Group Blog
 
All Blogs
 

๓๕. อริยสัจจ์ข้อที่ ๔



หลักพระพุทธศาสนา

๓๕. อริยสัจจ์ข้อที่ ๔

มรรคสัจจ์


อริยสัจจ์ ข้อที่ ๔ ได้แก่ มรรค แปลว่า ทาง ในภาษาไทยใช้ว่ามรรคา แต่ในที่นี้หมายถึงมรรคาคือ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีทางเดียวมิใช่หลายทาง แต่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงองค์ประกอบไว้ ๘ ประการ คือ
๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ ๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

คำว่า ชอบ มิได้หมายความว่า ชอบใจ พอใจ แต่หมายความว่า ถูกต้องไม่ผิดพลาด เหมือนคำว่า เห็นชอบ มิได้หมายความว่าเห็นแล้วก็ชอบใจ แต่หมายความว่าเห็นถูกต้องไม่ผิดพลาด ข้ออื่นๆ ก็มีความหมายอย่างนี้เหมือนกัน มีอธิบายโดยย่อดังนี้

๑. สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ ได้แก่รู้เห็นในทุกข์ ในเหตุให้เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ รวมความว่ารู้เห็นเหตุผลตามเป็นจริง หรือรู้ความจริงตามเหตุผล

๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คำว่า ดำริ คือคิดนึกตรึกตรอง เมื่อคิดถูกก็เรียกว่าดำริชอบ ในที่นี้หมายถึงคิดออกจากความใคร่ใจที่ผิด

๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ มิได้หมายความว่าเจรจาคือพูดตามที่ชอบใจ แต่หมายความว่าพูดจาถูกต้อง หรือเมื่อไม่พูดก็นิ่ง เพราะเว้นเสียจากการพูดที่ผิดพลาด ในที่นี้ได้แก่เว้นจากพูดมุสา เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อไม่มีประโยชน์

๔. สัมมากัมมันตะ การงานชอบ มิใช่หมายความว่าทำการงานอะไรตามที่ชอบใจ แต่หมายความว่าทำการงานถูกต้อง หรือเว้นเสียไม่ทำการงานที่ผิดพลาด ในที่นี้ได้แก่เว้นจากการฆ่า เว้นจากการลักขโมย เว้นจากการประพฤติในทางกาม หรือเว้นจากอพรหมจริยกิจ

๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ มิได้หมายความว่าหาเลี้ยงชีวิตตามที่ชอบใจ แต่หมายความว่าเลี้ยงชีวิตในทางที่ถูกต้อง ในที่นี้ได้แก่เว้นอาชีพที่ผิด ประกอบอาชีพที่ถูก

๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ มิใช่หมายความว่า พยายามตามที่ชอบใจ แต่หมายความว่าพากเพียรพยายามในทางที่ถูกต้อง ได้แก่เพียรระวังความชั่วที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพียรละความชั่วที่เกิดขึ้นแล้ว เพียรทำความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้ดำรงอยู่และให้งอกงาม

๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คำว่าระลึก หมายถึงความกำหนดจดจำ หรือความนึกขึ้นได้อย่างถูกต้อง มิใช่นึกขึ้นได้อย่างผิดๆ ในที่นี้ได้แก่นึกขึ้นได้อย่างถูกต้องในเรื่องของตัวเองเช่นว่าร่างกายเป็นอย่างไร สุขทุกข์เป็นอย่างไร จิตใจเป็นอย่างไร ความดีความชั่วของตนเป็นอย่างไร

๘. สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ มิใช่หมายความว่าตั้งใจตามแต่จะชอบ แต่หมายความว่าตั้งใจไว้อย่างถูกต้อง ในที่นี้ได้แก่ควบคุมใจไม่ให้ฟุ้งซ่าน รวมใจเข้ามาให้กำหนดแน่วแน่อยู่ในหนังสือที่อ่าน ในเรื่องที่ฟัง หรือในเรื่องที่คิด รวมใจให้เพ่งส่องไปทางเดียวเหมือนอย่างไฟฉายที่รวมแสงฉายกราดไปทางเดียว

องค์ประกอบทั้ง ๘ ประการนี้ รวมเข้าเป็นทางเส้นเดียวสายเดียว เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้ ข้อสำคัญขอให้เดินเข้าทางที่ถูกต้องนี้ ถ้าเดินนอกทางนี้ออกไปเมื่อใด ก็ต้องประสบความทุกข์เดือดร้อนเมื่อนั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ทางที่ถูกนี้ไว้ให้ พร้อมทั้งทรงแสดงรายละเอียดประทานไว้อย่างเพียงพอ และเข้าใจได้ง่ายไม่ฟั่นเฝือ

เห็นชอบนั้นอย่างไร

คราวนี้จะลองตั้งปัญหาถาม และจะตอบแทนไปด้วย ถามว่า เห็นชอบ คือเห็นอะไร เห็นแล้วเกิดชอบใจขึ้นใช่ไหม ? เห็นสิ่งของของเพื่อนเกิดชอบใจคิดจะหยิบเอามาเสียเฉยๆ เมื่อเวลาเขาเผลอ เรียกว่าเห็นชอบหรือไม่ ? ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะเห็นชอบคือเห็นถูกต้อง ชอบใจสิ่งของของเพื่อนอยากจะหยิบเอาเสียเฉยๆ เรียกว่า เห็นผิด
ถามว่า ใจหนึ่งอยากจะทำไม่ดีใจหนึ่งคอยห้ามไว้ ใจฝ่ายไหนจะชนะ
ตอบว่า ฝ่ายที่มีกำลังกว่าชนะ เพราะฝ่ายที่มีกำลังกว่านั้นจะลงความเห็นตัดสินว่า จะทำไม่ดีหรือจะยับยั้ง
ถามว่า เรียกว่าเป็นความเห็นผิดหรือเห็นถูก
ตอบว่า ถ้าลงความเห็นให้ทำไม่ดี ก็เป็นความเห็นผิด ถ้าลงความเห็นยับยั้ง ก็เป็นความเห็นถูก
ถามว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ตัวเองว่าเดี๋ยวนี้เรามีความเห็นถูกหรือผิด
ตอบว่า ก็คล้ายการสอบไล่ เมื่อเขียนตอบข้อสอบบางทีนึกว่าถูกเสมอ จึงต้องมีกรรมการตรวจข้อสอบในเรื่องความเห็นก็คล้ายคลึงกัน ก็อาจจะต้องปรึกษาหารือบิดา มารดา ครู อาจารย์ หรือมิตรสหายผู้หวังดี แต่ทางที่ดีควรคิดหาเหตุผล คิดให้เห็นเหตุผลตามเป็นจริง หรือคิดให้เห็นความจริงตามเหตุผล
ถามว่า เหตุผลคืออะไร
ตอบว่า เหตุคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อน ผลคือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาภายหลัง เช่นว่า เมื่อเราทำสิ่งนี้ จะมีอะไรเกิดตามมาทีหลัง การทำของเราเรียกว่าเหตุ สิ่งที่เกิดตามมาเรียกว่าผล
ถามว่า เรียนหนังสือก็ดี ช่วยบิดามารดาทำการงานต่างๆ ก็ดี เป็นการเหน็ดเหนื่อยลำบากไม่สนุกสนาน เป็นเหตุผลหรือไม่ และดีหรือไม่ดี
ตอบว่า การเรียนและการทำงานเป็นเหตุให้เหนื่อยยากในขณะเรียนในขณะทำการงานจริง แต่ก็จะให้เกิดผลดีสมปรารถนาต่อไปในภายหน้า ฉะนั้น จึงได้สู้เหนื่อยยากเล่าเรียนศึกษาและทำการงาน อย่างเช่นนักเรียนทุกคนซึ่งเล่าเรียนอยู่ในบัดนี้ เมื่ออุตสาหะพยายามพร้อมทั้งมีความอดทนเรียนไปจนสำเร็จในอีกหลายปีข้างหน้า จึงจะได้รับผลดีสมปรารถนา ฉะนั้น การที่จะดูว่าอะไรดีไม่ดีจึงต้องดูให้ยืดยาวออกไปให้ถึงปลายทาง มิใช่ดูเพียงครึ่งๆ กลางๆ และไม่มัวพะวงติดอยู่กับสุขทุกข์หรือความสนุกไม่สนุกในระยะสั้นๆ หรือในระหว่างๆ เพราะจะทำให้ก้าวหน้าไปถึงผลเบื้องปลายไม่สำเร็จ คนเราซึ่งเดินทางไปไม่ถึงสุดท้ายปลายทาง ต้องหล่นเรี่ยเสียหายอยู่ในระหว่างทางเป็นอันมากเพราะเหตุต่างๆ ดังเช่นที่เรียกว่า ชิงสุกก่อนห่ามบ้าง ถืออิสระเสรีบ้าง เป็นต้น ก็เพราะเหตุดังกล่าวมานี้ ฉะนั้น การหัดให้เป็นคนมีเหตุผลที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกๆ คน และจะชื่อว่าเป็นคนมีเหตุผล ก็เพราะเป็น สัมมาทิฏฐิ คือมีความเห็นถูก

ทางช่วยให้เกิดความเห็นชอบ

ถามว่า มีทางอะไรช่วยให้เกิดความเห็นถูกได้บ้าง
ตอบว่า มี สัมมาสังกัปปะ ความคิดถูก สัมมาสติ ความระลึกถูก และสัมมาสมาธิ ความตั้งใจไว้ให้ถูก ทั้ง ๓ นี้เอง คือต้องหัดใช้ความคิดพินิจพิจารณาอย่าให้ลำเอียงเพลี่ยงพล้ำไปแก่ความชอบ ความชัง ความหลง หัดระลึกกำหนดให้มีสติอยู่เสมอ หัดทำใจให้ตั้งมั่นมีกำลังแข็งแกร่ง จิตใจของเราทุกคนอาจอบรมให้มีกำลังเข้มแข็งขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แต่ต้องอาศัย สัมมาวายามะ คือความเพียรอันถูกต้อง ทั้งเมื่อพากเพียรให้เกิดมีความเห็นถูกขึ้นได้แล้ว ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะพูดไม่ถูก จะทำการงานไม่ถูก จะประกอบอาชีพไม่ถูก เพราะเมื่อเห็นถูก ก็ต้องพูดถูก ทำถูก เลี้ยงชีพถูก พร้อมกันไป

วิธีคิดหาเหตุผลให้เกิดความเห็นชอบ ควรคิดไม่ให้พ้นหลักอริยสัจจ์ คือตั้งหลักทั่วไปไว้ ๔ หลัก หลักที่ ๑ ทุกข์ หลักที่ ๒ สมุทัย (เหตุให้ทุกข์เกิด) หลักที่ ๓ นิโรธ (ดับทุกข์) หลักที่ ๔ มรรค (ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์) อะไรที่เป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจทั้งหมด จับเข้าหลักที่ ๑ คือทุกข์ อะไรที่เป็นความไม่ดีทั้งหมด จับเข้าหลักที่ ๒ คือสมุทัย อะไรที่เป็นความสุขสงบเย็นทั้งหมด จับเข้าหลักที่ ๓ คือนิโรธ อะไรที่เป็นความดีทั้งหมด จับเข้าหลักที่ ๔ คือมรรค เมื่อคิดตั้งหลักใหญ่ไว้ดังนี้ จะทำอะไรก็คิดตรวจดูให้ดีว่า นี่เป็นสมุทัย ก่อทุกข์ หรือเป็นมรรค ทางสุขสงบ หัดคิดหาเหตุผลดังนี้อยู่เสมอ เป็นการหัดให้เกิด สัมมาทิฏฐิ เห็นชอบ เมื่อเห็นชอบ ก็ชื่อว่าพบทางที่ถูก เข้าทางที่ถูก ใช้ได้ในเรื่องทั่วไป ดังเรื่องเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

เรื่องกุมภโฆสก

ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ ได้มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมารับจ้างเป็นผู้เที่ยวปลุกคนในเวลาเช้า คือตื่นขึ้นแต่เช้าเที่ยวไปเรียกคนให้ตื่นนอนว่า ลุกขึ้นเถิดพ่อ จงเตรียมเกวียน จงเทียมโค ถึงเวลานำช้างม้าเป็นต้นออกไปกินหญ้าแล้ว ลุกขึ้นเถิดแม่ จงหุงข้าว ต้มแกง ดังนี้เป็นต้น ชายหนุ่มนั้นได้รับจ้างไปปลุกเตือนคนให้ตื่นขึ้นทำงานแต่เช้าๆ เป็นประจำทุกวันมา วันหนึ่งพระเจ้าพิมพิสารทรงได้สดับเสียงของชายหนุ่มนั้นได้ตรัสว่า นั่นเป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก ท้าวนางผู้หนึ่งได้ฟังกระแสรับสั่ง จึงส่งคนไปสืบ ผู้ไปสืบนั้นกลับมากราบทูลว่าชายหนุ่มนั้นเป็นคนกำพร้าเข็ญใจรับจ้างเลี้ยงชีวิต พระราชาทรงนิ่ง เมื่อได้ทรงสดับเสียงของเขาก็ตรัสอย่างนั้นอีกบ่อยๆ จนท้าวนางนั้นสงสัย จึงทูลขอพระราชทานอนุญาตพาธิดาออกไปสืบให้ทราบความจริง ได้ปลอมตนนุ่งห่มผ้าเก่าไปกับธิดา แสร้งเดินไปในถนนคนรับจ้างจนถึงหน้าห้องของชายหนุ่มนั้น จึงเข้าไปขอพักด้วยอ้างว่าเป็นผู้เดินทางไกล แม้ชายหนุ่มนั้นจะปฏิเสธเท่าไรก็ไม่ยอมออกจึงจำต้องยอมให้พักด้วย สัญญาว่าเพียงคืนเดียว ครั้นรุ่งขึ้นมารดาและธิดาทั้งสองได้ช่วยกันปรุงอาหารที่มีรสเป็นอย่างดีให้แก่ชายหนุ่มนั้น ทำให้จิตใจของเขาอ่อนลงจนถึงยอมให้คนทั้งสองพักต่อไปอีก วันหนึ่งได้มีประกาศพระราชกำหนดให้ทุกๆ บ้านในถนนคนรับจ้างเล่นมหรสพกันอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องใช้เงิน ๑ กหาปณะ ชายหนุ่มนั้นจึงต้องนำเงินจากที่แห่งหนึ่งมามอบแก่สตรีทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัด เมื่อมีประกาศให้เล่นมหรสพกันอีกก็ต้องไปนำมามอบให้อีก จนสตรีทั้งสองนั้นเห็นว่ามีหลักฐานที่ควรเชื่อได้ว่าชายหนุ่มนั้นเป็นผู้มีทรัพย์ จึงกลับเข้าไปเฝ้าพระราชาทูลขอให้ทรงส่งราชบุรุษไปนำตัวเขามา ก็ได้โปรดให้ทำอย่างนั้น ครั้นเขาไปเฝ้าพระราชาได้รับสั่งถามว่าซ่อนทรัพย์เป็นอันมากไว้ทำไม ทีแรกเขากราบทูลปฏิเสธ ครั้นมองเห็นสตรีทั้งสองยืนเฝ้าอยู่ ก็รู้สึกว่าพระราชาได้ทรงส่งไปสืบจนความเปิดเผยแล้ว จึงกราบทูลขอให้พระราชาทรงเป็นที่พึ่งแล้วกราบทูลเล่าประวัติชีวิตของตนว่า ตนชื่อกุมภโฆสก ได้เป็นบุตรของเศรษฐีในกรุงราชคฤห์นี้ เมื่อเขาเล็กๆ อยู่ได้เกิดวิบัติทั้งตระกูลเพราะอหิวาตกโรค เมื่อบิดาจะตายเพราะโรคนั้นได้สั่งให้เขาหนีออกไป เขาได้หนีออกไปเป็นเวลา ๑๒ ปีจึงกลับเข้ามา ไม่มีใครจำได้ พระราชามีพระราชหฤทัยสงสาร และทรงรู้สึกเอ็นดูโปรดปรานในความมีสติปัญญารู้จักรักษาทรัพย์ทั้งไม่หยิ่งลำพองของกุมภโฆสก จึงโปรดให้นำทรัพย์ที่ซ่อนไว้มาพระราชทานอารักขา พระราชทานเคหสถานและธิดาที่เกิดแต่ท้าวนางนั้น กับพระราชทานฐานันดรแห่งเศรษฐีให้กุมภโฆสกดำรงสืบแทนบิดาต่อไป เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแสดงว่าชายหนุ่มกุมภโฆสกนั้นเป็นผู้มีความเห็นถูก ท้าวนางผู้นั้นซึ่งได้พยายามพิสูจน์ความจริงก็ได้มีความเห็นถูก ทุกๆ ฝ่าย จึงดำเนินในทางที่ถูก ยังผลที่ดีให้เกิดแก่ทุกๆ ฝ่ายแล

มคฺคานฏฺ ฐงฺคิโก เสฏฺโฐ
ทางมีองค์ ๘ เลิศล้ำทางทั้งหลาย


๒ กันยายน ๒๕๐๔


--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 25 สิงหาคม 2553    
Last Update : 26 สิงหาคม 2553 6:20:55 น.
Counter : 787 Pageviews.  

๓๔. อริยสัจจ์ข้อที่ ๓



หลักพระพุทธศาสนา

๓๔. อริยสัจจ์ข้อที่ ๓

นิโรธสัจจ์


อริยสัจจ์ ข้อที่ ๓ ได้แก่ ทุกขนิโรธ ประกอบขึ้นด้วยคำ ทุกข และ นิโรธ แปลว่า ความดับ รวมเป็น ทุกขนิโรธ แปลว่า ความดับทุกข์ ความทุกข์คืออะไรได้แสดงแล้วในอริยสัจจ์กัณฑ์ที่ ๑ พระพุทธเจ้าได้ทรงชี้ให้เห็นได้อย่างง่ายๆ ทุกข้อ เริ่มด้วยทรงชี้ความทุกข์ที่เป็นสภาพธรรมดาของร่างกายว่า ความเกิด ความแก่ ความตาย เป็นทุกข์ แล้วทรงชี้ตรงเข้ามาถึงความทุกข์ที่เกิดจรเข้ามาทั้งแก่จิตใจเช่นความเศร้าโศกเป็นต้น ทั้งแก่ร่างกายเช่นความป่วยไข้ ต่างๆ อันรวมลงในความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักและพลัดพรากจากสิ่งซึ่งเป็นที่รัก รวมลงอีกเป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง รวมลงอีกเป็นชีวิตร่างกายทั้งหมด ฉะนั้นจึงกล่าวอย่างย่อที่สุดว่า ชีวิตทั้งหมดเป็นตัวทุกข์ แต่อย่าเพิ่งเข้าใจว่าทางพระพุทธศาสนามองชีวิตไปในแง่ร้าย เพราะยังมีอริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ต่อไป คือทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ อันได้แก่ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะตัณหาในจิตใจของคนนี้เองทำให้ชีวิตเกิดเป็นทุกข์ขึ้น เพราะชีวิตต้องกลายเป็นทาสของตัณหา ฉะนั้นถ้าไม่มีตัณหาชีวิตก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ ชีวิตก็คงดำเนินไปตามคติธรรมดาของตน ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์อันเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๓ นี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอธิบายว่า ได้แก่ความดับตัณหาเสียได้นี้แหละเป็นความดับทุกข์ ฉะนั้นทางพระพุทธศาสนาจึงมิได้มองในแง่ร้าย แต่มองในแง่ของความจริง ทั้งชี้เหตุกับผลไว้พร้อมเสร็จ ซึ่งทุกๆ คนอาจจะปฏิบัติดับความทุกข์ที่เกิดเพราะตัณหาเสียได้ ด้วยการดับตัณหาที่จิตใจของตนเสีย

เมื่อยังเด็กอยู่ก็ยังไม่ค่อยรู้จักความทุกข์ เพราะยังไม่รู้จักปรารถนาต้องการอะไรมากเหมือนอย่างเด็กเล็ก ๆ เมื่อเลี้ยงดูไม่ให้เกิดความหิวกระหาย เป็นต้น และร่างกายไม่เจ็บป่วยอะไร ก็หลับและตื่นเล่นอย่างสบาย ครั้นเติบโตขึ้นรู้อะไรมากเข้าปรารถนาต้องการอะไรมากเข้าก็เริ่มรู้จักความทุกข์มากขึ้น โดยปกติเมื่อมีความปรารถนาต้องการและยังได้รับความสำเร็จสมปรารถนาอยู่ก็ยังไม่ค่อยรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบความไม่สำเร็จสมปรารถนาคือไม่ได้ดังที่ใจหวังจึงเกิดความทุกข์ขึ้น ถ้ามีความปรารถนาจะได้แรงมากก็เกิดทุกข์มาก แต่ใครเล่าในโลกนี้จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ตนปรารถนาทุกอย่าง บางคนไม่ได้แม้ในสิ่งที่ตนควรจะได้ บางคนได้มาแล้วก็ต้องพลัดพราก และเมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้วความปรารถนาของคนไม่มีอิ่มไม่มีพอ เช่นความปรารถนาในทรัพย์ไม่มีเพียงพอว่าเท่าไร แม้ในสิ่งอื่นก็เหมือนกัน ย่อมมีความปรารถนาเพิ่มขยายออกไปอยู่เสมอ และเมื่อกล่าวโดยส่วนรวม มักพากันปรารถนาในสิ่งที่ไม่อาจจะสำเร็จได้ เช่นปรารถนาให้มีชีวิตยืนยาวเรื่อยๆ ไป เพราะทุกๆ คนมีความรักชีวิตเป็นอย่างยิ่ง และกลัวต่อสิ่งที่จะมาทำอันตรายต่อชีวิต พูดง่ายๆ ว่ากลัวตาย ถ้าจะมีใครบันดาลให้เป็นไปได้สมปรารถนา ก็น่าจะมีคนสมัครไม่ตายกันเป็นส่วนมาก ฉะนั้นจึงต้องมีธรรมดาเป็นผู้จัดให้มีกำหนดอายุขัย จะปล่อยไปตามปรารถนาของคนหาได้ไม่

สันโดษ ๓

มีคนเป็นอันมากเข้าใจว่า ตัณหาคือความดิ้นรนปรารถนาเป็นของธรรมชาติของโลก เพราะถ้าโลกปราศจากตัณหาแล้วก็จะดับสูญ ความเข้าใจดังนี้ยังถูกต้องไม่หมด จริงอยู่โลกเกิดขึ้นด้วยตัณหา ดังมีพระพุทธภาษิตว่า ตณฺหาย อุฑฺฑิโต โลโก โลกอันตัณหาให้เกิดขึ้น และมีพระพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งแปลความว่า ให้อาศัยตัณหา แล้วละตัณหาเสีย พระพุทธภาษิตทั้ง ๒ บทนี้แสดงว่า โลกเป็นผลของตัณหา และบุคคลโดยปกติต้องอาศัยตัณหา แต่การอาศัยนั้น ถ้าให้ตัณหามาเป็นนาย ด้วยบุคคลกลายเป็นทาสของตัณหาเสียแล้ว ก็จะประกอบกรรมเป็นเหตุทำลายโลกได้เหมือนกัน ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้อาศัยตัณหาโดยฐานะที่เป็นนายของตัณหา คือทุกๆ คนจำต้องอาศัยความปรารถนาต้องการ แต่ให้เป็นนายแห่งความปรารถนาของตนเอง คือควบคุมความปรารถนาให้ดำเนินไปโดยชอบ และเมื่อประสบความสำเร็จดังที่ปรารถนาโดยชอบแล้วก็ให้ละทิ้งความปรารถนานั้นเสีย วิธีปฏิบัติดังกล่าวเป็นเรื่องธรรมดานี้เอง มิใช่เป็นเรื่องผิดธรรมดาหรือสูงเกินกว่าธรรมดา เพราะตัณหาคือความปรารถนานี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอิ่มไม่มีพอดังกล่าวแล้ว จะอำนวยตามไปถ่ายเดียวหาได้ไม่ จำต้องควบคุมให้อิ่มให้พอไปคราวหนึ่งๆ เทียบอย่างการบริโภคอาหาร เมื่อบริโภคไปพอสมควรแล้ว ถึงจะยังเอร็ดอร่อยอยู่ก็ต้องให้หยุด ถ้าจะตามใจความอยากเรื่อยไป ก็คงจะท้องแตกตาย ความรู้จักอิ่มรู้จักพอซึ่งเป็นเครื่องสกัดตัณหานี้แหละคือสันโดษ ซึ่งแปลว่าความยินดีพอใจ อันหมายถึงความอิ่มความพอดังกล่าว ท่านจำแนกเป็น ๓ คือ

๑. ยถาลาภสันโดษ ความยินดีตามผลที่พึงได้ หรือตามผลที่ควรได้

๒. ยถาพลสันโดษ ความยินดีตามกำลังสามารถ

๓. ยถาสารุปสันโดษ ความยินดีตามรูปเรื่องของตน คือตามสมควร


ถ้าคนไม่มีสันโดษดังกล่าว ก็จะต้องเป็นทาสของตัณหา ได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ จะทำอะไรก็หักโหมจนเกินกำลังสามารถ ทั้งไม่คำนึงถึงการควรไม่ควร อยากจะทำอะไรก็ทำไปตามปรารถนา ถ้าใครเป็นเช่นนี้ก็จะเลวร้ายไปยิ่งกว่าอะไรๆ ในโลก ความเดือดร้อนในโลกเกิดขึ้นเพราะบุคคลจำพวกนี้ แต่เพราะอาศัยสันโดษซึ่งมีลักษณะดังกล่าวคอยสกัดกั้นไว้ให้มีอิ่มมีพอบ้างแม้ในเรื่องหนึ่งๆ ทั้งคอยสกัดกั้นให้ตัณหาดำเนินไปในทางที่ชอบ จึงเป็นเหตุให้คนที่มีสันโดษประกอบกรรมที่ชอบ และรู้จักอิ่มรู้จักพอ รู้จักมื้อรู้จักคราว โลกจึงอยู่เย็นเป็นสุขเพราะอาศัยสันโดษ จึงควรรู้จักคุณของสันโดษ ถ้าไม่รู้จักคุณของสันโดษ ทิ้งสันโดษเสียเมื่อใด ก็จะร้อนเป็นไฟขึ้นเมื่อนั้น

โลกิยสุขเป็นทุกข์

ความสุขต่างๆ ในทางโลก แม้ความจริงเป็นตัวความทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็เป็นข้อที่เห็นได้ยาก ทั้งในชั้นนี้ก็ยังไม่จำเป็นจะต้องเห็นต้องเข้าใจควรยกขึ้นกล่าวเฉพาะความทุกข์ตามเข้าใจกันเพียงข้อเดียว คือทุกๆ คนคงจะรับรองต้องกันว่าความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก คือเพราะปรารถนาไม่ได้สมหวัง ที่กล่าวดังนี้ อาจจะถูกหาว่าพูดอย่างเอากำปั้นทุบดิน แต่ก็เป็นจริงที่ทุกๆ คนควรจะต้องรับรู้ไว้ และเตรียมป้องกันพร้อมทั้งเตรียมแก้ไขไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นถ้าวิถีชีวิตต้องถูกตัณหาพาไปในทางผิดหวังและเกิดทุกข์ทับถมใจขึ้น ก็อาจจะจนทางของตนเองหาทางออกไม่ได้ ก็จะต้องอับจนต่อชีวิต เป็นผู้พ่ายแก่ชีวิต ดังที่คนมิใช่น้อยประสบกันอยู่

ทางออกจากความทุกข์นั้นคือ ต้องรับรู้ความจริงดังที่กล่าวแล้ว ต้องป้องกันมิให้ถลำลึกลงไปในทางแห่งความทุกข์ คือควบคุมตัณหามิยอมให้ฉุดชักใจไปได้ และถ้าถลำใจลงไปแล้ว ก็ต้องพยายามถอนใจขึ้นให้จงได้ด้วยปัญญา เพราะเมื่อทุกข์เกิดขึ้นที่จิตใจ ก็ต้องดับไปจากจิตใจได้ และจิตใจของทุกๆ คนอาจสมมติกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติกายสิทธิ์ ไม่มีอะไรจะมาทำลายได้ นอกจากจะยอมจนใจของตัวเองเท่านั้น ถ้าทำใจให้เข้มแข็งก็จะเกิดพลังใจขึ้นจนสามารถต่อสู้ต่างๆ ขจัดขับไล่ออกไปให้พ้นจากใจ แต่ข้อสำคัญต้องรับรู้ความจริงว่าจะต้องขับไล่ตัณหาออกไปเสียก่อน ความทุกข์ต่างๆ ก็จะออกไปพร้อมกัน เพราะความดับตัณหาเสียได้นั่นเองเป็นทุกขนิโรธ ความดับทุกข์

เรื่องนางปฎาจารา

การปล่อยให้ความทุกข์ต่างๆ ทับถมใจเข้าทุกทีโดยไม่รู้วิธีที่จะดับทุกข์ดังกล่าว อาจทำให้เสียได้ทุกอย่างแม้เสียจริต ดังมีเรื่องเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า ธิดาของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ได้หนีไปกับพนักงานปฏิบัติของเศรษฐีผู้บิดา ได้พากันไปอาศัยอยู่ในบ้านป่าแห่งหนึ่ง ต้องทำงานเหนื่อยยากต่างๆ ด้วยตนเอง เมื่อจะคลอดบุตรคนแรก ได้เดินทางไปหามารดาบิดา แต่เดินทางไปยังไม่ทันถึง ได้คลอดบุตรเสียก่อน จึงพากันกลับ ต่อมาเมื่อจะคลอดบุตรคนที่สองก็ได้เดินทางไปหามารดาบิดาอีก ในขณะที่กำลังเดินทางไป ฝนตกหนักและนางก็เกิดเจ็บครรภ์จะคลอดบุตร สามีจึงเที่ยวไปตัดไม้เพื่อจะทำเพิงเป็นที่พัก ในขณะที่จะตัดไม้บนยอดของจอมปลวกแห่งหนึ่ง ได้ถูกงูออกมาจากจอมปลวกกัดล้มลงตายในที่นั้น นางคอยสามีไม่เห็นกลับ ได้คลอดบุตรคนที่สองด้วยความทุกข์อย่างยิ่ง ฝนก็กำลังตกหนัก นางให้บุตรคนแรกและบุตรคนที่คลอดใหม่ทั้ง ๒ คนอยู่ภายใต้ตน ทำตนเองเป็นเพิงกันฝนของบุตรทั้ง ๒ ตลอดคืน เมื่อสว่างขึ้นแล้วก็อุ้มบุตรคนหนึ่งจูงคนหนึ่งเดินไปเที่ยวหาสามี พบสามีนอนสิ้นชีวิตอยู่ ก็เกิดความทุกข์โศกอย่างยิ่ง และจำต้องเดินทางต่อไปถึงแม่น้ำหนึ่งซึ่งน้ำกำลังเต็มเพราะฝนตกหนัก ไม่อาจจะพาเด็กทั้ง ๒ ข้ามไปพร้อมกันได้ จึงพักบุตรคนโตไว้ที่ฝั่งข้างนี้ อุ้มบุตรคนเล็กข้ามไปก่อน หักกิ่งไม้ๆ มาปูให้นอนที่ฝั่งข้างโน้น แล้วข้ามกลับมาเพื่อจะรับบุตรคนโต ครั้นข้ามมาถึงกลางแม่น้ำ มีเหยี่ยวใหญ่ตัวหนึ่งบินผ่านมาเห็นบุตรคนเล็ก จึงโฉบลงมาเฉี่ยวเอาไปด้วยสำคัญว่าชิ้นเนื้อ นางยกมือทั้งสองขึ้นตบร้องไล่เหยี่ยว แต่เหยี่ยวก็ไม่ฟัง ได้โฉบเฉี่ยวเอาเด็กน้อยนั้นไป ฝ่ายบุตรคนโตผู้ยืนอยู่ที่ฝั่งข้างนี้มองเห็นมารดายกมือขึ้นตบร้องเสียงดังอยู่กลางแม่น้ำคิดว่าแม่เรียก ก็โดดลงไปในน้ำโดยเร็ว จึงถูกน้ำพัดหายไป นางจึงเกิดทุกข์โศกเพิ่มขึ้นอีกมากมาย เดินร้องไห้คร่ำครวญมุ่งตรงไปกรุงสาวัตถี เพื่อจะไปหามารดาบิดา พบชายคนหนึ่งเดินสวนทางมา ถามทราบว่ามาจากเมืองสาวัตถี จึงถามถึงข่าวมารดาบิดาของตน ชายผู้นั้นจึงบอกว่า ไม่เห็นหรือว่าฝนตกตลอดคืน เมื่อคืนนี้ ในขณะที่ฝนตกหนักนั้น เรือนได้พังทับเศรษฐีพร้อมทั้งภริยาและบุตรสิ้นชีวิตหมดทั้ง ๓ คน เขารวมเผาในเชิงตะกอนอันเดียวกัน ยังเห็นควันปรากฏอยู่นั่น นางได้รับข่าวทุกข์หนักอันเหลือกำลังใจของนางจะทนทานไว้ได้ ก็สิ้นความรู้สึกตัว วิกลจริตขึ้นในขณะนั้นเอง เพราะความทุกข์ทับทวีเข้ามาอย่างมากมาย วิ่งพลางพร่ำเพ้อไปพลางถึงบุตรทั้งสองและสามีมารดาบิดาและพี่ชายซึ่งมาประจวบสิ้นชีวิตในคืนเดียวกัน นางวิ่งไปจนถึงพระมหาวิหารเชตวัน ขณะนั้นพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท พวกคนห้ามไม่ให้นางผ่านเข้าไป พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งมิให้ห้าม และได้ตรัสทักขึ้นเมื่อนางเข้ามาใกล้ว่า จงกลับได้สติเถิด นางก็กลับได้สติขึ้นทันที ได้ถวายบังคมแล้ว กราบทูลขอให้พระองค์ทรงเป็นที่พึ่ง และกราบทูลเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด พระพุทธเจ้าได้ตรัสธรรมีกถาให้นางเห็นคติธรรมดา จนนางคลายความโศก และเกิดดวงตาเห็นธรรม แล้วนางได้ทูลขอบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา ได้ทรงอนุญาต นางจึงได้บวชเป็นภิกษุณีมีชื่อว่า ปฎาจารา ต่อมาได้พิจารณาชีวิตเทียบด้วยน้ำล้างเท้าที่ไหลแห้งหายขาดไป ตัดความรักและตัณหาในชีวิตกับสิ่งทั้งหลายได้ทั้งหมด จึงดับความทุกข์ทั้งปวงในโลกได้ แล

ตสฺสา นิโรโธ นิพฺพานํ
ดับตัณหาเสียได้เป็นความดับทุกข์


๕ สิงหาคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2553    
Last Update : 18 สิงหาคม 2553 4:21:40 น.
Counter : 550 Pageviews.  

๓๓. อริยสัจจ์ข้อที่ ๒



หลักพระพุทธศาสนา

๓๓. อริยสัจจ์ข้อที่ ๒

สมุทัยสัจจ์

อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ได้แก่ทุกข์สมุทัย
คำว่า ทุกขสมุทัย ประกอบขึ้นด้วยคำ ๒ คำ คือ ทุกขะ แปลว่า ทุกข์ กับ สมุทัย แปลว่า เหตุให้เกิด แปลรวมกันว่าเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์คืออะไรได้แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อน จำแนกออกไปหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวสรุปทุกข์ลงเป็น ๒ คือทุกข์ทางกาย ๑ ทุกข์ทางใจ ๑ ทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดาก็มี เกิดขึ้นเพราะกรรมและกิเลสของคนก็มี ทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดานั้นได้แก่เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีแก่เจ็บตาย ทุกข์ประเภทนี้เรียกว่าสภาวทุกข์คือทุกข์ที่เป็นไปตามสภาพธรรมดาจะยกไว้ก่อน จะกล่าวต่อไปเฉพาะทุกข์ที่เกิดเพราะกรรมและกิเลสของคน

ทุกข์ที่เกิดเพราะกรรมและกิเลสของคนได้แก่ความทุกข์ต่างๆ ที่คนเราก่อขึ้นให้เกิดแก่ตัวเราเองและแก่คนอื่น ทุกข์ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียดในที่ทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่นความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดจากการทำร้ายร่างกายและชีวิตของกันและกัน การปล้นสะดมลักฉ้อแย่งชิงทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น รวมความว่า โดยมากเกิดจากการผิดศีล ๕ และเกิดจากการประกอบตนไว้ในอบายมุขต่างๆ ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์เฉพาะตน คือเป็นเรื่องส่วนตน เฉพาะเรื่องเฉพาะรายของแต่ละบุคคลก็มี เป็นความทุกข์ของส่วนรวม คือคนส่วนมากร่วมกันรับทุกข์ด้วยกัน เช่นความทุกข์ยากเดือดร้อนในสมัยที่โบราณเรียกว่าทุพภิกขภัย (ภัยเกิดจากหากินยาก) ที่เรียกกันตามสมัย เช่นว่า เศรษฐกิจตกต่ำ หรือทุกข์ภัยในคราวเกิดสงคราม ทุกข์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นผลซึ่งต้องมีสมุทัยคือ เหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ค้นหาสมุทัยให้ถูกต้อง เพราะเป็นตัวเหตุ เมื่อพบเหตุและแก้ที่เหตุแล้ว จึงจะแก้ความทุกข์ให้ตกไปได้

ยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นความทุกข์ของส่วนรวม อันเกี่ยวแก่เยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่า อะไรเป็นเหตุให้เยาวชนประพฤติเสื่อมเสีย และจะแก้ได้อย่างไร ปัญหานี้จำต้องพิจารณารายละเอียดว่าความประพฤติอะไรบ้างเรียกว่าความประพฤติเสื่อมเสีย เพราะให้เกิดผลอย่างไร และเกิดจากเหตุอะไรบ้าง จึงอาจสรุปเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็น ๓ ชั้นก่อน คือ

๑. ผลเสื่อมเสียต่างๆ ที่เกิดจากความประพฤติอันเสื่อมเสีย

๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดผลเช่นนั้น

๓. สิ่งที่เป็นเหตุชักนำให้เกิดความประพฤติเสื่อมเสียดังกล่าว

ในการค้นหารายละเอียดของประเด็นทั้ง ๓ ข้อดังกล่าว ก็จำต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องประกอบกันไปด้วย เพราะในสังคมมนุษย์นี้ ทุกๆ คนต้องสัมพันธ์กัน ดังหลักทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา คือทุกๆ คนเมื่ออยู่ในที่ใดที่หนึ่งก็ตามย่อมมีทิศทั้งหลายอยู่รอบตัวฉันใด ก็ต้องมีคนที่เกี่ยวข้องกันอยู่รอบตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเทียบบุคคลผู้เกี่ยวข้องกันเหมือนกับทิศ จัดเป็น ๖ ดังนี้ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภริยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย คนรับใช้หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน เยาวชนหรือใครๆ ก็ตามทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นทิศทั้งหลายอยู่รอบตัว และอาจจะแบ่งย่อยเป็นทิศเล็กๆ ลงไปอีกได้เป็นอันมาก ฉะนั้น ถ้าทิศทั้งหลายดังกล่าวไม่ดีเสียโดยมาก ก็ยากที่จะให้ใครๆ ที่อยู่ในระหว่างกลางดีอยู่เพียงฝ่ายเดียวได้ เช่นเมื่อมองไปเบื้องหน้าก็ไม่พบมารดาบิดาที่จะเป็นที่พึ่งยืดเหนี่ยว มองไปเบื้องขวาก็ไม่พบครูอาจารย์ที่จะอบรมแนะนำ มองไปเบื้องหลังก็ไม่พบญาติพี่น้อง (ยกขึ้นแทนบุตรภริยา) ผู้หวังดี มองไปเบื้องซ้ายก็ไม่พบมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มองไปเบื้องล่างก็ไม่พบผู้ที่รับให้ความช่วยเหลือ (ยกขึ้นแทนคนรับใช้) มองไปเบื้องบนก็ไม่พบสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกให้ แต่โดยตรงกันข้าม มองไปทางทิศไหนก็พบแต่โรงหนังโรงละครสถานอบายมุขต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่จะชักนำไปในทางเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุชักจูงกันไปในทางเสื่อมเสียต่างๆ แต่ถ้าทิศทั้งหลายดีอยู่โดยมาก ก็ยากที่จะเสื่อมเสียได้ เช่นมารดาบิดาก็ตั้งตนเป็นมารดาบิดาที่ดีอยู่เบื้องหน้า ครูอาจารย์ก็ตั้งตนเป็นครูอาจารย์ที่ดีอยู่เบื้องขวา ญาติพี่น้องก็ตั้งตนเป็นญาติพี่น้องที่ดีอยู่เบื้องหลัง มิตรสหายก็ตั้งตนเป็นมิตรสหายที่ดีอยู่เบื้องซ้าย ผู้รับให้ความช่วยเหลือทั้งหลายก็ตั้งตนเป็นผู้ช่วยให้กำลังที่ดีอยู่เบื้องล่าง สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ตั้งตนเป็นสมณพราหมณ์ที่ดีอยู่เบื้องบน เมื่อทิศทั้งปวงแข็งแรงอยู่โดยครบถ้วน หรือโดยมาก ผู้ที่อยู่ในระหว่างกลางก็ยากที่จะประพฤติเสื่อมเสียเล็ดลอดออกไปได้ ฉะนั้นในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาวชนแต่ละคน จึงจำต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริง ไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อที่แตกต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้นยังเป็นผู้เยาว์สติปัญญา จำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็กและช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก ส่วนผู้ใหญ่เองซึ่งเป็นผู้มีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอ ย่อมสามารถสร้างทิศของตนได้

ตัณหาสาม

ในการที่บุคคลทุกๆ ฝ่ายทุกๆ คนจะตั้งตนไว้ให้ดีได้ ต้องอาศัยเป็นผู้สามารถปกครองใจของตนได้ดี ไม่ให้เป็นทาสของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ตัณหานี้เอง พระพุทธเจ้าตรัสชี้ไว้ว่าเป็นตัวทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๒ จำแนกเป็น ๓ คือ

๑. กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือด้วยอำนาจกาม คือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

๒. ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่

๓. วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

คำว่าตัณหานี้ มักจะเข้าใจกันไม่ถูกต้อง คือมักเข้าใจว่า เป็นความปรารถนาในทางหนึ่งบ้าง เป็นความอยากหรือความต้องการทุกๆ อย่างบ้าง แต่อันที่จริง คำนี้มิได้มีความหมายแคบหรือกว้างไปทั้งหมดอย่างนั้น ความอยากที่มีเป็นธรรมดาของร่างกาย เช่นความอยากข้าวอยากน้ำ ที่เรียกว่าความหิวกระหาย ความมีฉันทะ คือความพอใจในการศึกษาเล่าเรียน ในการงาน ในการทำความดีต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพากเพียรพยายาม ไม่เรียกว่าเป็นตัณหา แต่ความอยากดังกล่าวที่เป็นไปเกินพอดี หรือความอยากในทางที่ผิด จึงเรียกว่าเป็นตัณหา ความอยากที่เป็นไปเกินพอดีนั้น เช่นการรับประทานอาหารมีประโยชน์สำหรับทะนุบำรุงร่างกายตามที่ร่างกายต้องการ แต่ถ้ารับประทานชนิดกินจุบจิบพร่ำเพรื่อ หรือไม่ได้มุ่งคุณภาพแต่มุ่งอร่อยลิ้น ที่เรียกว่าตามใจปากตามใจท้อง หรือว่ามุ่งหรูหราเพื่อโอ้อวดกัน และเมื่อได้อาหารที่ไม่อร่อยลิ้นก็รับประทานแต่น้อย เมื่ออร่อยลิ้นก็รับประทานเกินประมาณจนต้องทักกันว่าท้องจะแตก ในการเรียน การทำงาน หรือแม้การทำความดีต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน บางคราวมีความตั้งใจแรงก็ทำเกินพอดี เหล่านี้เรียกว่าตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะเป็นความอยากอย่างทะยานหรืออย่างดิ้นรน อีกอย่างหนึ่ง ความอยากในทางที่ผิดต่างๆ เรียกว่าตัณหาทั้งนั้น ในชั้นนี้จึงควรทราบความหมายจำกัดของตัณหาดังกล่าว และควรทราบลักษณะอาการทั่วไปของตัณหาว่ามีลักษณะอาการอยากทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่เสมอ ไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ตัณหาทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่ในอะไรบ้าง ในสิ่งเหล่านี้คือ

ที่ตั้งของตัณหา

๑. ในกาม
คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ คำว่ากามนี้ก็เช่นเดียวกับคำว่าตัณหา มักเข้าใจไม่ถูกต้อง ความหมายที่ถูกต้องนั้นได้แก่อารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทุกๆ อย่างเรียกว่ากาม หรือตัวความรักใคร่ปรารถนาพอใจเองก็เรียกว่ากาม คำว่าอารมณ์นั้น ได้แก่เรื่องต่างๆ ที่ใจคิดนึกหรือที่เก็บไว้ในใจ หรือที่ใจผูกพันอยู่ โดยเป็นรูปต่างๆ ที่เห็นด้วยตา เสียงต่างๆ ที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นต่างๆ ที่ได้สูดดมด้วยจมูก รสต่างๆ ที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น สิ่งต่างๆ ที่ได้สัมผัสถูกต้องด้วยกาย และเรื่องต่างๆ เหล่านั้นอันได้เคยประสบพบผ่านมาแล้วแต่ยังเก็บมาคำนึงนึกถึงอยู่ในใจ เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ดังกล่าวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเรียกว่ากาม ความดิ้นรนทะยานอยากไปในอารมณ์เหล่านั้นเรียกว่า กามตัณหา

๒. ในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่อยากจะเป็นอะไรที่จะเป็นเจ้าของแห่งอารมณ์ที่น่าปรารถนาดังกล่าว ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็นนั่นเป็นนี่ดังกล่าวเรียกว่า ภวตัณหา

๓. ในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือเมื่อเป็นอะไรอยู่ไม่ชอบใจก็ดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะไม่เป็นอย่างนั้น เป็นความอยากในด้านทำลายล้างภาวะที่เป็นอยู่ ตลอดจนถึงอยากตาย เรียกว่า วิภวตัณหา บางคนแปลว่าความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งเป็นการแปลผิด เพราะมิใช่ไม่อยาก เป็นความอยากเหมือนกัน แต่อยากที่จะไม่เป็นอะไรที่ไม่ชอบ เช่นเป็นเด็กอยู่เป็นนักเรียนอยู่เบื่อเป็นเด็กเป็นนักเรียน อยากให้พ้นไปเสียเร็วๆ หรือเป็นคนแก่แต่อยากไม่เป็นคนแก่

ตัณหาทั้ง ๓ ตามที่อธิบายมานี้ สำหรับเยาวชนและคนทั่วไปควรเข้าใจคำจำกัดความดังกล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น จึงไม่ห้ามความอยากจะได้อะไรที่ควรจะได้ จะเป็นอะไรที่ควรจะเป็น จะไม่เป็นอะไรที่ควรจะไม่เป็น เช่นอยากจะได้หนังสือเรียนและเครื่องเรียนเครื่องใช้ตามที่จำเป็น อยากจะเป็นนักเรียนที่ดี อยากจะไม่เป็นคนเหลวไหลเสียหาย แต่ห้ามความอยากที่เกินพอดีแม้ในทางที่ถูกและความอยากในทางที่ผิดๆ ความอยากในทางที่ผิดนั้นคืออยากจะทำในทางที่ผิดศีลธรรมที่เรียกว่าเป็นความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มิได้ทรงซัดความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทรงแสดงชี้ให้เห็นความจริงว่า

๑. ทุกข์ต่างๆ เป็นผล เกิดจาก -

๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ อันเป็นกรรมชั่วของคน ซึ่งเกิดจาก -

๓. ตัณหา ในจิตใจของตนเอง

จึงทรงชี้สมุฏฐานสำคัญของทุกข์ว่าตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหามีอยู่ในจิตใจของใครก็ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นและแก่ผู้อื่น ที่พลอยได้รับความเดือดร้อนเพราะกรรมของผู้นั้น ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือใครๆ ทั้งนั้น

ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ
ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์


๘ กรกฎาคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2553    
Last Update : 10 สิงหาคม 2553 5:23:17 น.
Counter : 418 Pageviews.  

๓๒. อริยสัจจ์ข้อที่ ๑



หลักพระพุทธศาสนา

๓๒. อริยสัจจ์ข้อที่ ๑

ความหมายของคำว่าอริยสัจจ์

หลักธรรม
สำคัญในพระพุทธศาสนา คือหลักอริยสัจจ์ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ เป็นหลักที่สรุปรวมพระพุทธศาสนาทั้งหมด เมื่อเข้าใจหลักอริยสัจจ์ดีแล้วก็เข้าใจหลักธรรมอื่นๆ ได้โดยง่าย ในปลายปีการศึกษาที่แล้วได้แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าตรัสรู้ ตามความในพระสูตรที่ชื่อว่าธรรมจักร แต่ได้เว้นอธิบายอริยสัจจ์ ๔ เพราะกำหนดไว้ว่าจะแยกไปอธิบายกัณฑ์ละ ๑ ข้อ ฉะนั้น จะได้แสดงอริยสัจจ์ข้อที่ ๔ เป็นกัณฑ์เริ่มในต้นปีการศึกษาใหม่นี้ ในเบื้องต้นจะได้ให้คำแปลและนิยามศัทพ์เป็นการทบทวนความจำก่อน

อริยสัจจ์ ประกอบขึ้นด้วยคำ ๒ คำ คือ อริยะ กับ สัจจะ คำว่า อริย แปลกันว่า ประเสริฐ เจริญ ถ้าเป็นคุณบทของบุคคล แปลว่า ผู้ประเสริฐเจริญ ทางพระพุทธศาสนาแบ่งบุคคลเป็น ๒ จำพวก คือ อริยบุคคล ๑ บุถุชน ๑ อริยบุคคล หมายถึงบุคคลผู้ละกิเลสได้ ตั้งแต่บางส่วนจนถึงทั้งหมด มี ๔ จำพวกคือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ( ๓ จำพวกนี้ อาจเป็นคฤหัสถ์ก็ได้) พระอรหันต์ รวมเรียกว่าพระสงฆ์ ซึ่งเป็นสรณะที่ ๓ ส่วนบุถุชนแปลว่าคนกิเลสหนา หมายความว่ายังละกิเลสอะไรไม่ได้ อีกอย่างหนึ่งแปลว่าคนหนาแน่น ความหมายดังกล่าวนั้นหมายความว่ามีจำนวนมาก เพราะมีจำนวนมากมายกว่าอริยบุคคล คำว่า อริย ตรงกับคำสันสกฤตว่า อารยะ เป็นคำเก่าแก่ ตามประวัติศาสตร์อินเดียโบราณแสดงว่า ชาวอารยันได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศอินเดีย ครอบครองชาวพื้นเมืองเดิมที่เรียกว่าทัสยุหรือทาสซึ่งด้อยความเจริญกว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติในราชตระกูลสากยวงศ์ซึ่งเป็นอารยันเผ่าหนึ่ง เมื่อทรงประกาศศาสนาได้ทรงใช้คำนี้เรียกบุคคลผู้บรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาดังกล่าว แม้พระองค์เองก็เรียกว่าพระอริยะด้วย

สัจจะ แปลว่า จริง รวมกันเข้าเป็นอริยสัจจ์ แปลว่าความจริงที่พระอริยะตรัสรู้ ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นอริยะ หรือแปลว่าความจริงที่เป็นอริยะ คือแน่นอนโดยส่วนเดียว อริยสัจจ์มี ๔ ข้อ ดังที่ทราบกันอยู่โดยมาก คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค จะแสดงข้อที่ ๑ ต่อไป

ทุกข์สัจจ์

ทุกข์สัจจ์ ความจริงคือทุกข์ข้อที่ ๑ คำว่าทุกข์ แปลว่าสิ่งที่ดำรงคงทนอยู่ได้ยาก แต่มีความหมายเป็นปฏิเสธว่าดำรงคงทนอยู่ไม่ได้ทีเดียว คือต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย คำว่าทุกข์ตามความหมายสามัญหมายถึงความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ตรงกันข้ามกับความสุข ฉะนั้น เมื่อพูดว่าทุกข์จึงมักเข้าใจตามความหมายสามัญดังกล่าว บางทีกล่าวหาว่าพระพุทธศาสนาสอนให้มองโลกในแง่ร้าย แต่แท้ที่จริงเมื่อแสดงธรรมสามัญก็แสดงทั้งสุขทั้งทุกข์ตามที่เข้าใจกันในโลก แต่เมื่อแสดงธรรมอย่างละเอียดก็ต้องใช้ปัญญาอย่างละเอียด เหมือนอย่างเมื่อมองดูกันด้วยตาโดยปกติก็จะมองเห็นสิ่งต่างๆ อย่างปกติธรรมดา ศิลปวัตถุต่างๆ รวมทั้งเครื่องตกแต่งร่างกายบ้านเรือนก็สำหรับดูกันด้วยตาธรรมดา แต่ถ้าใครมีตาเป็นเอกซเรย์หรือเป็นกล้องจุลทรรศน์ก็จะต้องมองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นอีกอย่างหนึ่ง เช่นแทนที่จะมองเห็นคนเดินไปเดินมา จะต้องเห็นเป็นโครงกระดูกเดินได้เต็มถนนหนทางไปหมด หรือจุลินทรีย์ต่างๆ เต็มไปหมดในที่ทุกแห่ง หรือในขณะที่ไม่ได้ยินเสียงอะไรด้วยหูธรรมดา เหมือนอย่างนั่งอยู่ในที่เงียบๆ คนเดียว แต่ถ้ามีหูรับคลื่นเสียงได้อย่างเครื่องรับวิทยุก็คงจะได้ยินเสียงต่างๆ ทั่วโลก หนวกหูไปหมดวันยังค่ำ สิ่งที่เห็นที่ได้ยินแม้ทางประสาทตาหูเพียงเท่านี้ก็ยังมีหยาบและละเอียดกว่ากันหลายชั้น สัจจะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงก็เช่นเดียวกัน สำหรับที่เป็นชั้นสามัญทั่วไปก็เหมือนอย่างรูปต่างๆ ที่เห็นด้วยตาสามัญ ส่วนที่เป็นชั้นอริยสัจจ์ก็เหมือนอย่างที่จะต้องเห็นได้ด้วยเอกซเรย์หรือกล้องจุลทรรศน์ คือจะต้องมองดูในความหมายอีกอย่างหนึ่งทิ้งความหมายสามัญไว้ก่อนทั้งหมด ดังคำว่าทุกข์ ก็จะต้องวางความเข้าใจอย่างสามัญไว้ก่อน มาทำความเข้าใจใหม่ ว่าคือทุกๆ สิ่งที่ไม่คงทน ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ในทุกขสัจจ์นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอธิบายไว้ให้เห็นอย่างง่ายๆ เป็นหมวดๆ ดังนี้

๑. ทรงแสดงว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์

๒. ทรงแสดงว่า ความแห้งใจ (โสก) ความคร่ำครวญ (ปริเทว) ความทุกข์กาย (เจ็บป่วย) ความโทมนัส ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์แต่ละอย่าง

๓. ทรงแสดงว่า ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ล้วนเป็นทุกข์

๔. ทรงแสดงว่า ความปรารถนาไม่ได้สมหวังเป็นทุกข์

๕. ทรงแสดงทุกข์ทั้งหมดสรุปลงว่า ขันธ์ (กอง) ที่ยึดถือไว้ทั้ง ๕ คือรูป (รูปกาย) เวทนา (ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์หรือกลางๆ ) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความคิดแต่งเป็นเรื่องราวต่างๆ ) วิญญาณ (ความรู้สึกเห็นรูปได้ยินเสียง เป็นต้น) ทั้ง ๕ นี้รวมเรียกนามรูป

ต่อไปนี้ จะได้อธิบายด้วยวิธีแต่งให้เป็นเรื่องว่ามารดาเป็นผู้อธิบายแก่บุตรธิดา ซึ่งมีชื่อว่าเด็กชายสัจจะ และเด็กหญิงสัจจา

ทุกข์ประจำ

ชาติ ความเกิด
บิดานำเด็กทั้งสองไปเยี่ยมมารดา ซึ่งไปคลอดบุตรอยู่ที่โรงพยาบาล เด็กทั้งสองเห็นน้องใหม่ก็รู้สึกตื่นเต้น คล้ายเป็นแขกแปลกหน้า แต่ก็เกิดความรักเอ็นดูพร้อมทั้งระแวงเล็กน้อย บิดาได้พูดชี้แจงว่าน้องเกิดมาใหม่ ทีแรกหนูทั้งสองก็เกิดมาใหม่ เป็นคนแปลกหน้าของพ่อแม่เหมือนกัน แต่พ่อแม่ก็รักเท่าๆ กัน และจะรักน้องที่เกิดใหม่ด้วยเท่าๆ กันทั้งสามคน จะไม่ลดให้น้อยลงแม้สักหน่อยหนึ่งเลย

ชรา ความแก่ บิดาได้นำเด็กทั้งสองไปเยี่ยมสถานสงเคราะห์คนชราที่บางแค เด็กทั้งสองก็ถามว่า คนแก่เหล่านี้มาจากไหน บิดาก็ชี้แจงว่า ก็มาจากคนเกิดนั่นแหละ เหมือนอย่างหนูทั้งสองไปเยี่ยมน้องที่เกิดใหม่ที่โรงพยาบาล ทุกๆ คนทีแรกก็เกิดขึ้นอย่างนั้นก่อน แล้วก็เติบโตกันเรื่อยๆ มา เป็นเด็กเล็ก เด็กใหญ่ เป็นหนุ่ม เป็นสาว เป็นผู้ใหญ่เต็มที่ ตั้งแต่เกิดมาจนถึงตอนนี้เรียกกันว่าวัยเจริญ แต่ท่านเรียกว่าแก่เหมือนกัน คือเรียกว่าแก่ขึ้น มีลักษณะอย่างเดียวกับที่เรียกว่าผลไม้แก่ ต่อจากนี้ก็เป็นแก่ลง อย่างที่เรียกว่าแก่กันโดยทั่วไป

มรณะ ความตาย วันหนึ่งบิดาพาเด็กทั้งสองไปเผาศพญาติ ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เดินผ่านสุสานที่เก็บศพซึ่งสร้างเป็นกุฏิเล็กๆ เรียงกันแถวยาวเหยียด เด็กก็ถามขึ้นว่าอะไรอยู่ในนั้น บิดาก็ตอบว่า ศพ คือคนตายไปแล้วสิ้นลมหายใจ ร่างกายก็กลายเป็นศพ ต้องนำมาเก็บมาเผา เด็กก็ถามว่า ทำไมจึงต้องตาย บิดาตอบว่า ก็เพราะเกิดมานะซิจึงต้องตาย เด็กถามว่า เกิดมาแล้วไม่ตายไม่ได้หรือ ไม่อยากตายเลย บิดาตอบว่า ไม่ได้ เมื่อไม่อยากตาย ก็อย่าเกิดมา เด็กพูดขึ้นว่า ก็เกิดมาแล้ว บิดากล่าวว่า จงตั้งใจเรียนให้เก่ง และเรียนให้รู้อริยสัจจ์ของพระพุทธเจ้าด้วย เวลานี้เลิกพูดเรื่องตายกันเสียที เพราะจะทำให้หมดเรื่อง พูดถึงเรื่องชีวิตกันต่อไปก่อนดีกว่า

ทุกข์จร

ความเศร้าโศก ฯลฯ
วันหนึ่งบิดามารดาพาเด็กทั้งสองไปดูภาพยนตร์ เมื่อกลับมาแล้ว เด็กชายสัจจะถามว่า ทำไมจึงต้องมีผู้ร้ายมีคนโกงมาคอยก่อเรื่องขัดขวางทำให้ต้องต่อสู้จนรู้สึกตื่นเต้นหวาดเสียว บางตอนก็เป็นเรื่องพลัดพรากผิดหวังทำให้ใจเศร้าไม่สนุก บางตอนก็จืดเบื่อรำคาญ บิดาตอบว่า เรื่องของภาพยนตร์โดยทั่วๆ ไปก็คล้ายเรื่องของชีวิตในโลก ซึ่งมีทั้งคนดีคนชั่ว มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งผิดหวังและสมหวัง แต่คนดีในเรื่องก็มักจะต้องต่อสู้อย่างมากมายจึงจะสมหวังในที่สุด ทุกๆ คนที่ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกจึงจำต้องมีกำลังกายกำลังใจเข้มแข็งอดทนเพื่อผจญอุปสรรคอันตรายต่างๆ เมื่อยังเป็นเด็กซึ่งมีพ่อแม่อุปถัมภ์อยู่ก็ยังไม่รู้สึกว่าจะต้องผจญกับอะไรนัก ถึงอย่างนั้นก็ต้องรักษาร่างกายให้มีสุขภาพอนามัยเพื่อต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ เด็กที่มีความประพฤติเสียหายก็เพราะมีกำลังใจที่จะเหนี่ยวรั้งไม่เพียงพอ เด็กชายสัจจะถามขึ้นอีกว่า ชีวิตจริงๆ ก็คล้ายกับเรื่องในภาพยนตร์นั้นหรือ บิดาตอบว่า เรื่องในภาพยนตร์เป็นชีวิตเล่น ไม่ใช่ชีวิตจริง คนแสดงรับจ้างมาแสดงไปตามเรื่องที่แต่งขึ้นด้วยมุ่งจะจูงใจคนให้มาดูกันมากๆ คือมุ่งผลทางการค้า ไม่ค่อยจะได้คำนึงถึงทางศีลธรรม ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นแก่ชีวิตเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เป็นเรื่องเล่น เกิดขึ้นตามเหตุการณ์ต่างๆ เหมือนอย่างที่ทุกๆ คนบางคราวก็หน้าตาชื่นบาน บางคราวก็นั่งหน้าเศร้า เด็กหญิงสัจจาพูดขึ้นบ้างว่า เห็นเพื่อนๆ ที่ ร.ร. บางคนดูเศร้าโศกร้องไห้ บางคนลาป่วย บางคนบ่นเสียใจหรือคับใจ เห็นจะต้องมีเรื่องอะไร บิดากล่าวว่า ก็ต้องมีเรื่องซิ เรื่องของแต่ละคน แต่ละครอบครัวคงมีมากมาย แต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปลงว่าความทุกข์ของจิตใจทุกอย่างมีเพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ

๑. ประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจ
๒. พลัดพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจ

ทั้ง ๒ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเป็นข้อเดียว คือ ปรารถนาไม่สมหวัง บิดาได้กล่าวต่อไปอีกว่า นี่แหละเมื่อเกิดมาในโลก มีชีวิตร่างกายเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว ก็ต้องเผชิญโลกที่มีความทุกข์ยากต่างๆ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสรุปในที่สุดอีกโดยย่อว่า ทุกข์ก็คือขันธ์ที่ยึดถือไว้ทั้ง ๕ พูดง่ายๆ ว่าความทุกข์ทั้งปวงรวมอยู่ที่ชีวิตร่างกายตัวตนเราเอง

มารดาของเด็กทั้งสองได้กล่าวขึ้นบ้างว่า ความทุกข์ต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกไว้เป็นความจริง และเข้าใจได้ง่าย แต่อยากจะสรุปให้ฟังอีกอย่างหนึ่งว่า สรุปลงเป็น ๒ หมวด คือ

๑. ความทุกข์ที่มีขึ้นเองตามธรรมดาของร่างกาย (สภาวทุกข์) ได้แก่ความเกิด แก่ ตาย

๒. ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจในบางครั้งบางคราว (ปกิณณกทุกข์) เช่น ความเศร้าโศก เป็นต้น

แต่พูดกันมาถึงเรื่องทุกข์ จะทำให้เด็กๆ ใจคอห่อเหี่ยวหมดความชื่นบาน คล้ายไปอยู่อีกโลกหนึ่งซึ่งล้วนมีแต่ความทุกข์ จะเป็นโลกนรกกระมัง บิดาตอบว่า ไม่ใช่โลกนรก แต่เป็นโลกของความจริง แต่ที่ถูกจะต้องพูดว่าเป็นความจริงของโลก ซึ่งจะเห็นได้ถนัดจะต้องใช้ตาเอกซเรย์หรือตากล้องจุลทรรศน์ ดูอะไรๆ เห็นอย่างดูด้วยเอกซเรย์หรือกล้องจุลทรรศน์ก็จะต้องเห็นไปอีกอย่างหนึ่ง ทะลุความสวยงามต่างๆ ที่เป็นเปลือกนอก เพราะเห็นเข้าไปอย่างลึกซึ้ง หรือเห็นสิ่งที่เล็กที่สุดอันไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เมื่อไม่รู้สึกสนุกก็เลิกดูเอกซเรย์กันเสียที มาดูกันด้วยตาธรรมดา คราวนี้จะเห็นโลกแห่งสวรรค์หรือโลกแห่งนรกกันด้วยตาธรรมดานี้เอง คือในที่ใดไม่เบียดเบียนกัน ช่วยเหลือกัน อยู่ด้วยกันมีความสุข ก็เรียกว่าเป็นโลกสวรรค์ ส่วนในที่ใดเบียดเบียนกัน ไม่ช่วยเหลือกัน พากันอยู่เป็นทุกข์เดือดร้อนเช่นอย่างในคราวสงคราม ก็เป็นโลกนรก ฉะนั้น ความทุกข์ยากต่างๆ ในโลกซึ่งเกิดจากการก่อกรรมทำเข็ญของคนเราเอง พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงว่าเป็นทุกขสัจจะ ความจริงคือทุกข์อย่างหนึ่งซึ่งเกิดจากความทุจริตของตน ทำให้โลกนี้เป็นนรกขึ้น อย่างในครอบครัวของเรานี้ ถ้าพ่อแม่ประพฤติตัวไม่ดี ไม่บำรุงเลี้ยงลูกตามหน้าที่ของพ่อแม่ที่รักลูก ลูกๆ ก็จะต้องเดือดร้อน จะต้องไปนั่งเศร้าในโรงเรียน เหมือนอย่างเพื่อนบางคนที่เล่าเมื่อกี้นี้ ในชั้นเด็กๆ นี้ยังไม่จำเป็นจะต้องไปนึกถึงความทุกข์ต่างๆ ในอริยสัจจ์ นึกถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากความประพฤติไม่ดีเท่านั้นก็เพียงพอ คือให้รู้สึกว่าถ้าประพฤติไม่ดีจะเกิดความทุกข์เดือดร้อน ต้องตั้งใจประพฤติตนให้ดี ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และไม่คบคนประพฤติชั่ว เพราะจะชักนำให้ประพฤติเสียหายไปตามกัน ส่วนเด็กที่โตๆ ขึ้นมากแล้วหรือผู้ใหญ่ก็ควรจะใช้ตาเอกซเรย์ดูโลกเสียบ้างเป็นครั้งคราว เหมือนอย่างไปฉายเอกซ์เรย์เพื่อตรวจสอบร่างกาย หรือเพื่อทราบว่าเป็นโรคอะไรอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็รักษาตนให้ถูกต้องไม่ได้ ฉันใดก็ดี จะรักษาแผลทางจิตใจได้ ก็จำต้องดูให้เห็นทุกขสัจจ์ของโลกดังที่กล่าวมา จนถึงปลงใจได้ตก เพราะทุกๆ คนจะหวังว่าจะได้รับสุขของโลกเสมอไปหาได้ไม่ ยิ่งหวังมากก็อาจจะได้รับทุกข์เพราะผิดหวังได้มาก จึงน่าจะคิดให้เรื่องทั้งหลายผ่านจบไปเป็นเรื่อง ๆ อย่างดูภาพยนตร์ และให้เห็นว่าเรื่องในชีวิตจริงที่ผ่านไปก็ผ่านไปเหมือนเรื่องเล่นในภาพยนตร์ ไม่ยึดถือไว้เป็นจริงจังในเรื่องที่ไม่จริงจัง อันเรื่องที่จริง ก็คือทุกข์สัจจ์ ความจริงคือทุกข์ ได้แก่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เรื่อยๆ เท่านั้น

สพฺพสฺส ทุกฺขจสฺส สุขปฺปหานํ
ละทุกข์ทั้งปวงได้เป็นสุข


๓ มิถุนายน ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2553    
Last Update : 3 สิงหาคม 2553 5:02:19 น.
Counter : 572 Pageviews.  

๓๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้



หลักพระพุทธศาสนา

๓๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร


พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา ได้มีหนังสือหลายเล่มเขียนแสดงเรื่องนี้ เฉพาะบางเล่ม เช่นพุทธประวัติเล่ม ๑ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ของรัชกาลที่ ๖ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เรื่องพระพุทธศาสนา และพระรัตนตรัย ส่วนที่เป็นหนังสือสำนวนเก่าเช่น ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับหนึ่ง พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ฉบับหนึ่ง ส่วนพระสูตร (คือเรื่องพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่พระอาจารย์ดั้งเดิมได้ร้อยกรองไว้ อ้างว่าได้สดับฟังมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง) เล่าถึงพระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องความตรัสรู้ของพระองค์เอง ได้มีหลายพระสูตร พระสูตรแรกที่สุดคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าหมุนจักรคือพระธรรม (ล้อธรรม) ให้แล่นไป) พระสูตรนี้เป็นปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ (พวกพระ ๕ รูป) ซึ่งจะถือเป็นหลักแสดงในกัณฑ์นี้

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” มีคำที่เป็นเสมือนคำตอบหลายคำ เช่น “พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม” “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์” “พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ” หรือคำเต็มว่า “ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” คำเหล่านี้ถูกต้องทั้งนั้น แต่เป็นคำตอบที่กว้างอย่างไม่ผิดเหมือนอย่างถามว่ารู้อะไร ก็ตอบว่ารู้วิชา ยังมีปัญหาต่อไปอีกว่า วิชาอะไร และคำตอบนั้น ก็ยังเป็นคำศัพท์อยู่ แปลไม่ออก ไม่รู้ความหมาย ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง ฉะนั้น จะอธิบายความหมายของคำศัพท์ในคำตอบสั้นๆ นั้นก่อน เพราะเป็นคำที่จะต้องพบเสมอในหนังสือพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม

คำว่า ธรรม แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ คือดำรงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง คำนี้ใช้ในความหมายมากมาย เฉพาะในที่นี้ ท่านว่าหมายถึงสัจจะ คือความจริง เพราะความจริงที่เป็นความจริง มิใช่เป็นของเท็จของปลอม ย่อมทรงหรือดำรงความจริงอยู่เสมอ ความจริงที่แน่แท้ จึงมีลักษณะของธรรม คือทรงหรือดำรงอยู่นั่นเอง และคำว่าสัจจะที่แปลว่าความจริง ก็แปลตามศัพท์ว่าสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ อันสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้ก็ต้องเป็นสิ่งที่ทรงตัวหรือดำรงตัวอยู่ได้เหมือนอย่างชีวิต ทรงชีวิตหรือมีชีวิตก็หมายถึงยังเป็นอยู่ยังไม่ตายเช่นเดียวกัน ฉะนั้นธรรมจึงได้แก่ความจริง เรียกควบกันเป็นศัพท์ว่าสัจจธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม คือตรัสรู้ความจริง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์

คำว่าอริยะ ตรงกับคำว่าอารยะ แปลกันว่า ประเสริฐ อริยสัจจ์ แปลว่าความจริงอย่างประเสริฐ (คือจริงอย่างแน่แท้หรือแน่นอน) ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นพระอริยะ (ผู้ประเสริฐ) ความจริงที่พระอริยะพึงรู้ ความจริงของพระพุทธเจ้าผู้อริยะ ข้อนี้เท่ากับเป็นข้ออธิบายของข้อก่อน คือข้อก่อนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมคือความจริง ข้อนี้ชี้ลงไปชัดว่าธรรมคือความจริง (สัจจธรรม) ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คืออริยสัจจะ ไม่ใช่สัจจะทั่วๆ ไปของบุถุชน (คนที่ยังหนา)

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ

คำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ ญาณ แปลว่า หยั่งรู้ ทั้ง ๒ คำแปลว่ารู้ ด้วยกัน แต่โพธิมีความหมายสูงกว่า รวมกันว่าโพธิญาณ แปลว่า ญาณคือความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เมื่อแปลเข้าก็คงซ้ำๆ กันว่า ตรัสรู้พระญาณคือความตรัสรู้ มีความหมายว่ารู้จนตรัสรู้ความจริงแจ่มแจ้งหมดทุกอย่าง สัจจธรรมหรืออริยสัจจ์แจ่มแจ้งอยู่ในความรู้อันเรียกว่า พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณจึงมีความหมายง่ายๆ ว่าตรัสรู้ความรู้ในสัจจธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

คำว่า อนุตตระ แปลว่า อย่างยิ่ง ไม่มียิ่งกว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ สัม แปลว่า เอง โพธิ ก็ตรัสรู้ ญาณ ก็หยั่งรู้ รวมกันว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบไม่มียิ่งกว่า เป็นคำขยายออกไปจากบทก่อนว่าพระโพธิญาณนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าอีกแล้ว คือรู้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครจะรู้ยิ่งขึ้นไปกว่า ไม่มีอะไรจะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว

พระสัพพัญญู

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” ได้ยกคำที่พบกันอยู่เสมอมาแสดง เหมือนอย่างคำตอบอย่างสั้นๆ ดังกล่าวมานั้น แต่ความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอนุตตระ ไม่มีที่จะยิ่งไปกว่าดังบทที่แสดงแล้ว จึงเป็นความรู้สิ่งทั้งหมด เรียกว่าสัพพัญญุตาญาณ (สัพพัญ ทั้งหมด ญุต ความรู้ ญาณ ก็ความหยั่งรู้ รวมกันว่า ญาณคือความรู้สิ่งทั้งหมด) พระพุทธเจ้าจึงเป็นพระสัพพัญญูผู้รู้สิ่งทั้งหมด แต่มิใช่ว่าทรงรู้เท่าไรทรงแสดงทั้งหมด ทรงแสดงตามควรแก่ภูมิชั้นของผู้ฟังเท่านั้น เพราะทรงมุ่งสอนให้ผู้ฟังรู้เข้าใจ ถ้าสอนเกินภูมิไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนอย่างมีภูมิรู้ขนาดชั้นมัธยม ๓ ก็สอนขนาดที่นักเรียนชั้นนั้นจะเข้าใจได้ แต่เมื่อทรงสอนแก่คนที่มีภูมิรู้ชั้นสูงๆ ขึ้นไปก็ทรงสอนสูงขึ้นตามชั้น ข้อสำคัญที่เป็นพิเศษนั้น คือได้ทรงศึกษารู้จบทางคดีโลกเหมือนอย่างเป็นดุษฏีบัณฑิตมาก่อนแล้ว และมาทรงค้นคว้าจนรู้จบทางคดีธรรม จึงทรงรู้โลกรู้ธรรมแจ้งชัดหมด อาจสั่งสอนคนได้ทุกชั้น อาจโต้วาทะกับใครๆ ที่เลื่องลือว่าเป็นนักปราชญ์ได้ทั้งนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้จึงมีหลากหลาย ซึ่งพระสาวกได้ฟังจำกันไว้ต่อๆ มาจนถึงจดเป็นอักษร แล้วพิมพ์เป็นหนังสือพระไตรปิฏกจำนวนหลายสิบเล่มเหมือนอย่างรวมหลักสูตรตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนถึงชั้นอุดมไว้พร้อมเสร็จ ฉะนั้น เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาไปโดยลำดับย่อมจะเข้าใจได้ดี และจะยิ่งรู้ความจริงยิ่งขึ้นทุกที แต่ถ้าเริ่มศึกษาผิดชั้นจะเข้าใจยากหรืออาจไม่เข้าใจ เหมือนอย่างยังไม่รู้เลขชั้นประถมไปจับเรียนเลขชั้นมัธยมสูงๆ ทีเดียว จะเข้าใจได้อย่างไร และพระธรรมของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบทมีเหตุผลที่ผู้ศึกษาอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ และทรงแสดงส่องเข้ามาที่ตัวของเราเองทุกๆ คน มิได้ทรงแสดงไกลออกไปๆ จนมองไม่เห็น ฉะนั้น เมื่อมีใครถามพระองค์ถึงเรื่องที่ไกลออกไปเช่นนั้น เช่นเรื่องโลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุดเป็นต้น ก็ไม่ได้ตรัสตอบเพราะตรัสตอบไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ผู้ถามเองก็มองไม่เห็น คนอื่นก็มองไม่เห็น ได้แต่เชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ถึงจะเชื่อก็เป็นเรื่องอย่างหลับตาเชื่อ ไม่มีทางจะเกิดปัญญารู้เห็นได้เอง ทางที่ถูกควรจะไม่เชื่อมากกว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้คนเชื่อด้วยความรู้ จึงทรงงดแสดงเรื่องที่คนไม่อาจจะรู้จะเห็น ทรงแสดงแต่เรื่องที่คนอาจจะรู้จะเห็นได้ คือเรื่องส่องเข้ามาที่ตัวของเราเองดังกล่าวแล้ว ใครๆ ที่มีจิตใจมีสติปัญญาอย่างสามัญอาจรู้เข้าใจพระธรรมของพระองค์ได้ทั้งนั้น และไม่ต้องไปรู้ไกลออกไปที่ไหน รู้ที่ตัวของตัวเองนี้แหละอย่างมีเหตุผลตามเป็นจริง ทั้งสามารถจะปฏิบัติได้ทำได้ตามที่ทรงสั่งสอนด้วย เมื่อทำได้แล้วก็ได้รับผลดีจริงเช่นทรงสอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำความดี ให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด นี้ก็คือทรงสอนแก่ตัวของเราทุกๆ คน เราทุกๆ คนสามารถไม่ทำความชั่ว สามารถทำความดี สามารถชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ไม่สามารถ แต่บางอย่างไม่สามารถจริงๆ เช่นถ้าจะมีใครสอนให้กลั้นลมหายใจเรื่อยไป สอนไม่ให้กิน สอนไม่ให้นอน เช่นนี้ไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามได้แน่ ใครขืนปฏิบัติตามเป็นตายแน่ ส่วนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครต้องตายต้องเสียหายเพราะปฏิบัติตาม มีแต่จะดีขึ้น มีสุขมีเจริญขึ้นไปทุกที และยิ่งจะรู้จักความจริงที่ตัวเราเองของตัวเราเองมากขึ้นทุกที เพราะดีชั่วของตัวเราเองใครเล่าจะทำให้ได้ ตัวของเราเองนั่นแหละทำให้แก่ตัวเราเอง และตัวเราเองเป็นอย่างไรเราก็รู้ ถึงจะปกปิดคนอื่นได้ก็ปกปิดตัวเราเองไม่ได้ ปกปิดพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เพราะเข้าอยู่ในพระธรรมของพระพุทธเข้าที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณายิ่งใหญ่ ใครทำอะไรไม่ดีน้อยหรือมากอย่างไร ใครเสียใจว่าไม่มีใครคบใครรัก ใครคิดว่าถูกใครๆ พากันเกลียดหรือรังเกียจ หรือเกิดเกลียดตนรังเกียจตนขึ้นเอง ใครมีทุกข์ร้อนน้อยหรือมากต่างๆ ขอให้รู้สึกสำนึกตน รับรองความจริงของตน และระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงเกลียดรังเกียจใครๆ ไม่ทรงสาปแช่งใคร มีแต่พระกรุณาเปี่ยมอยู่เสมอ และได้ประทานทางออกให้แก่ทุกๆ คนไว้แล้ว คือละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เดิมทำมาไม่ดีก็ตั้งต้นใหม่ตามทางออกนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงทิ้งผู้ที่ตั้งต้นทำความดี ขอให้ตั้งต้นเถิด ขอให้ตั้งใจพึ่งพระพุทธเจ้าเป็นกำลังใจเถิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งผู้ที่ตั้งใจพึ่งพระองค์จริงๆ เลย และผู้ที่ดำเนินชีวิตไปในทางแห่งพระธรรมที่ทรงสั่งสอนตามภูมิชั้นของตนก็ไม่มีพลาดผิดไปจากผลดีต่างๆ เลย ตามที่กล่าวเยิ่นเย้อออกมานี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดในหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน ซึ่งสรุปลงอย่างย่นย่อสำหรับเป็นข้อกำหนด ๓ ประการ

อาการสั่งสอน ๓ อย่าง

(๑) ทรงสั่งสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น

(๒) ทรงสั่งสอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

(๓) ทรงสั่งสอนธรรมที่ปฏิบัติได้ผลสมจริง เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ คือเป็นจริงทั้งเหตุผลอย่างเห็นๆ ตลอดหมด เป็นอัศจรรย์ที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่ความปฏิบัติจริง

ฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงสั่งสอนจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเสี้ยวแห่งความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เช่นนั้น ดังที่พระอาจารย์เล่าไว้ว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่าไม้สีเสียดใกล้กรุงโกสัมพี ได้ทรงกำใบไม้สีเสียดที่หล่นเรี่ยรายอยู่เพียงเล็กน้อยด้วยพระหัตถ์ ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้สีเสียดที่ทรงกำไว้ กับใบไม้สีเสียดในป่าสีเสียดทั้งหมด ส่วนไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใบไม้สีเสียดในป่าสีเสียดทั้งหมดมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ทรงรู้ยิ่งแล้วมิได้บอกแสดงก็มากกว่าฉันนั้น เพราะเหตุอะไรจึงไม่ทรงบอกแสดง เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นข้อปฏิบัติชอบ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสบอก ส่วนที่ตรัสบอกนั้นคืออริยสัจจ์ ๔ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ ตามพระพุทธดำรัสที่เล่ามานี้ จึงแสดงว่านอกจากที่ทรงบอกแสดงไว้แล้ว ยังมีเรื่องที่ทรงรู้แล้วมิได้บอกอีกมากมาย แต่ก็เป็นที่พึงยินดีว่า สิ่งที่มีประโยชน์อันเป็นข้อควรรู้ควรเห็น ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วได้ทรงแสดงไว้แล้วทั้งหมด ไม่มีข้ออะไรที่ทรงซ่อนเร้นไว้ สมดังที่ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า พระองค์ไม่ทรงมีกำมือของอาจารย์ คือซ่อนเร้นศิลปวิทยาไม่บอกแก่ศิษย์ ข้อที่ควรรู้ควรเห็นอันเป็นประโยชน์ได้ทรงบอกแสดงแล้วทั้งหมด

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” อาจตอบได้ด้วยคำตอบกว้างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อจะตอบอย่างกว้างขวางที่สุด ก็ตอบว่า ตรัสรู้ทั้งหมด เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู แต่เมื่อตอบในฐานะเป็นผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็พึงตอบได้ตามพระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ได้กล่าวแล้วว่าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งนิดหนึ่งของความตรัสรู้เท่านั้น แม้ในพระพุทธศาสนาก็มีพระสูตรต่างๆ แสดงเรื่องนี้ไว้มากหลายเหมือนกัน จะเลือกมาแสดงเป็นหลักแต่เพียงพระสูตรเดียว ซึ่งเป็นเทศน์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสแสดงถึงพระองค์เองว่า พระองค์ได้ตรัสรู้อะไรจึงพอพระหทัยว่าตรัสรู้แล้ว ในลำดับต่อไป

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
อุตฺตมํ ธมฺมมชฺฌคา ได้ทรงบรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว
มหาสงฺฆํ ปโพเธสิ ทรงยังสงฆ์หมู่ใหญ่ให้ตรัสรู้ตามแล้ว
อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ นี้คือพระรัตนตรัย ดังนี้


ใจความปฐมเทศนา

ณ วันจันทร์เพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ
ซึ่งโดยปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ หน้าวันเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเทศนาครั้งแรกโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ สวนเลี้ยงกวาง กรุงพาราณสี พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ พร้อมทั้งทางแห่งความตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศว่าได้ทรงตรัสรู้จตุราริยสัจจ์ (จตุร + อริยสัจจ์ แปลว่าอริยสัจจ์ ๔) พระปฐมเทศนานี้นับถือกันทั่วไปว่าเป็นเทศนาที่แสดงหลักสำคัญ เป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรทราบ ฉะนั้น จะย่อความของปฐมเทศนานี้เพื่อเป็นที่กำหนดง่าย ดังต่อไปนี้

ทางสุดโต่ง ๒ ข้าง

ตอนที่ ๑
พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทาง ๒ ทาง ที่นักบวชผู้มุ่งความตรัสรู้ไม่ควรดำเนินคือ

(๑) ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุดสดชื่นในทางกาม

(๒) ความประกอบการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อน (เช่น วิธีทรมานตนของพวกโยคีต่างๆ)

หนทางทั้งสองนี้เรียกว่าหนทางสุดโต่ง ๒ ข้าง ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางที่ควรดำเนินเพื่อตรัสรู้ คือ

มรรคมีองค์ ๘

(๑) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
(๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
(๓) สัมมาวาจา เจรจาชอบ
(๔) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
(๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
(๖) สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ
(๗) สัมมาสติ ความระลึกชอบ
(๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ

หนทางนี้เรียกว่าเป็นทางกลาง เรียกเป็นศัพท์ว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ หรือทางดำเนินสายกลาง มีข้อที่ควรซ้อมความเข้าใจไว้ก่อนคือ หนทางนี้เรียกว่าสายกลาง หมายความว่าอยู่ในระหว่างหนทางทั้งสองดังกล่าวแล้ว คือเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดก็เหมือนเป็นทางสามสาย หนทางทั้งสองดังกล่าวแล้วอยู่สุดโต่งสองข้าง ส่วนทางนี้อยู่ตรงกลาง ขาดตอนกันไม่เกี่ยวกันกับทางทั้งสองนั้น ไม่มีทางซอยหรือทางเล็กอะไรที่สัมพันธ์กันได้เลย มิใช่เป็นทางกลางชนิดที่จะสัมพันธ์กับทางโน้นก็ได้ทางนี้ก็ได้อย่างทางการเมือง เพราะทางในธรรมเมื่อเป็นทางไหนก็เป็นทางนั้นแยกกันคนละทางทีเดียว และคำว่าหนทางสุดโต่งทั้งสองข้างก็ดี คำว่าทางสายกลางก็ดี ต้องมีความหมายดังที่กล่าวแล้ว มิใช่เอาชื่อไปอ้างว่าทางสายกลางแล้วตั้งข้ออธิบายเอาเอง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าหรือทางสายกลางในพระพุทธศาสนา แต่เป็นทางสายนอกพระพุทธศาสนา ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าต้องมีองค์ประกอบ ๘ ประการดังกล่าวแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าเป็นทางอันเดียวมิใช่ ๘ ทาง แต่มีองค์ประกอบกันอยู่ ๘ ประการเท่านั้น เหมือนอย่างถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนสายหนึ่งสร้างขึ้นด้วยสิ่งต่างๆ เช่นเหล็ก กรวด ปูน ทราย มาเทเป็นถนนคอนกรีตและประดับด้วยสิ่งต่างๆ เช่นเสาโคมไฟฟ้า ต้นไม้ เป็นต้น ถ้าจำแนกออกไปก็มากมายหลายอย่างแต่รวมเป็นถนนสายเดียว

อนึ่ง เมื่อเทียบกับถนนหนทางเช่นนี้ ก็อาจจะนำองค์ประกอบทั้ง ๘ นั้นไปเทียบความยาวของถนนว่าเหมือนถนนยาว ๘ กม. สัมมาทิฏฐิ เป็น กม.ที่ ๑ จนถึงสัมมาสมาธิ เป็น กม.ที่ ๘ ถ้าเทียบเช่นนี้ก็ไม่ตรงกับความหมาย เพราะองค์เหล่านี้ต้องประกอบรวมกันอยู่ตั้งแต่ต้น เหมือนอย่างเหล็ก ปูน กรวด ทราย ก็ต้องรวมเป็นคอนกรีตตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ กม.ที่ ๑ เป็นเหล็กโครงใน กม.ที่ ๒ เป็นทราย กม.ที่ ๓ เป็นกรวด กม.ที่ ๔ เป็นปูน กม.ที่ ๕ เป็นน้ำ เป็นต้น ทุกสิ่งต้องรวมกันหล่อเป็นคอนกรีตตั้งแต่ต้นทีเดียว ทางสายกลางก็เหมือนเช่นนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๘ รวมกันเป็นทางเดียวและเป็นอันเดียวกันทุกระยะ

อันสิ่งต่างๆ โดยมาก เรียกว่าเป็นสิ่งอันหนึ่งๆ แต่ประกอบด้วยเครื่องประกอบหลายอย่าง เช่นคนๆ หนึ่งก็มีร่างกายประกอบด้วยอวัยวะภายนอกภายในเป็นอันมาก รถคันหนึ่งๆ ก็มีเครื่องประกอบมาก แต่ก็เรียกเป็นคนๆ เดียว เป็นรถคันเดียว เมื่อคนจะเดินไปไหน รถจะวิ่งไปไหน ร่างกายของคนทุกส่วนก็ต้องไปพร้อมกัน รถก็ต้องไปทั้งคัน ทางสายกลางก็เช่นเดียวกัน องค์ประกอบทั้ง ๘ อย่างนั้นต้องรวมกันไป ถ้าแยกกันก็เป็นทางแตก ให้เกิดความตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนอย่างรถที่แยกเครื่องประกอบออก เช่นถอดล้อถอดเครื่องออก ก็วิ่งไปไม่ได้

อริยสัจจ์สี่

ตอนที่ ๒
พระพุทธเจ้าทรงประกาศอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วในเมื่อทรงเว้นทางสุดโต่งทั้งสอง ทรงดำเนินไปในทางสายกลางนั้น คือ

(๑) ทุกข์
(๒) ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
(๓) ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์
(๔) มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือทางมีองค์ ๘ ได้แก่ทางสายกลางดังกล่าวแล้ว อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ในพระปฐมเทศนานั้นด้วย แต่ในที่นี้จะงดไว้ก่อน

ญาณสาม

ตอนที่ ๓
พระพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะของความตรัสรู้ของพระองค์ดังต่อไปนี้

(๑) รู้ในความจริง โดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ตามเป็นจริงอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือว่า นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่เป็นความดับทุกข์ นี่เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเป็นศัพท์ว่า สัจจญาณ แปลว่ารู้ในความจริง

(๒) รู้ในกิจ คือหน้าที่ซึ่งควรกระทำโดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น คือควรทำอย่างไรกับทุกข์ ควรทำอย่างไรกับเหตุให้เกิดทุกข์ ควรทำอย่างไรกับความดับทุกข์ ควรทำอย่างไรกับทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้ตรัสแสดงไว้ว่าหน้าที่ซึ่งควรทำกับทุกข์ก็คือการกำหนดให้รู้จัก กับเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือการละเสีย กับความดับทุกข์ก็คือการทำให้ปรากฏแจ่มแจ้งขึ้น กับทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็คืออบรมให้มีขึ้นโดยบริบูรณ์ รู้ดังนี้เรียกว่ารู้กิจคือหน้าที่ เรียกเป็นศัพท์ว่า กิจจญาณ แปลว่ารู้ในกิจ

(๓) รู้ในความทำกิจสำเร็จ โดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือเมื่อรู้หน้าที่แล้วก็ปฏิบัติในหน้าที่นั้นจนสำเร็จโดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ละเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ทำความดับทุกข์ให้ปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว อบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์บริบูรณ์แล้ว ครั้นทำหน้าที่สำเร็จแล้วก็รู้ว่าได้ทำแล้ว เสร็จกิจที่จะทำต่อไป เรียกเป็นศัพท์ว่า กตญาณ แปลว่ารู้ในความทำกิจสำเร็จ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระญาณหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ แต่ละข้อด้วยพระญาณทั้ง ๓ นั้นโดยตลอดครบทุกข้อ ในอริยสัจจ์ข้อหนึ่งๆ จึงต้องรู้ ๓ อย่าง คือรู้ในความจริง รู้ในกิจคือหน้าที่ รู้ในความทำกิจสำเร็จ เรียกว่ารู้ ๓ รอบ รวมอาการที่รู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทั้งหมดจึงเป็น ๑๒ ( ๓ x ๔ )

ความรู้ ๓ รอบ รวมอาการ ๑๒ เรียกทางเทศนาโวหาร (ถ้อยสำนวนเทศน์) ว่า “พระญาณมีปริวัฏ (วนรอบ) ๓ มีอาการ ๑๒” ของพระพุทธเจ้า ได้เกิดผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยที่ไม่ได้เคยทรงสดับตรับฟังมาก่อน ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า จกฺขุ อุทปาทิ จักษุเกิดผุดขึ้น ญาณํ อุทปาทิ ญาณเกิดผุดขึ้น ปญฺญา อุทปาทิ ปัญญาเกิดผุดขึ้น วิชฺชา อุทปาทิ วิชชาเกิดผุดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างเกิดผุดขึ้น ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาแต่ก่อนว่า นี้เป็นทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ควรละ เหตุให้เกิดทุกข์ละได้แล้ว นี้เป็นความดับทุกข์ ความดับทุกข์ควรทำให้ปรากฏแจ่มแจ้ง ความดับทุกข์ได้ทำให้ปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ควรอบรมให้มี ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้อบรมให้มีแล้ว และในตอนท้ายได้ตรัสว่า เมื่อพระญาณดังกล่าวยังไม่บริสุทธิ์พระองค์ก็ไม่พอพระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อพระญาณดังกล่าวบริสุทธิ์จึงพอพระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้แล้ว ผู้ที่เรียนรู้เรื่องอริยสัจจ์จำได้ เรียกว่ารู้จำมิใช่รู้จริง ต่อเมื่อเกิดญาณในอริยสัจจ์ดังกล่าว จึงชื่อว่ารู้จริง

โดยมากคงเคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เอง ไม่มีครูอาจารย์ แต่ก็อาจไม่ทราบจะอธิบายว่าตรัสรู้เองได้อย่างไร หรืออาจสงสัยว่า ในเบื้องต้นก็ได้ศึกษาเป็นอย่างดีมาก่อนจนเมื่อทรงออกผนวชแล้ว ทีแรกก็ได้ศึกษาในสำนักของ ๒ ดาบส ซึ่งน่าจะทรงมีครูอาจารย์เหมือนกัน การแสดงลักษณะของความตรัสรู้ในพระปฐมเทศนานี้เป็นการอธิบายและเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว คือที่เรียกว่าตรัสรู้เอง เพราะได้ทรงพบทางสายกลางนั้นเอง ได้ทรงดำเนินไปจนความรู้ในอริยสัจจ์ดังกล่าวแล้วได้เกิดผุดขึ้นแก่พระองค์เอง โดยที่มิได้ทรงเคยสดับตรับฟังมาก่อน อย่างที่เรียกว่าต้นคิด จึงได้พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธะ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เรียกสั้นๆ ว่าพระพุทธเจ้า วิชาที่เคยทรงเรียนมามิใช่วิชาทางสายกลาง ไม่ใช่วิชาอริยสัจจ์ และลักษณะความรู้ก็ไม่เหมือนกัน ยังไม่เรียกว่า “ตรัสรู้” (ตรัส แปลว่า แจ้ง สว่าง รวมกับรู้ ก็คือรู้แจ้ง รู้สว่าง) เทียบอย่างในปัจจุบัน คนที่ค้นพบวิชาอะไรขึ้นก่อน เช่นค้นพบวิชาไฟฟ้า ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขึ้นใช้ได้ เรียกว่าเป็นต้นคิด อาจกล่าวเพื่อเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นต้นคิดวิชาทางสายกลาง วิชาอริยสัจจ์ ทรงรอบรู้ในความจริง ในกิจ ในความทำกิจสำเร็จ ในอริยสัจจ์ทุกข้อโดยครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ วิชาและความรู้นี้เกิดขึ้นเองแก่พระพุทธเจ้า ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ มีเป็นพิเศษเฉพาะในพระพุทธศาสนาแล

สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท
ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธะทั้งหลายให้เกิดสุข


๒๑ มกราคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 26 กรกฎาคม 2553 6:03:47 น.
Counter : 1444 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.