Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๘ สรุปบารมีและราชธรรม

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ในพรรษากาล พ.ศ. ๒๕๓๐ นี้ ได้แสดงนำด้วย ไตรสิกขา แล้วก็ได้แสดง บารมี ๑๐ ข้อ และ ทศพิธราชธรรม ๑๐ ข้อ เป็นคู่กันไปโดยลำดับ เมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็น ๒๐ ข้อ แสดงข้อละวันจนครบ ๒๐ ข้อ วันนี้จะได้กล่าวสรุปและเพิ่มเติมในข้อที่ควรเพิ่มเติม อันรวมอยู่ในบทสรุปนี้

ชั้นของบารมีแบ่งตามสิ่งที่สละ

บารมี ๑๐ นี้ท่านแบ่งออกเป็น บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ซึ่งมีความหายว่า บารมีที่เป็นปกติสามัย และบารมีที่ยิ่งไปกว่าปกติสามัญ และบารมีที่อย่างยิ่งหรือว่าสูงสุด อย่างละ ๑๐ ข้อ จึงเป็นบารมี ๓๐ และหลักในการแบ่งนั้น ตามที่พระอาจารย์ได้แสดงแบ่งกันมา ก็มักแสดงแบ่งโดยถือเอาสิ่งที่สละเพื่อพระโพธิญาณเป็นหลักในการแบ่ง คือสามารถสละทรัพย์และคนที่รัก สิ่งที่รัก เพื่อพระโพธิญาณได้ก็เรียกว่าบารมีสามัญ ปกติสามัญ สามารถสละอวัยวะร่างกายเพื่อพระโพธิญาณได้ก็เป็นอุปบารมี สามารถสละชีวิตได้เพื่อพระโพธิญาณก็เป็นปรมัตถบารมี ตามหลักทั่วไปที่ท่านแสดงนี้ก็เป็นหลักอันหนึ่ง ซึ่งกำหนดเอาสิ่งที่สละนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นแม้เป็นชาดกเรื่องสัตว์ดิรัจฉาน เมื่อสละชีวิตเพื่อพระโพธิญาณได้ ก็ชื่อว่าบำเพ็ญปรมัตถบารมีได้ในชาตินั้น แต่ทว่ามิได้สละชีวิตแล้ว ก็ไม่ชื่อว่าเป็นปรมัตถบารมี แม้ในชาดกเรื่องพระเวสสันดร ซึ่งมุ่งแสดงทาน แต่ว่าพระเวสสันดรนั้นไม่ได้สละชีวิตเพื่อพระโพธิญาณ จึงไม่จัดว่าพระเวสสันดรได้บำเพ็ญ ทานปรมัตถบารมี แต่ว่าในชาดกที่เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ที่สละชีวิตได้ดังที่แสดงเล่ามาแล้ว ก็ชื่อว่าเป็นการบำเพ็ญทานปรมัตถบารมี

มหาปริจจาคะ ๕

และก็น่าวิจารณ์ในสิ่งที่สละดังที่กล่าวมานั้น ใน ปัญจมหาปริจจาคะ คือการบริจาคใหญ่ของพระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ท่านแสดงไว้ว่ามี ๕ คือ

หนึ่ง ธนปริจจาคะ สละทรัพย์
สอง อังคปริจจาคะ สละอวัยวะ
สาม ชีวิตปริจจาคะ สละชีวิต
สี่ ปุตตปริจจาคะ สละบุตร
ห้า ทารปริจจาคะ สละภริยา

ในปริจจาคะทั้ง ๕ นี้ จะเรียงตามลำดับอะไร ถ้าเรียงตามลำดับข้อที่สละง่ายไปหายาก การสละชีวิตก็มาเป็นที่ ๓ การสละบุตรมาเป็นที่ ๔ การสละภรรยามาเป็นที่ ๕ ดูคล้ายกับว่าสละบุตรยากกว่าสละชีวิต และสละภริยาก็ยิ่งยากไปกว่าสละบุตร ในข้อสละภริยาซึ่งเป็นข้อยากนี้ ได้มีธรรมเนียมที่ถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาลหรือในครั้งพุทธกาล ว่าภริยานั้นเป็นกัณฑะที่ไม่พึงแจก ไม่พึงแบ่งให้ใคร ก็รวมถึงว่าไม่พึงสละด้วย เพราะฉะนั้น ก็มักจะขออะไรๆ กันซึ่งเป็นอย่างอื่น แต่ว่าไม่มีการขอภริยาของใคร เช่นดังที่มีเรื่องเล่าว่า มีพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ลักษณะของสิริ คือมิ่งขวัญ จึงเรียกว่า สิริลักขณพราหมณ์ อันสิรินั้นอาจารย์ไทยเรามักแปลกันว่ามิ่งขวัญ แต่ว่าอาจารย์อรรถกถาท่านอธิบายว่า อิสสริยะ คือความเป็นใหญ่ เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ มีความหมายเหมือนอย่างคำว่าที่เราพูดกันว่า โชคดี ความมีโชค ดังได้มีพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า “สิริโภคานมาสโย สิริเป็นที่มานอน คือเป็นที่บังเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของโภคทรัพย์ทั้งหลาย” ทางพุทธศาสนาแสดงว่าสิริดังกล่าวนี้ เป็นวิบาก คือเป็นผลของบุญ หรือของบารมีที่บุคคลได้ทำแล้ว บุญหรือบุญบารมีนี้เป็นเหตุให้ผู้ทำบุญ ผู้บำเพ็ญบารมี มีสิริ หรือศรี ที่เราแปลว่ามิ่งขวัญหรือความเป็นใหญ่ประจำตน และทางพุทธศาสนาก็แสดงว่า เป็นสิ่งที่โจรก็ลักไม่ได้ น้ำไฟเป็นต้นก็ทำอันตรายไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระสูตรหนึ่งเรียกว่า บุญนิธิ หรือ ปุญญนิธิ แปลว่า ขุมทรัพย์คือบุญ อันหมายถึงวิบากคือผลของบุญ ที่จะอำนวยสมบัติต่างๆ ให้ตามควรแก่ประเภทของบุญที่บุคคลได้ทำไว้แล้ว เช่นคนที่ทำทานไว้แล้ว ทานที่ทำนี้ย่อมเป็นบุญ เป็นบุญบารมีที่จะให้เกิดผล เป็นการได้สมบัติต่างๆ การได้สิ่งต่างๆ เมื่อสิ่งที่ให้นั้นเป็นโภคทรัพย์ เช่นให้อาหาร ให้เสื้อผ้า ให้ที่อยู่อาศัย ให้ยาแก้ไข และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ตามที่ผู้รับต้องการ ก็เป็นบุญที่ให้เกิดผล เป็นความที่เป็นผู้ไม่ขัดข้อง ขาดแคลน หรือว่าเพียบพร้อมด้วยโภคทรัพย์ มีอาหาร ผ้านุ่งห่มเป็นต้น ดั่งที่ได้ให้เขาไว้แล้วนั้น ซึ่งผลของบุญอันนี้ย่อมจะบังเกิดขึ้นแก่ผู้ทำบุญไว้แล้วในโอกาสนั้นๆ ผลดีดังที่กล่าวมานี้แหละ เรียกว่า สิริ หรือศรี มิ่งขวัญ หรือความเป็นใหญ่ อันทำให้ผู้ที่มีอยู่ย่อมได้ทรัพย์ต่างๆ มาและเมื่อได้มาแล้ว ก็ย่อมดำรงอยู่ ไม่วิบัติเสียหายไปโดยง่าย หรือแม้ว่าวิบัติเสียหายไปแล้ว ก็ย่อมจะได้มาอีก บุคคลเช่นนี้แหละเรียกว่าเป็นผู้ที่มีสิริหรือมีศรี ดังที่เราเรียกว่ามีโชคหรือมีโชคดีนั้น

พราหมณ์ที่เรียกชื่อว่าสิริลักขณพราหมณ์นั้น ได้คิดถึงเศรษฐีผู้บำรุงพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาลที่ชื่อว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้สร้างพระเชตวันถวายพระพุทธเจ้า ในกรุงสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล และได้บำรุงภิกษุสงฆ์ด้วยอาหารเป็นต้นต่างๆ ได้บำรุงพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดี และท่านเศรษฐีผู้นี้เกรงใจพระพุทธเจ้าว่า ถ้าตนไปถามปัญหาธรรมหรือขอให้พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรด พระพุทธเจ้าจะทรงลำบาก ก็ไม่อยากให้พระพุทธเจ้าทรงลำบากเหน็ดเหนื่อย ท่านก็ไม่ถามอะไร แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบความดำริของท่าน ก็โปรดแสดงธรรมแก่ท่านเศรษฐีในคราวที่สมควรแสดงทุกคราว ท่านเศรษฐีนี้ได้บำเพ็ญทานจนทรัพย์หมดไปคราวหนึ่ง และท่านก็พยายามบำเพ็ญต่อไปด้วยสิ่งที่มีอยู่ อันเป็นของที่ไม่ประณีต เช่นที่เรียกกันว่าข้าวปลายเกรียน ถวายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ ก็กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า บัดนี้ทรัพย์หมด ไม่สามารถจะถวายของดีๆ ได้ ก็ถวายได้แต่ของที่ไม่ดี เท่าที่จะสามารถถวายได้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า “เมื่อเจตนาประณีต สิ่งที่บริจาคนั้นก็ประณีต ถ้าเจตนาไม่ประณีต สิ่งที่บริจาคนั้นแม้จะดีอย่างไร ก็ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเศรษฐีมีเจตนาประณีต สิ่งที่ถวายนั้นแม้จะเป็นของเลวไม่ดีก็ประณีตตามเจตนา” และต่อมาก็บังเอิญทำให้ท่านได้ทรัพย์จากแผ่นดินที่เกิดพังทะลายขึ้นในที่ของท่าน มีทรัพย์ใต้ดินอยู่เป็นอันมาก ทำให้ท่านได้ทรัพย์นั้นมา กลับเป็นเศรษฐีขึ้นอีก แล้วก็ทำบุญต่อไปอีก สิริลักขณพราหมณ์นั้นได้คิดถึงประวัติของท่านเศรษฐีดั่งนี้ จึงคิดว่าท่านเศรษฐีนี้จะต้องมีสิริอยู่ในบ้าน เราควรจะไปหาท่านเศรษฐี คิดหาทางขโมยสิริของท่านเศรษฐีมา เราจะได้มั่งมีบ้าง เป็นเศรษฐีบ้าง จึงได้ไปหาท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ท่านเศรษฐีก็ต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วก็ถามถึงความประสงค์ที่ท่านพราหมณ์ผู้นี้มา ท่านพราหมณ์ก็ตอบว่า ที่บ้านท่านพราหมณ์นั้นมีไก่อยู่ตัวหนึ่ง ขันไม่เป็นเวลา ทำให้ท่านพราหมณ์และพวกศิษย์ลำบาก จึงใคร่ที่จะขอไก่ของท่านเศรษฐี โดยที่เมื่อพราหมณ์เข้าไปในบ้านของท่านเศรษฐีนั้นแล้ว ก็ได้นั่งพิจาณาว่าสิริของท่านเศรษฐีนั้นอยู่ที่ไหน ก็เห็นว่าอยู่ที่หงอนไก่ของท่านเศรษฐี ที่มีสีขาวปลอดเหมือนอย่างสังข์ขัด จับอยู่ที่สุวรรณบัญชร เป็นหน้าต่างทองของท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีเมื่อได้ถูกขอไก่ ท่านก็บอกว่าท่านให้ เมื่อท่านหลุดปากออกไปว่าให้ ศรีก็ออกจาหงอนไก่ไปอยู่ที่แก้วมณี ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงเหนือศีรษะ พราหมณ์นั้นก็ทราบว่าศรีออกจากหงอนไกไปอยู่ที่แก้วมณีนั้นแล้ว ก็ออกปากขอแก้วมณี ท่านเศรษฐีก็บอกว่าให้ ครั้นท่านเศรษฐีออกปากว่าให้อีก ศรีก็ออกจากแก้วมณีนั้นไปอยู่ที่ไม้เท้าอารักษ์ ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูง ท่านพราหมณ์ก็ทราบก็ออกปากขอไม้เท้าอารักษ์ซึ่งตั้งอยู่บนที่สูงนั้น ท่านเศรษฐีก็ออกปากยกให้ เมื่อท่านเศรษฐีออกปากว่าให้ ศรีก็ออกจากไม้เท้าอารักษ์นั้นไปอยู่บนศีรษะของนางปุญลักขณาเทวีซึ่งเป็นภริยาของท่านเศรษฐี พราหมณ์นั้นก็สำนึกขึ้นมาว่า อันภรรยานั้นเป็นภัณฑะที่ไม่พึงแจก ไม่พึงสละยกให้ใครๆ ก็เป็นอันว่าหยุดขอ แล้วก็บอกความจริงแก่ท่านเศรษฐีนั้น แล้วก็ลากลับไป คือท่านแสดงเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นเครื่องสาธกว่า อันสิริหรือศรีนั้นเป็นสิ่งที่ยกให้ใครไม่ได้ ใครก็ขโมยไม่ได้ อยากที่จะยกให้ใครก็ยกไม่ได้ ใครจะมาต้องการขโมยไปก็ขโมยไม่ได้ ไม่เป็นอันตรายหรืออะไรๆ ทั้งหมด และก็ให้คติปฏิบัติอันหนึ่งว่า ภริยานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงแบ่งสละให้ใคร เป็นที่นับถือกันตั้งแต่ในครั้งก่อนพุทธกาลมาจนถึงในครั้งพุทธกาลนั้น แม้นักขอทั้งหลาย ขอสิ่งอื่น แต่ว่าเมื่อถึงภริยาแล้วก็ไม่ขอ เพราะถือเป็นธรรมเนียมกันมา พราหมณ์ก็ถือธรรมเนียมนี้

ในเรื่องพระเวสสันดรนั้น ก็มีเล่าถึงพราหมณ์มาขอ จนถึงชูชกขอพระโอรสธิดาของพระเวสสันดร คือพระชาลี พระกัณหาชินา แต่ว่าก็ไม่ปรากฏว่ามีใครมาขอพระนางมัทรี แต่ก็มีแสดงว่าพระอินทร์ได้แปลงเป็นพราหมณ์มาขอพระนางมัทรี พระเวสสันดรก็ประทานถวายพระอินทร์ พระอินทร์ก็ถวายคืนและก็สั่งว่าอย่าไปให้ใครต่อไป ในเรื่องนี้พระอินทร์มาขอพระนางมัทรีเพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาขอต่อไปดังเรื่องที่เล่าไว้นั้นก็ได้ หรือว่าอาจจะตีความอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ายังมิได้บริจาคภริยา ก็เป็นอันว่ายังไม่ได้บำเพ็ญมหาปริจจาคะครบทั้ง ๕ บริจาคทรัพย์ก็แล้ว อวัยวะก็แล้ว ชีวิตก็แล้ว บุตรก็แล้ว แต่ภริยาก็ยังไม่เคยบริจาค เป็นอันว่าไม่ครบ ๕ และถ้าพระอินทร์ไม่มาขอ ก็อาจจะไม่มีพราหมณ์คนไหนมาขอเพราะว่าพราหมณ์เขาถือคติอันนี้เหมือนกัน เพราะเป็นภริยาแล้วเป็นสิ่งที่ไม่พึงบริจาคสละให้แก่ใคร พราหมณ์ก็ถือกันอย่างนี้ ดังเรื่องที่เล่าเมื่อกี้นี้ ศรีออกจากอะไรต่ออะไรมาอยู่บนศีรษะของภริยาของท่านเศรษฐี แล้วก็พราหมณ์นั้นก็เลยหยุดขอ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงสละบริจาคให้แก่ใคร ไม่ควรจะขอ เพราะอาจจะถือคตินี้ และถ้าไม่มีใครมาขอ พระโพธิสัตว์ก็ยังบำเพ็ญมหาบริจาคไม่ครบ ๕ พระอินทร์จึงได้มาขอพระนางมัทรี เพื่อทำให้พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญมหาบริจาคได้ครบทั้ง ๕ ดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น การเรียงลำดับของมหาปริจจาคะทั้ง ๕ นั้น ทรัพย์ อวัยวะ ชีวิต บุตร ภริยา น่าจะเห็นว่าท่านเรียงมาตามลำดับที่บริจาคง่ายขึ้นไปหายากโดยลำดับ เพราะว่าทรัพย์ก็เป็นของตัวเอง อวัยวะก็ของตัวเอง ชีวิตก็ของตัวเอง เมื่อปลงใจได้แล้วก็ย่อมจะสละได้ แต่ว่าบุตรนั้นเป็นอีกคนหนึ่ง ภริยานั้นเป็นอีกคนหนึ่งข้างนอก และก็เป็นที่รักอย่างยิ่งด้วยกัน เพราะฉะนั้น บริจาคบุตรจึงน่าจะยากกว่า และบริจาคภรรยานั้นนอกจากมีธรรมเนียมว่าห้ามไม่ให้บริจาคสละให้ใครแล้ว ก็ยังเป็นที่รัก แล้วก็บริจาคยากอีกเหมือนกัน จึงได้เรียงไว้เป็นที่สุด ฉะนั้น หากว่าตามนัยยะมหาบริจาคทั้ง ๕ นี้ ก็น่าจะเป็นการจัดบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีได้อีกอย่างหนึ่งคือ ปรมัตถบารมีนั้นน่าจะเป็นขั้นบริจาคบุตร บริจาคภรรยา ถ้าหากว่าถือเอาสิ่งที่สละเป็นเกณฑ์ แต่นี่ก็เป็นข้อที่วิจารณ์ไป

ชั้นของบารมีแบ่งตามภูมิธรรม

แต่ว่าการจัดแบ่งชั้นบารมีตามที่กล่าวมานี้ ถ้าพิจารณาดูแล้ว ก็น่าจะมีหลักที่แบ่งได้อีกอย่างหนึ่ง คือแบ่งตามภูมิธรรม บารมีปกติสามัญนั้น คือบารมที่บำเพ็ญอย่างปกติสามัญ เป็น ปกติบารมี บารมีที่บำเพ็ญได้อย่างยิ่งขึ้นไป เป็น วิเสสบารมี หรือ อุปบารมี บารมีที่บำเพ็ญอย่างยวดยิ่งที่สุดเป็น ปรมัตถบารมี หรือ อติวิเสสบารมี คือว่านอกจากคำว่าบารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมีแล้ว ยังอาจใช้ได้อีกว่า ปกติบารมี วิเสสบารมี อติวิเสสบารมี ดังที่แบ่งคุณนามออกเป็น ๓ ปกติ วิเสส อติวิเสส เช่นว่าดี นี่เป็นปกติ ดีกว่าเป็นวิเสส ดีที่สุดอติวิเสส เพราะฉะนั้น บารมีที่พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญมานั้น ที่บำเพ็ญมาในชาติที่ห่างไกล ทรงเวียนว่ายตายเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง แม้เกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในวรรณต่างๆ เป็นวรรณต่ำก็มี เป็นวรรณสูงหรือเป็นขัตติยะก็มี เป็นพราหมณ์ก็มี และบำเพ็ญมาต่างๆ ซึ่งวิธีที่บำเพ็ญนั้นก็มียิ่งบ้างมีหย่อนบ้าง อย่างที่คนปกติทั่วไปทำความดี มีเหมาะบ้าง ไมเหมาะบ้าง เพราะที่ชื่อว่าดีนั้น จะต้องเป็นอย่างสังคมคุณที่ว่าดีแล้วก็ตรง และก็เป็นธรรม และก็ชอบยิ่ง แต่ว่าการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ในชั้นต้นนั้น ก็ยังไม่ครบลักษณะเหล่านี้ทั้งหมด ก็เป็น ปกติบารมี และเมื่อทรงบำเพ็ญดียิ่งขึ้นๆ เป็นบารมีที่สมบูรณ์มากขึ้น ปรากฏเป็นพระนิสัย อัธยาศัย สันดาน ที่ดีมากขึ้นๆ ๆ ไปโดยลำดับจนใกล้จะเต็มที่ ก็เป็น อุปบารมี และเมื่อเต็มที่ได้ตรัสรู้ นั่นเป็น ปรมัตถบารมี ดังจะพึงเห็นได้ในพระชาติสุดท้ายเมื่อทรงเป็นพระสิทธัตถราชกุมาร โอรสพระเจ้าสุทโธทนะนั้น ก็เรียกได้ว่าทรงเริ่มจับบำเพ็ญบารมี ในเมื่อทรงเห็นเทวทูต ทำให้มุ่งพระโพธิญาณ แต่ว่าความดีที่ทรงบำเพ็ญมาตั้งแต่ประสูตินั้น ก็จัดว่าเป็นบารมีได้ แต่ที่ชัดว่าเพื่อพระโพธิญาณนั้นก็ตอนที่ทรงเห็นเทวทูต แล้วก็ทรงมุ่งพระโพธิญาณแสวงหา โมกขธรรม ก็คือมุ่งพระโพธิญาณ ออกทรงผนวช แล้วก็ทรงแสวงหาทาง ทรงศึกษาในสำนักท่านดาบสทั้งสอง ทรงออกไปบำเพ็ญทุกรกิริยาก็ยังควรนับว่าเป็นบารมีปกติเรื่อยไป จนถึงเมื่อทรงเห็นว่าทางทั้งหมดที่ทรงทำมานั้นทรงดำเนินมานั้นไม่ถูก แล้วก็ทรงหวนระลึกถึงสมาธิจิตที่ทรงได้ คือสมาธิจิตที่ทรงได้เมื่อเป็นพระราชกุมาร ก็ทรงเริ่มจับบำเพ็ญสมาธิจิตอันบริสุทธิ์นั้น ก็ทรงได้สมาธิที่เป็น เอกัคคตา มาถึงขั้นนี้ควรจะเป็นบารมีเรื่อยมาก่อน จนมาถึงขั้นสมาธิที่เป็นเอกัคคตา จึงเริ่มเข้าอุปบารมี ไปจนทรงชนะมาร ทรงได้พระญาณที่ ๑ คือ ปุพเพนิวาสานุสติญาณ พระญาณที่ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ ที่เรียกว่าระลึกชาติได้ ทรงได้ จุตูปปาตญาณ ความระลึกถึงความจุติคือเคลื่อน อุปบัติคือเข้าถึงชาตินั้นๆ ของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม ดังนี้ก็เป็นที่สุดของภูมิบารมี ทรงได้ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ตรัสรู้ นี้เป็นปรมัตถบารมี และเมื่อทรงได้ปรมัตถบารมี คือทรงได้ อาสวักขยญาณ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าแบ่งดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้แบ่งตามหลักภูมิธรรมที่หย่อนและยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

มรรค ๘ เป็นข้อสรุปของบารมี ๑๐ ประการ

และในพระชาติสุดท้ายนั้น การแสดงถึงทางปฏิบัติที่ทรงปฏิบัติมา ไม่ใช้คำว่าบารมี และเมื่อทรงพบทางตั้งแต่ทรงเริ่มจับสมาธิจิตอันถูกต้อง และก็ได้ทรงมี สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อยู่แล้ว ทรงได้ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ อันเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้น จึงได้ทรงให้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ เป็นตัวปัญญา ก็เป็นอันว่าทรงได้ มรรคมีองค์ ๘ ที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงแต่มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็น มัชฌิมาปฏิปทา นี้ ไม่ใช้คำว่าบารมี แต่ว่าผู้ปฏิบัติผู้ศึกษาธรรมก็พึงต้องเข้าใจเอาว่า บารมีนั้นเองมาเป็นมรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็มาจากบารมีต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญมานั่นเอง มาประกอบกันเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้น เมื่อมาเป็นมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้บริบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า นี่เป็นอันว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้นเอง เป็นข้อสรุปของบารมีทั้ง ๑๐ นั้น มาเป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น เมื่อจัดตามภูมิธรรมที่ปฏิบัติพึงเห็นได้ดั่งเช่นที่แสดงมานี้ ข้อสรุปนี้ก็เป็นไปตามการวิจารณ์ธรรม

ราชธรรม ๓ ชั้น

และในส่วนราชธรรมนั้น ก็อาจจะแบ่งการปฏิบัติได้เป็นขั้น ปกติราชธรรม ขั้น วิเสสราชธรรม ขั้น อติวิเสสราชธรรม เช่นเดียวกับบารมีที่แบ่งออกเป็น ๓ ชั้นนั้นได้เหมือนกัน เมื่อปฏิบัติราชธรรมไปโดยปกติสามัญก็เป็นปกติราชธรรม ปฏิบัติไปได้อย่างยิ่งขึ้นก็เป็นวิเสสราชธรรม เมื่อปฏิบัติได้อย่างดีที่สุดก็เป็นอติวิเสสราชธรรม และได้กล่าวเทียบบารมีกับราชธรรมเป็นคู่ๆ ไปแล้วว่า ย่อมเนื่องกันเพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นผู้ทรงบำเพ็ญบารมี ก็ชื่อว่าปฏิบัติในราชธรรมนั้นด้วย และพระราชาผู้ทรงปฏิบัติในราชธรรม ก็ชื่อว่าได้ทรงบำเพ็ญบารมีด้วย เพราะว่าล้วนเป็นข้อธรรมที่ถึงจิตใจทั้งนั้น ทำจิตใจให้สูงด้วยคุณธรรมด้วยกัน ปลูกสันดาน นิสัย อัธยาศัยที่ดีที่บริสุทธิ์ด้วยกัน เพราะฉะนั้น คติของชาวไทยเรามาแต่โบราณ จึงได้มีความนับถือในพระมหากษัตริย์ เหมือนอย่างเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งด้วยเหมือนกัน และท่านผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์เอง ก็ย่อมจะทรงทราบถึงคตินิยมหรือคติพิเศษอันนี้ และมีมากพระองค์ที่ทรงยอมรับในคติปฏิบัติอันนี้ จึงได้มีปรากฏจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อพระโพธิญาณไปด้วยพร้อมกันกับทรงปฏิบัติราชธรรม ดังที่เล่ามาแล้วในข้างต้น ก็เรียกว่าเป็นคตินับถือของคนไทยเรามาตั้งแต่โบราณกาล และเมื่อพิจารณาดูตามเค้าของธรรมทั้ง ๒ หมวดนี้ก็จะเห็นว่า เมื่อปฏิบัติในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในอีกฝ่ายหนึ่งด้วย เช่นปฏิบัติในราชธรรมก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในบารมีด้วย ปฏิบัติในบารมีก็ย่อมปฏิบัติในราชธรรมด้วย และโดยที่เป็นหลักธรรมซึ่งอันที่จริงนั้นเป็นกลางๆ ปฏิบัติได้ทุกคน เพราะฉะนั้น จึงเป็นหลักธรรมที่บุคคลที่ต้องการทำความดีพึงปฏิบัติตามหลักธรรมเหล่านี้ได้ จะปฏิบัติตามหลักธรรมในทศบารมี หรือปฏิบัติตามหลักธรรมในทศพิธราชธรรมก็ได้ เพราะว่าย่อมสันพันธ์กัน ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

ธรรมในบารมีและราชธรรมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

และก็กล่าวโดยสรุปอย่างยิ่งได้ว่า ทุกข้อทั้ง ๑๐ ข้อนั้นต้องสัมพันธ์กันทั้งหมดทั้งบารมีและทั้งราชธรรม จะขาดข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็เป็นอันว่าไม่สมบูรณ์ด้วยกันทุกข้อ เมื่อปฏิบัติในข้อหนึ่ง ก็มีข้ออื่นๆ ประกอบเข้าด้วย ข้อที่ปฏิบัตินั้นจึงจะสมบูรณ์ เช่นปฏิบัติในข้อทานก็ต้องมีอีก ๙ ข้อประกอบเข้าด้วย ข้อทานจึงจะสมบูรณ์และข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน เป็นอันว่าความเป็นปรมัตถบารมีนั้น จะต้องเป็นความสมังคีของธรรมทั้งหมดนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เหมือนอย่างที่เราบริโภคอาหารที่มีอาหารนานาชนิด ก็นำเข้าไปในปาก แล้วก็ต้องเคี้ยว อาหารทุกอย่างนั้นก็รวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จากการเคี้ยวของฟันจนละเอียด รวมกันเข้าแล้วก็กลืนลงไปแล้วก็ย่อยออกไปเลี้ยงร่างกาย ตอนที่ย่อยออกไปเลี้ยงร่างกายนั้นแบ่งไม่ถูกแล้วว่าอันไหนเป็นผัก อันไหนเป็นน้ำพริก อันไหนเป็นแกงส้ม แกงเผ็ดอะไรเป็นต้นเหล่านี้รวมกันหมด เมื่อรวมกันหมดได้ดั่งนี้แหละจึงจะเป็นปรมัตถบารมี เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทำให้เป็นพระพุทธเจ้าได้ เมื่อเป็นพระราชาก็ทำให้เป็นพระราชาผู้ประเสริฐสุดได้ เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปเข้ามาจริงๆ แล้ว ทุกข้อนั้นต้องประมวลเข้ามาทั้งหมดคือต้องปฏิบัติทุกข้อ ให้ทุกข้อมีอยู่ทั้งหมด เมื่อยกข้อใดข้อหนึ่งขึ้นว่า อีกข้ออื่นทุกข้อต้องรวมเข้ามา ต้องมีรวมอยู่ด้วยทั้งนั้น และเมื่อรวมประมวลกันได้อย่างดีที่สุดแล้ว อันนี้แหละที่เป็นสามัญบารมี แล้วก็เป็นอุปบารมี เป็นปรมัตถบารมี หรือเป็นปกติ เป็นวิเสส อติวิเสส ดังที่กล่าวมานั้น

ทุกคนพึงปฏิบัติในบารมีและราชธรรมตามควรแก่ฐานะ

และบารมีและทศพิธราชธรรมนี้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เป็นหลักธรรมที่ทุกๆ คนควรปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งจะเป็นได้ทั้งบารมี และเป็นได้ทั้งทางทศพิธราชธรรม และสำหรับที่ยกเอาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ที่จะต้องทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อเป็นพระพุทธเจ้า ยกเอาพระราชาที่ทรงปฏิบัติในราชธรรมเหล่านี้ ก็เพื่อแสดงถึงธรรมของพระโพธิสัตว์และของพระราชา จึงต้องใช้ว่าโพธิสัตว์บารมีหรือราชธรรม แต่เมื่อทุกคนนำมาปฏิบัติ ก็ชื่อว่าเป็นธรรมของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ได้ตามภาวะฐานะของตน ดังเมื่อได้ประมวลชนออกเป็นฝ่ายผู้ปกครองและฝ่ายผู้อยู่ในปกครอง ฝ่ายปกครองก็ปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรมเหล่านี้ในการปกครองประชาชน ประชาชนผู้อยู่ในปกครองก็ปฏิบัติสนองตามหลักธรรมในทศพิธราชธรรมนี้ ฝ่ายปกครองปฏิบัติในทานคือเป็นผู้ให้ ทางฝ่ายผู้อยู่ในปกครองก็ต้องให้ตอบ ดั่งเช่นที่ฝ่ายปกครองเป็นผู้ให้การอุปการะต่างๆ แก่ประชาราษฎร ในด้านความปลอดภัย ในด้านอาชีพเป็นต้น ฝ่ายที่อยู่ในปกครองก็ต้องเสียภาษีอากรให้แก่ฝ่ายปกครอง แปลว่าต้องมีการให้และการให้ตอบแก่กันและกันดั่งนี้ ดังที่ได้เคยแสดงมาแล้ว แปลว่าทุกๆ คนต้องปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้นจึงจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข และเมื่อเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา แม้ไม่ตั้งความปรารถนาจะเป็นพระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาพระโพธิญาณ ก็พึงปฏิบัติตามหลักบารมีเหล่านี้ ก็จะเป็นบุญบารมี เป็นบุญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญ ซึ่งทุกคนปฏิบัติเท่าไหร่ก็ได้เท่านั้น และชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติพระพุทธศาสนา เข้าถึงพระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อว่าตามหลักธรรมแล้วจึงเป็นของกลางทั่วไป ซึ่งทุกคนควรปฏิบัติตามควรแก่ฐานะของตน

และเนื่องด้วยในปี ๒๕๓๐ นี้ เป็นปีที่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบ ทางรัฐบาลและทางคณะสงฆ์จึงได้กำหนดงานปฏิบัติต่างๆ เป็นการเฉลิมฉลอง และการต่างๆ ที่กำหนดปฏิบัตินั้น ก็เป็นไปเพื่อที่ให้บังเกิดประโยชน์ในทุกๆ ส่วน แล้วก็พร้อมกันที่น้อมใจถวายเป็นพระราชสักการะเทิดพระเกียรติ เป็นพระราชกุศล เพื่อให้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชโอรสธิดา พระราชวงศ์ พร้อมด้วยประเทศชาติศาสนาประชาชนทั้งปวงได้มีความสมบูรณ์พูนสุข มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รักษาเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ประเทศชาติไทยนี้ได้สถิตสถาพรอยู่ด้วยสถาบันทั้ง ๓ นี้ตลอดไป เพราะฉะนั้น ในพรรษากาลนี้จึงได้แสดงหลักของธัมมะอันเกี่ยวข้องกับวโรกาสอันเป็นมหามงคลนี้ คือ ทศบารมีและทศพิธราชธรรมจึงขอให้ท่านทั้งหลายได้กำหนดหลักธรรมเหล่านี้ แล้วนำไปปฏิบัติแล้วเผยแพร่เพื่อให้บังเกิดผล เป็นความดี เป็นความสุข เป็นความเจริญ แผ่ออกไปตั้งแต่ตนเอง แผ่ออกไปถึงผู้อื่น ตามที่สามารถจะทำได้ และเมื่อสามารถทำได้กว้างขวางออกไปเท่าใดก็จะทำให้เกิดความดี เป็นความสุขมากขึ้นเท่านั้น และก็พร้อมกันน้อมถวายเป็นพระราชกุศล เป็นพระพรชัยมงคล

๔ ตุลาคม ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 25 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 25 พฤศจิกายน 2554 9:00:13 น. 0 comments
Counter : 1266 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.