Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๑๐ ลักษณะพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับกายและจิต (๒)

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



อธิบายลักษณะ ๓ ประการของจิต

ได้แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงเรื่องจิต ซึ่งได้กล่าวไว้แล้ว ว่าพระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้คำอธิบายศัพท์ของจิตไว้ แปลเป็น ๓ อย่าง คือ คิดหรือรู้ เก็บ และวิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ที่แปลว่าคิดหรือรู้นั้น ก็โดยอธิบายว่าจิตเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้ หรือว่ารู้อะไรได้ คำว่าคิดและคำว่ารู้ในที่นี้มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน เพราะจะคิดอะไรได้ก็ต้องรู้อะไรนั้น หรือว่าจะรู้อะไรได้ก็ต้องคิดอะไรนั้น และในความคิดนั้นก็มีความรู้อยู่ด้วย ในความรู้ก็มีความคิดอยู่ด้วย ฉะนั้นจิตจึงเป็นธรรมชาติที่คิดนึกอะไรได้หรือว่ารู้อะไรได้

ลักษณะที่ ๒ เก็บ ก็หมายความว่าเก็บสิ่งที่ประสบผ่านต่างๆ ไว้ได้ และเก็บกรรมที่ได้กระทำแล้วไว้ได้ ที่ปรากฏเป็นเก็บดีที่เรียกว่าบารมี เก็บชั่วที่เรียกว่าอาสวะ และที่ว่ามีลักษณะวิจิตรคือหลายหลากหรือว่าหลายอย่างต่างๆ กัน ก็คือจิตมีลักษณะต่างๆ ดังเช่นที่มีจำแนกไว้ในอภิธรรม เป็นกามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในกาม รูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในรูปภพ อรูปาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวไปในอรูป โลกุตรจิต จิตที่เป็นโลกุตระ ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่วิจิตรคือหลายหลากหลายอย่างต่างๆ กัน ดังเช่นเราเรียกในภาษาไทยว่าวิจิตรพิสดาร หรือว่าวิจิตรงดงาม ดังคำว่าราชรถอันวิจิตร ราชรถที่งดงาม ที่ทำอย่างงดงามตกแต่งอย่างงดงาม จิตก็เป็นธรรมชาติที่งดงาม เพราะเหตุว่ามีลักษณะที่เหมือนดังตกแต่งเอาไว้อย่างราชรถนั้น นี้เป็นการให้คำอธิบายคำว่าจิต ดังที่พระอาจารย์ผู้อธิบายศัพท์ได้ให้เอาไว้

จิตตัวเดิมและจิตที่เป็นตัวอาการ

และก็พึงทราบไว้ ว่าคำว่าจิตท่านใช้เป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิม กับอีกอย่างหนึ่งท่านใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวอาการ ที่ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นตัวเดิมนั้น ก็ใช้หมายถึงธรรมชาติที่เป็นธาตุรู้ อันเป็นธรรมชาติที่ประภัสสรคือผุดผ่อง ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติประภัสสร คือผุดผ่อง แต่ต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา แต่ว่าเมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนาคืออบรมจิต จิตก็จะบริสุทธิ์ คือหมดจดสะอาดผ่องใสได้ วิมุตติคือหลุดพ้นได้ และจิตที่เป็นตัวเดิมนี้ ที่มีพุทธภาษิตแสดงไว้เป็นอันมาก เช่นว่าให้ฝึกจิต ให้ข่มจิต จิตที่ฝึกแล้วนำสุขมาให้ และเมื่อบุคคลอบรมให้ได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง จิตก็หน่าย จะสิ้นความติดใจยินดีและวิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะ คือเครื่องดองจิตดองสันดานทั้งหลายได้ ดั่งนี้ เหล่านี้หมายถึงจิตที่เป็นตัวเดิม

ส่วนจิตที่เป็นตัวอาการนั้นหมายถึงตัวความคิดต่างๆ คิดดีก็มีคิดไม่ดีก็มี ตัวความคิดนี้เป็นจิตที่เป็นอาการ จิตที่เป็นอาการนี้เกิดดับอยู่ในอารมณ์ทุกขณะจิต ทุกขณะอารมณ์ ดังจะพึงเห็นได้ ว่าทุกคนย่อมมีความคิดไปในอารมณ์ คือเรื่องต่างๆ คิดถึงเรื่องนี้ ปล่อยเรื่องนี้ไปคิดเรื่องโน้น ปล่อยเรื่องโน้นไปคิดเรื่องนั้น เรื่องที่จิตจับคิดแล้วปล่อยไปครั้งหนึ่งก็เรียกว่าเกิดดับไปคราวหนึ่ง เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นตัวความคิดนี้จึงเกิดดับอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นท่านจึงเปรียบจิตที่เป็นตัวอาการนี้ ว่าเหมือนอย่างวานรที่กระโดดไปมาอยู่บนต้นไม้ กระโดดจับกิ่งไม้นี้ ปล่อยกิ่งไม้นี้ กระโดดไปจับกิ่งไม้นั้น จากกิ่งไม้นั้นก็กระโดดไปจับกิ่งไม้อื่นต่อไปอีกอยู่ตลอดเวลา อาการที่จับและปล่อยอารมณ์ต่างๆ ของจิตนี้คือจิตที่เป็นตัวอาการ คือความคิดเหมือนอย่างอาการของวานรที่กระโดดจับกิ่งไม้ กระโดดจับกิ่งโน้นกิ่งนี้กิ่งนั้นไปอยู่เสมอ อาการที่จับปล่อยๆ กระโดดไปดั่งนี้ของวานรคือความคิด แต่ก็น่าจะต้องคิดดูตรงนี้ด้วยว่า แม้วานรจักกระโดดจับปล่อยกิ่งไม้ไปอยู่เสมอดั่งนี้ก็ตาม แต่ว่าตัววานรนั้นคงเป็นวานรตัวเดียวกัน ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นี้ ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้นั้น ตัววานรที่อยู่ที่กิ่งไม้โน้นซึ่งกระโดดไปนั้น ก็เป็นตัววานรตัวเดียวกัน จึงเทียบได้กับจิตที่เป็นตัวเดิม ก็เป็นจิตเดียวกัน แต่ว่าอาการคือความคิดนั้นเปลี่ยนไปต่างๆ และตัวความคิดนี้ก็คืออาการ จิตมี ๒ อย่างดั่งนี้

ความอุปบัติและจุติของจิต

หากจะมีปัญหาว่า จิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เป็นจิตที่เกิดดับอยู่เสมอดังกล่าว แต่ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นเล่า เป็นสิ่งที่เกิดดับหรือไม่ ปัญหานี้ก็เป็นข้อที่น่าพิจารณา ถ้าจะพิจารณาจำเพาะชาตินี้ ไม่ตั้งปัญหาไปถึงชาติหน้าหรือว่าชาติอดีตก็ตอบได้ง่าย ว่าจิตที่เป็นตัวเดิมนั้นก็เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ว่าจิตที่เป็นตัวอาการนั้นก็เปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ เกิดดับไปพร้อมกับอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต อยู่ทุกขณะอารมณ์ดังกล่าวนั้น จิตที่เป็นตัวเดิมอันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่เกิดจนตายนั้นก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าเมื่อเกิดจิตมาปฏิสนธิที่เรียกว่าจิตปฏิสนธิ เมื่อตายจิตก็จุติคือเคลื่อนออกไป อันเรียกว่าเคลื่อนออกไปหรือว่าดับจึงต้องเข้าใจคำนี้ ว่าคำว่าดับกับคำว่าจุตินั้นต่างกัน คำว่าดับก็เหมือนกับไฟดับไป แต่คำว่าจุตินั้นแปลว่าเคลื่อน คือว่าไม่ดับ เคลื่อนออกไป ในข้อนี้ก็ตรงกับพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีที่ตรัสรู้ คือ บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกได้ถึงนิวาสน์คือขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน คำว่านิวาสน์นั้นเราแปลกันว่าบ้าน คือเป็นที่อาศัยอยู่ ในที่นี้ใช้หมายถึงขันธ์คือขันธ์ ๕ นี่แหละอันเป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อน เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้เรียกว่านิวาสน์แปลว่าเป็นที่อาศัยอยู่ หากจะถามว่าเป็นที่อาศัยอยู่ของใคร เหมือนอย่างบ้านก็เป็นที่อาศัยอยู่ของบุคคล มีคนมาอาศัยอยู่ในบ้าน ปลูกบ้านอยู่ ทีนี้มาเรียกว่านิวาสน์อันหมายถึงขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕ นี้เป็นที่อาศัยอยู่ของใคร

สำหรับในพระญาณที่ตรัสรู้พระญาณแรกนี้ ตรัสแสดงถึงพระองค์เองโดยใช้คำว่าฉันหรือข้าพเจ้าหรือว่าเรา ซึ่งได้อุปบัติคือเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็จุติคือว่าเคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาติอื่นเคลื่อนจากชาติอื่นนั้นไปสู่ชาติอื่นต่อไปอีก เรื่อยมาดั่งนี้ ตั้งแต่ ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติจนถึงนับชาติไม่ถ้วน และระลึกได้ว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉันได้มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ในชาตินั้นๆ มีความสุขทุกข์อย่างนี้ๆ ในชาตินั้นๆ ระลึกได้ถึงประวัติความเป็นไปของชีวิตในชาติหนึ่งๆ ด้วยตามพระญาณที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็แสดงว่าข้าพเจ้าหรือว่าฉันว่านั้น เป็นผู้ไม่ดับ และก็เป็นผู้ที่เข้าถึงชาตินี้เคลื่อนถึงชาตินี้ แล้วเข้าถึงชาตินั้นเคลื่อนถึงชาตินั้น และก็ต้องเข้าใจว่าคำว่าดับนั้นคู่กับคำว่าเกิด หรือคำว่าตายคู่กับคำว่าเกิด เกิดตายหรือว่าเกิดดับ เป็นศัพท์บัญญัติที่หมายถึงขันธ์อันเป็นที่อาศัยอยู่ อันเป็นตัวนิวาสน์หรือตัวบ้าน ขันธ์ที่อาศัยอยู่อันเป็นตัวนิวาสน์หรือเป็นตัวบ้านนี้ ในชาติหนึ่งๆ ก็สร้างขึ้นมาทีหนึ่ง เช่นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ก็เริ่มสร้างตั้งแต่ในครรภ์ของมารดา เป็นกลละหนึ่ง แล้วก็แตกเป็นปัญจสาขา มีอายตนะบริบูรณ์ได้กำหนดก็คลอดออกมาแล้วก็เติบใหญ่ขึ้นมา จนในที่สุดขันธ์นี้ก็แตกสลาย คือตายหรือว่าดับ คำว่าเกิดตายหรือเกิดดับนี้เป็นชื่อของขันธ์ เรียกขันธ์หรือว่าบ้าน สร้างบ้านทีหนึ่งก็เกิด บ้านพังทีหนึ่งก็ดับหรือว่าตาย แล้วก็สร้างบ้านขึ้นใหม่ก็เป็นเกิด บ้านพังไปอีกทีหนึ่งก็เป็นดับหรือตาย เพราะฉะนั้นคำว่าเกิดตายก็ดีเกิดดับก็ดีเป็นชื่อหรือเป็นศัพท์บัญญัติ หมายถึงนิวาสน์เป็นที่อาศัยอยู่ แต่ว่าตัวผู้มาอาศัยเหมือนเช่นคนที่มาอยู่บ้าน ไม่ใช่ตัวบ้าน ซึ่งเรียกในพระญาณที่ ๑ ว่าข้าพเจ้าหรือว่าเราหรือว่าฉัน นี่ไม่เรียกว่าเกิดดับหรือว่าเกิดตาย แต่เรียกว่าอุปบัติ เรียกว่าจุติ อุปบัติแปลว่าเข้าถึง จุติแปลว่าเคลื่อน คือเมื่อบ้านสร้างขึ้น ผู้ที่มาอาศัยบ้านก็เข้าถึงบ้านที่สร้างขึ้นนั้น คือเข้ามาอยู่บ้านนั้น ก็เป็นอุปบัติ แล้วก็เหมือนบ้านพัง ตัวผู้อาศัยบ้านนั้นก็เคลื่อนคือย้ายออกไป เพราะว่าบ้านพังแล้วก็ต้องย้ายออกไป นี่แปลว่าจุติคือเคลื่อนซึ่งในพระญาณที่ ๑ นี้ได้เรียกผู้ที่เข้าอาศัยบ้าน อุปบัติเข้าอาศัย และจุติคือย้ายบ้าน เรียกว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือว่าฉัน คือหมายถึงพระองค์เอง คือทรงระลึกถึงพระองค์เองว่าเราหรือฉันหรือข้าพเจ้าเข้าถึงชาตินี้ แล้วก็เคลื่อนจากชาตินี้ แล้วก็เข้าถึงชาตินั้น แล้วก็เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วเข้าถึงชาติโน้น แล้วเคลื่อนจากชาติโน้น เห็นทยอยมาโดยลำดับดั่งนี้ ด้วยพระญาณที่ระลึกได้ ซึ่งเรียกกันง่ายๆ ว่าระลึกชาติหนหลังได้ แต่ว่าตามศัพท์แสงของท่านนั้น ระลึกถึงชาติคือระลึกถึงบ้านเก่าคือบ้านที่อาศัยอยู่ในปางก่อนมีความหมายดังที่กล่าวมานี้

สัตวโลกหรือสัตตภาวะ

คราวนี้มาถึงในพระญาณที่ ๒ เรียกว่า จุตูปปาตญาณ ทรงหยั่งรู้ถึงความเข้าถึงและจุติคือความเคลื่อนไปของสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งในพระญาณที่ ๒ นี้ แสดงว่าได้ทรงระลึกได้ถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่าสัตว์ที่ประกอบกรรมที่ชั่วไว้ คือประกอบกรรมที่เป็นทุจริตที่เป็นอกุศลที่เป็นบาปทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ กายแตกสลายทำลายไปแล้วตายไปแล้วก็อุบัติ คือว่าเข้าถึงชาติที่ชั่ว ที่เป็นทุคติคือคติที่ชั่ว ที่เป็นอบายเป็นนรกเป็นเปรตเป็นอสุรกายต่างๆ แต่ว่าสัตว์ทั้งหลายที่ประกอบกรรมที่ดีไว้เป็นกุศลเป็นสุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ กายแตกทำลายตายไปแล้วก็ถึงสุคติโลกสวรรค์ แต่ว่าก็ไม่ได้อยู่ยั่งยืนในสุคติในทุคตินั้น เมื่อสิ้นบาปสิ้นบุญที่ให้ไปเกิดในสุคติหรือในทุคตินั้นแล้ว ก็ต้องจุติ คือเคลื่อนจากชาติที่เป็นสุคติหรือทุคตินั้นไปตามกรรมที่กระทำไว้ต่อไปอีกดั่งนี้ ในพระญาณที่ ๒ นี้ ทรงแสดงถึงผู้ที่สร้างบ้านขึ้น เข้าถึงบ้าน และเมื่อบ้านพัง ก็เคลื่อนออกจากบ้าน ว่าเป็นสัตว์ ซึ่งคำว่าสัตว์นี้มิใช่หมายถึงสัตว์เดียรัจฉานดังที่เราเรียกเพียงอย่างเดียว แต่หมายความคลุมหมดถึงสัตวโลก จะเป็นเทวดาเป็นมนุษย์หรือเป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายหรือเป็นอะไร เมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติดอยู่ในโลก ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น ดังที่เรียกสัตวโลก เมื่อยังมีกิเลสที่ข้องติดอยู่กับโลก จึงต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลกทั้งปวง ความท่องเที่ยววนเวียนเกิดตายอยู่นี้เรียกว่าสังสารวัฏ สังสาระก็แปลว่าท่องเที่ยวไป วัฏก็คือวัฏฏะ แปลว่าวนเวียน สังสารวัฏก็คือว่าท่องเที่ยววนเวียนหรือว่าวนเวียนท่องเที่ยว และคำว่าวนเวียนนี้ ท่องเที่ยวนี้ ก็พูดกันง่ายๆ ว่าวนเวียนท่องเที่ยวหรือท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตาย เพราะว่ามาจับความเอาง่ายๆ ตอนที่ว่าต้องเวียนเกิดเวียนตายกันอยู่ สร้างบ้านขึ้นมาก็เกิด เข้าไปอาศัยอยู่ บ้านพังขึ้นมาก็ตาย ตัวบ้านพังก็ตาย ตัวผู้อาศัยก็จุติเคลื่อนออกไป และเมื่อเคลื่อนออกไป ก็เข้าถึงชาติใหม่ แปลว่าสร้างบ้านกันใหม่ เข้าอยู่ใหม่ บ้านพังก็คือตาย ผู้อาศัยก็เคลื่อนออกไป ก็วนเวียนอยู่เท่านี้ จะเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ก็ต้องขึ้นต้นด้วยเกิดแล้วลงท้ายด้วยดับหรือตาย หรือว่าขึ้นต้นด้วยเข้าถึงคืออุปบัติลงท้ายด้วยจุติคือเคลื่อนออกไปไม่จบสิ้น จึงเรียกว่าสังสารวัฏ ท่องเที่ยววนเวียนหรือวนเวียนท่องเที่ยวไป ในพระญาณที่ ๒ นี้เรียกว่าสัตว์ เพราะฉะนั้นตามที่เล่ามานี้ ที่แรกนั้นก็คือจิต จิตที่เป็นตัวเดิม แล้วมาถึงว่าเราหรือข้าพเจ้าหรือฉัน และในพระญาณที่ ๒ ที่อ้างมานี้ก็สัตว์ซึ่งแสดงว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวเดิมและดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ทุกคนก็มีจิตที่เป็นตัวเดิม แล้วก็มีตัวเราหรือตัวฉันตัวข้าพเจ้าอยู่ด้วยกันทุกคน และก็มีภาวะที่เป็นสัตว์ คือเป็นผู้ข้องติดอยู่ในโลกเป็นสัตวโลก เรียกว่ามีภาวะที่เป็นจิตตัวเดิม มีภาวะที่เป็นเรา เป็นข้าพเจ้าเป็นฉัน แล้วก็มีภาวะที่เป็นสัตวโลกหรือสัตตภาวะอยู่ทุกคนในบัดนี้

๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๖


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 13 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 13 พฤศจิกายน 2553 21:47:11 น. 0 comments
Counter : 1240 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.