Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๒๒ ความรู้จักสังขาร

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒๒ ความรู้จักสังขาร

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายตอบคำถามของภิกษุทั้งหลาย ของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรมาโดยลำดับจนถึงวันนี้ ท่านได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ว่าได้แก่รู้จักสังขาร รู้จักเหตุเกิดสังขาร รู้จักความดับสังขาร รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร และท่านได้แสดงชี้แจงไปทีละข้อว่า

รู้จักสังขาร นั้น สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร และจิตตสังขาร
รู้จักเหตุเกิดสังขาร นั้น ก็คือรู้จักว่า เพราะอวิชชาเกิด สังขารจึงเกิด
รู้จักความดับสังขาร ก็เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร ว่าได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น

จะได้แสดงอธิบายในข้อที่ ๑ ที่ท่านแสดงชี้แจง สังขาร ๓ ดังกล่าว

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

แต่ก่อนที่จะได้แสดงสังขาร ๓ จะได้แสดงใจความหรือความหมายของคำว่าสังขารก่อน คำว่า สังขาร นั้น ก็ตามที่ได้ทราบกันอยู่โดยมากสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะหรือศึกษาธรรมะว่าได้แก่ ปรุงแต่ง คือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นก็เรียกว่าสังขารการปรุงแต่งหรือความปรุงแต่งก็เรียกว่าสังขาร โดยอธิบายว่า ทุก ๆ สิ่งในโลกนี้จะเป็นสิ่งที่มีใจครอง เช่น มนุษย์เดรัจฉานทั้งหลาย สิ่งที่ไม่มีใจครอง เช่น ดินน้ำไฟลมที่เป็นภายนอกทั่วไปและที่เป็นต้นไม้ภูเขาเป็นต้น เรียกว่าสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น แม้ที่รวมกันเป็นพื้นพิภพนี้ หรือว่าดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ดวงดาวทั้งหลายที่เห็นอยู่ในท้องฟ้า ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น หรือแม้ลมฝนอากาศเย็นร้อน ที่เป็นเรื่องของโลกธาตุอันบังเกิดขึ้นทั้งสิ้น ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

สังขาร ๒

เพราะฉะนั้น ท่านจึงย่อสังขารลงเป็น ๒ คือ

อุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง
อนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง

แต่ว่าคำนี้ท่านผู้เพ่งธรรมะบางท่านก็อธิบายเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า

สังขารที่ยังยึดถือเป็น อุปาทินนกสังขาร
สังขารที่ไม่ยึดถือเป็น อนุปาทินนกสังขาร

แต่แม้จะตีความหรือเข้าใจความเป็นอย่างไร รวมเข้าก็คือว่า บรรดาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เรียกว่าสังขารทั้งหมด และคำว่า ผสมปรุงแต่งนี้ก็มีความหมายที่แจ่มแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ต่าง ๆ แต่ว่ามีส่วนประกอบเข้ามาหลายอย่างมาปรุงแต่งกันขึ้น ซึ่งถ้าเทียบอย่างหยาบ ๆ ก็เช่นบ้านเรือนที่เป็นบ้านเป็นเรือน ก็เรียกว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งเพราะประกอบขึ้นด้วยทัพสัมภาระเช่นไม้เป็นต้น หลายสิ่งหลายอย่างมาประกอบกันเข้าเป็นบ้านเป็นเรือน และคำว่าบ้านว่าเรือนนั้นก็เป็นสมมติบัญญัติของสิ่งผสมปรุงแต่งนั้น ๆ ว่า เมื่อผสมปรุงแต่งขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เรียกว่าอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ก็เรียกว่าอย่างนี้ แม้คำว่าสัตว์บุคคล ตัวตนเราเขานี้ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ที่แปลความว่า

เพราะประกอบองคสัมภาระ คือ องค์ประกอบต่าง ๆ ส่วนประกอบต่าง ๆ เข้า เสียงว่ารถจึงมีฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ เสียงว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาจึงมีอยู่ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นทุก ๆ อย่างดังกล่าวจึงเรียกว่าสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น

สังขตลักษณะ

ได้มีพระพุทธภาษิตแสดง สังขตลักษณะ คือลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่งเอาไว้ว่ามี ๓ อย่าง คือ

หนึ่ง ความเกิดขึ้นปรากฏ
สอง ความเสื่อมไปสิ้นปรากฏ
สาม เมื่อยังตั้งอยู่ความเป็นไปอย่างอื่น คือความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ
ฉะนั้น จึงได้มีภาษิตแสดงภาวะของสังขารทั้งหลาย ซึ่งพระใช้เป็นคำสำหรับสวดว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง
อุปฺปาทวยธมฺมิโน มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป
เตสํ วูปสโม สุโข ความดับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นสุข ดั่งนี้

พิจารณาโดยลักษณะว่าเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาทางวิปัสสนา ยกเอาทุกขลักษณะ คือลักษณะเครื่องกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ขึ้นมาพิจารณา พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาโดยลักษณะที่เรียกว่า ทุกขทุกขะ คือทุกข์โดยเป็นทุกข์ ก็ได้แก่ทุกข์ที่ปรากฏเป็นทุกข์ เช่น ทุกขเวทนาต่าง ๆ ที่บังเกิดขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้เอาไว้ในการที่ทรงอธิบาย ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ว่า

เกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ความโศกความรัญจวนคร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารถนาไม่สมหวังเป็นทุกข์

พิจารณาทุกข์โดยที่เป็นทุกข์ต่าง ๆ ซึ่งทุกคนต้องประสบทางกายบ้างทางใจบ้าง

พิจารณาทุกข์โดยเป็นสังขาร

อนึ่ง ได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่าเป็นทุกข์โดยเป็นสังขาร อันเรียกว่า สังขารทุกข์ ทุกข์โดยเป็นสังขาร คือล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น ทุก ๆ อย่างที่สมมติบัญญัติขึ้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่รูปกายของตนเอง นามกายของตนเอง รูปกายนามกายของผู้อื่นและสัตว์บุคคลต่าง ๆ ทรัพย์สินสิ่งต่าง ๆ ทุกอย่างที่สมมติบัญญัติกันว่าเป็นนั่นเป็นนี่ทั้งที่ยึดถือกันว่าเป็นของเรา ว่าเราเป็น ว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ล้วนเป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ส่วนที่มีชื่อเรียกกันต่าง ๆ นั้นก็เป็นสมมติบัญญัติทั้งสิ้น และส่วนที่ว่าเป็นเราเป็นของเราก็เป็นความยึดถือเอาเองทั้งสิ้น เพราะว่าทุก ๆ อย่างนั้น เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น

พิจารณาทุกข์โดยเป็นวิปริณามะ

อนึ่ง ได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่าเป็นทุกข์ โดยเป็น วิปริณามะ คือความที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่างที่เป็นสังขารนั้น ล้วนมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เป็นไปตามสังขตลักษณะ ลักษณะเครื่องกำหนดหมายแห่งสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายดังกล่าวมาแล้ว คือมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และในระหว่างแห่งเกิดและดับนั้นก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นอยู่เรื่อย ๆ ดังเช่นร่างกายของทุก ๆ คนเรานี้ เมื่อเกิดมาก็เป็นเด็กคือร่างกายเป็นเด็กแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กใหญ่ ใหญ่ขึ้นโดยลำดับ เป็นหนุ่มสาว เป็นกลางคน เป็นคนแก่ เป็นคนแก่เฒ่าไปโดยลำดับ ในที่สุดก็แตกดับ คือสิ่งที่ผสมปรุงแต่งนั้นก็แตกสลายจากการปรุงแต่ง หยุดปรุงแต่ง

สังขาร ๓

ฉะนั้น เรื่องสังขารนี้จึงเป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจและพิจารณาในทางวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นอย่างดียิ่ง ตามที่ประพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน แต่ในที่นี้ก็ต้องการที่จะให้มีความเข้าใจในความหมายของคำว่าสังขารเพียงว่า ได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่งขึ้น หรืออาการที่ผสมปรุงแต่งขึ้น เรียกว่าสังขาร และที่ท่านจำแนกสังขารไว้เป็น ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร

กายสังขาร

กายสังขาร นั้นก็ได้แก่การปรุงแต่งกาย อธิบายว่า ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้ชื่อว่ากายสังขารปรุงแต่งกาย เพราะว่าเป็นเครื่องบำรุงปรนปรือกายอยู่ตลอดเวลา กายดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีลมอัสสาสะปัสสาสะบำรุงปรนปรืออยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุก ๆ คนนั้นไม่มีหยุดหายใจ กายจึงดำรงอยู่ได้ที่เรียกว่าชีวิต หากหยุดหายใจเมื่อใดกายก็ดำรงอยู่ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ จึงเรียกว่า กายสังขาร เป็นเครื่องปรุงกาย

วจีสังขาร

วจีสังขาร แปลว่าปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกวิจาร ที่แปลว่า ความตรึกความตรอง วิตกวิจารนี้เองเป็นต้นของวาจาที่ทุก ๆ คนพูด ก็คือว่าพูดจากใจที่วิตกวิจารคือที่ตรึกตรอง อาจจะกล่าวได้ว่า จิตใจนี้พูดก่อนคือตรึกตรองขึ้นมาก่อน จึงพูดออกทางวาจา หรือว่าวาจาจึงพูดออกมา ถ้าหากว่าไม่มีวิตกวิจารขึ้นในจิตใจก่อนการพูดอะไรออกไปทางวาจาก็เป็นวาจาของคนที่เพ้อคลั่ง หรืออาการที่เพ้อหรือที่กล่าวในเวลาหลับและจะไม่เป็นภาษา ฉะนั้น วาจาที่ทุกคนพูดนี้จึงออกมาจากจิตใจที่มีวิตกมีวิจารคือที่ตรึกตรอง

ฉะนั้น วิตกวิจารจึงเรียกว่า วจีสังขาร เป็นเครื่องปรุงวาจา

จิตตสังขาร

จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต ก็ได้แก่สัญญาเวทนา เวทนานั้นก็ได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญานั้นก็ได้แก่ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ จำธรรมะคือเรื่องราว เวทนาสัญญานี้เรียกกลับกันว่า สัญญาเวทนา เป็นเครื่องปรุงจิต คือปรุงจิตใจให้คิดไปต่าง ๆ ความคิดไปต่าง ๆ นั้นอาศัยสัญญาเวทนา ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ไม่มีเวทนาคือรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขก็คิดอะไรไม่ได้ เพราะทุก ๆ คนนั้นจะไปคิดในเรื่องที่ตนเองจำไม่ได้ หรือว่าที่ลืมไปแล้วนั้นหาได้ไม่ จะคิดอะไรได้ก็ต้องคิดได้ตามที่จำได้เท่านั้น อันที่จริงยกเอาสัญญาขึ้นมาอย่างเดียว อธิบายอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่ท่านยกเอาเวทนาขึ้นมาคู่ด้วยก็โดยที่สัญญานี้ตามวิถีจิตในขันธ์ ๕ ย่อมเกิดขึ้นอาศัยเวทนา คือต้องมีเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข จึงจะมีสัญญาคือจำได้ ถ้าไม่มีเวทนาแล้วก็จำอะไรไม่ได้

ยกตัวอย่างง่าย ๆ เหมือนอย่างคนที่ดับความรู้ทางกายประสาท เช่นว่าฉีดยาชาที่ร่างกาย เมื่อร่างกายส่วนนั้นชาไปแล้ว หมอก็ทำการผ่าตัดหรือทำอะไรก็ไม่มีความรู้เจ็บ เมื่อไม่มีความรู้เจ็บ ก็แปลว่าสัญญาคือความจำในการที่หมอได้กระทำอะไรตรงร่างกายส่วนนั้นก็ไม่มี ถ้าหากว่าไม่ได้ฉีดยาชา เมื่อเอามีดไปปาดเข้าก็เจ็บ เมื่อเจ็บก็จำได้ในอาการที่เจ็บนั้น นี้ยกตัวอย่างเพียงการทำให้กายประสาทไม่รู้สึกเพียงข้อเดียว ถ้าหากว่าไม่มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ที่เป็นเวทนา ทางจักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท หรือทางกายประสาทดังกล่าวนั้นด้วย ใครจะทำอะไรที่ร่างกายทุกส่วน ก็ย่อมจะไม่มีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ไม่มีสัญญาคือความจำในส่วนนั้น ๆ หรือคนที่ถูกฉีดยาสลบหมดความรู้ไปในขณะที่สลบนั้น ก็เป็นอันว่าจำอะไรในขณะนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น สัญญาจึงมาจากเวทนา ต้องมีเวทนาจึงจะเกิดสัญญาคือความจำได้หมายรู้ขึ้นมา

เพราะฉะนั้น จิตที่คิดไปต่าง ๆ ที่ปรุงไปต่าง ๆ จึงปรุงไปตามสัญญาเวทนา ถ้าไม่มีสัญญาเวทนาแล้วจิตก็ปรุงไม่ถูก แม้จิตที่คิดปรุงไปต่าง ๆ ดังกล่าวนั้น ก็รวมวิตกวิจารดังกล่าวมาข้างต้นในข้อวจีสังขารเข้าด้วย เพราะวิตกวิจารคือความตรึกความตรองก็เป็นความคิดไปของจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาศัยสัญญาเวทนาดังกล่าวนี้นั่นแหละ

เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนาจึงเป็น จิตตสังขาร เครื่องปรุงจิต

สรุปสังขาร ๓

กายสังขาร ปรุงแต่งกาย มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นเครื่องปรุงแต่งกาย
วจีสังขาร ก็มีวิตกวิจารเป็นเครื่องปรุงแต่งวาจา
จิตตสังขาร ก็มีสัญญาเวทนาเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

นี้แสดงอธิบายถึงเครื่องปรุงแต่งกายปรุงแต่งวาจาปรุงแต่งจิต แต่ว่ายังมีการปรุงแต่ง ของกายเองของวาจาเองของจิตเอง คือกายที่มีการปรุงแต่งอยู่ คือ กายที่ยังประกอบกันเป็นกาย มีอาการปรุงแต่งของกาย ซึ่งเป็นไปเองต่าง ๆ เช่นว่าอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน เป็นต้น ผมเองก็มียาวขึ้นไปได้ ขนเองก็มีการที่ตั้งอยู่ หรือที่หลุดก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น เป็นความปรุงแต่งของกายตลอดจนถึงที่เป็นอวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ตับ ปอด ก็ปฏิบัติหน้าที่ เช่นปอดก็ปฏิบัติหน้าที่ในการที่ทำการหายใจเข้าหายใจออกเป็นต้น ไปอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เป็นอาการปรุงแต่งของกายเอง ซึ่งเป็นไปอยู่ไม่มีหยุด วจีสังขาร วาจาเองที่พูดออกไป ก็พูดกันอยู่ทุกวันตามที่ควรพูด หรือแม้ว่าที่ไม่ควรพูด จิตที่คิดนึกไป ก็คิดนึกกันไปต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาไม่หยุด แปลว่าอาการปรุงแต่งของกายของวาจาของจิตเองก็ปรุงแต่งอยู่ไม่หยุดเหมือนกัน นี่ก็เป็นสังขาร

เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้อันประกอบด้วยกายด้วยวาจาด้วยจิตดั่งที่กล่าวมา ยกเป็นตัวอย่างเพียง ๓ ข้อนี้ เป็นสังขารที่ปรุงแต่งอยู่ไม่หยุดตั้งแต่เกิดมา หยุดเมื่อไรก็คือตาย เมื่อยังไม่ตายก็ต้องเป็นสังขารคือปรุงแต่ง ปรุงแต่งตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา คลอดออกมาก็ปรุงแต่งเรื่อยไปจนถึงตายในที่สุด เพราะฉะนั้น อาการที่เรียกว่าสังขารคือปรุงแต่งนี้เป็นอาการของชีวิต ซึ่งต้องมีการปรุงแต่งกันอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลาไม่หยุด หยุดปรุงแต่งเมื่อใดก็ตาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2555 23:04:13 น.
Counter : 1409 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒๑ ความรู้จักวิญญาณ

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายเรื่อง สัมมาทิฏฐิ ตามที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่านพระสารีบุตรเถระมาโดยลำดับ และเมื่อท่านตอบไปตอนหนึ่ง ๆ แล้วภิกษุทั้งหลายก็ถามต่อไป ว่ายังจะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี ในวันนี้จึงถึงข้อที่ท่านตอบว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จักวิญญาณ รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ รู้จักความดับวิญญาณ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ แล้วท่านได้อธิบายไปทีละข้อว่า

รู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ๖ คือ
หมู่แห่งจักขุวิญญาณ วิญญาณทางตา
หมู่แห่งโสตวิญญาณ วิญญาณทางหู
หมู่แห่งฆานวิญญาณ วิญญาณทางจมูก
หมู่แห่งชิวหาวิญญาณ วิญญาณทางลิ้น
หมู่แห่งกายวิญญาณ วิญญาณทางกาย
หมู่แห่งมโนวิญญาณ วิญญาณทางมโนคือใจ


รู้จักเหตุเกิดแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารเกิด วิญญาณจึงเกิด
รู้จักความดับแห่งวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ ก็คือรู้จักว่า มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเป็นต้น เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับวิญญาณ

จะได้แสดงอธิบายใน หมู่แห่งวิญญาณ ๖ นี้ต่อไป

จิตกับวิญญาณในขันธ์ ๕

อันคำว่า วิญญาณ นั้น ได้มีใช้ในพุทธศาสนาหลายความหมาย และว่าถึงถ้อยคำที่เกี่ยวแก่จิตใจ วิญญาณก็มีอยู่ ๓ คำ คือจิตคำหนึ่ง วิญญาณ คำหนึ่ง มโน ซึ่งมักแปลกันว่าใจ อีกคำหนึ่ง แม้จิตก็มักจะเรียกควบกันว่าจิตใจ คำว่าใจนั้นเป็นภาษาไทย เรียกรวม ๆ กันไป เช่น จิตใจหรือมโนที่แปลกันว่าใจ สำหรับคำทั้ง ๓ นี้ เมื่อใช้ต่างกันก็ใช้ต่างกันดังนี้ จิตนั้นได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

ให้อบรมจิต ให้รักษาจิต ให้ชำระจิตของตนให้ผ่องใส
และยังได้ตรัสเอาไว้อีกว่า
จิตเป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส เครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามา


แต่ว่าจิตนี้เมื่อปฏิบัติทำจิตตภาวนา อบรมจิตตามที่ตรัสสั่งสอนไว้ ก็วิมุตติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหลายได้ และในท้ายพระสูตรทั้งหลายเป็นอันมากก็มีแสดงว่าภิกษุทั้งหลายได้ฟังพระพุทธโอวาทที่ตรัสสั่งสอนแล้ว จิตก็วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลายและในพระสูตรที่แสดงไตรลักษณ์ดังเช่น อนัตตลักขณสูตร ตรัสว่า

ขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรที่จะยึดถือว่านี่เป็นเรา เราเป็นนี่ นี่เป็นอัตตา ตัวตนของเรา

ท่านพระปัญจวัคคีย์ได้ฟังเทศนานี้จบแล้ว จิตของท่านก็วิมุตติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายดังนี้ ในพระสูตรดังกล่าวนี้แสดงขันธ์ ๕ ซึ่งรวมวิญญาณด้วย ว่าเป็นอนัตตา กับทั้งเป็นอนิจจะ เป็นทุกขะ คือเป็นไปตามไตรลักษณ์หรือสามัญลักษณะ ลักษณะที่ทั่วไปแก่สังขารทั้งปวง แต่มิได้ตรัสว่าจิตเป็นอนัตตาเป็นอนิจจะเป็นทุกขะ แต่ตรัสว่าจิตวิมุตติหลุดพ้น และยังได้มีพระคาถาแสดงอีกว่า

จิตถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะตัณหาทั้งหลายสิ้นไป

จิตกับวิญญาณธาตุในธาตุ ๖

เพราะฉะนั้น ตามที่อ้างมานี้ จิตจึงเป็นสิ่งสำคัญในบุคคลที่ตรัสสอนให้รักษาตรัสสอนให้อบรม จนถึงตรัสว่าจิตนี้เองที่เป็นผู้วิมุตติหลุดพ้น จิตนี้เองบรรลุวิสังขารคือนิพพานและจิตนี้ก็เป็นธรรมชาติธรรมดา อันเรียกว่าเป็นธาตุ แต่ว่าเมื่อแสดงถึงธาตุทั้ง ๖ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ วิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณคือธาตุรู้ ก็ใช้คำว่า วิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ใน ธาตุวิภังคสูตร ตรัสสอนให้พิจารณาธาตุทั้ง ๕ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ว่าไม่ควรที่จะยึดถือว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาตัวตนของเรา แต่ว่ามิได้ตรัสว่าวิญญาณธาตุเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น คำว่าวิญญาณธาตุในธาตุ ๖ นี้ จึงมีความหมายเสมอกับคำว่าจิตดังที่กล่าว คือเป็นสิ่งสำคัญในบุคคลซึ่งเป็นตัวธรรมชาติธรรมดาเป็นตัวธาตุ และยังมีในที่อื่นอีกหลายแห่งที่ใช้คำว่า วิญญาณแทนจิตหรือเท่ากับจิต ฉะนั้น คำว่าวิญญาณกับคำว่า จิตนี้จึงใช้เท่ากัน หมายถึงธาตุที่เป็นอย่างเดียวกันอยู่เป็นอันมาก

วิญญาณในขันธ์ ๕ คืออาการที่จิตออกรับอารมณ์

แต่ว่าเมื่อแสดงต่างกันก็แสดงถึงวิญญาณที่มีลักษณะต่างจากจิตดังกล่าวข้างต้นนั้น คือวิญญาณที่แสดงในขันธ์ ๕ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งมีความหมายเป็นอาการของจิตในเมื่ออารมณ์ทั้งหลายมาสู่ทวารทั้ง ๖ หรือว่าอายตนะภายนอกกับอายตนะภายในมาประจวบกัน จิตจึงน้อมออกรับอารมณ์ตั้งต้นแต่รู้อารมณ์ ดังที่เรียกว่าเห็นรูป ที่เรียกว่าได้ยินเสียง ที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และรู้เรื่องราว เพราะอาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้นก็คือรู้นั้นเอง แต่ว่ารู้ทีแรกดังกล่าวเรียกว่าวิญญาณ แล้วจึงรู้ที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเป็นสัมผัส เป็นสัญญา เป็นสังขาร ความคิดปรุงหรือปรุงคิด ก็ล้วนแต่จิตนี้เองรู้ทั้งนั้น

เมื่อรู้ที่เป็นการเห็นการได้ยินเป็นต้น ก็เป็น วิญญาณ
รู้ที่เป็นสัมผัสคือกระทบ ก็เป็น สัมผัส หรือ ผัสสะ
รู้ที่เป็นสุขเป็นทุกข์ก็เป็น เวทนา
รู้จำก็เป็น สัญญา
รู้ปรุงคิดหรือคิดปรุงก็เป็น สังขาร

อาการที่จิตออกรับอารมณ์นั้นเป็นรู้ทั้งนั้น แต่ว่าที่เป็นครั้งแรกนั้นก็คือวิญญาณดังกล่าว เมื่อรู้ที่เป็นวิญญาณมีขึ้น จึงมีรู้ที่เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นต้น ต่อไป นี้เป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ซึ่งเมื่อเป็นวิญญาณในขันธ์ ๕ ดั่งนี้ ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน วิญญาณจึงมีใช้ในความหมายดังกล่าวนี้อีกอย่างหนึ่ง

วิญญาณในขันธ์ ๕ เป็นสิ่งที่เกิดดับ

แต่แม้เช่นนั้น บุคคลโดยมากก็ยังใช้คำว่าวิญญาณแทนจิตหรือเสมอกับจิต และมีความเข้าใจว่าวิญญาณเสมอกับจิต หรือมีความเข้าใจยิ่งไปกว่านั้น วิญญาณนั้นเป็นตัวยืนดังที่มีแสดงว่าพระอรหันต์บางรูปนิพพาน มารเที่ยวค้นหาวิญญาณของท่านว่าท่านไปไหน พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงได้ตรัสว่าไม่สามารถจะค้นพบได้เพราะว่าท่านนิพพานแล้วไม่เกิดอีก ไม่มีวิญญาณที่จะไปเกิดอีก และก็ยังได้แสดงถึงสัตว์บุคคลที่เกิดมา เริ่มตั้งแต่ถือปฏิสนธิในครรภ์ของมารดา ก็เรียกกันว่าปฏิสนธิวิญญาณ ปฏิสนธิจิตก็เรียก และเมื่อมีปฏิสนธิวิญญาณหรือปฏิสนธิจิตในครรภ์ของมารดาแล้ว ก็เริ่มปฐมจิตปฐมวิญญาณขึ้นมา เริ่มก่อเกิดนามรูปขึ้นมาตั้งแต่เบื้องต้น แม้จะเคลื่อนออกไปคือตาย ก็เป็นจุติจิตจุติวิญญาณ

เพราะฉะนั้น คนจึงมักจะใช้กันหลังจากตายว่า วิญญาณไปเกิด ก็ไม่ใช่ ใช้กันเฉพาะในเวลาปัจจุบันนี้สำหรับคนไทยเท่านั้น แม้ในภาษาบาลีที่เป็นพระสูตรต่าง ๆ เองก็ยังใช้ดังที่กล่าวมานั้น อันแสดงว่าวิญญาณนั้นได้ใช้เป็นที่นิยมทั่วไปในความหมายของจิต ที่เป็นสิ่งสำคัญในสัตว์บุคคลทั้งหลาย แต่ในพุทธศาสนาเมื่อมาแสดงขันธ์ ๕ ก็มาใช้คำว่าวิญญาณนี้เป็นขันธ์ที่ ๕ ซึ่งต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ดังกล่าวมานั้น และเป็นสิ่งที่มีขึ้นในเมื่ออายตนะภายนอกภายในประจวบกัน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า จิตออกรับอารมณ์เริ่มต้นรู้ ซึ่งเป็นการเห็นการได้ยิน ซึ่งเป็นรู้ขั้นที่ ๑ ก็เป็นวิญญาณ วิญญาณในขันธ์ ๕ จึงเป็นสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับ เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ทุกข้อ

มโนเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖

ส่วนมโนคือใจนั้น ได้ใช้เป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ หรือทวารข้อที่ ๖ นับเข้าในอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือในทวารทั้ง ๖ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญต้องมีประกอบกันไปกับอายตนะ ๕ ข้อข้างต้น ทวาร ๕ ข้อข้างต้น และมีหน้าที่โดยเฉพาะของตนเอง รู้ธรรมะคือเรื่องราวต่าง ๆ ของรูปเสียงเป็นต้น ที่ประจวบพบผ่านมาแล้ว มโนจึงเป็นเรื่องของอายตนะภายในเป็นเรื่องของทวารทั้ง ๖ ซึ่งมิได้ใช้ในความหมายอื่นมากเหมือนอย่างวิญญาณและจิต เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาพุทธศาสนาจึงต้องศึกษาให้รู้จักความหมายของถ้อยคำที่ท่านใช้เป็นอย่างเดียวกันบ้าง ต่างกันบ้าง และโดยเฉพาะที่เป็นอย่างเดียวกัน ก็คือวิญญาณกับจิตดังกล่าวมานั้น ซึ่งมีใช้เป็นอย่างเดียวกนหรือเท่ากันเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การที่จะอธิบายศัพท์จึงต้องกำหนดขอบเขตว่า จะอธิบายศัพท์ เช่นศัพท์ว่าวิญญาณนี้ในข้อไหนในเรื่องอะไร

ถ้าในเรื่องของธาตุ ๖ ก็ต้องอธิบายเท่ากับจิตหรือเสมอกับจิต
ถ้าอธิบายในเรื่องของขันธ์ ๕ วิญญาณก็มีความหมายลดลงมา เป็นความรู้ของจิตที่ออกรับอารมณ์เป็นขั้นแรกดังกล่าวมานั้นเท่านั้น

อธิบายหมู่แห่งวิญญาณ ๖

และในพระเถราธิบายนี้ ท่านพระสารีบุตรได้แสดงอธิบายในข้อว่ารู้จักวิญญาณ ก็คือรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ก็คือวิญญาณในขันธ์ ๕ นั่นเอง และที่เรียกว่าหมู่นั้นก็เพราะว่าวิญญาณในขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นดับไปในทุกอารมณ์ที่ผ่านทวารทั้ง ๖ เข้ามา ดังจะยกอายตนะภายในภายนอกขึ้นเป็นตัวอย่าง ว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน เกิดความรู้ขึ้นที่เรียกว่าเห็นรูป ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ เมื่อเห็นรูปอันใดก็เกิดขึ้นดับไปในรูปอันนั้น ทุก ๆ คนนั้นย่อมเห็นรูปต่าง ๆ มากมาย เป็นรูปนั่นรูปนี่ วิญญาณก็ย่อมเกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ที่เห็น เพราะฉะนั้น ชั่วระยะเวลาประเดี๋ยวเดียว วิญญาณก็เกิดดับอยู่ในรูปนั่นรูปนี่ที่ตาเห็นนั้น หลายสิบหลายร้อยหลายพัน แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าหมู่ หมู่แห่งวิญญาณเมื่อเกิดขึ้นทางตาก็เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตา เป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว

ใช้สติกำหนดดูให้รู้จักหมู่แห่งวิญญาณ ๖

เพราะฉะนั้น สัมมาทิฏฐิ จึงได้แก่ความรู้จักหมู่แห่งวิญญาณทั้ง ๖ ดังกล่าวมา ความรู้จักนั้นต้องกำหนดเข้ามาดูด้วยสติ คือมีสติกำหนดอยู่ที่ตาที่หูเป็นต้นของตนเอง เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร เห็นหรือได้ยินนั่นแหละคือวิญญาณทางตา วิญญาณทางหู และก็เกิดดับไปในสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้นแต่ละสิ่งแต่ละสิ่งไป เพราะฉะนั้น หากว่าหัดใช้สติกำหนดดูอยู่รู้อยู่ ก็จะรู้สึกว่าเห็นนั่นเห็นนี่ ได้ยินนั่นได้ยินนี่ และก็เทียบดูได้ว่าเกิดดับอย่างไร เช่นในขณะที่เห็นใบไม้ วิญญาณก็เกิดอยู่ที่ใบไม้ เห็นผลไม้ วิญญาณก็ดับจากใบไม้ไปเกิดที่ผลไม้ เห็นบ้าน วิญญาณก็ดับจากผลไม้ไปเกิดที่บ้านที่เห็น เห็นคนเดินมา วิญญาณก็ดับจากบ้านไปเกิดที่คนเดินมาที่เห็นนั้น ดั่งนี้เป็นต้น ลองคิดดูว่า ขณะหนึ่ง ๆ อันหมายถึงว่าระยะเวลาหนึ่ง ๆ ที่แม้ไม่นานนัก วิญญาณก็เกิดที่นี่ ดับจากที่นี่ไปเกิดที่โน่น ดับที่โน่นไปเกิดที่โน้น อะไรอย่างนี้มากมาย

หัดดูให้เห็นความเกิดดับ

เมื่อมีสติหัดกำหนดดูดั่งนี้ ก็อาจที่จะกำหนดดูได้รู้ได้ว่าวิญญาณนี้เกิดที่นี่ดับจากนี่ไปที่นั่น ดับจากนั่นไปเกิดที่โน่น ดับจากที่โน่นไปเกิดที่นั่น เป็นอย่าง ๆ ไป เป็นสิ่ง ๆ ไป จะเห็นว่าเป็นหมู่จริง ๆ มากมาย และก็ไม่ใช่รูปอย่างเดียว ยังมีเสียงอีก เกิดที่รูป ดับจากรูปไปเกิดที่เสียง ดับจากเสียงไปเกิดที่กลิ่น ดับจากกลิ่นไปเกิดที่รส ดับจากรสไปเกิดที่โผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องทางกาย ดับจากโผฏฐัพพะไปเกิดที่เรื่องที่ผุดขึ้นในใจ ดับจากเรื่องที่ผุดขึ้นในใจก็ไปเกิดที่นั่นที่นี่ เมื่อรวมกันเข้าทั้ง ๖ แล้ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นหมู่ใหญ่จริง ๆ ของวิญญาณ เกิดดับเกิดดับกันอยู่ทุกขณะ ๆ ไป

มีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้เป็นวิธีกำหนดให้รู้จักวิญญาณ ที่เรียกว่าหมู่แห่งวิญญาณทางตา หมู่แห่งวิญญาณทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ แล้วก็หัดให้เห็นเกิดดับของวิญญาณดังกล่าวมานี้ ก็จะเป็นตัวสติด้วย แล้วก็ตัวปัญญาที่เป็นวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริงด้วย จะมองเห็นความเกิดดับซึ่งเป็นตัวอนิจจะคือไม่เที่ยง จะทำให้มองเห็นทุกข์คือสิ่งที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป จะมองเห็นอนัตตา ว่าเป็นสิ่งที่บังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เป็นไปอยู่อย่างนี้ ดั่งนี้คือรู้จักวิญญาณ รู้จักหมู่แห่งวิญญาณตามพระเถราธิบาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2555    
Last Update : 26 มิถุนายน 2555 9:36:21 น.
Counter : 739 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๐ ความรู้จักนามรูป (๒)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๒๐ ความรู้จักนามรูป (ต่อ)

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ในข้อสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบมาถึงตอนที่ท่านได้แสดงว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จักนามรูป รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป รู้จักความดับแห่งนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งนามรูป และท่านก็ได้แสดงอธิบายไปทีละข้อดังที่ได้แสดงแล้ว และได้แสดงอธิบายขยายความในที่นี้ในข้อแรกคือข้อรู้จักนามรูป ได้แสดงนามมาแล้ว จะได้แสดง รูป ต่อไป

มหาภูตรูป ๔

อันรูปนั้นก็ได้นำมาใช้กันในภาษาไทยเป็นที่รู้จักกัน เช่น รูปร่างหน้าตา รูปกาย ตามศัพท์ คำว่า รูป นั้น แปลว่า ชำรุด สิ่งใดย่อมชำรุด สิ่งนั้นชื่อว่ารูป ตามความหมายก็หมายถึงรูปที่เป็นรูปขันธ์หรือที่เป็นรูปกาย และได้มีแสดงอธิบายไว้เป็น ๒ อย่างตามพระเถราธิบายนั้นเอง ก็คือ มหาภูตรูป กับ อุปาทายรูป

มหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่ ภูตะ ก็แปลว่า สิ่งที่เป็น สิ่งที่มี รูปที่เป็นสิ่งที่มี สิ่งที่เป็นส่วนใหญ่ เรียกว่ามหาภูตรูป ก็ได้แก่ ธาตุทั้ง ๔ ที่ประกอบอยู่ในกายคือในรูปกายนี้อันได้แก่

ส่วนที่แข้นแข็งบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน
ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำ
สิ่งที่อบอุ่นบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุไฟ
สิ่งที่พัดไหวบรรดาที่มีอยู่ในกายนี้ ก็เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม
ธาตุทั้ง ๔ บรรดาที่มีอยู่ในกายนี้นี่แหละคือมหาภูตรูปทั้ง ๔ อันแปลว่า รูป ที่เป็นมหาภูตะ คือที่เป็นธาตุส่วนใหญ่ ประกอบเข้าเป็นกาย เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ กายนี้ก็ย่อมดำรงอยู่คือเป็นกายมีชีวิต เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลายความดำรงอยู่แห่งกายนี้ก็สิ้นไป ชีวิตก็สิ้นไป

การจำแนกธาตุ

ทางพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธาตุทั้ง ๔ นี้อันเป็นส่วนมหาภูตรูปดังกล่าวเป็นกรรมฐาน ดังเช่นที่เรียกว่า ธาตุกรรมฐาน หรือ จตุธาตุววัฏฐานะ กำหนดธาตุทั้ง ๔ และก็ยังได้ตรัสแสดงวิธีพิจารณาธาตุกรรมฐานนี้ จำแนกออกไปเป็นอาการต่าง ๆ สำหรับผู้ปฏิบัติจะได้หยิบยกขึ้นมาพิจารณา แม้ในทางที่เป็นปฏิกูละ คือเป็นปฏิกูลเป็นของไม่สะอาดไม่งดงาม และสำหรับในด้านพิจารณาให้เห็นว่าปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงามนี้ ก็มักยกขึ้นจำแนกในข้อปฐวีธาตุ ธาตุดิน และอาโปธาตุ ธาตุน้ำ เพราะเป็นสิ่งที่พิจารณาเห็นเป็นของปฏิกูลไม่สะอาดได้ง่าย ดังที่ตรัสจำแนกเอาไว้อันเรียกว่า อาการ ๓๒

ปฐวีธาตุ ธาตุดิน

สำหรับที่เป็นส่วน ปฐวีธาตุ ธาตุดิน นั้น ที่ตรัสจำแนกไว้ก็คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทนฺตา ฟัน ตโจ หนัง มํสํ เนื้อ นหารู เอ็น อฏฺฐิ กระดูก อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก วกฺกํ ไต หทยํ หัวใจ ยกนํ ตับ กิโลมรํ พังผืด ปิหกํ ม้าม ปปฺผาสํ ปอด อนฺตํ ไส้ใหญ่ อนฺตคุณํ ไส้เล็กหรือว่าสายรัดไส้ อุทริยํ อาหารใหม่ กรีสํ อาหารเก่า เป็น ๑๙ แต่ได้ตรัสเติมในที่บางแห่งคือ มตฺถเก มตฺถลุงฺคํ ขมองในขมองศีรษะ ก็รวมเป็น ๒๐
นี้เป็นส่วนปฐวีธาตุ ธาตุดิน คือเป็นส่วนที่แข้นแข็ง

อาโปธาตุ ธาตุน้ำ

ส่วนที่เป็น อาโปธาตุ ธาตุน้ำ ตรัสแสดงเอาไว้สำหรับพิจารณาก็คือ ปิตฺตํ น้ำดี เสมฺหํ น้ำเสลด ปุพฺโพ น้ำหนองน้ำเหลือง โลหิตํ น้ำเลือด เสโท น้ำเหงื่อ เมโท มันข้น อสฺสุ น้ำตา วสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฺฆานิกา น้ำมูก ลสิกา ไขข้อ มุตฺตํ มูตร รวมเป็น ๑๒

อาการ ๓๑ หรือ ๓๒

ส่วนที่เป็นปฐวีธาตุเติมขมองศีรษะเป็น ๒๐ กับส่วนที่เป็นอาโปธาตุ ๑๒ ก็รวมเป็นอาการ ๓๒ ดังที่รู้จักกัน แต่ที่ตรัสแสดงไว้โดยมากนั้นเพียงอาการ ๓๑ คือไม่มีข้อขมองในขมองศีรษะ พระอาจารย์แสดงว่ารวมอยู่ในข้อเยื่อในกระดูก อฏฺฐิมิญฺชํ เยื่อในกระดูก หรือว่าอีกนัยหนึ่งรวมอยู่ในข้อ หทยํ หัวใจ ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันในครั้งก่อนว่าเป็นสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึกด้วย เมื่อเติมขมองในขมองศีรษะเข้า จึงเป็นอาการ ๓๒ แม้ส่วนที่เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม ก็ได้มีตรัสจำแนกเอาไว้

เตโชธาตุ ธาตุไฟ

สำหรับที่เป็น เตโชธาตุ ธาตุไฟ ก็คือไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไฟที่ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรม ไฟที่ทำให้ร่างกายเร่าร้อน ไฟที่ย่อยอาหารคือที่ช่วยย่อยอาหารในลำไส้ นี้ก็เป็นเตโชธาตุ ธาตุไฟ

วาโยธาตุ ธาตุลม

ส่วนที่เป็น วาโยธาตุ ธาตุลม ที่ตรัสแสดงไว้สำหรับพิจารณา ก็ได้แก่ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน ลมที่พัดลงเบื้องต่ำ ลมในท้อง ลมในไส้หรือกระเพาะ ลมที่ซัดไปพัดไปตลอดอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย ลมอัสสาสะ ลมหายใจเข้า ลมปัสสาสะ ลมหายใจออก

พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ

สำหรับที่ตรัสสอนให้พิจารณาทางปฏิกูล ไม่สะอาดไม่งดงาม ก็ยกเอาปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ จำแนกออกไปเป็นส่วน ๆ เป็นอาการ ๓๑ หรือ ๓๒ ดังกล่าว สำหรับที่ตรัสจำแนกไว้ครบทุกธาตุ ก็เพื่อให้พิจารณาให้เห็นสักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ควรที่จะยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็นสิ่งเหล่านี้ หรือสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาตัวตนของเรา ก็เป็นอันว่ามหาภูตรูปทั้ง ๔ นี้ หรือว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ ได้ตรัสสอนให้ใช้เป็นกรรมฐานได้ทั้งทางสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน และในการแสดงรูป ก็จำแนกรูปออกเป็นมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือธาตุทั้ง ๔ ดังกล่าวซึ่งกล่าวเป็นส่วนรวม อันได้แก่

ส่วนที่แข้นแข็งก็เป็นมหาภูตรูป ส่วนที่เป็นดิน
ส่วนที่เหลวไหลก็เป็นมหาภูตรูป ส่วนที่เป็นน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นมหาภูตรูป ส่วนที่เป็นไฟ
ส่วนที่พัดไหวก็เป็นมหาภูตรูป ส่วนที่เป็นลม
กล่าวรวม ๆ นี้ หมวดหนึ่งของรูป

อุปาทายรูป รูปอาศัย

อีกหมวดหนึ่งของรูปก็คือ อุปาทายรูป ที่แปลว่า รูปอาศัย คือเป็นรูปที่อาศัยอยู่แห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ เหล่านี้ อันได้แก่

ประสาททั้ง ๕ คือ
สิ่งที่ให้สำเร็จการเห็น เรียกว่า จักขุประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการได้ยิน เรียกว่า โสตประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่น เรียกว่า ฆานประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการทราบรส เรียกว่า ชิวหาประสาท
สิ่งที่ให้สำเร็จการถูกต้อง เรียกว่า กายประสาท

โคจร คืออารมณ์อันเป็นที่เที่ยวไปของประสาททั้ง ๕ นั้น ๕ ก็คือ
รูป ที่เป็นวิสัยของจักขุประสาท
เสียง ที่เป็นวิสัยของโสตประสาท
กลิ่น ที่เป็นวิสัยของฆานประสาท
รส ที่เป็นวิสัยของชิวหาประสาท
โผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องที่เป็นวิสัยของกายประสาท

ภาวะ คือเพศ ๒ ได้แก่
อิตถีภาวะ ภาวะเป็นหญิงหรือเพศหญิง
ปุริสภาวะ ภาวะเป็นชายหรือเพศชาย

ปกิณณกะ ข้อเบ็ดเตล็ด ๔ อันได้แก่
หทัย หมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จความคิดนึก
ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต ได้แก่ความเป็นอยู่ของรูปกาย หรือสิ่งที่ให้รูปกายเป็นอยู่ ดำรงชีวิตอยู่
อาหาร หมายถึงโอชะของอาหารที่บริโภคเข้าไป เป็นโอชะซึมซาบไปเลี้ยงร่างกาย
อากาศ ช่องว่างอันเรียกว่า ปริจเฉทรูป คือเป็นรูปที่สำหรับกำหนดขอบเขตหรือปันขอบเขต เป็นต้นว่า นิ้วทั้ง ๕ ของบุคคลไม่ติดเป็นพืดเดียวกัน แบ่งออกเป็น ๕ นิ้ว มีช่องว่างในระหว่างทั้ง ๕ นิ้ว สิ่งที่ทำให้นิ้วทั้ง ๕ นิ้วนี้แยกกันออกเป็น ๕ นิ้วได้ก็เพราะมีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง ถ้าไม่มีอากาศคือช่องว่างในระหว่างนิ้วทั้ง ๕ นี้ก็จะติดเป็นพืดอันเดียวกันทั้งหมด แต่เพราะมีอากาศคือช่องว่างในระหว่าง จึงได้แบ่งเป็น ๕ นิ้วแยกกันไปได้ เพราะฉะนั้น อากาศจึงเรียกว่าปริจเฉทรูป รูปที่กำหนดตัดเป็นส่วนเป็นชิ้นเป็นอันให้มีขอบเขตของส่วนนั้น ๆ ของร่างกาย

วิญญัตติ ๒ อันได้แก่
กายวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางกาย
วจีวิญญัตติ ความเคลื่อนไหวทางวาจา
ที่เรียกว่าวิญญัตตินั้น เพราะว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดความรู้กันได้โดยใช้กายเคลื่อนไหว ก็เรียกว่า กายวิญญัตติ เช่น ทำมือแสดงความหมายให้เข้าใจกันและเมื่อใช้วาจาพูดสำหรับที่จะให้เข้าใจกันก็เรียกว่า วจีวิญญัตติ

วิการ คืออาการที่ต่าง ๆ กัน ๓ ได้แก่
ความเบาของร่างกาย ร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นี้เบากว่าร่างกายที่สิ้นชีวิตแล้ว
ความอ่อนของร่างกาย คือร่างกายที่มีชีวิตนี้อ่อน เช่น แขนจะยกขึ้นยกลงจะงอแขนจะกางแขนก็ทำได้ ขาก็เหมือนกัน จะยืนจะนั่งจะพับขาจะเหยียดขาก็ย่อมทำได้ มีความอ่อนไม่แข็งกระด้างเหมือนอย่างศพ คือร่างกายของคนตาย
ความควรแก่การงาน คือใช้ร่างกายประกอบการงานต่าง ๆ ได้ตามต้องการใช้มือใช้เท้าเป็นต้นได้ต่าง ๆ ต่างจากร่างกายของคนที่ตายแล้ว เป็นศพไม่ควรแก่การงานใช้ทำการงานอะไรไม่ได้

ลักษณะ ๔ ก็คือ
ความที่เติบโตได้ เติบใหญ่ได้ ดั่งเมื่อแรกเกิดมาก็เป็นเด็กเล็ก ก็เติบโตขึ้นเป็นเด็กใหญ่เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาเป็นต้น
ความสืบต่อ ก็เช่น ผมเก่าหลุดไป ผมใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน เล็บเก่าหมดไป เล็บใหม่ก็งอกขึ้นมาแทน เหมือนอย่างเมื่อโกนผม ผมก็งอกขึ้นมาแทนได้ ตัดเล็บ เล็บก็งอกยาวออกมาได้ เป็นความสืบต่อ
ความชรา คือความชำรุดทรุดโทรม กับ
อนิจจตา ความไม่เที่ยง ก็คือต้องมีเกิดต้องมีดับในที่สุด เกิด ก็คือธาตุมาประชุมกัน ดับ ก็คือว่าธาตุทั้งหลายแตกสลาย เป็นอนิจจตา ความไม่เที่ยง

รูป ๒๘

ทั้งหมดนี้เรียกว่า อุปาทายรูป รูปอาศัย อาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ ซึ่งก็รวมเป็น ๒๕ มหาภูตรูป ๔ อุปาทายรูป ๒๕ ก็รวมเป็น ๒๙ แต่ว่าท่านมักจะตัดโคจร ๕ เหลือ ๔ ในอุปาทยรูป ซึ่งโคจร ๕ นั้นก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ได้แก่รูปอันเป็นวิสัยของจักษุ เสียงอันเป็นวิสัยของโสตะคือหู กลิ่นอันเป็นวิสัยของฆานะคือจมูก รสอันเป็นวิสัยของชิวหาคือลิ้นและโผฏฐัพพะอันเป็นวิสัยของกายะคือกาย ท่านมักจะตัดข้อโผฏฐัพพะนี้ออกเสีย โดยเอาไปรวมเข้าในข้อที่หนึ่ง คือรูปที่เป็นวิสัยของจักษุ เพราะว่าโผฏฐัพพะนั้นก็เป็นรูปเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เมื่อเอาไปรวมกันเข้ากับข้อรูป รูปข้อที่ ๑ นั้นจึงเป็นวิสัยของจักษุด้วย เป็นวิสัยของกายด้วย เพราะฉะนั้น โคจร ๕ จึงเหลือ ๔ เมื่อโคจร ๕ เหลือ ๔ อุปาทายรูปที่มีทั้งหมด ๒๕ จึงเหลือ ๒๔ ฉะนั้น เมื่อรวมเข้ากับมหาภูตรูปอีก ๔ ก็เป็น ๒๘ เพราะฉะนั้นในอภิธรรมจึงมักจะแสดงว่ารูปทั้งหมด ทั้งมหาภูตรูปทั้งอุปาทายรูปมี ๒๘ เหล่านี้คือรูป

สัมมาทิฏฐิ ก็คือรู้จักนามรูป รู้จักนาม รู้จักรูป รู้จักนามก็ได้แก่รู้จักเวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ดังที่ได้กล่าวอธิบายแล้ว รู้จักรูปก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และรู้จักอุปาทายรูปแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 19 มิถุนายน 2555    
Last Update : 19 มิถุนายน 2555 10:18:59 น.
Counter : 678 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๙ ความรู้จักนามรูป

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๑๙ ความรู้จักนามรูป

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ ซึ่งภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน และท่านก็ได้ตอบ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านถึงปริยายคือทางแสดงอื่นต่อไปอีก ซึ่งท่านก็ได้กล่าวตอบดังที่ได้แสดงอธิบายมาโดยลำดับ จนถึงข้อที่จะแสดงในวันนี้ ซึ่งท่านได้แสดงตอบแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็ได้แก่ รู้จักนามรูป รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป รู้จักความดับนามรูป รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป และท่านก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อตั้งแต่ข้อหนึ่งว่า

รู้จักนามรูป ก็คือ
รู้จักนาม อันได้แก่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ
รู้จักรูป ก็คือรู้จักมหาภูตรูปทั้ง ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ นั้น
รู้จักเหตุเกิดแห่งนามรูป ก็คือรู้จักว่า เพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด
รู้จักความดับนามรูป ก็คือรู้จักว่า เพราะวิญญาณดับนามรูปจึงดับ
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับนามรูป ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น
จะได้แสดงอธิบายในข้อ ๑ รู้จักนามรูป

รู้จักนามรูปหรือขันธ์ ๕

รู้จักนาม ก็คือรู้จักเวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ นามนี้ที่คู่กับ รูป อันเรียกว่า นามรูป เป็นศัพท์ธรรมะที่ผู้ศึกษาธรรมะย่อมได้ทราบกันอยู่และได้ฟังกันอยู่ในเทศนาทั้งหลายเป็นอันมาก และโดยทั่วไปก็เป็นคำย่อมาจากขันธ์ ๕ อันขันธ์ ๕ ก็คือกองหรือประชุมทั้ง ๕ อันได้แก่ รูปขันธ์ กองรูป เวทนาขันธ์ กองเวทนา สัญญาขันธ์ กองสัญญา สังขารขันธ์ กองสังขาร วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

พระพุทธเจ้าได้แสดงถึงขันธ์ ๕ ตั้งแต่ในปฐมเทศนา ซึ่งเป็นเทศนาครั้งแรกของพระองค์ซึ่งได้ตรัสโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงขันธ์ ๕ ไว้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ซึ่งได้ตรัสแสดงทุกขสัจจะไว้ เริ่มแต่ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติความเกิดเป็นต้น และได้ทรงแสดงอธิบายชี้สิ่งที่เป็นทุกข์ไปแต่ละข้อ ๆ จนถึงตรัสสรุปโดยย่อ ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แต่ว่าในปฐมเทศนานั้น ได้ตรัสยกขึ้นแสดงชี้ว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

ขันธ์ ๕ เป็นที่ตั้งของวิปัสสนากรรมฐาน

มาถึงเทศนาครั้งที่ ๒ จึงได้ตรัสยกเอาขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้มาตรัสอธิบายว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ และก็ได้ตรัสแสดงอธิบายทางไตรลักษณ์ด้วยวิธีที่ได้ตรัสถามพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ว่า ขันธ์ ๕ ดังกล่าวเที่ยงหรือไม่เที่ยง ท่านทั้ง ๕ ก็กราบทูลตอบว่าไม่เที่ยง ก็ได้ตรัสถามต่อไปว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข ก็กราบทูลว่าเป็นทุกข์ จึงได้ตรัสถามต่อไปว่าก็สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเห็นยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นของเราว่าเราเป็นสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นเป็นอัตตาตัวตนของเรา ท่านทั้ง ๕ ก็ได้กราบทูลว่าไม่ควรที่จะเห็นยึดถืออย่างนั้น พระพุทธองค์จึงได้ตรัสอธิบายเป็นข้อ ๆ ไปว่า

ขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านี้ที่เป็นอดีตล่วงไปแล้ว ที่เป็นอนาคตยังไม่มาถึง ทั้งที่เป็นปัจจุบัน ที่เป็นภายใน ที่เป็นภายนอก ที่หยาบที่ละเอียด ที่เลวที่ประณีต ที่ไกล หรือที่อยู่ใกล้ทั้งหมด ล้วนควรพิจารณาให้เห็นด้วย สัมมัปปัญญา คือปัญญาชอบตามเป็นจริง ว่าไม่ใช่ของเรา เราไม่ใช่เป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นอัตตาตัวตนของเรา

อริยสาวกได้สดับแล้วอย่างนี้ย่อมได้ นิพพิทา คือความหน่ายในขันธ์ ๕ เมื่อได้ความหน่ายก็สิ้นความติดใจยินดี เมื่อสิ้นความติดใจยินดี จิตก็ วิมุตติ หลุดพ้นจากอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงถึงตั้งแต่ในปฐมเทศนา เทศน์ครั้งแรก และมาตรัสอธิบายโดยไตรลักษณ์ในเทศนาครั้งที่ ๒ แก่พระเบญจวัคคีย์ทั้งห้า ท่านทั้ง ๕ เมื่อได้ฟังเทศนาครั้งที่ ๒ จบแล้ว ท่านแสดงไว้ว่า จิตของท่านทั้ง ๕ ก็พ้นจากอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ จึงเป็นข้อที่ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาพึงศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และท่านก็ย่อขันธ์ ๕ นี้เป็น ๒ คือรูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญา สังขารวิญญาณ เป็นนาม แต่เรียกกลับกันว่านามรูป เพราะฉะนั้น ขันธ์ ๕ กับนามรูปนี้จึงเป็นหลักเป็นภูมิเป็นกรรมฐาน สำหรับพิจารณาปฏิบัติทางปัญญาหรือทางวิปัสสนา และก็ควรที่จะได้ทำความเข้าใจว่าทำไมจึงเรียกว่านามรูป สำหรับรูปนั้นก็คงเรียกว่ารูปตามเดิม แต่สำหรับเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณทำไมจึงเรียกว่านาม

นามคือชื่อของภาวะอาการทางกายและใจ

อันคำว่า นาม นี้ใช้เรียกกันหมายถึงว่าเป็น ชื่อ เช่นผู้ที่มีชื่ออย่างนี้ ๆ ก็เรียกว่ามีนามอย่างนี้ ๆ เพราะฉะนั้น จึงใช้ทำความเข้าใจกันง่าย ๆ ว่าที่เรียกว่านามนั้นก็คือมีแต่ชื่อสำหรับเรียก คือสักแต่ว่ามีแต่ชื่อ แต่ไม่มีรูปร่างหน้าตาที่จะให้มองเห็นได้ด้วยตา หรือได้ยินได้ด้วยหู หรือที่จะทราบได้ด้วยกลิ่นด้วยรสด้วยการถูกต้องทางกาย ตรงกันข้ามกับรูปซึ่งเป็นวัตถุอันจะพึงเห็นได้ด้วยตาเป็นต้น ดังกล่าว แต่ว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนั้นไม่มีรูปร่างหน้าตาที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้นดังกล่าว มีแต่นามที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้น แต่โดยอธิบายนี้ ก็ใช้เป็นอธิบายสำหรับทำความเข้าใจรูปธรรมนามธรรมที่พูดกันคือ

รูปธรรม ก็มีรูปร่างที่จะเห็นได้ด้วยตาเป็นต้น
นามธรรม นั้นก็ไม่มีรูปร่าง มีแต่ชื่อเรียกเท่านั้น

นี้เป็นทางอธิบายที่เข้าใจกันทั่ว ๆ ไป แต่ว่าถ้าอธิบายเพียงเท่านี้ก็ยังไม่เข้าใจอีกเหมือนกันว่าที่เป็นชื่อสำหรับเรียกเท่านั้นไม่มีรูปร่างมีแต่นามหรือชื่อแต่ว่าเป็นนามของอะไร ในข้อนี้จึงต้องทำความเข้าใจต่อไป ว่าเป็นนามของภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นทางร่างกายทางจิตใจ ภาวะอาการที่บังเกิดขึ้นดังกล่าวไม่มีรูปร่าง ดังเช่นเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข ที่บังเกิดขึ้นทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่างมีอาการมีภาวะที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข เหมือนอย่างเมื่อถูกแดดก็ร้อน เป็นทุกข์เมื่อได้รับลมก็เย็น เป็นสุข อาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์ทางร่างกายนี้ไม่มีรูปร่างแต่ว่ามีภาวะมีอาการ ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน สัญญาความจำได้หมายรู้ต่าง ๆ จำรูปจำเสียงเป็นต้น ก็เป็นอาการหรือเป็นภาวะทางจิตใจ สัญญาความคิดปรุงหรือความปรุงคิดก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ วิญญาณความรู้รูปทางตาที่เรียกว่าเห็น รู้เสียงทางหูที่เรียกว่าได้ยิน รู้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้สิ่งถูกต้องทางกาย ที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะ รู้เรื่องราวทางใจที่คิดที่รู้ต่าง ๆ ที่เรียกว่ารู้เรื่อง ก็เป็นภาวะอาการทางจิตใจ เพราะฉะนั้นนามจึงเป็นชื่อของอาการหรือภาวะทางจิตใจและร่างกายดังกล่าว

นามเป็นอาการของจิตที่น้อมออกรู้อารมณ์

ก็เป็นอันว่าได้ทำความเข้าใจถึงเรื่องนามธรรมทั้ง ๔ นี้ ก็เข้าไปถึงตัวนามธรรมทั้ง ๔ นี้ แต่ก็ควรจะทราบให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ภาวะอาการของจิตใจทั้ง ๔ ดังกล่าวมานี้เป็นไปอย่างไร และคำว่านามจะมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าชื่อดังที่กล่าวมาแล้วหรือไม่ ในข้อนี้ก็ตอบได้ว่า ยังมีความหมายที่ยิ่งไปกว่าเพียงคำว่าชื่อดังกล่าว คือคำว่า นาม นี้ตามรูปศัพท์ก็เป็นอันเดียวกันกับคำว่า นมะ หรือ นโม ที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ สวดนำในการสวดมนต์ไหว้พระ และสวดนำว่านำการที่จะกล่าวถึงสรณคมน์และศีล คือ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
ที่แปลว่า ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ นั้น

คำว่า นาม ก็มีมูลศัพท์เป็นอันเดียวกัน คือแปลว่า น้อม แต่ว่ามีความหมายว่าเป็นอาการของจิตใจที่น้อมออกไปรู้อารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย คือว่าจิตใจนี้เมื่อแสดงตามอภิธรรม เมื่อไม่มีอารมณ์ย่อมเป็น ภวังคจิต จิตที่อยู่ในภวังค์ ตามศัพท์ก็แปลว่าองค์ของภพ ซึ่งท่านเปรียบเหมือนอย่างน้ำในทะเลมหาสมุทรที่สงบอยู่ในขณะที่ยังไม่มีลมไม่มีคลื่น คือเมื่อไม่มีลมน้ำก็ไม่มีคลื่น สงบเรียบอยู่ จิตโดยปกติเมื่อยังไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคจิต แต่เมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารคือประตุทั้ง ๖ ดังที่ได้เคยอธิบายแล้ว มีอารมณ์มากระทบประตูตาหูจมูกลิ้นกาย และกระทบมโนทวารคือประตูใจ จิตจึงออกจากภวังค์น้อมออกรับอารมณ์

อาการที่จิตน้อมออกรับอารมณ์นี้ ก็รับด้วยวิธีรู้คือรู้อารมณ์ ซึ่งทีแรกก็รู้ในเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกัน ก็รู้รูปที่เรียกว่าเห็นรูป รู้เสียงที่เรียกว่าได้ยินเสียง รู้กลิ่นรู้รสรู้โผฏฐัพพะที่เรียกว่าทราบกลิ่นทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ รู้ธรรมะคือเรื่องราวที่เรียกว่ารู้เรื่องราว ก็ตั้งศัพท์เรียกว่า วิญญาณ
และเมื่ออายตนะภายนอกภายในกับวิญญาณทั้ง ๓ นี้ประชุมกัน ก็เป็นความรู้ที่แรงขึ้นเรียกว่า สัมผัส
เมื่อเป็นสัมผัสความรู้ก็แรงขึ้น เป็นรู้เป็นสุขรู้เป็นทุกข์รู้เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข ที่เรียกว่า เวทนา
แล้วก็รู้จำที่เรียกว่า สัญญา
แล้วก็รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดต่าง ๆ ที่เรียกว่า สังขาร
แล้วจิตก็ตกภวังค์ กลับไปสู่ภาวะที่เป็นพื้น ครั้นเมื่อมีอารมณ์มากระทบทวารทั้ง ๖ นี้อีก จิตก็ออกจากภวังค์มารับอารมณ์ ด้วยวิธีที่รู้ดังกล่าวนี้ เป็นอารมณ์ ๆ ไป แต่ว่าเพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดและรวดเร็วมาก จึงยากที่จะรู้แยกได้ อันนี้เป็นวิถีจิตซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดา อาการที่จิตออกรู้อารมณ์ดังกล่าวนี้แหละเรียกว่า นาม คือว่าจิตน้อมออกไปรู้เหมือนอย่างยื่นมือออกไปจับสิ่งนั้นสิ่งนี้ และเมื่อจับสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วก็กลับมาตามเดิม มีอะไรมาก็จับใหม่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่านาม

นามในพระเถราธิบาย

แต่ว่านามในพระเถราธิบายนี้ ท่านแสดงว่าได้แก่

เวทนา คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
สัญญา ความรู้จำ จำได้หมายรู้
เจตนา ความจงใจ
ผัสสะ คือความกระทบ
มนสิการ การกระทำไว้ในใจ

ก็ขันธ์ ๕ นั่นแหละ แต่ว่าแสดงในที่นี้ที่ซ้ำกับขันธ์ ๕ ก็คือเวทนากับสัญญา ส่วนอีก ๓ คือ เจตนา ผัสสะ มนสิการ ไม่ซ้ำกับขันธ์ ๕ แต่ก็สรุปเข้าได้ในสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด คือเจตนากับมนสิการ ผัสสะนั้นเมื่อเป็นสัมผัสก็เป็นเบื้องต้นของเวทนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่า สรุปเข้าได้ในเวทนา สัญญา สังขาร ส่วนวิญญาณนั้นไม่ได้แสดงอธิบายไว้ในที่นี้ เพราะว่าได้มีแยกออกไปในข้อ ๒ ที่ว่า เพราะวิญญาณเกิด นามรูปจึงเกิด คือนำวิญญาณไปแสดงไว้ในเหตุเกิดของนามรูป ก็วิญญาณเป็นเหตุเกิดของนามรูป เพราะวิญญาณเกิดนามรูปจึงเกิด เพราะฉะนั้นจึงไม่แสดงวิญญาณไว้ในที่นี้ ส่วนรูปนั้นก็ได้แสดงแยกออกไปเป็นมหาภูตรูป ๔ และอุปาทายรูป รูปอาศัยแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 12 มิถุนายน 2555    
Last Update : 12 มิถุนายน 2555 13:13:42 น.
Counter : 775 Pageviews.  

ครั้งที่ ๑๘ ความรู้จักอายตนะ ๖

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๑๘ ความรู้จักอายตนะ ๖

บัดนี้จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเรื่องสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบมาโดยลำดับ เมื่อท่านได้แสดงเถราธิบายจบไปตอนหนึ่ง ๆ ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามท่านว่าจะมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีกหรือไม่ ซึ่งท่านก็ตอบว่ามี ในวันนี้จึงจะได้แสดงต่อไปถึงคำตอบของท่าน สืบต่อจากที่ได้แสดงมาแล้ว คือท่านได้แสดงว่ามีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นอีก คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบก็ได้แก่รู้จัก สฬายตนะ อายตนะ ๖ รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะ ๖ รู้จักความดับอายตนะ ๖ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะ ๖ เมื่อท่านตั้งหัวข้อขึ้น ๔ ข้อดั่งนี้แล้ว ก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปว่า

รู้จักสฬายตนะ อายตนะ ๖ ก็คือรู้จักอายตนะภายในทั้ง ๖ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
รู้จักเหตุเกิดแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักว่าเพราะนามรูปเกิด อายตนะทั้ง ๖ จึงเกิด อายตนะจึงเกิดเพราะเกิดนามรูป
รู้จักความดับแห่งอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักความดับแห่งนามรูป
รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอายตนะทั้ง ๖ ก็คือรู้จักมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เป็นต้น

จะได้อธิบายในข้อแรกคือ อายตนะภายในทั้ง ๖

อายตนะ ๖ เป็นวิปัสสนาภูมิ

อันอายตนะนี้เป็นส่วนของอัตภาพนี้ ซึ่งทางพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงยกขึ้นแสดงสั่งสอนไว้เป็นอันมาก เช่นเดียวกับขันธ์ ธาตุ กล่าวคือ ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ทั้ง ๓ นี้ได้ตรัสแสดงไว้มาก และโดยเฉพาะตรัสแสดงไว้โดยฐานะเป็น วิปัสสนาภูมิ คือภูมิของวิปัสสนา อันเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วิปัสสนากรรมฐาน ผู้ปฏิบัติทางปัญญาคือวิปัสสนาปัญญา ย่อมมีขันธ์ อายตนะ และธาตุเหล่านี้เป็นอารมณ์ คือต้องพิจารณาขันธ์ พิจารณาอายตนะ พิจารณาธาตุ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานจึงต้องอาศัยขันธ์ อายตนะ ธาตุ เป็นอารมณ์ เป็นภูมิคือพื้นฐานของวิปัสสนาอันจะทิ้งเสียมิได้ และอายตนะนี้ก็เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า มีอยู่ ๒ อย่างคู่กัน อันได้แก่อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก

อายตนะภายใน นั้นก็ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ
อายตนะภายนอก นั้นก็ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้องและธรรมะคือเรื่องราว

อายตนะภายในเป็นประตูของจิต

คำว่า อายตนะ นี้แปลว่า ที่ต่อ อันหมายความว่า อายตนะภายในกับอายตนะภายนอกต่อกัน คือตากับรูปต่อกัน หูกับเสียงต่อกัน จมูกกับกลิ่นต่อกัน ลิ้นกับรสต่อกัน กายกับโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องต่อกัน มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวต่อกัน ฉะนั้น จึงเรียกว่าอายตนะ อีกอย่างหนึ่งต่อกับจิตใจ คือจิตนี้ย่อมรับอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย โดยอาศัยต่อกับอายตนะภายในกับภายนอกเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงมีคำเรียกอายตนะภายในทั้ง ๖ ว่า ทวาร อันแปลว่า ช่องทาง หรือแปลว่า ประตู อันหมายความว่า เป็นช่องทางหรือประตูของจิต ที่จิตออกรับอารมณ์คือเรื่อง

อายตนะภายนอก เรียกว่าอารมณ์ ๖

อันคำว่าอารมณ์นั้นได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ทอดถอนถึง ครุ่นคิดถึง นอนเนื่องถึง หรือว่าสิ่งที่จิตคิด ดำริ หมกมุ่น นอนเนื่องถึง อันสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นรูปโดยตรง ไม่ใช่เป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะและเป็นธรรมะคือเรื่องข้างนอกโดยตรง แต่ว่าเป็นสิ่งที่เรียกว่าอารมณ์ ก็แปลว่าเรื่องอีกนั่นแหละ ซึ่งถอดออกมาจากรูปเสียงเป็นต้น เพราะเหตุว่าตัวรูปเสียงเป็นต้นนั้นจะเอาใส่เข้ามาในจิตไม่ได้ เช่นว่าบ้านเรือนที่อาศัยตามองเห็น จะเอาบ้านเรือนจริง ๆ มาใส่ลงไปในจิตไม่ได้ เสียงเป็นต้นก็เหมือนกันจะเอามาใส่เข้าในจิตไม่ได้ สิ่งที่จะเข้าสู่จิตได้จึงเป็นเพียงอารมณ์คือเรื่องของสิ่งเหล่านั้นเท่านั้น อาจเทียบง่าย ๆ เหมือนอย่างกล้องถ่ายภาพ ถ่ายภาพของบ้านเรือนเป็นต้น ภาพของบ้านเรือนนั้นก็มาติดในกล้องถ่ายภาพ ตัวบ้านเรือนจริง ๆ นั้นหาได้เข้าไปในกล้องถ่ายภาพไม่ สิ่งที่ติดอยู่ในกล้องถ่ายภาพนั้น เป็นภาพของบ้านเรือนเป็นต้นเหล่านั้น ภาพก็คือภาวะความเป็นความมีคือเป็นภาวะไม่ใช่เป็นตัวจริง สิ่งที่ตาเห็นเป็นต้นนั้น ก็เช่นเดียวกันไม่ได้เข้าสู่จิตใจ แต่ว่าภาพคือภาวะของสิ่งเหล่านั้นเข้าสู่จิตใจ ซึ่งเปรียบเหมือนเลนส์สำหรับติดภาพ ภาพที่เข้าสู่จิตใจนั้นคืออารมณ์ที่แปลกันว่าเรื่อง เรื่องที่จิตคิดดำริหมกมุ่นทอดถอนใจถึงต่าง ๆ

ถ้าเป็นเรื่องรูปที่เข้าทางทวารตา ก็เรียกว่า รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป
ถ้าเป็นเรื่องเสียงที่เข้าทางทวารหู ก็เรียกว่า สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง
ถ้าเป็นเรื่องกลิ่นก็เรียกว่า คันธารมณ์ ที่เข้าทางทวารจมูก
ถ้าเป็นเรื่องรสก็เรียกว่า รสารมณ์ ที่เข้าทางชิวหาทวาร ทวารลิ้น
ถ้าเป็นเรื่องโผฏฐัพพะก็เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ
ถ้าเป็นเรื่องธรรมะคือเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้นก็เรียกว่า ธรรมารมณ์ อารมณ์ คือเรื่องราวที่เข้าทางมโนทวาร ประตูมโนคือใจ

เพราะฉะนั้น อายตนะภายในทั้ง ๖ จึงเรียกว่า ทวาร ๖ และอายตนะภายนอกจึงเรียกว่า อารมณ์ ๖ อารมณ์ ๖ ก็เข้าทางทวารทั้ง ๖ จิตก็รับอารมณ์ทั้ง ๖ นี้ทางทวารทั้ง ๖ ดังกล่าว

ฉะนั้น เมื่อเรียกว่าทวาร ๖ อันหมายถึงอายตนะภายในทั้ง ๖ อายตนะภายนอกทั้ง ๖ ก็เรียกว่าอารมณ์ ๖ ทวาร ๖ กับอารมณ์ ๖ จึงคู่กัน แต่เมื่อเรียกว่าอายตนะด้วยกันก็เรียกว่าอายตนะภายในอายตนะภายนอกเป็นคู่กัน ก็มี ความหมายในภาษาธรรมดั่งนี้เกี่ยวแก่อายตนะภายในทั้ง ๖ นี้ รวมอยู่ในอัตภาพนี้ซึ่งถือว่าเป็น วิบากอายตนะ เช่นเดียวกับที่เรียกว่า วิบากขันธ์ คือเป็นผลของชนกกรรม กรรมที่ให้เกิดมา เช่นเดียวกับขันธ์ และนับว่าเป็น อพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลาง ๆ ไม่ชื่อว่าเป็นกุศล ไม่ชื่อว่าเป็นอกุศล คือหมายความว่า ตัวอายตนะเองไม่ชื่อว่าเป็นกุศลหรือไม่ชื่อว่าเป็นอกุศลเช่นเดียวกับขันธ์เพราะว่าเป็นวิบากคือเป็นผลของกรรมที่ให้เกิดมาดังกล่าว

อินทรีย์คืออายตนะ ๖

และพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ในเรื่องอายตนะนี้เป็นอันมาก ดังเช่นได้ทรงสั่งสอนให้สำรวมอินทรีย์ ๖ คือสำรวมตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ก็เพราะว่าอายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ เหล่านี้ ยังได้ชื่อว่า อินทรีย์ ที่แปลว่าเป็น ใหญ่ อันหมายความว่า ตาเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูป หูเป็นใหญ่ในทางต่อกับเสียง จมูกเป็นใหญ่ในทางต่อกับกลิ่น ลิ้นเป็นใหญ่ในทางต่อกับรส กายเป็นใหญ่ในทางต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เป็นใหญ่ในทางรับในทางต่อกับธรรมะคือเรื่องราว กับทั้งเป็นใหญ่ในทางต่อกับรูปคู่กันไปกับตา ต่อกับเสียงคู่กันไปกับหู ต่อกับกลิ่นคู่กันไปกับจมูก ต่อกับรสคู่กันไปกับลิ้น ต่อกับโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องคู่กันไปกับกาย คือเป็นใหญ่ในทางต่อคู่กันไปกับอายตนะภายใน ๕ ข้อข้างต้นนั้นด้วย อันหมายความว่าลำพังตาหูจมูกลิ้นกายที่เป็นตัวประสาท คือประสาทตาประสาทหูประสาทจมูกประสาทลิ้นประสาทกาย ทั้ง ๕ นี้อย่างเดียว ต่อกับรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะไม่ได้ ต้องมีมโนคือใจข้อที่ ๖ นี้เข้าประกอบอยู่อีกด้วยจึงจะต่อได้ ดังที่เคยยกตัวอย่างมาให้ฟังแล้ว เช่นว่าในบัดนี้กำลังแสดงและหูก็กำลังฟัง แต่ว่าต้องมีมโนคือใจตั้งใจที่จะฟังด้วย หูจึงจะได้ยินเสียงที่แสดงนี้ แต่ถ้าใจไม่ตั้งฟังคำที่แสดงนี้ คือส่งใจไปเสียในที่อื่นเมื่อใด หูก็ดับเมื่อนั้น คือว่าฟังไม่ได้ยิน ต่อเมื่อใจกลับมาตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ หูจึงจะไม่ดับฟังได้ยิน นี่ยกตัวอย่างเพียงหู แต่ไม่ใช่เพียงหูอย่างเดียว แม้ตาจมูกลิ้นและกายก็เช่นเดียวกัน มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้ จะต้องตั้งที่จะดูที่จะทราบกลิ่น ทราบรส ที่จะทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้องด้วย จึงจะมองเห็น จึงจะทราบกลิ่น ทราบรส จึงจะทราบโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น มโนคือใจข้อที่ ๖ นี้จึงสำคัญย่อมเป็นใหญ่คู่กันไปกับอินทรีย์ ๕ ข้างต้นด้วย และเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน คือในทางที่จะต่อกับธรรมะคือเรื่องราวด้วย

ทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์หรือมีสติ

พระพุทธเจ้าได้สั่งสอนให้มี อินทรียสังวร คือความสำรวมอินทรีย์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมนะคือใจ โดยที่เมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น ก็ไม่ยึดถือสิ่งเหล่านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนยินดียินร้าย เพราะเมื่อยึดถือ ความยินดียินร้าย บาปอกุศลธรรมทั้งหลายย่อมไหลเข้าสู่ใจหรือสู่จิต ต่อเมื่อมีความสำรวมอยู่ไม่ยึดถือสิ่งที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นเหล่านั้น ก็ย่อมตกอยู่แค่ตาแค่หูในภายนอกเท่านั้นไม่ไหลเข้าสู่จิตใจ และความสำรวมนี้ก็คือตัวสติ เพราะฉะนั้น สติจึงเป็นเหมือนอย่างนายทวารบาลคือนายประตู เมื่อมีสติอยู่ สตินี้ก็เหมือนอย่างเป็นนายประตูที่จะรับหรือไม่รับบุคคลที่เข้าประตู ถ้าเป็นผู้ร้ายก็ไม่รับให้เข้า ถ้าเป็นผู้ดีเป็นมิตรญาติสหายผู้ที่นำความดีเข้ามาก็รับ สตินี้เองจึงเป็นตัวอินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ ก็เพราะว่าทวารทั้ง ๖ นี้เป็นทวารทั้งของส่วนดีทั้งของส่วนไม่ดี

อารมณ์ที่เข้ามาทางทวาร ๖ ทำให้ตัณหาฟุ้งขึ้น

ว่าถึงส่วนไม่ดีนั้น ก็ได้แก่ ตัณหานุสัยทั้งหลาย คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน เช่นตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ที่ดองจิตสันดาน หรือตัณหานุสัยต่าง ๆ ที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นต่าง ๆ ตัณหานุสัยเหล่านี้ย่อมฟุ้งขึ้น ในเมื่อมีอายตนะภายนอกเข้ามากระทบกับอายตนะภายใน หรืออีกชื่อหนึ่งก็เพราะอารมณ์ต่าง ๆ ที่มาทางทวารทั้ง ๖ เหล่านั้น

เมื่อเป็นอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของ ราคะ ราคานุสัย อนุสัยคือราคะก็ฟุ้งขึ้นมาจับอารมณ์เหล่านั้น เกิดราคะ ความติดใจ นันทิ ความเพลิดเพลินยินดีต่าง ๆ
เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของ ปฏิฆะ หรือ โทสปฏิฆะ ปฏิฆานุสัย ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความขัดเคืองกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้น
เมื่ออารมณ์เหล่านั้นเป็นที่ตั้งของ โมหะ ความหลง อวิชชานุสัย ก็ฟุ้งขึ้นมาเป็นความหลงต่าง ๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อดูข้างนอกเข้ามา จึงย่อมปรากฏว่า อายตนะภายในทั้ง ๖ หรือทวารทั้ง ๖ นี้มีเรื่องอยู่เป็นอันมาก ตาก็ต้องการจะดูต่าง ๆ ในสิ่งที่อยากจะดู หูก็อยากจะฟังต่าง ๆ ในสิ่งที่อยากจะฟัง จมูกก็อยากที่จะได้ทราบกลิ่นต่าง ๆ ที่อยากจะได้ ลิ้นก็อยากที่จะได้ทราบรสต่าง ๆ ที่อยากจะทราบ กายก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่าง ๆ ที่อยากจะถูกต้อง มโนคือใจก็อยากที่จะคิดเรื่องต่าง ๆ ที่อยากจะคิด ก็คืออาศัยกิเลสเหล่านี้ กองราคะโทสะโมหะ หรือว่ากองตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะว่าล้วนแต่ทำให้ใจเกิดดิ้นรนทะยานไปทั้งนั้นซึ่งเป็นลักษณะของตัณหา เพราะฉะนั้น คนในโลกนี้จึงต้อพยายามทำต่าง ๆ ที่จะเสนอสนองความต้องการของตา ของหู ของจมูก ของลิ้น ของกาย และของมนะคือใจ ยกตัวอย่างเอาเพียงตาอย่างเดียว รูปที่งดงามต่าง ๆ หรือความงามต่าง ๆ ของรูปจะเป็นรูปกาย หรือว่าเป็นรูปของบ้านเรือนสิ่งต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นความต้องการของตา ที่ต้องการจะดูจะเห็นสิ่งที่เห็นว่าสวยงาม จึงต้องมีการแสวงหา มีการจัดทำ มีการตกแต่ง เพื่อที่จะให้ถูกลูกตาของตน เพื่อที่จะให้ตนเองหรือเพื่อที่จะให้ผู้อื่น ๆ ได้เห็นว่างาม เป็นต้น เพียงแต่เรื่องของลูกตาอย่างเดียวก็ต้องวุ่นวายกันอยู่เป็นอันมาก ยังจะเรื่องของหูของจมูกของลิ้นของกายของใจเองซึ่งเป็นตัวต้นอีกมากมาย เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ ว่ามีสัตว์อยู่ ๖ จำพวก คือว่า

งู ก็มุ่งที่จะเลื้อยไปสู่จอมปลวก
จระเข้ ก็วิ่งไปลงแม่น้ำ
นก ก็บินไปในอากาศ
ไก่ ก็บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัยอยู่
สุนัขจิ้งจอก ก็วิ่งไปสู่ป่าช้าเพื่อที่จะได้กัดกินซากศพ
ลิง ก็วิ่งไปอยู่บนต้นไม้ ฉันใดก็ดี
ตา ก็มุ่งจะดูรูปต่าง ๆ เหมือนอย่างงูที่เลื้อยไปสู่จอมปลวก
หู ก็อยากจะฟังเสียงต่าง ๆ เหมือนอย่างจระเข้ที่วิ่งไปสู่แม่น้ำ
จมูก ก็อยากที่จะทราบกลิ่นต่าง ๆ เหมือนอย่างนกที่บินไปในอากาศ
ลิ้น ก็อยากที่จะได้รสต่าง ๆ เหมือนอย่างไก่ที่บินไปสู่บ้านที่ตัวอาศัย
กาย ก็อยากที่จะถูกต้องสิ่งถูกต้องต่าง ๆ เหมือนอย่างสุนัขจิ้งจอกวิ่งไปสู่ป่าช้าเพื่อที่จะได้กัดกินซากศพ
มโน คือใจก็วิ่งไปในเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนอย่างวานรหรือลิงที่วิ่งหลุกหลิกไปอยู่บนต้นไม้

เพราะฉะนั้น จึงมีสัตว์ต่าง ๆ เหล่านี้ ๖ ชนิด วิ่งไปบ้างบินไปบ้างเพ่นพ่านไปทั้งหมดในจิตใจของบุคคลก็เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างมีสัตว์เหล่านี้ คือเรื่องของตาหูจมูกลิ้นกายใจนี่แหละ วิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ อาการที่จิตใจวิ่งเพ่นพ่านไปอยู่ดั่งนี้ ก็คืออาการที่เรียกว่า ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากต่าง ๆ เป็นไปโดยอำนาจของราคะ หรือโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างหรืออวิชชาบ้าง เป็นต้น

ใช้สติและปัญญากำหนดรู้กระแสของตัณหา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้มีความสำรวมอินทรีย์ ให้มีสติพร้อมทั้งมีปัญญากำหนดรู้ ว่าอาการที่เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนอย่างบุคคลที่ตกลงไปสู่กระแสน้ำ และก็พอใจเสียด้วยในกระแสน้ำนั้น ๆ พอใจที่จะลอยคอที่จะว่ายน้ำเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น และก็ตรัสเปรียบเทียบเอาว่า กระแสน้ำที่คนตกลงไปนั้น หรือที่คนกระโดดลงไปนั้น ก็คือกระแสตัณหา คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และอาการที่ชอบใจพอใจสนุกสนานเพลิดเพลินที่จะลอยคอที่จะว่ายเล่นอยู่ในกระแสน้ำนั้น ก็ได้แก่ตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี่แหละ ที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่า ปิยรูป สาตรูป คือเป็นสิ่งที่เป็นที่รัก เป็นสิ่งที่สำราญก็เพราะว่าตัณหานั้นก็อาศัยตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจนี้เอง ไม่ใช่อาศัยอะไรอื่นดังที่กล่าวมาแล้ว และก็พอใจเสียด้วย ทั้งนี้ก็โดยที่ไม่รู้ว่าในกระแสน้ำคือกระแสตัณหาที่ใช้ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจสำหรับที่จะวิ่งเพ่นพ่านเพลิดเพลินติดอกติดใจอยู่นั้น เป็นกระแสน้ำอันประกอบด้วยภัยอันตราย โดยที่เมื่อปล่อยให้ลอยไปก็จะยิ่งจมลงไปในห้วงน้ำลึกอันเป็นตัวสังโยชน์ทั้งหลาย อันประกอบด้วยคลื่นอันเป็นตัวโทสะ โกธะ ความโกรธ อุปายาสะ ความคับแค้นใจทั้งหลาย อันประกอบด้วยวังวนได้แก่กามคุณทั้งหลาย อันประกอบด้วยสัตว์ร้ายผีเสื้อน้ำทั้งหลาย อันได้แก่ความที่ติดใจกันอยู่ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของกามเหล่านั้น เป็นบุคคลก็ตามเป็นวัตถุสิ่งของก็ตาม เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือน เมื่อได้ฟังเตือนแล้วก็จะได้สติว่ายทวนกระแสเข้าฝั่งได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๙ มกราคม ๒๕๒๘

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2555    
Last Update : 4 มิถุนายน 2555 11:31:44 น.
Counter : 986 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.