Group Blog
 
All Blogs
 
๓๓. อริยสัจจ์ข้อที่ ๒



หลักพระพุทธศาสนา

๓๓. อริยสัจจ์ข้อที่ ๒

สมุทัยสัจจ์

อริยสัจจ์ข้อที่ ๒ ได้แก่ทุกข์สมุทัย
คำว่า ทุกขสมุทัย ประกอบขึ้นด้วยคำ ๒ คำ คือ ทุกขะ แปลว่า ทุกข์ กับ สมุทัย แปลว่า เหตุให้เกิด แปลรวมกันว่าเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกข์คืออะไรได้แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อน จำแนกออกไปหลายประเภท ในที่นี้จะกล่าวสรุปทุกข์ลงเป็น ๒ คือทุกข์ทางกาย ๑ ทุกข์ทางใจ ๑ ทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดาก็มี เกิดขึ้นเพราะกรรมและกิเลสของคนก็มี ทุกข์ที่เกิดขึ้นโดยสภาพธรรมดานั้นได้แก่เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องมีแก่เจ็บตาย ทุกข์ประเภทนี้เรียกว่าสภาวทุกข์คือทุกข์ที่เป็นไปตามสภาพธรรมดาจะยกไว้ก่อน จะกล่าวต่อไปเฉพาะทุกข์ที่เกิดเพราะกรรมและกิเลสของคน

ทุกข์ที่เกิดเพราะกรรมและกิเลสของคนได้แก่ความทุกข์ต่างๆ ที่คนเราก่อขึ้นให้เกิดแก่ตัวเราเองและแก่คนอื่น ทุกข์ดังกล่าวนี้จะเห็นได้ทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียดในที่ทั่วๆ ไป ยกตัวอย่างเช่นความเดือดร้อนต่างๆ ที่เกิดจากการทำร้ายร่างกายและชีวิตของกันและกัน การปล้นสะดมลักฉ้อแย่งชิงทรัพย์สินของกันและกัน เป็นต้น รวมความว่า โดยมากเกิดจากการผิดศีล ๕ และเกิดจากการประกอบตนไว้ในอบายมุขต่างๆ ความทุกข์เหล่านี้เป็นความทุกข์เฉพาะตน คือเป็นเรื่องส่วนตน เฉพาะเรื่องเฉพาะรายของแต่ละบุคคลก็มี เป็นความทุกข์ของส่วนรวม คือคนส่วนมากร่วมกันรับทุกข์ด้วยกัน เช่นความทุกข์ยากเดือดร้อนในสมัยที่โบราณเรียกว่าทุพภิกขภัย (ภัยเกิดจากหากินยาก) ที่เรียกกันตามสมัย เช่นว่า เศรษฐกิจตกต่ำ หรือทุกข์ภัยในคราวเกิดสงคราม ทุกข์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนเป็นผลซึ่งต้องมีสมุทัยคือ เหตุที่ทำให้เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ค้นหาสมุทัยให้ถูกต้อง เพราะเป็นตัวเหตุ เมื่อพบเหตุและแก้ที่เหตุแล้ว จึงจะแก้ความทุกข์ให้ตกไปได้

ยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นความทุกข์ของส่วนรวม อันเกี่ยวแก่เยาวชน ซึ่งเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ว่า อะไรเป็นเหตุให้เยาวชนประพฤติเสื่อมเสีย และจะแก้ได้อย่างไร ปัญหานี้จำต้องพิจารณารายละเอียดว่าความประพฤติอะไรบ้างเรียกว่าความประพฤติเสื่อมเสีย เพราะให้เกิดผลอย่างไร และเกิดจากเหตุอะไรบ้าง จึงอาจสรุปเรื่องที่จะต้องพิจารณาเป็น ๓ ชั้นก่อน คือ

๑. ผลเสื่อมเสียต่างๆ ที่เกิดจากความประพฤติอันเสื่อมเสีย

๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดผลเช่นนั้น

๓. สิ่งที่เป็นเหตุชักนำให้เกิดความประพฤติเสื่อมเสียดังกล่าว

ในการค้นหารายละเอียดของประเด็นทั้ง ๓ ข้อดังกล่าว ก็จำต้องพิจารณาถึงบุคคลผู้เกี่ยวข้องประกอบกันไปด้วย เพราะในสังคมมนุษย์นี้ ทุกๆ คนต้องสัมพันธ์กัน ดังหลักทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนา คือทุกๆ คนเมื่ออยู่ในที่ใดที่หนึ่งก็ตามย่อมมีทิศทั้งหลายอยู่รอบตัวฉันใด ก็ต้องมีคนที่เกี่ยวข้องกันอยู่รอบตัวฉันนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสเปรียบเทียบบุคคลผู้เกี่ยวข้องกันเหมือนกับทิศ จัดเป็น ๖ ดังนี้ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า ครูอาจารย์เป็นทิศเบื้องขวา บุตรภริยาเป็นทิศเบื้องหลัง มิตรสหายเป็นทิศเบื้องซ้าย คนรับใช้หรือผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นทิศเบื้องต่ำ สมณพราหมณ์เป็นทิศเบื้องบน เยาวชนหรือใครๆ ก็ตามทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลต่างๆ ดังกล่าว ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นทิศทั้งหลายอยู่รอบตัว และอาจจะแบ่งย่อยเป็นทิศเล็กๆ ลงไปอีกได้เป็นอันมาก ฉะนั้น ถ้าทิศทั้งหลายดังกล่าวไม่ดีเสียโดยมาก ก็ยากที่จะให้ใครๆ ที่อยู่ในระหว่างกลางดีอยู่เพียงฝ่ายเดียวได้ เช่นเมื่อมองไปเบื้องหน้าก็ไม่พบมารดาบิดาที่จะเป็นที่พึ่งยืดเหนี่ยว มองไปเบื้องขวาก็ไม่พบครูอาจารย์ที่จะอบรมแนะนำ มองไปเบื้องหลังก็ไม่พบญาติพี่น้อง (ยกขึ้นแทนบุตรภริยา) ผู้หวังดี มองไปเบื้องซ้ายก็ไม่พบมิตรสหายที่เป็นกัลยาณมิตร มองไปเบื้องล่างก็ไม่พบผู้ที่รับให้ความช่วยเหลือ (ยกขึ้นแทนคนรับใช้) มองไปเบื้องบนก็ไม่พบสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติดี ซึ่งจะเป็นผู้ชี้ทางที่ถูกให้ แต่โดยตรงกันข้าม มองไปทางทิศไหนก็พบแต่โรงหนังโรงละครสถานอบายมุขต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่จะชักนำไปในทางเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะเป็นเหตุชักจูงกันไปในทางเสื่อมเสียต่างๆ แต่ถ้าทิศทั้งหลายดีอยู่โดยมาก ก็ยากที่จะเสื่อมเสียได้ เช่นมารดาบิดาก็ตั้งตนเป็นมารดาบิดาที่ดีอยู่เบื้องหน้า ครูอาจารย์ก็ตั้งตนเป็นครูอาจารย์ที่ดีอยู่เบื้องขวา ญาติพี่น้องก็ตั้งตนเป็นญาติพี่น้องที่ดีอยู่เบื้องหลัง มิตรสหายก็ตั้งตนเป็นมิตรสหายที่ดีอยู่เบื้องซ้าย ผู้รับให้ความช่วยเหลือทั้งหลายก็ตั้งตนเป็นผู้ช่วยให้กำลังที่ดีอยู่เบื้องล่าง สมณพราหมณ์ทั้งหลายก็ตั้งตนเป็นสมณพราหมณ์ที่ดีอยู่เบื้องบน เมื่อทิศทั้งปวงแข็งแรงอยู่โดยครบถ้วน หรือโดยมาก ผู้ที่อยู่ในระหว่างกลางก็ยากที่จะประพฤติเสื่อมเสียเล็ดลอดออกไปได้ ฉะนั้นในการแก้ปัญหาเยาวชน บุคคลที่เป็นทิศสำคัญๆ ทุกฝ่ายของเยาวชนแต่ละคน จึงจำต้องร่วมมือกันตั้งตนของตนเองไว้โดยชอบ ให้เป็นทิศที่ดีตามฐานะที่เกี่ยวข้อง และอันที่จริง ไม่ใช่แต่เยาวชนเท่านั้น ทุกๆ คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อทิศต่างๆ โดยรอบตนดีอยู่ก็ย่อมจะชักนำกันไปในทางที่ดีได้ แต่มีข้อที่แตกต่างกันอยู่ว่า สำหรับเด็กหรือเยาวชนนั้นยังเป็นผู้เยาว์สติปัญญา จำต้องอาศัยทิศรอบตนที่ดี ซึ่งผู้ใหญ่จำต้องทำตนให้เป็นทิศของเด็กและช่วยสร้างทิศที่ดีให้แก่เด็ก ส่วนผู้ใหญ่เองซึ่งเป็นผู้มีความรู้สึกผิดชอบเพียงพอ ย่อมสามารถสร้างทิศของตนได้

ตัณหาสาม

ในการที่บุคคลทุกๆ ฝ่ายทุกๆ คนจะตั้งตนไว้ให้ดีได้ ต้องอาศัยเป็นผู้สามารถปกครองใจของตนได้ดี ไม่ให้เป็นทาสของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก ตัณหานี้เอง พระพุทธเจ้าตรัสชี้ไว้ว่าเป็นตัวทุกขสมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ข้อที่ ๒ จำแนกเป็น ๓ คือ

๑. กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือด้วยอำนาจกาม คือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

๒. ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่

๓. วิภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

คำว่าตัณหานี้ มักจะเข้าใจกันไม่ถูกต้อง คือมักเข้าใจว่า เป็นความปรารถนาในทางหนึ่งบ้าง เป็นความอยากหรือความต้องการทุกๆ อย่างบ้าง แต่อันที่จริง คำนี้มิได้มีความหมายแคบหรือกว้างไปทั้งหมดอย่างนั้น ความอยากที่มีเป็นธรรมดาของร่างกาย เช่นความอยากข้าวอยากน้ำ ที่เรียกว่าความหิวกระหาย ความมีฉันทะ คือความพอใจในการศึกษาเล่าเรียน ในการงาน ในการทำความดีต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความพากเพียรพยายาม ไม่เรียกว่าเป็นตัณหา แต่ความอยากดังกล่าวที่เป็นไปเกินพอดี หรือความอยากในทางที่ผิด จึงเรียกว่าเป็นตัณหา ความอยากที่เป็นไปเกินพอดีนั้น เช่นการรับประทานอาหารมีประโยชน์สำหรับทะนุบำรุงร่างกายตามที่ร่างกายต้องการ แต่ถ้ารับประทานชนิดกินจุบจิบพร่ำเพรื่อ หรือไม่ได้มุ่งคุณภาพแต่มุ่งอร่อยลิ้น ที่เรียกว่าตามใจปากตามใจท้อง หรือว่ามุ่งหรูหราเพื่อโอ้อวดกัน และเมื่อได้อาหารที่ไม่อร่อยลิ้นก็รับประทานแต่น้อย เมื่ออร่อยลิ้นก็รับประทานเกินประมาณจนต้องทักกันว่าท้องจะแตก ในการเรียน การทำงาน หรือแม้การทำความดีต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน บางคราวมีความตั้งใจแรงก็ทำเกินพอดี เหล่านี้เรียกว่าตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะเป็นความอยากอย่างทะยานหรืออย่างดิ้นรน อีกอย่างหนึ่ง ความอยากในทางที่ผิดต่างๆ เรียกว่าตัณหาทั้งนั้น ในชั้นนี้จึงควรทราบความหมายจำกัดของตัณหาดังกล่าว และควรทราบลักษณะอาการทั่วไปของตัณหาว่ามีลักษณะอาการอยากทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่เสมอ ไม่มีอิ่ม ไม่มีพอ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี” ตัณหาทำให้ใจอยากหรือหิวอยู่ในอะไรบ้าง ในสิ่งเหล่านี้คือ

ที่ตั้งของตัณหา

๑. ในกาม
คืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ คำว่ากามนี้ก็เช่นเดียวกับคำว่าตัณหา มักเข้าใจไม่ถูกต้อง ความหมายที่ถูกต้องนั้นได้แก่อารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทุกๆ อย่างเรียกว่ากาม หรือตัวความรักใคร่ปรารถนาพอใจเองก็เรียกว่ากาม คำว่าอารมณ์นั้น ได้แก่เรื่องต่างๆ ที่ใจคิดนึกหรือที่เก็บไว้ในใจ หรือที่ใจผูกพันอยู่ โดยเป็นรูปต่างๆ ที่เห็นด้วยตา เสียงต่างๆ ที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นต่างๆ ที่ได้สูดดมด้วยจมูก รสต่างๆ ที่ได้ลิ้มด้วยลิ้น สิ่งต่างๆ ที่ได้สัมผัสถูกต้องด้วยกาย และเรื่องต่างๆ เหล่านั้นอันได้เคยประสบพบผ่านมาแล้วแต่ยังเก็บมาคำนึงนึกถึงอยู่ในใจ เหล่านี้เรียกว่าอารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ดังกล่าวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเรียกว่ากาม ความดิ้นรนทะยานอยากไปในอารมณ์เหล่านั้นเรียกว่า กามตัณหา

๒. ในภพ คือความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่อยากจะเป็นอะไรที่จะเป็นเจ้าของแห่งอารมณ์ที่น่าปรารถนาดังกล่าว ความดิ้นรนทะยานอยากในความเป็นนั่นเป็นนี่ดังกล่าวเรียกว่า ภวตัณหา

๓. ในความไม่เป็นนั่นเป็นนี่ คือเมื่อเป็นอะไรอยู่ไม่ชอบใจก็ดิ้นรนทะยานอยากเพื่อจะไม่เป็นอย่างนั้น เป็นความอยากในด้านทำลายล้างภาวะที่เป็นอยู่ ตลอดจนถึงอยากตาย เรียกว่า วิภวตัณหา บางคนแปลว่าความไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งเป็นการแปลผิด เพราะมิใช่ไม่อยาก เป็นความอยากเหมือนกัน แต่อยากที่จะไม่เป็นอะไรที่ไม่ชอบ เช่นเป็นเด็กอยู่เป็นนักเรียนอยู่เบื่อเป็นเด็กเป็นนักเรียน อยากให้พ้นไปเสียเร็วๆ หรือเป็นคนแก่แต่อยากไม่เป็นคนแก่

ตัณหาทั้ง ๓ ตามที่อธิบายมานี้ สำหรับเยาวชนและคนทั่วไปควรเข้าใจคำจำกัดความดังกล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น จึงไม่ห้ามความอยากจะได้อะไรที่ควรจะได้ จะเป็นอะไรที่ควรจะเป็น จะไม่เป็นอะไรที่ควรจะไม่เป็น เช่นอยากจะได้หนังสือเรียนและเครื่องเรียนเครื่องใช้ตามที่จำเป็น อยากจะเป็นนักเรียนที่ดี อยากจะไม่เป็นคนเหลวไหลเสียหาย แต่ห้ามความอยากที่เกินพอดีแม้ในทางที่ถูกและความอยากในทางที่ผิดๆ ความอยากในทางที่ผิดนั้นคืออยากจะทำในทางที่ผิดศีลธรรมที่เรียกว่าเป็นความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม มิได้ทรงซัดความผิดให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ทรงแสดงชี้ให้เห็นความจริงว่า

๑. ทุกข์ต่างๆ เป็นผล เกิดจาก -

๒. ความประพฤติเสื่อมเสียต่างๆ อันเป็นกรรมชั่วของคน ซึ่งเกิดจาก -

๓. ตัณหา ในจิตใจของตนเอง

จึงทรงชี้สมุฏฐานสำคัญของทุกข์ว่าตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ตัณหามีอยู่ในจิตใจของใครก็ก่อทุกข์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้นั้นและแก่ผู้อื่น ที่พลอยได้รับความเดือดร้อนเพราะกรรมของผู้นั้น ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือใครๆ ทั้งนั้น

ตณฺหา ทุกฺขสฺส สมฺภวํ
ตัณหาเป็นเหตุเกิดแห่งทุกข์


๘ กรกฎาคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 10 สิงหาคม 2553
Last Update : 10 สิงหาคม 2553 5:23:17 น. 3 comments
Counter : 418 Pageviews.

 
อนุโมทนาครับ


โดย: โชติช่วงชัชวาล วันที่: 10 สิงหาคม 2553 เวลา:10:10:28 น.  

 
กัณฑ์ที่ ๑-๘ หาไม่เจอครับ

อนุโมทนาครับ


โดย: ธรรมปพน IP: 117.47.113.83 วันที่: 15 สิงหาคม 2553 เวลา:0:49:45 น.  

 
กัณฑ์ที่ ๑ - ๘ จะนำเสนอหลังจบกัณฑ์ที่ ๓๕ ครับ


โดย: sirivajj วันที่: 15 สิงหาคม 2553 เวลา:20:53:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.