Group Blog
 
All Blogs
 

๘. ไตรสรณคมน์ (ต่อ)



หลักพระพุทธศาสนา

๘. ไตรสรณคมน์

ย่อความเดิม

ไตรสรณคมน์ การถึงสรณะ ๓
ได้จำแนกอธิบายเป็น ๓ ข้อ คือ ข้อที่ ๑ วัตถุที่ถึง ข้อที่ ๒ วิธีที่ถึง ข้อที่ ๓ การถึงเป็นสรณะ ในข้อที่ ๓ ได้เล่าประวัติของบุคคลผู้ถึงสรณะในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ต้น จนถึงพระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้พระสาวกให้อุปสมบทกุลบุตรได้เอง ด้วยวิธีสอนนำให้ว่าบทไตรสรณคมน์

ดำเนินความต่อไปว่า ต่อมาเมื่อพระสาวกมีมากขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เลิกวิธีที่พระสาวกให้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ ทรงสั่งให้สงฆ์เป็นผู้ให้อุปสมบทด้วยวิธีเสนอญัตติแล้วสวดประกาศ ๓ จบ (ญัตติจตุตถกรรมวาจา สวดประกาศกรรม ๔ จบรวมทั้งญัตติ) เมื่อสงฆ์รับรองแล้วก็เป็นภิกษุขึ้น และทรงสั่งให้ใช้วิธีรับไตรสรณคมน์เป็นวิธีบรรพชาสามเณร แต่ในทางปฏิบัติจะอุปสมบทเป็นภิกษุได้ก็ต้องบรรพชาเป็นสามเณรก่อนด้วยรับไตรสรณคมน์

การถึงเป็นสรณะตามที่เล่ามานี้ ประมวลลงได้โดยย่อเป็น ๒ คือ

ก. ถึงเป็นสรณะด้วยใจด้วยความรู้
ข. แสดงตนออกว่าถึงเป็นสรณะ

ก่อนที่จะแสดงต่อไป จะกล่าวสรุปในข้อทั้ง ๒ นี้ก่อน

ก. ถึงเป็นสรณะด้วยใจด้วยความรู้นั้น รวมความว่าตั้งใจถึงด้วยความเชื่อความเลื่อมใส ประกอบด้วยมีความรู้ซาบซึ้งในพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ อันเกิดจากการศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนา ถ้าเพียงใจศรัทธาเลื่อมใสแต่ขาดปัญญารู้คุณพระรัตนตรัยใจที่ถึงก็ยังไม่มั่นคง ยังอาจสงสัยลังเลใจ อาจเปลี่ยนแปลงได้ ต่อเมื่อมีปัญญารู้คุณพระรัตนตรัย เพราะรู้พระพุทธศาสนา ใจที่ถึงจึงจะหยั่งลงถึงราก หรือเข้าถึงแก่นของไตรสรณคมน์

ข. แสดงตนออกว่าถึงเป็นสรณะนั้น รวมความว่าแสดงตนเข้าเป็นพุทธบริษัท หรือเป็นพุทธศาสนิกชน คือเป็นภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พุทธมามกะ พุทธมามิกา หรือแสดงความนับถือฝักใฝ่ใจในพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนา กล่าวโดยย่อคือ

พุทธบริษัทฝ่ายบรรพชิต (นักบวช) เป็นด้วยการอุปสมบทตามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ในพระวินัย

พุทธบริษัทฝ่ายคฤหัสถ์ (ชาวบ้าน) เป็นด้วยการปฏิญาณตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา พุทธมามกะ พุทธมามิกา หรือแม้ไม่ปฏิญาณตนอย่างนั้น แต่ตั้งใจสมาทานคือรับไตรสรณคมน์ว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ เป็นต้น เมื่อรับไตรสรณคมน์ก็เป็นพุทธศาสนิกชนขึ้น การรับสรณคมน์นี้จะรับจากผู้ที่มีสรณคมน์เช่นพระภิกษุก็ได้ ตั้งใจสมาทานคือตั้งใจถึงด้วยลำพังตนเองเมื่อไรก็ได้ ไม่มีจำกัด

อีกอย่างหนึ่ง แม้มิได้สมาทานคือรับไตรสรณคมน์อย่างนั้น แต่แสดงอาการว่านับถือพระรัตนตรัย นับถือพระพุทธศาสนา ก็ใช้ได้เหมือนกัน เช่นทำความเคารพ ทำการบริจาค ฟังพระธรรมโดยเคารพ ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย สวดมนต์ ภาวนา ปฏิบัติพระพุทธศาสนา

วิธีตามที่แสดงมา ต่างเป็นวิธีแสดงตนออกว่าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ การถึงสรณะ ๓ ในชั้นต้นมักถึงด้วยข้อ ก. คือถึงด้วยใจด้วยความรู้ก่อน กล่าวคือเมื่อได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า เกิดความรู้สึกซาบซึ้งในพระธรรมขึ้นแล้ว จึงถึงด้วยข้อ ข. คือแสดงตนเป็นพุทธบริษัท

นับถือมาก่อนเกิด

แต่ในชั้นหลัง เมื่อพระพุทธศาสนาตั้งมานานเข้าจนเป็นศาสนาประจำตระกูล ประจำท้องถิ่น ประจำประเทศชาติ คนที่เกิดมาในภายหลังมักถึงไตรสรณคมน์ด้วยข้อ ข. คือแสดงตนว่าเป็นพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกชนก่อนที่จะรู้พระพุทธศาสนารู้คุณพระรัตนตรัย อาจเรียกว่าเป็นพุทธศาสนิกชนมาตั้งแต่ก่อนเกิดก็ได้ มีตัวอย่างตั้งแต่ในครั้งพุทธกาล ดังที่มีเล่าไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า โพธิราชกุมาร พระราชโอรสของพระเจ้าอุเทน กรุงโกสัมพี ได้ทรงฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้าแล้ว กราบทูลมีความว่า พระพุทธเจ้าน่าอัศจรรย์จริง พระธรรมน่าอัศจรรย์จริง พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระธรรมน่าอัศจรรย์จริง มหาดเล็กผู้ตามเสด็จชื่อสัญชิกาบุตรได้กราบทูลขึ้นว่า พระราชกุมารทรงประกาศอย่างนั้นจึงเป็นอันว่าทรงถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ พระราชกุมารตรัสห้ามว่าอย่าพูดอย่างนั้น แล้วได้ตรัสประกาศว่า ทรงได้ฟังมาจากพระราชมารดาว่า สมัยหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ครั้งนั้นพระราชมารดาทรงครรภ์พระองค์อยู่ ได้เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า พระราชกุมารหรือพระราชกุมารีในพระครรภ์ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอให้พระพุทธเจ้าทรงจำไว้ว่าพระราชกุมารหรือพระราชกุมารีในพระครรภ์เป็นอุบาสกหรืออุบาสิกา ถึงสรณะตั้งแต่บัดนี้ไปจนตลอดชีวิต นี้เป็นการถึงสรณะครั้งที่ ๑ อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในมิคทายวันในภัคคชนบท พระราชกุมารยังทรงพระเยาว์ พระพี่เลี้ยงได้อุ้มนำเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วกราบทูลแทนพระราชกุมารว่า พระราชกุมารถึงสรณะเหมือนอย่างนั้นนี้เป็นครั้งที่ ๒ ครั้นทรงเล่าเรื่องนี้แล้ว ได้ทรงประกาศพระองค์ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะทรงแสดงพระองค์เป็นอุบาสกถึงสรณะตลอดชีวิต โพธิราชกุมารได้ถึงสรณะ ๓ ครั้งอย่างนี้ ในครั้งที่ ๑ ตั้งแต่ยังไม่ประสูติ ยังอยู่ในพระครรภ์ พระราชมารดาทรงประกาศถึงแทน ในครั้งที่ ๒ เมื่อทรงพระเยาว์ พระพี่เลี้ยงประกาศถึงแทน ในครั้งที่ ๓ เมื่อได้ทรงฟังพระธรรมแล้วประกาศถึงด้วยพระองค์เอง

สรณะคมน์ที่ง่อนแง่นและไม่ง่อนแง่น

ผู้ที่ถึงไตรสรณะ เป็นพุทธศาสนิกชนตามสายตระกูลเป็นต้น ดังเรื่องที่เล่ามานี้ บางทีไม่รู้จักพระพุทธศาสนา หรือรู้น้อยมาก เพราะมิได้สนใจสดับศึกษาพระพุทธศาสนา จึงเป็นการนับถืออย่างหลับตา ไม่รู้ว่าสิ่งที่นับถืออยู่นั้นเป็นอย่างไร อาจจะปล่อยหรือเปลี่ยนเสียเมื่อไรก็ได้ ถึงไม่ปล่อยหรือเปลี่ยนก็นับถืออยู่สักแต่ว่าชื่อเท่านั้น เพราะไม่มีความรู้และการปฏิบัติพระพุทธศาสนา ต่อเมื่อสนใจสดับศึกษา ให้มีความรู้พระพุทธศาสนา ให้รู้คุณพระรัตนตรัย จึงจะเป็นการนับถืออย่างลืมตา คือรู้เห็นว่าวัตถุที่นับถือนี้เป็นดวงรัตนะอันเอกอุดมแท้จริง เหมือนอย่างลืมตาดูสิ่งที่กำลังถืออยู่ในมือมาตั้งแต่เกิด เห็นว่าเป็นเพชรแท้ก็จักไม่ทิ้งหรือเปลี่ยนแลกกับเพชรเทียมอะไรอื่นๆ พุทธศาสนิกชนหรือพุทธบริษัทประเภทใดก็ตาม คือจะเป็นภิกษุหรือสามเณรก็ตาม จะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ที่ยังไม่มั่นคง ยังคลางแคลงอยู่ในพระรัตนตรัยที่เป็นสรณะของตน ก็เพราะยังไม่รู้ซาบซึ้งในคุณพระรัตนตรัยเพราะมิได้ศึกษาให้รู้ซาบซึ้งในพระพุทธศาสนา ถ้ารู้ซาบซึ้งดังกล่าวแล้วก็จักมั่นคงไม่คลอนแคลนในสรณะของตน เพราะเป็นการถึงด้วยข้อ ก. คือด้วยใจด้วยความรู้ซึ่งเป็นการที่หยั่งลงถึงรากหรือถึงแก่นพระรัตนตรัย เมื่อประกอบด้วยการถึงในข้อ ข. คือแสดงตนเป็นพุทธบริษัทประเภทใดประเภทหนึ่ง ก็สำเร็จเป็นไตรสรณคมน์ที่สมบูรณ์ เป็นพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกชนที่สมบูรณ์ เช่นเป็นภิกษุสามเณรที่สมบูรณ์ เป็นอุบาสกอุบาสิกาที่สมบูรณ์

สรณคมน์ขาด

ผู้ที่ถึงไตรสรณะแล้วจะขาดจากไตรสรณคมน์เพราะไปเข้าศาสนาอื่น อันเรียกว่าอัญญสัตถุทเทส แปลเข้าใจง่ายๆ ว่าการขึ้นครูอื่น ผู้ที่ถึงไตรสรณะนั้นเป็นผู้ขึ้นครูพระพุทธเจ้าคือนับถือพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาหรือบรมครู แต่เมื่อประมาทเปลี่ยนไปขึ้นครูอื่นเสียไตรสรณคมน์ก็ขาด

นอกจากนี้ เมื่อให้ความเคารพนับถือสิ่งอื่นผู้อื่นยิ่งกว่าพระรัตนตรัย ไตรสรณคมน์ก็ขาด เมื่อกล่าวติกล่าวตู่พระธรรมวินัยด้วยความตั้งใจ ไตรสรณคมน์ก็ขาด

สรณคมน์เศร้าหมอง

ไตรสรณคมน์อาจเศร้าหมอง แต่ไม่ถึงขาด เพราะเหตุดังต่อไปนี้

อญาณะ ไม่รู้ไม่เข้าใจในพระรัตนตรัย ในพระพุทธศาสนา แสดงตนเป็นพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนิกชนไปอย่างไม่รู้ ทั้งไม่ศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนา
สงสัย เคลือบแคลง ลังเลใจ โลเลใจ ไม่แน่นอน ในการถึงสรณะของตน

มิจฉาญาณะ รู้ผิดเข้าใจผิด เช่นเข้าใจพระรัตนตรัยหรือวัตถุที่เนื่องด้วยพระรัตนตรัยเป็นอย่างเทพเจ้าหรือของขลัง และเข้าใจการถึงสรณะอย่างการไปขอให้ช่วยอำนวยโชคลาภ ปัดรังควาน รักษาโรค เป็นต้น

มิจฉาปวัตติ ปฏิบัติผิดไปจากพระพุทธเจ้า คือปฏิบัติไปในทางอื่น เช่นในทางไสยศาสตร์ ที่เสียหลักพระพุทธศาสนา

อนาทระ ประพฤติอย่างไม่เอื้อเฟื้อเป็นต้นในพระรัตนตรัย เช่นไม่เอื้อเฟื้อเคารพนับถือ แสดงอาการอย่างเฉยเมยคล้ายรังเกียจหมิ่นแคลน คล้ายไม่เห็นเป็นสำคัญ และประพฤติอย่างประมาทล่วงเกินอื่นๆ ที่เป็นการขาดความเคารพ

ผู้ที่ขาดจากไตรสรณคมน์ ก็ขาดจากความเป็นพุทธศาสนิกหรือพุทธบริษัท แต่ก็อาจมาเข้าเป็นพุทธบริษัทอีกได้ด้วยกลับมาถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ แต่มีเว้นบางจำพวก คือภิกษุที่ไปขึ้นครูอื่น คือไปเข้ารีตถือศาสนาอื่นทั้งที่เป็นภิกษุ ก็ขาดจากภิกขุภาวะทันที และจะกลับมาอุปสมบทอีกไม่ได้ตลอดชีวิต แต่ถ้าไม่บวชเพียงแต่ขอถึงไตรสรณะอีก ท่านไม่ห้าม

ส่วนไตรสรณคมน์ที่เศร้าหมอง เมื่อแก้เหตุที่ทำให้เศร้าหมองได้ ก็จักหายเศร้าหมอง กลับบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา ให้รู้ซาบซึ้งเข้าไปถึงคุณพระรัตนตรัย แก้ความเคลือบแคลงลังเลใจ มั่นคงในสรณะของตน และเมื่อศึกษารู้พระพุทธศาสนาว่าพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ทำอะไร ให้เว้นอะไร ก็แก้การปฏิบัติที่ผิดให้ถูกตามพระพุทธศาสนา มีความเอื้อเฟื้อเคารพในพระรัตนตรัยให้พอเหมาะสมควร การกระทำดังที่กล่าวมานี้เป็นเหตุทำให้ไตรสรณคมน์บริสุทธิ์ผุดผ่อง ย่นย่อลงคือศึกษาให้รู้ และปฏิบัติให้ถูกตรงกับพระพุทธศาสนา พระรัตนตรัยเป็นสรณะของตนได้จริงก็ด้วยเหตุนี้

พุทธานุภาพ

คนทั่วๆ ไปที่ยังไม่สำเร็จเป็นพระอริยบุคคล ยังนับถือมงคลและอานุภาพต่างๆ ภายนอกอยู่ เมื่อมานับถือพระพุทธศาสนา ก็นับถือพระรัตนตรัยเป็นมงคลและนับถือในอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย ถึงจะเรียนรู้เท่าไรก็ยังนับถือกันอยู่ เป็นเหมือนๆ กันเช่นนี้ทุกกาลสมัย ดังมีเรื่องที่พระอาจารย์ในภายหลังเขียนเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์ มคธรัฐ ได้เกิดภัย ๓ ประการขึ้นในกรุงไพสาลี รัฐวัชชี ที่อยู่ห่างจากกรุงราชคฤห์ประมาณ ๘ โยชน์ คือทุพภิกขภัย ภัยเกิดจากขาดแคลนอาหาร เพราะฝนแล้งทำนาไม่ได้ คนจึงพากันอดอยากล้มตาย อมนุสสภัย ภัยเกิดจากอมนุษย์ เพราะเมื่อคนพากันล้มตายทิ้งซากศพไว้ ก็เชื่อกันว่ามีอมนุษย์คือพวกผีปีศาจมากินซากศพ จึงเกิดภัยที่ ๓ ตามมา คือโรคภัย ภัยเกิดจากโรค เพราะได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นแก่ประชาชน ประชาชนได้พากันร้องต่อคณะผู้ปกครองรัฐ อันเรียกว่าราชาเสมอกัน ว่าภัยเหล่านี้จักเกิดขึ้นเพราะปกครองโดยไม่เป็นธรรม คณะเจ้าผู้ปกครองได้ยอมให้ประชาชนไต่สวน ประชาชนได้ไต่สวนแล้วไม่เห็นโทษของคณะเจ้าผู้ปกครอง จึงร่วมกันคิดหาวิธีระงับภัย บางคนแนะนำให้เชิญศาสดาเจ้าลัทธิต่างๆ บางคนแนะนำให้เชิญเสด็จพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลสุขแก่สัตว์โลกทั้งปวง ทรงมีพระพุทธานุภาพมาก ในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงพร้อมกันให้เชิญเสด็จพระพุทธเจ้า จึงส่งทูตไปเฝ้าพระเจ้าพิมพิสาร กรุงราชคฤห์ และเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเชิญเสด็จมายังกรุงไพสาลี พระพุทธเจ้าทรงรับอาราธนา เสด็จออกจากกรุงราชคฤห์พร้อมกับพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ครั้นเสด็จถึงแม่น้ำคงคาที่เป็นแม่น้ำปันเขตรัฐทั้ง ๒ ได้เสด็จขึ้นเรือพระที่นั่งขนานข้ามแม่น้ำ เมื่อเรือพระที่นั่งถึงฝั่งรัฐวัชชี พอเสด็จลงจากเรือ เหยียบพระบาทลงบนฝั่งรัฐวัชชี ฝนได้ตกลงมาห่าใหญ่น้ำนองแผ่นดิน พัดพาซากศพและสิ่งปฏิกูลทั้งหลายลงแม่น้ำคงคา ชำระพื้นแผ่นดินให้สะอาดหมดจดทั่วกรุงไพสาลี ภัยต่างๆ ก็สงบโดยฉับพลัน พระพุทธเจ้าได้เสด็จเข้ากรุงไพสาลี ได้ทรงแสดงพระรัตนสูตร ได้ประทับอยู่ในกรุงไพสาลี ทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนประชาชนประมาณกึ่งเดือน จึงเสด็จกลับ

วิธีแก้การนับถือพระอย่างเทพเจ้า

เรื่องนี้ พระอาจารย์ได้เล่าเป็นตำนานของพระรัตนสูตร แสดงพระพุทธานุภาพนำพระสูตร ใจความของพระรัตนสูตรก็แสดงพระรัตนตรัยนั้นเอง แม้ในปัจจุบันนี้คนทั่วๆ ไปก็ยังนับถือในมงคล ในอานุภาพต่างๆ ตามปกติวิสัยของสามัญชน แต่ถ้านับถืออยู่ในภายนอกก็อาจนำให้ปฏิบัติผิดจากพระพุทธศาสนา ใกล้ไปในทางนับถือพระเป็นเทพเจ้าผู้บันดาลต่างๆ ทางที่จะแก้ไขมีทางเดียว คือศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนา จนเปลี่ยนจากนับถือสิ่งภายนอกต่างๆ มานับถือเหตุผลตามที่เป็นจริง หรือนับถือความจริงตามเหตุและผล ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ ดังที่แสดงแล้วข้างต้น กล่าวโดยสรุปคือตามหลักอริยสัจจ์ตามที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องสรณะ เมื่อนับถือหนักมาทางเหตุผลหรือความจริงตามเหตุผล เพราะรู้ตระหนักในพระพุทธศาสนาขึ้น การปฏิบัติก็เข้าทางที่ชอบประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือเห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๖ ว่า “ใครเดินทางชอบมีองค์ประกอบ ๘ รวมกันเป็นทางเดียวนี้แล คือพุทธศาสนิก”

เห็นชอบ ก็คือเห็นถูก เพราะรู้จริงตามเหตุผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง เมื่อมีเห็นชอบ ดำริชอบเป็นต้นก็มีตามกัน แต่ดำริชอบเป็นต้นก็อาจช่วยให้เห็นชอบขึ้นได้ ตกว่าองค์ประกอบทั้ง ๘ ต้องอาศัยพึ่งพิงกัน จะขาดเสียสักข้อหนึ่งมิได้ ต้องใช้ในกิจทั้งปวง เช่นจะทำเลขก็ต้องมีเห็นชอบจึงจะทำได้ถูก จะตอบปัญหาทุกอย่างได้ถูกต้องก็ต้องมีเห็นชอบ จะรู้ดีชั่วผิดถูกเท็จจริงเทียมหรือแท้ก็ต้องมีเห็นชอบ จะรู้ซาบซึ้งพระพุทธศาสนาตลอดจนถึงคุณพระรัตนตรัยก็ต้องมีเห็นชอบ การศึกษาทุกอย่างจนถึงการศึกษาพระพุทธศาสนาด้วยวิธีฟังพระธรรมเทศนาเป็นต้น ก็เพื่ออบรมให้เห็นชอบนี้เอง

การถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ที่พูดเพื่อเข้าใจง่ายๆ ว่าการเข้าพึ่งพระรัตนตรัย โดยตรงคือเข้าพึ่งพระพุทธศาสนาที่ชี้ทางที่ถูกให้แก่ตน เมื่อเห็นทางที่ถูกแล้วก็ต้องปฏิบัติไปในทางที่ถูกนั้นด้วยตนเองจึงจะได้รับผล เหมือนอย่างต้องเรียนเองจึงจะรู้ ต้องบริโภคเองจึงจะอิ่ม เมื่อพึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะอย่างนี้ ก็จะกลับเป็นผู้พึ่งตนเองได้ เพราะตนเองจะทวีความดีขึ้นทุกที จนเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ไตรสรณคมน์จึงสัมฤทธิ์ผลอย่างนี้แล

โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

จตฺตาริ อริยสจฺจานิ สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ
เห็นอริยสัจจ์ ๔ ด้วยปัญญาชอบ

เอตํ โข สรณํ เขมํ เอตํ สรณมุตฺตมํ
สรณคมน์นี้ของผู้นั้น เป็นสรณะอันเกษม เป็นสรณะอันอุดม

เอตํ สรณมาคมฺม สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ
ผู้นั้นอาศัยสรณะนี้จะพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้


๒๒ สิงหาคม ๒๕๐๒


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2553    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:12:09 น.
Counter : 3026 Pageviews.  

๘. ไตรสรณคมน์



หลักพระพุทธศาสนา

๘. ไตรสรณคมน์

ไตรสรณคมน์


ได้แสดงแล้วว่า พระพุทธศาสนาเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง คนอาจพึ่งพระพุทธศาสนาเป็นหลักดำเนินชีวิตให้พ้นภัย อย่างน้อยก็พ้นภัยที่เกิดจากตนเอง เพราะตนไม่ประพฤติก่อภัยเวรขึ้นตามหลักพระพุทธศาสนา ฉะนั้น คนที่ต้องการสรณะ ที่พึ่งที่ถูกที่ดีจริง เมื่อได้พบพระพุทธศาสนา จึงมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส และนับถือพระพุทธศาสนา ด้วยการถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อันรวมเรียกว่าพระรัตนตรัยหรือพระไตรรัตน์ เป็นสรณะของตน การถึงดังกล่าวนี้เรียกว่า ไตรสรณคมน์ ไตรสรณะ แปลว่า สรณะ ๓ คมน์ แปลว่า การถึง ไตรสรณคมน์ แปลว่าการถึงสรณะ ๓ อธิบายว่า ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะครบทั้ง ๓

บทบาลีสำหรับตั้งใจถึง หรือสำหรับเปล่งวาจาพร้อมด้วยตั้งใจถึง ว่าดังนี้

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ทุติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๒ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตติยมฺปิ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ

ตติยมฺปิ ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ตติยมฺปิ สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
แม้วาระที่ ๓ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ

ไตรสรณคมน์นี้เป็นสาเหตุทำให้คนเป็นพุทธศาสนิกผู้นับถือพระพุทธศาสนา ทุกประเภท ทั้งเด็กผู้ใหญ่ ทั้งหญิงชาย ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต ใครมีไตรสรณคมน์ก็เป็นพุทธศาสนิกชนขึ้นทันที เมื่อไตรสรณคมน์ขาดความเป็นพุทธศาสนิกชนก็ขาดทันทีเหมือนกัน ฉะนั้น จึงเป็นข้อสำคัญข้อแรกที่ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้อง

ในการถึงสรณะ ๓ นี้ ควรทำความเข้าใจในวัตถุ (ที่ตั้ง) ที่ถึง ๑ วิธีถึง ๑ การเป็นสรณะ ๑

ไตรวัตถุ

ข้อ ๑ วัตถุที่ถึง
คำว่าวัตถุในที่นี้ มิได้หมายความว่าพัสดุสิ่งของ แต่หมายความว่าที่ตั้งของการถึงหรือที่ถึง เพราะการถึงทุกๆ อย่างนั้นต้องมีที่ถึง เหมือนอย่างทุกๆ คนมาถึงบ้านหรือวัด บ้านหรือวัดก็เป็นวัตถุ คือที่ตั้งของการถึง แม้ในการทำอะไรทุกๆ อย่างก็มีวัตถุที่ตั้งของการทำว่าเพื่ออะไร ดังที่เรียกว่าวัตถุประสงค์ วัตถุที่ตั้งของการถึงสรณะก็คือพระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังได้แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ โดยลำดับ คำว่าพระรัตนตรัย หรือพระไตรรัตน์ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ไตรวัตถุ วัตถุ ๓ พระรัตนตรัยเป็นวัตถุที่ควรถึงเป็นสรณะโดยแท้ แม้เช่นนี้คนที่ไม่รู้จักพระคุณว่าเป็นรัตนะดวงแก้วอันประเสริฐที่มีคุณค่าเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง ก็ผ่านเลยไปเปล่าๆ ถึงจะได้พบพระองค์พระพุทธเจ้าเมื่อยังทรงดำรงอยู่ก็ชื่อว่าไม่ได้พบ เหมือนอย่างอุปกะอาชีวก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ ส่วนคนที่รู้พระคุณว่าเป็นพระรัตนอันประเสริฐจริงจึงจะรู้จักว่าเป็นวัตถุที่พึงถึงเป็นสรณะ เหมือนอย่างพระปัญจวัคคีย์เป็นต้น ทางที่จะรู้พระคุณนั้นในบัดนี้ก็ยังมีอยู่ไม่แตกต่างจากเมื่อครั้งพุทธกาล คือจะรู้ได้ด้วยวิธีศึกษาให้รู้พระพุทธศาสนาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดังที่แสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ ที่ ๖ เมื่อศึกษาให้เข้าใจพระพุทธศาสนาจนรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้จริง บริสุทธิ์จริง มีพระกรุณามากจริง พระธรรมทรงบอกแสดงดีจริง พระสงฆ์ปฏิบัติดีจริง ก็ชื่อว่าได้รู้พระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นรัตนะดวงแก้วอันประเสริฐจริง เป็นวัตถุที่ควรถึงเป็นสรณะได้จริง ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นรัตนากรบ่อเกิดแห่งรัตนะอันประเสริฐทั้งปวง มีสาระแก่นสารบริบูรณ์ เพียงพอที่จะเป็นสรณะที่พึ่งของชีวิตได้ ผู้ที่ได้สดับศึกษาพระพุทธศาสนาให้รู้ซาบซึ้งแล้วย่อมอดอยู่มิได้ที่จะต้องเกิดความเคารพนอบน้อมพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้วทรงแสดงพระธรรมเป็นพระศาสนา ดังบทนโมว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น บางทีคนที่ไม่รู้จักพระองค์ของพระพุทธเจ้า ไม่รู้จักพระประวัติ แต่เมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจนเห็นจริง ที่เรียกว่าเห็นพระธรรม ก็ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า คือเห็นว่าท่านผู้บอกแสดงได้อย่างนี้แหละ เป็นพระพุทธเจ้าคือผู้ตรัสรู้จริง และเกิดความเคารพนอบน้อมแด่ท่านผู้บอกแสดงผู้เป็นต้นเดิม ผู้นั้นจะเป็นใครก็ตาม การศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นทางให้ทราบวัตถุที่พึงถึงเป็นสรณะอย่างนี้

วิธีถึง

ข้อที่ ๒ วิธีถึง
วิธีถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะนั้น โดยตรงคือศึกษาพระพุทธศาสนาให้มีความซาบซึ้งถึงคุณของพระพุทธเจ้า ถึงคุณของพระธรรม ถึงคุณของพระสงฆ์ แสดงตนเป็นผู้นับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งอย่างสูงสุด และนับถือพระพุทธศาสนาเป็นหลักปฏิบัติของตนตามภูมิตามชั้น การศึกษาพระพุทธศาสนาให้มีความรู้ซาบซึ้งถึงคุณของวัตถุทั้ง ๓ เป็นหัวใจของการถึง เพราะการถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์นั้น มิใช่เป็นการถึงด้วยกาย แต่เป็นการถึงด้วยจิตใจ ด้วยความรู้ ยกตัวอย่างเช่น ในสมัยเมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์อยู่ ถ้าจะมีใครคอยตามเสด็จใกล้ชิดพระองค์จนถึงจับผ้าสังฆาฏิของพระองค์ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ผู้มีศรัทธาได้สร้างพระพุทธปฏิมาไว้เป็นอันมาก ใครที่ใกล้ชิดพระพุทธปฏิมาที่ประดิษฐานตั้งไว้บูชาในที่ต่างๆ หรือห้อยพระพุทธปฏิมาไว้ที่คอของตน เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระพุทธเจ้า ใครที่เข้าไปในหอพระไตรปิฎก เข้าไปใกล้ตู้พระธรรม หรือหยิบหนังสือพระธรรมถือไว้ด้วยมือ หรือสักพระธรรมเป็นยันต์ต่างๆ ไว้ตามตัว เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระธรรม หรือใครที่เข้าไปหาพระสงฆ์ ดังเช่นเข้าไปหาพระภิกษุสงฆ์ผู้กำลังประชุมกันอยู่ก็ดี เข้าไปหาพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งก็ดี เพียงเท่านี้ก็ยังไม่ชื่อว่าถึงพระสงฆ์ ต่อเมื่อได้ศึกษาพระพุทธศาสนา จนคุณของพระพุทธเจ้าซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระพุทธเจ้า คุณของพระธรรมซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระธรรม คุณของพระสงฆ์ซาบซึ้งถึงใจ ใจซาบซึ้งถึงคุณของพระสงฆ์ เห็นคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ปรากฏชัด เหมือนอย่างเข้าไปถึงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มองเห็นองค์พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรประจักษ์ชัดแก่ตา อย่างนี้จึงชื่อว่าถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ ต้องถึงอย่างนี้ก่อนแล้วจึงจักถึงท่านเป็นสรณะที่พึ่งอย่างสูงสุดของตนได้โดยถูกต้อง ถ้าไม่ถึงอย่างนี้ก่อน การถึงท่านเป็นสรณะก็ถึงไม่ถูกท่าน คือถึงไม่ถูกพระพุทธเจ้า ถึงไม่ถูกพระธรรม ถึงไม่ถูกพระสงฆ์ จึงถือเป็นสรณะในทางที่ผิดกันไปต่างๆ

การถึงด้วยจิตใจด้วยปัญญานี้ มิใช่มีเฉพาะการถึงพระรัตนตรัย แต่มีในการถึงทางใจทั่วๆ ไป ดังเช่นความเป็นมิตรหรือความเป็นศัตรูก็เกิดจากจิตใจของฝ่ายหนึ่ง จนไปปรากฏถึงในจิตใจของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจะเกิดเป็นมิตรหรือเป็นศัตรูของกันขึ้น ถ้ายังไม่ปรากฏถึงในจิตใจของกันแล้วก็ยังไม่รู้กัน ยังไม่เกิดเป็นอย่างไรแก่กัน แม้จะไปในที่ใดโดยปกติ จิตใจก็ไปถึงก่อน เช่นจะมาฟังเทศน์ใจก็คิดมาก่อนแล้ว เมื่อกำลังฟังเทศน์ถ้าจิตใจไม่คิดถึงเทศน์ คือหูฟังแต่จิตใจไม่ฟัง แต่คิดไปถึงเรื่องอื่น ก็ชื่อว่าไม่ถึงเทศน์ ต่อเมื่อจิตใจฟังเทศน์ด้วยจึงชื่อว่าเทศน์ เหล่านี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าการถึงทางใจมีประกอบอยู่ในเรื่องทั่วๆ ไป

โดยเฉพาะ การถึงพระรัตนตรัยต้องเป็นการถึงด้วยจิตใจ ด้วยความรู้ซาบซึ้งในคุณพระรัตนตรัย อันเกิดจากต้นทางคือศึกษาให้รู้ให้เข้าใจซาบซึ้งพุทธศาสนาดังกล่าวแล้ว การถึงด้วยจิตใจด้วยความรู้ดังนี้ เป็นรากแก้วของการถึงพระรัตนตรัย แต่ก็เป็นเรื่องในจิตใจของแต่ละคน ยังไม่แสดงออกให้ประจักษ์แก่ใคร ถึงเช่นนั้น เมื่อศรัทธาความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส และความเคารพนับถือ มีท่วมท้นอยู่ในจิตใจแล้ว ก็อดอยู่มิได้ที่จะแสดงออกมาให้ประจักษ์แก่ผู้อื่น ว่าตนเป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ เป็นสรณะ คือที่พึ่งอันสูงสุด ด้วยวิธีต่างๆ

การถึงสรณะ

ข้อที่ ๓ การถึงเป็นสรณะ
การถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น ประสงค์ว่าถึงเป็นสรณะที่พึ่งอันสูงสุด จึงมาถึงปัญหาว่าทำอย่างไรจึงเรียกว่าถึงเป็นสรณะ คำว่าถึงเป็นสรณะ คือถึงเป็นที่พึ่ง พูดอย่างไทยๆ ว่าเข้าไปพึ่ง การถึงเป็นสรณะนั้นพิจารณาดูพุทธศาสนประวัติทั่วไปแล้วประมวลลงโดยย่อได้เป็น ๒ คือ

ก. ถึงเป็นสรณะด้วยใจด้วยความรู้
ข. แสดงตนออกว่าถึงเป็นสรณะ

การถึงทั้ง ๒ ประการนี้มีประกอบกันอยู่ จึงเป็นการถึงที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะข้อ ก. เมื่อมีขึ้นจริงแล้วก็เป็นเหตุให้มีข้อ ข. ตามกันมา ส่วนข้อ ข. อาจมีเพราะทำตามๆ กันก็ได้ แต่ถ้าไม่มีข้อ ก. ก็เหมือนต้นไม้ไม่มีแก่น ปรากฏในประวัติพระพุทธศาสนา ว่าท่านที่พึ่งพระรัตนตรัยเป็นสรณะย่อมถึงด้วย ๒ ประการนี้ประกอบกัน

ตัวอย่าง

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม เมื่อราตรีวันวิสาขปุณณมี ณ ควงไม้พระมหาโพธิแล้ว ได้ประทับนั่งเสวยวิมุตติสุข (สุขอันเกิดแต่วิมุตติ ความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง) ณ ภายใต้ร่มไม้พระมหาโพธินั้น ๑ สัปดาห์ ในสัปดาห์ที่ ๒ ได้เสด็จไปประทับนั่งภายใต้ร่มไม้ไทร ในสัปดาห์ที่ ๓ ได้เสด็จไปประทับนั่งภายใต้ร่มไม้จิก ในสัปดาห์ที่ ๔ ได้เสด็จไปประทับนั่ง ณ ภายใต้ร่มไม้เกต ในระหว่างสัปดาห์นี้ พาณิช ๒ คนชื่อ ตปุสสะ ๑ ภัลลิกะ ๑ เดินทางมาจากอุกกลชนบทถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธเจ้าจึงนำข้าวสัตตุผง ข้าวสัตตุก้อนซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าทรงรับเสวยเสร็จแล้ว พาณิช ๒ คนกราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ เป็นปฐมอุบาสกผู้เปล่งวาจาถึงรัตนะ ๒ คือพระพุทธเจ้ากับพระธรรมเป็นสรณะ เพราะยังไม่มีพระสงฆ์ พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงแสดงพระธรรม แต่ก็ได้ทรงบรรลุพระธรรมแล้ว และพาณิชทั้ง ๒ คนนั้นก็น่าจะคิดว่าได้ทรงบรรลุพระธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง การถึงสรณะของพาณิชทั้ง ๒ คนนี้ ถึงด้วยข้อ ก. คือด้วยใจที่เลื่อมใส เพราะได้เห็นพระฉวีวรรณและอากัปกิริยาเป็นต้นของพระพุทธเจ้า ทำให้เห็นว่าต้องทรงบรรลุธรรมอย่างสูง แต่ยังไม่มีความรู้ เพราะพระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน และถึงด้วยข้อ ข. คือแสดงตนออกมาว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต

ในสัปดาห์ที่ ๕ ได้เสด็จกลับไปประทับนั่ง ณ ร่มไม้ไทรอีก ได้ทรงพิจารณาถึงพระธรรมที่ได้ตรัสรู้ว่าเป็นพระคุณอันลึก ยากที่คนจะรู้ตามได้ เกือบทอดพระหฤทัยที่จะทรงสั่งสอน แต่อาศัยพระกรุณาจึงทรงพิจารณาอีก ได้ทรงเห็นหมู่สัตว์ว่าเป็นต่างๆ กัน หมู่สัตว์ที่เป็นเวไนยผู้รับแนะนำก็มี เหมือนอย่างดอกบัวสามเหล่า จึงทรงอธิษฐานตั้งพระหฤทัยเพื่อจะทรงแสดงพระธรรม ทรงพิจารณาหาผู้ที่เป็นเวไนยสมควรจะรับเทศนาครั้งแรก จึงเสด็จไปทรงแสดงปฐมเทศนา อันเรียกสั้นๆ ว่าพระธรรมจักร โปรดฤษีปัญจวัคคีย์ ในวันอาสาฬหปุณณมี ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๕ (พระพุทธศาสนา) เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาจบแล้ว ฤษีโกณฑัญญะได้ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) จึงขอบรรพชาอุปสมบทในสำนักพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าได้ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยพระพุทธดำรัสว่า “เอหิภิกฺขุ ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด สฺวากฺขาโต ธมฺโม ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จรพฺรหฺมจริยํ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ สมฺมา ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด” พระโกณฑัญญะหรือพระอัญญาโกณฑัญญะได้เป็นพระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยภูมิชั้นแรก (ที่ท่านกล่าวว่าโสดาปัตติมรรคโสดาปัตติผล) เป็นพระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสพระธรรมแล้ว และเป็นปฐมภิกษุในพระพุทธศาสนา ในวันอาสาฬหปุณณมีนั้น ส่วนฤษีอีก ๔ รูปยังไม่ได้ธรรมจักษุ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเบ็ดเตล็ดอบรมต่อมาจนได้ธรรมจักษุทั้งหมด และได้ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงเทศนาที่ ๒ เรียกสั้นๆ ว่าอนัตตลักขณะ (ลักษณะอนัตตา) โปรดพระภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้เป็นพระโสดาบันแล้วทั้งหมด ในวันแรม ๕ ค่ำนับแต่วันอาสาฬหปุณณมี เมื่อจบเทศนาพระภิกษุปัญจวัคคีย์ได้มีจิตพ้นจากกิเลสทั้งปวงเป็นพระอรหันต์ผู้สิ้นอาสวกิเลส (กิเลสที่หมักดองอยู่ในดวงจิต) จึงเกิดมีอริยสงฆ์ผู้บรรลุอริยภูมิชั้นสูงสุด (อรหัตตมรรคอรหัตตผล) เป็นพระอรหันต์ขึ้นในโลกจำนวน ๕ รูป และทั้ง ๕ รูปนั้นก็เป็นพระภิกษุสงฆ์ จึงเกิดมีพระสงฆ์อย่างสมบูรณ์ครบพระรัตนตรัยบริบูรณ์ในวันแรม ๕ ค่ำนั้น รวมพระอรหันต์ที่มีในโลกในวันนั้น ทั้งพระพุทธเจ้าด้วย เป็น ๖ รูป พระปัญจวัคคีย์ได้ถึงสรณะด้วยข้อ ก. คือได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นพระธรรมเป็นขั้นแรก ได้ตรัสรู้พระธรรมตามเมื่อฟังเทศนาที่ ๒ จบเป็นขั้นที่สุด และด้วยข้อ ข. คือแสดงตนขอบรรพชาอุปสมบท พูดสั้นๆ ว่าขอบวชในสำนักพระพุทธเจ้า

วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘

เรื่องเกี่ยวกับวันแรม ๕ ค่ำนี้ ที่ควรเล่าแทรกไว้ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชยสมบัติ ถึงเทศกาลเข้าพรรษาเสด็จถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศวิหาร อันเป็นวัดที่เสด็จประทับปกครองอยู่ในขณะที่ทรงผนวช พระศิษย์หลวงเดิมผู้เคยถวายสักการะในกาลเช่นนั้น ได้จัดสักการะไปตั้งไว้ที่ชุกชีหน้าพระพุทธชินสีห์ เพื่อทรงจบพระราชหัตถ์เป็นพุทธบูชา ทรงทราบความประสงค์แล้วตรัสว่า พระผู้ระลึกถึงพระองค์ ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ให้ไปทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายพระราชกุศล พระสงฆ์ในวัดบวรนิเวศวิหารและวัดอื่นๆ ที่เนื่องกัน จึงได้ไปประชุมทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ทุกปี ตลอดมาจนบัดนี้ วันแรม ๕ ค่ำนี้ตรงกับวันที่มีพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลกบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว

พระพุทธเจ้าได้ทรงจำพรรษาที่ ๑ ที่สวนกวางอิสิปตนะ แขวงเมืองพาราณสีนั้น ในระหว่างพรรษานั้นได้ทรงให้อุปสมบทพระยสะ บุตรเศรษฐีในเมืองพาราณสี ซึ่งได้ฟังพระธรรมเกิดดวงตาเห็นธรรมและทูลขออุปสมบท และได้ทรงแสดงพระธรรมโปรดเศรษฐีผู้บิดาของพระยสะ ซึ่งเกิดดวงตาเห็นธรรมแล้วแสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสกคนแรกผู้เปล่งวาจาถึงทั้ง ๓ รัตนะ พระยสะฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บิดาได้สำเร็จพระอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงบิณฑบาตที่เรือนเศรษฐี ทรงแสดงพระธรรมโปรดมารดาและภริยาเก่าของพระยสะให้เกิดดวงตาเห็นธรรม สตรีทั้ง ๒ นั้นได้กราบทูลแสดงตนเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต เป็นอุบาสิกาคนแรกในพระพุทธศาสนา ต่อมา พระพุทธเจ้าได้ทรงให้อุปสมบทสหายของพระยสะอีก ๕๐ คน พระทั้ง ๕๐ ได้สำเร็จพระอรหัตตผลทั้งหมด จึงบรรจบเป็นพระอรหันต์ ๖๑ องค์

บุคคลดังกล่าวมาเหล่านี้ ได้ถึงสรณะด้วยข้อ ก. คือด้วยใจด้วยความรู้ และด้วยข้อ ข. คือด้วยแสดงตนออกเป็นภิกษุบ้าง อุบาสกอุบาสิกาบ้าง เมื่อพระสาวกมีมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในทิศทางต่างๆ กัน และต่อมาได้ทรงอนุญาตให้พระสาวกอุปสมบทกุลบุตรได้เอง ด้วยสอนนำให้ว่าบทไตรสรณคมน์ดังกล่าวแล้วแล

๘ สิงหาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 08 ตุลาคม 2553    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:11:40 น.
Counter : 1944 Pageviews.  

๗. สรณะ



หลักพระพุทธศาสนา

๗. สรณะ

สรณะกับคน


คนในโลกนี้ ส่วนมากทำไมจึงนับถือศาสนา น่าตอบอย่างสั้นๆ ว่า เพราะคนส่วนมากเห็นว่าศาสนาอาจเป็นสรณะคือที่พึ่ง หรือเป็นสรณะของตนได้ เมื่อใดคนเห็นศาสนาใดไม่อาจเป็นสรณะคือที่พึ่งของตนได้แล้ว ก็จะเสื่อมหรือเลิกนับถือศาสนานั้นเมื่อนั้น ฉะนั้น ศาสนาที่จะดำรงอยู่ได้ จึงต้องเป็นศาสนาที่อาจเป็นสรณะของคนได้จริง แต่ก็ต้องเกี่ยวแก่คนด้วยเหมือนกัน คือแม้จะเป็นศาสนาที่เป็นสรณะได้จริง ถ้าคนไม่นับถือ ไม่ถึงเป็นสรณะจริงหรือนับถือถึงเป็นสรณะในทางผิด ก็ทำให้ศาสนาเสื่อมไปได้เหมือนกัน เหมือนอย่างเอกราชหรืออิสรภาพของประเทศชาติซึ่งเป็นของดี ถ้าคนในประเทศชาติไม่รักษาไว้ให้ดีก็อาจเสียไปได้ การที่เสียไปนั้นมิใช่เป็นเพราะเอกราชหรืออิสรภาพนั้นไม่ดี แต่เป็นเพราะรักษาไว้ไม่ได้เอง ฉะนั้น ศาสนิกคือคนที่นับถือศาสนาเองจึงเป็นเหตุให้ศาสนาเสื่อมไปได้ รวมความว่าศาสนาที่จะดำรงอยู่ได้ เพราะศาสนาเป็นสรณะได้จริง ๑ คนนับถือหรือถึงเป็นสรณะจริง ๑ ฉะนั้น ในกัณฑ์นี้จะแสดงเรื่องสรณะสืบต่อไป

สรณะกับความกลัว

สรณะ แปลว่า ที่พึ่ง ที่พึ่งพำนัก ที่พึ่งกำจัดภัย คือที่พึ่งที่ช่วยให้พ้นภัยได้ เมื่อเกิดภัยขึ้น ที่ใดช่วยให้พ้นภัยให้ปลอดภัยได้ ที่นั้นแหละเรียกว่าสรณะ คือที่พึ่งของตน ภัยได้แก่ สิ่งที่พึงกลัว ความกลัวที่เกิดขึ้นในสิ่งที่พึงกลัวนั้นก็เรียกว่าภัย ความกลัวเกิดขึ้นจากอะไร ความกลัวเกิดขึ้นจากความรักหรือสิ่งที่รัก รักในสิ่งใดมากก็กลัวมากว่าสิ่งที่รักนั้นจะเป็นอันตราย และถ้าเห็นว่าอะไรจะทำอันตรายแก่สิ่งที่รัก ซึ่งมีอำนาจเหนือตนอยู่ ก็จะกลัวต่อสิ่งนั้นมาก ยอดแห่งสิ่งที่รักของคนและสัตว์ดิรัจฉานทั่วไปนั้นคือชีวิตของตนเอง สิ่งที่รักอื่นๆ ก็เป็นที่รักรองๆ ลงมา จึงพากันกลัวอันตรายของชีวิตมากที่สุด สิ่งที่รักที่เนื่องกับชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือที่ตั้งอาศัยของชีวิต อันหมายถึงร่างกายประกอบด้วยจิตใจ จึงพากันกลัวอันตรายที่จะมาบั่นทอนร่างกาย เมื่อรักในชีวิต รักในร่างกาย ก็พลอยรักในคน ในทรัพย์สมบัติและสิ่งต่างๆ ที่เป็นอุปกรณ์ (เครื่องอุดหนุน) หรือเป็นปัจจัย (เครื่องอาศัย) ให้เกิดความสุขแก่ชีวิตและร่างกายอีกมากมาย จึงพากันกลัวอันตรายที่จะเกิดแก่สิ่งอุปกรณ์เหล่านี้ มากบ้างน้อยบ้างตามแต่จะรักมากหรือรักน้อยเพียงไร รวมความว่า โดยปกติคนกลัวภัยที่จะเกิดแก่ชีวิต คือกลัวตายมากที่สุด ต่อลงมาก็กลัวภัยที่จะเกิดแก่ร่างกายและแก่ทรัพย์สินเป็นต้น คือกลัวเจ็บและกลัวขาดสุข ดังจะยกตัวอย่างว่า งูพิษ แขนหัก ของหาย ๓ อย่างนี้ใครกลัวอะไรมากเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามตัวอย่างนี้ คนทั่วไปจะกลัวงูพิษมากเป็นที่ ๑ เพราะอาจจะกัดตาย กลัวแขนหักเป็นอันดับ ๒ เพราะทำให้ร่างกายเจ็บหรือพิการ กลัวของหายเป็นที่ ๓ เพราะทำให้ขาดของใช้สอยทำให้ขาดความสุขความสะดวก จึงรวมพูดสั้นๆ ว่า รักมากก็กลัวมาก รักน้อยก็กลัวน้อย ไม่รักอะไรเลยก็ไม่ต้องกลัวอะไรเลย

กลัวเจ็บกับกลัวตาย

ทุกคนคงเคยมีความกลัวอยู่ด้วยกัน เพราะต่างก็มีความรักในชีวิตร่างกายและความสุขเหมือนๆ กัน จึงกลัวสิ่งที่จะเป็นภัยแก่ชีวิตเป็นต้น เมื่อยังเป็นเด็กเล็กมากยังไม่เดียงสา อาจยังไม่รู้จักกลัวตาย แต่ก็สังเกตได้ว่ากลัวเจ็บ นักสังเกตบางท่านกล่าวว่า สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่มีความรู้น้อยไม่รู้จักกลัวตาย แต่แสดงว่ารู้จักกลัวเจ็บ สัตว์ดิรัจฉานจำพวกที่มีความรู้มากจึงรู้จักกลัวตาย คำกล่าวนี้อาจเป็นไปได้ เพราะอาจเทียบได้กับเด็กดังกล่าวแล้ว น่าสังเกตว่า เด็กเล็กๆ ค่อยรู้จักกลัวเจ็บในเมื่อได้ผ่านเจ็บมาบ้างแล้วและค่อยรู้อะไรบ้างแล้ว ดังเช่นเด็กเล็กๆ มองเห็นไฟยังไม่รู้จักไฟ จึงเอื้อมมือไปจับ ถ้าจับถูกไฟไฟก็จะลนมือให้เจ็บให้ร้อน เด็กก็จะร้องเพราะมีความรู้สึกเจ็บ ทำให้ไม่กล้าจับไฟเพราะกลัวเจ็บ ส่วนอาการหลบภัยอาจมีตามระบบของร่างกายตามธรรมชาติ เช่นเมื่อมือถูกไฟมือก็ชักกลับหรือกำมือ ตากะพริบเมื่อผงเข้าตา เด็กเล็กๆ ก็แสดงอาการดังกล่าวได้ทั้งๆ ที่ยังไม่เดียงสาอะไร ต่อเมื่อรู้จักเดียงสาขึ้น โดยเฉพาะคือเมื่อรู้จักกลัวขึ้น จึงรู้จักกลัวเจ็บ กลัวสิ่งที่ทำให้เจ็บ และรู้จักกลัวตายต่อเมื่อเริ่มรู้จักรักชีวิตและรู้ว่าความตายคือความสิ้นสุดของชีวิต จึงกลัวสิ่งที่เป็นอันตรายแก่ชีวิต นอกจากนี้ยังกลัวในสิ่งอื่นๆ อีก

สิ่งที่กลัวต่างๆ

สิ่งที่กลัวนั้น โดยลักษณะทั่วๆ ไป คือสิ่งที่มีอำนาจสามารถให้โทษให้ทุกข์ได้ เป็นสิ่งที่มองเห็นตัวได้ก็มี เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นตัวก็มี สิ่งที่มองเห็นตัวเช่นคนที่สามารถลงโทษได้ สัตว์ดิรัจฉานที่อาจทำอันตรายได้ เครื่องประหัตประหารต่างๆ รถที่อาจวิ่งชนหรือทับเอาได้ หรือภัยธรรมชาติเช่นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ภูเขาไฟระเบิด ลมไต้ฝุ่น ฟ้าผ่า ส่วนที่มองไม่เห็นตัวนั้น เช่นผีสางเทวดาที่คิดกลัวกันตั้งแต่ดึกดำบรรพ์

กลัวที่หลอกเด็ก

บางที เมื่อเด็กเริ่มรู้จักเดียงสามากขึ้น ก็ถูกอบรมด้วยใช้วิธีหลอกให้กลัว เช่นบอกว่าตุ๊กแกจะกินตับ งูเขียวจะกินตับ จะนำไปขายให้แก่แขก เป็นต้น เพื่อให้เด็กหยุดร้อง บางทีเมื่อเด็กไปยืนในที่หมิ่นจะพลัดตกลงไป ก็บอกว่าหยุดซน อย่าไปยืนที่นั่น ผีจะผลัก เมื่อเด็กจะลงเล่นน้ำ ก็บอกว่าอย่าลงไป ผีจะฉุดขา เมื่อเห็นเด็กน่ารัก ก็ต้องพูดว่าน่าเกลียดเพื่อให้ผีพลอยเกลียด จะได้ไม่นำเด็กไป ถ้าพูดน่ารัก ผีจะพลอยรัก และนำเอาเด็กไป ผู้ที่บอกหรือพูดเช่นนี้ บางทีก็เชื่ออย่างนั้น หรือไม่เชื่อทีเดียวก็กริ่งเกรงอยู่บ้าง หรือเกรงคนที่เชื่อจะไม่สบายใจจึงพูดเพื่อรักษาใจคนที่เชื่อ แต่ผู้ที่มุ่งเหตุผลย่อมไม่อบรมเด็กด้วยวิธีหลอกแต่อบรมด้วยเหตุผล เช่นห้ามเด็กมิให้ยืนในที่หมิ่น ด้วยชี้แจงว่าอาจจะตกลงไปเป็นอันตราย ห้ามเด็กมิให้ลงเล่นน้ำ ด้วยชี้แจงว่าถ้าว่ายน้ำไม่เป็นจะจมลงไปอย่างไร และไม่ชักนิยายหรือชักนำให้เด็กกลัวผี เด็กที่ได้รับอบรมด้วยเหตุผลจะรู้จักใช้เหตุผลขึ้นโดยลำดับ บางทีเมื่อถูกผู้ใหญ่ให้ไปหยิบอะไรในห้องมืด ถ้าจะบ่ายเบี่ยงก็อ้างว่ากลัวมืด แทนที่จะอ้างว่ากลัวผี

กลัวที่หลอกผู้ใหญ่

ความกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว เช่นกลัวผีนี้ เป็นที่รับรองกันว่าได้มีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ นอกจากกลัวยังนับถือผีบางประเภท เช่นผีบรรพบุรุษ ผีฟ้า หรือเทพต่างๆ เพราะเชื่อว่านอกจากมีพระเดชให้โทษให้ทุกข์ได้แล้ว ก็ยังมีพระเดชป้องกันโทษทุกข์ และมีพระคุณเกื้อกูลให้เกิดความสุขความเจริญอีกด้วย เมื่อเห็นว่าผีเหล่านี้สิงสถิตอยู่ในที่ใด เช่นที่ภูเขาใหญ่ ที่ป่า ที่สวน ที่ต้นไม้ใหญ่ ก็ไปบูชาที่นั้น ขอพึ่งให้ช่วยบำบัดภัยอันตราย ให้ช่วยบอกโชคลาภ สมดังพระพุทธภาษิตบทหนึ่งแปลความว่า “มนุษย์ทั้งหลายถูกภัยคุกคามแล้ว ย่อมถึงภูเขา ป่า สวน ต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ทั้งหลาย ว่าเป็นสรณะคือที่พึ่ง กันเป็นอันมาก” ผีที่ขอพึ่งถึงเป็นสรณะเหล่านี้มองไม่เห็นตัว แต่ก็ยังมองเห็นที่สิงสถิต มีภูเขาเป็นต้น นับว่าเป็นพวกผีดิน หรือภุมเทวดา ผู้อาศัยอยู่บนดิน หรืออาศัยอยู่บนสิ่งที่ตั้งอยู่บนดิน นอกจากนี้ยังนับถือพวกผีฟ้า หรือเทวดาที่เป็นเจ้าแห่งลม ฝน เป็นต้น ที่ปรากฏอยู่บนฟ้า หรือที่ตกลงมาจากฟ้า เพราะเชื่อว่าลมฝนเป็นต้นเหล่านี้ คงมีเจ้าทุกๆ อย่างผู้อาศัยอยู่บนฟ้า เป็นอันว่าขอพึ่งถึงเป็นสรณะในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ทั้งเทพทั้งถิ่นที่อาศัยของเทพนั้นๆ เมื่อนับถือเทพต่างๆ แข่งขันกันมากขึ้น ไม่ยอมลงกัน ผู้นับถือเองก็ชักลังเลใจในเทพที่ตนนับถือ จึงเกิดนับถือเทพผู้สูงสุดแต่น้อยองค์หรือแต่องค์เดียว และเชื่อว่าเป็นผู้สร้างผู้ทำในสิ่งที่คนไม่รู้ทั้งหมด แม้เทพเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่มองไม่เห็นตัวตลอดทั้งที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นความเชื่อที่รวมความเชื่อของคนให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนไว้ได้ตามคราวตามสมัย ความเชื่อถือในสิ่งที่มองไม่เห็นตัวทั้งหมดนี้น่าจะเติบโตมาจากกลัวผีอย่างธรรมดานี้เอง ซึ่งได้รับการส่งเสริมขึ้นโดยลำดับ การอบรมสั่งสอนด้วยวิธีให้กลัวผีอย่างธรรมดาใช้สำหรับเด็กดังกล่าวแล้ว แม้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็คงสั่งสอนให้กลัวอยู่นั่นเอง เป็นอันไม่พ้นจากกลัวในสิ่งที่มองไม่เห็นตัว

กลายมาเป็นนับถือวัตถุ

สิ่งที่มองไม่เห็นตัวเหล่านี้ เป็นต้นว่าเทพประจำลมเทพประจำฝนเป็นต้น ในสมัยที่มนุษย์พบเหตุผลของธรรมชาติมากขึ้น ก็กลายเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติไปเป็นอันมาก และเมื่อพบหลักของการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หลักของการสร้างสำเร็จรูปก็กลายเป็นการเปลี่ยนแปลง รวมความว่า สิ่งที่มองไม่เห็นตัวที่คิดว่าเป็นอะไรต่างๆ เมื่อความรู้เจริญขึ้นก็ทำให้มองเห็นตัวขึ้น คือมองเห็นเหตุผล เมื่อมองเห็นเหตุผลมากขึ้นเช่นนี้ ความนับถือในสิ่งที่มองไม่เห็นก็น้อยลง เปลี่ยนมานับถือในเหตุผล ความรู้ในเหตุผลที่เจริญขึ้นโดยมากเป็นเหตุผลทางวัตถุ จึงมีวัตถุที่ประดิษฐ์ขึ้นมากมาย เป็นเครื่องบำรุงสุขก็มี เป็นเครื่องก่อทุกข์ก็มี เช่นเครื่องประหัตประหารต่างๆ ทำให้คนมิใช่น้อยคิดพึ่งวัตถุ เหมือนอย่างวัตถุเป็นสรณะและตีราคาวัตถุสูงกว่าสิ่งอื่นๆ บางทีตีวัตถุสูงกว่าคน ฉะนั้นเมื่อยังนับถือสิ่งที่มองไม่เห็นตัว ถ้าจะกล่าวว่าคนเป็นทาสของสิ่งนั้นก็ไม่ผิด ครั้นเปลี่ยนมานับถือวัตถุ ก็อาจกล่าวว่าคนกลายมาเป็นทาสของวัตถุ ต้องทำงานเพื่อวัตถุเท่านั้น

ทวีภัยกรรม

โลกในสมัยที่เจริญด้วยความรู้ในเหตุผลทางวัตถุและเจริญทางวัตถุนี้ ลดภัยทางธรรมชาติลงได้มาก เช่น ใช้สายล่อฟ้ากันฟ้าผ่า ทำทำนบกั้นน้ำ และลดภัยทางไข้เจ็บลงได้มากจนปรากฏว่าคนในโลกบัดนี้คิดเฉลี่ยแล้วมีอายุยืนขึ้น มีไฟฟ้าใช้เพื่อกิจการต่างๆ มีรถต่างๆ ใช้บนพื้นดิน มีเรือต่างๆ เดินในแม่น้ำมหาสมุทร มีเรือบินในอากาศ มีสิ่งต่างๆ อีกมากมาย แม้จะลดภัยทางธรรมชาติได้มาก แต่ก็ทวีภัยที่เกิดจากกรรม (การที่กระทำ) ของคนด้วยกันมากขึ้น ในส่วนใหญ่ เช่นได้เกิดสงครามโลก ๒ ครั้งมาแล้วในระยะหลังที่ห่างกันไม่นานนัก ในสงครามโลกแต่ละครั้ง คนได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินสมบัติของกันและกันมีจำนวนมากมายภริยาสามีต้องตายจากพลัดพรากกัน ลูกต้องกำพร้าพ่อ ทหารและประชาชนต้องล้มตายหรือพิการเหลือที่จะนับ เมื่อสงครามโลกสงบลงแล้วความทุกข์ยากคับแค้นขาดแคลนก็ยังไม่สงบยังมีต่อไปอีก จิตใจคนส่วนมากกระด้างขึ้น ระส่ำระสายมากขึ้น การกระทำของคนก็กระด้างขึ้น ความโอบอ้อมอารีกันอย่างบริสุทธิ์ใจน้อยลงไป ความเห็นแก่ตัวมีมากขึ้น หวาดระแวงกันมากขึ้น ฉะนั้น แม้สงครามทางกายสงบ แต่สงครามทางใจยังไม่สงบ ยังตระเตรียมเพื่อรุกรานหรือเพื่อป้องกันกันต่อไป และใช้ความรู้ในเหตุผลภายนอกหรือความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์เครื่องอาวุธสำหรับประหารกัน จนถึงอาจทำลายคนทั้งโลกได้ ฉะนั้น สิ่งที่มองไม่เห็นตัว เช่นผีจำพวกต่างๆ ที่กลัวกัน ผีฟ้า เช่นเทพแห่งดิน น้ำ ไฟ ลมต่างๆ เป็นต้น มาเป็นที่พึ่งของคนในบัดนี้ไม่ได้ เพราะกลายเป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเสียมิใช่น้อย คนกลับเป็นผู้ควบคุมปรากฏการณ์ตามธรรมชาติเสียเอง จะพึ่งวัตถุก็ไม่ได้ เพราะวัตถุระงับการเบียดเบียนกันของมนุษย์ไม่ได้ วัตถุกลับเป็นนายของคน เป็นเครื่องมือใช้เบียดเบียนกันแรงยิ่งขึ้น ฉะนั้น คนโดยมากจึงมีใจรวนเรระส่ำระสาย คิดสั้นเข้ามาแคบเข้ามา คิดแก้ปัญหาแต่เฉพาะหน้า ปล่อยวันพรุ่งนี้ให้เป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้ ปล่อยคนอื่นให้เป็นเรื่องของคนอื่น ทำนองให้เราเป็นสุขใครจะทุกข์ไม่ใช่เรื่องของเรา วันนี้ใช้ให้เป็นสุขพรุ่งนี้คิดหาใหม่ คิดแคบๆ สั้นๆ อะไรทำนองนี้ ดีชั่วไม่ต้องคำนึง ดูก็ใกล้กับความคิดของเพื่อนสัตว์ร่วมโลกเข้าไป ใกล้กับวัตถุที่ไม่มีจิตใจเข้าไป ความทุกข์เดือดร้อนและความเสื่อมโทรมต่างๆ เหล่านี้เป็นภัยแก่คนทั้งที่เป็นส่วนย่อยทั้งที่เป็นส่วนรวม เป็นภัยแก่ชีวิตที่ทุกๆ คนรัก เป็นภัยแก่ร่างกายและจิตใจ เป็นภัยแก่ความสงบสุขที่ทุกๆ คนสงวนต้องการ และเป็นภัยที่คนสร้างขึ้นเอง

ภัยและวิธีระงับภัยที่แท้จริง

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ภัยที่คนสร้างขึ้นเองเหล่านี้พร้อมทั้งเหตุและวิธีระงับภัยไว้อย่างบริบูรณ์ ด้วยทรงแสดงให้เห็นตามเหตุผลตามหลักอริยสัจจ์ (ความจริงอย่างประเสริฐแน่แท้) ๔ ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

ความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ อันเป็นผลที่คนทำให้แก่กัน ในเรื่องส่วนตัว หรือในส่วนรวม เช่นในการสงครามดังเช่นกล่าวมาแล้ว คือตัวทุกข์ โดยปกติชีวิตร่างกายของทุกคนต้องประสบภัยตามธรรมชาติที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้อยู่แล้ว คือแก่ เจ็บ ตาย ยังต้องประสบภัยที่คนกันเองทำให้แก่กันอีก

ความทะยานอยากของตน อันเรียกว่าตัณหา ซึ่งเป็นตัวบงการให้คนประกอบกรรมเบียดเบียนกันต่างๆ เป็นตัวสมุทัยเหตุให้ทุกข์เกิด คนที่เป็นทาสความทะยานอยากย่อมจะทำอะไรเพื่อสนองตัวนายคือความอยากนั้นได้ทุกอย่าง เหมือนอย่างคนใช้ที่ซื่อสัตย์รับใช้นายได้ทุกอย่างสุดแต่นายจะสั่ง คนที่เป็นทาสของความอยากนี้แลเป็นตัวก่อกวนความสงบสุขสร้างทุกข์ภัยต่างๆ ให้เกิดขึ้น ถ้าเป็นคนที่มีอำนาจน้อย มีวัตถุทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือน้อย ก็สร้างทุกข์ภัยได้น้อย ถ้าเป็นคนที่มีอำนาจมาก มีวัตถุทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือมากและร้ายแรง ก็สร้างทุกข์ภัยได้มากและร้ายแรง มีตัณหาความทะยานอยากนี้เองเป็นมูลเหตุ

ความดับตัณหา คือดับความอยากเสียได้ เป็นนิโรธ ความดับทุกข์ ดับภัย

ทางที่ชอบมีองค์ประกอบ ๘ ประการ ดังระบุไว้แล้วในกัณฑ์ที่ ๖ เป็นมรรคคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดับภัย องค์ประกอบทั้ง ๘ นั้น จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คือ สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ สัมมาวายามะ พยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ องค์ประกอบทั้ง ๘ ประการนี้รวมกันเป็นทางเดียว มิใช่ ๘ ทาง จึงเป็นมรรค คือทางดับทุกข์ดับภัยได้จริง

สรณะ ๓

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรม ชี้สัจจะคือความจริงเหตุและผล ตามหลักอริยสัจจ์ ๔ ดังกล่าวมาแล้ว ปรากฏในพระสูตรต่างๆ ว่า ได้มีผู้ฟังเป็นอันมากเกิดความรู้ความเห็นจริงตามพระธรรม มีความเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญว่า พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมเทศนาโดยปริยาย คือกระแสความหลายอย่าง ทำให้เห็นทางที่จะปฏิบัติแจ้งชัดแก่ปัญญา อุปมาเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ หรือเหมือนเปิดของที่มีสิ่งกำบังไว้ หรือเหมือนบอกทางให้แก่คนหลงทาง หรือเหมือนอย่างตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่าคนมีตาดีจักได้เห็นรูปฉะนั้น แล้วกล่าววาจาถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่ง แสดงตนเป็นอุบาสกอุบาสิกาถึงสรณะจนตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะทรงเป็นผู้ชี้บอกทางพ้นทุกข์พ้นภัยได้จริง

พระธรรมเป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะรักษาผู้ปฏิบัติไว้มิให้ตกต่ำ

พระสงฆ์เป็นสรณะที่พึ่งได้จริง เพราะเป็นผู้ช่วยชี้บอกทางตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้บอกไว้ และเป็นผู้กำลังเดินทางนั้น หรือได้ผ่านทางนั้นแล้ว เป็นพยานที่อ้างได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสจริง เพราะได้ตรัสบอกทางไว้ถูกต้อง และเป็นตัวอย่างชักนำให้คนอื่นเดินทางต่อไป

กล่าวโดยย่อ เพราะพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนะ คือแก้วอันอุดมในโลก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๔ (พระรัตนตรัย) จึงเป็นสรณะที่พึ่งของผู้ตั้งใจได้อย่างแท้จริง

ความรู้ในทางวิทยาศาสตร์อาจพึ่งได้ ในทางเพื่อรู้เหตุผลแห่งธรรมชาติภายนอก เพื่อประดิษฐ์สิ่งต่างๆ เพื่อป้องกันแก้ไขภัยธรรมชาติภายนอก ตลอดจนถึงเพื่อประดิษฐ์อาวุธนานาชนิดเป็นต้น แต่วิทยาศาสตร์ไม่สามารถช่วยป้องกันภัยธรรมชาติของร่างกาย คือแก่ เจ็บ ตาย คือจะทำให้คนไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายหาได้ไม่ ได้เพียงบำบัดบำรุงรักษาไว้ชั่วครั้งหนึ่งคราวหนึ่ง และไม่สามารถป้องกันแก้ไขภัยที่เกิดจากการก่อขึ้นของคนซึ่งมีตัณหาความทะยานอยากเป็นเหตุ โดยตรงกันข้าม ภัยอย่างนี้ย่อมทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ยิ่งสามารถประดิษฐ์ยวดยานไปจนถึงโลกอื่น ก็ยังจะไปก่อภัยขึ้นที่โลกอื่นอีก โดยมากคนเรามักกลัวภัยจากภายนอก คอยหลบภัยภายนอก ในขณะเดียวกันก็ปล่อยภัยในตนเองออกไปเป็นภัยแก่ผู้อื่น คือประพฤติตนไปตามอำนาจใจที่ปรารถนาทะยานอยาก จึงทำร้ายเขาบ้าง พูดว่าร้ายเขาอย่างที่เรียกว่าตั้งนินทาสโมสรบ้าง คิดมุ่งร้ายเขาบ้าง เหล่านี้เป็นภัยที่น่ากลัวอันเกิดขึ้นที่ตัวเองทั้งนั้น และออกไปเป็นภัยแก่ผู้อื่น แล้วก็ย้อนกลับมาเป็นภัยเป็นเวรแก่ตนเอง ฉะนั้น เมื่อพึ่งพระรัตนตรัย พึ่งพระพุทธศาสนา คิดหาความจริงตามเหตุผลที่ตนเอง คอยจับตัวความปรารถนาทะยานอยากไว้ให้อยู่ในอำนาจของตน ไม่ให้ตนอยู่ในอำนาจของความปรารถนาทะยานอยาก และคอยควบคุมความประพฤติให้อยู่ในขอบเขตที่ชอบ ภัยที่เกิดจากตนเองก็จะสงบ ตัวของเราเองก็ไม่เป็นภัยแก่ตัวเราเอง และไม่เป็นภัยแก่ใครอื่น

สรุปสรณะ

ทุกยุคทุกสมัยมา เมื่อเหตุการณ์เดือดร้อนอย่างยิ่งเกิดขึ้นในโลก เช่นเกิดสงครามโลก คนก็พากันตื่นตระหนกตกใจ พากันเกิดความลังเลสงสัย เมื่อมุ่งประหัตประหารกันก็ทำให้ใจแข็งกระด้างขึ้น และเมื่อต้องช่วยตัวเองให้รอดก็ทำให้ใจคับแคบเห็นแก่ตัวมากขึ้น และทำให้สงสัยในสรณะต่างๆ ว่าช่วยไม่ได้ หรือน่าจะช่วยไม่ได้ เพราะต้องช่วยตัวเอง ฉะนั้น จึงปรากฏความเสื่อมโทรมทางจิตใจทั่วๆ ไป และความนับถือในสรณะทั้งหลายก็เสื่อมโทรมลงด้วย เพราะคนพากันสงสัยลังเลใจเสียแล้ว เหตุฉะนี้จึงจำต้องร่วมมือกันแก้ไขความเสื่อมโทรมเช่นนี้เพื่อให้จิตใจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เมื่อป่วยหนักรอดตายหายไข้แล้วก็ต้องพักฟื้นต้องบำรุงร่างกายอีกระยะหนึ่ง ร่างกายจึงกลับมีสุขภาพเป็นปกติ ทางจิตใจก็เหมือนกัน เมื่อกระทบเหตุการณ์อย่างแรงก็เหมือนเป็นไข้หนัก ต้องเยียวยารักษาบำรุงให้พอสมควรจึงกลับเป็นปกติได้ และข้อที่ต้องช่วยตัวเองต้องพึ่งตัวเองนั้นเป็นการถูกต้อง ทางพระพุทธศาสนาพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ช่วยตน ให้พึ่งตน ในการปฏิบัติทั้งปวง พระพุทธเจ้าเป็นเพียงตรัสบอกทางปฏิบัติให้รู้ เมื่อฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า รู้ทางปฏิบัติแล้ว ก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง ในการปฏิบัติจึงต้องพึ่งตน แต่ต้องพึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้ พึ่งพระธรรมเป็นทางเดิน พึ่งพระสงฆ์เป็นผู้เดินนำไปเบื้องหน้าหมู่ พวกเราทั้งหลายก็เหมือนอย่างเดินหางแถวต่อพระสงฆ์ไป เมื่อพึ่งในสรณะให้ถูกทางดังนี้ พระรัตนตรัยก็เป็นสรณะได้จริงอย่างไม่ต้องสงสัยแคลงใจ คนที่มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ย่อมเป็นคนทำอะไรด้วยรู้เหตุผลผิดชอบ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเตือนไว้ว่า อตฺตทีปา....วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่ามีอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ ธมฺมทีปา....วิหรถ ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา จงมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง อย่ามีอื่นเป็นที่พึ่งอยู่

๑๘ กรกฎาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2553    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:11:15 น.
Counter : 602 Pageviews.  

๖. พุทธศาสนิก



หลักพระพุทธศาสนา

๖. พุทธศาสนิก

พุทธศาสนิกชน


เมื่อแสดงเรื่องพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรแสดงเรื่องพุทธศาสนิกชนต่อกันไป เพราะเป็นเรื่องที่เนื่องถึงกัน อาจจะแยกออกจากกันเสียมิได้ เหมือนอย่างกายกับใจ คำว่าพุทธศาสนิก เป็นคำที่ผูกเรียกกันขึ้น แปลว่า ผู้นับถือพระพุทธศาสนา ใครก็ตามที่นับถือพระพุทธศาสนา และนับถือด้วยวิธีใดก็ตาม คือเป็นพุทธบริษัทจำพวกไหน หรือเป็นพุทธมามกะ พุทธมามิกาก็ตาม ก็รวมเรียกว่าพุทธศาสนิกหรือพุทธศาสนิกชนทั้งหมด แต่ก่อนที่จะแสดงเรื่องของพุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะ จะกล่าวถึงคนที่นับถือศาสนาโดยทั่วๆ ไปก่อน

หลักฐานทางถ้อยคำดึกดำบรรพ์

คนในโลกเริ่มนับถือศาสนากันมาแต่เมื่อไร ? เป็นที่รับรองกันแล้วว่าคนเริ่มนับถือศาสนากันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนมีประวัติศาสตร์ ได้มีนักค้นคว้าขุดพบซากศพและสิ่งต่างๆ ในสมัยเก่าแก่นั้นลงสันนิษฐานถึงลัทธิศาสนาที่คนเก่าแก่นับถือต่างๆ เป็นการพิจารณาวัตถุแล้วลงสันนิษฐาน คราวนี้ลองพิจารณาถ้อยคำเก่าแก่แล้วลงสันนิษฐานดูบ้าง คำเก่าแก่นั้นขอยกขึ้นมาพิจารณาเพียงคำเดียว คือคำว่าศาสนานี้เอง คำนี้เป็นคำดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะตามหลักฐานปรากฏว่าได้พูดกันมาตั้งแต่ก่อนพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นนานไกลและยังใช้พูดกันต่อๆ มาอยู่จนถึงบัดนี้

บุพพศาสนา

ในภาษามคธว่า สาสนะ ในภาษาสันสกฤตว่า ศาสนะ ในภาษาไทยนำมาใช้ว่า ศาสนา แปลว่าคำสั่งสอน การสั่งสอน คำแปลนี้ถึงยังไม่หมดความหมาย ก็ได้ความหมายที่สำคัญซึ่งอาจอธิบายให้กว้างครอบคลุมความหมายทั้งหมดได้ ฉะนั้น ลองยกคำแปลนี้ขึ้นพิจารณาว่าคนเราเริ่มสั่งสอนกันมาตั้งแต่เมื่อไร อาจตอบตามเหตุผลว่าคนเราเริ่มสั่งสอนกันตั้งแต่เริ่มรวมกันอยู่ในโลกตั้งแต่ครอบครัวหนึ่งขึ้นไป คือตั้งแต่เริ่มมีคนตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป หรือตั้งแต่เริ่มมีบิดามารดามีบุตรธิดาขึ้นในโลก หรือพูดตามสมัยว่าตั้งแต่มีสังคมมนุษย์หน่วยแรกขึ้นเพราะในเบื้องต้นพ่อแม่ก็ต้องสั่งสอนลูก อย่าว่าแต่ในหมู่มนุษย์ แม้ในหมู่สัตว์ดิรัจฉานก็มีสั่งสอนกันตามวิธีของสัตว์ เช่นแม่นกก็มีการสอนลูก พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงยกย่องมารดาบิดาว่าเป็นอาจารย์คนแรก เรียกว่าบุรพาจารย์ของบุตรธิดา เป็นอันว่าอาจารย์อื่นๆ เป็นอาจารย์ในภายหลัง ฉะนั้น คำสั่งสอนของพ่อแม่ผู้เป็นบุรพาจารย์ จึงเป็นบุพพศาสนา (ศาสนาแรก) ของลูก

อาจริยศาสนา

แต่คำสั่งสอนของพ่อแม่ที่ให้แก่ลูกโดยมาก เพียงพอแก่ลูกในวัยเล็ก เมื่อโตขึ้นแล้วจึงต้องส่งเข้าโรงเรียน มอบภาระให้แก่ครูอาจารย์สั่งสอนศิลปวิทยาสืบต่อไป ครูอาจารย์ที่ดีย่อมเป็นทั้งผู้ประสาธน์ศิลปวิทยาดี เป็นทั้งผู้ปกครองศิษย์ดี คำสั่งสอนหรือการสั่งสอนของครูอาจารย์เพื่อผลดังกล่าวนี้ แม้มีการลงโทษเพื่อให้ศิษย์เป็นคนดี ท่านก็เรียกว่าเป็นศาสนาอย่างหนึ่งของอาจารย์ ดังในชาดกเรื่องหนึ่งในติกนิบาตเล่าไว้มีความว่า

ในอดีตกาลล่วงมานาน พระเจ้ากรุงพาราณสีได้ทรงส่งพรหมทัตตกุมาร พระราชโอรสไปเรียนศิลปวิทยาในเมืองตักกศิลา เพราะตามนิยมของโบราณพระราชาทั้งหลายย่อมทรงปรารถนาให้พระราชโอรสได้รับอบรมให้ละมานะ ให้อดทน ให้เปรื่องปราดสามารถในศิลปวิทยา ให้รอบรู้ในโลกจารีตทั้งปวง แม้จะมีอาจารย์อยู่ในประเทศก็โปรดส่งพระราชโอรสไปศึกษาในสถานที่ไกล พรหมทัตตกุมารได้เดินทางไปศึกษาอยู่กับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ท่านหนึ่งในเมืองตักกศิลานั้น วันหนึ่งได้ไปอาบน้ำกับอาจารย์ เห็นหญิงชราคนหนึ่งกำลังนั่งร่อนงา เห็นงาเป็นมันย่องก็อยากเสวย จึงหยิบมาเสวยกำมือหนึ่ง หญิงชราก็มิได้ว่ากระไร เพราะคิดว่าคงหิว วันรุ่งขึ้นพรหมทัตตกุมารได้ทำอย่างนั้นอีก หญิงชราก็คงไม่ว่าอะไร ในวันที่ ๓ พรหมทัตตกุมารได้ทำอย่างนั้นอีก หญิงชราจึงร้องขึ้นว่า อาจารย์ทิศาปาโมกข์ปล่อยให้พวกลูกศิษย์ยื้อแย่งของของตน อาจารย์ได้ยินจึงหยุดสอบถาม ได้ทราบเรื่องตลอดแล้วก็รับจะใช้มูลค่าให้ หญิงชราบอกว่าไม่ประสงค์มูลค่า แต่ขอให้อาจารย์ให้กุมารนี้ศึกษาว่าจะไม่ทำอย่างนั้นอีก อาจารย์พูดว่าถ้าอย่างนั้นจงคอยดู สั่งให้ศิษย์หนุ่ม ๒ คนจับกุมารที่แขนทั้ง ๒ ไว้ แล้วหยิบเรียวไม้ไผ่เฆี่ยนหลัง ๓ ครั้ง สั่งสอนว่าอย่าทำอย่างนั้นอีก พรหมทัตตกุมารถูกเฆี่ยนมีเนตรแดงก่ำด้วยความโกรธ มองดูอาจารย์ทั่วตัว ผูกอาฆาตว่าได้ราชสมบัติแล้วจักให้ตามอาจารย์ไปฆ่าเสียให้จงได้ ครั้นเรียนสำเร็จแล้ว ก็เข้าลาอาจารย์ แสดงอาการอย่างมีความเคารพรัก ขอให้อาจารย์รับว่าจะไปกรุงพาราณสีเมื่อให้มาเชิญ แล้วลาอาจารย์กลับกรุงพาราณสี พระเจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรเห็นพระราชโอรสเรียนสำเร็จกลับมา มีพระราชหฤทัยโสมนัสยินดี ทรงปรารถนาจะทอดพระเนตรเห็นพระโอรสเป็นพระราชาตั้งแต่พระองค์ยังมีพระชนมชีพอยู่ จึงมอบราชสมบัติพระราชทาน ครั้นพรหมทัตตกุมารได้ราชสมบัติแล้ว ทรงระลึกขึ้นได้ถึงโทษอาจารย์ทำแก่พระองค์ จึงทรงส่งทูตไปเชิญอาจารย์ให้มา ฝ่ายอาจารย์คิดว่าพระราชายังหนุ่ม ตนยังไม่อาจจะพูดให้ยินยอมได้จึงยังไม่ไป ครั้นกาลล่วงไป พระราชาเจริญพระชนม์ขึ้นจนถึงมัชฌิมวัยแล้ว อาจารย์จึงเดินทางไปกรุงพาราณสี ให้กราบทูลให้ทรงทราบ พระราชาทรงยินดีโปรดให้อาจารย์เข้าเฝ้า ครั้นทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ ก็ทรงรู้สึกเหมือนกำลังถูกเฆี่ยน มีพระเนตรแดงก่ำขึ้นด้วยโทสัคคิ (ไฟโทสะ) ทันที ตรัสว่า วันนี้อาจารย์ของเรามาถึงที่ตายแล้ว นำมัจจุราชติดมากับหน้าผากของตนแล้ว ตรัสแก่อาจารย์ว่า ท่านระลึกได้ไหมถึงวันที่ท่านเฆี่ยนเราด้วยเรียวไผ่ ท่านไม่ยินดีในชีวิตแล้วหรือจึงมา วันนั้นท่านเฆี่ยนเรา วันนี้เราจะฆ่าท่าน ฝ่ายอาจารย์ไม่แสดงครั่นคร้าม กล่าวตอบด้วยท่วงท่าของอาจารย์ว่า อารยชน (คนเจริญ) ย่อมห้ามปรามคนที่ทำอนารยกรรม (กรรมไม่ดี) ด้วยการลงโทษให้เข็ดหลาบได้ นั้นเป็นศาสนา (การสั่งสอน) มิใช่เป็นเวร ปวงบัณฑิตย่อมเข้าใจกันอย่างนี้ มหาราช ถ้าข้าพเจ้าไม่ทำให้พระองค์ศึกษาอย่างนั้น ต่อไปพระองค์ประพฤติผิดยิ่งขึ้น ทรงประสบมหันตภัยเสียแล้ว จักทรงได้ราชสมบัติเห็นปานฉะนี้จากที่ไหนเล่า พวกอำมาตย์ที่เฝ้าอยู่ได้สดับเรื่องนั้น ก็พากันกราบทูลสนับสนุนคำของอาจารย์ พระราชาทรงพิจารณาทบทวนแล้วทรงเห็นจริงตามคำอาจารย์ ทรงหายพิโรธสิ้นอาฆาต กลับทรงระลึกถึงคุณของอาจารย์จึงพระราชทานสิ่งปฏิการต่างๆ และทรงตั้งไว้ในที่เป็นปุโรหิตผู้ถวายอนุสาสน์ เรื่องนี้มีคติอยู่มาก แต่โดยเฉพาะแสดงว่า การสั่งห้ามปรามมิให้ทำผิด แม้ของอาจารย์ ก็ถือว่าเป็นศาสนาอย่างหนึ่งๆ มาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล

รัฐศาสนา

แต่คำสั่งสอนของอาจารย์ก็เพียงพออยู่สำหรับการศึกษาเล่าเรียน และเป็นไปในวงการเรียน หรือภายในโรงเรียน ยังไม่เพียงพอสำหรับคนทั่วไปที่รวมกันอยู่เป็นประเทศชาติ จึงต้องมีคำสั่งสอนของประมุขผู้ปกครองหมู่ชน คำสั่งสอนของผู้ปกครองนี้ เรียกในคัมภีร์แต่เก่าก่อนว่าศาสนาเหมือนกัน ดังมีคำเรียกธุรการฝ่ายปกครองว่าปสาสนธุระ สาสนะในคำนี้ก็คือศาสนานั้นเอง ท่านเล่าว่า พระเจ้าจักรพรรดิซึ่งเป็นเจ้าโลกแต่พระองค์เดียวทรงปกครองชาวโลกทั้งสิ้นด้วยทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติในศีล ๕ ศีล ๕ จึงเป็นจักรวรรดิศาสนา พระราชามหากษัตริย์หรือท่านผู้ปกครองผู้ตั้งอยู่ในราชธรรม หรือในธรรมของผู้ปกครอง ย่อมสั่งสอนประชาชนด้วยวิธีต่างๆ แม้ในประเทศไทยสยามนี้เองก็มีเล่าไว้ในศิลาจารึกในรัชสมัยพระเจ้าขุนรามคำแหงกรุงสุโขทัยว่า ถ้าไม่ใช่วันอุโบสถ “พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขดารหิน” พระราชทานราโชวาทแก่ประชาราษฎร์ทั่วไป

ธรรมศาสนา

แต่คำสั่งสอนของผู้ปกครองให้สำเร็จประโยชน์เป็นเครื่องปกครองทางกายเป็นพื้น และประกอบด้วยการลงโทษผู้ละเมิดต่างๆ ยังไม่เป็นเครื่องปกครองจิตใจได้อย่างเพียงพอ จึงมีผู้แสดงคำสั่งสอนขึ้นอีกประเภทหนึ่ง มุ่งสำหรับปกครองจิตใจ ดังที่เรียกกันในบัดนี้ว่าศีลธรรมหรือศาสนา

การยกศัพท์ว่าศาสนาขึ้นสันนิษฐานในทางว่า คือคำสั่งสอนที่มีในสังคมมนุษย์ตั้งแต่ต้นเดิมมา และในหมู่ชนทั่วไปนี้ เมื่อกำหนดใจไว้ว่า ศาสนาคือคำสั่งสอนหรือการสั่งสอนอย่างธรรมดาๆ นี้เองเท่านั้น ก็จะเข้าใจตามที่แสดงมาโดยตลอด ว่าคำสั่งสอนได้ขยายตัวกว้างออกไปเพื่อให้เป็นเครื่องปกครองคนอย่างเพียงพอโดยลำดับอย่างไร และอาจสรุปคำสั่งสอนทั้งหมดลงได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. คำสั่งสอนที่ยังไม่เพียงพอ ยังไม่จบ

๒. คำสั่งสอนที่เพียงพอแล้ว จบลงแล้ว

ประเภทที่ ๑ คำสั่งสอนที่ยังไม่เพียงพอ ยังไม่จบนั้น เช่นคำสั่งสอนของบิดามารดาในชั้นต้น เช่นบิดามารดาสอนให้ลูกหัดพูด หัดนั่ง ยืน เดิน วิ่ง และหัดในกิจอื่นๆ แต่ยังไม่พอ เมื่อลูกโตขึ้นจึงต้องส่งไปโรงเรียน แม้คำสั่งสอนศิลปวิทยาต่างๆ ในโรงเรียนก็ไม่มีจบ ศิลปวิทยาแต่ละอย่างก็ยังค้นคว้าแก้ไขเพิ่มเติมกันเรื่อยไป และมีมากมาย จึงต้องจัดหลักสูตรกำหนดว่าให้เรียนเพียงไหนในชั้นไหน และเมื่อถึงชั้นไหนก็ให้สำเร็จเสร็จการเรียนกันเสียที แม้วิชาที่เรียกว่าปรัชญาก็เป็นเรื่องไม่จบเหมือนกัน ยังค้นคว้าแก้ไขเพิ่มเติมกันต่อไป คำสั่งสอนของท่านผู้ปกครองที่เรียกในปัจจุบันว่ากฎหมายเป็นต้นก็คงไม่จบสิ้น ไม่เพียงพอ ดังกล่าวเหมือนกัน น่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ คำสั่งสอนประเภทนี้จึงไม่นิยมเรียกว่าศาสนา

ประเภทที่ ๒ คำสั่งสอนที่เพียงพอแล้ว จบลงแล้ว ได้แก่คำสั่งสอนที่เรียกว่าศาสนาในบัดนี้ เพราะทุกศาสนาต่างก็แสดงคำสั่งสอนถึงที่สุดตามลัทธิของตน เช่นบางศาสนานับถือเทวดาประจำธรรมชาติต่างๆ ก็แสดงว่ามีที่สุดเพียงเทวดาเหล่านี้เท่านั้น บางศาสนานับถือเทพเจ้าผู้สร้างมากองค์บ้างองค์เดียวบ้าง ก็แสดงว่ามีที่สุดเพียงเทพเจ้าเท่านั้น บางศาสนานับถือธรรม ก็แสดงธรรมที่สูงสุด ที่บุคคลพึงเข้าถึงได้ด้วยปัญญาของตน คำสั่งสอนประเภทที่ ๑ เช่นคำสั่งสอนของมารดาบิดาดังกล่าวแล้ว สั่งสอนอยู่ในเหตุผลใกล้ๆ ตัว แม้ที่ไกลออกไปดังศิลปวิทยาต่างๆ ตลอดถึงปรัชญาต่างๆ ผู้แสดงที่เป็นต้นเดิมเองก็ไม่ปรากฏว่าใครปฏิญญาตนเองว่าเป็นผู้รู้จบแล้ว ส่วนคำสั่งสอนประเภทที่ ๒ อันเรียกว่าศาสนา สั่งสอนในเหตุผลที่กว้างที่ไกลตัวออกไปจนถึงที่สุด ดังเช่นเมื่อสอนเรื่องโลก ที่สุดโลกในด้านอดีตก็คือการสร้างโลกหรือกำเนิดโลก ที่สุดในด้านอนาคตก็คือเรื่องความสิ้นสุดของโลก และผู้แสดงก็ปฏิญญาว่าเป็นผู้รู้จบแล้ว

จบจริงหรือ

คำสั่งสอนประเภทที่ ๑ ไม่มีปัญหาต่อไป ส่วนประเภทที่ ๒ อันเรียกว่าศาสนานั้น มีปัญหาต่อไปว่าผู้แสดงเป็นผู้รู้จบจริงหรือไม่ คำสั่งสอนนั้นเพียงพอแล้วจบลงแล้วจริงหรือไม่ ปัญหานี้ภูมิปัญญาของคนเรานี้เองเป็นผู้ตอบได้ คือถ้าถูกต้องกับความจริงอย่างบริบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ก็เป็นศาสนาที่บริบูรณ์บริสุทธิ์ คือเพียงพอแล้ว จบลงแล้ว มีลักษณะดังที่แสดงมาแล้วในเรื่องพระธรรม

ศาสนาที่ดี

ถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อเว้นส่วนที่เป็นปรมัตถะหรือส่วนที่สูงสุดของแต่ละศาสนาเสียกล่าวเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตปัจจุบัน ศาสนาที่ดีทุกศาสนาย่อมสั่งสอนให้คนทุกคนประกอบด้วยศีลธรรม มีศีลธรรมเป็นเครื่องปกครองจิตใจและความประพฤติ ไม่มีศาสนาที่ดีศาสนาไหนสั่งสอนให้คนทอดทิ้งศีลธรรม ฉะนั้น ศาสนิกชน คนที่นับถือศาสนาแม้ศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ล้วนเป็นผู้ที่นับถือหลักศีลธรรมในโลก มีศีลธรรมเป็นหลักปกครองใจและความประพฤติ แม้นับถือศาสนาต่างกัน แต่ต่างเคารพอยู่ในหลักศีลธรรมด้วยกัน จึงอยู่รวมกันได้โดยสงบสุข

คนแปลกประหลาด

คนเราที่อยู่ร่วมครอบครัว ร่วมหมู่ ร่วมถิ่นฐานบ้านเมือง จนถึงอยู่ร่วมโลกกัน โดยปกติเมื่อพบกันเข้าก็รู้จักกันว่า คนไทย คนจีน คนแขก คนฝรั่ง เป็นต้น เพราะมีลักษณะหน้าตาผิวพรรณเป็นต้น เป็นเครื่องบอกให้รู้ แต่ถ้าจะมีใครสักคนหนึ่งไม่มีลักษณะบอกได้ว่าเป็นชาติไหนปรากฏตัวเข้ามา ใครจะรู้ได้หรือว่าเขาเป็นคนอะไร มาจากไหน ดูเป็นคนแปลกประหลาดในโลก ฉันใด คนที่นับถือศาสนาต่างๆ ก็ฉันนั้น เมื่อพบกันก็ย่อมจะรู้จักกันได้ว่าใครเป็นคนอย่างไร มีหลักเชื่อถือปฏิบัติอย่างไร หรือมีศีลธรรมอย่างไร ถึงจะถืออย่างคร่ำครึอย่างไรก็ยังดูรู้จักกันได้ เพราะทุกศาสนาย่อมแสดงหลักธรรมของตนไว้ทั้งนั้น เป็นเครื่องชี้ให้ทราบได้ว่าศาสนิกชนของศาสนานั้นๆ เป็นอย่างไร คือมีทางปฏิบัติตามลัทธิศาสนานั้นๆ อย่างไร แต่ถ้าจะมีใครที่ไม่นับถือศาสนาอะไรมาปรากฏตัวขึ้นใครจะรู้ได้ว่าเขาเป็นคนอะไร มีหลักเชื่อถืออย่างไร ดูเป็นคนแปลกประหลาดอันจะต้องพึงระมัดระวัง เพราะไม่รู้ว่าจะมาทำอะไร มีความคิดเห็นนับถืออะไรอยู่ เพราะตามธรรมดาทุกคนจะต้องนับถือหลักอันใดอันหนึ่งอยู่ทั้งนั้น ดังได้แสดงแล้วตั้งแต่ต้นว่าศาสนาคือคำสั่งสอนนั้นมีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ คนนับถือคำสั่งสอนก็มีมาตั้งแต่ดำดำบรรพ์เหมือนกัน ฉะนั้น จึงไม่มีใครที่ไม่มีหลักอะไรเป็นที่นับถือเลย ถ้าไม่เป็นศาสดาตั้งหลักของตนขึ้นสั่งสอนเอง ก็ต้องนับถือรับฟังคำสั่งสอนจากผู้อื่น คนเช่นนี้จึงต้องตรวจสอบให้แน่ว่าเขาเป็นศาสดาองค์ใหม่ขึ้น หรือนับถือศาสนาของศาสดาองค์ใหม่อื่นองค์ไหน

คนหลักลอย

บางคนอาจลังเลใจในศาสนาต่างๆ ที่แสดงตรงกันมาบ้าง ขัดกันบ้าง จึงยังไม่ปลงใจนับถือจริงลงได้ ถ้ายังไม่นับถือเพราะเหตุเช่นนี้ ก็ยังไม่ควรตำหนิ เพราะมีเหตุผลที่สมควรอยู่ แต่ถ้าไม่ศึกษาสอบสวน ปล่อยให้ลังเลใจอยู่เรื่อยไป ก็กลายเป็นคนหลักลอยทางจิตใจ ถ้าศึกษาสอบสวนตามเหตุผลให้ตลอด ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าเชื่อถืออย่างไม่มีเหตุผล

ศาสนาที่สอนให้รู้

ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงประสงค์ให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถือตามเหตุผลด้วยปัญญาของตน ทรงแนะนำให้พากันมาดูให้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง ดังบทพระธรรมคุณว่า “เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู” เมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาในวันอาสาฬหบูชาบุรณมีก็มิได้ทรงขอให้ฤษีทั้ง ๕ เชื่อก่อน เพียงแต่ตรัสให้ตั้งใจฟัง เมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบลงแล้ว พระโกณฑัญญะเกิดดวงตาเห็นธรรม คือเห็นจริงขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสอุทานว่า “โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ” (จึงเกิดมีคำเรียกท่านว่าพระอัญญาโกณฑัญญะสืบมา) มิได้ตรัสว่าโกณฑัญญะได้เชื่อพระองค์แล้วเลย พระโกณฑัญญะนี้เองได้เป็นปฐมอริยพุทธศาสนิกชนในโลกตั้งแต่เมื่อเกิดดวงตาคือปัญญาเห็นธรรม พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมฤษีอีก ๔ รูปให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ในต่อมา ได้ทรงอบรมฤษีทั้ง ๕ ให้ได้ปัญญาเป็นเหตุให้พ้นทุกข์ทั้งหมดเหมือนพระองค์ ได้เสด็จจาริกประกาศพระพุทธศาสนา แสดงหนทางที่ชอบแก่โลกโดยลำดับ จึงมีพุทธศาสนิกชน คือพระสงฆ์สาวก หรือพุทธบริษัท พุทธมามกะ พุทธมามิกา ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

พุทธศาสนิกชนแท้

พระพุทธเจ้าได้ทรงยังล้อพระธรรมให้หมุนไปในโลกตั้งแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาเป็นต้นมา จึงเรียกชื่อปฐมเทศนาโดยเฉพาะว่า “ธรรมจักร” แปลว่าล้อคือธรรม จะเรียกวันที่ทรงแสดงคือวันอาสาฬหปุณณมีว่าวันธรรมจักรก็ได้ เมื่อล้อพระธรรมหมุนไปในที่ใดทิศใด ก็ปรากฏมรรคาคือทางที่ชอบขึ้นในที่นั้นทิศนั้น เป็นสายเดียวประกอบด้วยองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจชอบ ใครเดินทางชอบมีองค์ประกอบ ๘ รวมกันเป็นทางเดียวนี้แล คือพุทธศาสนิก พระพุทธเจ้าตรัสว่า

เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปชฺชถ มารเสนปฺปโมหนํ ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติเดินทางที่ทำมารและเสนาให้หลงนี้แล

เอตญฺหิ ตุมฺเห ปฏิปนฺนา ทุกฺขสฺสนฺตํ กริสฺสถ ท่านทั้งหลายปฏิบัติเดินทางนี้แล้ว จักทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้
ดังนี้

๔ กรกฎาคม ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2553    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:10:48 น.
Counter : 609 Pageviews.  

๕. พระพุทธศาสนา



หลักพระพุทธศาสนา

๕. พระพุทธศาสนา

ลำดับความเกิดแห่งพระรัตนตรัย


พระรัตนตรัย แก้ว ๓ ดวงของโลก คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๔ ย่อมมีขึ้นบริบูรณ์ในโลก เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนา คือเทศน์แสดงพระธรรมสั่งสอน ทีแรกก็มีแต่พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้พระธรรม และมีพระธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ซึ่งประจักษ์แจ้งอยู่แก่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น ยังไม่มีใครอื่นได้ทราบด้วย ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้แสดงพระธรรมนั้นสั่งสอน อันเรียกว่าพระพุทธศาสนา จึงมีคนอื่นได้ทราบพระธรรมตามพระพุทธเจ้า และได้รู้จักพระพุทธเจ้าขึ้นด้วยว่าเป็นผู้ตรัสรู้จริง คือเป็นพระพุทธเจ้า พวกคนที่ได้ทราบพระธรรมตามนี้คือพระสงฆ์ซึ่งเป็นหมู่ดอกบัวที่เบิกบานแล้วในโลก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๓ จึงเกิดพระสงฆ์ขึ้น ครบพระรัตนตรัย ฉะนั้น จึงควรทราบเรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นของพระพุทธศาสนา และความหมายที่สัมพันธ์กันต่อไป

ปัญจวัคคิยะ

พระพุทธศาสนาได้เกิดขึ้นในโลกทีแรกที่สวนกวาง (มิคทายวัน) ชื่ออิสิปตนะ แขวงเมืองพาราณสี ในบัดนี้เรียกว่าสารนาถ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาครั้งแรกแก่ฤษี ๕ รูป มีเรื่องสืบมาตั้งแต่ต้นว่า เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้วได้ ๕ วัน พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา โปรดให้ประชุมพระญาติวงศ์และเสนามาตย์พร้อมกัน เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาฉันโภชนาหารประกอบมงคลรับลักษณะและขนานพระนามว่า “สิทธัตถกุมาร” พราหมณ์เหล่านั้นได้ทำนายพระลักษณ์ตามตำราว่า พระราชกุมารจักมีคติเป็น ๒ คือถ้าเสด็จอยู่ครองฆราวาสจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชาเอกในโลก ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระศาสดาเอกในโลก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๑ เว้นอยู่แต่พราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กกว่าทั้งหมด ได้ทำนายพระลักษณะแต่เพียงคติเดียวว่า จักเสด็จออกผนวชตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พราหมณ์หนุ่มคนนั้นชื่อว่าโกณฑัญญะ เมื่อได้ทำนายอย่างกล้าด้วยความมั่นใจเป็นหนึ่งอย่างนั้นแล้ว ก็ได้คอยสดับตรับฟังข่าวพระราชกุมารตลอดมา ครั้นได้ทราบว่าพระราชกุมารเสด็จออกทรงผนวชแล้ว ก็ดีใจในการทำนายอย่างแม่นยำของตน เพิ่มความเชื่อมั่นขึ้นว่าจักได้ตรัสรู้แน่ จึงได้ออกบวชตามพร้อมกับลูกพราหมณ์พวก ๑๐๘ นั้นอีก ๔ คน ซึ่งได้ยินเล่ามาจากบิดา รวมเป็น ๕ คนด้วยกัน เรียกรวมกันว่า ปัญจวัคคิยะ แปลว่า มีพวก ๕ ได้คอยติดตามพระโพธิสัตว์ในระหว่างที่พระองค์ทรงทำทุกรกิริยาทรมานพระกายให้ลำบากต่างๆ ได้คอยเฝ้าปฏิบัติอยู่ทุกเวลาด้วยหวังจะได้พลอยมีส่วนแห่งพระธรรมที่ได้ทรงบรรลุ ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงเลิกทุกรกิริยา เพราะทรงเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ก็พากันเลิกปฏิบัติพระองค์ เพราะเห็นว่าทรงท้อถอยเสียแล้ว และได้พากันหลีกไปพำนักอยู่ที่สารนาถดังกล่าวแล้ว ทิ้งพระโพธิสัตว์ให้ประทับอยู่แต่พระองค์เดียว แต่ก็เป็นการเหมาะกับเวลาที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจในทางใหม่ ซึ่งต้องการความสงบสงัด ส่วนที่ได้มาคอยเฝ้าปฏิบัติเมื่อทรงทำทุกรกิริยานั้น ก็ได้เป็นพยานรู้เห็นด้วยว่าได้ทรงทำแล้วอย่างยิ่งยวดที่สุดอย่างไร ทำจนถึงอย่างนั้นแล้วยังไม่ได้ผลอะไร ก็เป็นหลักฐานอันเพียงพอแล้วที่จะทรงชี้บอกว่าการทรมานตัวอย่างนั้นไม่มีผลที่จะให้เกิดปัญญาตรัสรู้พระธรรมได้เลยทีเดียว เช่นเดียวกับความติดสุขจากรูปเสียงเป็นต้นที่น่าพอใจต่างๆซึ่งก็เป็นอันตรายแก่ปัญญาเหมือนกัน

ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธศาสนา

ครั้นพระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้พระธรรม เป็นผู้รู้แล้วบริบูรณ์ ที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า และได้มีพระกรุณาจะแสดงพระธรรมโปรดโลกแล้ว ก็ได้ทรงพิจารณาหาผู้ที่จะเสด็จไปเทศน์โปรดเป็นครั้งแรก ได้ทรงนึกถึงดาบสทั้ง ๒ คือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร ที่พระองค์ได้เสด็จไปศึกษาลัทธิปฏิบัติเมื่อเสด็จออกทรงผนวชใหม่ๆ แต่ทรงเห็นว่า ไม่ใช่ทางตรัสรู้จึงเสด็จหลีกออกไป ก็ได้ทรงทราบว่าดาบสทั้ง ๒ นั้นเสีย (ตาย) แล้ว จึงได้ทรงพิจารณาหาผู้อื่นที่จะเป็นเวไนยทีแรกของพระองค์ต่อไป ก็ได้นึกถึงฤษีทั้ง ๕ ซึ่งได้ปฏิบัติพระองค์เมื่อทำทุกรกิริยา ทรงเห็นว่าเป็นเวไนยที่พระองค์ควรจะโปรดก่อนได้ จึงเสด็จจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แขวงเมืองมคธ ที่บัดนี้เรียกว่าพุทธคยา อันเป็นตำบลที่ตรัสรู้ ไปสู่ตำบลสารนาถ ที่ฤษีทั้ง ๕ นั้นพำนักอยู่ ในระหว่างทางได้ทรงพบกับอาชีวก (นักบวชจำพวกหนึ่ง) ชื่ออุปกะ อุปกะอาชีวกได้เห็นพระองค์มีพระฉวีวรรณผ่องใส จึงถามว่า ใครเป็นครูของพระองค์ พระองค์ชอบใจธรรมของใคร พระองค์ตรัสตอบว่าไม่มีใครเป็นครูของพระองค์ พระองค์เป็นสยัมภู ผู้เป็นเอง คำถามคล้ายกับว่านับถือพระเป็นเจ้าองค์ไหน พระพุทธดำรัสตอบคล้ายกับว่าทรงเป็นพระเป็นเจ้าเอง อาชีวกนั้นสั่นศีรษะเดินหลีกไป พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปถึงที่พำนักของฤษีทั้ง ๕ ในเวลาเย็นวันโกนของวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ ตรัสแก่ฤษีทั้ง ๕ ว่า พระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรม แล้วได้เสด็จมาจะทรงแสดงพระธรรมแก่พวกเขา ทีแรกฤษีทั้ง ๕ ไม่ยอมเชื่อ พระองค์ต้องตรัสเตือนให้ระลึกว่าจำได้อยู่หรือว่า วาจาเช่นนี้พระองค์ได้เคยตรัสในคราวก่อนแต่นี้ ฤษีทั้ง ๕ จึงนึกขึ้นได้ ยินยอมจะฟังพระธรรมพระพุทธเจ้า ครั้นทรงทำให้ฤษีทั้ง ๕ ยินยอม ทรงเห็นว่าพากันน้อมใจจะรับพระธรรม มีความตั้งใจจะรับฟังพระธรรมดีแล้ว จึงทรงแสดงปฐมเทศนา (เทศน์ครั้งแรก) ในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะนั้น อันตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน ๘ หน้าวันเข้าพรรษา พระพุทธศาสนาจึงได้เกิดขึ้นในโลกจำเดิมแต่นั้นมา ทางราชการคณะสงฆ์ได้ประกาศกำหนดวันเพ็ญกลางเดือน ๘ หน้าวันเข้าจำพรรษาเป็นวันบูชาเพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง เรียกว่าวันอาสาฬหบูชา เริ่มตั้งแต่ศกที่แล้ว (พ.ศ.๒๕๐๑) เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงวันเริ่มเกิดขึ้นแห่งพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงเริ่มเทศน์แสดงพระธรรมเป็นครั้งแรก เป็นอันได้ทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนา ได้เริ่มมีพระสงฆ์ขึ้น จึงเป็นอันได้เริ่มมีพระรัตนครบทั้ง ๓ ตั้งแต่วันนั้นมา นับปีได้ว่า เมื่อก่อนพุทธศก ๔๕ ปี หลังจากตรัสรู้แล้วได้ ๒ เดือน

พระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา แปลว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แปลว่าการสั่งสอนของพระองค์ก็ได้ โดยความก็ได้แก่พระธรรมเทศนา คือเทศน์แสดงพระธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมนั้นเองเป็นพระศาสนา คือเป็นคำสั่งสอนแนะนำฝึกอบรมเวไนยนิกร เพื่อให้มีความเข้าใจชัดยิ่งขึ้นจักแสดงเน้นในความหมายของคำว่าพระศาสนา ซึ่งเป็นความหมายเฉพาะของพระพุทธศาสนา ดังต่อไปนี้

ลักษณะเฉพาะของพระพุทธศาสนา

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงเทศน์โปรดโลก ดังแสดงแล้วในกัณฑ์ที่ ๒ นั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงเทศน์เป็นพระศาสนา คือเป็นการสั่งสอนหรือเป็นคำสั่งสอนแนะนำฝึกอบรมแก่ทุกๆ คนโดยตรง คือโดยตรงจากพระพุทธเจ้ามาถึงตัวของทุกๆ คนโดยตรง เหมือนอย่างมาประทับรับสั่งอยู่เฉพาะหน้าเฉพาะตัว ด้วยเรื่องของตัวผู้รับพระธรรมนั่นเอง

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเป็นพระศาสนา ที่ตรงจากพระพุทธเจ้าถึงผู้ฟังโดยตรงที่สุดดังกล่าว พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงจึงมิใช่เป็นคำหรือเป็นการต้องผ่านจากเทวะหรือมนุษย์ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม จึงไม่มีข้อผูกพันกับเทวะหรือมนุษย์อื่นอะไรทั้งสิ้น ไม่มีข้อผูกพันแม้กับพระองค์เองที่จะบังคับให้ต้องเชื่อต้องนับถือพระองค์ จึงไม่ต้องอ้อนวอนสรรเสริญให้ใครโปรดปราน นอกจากจะอ้อนวอนตนเองให้โปรดตนเอง ด้วยวิธีให้ละชั่วให้ทำดีด้วยตนเอง

อนึ่ง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง มิใช่เป็นคำพูดหรือเป็นการพูดสักว่าใช้โวหารและเหตุผลแวดล้อมให้คนทึ่งให้คนตื่นเต้นเชื่อถืออย่างนักพูดที่เก่งในวิธีพูดใช้เหตุผลให้คนหลงใหล มิใช่เป็นคำพูดหรือเป็นการพูดเก็งหรือเดาความจริงอย่างนักคิดที่มีความรักจะรู้จักอะไรต่างๆ มิใช่เป็นคำพูดหรือการพูดที่ตั้งข้อสมมติขึ้นเพื่อแสวงหาความจริงต่อไป มิใช่เป็นคำพูดหรือเป็นการพูดเล่นหัวยั่วยิ้มหรือพูดพล่อยๆ ไร้สาระประโยชน์

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงมีลักษณะเป็นคำสั่งสอนหรือการสั่งสอน ซึ่งแสดงความจริงในตัวของทุกๆ คนโดยตรง จากพระพุทธเจ้าโดยตรง ถึงตัวผู้ฟังโดยตรง ประกอบด้วยสาระประโยชน์อย่างบริบูรณ์บริสุทธิ์ครบถ้วน และพระพุทธเจ้ามิได้ทรงฟังพระธรรมมาจากใคร มิได้ทรงรับคำสั่งสอนพระธรรมมาจากใคร จะเป็นเทวะหรือมนุษย์ก็ตาม ทรงเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรมเอง ถ้าจะว่าต้นเดิมของพระธรรมหรือของศาสนาเป็นเทวะก็ทรงเป็นเทวะนั้นเอง ตามเค้าที่ตรัสตอบแก่อุปกะอาชีวก พระองค์จึงเป็นผู้สมกับคำทำนายพระลักษณะ ว่าจักเป็นพระศาสดาเอกในโลก เพราะทรงเป็นพระศาสดาผู้สั่งสอนที่เป็นเอกคือเป็นหนึ่งจริงๆ คือเป็นที่ ๑ ไม่เป็นที่ ๒ ของเทวะหรือมนุษย์ใดๆ เพราะมิได้ทรงรับสั่งสอนมาจากใครดังกล่าวโดยตรงกันข้าม ทรงเป็นพระศาสดาของเทวะและมนุษย์ทั้งหลาย จึงทรงเป็นมนุษย์คนแรกที่หลุดพ้นจากความผูกพันในโลกทั้งสิ้น ไม่มีใครในโลกทั้งสิ้นที่จะต้องทรงบูชาเซ่นสรวงอ้อนวอน ตามความต้องการยึดถือผูกพัน แต่ทรงเป็นผู้ที่โลกทั้งสิ้นบูชา และทรงแสดงพระธรรมเป็นพระศาสนาสั่งสอนเพื่อให้ทุกๆ คนเป็นไท พ้นจากความเป็นทาส ในการปฏิบัติชอบแก่ตน ด้วยตน เพื่อตน มิใช่ต้องถูกผูกพันให้ต้องปฏิบัติเพื่อใครอื่น การปฏิบัติชอบเพื่อตนดังกล่าว มิได้หมายความว่าให้เห็นแก่ตัวซึ่งเป็นการคับแคบ แต่หมายความว่าปฏิบัติเพื่อให้ตนไม่เป็นคนทำชั่วทำผิด แต่ให้เป็นคนทำถูกทำชอบตามควรแก่ภาวะของตน ฉะนั้น จึงกล่าวได้อย่างไม่ต้องกลัวผิดว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของมนุษย์ ที่สั่งสอนมนุษย์ หรือตลอดถึงเทวะ ด้วยความจริงอันเรียกว่าสัจธรรม ธรรมคือความจริง ตามเหตุผลตั้งแต่ชั้นธรรมดาสามัญนี้แหละขึ้นไป ที่ปัญญามนุษย์ธรรมดาสามัญอย่างเราๆ นี้แหละพึงรู้เห็นได้ด้วยตนเอง และอาจนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ตนได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องพึ่งใครอื่นมาเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทให้ พระพุทธเจ้ามิได้ทรงสั่งสอนให้หย่อนหรือยิ่งไปกว่าความจริงที่คนอย่างเราๆ ควรจะรู้ควรจะเข้าใจ หรือเกินกว่าที่จะทำได้ในข้อไหนๆ เลย ฉะนั้น จึงมีคำกล่าวถึงอาการหรือลักษณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเพื่อให้รู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น ทรงแสดงพระธรรมมีเหตุผลที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ ทรงแสดงพระธรรมมีปาฏิหาริย์ คือผู้ฟังอาจปฏิบัติให้ได้รับผลจริงได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ เพราะเหตุดังเช่นที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทุกๆ คนจึงสวดบทพระธรรมคุณได้อย่างสนิทใจว่า สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวดีแล้ว เพราะพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงกล่าวเองบอกเอง มิได้ทรงฟังคำสั่งสอนมาจากใครให้บอกต่อ และทรงกล่าวเป็นพระศาสนา คำสั่งสอน หรือการสั่งสอนแสดงความจริงที่มีสาระประโยชน์อย่างบริบูรณ์บริสุทธิ์ครบถ้วน เป็นข้อน่ารู้ มีเหตุผล และปฏิบัติได้จริง

ถ้าจะแย้งว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเป็นพระศาสนาสั่งสอนแก่คนในครั้งพุทธกาลโน้น เป็นต้นว่าทรงแสดงแก่ฤษี ๕ รูปนั้น มิได้ทรงแสดงเป็นพระศาสนาสั่งสอนแก่พวกเราบัดนี้ พระพุทธศาสนาจึงเหมาะแก่คนในครั้งโน้นไม่เหมาะแก่คนในบัดนี้ ก็พึงตอบชี้แจงว่า ถ้าได้กำหนดความเรื่องพระธรรมดังที่ได้แสดงในกัณฑ์ที่ ๒ และในกัณฑ์นี้มาโดยลำดับแล้ว ก็จะเห็นว่า พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน เป็นกฎธรรมดา หรือเป็นความจริงที่อยู่ตัวที่คงตัว เมื่อครั้งทรงแสดงเป็นจริงฉันใด ในกาลต่อมาจนถึงบัดนี้และในกาลต่อไปก็เป็นจริงฉันนั้น ไม่มีกลับกลายเปลี่ยนแปลง ถ้ากลับกลายเปลี่ยนแปลงไปได้ ก็ไม่ใช่พระธรรมที่อยู่ตัวคงตัว และพระธรรมดังกล่าวก็เป็นจริงที่เป็นกฎธรรมดาของโลก กล่าวคือของทุกๆ คนทุกๆ สิ่งในโลกทั้งหมด ในเวลาทุกกาลทุกสมัย บรรดาผู้ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนเอง มีฤษีทั้ง ๕ เป็นต้น ก็เป็นไปตามพระธรรมหรือกฎธรรมดาอันใด บรรดาคนอื่นๆ ในเวลาก่อนแต่นั้นก็ดี ในเวลานั้นก็ดี ในเวลาต่อมาจนถึงบัดนี้ตลอดถึงเวลาต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด รวมทั้งเราทั้งหลายในบัดนี้ด้วย ก็เป็นไปตามพระธรรมหรือกฎธรรมดาอันนั้นเสมอกันหมด ฉะนั้น พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ใครเมื่อไรก็ตาม ก็เหมือนทรงแสดงแก่คนอื่นด้วยทั้งหมด โดยเฉพาะเหมือนทรงแสดงแก่เราทั้งหลายด้วยเหมือนกัน และคนในครั้งพุทธกาลซึ่งได้เฝ้าฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าเอง ได้รู้เข้าใจ ได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงผลได้ด้วยตนฉันใด คนในต่อมาจนถึงในบัดนี้และในต่อไปแม้ไม่มีโอกาสอย่างนั้น แต่ได้ตั้งใจฟังพระธรรม ตั้งใจเรียนพระธรรม ตั้งใจปฏิบัติพระธรรม ก็อาจรู้เข้าใจ อาจปฏิบัติจนบรรลุถึงผลได้เช่นเดียวกัน ฉันนั้น ข้อสำคัญให้เป็นเวไนย คือรับแนะนำ คือรับพระศาสนา คำสั่งสอน หรือการสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระพุทธศาสนาจึงเหมาะแก่คนทุกคนทุกกาลสมัย ฉะนั้น ทุกๆ คนจึงสวดบทพระธรรมคุณต่อไปนี้ได้อย่างสนิทใจว่า

สนฺทิฏฺฐิโก อันผู้ได้ผู้บรรลุพึงเห็นเอง เช่นอย่างเรียนเองก็รู้เอง บริโภคเองก็รู้รสเอง
อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาล เพราะอยู่ตัวคงตัวดังกล่าวแล้ว จึงใช้ได้ทุกกาลสมัย
เอหิปสฺสิโก ควรเรียกให้มาดู คือมาดูหรือมาพิสูจน์ได้ที่ตน ด้วยตน และบอกคนอื่นให้มาปฏิบัติดูได้ด้วย
โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา คือควรปฏิบัติได้ เพราะทุกๆ คนสามารถปฏิบัติให้ได้ผลจริง
ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ อันวิญู (ผู้รู้) พึงรู้เฉพาะตน เช่นอย่างคนไหนเรียนคนนั้นก็รู้ คนไหนปฏิบัติคนนั้นก็ได้ประสบผล มิใช่ว่าคนหนึ่งเรียนคนหนึ่งรู้ คนหนึ่งปฏิบัติคนหนึ่งประสบผล หรือคนหนึ่งบริโภคคนหนึ่งอิ่ม

พระธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้เข้ามาดู ควรน้อมเข้ามา อันผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน นั้นแลคือพระพุทธศาสนาโดยลักษณะทั่วไป แต่พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสจำแนกแจกแจงไว้ให้เหมาะแก่อุปนิสัยของแต่ละคนไว้เป็นอันมาก ซึ่งเมื่อสรุปเข้าอย่างย่อที่สุดแล้ว ก็คือตรัสสอนให้ละชั่ว ให้ทำดี ให้ทำจิตใจให้ผ่องสะอาด เพื่อให้เป็นผู้พ้นทุกข์ ประสบความสุขตามภูมิชั้น

บัดนี้ พระพุทธศาสนาซึ่งได้ดังก้องออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะ เมื่อเกิน ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ก็ยังดังก้องอยู่ด้วยเสียงของบรรดาผู้ที่ได้ฟังได้ยินแล้วบอกประกาศกันต่อๆ มา

ใครฟังได้ยินเสียง ได้ซาบซึ้งในพระธรรมแม้แต่น้อย ก็จะมีความสุขเหมือนอย่างได้เฝ้าพระพุทธเจ้าแม้แต่หน่อยหนึ่ง ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โส มํ ปสฺสติ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

๒๐ มิถุนายน ๒๕๐๒

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 26 กันยายน 2553    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2556 7:10:20 น.
Counter : 451 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.