Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๑๐ ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายและจิต (๒)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



อธิบายลักษณะ ๓ ประการของจิต

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงเรื่องจิต ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว ว่าพระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้คำอธิบายศัพท์ของจิตไว้ แปลเป็น ๓ อย่าง คือ คิดหรือรู้ เก็บ และวิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ที่แปลว่าคิดหรือรู้นั้น ก็โดยอธิบายว่าจิตเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้ หรือว่ารู้อะไรได้ คำว่าคิดและคำว่ารู้ในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เพราะจะคิดอะไรได้ก็ต้องรู้อะไรนั้น หรือว่าจะรู้อะไรได้ก็ต้องคิดอะไรนั้น และในความคิดนั้นก็มีความรู้อยู่ด้วย ในความรู้ก็มีความคิดอยู่ด้วย ฉะนั้นจิตจึงเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้หรือว่ารู้อะไรได้

ลักษณะที่ ๒ เก็บ ก็หมายความว่าเก็บสิ่งที่ประสบผ่านต่างๆ ไว้ได้ และเก็บกรรมที่ได้กระทำแล้วไว้ได้ ที่ปรากฏเป็นเก็บดีที่เรียกว่าบารมี เก็บชั่วที่เรียกว่าอาสวะ และที่ว่ามีลักษณะวิจิตรคือหลายหลากหรือว่าหลายอย่างต่างๆ กัน ก็คือจิตมีลักษณะต่างๆ ดังเช่นที่มีจำแนกไว้ในอภิธรรม เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม รูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภพ อรูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป โลกุตรจิต จิตที่เป็นโลกุตระ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่วิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ดังเช่นเราเรียกในภาษาไทยว่าวิจิตรพิสดาร หรือว่าวิจิตรงดงาม ดังคำว่าราชรถอันวิจิตร ราชรถที่งดงาม ที่ทำอย่างงดงามตกแต่งอย่างงดงาม จิตก็เป็นธรรมชาติที่งดงาม เพราะเหตุว่ามีลักษณะที่เหมือนดังตกแต่งเอาไว้อย่างราชรถนั้น นี้เป็นการให้คำอธิบายคำว่าจิต ดังที่พระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้เอาไว้

จิตตัวเดิมและจิตที่เป็นตัวอาการ

และก็พึงทราบไว้ ว่าคำว่าจิตท่านใช้เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิม กับอีกอย่างหนึ่งท่านใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวอาการ ที่ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิมนั้น ก็ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นธาตุรู้ อันเป็นธรรมชาติที่ประภัสสรคือผุดผ่อง ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง แต่ต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าเมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต จิตก็จะบริสุทธิ์ คือหมดจดสะอาดผ่องใสได้ วิมุตติคือหลุดพ้นได้ และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ ที่มีพุทธภาษิตแสดงไว้เป็นอันมาก เช่นว่าให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ และเมื่อบุคคลอบรมให้ได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง จิตก็หน่าย จะสิ้นความติดใจยินดีและวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ คือเครื่องดองจิตดองสันดานทั้งหลายได้ ดั่งนี้ เหล่านี้หมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม

ส่วนจิตที่เป็นตัวอาการนั้นหมายถึงตัวความคิดต่างๆ คิดดีก็มีคิดไม่ดีก็มี ตัวความคิดนี้เป็นจิตที่เป็นอาการ จิตที่เป็นอาการนี้เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทุกขณะจิต ทุกขณะอารมณ์ ดังจะพึงเห็นได้ ว่าทุกคนย่อมมีความคิดไปในอารมณ์ คือเรื่องต่างๆ คิดถึงเรื่องนี้ ปล่อยเรื่องนี้ไปคิดเรื่องโน้น ปล่อยเรื่องโน้นไปคิดเรื่องนั้น เรื่องที่จิตจับคิดแล้วปล่อยไปครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดดับไปคราวหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นตัวความคิดนี้จึงเกิดดับอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบจิตที่เป็นตัวอาการนี้ ว่าเหมือนอย่างวานรที่กระโดดไปมาอยู่บนต้นไม้ กระโดดจับกิ่งไม้นี้ ปล่อยกิ่งไม้นี้ กระโดดไปจับกิ่งไม้นั้น จากกิ่งไม้นั้นก็กระโดดไปจับกิ่งไม้อื่นต่อไปอีกอยู่ตลอดเวลา อาการที่จับและปล่อยอารมณ์ต่างๆ ของจิตนี้คือจิตที่เป็นตัวอาการ คือความคิดเหมือนอย่างอาการของวานรที่กระโดดจับกิ่งไม้ กระโดดจับกิ่งโน้นกิ่งนี้กิ่งนั้นไปอยู่เสมอ อาการที่จับปล่อยๆ กระโดดไปดั่งนี้ของวานรคือความคิด แต่ก็น่าจะต้องคิดดูตรงนี้ด้วยว่า แม้วานรจักกระโดดจับปล่อยกิ่งไม้ไปอยู่เสมอดั่งนี้ก็ตาม แต่ว่าตัววานรนั้นคงเป็นวานรตัวเดียวกัน ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นี้ ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นั้น ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้โน้นซึ่งกระโดดไปนั้น ก็เป็นตัววานรตัวเดียวกัน จึงเทียบได้กับจิตที่เป็นตัวเดิม ก็เป็นจิตเดียวกัน แต่ว่าอาการคือความคิดนั้นเปลี่ยนไปต่างๆ และตัวความคิดนี้ก็คืออาการ จิตมี ๒ อย่างดั่งนี้

ความอุปบัติและจุติของจิต

หากจะมีปัญหาว่า จิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เป็นจิตที่เกิดดับอยู่เสมอดังกล่าว แต่ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นเล่า เป็นสิ่งที่เกิดดับหรือไม่ ปัญหานี้ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา ถ้าจะพิจารณาจำเพาะชาตินี้ ไม่ตั้งปัญหาไปถึงชาติหน้าหรือว่าชาติอดีตก็ตอบได้ง่าย ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าจิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เกิดดับไปพร้อมกับอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต อยู่ทุกขณะอารมณ์ดังกล่าวนั้น จิตที่เป็นตัวเดิมอันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตายนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าเมื่อเกิดจิตมาปฏิสนธิที่เรียกว่าจิตปฏิสนธิ เมื่อตายจิตก็จุติคือเคลื่อนออกไป อันเรียกว่าเคลื่อนออกไปหรือว่าดับจึงต้องเข้าใจคำนี้ ว่าคำว่าดับกับคำว่าจุตินั้นต่างกัน คำว่าดับก็เหมือนกับไฟดับไป แต่คำว่าจุตินั้นแปลว่าเคลื่อน คือว่าไม่ดับ เคลื่อนออกไป ในข้อนี้ก็ตรงกับพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีที่ตรัสรู้ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกได้ถึงนิวาสน์คือขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คำว่านิวาสน์นั้นเราแปลกันว่าบ้าน คือเป็นที่อาศัยอยู่ ในที่นี้ใช้หมายถึงขันธ์คือขันธ์ ๕ นี่แหละอันเป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เรียกว่านิวาสน์แปลว่าเป็นที่อาศัยอยู่ หากจะถามว่าเป็นที่อาศัยอยู่ของใคร เหมือนอย่างบ้านก็เป็นที่อาศัยอยู่ของบุคคล มีคนมาอาศัยอยู่ในบ้าน ปลูกบ้านอยู่ ทีนี้มาเรียกว่านิวาสน์อันหมายถึงขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ นี้เป็นที่อาศัยอยู่ของใคร

สำหรับในพระญาณที่ตรัสรู้พระญาณแรกนี้ ตรัสแสดงถึงพระองค์เองโดยใช้คำว่าฉันหรือข้าพเจ้าหรือว่าเรา ซึ่งได้อุปบัติคือเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็จุติคือว่าเคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาติอื่นเคลื่อนจากชาติอื่นนั้นไปสู่ชาติอื่นต่อไปอีก เรื่อยมาดั่งนี้ ตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติจนถึงนับชาติไม่ถ้วน และระลึกได้ว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉันได้มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ในชาตินั้นๆ มีความสุขทุกข์อย่างนี้ๆ ในชาตินั้นๆ ระลึกได้ถึงประวัติความเป็นไปของชีวิตในชาติหนึ่งๆ ด้วยตามพระญาณที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็แสดงว่าข้าพเจ้าหรือว่าฉันว่านั้น เป็นผู้ไม่ดับ และก็เป็นผู้ที่เข้าถึงชาตินี้เคลื่อนถึงชาตินี้ แล้วเข้าถึงชาตินั้นเคลื่อนถึงชาตินั้น และก็ต้องเข้าใจว่าคำว่าดับนั้นคู่กับคำว่าเกิด หรือคำว่าตายคู่กับคำว่าเกิด เกิดตายหรือว่าเกิดดับ เป็นศัพท์บัญญัติที่หมายถึงขันธ์อันเป็นที่อาศัยอยู่ อันเป็นตัวนิวาสน์หรือตัวบ้าน ขันธ์ที่อาศัยอยู่อันเป็นตัวนิวาสน์หรือเป็นตัวบ้านนี้ ในชาติหนึ่งๆ ก็สร้างขึ้นมาทีหนึ่ง เช่นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็เริ่มสร้างตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา เป็นกลละหนึ่ง แล้วก็แตกเป็นปัญจสาขา มีอายตนะบริบูรณ์ได้กำหนดก็คลอดออกมาแล้วก็เติบใหญ่ขึ้นมา จนในที่สุดขันธ์นี้ก็แตกสลาย คือตายหรือว่าดับ คำว่าเกิดตายหรือเกิดดับนี้เป็นชื่อของขันธ์ เรียกขันธ์หรือว่าบ้าน สร้างบ้านทีหนึ่งก็เกิด บ้านพังทีหนึ่งก็ดับหรือว่าตาย แล้วก็สร้างบ้านขึ้นใหม่ก็เป็นเกิด บ้านพังไปอีกทีหนึ่งก็เป็นดับหรือตาย เพราะฉะนั้นคำว่าเกิดตายก็ดีเกิดดับก็ดีเป็นชื่อหรือเป็นศัพท์บัญญัติ หมายถึงนิวาสน์เป็นที่อาศัยอยู่ แต่ว่าตัวผู้มาอาศัยเหมือนเช่นคนที่มาอยู่บ้าน ไม่ใช่ตัวบ้าน ซึ่งเรียกในพระญาณที่ ๑ ว่าข้าพเจ้าหรือว่าเราหรือว่าฉัน นี่ไม่เรียกว่าเกิดดับหรือว่าเกิดตาย แต่เรียกว่าอุปบัติ เรียกว่าจุติ อุปบัติแปลว่าเข้าถึง จุติแปลว่าเคลื่อน คือเมื่อบ้านสร้างขึ้น ผู้ที่มาอาศัยบ้านก็เข้าถึงบ้านที่สร้างขึ้นนั้น คือเข้ามาอยู่บ้านนั้น ก็เป็นอุปบัติ แล้วก็เหมือนบ้านพัง ตัวผู้อาศัยบ้านนั้นก็เคลื่อนคือย้ายออกไป เพราะว่าบ้านพังแล้วก็ต้องย้ายออกไป นี่แปลว่าจุติคือเคลื่อนซึ่งในพระญาณที่ ๑ นี้ได้เรียกผู้ที่เข้าอาศัยบ้าน อุปบัติเข้าอาศัย และจุติคือย้ายบ้าน เรียกว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉัน คือหมายถึงพระองค์เอง คือทรงระลึกถึงพระองค์เองว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้าเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็เคลื่อนจากชาตินี้ แล้วก็เข้าถึงชาตินั้น แล้วก็เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วเข้าถึงชาติโน้น แล้วเคลื่อนจากชาติโน้น เห็นทยอยมาโดยลำดับดั่งนี้ ด้วยพระญาณที่ระลึกได้ ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่าระลึกชาติหนหลังได้ แต่ว่าตามศัพท์แสงของท่านนั้น ระลึกถึงชาติคือระลึกถึงบ้านเก่าคือบ้านที่อาศัยอยู่ในปางก่อนมีความหมายดังที่กล่าวมานี้

สัตวโลกหรือสัตตภาวะ

คราวนี้มาถึงในพระญาณที่ ๒ เรียกว่า จุตูปปาตญาณ ทรงหยั่งรู้ถึงความเข้าถึงและจุติคือความเคลื่อนไปของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในพระญาณที่ ๒ นี้ แสดงว่าได้ทรงระลึกได้ถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่าสัตว์ที่ประกอบกรรมที่ชั่วไว้ คือประกอบกรรมที่เป็นทุจริตที่เป็นอกุศลที่เป็นบาปทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ กายแตกสลายทำลายไปแล้วตายไปแล้วก็อุบัติ คือว่าเข้าถึงชาติที่ชั่ว ที่เป็นทุคติคือคติที่ชั่ว ที่เป็นอบายเป็นนรกเป็นเปรตเป็นอสุรกายต่างๆ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบกรรมที่ดีไว้เป็นกุศลเป็นสุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ กายแตกทำลายตายไปแล้วก็ถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่ว่าก็ไม่ได้อยู่ยั่งยืนในสุคติในทุคตินั้น เมื่อสิ้นบาปสิ้นบุญที่ให้ไปเกิดในสุคติหรือในทุคตินั้นแล้ว ก็ต้องจุติ คือเคลื่อนจากชาติที่เป็นสุคติหรือทุคตินั้นไปตามกรรมที่กระทำไว้ต่อไปอีกดั่งนี้ ในพระญาณที่ ๒ นี้ ทรงแสดงถึงผู้ที่สร้างบ้านขึ้น เข้าถึงบ้าน และเมื่อบ้านพัง ก็เคลื่อนออกจากบ้าน ว่าเป็นสัตว์ ซึ่งคำว่าสัตว์นี้มิใช่หมายถึงสัตว์เดียรัจฉานดังที่เราเรียกเพียงอย่างเดียว แต่หมายความคลุมหมดถึงสัตวโลก จะเป็นเทวดาเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายหรือเป็นอะไร เมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติดอยู่ในโลก ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น ดังที่เรียกสัตวโลก เมื่อยังมีกิเลสที่ข้องติดอยู่กับโลก จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลกทั้งปวง ความท่องเที่ยววนเวียนเกิดตายอยู่นี้เรียกว่าสังสารวัฏ สังสาระก็แปลว่าท่องเที่ยวไป วัฏก็คือวัฏฏะ แปลว่าวนเวียน สังสารวัฏก็คือว่าท่องเที่ยววนเวียนหรือว่าวนเวียนท่องเที่ยว และคำว่าวนเวียนนี้ ท่องเที่ยวนี้ ก็พูดกันง่ายๆ ว่าวนเวียนท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย เพราะว่ามาจับความเอาง่ายๆ ตอนที่ว่าต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่ สร้างบ้านขึ้นมาก็เกิด เข้าไปอาศัยอยู่ บ้านพังขึ้นมาก็ตาย ตัวบ้านพังก็ตาย ตัวผู้อาศัยก็จุติเคลื่อนออกไป และเมื่อเคลื่อนออกไป ก็เข้าถึงชาติใหม่ แปลว่าสร้างบ้านกันใหม่ เข้าอยู่ใหม่ บ้านพังก็คือตาย ผู้อาศัยก็เคลื่อนออกไป ก็วนเวียนอยู่เท่านี้ จะเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ต้องขึ้นต้นด้วยเกิดแล้วลงท้ายด้วยดับหรือตาย หรือว่าขึ้นต้นด้วยเข้าถึงคืออุปบัติลงท้ายด้วยจุติคือเคลื่อนออกไปไม่จบสิ้น จึงเรียกว่าสังสารวัฏ ท่องเที่ยววนเวียนหรือวนเวียนท่องเที่ยวไป ในพระญาณที่ ๒ นี้เรียกว่าสัตว์ เพราะฉะนั้นตามที่เล่ามานี้ ที่แรกนั้นก็คือจิต จิตที่เป็นตัวเดิม แล้วมาถึงว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือฉัน และในพระญาณที่ ๒ ที่อ้างมานี้ก็สัตว์ซึ่งแสดงว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเดิมและดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ทุกคนก็มีจิตที่เป็นตัวเดิม แล้วก็มีตัวเราหรือตัวฉันตัวข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันทุกคน และก็มีภาวะที่เป็นสัตว์ คือเป็นผู้ข้องติดอยู่ในโลกเป็นสัตวโลก เรียกว่ามีภาวะที่เป็นจิตตัวเดิม มีภาวะที่เป็นเรา เป็นข้าพเจ้าเป็นฉัน แล้วก็มีภาวะที่เป็นสัตวโลกหรือสัตตภาวะอยู่ทุกคนในบัดนี้

๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 13 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2553 21:47:11 น.
Counter : 1240 Pageviews.  

ครั้งที่ ๙ ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายและจิต

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



จะแสดงลักษณะพุทธศาสนาเกี่ยวกับกายและจิต ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ทรงสั่งสอนจากกายและจิตอันนี้ ดังที่ได้อ้างพระพุทธภาษิตว่าทรงบัญญัติโลก เหตุเกิดโลก ความดับโลก ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้ เพราะฉะนั้นจึงมาถึงที่ตั้งแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าดังกล่าว อันได้แก่กายและจิตนี้เอง กายและจิตนี้ได้ตรัสแสดงโดยเป็นธาตุ ๖ ก็มี โดยเป็นขันธ์ ๕ ก็มี โดยเป็นกายและจิตโดยตรงก็มี โดยเป็นธาตุ ๖ นั้น ก็คือที่ตรัสแสดงไว้ในธาตุวิภังคสูตร ว่า บุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ธาตุ ๕ ข้างต้นคือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ เป็นธาตุที่รวมกันเข้ามาเรียกว่ากาย ส่วนวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ ก็คือจิต จะแสดงเรื่องจิตก่อน

จิตเป็นธาตุรู้

คำว่าจิตนี้เป็นภาษาบาลี มีคำเรียกสิ่งที่เป็นจิตใจอีก ๒ คำคือ วิญญาณ มโน หรือมนะ คำว่าจิต วิญญาณ มโน ทั้งสามนี้เอามาใช้ในภาษาไทย จนคนไทยได้ยินได้ฟังและเข้าใจ ในคำภาษาไทยว่าใจ แต่ว่ามีความต่างกันตามที่ใช้ในภาษาธรรม ในภาษาธรรมนั้นส่วนใหญ่คำว่าจิตใช้หมายถึงตัวธาตุรู้ที่เป็นภายใน คำว่าวิญญาณใช้หมายถึงวิญญาณในขันธ์ ๕ ที่เป็นขันธ์ข้อที่ ๕ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือเมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้คือเห็นรูปขึ้น ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ รู้ทางตา ดั่งนี้ เป็นต้นไป คำว่ามโนนั้นใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ คือตา หู จมูก ลิ้น กายและมโนหรือมนะคือใจ อันเป็นอายตนะข้อที่ ๖ ในพระสูตรที่ ๒ ของพระพุทธเจ้าคืออนัตตลักขณสูตร พระสูตรที่ว่าด้วยลักษณะคือเครื่องกำหนดหมายขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน ก็ทรงแสดงขันธ์ทั้ง ๕ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน และเมื่อผู้พิจารณาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา พร้อมทั้งเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็หน่ายในขันธ์ ๕ หน่ายในรูปในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เมื่อหน่ายก็สิ้นกำหนัดยินดี และเมื่อสิ้นติดใจยินดี จิตก็วิมุตติคือหลุดพ้นจากอาสวกิเลสเป็นเครื่องดองจิตทั้งหลาย อันนี้แสดงว่าจิตต่างจากวิญญาณ จิตนั้นจะเป็นผู้ที่วิมุตติหลุดพ้น และในพระสูตรที่ ๓ อาทิตตปริยายสูตร พระสูตรที่ว่าแสดงสิ่งทั้งปวงเป็นของร้อน ซึ่งสิ่งทั้งปวงนั้นก็ทรงยกเอาอายตนะภายในภายนอก อายตนะภายในก็คือตา หู จมูก ลิ้น กายและมนะคือใจ ว่าเป็นของร้อน ร้อนด้วยราคะโทสะโมหะ ร้อนด้วยความเกิดความแก่ความตายความโศกเป็นต้น และเมื่อพิจารณาเห็นว่าเป็นของร้อน จิตก็หน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิตก็วิมุตติหลุดพ้นเช่นเดียวกัน ก็แสดงว่าวิญญาณก็ดี มโนก็ดี เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเป็นอนัตตาและต้องเป็นของร้อนดังกล่าว เพราะฉะนั้นจึงต่างกับคำว่าจิต

จิตไม่มีสรีระสัณฐาน

คำว่าจิตนี้จึงมีความหมายถึงตัวธาตุรู้ที่มีอยู่ในบุคคล อันมีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่าไม่มีสรีระคือรูปร่างทรวดทรงสัณฐานอันเป็นเรื่องของรูป มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย และคำว่ามีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัยนี้ พระอาจารย์ได้อธิบายมาแต่ดั้งเดิมรวมๆ มาว่าร่างกายอันนี้ แต่ว่ามีพระอาจารย์อีกจำพวกหนึ่งมีความเห็นว่า จิตนี้ตั้งอยู่ที่หทัยวัตถุ คือว่าเนื้อหัวใจที่เต้นอยู่นี้และมาถึงสมัยต่อมาเมื่อได้พบมันสมองว่าเป็นที่รวมของประสาททั้งหลาย ก็มีคนเข้าใจว่าจิตนี้อาศัยตั้งอยู่กับมันสมอง แต่ก็มีบุคคลบางคนเข้าใจว่า ตัวมันสมองนี้เป็นตัวจิตทีเดียว ดั่งนี้ก็มีแต่ว่าถ้าพิจารณาตามพระพุทธภาษิต ที่ตรัสถึงจิตไว้โดยตรงดังที่ยกมากล่าวข้างต้นว่า จิตเป็นอสรีระ คือไม่มีรูปร่างสรีระสัณฐาน ก็จะเป็นหลักฐานที่ต้องเห็นว่าจิตกับมันสมองต่างกันเพราะมันสมองนั้นเป็นสิ่งที่มีสรีระสัณฐาน จึงเป็นรูปกายส่วนหนึ่ง แต่ว่าจิตไม่มีสรีระสัณฐานเพราะฉะนั้นจิตจึงไม่ใช่มันสมอง แต่จิตกับกายต้องอาศัยกัน เพราะฉะนั้นหากว่าจิตเป็นธรรมชาติ ที่ไม่มีสรีระสัณฐาน อาศัยอยู่กับกายนี้ จะอาศัยอยู่กับส่วนไหน ก็น่าจะเห็นว่าอาศัยอยู่กับมันสมองเป็นหลักสำคัญ เพราะมันสมองนั้นเป็นที่ตั้งของประสาททั้งหลาย ให้เกิดความรู้ทางประสาททั้งปวง และจิตนี้ที่จะรู้อะไรออกมาทางภายนอกได้ เช่นรู้รูปทางตา รู้เสียงทางหู ก็ต้องอาศัยประสาทตาอาศัยประสาทสมองเป็นต้น ซึ่งศูนย์รวมของประสาทก็รวมอยู่ที่มันสมองให้ไปดูรูปความสัมพันธ์กันของประสาทตาหูเป็นต้นกับมันสมอง ที่พิพิธภัณฑ์ของวัดนี้ ซึ่งได้มีเขียนแสดงความสัมพันธ์เอาไว้ ฉะนั้นจิตก็น่าจะอาศัยอยู่กับส่วนนี้คือมันสมอง

คำว่ามีถ้ำเป็นที่อาศัย มันสมองนั้นก็อยู่ในกระโหลกศีรษะ กระโหลกศีรษะนั้นก็มีลักษณะเป็นถ้ำเป็นคูหา เพราะฉะนั้นก็เข้ากันกับถ้อยคำคูหาคือถ้ำ มีคูหาเป็นที่อาศัย ส่วนพระอาจารย์ในสมัยก่อนที่เอาจิตไปอาศัยอยู่กับหทัยวัตถุคือเนื้อหัวใจที่เต้นอยู่นี้ ก็เนื่องด้วยเข้าใจว่าหัวใจที่เต้นอยู่นี้เป็นส่วนที่สำคัญในชีวิตของบุคคล เมื่อหัวใจยังทำงานอยู่คือเต้นอยู่ ชีวิตก็ยังคงดำรงอยู่ หยุดทำงานหรือหยุดเต้นชีวิตก็สิ้นไป จึงเอาจิตมาอาศัยอยู่กับเนื้อหัวใจ นี้เป็นข้อที่น่าพิจารณาเทียบเคียงดังกล่าว และก็น่าพิจารณาต่อไปอีกว่า อันลักษณะของจิตนั้นกำหนดได้ ว่าอาการต่างๆ ที่เนื่องมากับจิตก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีสรีระสัญฐานด้วยกันทั้งนั้น ดังเช่นว่าจิตที่แสดงอาการเป็นราคะหรือโลภะโทสะโมหะ ตัวกิเลสเหล่านี้ก็ไม่มีรูปร่างสัณฐาน หรือจิตที่แสดงอาการออกมาเป็นธรรมที่เป็นส่วนเกื้อกูล เช่นเป็นเมตตาเป็นกรุณา เมตตากรุณาก็ไม่มีสรีระสัณฐาน และจิตนี้ประกอบด้วยอารมณ์คือเรื่อง บรรดาอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายก็ไม่มีสรีระสัณฐาน อาการของจิตอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน เป็นต้นว่าความรู้ทางอายตนะ เช่นรู้รูปทางตา รู้เสียงทางหูเป็นต้น ที่เราเรียกกันว่าเห็นรูปได้ยินเสียง ความรู้คือการเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้นนั้นก็ไม่มีสรีระสัณฐาน ตัวรูปที่เห็นตัวเสียงที่ได้ยินนั้นมีสรีระสัณฐาน แต่เมื่อมาเป็นอารมณ์ของจิตมาเป็นเรื่องที่จิตคิดถึงหมกมุ่นถึงกำหนดถึง มาเป็นเรื่องที่ตั้งขึ้นในจิต ตัวเรื่องเหล่านี้ก็ไม่มีสรีระสัณฐาน

อนึ่ง ความรู้ที่บุคคลได้เรียนศึกษาตั้งแต่ต้นมา ตั้งแต่ชั้นอนุบาลชั้นประถมชั้นมัธยมถึงชั้นอุดม หรือตลอดจนถึงความรู้ที่เล่าเรียนทางพระธรรมวินัยกันนี้ ก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นที่กล่าวว่าคนนี้รู้มากเรียนมากสำเร็จถึงชั้นนั้นชั้นนี้ คนนั้นเรียนน้อยรู้น้อยสำเร็จเพียงแค่ชั้นประถมชั้นมัธยมเป็นต้น ก็ไม่มีสรีระสัณฐานที่จะนำมาชี้บอกได้ว่า ความรู้ที่ว่าน้อยหรือมากนั้นมากน้อยแค่ไหน จะเอาเครื่องชั่งตวงวัดความรู้ของบุคคลว่าเท่านั้นเท่านี้ก็ชั่งตวงวัดไม่ได้ เพราะฉะนั้นในการที่จะตรวจสอบความรู้ของบุคคลจึงต้องจัดเกณฑ์ที่จะทดสอบหรือตรวจสอบความรู้ของบุคคลขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ให้บุคคลผู้ที่เล่าเรียนนั้นๆ มาแสดงความรู้ด้วยการเขียนคำตอบก็ดี การแสดงข้อค้นคว้าก็ดีเป็นต้น แล้วก็เอาใบตอบเหล่านั้นมาตรวจอีกทีหนึ่ง แล้วก็ให้คะแนนกันไปให้ชั้นกันไปว่าสำเร็จเป็นชั้นนั้นชั้นนี้เท่านั้นเท่านี้ ทั้งนี้เพราะความรู้นั้นไม่มีสรีระสัณฐานที่จะมาวัดชั่งกันได้เหมือนอย่างวัตถุ และมันสมองนั้นเป็นกายส่วนหนึ่งเพราะฉะนั้นโรคของมันสมองก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แต่เราก็เรียกกันว่าโรคจิต แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่โรคจิตเป็นโรคสมอง เพราะฉะนั้นจึงมีการรักษากันเป็นโรคอย่างหนึ่งของร่างกาย แต่เป็นโรคของส่วนที่เป็นมันสมอง จึงมีการแสดงออกมาทางประสาททั้งหลาย และจิตใจก็อยู่ใต้อำนาจของประสาท เพราะฉะนั้นจึงแสดงออกไปเป็นอาการที่วิปริตที่เราเรียกกันว่าเสียจริตและเรียกกันว่าโรคจิต แต่อันที่จริงเรียกว่าโรคจิตนั้นไม่ถูก โรคเสียจริตนั้นพอได้ ต้องเป็นโรคสมอง โรคประสาท แต่ว่าโรคของจิตโดยตรงนั้นก็คือกิเลสนั้นเอง อันได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากและบรรดากิเลสทั้งปวง เป็นต้นว่าราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ เหล่านี้เป็นโรคจิตโดยตรงซึ่งตั้งขึ้นในอารมณ์ เพราะจิตนี้เองไปยึดถืออารมณ์ แล้วก็ยินดียินร้ายหลงงมงายไปในอารมณ์ต่างๆ แล้วก็เป็นตัณหา เป็นราคะหรือโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ นี่เป็นโรคจิตโดยตรงอันทำให้เกิดทุกข์ใจต่างๆ เดือดร้อนใจต่างๆ เพราะฉะนั้นบรรดาคนที่มีกิเลสอยู่ยังละกิเลสไม่ได้ก็เรียกว่ามีโรคจิตทั้งนั้น คือโรคกิเลสนั่นแหละเป็นโรคจิตทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงไปเข้าเรื่องที่พระพุทธเจ้าต้องทรงรักษา ถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตให้ได้เสียก่อน ไม่ต้องไปเสียเวลาที่จะสอบสวนอะไรต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ด้วยการที่ต้องรีบทรงแสดงธรรมให้บุคคลเกิดปัญญาอันเป็นยาธรรมเรียกว่าธรรมโอสถที่จะรักษาโรคจิตคือบรรดากิเลสทั้งหลาย

จิตเป็นวิญญาณธาตุ

เพราะฉะนั้น ธรรมโอสถคือธรรมนั้นเองที่เป็นยารักษาโรคกิเลสของบุคคล สำหรับที่จะดับตัณหา ดับราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ ตามที่ได้ยกมากล่าวนี้ก็เพื่อแสดงว่า ในบุคคลเรานี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าจิต ซึ่งไม่มีสรีระสัณฐาน อาศัยอยู่กับกายอันนี้ ซึ่งรวมเข้าก็เป็นธาตุ ๖ และจิตนี้ก็เป็นวิญญาณธาตุ และธาตุอีก ๕ ข้อที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็รวมกันเข้าเป็นกาย วิญญาณธาตุก็เป็นจิต กายและจิตนี้อาศัยกันอยู่ จึงเป็นบุคคล ถ้าหากว่ากายแตกทำลาย จิตก็ต้องเคลื่อนออกไป เพราะฉะนั้นเมื่อกายรวมเข้ามา ธาตุดินน้ำลมไฟอากาศรวมเข้ามาตั้งต้นแต่ในครรภ์ของมารดา จิตก็ปฏิสนธิเรียกว่าปฏิสนธิจิต และในที่สุดเมื่อร่างกายนี้แตกสลาย คือธาตุที่รวมกันเข้านี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศแตกสลาย จิตก็เคลื่อนออกไปเรียกว่าจุติจิต ทีแรกก็เป็นปฏิสนธิจิต จิตปฏิสนธิประกอบเข้ามา และเมื่อกายแตกสลายจิตก็เคลื่อนเรียกว่าจุติจิต จิตเคลื่อนหรือความเคลื่อนของจิตในที่สุด

ในบัดนี้คนมักเข้าใจผิดไปเรียกเอาปฏิสนธิว่าจุติกันมาก เช่นว่าจุติในที่นั่นที่นี่คือเกิดในที่นั่นที่นี่ ความจริงไม่ใช่เกิดจุติคือเคลื่อนซึ่งเราเรียกกันว่าตาย เมื่อเกิดในที่นั่นที่นี่เราเรียกว่าปฏิสนธิ แต่ว่าเป็นคำที่ใช้สำหรับจิตเท่านั้น จิตปฏิสนธิและจุติจิตเคลื่อนออกไปในที่สุด

จิตนี้ท่านแสดงไว้ในตำราศัพท์ รวมเข้าก็มีความหมาย ๓ อย่าง คือ
หนึ่ง คิดหรือรู้
สอง สั่งสม และ
สาม วิจิตร คือแตกต่างกันหลายอย่างหลายประการ

๑๙ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2553 8:07:35 น.
Counter : 1576 Pageviews.  

ครั้งที่ ๘ ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



พระพุทธคุณ

พระรัตนตรัย รัตนะทั้ง ๓ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระบรมศาสดาในพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้านี้มิใช่เป็นพระนามเดิมของบุคคล คือสิทธัตถราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แต่ว่าเป็นเนมิตกนาม คือเป็นพระนามซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งความตรัสรู้ของสิทธัตถราชกุมาร เพราะคำว่าพุทธะแปลว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ผู้ปลุกให้ตื่น จึงมาใช้นามว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธะ ไม่ใช้พระนามเดิมว่าสิทธัตถะ เมื่อเรียกว่าสิทธัตถราชกุมารและเมื่อเรียกว่าพระพุทธเจ้า ความรู้สึกของบุคคลผู้เรียกย่อมต่างกัน ฉะนั้นจึงควรจะรู้จักลักษณะของพระพุทธะผู้พระบรมศาสดาในพุทธศาสนา

พระพุทธคุณซึ่งเป็นเครื่องแสดงลักษณะพิเศษที่เราสวดกันอยู่ก็คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อรหํ ก็คือพระอรหังหรืออรหันต์ ผู้ไกลกิเลส ผู้ควรไหว้บูชา สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้เป็นพระพุทธคุณ เป็นนามที่แสดงลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าอยู่ในถ้อยคำอย่างสมบูรณ์ สัมมา ก็แปลว่า โดยชอบ สัม ก็แปลว่าเอง พุทธ ก็คือตรัสรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือตรัสรู้ชอบเอง เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำแสดงว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้องสมบูรณ์ และข้อนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้เองแล้วในปฐมเทศนา ซึ่งได้เคยย่อความมากล่าวแล้ว ซึ่งในปฐมเทศนานั้นก็ได้แสดงไว้ชัดเจนตามเหตุและผลของการตรัสรู้ คือได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ก็โดยที่ตั้งแต่เสด็จออกผนวช ก็ปฏิบัติรพระองค์เองอยู่ในศีล มีสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ซึ่งเป็นส่วนศีลอยู่ และครั้นเมื่อได้ทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่เคยทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมารดังกล่าวนั้น ก็ทรงเห็นว่าทางนั้นจะเป็นทางแห่งสมาธิอันถูกต้อง จึงได้ทรงเริ่มจับปฏิบัติทำสมาธิไปตามทางนั้นกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าได้ทรงได้สัมมาสติได้สัมมาสมาธิขึ้นโดยลำดับ สัมมาวายามะเพียรชอบนั้นเล่าก็ได้ทรงพากเพียรอย่างยิ่งมาโดยลำดับแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรนั้นก็ยังไม่เป็นสัมมาโดยแท้ คือยังไม่ชอบโดยแท้ แต่ครั้นเมื่อได้จับทางที่ถูกของจิตใจ เริ่มพบทางที่เป็นสัมมาสมาธิ มีสัมมาสติ ความเพียรก็เป็นสัมมาคือโดยชอบขึ้น ฉะนั้นจึงได้มีจักขุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้ อาโลกคือความสว่าง ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อนในอริยสัจทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คำนี้เองคือคำว่าจักษุดวงตาผุดขึ้นเป็นต้น ก็เป็นอันว่าทรงได้สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ นั่นเป็นตัวปัญญาในธรรมที่มิได้เคยสดับมาแล้วก่อนคำนี้ก็ชี้ว่ามิได้ทรงฟังมาจากใคร ผุดขึ้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่ผุดขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นแก่พระองค์เอง ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนมาก่อน อันนี้เป็นความตรัสรู้เองและโดยชอบคือถูกต้อง นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ความตรัสรู้ของพระองค์ผุดขึ้นเองในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อนคืออริยสัจทั้ง ๔ จึงไม่ทรงมีเทวดาไม่ทรงมีมนุษย์เป็นครูบาอาจารย์มาบอกกล่าวไว้ก่อน เป็นปัญญาผุดขึ้นเอง จึงเป็นสัมมาสัมพุทโธผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และความตรัสรู้เองโดยชอบนี้ก็ปรากฏแก่พระองค์เอง และก็มาปรากฏแก่ผู้อื่นและแก่โลก ตั้งแต่เมื่อพระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นเมื่อได้ฟังปฐมเทศนาจบแล้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้จึงเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตั้งพุทธศาสนา แสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ โดยที่มีแสดงพุทธไว้ ๓ คือสัมมาสัมพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในเมื่อถึงพระสงฆ์

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายจึงมิใช่เป็นศิษย์ของใครทั้งเทวดาทั้งมนุษย์ แต่ทรงเป็นพระสยัมภูคือเป็นผู้เป็นเอง ผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ความตรัสรู้ขึ้นเองนั้นเล่าก็ด้วยได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ทรงปฏิบัติมาโดยสมบูรณ์ จึงมีปัญญาผุดขึ้นแก่พระองค์เองในอริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น อันปัญญาที่ผุดขึ้นเองนี้ ในเมื่อจับทางที่ถูกได้ ย่อมมีถึงในสมัยปัจจุบัน ดังที่ปรากฏแก่นัดคิดค้นซึ่งได้พบความรู้ซึ่งใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบันเป็นอันมาก ก็คล้ายกัน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในเมื่อจับทางปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้นอันความรู้ที่ผุดขึ้นเองนี้จึงเป็นสิ่งที่มีได้แก่นักปฏิบัติคิดค้นที่จับทางถูก จึงได้พบความรู้ที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ พระพุทธเจ้ามิได้เป็นเพียงผู้ที่ตรัสรู้เองชอบเท่านั้น และมิได้เป็นศิษย์ของเทวดาและมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์อีกด้วย ดังพระพุทธคุณบทที่ว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก คำว่าเอกก็คือพระองค์เดียวซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ไม่มีใครมากระซิบบอกหรือไม่มีใครมาบอกธรรมแก่พระองค์ จะเป็นเทวดาก็ตามเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พระองค์กลับทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้า

พระธรรมคุณ

คราวนี้มาถึงพระธรรม ลักษณะของพระธรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ตั้งต้นแต่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ดังที่ยกขึ้นแสดงในปฐมเทศนาก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และในโลกจะรู้จักพระธรรมก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงนำพระธรรมมาแสดงสั่งสอน เพราะฉะนั้นพระธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งต้นแต่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จึงได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมที่กำหนดได้แน่นอนด้วยปัญญา คือข้อที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ข้อนี้เป็นสัจจะคือความจริงที่ตั้งอยู่ จึงเรียกว่าธรรมฐิติ พระตถาคตพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น ข้อนี้ก็ตั้งอยู่ คือข้อที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ว่าพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วจึงนำมาเปิดเผยแสดงกระทำให้แจ้งให้โลกได้รู้จักความจริงข้อนี้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นตัวความจริงที่ตั้งอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดมา พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นความจริงข้อนี้ก็ยังตั้งอยู่ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้มาตรัสรู้ความจริงข้อนี้อันเป็นความจริงที่ตั้งอยู่นั้นเอง แต่อาศัยที่ความจริงที่ตั้งอยู่นี้เป็นธรรมนิยาม คือกำหนดได้ด้วยปัญญาให้รู้จักได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสรู้ได้ และเมื่อตรัสรู้แล้วก็นำมาแสดงสั่งสอนได้ เพราะฉะนั้นธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงจับตั้งแต่ธรรมฐิติ ความจริงที่ตั้งอยู่ที่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลไม่มีเวลา ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นคือมาตรัสรู้ ธรรมฐิตินี้ก็ยังเป็นธรรมฐิติคือยังตั้งอยู่อย่างนี้นั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นผู้ที่มาตรัสรู้พระธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว ความจริงที่ดำรงอยู่แล้วนี้แหละ แล้วก็ทรงนำมาแสดงเปิดเผยชี้แจงแสดงให้แจ้งให้โลกเข้าใจ และธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงสั่งสอนนี้ ก็ทรงแสดงสั่งสอนในบุคคลนี้เองไม่ใช่ในที่อื่น ดังที่มีแสดงไว้ในพระสูตร (โรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๘๙) หนึ่งว่า ได้ทรงบัญญัติโลก บัญญัติเหตุเกิดโลก บัญญัติความดับโลก บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ท่านแสดงว่าหมายถึงทุกข์ที่แสดงโดยทั่วไป คือทรงแสดงให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คืออริยสัจ ๔ นี้เอง ทรงแสดงที่กายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจของทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้ทรงแสดงที่ไหน เมื่อทรงแสดงภายในดั่งนี้ ทุกคนจึงสามารถรู้ได้ และก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นจริงได้และปฏิบัติได้ เพราะว่าธรรมที่ทรงบัญญัติดังกล่าวนี้ โลกหรือทุกข์ก็เป็นผล เหตุเกิดโลกหรือเกิดทุกข์ก็เป็นเหตุ ความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นผล ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นเหตุ รวมความก็เป็นผลหรือเหตุในด้านเกิดทุกข์หรือเกิดโลก เป็นผลและเป็นเหตุในด้านดับทุกข์และดับโลก ทั้งหมดนี้อยู่ในกายยาววาหนึ่งซึ่งมีสัญญามีใจครองของทุกๆ คน เพราะฉะนั้นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจึงมี ๓ อย่างคือสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้สอนมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติได้รับผลสมจริง

ประการแรกอันทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ก็เป็นผลและเหตุที่รู้ยิ่งเห็นจริงได้ เพราะมีอยู่ในตนเองในบุคคลนี้เอง ดับทุกข์และปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ผลและเหตุส่วนนี้ก็ยิ่งรู้เห็นจริงได้และก็เป็นเหตุเป็นผล โดยในอริยสัจนี้ยกผลขึ้นก่อนแล้วจึงยกเหตุ เป็นผลและเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้แล้วก็ปฏิบัติได้ คือปฏิบัติในการที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ที่จะละเหตุเกิดทุกข์ จะทำให้แจ้งความดับทุกข์ และที่จะปฏิบัติอบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงสั่งสอนอยู่ในภายใน ปฏิบัติได้อยู่ในภายใน รู้ยิ่งเห็นจริงได้เองทุกๆ คน มีเหตุตรองตามให้เห็นได้จริงทุกๆ คน ปฏิบัติได้ผลสมจริงทุกๆ คน เพราะไม่ได้สอนในภายนอก สอนในภายใน แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นได้ปฏิบัติได้ นี้เป็นลักษณะพิเศษของธรรมของพระพุทธเจ้า อีกประการหนึ่งพุทธศาสนานั้นได้แสดงธรรมที่เป็นเหตุและผล ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมคือปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น หากจะจับตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นเหตุและผลย้อนขึ้นไป ต้นเหตุก็จะพบอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นตัวเหตุที่ให้เกิดสังขารเป็นต้น และทุกๆ อย่างเป็นอันดับมาเพราะฉะนั้นผู้สร้างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็คือตัวอวิชชาคือความไม่รู้ และสืบมาเป็นตัณหาเป็นอุปาทานเป็นกรรม ฉะนั้นจะสิ้นทุกข์ได้ก็ต้องทำลายผู้สร้าง คืออวิชชาเสีย เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ดับสังขารดับตัณหาอุปาทานกรรมและทุกๆ อย่าง สิ้นทุกข์ได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งโยงกันไปอย่างละเอียด รวมความเข้าแล้วก็คือว่าตัวผู้สร้างใหญ่ก็คืออวิชชา ซึ่งทางพุทธศาสนานั้นต้องละต้องดับเสียจึงจะพ้นทุกข์ได้ ก็ดับได้ด้วยวิชชาคือความรู้ก็ต้องปฏิบัติอบรมวิชชาคือความรู้ให้เกิดผุดขึ้นมา

พระสังฆคุณ

และมาถึงพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่ผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นสูงสุดก็คือเป็นผู้ได้ปัญญาคือความรู้ในอริยสัจ ๔ ดับกิเลสและกองทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ว่าต่างจากพระพุทธเจ้าโดยที่มิได้ตรัสรู้เอง เป็นผู้ตรัสรู้ตาม คือเมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามก็ได้ปัญญารู้แจ้งขึ้น ตั้งต้นแต่ได้ปัญญาเห็นธรรม จนถึงตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ ตามพระพุทธเจ้า ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้เองชอบและทรงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงได้ปัญญาที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ตามพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เป็นผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกัน แต่ว่ารู้ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ด้วยพระองค์เองและทรงแสดงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงมิใช่เป็นผู้ที่มีแต่ศรัทธาคือความเชื่อแต่ไม่มีปัญญาคือความรู้ แต่ว่ามีปัญญาคือความรู้ได้ด้วยตนเอง คือรู้ตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าเป็นผู้รู้ตามพระองค์ เป็นสาวกของพระองค์ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกัน จึงได้เรียกพระสงฆ์ว่าอนุพุทธคือเป็นผู้รู้ตาม

พระพุทธนั้นมี ๓ คือพระสัมมาสัมพุทธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือเป็นผู้ที่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น พระปัจเจกพุทธคือพระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แต่จำเพาะพระองค์ ไม่สั่งสอนใครให้รู้ตาม ไม่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น และพระอนุพุทธ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่พระสงฆ์สาวกผู้ที่ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ นี้เป็นลักษณะแห่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2553 13:20:45 น.
Counter : 1032 Pageviews.  

ครั้งที่ ๗ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ (๒)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ญาณในอริยสัจ ๔

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ๔ บทคือ ๑. ทุกข์ ๒. ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ ๓. ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ ๔. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้เรียกกันว่าอริยสัจ ก็เรียกตามพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสไว้ในปฐมเทศนา คือเทศนาทีแรกของพระองค์ ที่ตรัสว่าพระตถาคตคือพระองค์ได้เว้นทางสุดโต่ง ๒ ทาง คือทางกามสุขัลลิกานุโยค ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุขสดชื่นในกามและทางอัตตกิลมถานุโยค ทางทรมานตนให้ลำบาก ได้ทรงปฏิบัติอยู่ในทางอันเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ไม่เกี่ยวข้องด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น ก็คือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิ ความตั้งใจมั่นชอบเป็นที่สุด จึงได้ทรงเกิดญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และมรรคหรือทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ญาณคือความหยั่งรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์นั้นเป็นญาณที่บังเกิดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยสดับแล้วมาก่อน ก็คืออริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าว โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒

สัจจญาณ

มีวนรอบ ๓ ก็คือวนรอบในสัจจะทั้ง ๔ นี้โดยเป็นสัจจญาณ คือความหยั่งรู้ว่าจริง คือนี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์จริง นี้เป็นมรรคคือทางดับทุกข์จริง ข้อที่ว่านี้เป็นทุกข์จริง ก็คือว่า ความเกิดเป็นทุกข์จริง ความแก่เป็นทุกข์จริง ความตายเป็นทุกข์จริง ความโศกคือความแห้งใจ ความปริเทวะคือความรัญจวนคร่ำครวญใจ ทุกขะคือความไม่สบายกาย โทมนัสสะคือความไม่สบายใจ อุปายาสะ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์จริง ความประจวบกับสิ่งคือสัตว์และสังขารไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รักเป็นทุกข์จริง ความปรารถนามิได้สมหวังเป็นทุกข์จริง และกล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ คือรูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ เป็นทุกข์จริง ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์นั้นก็คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันประกอบด้วยนันทิคือความเพลิน ราคะคือความติดใจยินดี เพลิดเพลินยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ จำแนกออกเป็น กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพคือความเป็นนั่นเป็นนี่ วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง ดับตัณหาเสียได้ ทุกข์ดับไปหมด นี้เป็นความดับทุกข์จริง มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบดังกล่าวเป็นต้นนั้น เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง พระญาณคือความหยั่งรู้ว่า นี้เป็นทุกข์จริง นี้เป็นเหตุเกิดทุกข์จริง นี้เป็นความดับทุกข์จริง นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง นี้เป็นสัจจญาณ นี่ก็วนไปในสัจจะทั้ง ๔ รอบหนึ่ง

กิจจญาณ

กิจจญาณ ความหยั่งรู้ในกิจคือข้อที่พึงกระทำ ได้เกิดพระญาณคือความหยั่งรู้ขึ้นว่าทุกข์เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้อันเรียกว่าปริญญา สมุทัยเป็นข้อที่ควรละอันเรียกว่าปหานะ ความดับทุกข์เป็นข้อที่พึงกระทำให้แจ้งอันเรียกว่าสัจฉิกรณะ มรรคคือข้อที่ควรอบรมปฏิบัติให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอันเรียกว่าภาวนา นี้เป็นกิจที่พึงกระทำในสัจจะทั้ง ๔ เรียกว่ากิจจญาณ

กตญาณ

และกตญาณ คือความหยั่งรู้กิจทั้ง ๔ นั้นว่าได้กระทำแล้ว คือว่าทุกข์นั้นพระองค์ก็ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยคือตัณหาพระองค์ก็ทรงละได้แล้ว นิโรธคือความดับทุกข์พระองค์ก็ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นครบถ้วนแล้ว เรียกว่ากตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ว่ากิจได้กระทำเสร็จแล้ว

เพราะฉะนั้นพระญาณทั้ง ๓ สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ในอริยสัจทั้ง ๔ รวมเข้าก็เป็นอาการ ๑๒ จึงเรียกวามีวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ วนรอบไปโดยเป็นสัจจญาณ กิจจญาณ และกตญาณในอริยสัจทั้ง ๔ ก็เป็น ๑๒ เรียกว่ามีอาการ ๑๒ พระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้บังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน เพราะเหตุที่พระองค์ได้บรรลุพระญาณคือความหยั่งรู้ ซึ่งมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ นี้ ในอริยสัจทั้ง ๔ สมบูรณ์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งเป็นยอดเยี่ยมแล้ว พระองค์สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์พระองค์ได้อยู่จบแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อที่จะเป็นอย่างนี้อีก ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้า

อธิบายอริยสัจ

นี้เป็นเนื้อความในปฐมเทศนาที่พระองค์แสดงทีแรก เพราะฉะนั้นข้อความทั้ง ๔ บทนี้จึงได้เรียกว่าอริยสัจตามที่พระองค์ได้ทรงเรียกในปฐมเทศนานั้น และคำว่าอริยะนั้น แปลกันว่าประเสริฐ แปลกันว่าเจริญ เดิมก็ใช้เป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ ดังที่มีแสดงในพุทธประวัติตอนที่แสดงประวัติของประเทศอินเดีย คือชมพูทวีปในครั้งนั้น ว่าเดิมเป็นเผ่าของมิลักขะหรือทัสสยุ และต่อมาได้มีชนเผ่าอริยะหรือเรียกเป็นภาษาสันสกฤตว่าอาริยะได้อพยพเข้ามาอยู่ โดยที่พวกอริยะหรืออาริยะนี้มีความเจริญกว่า พวกทัสสยุหรือมิลักขะก็ต้องกลายเป็นทาสไป พวกอริยะหรืออาริยะก็ได้เป็นผู้ปกครองประเทศถิ่นสืบต่อมา เดิมเป็นชื่อของเผ่าพันธุ์ที่มีความเจริญดังที่แสดงมา และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ก็ได้ตรัสเรียกสัจจะคือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ทั้ง ๔ บทนั้นว่าอริยสัจในปฐมเทศนา เพราะฉะนั้นพระอาจารย์จึงได้แปลคำว่าอริยสัจไว้ว่า สัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นได้รู้แจ้งแทงตลอด คือได้ตรัสรู้สัจจะของบุคคลผู้เป็นอริยะ คือพระตถาคตผู้เป็นอริยะ สัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะว่าเป็นสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายได้ตรัสรู้ สัจจะที่เป็นอริยะเอง คือหมายความว่าเป็นสัจจะที่แท้ เป็นสัจจะที่ไม่ผิด เป็นสัจจะที่กล่าวไม่ผิด เป็นสัจจะที่ไม่เป็นอย่างอื่น คือเป็นจริงอยู่โดยแท้จริง ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น พระอาจารย์ได้อธิบายคำแปลไว้อย่างนี้ และหากจะพิจารณาดู ถ้าแปลว่าสัจจะที่พระอริยะทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นตรัสรู้ หรือว่าสัจจะของพระตถาคตพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะ หรือว่าสัจจะที่ให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ เพราะพระอริยะเหล่านั้นตรัสรู้ก็เข้าใจ พิจารณาดูไม่ขัดข้อง แต่คำแปลที่ว่าสัจจะเป็นอริยะเอง ถ้าอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายว่า ที่เป็นอริยะเองนั้น อริยะในคำนี้หมายถึงจริงแท้ไม่ผิด ไม่มีที่จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นก็เข้าใจ แต่ว่าถ้าแปลว่าเจริญ แปลว่าประเสริฐ ก็น่าคิดเหมือนกัน ว่าสำหรับความดับทุกข์และสำหรับมรรคนั้นก็เป็นอันว่าเจริญประเสริฐจริง แต่ว่าตัวทุกข์กับตัวสมุทัยนั้นเจริญประเสริฐได้อย่างไร เพราะฉะนั้นจึงน่าจะทำความเข้าใจได้ ว่าจะต้องอธิบายอย่างที่ท่านอธิบายคือสัจจะเป็นอริยะเอง อริยะเองในที่นี้ก็ต้องหมายความว่าจริงแท้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ไม่ได้หมายความว่าประเสริฐเจริญ แต่หากว่าจะหมายความว่าประเสริฐเจริญก็จะต้องเข้าใจ ว่าเพราะเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในญาณคือความหยั่งรู้ที่เป็นตัวปัญญา ดังที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนาว่าเป็นสัจจะที่บังเกิดขึ้นในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าข้อนี้จริง คือเป็นทุกข์จริง เป็นสมุทัยจริง เป็นนิโรธจริง เป็นมรรคจริง และทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง มรรคเป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น และทุกข์พระองค์ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยพระองค์ละได้แล้ว นิโรธพระองค์ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคพระองค์ได้ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้ว ที่ปรากฏในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ

ฉะนั้นทุกข์ที่จะเป็นอริยสัจนั้นจะต้องเป็นทุกข์ที่ได้ปัญญาหยั่งรู้ว่านี้เป็นทุกข์จริง ทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ และทุกข์เป็นข้อที่กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจขึ้นก็เพราะได้ปัญญาหยั่งรู้ ว่านี้เป็นสมุทัยจริง สมุทัยควรละ และสมุทัยละได้แล้ว นิโรธก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะได้มีปัญญาหยั่งรู้ ว่านิโรธเป็นความดับทุกข์จริง นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง นิโรธเป็นข้อที่กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็เหมือนกัน จะเป็นอริยสัจก็เพราะบังเกิดขึ้นในญาณปัญญาที่หยั่งรู้ ว่านี้เป็นมรรค มรรคควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น มรรคเป็นข้อที่ปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นแล้วให้เป็นขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นอริยสัจ จะแปลว่าเป็นสัจจะที่เจริญที่ประเสริฐก็คงได้เหมือนกัน อันหมายถึงว่าเป็นอริยสัจในปัญญาที่ตรัสรู้ของพระผู้รู้ดังกล่าวนั้น ถ้าไม่เป็นสัจจะบังเกิดขึ้นในปัญญาของผู้รู้ดังกล่าวนั้น แม้ว่านิโรธก็ดี มรรคก็ดีก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง เหมือนอย่างว่าสัจจะในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเป็นอริยสัจ และในพระธรรมที่ทรงสั่งสอนก็เป็นอริยสัจ แต่ว่าสำหรับในปัญญาที่บุคคลรู้อยู่ด้วยปัญญาที่เป็นสามัญ คือยังไม่บรรลุมรรคผลอย่างที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมทั่วไปรู้กันอยู่ หมายความว่ารู้กันอยู่ด้วยปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ว่ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ถ้ารู้ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้าและของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย อันประกอบด้วยวนรอบ ๓ อาการ ๑๒ นั้น นั้นเป็นอริยสัจในปัญญาของท่าน แต่ว่ารู้ด้วยปัญญาของผู้ศึกษาปฏิบัติที่ยังไม่ได้เป็นอริยบุคคล คือรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ก็ยังไม่เป็นอริยสัจอยู่นั่นเอง เพราะว่ายังไม่ได้ญาณที่วนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดังพระพุทธเจ้านั้น คือยังไม่แล้ว ทุกข์ก็ยังไม่ได้กำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็ยังละไม่ได้แล้ว นิโรธก็ยังไม่ได้กระทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็ยังไม่ได้ปฏิบัติให้มีให้เป็นขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อยังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจของแต่ละบุคคล คือเป็นแค่สัจจะเท่าที่ปัญญาของบุคคลจะรู้ ต่อเมื่อมีญาณปัญญาที่มีรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ดั่งนั้นแหละ คือว่าแล้ว จึงจะเป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ถ้ายังไม่แล้วก็แปลว่ายังไม่เป็นอริยสัจทั้ง ๔ บท ยังเป็นสัจจะคือความจริงอยู่เท่าที่ศึกษาและปฏิบัติได้ของแต่ละบุคคล

กิจในอริยสัจ ๔

กิจในอริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจ คือว่าทุกข์เป็นข้อที่ควรกำหนดรู้ สมุทัยเป็นข้อที่ควรละ นิโรธเป็นข้อที่ควรกระทำให้แจ้ง และมรรคเป็นข้อที่ควรอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น นี้เป็นกิจในอริยสัจทั้ง ๔ ความกำหนดรู้ในข้อที่ควรกำหนดรู้นั้นเรียกว่าปริญญา ละในข้อที่ควรละนั้นเรียกว่าปหานะ กระทำให้แจ้งในข้อที่ควรกระทำให้แจ้งนั้นเรียกว่าสัจฉิกรณะ ปฏิบัติอบรมในข้อที่ควรปฏิบัติอบรมนั้นเรียกว่าภาวนา ปริญญาพึงปฏิบัติในข้อทุกข์ ปหานะพึงปฏิบัติในข้อสมุทัย สัจฉิกรณะปฏิบัติในข้อทุกขนิโรธ ภาวนาปฏิบัติในข้อมรรค ได้มีพุทธภาษิตแสดงไว้ ว่ากุศลธรรมทั้งหลายสงเคราะห์เข้าในอริยสัจ ๔ ทั้งหมด อริยสัจทั้ง ๔ เปรียบเหมือนอย่างว่ารอยเท้าช้าง กุศลธรรมทั้งหลายเปรียบเหมือนอย่างรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลก รอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายในโลกนั้นย่อมรวมเข้าได้ในรอยเท้าช้างฉันใดก็ดี บรรดากุศลธรรมทั้งหลายก็รวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ ฉันนั้น คำนี้ต้องเข้าใจว่า ที่เรียกว่ากุศลธรรมก็หมายถึงว่าตัวอริยสัจที่เกิดจากปัญญา เกิดจากญาณคือความหยั่งรู้ความตรัสรู้ จึงจะเรียกว่าอริยสัจ เพราะฉะนั้นจึงมุ่งถึงตัวญาณและปัญญา เมื่อเป็นตัวญาณและปัญญาก็เป็นกุศลธรรมทั้งหมด แต่ถ้าหากจะแยกจำเพาะบท ทุกข์และสมุทัยนั้นเป็นฝ่ายทุกข์ นิโรธกับมรรคเป็นฝ่ายดับทุกข์ ก็จะต้องใช้คำให้เหมาะสมให้คลุมได้ทั้งหมด ว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล ทั้งที่เป็นฝ่ายอกุศล ทั้งที่เป็นฝ่ายอพยากตธรรม ธรรมที่เป็นกลางๆ กุศลก็ไม่ใช่ อกุศลก็ไม่ใช่ ดังที่มีแสดงไว้ในอภิธรรมว่า กุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอกุศล อพฺยากตา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายเป็นอพยากฤต คือเป็นกลางๆ กุศลก็ไม่ใช่ อกุศลก็ไม่ใช่ ธรรมทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ทั้งหมด ทั้งที่เป็นหมวดกุศลธรรม หมวดอกุศลธรรม หมวดอพยากตธรรมดังกล่าวนั้น ก็สงเคราะห์เข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ทั้งสิ้น ดังจะพึงเห็นได้ว่า ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุเป็นต้น โดยตรัสชี้ว่าเป็น อนิจจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ดังเช่นที่เราสวดกันในการทำวัตรเช้า ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนโดยมากเป็นพหุลานุสาสนี ย่อมเป็นไปมากว่า รูปํ อนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา อนิจฺจา เวทนาไม่เที่ยง สญฺญา อนิจฺจา สัญญาไม่เที่ยง สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญฺญาณํ อนิจฺจํ วิญญาณไม่เที่ยง รูปํ อนตฺตา รูปเป็นอนัตตา เวทนา อนตฺตา เวทนาเป็นอนัตตา สญฺญา อนตฺตา สัญญาเป็นอนัตตา สงฺขารา อนตฺตา สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา วิญฺญาณํ อนตฺตา วิญญาณเป็นอนัตตา สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เหล่านี้เป็นข้อที่ตรัสสอนให้กำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ กำหนดรู้ว่าเป็นอนัตตา นี่เรียกว่าปริญญา สรุปเข้าในข้อทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์

คำสอนที่ทรงแสดงถึงบรรดากิเลสทั้งปวง ยกเอาอกุศลมูล ๓ คือราคะหรือโลภะโทสะโมหะก็ตาม ยกเอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากก็ตาม หรือกิเลสข้อใดข้อหนึ่งหมวดใดหมวดหนึ่ง ตลอดจนถึงบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายที่ประพฤติด้วยอำนาจของกิเลส นี่เป็นข้อที่ควรละทั้งหมด รวมเข้าในหมวดสมุทัย ปหานะ

คำสั่งสอนของพระองค์ที่แสดงถึงผลของการปฏิบัติธรรม เป็นวิมุตติ เป็นวิสุทธิ เป็นนิพพาน เป็นสันติ ดังที่แสดงไว้ในหมวดอนุสสติ ๑๐ อุปสมานุสติ ระลึกถึงความสงบระงับหรือในข้อทุกขนิโรธ อริยสัจทั้ง ๔ นี้เป็นหมวดธรรมที่ตรัสสอนให้กระทำให้แจ้ง สัจฉิกรณะ

คำสั่งสอนของพระองค์ที่เป็นธรรมปฏิบัติทั้งหมด อย่างในธรรมวิภาค นวโกวาท ก็ตั้งต้นด้วยทุกะหมวด ๒ ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง สติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว เป็นต้น อันรวมเข้าในไตรสิกขาก็ดี มรรคมีองค์ ๘ ก็ดี เหล่านี้เป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นทั้งนั้น รวมเข้าในข้อมรรค เป็นข้อที่ควรปฏิบัติอบรมทำให้มีขึ้นทำให้เป็นขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า กิจที่พึงปฏิบัติในพุทธศาสนานั้นก็มี ๔ ข้อ ถ้าเกี่ยวแก่ทุกข์ก็ให้กำหนดรู้ ถ้าสมุทัยก็ให้ละ ถ้าเกี่ยวกับนิโรธก็ให้กระทำให้แจ้ง ถ้าเกี่ยวกับมรรคก็ให้ปฏิบัติอบรมทำให้มีขึ้นทำให้เป็นขึ้น เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ชื่อว่าปฏิบัติให้เหมาะ เรียกว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมในพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมทรงบัญญัติวินัยทั้งหมดก็อนุวัตรตามหลักปฏิบัติทั้ง ๔ ข้อนี้ทั้งนั้น แม้ในข้อที่เราไม่น่าจะคิดว่ามีความสัมพันธ์ถึง ดังเช่นว่าในพุทธศาสนานั้นไม่สอนให้บุคคลทำอัตวินิบาตกรรมคือฆ่าตัวตาย ก็เพราะอะไร ก็เพราะสิ่งที่ฆ่าคือชีวิต ชีวิตร่างกายนี้ก็คือขันธ์ ๕ ซึ่งขันธ์ ๕ นั้นก็รวมอยู่ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ดังที่ตรัสย่อไว้ในข้อสุดท้ายของทุกข์ว่า กล่าวโดยย่อ ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ หรือว่าชีวิตร่างกายนี้จึงเป็นข้อที่ควรทำปริญญาคือกำหนดรู้ กำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ เป็นอนิจจะ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ ต้องตาย ต้องเจ็บ ต้องเสวยเวทนาต่างๆ อันเป็นตัวทุกข์ ให้กำหนดรู้ดั่งนี้ ไม่ใช่ให้ฆ่า ถ้าอยากจะฆ่าก็ให้ฆ่าความอยาก ความอยากที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งความอยากที่จะฆ่าตัวตายนั้นเป็นวิภวตัณหาหรือเป็นตัณหาอย่างหนึ่ง ก็ต้องฆ่าตัณหาเสีย ไม่ใช่ไปฆ่าร่างกาย ตัณหาคือความอยากตาย อยากฆ่าตัวตายนั้นเป็นปหานะคือเป็นข้อที่ควรละ คือให้ละเสียให้ฆ่าเสีย แต่ว่าร่างกายชีวิตนี้เป็นข้อที่พึงกำหนดรู้ ให้รู้จักว่าเป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ เป็นอนัตตา ไม่ต้องไปฆ่าเขา เขาก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายไปเอง ให้กำหนดรู้ไว้ว่าอย่างนี้ อยากจะฆ่าให้ไปฆ่าตัวตัณหา ทำลายตัวตัณหาในใจ คราวนี้เมื่อโกรธขึ้นมา คิดจะไปทำร้ายร่างกายเขา คิดที่จะฆ่าเขา นี่ก็ผิดศีล ก็เพราะว่าที่จะไปฆ่าไปทำร้ายเขานั้น ก็คือไปฆ่าไปทำร้ายขันธ์ ๕ ของเขา ซึ่งทางพุทธศาสนาไม่ได้สอนให้ไปฆ่าขันธ์ ๕ หรือชีวิตร่างกาย แต่ให้กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ หรือชีวิตร่างกายนี้เป็นอนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ให้ฆ่าความโกรธ ความโกรธเป็นกิเลสเป็นข้อที่ควรละ เข้าในข้อสมุทัยที่ควรละต้องฆ่าความโกรธ โลภขึ้นมาจะไปลักของของเขาก็เหมือนกัน ให้ฆ่าความโลภเสีย เพราะความโลภเป็นตัวสมุทัยที่ต้องละ ให้ละเสียให้ฆ่าเสีย แต่ไม่ให้ไปลักขโมยของของเขา ของของเขานั้นก็เป็นเรื่องของสังขารเหมือนกัน ก็เป็นสิ่งที่อนิจจะทุกขะอนัตตา รวมเข้าในหมวดทุกขสัจจะทั้งหมด

เพราะฉะนั้นเมื่อทำความเข้าใจในหน้าที่ของธรรมตามหลักอริยสัจทั้ง ๔ นี้ และเข้าใจว่าพุทธศาสนาทั้งหมดสรุปเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ และข้อทำความเข้าใจว่าข้อไหนจัดเข้าในข้อไหน คือพุทธศาสนาที่เป็นคำสั่งสอนนั้น ข้อใดหมวดใดจัดเข้าในทุกขสัจจะก็ให้กำหนดรู้ จัดเข้าในสมุทัยก็ให้ละ จัดเข้าในข้อนิโรธก็ให้กระทำให้แจ้ง จัดเข้าในข้อมรรคก็ให้อบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้แล้วจึงจะปฏิบัติพุทธศาสนาได้ถูกต้อง และการปฏิบัตินั้นก็เรียกว่า ธัมมานุธัมมปฏิบัติ คือปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ย่อมจะได้รับผลอย่างเต็มที่

๑๔ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 31 ตุลาคม 2553    
Last Update : 31 ตุลาคม 2553 5:52:43 น.
Counter : 536 Pageviews.  

ครั้งที่ ๖ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

--------------------------------------------------------------



ว่าถึงอริยสัจ ๔ ก็มีข้อที่จะพึงพูดต่อไป แต่เพื่อให้มีความอนุสนธิ คือว่าต่อเนื่องกันจึงจะได้ทบทวนข้อที่พูดมาแล้วสักเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่ควรหรือไม่พึงพยากรณ์ ทรงพยากรณ์แต่ปัญหาที่ควรพยากรณ์ คำว่าพยากรณ์นั้น เดี๋ยวนี้ภาษาไทยก็นำมาใช้เหมือนกัน เช่นหมอดูพยากรณ์ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ แต่ที่นำมาใช้สำหรับพระพุทธเจ้าในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นหมอดู แต่พยากรณ์ของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าทรงกระทำให้แจ้ง ถ้าเป็นปัญหามาก็ทรงตอบปัญหานั้นให้แจ้งชัด และก็ทรงตอบให้แจ้งชัดด้วยพระญาณที่หยั่งรู้ ไม่ใช่ด้วยตำรา อย่างหมอดูที่พยากรณ์นั้นก็พยากรณ์ด้วยตำราพยากรณ์ แต่อันที่จริงหมอดูก็ไม่มีญาณหยั่งรู้เหมือนกัน วินิจฉัยและก็ว่าไปตามตำราพยากรณ์และที่หมอดูวินิจฉัย แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ้ง ทรงตอบให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทรงแสดงให้แจ่มแจ้งชัดเจนด้วยพระญาณคือความหยั่งรู้ อันที่จริงคำว่าพยากรณ์นั้น ก็ได้มีใช้มาในพุทธศาสนา ดังที่ได้แสดงถึงเรื่องนี้ และข้อที่พยากรณ์นั้นที่ท่านแสดงไว้ในพระสูตรเกี่ยวกับท่านมาลุงกยะนี้ ก็แสดงไว้ว่า ทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ่มแจ้ง ตอบให้แจ่มแจ้ง แสดงให้แจ่มแจ้งในข้อว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในพระสูตรนี้ไม่ได้ใช้คำว่า อริยสัจ หรืออริยสัจจะ แต่ว่าโดยปกตินั้น เมื่อเป็นหมวดธรรม ๔ ข้อนี้ ก็มักจะพูดว่าอริยสัจกันทีเดียว แต่สำหรับที่แสดงในพระสูตรนั้น บางแห่งท่านก็ใช้คำว่าอริยสัจ บางแห่งท่านก็ไม่ได้ใช้คำนี้

ปัญหาของสัตวโลก

คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ทั้ง ๔ ข้อนี้มาเกี่ยวกับอุปมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนดังหมอผ่าตัดอย่างไร ซึ่งตามอุปมานั้นคนไข้ที่ญาติมิตรนำไปหาหมอผ่าตัดเป็นคนไข้ที่ถูกลูกศรยิงกำลังต้องบาดเจ็บ เรียกว่าอาการปางตายกันทีเดียว และเมื่อจะเป็นข้ออุปไมย คือว่าเป็นสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ หรือบุคคลที่ถูกเปรียบเทียบ ก็จะต้องหมายถึงบุคคลทั่วไปทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่แล้ว เรียกว่ามีอาการปางตายกันอยู่แล้ว คราวนี้ในข้ออุปมานั้น ก็ได้กล่าวถึงว่า ถ้าหมอผ่าตัดจะไต่ถามสอบสวนถึงคนยิง ถึงลูกศรที่ใช้ยิง เพื่อให้ทราบรายละเอียดต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงมือรักษาก็ย่อมจะไม่ทันการ คนไข้นั้นก็น่าจะต้องถึงแก่ความตายเสียก่อนก็ได้ หรืออาการก็จะมากขึ้น ยากแก่การที่จะเยียวยารักษา ฉะนั้นหน้าที่ของหมอผ่าตัดก็ไม่ต้องมัวชักช้าไต่ถามสอบสวน หมอควรที่จะต้องรีบผ่าตัดนำลูกศรออกทันทีนี่เป็นอุปมา ทีนี้ข้ออุปไมยคือสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ ก็มาถึงบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเรียกว่าสัตวโลกทั่วๆ ไปนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นคนที่ถูกลูกศรเสียบด้วยกันทั้งนั้น มีอาการปางตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเสมือนหมอผ่าตัดนั้น ก็จะต้องทรงรีบเยียวยารักษาทันที ไม่ต้องมัวไปสอบสอนไต่ถามถึงรายละเอียดต่างๆ ก็มาถึงเรื่องปัญหาโลกแตก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ๑๐ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงพยากรณ์ให้ชักช้า จึงได้ตรัสปฏิเสธไม่ทรงพยากรณ์และก็ได้ตรัสรับรองในข้อที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงเป็นข้อที่ควรจะทำความเข้าใจ ว่าบัดนี้ทุกๆ บุคคลกำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ อาการปางตายด้วยกันทั้งหมดหรือ ในข้อนี้จึงควรจะทราบลักษณะพุทธศาสนาว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทุกๆ คนในบัดนี้ซึ่งเป็นสามัญชนสามัญสัตว์นั้น ก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ทั้งนั้น และมีอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น

ตัณหา - ลูกศรเสียบแทงใจ

อะไรเป็นลูกศรเสียบแทง และเสียบแทงอะไร โดยปริยายคือทางอันหนึ่งที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้ ลูกศรเสียบแทงนั้นก็คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ และเสียบแทงอะไร ก็คือเสียบแทงจิตใจ ต่างมีตัณหาเสียบแทงจิตใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ได้ตรัสแจกเอาไว้เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนปรารถนาไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนา พอใจบ้าง ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ บ้าง วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือต้องการให้สิ่งที่ไม่พอใจอยากจะได้ไม่พอใจอยากจะเป็นสิ้นไปหมดไป นี้ยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่อันที่จริงนั้น กิเลสที่เป็นเครื่องเสียบแทงจิต จำแนกออกไปเป็นอาการต่างๆ อีกมากมาย แต่ว่าเอาข้อเดียวเท่านี้ก่อน นี่เป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจบุคคลอยู่ และที่ว่ามีอาการปางตายนั้นก็เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่ายังต้องถูกความทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ตลอดเวลา ดังที่ตรัสชี้ไว้ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นแหละ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เรียกว่าต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตสังขาร และยังต้องประสบทุกข์ทางจิตใจอีกมาก เป็นความแห้งใจ เป็นความคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจ ความไม่สบายกายนี้ก็รวมเอาอาพาธเจ็บป่วยต่างๆ เข้าด้วย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ รวมเข้าก็เป็นความประจวบกับสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่เป็นที่รัก รวมเข้าก็เป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง และเมื่อรวมเข้าอีก ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งอันนี้ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ชัดเจนกันต่อไป แต่วันนี้จะยังไม่อธิบายในตอนนี้

นิพพาน - ความสิ้นตัณหา

ก็แปลว่าต้องอยู่ในอาการที่ปางตายด้วยกันทั้งนั้น ต้องเป็นทุกข์อยู่ด้วยเกิดแล้วก็แก่แล้วก็ไม่สบายกาย ไม่สบายจิตต่างๆ ต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบปรารถนาไม่ได้สมหวังต่างๆ รวมเข้าก็ต้องมีขันธ์ ๕ ย่อเป็นกายใจนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอยู่ในอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น และก็จะต้องแก่ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น และชีวิตก็ดำเนินไปสู่ความแก่ความตายอยู่ทุกเวลาไม่มีหยุด เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเป็นหมอถอนลูกศร ผ่าตัดลูกศร ด้วยใช้เครื่องมือก็คือมีดผ่าตัด อันได้แก่ปัญญา โดยตรัสเทศนาสั่งสอนให้ทุกคนได้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็รวมอยู่ในเรื่องความจริงความดีความงามที่กล่าวมาในวันแรกๆ นั้นนั่นแหละ และปัญญานี้เองที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ก็จะผ่าตัดถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตใจได้ และเมื่อถอนตัณหาคือลูกศรออกจากจิตใจได้ด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์ก็จะดับไปหมด บุคคลก็จะเป็นผู้ที่พ้นทุกข์ เพราะว่าลูกศรออกจากจิตใจได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกธรรมหรือสภาพธรรมที่จิตใจถอนลูกศรออกได้แล้ว แปลว่าสิ้นตัณหาหมดแล้ว และก็สิ้นทุกข์หมดแล้ว ว่านิพพาน อันเป็นธรรมที่มุ่งจะบรรลุสำหรับพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนได้ปัญญาเป็นมีดผ่าตัดถอนลูกศรออกจากพระหทัยของพระองค์เองได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้วก็สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมาทรงสั่งสอนเพื่อที่จะโปรดสัตว์โลกที่กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่นี้ ได้ปัญญาที่จะถอนลูกศรออกแล้ว ก็พ้นทุกข์อย่างพระองค์บ้าง นี้เป็นพระมหากรุณา เป็นพระมหากรุณาจริงๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ และก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่ เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบายคำของนิพพาน ว่าออกจากวาณะ ภาษาสันสกฤตว่านิรวานะ ภาษาบาลีว่านิพพาน เป็นคำเดียวกัน วาณะนั้น แปลว่าเครื่องเสียบแทง แปลว่าลูกศร นิรวานะ แปลว่าออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรคือถอนลูกศรเสียได้ ไม่มีลูกศรเสียบใจ เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจคำว่านิพพานง่ายๆ ดั่งนี้ว่า ที่ว่าเป็นนิพพานนั้น ก็คือว่าสภาพธรรมของจิตใจที่ถอนวาณะคือลูกศรอันเป็นเครื่องเสียบแทงของจิตใจได้แล้ว ออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรได้แล้ว ไม่มีลูกศร ไม่มีเครื่องเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอิสระเสรี มีความสบายคล่องตัวเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน พ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง พ้นจากอาการปางตาย อาการที่เป็นทุกข์ทั้งหลายหมดสิ้น

ทรงสอนให้ใช้ปัญญาถอนลูกศรหรือตัณหา

เพราะฉะนั้นนิพพานมิได้อยู่ที่ไหน แต่ว่าอยู่ที่ถอนลูกศรออกจากจิตใจนี้แหละ ก็ด้วยปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ประทานให้จากการสั่งสอน พระปัญญานี้แหละช่วยผ่าตัดเอาตัณหาที่เป็นลูกศรเสียบใจออกได้ ก็พ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่อันนี้ ซึ่งจะต้องรีบกระทำ และพระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี หน้าที่เป็นหมอถอนลูกศรนี้แหละ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็เป็นการประทานปัญญาอันเป็นมีดผ่าตัด เพื่อให้ผ่าตัดลูกศรถอนลูกศรออกจากจิตใจของตนเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็นำเข้าสรุปใน ๔ ข้อนั้นได้ ทุกข์ก็คือว่าอาการเป็นทุกข์ถึงปางตาย นี่เป็นตัวทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางจิตใจที่โลกต้องพบอยู่ตลอดเวลา ที่บุคคลทุกๆ คนต้องพบอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่เป็นลูกศรนั้นก็คือตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ และก็ถอนลูกศรเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์หรือทุกขนิโรธ และมีดสำหรับที่จะผ่าตัดพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันมีดที่จะผ่าตัดนั้นก็ขอให้เข้าใจว่าก็จะต้องมีตัวมีด ที่ส่วนหนึ่งคม ผ่าตัดได้ และก็จะต้องมีส่วนของเหล็กอันประกอบกันอยู่ที่เป็นสันของมีดเป็นส่วนของมีด เพราะว่าความคมที่สำหรับผ่าตัดนั้นจะอยู่อย่างเดียวไม่ได้ แล้วก็จะต้องมีด้ามมีด เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ของมีดต่างๆ สำหรับที่จะผ่าตัดลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ ซึ่งพระพุทธเจ้าได้จำแนกสำหรับที่จะทรงผ่าตัดสะดวกก็คือมรรคมีองค์ ๘ คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ นี่คือเป็นตัวคม และก็ยังมีส่วนประกอบอื่นของมีด เช่นว่าสันมีด ด้ามมีด อะไรเหล่านี้ ก็เป็นสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตขอบ สัมมาวายามะ เพียรชอบ สัมมาสติ สติระลึกได้ชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิตั้งใจมั่นชอบ รวมเข้าเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ส่วนที่คมสำหรับผ่าตัดจริงๆ ก็คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้จึงจะใช้ได้ ทรงจำแนกไว้ดั่งนี้สำหรับที่ทุกคนจะปฏิบัติได้สะดวก แต่แล้วก็ต้องรวมเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ใช้สำหรับที่จะผ่าตัดจิตใจ ถอนเอาลูกศรออกจากจิตใจ และการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็ปฏิบัติไปโดยลำดับ ก็เป็นการรักษาเยียวยาการถอนลูกศรออกจากจิตใจไปโดยลำดับ เพราะว่าทีแรกนั้นจะถอนพรวดออกไปจากจิตใจทีเดียวย่อมไม่ได้ ก็จะต้องมีวิธีขั้นตอนของการผ่าตัดไปตั้งแต่ต้น แล้วก็ค่อยๆ ถอนออก จนถึงถอนได้หมดสิ้นแล้วก็รักษาเยียวยาแก้ไขแผลให้หาย เหล่านี้เป็นขั้นตอนของการรักษา ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติหน้าที่รักษาโรคทางจิตใจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็ทรงกระทำทันที ไม่เสียเวลาไปทรงแสดงเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่างๆ หน้าที่ของพระองค์ก็ต้องรีบทำดั่งนี้ และรีบช่วยให้บุคคลพ้นจากความพ้นทุกข์ทันที ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี รวมเข้าก็ในข้อนี้เท่านั้น

๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 30 ตุลาคม 2553    
Last Update : 30 ตุลาคม 2553 7:44:04 น.
Counter : 536 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.