้ลุถึงแล้วในตอนนั้น

อินทปัญโญมาไกลมากแล้ว...มาไกลเหลือเกิน ในสายตาของผู้คนในยุคเดียวกับเขา จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรที่ปาฐกถาของเขาเรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ในวันนั้น จึงเป็นที่ฮือฮามาก และกลายเป็นปาฐกถาที่ “จะไม่ตาย” หรือยังคงเป็นอมตะตลอดมาจนทุกวันนี้ และคงตลอดไปตราบเท่าที่ผู้คนยังคงแสวงหาพุทธธรรมกันอยู่

......................................

9. วันคืนแห่งกรรมฐาน

โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย 27 มิถุนายน 2549 17:28 น.



“การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องอย่างเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นระดับวัดความเสื่อมและความเจริญของพุทธศาสนาได้อย่างแน่นอน มิใช่การมีภิกษุสงฆ์มากหรือน้อย”

พุทธทาสภิกขุ


อินทปัญโญกลายเป็นผู้มีชื่อเสียงไปแล้ว นับตั้งแต่ได้ไปแสดงปาฐกถาธรรมที่พุทธสมาคม กรุงเทพฯ เรื่อง “วิถีแห่งการเข้าถึงพุทธธรรม” ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) เป็นต้นมา มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่หลังจากได้อ่านปาฐกถาชิ้นนี้ที่มีผู้นำไปตีพิมพ์เผยแพร่หลายครั้ง แล้วเกิดความแตกตื่นฮือฮา และกระหายใคร่รู้ว่า พระหนุ่มอย่างอินทปัญโญที่เป็นเพียงพระบ้านนอก ห่างไกลปืนเที่ยงรูปนี้ไปมีความลุ่มลึกอย่างลึกซึ้งในพุทธธรรมถึงขนาดนี้ได้อย่างไร บางคนก็เกิดความสงสัยแบบปุถุชนว่า พระหนุ่มในวัยฉกรรจ์อย่างอินทปัญโญ ไม่เคยเกิดความกระสันคิดถึงเพศตรงข้าม จนรบกวนจิตใจเหมือนอย่างบุรุษหนุ่มในโลกียวิสัยทั่วไปบ้างเลยหรือ

พระหนุ่มบางรูปที่อยู่ในสวนโมกข์ก็เคยถาม อินทปัญโญอย่างตรงไปตรงมาว่า โรคกระสันถึงเพศตรงข้าม ไม่มารบกวนย่ำยีบ้างดอกหรือ? แทนที่อินทปัญโญจะตอบคำถามนี้ตรงๆ เขากลับเสตอบในเชิงอุปมาอุปไมยว่า

เพศตรงข้ามที่เป็นนางมนุษย์จะมารบกวนตัวเขาได้อย่างไร ก็ในเมื่อตัวเขาก็กำลังคลุกคลีอยู่กับ “นางฟ้า” ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่แล้ว และตราบใดที่ “นางฟ้า” ของเขายังคงชนะน้ำใจของเขาได้อยู่เช่นนี้ โรคกระสันถึงเพศตรงข้ามที่เป็นนางมนุษย์คงไม่เกิดขึ้นได้หรอก

พระหนุ่มรูปนั้น พอได้ฟังคำตอบเช่นนี้จากปากของอินทปัญโญ ถึงกับทำหน้างุนงงนึกว่าอินทปัญโญถอดจิตไปสู่เทวภูมิไปคลุกคลีอยู่กับเหล่าเทพธิดาจริงๆ จนอินทปัญโญต้องรีบชี้แจงให้เข้าใจเสียใหม่ว่า “นางฟ้า” ที่เขาหมายถึง นี้คือ พุทธพจน์ต่างๆ ในพระไตรปิฎกอันแสนจะงดงามที่กล่าวจากพระโอษฐ์แห่งพระจอมมุนี เป็นที่ใฝ่ฝันถึงของสัตว์ทั้งหลายที่ปรารถนาความรู้แจ้ง และเป็นที่ผูกมัดดวงใจของเหล่าพุทธบุตรทั้งปวงให้หลงใหลยินดี

“มันจะเป็นนางฟ้าได้อย่างไร ทำไมท่านจึงเห็นหนังสืออย่างพระไตรปิฎกเป็นนางฟ้าได้ ผมไม่เข้าใจเลย” พระหนุ่มรูปนั้นซึ่งอินทรีย์ทางธรรมยังไม่แก่กล้าได้ถามสอดขึ้นมาโดยอินทปัญโญยังไม่ทันอธิบาย เมื่ออินทปัญโญอธิบาย เขาก็ฟังด้วยความเอาใจใส่ดังต่อไปนี้

“ฉันไม่ได้หมายความว่า หนังสือเล่มๆ เป็นนางฟ้าหรอกนะ แต่ฉันหมายเอา รสชาติอันเกิดจากการศึกษาปริยัติคือพระไตรปิฎก หรือจากการปฏิบัติตามพระไตรปิฎก และปฏิเวธคือการได้รู้ความจริงจนแจ่มแจ้งตามพระไตรปิฎกต่างหากว่าเป็นนางฟ้า...”

จะมีก็แต่บุคคลที่เคยมี ประสบการณ์ที่สวยงามที่สุดในชีวิตกับคำสอนโดยตรงจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า อย่างอินทปัญโญมาก่อนแล้วเท่านั้น ถึงจะสามารถเสพ "ความเป็นทิพย์" ที่เป็นรสชาติอันปีติล้ำลึกยิ่งกว่าการเสพด้วยประสาทสัมผัสแห่งกายเนื้อทั้งหลายทั้งปวงได้

ประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่แสนจะวิเศษ ที่ตัวอินทปัญโญได้สัมผัสพบจาก “คุรุ” ที่เป็น พระพุทธเจ้าโดยตรง โดยผ่านพระไตรปิฎกนี้ มันทำให้วันคืนแต่ละวันแต่ละคืนที่ตัวเขาผ่านพ้น ในช่วงเก้าปีมานี้ได้กลายเป็น วันคืนแห่งกรรมฐาน แทบทุกลมหายใจเข้าออกของตัวเขา

การศึกษาและปฏิบัติตามพระไตรปิฎกของเขา มันทำให้ตัวเขา เสพติดในพุทธธรรม ได้เช่นเดียวกับที่ชายหนุ่มคนหนึ่งหลงใหลหญิงสาวคนหนึ่งที่ตนเห็นว่าสวยและดีพร้อมว่าหญิงใดในโลก และที่มันเป็นเช่นนี้ได้ ก็เพราะตัวเขาเป็นคนที่หมกมุ่นสนใจในเรื่องพุทธธรรมนี้อย่างแท้จริงอย่างมีอิทธิบาท 4 ครบบริบูรณ์ กล่าวคือ ตัวเขาทั้งพอใจในพุทธธรรม มีความพยายาม สละได้ทุกสิ่งเพื่อเข้าถึงพุทธธรรม มีความเอาใจใส่ฝักใฝ่ตลอดเวลาในพุทธธรรม และคิดค้นหาเหตุผลและคำตอบอยู่เสมอในเรื่องที่เกี่ยวกับพุทธธรรม

การใส่ใจในพุทธธรรมอย่างครบองค์แห่งอิทธิบาท 4 เช่นนี้เองที่ทำให้วันเวลาที่ผ่านพ้นไปของอินทปัญโญกลายเป็นวันคืนแห่งกรรมฐาน

สำหรับ อินทปัญโญแล้ว วันคืนแห่งกรรมฐานของเขา คือวันคืนแห่งการคิด แห่งการวิปัสสนาเรื่องพุทธธรรมเท่านั้น จากการศึกษาของเขา ตัวเขาได้ค้นพบว่า ไม่เคยมีใครบรรลุวิมุตติด้วยการสงบหรือสมถะเลย ทุกคนบรรลุด้วยการคิดหรือการวิปัสสนาจน ปลงตก ทั้งนั้น

ปลงตก คือ การเห็นทะลุแจ้งอย่างแตกฉานซึมซาบใจในสิ่งนั้น จริงอยู่สมถะเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อจิตใจยังถูกความวิตกชั่วร้ายมารบกวน แต่ถ้ามันไม่มารบกวนแล้วจะมัวไปคิดถึงสมถะทำไม สู้ทำลายอกุศลวิตกให้แหลกละเอียดด้วยการคิด การวิปัสสนาไม่ดีกว่าหรือ

สิ่งที่อินทปัญโญใช้เป็นหลักยึดตลอดวันคืนแห่งกรรมฐานของเขา จึงเป็น “สติ” ที่เขาใช้ทำหน้าที่เป็นยามระวังเหตุให้แก่ใจเขาอยู่เสมอ ไม่ว่าอกุศล ลามกธรรมใดๆ ที่ผ่านเข้ามาในใจเขาแม้เพียงเล็กน้อย “สติ” ที่ตัวเขาฝึกฝนไว้อย่างดีแล้ว จะเป็นผู้จับกุมมันส่งไปยังกองปัญญาหรือวิปัสสนาทันที จากนั้นก็ทำการสอบสวน ค้นหาสาเหตุ-ผลลัพธ์ วิธีทำลาย และป้องกันอย่างเคร่งครัดทุกครั้งเสมอ

สำหรับอินทปัญโญแล้ว การประหารกิเลสทุกชนิดที่เข้ามาติดตาข่ายแห่งสติของตัวเขาเสมอไปทุกครั้งก็คือ “นิพพาน” น้อยๆ ของตัวเขาทุกครั้งเช่นกัน นิพพานแห่งกิเลสตัวน้อยๆ ที่ตัวเขาค่อยๆ ขุดรากถอนโคนมันออกไปทีละน้อยๆ ในแค่ละวันคืนแห่งกรรมฐานที่ นักภาวนา อย่างเขาผ่านพ้น

การคิดหรือวิปัสสนา ถ้าไม่แยบคาย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรให้คิด แต่ถ้าคิดให้แยบคาย คิดให้ลึกในเรื่องที่เกี่ยวกับทุกข์ และการดับทุกข์แล้ว อินทปัญโญได้พบว่า ปัญหานิพพานคืออะไร?นี้ มันสามารถคิด สามารถวิปัสสนาได้ทุกวัน มีแง่ให้คิดกระทั่งทุกอิริยาบถก็ล้วนแต่มีแง่สำหรับคิดทั้งนั้น ในความเข้าใจของอินทปัญโญ เขามีความเห็นว่า พระพุทธองค์ก็น่าจะผ่านวันคืนแห่งกรรมฐานของพระองค์ ด้วยการคิดตีปัญหานั้นเรื่อยๆ จนทะละปรุโปร่งไปหมด พระองค์น่าจะทรงคิดมาแล้วเป็นอันมาก คิดมาก่อนที่ทรงจะตรัสรู้ และคงคิดมาตั้งแต่ชาติก่อนๆ ด้วยซ้ำ และการคิดของพระองค์ได้มารวบรวมเหตุผลตัดสินเป็นหนึ่งเด็ดขาดลงไปในวันตรัสรู้นั่นเอง ซึ่งเป็นวันที่ถึงที่สุดแห่งการคิดแต่เพียงนั้นของพระองค์

ก่อนที่จะทรงผนวช พระองค์คงทรงคิด ทรงค้นคว้ามาเรื่อยๆ ว่าอะไรคือทุกข์ อะไรให้เกิดทุกข์ อะไรดับทุกข์ได้ และอะไรให้ถึงความดับทุกข์นั้น ครั้งเมื่อพระองค์ทรงรวบรวมเหตุผลได้มากพอ ก็ทรงพบความจริงสูงสุดอันนี้ ที่ถูกต้องคงที่ไม่แปรปรวนอีก จึงเห็นได้ว่าวันคืนแห่งกรรมฐานคือการคิด! หาใช่ความสงบระงับ หาความสุขจากวิเวกแต่ถ่ายเดียวก็หาไม่ ผลสำคัญนั้นอยู่ที่การคิด การวิปัสสนา เหตุที่คนเราต้องสงบก็เพื่อให้คิดให้วิปัสสนาได้อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่งคิดตกปลงตกได้ แล้วการคิดตกปลงตกนั่นแหละที่จะกลายมาเป็นอาวุธที่สามารถทำลายราคะ โทสะ โมหะของผู้นั้นให้สิ้นได้

เพราะการคิดตกปลงตกจนใจโล่งโปร่งอกโปร่งใจ กระทั่งหมดความอยากใดๆ หมดความรู้สึกสงสัยใดๆ ในสิ่งที่ตนได้รู้แล้ว และไม่สงสัยว่ามีอะไรที่ดีกว่านี้เหลืออยู่อีก มันจะทำให้ผู้นั้นเยือกเย็นอย่างแสนจะเย็น และมีปีติซาบซ่านอย่างสงบสุขไม่รู้จักแปรผัน อันเป็นรสชาติที่อินทปัญโญได้สัมผัสมาแล้วจากการศึกษา และปฏิบัติพุทธธรรมจนไม่รู้จักลืม และไม่มีวันหมดความภักดีต่อคุรุผู้เป็นพระพุทธองค์ของตัวเขาไปได้

พุทธธรรมได้กลายมาเป็น “วิถีชีวิต” ของอินทปัญโญอย่างสมบูรณ์แล้ว...วิถีแห่งจิตอันมีแต่จะวิวัฒน์ไปในทางที่สูงส่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ศาสนาของอินทปัญโญที่ช่วยบำรุง หล่อเลี้ยงชีวิตทางจิตวิญญาณของตัวเขาให้สดชื่นเยือกเย็นอยู่เสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ปรัชญา ของอินทปัญโญที่ช่วยให้เกิดอุดมคติอันแรงกล้าในการที่จะกระตุ้นให้ตัวเขาปฏิบัติภารกิจตามอุดมคติอันสูงส่งของตัวเขา

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น วิทยาศาสตร์ ของอินทปัญโญในการช่วยให้เขาเป็นผู้รู้จักเหตุผล และใช้ชีวิตอย่างอยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลเสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ศิลปะแห่งการครองชีวิต ของอินทปัญโญ ทำให้เขาสามารถบังคับตัวเอง บงการชีวิตของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ จนชีวิตเขาเปี่ยมไปด้วยความแจ่มใส งดงาม น่าชุ่มชื่นใจอยู่เสมอ

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ภูมิธรรม ของอินทปัญโญ เป็นธรรมสมบัติแห่งความจริง ความดี และความงามในตัวของเขา จนกลายเป็น บุคลิกภาพ ที่น่าเลื่อมใส น่าไว้วางใจ น่าคบหาสมาคมของตัวเขา

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น ความรู้ ของอินทปัญโญ ช่วยให้ตัวเขาสามารถที่จะใช้ความคิดและวินิจฉัยสิ่งต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง

พุทธธรรม ได้กลายมาเป็น สติปัญญา ของอินทปัญโญ ช่วยให้ตัวเขามีสมรรถภาพและปฏิภาณในการดำเนินงานของชีวิต ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ตาม แนวทางหลุดพ้นด้วยความรู้ (ญาณโยคะ) นอกจากนี้ยังทำให้งานของชีวิตเขาทุกชนิด ทุกระดับดำเนินไปได้โดยง่าย โดยเร็ว โดยสมบูรณ์ และปลอดภัยโดยประการทั้งปวง

สุดท้าย พุทธธรรม ยังได้กลายมาเป็น อนามัย ของอินทปัญโญ ทั้งในฐานกาย ฐานใจ และฐานจิตวิญญาณที่ช่วยนำพาตัวเขาไปสู่จุดหมายสูงสุดของชีวิตได้อย่างตลอดรอดฝั่ง สมตามความปรารถนา

ความลึกซึ้ง ความลึกล้ำในตัวของอินทปัญโญที่เป็นที่ฮือฮา และแตกตื่นของผู้คนในยุคเดียวกับตัวเขานั้น ล้วนมีที่มาจาก องค์คุณ 8 ประการของพุทธธรรม ดังข้างต้นที่ถูกบูรณาการรวมกันเป็น ทางสายเดียวของอินทปัญโญ ทำให้ตัวเขาสามารถดำเนินชีวิตแต่ละวันคืนแห่งกรรมฐานของเขาไปได้อย่างน่าพอใจ จนตัวเขาแทบอยากจะลุกขึ้นมาป่าวประกาศกู่ร้องให้ก้องโลกว่า

“จงลองมาเดินทางสายนี้ อันเป็น เส้นทางแห่งพุทธธรรม ด้วยตัวของท่านเองดูบ้างเถิด ผลในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ ชื่อเสียง และมิตรภาพ รวมทั้ง ผลในโลกหน้า คือสุคติ และ ผลอันสูงสุด พ้นจากโลกทั้งปวง คือนิพพานย่อมเป็นสิ่งที่หวังได้ครบถ้วน โดยไม่ต้องสงสัยเลย”

................................












Create Date : 10 กรกฎาคม 2549
Last Update : 10 กรกฎาคม 2549 17:21:31 น. 2 comments
Counter : 2025 Pageviews.

 


แวะมาเยี่ยมค๊าบบบ

:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:-:

อนุโมทนาบุญด้วยนะค๊าบบ



โดย: ChasteGriffin วันที่: 30 กันยายน 2549 เวลา:3:41:39 น.  

 


โดย: taweewat@hunsa.com IP: 202.5.89.60 วันที่: 16 มกราคม 2550 เวลา:13:54:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.