บ้านที่มีความรักและความอบอุ่นคือจินตนาการของคนไทยยามนี้ !
Group Blog
 
<<
มิถุนายน 2549
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
15 มิถุนายน 2549
 
All Blogs
 
พุทธบูรณา รำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอน 7)



หมายเหตุ คัดจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันที่ 13 มิ.ย. 2549 เป็นบทความที่ลงเป็นตอน ๆ มาทั้งหมด 7 ตอนในทุก ๆ วันพุธ ของสัปดาห์ สนใจโปรดอ่านเพิ่มเติมได้ที่เวบไซด์ผู้จัดการรายวัน และจะทำลิ้งอีกครั้งนะครับ



พุทธบูรณา รำลึก 100 ปี ชาตกาล สืบสานปณิธานพุทธทาส (ตอนที่ 7)

โดย ดร.สุวินัย ภรณวลัย 13 มิถุนายน 2549 20:00 น.




ดร.สุวินัย ภรณวลัย
//www.suvinai-dragon.com

7. การศึกษามโหฬาร


“ศาสนาหมายถึง การรวมพลังของเธอทั้งหมดที่มีอยู่ไปค้นหาสัจธรรม”
กฤษณะมูรติ
พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)...

หนังสือพิมพ์ “พุทธศาสนา” ได้กลายเป็นปากกระบอกเสียงในการเผยแพร่งานคิด และงานเขียนของพระหนุ่มอินทปัญโญ เจ้าสำนักสงฆ์เถื่อนแห่งไชยาไปอย่างรวดเร็ว โดยผ่านการบอกปากต่อปาก และการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ในไม่ช้า หนังสือพิมพ์รายสามเดือนฉบับนี้ก็กลายเป็น หนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าของเหล่าผู้อ่านปัญญาชนหัวก้าวหน้าไทยในสมัยนั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนาไปโดยปริยาย

เหล่าพวกผู้หวังดี หรือผู้สนับสนุนสวนโมกข์ต่างก็รู้จักสวนโมกข์ และกิจกรรมทางปัญญาของอินทปัญโญผ่านทางหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” นี้ทั้งสิ้น ในบรรดาพันธมิตรถาวรของสวนโมกข์ยุคบุกเบิก ฝ่ายที่เป็นฆราวาสที่เป็นบุคคลในระดับชนชั้นนำนั้นได้แก่ พระดุลยพากษ์สุวมัณฑ์ (ปิ่ณฑ์ ปัทมสถาน) (พ.ศ. 2437-2525) ท่านผู้นี้เป็นข้าราชการชั้นสูงคนแรกที่ไปเยี่ยมอินทปัญโญ เมื่อสวนโมกข์เพิ่งตั้งได้ปีสองปีเท่านั้น ขณะนั้นท่านเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จังหวัดนครศรีธรรมราช ท่านได้ร่วมมือกับอินทปัญโญ เผยแพร่ธรรมมาโดยตลอด จนถึงวาระสุดท้าย และเมื่อตอนที่เขายังมีอำนาจอยู่ ในกระทรวงยุติธรรม ก็ได้นิมนต์อินทปัญโญมาแสดงธรรมแก่ข้าราชการในกระทรวงยุติธรรมด้วย แต่นั่นเป็นเรื่องราวอีกยี่สิบกว่าปีหลังจากนั้น

ชนชั้นนำฝ่ายฆราวาสอีกท่านหนึ่งที่ต้องเอ่ยถึงในฐานะ สหายธรรมทาน หมายเลขหนึ่งของสวนโมกข์ในยุคบุกเบิกก็คือ พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ (วงค์ ลัดพลี) ท่านผู้นี้ อินทปัญโญถือว่าเป็นบุคคลแรกที่มีความเข้าใจ และพอใจในกิจการของสวนโมกขพลาราม และคณะธรรมทานผู้ออกหนังสือพิมพ์ “พุทธสาสนา” มากถึงขนาดที่ขอปวารณาตัวเพื่อรับใช้ทุกประการ ถึงขนาดเคยคิดจะลาออกจากราชการมาช่วยทำงานให้พระศาสนา

ที่สำคัญ ความที่พระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ผู้นี้ เคยเป็นนักเรียนนอกมาก่อนจึงมีหูตากว้างไกล เขาจึงกลายเป็นเพื่อนร่วมศึกษาของอินทปัญโญทางด้านวิชาตะวันออก (บูรพวิทยา) ที่เลยพ้นไปจากพุทธศาสนาเถรวาทในเมืองไทย เพราะท่านผู้นี้แหละที่เป็นคนแนะนำให้ อินทปัญโญหันมาสนใจเรื่องของสวามีวิเวกนันทะ และกฤษณะมูรติ รวมทั้งวิชาโยคะโดยรวม ซึ่งช่วยเปิดโลกความรู้ทางจิตวิญญาณของอินทปัญโญให้กว้างขวางขึ้นและลุ่มลึกยิ่งขึ้นไปอีก และนำไปสู่ “การศึกษาครั้งมโหฬาร” ของตัวเขาซึ่งครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งสังคม การเมือง วัฒนธรรม และศาสนาในเวลาต่อมา

อินทปัญโญสนใจเรื่องราวของสวามีวิเวกนันทะในแง่ที่เขาเป็นโยคีรุ่นแรกๆ ที่ออกไปเผยแพร่วิชาโยคะให้แก่โลกตะวันตกในปลายศตวรรษที่ 19 ส่วนความสนใจของอินทปัญโญที่มีต่อ กฤษณะมูรติ (ค.ศ. 1895-1986) นั้นเป็นเรื่องของคนร่วมสมัย เพราะกฤษณะมูรติมีอายุมากกว่าอินทปัญโญเพียง 11 ปีเท่านั้น เรื่องราวของกฤษณะมูรติใน ขณะนั้น (พ.ศ. 2480 หรือ ค.ศ. 1937) ได้สร้างความทึ่งให้แก่พระอินทปัญโญอย่างเหลือที่จะกล่าว

กฤษณะมูรติ เกิดเมื่อวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม ปีค.ศ. 1895 ที่เมืองมาดนะปาเล ซึ่งเป็นเมืองเล็กในใจกลางอินเดียตอนใต้ โหรท้องถิ่นได้ทำนายดวงชะตาของกฤษณะมูรติ ว่าจะมีความยิ่งใหญ่ทางศาสนาและมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก แต่ตราบจนกระทั่งกฤษณะมูรติมีอายุเกือบสิบห้าปีไม่ปรากฏวี่แววว่า ตัวเขาจะเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในอนาคตเลย

อย่างไรก็ดี สมาคมเทวญาณวิทยา (ก่อตั้งปี ค.ศ. 1875) ซึ่งมีความเชื่อเรื่อง พระเมสสิอาห์จะอวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดมาเป็นพระเยซูใน ยุคนี้ จึงทำการ “ค้นหา” คนคนหนึ่งซึ่งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในโลก และเป็นผู้ซึ่งมีชีวิตและร่างกายเหมาะสมสำหรับเป็น “ภาชนะ” รองรับการอวตารของพระเมสสิอาห์นี้

แกนนำคนสำคัญคนหนึ่งของสมาคมเทวญาณวิทยาชื่อ ชาร์ลส์ ลีดบีเธอร์ (ค.ศ. 1847-1934) ที่ผู้คนในสมาคมล้วนเชื่อว่า เขามี “ตาทิพย์” ที่สามารถมองเห็นรังสีออราของคนได้ เป็นผู้ค้นพบกฤษณะมูรติในวัย 14 ปี ในปี ค.ศ. 1909 ขณะที่ตัวเขากำลังเล่นน้ำทะเลอยู่ที่ชายหาดเมืองอัดยาร์ แล้วลีดบีเธอร์เหลือบไปมองเห็นรังสีออราของกฤษณะมูรติ และพบว่ามันเป็นรังสีออราที่มหัศจรรย์มาก คือ มันเป็นรังสีออราที่ไม่มีอณูแห่งความเห็นแก่ตัวปะปนอยู่เลย

เมื่อได้รับแจ้งจากลีดบีเธอร์ว่า ค้นพบพระเมสสิอาห์ในตัวของเด็กชายกฤษณะมูรติแล้ว ทางสมาคมเทวญาณวิทยาก็ได้ติดต่อผู้ปกครองของกฤษณะมูรติ โดยเสนอตัวเข้ามาเลี้ยงดูกฤษณะมูรติ และนิตยาน้องชายของเขา พร้อมกับตระเตรียมปั้นกฤษณะมูรติให้เป็น “คุรุของโลก” ภายในยี่สิบปีข้างหน้า

ดร.แอนนี่ บีแซนท์ ผู้นำของสมาคมเทวญาณวิทยาได้พากฤษณะมูรติ และนิตยาน้องชายของเขาไปศึกษาต่อที่อังกฤษ เด็กชายทั้งสองได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสังคมผู้ดีชั้นสูงของอังกฤษ มีครูพิเศษแต่งตัวประณีตฝึกฝนมารยาทการเข้าสังคม ฝึกพูดภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้อย่างสมบูรณ์ จนร่องรอยความเป็นฮินดูจากวัยเด็กค่อยๆ ถูกลบเลือนไปจากกฤษณะมูรติอย่างช้าๆ

แต่แปลกที่กฤษณะมูรติกลับเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ในการสอบทุกครั้งกฤษณะมูรติจะสอบตกเสมอ จนมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดปฏิเสธที่จะรับเขาเข้าเรียน แม้ว่าตัวเขาจะมีอิทธิพลหนุนหลังมากมายก็ตาม หนึ่งในอิทธิพลนั้นคือความเชื่อของชาวตะวันตกจำนวนหนึ่งที่ว่า กฤษณะมูรติเป็นบุตรของพระเจ้า ด้วยเหตุนี้ตัวกฤษณะมูรติจึงเรียนไม่จบแม้เขาจะย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยลอนดอน และย้ายไปที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนแล้วก็ตาม

เป็นไปได้มากว่า กฤษณะมูรติกลายเป็นเด็กหนุ่มที่ว้าเหว่ รุ่มร้อนใจและปราศจากความสุข เพราะตัวเขามักจะถูกเตือนและถูกกดดันจากผู้คนรอบข้างที่เป็นคนของสมาคมเทวญาณวิทยาอยู่เสมอว่า ตัวเขามีอนาคตและความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่รออยู่เบื้องหน้า เพราะเขาจะต้องเป็น “คุรุของโลก” ผู้คนจำนวนนับพันนับหมื่นในหลายประเทศกำลังบริจาคเงินและอุทิศชีวิตให้กับการสร้างองค์การศาสนาสำหรับตัวเขา และคำสอนของเขาก็เป็นที่รอคอยอย่างใจจดใจจ่อของผู้คนเป็นจำนวนมาก พวกเขากำลังรอวันที่กฤษณะมูรติจะมาปรากฏตัวต่อหน้าพวกเขาเพื่อประกาศคำสอน ขณะที่ตัวกฤษณะมูรติเองไม่ได้เต็มใจที่จะเป็นพระเมสสิอาห์ตั้งแต่แรก ตรงข้ามเขากลับรู้สึกว่าตัวเองเป็นแค่ “หุ่นเชิด” ของสมาคมเทวญาณวิทยาให้เป็นพระเมสสิอาห์มากกว่า

อย่างไรก็ดี ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1922 เมื่อกฤษณะมูรติมีอายุได้ 27 ปี ได้บังเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นภายในตัวของกฤษณะมูรติที่วิชาโยคะเรียกว่า “การตื่นขึ้นของพลังกุณฑาลินี” กล่าวคือ ร่างกายของกฤษณะมูรติได้ถูกบีบคั้นด้วยความเจ็บปวดจากภายใน จนตัวเขาสิ้นสติไปเป็นเวลานาน พอรู้สึกตัวก็บ่นว่าร้อน เจ็บปวดที่ศีรษะและลำคอ มีอาการสั่นเทา เขาเป็นเช่นนี้อยู่สามวันเต็มก่อนเข้าสู่สภาวะสงบเงียบอย่างน่าประหลาด เขาเริ่มนั่งทำสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้อยู่ในห้วงฌานอันล้ำลึก ต่อมาเขาได้สรุปประสบการณ์ในครั้งนั้นของเขาด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า “ผมกำลังมึนเมาในพระเจ้า”

การตายของนิตยาน้องชายของเขาด้วยโรคปัจจุบันทันด่วน ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1925 เมื่อกฤษณะมูรติอายุ 30 ปี ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา เพราะมันทำให้ชีวิตหลังจากนั้นของเขาไม่คิดที่จะไปยึดมั่นผูกพันกับคนผู้ใดอีกเลย และ “การไม่ยึดมั่นถือมั่น” ก็ได้กลายมาเป็นใจความสำคัญในคำสอนของเขา หลังจากนั้นด้วย

กฤษณะมูรติเปลี่ยนไปมาก เขากลายเป็นคนช่างคิดจริงจังมากขึ้น และเต็มใจที่จะปฏิบัติตามคำบอกของสมาคมเทวญาณวิทยาน้อยลง ความเป็นขบถทางจิตใจของกฤษณะมูรติเริ่มขึ้นแล้ว และนำไปสู่การแตกหักครั้งใหญ่ของเขากับสมาคมเทวญาณวิทยา ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ. 1929

ณ ที่แคมป์ออมเมนในประเทศฮอลแลนด์ ต่อหน้าสมาชิกของสมาคมเทวญาณวิทยาจากทั่วโลกกว่าสามพันคน กฤษณะมูรติได้ประกาศยุบเลิกพรรคตราบูรพาที่สมาคมเทวญาณวิทยาจัดตั้งขึ้นมารับใช้เขา โดยเฉพาะในฐานะว่าที่คุรุของโลกและเขายังได้ประกาศก้องว่า

“สัจธรรมเป็นดินแดนที่ไร้หนทาง ไม่อาจมีการจัดตั้งองค์กรใดๆ ขึ้นมาเพื่อชี้นำ หรือบังคับผู้คนให้เดินตามไปบนหนทาง เฉพาะทางใดทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะ สัจธรรมเป็นสิ่งที่ไร้ขอบเขต และไร้เงื่อนไข มันไม่อาจถูกจัดตั้ง และไม่อาจเข้าถึงได้ โดยผ่านศาสนา นิกาย หรือองค์การใดๆ ทั้งสิ้น”

กฤษณะมูรติชี้แจงว่า ตัวเขาไม่ต้องการเป็นคนขององค์การทางจิตวิญญาณใดๆ เพราะองค์การดังกล่าวจะกลายเป็นไม้เท้าค้ำพยุง เป็นความอ่อนแอ เป็นพันธะผูกมัดทำให้ปัจเจกชนต้องพิการ เขาจึงประกาศว่า เขาไม่ต้องการผู้ติดตาม หรือสาวกใดๆ ทั้งสิ้น

ทุกๆ คนในที่ประชุมตกตะลึงไปตามๆ กัน แต่ก็ไม่มีใครสามารถยับยั้งกฤษณะมูรติได้ เขาลาออกจากสมาคมเทวญาณวิทยา และบอกเลิกทุกสิ่งทุกอย่างที่คนอื่นหยิบยื่นให้แก่เขา ขณะนั้นเขามีอายุ 34 ปีเต็ม และตลอดชีวิตหลังจากนั้นของเขา เขาไม่เคยปรารถนาเงินทอง อำนาจหรือลาภยศสรรเสริญใดๆ เลย เขาสนใจเพียงแต่จะมุ่งปลดปล่อยผู้คนให้เป็นอิสระจากกรงขัง จากความหวาดกลัวทั้งปวง ด้วยการเดินทางรอบโลกเพื่อพบปะพูดคุยกับผู้คนเท่านั้น และจะไม่ก่อตั้งศาสนาใหม่ หรือหลักคำสอนใหม่ขึ้นมาด้วย

กฤษณะมูรติได้ใช้วิถีชีวิตตลอดทั้งชีวิตของเขาเป็นเครื่องพิสูจน์ยืนยัน คำสอนสุดยอดของเซน ที่ว่า ถึงแม้เป็นฆราวาสก็สามารถบรรลุถึงความเป็นอิสรเสรีอย่างสมบูรณ์ได้ ถ้าสามารถละความยึดมั่นถือมั่นได้อย่างสิ้นเชิง

จากการที่ได้ศึกษาเรื่องราวของกฤษณะมูรติ ทำให้พระหนุ่มอย่างอินทปัญโญได้แง่คิดเกี่ยวกับ ความสำคัญของการพึ่งตนเองในการปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระทางด้านจิตใจ โดยไม่ยึดถืออะไรเป็นที่พึ่ง ถ้าหากคนคนนั้น ปรารถนาจะประสบภาวะ “พุทธธรรม” อันประเสริฐ ทั้งนี้เพราะนิพพานหรือสัจธรรมแห่งพุทธธรรมจะปรากฏแก่บุคคลได้ ก็ต่อเมื่อคนผู้นั้นมีจิตใจที่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์แล้วเท่านั้น

อินทปัญโญยิ่งตระหนักได้ชัดยิ่งขึ้นว่า ประสบการณ์แห่งการรู้แจ้ง นั้น มันเป็นเรื่อง การปฏิวัติภายใน ของคนผู้นั้นอย่างแท้จริง ซึ่งไม่อาจเห็นได้จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการนุ่งห่ม กิริยาท่าทาง หรือแม้แต่การพูดจาเองก็ตาม ผู้รู้ที่บอกเล่าถึงภาวะจิตใจอันเป็นอิสระดังกล่าวก็บอกได้แต่เพียงภาวะนั้นให้รับทราบเท่านั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการรู้แจ้งคือ การมีจิตที่เป็นอิสระจากทุกสิ่งว่างจากอัตตาความคิดทั้งปวง ไม่ใช่อำนาจวิเศษใดๆ หรือความสามารถทางอภิญญาใดๆ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคทางจิตวิญญาณในขั้นละเอียดยิ่งได้ การจะทำเช่นนั้นได้ จึงไม่อาจพึ่งพาใครได้แม้แต่พระผู้เป็นเจ้า นอกจากคนผู้นั้นจะต้องเป็น “ผู้ดู” จิตของตนเองอย่างถึงที่สุดเท่านั้น

อนึ่งในปี พ.ศ. 2480 นั้นเอง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) แห่งวัดเทพศิรินทราวาส พระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นประธานกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งกำลังทำหน้าที่บัญชาการสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้มาเยือนสวนโมกข์ของพระหนุ่มอินทปัญโญถึงที่ รวมทั้งยังได้แสดงความชื่นชม และพอใจงานของสวนโมกข์เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

การมาเยือนของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ในครั้งนั้น เป็นไปท่ามกลางความงงงันของอินทปัญโญ โดยไม่มีใครคาดฝันว่าจะได้รับความเมตตาปรานีจากบุคคลสูงสุดในวงการสงฆ์ถึงขนาดนี้ สมเด็จท่านใช้เกียรติสูงสุดของท่านเป็นเดิมพันเสี่ยงไปเยี่ยมสำนักสงฆ์เถื่อนของอินทปัญโญ ซึ่งในขณะนั้นยังถูกคนส่วนใหญ่หาว่าแหวกแนวหรืออุตริวิตถารอยู่ เรื่องนี้ยังความปลาบปลื้มและเป็นกำลังใจให้แก่อินทปัญโญและคณะธรรมทานเป็นล้นพ้นว่า พวกเขาเดินมาถูกทางแล้ว


....................................................










Create Date : 15 มิถุนายน 2549
Last Update : 15 มิถุนายน 2549 13:31:50 น. 2 comments
Counter : 517 Pageviews.

 


2. ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง

“การรู้ตัวว่าก้าวผิดทำให้พบเงื่อนของการจะก้าวถูก”

พุทธทาส ภิกขุ


ไม่มีจุดเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นไปของพุทธศาสนาในปัจจุบันเท่ากับการปฏิรูปพุทธศาสนาโดย วชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพราะการปฏิรูปที่เริ่มจากวชิรญาณภิกขุ และสืบทอดโดยคณะธรรมยุตของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการตีความที่พยายามสนองตอบต่อความทันสมัย อย่างพยายามอธิบายหลักธรรมให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ และเหตุผลนิยม เน้นเฉพาะประโยชน์อันประจักษ์รับรู้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งการลดทอนพุทธศาสนาให้เหลือแต่หลักโลกียธรรม โดยมองว่า โลกุตตรธรรมเป็นเรื่องเหลือวิสัย หรือสุดวิสัยสำหรับผู้คนในยุคนี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่เปิดทางให้รัฐ และลัทธิชาตินิยมเข้ามาครอบงำและกำกับพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ขนาดผู้นำการปฏิรูปอย่างวชิรญาณภิกขุเอง แม้โดยคติจะยังถือเอานิพพานเป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิต แต่ท่านก็ตระหนักแก่ใจของท่านเองว่า นิพพานหรือโลกุตตรธรรมเป็นสิ่งที่ตัวท่าน หรือคนทั่วไปยากจะเข้าถึงได้ในชาตินี้ เพราะเหตุนี้ โลกียธรรมก็เลยกลายเป็นจุดหมายของชีวิตนี้ไปในที่สุด แม้ในหมู่พระสงฆ์เองก็ตาม

นิพพานหรือหลักธรรมขั้นโลกุตตระนั้น เมื่อตกมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องวิชาการล้วนๆ ที่ไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น การบวชจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำนิพพานให้แจ้งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการมีหน้ามีตา การไต่เต้ายกระดับทางสังคมเป็นสำคัญ

แม้ว่าการศึกษาสำหรับพระสงฆ์จะมีเรื่องกรรมฐานอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการศึกษาในระดับปริยัติล้วนๆ การศึกษาที่เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน ถูกตัดทิ้งออกไปจากหลักสูตรในสมัยนั้น เพราะเป็นวิชาที่ไม่มีหลักที่จะจัดสอบไล่ได้

ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระที่มีบทบาทสำคัญในคณะสงฆ์ ล้วนเป็นพระที่เชี่ยวชาญด้วยปริยัติธรรมแทบทั้งสิ้น ไม่มีนโยบายส่งเสริมพระสงฆ์ให้ใฝ่ในกรรมฐานในฐานที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพรหมจรรย์ มีแต่นโยบายส่งเสริมให้พระสงฆ์ใส่ใจในเรื่องปริยัติธรรม และการปกครอง โดยใช้ระบบสมณศักดิ์เป็นเครื่องหนุน ผลที่ตามมาก็คือ สมาธิภาวนาได้ถูกกันออกไปจากวิถีชีวิตของพระสงฆ์ส่วนใหญ่อย่างเป็นระบบในช่วงที่รัฐไทยกำลังแปรเปลี่ยนไปเป็นรัฐชาติ ภายใต้การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

เนื่องจากการสร้างชาติเป็นภารกิจสำคัญที่สุดของผู้นำในสมัยนั้น จึงได้มีการนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามาเสริมสร้างสถานะของผู้ปกครอง อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสืบต่อมาอย่างเห็นได้ชัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) เพราะพระองค์ทรงตระหนักดีว่า “ชาติ” ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยในยุคของพระองค์ วิธีเดียวที่จะทำให้ “ชาติ” เป็นที่รักที่หวงแหนของคนไทยได้ก็ต่อเมื่อ เชื่อมโยง “ชาติ” เข้ากับของเดิมที่คนไทยผูกพันมาช้านานแล้ว นั่นคือ พุทธศาสนา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เองที่ “ชาติ” ได้เริ่มกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกชีวิตจักต้องยอมรับและต้องยอมเสียสละเพื่อความคงอยู่ของมัน “ความเชื่อ” อันนี้นำไปสู่การตีความหลักการทางพุทธศาสนาให้หันมารับใช้ชาติเป็นสำคัญ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่จุดหมายของพุทธศาสนาแต่เดิมซึ่งมุ่งให้ปัจเจกได้ลุถึงอิสรภาพภายในจากความทุกข์ทั้งปวง ครั้นมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คุณค่าของพุทธศาสนาในฐานะวิถีแห่งความหลุดพ้นของชีวิตด้านในจึงถูกลดความสำคัญ ถูกลดทอนเหลือเป็นแค่เรื่องศีลธรรม จริยธรรมหรือเรื่องของความดีความชั่วเท่านั้น

* * * *

...ปลายปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931)

ณ วัดปทุมคงคา กรุงเทพฯ

พระหนุ่มอินทปัญโญ หรือพระเงื่อม เดินกลับกุฏิของตน ซึ่งเป็นกุฏิโบราณอยู่ข้างหอสวดมนต์ของวัด เสียงหมูกัดกันที่อยู่ใต้กุฏิดังแว่วเข้ามาเป็นระยะๆ

ห้าพรรษาผ่านไปแล้ว หลังจากที่เขาบวช แต่ตัวเขาก็ยังรู้สึกเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหนเลย ยกเว้นภาษาบาลีเท่านั้นที่เขาชำนาญขึ้นกับการสอบเปรียญธรรม 3 ประโยคได้เมื่อปลายปีที่แล้ว

การเข้าถึงพุทธธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมายเดิมในการบวชของเขาเมื่อห้าปีก่อน ดูเหมือนจะยากกว่าที่เขาคาดคิดเอาไว้มากนัก เพราะสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขาไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย

พระส่วนใหญ่ที่เขารู้จักมุ่งแสวงหาความนับหน้าถือตาจากสังคมมากกว่าที่จะมุ่งดับทุกข์อย่างจริงจัง

ตอนที่ตัวเขาเพิ่งบวชใหม่ๆ ตัวเขานึกว่าจะมีเวลาว่างมากพอที่ศึกษาธรรมอย่างจริงจังได้ แต่กลับปรากฏว่า เขาก็ยังไม่ค่อยมีเวลาเหมือนเดิม เพราะง่วนอยู่กับกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเทศน์ เนื่องจากท่านสมภารเห็นเขาเป็นคนพูดจาเป็นหลักเป็นฐาน ตัวท่านสมภารเองก็เทศน์บ่อยจนเบื่อเต็มทีแล้ว จึงอยากให้พระใหม่อย่างเขาได้ลองเทศน์ดูบ้าง เพราะท่านได้ยินเสียงเล่าลือจากคนบางคนว่า เขาเทศน์สนุกและแปลกกว่าคนอื่น

พระหนุ่มสนุกอยู่กับการเทศน์ได้ทุกวันโดยไม่เบื่อ แต่กลับรู้สึกสนุกและท้าทาย จนเขาลืมเลือนปณิธานที่ตั้งใจเอาไว้ก่อนบวชไปเลย กลายเป็นว่า เขาสนุกกับการเป็นพระ เพราะได้แสดงออก เพราะได้ถูกใช้งาน โดยที่อุดมคติยังไม่ได้ทันได้ก่อตัวชัดเจน ความอุทิศตัวที่คิดจะกอบกู้พระศาสนาก็ยังไม่เกิด สมาธิภาวนาก็ยังไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

จริงๆ แล้ว เขาก็ยังเป็นหนุ่มเงื่อมที่ชอบถูกธรรมะ คุยเรื่องธรรมะ คนเดิมที่แต่งกายเป็นพระ โดยยังไม่รู้สึกเป็นพระโดยสมบูรณ์เท่าไหร่นัก นั่นเพราะ พระหนุ่มยังไม่ได้เจอ “คุรุ” (ครูทางจิตวิญญาณ) ที่ทำให้ตัวเขาเลื่อมใสอย่างหมดหัวใจ แม้แต่รูปเดียว มิหนำซ้ำ การทำวิปัสสนาแบบโบราณก็ขาดการสืบทอดจนหมดไปก่อนที่เขาเกิดเสียอีก จึงทำให้ในละแวกวัดที่เขาพำนักอยู่ ไม่มีผู้ใดจะมาชี้นำทางจิตวิญญาณให้แก่ตัวเขาได้เลย มีแต่พระผู้ใหญ่ที่น่าเคารพเท่านั้น

พระเงื่อมบวชได้สองพรรษา จนสอบนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ. 2471 (ค.ศ. 1928) อาเสี้ยงของเขาจึงยัดเยียดเขาให้ไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ พระหนุ่มบ้านนอกอย่างเขาเคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ น่าจะมีพระอรหันต์เต็มไปหมด พระกรุงเทพฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด ใครได้เปรียญ 9 ก็คือคนที่เป็นพระอรหันต์

แต่ครั้นพอพระหนุ่มมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จริงๆ เขาจึงรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยคิดวาดเอาไว้ช่างไร้เดียงสาจริงๆ

พอไปเจอเข้าจริงๆ เขาก็รู้ว่า มหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ที่เขารับไม่ได้มากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องที่พระเณรที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีวินัย โดยเฉพาะเรื่องสตางค์กับเรื่องผู้หญิง ขนาดที่บ้านนอกของเขา เขาว่ายังไม่ค่อยเคร่งแล้ว ที่กรุงเทพฯ ยิ่งไม่เคร่งเข้าไปใหญ่ พระกรุงเทพฯ ไม่สำรวมแม้แต่เรื่องการกินการฉัน ยังสรวลเฮฮาตลอดทั้งวันเหมือนกับคนเมา

มันไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลยในกรุงเทพฯ และเขายังไม่เคยเจอพระที่น่าเลื่อมใสจนหมดหัวใจเลย

ปีนั้นเป็นครั้งแรกที่พระเงื่อมรู้สึกผิดหวังกับการเข้ามาบวช และคิดจะสึก เขามากรุงเทพฯ โดยมีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า อย่างหาที่พึ่งที่หาไม่ได้ในบ้านนอกของเขา และคิดจะมาหาเอาที่กรุงเทพฯ นั่นคือหาผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดพุทธธรรมที่แท้จริงให้แก่ตัวเขาได้ แต่เขากลับพบแต่ความน่าผิดหวัง เขาพบเห็นแต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกต้องเต็มไปหมดในสังคมพระกรุงเทพฯ และเขากำลังรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะถูกกลืนเป็นไปกับพวกเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาเพิ่งมาอยู่กรุงเทพฯ ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น

เขาจึงเดิมทางกลับมาบ้านนอก คิดจะมาสึกที่นั่น แต่พอกลับมาถึงบ้านนอกมันจวนเข้าพรรษาแล้ว มีคนท้วงว่าไม่ดีหรอก จะสึกทำไม เพราะจะเข้าพรรษาอยู่รอมร่อแล้ว เขาจึงตัดสินใจบวชต่ออีกพรรษาหนึ่งที่วัดใหม่พุมเรียง

ในพรรษาที่สามนี้ พระเงื่อมจริงจังทุ่มเทกับการอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม เขาอ่านหนังสือมากขึ้น กว้างขวางขึ้น เรียกได้ว่า เขาอ่านทุกอย่างเท่าที่จะไขว่คว้ามาหาอ่านได้ การที่เขาอ่านหนังสือมากขึ้น ทำให้พระเงื่อมสามารถสอบนักธรรมเอกได้ และถูกทาบทามให้เป็นครูสอนนักธรรมของโรงเรียนนักธรรม วัดพระบรมธาตุไชยาที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เขาจึงอยู่ช่วยสอนนักธรรมอยู่ปีหนึ่งในพรรษาที่ 4 จึงไม่ได้สึก และความรู้สึกเบื่อที่จะคิดสึกก็ลดน้อยลงไป

พอเขาสอนนักธรรมเสร็จแล้ว อาเสี้ยงของเขาก็เร่งเร้าให้ตัวเขากลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ อีก ในปี พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1930) เพื่อเรียนบาลีต่อ

พระหนุ่มกลับมากรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่เขาก็ยังไม่ชอบกรุงเทพฯ อยู่ดี เขาไม่ชอบฝุ่น กลิ่นคลอง เสียงรถราง และอากาศในฤดูร้อนของกรุงเทพฯ รวมทั้งขยะมูลฝอย และน้ำเน่าที่มีอยู่ทั่วไปเกือบทุกคลอง เขารู้ว่านี่ไม่ใช่ที่ของเขา และเขาจะทนอยู่ที่นี่เท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ความสนใจในสินค้าไฮเทคของยุคนั้น อย่างวิทยุ พิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป และแผ่นเสียง ทำให้พระเงื่อมมีงานอดิเรกทำนอกเหนือจากการเรียนบาลี เขาจึงอยู่กรุงเทพฯ ได้นานกว่าเก่า เขาอยู่กรุงเทพฯ ถึงปลายปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) คืออยู่เกือบสองปี จึงเบื่ออีกครั้ง บางทีการเบื่อครั้งนี้อาจเป็นเพราะงานอดิเรกของเขาที่เคยรู้สึกสนุกอย่างการถ่ายรูป พอหมกมุ่นกับมันจนถึงที่สุด เขาก็เบื่อมันอีกจนไม่มีความรู้สึกสนุกอีกต่อไป ทั้งวิทยุและแผ่นเสียงก็เช่นกัน ยกเว้นการพิมพ์ดีดที่เขายังใช้ประโยชน์จากการพิมพ์ข้อเขียนของเขาอยู่

พระหนุ่มอินทปัญโญ กลับเข้ากุฏิของตนเพื่อเขียนจดหมายถึงน้องชายของเขาที่บ้านเกิด มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ฉันได้พบคัมภีร์ดีๆ พอที่ฉันจะตัดสินใจอย่างเด็ดขาดได้แล้วว่า ฉันจะออกจากกรุงเทพฯ เป็นการออกครั้งสุดท้าย...”

“...ฉันตั้งใจว่าจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวน ทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว”

“และเมื่อได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อได้ว่า การค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้ว ฉันก็จะทิ้งตำราที่ฉันเคยรัก และหอบหิ้วมาโดยไม่เหลือเลย...”

“ฉันจะมีชีวิตอย่างปลอดโปร่งเป็นอิสระที่สุด เพื่อค้นหาความบริสุทธิ์และความจริงต่อไป...”

“กรุงเทพฯ มิใช่เป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ พวกเราถลำตัวเข้าเรียนปริยัติธรรมที่เจือด้วยยศศักดิ์ ฉันรู้ตัวว่าได้ ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง แล้ว หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน”

“การรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้ฉันพบเงื่อนว่าทำอย่างไร ฉันจึงจะก้าวถูกด้วย ฉันยังพบอีกว่า ความเป็นห่วงญาติพี่น้อง ลูกศิษย์มิตรสหายเป็นการทำลายความสำเร็จแห่งการค้นหาความสุข และความบริสุทธิ์ การปลงตกเช่นนี้ได้ ทำให้ฉันเป็นอิสระขึ้นอีกเปลาะหนึ่ง...”

“เรื่องของฉัน บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉันเกลียดทั้งอลัชชี และเกลียดกรุงเทพฯ เพราะฉันรู้ว่าที่เป็นมา และกำลังเป็นอยู่ ฉันไม่มีทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้เป็นอันขาด”

จดหมายฉบับนี้ คือจุดเริ่มต้นของ“พุทธทาส” ที่คนไทยและทั่วโลกจะได้เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา




โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 15 มิถุนายน 2549 เวลา:13:46:55 น.  

 
3. พระบ้า เมฆบ้า

“เมฆขาวพราวฟ้า บ้าคลั่ง
ละล่องลอย ระรื่นไหล ไอระเหย
ละล่องลิ้ว พลิ้วแรงลม มาชมเชย
หยาดฝนเอย คือ หยาดฟ้าน่าชื่นชม”
บทโศลกแห่งเมฆบ้า


เมฆบ้า เป็นนามปากกาของพระเซน “อิคคิว-ซัง” ผู้โด่งดังของญี่ปุ่น ท่านเป็นทั้งกวี จิตรกร และคุรุพเนจรแห่งเซน นามปากกานามนี้ของท่านเป็นคำเล่นสำนวนในภาษาญี่ปุ่นของคำว่า อุนซุย ซึ่งหมายถึงพระภิกษุผู้ที่ความไม่ยึดติดกับชีวิตทางโลกีย์ ทำให้ท่านล่องลอยไหลลื่นอย่างเสรีดุจเมฆเหนือผิวน้ำ เพราะฉะนั้น เมฆบ้า ในความหมายกว้างจึงหมายถึง ผู้ที่เป็นนักปฏิรูปขบถและพวกนอกรีตแห่งวิถีเซนที่ริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้แก่สังคมที่พวกเขาสังกัดอยู่ บ่อยครั้งที่นักปราชญ์อย่างพวกเขา และผู้แสวงธรรมอย่างพวกเขาได้แปลงตัวเป็นขอทาน เป็นนักเทศน์พเนจร หรือแม้แต่แสร้งเป็นคนบ้า วิถีเซนของเหล่าเมฆบ้าอย่างพวกเขาได้ส่งอิทธิพลอย่างล้ำลึกต่อการปฏิบัติสมาธิภาวนา ชีวิตประจำวัน จิตวิญญาณ สังคม และการเมืองในศาสนาพุทธนิกายเซนมาจนกระทั่งทุกวันนี้

การแสดงออกอย่างสุดขั้วในพุทธศาสนานิกายเซนของพวกเมฆบ้าเหล่านี้ บ่อยครั้งปรากฏว่ายากเกินไปที่จะเข้าใจ และล้ำหน้าเกินไปสำหรับผู้คนในสมัยเดียวกับพวกเขา หากแต่เป็นแนวทางที่ล้ำค่าเหลือเกินสำหรับอนุชนคนรุ่นหลังผู้เป็นทายาททางจิตวิญญาณในปัจจุบัน เพราะพวกเมฆบ้าคือ บุคคลตัวอย่างที่มีอยู่จริง พวกเขาไม่เพียงต่อต้านอำนาจนิยมเท่านั้น หากแต่ยังตั้งคำถามกับโครงสร้างทุกอย่าง โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับผู้มีอำนาจอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งพบได้ยากในชีวิตทางศาสนาโดยทั่วไป มิหนำซ้ำพวกเขายังโยงความเป็นขบถนี้บูรณาการเข้ากับอิสรภาพภายในแห่งปัจเจก โดยตั้งอยู่บนประสบการณ์แห่งสุญญตาของตนอย่างกระจ่างแจ้งอีกด้วย

บุรุษเซนผู้พลิกโฉมหน้าเหล่านี้ จึงเป็นแบบอย่างที่เหมาะเจาะสำหรับยุคสมัยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่อย่างยุคของเราในศตวรรษที่ 21 นี้
* * *
เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ เพียงไม่กี่วัน

ณ วัดร้างตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า) ที่ไชยา

อินทปัญโญ เพิ่งกลับจากบิณฑบาต ขณะกำลังเดินกลับมา เขารู้สึกกระหายน้ำเป็นกำลัง แต่ไม่สามารถหาน้ำที่ไหนได้ พอดีเห็นใบหญ้ารังไก่ที่เป็นเฟินชนิดหนึ่งเป็นหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะมากที่สุด ทุกปลายใบจะมีหยดน้ำเป็นหยดๆ เขาจึงเอามือไปลูบใบหญ้ารังไก่ดูดกินน้ำค้างจากใบดับกระหาย เขาเพิ่งสังเกตเห็นว่า น้ำค้างแต่ละหยดที่เกาะอยู่บนใบหญ้ารังไก่นี้เปล่งประกายที่มีชีวิตชีวาเหลือเกิน

ขณะที่อินทปัญโญกำลังจะเข้าวัดร้างตระพังจิก ซึ่งเขาเพิ่งมาจำวัดอยู่คนเดียวได้ไม่นานนัก พวกเด็กๆ ละแวกนั้น ก็ตะโกนร้องบอกต่อๆ กันว่า

“พระบ้ามาแล้ว พระบ้ามาแล้ว”
พวกเด็กๆ คิดกันไปเองว่า เขาเป็นพระบ้าที่ถูกเอามากักตัวเพื่อรักษาที่วัดร้างแห่งนั้น
วัดตระพังจิกที่อินทปัญโญเลือกเป็นที่ที่ตัวเขาจะมาใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม และส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้เป็นวัดร้างมากว่า 80 ปีแล้วจนกลายเป็นป่ารกครึ้มไปหมด สำหรับชาวบ้านแถบนั้น วัดนี้ได้หมดสภาพความเป็นวัดไปนานแล้ว แต่เป็นแค่ที่เก็บเห็ดเผาะเห็ดโคน ล่าหมูป่า และเป็นที่กลัวผีของพวกเด็กๆ เท่านั้น

“พระบ้า พระบ้า พระบ้า”

อินทปัญโญก้มหน้าเดินต่อไปอย่างสงบ แม้จะถูกพวกเด็กๆ โห่ไล่ เขาต้องทำใจยอมรับการถูกเข้าใจผิด ซึ่งไม่ได้มีแค่พวกเด็กๆ เท่านั้น เขาตระหนักดีว่า การจะริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่แปลกไปจากที่ผู้คนกระทำกันอยู่นั้น มักจะต้องถูกมองในแง่ร้ายบ้างส่วนหนึ่งเสมอ ไม่ว่าผู้ทำจะมีกำลังและอิทธิพลมากหรือน้อย ถ้ามีอิทธิพลมากจะแตกต่างอยู่บ้างก็ตรงที่เขาไม่กล้าพูดซึ่งหน้าเท่านั้น

อินทปัญโญ จึงกล่าวในใจให้กำลังใจตัวเองว่า “เรากำลังคิดที่จะทำสิ่งซึ่งเป็นการปฏิวัติจิตใจ แก้ไขรื้อฟื้นพุทธศาสนาให้ดีขึ้น เราจึงไม่ควรไปใส่ใจกับการนินทาว่าร้ายของผู้เข้าใจผิดซึ่งก็ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา ขอเพียงตัวเรากระทำไปด้วยสุจริตใจก็พอแล้ว ผลจักเกิดขึ้นแก่การกระทำอันบริสุทธิ์ของเรา ไม่ช้าก็เร็ว”

ขณะที่อินทปัญโญเดินมาถึงพงรกริมสระใหญ่หน้าโบสถ์เก่าของวัด เขาพบนากถึกโทนตัวผู้ตัวหนึ่งออกมากลิ้งเกลือกกลางพื้นทราย ยืดตัวสองขาชะเง้อดูเขาอยู่พักใหญ่ราวกับนักเลงโตที่ยืนขวางทางไม่ให้เขาเดินเข้าไป อินทปัญโญจนใจได้แต่ยืนนิ่งๆ ยืนคอยอย่างสงบ จนกว่าเจ้านากถึกโทนตัวนั้นจะเดินจากไป

พออินทปัญโญเดินเข้ามาจะถึงกุฏิของเขาที่อยู่โบสถ์เก่า อีกาฝูงใหญ่ก็บินมารับมันบินตามเขาไปเพื่อรอกินเศษอาหารที่เขาโยนให้ มันบินเกาะกลุ่มคล้ายกับหลังคาตามเขาไปติดๆ เขาเคยลองนับจำนวนอีกาที่มากินอาหารจากเขา เขานับได้ 49 ตัว

ที่พักของเขาเป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็กๆ ขนาดวางแคร่ได้ 3-4 แคร่ อยู่ติดกับโรงสังกะสี ซึ่งยกขึ้นสำหรับมุงพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งไว้สวมทับลงตรงโบสถ์เก่า เพื่อรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ มีต้นไม้ขนาดเขื่องมีเงาครึ้มงอกรุกล้ำเข้ามาในแนวพัทธสีมา นอกนั้นก็เป็นป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ กับมีบ่อน้ำโบราณอยู่ห่างจากโบสถ์เก่าประมาณ 50 เมตร กับมีสระน้ำเป็นสระใหญ่ที่เรียกกันว่า สระตระพังจิกเท่านั้น

พอตกเที่ยง นกกะปูดผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้สัญญาณระฆังพักผ่อนก็ส่งเสียงร้อง อินทปัญโญตระหนักได้ถึงความสงัดตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่งในป่านั้น เพราะนกทุกตัวจับเจ่า กระรอกก็อยู่นิ่งๆ ไก่ป่าก็กกแปลงสัตว์เล็กตามพื้นดินก็หลบตัวพักผ่อน มันเป็นความเงียบสงัดทำนองเดียวกับเวลาดึกสงัด อินทปัญโญจึงสงบอารมณ์ดื่มด่ำกับความสงบสุขในช่วงหลังเที่ยงจนถึงบ่ายจนกว่านกกะปูดจะให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง การเคลื่อนไหวของสัตว์ต่างๆ เริ่มมีขึ้น จนเป็นป่าที่ตื่นอยู่ตามปกติ

อินทปัญโญเอาข้าวสุกจำนวนหนึ่งวางบนฝาบาตรสีเหลืองอ่อน แล้วนำไปวางไว้บนน้ำตื้นๆ ริมสระดูปลาเล็กปลาน้อยที่มาตอมวนเวียนกันอยู่เป็นกลุ่มในวงฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนั้น เพียงแค่เพ่งดูไปชั่วประเดี๋ยว นิมิตของฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนี้ก็ติดตาเขาจนเขาสามารถนำไปขยายเป็นภาพเล็กภาพใหญ่ได้ดังใจปรารถนา นี่คือ “สมาธิเล่นสนุกแบบเด็กๆ” ของเขาที่เขาลองทำเล่นดูเท่านั้น ไม่ได้ยึดติดอะไรเลย

จากนั้น อินทปัญโญก็นั่งอ่านข้อความในพระไตรปิฎกอยู่เงียบๆ การอ่านพระไตรปิฎกในที่สงัดอย่างในวัดร้างกลางป่าแห่งนี้ สำหรับตัวเขาแล้วได้รสชาติที่จับใจกว่าการอ่านที่กรุงเทพฯ หลายเท่านัก เพราะเขาสามารถขบข้อธรรมได้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสาย อบอวลไปด้วยกระแสจิตกระแสธรรมอีกชนิดหนึ่งที่แปลกใหม่สำหรับตัวเขาที่เพิ่งทิ้งเมืองหลวงมาเป็น พระป่า ได้ไม่นานนัก

ที่หน้าโบสถ์เก่ามีต้นโมกกับต้นพลาอยู่หลายต้น โมกมาจากคำว่า โมกขะ แปลว่า ความหลุดพ้น พลามาจากคำว่า พละ แปลว่า กำลัง อาราม แปลว่า ที่รื่นรมย์ เขาจึงดำริที่จะตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า สวน โมกขพลาราม แปลว่า สถานที่อันเป็นพลังเพื่อความหลุดพ้น

ตกเย็น อินทปัญโญนั่งสมาธิอยู่บนพื้นดินกลางป่า อากาศที่นั่นแปรปรวนอย่างรวดเร็ว เมฆขาวที่กระจายอยู่เต็มท้องฟ้า อยู่ดีๆ ก็บ้าคลั่งจับกลุ่มกันเป็นเมฆก้อนดำทะมึน อยู่เหนือวัดร้างแห่งนี้ แต่อินทปัญโญคร้านที่จะลุกขึ้น เมื่อครู่เขาเพิ่งเห็นนกกระเต็นบินโฉบลงมาจับปลาในสระน้ำอย่างรวดเร็ว และแลเห็นฝูงนกเป็ดน้ำกำลังว่ายน้ำอย่างมีความสุข

เขารำพึงในใจว่า สัตว์เหล่านี้กำลังมีชีวิตอย่างเบิกบานสำราญใจใช่หรือไม่ว่า ธรรมชาติต้องการจะสอนอะไรแก่ตัวเรากระมัง? เขารำลึกถึงความทุกข์ใจ ความกระวนกระวายใจที่ตัวเขามีขณะที่อยู่ที่กรุงเทพฯ จนถึงขนาดต้องตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า มาทดลองปฏิบัติธรรมใช้ชีวิตตามอุดมคติในพุทธศาสนาที่นี่ ตัดขาดจากความอัปลักษณ์แห่งความเป็นจริงของสถาบันสงฆ์ในกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง

อินทปัญโญหลับตานั่งสมาธิแน่วนิ่งในความสงบ ฝนเริ่มตกลงมาเป็นหยาดหยดเล็กๆ ก่อนที่จะตกแรงขึ้นจนตัวเขาเปียกโชก แต่เขาก็ยังคงนั่งนิ่งอย่างเดิมไม่ได้ลุกหนี หยาดฝนนี้ทำให้ตัวเขานึกถึงหยาดน้ำค้างบนใบหญ้ารังไก่ที่ตัวเขาเพิ่งเลียกินมาตอนเช้านี้

ความเขียวขจีของใบหญ้า ความสดใสของหยาดน้ำค้าง ความชุ่มฉ่ำของสายฝน กลิ่นดินสดจากพื้นดินที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิอยู่ มันได้ให้พลังแห่งความมีชีวิตชีวาแก่ตัวเขา

โอชีวิตนี้ แท้จริงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์เป็นยิ่งนัก!

อินทปัญโญดื่มด่ำอยู่กับธรรมชาติ ถือเอาธรรมชาติเป็นครู เป็นตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธะ จนลืมเลือนแม้กระทั่งกาลเวลา เขาได้รู้แก่ใจแล้วว่า เส้นทางใหม่ที่ตัวเขาได้เลือกเดินมานี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าเขาจะต้องเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้ไปอีกไกลสักแค่ไหนก็ตาม

อินทปัญโญนั่งสมาธิด้วยจิตใจอันเปิดกว้างดุจท้องฟ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ดำรงอยู่และหยั่งรากอย่างมั่นคงกับพื้นพสุธา เขารู้ดีว่า ชีวิตคือการเชื่อมโยงสิ่งสูงสุดกับสิ่งสามัญเข้าด้วยกัน จึงจะเป็นชีวิตที่แท้จริงตามความหมายพุทธ เพราะตัวเขาเพิ่งได้ตระหนักว่า ตัวเขากำลังมี “ชีวิตที่แท้จริง” ก็ต่อเมื่อเขาได้เข้ามาอยู่ที่นี่แล้วเท่านั้น

ฝนหยุดตกแล้ว ลมแรงที่กระโชกเมื่อครู่พลันสงบลง อินทปัญโญน้อมนำดวงจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นช้าๆ หวนคืนกลับสู่ชีวิตประจำวันอย่างเปี่ยมไปด้วยปัญญา ความกรุณา ความเปิดกว้าง ความไม่ยึดติด และความมีอารมณ์ขันอีกครั้ง



โดย: คนเดินดินฯ วันที่: 15 มิถุนายน 2549 เวลา:13:50:20 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

คนเดินดินฯ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]








ปณิธาน

การเดินทางของชีวิตของทุกผู้คน
ทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่จะมีสักกี่คนที่จะก้าวไปถึง
เมื่อเราก้าวถึงจุดนั้น
ขออย่าลืมการแบ่งปันและเจือจาน
แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม

เราจะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน
เพื่อสร้างสรรค์สังคมใหม่ที่ดีงาม

เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง
ได้ใช้ชีวิตของเขา
ตามศักยภาพและความตั้งใจของเขา
ตราบเท่าที่เขาต้องการ







เดินไปสู่ความใฝ่ฝัน


ชีวิตหนึ่งร่วงหล่นไปตามกาลเวลา
คลื่นลูกใหม่ไล่หลังคลื่นลูกเก่า
นั่นคือวัฏจักรของชีวิตที่ดำเนินไป

เยาว์เธอรู้บ้างไหม
ว่าประชาราษฎรนั้นทุกข์ยากเพียงใด
เสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เหลืออยู่
เธอเคยมีความใฝ่ฝันที่แสนงามบ้างไหม

สักวันฉันหวังว่าเธอจะเดินไปตามทางสายนี้
ที่อาจดูเงียบเหงาและโดดเดี่ยว
แต่ภายใต้ฟ้าเดียวกัน
ฉันก็ยังมีความหวัง
ว่าผู้คนในประเทศนี้
จะตื่นขึ้นมา
เพื่อทวงสิทธิ์ของพวกเขา
ที่ถูกย่ำยีมาช้านาน
และฉันหวังว่าเธอจะเดินเคียงคู่ไปกับพวกเขา

เพื่อสานความใฝ่ฝันนั้นให้เป็นความจริง
สัญญาได้ไหม
สัญญาได้ไหม
เยาว์ที่รักของฉัน


***********



ขอมีเพียงเธอเป็นกำลังใจ




ทอดสายตามองออกไปยังทิวทัศน์ข้างหน้า
แลเห็นต้นหญ้าโบกไสว
เห็นดอกซากุระบานอยู่เต็มดอย
ความงามที่อยู่ข้างหน้า
เป็นสิ่งที่ฉันจะเก็บมันไว้
ยามที่จิตใจอ่อนล้า...

ชีวิตยามนี้แม้ผ่านมาหลายโมงยาม
แต่จิตใจข้างในยังคงดูหงอยเหงา
หลายครั้งอยากมีเพื่อนคุย
หลายครั้งอยากมีคนปรับทุกข์
และหลายครั้งต้องนั่งร้องไห้คนเดียว

รางวัลสำหรับชีวิตที่ผ่านมา
มันคืออะไรเคยถามตัวเองบ่อย ๆ
ความสำเร็จ...เงินตรา...เกียรติยศชื่อเสียง
มันใช่สิ่งที่เราต้องการหรือเปล่า
ถึงจุดหนึ่งชีวิตต้องการอะไรอีกมากไปกว่านี้

หลายชีวิตยังคงดิ้นรนต่อสู้
เพื่อปากท้องและครอบครัว
มันเป็นความจริงของชีวิตมนุษย์
ที่ต้องดำรงชีพเพื่อความอยู่รอด
มีทั้งพ่ายแพ้ มีทั้งชนะ
แต่ชีวิตต่างต้องดำเนินไป
ตามวิถีทางของแต่ละคน

ลืมความทุกข์ ลืมความหลังที่เจ็บปวด
มองออกไปข้างหน้า
ค้นให้พบตัวตนของตนเองอีกครั้ง
แล้วกลับไปสู้ใหม่
การเริ่มต้นของชีวิตจะต้องดำเนินต่อไป
จะต้องดำเนินต่อไป

ตราบจนลมหายใจสุดท้ายของชีวิต....




@@@@@@@@@@@




การเดินทางของความรัก

...ฉันเดินไปด้วยหัวใจที่ว่างเปล่า
สมองได้คิดใคร่ครวญ
ความรักในหลายครั้งที่ผ่านมา
ทำไมจึงจบลงอย่างรวดเร็ว

ฉันเดินไปด้วยสมองอันปลอดโปร่ง
ความรักทำให้ฉันเข้าใจโลก
และมนุษย์มากขึ้น
และรู้ว่าความแตกต่าง
ระหว่างความรักกับความหลงเป็นอย่างไร?

ฉันเดินไปด้วยดวงตาที่มุ่งมั่น
บทเรียนของรักในครั้งที่ผ่าน ๆ มา
มันย้ำเตือนอยู่เสมอว่า
อย่ารีบร้อนที่จะรัก
แต่จงปล่อยให้ความสัมพันธ์
ค่อย ๆ พัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เรียนรู้และทำเข้าใจกันให้มากที่สุด

ก่อนที่จะเริ่มบทต่อไปของความรัก...




*******************



จุดไฟแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่น

เข้มแข็งกับอ่อนแอ
สับสนหรือมุ่งมั่น
จะยอมแพ้หรือลุกขึ้นท้าทาย
กับชีวตที่เหลืออยู่
ทุกสิ่งล้วนอยู่ที่ใจเราจะกำหนด

ไม่ใช่เพราะอิสระเสรี
ที่เราต้องการหรอกหรือ?
ที่มันจะนำทางชีวิต
ในห้วงเวลาต่อไป
ให้เราก้าวทะยานไป
สู่วันพรุ่งที่สดใส

มีแต่เพียงคนที่รู้จักตนเองอย่างดีพอเท่านั้น
จะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้
เมื่อผ่านการสรุปบทเรียน
จากปัญหาต่าง ๆ ที่ประสบ
เราก็จะมีความจัดเจนกับชีวิตมากขึ้น
และการเผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ
ในอนาคตก็จะเป็นเพียงปัญหาที่เล็กน้อยสำหรับเรา
ในการที่จะก้าวผ่านไป



ด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในใจ
ที่จะต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ
หนทางในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ย่อมอยู่ไม่ไกลห่างอย่างแน่นอน

*********************



ก้าวย่างที่มั่นคง

บนทางเดินแคบ ๆ ที่เหลืออยู่
หากขาดความมั่นใจที่จะก้าวเดินต่อไป
ชีวิตก็คงหยุดนิ่งและรอวันตาย
แม้ทางข้างหน้าจะดูพร่ามัว
และไม่รู้ซึ่งอนาคต
แต่สิ่งที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
คือก้าวย่างไปอย่างมั่นคง
และมองไปข้างหน้าอย่าเหลียวหลัง
เก็บรับบทเรียนในอดีต
เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ให้ผิดพลาดอีกในอนาคต

"""""""""""""""""""""""""""""""""



ใช้สามัญสำนึกทำงาน

ไม่มีแผนงานที่สวยหรู
ไม่มีปฏิบัติการใดที่สมบูรณ์แบบ
ในยามนี้มีเพียงการทำงานด้วยการทุ่มเท
ลงลึกในรายละเอียดเท่านั้น
จึงจะสามารถคลี่คลายปัญหาของงานลงได้
บางครั้งโจทย์ที่เจออาจยากและซับซ้อน
แต่เมื่อลงไปคลุกคลีอย่างแท้จริง
โจทย์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

""""""""""""""""""""""""""""""""



เรียบ ๆ ง่าย ๆ


อย่ามองสิ่งต่าง ๆ ด้วยแว่นสีที่ซับซ้อน
เพราะในโลกนี้มีเพียงสิ่งสามัญที่เรียบง่าย
สำหรับคนที่สงบนิ่งเพียงพอเท่านั้น
จึงจะแก้โจทย์และปัญหาต่าง ๆ
ด้วยกลวิธีที่เรียบ ๆ ง่าย ๆ
ไม่ซับซ้อนและตรงจุดได้อย่างเพียงพอ

""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

ใจถึงใจ

บนหนทางไปสู่ความสำเร็จ
บนหนทางของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
มีเพียงคนที่เข้าใจในสภาพจิตใจของคนทำงานเท่านั้น
จึงจะสามารถนำทีมงานไปสู่เป้าหมายได้
อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน








Friends' blogs
[Add คนเดินดินฯ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.