Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๓๘ สรุปบารมีและราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ในพรรษากาล พ.ศ. ๒๕๓๐ นี้ ได้แสดงนำด้วย ไตรสิกขา แล้วก็ได้แสดง บารมี ๑๐ ข้อ และ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ข้อ เป็นคู่กันไปโดยลำดับ เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น ๒๐ ข้อ แสดงข้อละวันจนครบ ๒๐ ข้อ วันนี้จะได้กล่าวสรุปและเพิ่มเติมในข้อที่ควรเพิ่มเติม อันรวมอยู่ในบทสรุปนี้

ชั้นของบารมีแบ่งตามสิ่งที่สละ

บารมี ๑๐ นี้ท่านแบ่งออกเป็น บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ซึ่งมีความหายว่า บารมีที่เป็นปกติสามัย และบารมีที่ยิ่งไปกว่าปกติสามัญ และบารมีที่อย่างยิ่งหรือว่าสูงสุด อย่างละ ๑๐ ข้อ จึงเป็นบารมี ๓๐ และหลักในการแบ่งนั้น ตามที่พระอาจารย์ได้แสดงแบ่งกันมา ก็มักแสดงแบ่งโดยถือเอาสิ่งที่สละเพื่อพระโพธิญาณเป็นหลักในการแบ่ง คือสามารถสละทรัพย์และคนที่รัก สิ่งที่รัก เพื่อพระโพธิญาณได้ก็เรียกว่าบารมีสามัญ ปกติสามัญ สามารถสละอวัยวะร่างกายเพื่อพระโพธิญาณได้ก็เป็นอุปบารมี สามารถสละชีวิตได้เพื่อพระโพธิญาณก็เป็นปรมัตถบารมี ตามหลักทั่วไปที่ท่านแสดงนี้ก็เป็นหลักอันหนึ่ง ซึ่งกำหนดเอาสิ่งที่สละนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นแม้เป็นชาดกเรื่องสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อสละชีวิตเพื่อพระโพธิญาณได้ ก็ชื่อว่าบำเพ็ญปรมัตถบารมีได้ในชาตินั้น แต่ทว่ามิได้สละชีวิตแล้ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นปรมัตถบารมี แม้ในชาดกเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งมุ่งแสดงทาน แต่ว่าพระเวสสันดรนั้นไม่ได้สละชีวิตเพื่อพระโพธิญาณ จึงไม่จัดว่าพระเวสสันดรได้บำเพ็ญ ทานปรมัตถบารมี แต่ว่าในชาดกที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ที่สละชีวิตได้ดังที่แสดงเล่ามาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญทานปรมัตถบารมี

มหาปริจจาคะ ๕

และก็น่าวิจารณ์ในสิ่งที่สละดังที่กล่าวมานั้น ใน ปัญจมหาปริจจาคะ คือการบริจาคใหญ่ของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ท่านแสดงไว้ว่ามี ๕ คือ

หนึ่ง ธนปริจจาคะ สละทรัพย์
สอง อังคปริจจาคะ สละอวัยวะ
สาม ชีวิตปริจจาคะ สละชีวิต
สี่ ปุตตปริจจาคะ สละบุตร
ห้า ทารปริจจาคะ สละภริยา

ในปริจจาคะทั้ง ๕ นี้ จะเรียงตามลำดับอะไร ถ้าเรียงตามลำดับข้อที่สละง่ายไปหายาก การสละชีวิตก็มาเป็นที่ ๓ การสละบุตรมาเป็นที่ ๔ การสละภรรยามาเป็นที่ ๕ ดูคล้ายกับว่าสละบุตรยากกว่าสละชีวิต และสละภริยาก็ยิ่งยากไปกว่าสละบุตร ในข้อสละภริยาซึ่งเป็นข้อยากนี้ ได้มีธรรมเนียมที่ถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาลหรือในครั้งพุทธกาล ว่าภริยานั้นเป็นกัณฑะที่ไม่พึงแจก ไม่พึงแบ่งให้ใคร ก็รวมถึงว่าไม่พึงสละด้วย เพราะฉะนั้น ก็มักจะขออะไรๆ กันซึ่งเป็นอย่างอื่น แต่ว่าไม่มีการขอภริยาของใคร เช่นดังที่มีเรื่องเล่าว่า มีพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ลักษณะของสิริ คือมิ่งขวัญ จึงเรียกว่า สิริลักขณพราหมณ์ อันสิรินั้นอาจารย์ไทยเรามักแปลกันว่ามิ่งขวัญ แต่ว่าอาจารย์อรรถกถาท่านอธิบายว่า อิสสริยะ คือความเป็นใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ มีความหมายเหมือนอย่างคำว่าที่เราพูดกันว่า โชคดี ความมีโชค ดังได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “สิริโภคานมาสโย สิริเป็นที่มานอน คือเป็นที่บังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของโภคทรัพย์ทั้งหลาย” ทางพุทธศาสนาแสดงว่าสิริดังกล่าวนี้ เป็นวิบาก คือเป็นผลของบุญ หรือของบารมีที่บุคคลได้ทำแล้ว บุญหรือบุญบารมีนี้เป็นเหตุให้ผู้ทำบุญ ผู้บำเพ็ญบารมี มีสิริ หรือศรี ที่เราแปลว่ามิ่งขวัญหรือความเป็นใหญ่ประจำตน และทางพุทธศาสนาก็แสดงว่า เป็นสิ่งที่โจรก็ลักไม่ได้ น้ำไฟเป็นต้นก็ทำอันตรายไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระสูตรหนึ่งเรียกว่า บุญนิธิ หรือ ปุญญนิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์คือบุญ อันหมายถึงวิบากคือผลของบุญ ที่จะอำนวยสมบัติต่างๆ ให้ตามควรแก่ประเภทของบุญที่บุคคลได้ทำไว้แล้ว เช่นคนที่ทำทานไว้แล้ว ทานที่ทำนี้ย่อมเป็นบุญ เป็นบุญบารมีที่จะให้เกิดผล เป็นการได้สมบัติต่างๆ การได้สิ่งต่างๆ เมื่อสิ่งที่ให้นั้นเป็นโภคทรัพย์ เช่นให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยาแก้ไข และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ตามที่ผู้รับต้องการ ก็เป็นบุญที่ให้เกิดผล เป็นความที่เป็นผู้ไม่ขัดข้อง ขาดแคลน หรือว่าเพียบพร้อมด้วยโภคทรัพย์ มีอาหาร ผ้านุ่งห่มเป็นต้น ดั่งที่ได้ให้เขาไว้แล้วนั้น ซึ่งผลของบุญอันนี้ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่ผู้ทำบุญไว้แล้วในโอกาสนั้นๆ ผลดีดังที่กล่าวมานี้แหละ เรียกว่า สิริ หรือศรี มิ่งขวัญ หรือความเป็นใหญ่ อันทำให้ผู้ที่มีอยู่ย่อมได้ทรัพย์ต่างๆ มาและเมื่อได้มาแล้ว ก็ย่อมดำรงอยู่ ไม่วิบัติเสียหายไปโดยง่าย หรือแม้ว่าวิบัติเสียหายไปแล้ว ก็ย่อมจะได้มาอีก บุคคลเช่นนี้แหละเรียกว่าเป็นผู้ที่มีสิริหรือมีศรี ดังที่เราเรียกว่ามีโชคหรือมีโชคดีนั้น

พราหมณ์ที่เรียกชื่อว่าสิริลักขณพราหมณ์นั้น ได้คิดถึงเศรษฐีผู้บำรุงพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลที่ชื่อว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้สร้างพระเชตวันถวายพระพุทธเจ้า ในกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล และได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารเป็นต้นต่างๆ ได้บำรุงพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี และท่านเศรษฐีผู้นี้เกรงใจพระพุทธเจ้าว่า ถ้าตนไปถามปัญหาธรรมหรือขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรด พระพุทธเจ้าจะทรงลำบาก ก็ไม่อยากให้พระพุทธเจ้าทรงลำบากเหน็ดเหนื่อย ท่านก็ไม่ถามอะไร แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบความดำริของท่าน ก็โปรดแสดงธรรมแก่ท่านเศรษฐีในคราวที่สมควรแสดงทุกคราว ท่านเศรษฐีนี้ได้บำเพ็ญทานจนทรัพย์หมดไปคราวหนึ่ง และท่านก็พยายามบำเพ็ญต่อไปด้วยสิ่งที่มีอยู่ อันเป็นของที่ไม่ประณีต เช่นที่เรียกกันว่าข้าวปลายเกรียน ถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ทรัพย์หมด ไม่สามารถจะถวายของดีๆ ได้ ก็ถวายได้แต่ของที่ไม่ดี เท่าที่จะสามารถถวายได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “เมื่อเจตนาประณีต สิ่งที่บริจาคนั้นก็ประณีต ถ้าเจตนาไม่ประณีต สิ่งที่บริจาคนั้นแม้จะดีอย่างไร ก็ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเศรษฐีมีเจตนาประณีต สิ่งที่ถวายนั้นแม้จะเป็นของเลวไม่ดีก็ประณีตตามเจตนา” และต่อมาก็บังเอิญทำให้ท่านได้ทรัพย์จากแผ่นดินที่เกิดพังทะลายขึ้นในที่ของท่าน มีทรัพย์ใต้ดินอยู่เป็นอันมาก ทำให้ท่านได้ทรัพย์นั้นมา กลับเป็นเศรษฐีขึ้นอีก แล้วก็ทำบุญต่อไปอีก สิริลักขณพราหมณ์นั้นได้คิดถึงประวัติของท่านเศรษฐีดั่งนี้ จึงคิดว่าท่านเศรษฐีนี้จะต้องมีสิริอยู่ในบ้าน เราควรจะไปหาท่านเศรษฐี คิดหาทางขโมยสิริของท่านเศรษฐีมา เราจะได้มั่งมีบ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง จึงได้ไปหาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีก็ต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วก็ถามถึงความประสงค์ที่ท่านพราหมณ์ผู้นี้มา ท่านพราหมณ์ก็ตอบว่า ที่บ้านท่านพราหมณ์นั้นมีไก่อยู่ตัวหนึ่ง ขันไม่เป็นเวลา ทำให้ท่านพราหมณ์และพวกศิษย์ลำบาก จึงใคร่ที่จะขอไก่ของท่านเศรษฐี โดยที่เมื่อพราหมณ์เข้าไปในบ้านของท่านเศรษฐีนั้นแล้ว ก็ได้นั่งพิจาณาว่าสิริของท่านเศรษฐีนั้นอยู่ที่ไหน ก็เห็นว่าอยู่ที่หงอนไก่ของท่านเศรษฐี ที่มีสีขาวปลอดเหมือนอย่างสังข์ขัด จับอยู่ที่สุวรรณบัญชร เป็นหน้าต่างทองของท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีเมื่อได้ถูกขอไก่ ท่านก็บอกว่าท่านให้ เมื่อท่านหลุดปากออกไปว่าให้ ศรีก็ออกจาหงอนไก่ไปอยู่ที่แก้วมณี ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงเหนือศีรษะ พราหมณ์นั้นก็ทราบว่าศรีออกจากหงอนไกไปอยู่ที่แก้วมณีนั้นแล้ว ก็ออกปากขอแก้วมณี ท่านเศรษฐีก็บอกว่าให้ ครั้นท่านเศรษฐีออกปากว่าให้อีก ศรีก็ออกจากแก้วมณีนั้นไปอยู่ที่ไม้เท้าอารักษ์ ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูง ท่านพราหมณ์ก็ทราบก็ออกปากขอไม้เท้าอารักษ์ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงนั้น ท่านเศรษฐีก็ออกปากยกให้ เมื่อท่านเศรษฐีออกปากว่าให้ ศรีก็ออกจากไม้เท้าอารักษ์นั้นไปอยู่บนศีรษะของนางปุญลักขณาเทวีซึ่งเป็นภริยาของท่านเศรษฐี พราหมณ์นั้นก็สำนึกขึ้นมาว่า อันภรรยานั้นเป็นภัณฑะที่ไม่พึงแจก ไม่พึงสละยกให้ใครๆ ก็เป็นอันว่าหยุดขอ แล้วก็บอกความจริงแก่ท่านเศรษฐีนั้น แล้วก็ลากลับไป คือท่านแสดงเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเครื่องสาธกว่า อันสิริหรือศรีนั้นเป็นสิ่งที่ยกให้ใครไม่ได้ ใครก็ขโมยไม่ได้ อยากที่จะยกให้ใครก็ยกไม่ได้ ใครจะมาต้องการขโมยไปก็ขโมยไม่ได้ ไม่เป็นอันตรายหรืออะไรๆ ทั้งหมด และก็ให้คติปฏิบัติอันหนึ่งว่า ภริยานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงแบ่งสละให้ใคร เป็นที่นับถือกันตั้งแต่ในครั้งก่อนพุทธกาลมาจนถึงในครั้งพุทธกาลนั้น แม้นักขอทั้งหลาย ขอสิ่งอื่น แต่ว่าเมื่อถึงภริยาแล้วก็ไม่ขอ เพราะถือเป็นธรรมเนียมกันมา พราหมณ์ก็ถือธรรมเนียมนี้

ในเรื่องพระเวสสันดรนั้น ก็มีเล่าถึงพราหมณ์มาขอ จนถึงชูชกขอพระโอรสธิดาของพระเวสสันดร คือพระชาลี พระกัณหาชินา แต่ว่าก็ไม่ปรากฏว่ามีใครมาขอพระนางมัทรี แต่ก็มีแสดงว่าพระอินทร์ได้แปลงเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ประทานถวายพระอินทร์ พระอินทร์ก็ถวายคืนและก็สั่งว่าอย่าไปให้ใครต่อไป ในเรื่องนี้พระอินทร์มาขอพระนางมัทรีเพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาขอต่อไปดังเรื่องที่เล่าไว้นั้นก็ได้ หรือว่าอาจจะตีความอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ายังมิได้บริจาคภริยา ก็เป็นอันว่ายังไม่ได้บำเพ็ญมหาปริจจาคะครบทั้ง ๕ บริจาคทรัพย์ก็แล้ว อวัยวะก็แล้ว ชีวิตก็แล้ว บุตรก็แล้ว แต่ภริยาก็ยังไม่เคยบริจาค เป็นอันว่าไม่ครบ ๕ และถ้าพระอินทร์ไม่มาขอ ก็อาจจะไม่มีพราหมณ์คนไหนมาขอเพราะว่าพราหมณ์เขาถือคติอันนี้เหมือนกัน เพราะเป็นภริยาแล้วเป็นสิ่งที่ไม่พึงบริจาคสละให้แก่ใคร พราหมณ์ก็ถือกันอย่างนี้ ดังเรื่องที่เล่าเมื่อกี้นี้ ศรีออกจากอะไรต่ออะไรมาอยู่บนศีรษะของภริยาของท่านเศรษฐี แล้วก็พราหมณ์นั้นก็เลยหยุดขอ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงสละบริจาคให้แก่ใคร ไม่ควรจะขอ เพราะอาจจะถือคตินี้ และถ้าไม่มีใครมาขอ พระโพธิสัตว์ก็ยังบำเพ็ญมหาบริจาคไม่ครบ ๕ พระอินทร์จึงได้มาขอพระนางมัทรี เพื่อทำให้พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมหาบริจาคได้ครบทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น การเรียงลำดับของมหาปริจจาคะทั้ง ๕ นั้น ทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต บุตร ภริยา น่าจะเห็นว่าท่านเรียงมาตามลำดับที่บริจาคง่ายขึ้นไปหายากโดยลำดับ เพราะว่าทรัพย์ก็เป็นของตัวเอง อวัยวะก็ของตัวเอง ชีวิตก็ของตัวเอง เมื่อปลงใจได้แล้วก็ย่อมจะสละได้ แต่ว่าบุตรนั้นเป็นอีกคนหนึ่ง ภริยานั้นเป็นอีกคนหนึ่งข้างนอก และก็เป็นที่รักอย่างยิ่งด้วยกัน เพราะฉะนั้น บริจาคบุตรจึงน่าจะยากกว่า และบริจาคภรรยานั้นนอกจากมีธรรมเนียมว่าห้ามไม่ให้บริจาคสละให้ใครแล้ว ก็ยังเป็นที่รัก แล้วก็บริจาคยากอีกเหมือนกัน จึงได้เรียงไว้เป็นที่สุด ฉะนั้น หากว่าตามนัยยะมหาบริจาคทั้ง ๕ นี้ ก็น่าจะเป็นการจัดบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีได้อีกอย่างหนึ่งคือ ปรมัตถบารมีนั้นน่าจะเป็นขั้นบริจาคบุตร บริจาคภรรยา ถ้าหากว่าถือเอาสิ่งที่สละเป็นเกณฑ์ แต่นี่ก็เป็นข้อที่วิจารณ์ไป

ชั้นของบารมีแบ่งตามภูมิธรรม

แต่ว่าการจัดแบ่งชั้นบารมีตามที่กล่าวมานี้ ถ้าพิจารณาดูแล้ว ก็น่าจะมีหลักที่แบ่งได้อีกอย่างหนึ่ง คือแบ่งตามภูมิธรรม บารมีปกติสามัญนั้น คือบารมที่บำเพ็ญอย่างปกติสามัญ เป็น ปกติบารมี บารมีที่บำเพ็ญได้อย่างยิ่งขึ้นไป เป็น วิเสสบารมี หรือ อุปบารมี บารมีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่งที่สุดเป็น ปรมัตถบารมี หรือ อติวิเสสบารมี คือว่านอกจากคำว่าบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีแล้ว ยังอาจใช้ได้อีกว่า ปกติบารมี วิเสสบารมี อติวิเสสบารมี ดังที่แบ่งคุณนามออกเป็น ๓ ปกติ วิเสส อติวิเสส เช่นว่าดี นี่เป็นปกติ ดีกว่าเป็นวิเสส ดีที่สุดอติวิเสส เพราะฉะนั้น บารมีที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ที่บำเพ็ญมาในชาติที่ห่างไกล ทรงเวียนว่ายตายเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในวรรณต่างๆ เป็นวรรณต่ำก็มี เป็นวรรณสูงหรือเป็นขัตติยะก็มี เป็นพราหมณ์ก็มี และบำเพ็ญมาต่างๆ ซึ่งวิธีที่บำเพ็ญนั้นก็มียิ่งบ้างมีหย่อนบ้าง อย่างที่คนปกติทั่วไปทำความดี มีเหมาะบ้าง ไมเหมาะบ้าง เพราะที่ชื่อว่าดีนั้น จะต้องเป็นอย่างสังคมคุณที่ว่าดีแล้วก็ตรง และก็เป็นธรรม และก็ชอบยิ่ง แต่ว่าการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชั้นต้นนั้น ก็ยังไม่ครบลักษณะเหล่านี้ทั้งหมด ก็เป็น ปกติบารมี และเมื่อทรงบำเพ็ญดียิ่งขึ้นๆ เป็นบารมีที่สมบูรณ์มากขึ้น ปรากฏเป็นพระนิสัย อัธยาศัย สันดาน ที่ดีมากขึ้นๆ ๆ ไปโดยลำดับจนใกล้จะเต็มที่ ก็เป็น อุปบารมี และเมื่อเต็มที่ได้ตรัสรู้ นั่นเป็น ปรมัตถบารมี ดังจะพึงเห็นได้ในพระชาติสุดท้ายเมื่อทรงเป็นพระสิทธัตถราชกุมาร โอรสพระเจ้าสุทโธทนะนั้น ก็เรียกได้ว่าทรงเริ่มจับบำเพ็ญบารมี ในเมื่อทรงเห็นเทวทูต ทำให้มุ่งพระโพธิญาณ แต่ว่าความดีที่ทรงบำเพ็ญมาตั้งแต่ประสูตินั้น ก็จัดว่าเป็นบารมีได้ แต่ที่ชัดว่าเพื่อพระโพธิญาณนั้นก็ตอนที่ทรงเห็นเทวทูต แล้วก็ทรงมุ่งพระโพธิญาณแสวงหา โมกขธรรม ก็คือมุ่งพระโพธิญาณ ออกทรงผนวช แล้วก็ทรงแสวงหาทาง ทรงศึกษาในสำนักท่านดาบสทั้งสอง ทรงออกไปบำเพ็ญทุกรกิริยาก็ยังควรนับว่าเป็นบารมีปกติเรื่อยไป จนถึงเมื่อทรงเห็นว่าทางทั้งหมดที่ทรงทำมานั้นทรงดำเนินมานั้นไม่ถูก แล้วก็ทรงหวนระลึกถึงสมาธิจิตที่ทรงได้ คือสมาธิจิตที่ทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมาร ก็ทรงเริ่มจับบำเพ็ญสมาธิจิตอันบริสุทธิ์นั้น ก็ทรงได้สมาธิที่เป็น เอกัคคตา มาถึงขั้นนี้ควรจะเป็นบารมีเรื่อยมาก่อน จนมาถึงขั้นสมาธิที่เป็นเอกัคคตา จึงเริ่มเข้าอุปบารมี ไปจนทรงชนะมาร ทรงได้พระญาณที่ ๑ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ พระญาณที่ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ ที่เรียกว่าระลึกชาติได้ ทรงได้ จุตูปปาตญาณ ความระลึกถึงความจุติคือเคลื่อน อุปบัติคือเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม ดังนี้ก็เป็นที่สุดของภูมิบารมี ทรงได้ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ตรัสรู้ นี้เป็นปรมัตถบารมี และเมื่อทรงได้ปรมัตถบารมี คือทรงได้ อาสวักขยญาณ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าแบ่งดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้แบ่งตามหลักภูมิธรรมที่หย่อนและยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

มรรค ๘ เป็นข้อสรุปของบารมี ๑๐ ประการ

และในพระชาติสุดท้ายนั้น การแสดงถึงทางปฏิบัติที่ทรงปฏิบัติมา ไม่ใช้คำว่าบารมี และเมื่อทรงพบทางตั้งแต่ทรงเริ่มจับสมาธิจิตอันถูกต้อง และก็ได้ทรงมี สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่แล้ว ทรงได้ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงได้ทรงให้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นตัวปัญญา ก็เป็นอันว่าทรงได้ มรรคมีองค์ ๘ ที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงแต่มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา นี้ ไม่ใช้คำว่าบารมี แต่ว่าผู้ปฏิบัติผู้ศึกษาธรรมก็พึงต้องเข้าใจเอาว่า บารมีนั้นเองมาเป็นมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็มาจากบารมีต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญมานั่นเอง มาประกอบกันเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้น เมื่อมาเป็นมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้บริบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นี่เป็นอันว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เป็นข้อสรุปของบารมีทั้ง ๑๐ นั้น มาเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น เมื่อจัดตามภูมิธรรมที่ปฏิบัติพึงเห็นได้ดั่งเช่นที่แสดงมานี้ ข้อสรุปนี้ก็เป็นไปตามการวิจารณ์ธรรม

ราชธรรม ๓ ชั้น

และในส่วนราชธรรมนั้น ก็อาจจะแบ่งการปฏิบัติได้เป็นขั้น ปกติราชธรรม ขั้น วิเสสราชธรรม ขั้น อติวิเสสราชธรรม เช่นเดียวกับบารมีที่แบ่งออกเป็น ๓ ชั้นนั้นได้เหมือนกัน เมื่อปฏิบัติราชธรรมไปโดยปกติสามัญก็เป็นปกติราชธรรม ปฏิบัติไปได้อย่างยิ่งขึ้นก็เป็นวิเสสราชธรรม เมื่อปฏิบัติได้อย่างดีที่สุดก็เป็นอติวิเสสราชธรรม และได้กล่าวเทียบบารมีกับราชธรรมเป็นคู่ๆ ไปแล้วว่า ย่อมเนื่องกันเพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ก็ชื่อว่าปฏิบัติในราชธรรมนั้นด้วย และพระราชาผู้ทรงปฏิบัติในราชธรรม ก็ชื่อว่าได้ทรงบำเพ็ญบารมีด้วย เพราะว่าล้วนเป็นข้อธรรมที่ถึงจิตใจทั้งนั้น ทำจิตใจให้สูงด้วยคุณธรรมด้วยกัน ปลูกสันดาน นิสัย อัธยาศัยที่ดีที่บริสุทธิ์ด้วยกัน เพราะฉะนั้น คติของชาวไทยเรามาแต่โบราณ จึงได้มีความนับถือในพระมหากษัตริย์ เหมือนอย่างเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน และท่านผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เอง ก็ย่อมจะทรงทราบถึงคตินิยมหรือคติพิเศษอันนี้ และมีมากพระองค์ที่ทรงยอมรับในคติปฏิบัติอันนี้ จึงได้มีปรากฏจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณไปด้วยพร้อมกันกับทรงปฏิบัติราชธรรม ดังที่เล่ามาแล้วในข้างต้น ก็เรียกว่าเป็นคตินับถือของคนไทยเรามาตั้งแต่โบราณกาล และเมื่อพิจารณาดูตามเค้าของธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ก็จะเห็นว่า เมื่อปฏิบัติในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เช่นปฏิบัติในราชธรรมก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในบารมีด้วย ปฏิบัติในบารมีก็ย่อมปฏิบัติในราชธรรมด้วย และโดยที่เป็นหลักธรรมซึ่งอันที่จริงนั้นเป็นกลางๆ ปฏิบัติได้ทุกคน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักธรรมที่บุคคลที่ต้องการทำความดีพึงปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ได้ จะปฏิบัติตามหลักธรรมในทศบารมี หรือปฏิบัติตามหลักธรรมในทศพิธราชธรรมก็ได้ เพราะว่าย่อมสันพันธ์กัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

ธรรมในบารมีและราชธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

และก็กล่าวโดยสรุปอย่างยิ่งได้ว่า ทุกข้อทั้ง ๑๐ ข้อนั้นต้องสัมพันธ์กันทั้งหมดทั้งบารมีและทั้งราชธรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็เป็นอันว่าไม่สมบูรณ์ด้วยกันทุกข้อ เมื่อปฏิบัติในข้อหนึ่ง ก็มีข้ออื่นๆ ประกอบเข้าด้วย ข้อที่ปฏิบัตินั้นจึงจะสมบูรณ์ เช่นปฏิบัติในข้อทานก็ต้องมีอีก ๙ ข้อประกอบเข้าด้วย ข้อทานจึงจะสมบูรณ์และข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน เป็นอันว่าความเป็นปรมัตถบารมีนั้น จะต้องเป็นความสมังคีของธรรมทั้งหมดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนอย่างที่เราบริโภคอาหารที่มีอาหารนานาชนิด ก็นำเข้าไปในปาก แล้วก็ต้องเคี้ยว อาหารทุกอย่างนั้นก็รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากการเคี้ยวของฟันจนละเอียด รวมกันเข้าแล้วก็กลืนลงไปแล้วก็ย่อยออกไปเลี้ยงร่างกาย ตอนที่ย่อยออกไปเลี้ยงร่างกายนั้นแบ่งไม่ถูกแล้วว่าอันไหนเป็นผัก อันไหนเป็นน้ำพริก อันไหนเป็นแกงส้ม แกงเผ็ดอะไรเป็นต้นเหล่านี้รวมกันหมด เมื่อรวมกันหมดได้ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นปรมัตถบารมี เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อเป็นพระราชาก็ทำให้เป็นพระราชาผู้ประเสริฐสุดได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปเข้ามาจริงๆ แล้ว ทุกข้อนั้นต้องประมวลเข้ามาทั้งหมดคือต้องปฏิบัติทุกข้อ ให้ทุกข้อมีอยู่ทั้งหมด เมื่อยกข้อใดข้อหนึ่งขึ้นว่า อีกข้ออื่นทุกข้อต้องรวมเข้ามา ต้องมีรวมอยู่ด้วยทั้งนั้น และเมื่อรวมประมวลกันได้อย่างดีที่สุดแล้ว อันนี้แหละที่เป็นสามัญบารมี แล้วก็เป็นอุปบารมี เป็นปรมัตถบารมี หรือเป็นปกติ เป็นวิเสส อติวิเสส ดังที่กล่าวมานั้น

ทุกคนพึงปฏิบัติในบารมีและราชธรรมตามควรแก่ฐานะ

และบารมีและทศพิธราชธรรมนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เป็นหลักธรรมที่ทุกๆ คนควรปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งจะเป็นได้ทั้งบารมี และเป็นได้ทั้งทางทศพิธราชธรรม และสำหรับที่ยกเอาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ที่จะต้องทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ยกเอาพระราชาที่ทรงปฏิบัติในราชธรรมเหล่านี้ ก็เพื่อแสดงถึงธรรมของพระโพธิสัตว์และของพระราชา จึงต้องใช้ว่าโพธิสัตว์บารมีหรือราชธรรม แต่เมื่อทุกคนนำมาปฏิบัติ ก็ชื่อว่าเป็นธรรมของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ได้ตามภาวะฐานะของตน ดังเมื่อได้ประมวลชนออกเป็นฝ่ายผู้ปกครองและฝ่ายผู้อยู่ในปกครอง ฝ่ายปกครองก็ปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมเหล่านี้ในการปกครองประชาชน ประชาชนผู้อยู่ในปกครองก็ปฏิบัติสนองตามหลักธรรมในทศพิธราชธรรมนี้ ฝ่ายปกครองปฏิบัติในทานคือเป็นผู้ให้ ทางฝ่ายผู้อยู่ในปกครองก็ต้องให้ตอบ ดั่งเช่นที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้ให้การอุปการะต่างๆ แก่ประชาราษฎร ในด้านความปลอดภัย ในด้านอาชีพเป็นต้น ฝ่ายที่อยู่ในปกครองก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่ฝ่ายปกครอง แปลว่าต้องมีการให้และการให้ตอบแก่กันและกันดั่งนี้ ดังที่ได้เคยแสดงมาแล้ว แปลว่าทุกๆ คนต้องปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้นจึงจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข และเมื่อเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา แม้ไม่ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาพระโพธิญาณ ก็พึงปฏิบัติตามหลักบารมีเหล่านี้ ก็จะเป็นบุญบารมี เป็นบุญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญ ซึ่งทุกคนปฏิบัติเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น และชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติพระพุทธศาสนา เข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อว่าตามหลักธรรมแล้วจึงเป็นของกลางทั่วไป ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติตามควรแก่ฐานะของตน

และเนื่องด้วยในปี ๒๕๓๐ นี้ เป็นปีที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ทางรัฐบาลและทางคณะสงฆ์จึงได้กำหนดงานปฏิบัติต่างๆ เป็นการเฉลิมฉลอง และการต่างๆ ที่กำหนดปฏิบัตินั้น ก็เป็นไปเพื่อที่ให้บังเกิดประโยชน์ในทุกๆ ส่วน แล้วก็พร้อมกันที่น้อมใจถวายเป็นพระราชสักการะเทิดพระเกียรติ เป็นพระราชกุศล เพื่อให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์ พร้อมด้วยประเทศชาติศาสนาประชาชนทั้งปวงได้มีความสมบูรณ์พูนสุข มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รักษาเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประเทศชาติไทยนี้ได้สถิตสถาพรอยู่ด้วยสถาบันทั้ง ๓ นี้ตลอดไป เพราะฉะนั้น ในพรรษากาลนี้จึงได้แสดงหลักของธัมมะอันเกี่ยวข้องกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ คือ ทศบารมีและทศพิธราชธรรมจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้กำหนดหลักธรรมเหล่านี้ แล้วนำไปปฏิบัติแล้วเผยแพร่เพื่อให้บังเกิดผล เป็นความดี เป็นความสุข เป็นความเจริญ แผ่ออกไปตั้งแต่ตนเอง แผ่ออกไปถึงผู้อื่น ตามที่สามารถจะทำได้ และเมื่อสามารถทำได้กว้างขวางออกไปเท่าใดก็จะทำให้เกิดความดี เป็นความสุขมากขึ้นเท่านั้น และก็พร้อมกันน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เป็นพระพรชัยมงคล

๔ ตุลาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2554 9:00:13 น.
Counter : 1268 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๗ ทศพิธราชธรรม ข้ออวิโรธนะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ขอบใจนวกภิกษุทั้งหลายที่ได้มามอบสักการะและวัตถุสักการะมงคลในโอกาสนี้ เนื่องด้วยในพรรษากาลนี้ ท่านทั้งหลายได้มาอุปสมบทบวชเรียน พระอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายก็ได้ให้การอบรม เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้รับประโยชน์จากการเข้ามาบวชนี้อย่างเต็มที่ และท่านทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติกิจวัตรทั้งหลายมาโดยลำดับด้วยดี และในโอกาสนี้ก็ได้มาแสดงความปรารถนาดีเป็นพิเศษ จึงขออำนาจการปฏิบัติดีของท่านทั้งหลาย และความที่มามอบแสดงเจตนาดี ในโอกาสที่ชีวิตนี้ก็ล่วงไปได้ปีหนึ่ง แต่อันที่จริงนั้นก็ล่วงไปทุกๆ วัน และเมื่อมีชีวิตที่ยืนยาวต่อไปก็อาจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ได้มาก เพราะฉะนั้น จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้รับเจตนาดีที่ท่านทั้งหลายมอบให้ เป็นพรเป็นมงคลแก่ท่านทั้งหลาย ให้เจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ ประสบความสำเร็จในกิจที่พึงทำ ในผลที่พึงได้ยิ่งๆ ขึ้นไปทุกท่านเทอญ

อวิโรธนะ ความไม่ผิด

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ครบ ๑๐ คือ อวิโรธนะ ที่แปลว่า ความไม่ผิด สำหรับธัมมะชั้นนี้ควรหมายความว่า รู้ว่าผิดแล้วไมดื้อขืนทำ คือไม่ยอมทำผิดทั้งรู้ๆ ผิดในที่นี้หมายถึงผิดจากข้อที่ถูกที่ควรทุกอย่าง เช่นผิดจากความยุติธรรมด้วยอำนาจอคติ ผิดจากปกติ คือเมื่อประสบความเจริญหรือความเสื่อม ก็รักษาอาการกายวาจาไว้ให้คงที่ ไม่ให้ขึ้นลงเพราะยินดียินร้าย คนสามัญทั่วไปในชั้นต้นยังทำผิดอยู่ เพราะไม่รู้ว่าผิด ถ้ายอมปล่อยไปเช่นนั้น ไม่ศึกษา ก็จักเป็นผู้ไม่รู้จักชอบ ไม่รู้จักผิด ไม่อาจปฏิบัติถูกดีได้ ผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้า เมื่อทำผิดด้วยอำนาจชอบบ้าง อำนาจชังบ้าง อำนาจหลงบ้าง อำนาจกลัวบ้าง ผู้อยู่ในปกครองก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ ผู้อยู่ในปกครองเมื่อทำผิดเช่นนั้น ผู้อยู่ในปกครองด้วยกันตลอดถึงผู้ปกครองเอง ก็เดือดร้อนอยู่เป็นทุกข์ แต่ถ้าผู้ปกครองผู้เป็นหัวหน้ามีใจกอปรด้วยธรรม มุ่งความถูก พยายามศึกษาพิจารณาให้รู้จักผิดและชอบแล้ว พยายามทำการงานให้ถูกต้องตามคลองธรรมไม่ให้ผิด และแนะนำพร่ำสอนผู้อยู่ในปกครองให้ประพฤติเช่นนั้นด้วย ผู้อยู่ในปกครองก็พยายามทำให้ถูกต้องตามคลองธรรม ไม่ให้ผิด ต่างฝ่ายก็จักอยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข

กล่าวโดยเฉพาะ ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากราชธรรมจรรยานุวัตรนิติศาสตร์ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนผู้มีคุณความชอบ ควรอุปถัมภ์ยกย่อง ทรงบำราบคนมีความผิดควรบำราบในทางที่เป็นธรรม ไม่ทรงอุปถัมภ์ยกย่องและบำราบคนนั้นๆ ด้วยอำนาจอคติ ๔ ประการ มีฉันทาคติเป็นต้นก็ดี เมื่อมีลาภยศสรรเสริญสุข ซึ่งเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาถึงพระองค์ ก็ไม่ทรงแสดงความยินดี ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นดูหมิ่นได้ว่า ทรงมัวเมาอยู่ในสิ่งนั้น เมื่อมีความเสื่อมลาภเสื่อมยศต้องนินทาได้ความทุกข์ร้อน ซึ่งไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาถึง ก็ไม่แสดงความยินร้ายเสียพระราชหฤทัยให้ปรากฏ ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นดูหมิ่นได้ว่าทรงหาขันติคุณมิได้ หรือเป็นเหตุให้ผู้น้อยซึ่งอยู่ในพระบรมเดชานุภาพพลอยตกใจแตกตื่นอลหม่าน ทรงรักษาพระอาการคงที่อยู่ ไม่แสดงให้ผิดจากปกติเดิมก็ดี ดั่งนี้จัดเป็นอวิโรธนะ ที่แปลว่าความไม่ผิด อันเป็นบทที่ครบ ๑๐

ทรงปฏิบัติในทางที่ไม่ผิด

การเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมภูมิประเทศตามชนบทต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริงของพื้นที่ ทรงใช้เวลาพิจารณาข้อมูลเบื้องต้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการที่พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับราษฏรในท้องถิ่น การที่ได้ทรงมีโอกาสทอดพระเนตรพื้นที่ๆ ประสบปัญหาตามสภาพความเป็นจริง สถิติข้อมูลกับรายงานทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนา และรายงานของเจ้าหน้าที่ที่ตามเสด็จพระราชดำเนิน ตลอดจนใจความฎีการ้องทุกข์ที่ราษฏรทูลเกล้าฯ ถวายในบางโอกาส โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาทกราบบังคมทูลรายงานและขอพระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเพื่อนำไปปฏิบัติและส่งรายงานมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นระยะๆ ตามปกติ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลงาน โดยทอดพระเนตรผลงานความก้าวหน้า หรือทรงแก้ไขอุปสรรคให้ลุล่วงไปด้วยดีในพื้นที่เดิม จนกระทั่งโครงการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น ทรงชำนาญในการวางแผนจากแผนที่ ประกอบกับภาพถ่ายทางอากาศเป็นพิเศษ เนื่องจากทรงศึกษาประโยชน์จากแผนที่ โดยทรงตรวจสอบความถูกต้องกับพื้นที่จริงตลอดเวลา การที่ได้ทรงใกล้ชิดกับราษฎร ก็สามารถที่จะทรงทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ทำให้ทรงทราบข้อที่จะพึงทำ และพระราชทานพระราชดำริโดยถูกต้อง ไม่ผิด จึงทำให้โครงการต่างๆ ได้เป็นไปโดยถูกต้อง และให้เกิดประโยชน์ตามเป้าหมายที่ประสงค์ และนอกจากนี้ แนวพระราชดำริที่ให้ตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ๖ แห่งด้วยกันกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ตามที่ได้แสดงมาแล้วในครั้งก่อน ก็เป็นเครื่องแสดงว่า เป็นการที่โปรดให้ทรงปฏิบัติในทางที่ไม่ผิดให้ถูกต้อง เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะทำให้บังเกิดผลตามเป้าหมาย

โครงการพระราชดำริฝนหลวง

อันข้อที่น่าจะยกมาเป็นนิทัสสนะอย่างดีอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการทำฝนหลวงซึ่งได้โปรดให้มีการค้นคว้าทดลองในการทำฝนหลวงนี้มาโดยลำดับ จนถึงสามารถทำฝนให้ตกได้ และยังได้มีโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม ซึ่งกำลังทดลองค้นคว้ากันอยู่ในบัดนี้ เพื่อเสริมโครงการพระราชดำริฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ก็ล้วนเป็นการปฏิบัติในทางที่ไม่ผิดทั้งนั้น อันจะทำให้บังเกิดผลดังเป้าหมาย ประธานโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม สภาวิจัยแห่งชาติ ได้เขียนแจ้งถึงการปฏิบัติกระทำเกี่ยวแก่ฝนหลวง และเกี่ยวแก่จรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม ซึ่งกำลังทดลองปฏิบัติกันอยู่ อันเป็นข้อที่น่าฟัง จึงจะขอนำมาอ่านเป็นการสาธกถึงพระราชปฏิปทาที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ผิด เพราะว่าเกิดจากความที่โปรดให้ค้นคว้าทดลองจนประสบผลดังกล่าว คำชี้แจงเรื่องนี้ของประธานโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม สภาวิจัยแห่งชาติ มีดังต่อไปนี้

๑. ประวัติความเป็นมาของการทำฝนหลวงในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพสกนิกรในท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรมักจะประสบกับความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำบริโภคและเพาะปลูกอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูเพาะปลูก ชาวไร่ชาวนาจะประสบกับความทุกข์ยากเนื่องจากปัญหาฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ทำให้พืชผลเสียหายเสมอมา จึงทรงมีพระราชดำริที่จะนำเอาวิธีการทำฝนหลวงมาแก้ไขความเดือดร้อนของเกษตรกรดังกล่าว โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำการค้นคว้าพัฒนาการทำฝนหลวงให้ได้ผล และในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ กระทรวงเกษตรฯ ได้ตั้งคณะปฏิบัติการซึ่งมี ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นหัวหน้าคณะ ได้ทำการทดลองทำฝนหลวงเป็นครั้งแรกได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้ทำการทดลองวิจัยต่อมา เพื่อให้ช่วยเหลือเกษตรกรได้ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ปฏิบัติงานช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภาวะแห้งแล้งอย่างได้ผลเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

๒. ขั้นตอนการทำฝนหลวง
กรรมวิธีในการทำฝนหลวงในปัจจุบัน มี ๓ ขั้นตอนตามลำดับดังนี้

ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นก่อกวน หมายถึงการปฏิบัติที่เร่งหรือเสริมธรรมชาติ ให้มวลอากาศเกิดการยกตัวขึ้นเนื่องจากความร้อน ซึ่งเป็นขบวนการเริ่มต้นของการเกิดเมฆฝนในเขตร้อน และเป็นการเสริมสร้างแกนธรรมชาติ ให้มีปริมาณและประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในแต่ละวัน เพื่อเร่งอัตราและปริมาณการก่อตัวของเมฆ
ถ้าหากจะอธิบายเป็นภาษาธรรมดาที่บุคคลทั่วๆ ไปเข้าใจก็คือ เป็นขั้นตอนของการก่อกวนสภาพของอากาศให้เกิดเมฆขึ้นมา หรือถ้าหากมีเมฆอยู่แล้วตามธรรมชาติก็จะทำให้เกิดมากขึ้น การจะกระทำในขั้นก่อกวนนี้ตรงที่ใดหรือบริเวณใด สิ่งสำคัญที่สุดคืออุณหภูมิของอากาศ ทิศทางและความเร็วของลม และความชื้นของอากาศ ขั้นตอนนี้จะใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีเป็นบริเวณที่กว้างขวางมาก นับเป็นสิบๆ ตารางกิโลเมตรหรือมากกว่า

ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นเลี้ยงให้อ้วน หมายถึงการปฏิบัติที่เร่งหรือเสริมให้เมฆก้อนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากขั้นตอนที่ ๑ ซึ่งเป็นขั้นก่อกวน ให้เกิดการรวมตัวกันและก่อยอดสูงขึ้น หรือเป็นการเพิ่มขนาดและความหนาแน่นของไอน้ำในก้อนเมฆให้มากขึ้น พร้อมที่จะตกเป็นฝน
หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นขั้นตอนที่รวบรวมเมฆที่เกิดขึ้นในขั้นที่ ๑ ให้มีขนาดใหญ่โตขึ้น มีปริมาณน้ำฝนมาก ถ้าหากมองเมฆในขั้นนี้จะเห็นว่า เมฆก่อตัวในทางตั้ง มองดูเหมือนภูเขาที่มีฐานเป็นสีเทาหรือดำคล้ำ พร้อมที่จะตกลงมาเป็นฝน
ในขั้นตอนนี้ก็ใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ ๓ ขั้นโจมตี เป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นการโจมตีหรือบังครับหรือกระตุ้นกลุ่มเมฆที่เจริญเติบโตจากการปฏิบัติในขั้นตอนที่ ๒ ขั้นเลี้ยงให้อ้วน ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวเข้าปกคลุมพื้นที่เป้าหมายให้ตกเป็นฝน ทั้งนี้รวมทั้งการเสริมกลุ่มฝนที่กำลังตกอยู่ให้หนาแน่นขึ้น และตกเป็นเวลานานขึ้น กลุ่มเมฆที่จะทำการโจมตีนั้นจะต้องมีขนาดใหญ่พอ ซึ่งจะพิจารณาได้จากยอดเมฆที่สูงเกินกว่า ๘,๐๐๐ ฟุตขึ้นไป หรือมีความหนาจากฐานเมฆถึงยอดเมฆไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ ฟุต และฐานเมฆจะมีสีเข้มจนเป็นสีเทาดำ และเรียบเกือบเป็นเส้นตรง แต่สภาพภายในเมฆฝนชนิดนี้จะมีสภาพแปรปรวนที่รุนแรง จะมีกระแสลมหมุนเวียนที่รุนแรงมาก หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การโจมตีเมฆฝนให้ตกลงมาเป็นฝน ตามที่ที่ต้องการจะให้ฝนตก
ในขั้นตอนนี้ก็จะใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีเหมือนกัน

๓. การใช้จรวดในการทำฝนเทียม

ความเป็นมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติได้แต่งตั้งอนุกรรมการวิจัยและพัฒนาจรวดเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขึ้น โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เป็นประธานอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิทยาศาสตร์จากพลเรือน ทหาร เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการฯ คณะอนุกรรมการชุดนี้ได้ทำโครงการวิจัยจรวดทางทหารมาได้ระยะหนึ่ง ผลงานเป็นที่น่าพอใจ จึงได้พิจารณาเห็นว่าน่าจะนำเอาความรู้และประสบการณ์ได้รับเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศในทางสันติ มิใช่ทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว จึงได้หยิบยกเอาโครงการตามพระราชดำริการทำฝนหลวง เพื่อแก้ปัญหาฝนแล้งให้แก่เกษตรกรของประเทศมาพิจารณา เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว การทำฝนหลวงของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในปัจจุบันนี้ ถึงแม้ว่าจะได้ผลดียิ่งและเต็มขีดความสามารถแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เพียงพอแก่ความต้องการของเกษตรกรเนื่องจากยังมีอุปสรรค ข้อขัดข้องในเรื่องของการขาดแคลนงบประมาณ กำลังคน เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์อื่นๆ อีกมาก จึงได้มีแนวความคิดที่จะนำเอาการวิจัยพัฒนาจรวดเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกิจกรรมฝนเทียม เป็นการเสริมการปฏิบัติการของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ให้สามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและทันต่อเหตุการณ์ยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการประหยัดงบประมาณ และมีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานอีกด้วย

ดังนั้น ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔ คณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์แต่งตั้งประธานโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม สภาวิจัยแห่งชาติขึ้นเพื่อวิจัยโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม และให้เลือกคณะกรรมการทำงานขึ้นเอง โดยสภาวิจัยแห่งชาติได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการได้

เป้าหมายของโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม

๑. จรวดฝนเทียมจะต้องสามารถใช้ร่วมกัน หรือทดแทนการทำงานของเครื่องบินในการทำฝนหลวง ซึ่งจะต้องให้ผลในทางประหยัดและคุ้มค่า

๒. ลูกจรวดเมื่อยิงขึ้นไปแล้ว จะต้องไม่มีชิ้นส่วนใดตกลงมาเป็นอันตรายต่อบุคคล ทรัพย์สินหรือยวดยานพาหนะที่สัญจรไปมา รวมทั้งพืชไร่และสัตว์เลี้ยง

๓. สารเคมีที่ใช้ในการทำฝนเทียม จะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ มนุษย์ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งน้ำ น้ำดื่มน้ำใช้ ฯลฯ

๔. จรวดจะต้องมีลักษณะง่ายต่อการใช้ สะดวกในการนำไปมาทุกสภาพอากาศและภูมิประเทศ

๕. นำทรัพยากรที่มีอยู่ภายในประเทศมาใช้ให้มากที่สุด จะทำการซื้อจากต่างประเทศเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น

ขั้นตอนของการใช้จรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม

ทางคณะทำงานโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม ได้ร่วมประชุมปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า

- การใช้จรวดฝนเทียมในขั้นก่อกวนและขั้นเลี้ยงให้อ้วนนั้นไม่เหมาะสมเพราะการใช้สารเคมีจะต้องโปรยในพื้นที่ๆ กว้างขวาง สารเคมีจะต้องกระจายอย่างทั่วถึง มีความหนาแน่นสม่ำเสมอ จึงจำเป็นจะต้องใช้เครื่องบินดำเนินการ

- สำหรับขั้นโจมตีซึ่งใช้เครื่องบินนั้น ตามปกติธรรมดาจะบินใต้เมฆ เหนือเมฆ ซึ่งก็ไม่เหมาะ จำกัดด้วยขีดความสามารถของเครื่องบินที่ไม่มีสมรรถนะเพียงพอในการโปรยสารเคมีให้เข้าไปในก้อนเมฆ ในปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้เครื่องบินบินรอบๆ ฐานเมฆ โดยโปรยในทิศทางต้นลม เพื่อให้สารเคมีที่โปรยนั้นถูกพัดเข้าไปในก้อนเมฆ จะเห็นว่าการทำในลักษณะนี้ สารเคมีที่ใช้นั้นส่วนหนึ่งสูญเสียไป ไม่เข้าไปในเมฆ ๑๐๐%

- การที่เครื่องบินไม่สามารถบินฝ่าเข้าไปในก้อนเมฆฝนได้นั้น เพราะสภาพของเมฆฝนที่อยู่ในขั้นที่ ๓ หรือขั้นโจมตีนั้น ที่เห็นเป็นภูเขาสูง สภาพภายในจะเป็นลักษณะอากาศแปรปรวน มีกระแสลมรุนแรง ฯลฯ อย่าว่าแต่เครื่องบินโดยสารพลเรือน แม้แต่เครื่องบินทหารที่มีสมรรถนะสูงๆ ก็ไม่กล้าเสี่ยงที่จะบินฝ่าเข้าไปในก้อนเมฆ จะใช้บินอ้อมหรือข้ามไป ทั้งนี้เพราะถ้าฝ่าเข้าไปในเมฆแล้ว จะเกิดการเสี่ยงอันตรายต่อนักบินและตัวเครื่องบิน

ดังนั้น การใช้จรวดแทนเครื่องบินในขั้นโจมตี คือขั้นที่ ๓ นี้ จะให้ผลคุ้มค่าและเหมาะสมอย่างยิ่ง

คุณลักษณะโดยทั่วไปของจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม

๑. ลำตัวจรวดทำด้วยเหล็กไม่มีสนิม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๗ มม. ยาวประมาณ ๗๕ มม.
๒. คันขับจรวดชนิดเชื้อเพลิงแข็ง ฐานคู่
๓. ชนวน เป็นชนวนแบบไฟฟ้า
๔. มีร่มที่จะพยุงส่วนของจรวดที่เป็นโลหะให้ลอย ตกลงมาอย่างช้าๆ เพื่อลดอันตราย หรือมิให้เกิดอันตราย
๕. บรรจุสารเคมีประมาณ ๑ กิโลกรัม
๖. น้ำหนักของลูกจรวด (รวมสารเคมี) ประมาณ ๗ กิโลกรัม

ประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมสำเร็จ

๑. ใช้กับเมฆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่ก่อนแล้ว ที่มีสภาพที่เหมาะสม ให้ตกลงยังเป้าหมายที่ต้องการ ทันเวลา เช่นบริเวณอ่างเก็บน้ำ เหนือเขื่อน
๒. การใช้จรวดฝนเทียม จะลดอันตรายหรือลดอัตราการเสี่ยงของนักบิน
๓. เป็นการทดแทนหรือเสริมขีดความสามารถในการทำฝนหลวงในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร
๔. จรวดสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ (ถ้าใช้เครื่องบินยังมีขีดจำกัดทั้งสนามบินและสภาพอากาศสำหรับการบิน)
๕. ต้นทุนการผลิตถูกกว่า เป็นการประหยัดงบประมาณอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องบิน
๖. ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่สามารถคิดค้นต้นแบบจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมสำเร็จ
๗. เป็นการเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีของประเทศ
สรุป การทำฝนหลวงในประเทศไทย นอกจากจะสามารถแก้ไขภาวะแห้งแล้งของการเพาะปลูกหรือการเกษตรแล้ว ยังสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่นๆ อีกด้วย เช่น

- การเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักในระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนต่างๆ เพื่อการเกษตรและการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ
- บรรเทาภาวะน้ำเน่าในแม่น้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง
- เป็นการผลักดันน้ำเค็มบริเวณปากน้ำเจ้าพระยา
- บรรเทาการขาดแคลนน้ำบริโภคในถิ่นทุรกันดาร
- การนำเอาเทคนิคการทำฝนหลวงไปประยุกต์ทดลองทำลายหมอกที่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือในฤดูหนาว เพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และแก้ไขปัญหาการคมนาคมอีกด้วย

ขั้นตอนการวิจัยจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม

ขั้นที่ ๑ ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับจรวด และการออกแบบตัวอย่างจาก
- ศึกษาความเป็นไปได้ในเบื้องต้น
- ออกแบบตัวอย่างจรวดและส่วนประกอบ
- ออกแบบฐานยิง

ขั้นที่ ๒ ทดสอบการทำงานของจรวด
- ให้สามารถยิงจากพื้นสู่อากาศได้
- ควบคุมการทำงานของชนวน ทำงาน ณ จุดที่ต้องการ
- การทำงานของร่ม
- การทำงานของฐานยิง

ขั้นที่ ๓ ทดสอบการใช้สารเคมีกับจรวด
- ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้
- การกระจายของสารเคมีหลังจากการระเบิดของจรวดในอากาศ
- ปริมาณของสารเคมีและส่วนประกอบของสารเคมีที่เหมาะสม
- การจัดทำตารางยิง

ขั้นที่ ๔ ทดสอบการปฏิบัติการ
- ทดลองการใช้จรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมกับเมฆจริง
- ทดลองปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง โดยใช้จรวดแทนเครื่องบินในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ

การดำเนินการทดลองตามขั้นตอน

จากการทดลองตามขั้นตอนการวิจัยที่วางไว้ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ จนถึงปัจจุบัน เป็นการทดลองอยู่ในขั้นที่ ๔ คือการทดสอบขั้นสุดท้ายที่ใช้จรวดทำการยิงกับเมฆจริง ซึ่งในขั้นนี้จะทำการทดสอบว่า เมื่อยิงจรวดเข้าไปในเมฆที่อยู่ในขั้นที่ ๓ คือขั้นโจมตีแล้ว ฝนจะตกหรือไม่

- จากการทดลองยิงครั้งแรกที่ยิงกับเมฆจริง ซึ่งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงได้ปฏิบัติการตามขั้นตอนของการทำฝนหลวง คือขั้นที่ ๑ ก่อกวน ขั้นที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วนแล้ว ให้คณะทำงานโครงการฯ ทำการยิงจรวดในขั้นที่ ๓ คือ ขั้นโจมตี ในระหว่างการทดลองในวันที่ ๑๘ – ๒๒ กันยายน ๒๕๓๐ ที่เขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ปรากฏว่าฝนตกลงในเขื่อนหลังจากทำการยิงตามแผนที่ได้วางไว้ และขณะที่กำลังวิเคราะห์ตามทางวิชาการอยู่ว่า ฝนที่ตกนั้นเกิดจากการยิงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม คณะทำงานมีความมั่นใจในเบื้องต้นว่าการวิจัยได้ ประสบผลสำเร็จ แล้ว เพียงแต่ว่าจำทำการทดลองซ้ำในครั้งต่อไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจ
- จำนวนจรวดที่ใช้ทำการยิงตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบันประมาณ ๒๐๐ นัด ทั้งนี้ไม่รวมถึงการทดสอบทาง Static (ที่พื้นดินและโรงงาน) ซึ่งมีจำนวนมาก
- การทดลองในภาคสนามนั้น ใช้พื้นที่จังหวัดลพบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดตาก จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดชลบุรี โดยทำการทดลองยิงในสนามยิงปืนของกองทัพบก เรือ อากาศ และบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี ออกทำการทดลองประมาณ ๓๐ ครั้ง

การดำเนินงานของคณะทำงานโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมในปัจจุบัน สรุปได้ว่าได้ผลประมาณ ๙๐% ของแผนการวิจัยที่ได้วางไว้ อีก ๑๐% ที่เหลือ คือการทดลองยิงซ้ำกับเมฆจริง เพื่อหาว่าจะใช้จรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมจำนวนเท่าใดต่อปริมาณเมฆเท่าใดจึงจะเหมาะสม และทำการหาตารางยิงเป็นการเพิ่มเติม ปรับปรุง ตัวอย่างจรวด ที่ใช้ยิงให้สมบูรณ์ ทำเป็น ตัวต้นแบบ โครงการนี้ก็จะสามารถปิดโครงการได้ในปี ๒๕๓๐ หลังจากนั้นถ้าหากมีงบประมาณ ก็จะออกปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อหาประสบการณ์ต่อไป

๔. บทสรุป

๑. คณะทำงานจะพยายามให้โครงการนี้สำเร็จภายในธันวาคม ๒๕๓๐ เพื่อให้ทันฉลองในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมนี้เป็นโครงการที่เสริมโครงการตามพระราชดำริการทำฝนหลวง

๒. การที่คณะทำงานตั้งชื่อหรือเรียกว่าจรวดฝนเทียมนั้น มีผู้สนใจซักถามว่า ทำไมไม่เรียกว่าจรวดฝนหลวง เป็นการถวายพระเกียรติฯ สำหรับข้อสงสัยในปัญหานี้นั้น ทางคณะทำงานมีความตั้งใจและมีจุดยืนที่แน่วแน่ ที่ไม่เห็นด้วยกับการอ้างอิงสถาบันฯ ในงานปัจจุบันที่ยังเป็นงานวิจัยหรือยังไม่ประสบความสำเร็จ คณะทำงานเห็นว่า โครงการตามพระราชดำรินั้นจะต้องเป็นโครงการที่ทำสำเร็จแล้วและทำคุณประโยชน์แล้วตามพระราชประสงค์ เช่น โครงการตามพระราชดำริการทำฝนหลวง ซึ่งสำเร็จดำเนินการแล้วเป็นประโยชน์ต่อพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ จึงได้เรียกว่าการทำฝนหลวง

สำหรับโครงการจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียมนั้น ถ้าประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง และเป็นการเสริมการทำฝนหลวงตามพระราชดำริ เมื่อถึงตรงจัดนั้น ทางคณะทำงานมีแนวความคิดที่จะขอพระราชทานเรียกชื่อจรวดว่า “จรวดฝนหลวง” เพื่อเทิดเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีอันเป็นมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบในปี ๒๕๓๐ นี้ และเป็นสิริมงคลแก่คณะทำงานโครงการนี้สืบต่อไป ดังนั้นจะเห็นว่า ตลอดระยะเวลาในระหว่างทำการวิจัย จะใช้ว่าจรวดวิทยาศาสตร์ฝนเทียม และเรียกชื่อตัวอย่างจรวดที่ทำการทดลองว่า “พิรุณ” และเมื่อได้ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานชื่อเรียกว่า จรวดฝนหลวง และได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ก็จะได้เรียกชื่อว่าจรวดฝนหลวงต่อไป เป็นการเทิดพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ของการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกิจในทางที่เรียกว่าไม่ผิด ตามทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ นี้ และในทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ คือ อวิโรธนะ ไม่ผิดนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่าเป็นข้อรวมของทุกๆ ข้อได้ด้วย เพราะธัมมะทุกๆ ข้อที่เป็นราชธรรมนั้น ล้วนเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดทั้งนั้น คือเป็นข้อปฏิบัติที่ถูกต้องสมควร ถ้าไม่ปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งก็เรียกว่าเป็นการปฏิบัติผิดในข้อนั้น แต่ถ้าปฏิบัติในข้อนั้นและทุกๆ ข้อได้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติได้ถูกต้องไม่ผิด เพราะฉะนั้น ข้อสรุปคือข้อที่ว่าไม่ผิดนี้จึงเป็นข้อที่สำคัญในทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนั้น

อนึ่ง ทศบารมีข้อครบ ๑๐ คือ อุเบกขา ทศพิธราชธรรมข้อครบ ๑๐ คือ อวิโรธนะ ไม่ผิด ชื่อของธัมมะต่างกัน แต่เมื่อพิจารณาโดยความแล้วก็จะเห็นได้ว่า ทั้ง ๒ ข้อนี้ต้องปฏิบัติสัมพันธ์กัน ปฏิบัติด้วยกัน คือในการปฏิบัติทำอุเบกขานั้น ก็ต้องปฏิบัติให้ได้ไม่ผิดด้วย จึงจะเป็นอุเบกขาที่ถูกต้อง เช่นเป็นอุเบกขาพรหมวิหารเป็นต้น และในการปฏิบัติไม่ผิดซึ่งเป็นทศพิธราชธรรมนั้น ก็จะต้องปฏิบัติให้ประกอบด้วยอุเบกขา ซึ่งมีความหมายแม้ในข้อที่ว่ามัธยัสถ์เป็นกลางไม่ลำเอียงไปด้วยอคติทั้ง ๔ คือ ไม่ลำเอียงไปเพราะชอบ ชัง หลง กลัว หากว่าขาดอุเบกขา คือมีความลำเอียงไปเพราะข้อใดข้อหนึ่งเสียแล้ว การปฏิบัตินั้นๆ ก็เป็นการปฏิบัติผิดขึ้นทันที เพราะฉะนั้น บารมีข้อที่ ๑๐ คือ อุเบกขา และทศพิธราชธรรมข้อที่ ๑๐ คือ อวิโรธนะ ความไม่ผิด จึงมีความสัมพันธ์กัน ต้องปฏิบัติด้วยกัน

๒ ตุลาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 18 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2554 8:20:35 น.
Counter : 1552 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๖ อุเบกขาบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ธรรมชาติภายในจิตใจของบุคคล

จะแสดง อุเบกขาบารมี อันเป็นบารมีข้อที่ครบ ๑๐
ก่อนที่จะได้แสดงอุเบกขาโดยตรง จะกล่าวถึงธรรมชาติภายในจิตใจก่อน อันธรรมชาติภายในจิตใจของบุคคลทุกคนนั้น ที่เป็นไปอยู่โดยธรรมชาติธรรมดากล่าวได้ว่าเป็นธรรมคือความจริง คือเป็นความจริงที่มีอยู่ เป็นไปอยู่ โดยธรรมชาติธรรมดา ดั่งนี้ก็เรียกว่าเป็นธรรมคือความจริงอย่างหนึ่งได้ และอันธรรมคือความจริงดังกล่าวนี้ อาจอบรมปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ได้ ให้เกิดความสุขขึ้นได้ในปัจจุบันทันตาเห็น พระพุทธเจ้าทรงสอนธรรมที่เป็นความจริงดังกล่าว จึงเป็นการสอนที่อยู่ในวิสัยของธรรมดา ที่พึงรู้พึงปฏิบัติให้เกิดผลได้ทันทีที่ปฏิบัติ หาใช่สอนผิดธรรมดาและสอนเป็นการทำลายประโยชน์สุขไม่ อันประโยชน์สุขที่ตรงกันข้ามกับโทษทุกข์ ใครๆ ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าไม่ต้องการและแสวงหาความสุข จะยกตัวอย่างในเรื่องทั่วๆ ไป การไปเที่ยวดูการละเล่น การไปเที่ยวพักผ่อนต่างๆ ที่ให้เกิดความยินดีรื่นเริงสนุกสนานเบิกบาน เป็นความสุขหรือให้เกิดสุขต่างๆ แต่คนเราจะสนุกรื่นเริงอยู่นานเกินไปหาได้ไม่ ต้องเลิกจากการรื่นเริงบันเทิงทั้งปวง มาหาที่พักอันสงบปราศจากเสียงและสิ่งรบกวนทั้งหลาย ณ ที่พักอันสงบนั้น ได้การพักผ่อนทั้งทางกายและทางใจ ตรวจดูเพียงเท่านี้จะได้ความคิดว่า ที่พักผ่อนจริงนั้นคือที่สงบ ความพักผ่อนจริงนั้นคือความสงบ ถ้ายังสงสัยในความคิดนี้ ก็ควรคิดย้อนถามตัวเองว่า เสียงที่ว่าไพเราะนักถ้าดังที่หูตลอดเวลา ไม่มีเงียบ จะเป็นอย่างไร จะทนได้หรือไม่ ดั่งนี้ ก็จะต้องรับรองในความคิดนั้นทันที

อุเบกขาคือความวางเฉย

ต่อแต่นี้ก็ควรตรวจดูว่า ในความสงบนั้นมีอะไรอยู่ ดูความสงบใจของตนเองที่ได้หลังจากไปสนุกสนานรื่นเริงมา อีกทางหนึ่งดูความสงบใจหลังจากที่ได้ไปโกรธใครมา จะได้พบภาวะของจิตอย่างหนึ่งในขณะนั้นคือความวางเฉย มีลักษณะปล่อยและหยุด เรียกด้วยศัพท์ธรรมว่า อุเบกขา กล่าวได้ว่าความสงบต้องมีอุเบกขา คืออุเบกขาต้องมีในความสงบ เป็นภาวะธรรมชาติธรรมดาอย่างหนึ่งของจิต เพราะว่าจิตใจนี้เมื่อรับอารมณ์ที่น่ายินดีชอบใจก็ตาม ที่ไม่น่ายินดีชอบใจก็ตาม ย่อมมีความกระเทือนหวั่นไหวปั่นป่วนไปด้วยอารมณ์เหล่านั้น ความกระเทือนใจนี้เรียกตามประเภทว่าความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ความหลงใหลบ้าง ถ้ามีตามสมควรก็ให้เกิดสุขทุกข์ตามสมควร ถ้ามีมากไปก็ให้เกิดโทษได้คล้ายกัน เช่นเมื่อรับอารมณ์ที่น่ายินดีมาก เกิดความยินดีท่วมท้น ก็เป็นความกระเทือนอย่างแรงถึงอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ทันที เมื่อได้รับอารมณ์ที่น่ายินร้ายมากอย่างฉับพลันก็เช่นเดียวกัน คนเจ็บป่วยยิ่งต้องระมัดระวังมิให้จิตใจได้รับความกระเทือนทุกอย่าง แม้คนปกติก็หาใช่ว่าจะทนต่อความกระเทือนของจิตใจไปได้นานนัก ต้องมีเวลาพักใจ คือปล่อยอารมณ์ที่จะทำให้ใจกระเทือนออกไป และหยุดใจที่จะกังวลถึง ทุกๆ คนต้องมีเวลาพักอย่างนี้ทุกวัน จะยินดีรื่นเริงหรือยินร้ายได้ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ชีวิตร่างกายนี้ทนไม่ได้ ร่างกายจิตใจย่อมมีเหน็ดเหนื่อย ต้องการวางให้ว่าง ต้องการอยู่เฉยๆ บางคราวจิตใจวางได้ก่อน ร่างกายก็ได้พัก บางคราวจิตใจไม่ยอมวาง จนถึงร่างกายทนไม่ไหวหมดกำลังไปก่อนก็มี แม้คนจะหลับลงได้ จิตใจก็ต้องวางอารมณ์ ถ้ายังยึดอารมณ์เป็นกังวลอยู่ ก็หลับลงไม่ได้

อุเบกขาธรรมชาติไม่ประกอบด้วยความรู้

ภาวะพักของใจ ของจิตใจดังกล่าวนี้คืออุเบกขา ความวางเฉย ที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา จะเรียกว่ามีเป็นพื้นของจิตใจทีเดียวก็ได้ คือโดยปกติย่อมมีอุเบกขาเป็นพื้นอยู่ ต่อเมื่อมีอารมณ์ที่น่ายินดีเข้ามากระทบ ก็เปลี่ยนไปเป็นความยินดี ครั้นความยินดีสงบลงแล้ว ก็กลับเป็นอุเบกขา หรือเมื่อมีอารมณ์ที่น่ายินร้ายมากระทบก็เปลี่ยนไปเป็นความยินร้าย ครั้นผ่านไปแล้ว ก็เป็นอุบกขาอีก แต่อุเบกขาดังกล่าวนี้เป็น อัญญาณอุเบกขา แปลว่า อุเบกขาที่ประกอบด้วยความไม่รู้ เป็นความวางเฉยโดยธรรมชาติธรรมดา คล้ายกับความหลับ ความหลับเป็นความพักของร่างกายอุเบกขาธรรมชาตินี้เป็นความพักของจิตใจ

ญาณอุเบกขา อุเบกขาที่เป็นธรรมปฏิบัติ

ทางพระพุทธศาสนาสอนธรรมไว้ข้อหนึ่ง เรียกว่า อุเบกขา ธรรมข้อนี้ไม่ใช่อุเบกขาธรรมชาติซึ่งไม่ประกอบด้วยความรู้ แต่เป็น ญาณอุเบกขา คืออุเบกขาที่ประกอบด้วยความรู้ อาศัยอุเบกขาที่มีอยู่เป็นธรรมชาตินี้เองอบรมให้เป็นธรรมปฏิบัติขึ้น ท่านได้รวบรวมอุเบกขาไว้มีลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่า

อุเบกขาประกอบด้วยองค์ ๖ อธิบายตามพระสูตรว่า รับอารมณ์ทางอายตนะทั้ง ๖ แล้วเกิดชอบใจหรือไม่ชอบใจหรือทั้ง ๒ อย่าง ก็รู้ว่าความชอบใจไม่ชอบใจเกิดขึ้นแล้ว เป็นของปรุงแต่ง เป็นของหยาบ ส่วนธรรมชาตินี้สงบประณีตคืออุเบกขา เมื่อรู้ดั่งนี้ ความชอบใจไม่ชอบใจก็จะดับ อุเบกขาก็จะตั้งขึ้นโดยเร็ว

อุเบกขาในพรหมวิหาร คือความมีใจมัธยัสถ์เป็นกลางในสัตว์ทั้งหลาย ไม่ตกไปในราคะ คือความยินดีติด หรือปฏิฆะ ความยินร้าย พรหมวิหาร มี ๔ ข้อ ได้แก่ เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กรุณา ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ มุทิตา ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นมีความสุขความเจริญ และ อุเบกขา ข้อนี้ที่พึงใช้ในเวลาที่ไม่ควรจะใช้ข้อข้างต้น วิธีอบรมคือพิจารณาไปในบุคคลนั้นหรือทั้งหมดว่ามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทคือรับผลแห่งกรรมของตนเอง เมื่อวางใจลงไปในกรรมได้ ใจก็จะเกิดเป็นกลาง คือเป็นอุเบกขาขึ้นได้ อุเบกขาในพรหมวิหารดั่งนี้พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต ทั้งในคราวประสบวิบัติ เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยายามระงับใจ หัดคิดถึงกรรมและผลของกรรม หัดคิดวางลงไปให้แก่กรรม เหมือนอย่างให้กรรมรับผิดชอบเอาไปเสีย เมื่อทำจิตให้เป็นอุเบกขาได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่น โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยคิดว่าทุกสัตว์บุคคลมีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นทายาทรับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัย ทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่ว ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น อันที่จริงภาวะของจิตเป็นอุเบกขานี้ ย่อมมีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดาในเวลาปกติ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังไม่มีอะไรมาทำให้เกิดความยินดียินร้าย ก็เป็นอุเบกขาที่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้ แต่ยังเจือด้วยความไม่รู้ที่เรียกว่า อัญญาณะ และจะเปลี่ยนไปเป็นความยินดียินร้ายขึ้นได้โดยง่าย พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมปฏิบัติขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป ไม่ใช่ในเวลาที่ไม่มีเรื่องอะไรมากระทบจิตเท่านั้น แม้มีเรื่องมากระทบจิตให้ยินดียินร้าย ก็ระงับได้ ทำใจให้สงบเป็นอุเบกขาได้ด้วยความรู้ที่เรียกว่า ญาณะ หรือ ญาณ เพราะว่าความยินดีที่เรียกว่าราคะ ความยินร้ายที่เรียกว่าปฏิฆะ เป็นศัตรูที่ห่างของอุเบกขา ส่วนอุเบกขาด้วยความไม่รู้ อันตัวความไม่รู้อันเรียกว่า อัญญาณะนี้เป็นศัตรูที่อยู่ใกล้ของอุเบกขา ฉะนั้น ในการปฏิบัติเพื่ออบรม อุเบกขาพรหมวิหาร ก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยานหรือเป็นอุปมา ดังเช่นว่า ตนไม่ชอบให้ใครอื่นมาเพ่งเล็งชอบใจอยากได้อะไรของตน และไม่ชอบให้ใครอื่นมาหมายมั่นปองร้ายฉันใด ตนก็ไม่ควรจะไปคิดยินดียินร้ายดั่งนั้นแก่คนอื่น ควรจะมีใจมัธยัสถ์คือเป็นกลางฉันนั้น และให้ยกบุคคลที่เป็นกลางๆ ขึ้นเป็นอุปมา ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยอุเบกขา เหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้มิใช่เป็นที่ชอบใจ มิใช่เป็นที่ไม่ชอบใจ ก็มีอุเบกขาฉะนั้น”

อุเบกขาที่เป็นโพชฌงค์ คือองค์แห่งความรู้ โพชฌงค์มี ๗ ข้อ ตั้งต้นด้วยสติ ลงท้ายด้วยอุเบกขา คือ เพ่งดูจิตที่เป็นสมาธิอย่างสงบเฉยอยู่

อุเบกขาในสมาธิ จิตที่จะเป็นสมาธิอย่างสูง ต้องมีอุเบกขาที่บริสุทธิ์ แม้ในสมาธิชั้นต่ำลงมาก็ต้องมีอุเบกขามาโดยลำดับ

อุเบกขาในปัญญา คือ ปัญญาส่วนเหตุ อันได้แก่ปัญญาที่ใช้พิจารณา ย่อมมีอาการวิจัยคือค้นหา เลือกเฟ้น และมีอาการยึดสิ่งที่ค้นนั้นไว้ จึงยังไม่เป็นอุเบกขา ส่วน ปัญญาส่วนผล ได้แก่ปัญญาที่ค้นพบแล้ว ย่อมมีอาการวางและหยุด เพราะไม่ต้องค้นไม่ต้องยึดอีก จึงเป็นอุเบกขา อุเบกขาในโพชฌงค์มีลักษณะดั่งนี้ แต่ในที่นี้มุ่งถึง อุเบกขาในวิปัสสนา ดังที่กล่าวเป็นหัวข้อว่าอุเบกขาในปัญญา และในสังขาร มีอุปมาเหมือนอย่างว่า คนผู้หนึ่งค้นหางูที่เลื้อยเข้าไปในบ้าน เห็นงูนอนขดอยู่ในที่แห่งหนึ่ง มองดูว่างูหรือมิใช่ ครั้นได้เห็นลายแฉกบนศีรษะก็สิ้นสงสัย ไม่ต้องค้นต่อไปว่างูหรือไม่ใช่งู เรียกว่ามีอุเบกขา ซึ่งมีอาการมัธยัสถ์เป็นกลางขึ้นในการค้น หมายความว่าเลิกค้นได้ ฉันใด การทำวิปัสสนาก็ฉันนั้น เมื่อได้พิจารณาเห็น ไตรลักษณ์ แล้ว ก็หยุดค้นให้เห็นไตรลักษณ์ต่อไปได้ เรียกว่ามีอุเบกขาในวิปัสสนา มีอาการอย่างเดียวกัน อนึ่ง เมื่อได้เห็นงูแล้ว จึงใช้ไม้มีง่ามจับไว้มั่น คือว่าจะนำไปปล่อยอย่างไร งูจึงจะไม่มีอันตรายและตนเองก็ปลอดภัย ครั้นปล่อยงูไปเสียแล้ว ก็เกิดอุเบกขาในการจับ คือเรื่องการจับงูผ่านพ้นไปแล้ว วางใจลงได้ฉันใด ผลทางวิปัสสนาต่อไปก็ฉันนั้น เมื่อได้อุเบกขาในวิปัสสนาปัญญาแล้ว ก็จะได้อุเบกขาที่มีอาการมัธยัสถ์เป็นกลางในสังขาร คือปล่อย ไม่ยึดไว้

อุเบกขาในสติปัฎฐาน คือเมื่ออบรมปฏิบัติในสติปัฎฐานไปโดยลำดับ จนถึงข้อที่ ๔ แล้ว ท่านแสดงว่า “เห็นการละความยินดียินร้ายนั้นด้วยปัญญา เพ่งเป็นอุเบกขาอยู่ด้วยดี”

นอกจากนี้ยังมี อุเบกขาในความเพียร หมายถึงประคองความเพียรไว้ให้สม่ำเสมอ ไม่หย่อนไม่ตึง อุเบกขาในเวทนา คือเสวยเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ ไม่สุข อุเบกขาในเจตสิกธรรม ที่มีอาการของจิตที่มัธยัสถ์เป็นกลางในอารมณ์นั้นๆ อุเบกขา ๒ อย่างหลังนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติธรรมดา

พุทธศาสนาสอนให้อบรมอุเบกขาที่เป็นธรรมปฏิบัติ

เรื่องอุเบกขาตามที่ยกมามากมายหลายลักษณะ ก็เพื่อแสดงว่า อุเบกขานี้เป็นภาวะของจิตที่เป็นธรรมชาติธรรมดาซึ่งทุกๆ คนมีอยู่ ทั้งต้องอาศัยอยู่เป็นระยะๆ ตามทางพระพุทธศาสนาสอนให้อบรมธรรมชาติธรรมดาที่มีอยู่ของคนนี้เองให้ดีขึ้นให้สำเร็จประโยชน์ยิ่งขึ้น คือให้เป็นอุเบกขาที่เป็นธรรมปฏิบัติ ดังที่ยกมาในธรรมหลายข้อ ทั้งแสดงว่าอุเบกขาจำต้องใช้ในธรรมปฏิบัติมากข้อมากประการ และเมื่อสังเกตดูแล้วจะเห็นได้ว่า ในการปฏิบัติธรรมทั้งปวงนั้น โดยตรงเพื่ออบรมจิตและปัญญาโดยมีศีลเป็นภาคพื้น ต้องอาศัยความเพียรปฏิบัติขึ้นไปโดยลำดับ เปรียบเหมือนขึ้นบันไดทีละขั้น เมื่อทำความเพียรได้ระดับ ก็คอยประคองไว้ให้เป็นไปสม่ำเสมอ อุเบกขาในความเพียรจึงต้องใช้อยู่เสมอ และโดยเฉพาะในเวลาประสบอารมณ์ทั้งปวง ถ้าปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตามใจแล้ว ก็ไม่อาจจะอบรมทางจิตและปัญญาได้ ต่อเมื่อคอยมีสติกำหนดให้รู้อยู่ในอาการของใจที่เป็นไป และกำหนดให้รู้ว่าอาการเหล่านั้นไม่สงบไม่ดี จนความยินดียินร้ายสงบหายไป ได้อุเบกขาขึ้นจึงจะได้ความก้าวหน้าในการอบรมจิตและปัญญา อุเบกขาที่ได้ด้วยความรู้ดั่งนี้เป็นธรรมปฏิบัติที่ต้องการให้อบรมในพระพุทธศาสนา

ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ธรรมปฏิบัตินั้นท่านสอนให้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เช่นจะปฏิบัติในธรรมข้อใด ก็ให้มีเหตุสมควรที่จะใช้ธรรมข้อนั้น เช่นอุเบกขาจะพึงใช้ในเมื่อมีเหตุเช่นไรจะกล่าวเป็นตัวอย่าง ในความเพียรทุกอย่าง จะใช้อุเบกขาเสียทีเดียวหาได้ไม่ ต้องเริ่มความเพียรขึ้นก่อน เมื่อมีความเพียรเต็มที่แล้ว จึงประคองความเพียรให้ดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ ต้องใช้อุเบกขามีหน้าที่ประคองความเพียร ท่านเปรียบเหมือนหลอมทอง ต้องสูบเบ้าให้ไฟแรง เทียบกับเวลาที่ต้องเพียร ครั้นไฟแรงไปต้องพรมน้ำ เมื่อไฟพอดีก็หยุดสูบ หยุดพรมน้ำ คอยดูอยู่เฉยๆ เทียบกับเวลาที่ต้องใช้อุเบกขาตามตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ธรรมถ้าใช้ผิดทีผิดทางเสียแล้ว ในเวลาที่ต้องเพียร ไปใช้อุเบกขาก็เสีย ในเวลาที่ต้องใช้อุเบกขา ไปใช้เพียรก็เสีย ใน พรหมวิหาร เช่นมารดาบิดารักบุตรธิดา เมื่อบุตรธิดาไปวิวาทกับใครหรือไปทำอะไรมา มีผู้มาฟ้อง ถ้ามารดาบิดาใช้เมตตากรุณาในทางเข้าข้าง เรียกว่ามีอคติในบุตรธิดา ก็จะต้องว่าบุตรธิดาของตนเป็นฝ่ายถูกเสมอ การใช้เมตตากรุณาในทางอคติดั่งนี้เป็นการใช้ผิด ควรจะต้องใช้อุเบกขาคือแยกตนออกมาเป็นกลาง ที่เรียกในที่นี้ว่ามีอาการมัธยัสถ์เป็นกลาง พิจารณาถึงกรรมเป็นหลัก หมายถึงว่า พิจารณาหาความจริงว่าใครผิดใครถูกอย่างไร ดั่งนี้แหละคือการพิจารณากรรมตามที่สอนไว้ในข้ออุเบกขา เมื่อมีอุเบกขาดั่งนี้ จึงจะตัดสินชี้ผิดถูกได้โดยถูกต้อง แต่ในเวลาอื่นก็ควรใช้เมตตากรุณาจะใช้คิดอุเบกขากันเรื่อยไปก็หาถูกต้องไม่ เช่นถ้าบิดามารดาจะคิดว่า บุตรธิดาที่เกิดมามีกรรมเป็นของเขาเองสร้างให้เกิด มีกรรมเลี้ยงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องมีเมตตากรุณารักใคร่เลี้ยงดู ทำอุเบกขาเสียดีกว่า จะคิดใช้อุเบกขาพร่ำเพรื่อไป ดั่งนี้ก็ผิด ในระหว่างบุคคลทั่วไปก็เหมือนกัน ถ้าในคราวที่ควรช่วยกันกลับเฉยเสียหรือหลีกเลี่ยงเสีย หาใช่อุเบกขาไม่ เป็นลักษณะใจจืดใจแคบ หรือบางทีควรจะเฉยแต่กลับยุ่งวุ่นวาย ก็กลายเป็นเสีย

ทำใจให้เป็นอุเบกขาเมื่อประสบโลกธรรม

ในเวลารับอารมณ์ทั้งหลาย เมื่อว่าถึงทางโลกก็ย่อมมียินดียินร้าน แต่ถ้ารู้จักใช้อุเบกขาบ้าง ก็จะควบคุมใจให้ไม่ตื่นเต้น ฟุบแฟบเกินไป จะทำใจให้มั่นคงไม่สะดุ้งสะเทือนมากนัก ผู้ที่ทำงานในหน้าที่สำคัญที่ต้องมีใจมั่นคง ไม่กระเทือนง่าย ยิ่งต้องใช้อุเบกขามาก บางทีก็ถูกยั่วให้โลภ บางทีก็ถูกยั่วให้โกรธ บางทีก็ถูกยั่วให้หลง ถ้าเสียอุเบกขาไปแล้ว ก็เรียกว่าเสียที่มั่นทางใจ เริ่มเป็นผู้แพ้เสียแล้ว และทุกๆ คนจำต้องประสบ โลกธรรม คือธรรมสำหรับโลกอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ได้แก่ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นสิ่งที่ปรารถนาชอบใจก็มี ไม่ปรารถนาชอบใจก็มี ถ้าเป็นสิ่งที่ชอบก็ชวนให้โลภ เช่น ลาภ ยศ ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ชอบก็ชวนให้โกรธ ส่วนที่ชวนให้หลงนั้นมีในทุกๆ อย่าง เป็นเครื่องมึนเมาเครื่องล่อใจทั้งปวง ฉะนั้น ถ้าปล่อยใจให้เพริดไป ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมเสีย จึงควรจะต้องมีเครื่องเหนี่ยวรั้งใจ คือทำอุเบกขาให้ได้ในสิ่งที่จะนำให้เกิดความเสียหายอาศัยสติระลึก ปัญญาพิจารณาให้รู้เห็นว่าชอบไม่ชอบ ส่วนความวางใจเฉยเสียเป็นความดี จึงจะรักษาตนให้มีความสุข ความเจริญอยู่ในโลกโดยยั่งยืนได้ บุคคลผู้ฉลาด ทำใจให้เป็นอุเบกขาไม่หวั่นไหวได้ดั่งนี้เรียกว่าบัณฑิตดังพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า “เสโล ยถา เอกฆโน” เป็นอาทิ แปลความว่า “ภูเขาหินแท่งทึบ ไม่หวั่นไหวด้วยลมฉันใด บัณฑิตทั้งหลายไม่หวั่นไหวเพราะนินทาสรรเสริญฉันนั้น” ดั่งนี้

อุเบกขา ๓ ชั้น

แม้อุเบกขาบารมี ท่านก็แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ

๑. อุเบกขาบารมี คืออุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในอุเบกขายิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน

๒. อุเบกขาอุปบารมี คืออุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในอุเบกขายิ่งกว่ารักษาอวัยะของตนเอง

๓. อุเบกขาปรมัตถบารมี คืออุเบกขาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในอุเบกขายิ่งกว่ารักษาชีวิตของตนเอง

อุเบกขาบารมีในจริยาปิฎก

พระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าเรื่องอดีตจริยาครั้งเป็น มหาโลมหังสบัณฑิต มีอยู่ว่า “พวกใดให้ทุกข์แก่เรา และพวกใดให้สุขแก่เรา เรามีจิตเสมอในเขาเหล่านั้นทั้งหมด เราไม่มีความเอ็นดู ไม่มีความโกรธ เราวางเฉยในสุขและทุกข์ ในยศและเสื่อมยศ เป็นผู้มีจิตใจเสมอในสิ่งทั้งปวง นี้คืออุเบกขาบารมีของเรา” ดั่งนี้

ในจริยาปิฎกได้เล่าเรื่องของพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ มี ทานบารมี เป็นต้น มี อุเบกขาบารมี เป็นที่สุด เฉพาะอุเบกขาบารมีได้มีแสดงใน มหาโลมหังสจริยา เป็นประวัติตรัสเล่าไว้ว่า “เราสำเร็จการนอนหนุนกระดูกศพในป่าช้า พวกคนจากละแวกบ้านพากันมาแสดงท่าทางต่างๆ บางพวกมีใจสลดเลื่อมใส นำสิ่งหอมและระเบียบดอกไม้และโภชนะต่างๆ มาให้ เรามีใจเสมอแก่ทุกคน ทั้งที่ก่อทุกข์ ทั้งที่ให้สุขแก่เรา ไม่มียินดียินร้าย เราเที่ยงตรงดังชั่งในสุขและทุกข์ ในยศและมิใช่ยศ เรามีใจเสมอในอารมณ์ทุกอย่าง นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา” ดั่งนี้ และในทศชาติชาดก เฉพาะ นารทชาดก ท่านแสดงถึงบารมีข้อนี้ คือข้ออุเบกขาบารมีนี้ เรื่องย่อมีว่า พระเจ้าอังคติราชแห่งแคว้นวิเทหะ ทรงฟังคำสอนของคุณาชีวกแล้ว ทรงเห็นผิดไปตามว่าบุญบาปไม่มีเป็นต้น พระรุจาราชธิดาถวายคติธรรมที่ชอบก็ไม่ทรงละมิจฉาทิฏฐินั้น พระพรหมนารทะได้ทราบอธิษฐานขอให้ช่วยของพระราชธิดา จึงได้ลงมาแสดงธรรม จนพระเจ้าอังคติราชถอนความเห็นผิด เรื่องนี้แสดงว่า พระพรหมนารทะได้บำเพ็ญสมาธิจนได้ ญานสมาบัติ มาแล้ว องค์สำคัญของญานชั้นสูงก็คืออุเบกขาอันบริสุทธิ์ จึงถือชาดกนี้ว่าแสดงอุเบกขาบารมี

และนอกจากนี้ยังแสดงว่า ท่านผู้ได้อุเบกขาแล้วก็มิใช่ว่าจะเฉยเมย เมื่อถึงคราวจะช่วยทำอะไรก็ช่วย และช่วยทำได้ดีมากยิ่งกว่าผู้ที่ไม่มีอุเบกขา เพราะช่วยโดยปราศจากอคติ มุ่งธรรมเป็นที่ตั้ง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า “แยกตนออกมาเป็นคนกลาง ที่เรียกว่ามีอาการมัธยัสถ์เป็นกลาง พิจารณาถึงกรรมเป็นหลัก หมายถึงพิจารณาหาความจริงว่าอะไรผิดอะไรถูก ใครผิดใครถูกอย่างไร” ดังที่เรียกว่าโดยยุติธรรม ฉะนั้น ธรรมคืออุเบกขานี้จึงเป็นธรรมอันสำคัญ

มีใจเป็นอุเบกขา

และก็ควรมีความเข้าใจว่า อุเบกขานั้นไม่ใช่หมายความว่า ความวางเฉยไม่ทำอะไร ดังที่คนโดยมากมักจะมีความเข้าใจกัน แต่หมายความว่ามีความวางเฉยทางใจคือวางจากความยึดถือด้วยอำนาจของอคติ คือ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะความรัก โทสาคติ ลำเอียงเพราะความชัง โมหาคติ ลำเอียงเพราะความหลง ภยาคติ ลำเอียงเพราะความกลัว แต่มีใจมัธยัสถ์เป็นกลาง ไม่ถือว่านี่เป็นพวกเรา นี่เป็นพวกเขา คือถือเราถือเขาดั่งนี้ และไม่ได้ถือว่าผู้นี้เป็นญาติของเรา ผู้นี้ไม่ใช่ญาติของเรา ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา ผู้นี้ไม่เป็นศัตรูของเรา แต่ถือความถูกต้องอันปราศจากอคติ ดั่งนี้เป็นกลาง วาง ก็คือวางอคติ และ เฉย ก็คือหมายความว่าไม่เข้าไปวุ่นวายในเรื่องที่เป็นไปตามปกติเหล่านี้ โดยที่ไม่ไปยึดถือดังกล่าวนั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงกระทำงานออกไปทางกายทางวาจาทางใจโดยสุจริตยุติธรรม ดั่งนี้แหละคือเรียกว่ามีใจเป็นอุเบกขา ไม่ใช่หมายความว่าไม่ทำอะไร แต่หมายความว่ามีใจที่วางเฉยเป็นอุเบกขาได้ อีกประการหนึ่งที่พึงเข้าใจก็คือว่าต้องวางลงไปดั่งนี้ ด้วยอำนาจของปัญญา คือด้วยความรู้ ได้แก่ความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่สมควร นี่เป็นสิ่งที่สมควร ดั่งนี้ จึงปฏิบัติไปได้โดยถูกต้อง และก็วางใจได้โดยถูกต้องดั่งนี้ ไม่เข้าไปวุ่นวายให้เสียความเป็นธรรม เสียความยุติธรรม ดั่งนี้แหละเป็นอุเบกขาที่ถูกต้อง ดังในเรื่องชาดกที่ยกเอาท่านพระพรหมนารทะมาแสดงนี้ เมื่อถึงคราวท่านก็ลงมาช่วยแสดงธรรม สั่งสอนพระเจ้าอังคติราชถอนความเห็นผิดได้ แสดงว่าท่านเป็นผู้ที่วางใจเฉย อันถูกต้องด้วยปัญญา และก็นำเอาความที่ถูกต้องนั้นมาแสดงสั่งสอน เป็นการที่ได้กระทำงานที่คนอื่นทำไม่ได้ ให้บังเกิดความสำเร็จขึ้นได้ เพราะฉะนั้นอุเบกขาอันนี้ จึงต้องเข้าใจให้ดี และเมื่อเข้าใจให้ดีแล้ว ปฏิบัติให้ถูกต้องแล้วก็เป็นประโยชน์มาก

เข้าใจและปฏิบัติในพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ข้อ

อนึ่ง ควรจะเข้าใจในธัมมะใน พรหมวิหารธรรม ทั้ง ๔ ข้อ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ดังที่ได้แสดงมาแล้วทั้ง ๔ ข้อแล้ว ทั้งในข้ออุเบกขาในวันนี้ วิธีปฏิบัตินั้นท่านสอนให้ผู้ปฏิบัติๆ ดั่งนี้ คือทีแรกให้ปฏิบัติด้วยจิตคิดเกื้อกูลแผ่ออกไปในสัตว์บุคคลทั้งหลาย นี้คือเมตตาที่มีอาการเป็นความคิดเกื้อกูล ต่อจากนั้นเมื่อได้เห็นหรือได้ยินหรือได้คิดว่าเขามีทุกข์ร้อน ก็ปฏิบัติช่วยบำบัดทุกข์ให้ นี้คือกรุณา ซึ่งมีอาการช่วยบำบัดทุกข์ จากนั้นครั้นได้เห็นเขามีสุข ไม่มีทุกข์ ก็พลอยยินดี บันเทิงใจ นี้คือมุทิตา ซึ่งมีอาการพลอยยินดี และเพราะไม่มีกิจที่ควรจะทำต่อไปจากนั้น ก็อุเบกขาคือดูอยู่เฉยๆ ด้วยความรู้ นี้คืออุเบกขา ซึ่งมีอาการมัธยัสถ์เป็นกลาง มีอุปมาเหมือนอย่างมารดามีบุตร ๔ คน คนหนึ่งที่ยังเป็นเด็กเล็ก มารดาก็มุ่งความเจริญ คือให้เติบโตยิ่งขึ้น เทียบกับเมตตา คนหนึ่งเป็นไข้ มารดาก็พยาบาลให้หายไข้ เทียบกับกรุณา คนหนึ่งกำลังเจริญวัย มารดาก็ชื่นชมยินดี เทียบกับมุทิตา อีกคนหนึ่งทำงานตั้งตนได้แล้ว มารดาก็ไม่ต้องขวนขวายช่วยอะไร เทียบกับอุเบกขา แม้ในเรื่องที่ช่วยไม่ได้แล้ว ก็พึงใช้อุเบกขาเช่นเดียวกัน แต่เมื่อยังช่วยได้ก็ต้องใช้กรุณา ฉะนั้นธัมมะทั้ง ๔ ข้อนี้ เมื่อใช้ให้ถูกต้องด้วยกาลและกิจ ย่อมอำนวยประโยชน์โดยส่วนเดียว ส่วนความหัดคิดแผ่ใจไปใน ๔ ข้อนี้ พึงทำเสมอ

๑ ตุลาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2554 8:25:23 น.
Counter : 1028 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๕ ขันติ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ขันติ ความอดทน

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๙ ขันติ
กิริยาที่อดทนต่อโลภะ ความอยากได้บ้าง ต่อโทสะ ความโกรธเคืองจนถึงพยาบาทมุ่งร้ายบ้าง ต่อโมหะ ความหลงงมงายบ้าง เพราะได้ประสบอารมณ์ที่ยั่วให้เกิด เมื่อมีอารมณ์มาประสบยั่วให้เกิดอยากได้ อยากล้างผลาญ อยากเบียดเบียน ก็อดทนไว้ ไม่แสดงวิกลวิการอันชั่วร้ายทางกายทางวาจาออกไป ตามอำนาจแห่งโลภะ โทสะ โมหะ และอดทนต่อทุกขเวทนา มีเย็น ร้อนเป็นต้น อันทำให้ลำบาก อดทนตรากตรำประกอบการงานต่างๆ อดทนต่อถ้อยคำที่มีผู้กล่าวชั่ว ไม่เป็นที่ชอบใจ ชื่อว่าขันติ

ในเรื่องขันตินี้ ได้แสดงมาแล้วใน ทศบารมี ข้อ ๖ ซึ่งคู่กับ ราชธรรม ข้อ ๖ คือตบะ และในทศพิธราชธรรมเองก็มีขันติเป็นข้อ ๙ คู่กับบารมีข้อ ๙ คือ เมตตา ความขันติในทศพิธราชธรรมข้อนี้คือข้อ ๙ กับในบารมีข้อ ๖ ก็มีอธิบายในทางปฏิบัติเช่นเดียวกัน ต่างแต่ในทศบารมีนั้น มีความหมายว่า พระโพธิสัตว์บำเพ็ญขันติบารมีเพื่อพระโพธิญาณ ส่วนในทศพิธราชธรรม พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญขันติราชธรรมเพื่อประชาชนในการปกครองบ้านเมือง และกล่าวโดยเฉพาะข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้ามีพระราชหฤทัยกล้าหาญอดทนต่อโลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้น เพราะได้ประสบอารมณ์ที่มายั่วให้เกิด ทรงอดทนต่อเวทนา มีเย็นร้อนเป็นต้น ทรงตรากตรำอดทนปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ทรงอดทนต่อถ้อยคำที่มีผู้กล่าวชั่ว รักษาพระราชหฤทัยและพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้สงบเรียบร้อย ดั่งนี้จัดเป็นขันติ

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเปี่ยมด้วยขันติธรรม

เมื่อพิจารณาดูพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติ ก็จะพึงเห็นได้ว่า ได้ทรงเปี่ยมด้วยขันติธรรมในข้อนี้ ดังเรื่องวิจัยของนักศึกษาผู้หนึ่งที่รวมไว้ ดังจะได้นำมาแสดงในบางตอน ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตระหนักดีถึงปัญหาความยากจนและปัญหาความมั่นคง ได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในช่วงต้นแผนพัฒนาฉบับที่ ๓ คือฉบับ พ.ศ. ๒๕๑๕ - ๒๕๑๙ หลังจากที่ได้มีแผนพัฒนามาแล้ว ๒ ฉบับว่า อันชุมชนของไทยทั่วประเทศนั้น แท้จริงยังมีสภาพที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก เนื่องจากมีเหตุปัจจัยปรุงแต่งไม่เหมือนกัน ชุมชนที่ตั้งอยู่ในแหล่งที่ดีที่อุดมสมบูรณ์ย่อมมีความเจริญ แต่ที่อยู่ในที่ซ่อนเร้นและแร้นแค้น จะตกอยู่ในสภาพที่ล้าหลัง แนวทางการแก้ไขปัญหาหรือการต่อสู้กับปัญหาความยากจนของพระองค์ พิจารณาจากโครงการพระราชดำริทั้งหลายจะเห็นว่า ทรงสนพระราชหฤทัยในชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไร่ชาวนาที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ที่ซ่อนเร้นและแร้นแค้น ที่ซึ่งไม่มีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ตะวันตกสำนักใดให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นพื้นที่ๆ ไม่มีแววการพัฒนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงยืนยันถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า ในท้องที่ห่างไกลการคมนาคมนั้น มักทรงเน้นให้ประชาชนสามารถยืนตัวอยู่เอง โดยพึ่งปัจจัยภายนอกน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องข้าว ทุกๆ คนต้องกินข้าว เราต้องพยายามทำทุกวิถีทางให้เกษตรกรมีข้าวพอกิน และมีงานอาชีพในการผลิตสิ่งต่างๆ ที่แน่ใจว่าจะขายได้ ไปส่งเสริมแล้วต้องมีตลาดเพื่อให้ได้เงินมาซื้อของที่เราผลิตเองไม่ได้ เหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องการพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองของประชาชนที่ยากจนในชนบท ในขณะที่นักวางแผนเศรษฐกิจโดยมากสนใจแต่ความเจริญเติบโตของภาคเมืองนั้น มีที่มาจากแนวพระราชดำริที่ชัดเจนของพระองค์เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศดังนี้คือ การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐานคือความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและประชาชนโดยสอดคล้องกัน จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่ประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้ การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัว ให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่นเป็นพื้นฐานนั้น เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะผู้ที่มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งตนเอง ย่อมสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้โดยแน่นอน ส่วนการยึดถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญนั้น ให้ค่อยเป็นไปโดยลำดับด้วยความรอบคอบระมัดระวังและประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลว และเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนสมบูรณ์

เพราะเหตุที่ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความยากจน และเพื่อความมั่นคงของประเทศชาติดังกล่าว จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในที่นั้นๆ และในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการ สภาพภูมิประเทศ แหล่งน้ำอยู่นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมักจะทรงแยกขบวนเพื่อเยี่ยมราษฎร ทรงซักถามถึงสภาพความเป็นอยู่ทั้งในเรื่องการอาชีพ การสาธารณสุข การศึกษาเล่าเรียนของเด็ก ตลอดจนทรงรับราษฎรที่สมัครใจเข้าเป็นสมาชิกศิลปาชีพพิเศษ โดยอาจจะผลิตผลงานตามที่ตนถนัด แล้วส่งผลผลิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งทางมูลนิธิจะรับเป็นผู้จัดการจำหน่ายให้ หรือมิฉะนั้นก็จะเดินทางไปฝึกงานศิลปาชีพ ณ พระราชนิเวศน์ในภาคนั้นๆ คือในที่ประทับแต่ละแห่งซึ่งจะมีศูนย์ฝึกอาชีพของมูลนิธิศิลปาชีพทุกแห่ง โดยจะได้รับค่าตอบแทนในการฝึกงานด้วย รวมทั้งค่าอาหารและที่พัก เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสร็จพระราชภารกิจด้านการพัฒนาวางโครงการแล้ว ก็จะเสด็จพระราชดำเนินมาสมทบกับขบวนสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ณ ที่จัดเยี่ยมราษฎร จนเสร็จสิ้นพระราชภารกิจ จึงเสด็จกลับพร้อมกัน การจะเสด็จกลับถึงพระตำหนักเป็นเวลาไม่แน่นอน สุดแต่พระราชภารกิจและสภาพเส้นทางคมนาคม ที่บางแห่งทุรกันดารมาก บางทีเสด็จกลับถึง ๒ ยามดังที่ทราบกันอยู่แล้ว บางทีกว่าจะเสวยพระกระยาหารกลางวันได้ก็ประมาณบ่าย ๔ โมงเป็นต้น แสดงว่าทรงมีพระขันติธรรมเป็นอย่างมาก บางครั้งการเสด็จต้องเข้าไปบุกป่าซึ่งมีมากในทางภาคใต้ ซึ่งทำให้เป็นที่วิตกกังวลกันอยู่ไม่ใช่น้อย

พระขันติธรรมในการพระราชทานพระมหากรุณาในด้านการศึกษา

และนอกจากนี้ยังมีพระขันติธรรมในการที่ได้พระราชทานพระมหากรุณาในด้านการศึกษาอีกมากประการ นับตั้งแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้มีการจัดสร้างสถานศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก กระจายอยู่ทั่วทุกภาค เฉพาะระดับอุดมศึกษานั้น ได้มีการตั้งขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นจำนวนกว่า ๑๐ แห่ง สามารถผลิตบัณฑิตตามสาขาวิชาการต่างๆ ได้รวมกันแล้วถึงปีละเป็นจำนวนหมื่นคน แม้กระนั้นก็ตาม การจัดบริการเพื่อการศึกษาแก่ประชาชน ก็ยังหาทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรมตามอุดมการณ์ของการจัดการศึกษาไม่ กล่าวคือยังมีเด็กและเยาวชนอีกเป็นจำนวนมาก ที่พลาดโอกาสที่จะได้รับการศึกษาตามควรแก่อัตภาพ เพื่อให้เห็นได้ชัดเจน จะขอยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาดังต่อไปนี้

หนึ่ง โครงการโรงเรียนร่มเกล้า ตั้งขึ้นโดยพระราชประสงค์ที่จะให้ข้าราชการ ทหาร ที่เข้าไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ในท้องถิ่นชนบทห่างไกล ได้ร่วมมือกับราษฎรในท้องถิ่นก่อสร้างโรงเรียนขึ้น เพื่อให้บุตรหลานของราษฎรได้มีสถานศึกษาเล่าเรียนอย่างเพียงพอ ไม่ต้องเดินทางไปยังโรงเรียนอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไปมากๆ โดยทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเฉพาะวัสดุก่อสร้างตามความจำเป็น นอกนั้นทั้งแรงงาน ตลอดจนช่างฝีมือในการก่อสร้าง ให้ฝ่ายทหารและราษฎรร่วมกันเสียสละ

สอง โครงการโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ในชั้นเดิมนั้นการศึกษาของไทยเราเริ่มต้นขึ้นที่ศาลาวัด โดยมีพระภิกษุผู้ทรงความรู้เป็นผู้อบรม สั่งสอนทั้งวิชาการและศีลธรรมจรรยา เยาวชนในสมัยนั้นจึงได้รับการศึกษา ทั้งพุทธิศึกษาและจริยศึกษาไปพร้อมกัน เมื่อเติบโตขึ้นก็ได้เป็นพลเมืองดี เพราะมีทั้งความรู้และคุณธรรม ในสภาพปัจจุบันแม้บ้านเมืองจะได้รับการพัฒนาขึ้นมากแล้วในทุกๆ ด้าน แต่ก็ยังปรากฏว่า ในบางท้องที่ยังขาดแคลนสถานศึกษาสำหรับเยาวชนอยู่ จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดการเรียนการสอนขึ้นในบริเวณวัด โดยอาราธนาพระภิกษุที่มีความรู้มาสอนในวิชาสามัญที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย หากขาดแคลนพระภิกษุผู้สอนในวิชาใด ก็โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าตอบแทนครูที่เป็นฆราวาสมาช่วยสอน กับทั้งได้พระราชทานเงินเริ่มต้น เพื่อให้จัดตั้งเป็นกองทุนมูลนิธิขึ้น สำหรับนำดอกผลมาใช้ สนับสนุนกิจการให้ดำเนินไปได้โดยต่อเนื่อง และหากที่ใดสามารถดำเนินการได้กลมกลืนกับระบบที่รัฐจัดทำอยู่แล้ว ก็โปรดให้โอนไปเป็นโรงเรียนในสังกัดของทางราชการต่อไป ปัจจุบันยังมีโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจนในพระบรมราชูปถัมภ์ ดำเนินการอยู่ในจังหวัดน่าน จังหวัดนครพนม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ

สาม โครงการพระดาบส ในเรื่องนี้ขออัญเชิญพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ทรงกล่าวเล่าถึงโครงการดังกล่าวไว้ว่า เนื่องด้วยมีบุคคลเป็นจำนวนมากที่มีความรักวิชาการ อยากหาความรู้ใส่ตน แต่ก็ไม่สามารถหาที่เรียนได้โดยขาดแคลนทุนทรัพย์ บางคนก็ไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้าศึกษาตามโรงเรียนทั่วๆ ไปได้ บางครั้งโรงเรียนในระบบก็มีข้อขัดข้องบางประการ ทำให้ครูไม่สามารถให้ความรู้แก่นักเรียนได้เต็มที่ จึงมีพระราชดำริที่จะจัดการศึกษานอกระบบขึ้น มีลักษณะเช่นเดียวกับการศึกษาในโบราณกาล เช่นเดียวกับที่มีในหนังสือเก่าๆ เช่นนิทานชาดกเป็นต้น ผู้ที่ต้องการหาวิชาความรู้มักจะดั้นด้นไปหาพระอาจารย์ ซึ่งมักจะเป็นพระดาบส ตั้งสำนักอยู่ในป่า แล้วฝากตัวเป็นศิษย์ เมื่อพระอาจารย์เห็นว่าบุคคลนั้นมีความตั้งใจจริงก็รับเอาไว้ และถ่ายทอดวิชาให้โดยไม่ปิดบัง พร้อมกันนั้นก็อบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาด้วย ลูกศิษย์ก็จะตอบแทนคุณพระอาจารย์โดยการปรนนิบัติรับใช้ เช่นหาผลไม้ ตักน้ำ ทำความสะอาดอาศรมกุฏี จนกระทั่งมีความรู้พอ ก็จะลาพระอาจารย์กลับสู่บ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานสถานที่เป็นอาศรมของพระดาบส อาหารและเครื่องยังชีพของพระดาบสและศิษย์ในสมัยโบราณนั้นย่อมได้จากป่า มีผลไม้ หน่อไม้เป็นต้น ในกรณีนี้จะต้องมีป่าสังเคราะห์ กล่าวคือเงินทุนพระราชทานเป็นค่ากินอยู่และค่าใช้สอย ในการดำเนินการซึ่งมีหลักคือการดำเนินการของโรงเรียนพระดาบสนี้จะต้องเป็นการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ และจะไม่จัดเป็นรูปงานธุรกิจโดยเด็ดขาด วิชาชีพที่พระดาบสสมัยใหม่เปิดสอนในระยะทดลอง เป็นวิชาช่างไฟฟ้าวิทยุ ใช้สถานที่ของสำนักพระราชวัง ณ บ้านเลขที่ ๓๘๔ - ๓๘๖ ถนนสามเสน ผู้ที่จะเข้าเรียนไม่จำกัดเพศ วัย และวุฒิความรู้หรือฐานะ หลายคนมาจากครอบครัวที่ยากจนและมีปัญหาชีวิตประจำวัน บ้างเป็นทหาร ตำรวจ พลเรือน ผ่านศึกทุพพลภาพ ส่วนครูเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ที่อาสาสมัครสอนโดยมีศรัทธาที่จะเสียสละ ให้ความรู้ศิษย์เป็นวิทยาทานโดยมิได้หวังค่าตอบแทน ผู้ดำเนินการคือองคมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิอื่น เท่าที่ได้เปิดสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม ๒๕๑๙ มีนักเรียนรุ่นแรก ๖ คน นับว่าได้ผลดีมาก กล่าวคือเดิมกำหนดไว้ว่า นักเรียนจะมีความรู้ในการสร้าง ซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุได้ในเวลา ๑ ปี เมื่อปฏิบัติจริงๆ แล้วใช้เวลาเพียง ๙ เดือน และทางโรงเรียนจึงได้เปิดรับงานซ่อมเครื่องไฟฟ้าและวิทยุ ติดตั้งไฟในอาคาร เป็นการหารายได้ให้แก่นักเรียนในรูปสหกรณ์ด้วย เมื่อจบหลักสูตรข้างต้น ได้ขยายเปิดสอนความรู้ที่สูงขึ้น รวมทั้งเปิดรับนักเรียนใหม่ในขั้นต้น และเปิดวิชาอื่น คือช่างเครื่องยนต์และช่างประปา

เท่าที่กล่าวมานั้น นักเรียนทุกคนเคารพรักเชื่อฟังอาจารย์ มีน้ำใจในการปรนนิบัติรับใช้ และมีศีลธรรมเป็นพลเมืองดีของชาติ สำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการนี้นอกจากที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว บริษัทห้างร้านและเอกชนได้บริจาคสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้และแรงงานโดยเสด็จพระราชกุศล ตามพระราชดำริอันมีมาแต่แรกนั้น ดาบสจะไม่สอนเฉพาะช่างวิทยุ ช่างเครื่องเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีโอกาสจะมีดาบสที่ชำนาญในวิชาแขนงอื่นๆ เช่นวิชาศิลปะ วิชาภาษาต่างประเทศ วิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเปิดสอนตามความเหมาะสม ถ้าโครงการโรงเรียนพระดาบสนี้เจริญรุดหน้าไปด้วยดี ในอนาคตไทยเราอาจจะมีระบบการศึกษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ได้

๔. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ได้ทรงพระราชปรารภว่า การเรียนรู้ในเรื่องราวและวิชาการสาขาต่างๆ โดยกว้างขวาง เป็นเหตุให้เกิดความรู้ ความคิด ความฉลาด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ช่วยให้บุคคลสามารถสร้างประโยชน์สุข สร้างความเจริญมั่นคงให้แก่ตนเอง ทั้งแก่สังคมและบ้านเมืองอันเป็นที่พึ่งอาศัยได้ ทุกคนจึงควรมีโอกาสที่จะศึกษาหาความรู้ได้ตามความประสงค์และกำลังความสามารถโดยทั่วกัน ทรงพระราชดำริว่า หนังสือประเภทสารานุกรมนั้นบรรจุสรรพวิชาการอันเป็นสาระไว้ครบทุกแขนง เมื่อมีความต้องการหรือพอใจจะเรียนรู้เมื่อใด ก็สามารถค้นหาอ่านทราบได้โดยสะดวก นับว่าเป็นหนังสือที่มีประโยชน์เกื้อกูลการศึกษา เพิ่มพูนปัญญาด้วยตนเองของประชาชนเป็นอย่างสำคัญโดยเฉพาะในยามที่มีปัญหาขาดแคลนครู และที่เล่าเรียนกันในขณะนี้ หนังสือสารานุกรมจะช่วยคลี่คลายให้บรรเทาเบาบางได้เป็นอย่างดี จึงมีพระราชดำริให้ตั้งโครงการสารานุกรมสำหรับเยาวชน ซึ่งดำเนินการสร้างหนังสือสารานุกรมฉบับใหม่ขึ้นอีกชุดหนึ่ง มีความมุ่งหมายที่จะนำวิชาการแขนงต่างๆ ที่ควรศึกษา ออกไปเผยแพร่แก่เยาวชนให้แพร่หลายทั่วถึง เพื่อเยาวชนจะได้หาความรู้ช่วยตัวเองได้จากการอ่านหนังสือ และเพื่อให้ได้ประโยชน์อันกว้างขวางยิ่งขึ้น ทรงกำหนดหลักการทำคำอธิบายเรื่องต่างๆ แต่ละเรื่องเป็น ๓ ตอนหรือ ๓ ระดับ สำหรับให้เด็กรุ่นเล็กอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง สำหรับเด็กรุ่นกลางอ่านเข้าใจได้ระดับหนึ่ง และสำหรับเด็กรุ่นใหญ่รวมถึงผู้ใหญ่อ่านได้อีกระดับหนึ่ง เพื่ออำนวยโอกาสให้บิดามารดาสามารถใช้หนังสือนั้นเป็นเครื่องมือแนะนำวิชาแก่บุตรธิดา และให้พี่แนะนำวิชาแก่น้องเป็นอันดับกันลงไป นอกจากนั้น เมื่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดมีความเกี่ยวกันต่อเนื่องกันถึงเรื่องอื่นๆ ก็ให้อ้างอิงถึงเรื่องนั้นๆ ด้วยทุกครั้งไป ด้วยประสงค์จะให้ผู้ศึกษาทราบตระหนักว่า วิชาการแต่ละสาขามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พึงจะศึกษาให้ครบถ้วนทั่วถึง นับถึงปัจจุบันได้จัดทำสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนขึ้นแล้วมีจำนวนมากฉบับ ตัวเลขที่ให้ไว้ในการบันทึกเรื่องนี้ซึ่งเป็นเวลาหลายปีมาแล้วว่าเป็นจำนวนถึง ๘ เล่ม ในบัดนี้ก็คงจะได้เพิ่มขึ้นอีกมาก

๕. พระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้เกิดมหาวาตภัยร้ายแรงขึ้นแก่พี่น้องชาวแหลมตลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช อันเป็นผลมาจากการที่พายุโซนร้อนได้พัดผ่านเข้ามาทางตอนใต้ของประเทศไทย ภัยพิบัติครั้งนั้นทำให้ประชาชนทั้งประเทศอกสั่นขวัญหายและเศร้าสลดใจ ด้วยไม่เคยพบเห็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงเช่นนี้มาก่อน และแม้ทางราชการจะได้ออกประกาศเตือนภัยล่วงหน้าอยู่ตลอดเวลา แต่ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพี่น้องประชาชน ที่คาดไม่ถึงว่าอันตรายจะใหญ่หลวงเช่นนี้ ทำให้ชีวิตและทรัพย์สินต้องสูญเสียไปเหลือที่จะคณนานับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย ดังปรากฏว่าในทันทีที่มีความสูญเสียเกิดขึ้นนั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ออกอากาศทางวิทยุสถานีวิทยุ อส. จากพระราชวังดุสิต ทรงแจ้งข่าวร้าย พร้อมทั้งทรงเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ร่วมกับบริจาคเงินและสิ่งของช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้ประสบภัยครั้งนั้นเป็นการเร่งด่วน ซึ่งนอกจากจะได้รับบริจาคเสื้อผ้า สิ่งอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมากแล้ว เฉพาะที่เป็นเงินสด ได้มียอดเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลเป็นจำนวนถึง ๑๑ ล้านบาท ในการนี้ทรงพระราชดำริว่า ภัยธรรมชาติเป็นอันตรายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และอาจประสบกับพี่น้องประชาชนในโอกาสใดโอกาสหนึ่งโดยไม่คาดคิด เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมก่อความเดือดร้อนขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน ๓ ล้านบาท เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ขึ้น โดยมีพระราชประสงค์ให้มูลนิธินี้ใช้ดอกผลช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อันเนื่องมาจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในทันทีที่เกิดเกิดสาธารณภัยขึ้น และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งการได้ดำเนินไปตามพระราชประสงค์ทุกประการ มหาวาตภัยดังกล่าวก่อให้เกิดเด็กกำพร้าอนาถาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงถึงว่าเด็กและเยาวชนเหล่านั้นกำลังอยู่ในวัยศึกษา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งฝ่ายการศึกษาสงเคราะห์ขึ้นในมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ นำดอกผลส่วนหนึ่งของมูลนิธิไปให้เป็นทุนการศึกษาแก่เด็กกำพร้าอนาถาเหล่านั้น ให้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนต่อไปเท่าที่ความสามารถของแต่ละคนจะอำนวยให้ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาเป็นต้นไป

๖. ทุนการศึกษาพระราชทาน ด้วยทรงพระราชดำริว่า ยังมีนิสิตนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ทำให้ไม่มีโอกาสจะได้รับการศึกษาในระดับสูงได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จัดตั้งเป็นกองทุนมูลนิธิภูมิพลขึ้น เพื่อพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่บัณฑิตที่ได้คะแนนยอดเยี่ยมในสาขาวิชาการต่างๆ ไปศึกษาต่อในต่างประเทศในชั้นที่สูงขึ้นไป โดยไม่มีข้อผูกมัดแต่ประการใด ซึ่งก็ปรากฏว่า นักศึกษาผู้ได้รับพระราชทานทุนดังกล่าว ทุกคนพากันกลับประเทศไทย เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศหลังจากสำเร็จการศึกษาชั้นสูงแล้วทั้งสิ้น

นอกจากทุนภูมิพลแล้ว ยังมีมูลนิธิอานันทมหิดล และมูลนิธินวฤกษ์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันนี้ด้วย และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้มีจิตศรัทธา มีโอกาสโดยเสด็จพระราชกุศลในมูลนิธิเหล่านี้ด้วย

ทรงใช้พระวิริยะอุตสาหะและขันติธรรมในกิจทั้งปวง

นอกจากพระราชกรณียกิจที่ได้กล่าวมานี้แล้ว ยังทรงมีพระมหากรุณาแก่การศึกษาอีกเป็นอเนกประการ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา ซึ่งนับเป็นพระราชกรณียกิจอันบุคคลอื่นจะพึงปฏิบัติได้โดยยากยิ่ง ด้วยต้องใช้วิริยะอุตสาหะและขันติธรรมเป็นอย่างสูง ทั้งในโอกาสดังกล่าวยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาท เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่บัณฑิตทุกครั้งด้วย ถึงแม้ว่าจะเคยมีผู้หวังดีกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอพระราชทานให้ทรงงดพระราชกรณียกิจในข้อนี้ ด้วยเห็นว่าต้องทรงตรากตรำมาก ก็มิได้ทรงยินยอม ด้วยได้ทรงมีพระราชดำริว่า การดังกล่าวนอกจากจะเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคลแก่ผู้สำเร็จการศึกษาแล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทรงพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดาคณาจารย์ในวงการศึกษา เป็นโอกาสได้ให้พระราชทานแนวทางพระราชดำริเกี่ยวแก่การจัดการศึกษาต่อไปด้วย เช่นการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๖ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับภูมิประเทศทางภาคใต้เป็นอย่างมากด้วย ยิ่งกว่านั้น ในทุกๆ ปีจะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะครูอาวุโสเข้าเฝ้า ให้นักเรียนที่เรียนดีจากทั่วประเทศเข้าเฝ้า รับพระราชทานรางวัล ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณเหล่านี้ล้วนติดตาตรึงใจทั้งผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณไปจนชั่วชีวิต

บุคคลผู้รวมอยู่เป็นหมู่ก็พึงตั้งอยู่ในขันติ

กิจทั้งปวงนี้แสดงว่า ต้องทรงใช้พระขันติธรรมเป็นอย่างสูง อันธัมมะข้อนี้แม้บุคคลผู้รวมกันอยู่เป็นหมู่ทั่วไป ก็พึงปฏิบัติ เพราะว่าคนผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่นั้นต้องประสบอารมณ์ต่างๆ มาก ถ้าไม่ตั้งอยู่ในขันติ ยอมให้โลภะ โทสะ โมหะฉุดชักไปก็จะเกิดวิวาทแก่งย่างและวุ่นวายอย่างอื่นอีกมาก ไม่อยู่ด้วยกันด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นสุข ถ้าตั้งอยู่ในขันติก็ได้ผลตรงกันข้าม คืออยู่ด้วยกันด้วยความสงบเป็นสุข ผู้มีขันติจึงงามเพราะมีอาการสงบ เมื่อรวมกันเข้าเป็นหมู่ ก็เป็นหมู่ที่งามเพราะมีความสงบสุข

อนึ่ง พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าก็ดี รัฐบาลก็ดี ซึ่งเป็นผู้ปกครองนั้น ย่อมต้องประกอบด้วยขันติธรรม ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติมาและแม้ผู้อยู่ในปกครองเช่นราษฎรทั้งปวงก็พึงมีขันติธรรมต่อผู้อยู่ในปกครอง หรือเมื่อมีพระราชบัญญัติกฎหมายอันใดออกไปให้ปฏิบัติ ก็ต้องมีขันติในการที่จะพึงปฏิบัติ และเมื่อมีกิจจะพึงทำเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติบ้านเมือง อันจะต้องอาศัยความพากเพียรพยายาม ความรวมพลังของคนเป็นหมู่มาก ประชาชนทั้งปวงก็พึงมีขันติธรรมในการที่จะปฏิบัติเพื่อผู้ปกครอง เพื่อบ้านเมือง และเมื่อทุกฝ่ายต่างมีขันติต่อกันดั่งนี้ ก็จะอยู่ด้วยกันด้วยความสงบสุข

เมตตาและขันติย่อมต้องเนื่องกันและอาศัยกัน

อนึ่ง มีข้อที่พึงอธิบายแถมท้ายในข้อที่ ๙ คือบารมีข้อ ๙ อันได้แก่เมตตา กับทศพิธราชธรรมข้อ ๙ คือขันติ ธัมมะทั้ง ๒ ข้อนี้แม้จะมีชื่อธัมมะต่างกัน แต่การปฏิบัตินั้นก็ย่อมต่อเนื่องกันและอาศัยกัน คือเมตตานั้นจะต้องมีขันติช่วยอยู่ จึงจะปฏิบัติไปในเมตตาได้ และได้สม่ำเสมอ แม้ในข้อขันตินั้นเล่า จะเป็นขันติได้ ก็ต้องมีเมตตาสนับสนุนอยู่ ในข้อว่าเป็นเมตตาต้องมีขันติสนับสนุนนั้น ก็คือว่าความมุ่งดีปรารถนาดีหรือความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข อันเป็นความหมายของเมตตานั้นตรงกันข้ามกับโทสะพยาบาท เพราะฉะนั้น หากว่าเกิดโทสะพยาบาทขึ้น ก็ต้องมีขันติคืออดทนดับโทสะพยาบาทลงไป และมีขันติอดทนต่ออารมณ์ อันเป็นที่ตั้งของโทสะพยาบาทแล้ว ยังต้องไม่ให้เมตตานั้นนำให้เกิดราคะสิเน่หาอันเป็นกิเลส เพราะฉะนั้น จะต้องมีขันติ อดทนต่อราคะสิเน่หาอันเป็นตัวกิเลสหากเกิดขึ้น อดทนต่ออารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะสิเน่หาด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้ การอบรมเมตตาจึงจะเป็นไปได้ ส่วนข้อที่ว่าขันตินั้นต้องมีเมตตาอุปถัมภ์ด้วย ก็โดยที่ว่าขันติคือความอดทนนั้น ถ้าหากว่าอดทนอย่างเดียว โดยไม่มีจิตใจที่แช่มชื่นด้วยธัมมะคือเมตตาเข้ามาช่วยด้วยแล้ว ก็ยากที่จะปฏิบัติขันตินั้นได้นานได้สำเร็จ ดังเช่นเมื่อกิเลสกองโลภก็ดี กองโกรธก็ดี กองหลงก็ดีเกิดขึ้น หรือเมื่อพบกับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านี้ ตั้งใจว่าจะมีขันติคืออดทน เพราะฉะนั้น ในการอดทนนั้น จำเป็นที่จะต้องอดทนใจคืออดทนกิเลส แต่หากว่าถ้ากำลังของขันตินั้นน้อย ขันติก็จะพ่ายแพ้ กิเลสก็จะชนะ แต่ถ้ากำลังของขันติมีกำลังแรง จึงจะสามารถอดทนได้

และในการที่จะทำให้ขันติมีกำลังขึ้นนั้น ก็จะต้องหาทางปราบกิเลสกองโลภโกรธหลงในใจลงด้วย หาทางปราบอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสเหล่านั้นลงด้วยโดยที่ต้องอาศัยเมตตา คือตั้งจิตปรารถนาให้เป็นสุขนี้ แผ่จิตดั่งนี้ออกไป เหมือนอย่างเอาน้ำพรมลงไปที่ใจ อันกำลังร้อนอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสและอารมณ์ของกิเลสเหล่านี้ กิเลสเหล่านี้เป็นเหมือนไฟที่ลุกขึ้นเผาใจอยู่ เมื่อถูกน้ำคือเมตตาพรมลงไปแล้ว ก็จะทำให้ไฟคือกิเลส อารมณ์คือกิเลสนี้ดับลงไป หรือว่าลดความร้อนลงไป ลดกำลังลงไป ทำให้ขันติสามารถอดทนได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อมีเมตตาเต็มที่ขึ้นแล้ว ก็จะดับกิเลส ดับอารมณ์ของกิเลสลงได้

ชั้นของขันติ

ขันติคือความอดทนนี้ ก็เป็นอันว่าเลื่อนชั้นขึ้นด้วย เป็นขันติที่เป็นความทนทานเหมือนอย่างต้นไม้เมื่อมีลมมาพัดต้อง หากว่าลมแรงเกินไป ก็พัดต้นไม้ให้หักโค่นได้ คือกำลังแข็งแรงของต้นไม้นั้นไม่พอ กิเลส อารมณ์ของกิเลสก็เหมือนกัน เมื่อพัดแรงมากไปก็ทำให้บุคคลล้มลงด้วยอำนาจของกิเลส อารมณ์ของกิเลสได้ คือเสียขันติไม่สามารถจะอดทนได้ จะอดทนได้เท่าที่กำลังของขันติจะแรงพอเท่านั้น เหมือนอย่างลมที่พัดมาต้องต้นไม้ ต้นไม้ทนไหวก็โดยที่กำลังของต้นไม้มีกำลังแรง สามารถที่จะต้านทานลมได้ แต่ว่าในขณะที่ต้านทานนั้น ใบและกิ่งก็ย่อมจะหวั่นไหว หรือว่าใบร่วงลงไปบ้าง กิ่งหักลงไปบ้าง ลำต้นอาจจะคงอยู่ การอดทนที่เป็นขันติก็เหมือนกัน เมื่อต้องอารมณ์แรงกิเลสแรง ก็อาจจะทำให้เสียความเรียบร้อยทางกายทางวาจาไปบ้าง ทางใจก็เดือดร้อนวุ่นวาย แต่ขันติก็ยังเอาไว้ได้ ไม่ถึงกับทำให้หักโค่น แต่ถ้าหากว่ามีความแข็งแรงอย่างยิ่งเช่นภูเขาหินล้วน ต้องลมพัดมาทั้ง ๔ ทิศ ก็ไม่สามารถจะทำภูเขาให้กระเทือนได้ บุคคลก็เหมือนกัน เมื่อมีขันติที่มีพลังเต็มที่จึงจะสามารถต้านทานได้ แต่ขันติที่จะมีกำลังเต็มที่ดั่งนี้ได้ ก็จะต้องมีใจที่สงบลงได้จากกิเลสเหล่านั้น อันเป็นผลของขันติหรือเมตตามาช่วยอยู่ด้วย เมตตาเหมือนดังเป็นน้ำที่พรมลงมาดังที่กล่าวมานั้น ถ้าเปรียบกิเลสเหมือนไฟก็ทำให้ไฟอ่อนกำลังลงไป เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะทำให้ดำรงเป็นขันติอยู่ได้ และเปรียบเหมือนภูเขาหินที่ไม่หวั่นไหวด้วยลมที่พัดมาทั้ง ๔ ทิศ ขันติที่มีลักษณะอย่างนี้เป็นขันติชั้นสูงที่เรียกว่า ตีติกขาขันติ ขันติคือความทนทาน ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า “ขันติคือความทนทาน เป็นตบะคือธรรมเป็นที่แผดเผากิเลสอย่างยิ่งทำให้บรรลุนิพพาน อันเป็นบรมธรรม” เมตตาจึงเป็นธัมมะที่สำคัญ เป็นเหมือนอย่างน้ำที่พรมกิเลสอันเหมือนอย่างกองไฟที่ลุกนั้นให้สงบลงไป เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ทำให้จิตใจแช่มชื่นแจ่มใส มีอาการที่เรียกว่าโสรัจจะ คือความที่มีใจดี คือใจที่แช่มชื่นแจ่มใส ทำให้บังเกิดความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ ท่านจึงแปลโสรัจจะว่าความเสงี่ยมก็คือความสงบนั้นเอง สงบกาย สงบวาจา สงบใจ ขันติที่มีโสรัจจะอยู่ ดั่งนี้จึงจะเป็นขันติที่เป็นพลัง สามารถที่จะทนทานได้ดังที่กล่าวมา จึงต้องอาศัยเมตตานี้ช่วยค้ำจุนอยู่ เพราะฉะนั้น บารมีคือเมตตาและราชธรรมคือขันติ แม้จะมีชื่อต่างกัน แต่การปฏิบัตินั้นก็ต้องอาศัยกันเป็นไป จึงจะเป็นไปได้

๒๘ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2554    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2554 7:56:43 น.
Counter : 894 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๔ เมตตาบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



จะแสดง เมตตาบารมี อันเป็นบารมีข้อที่ ๙
เมตตาเป็นพระบารมีประการหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญมา ดังมีเรื่องเล่าไว้ในชาดกต่างๆ

เมตตาบารมีในสุวรรณสามชาดก

ชาดกที่ท่านยกขึ้นสำหรับเมตตาบารมี ก็คือ สุวรรณสามชาดก ได้แก่ชาดก เรื่องพระสุวรรณสาม มีเรื่องโดยย่อว่า ได้มีบุตรและธิดาของเนสาท คือนายพรานป่า ๒ ตระกูล ซึ่งมารดาบิดาได้ปรารถนาที่จะให้ตบแต่งอยู่ครองเรือน แต่บุคคลทั้ง ๒ นั้นเป็นผู้มีจิตใจที่ได้น้อมไปในการบรรพชา คือการบวช และเป็นผู้ที่ไม่นิยมในการฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นอาชีพของตระกูล จึงได้พากันออกไปบวชเป็นฤษีและฤษิณี ได้มีบุตรคนหนึ่งชื่อว่า สามะ ซึ่งมักเรียกว่าสุวรรณสาม ต่อมามารดาบิดาของสุวรรณสามได้ถูกงูพิษพ่นพิษเข้านัยน์ตา จึงตาบอดหมดทั้ง ๒ คน สุวรรณสามได้เลี้ยงมารดาบิดาของตนอยู่ในป่า มารดาบิดาและบุตรทั้ง ๓ นี้เจริญ เมตตาภาวนา อยู่เป็นประจำ ด้วยอำนาจของเมตตา สัตว์ป่าทั้งหลายทั้งที่เป็นสัตว์ร้ายและทั้งที่เป็นสัตว์ไม่ร้าย ก็พากันมีจิตอ่อน ไม่ทำอันตรายและให้ความคุ้นเคยสนิทสนมดุจเป็นมิตรสหาย สุวรรณสามนั้น เมื่อได้ออกไปทำกิจต่างๆ เช่นตักน้ำหาอาหาร เป็นต้น เลี้ยงมารดาบิดา ก็ได้มีสัตว์ป่าทั้งหลายพากันห้อมล้อมไปและกลับ ทั้ง ๓ คนนั้นก็ได้อยู่ผาสุกในป่า จนถึงคราวหนึ่ง พระราชาแห่งกรุงพาราณสีได้เสด็จออกมาล่าเนื้อ และได้แอบซ่อนมองเห็นสุวรรณสามพร้อมทั้งหมู่เนื้อกำลังออกไปตักน้ำเพื่อจะไปให้มารดาบิดา จึงได้ยิงด้วยลูกธนูอาบยาพิษไปถูกสุวรรณสามล้มลง ก่อนที่สุวรรณสามจะสลบไสลด้วยอำนาจของศรอาบยาพิษนั้น ก็ได้กล่าวเรียกหาบุคคลผู้ยิงด้วยวาจาอันอ่อนหวาน ไม่แสดงความโกรธ พระราชาพาราณสีได้ทรงฟังเรียกเช่นนั้น ก็มีพระหฤทัยอ่อนและได้เสด็จเข้าไปหาสุวรรณสาม ซึ่งนอนกระวนกระวายคร่ำครวญอยู่ว่า ต่อไปนี้จะได้ใครเป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ก็ได้ทรงถาม และครั้นทรงทราบแล้ว ก็ทรงรันทดเสียพระหฤทัยในการที่ได้ทำไป และก็รับจะทรงเป็นผู้อุปการะมารดาบิดาของสุวรรณสาม สุวรรณสามก็สลบไสลไปในขณะนั้นด้วยอำนาจของศรอาบยาพิษ พระราชาแห่งพาราณสีก็ได้เสด็จไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของมารดาบิดา และก็ได้ทรงทำการปฏิบัติ ฝ่ายมารดาบิดาของสุวรรณสามสังเกตเห็นความผิดปกติในกิริยาเป็นต้น กำหนดว่าคงจะไม่ใช่สุวรรณสาม จึงได้ถามขึ้น พระราชาแห่งพาราณสีก็ทรงเล่าให้ทราบตามเป็นจริง ทั้ง ๒ ท่านนั้นครั้นได้สดับก็ขอให้พระราชาแห่งกรุงพาราณสีช่วยนำไปยังสุวรรณสาม ครั้นเมื่อไปถึงยังที่นั้นแล้ว ทั้ง ๒ ท่านนั้นก็มีความโศกรันทด และก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานขึ้นว่า “สามะนี้เป็นผู้ประพฤติธรรม ประพฤติดังพรหม กล่าวแต่คำสัตย์จริง เลี้ยงมารดาบิดา ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล รักสัตว์มีชีวิต ด้วยความสัตย์นี้ขอให้พิษศรในกายของสามะเหือดหายเถิด” และก็มีแสดงว่า นางพสุนธรี เทวธิดาซึ่งสถิตอยู่ที่เขาคันธมาส ซึ่งเคยเป็นมารดาของสุวรรณสามมาในภพอดีต ก็ได้มาทำสัจจกิริยาเช่นเดียวกันว่า “ไม่มีใครอื่นซึ่งจะเป็นที่รักของตนยิ่งไปกว่าสุวรรณสาม” ด้วยอำนาจของสัจจกิริยานั้น สุวรรณสามก็ฟื้นขึ้น มารดาบิดาก็หายจากความตาบอด ในขณะเดียวกับกับอรุณขึ้น เพราะฉะนั้น บุคคลทั้งหมดนั้นจึงได้กลับมีความสวัสดี และพระราชาแห่งกรุงพาราณสีก็ได้กลับทรงตั้งอยู่ในธรรมของผู้ปกครองประชาชน

อำนาจจิตใจที่เกิดจากเมตตาธรรม

ตามเรื่องในชาดกนี้ แม้จะมีเล่าถึงเหตุการณ์ที่บังเกิดเหมือนเป็นอภินิหาร คือผลที่บังเกิดขึ้นด้วยอำนาจของสัจจกิริยาดังเล่าในเรื่องนั้น แต่สารัตถะคือความสำคัญของเรื่องก็มุ่งแสดงถึงอำนาจจิตใจ อำนาจจิตใจของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว ก็มีเป็น ๒ ฝ่าย คืออำนาจจิตใจอันประกอบด้วยธรรมอย่างหนึ่ง อำนาจจิตใจอันประกอบด้วยอธรรมอีกอย่างหนึ่ง อำนาจจิตใจประการแรกก็ได้แก่ที่ประกอบด้วยเมตตา และความกตัญญูกตเวทีเป็นต้น กล่าวโดยเฉพาะ บุคคลผู้ที่เล่าในเรื่องเป็นผู้อบรมเมตตา มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาธรรม ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งนั้นคือที่ประกอบด้วยอธรรม ก็ได้แก่โทสะ วิหิงสาหรือพยาบาท ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลส และบุคคลเมื่อมีโทสะ วิหิงสาหรือพยาบาท ก็ย่อมจะประกอบการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อน เมื่ออำนาจจิตใจทั้ง ๒ ฝ่ายนี้มาประจบกันเข้าแล้ว อำนาจจิตใจที่ประกอบด้วยธรรมคือเมตตา ก็ย่อมชนะอำนาจจิตใจที่ประกอบด้วยโทสะ วิหิงสาในที่สุด แต่ว่ากว่าที่จะชนะได้นั้น ก็ต้องประสบความทุกข์เดือดร้อน เมื่อมีสัจจะกิริยาคือการตั้งสัจจะเข้าช่วย ความชนะจึงจะบังเกิดขึ้นได้ในที่สุด

ในเรื่องนี้ เมื่อจะพิจารณาโดยนัยทางปฏิบัติ ก็ย่อมจะเห็นความได้ว่า ในการที่ธรรมจะต่อสู้กับอธรรมนั้น ก็ย่อมจะประสบความทุกข์เดือดร้อน ถ้าฝ่ายธรรมไม่มีสัจจกิริยา คือการตั้งสัจจะให้แน่วแน่แล้ว ฝ่ายธรรมก็อาจจะแพ้ได้ แต่หากว่าตั้งสัจจกิริยาให้แน่วแน่จะไม่แพ้ จะชนะด้วยความดีคือธรรมนั้นในที่สุด ทั้งอาจจะกลับใจฝ่ายอธรรมให้กลับมาประกอบด้วยธรรมได้ดังกล่าวในเรื่อง

ผลของธรรมบังเกิดจากการตั้งสัจจะ

พิจารณาดูจิตใจของตนเองของแต่ละบุคคล ในบางขณะก็ประกอบด้วยธรรมดังได้กล่าว เช่นว่ามีเมตตา ในบางขณะก็ประกอบด้วยอธรรม เช่นมีโทสะ เมื่อมีโทสะบังเกิดขึ้นก็ทำให้จิตใจมุ่งร้าย เมื่อเมตตาบังเกิดขึ้นก็ทำให้จิตใจมุ่งดี คราวนี้เมื่อเกิดมีความมุ่งขึ้น ๒ อย่างขัดกัน ก็ทำให้จิตใจนั้นเองเดือดร้อนไม่เป็นสุข แต่เมื่อเมตตานั้นหากได้ประกอบด้วยสัจจะคือความตั้งใจจริง ก็ย่อมจะสนับสนุนให้เมตตานั้นมีอำนาจแรงขึ้น โทสะที่ไม่ได้สัจจะสนับสนุนก็อ่อนกำลังลง ในที่สุดก็แพ้ต่อเมตตา เมื่อถอดความให้ชัดเข้าอีก เมตตาที่ประกอบด้วยสัจจะนั้น พูดสั้นก็คือเมตตาจริงๆ นั่นแหละเป็นตัวสัจจะ เมื่อมีเมตตาจริงขึ้นแล้ว โทสะไม่จริงก็ย่อมแพ้ แต่ถ้าหากสัจจะไปอยู่กับโทสะคือว่าโกรธจริง แต่ว่าเมตตาปราศจากสัจจะ คือว่าเมตตาไม่จริง เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว เมตตาก็แพ้ เพราะฉะนั้น สัจจกิริยาคือการตั้งสัจจะนั้น เป็นเรื่องสำคัญในอันที่จะสนับสนุนธรรมทั้งปวงให้มีกำลังอำนาจขึ้นจริง ถ้าไปสนับสนุนฝ่ายดีเช่นเมตตา ก็เป็นเมตตาจริง ดั่งนี้เมตตาก็มีกำลังอำนาจ แต่ว่าถ้าไปสนับสนุนฝ่ายที่ตรงกันข้าม เช่นว่าโกรธจริงขึ้นมาเหมือนกัน ดั่งนี้แล้ว ความแผดเผาของโทสะนั้นก็รุนแรงมากขึ้น จนกว่าจริงกับจริงจะมาพบกัน จริงฝ่ายธรรมย่อมสูงกว่า หนักแน่นกว่า จริงฝ่ายธรรมก็ย่อมจะชนะ ตามที่กล่าวมานี้จะพึงเห็นได้ว่า สัจจกิริยาคือการตั้งสัจจะนั้น เป็นประการสำคัญในอันที่จะปฏิบัติธรรมทุกอย่าง จะต้องมีสัจจะคือว่าทำให้จริง และเมื่อมีสัจจะคือทำให้จริงขึ้นแล้ว ก็จะได้รับผลของธรรมในที่สุดด้วยดี

ความหมายของเมตตา

เมตตาซึ่งเป็นธรรมสำคัญในชาดกที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ทรงบำเพ็ญมาจนเต็มเปี่ยม ก็ได้ทรงนำมาแสดงสั่งสอนให้บุคคลอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น และได้แสดงถึงความสำคัญของเมตตาไว้เป็นอันมาก ในเบื้องต้น ก็ควรจะทราบก่อนว่า เมตตานั้นคืออะไร

เมตตาคือภาวะของจิตใจที่มีเยื่อใยไมตรีจิต มิตรใจ คิดเกื้อกูลด้วยสุขประโยชน์ปราศจากอาฆาตพยาบาทขึ้งเคียดโกรธแค้น แสดงออกทางสีหน้าและสายตาที่สงบแช่มชื่น มองดูด้วยสายตาอันแสดงถึงใจที่เอิบอาบด้วยความปรารถนาดีให้มีความสุขปราศจากความพยาบาทมุ่งร้ายที่เป็นภัยเวรทั้งปวง เมตตานี้เป็น พรหมวิหารธรรม ข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมคือระวังใจมิให้โกรธแค้นขัดเคืองอาฆาตพยาบาท เมื่อภาวะของจิตเช่นนั้นเกิดขึ้น ก็พยายามระงับเสีย โดยคิดว่าตนเองรักสุข ต้องการสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นทั้งปวงก็ฉันนั้น และตนเองปรารถนาสุขแก่คนที่รักที่พอใจฉันใด ก็ควรปรารถนาสุขแก่คนอื่นสัตว์อื่นด้วยฉันนั้น เมื่อทำความสงบอาฆาตพยาบาท กระทำไมตรีจิตมิตรใจให้เกิดขึ้นได้แล้ว ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่นโดยเจาะจง หรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยใจคิดปรารถนาสุขประโยชน์ เช่นคิดว่า จงอย่ามีเวร อย่ามีเบียดเบียน อย่ามีทุกข์ มีสุข รักษาตนให้สวัสดี อันที่จริงภาวะของจิตที่มีความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข ย่อมมีอยู่ในตนและในคนที่รักอยู่เป็นปกติ แต่ยังเจือด้วยราคะสิเน่หาบ้าง เจือด้วยอาฆาตพยาบาทในสัตว์อื่นผู้อื่นบ้าง นี้จึงนับว่าเป็นภาวะของจิตที่เป็นธรรมชาติธรรมดา

ทรงสอนให้อบรมเมตตาและแผ่เมตตา

พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนธรรม ก็คือทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้แหละ ให้เป็นธรรมคือเป็นคุณเกื้อกูลขึ้นมา คือให้ปรับปรุงความรักใคร่ปรารถนาสุขดังกล่าว ให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนและคนซึ่งเป็นที่รักใคร่ในวงแคบของตน หรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่ออกไป ตลอดจนถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ และให้ปราศจากอาฆาตพยาบาท ทั้งให้บริสุทธิ์จากราคะสิเน่หาด้วย เพราะว่าอาฆาตพยาบาทเป็นศัตรูที่ห่างของเมตตา ราคะสิเน่หาเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา ความรักใคร่ที่เป็นธรรมชาติธรรมดาของโลก ย่อมเจือด้วยสิ่งทั้ง ๒ นี้ ส่วนที่เป็นเมตตาอันบริสุทธิ์ย่อมปราศจากสิ่งทั้ง ๒ นั้น ทางปฏิบัติอบรมจึงต้องปฏิบัติอบรมสิ่งที่มีอยู่ เป็นธรรมชาติโลกนี้แหละ ให้เป็นธัมมะ ให้เป็นธรรมขึ้นมา และก็ย่อมเป็นเครื่องคุ้มครองโลก ดังภาษิตที่ว่า “โลโกปตฺถมฺภิกา เมตฺตา เมตตาเป็นธัมมะ เครื่องคุ้มครองโลก” ดั่งนี้ ฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ยกตนเป็นพยานหรือเป็นอุปมา แปลความว่า ตนเองคิดค้นหาด้วยใจไปทั่วทุกทิศ ไม่พบใครว่าจะเป็นที่รักไปกว่าตน ในที่ไหนๆ ตนของคนอื่นทั้งหลาย ก็เป็นที่รักมากของเขาเหมือนอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่รักตนจึงไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น และให้ยกคนที่รักขึ้นเป็นอุปมาว่า พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยเมตตา เหมือนอย่างเห็นคนผู้เป็นที่รักเป็นที่ชอบใจ แล้วเกิดไมตรีจิตมิตรใจรักใคร่ ฉะนั้น พระอาจารย์จึงจับความมาสอนว่า ให้หัดแผ่เมตตาเข้ามาในตนเองก่อนแล้ว จึงแผ่ไปในคนอื่น ตั้งแต่คนที่เป็นที่รัก เพราะจะแผ่ไปง่าย แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นกลางๆ แล้วจึงแผ่ไปในคนที่เป็นศัตรูไม่ชอบใจกัน และให้เว้นคนที่จะก่อให้เกิดราคะสิเน่หา กับคนที่ตายไปแล้ว การแผ่เข้ามาในตนเอง ท่านอธิบายว่า ก็จะต้องมีตนเป็นพยานอ้างอิงดังกล่าวข้างต้น พิจารณาดูก็จะเห็นได้ว่า ตนเองจะต้องมีสุขเพราะมีจิตใจสงบจากอาฆาตพยาบาทเสียก่อน อาฆาตพยาบาทนั้นเหมือนอย่างไฟที่เผาใจตนเองให้ร้อน แล้วแผ่ความร้อนออกไปถึงผู้อื่นด้วย ฉะนั้น ตนเองจึงเป็นบุคคลที่ควรเมตตา และแผ่เมตตาเข้ามาดับไฟที่เผาใจนี้ลงเสียก่อนประพรมลงไปด้วยน้ำคือเมตตา ซึ่งจะเปลี่ยนจิตใจจากภาวะที่ร้อนมาเป็นภาวะที่เย็นสนิทด้วยมิตรภาพไมตรี เมตตาจึงเป็นธัมมะ เครื่องทำใจตนเองให้อยู่เย็นเป็นสุขและแผ่ความเย็นความสุขออกไปถึงผู้อื่นสัตว์อื่นด้วย

พรหมวิหารธรรม

อันเมตตานี้ในบารมีทั้ง ๑๐ ได้เป็นบารมีข้อ ๙ และบารมีข้อต่อไปคือข้อ ๑๐ เป็นข้อครบนั้นก็คือ อุเบกขา และในพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ นั้น ก็มี ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา สำหรับในทศบารมีนั้น ยกขึ้นเพียงข้อเดียวเป็นข้อที่ ๙ คือ เมตตา และข้อ ๑๐ เป็นอุเบกขา จึงเว้นเสีย ๒ ข้อได้แก่ กรุณา และมุทิตา พิจารณาดูแล้วก็จะพึงเห็นได้ว่า อันกรุณาและมุทิตานั้น ก็ย่อมเนื่องกันอยู่กับเมตตานั้นเอง เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะไม่ยกมาแสดง เพราะจะเกิน ๑๐ ข้อไป แต่ว่าก็มีความเนื่องไปถึงกรุณาและมุทิตา ตลอดไปจนถึงอุเบกขาด้วย เพราะฉะนั้น จึงจะได้แสดงข้อกรุณาและข้อมุทิตาอีก ๒ ข้อ รวมเข้าในข้อเมตตานี้ ส่วนข้ออุเบกขานั้นจะไปแสดงในบารมีข้อที่ครบ ๑๐

ความหมายของกรุณา

กรุณาคือภาวะของจิตที่หวั่นไหวไปเพราะความทุกข์ของผู้อื่น เหมือนอย่างถ้าซื้อได้ก็จะซื้อความทุกข์ของเขา คือจะช่วยให้ความทุกข์ของเขาหมดสิ้นไป จึงมีอาการที่ทนเฉยอยู่ไม่ได้ ต้องขวนขวายช่วยเหลือเพื่อบำบัดทุกข์ ปราศจากความคิดเบียดเบียนซ้ำเติม เห็นใครตกอยู่ในความทุกข์ไม่มีที่พึ่ง ก็อดอยู่มิได้ จะต้องคิดช่วย กรุณานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีในจิต วิธีอบรมคือระวังใจไม่ให้คิดเบียดเบียนใคร และหัดใจคิดว่า เมื่อตนเองมีทุกข์ ต้องการความช่วยเหลือฉันใด ผู้อื่นสัตว์อื่นก็ฉันนั้น ดั่งนี้แล้ว ก็หัดใจไม่ให้นิ่งดูดาย ให้ขวนขวายช่วยเหลือเปลื้องทุกข์ของผู้อื่น ตามความสามารถหรือตามที่ควรจะทำได้ หัดแผ่จิตใจที่กรุณานี้ออกไปแก่คนและสัตว์ทั้งหลาย โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไปด้วย คิดว่าจงพ้นจากความทุกข์เดือดร้อน อันที่จริงภาวะของจิตใจที่ต้องการความช่วยเหลือในเมื่อมีทุกข์ ย่อมมีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา แต่ยังเจือด้วยวิหิงสา คือความคิดเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น เพื่อให้ตนพ้นทุกข์ และยังมีโศกโทมนัสในเมื่อได้เห็นทุกข์ของคนผู้เป็นที่รัก เพราะเป็นภาวะของจิตที่คับแคบ ต้องการให้ตนเองและคนผู้เป็นที่รักของตนพ้นทุกข์เท่านั้น พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติอบรมปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละ ให้เป็นธรรมขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตนหรือผู้ที่ตนรัก หรือจำเพาะพวกของตน แต่ให้แผ่กว้างออกไปตลอดจนถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ และให้ปราศจากวิหิงสา ความคิดเบียดเบียนและให้สงบความโศกโทมนัสในเพราะความทุกข์ของคนที่เป็นที่รักด้วย เพราะว่าวิหิงสาเป็นศัตรูที่ห่างของกรุณา ส่วนความโศกโทมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของกรุณาจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ให้ยกตนเป็นพยาน หรือเป็นอุปมาเช่นเดียวกับในข้อเมตตา และให้ยกคนตกยากเป็นอุปมาว่า จึงแผ่จิตถึงคนทั้งปวงด้วยกรุณาเสมือนอย่างเห็นคนตกยากมีความลำบาก ก็เกิดกรุณาขึ้นฉะนั้น และได้มีพระมหาสมณภาษิตแสดงไว้ว่า “มหาปุริสภาวสฺส ลกฺขณํ กรุณาสโห อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้เพราะกรุณา เป็นลักษณะของมหาบุรุษ” ข้อนี้พึงเห็นดังเช่นพระกรุณาที่แสดงเป็นพระคุณลักษณะของพระพุทธเจ้าและพระมหากษัตริย์เจ้า

ความหมายของมุทิตา

มุทิตา คือภาวะของจิตที่บันเทิงยินดี ในเมื่อผู้อื่นได้รับความสุขความเจริญด้วยสมบัติต่างๆ ปราศจากความริษยา เห็นใครพรั่งพร้อมด้วยสมบัติ ก็พลอยมีมุทิตา ตัดความยินร้าย ไม่ยินดี ด้วยเหตุที่ริษยาเสียได้ มุทิตานี้เป็นพรหมวิหารธรรมอีกข้อหนึ่งที่พึงอบรมให้มีขึ้นในจิต วิธีอบรมก็คือระวังใจมิให้ริษยา เมื่อได้เห็นได้ทราบ สมบัติคือความพรั่งพร้อมต่างๆ ของผู้อื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้น ก็พยายามระวังละเสีย หัดคิดว่าตนเองมีความยินดีเมื่อตนได้สมบัติที่ชอบใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ไฉนเมื่อคนอื่นเขาได้จึงจะไปริษยาเขา ควรจะพลอยยินดีกับเขา พิจารณาให้เห็นโทษของความริษยาเช่นว่า “อรติ โลกนาสิกา ความริษยาเป็นเหตุทำลายโลก” เมื่อทำมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นได้ ก็หัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่นสัตว์อื่น โดยเจาะจงหรือโดยไม่เจาะจงทั่วไป โดยคิดว่า จงอย่าวิบัติจากสมบัติที่ได้แล้ว อันที่จริงภาวะของจิตที่ยินดีเวลาได้สมบัติต่างๆ ย่อมมีอยู่ ในเมื่อตนหรือคนเป็นที่รักได้สมบัติเป็นธรรมชาติธรรมดา แต่ยังเจือด้วยริษยาในเมื่อเห็นคนอื่นได้สมบัติ และแม้ในสมบัติที่ตนได้ก็ยังมีโสมนัสที่เจือด้วยตัณหา และบางทีแม้ว่าจะไม่ริษยาในสมบัติของเขา แต่ก็อาจจะมีโสมนัส มีความกระหยิ่ม กระหยิ่มที่จะได้บ้าง พระบรมครูทรงสั่งสอนให้ปรับปรุงภาวะที่มีอยู่แล้วนี้แหละให้เป็นธรรมขึ้น คือให้เป็นคุณอันบริสุทธิ์ ที่เกื้อกูลกว้างขวางออกไป มิให้มีคับแคบเฉพาะตน และเฉพาะผู้ที่ตนรักเท่านั้น แต่ให้กว้างออกไปตลอดถึงไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ โดยให้ปราศจากริษยา ทั้งปราศจากโสมนัสที่เจือกิเลสอิจฉาคืออยากจะได้ด้วย เพราะว่าริษยาเป็นศัตรูที่ห่างของมุทิตา ส่วนโสมนัสเป็นศัตรูที่ใกล้ของมุทิตา ฉะนั้น ก็พึงยกตนขึ้นเป็นพยาน หรือเป็นอุปมา เช่นเดียวกับใน ๒ ข้อข้างต้น และให้ยกบุคคลผู้เป็นที่รักขึ้นมาเป็นอุปมา ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนไว้ว่า “พึงแผ่จิตถึงสัตว์ทั้งปวงด้วยมุทิตา เหมือนอย่างเห็นบุคคลผู้เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ก็บันเทิงยินดีฉะนั้น”

การแผ่พรหมวิหารธรรมโดยเจาะจง

อันการแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ที่ได้แสดงมาแล้วว่า แผ่ไปโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจงนั้น การแผ่ไปโดยเจาะจงเรียกว่า โอทิสผรณา ส่วนการที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงเรียกว่า อโนทิสผรณา อันการแผ่ไปโดยเจาะจงนั้น ก็เช่นเจาะจงไปในบุคคลนั้นในบุคคลนี้ หรือในหมู่นั้นในหมู่นี้ ดังที่ใน ปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งเป็นพระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ มีแสดงยกตัวอย่างของการแผ่ไปโดยเจาะจงและโดยไม่เจาะจง สำหรับการแผ่ไปโดยเจาะจงนั้น ยกเอาคือแผ่ไปในบุคคลหรือในหมู่บุคคลทั้ง ๗ จำพวก คือแผ่ไปว่า ขอให้สตรีทั้งปวงมีความสุข ขอให้บุรุษทั้งปวงมีความสุข ขอให้อริยบุคคลทั้งปวงมีความสุข ขอให้บุคคลผู้ไม่เป็นอริยะทั้งปวงมีความสุข ขอให้เทพทั้งปวงมีความสุข ขอให้มนุษย์ทั้งปวงมีความสุข ขอให้สัตวโลกที่ต่ำกว่ามนุษย์คือที่เป็นดิรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย อันเรียกว่าพวกอบาย หรือรวมเรียกว่าเป็นผู้ที่ตกต่ำทั้งปวงมีความสุข การแผ่จิตออกไปดั่งนี้เรียกว่าแผ่โดยเจาะจง

การแผ่พรหมวิหารธรรมโดยไม่เจาะจง

ส่วนการแผ่ไปโดยไม่เจาะจงนั้น คือการแผ่ครอบไปทั้งหมด ยกตัวอย่างไว้ ๕ จำพวก คือ แผ่ไปว่าสัตว์ทั้งปวงมีความสุข ปราณ คือสัตว์มีชีวิตทั้งปวงมีความสุข ภูตะ คือสัตว์ที่เป็นขึ้นแล้วเกิดขึ้นแล้วทั้งปวงมีความสุข บุคคลทั้งปวงมีความสุข สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องโดยอัตภาพทั้งหมดมีความสุข ดั่งนี้ การแผ่ไปโดยไม่เจาะจงเรียกว่า อัปมัญญาภาวนา คือการอบรมด้วยการแผ่ไปโดยไม่มีประมาณ และในวิธีแผ่นั้นยังได้มีแสดงออกไปอีกว่า แผ่ไปในทิศทั้ง ๑๐ คือแผ่ไป

ในทิศตะวันออก (บูรพา)
ในทิศตะวันตก (ปัจฉิม)
ในทิศเหนือ (อุดร)
ในทิศใต้ (ทักษิณ)
ในทิศน้อยตะวันออก คือตะวันออกเฉียงใต้ (อาคเนย์)
ในทิศน้อยตะวันตก คือตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ)
ในทิศน้อยทิศเหนือ คือตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน)
ในทิศน้อยทิศใต้ คือตะวันตกเฉียงใต้ (หรดี)
ก็คือในทิศที่อยู่ในระหว่างทิศทั้ง ๔ ก็เป็น ๘ ทิศ และ
แผ่ไปในเบื้องล่าง
แผ่ไปในเบื้องบน ก็รวมเป็น ๑๐ ทิศ
และแผ่ไปก็โดยที่ทำจิตใจให้เป็นไปโดยอาการทั้ง ๘ คือ
๑. เว้นความคิดบีฑาย่ำยีข่มเหงสัตว์ทั้งปวง แต่แผ่ไปเพื่อความไม่บีฑา
๒. แผ่ไปเว้นความคิดอุปฆาตเข้าไปทำร้ายสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่มีความคิดเข้าไปทำร้าย
๓. แผ่ไปเว้นความคิดก่อความเดือดร้อนแก่สัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดก่อให้เกิดความเดือดร้อน
๔. แผ่ไปโดยเว้นความคิดครอบงำยึดครองสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดครอบงำยึดครอง
๕. แผ่ไปโดยเว้นความคิดเบียดเบียนสัตว์ทั้งปวง แผ่ไปโดยที่ไม่คิดเบียดเบียน
๖. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ไม่มีเวร อย่าเป็นผู้มีเวร
๗. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์
๘. แผ่ไปด้วยคิดว่า ขอให้สัตว์ทั้งปวงจงมีตนถึงความสุข อย่ามีตนถึงความทุกข์

การแผ่ไปด้วยวิธีดังที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการแผ่ไปในทางที่ถูก และเมื่อยกเมตตาขึ้นเป็นตัวอย่าง การที่แผ่ไปด้วยอาการดังที่กล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นการอบรมเมตตา ใจที่คิดอย่างนี้ชื่อว่าเป็นใจที่มีเมตตา และความพ้นจากอาฆาตพยาบาททั้งปวง ไม่มีอาฆาตพยาบาททั้งปวงบังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ บังเกิดขึ้นในจิตใจ เรียกว่า วิมุตติ ความหลุดพ้น รวมเข้าก็เรียกว่า เมตตาเจโตวิมุตติ คือว่าใจที่คิดดั่งนั้น ชื่อว่าเป็นใจที่มีเมตตา เป็นใจที่หลุดพ้นจากอาฆาตพยาบาททั้งหลาย

เมตตาเป็นธรรมสำคัญที่จะดำรงโลก

การที่ปฏิบัติอบรมเมตตาดังที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้นี้ และแม้ในข้อกรุณาและมุทิตาก็เช่นเดียวกัน ในบารมีข้อนี้ยกเอาเมตตาขึ้นเป็นที่ตั้ง แต่ก็มีกรุณาและมุทิตาประกอบด้วย เมื่อยกขึ้นกล่าวจำเพาะข้อเมตตา ก็จะพึงกล่าวต่อไปได้ว่า เมตตาเป็นธัมมะสำคัญที่จะดำรงโลก ถ้าขาดเมตตาเสียทั้งหมดแล้ว โลกก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ดังจะพึงเห็นได้ตั้งแต่ในส่วนแคบจนถึงส่วนกว้าง บุคคลผู้เกิดมาหากขาดเมตตาของมารดาบิดาเสียแล้ว ก็ย่อมจะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ และไม่ใช่แต่เท่านั้น หากขาดเมตตากรุณาของครูอาจารย์ ของพระมหากษัตริย์และรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปกครองของมิตรสหาย ก็จะอยู่เป็นทุกข์หรืออยู่ไม่ได้ เพราะว่าความเป็นอยู่ของชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น อาศัยความเกื้อกูลต่างๆ และความเกื้อกูลต่างๆ นั้น ส่วนใหญ่ก็บังเกิดจากเมตตาของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้น เมตตานี้เองทำให้ประพฤติเกื้อกูลต่อกัน แต่ถ้าตรงกันข้าม มารดาบิดาก็ขาดเมตตา บุคคลอื่นๆ ดังที่กล่าวมานั้นถ้าขาดเมตตาดั่งนี้แล้ว จะได้ความเกื้อกูลมาจากไหน และไม่ใช่แต่จะไม่เกื้อกูลเท่านั้น เมื่อขาดเมตตาต่อกันก็จะมีแต่โทสะวิหิงสา เป็นเหตุให้ทำร้ายเบียดเบียนกันอีกด้วย ก็จะพากันย่อยยับเข้าสมัยมิคสัญญี

พึงอบรมเมตตาให้เป็นบารมีและพรหมวิหารธรรม

ความเป็นอยู่ของบุคคลที่อยู่เป็นสุขนี้ ก็ย่อมมีความไว้วางใจว่า ไม่มีผู้มุ่งร้าย ไม่มีอันตราย และได้รับความเกื้อกูลด้วยเมตตาจิตจากบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพราะฉะนั้น เมตตาจึงเป็นธรรมสำคัญ การอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ จึงเป็นความสมควรที่พึงกระทำ และก็สามารถที่จะกระทำได้ด้วยการทำใจให้มีเมตตาคือปรารถนาความสุขไปในบุคคลอื่น โดยเจาะจงบ้าง โดยไม่เจาะจงบ้าง ดังที่ได้กล่าจำแนกแจกแจงมาแล้ว เมื่อหัดทำเมตตาจิตอยู่บ่อยๆ และอาศัยสัจจกิริยา คือการตั้งเมตตาไว้ให้มั่นคงดั่งนี้แล้ว เมตตาก็จะสั่งสมตัวเองเป็นบารมี เป็นพรหมวิหารธรรมขึ้นในใจ คือเป็นธรรมที่เป็นเครื่องอยู่ของพรหม

เมตตาบารมี ๓ ชั้น

เมตตาบารมีท่านแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ หนึ่ง เมตตาบารมี คือเมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อประโยชน์แห่งพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่ารักษาคนที่รักและทรัพย์สิน สอง เมตตาอุปบารมี คือ เมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่ารักษาอวัยวะของตนเอง สาม เมตตาปรมัตถบารมี คือ เมตตาของผู้บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณ รักษาปฏิบัติในเมตตายิ่งกว่าชีวิต

อานิสงส์ของเมตตา

เมตตาทุกชั้นที่อบรมนับตั้งแต่ในเบื้องต้น ย่อมจะทำให้จิตใจของผู้มีเมตตาเองนั่นแหละมีความสุข มีความเย็น และเมื่อแผ่ใจเช่นนี้ออกไป ก็ย่อมจะแผ่ความเย็นออกไป กระแสของความเย็นที่แผ่ออกไปนี้ ก็ย่อมจะเข้าถึงจิตใจของบุคคลอื่น สัตว์อื่นได้ และหากว่าเมตตาเป็นธรรมที่มีอำนาจ มีกำลังใหญ่ขึ้นในจิตใจ กระแสของเมตตาก็ย่อมจะแผ่กำลังออกไปได้มาก จนถึงกับที่จะทำให้จิตใจของบุคคลอื่นสัตว์อื่นแม้ที่เป็นศัตรูรู้สึกบังเกิดความเป็นมิตรขึ้น เมตตาจึงเป็นธรรมที่สร้างความสุขให้แก่ทั้งตนเอง ทั้งแก่บุคคลอื่น เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสแสดงอานิสงส์แห่งเมตตาไว้ว่า “หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันเห็นความฝันที่ไม่ดี เป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่รักของอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาย่อมรักษา ไฟ ยาพิษ หรือว่าศัสตราย่อมไม่กล้ำกราย จิตของบุคคลผู้มีเมตตาย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว ผิวหน้าย่อมผ่องใส ไม่หลงทำกาลกิริยา และเมื่อไม่ตรัสรู้ธรรมที่ยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะเข้าถึงพรหมโลก” พระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าถึงอดีตจริยาครั้งเป็นสุวรรณสามดาบสก็มีว่า “เราอยู่กับราชสีห์และเสือโคร่งในป่าใหญ่ได้ด้วยเมตตา ต่างน้อมเมตตาเข้าหากัน บรรดาสัตว์ใดๆ คือราชสีห์ เสือโคร่ง เสื่อเหลือง หมี กระบือ กวางดาว และหมู่ อยู่ในป่า มิได้สะดุ้งกลัวเรา แม้เราก็มิได้สะดุ้งหวาดกลัวสัตว์เหล่านั้น เพราะในกาลนั้น เรามีกำลังเมตตาค้ำจุน จึงยินดีอยู่ในป่า” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้สอนไว้ใน เมตตสูตร ว่า “เมตฺตญฺจ สพฺพโลกสฺมึ มานสมฺภาวเย อปริมาณํ บุคคลพึงอบรมใจให้มีเมตตา ไม่มีประมาณในโลกทั้งสิ้น”

ใน อัปปมัญญา ๔ พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้แผ่ไปด้วยใจ ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ตลอดทิศที่ ๑ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ แผ่ไปอย่างนี้ในเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง ตลอดโลกมีทั้งหมด โดยมีใจแอบแนบทั้งหมด หรือโดยความเป็นตน (รักเหมือนตน) ทั้งหมดในที่ทั้งปวง ในพระพุทธพจน์นี้ เบื้องขวางท่านอธิบายว่า ในทิศน้อยทั้ง ๔

๒๗ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2554    
Last Update : 26 ตุลาคม 2554 9:23:47 น.
Counter : 701 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.