พฤศจิกายน 2548

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
สัมภาษณ์นิ้วกลม GM Plus!
‘นักเขียน’ ถ้าใครสักคนแนะนำตัวกับคุณว่า ‘เราเป็นนักเขียน’ คุณจะรู้สึกอย่างไร 3 หนุ่ม กับ 1 สาวที่มาหนุนหมอนนอนคุยกับเราในเล่มนี้ คือคนที่เราสามารถแนะนำได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า ‘พวกเขาเป็นนักเขียน’

โต๊ะทรงกลมในห้องกองบรรณาธิการของ GM Plus ตอนใกล้สองทุ่ม ถูกจับจองเป็นที่แลกเปลี่ยนบทสนทนาของ ภาณุมาศ ทองธนากุล (เต้ย) เจ้าของนามปากกา ‘ใบพัด’ และกองบรรณาธิการไฟแรงจากนิตยสาร a day, สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (เอ๋) ชื่อจริงอาจไม่คุ้น แต่ถ้าเราบอกว่า เขาคือ ‘นิ้วกลม’ ผู้เขียนหนังสือ ‘โตเกียวไม่มีขา’ หลายคนคงร้องอ๋อ กิตติ จินศิริวานิชย์ (เหมา) บรรณาธิการนิตยสาร ต้า เจีย ห่าว และ เนตรนภา แก้วแสงธรรม (หริ่น) นักเขียน และบรรณาธิการสาวผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือเบสต์เซลเลอร์หลายๆ เล่ม

พวกเขาคือคลื่นลูกเล็กในทะเลวรรณกรรม ที่เราอยากชวนคนอ่านเข้าโต้คลื่นหามุมมองและความคิด ถึงแม้วันนี้นามปากกาของพวกเขาอาจจะยังไม่คุ้นตาคนอ่าน แต่เราคาดว่าเมื่อคุณอ่านบทสัมภาษณ์นี้จบ คุณคงอยากทำให้ตาคุ้นมากขึ้น

GM Plus : มีคำพูดที่ว่า คนจะเป็นนักเขียนต้องเป็นนักอ่านมาก่อน พวกคุณเชื่อคำพูดนี้ไหม

เต้ย : ผมไม่ได้เป็นนักอ่านมานานนมอะไร เพิ่งคุยกับเอ๋เมื่อกี้เองว่า ผมเริ่มอ่านหนังสือจริงจังเมื่อ 3-4 ปีมานี้เอง เพราะฉะนั้นผมจะเชยมากเวลาคุยกับคนอื่นเรื่องหนังสือ แต่ก็ไม่จำเป็นว่านักเขียนต้องอ่านหนังสืออย่างเดียวนะ เพราะเราสามารถอ่านจากอย่างอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ คน และสิ่งแวดล้อมต่างๆ

เอ๋ : ผมว่าคนที่จะเขียนหนังสือต้องมีประสบการณ์บางอย่างที่เอามาแชร์กับคนอื่นได้ อาจจะไม่ได้มาจากการอ่านหนังสือเล่มอื่น แต่เป็นประสบการณ์ตรงที่คนอื่นไม่สามารถไปเดินทับรอยเขาได้ ในแง่เนื้อหาน่าจะเป็นแบบนี้ แต่ในแง่ลีลาการเขียนแล้ว ผมเชื่อว่านักเขียนที่ดีควรมีประสบการณ์การอ่านระดับหนึ่ง

หริ่น : ในด้านที่หริ่นทำงานเป็นบรรณาธิการ จะพูดกับนักเขียนเสมอว่า ไม่สามารถเป็นนักเขียนที่ดีได้ถ้าไม่เป็นนักอ่าน หริ่นเชื่อว่ายิ่งอ่านมากก็ยิ่งเขียนได้ดีมากขึ้น เพราะได้ศึกษามาเยอะ แต่มันก็ไม่จำเป็นเสมอไป แต่เราปฏิเสธการอ่านไม่ได้เลย มันเป็นการตรวจสอบรูปแบบหนึ่งด้วยว่า มีใครเขียนแบบไหนมาแล้ว เพื่อที่เราจะได้สร้างสิ่งใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบเดิม

เหมา : การอ่านเป็น Input ชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการไปสู่การเขียนหรือการพูดเป็นหลักฐานออกมา ซึ่ง Input อาจจะเกิดจากประสบการณ์ หรือใครจะนั่งสมาธิแล้วผุดรู้ขึ้นมาก็เป็น Input เหมือนกัน การอ่านเยอะก็ดีครับว่าใครทำอะไรมาแล้วบ้าง แล้วเราคิดอะไรตามหลังใครอยู่บ้าง

เอ๋ : เรื่องที่พี่เหมาพูดน่าสนใจนะ ผมว่าหนังสือที่เราอ่านมี 2 แบบ แบบหนึ่งคือเราอ่านแล้ว อู้ฮู! คนแบบนี้ละที่สมควรเป็นนักเขียน กับแบบที่อ่านแล้วรู้สึกว่า เราก็เขียนได้นี่ อ่านแล้วอยากเขียนหนังสือมากขึ้น

GM Plus : สำหรับคุณ การเขียนคืออะไร

หริ่น : การเขียนเป็นคำกริยาซึ่งหมายถึงการเชื่อมความคิดจากสมองไปสู่มือ สื่อความคิดภายในไปสู่ภายนอก เป็นกิริยาที่กระทำถ้ามีสติครบ

เต้ย : เป็นการถ่ายทอดชนิดหนึ่ง เพียงแต่เรามีตัวหนังสือเป็นเครื่องมือ ในขณะที่บางคนอาจจะวาดรูปหรือพูด

เอ๋ : ผมมองว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นต้องการคุยกับใครสักคน การเขียนหนังสือให้คนอ่านเหมือนการพูดคุยในวงที่กว้างขึ้น ทำให้รู้สึกว่าเรื่องที่เราพูดมีคนต้องการฟัง และมีคนมาร่วมแชร์กับเราได้

เหมา : เป็นการสื่อสารชนิดหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้เขียนแล้วครับ ใช้พิมพ์เอา รู้สึกว่าการเขียนแบบใช้มือเขียนมันได้อรรถรสมากกว่า พอมีการพิมพ์แล้วมันทำให้เราแก้อะไรได้ง่ายๆ จนกลายเป็นว่า เราไม่มีทางจะเขียนเสร็จจนกว่าจะถึงเส้นตาย ซึ่งถ้าเขียนในกระดาษก่อนมันจะจบตรงนั้นเลย

เต้ย : ตอนนี้ผมก็สูญเสียความสามารถในการเขียนบนกระดาษไปแล้ว มันเสพติดการ copy และ paste ไปแล้วลากตรงโน้นมาแปะตรงนี้ เหมือนว่าเราเห็นภาพรวมแล้วก็อยากแก้ไขไปเรื่อย

GM Plus : ถ้าอย่างนั้นระบบความคิดของการเขียนด้วยมือบนกระดาษ กับการพิมพ์ในคอมพิวเตอร์ต่างกันมากไหม

เอ๋ : ก็เป็นไปได้นะ คนเรามันหลายใจมากขึ้น เขียนๆ ไปไม่ชอบก็ลบพิมพ์ใหม่ง่ายๆ ลองเอาย่อหน้าโน้นมาต่อตรงนี้ ทำให้เราได้ทดลองอะไรมากขึ้น

เหมา : แต่การทดลองนี้อาจทำให้ความคิดแรกของเราหายไปเลยนะ ต้นฉบับแรกมันหายได้แค่กด delete ครั้งเดียว แต่ถ้าเขียนในกระดาษความคิดเก่ามันก็ยังอยู่

GM Plus : แต่ละคนมีสไตล์การเขียนของตัวเองอย่างไรบ้าง

เต้ย : ชอบเขียนแนวนอนครับจากซ้ายไปขวาครับ (ฮา) จริงๆ ผมโตมาทางสายสื่อมวลชน ซึ่งส่วนมากจะเขียนในเชิงรายงานข่าว แต่ผมจะชอบเขียนสไตล์บทความเล่าความคิดในพื้นที่จำกัดๆ สั้นๆ

เหมา : ถ้าให้พูดแบบจำกัดไปเลยมันก็ยากเพราะสไตล์เครียดๆ ก็เขียนมาแล้ว ตลกโปกฮาก็เคยเขียน งานเชิงลึกก็ทำ ตอนนี้ก็เขียนเพลงเล่นอยู่ เขียนมาก็ชอบทุกแบบเพราะแต่ละแบบก็คือตัวตนของเรา ที่ไม่สามารถบอกออกมาพร้อมกันในครั้งเดียวได้สักที แต่ทั้งหมดก็คือความจริงใจของผม ตรงกับวลีที่ว่า ความจริงใจสื่อสารลำบาก

หริ่น : หริ่นเขียนงานค่อนข้างหลากหลายเพราะเป็นทั้งนักเขียน บรรณาธิการ แม้กระทั่งนักข่าวก็เคยเป็น แต่สไตล์ที่คนจดจำและชอบมักจะเป็นเรื่องสั้นตลกๆ แต่ที่จริง หริ่นชอบเขียนสารคดีเชิงลึกมากกว่า หรือบทความเชิงความคิด แต่ไม่ได้มาจากมุมมองของผู้หญิง แต่จะเน้นมองแบบกลางๆ

เอ๋ : ผมมองว่าการมีสไตล์เป็นการจำกัดกรอบความคิดของนักเขียน ถ้านักเขียนคนนั้นมีตัวตนที่เด่นชัดแล้วเขียนออกมาอย่างที่เขาเป็นเด่นชัดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้านักเขียนถูกจำกัดสไตล์ว่าคนนี้ต้องเขียนเรื่องเหงา คนนี้เขียนแนวนี้เท่านั้น ผมว่ามันเป็นเรื่องน่าสงสาร ด้วยความที่ผมเป็นก็อบปี้ไรเตอร์ทำให้ได้มองภาพของสินค้าที่หลากหลาย ทำให้บางครั้งอยากเขียนงานแบบที่ตัวเองไม่ได้เป็นบ้าง มันอาจจะไม่จริงใจ แต่การได้สมมุติตัวเองเป็นหลายๆ แบบมันก็สนุกดี

GM Plus : หนังสือเล่มแรกของแต่ละคนชื่ออะไร และความรู้สึกตอนเห็นหนังสือเล่มแรกของตัวเองวางขายเป็นอย่างไร

หริ่น : เล่มแรกชื่อ ‘เป็นเรื่อง เป็นลาว’ ความรู้สึกมัน โอ้! มายก็อด แค่เห็นภาพปก กับภาพประกอบ ก็รู้สึกว่ามีคนมาตีความงานเรา มีคนมาทำอะไรเพื่อเรา มันเหมือนไม่เคยมีใครมองเรามาก่อน แล้ววันหนึ่งก็มีคนลงทุนให้เรา เหมือนการพิสูจน์ตัวเองรูปแบบหนึ่งว่า มีคนยอมรับ พอไปร้านหนังสือทุกครั้งที่เห็นหนังสือของตัวเองก็จะต้องเอาไปวางในจุดที่เด่นที่สุด แล้วก็ไปแอบดูว่าคนอื่นเขาหยิบหนังสือเราดู แล้วมีปฏิกิริยาอย่างไร ตอนนี้เขียนมา 7 เล่มแล้ว ยังรู้สึกว่าเล่มแรกมันเจ๋งสุด

เอ๋ : เอาจริงๆ ในชีวิตเรามีเล่มแรกหลายครั้ง ตั้งแต่หนังสือทำมือชื่อ ‘ดิม’ ที่ทำกับเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเรามีฝันฟุ้งมากมายแล้วมันก็หายไปตลอด พอเห็นหนังสือมันแม็กซ์ ออกมา 100 เล่มก็รู้สึก...เฮ้ย! สุดท้ายเราก็ทำได้แล้ว หลังจากนั้นครั้งแรกที่เขียนลง a day ครั้งแรกที่เขียนรวมเล่มกับคนอื่น และทุกครั้งของเล่มแรกก็รู้สึกเหมือนกันคือ อยากเห็นหน้ามัน ต้องไปตามล่าหาซื้อให้ได้ ส่วนที่พีคสุดคือเล่ม ‘โตเกียวไม่มีขา’ เพราะมันเป็นรวมเล่มทั้งเล่มของเราคนเดียวครั้งแรก เหมือนไปคลอดลูก ถือหนังสือเหมือนอุ้มลูกเลย ความรู้สึกมันสุดยอด

เต้ย : เล่มแรกชื่อ ‘มุมมองของใบพัด’ ทำให้รู้สึกว่าการเข้าร้านหนังสือมีความหมายมากขึ้น อารมณ์เหมือนเพิ่งกลับจากเมืองนอกแล้วได้เจอคนที่เราไม่ได้เจอมานานแสนนาน ต้องขอบคุณโอกาสที่วันหนึ่ง ความพยายามของเราที่จะเขียนให้ดีที่สุดที่ค่อยๆ เก็บมาได้รวมออกมาวางเป็นเล่ม ทึ่งว่ามันออกมาได้

เหมา : เล่มแรกเป็นหนังสือทำมือชื่อ ‘โปรดเก็บไว้เพื่ออ่าน’ เป็นผลพวงจากความร่วมมือของเพื่อนๆ ที่ทำวารสารร่วมกัน จนเรียนจบแล้วก็ยังซาบซึ้งกับบรรยากาศการทำงานกับเพื่อน จึงทำหนังสือทำมือ เป็นเรื่องเกี่ยวกับรถเมล์โดยมีเพื่อนๆ มามีส่วนร่วม เช่นภาพประกอบก็เอามือเพื่อนมาโบกรถเมล์ ให้เพื่อนมาเขียนคำนำคนละหน้าสองหน้า คำนำก็ครึ่งเล่มแล้ว (หัวเราะ) รู้สึกว่าเล่มนี้สมบูรณ์มาก ตั้งใจทำเพื่อให้คนรักตอนนั้นได้อ่าน แต่พอมันได้รางวัลก็มีเรื่องหลายๆ อย่างถั่งโถมเข้ามาจนผมมาอยู่ตรงจุดนี้ ลงลึกกับการทำงานเขียนมากจนลืมคนรักไปเลย วันหนึ่งก็ไปบอกเธอว่า ขออยู่คนเดียวเพื่อทำงานเขียน

//www.gmmultimedia.co.th/gmplus/newdetail.php?id=107&book=3




Create Date : 23 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 6 ธันวาคม 2548 22:02:26 น.
Counter : 787 Pageviews.

1 comments
  
ชอบนิ้วกลมเหมือนกันครับ

ขอ add ไว้หน่อยน่ะครับ
โดย: เด็กผู้ชายที่ไม่แตะบอลตอนกลางวัน (kanapo ) วันที่: 16 กรกฎาคม 2550 เวลา:18:09:57 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ดาริกามณี
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 25 คน [?]



Just Do it :


* มีอีกชื่อว่า หญ้าเจ้าชู้

* เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บทประพันธ์
รักข้ามรั้ว (หญ้าเจ้าชู้)
ลุ้นสุดฤทธิ์ พิชิตรัก (หญ้าเจ้าชู้)
ภารกิจรักพิทักษ์เธอ (หญ้าเจ้าชู้)
ปีกแห่งฝัน (ดาริกามณี)

* เป็นสาวก 'รงค์ วงษ์สวรรค์
* เป็นแฟน คาราบาว
* เป็นกิ๊ก เฉลียง
* ฝืนอะไรที่เป็นอื่น ฝืนอัตตา
สูงเทียมฟ้าก็มิเท่า เป็นเราเอง

* การปรากฎตัวของคนคนหนึ่ง
อาจเปลี่ยนใครอีกคนไปทั้งชีวิต

* หากต้องการอ่านนิยายที่ใส่รหัส,
รบกวน "ฝากข้อความหลังไมค์" จ่ะ