Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๘ ลักษณะพุทธศาสนา - พระรัตนตรัย

ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



พระพุทธคุณ

พระรัตนตรัย รัตนะทั้ง ๓ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ พระบรมศาสดาในพุทธศาสนาคือพระพุทธเจ้า คำว่าพระพุทธเจ้านี้มิใช่เป็นพระนามเดิมของบุคคล คือสิทธัตถราชกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา แต่ว่าเป็นเนมิตกนาม คือเป็นพระนามซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งนิมิตคือเครื่องกำหนดหมายแห่งความตรัสรู้ของสิทธัตถราชกุมาร เพราะคำว่าพุทธะแปลว่า ผู้ตรัสรู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ผู้ปลุกให้ตื่น จึงมาใช้นามว่าพระพุทธเจ้าหรือพระพุทธะ ไม่ใช้พระนามเดิมว่าสิทธัตถะ เมื่อเรียกว่าสิทธัตถราชกุมารและเมื่อเรียกว่าพระพุทธเจ้า ความรู้สึกของบุคคลผู้เรียกย่อมต่างกัน ฉะนั้นจึงควรจะรู้จักลักษณะของพระพุทธะผู้พระบรมศาสดาในพุทธศาสนา

พระพุทธคุณซึ่งเป็นเครื่องแสดงลักษณะพิเศษที่เราสวดกันอยู่ก็คือ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ อรหํ ก็คือพระอรหังหรืออรหันต์ ผู้ไกลกิเลส ผู้ควรไหว้บูชา สมฺมาสมฺพุทฺโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้เป็นพระพุทธคุณ เป็นนามที่แสดงลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าอยู่ในถ้อยคำอย่างสมบูรณ์ สัมมา ก็แปลว่า โดยชอบ สัม ก็แปลว่าเอง พุทธ ก็คือตรัสรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ หรือตรัสรู้ชอบเอง เพราะฉะนั้นคำนี้จึงเป็นคำแสดงว่าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง และตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้องสมบูรณ์ และข้อนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้เองแล้วในปฐมเทศนา ซึ่งได้เคยย่อความมากล่าวแล้ว ซึ่งในปฐมเทศนานั้นก็ได้แสดงไว้ชัดเจนตามเหตุและผลของการตรัสรู้ คือได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ ก็โดยที่ตั้งแต่เสด็จออกผนวช ก็ปฏิบัติรพระองค์เองอยู่ในศีล มีสัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ซึ่งเป็นส่วนศีลอยู่ และครั้นเมื่อได้ทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่เคยทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมารดังกล่าวนั้น ก็ทรงเห็นว่าทางนั้นจะเป็นทางแห่งสมาธิอันถูกต้อง จึงได้ทรงเริ่มจับปฏิบัติทำสมาธิไปตามทางนั้นกำหนดลมหายใจเข้าออกอย่างบริสุทธิ์ ก็เป็นอันว่าได้ทรงได้สัมมาสติได้สัมมาสมาธิขึ้นโดยลำดับ สัมมาวายามะเพียรชอบนั้นเล่าก็ได้ทรงพากเพียรอย่างยิ่งมาโดยลำดับแล้ว แต่ว่าเมื่อยังไม่พบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความเพียรนั้นก็ยังไม่เป็นสัมมาโดยแท้ คือยังไม่ชอบโดยแท้ แต่ครั้นเมื่อได้จับทางที่ถูกของจิตใจ เริ่มพบทางที่เป็นสัมมาสมาธิ มีสัมมาสติ ความเพียรก็เป็นสัมมาคือโดยชอบขึ้น ฉะนั้นจึงได้มีจักขุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้ อาโลกคือความสว่าง ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อนในอริยสัจทั้ง ๔ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คำนี้เองคือคำว่าจักษุดวงตาผุดขึ้นเป็นต้น ก็เป็นอันว่าทรงได้สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ นั่นเป็นตัวปัญญาในธรรมที่มิได้เคยสดับมาแล้วก่อนคำนี้ก็ชี้ว่ามิได้ทรงฟังมาจากใคร ผุดขึ้นเอง เมื่อเป็นดั่งนี้ ปัญญาที่ผุดขึ้นในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นปัญญาที่ผุดขึ้นแก่พระองค์เอง ไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนมาก่อน อันนี้เป็นความตรัสรู้เองและโดยชอบคือถูกต้อง นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลาย ความตรัสรู้ของพระองค์ผุดขึ้นเองในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อนคืออริยสัจทั้ง ๔ จึงไม่ทรงมีเทวดาไม่ทรงมีมนุษย์เป็นครูบาอาจารย์มาบอกกล่าวไว้ก่อน เป็นปัญญาผุดขึ้นเอง จึงเป็นสัมมาสัมพุทโธผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ และความตรัสรู้เองโดยชอบนี้ก็ปรากฏแก่พระองค์เอง และก็มาปรากฏแก่ผู้อื่นและแก่โลก ตั้งแต่เมื่อพระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรมขึ้นเมื่อได้ฟังปฐมเทศนาจบแล้ว จึงเป็นเครื่องยืนยันว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เพราะฉะนั้นคำว่าสัมมาสัมพุทธะนี้จึงเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นผู้ตั้งพุทธศาสนา แสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้ โดยที่มีแสดงพุทธไว้ ๓ คือสัมมาสัมพุทธะ ปัจเจกพุทธะ และอนุพุทธะ ซึ่งจะได้อธิบายต่อไปในเมื่อถึงพระสงฆ์

ฉะนั้นพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายจึงมิใช่เป็นศิษย์ของใครทั้งเทวดาทั้งมนุษย์ แต่ทรงเป็นพระสยัมภูคือเป็นผู้เป็นเอง ผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ความตรัสรู้ขึ้นเองนั้นเล่าก็ด้วยได้ทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา และได้ทรงปฏิบัติมาโดยสมบูรณ์ จึงมีปัญญาผุดขึ้นแก่พระองค์เองในอริยสัจทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น อันปัญญาที่ผุดขึ้นเองนี้ ในเมื่อจับทางที่ถูกได้ ย่อมมีถึงในสมัยปัจจุบัน ดังที่ปรากฏแก่นัดคิดค้นซึ่งได้พบความรู้ซึ่งใช้ประโยชน์อยู่ในปัจจุบันเป็นอันมาก ก็คล้ายกัน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นในเมื่อจับทางปฏิบัติที่ถูก เพราะฉะนั้นอันความรู้ที่ผุดขึ้นเองนี้จึงเป็นสิ่งที่มีได้แก่นักปฏิบัติคิดค้นที่จับทางถูก จึงได้พบความรู้ที่ไม่เคยรู้กันมาก่อน แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ พระพุทธเจ้ามิได้เป็นเพียงผู้ที่ตรัสรู้เองชอบเท่านั้น และมิได้เป็นศิษย์ของเทวดาและมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์อีกด้วย ดังพระพุทธคุณบทที่ว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงนับว่าพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเอกในโลก คำว่าเอกก็คือพระองค์เดียวซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ขึ้นเอง ไม่มีใครมากระซิบบอกหรือไม่มีใครมาบอกธรรมแก่พระองค์ จะเป็นเทวดาก็ตามเป็นมนุษย์ก็ตาม แต่พระองค์กลับทรงเป็นศาสดาของเทพและมนุษย์ทั้งหลาย นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธเจ้า

พระธรรมคุณ

คราวนี้มาถึงพระธรรม ลักษณะของพระธรรมในพุทธศาสนานั้น ก็ตั้งต้นแต่เป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ดังที่ยกขึ้นแสดงในปฐมเทศนาก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และในโลกจะรู้จักพระธรรมก็เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงนำพระธรรมมาแสดงสั่งสอน เพราะฉะนั้นพระธรรมในพระพุทธศาสนา ตั้งต้นแต่พระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ คือความจริงที่พระองค์ได้ตรัสรู้ จึงได้มีแสดงไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า ธาตุนั้นตั้งอยู่ เป็นธรรมฐิติ ความตั้งอยู่แห่งธรรม เป็นธรรมนิยาม เป็นธรรมที่กำหนดได้แน่นอนด้วยปัญญา คือข้อที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ข้อนี้เป็นสัจจะคือความจริงที่ตั้งอยู่ จึงเรียกว่าธรรมฐิติ พระตถาคตพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่อุบัติขึ้น ข้อนี้ก็ตั้งอยู่ คือข้อที่ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา แต่ว่าพระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ครั้นตรัสรู้แล้วจึงนำมาเปิดเผยแสดงกระทำให้แจ้งให้โลกได้รู้จักความจริงข้อนี้ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นธรรมที่เป็นตัวความจริงที่ตั้งอยู่นี้จึงเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ตลอดมา พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นความจริงข้อนี้ก็ยังตั้งอยู่ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าก็ได้มาตรัสรู้ความจริงข้อนี้อันเป็นความจริงที่ตั้งอยู่นั้นเอง แต่อาศัยที่ความจริงที่ตั้งอยู่นี้เป็นธรรมนิยาม คือกำหนดได้ด้วยปัญญาให้รู้จักได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสรู้ได้ และเมื่อตรัสรู้แล้วก็นำมาแสดงสั่งสอนได้ เพราะฉะนั้นธรรมในพุทธศาสนานั้นจึงจับตั้งแต่ธรรมฐิติ ความจริงที่ตั้งอยู่ที่ดำรงอยู่ ไม่มีกาลไม่มีเวลา ตั้งอยู่ดำรงอยู่ตลอดไป ถึงแม้ว่าไม่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติขึ้นคือมาตรัสรู้ ธรรมฐิตินี้ก็ยังเป็นธรรมฐิติคือยังตั้งอยู่อย่างนี้นั้นแหละ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้านั้นจึงเป็นผู้ที่มาตรัสรู้พระธรรมที่ตั้งอยู่แล้ว ความจริงที่ดำรงอยู่แล้วนี้แหละ แล้วก็ทรงนำมาแสดงเปิดเผยชี้แจงแสดงให้แจ้งให้โลกเข้าใจ และธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาแสดงสั่งสอนนี้ ก็ทรงแสดงสั่งสอนในบุคคลนี้เองไม่ใช่ในที่อื่น ดังที่มีแสดงไว้ในพระสูตร (โรหิตัสสสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๕ หน้า ๘๙) หนึ่งว่า ได้ทรงบัญญัติโลก บัญญัติเหตุเกิดโลก บัญญัติความดับโลก บัญญัติทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจนี้เอง คำว่าโลกในที่นี้ท่านแสดงว่าหมายถึงทุกข์ที่แสดงโดยทั่วไป คือทรงแสดงให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็คืออริยสัจ ๔ นี้เอง ทรงแสดงที่กายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจของทุกๆ คนนี้แหละ ไม่ได้ทรงแสดงที่ไหน เมื่อทรงแสดงภายในดั่งนี้ ทุกคนจึงสามารถรู้ได้ และก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นจริงได้และปฏิบัติได้ เพราะว่าธรรมที่ทรงบัญญัติดังกล่าวนี้ โลกหรือทุกข์ก็เป็นผล เหตุเกิดโลกหรือเกิดทุกข์ก็เป็นเหตุ ความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นผล ทางปฏิบัติให้ถึงความดับโลกหรือดับทุกข์ก็เป็นเหตุ รวมความก็เป็นผลหรือเหตุในด้านเกิดทุกข์หรือเกิดโลก เป็นผลและเป็นเหตุในด้านดับทุกข์และดับโลก ทั้งหมดนี้อยู่ในกายยาววาหนึ่งซึ่งมีสัญญามีใจครองของทุกๆ คน เพราะฉะนั้นอาการที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนจึงมี ๓ อย่างคือสอนให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น สอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้สอนมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติได้รับผลสมจริง

ประการแรกอันทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ก็เป็นผลและเหตุที่รู้ยิ่งเห็นจริงได้ เพราะมีอยู่ในตนเองในบุคคลนี้เอง ดับทุกข์และปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ผลและเหตุส่วนนี้ก็ยิ่งรู้เห็นจริงได้และก็เป็นเหตุเป็นผล โดยในอริยสัจนี้ยกผลขึ้นก่อนแล้วจึงยกเหตุ เป็นผลและเหตุที่ตรองตามให้เห็นจริงได้แล้วก็ปฏิบัติได้ คือปฏิบัติในการที่จะกำหนดรู้ทุกข์ ที่จะละเหตุเกิดทุกข์ จะทำให้แจ้งความดับทุกข์ และที่จะปฏิบัติอบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ให้เกิดขึ้นได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นจึงสั่งสอนอยู่ในภายใน ปฏิบัติได้อยู่ในภายใน รู้ยิ่งเห็นจริงได้เองทุกๆ คน มีเหตุตรองตามให้เห็นได้จริงทุกๆ คน ปฏิบัติได้ผลสมจริงทุกๆ คน เพราะไม่ได้สอนในภายนอก สอนในภายใน แล้วก็เป็นเหตุเป็นผลที่ตรองตามให้เห็นได้ปฏิบัติได้ นี้เป็นลักษณะพิเศษของธรรมของพระพุทธเจ้า อีกประการหนึ่งพุทธศาสนานั้นได้แสดงธรรมที่เป็นเหตุและผล ซึ่งเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมคือปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น หากจะจับตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นเหตุและผลย้อนขึ้นไป ต้นเหตุก็จะพบอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นตัวเหตุที่ให้เกิดสังขารเป็นต้น และทุกๆ อย่างเป็นอันดับมาเพราะฉะนั้นผู้สร้างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็คือตัวอวิชชาคือความไม่รู้ และสืบมาเป็นตัณหาเป็นอุปาทานเป็นกรรม ฉะนั้นจะสิ้นทุกข์ได้ก็ต้องทำลายผู้สร้าง คืออวิชชาเสีย เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้แล้ว ก็ดับสังขารดับตัณหาอุปาทานกรรมและทุกๆ อย่าง สิ้นทุกข์ได้ ซึ่งเป็นธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งโยงกันไปอย่างละเอียด รวมความเข้าแล้วก็คือว่าตัวผู้สร้างใหญ่ก็คืออวิชชา ซึ่งทางพุทธศาสนานั้นต้องละต้องดับเสียจึงจะพ้นทุกข์ได้ ก็ดับได้ด้วยวิชชาคือความรู้ก็ต้องปฏิบัติอบรมวิชชาคือความรู้ให้เกิดผุดขึ้นมา

พระสังฆคุณ

และมาถึงพระสงฆ์ ซึ่งเป็นหมู่ผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้านั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นสูงสุดก็คือเป็นผู้ได้ปัญญาคือความรู้ในอริยสัจ ๔ ดับกิเลสและกองทุกข์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า แต่ว่าต่างจากพระพุทธเจ้าโดยที่มิได้ตรัสรู้เอง เป็นผู้ตรัสรู้ตาม คือเมื่อฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติแล้วก็ปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติตามก็ได้ปัญญารู้แจ้งขึ้น ตั้งต้นแต่ได้ปัญญาเห็นธรรม จนถึงตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ ตามพระพุทธเจ้า ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน แต่พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่ตรัสรู้เองชอบและทรงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงได้ปัญญาที่ตัดกิเลสและกองทุกข์ตามพระพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน เป็นผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกัน แต่ว่ารู้ตามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้รู้ด้วยพระองค์เองและทรงแสดงสั่งสอน พระสงฆ์เป็นผู้ที่รู้ตาม แต่ก็ต้องปฏิบัติให้รู้ด้วยตัวเองเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงมิใช่เป็นผู้ที่มีแต่ศรัทธาคือความเชื่อแต่ไม่มีปัญญาคือความรู้ แต่ว่ามีปัญญาคือความรู้ได้ด้วยตนเอง คือรู้ตามพระพุทธเจ้า ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน และก็ปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้เหมือนกัน ต่างแต่ว่าเป็นผู้รู้ตามพระองค์ เป็นสาวกของพระองค์ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นผู้ที่เข้าถึงมรรคผลนิพพานได้เช่นเดียวกัน จึงได้เรียกพระสงฆ์ว่าอนุพุทธคือเป็นผู้รู้ตาม

พระพุทธนั้นมี ๓ คือพระสัมมาสัมพุทธ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ คือเป็นผู้ที่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น พระปัจเจกพุทธคือพระผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แต่จำเพาะพระองค์ ไม่สั่งสอนใครให้รู้ตาม ไม่ตั้งพุทธศาสนาขึ้น และพระอนุพุทธ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม ได้แก่พระสงฆ์สาวกผู้ที่ได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้าได้ นี้เป็นลักษณะแห่งพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์

๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๖

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์ จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ



Create Date : 06 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2553 13:20:45 น. 1 comments
Counter : 1033 Pageviews.

 
สวัสดีครับ แวะมาทักทายครับ

สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว


โดย: MaFiaVza วันที่: 6 พฤศจิกายน 2553 เวลา:16:33:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.