Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๓ อวิหิงสา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ความไม่เบียดเบียนต้องอาศัยกรุณา

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๘ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน

กิริยาที่ไม่เบียดเบียนให้ลำบาก คือความไม่ก่อทุกข์ยากแก่ผู้อื่น ตลอดถึงสัตว์ด้วยเห็นเป็นสนุกของตนเพราะอำนาจโมหะ เช่นทำร้ายคนและสัตว์อื่นเล่น ชื่อว่าอวิหิงสา คนผู้รวมกันอยู่เป็นหมู่ ทั้งผู้ปกครอง ทั้งผู้อยู่ในปกครอง จะอยู่ด้วยกันได้เป็นสุขก็เพราะไม่เบียดเบียนกัน โดยเฉพาะผู้ปกครองถึงจำต้องอาศัยเก็บภาษีอากรจากราษฏรผู้อยู่ในปกครองเพื่อจ่ายบำรุงประเทศ และต้องเกณฑ์กำลังแรงบ้างในคราวที่จำเป็น แต่ถ้าเก็บและเกณฑ์รุนแรง อันเป็นการรีดเกินสมควร ราษฎรผู้อยู่ในปกครองก็เดือดร้อน ระส่ำระสายอยู่ไม่เป็นสุข มีเรื่องครั้งโบราณว่า ผู้อยู่ในปกครองถูกผู้ปกครองเบียดเบียน ต่างอพยพไปอยู่ต่างถิ่นก็มี ความไม่เบียดเบียนจะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัย กรุณา เป็นเบื้องหน้า และอันความไม่เบียดเบียนนี้เมื่อมาคู่กับอักโกธะคือความไม่โกรธ ก็มีความที่ต่างกันอยู่บ้างและสัมพันธ์กันบ้าง

อันอักโกธะคือความไม่โกรธ อันเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๗ ที่ได้แสดงมาแล้วนั้น คือ ความที่ไม่ลุอำนาจต่อความโกรธ อันรวมความถึงโทสะพยาบาทอันจะทำให้ทำร้ายผู้อื่นสัตว์อื่นด้วยอำนาจของความโกรธ ด้วยอำนาจของโทสะ ซึ่งหมายถึงความที่มีเมตตานั้นเอง แต่การที่ไม่ยกเอาเมตตาเป็นที่ตั้งออกหน้า แต่ยกเอาอักโกธะคือความไม่โกรธออกหน้า ก็เพื่อที่จะจี้จุดอันสำคัญของผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งตั้งแต่โบราณกาลมามักจะเป็นผู้ที่ลุอำนาจของความโกรธ เมื่อโกรธขึ้นมาก็มักจะสั่งทำร้ายทารุณต่อผู้ที่ถูกโกรธนั้น ผู้มีอำนาจตั้งแต่โบราณมามักจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึ่งต้องคอยที่จะเอาอกเอาใจเพื่อไม่ให้โกรธ โดยการที่พยายามตามใจต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอำนาจที่ไม่มีธัมมะจึงมักจะเป็นผู้โกรธง่าย สั่งทำร้ายใครง่ายๆ ดังที่ปรากฏมาในครั้งโบราณ เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงธัมมะของผู้ปกครองเพื่อจะจี้ถึงจุดนี้ จึงได้ยกเอาความไม่โกรธขึ้นมาตั้งไว้เป็นหัวข้อ ซึ่งโดยความก็คือความมีเมตตานั้นเองดังที่ได้แสดงมาแล้ว และในข้อนี้ยกเอาอวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนมาเป็นหัวข้อ ก็เพราะว่าบรรดาผู้ปกครองตั้งแต่ในอดีตมา เมื่อมีอำนาจขึ้น แม้ว่าไม่โกรธ แต่ว่าลุอำนาจของความโลภความหลง ไม่ได้พิจารณาให้เหมาะสม ก็สั่งปฏิบัติการต่างๆ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยอำนาจของโลภะบ้าง ด้วยอำนาจของโมหะคือความหลงบ้าง เช่นว่าเมื่อไปที่ไหน เมื่อเห็นสิ่งที่ชอบใจก็มักจะหาทางที่จะนำมาให้ได้เป็นของๆ ตน เช่น จะเป็นทรัพย์สินก็ดี จะเป็นสตรีก็ดี จะเป็นแก้วแหวนเงินทองก็ดี เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงมักจะต้องคอยซ่อนเร้นไม่ให้ผู้ปกครองที่มีอำนาจได้เห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องยกเอาข้ออวิหิงสา ไม่เบียดเบียนขึ้นมาเป็นที่ตั้ง และโดยความก็คือว่าความที่มีกรุณานั้นเอง เพราะความกรุณานั้นตรงกันข้ามกับอวิหิงสา อันได้แก่ความที่สงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ และปฏิบัติช่วยให้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น กรุณาข้อนี้จึงได้ถือเป็นพระคุณอันสำคัญของพระพุทธเจ้าในพระคุณทั้ง ๓ พระคุณทั้ง ๓ นั้นก็ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และ พระกรุณาคุณ พระกรุณาคุณนั้นนับเป็นพระคุณที่ ๓ เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่การที่มีพระกรุณาอันแสดงออก เป็นการเสด็จจาริกไปทรงแสดงธัมมะสั่งสอนโปรดแก่หมู่เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้ ให้ได้ประสบประโยชน์ตามภูมิตามชั้น

พระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชน

และพระมหากษัตริย์ก็มีคำว่า พระมหากรุณาธิคุณ และใช้เป็นคำนำเช่นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ซึ่งคำว่ากรุณานี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ช่วยให้พ้นทุกข์ คือ เป็นการปฏิบัติช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้ทำให้แก่ประชาชนในด้านต่างๆ แสดงออกมาถึงความกรุณา และแม้กรุณานี้ก็ยังเนื่องด้วยเมตตานั้นเอง จะต้องมีเมตตาความมุ่งดีปรารถนาดีเป็นพื้นของจิตใจอยู่ จึงจะมีกรุณาความช่วยให้พ้นทุกข์ซึ่งเป็นการที่แสดงออกมา และมีธัมมะหลายหมวดที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของกรุณา เช่นใน สังคหวัตถุ ๔ ธัมมะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกันนั้น ก็ได้แก่ ทาน การให้ เป็นการเฉลี่ยเผื่อแผ่เจือจานความสุขของตนแก่ผู้อื่น ปิยวาจา เจรจาถ้อยคำอันเป็นที่รักจับใจ อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ และ สมานัตตตา ความวางตนสม่ำเสมอ ไม่เป็นผู้ที่ถือ เข้ากันได้กับหมู่ชนทั้งปวง เพราะฉะนั้น กรุณาจึงตรงกันข้ามกับวิหิงสาคือความเบียดเบียน และอวิหิงสาคือความไม่เบียดเบียนนั้นก็หมายถึงกรุณานั่นเอง

โครงการพระราชดำริแสดงถึงพระมหากรุณา

กล่าวโดยเฉพาะข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้ามีพระราชอัธยาศัยกอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงปรารถนาก่อทุกข์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎรให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่ควรทำ หรือด้วยตั้งพิกัดเก็บภาษีอากรเกินขนาด ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร ดั่งนี้จัดเป็นอวิหิงสา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาดังที่กล่าวมานี้ มีเป็นอันมากซึ่งได้กล่าวมาโดยลำดับแล้ว และวันนี้จะได้นำข้อความบางตอนจากหัวข้อเอกสารวิจัยบทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนการรักษาความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศของนักศึกษาท่านหนึ่ง โดยที่แผนพัฒนาได้มีระบุว่าชนบทล้าหลังเป็นเขตที่มีคนไทยอีกประมาณ ๑๐ ล้านคนที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมด้วยความขาดแคลน ยากจนและยากไร้ อาทิขาดความรู้และปัจจัยในการประกอบอาชีพขาดน้ำในการเกษตรและบริโภค ขาดแคลนที่ดินทำกิน และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดการศึกษาและขาดการสาธารณสุข และถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงแม้การพัฒนาที่ผ่านมากว่า ๒๐ ปีซึ่งได้ทำตามโครงการ ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศดีขึ้น แต่ชาวชนบทไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะการพัฒนาไม่ได้ไปถึงมือของกลุ่มชนเหล่านี้อย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาเหล่านี้ เพราะได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำเสมอมา โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารที่รัฐบาลเองอาจเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเหล่านี้ เสมือนเป็นความสุขทุกข์ส่วนพระองค์ และที่สำคัญพระองค์ไม่ได้ทรงนึกแต่เพียงว่า ทรงเป็นพระประมุขของประเทศโดยนิตินัยหรือตามรัฐธรรมนูญอย่างประมุขประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่พระองค์ทรงระลึกอยู่เสมอว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทย ที่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคนทั่วประเทศ ไม่ว่าเพศวัยศาสนาหรืออาชีพใด และมีหน้าที่จะต้องปกป้องรักษาอธิปไตยและแผ่นดินไทยไว้อย่างสุดกำลัง เหมือนอย่างคนไทยทั่วไป จึงทรงมีพระราชดำริพัฒนากลุ่มชนผู้ยากไร้เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยทรงเน้นการพัฒนาให้เกิดความพออยู่พอกิน พระราชดำริแรกเริ่มที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมหรือโครงการช่วยเหลือประชาชนได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นกิจกรรมตามพระราชดำริกิจกรรมแรกที่อาจจะเรียกได้ว่าโครงการประมงพระราชทาน นอกจากนั้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดมา เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทรงใช้พระราชวังเป็นที่ค้นคว้าทดลองงานทุกด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนา อย่างไรก็ตามผลการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะแรก ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์เท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่มีระบบรองรับการดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์จากโครงการพระราชดำริ จึงได้วางระบบดำเนินงานสนองพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นหลักให้หน่วยงานต่างๆ ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ได้ยึดถือระเบียบดังกล่าวเป็นแนวทางในการบริหารโครงการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการพระราชดำริช่วยรักษาความมั่นคงของชาติ

อาจกล่าวได้ว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาหลักอื่นๆ ของประชาชนยากจนในชนบทโดยที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้มุ่งเน้นการพัฒนาแบบผสมผสาน การพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ การสาธารณสุขและการสาธารณูปการ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ได้มีผลอย่างสำคัญ ทำให้ชาวชนบทมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีบทบาทสนับสนุนต่อการรักษาความมั่นคงของชาติโดยตรงอีกหลายประการ เช่นในกรณีของการใช้ประโยชน์จากแนวคิดของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริในเรื่องของแผนเตรียมพร้อมเพื่อการป้องกันประเทศ การักษาความมั่นคงภายใน ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์อาสาสมัครที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ได้ทันทีในลักษณะหน่วยแพทย์ชั่วคราว ราษฎรผู้ใดที่เจ็บป่วยก็จะโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผู้ป่วยรายใดที่มีอาการหนัก ก็จะทรงขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอนุเคราะห์นำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ โดยจะพระราชทานเงินค่าเดินทางอย่างเพียงพอ ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียแม้แต่น้อย ในการนี้จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกประวัติและอาการคนไข้เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นข้อมูลในการตามผลการรักษาพยาบาลนั้นด้วย คือ ไม่ได้ทรงทอดทิ้งเลย มีการติดตามรักษาจนผู้ป่วยนั้นหายจากการเจ็บป่วยดังกล่าว หากมีการเสด็จไปเยี่ยมวัดซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของชุนชนในชนบทของไทยมาทุกสมัย ก็จะพระราชทานกล่องยากรักษาโรคแก่วัดเพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธและเพื่อช่วยเหลือแจกจ่ายราษฎรผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านนั้นๆ เช่นเดียวกันกับเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ อาสาสมัครในถิ่นทุรกันดาร ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของจำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่บ้าน ทั้งเพื่อเผื่อแผ่แก่ราษฎรในท้องที่ด้วยตามความจำเป็น อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อธิษฐานะนำให้ปฏิบัติอวิหิงสา

ในทศพิธราชธรรมข้อที่ ๘ นี้ก็คืออวิหิงสา ส่วนในทศบารมีข้อที่ ๘ นั้นได้แก่ อธิษฐานะ คือความตั้งใจมุ่งมั่น เมื่อเทียบกันดูแล้ว ถ้อยคำจะต่างกัน ในบารมีคือ อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น แต่ว่าในทศพิธราชธรรมคืออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน ได้แก่กรุณา แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วทั้ง ๒ ข้อนี้ก็ต้องมีความสัมพันธ์กัน อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้น ความตั้งใจมุ่งมั่นในเรื่องอะไร ข้อที่ควรตั้งใจมุ่งมั่นสำคัญก็คือ ตั้งใจมุ่งมั่นในการที่จะมีกรุณา มีความสงสาร ใคร่จะช่วยให้พ้นทุกข์และปฏิบัติการช่วยให้พ้นทุกข์ต่างๆ ให้ประสบความสุขต่างๆ ความกรุณานี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยมีอธิษฐานะ คือความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะกรุณา ซึ่งเป็นการไม่เบียดเบียนหรือจะยกเอาอวิหิงสาขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ก็ต้องมีอธิษฐานะคือความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะไม่เบียดเบียนใคร เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะทำให้เกิดการปฏิบัติไม่เบียดเบียนอันเป็นความกรุณาขึ้นได้ และเพราะความกรุณานั้นเอง ก็ทำให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลืออันเรียกว่าอธิษฐานะอีกด้วย เพราะฉะนั้น อธิษฐานะ หรือ อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น นำให้เกิดกรุณา หรือจะกล่าวว่ากรุณานำให้เกิดอธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่นก็ได้ ก็แปลว่าทั้ง ๒ ข้อนี้จะต้องมีด้วยกัน เมื่อปฏิบัติในบารมีข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น ก็นำให้ปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนหรือกรุณานี้ด้วย หรือเมื่อปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณา ก็เป็นการปฏิบัติในข้ออธิษฐานะ หรืออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนี้ด้วย เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์ผู้ที่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมข้อนี้ คืออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน อันได้แก่พระราชทานพระมหากรุณาแผ่ทั่วไป ก็เป็นอันว่าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีในข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้นด้วย และบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นผู้ปกครองก็ดี เป็นผู้อยู่ในปกครองก็ดี หรือว่าใครๆ ทุกๆ คนเมื่อปฏิบัติในหลักธรรมข้อนี้ คือ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณาดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในหลักธรรมข้อบารมีคืออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้นด้วย และเมื่อปฏิบัติในหลักธรรมข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น ก็เป็นอันนำให้ปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณา ดังกล่าวมาด้วย

๒๕ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ



Create Date : 20 ตุลาคม 2554
Last Update : 20 ตุลาคม 2554 7:14:22 น. 1 comments
Counter : 899 Pageviews.

 
แวะมาเยี่ยมชม ขอบคุณค่ะ.....................


โดย: kingkong0749 วันที่: 20 ตุลาคม 2554 เวลา:10:55:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.