Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๔๑ อธิบายอริยสัจโดยพิสดาร

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๔๑ อธิบายอริยสัจโดยพิสดาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อานิสงสผลของสมาธิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้บุคคลปฏิบัติอบรมจิตอันเรียกว่า จิตตภาวนา หรือเรียกว่า กรรมฐาน อันแปลว่าการงานทางจิต ที่ตั้งขึ้น คือที่ปฏิบัติ อันอาศัยข้อที่พึงถือเป็นที่ตั้งของการปฏิบัติ และก็ได้ตรัสแสดงถึงจิตนี้ว่า ดิ้นรน กวัดแกว่ง กระสับกระส่าย รักษายาก ห้ามยาก แต่ผู้มีปัญญาย่อมกระทำจิตของตนให้ตรงได้ เหมือนอย่างนายช่างศรทำลูกศรให้ตรงหรือว่าดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้นดั่งนี้ และข้อที่จิตนี้ ดิ้นรน กวัดแกว่ง กระสับกระส่าย ถ้าไม่กำหนดก็อาจจะยังไม่ปรากฏแก่ความรู้ เพราะเป็นปกติของทุกคน ย่อมมีจิตใจไม่อยู่ที่ คิดไปถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่เป็นปกติ และก็เป็นเรื่องที่รักใคร่ปรารถนาพอใจอันทำใจให้อาลัย อันหน่วงใจไปให้คิดถึง หรือว่าคิดไปถึงเรื่องที่ขัดใจ คิดไปถึงเรื่องที่หลงสยบติดอยู่ ย่อมเป็นไปดั่งนี้อยู่เป็นประจำ จนถึงไม่สำนึกรู้ในจิตของตนเองว่ามีอาการดั่งที่ตรัสสอน

แต่เมื่อได้มาจับทำ กรรมฐาน เช่นตั้งจิตกำหนดใน สติปัฏฐาน ที่ตั้งของสติ คือกายเวทนาจิตและธรรมะข้อใดข้อหนึ่ง เช่น กำหนดในข้ออานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ให้จิตกำหนดรู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ในข้อที่ตั้งใจจะให้จิตตั้งอยู่นี้ จิตจะออกไปสู่อารมณ์ คือเรื่องที่เป็นที่อาลัยของจิต คือที่ผูกจิต ทั้งเป็นเรื่องที่น่ารักทั้งเป็นเรื่องที่น่าชังต่าง ๆ เมื่อมีสตินำจิตเข้ามาตั้งไว้ใหม่ อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เช่นตั้งไว้ที่ปลายจมูก หรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เมื่อลมหายใจเข้า ลมหายใจก็ย่อมจะมากระทบที่จุดนี้ กำหนดจิตให้มีความรู้ในลมที่เป็นตัวโผฏฐัพพะ คือที่มาถูกต้องกายส่วนนี้ ทำความรู้ว่านี่หายใจเข้า นี่หายใจออก จิตมักจะไม่ตั้งอยู่ต้องนำกลับเข้ามาบ่อย ๆ ดังกล่าวนั้น ก็เพราะจิตยังไม่ได้ความสุข ยังไม่ได้ความเพลิดเพลินในสมาธิ ยังติดอยู่ ยังเพลิดเพลินอยู่ในอารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนาทั้งหลายอันเป็นเหตุดึงจิตออกไป แต่ว่าเมื่อทำบ่อย ๆ ได้ปีติคือความอิ่มใจ ได้สุขคือความสบายกายสบายใจ อันเกิดจากสมาธิคือว่าจิตรวมเข้ามาตั้งได้ และทำให้ได้ปีติได้สุข ก็ย่อมจะทำให้จิตนี้เริ่มตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้ เพราะว่าได้ความสุข ไม่ได้ความอึดอัดเดือดร้อนรำคาญ

ฉะนั้น สมาธินี้จึงมีอานิสงสผลทำให้ได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน สามารถที่จะถอนจิตออกจากอารมณ์ภายนอกอันทำให้วุ่นวายได้ แม้ว่าจะชั่วขณะที่เร็วหรือช้า สุดแต่ความเพียรที่ปฏิบัติ ถ้าไม่ทิ้งความเพียรที่ปฏิบัติแล้ว ก็จะทำให้สามารถปฏิบัติรักษาจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้นาน ความที่พรากจิตออกจากอารมณ์ภายนอกได้ มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิที่เป็นภายในดั่งนี้ ก็เป็นวิธีระงับความทุกข์ต่าง ๆ อันเกิดจากอารมณ์ภายนอกได้ด้วย ถ้าหากว่าไม่สามารถที่จะพรากจิตออกมาได้หากมีความทุกข์ เพราะอารมณ์ภายนอก ก็ย่อมจะต้องเป็นทุกข์อยู่นาน น้อยหรือมากสุดแต่ว่าความผูกพันของจิต อันเรียกว่าสังโยชน์ นั้นมีน้อยหรือมากเพียงไร ก็เพราะว่าอันอารมณ์ภายนอกต่าง ๆ นั้น

เมื่อเป็น ปิยสัมปโยค คือความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้ได้ความสุขความสำราญ
หากเป็น ปิยวิปโยค ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็ย่อมจะทำให้เกิดความทุกข์โศกต่าง ๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อมิได้ปฏิบัติทางสมาธิ จึงยากที่จะพรากจิตออกได้ทั้งจากความสุข ความเพลิดเพลิน ก็ย่อมจะไม่รู้สึกเป็นทุกข์เดือดร้อน เป็นแต่เพียงว่ารักษาจิตไว้มิให้มัวเมาเพลิดเพลินเกินไปเท่านั้น แต่ว่าจะได้ความสุขความเพลิดเพลินสมปรารถนา ต้องการไปทุกเรื่องทุกราวก็หาไม่ จะต้องพบกับความไม่สมปรารถนาควบคู่กันไปด้วยตามธรรมดาของโลก ซึ่งจะต้องมีทั้งส่วนที่สมปรารถนาทั้งส่วนที่ไม่สมปรารถนา คือทั้งส่วนที่ได้มาและทั้งส่วนที่จะต้องเสียไป เป็นไปตามคติธรรมดาของโลกของสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย และเป็นไปตามคติของกรรมที่ได้กระทำไว้ เพราะฉะนั้น สุขกับทุกข์จึงมีคู่กันอยู่ในโลกเป็นธรรมดาซึ่งทุกคนต้องประสบ แต่ผู้ที่สามารถปฏิบัติอบรมจิตให้ตั้งอยู่ได้ในสมาธิ รู้จักที่จะพรากจิตออกได้จากอารมณ์ภายนอก ย่อมสามารถที่จะหนีทุกข์มาอยู่ในสมาธิ อันทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ แต่คนที่ไม่สามารถทำสมาธิได้ ย่อมไม่สามารถจะหลีกหนีจากทุกข์ได้ ต้องเผชิญกับความทุกข์อยู่ร่ำไป

ฉะนั้น ความที่ทำสติความระลึกได้ พร้อมทั้งปัญญาคือความรู้ดั่งนี้ มาหัดทำสมาธิพรากจิตจากอารมณ์ภายนอกอันทำให้เกิดสุขก็ตามทำให้เกิดทุกข์ก็ตาม มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิและเมื่อพรากออกได้ก็ย่อมจะทำให้ระงับทุกข์ได้ ทำให้ได้ความสุขได้ แต่ว่าเมื่อออกจากสมาธิไป ก็ย่อมจะต้องไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก เป็นทุกข์ขึ้นอีก แต่ถึงดั่งนั้นก็ยังดี เพราะเมื่อเห็นว่าจะทุกข์มากไป ก็หลบเข้ามาสู่อารมณ์ของสมาธิเสีย ก็จะทำให้ได้ความสุขจากสมาธิ ทำให้จิตใจได้กำลังได้เรี่ยวแรงที่จะปฏิบัติกิจการทั้งหลาย แต่ว่าเพียงสมาธิอย่างเดียวยังไม่สามารถที่จะดับทุกข์ได้จริง จึงต้องปฏิบัติทางปัญญาประกอบไปด้วย กล่าวคือใช้สติความระลึกตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้ได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง คือ

ใช้สติระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน ว่าเรามีความเกิดเป็นธรรมดา ว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ เรามีความพลัดพรากคือจะต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักที่ชอบใจทั้งสิ้น

เรามีกรรมที่กระทำทางกาย ทางวาจาทางใจเป็นของ ๆ ตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักกระทำกรรมอันใดไว้ดีหรือชั่ว ก็จักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้


อาศัยสติและปัญญาพิจารณาให้เห็นสัจจะ

เมื่อพิจารณาดั่งนี้ด้วยสติ คือระลึกไปตามที่ทรงสั่งสอน ให้ความรู้ของตนบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นจริง เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาจริง เราจะต้องพลัดพรากจริง เรามีกรรมเป็นของ ๆ ตนจริง

ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองดั่งนี้เป็นตัว ปัญญา อันบังเกิดขึ้นจากสติที่พิจารณา

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้รู้จักสัจจะ คือความจริงของโลก โดยเฉพาะก็คือขันธโลก โลกคือขันธ์ คือชีวิตนี้ของตนว่าเป็นอย่างไร ให้รู้จักคติของกรรมว่าเป็นอย่างไร ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เพราะฉะนั้น เมื่อต้องประสบกับคติธรรมดาของชีวิตของโลกที่เป็นไปอยู่ดังที่ตรัสสอนให้พิจารณานั้น ก็จะทำให้ได้สติ ระลึกได้ว่าก็ต้องเป็นไปตามคติธรรมดาและตามคติของกรรม ก็จะทำให้จิตใจนี้สามารถที่จะระงับความตื่นเต้นยินดีในความสุขต่าง ๆ หรือว่าความทุกข์โศก เพราะประสบเหตุของทุกข์ต่าง ๆ ได้ ยิ่งกว่าผู้ที่ไม่ได้หัดพิจารณาให้ได้สติให้ได้ปัญญา และยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็หัดกำหนดดูให้รู้จักตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ในธรรมบทว่า

ความโศกเกิดจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก ภัยคือความกลัวต่าง ๆ เกิดจากบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รัก ความโศกความกลัวเกิดจากความรัก เมื่อพ้นจากบุคคลและสิ่งซึ่งเป็นที่รัก พ้นจากความรักเสียได้ ความโศกความกลัวต่าง ๆ ก็ดับ
และได้ตรัสสอนไว้อีกว่า
ความโศก ความกลัว เกิดจากตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อพ้นจากตัณหาก็ย่อมจะพ้นความความโศกความกลัวได้ ดั่งนี้


ทุกข์เกิดจากตัณหาอุปาทานในจิตใจ

เพราะฉะนั้น ก็หัดพิจารณาจับดูที่จิตใจ ว่าจิตใจที่มีความทุกข์โศกก็ดี มีภัยคือความกลัวต่าง ๆ อยู่ก็ดี เกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งโดยปกตินั้นก็มักจะไปเข้าใจว่าเกิดจากเหตุภายนอกต่าง ๆ เช่น เกิดจากบุคคลบ้าง สิ่งต่าง ๆ บ้าง ซึ่งถ้าเป็นที่รักบุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ ก็ต้องพลัดพรากไป ถ้าไม่เป็นที่รัก บุคคลหรือสิ่งนั้น ๆ ก็กล้ำกรายเข้ามา มักจะไปเพ่งดูดั่งนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ยิ่งทับถมทวีความโศกทับถมทวีภัยคือความกลัวความหวาดระแวงต่าง ๆ ยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ความที่มาพิจารณาจับเหตุดั่งนี้เรียกว่าเป็นการจับเหตุที่ไม่ตรงกับผล

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้จับเหตุให้ตรงกับผล คือตรัสสอนให้จับเข้ามาดูเหตุที่เป็นตัวเหตุภายใน คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในใจของตนเอง ซึ่งตรัสว่าเป็นทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ เพราะตัณหานี้เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน คือความยึดถือ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา ยึดถือว่าเป็นของเรา ยึดถือว่านั่นเป็นที่รัก ยึดถือว่านั่นไม่เป็นที่รัก
ตัณหาอุปาทานนี้เป็นตัวเหตุที่สร้างบุคคลและสิ่งที่เป็นที่รักบ้าง ไม่เป็นที่รักบ้าง สร้างตัวเราของเราขึ้นในสิ่งทั้งหลายโดยรอบ เพราะฉะนั้น ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอุปาทานคือความยึดถือนี้เอง จึงเป็นตัวเหตุที่มีอยู่ในจิตใจนี้เอง

หมั่นพิจารณาดั่งนี้ ให้ความรู้ของตนนี้แหละบังเกิดขึ้นรับรอง ว่าตัณหาอุปาทานในจิตใจของตนนี้เป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์จริง ทุกข์ต่าง ๆ ที่ได้รับอยู่ เป็นความทุกข์โศกต่าง ๆ ก็ดี เป็นภัยคือความกลัวต่าง ๆ ก็ดี ก็มาจากตัณหาอุปาทานนี้เอง ให้ความรู้ของตนนี้แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นความจริง ด้วยการที่หมั่นพิจารณาอยู่เนือง ๆ ให้มองเห็นว่านี่เป็นตัวเหตุ ทุกข์โศกภัยต่าง ๆ นั้นเป็นตัวผล เมื่อปัญญาบังเกิดขึ้นคือความรู้นี่แหละบังเกิดขึ้นรับรองว่าเป็นจริงดั่งนี้ ทุกข์โศกต่าง ๆ ภัยคือความกลัวต่าง ๆ ก็จะดับไปทันที

ทรงตรัสรู้ในอริยสัจ ๔

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ได้ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาของพระองค์ว่าตรัสรู้ในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทุกข์ต่าง ๆ นั้นก็เพราะมีทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดับตัณหาเสียได้ก็เป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ จะดับได้ก็อาศัยปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบเป็นที่สุด ซึ่งแสดงว่าต้องมีสมาธิ คือความที่กำหนดจิตเพ่งจิตอยู่ในอารมณ์ของสมาธิ อารมณ์ของสมาธิเพื่อสมาธิก็เช่นอานาปานสติเป็นต้น อารมณ์ของสมาธิเพื่อปัญญาก็คือนามรูปนี้ กำหนดดูให้รู้จักนามรูปนี้ให้รู้จักกายใจนี้ ว่าเป็นอนิจจะ คือไม่เที่ยงต้องเกิดดับ เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และเป็นอนัตตาบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ จึงมิใช่ตัวเรามิใช่ของเราตามที่ยึดถือกันดั่งนี้

ความรู้ที่บังเกิดขึ้นรับรองความจริงนี้ก็เป็น สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

พระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิบัติมาในมรรคมีองค์ ๘ นี้ ที่ตรัสเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางสมบูรณ์ ทรงกำหนดรู้ ทุกข์ ได้แล้ว ทรงละ สมุทัย ได้หมดแล้ว ทรงทำให้แจ้ง นิโรธ ได้แล้ว ทรงปฏิบัติใน มรรคมีองค์ ๘ ได้สมบูรณ์แล้ว จักษุ คือดวงตา ญาณ คือความหยั่งรู้ ปัญญา คือความรู้รอบ วิชชา คือความรู้จริง อาโลก คือความสว่าง ผุดขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ กิเลสและกองทุกข์ดับไปหมดสิ้น จึงเป็น พุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว

และความตรัสรู้ของพระองค์ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ เมื่อแสดงโดยพิสดารตามที่ตรัสไว้ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งมีอวิชชาอาสวะเป็นต้น มาจนถึงชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยกันโดยลำดับ นี้เป็นฝ่าย สมุทัยวาร คือเป็นฝ่ายเกิด หรือเป็นฝ่ายก่อทุกข์

พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาอริยสัจทางปฏิจจสมุปบาทนี้แล้วก็ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นซึ่งแปลความว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ธรรมะว่า เกิดจากเหตุหรือรู้ธรรมะพร้อมทั้งเหตุ หรือรู้ธรรมะว่ามีเหตุที่เป็นปัจจัยสืบต่อกันไปจึงทำให้เกิดทุกข์

แล้วได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาททาง นิโรธวาระ หรือ นิโรธวาร คือวาระดับคือดับทุกข์ ว่าเพราะดับอวิชชาอาสวะหรืออาสวะอวิชชาเป็นต้น จึงได้ดับมาโดยลำดับ จนถึงดับชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ได้ทรงเปล่งอุทานขึ้นว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลาย ปรากฏแก่พราหมณ์ ผู้มีเพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้น ความสงสัยของพราหมณ์นั้น ย่อมสิ้นไป เพราะมารู้ความสิ้นไปของปัจจัยคือเหตุทั้งหลาย ดั่งนี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒ กรกฎาคม ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 21 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 21 พฤศจิกายน 2555 8:40:50 น. 0 comments
Counter : 712 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.