Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๒๘ ขันติบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ขันติบารมีในจันทกุมารชาดก

จะแสดง ขันติบารมี อันเป็นบารมีข้อที่ ๖

ขันติ เป็นบารมีข้อที่ ๖ ในบารมี ๑๐ ประการ ในชาดกแสดงว่า พระพุทธเจ้าเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ได้ท่องเที่ยวบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ในพระชาติเป็นเอนกนับไม่ถ้วน เฉพาะในทศชาติ จันทกุมารชาดก ท่านจัดไว้สำหรับ ขันติบารมี มีความย่อว่า

จันทกุมาร เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอกราชา ผู้ครองเมืองบุปผวดีคือพาราณสี และพระนางจันทรา เมื่อทรงเจริญวัยแล้ว พระราชบิดาก็ได้แต่งตั้งให้เป็นอุปราช พระจันทกุมารทรงตั้งอยู่ในความยุติธรรม เมื่อประชาชนมีความเดือดร้อน พระองค์ก็จะวินิจฉัยตัดสินโดยยุติธรรม เป็นเหตุให้ขัดประโยชน์ของปุโรหิตชื่อว่า กัณฑหาละ ผู้ไร้ยุติธรรม มักรับสินบนจนเป็นที่เกลียดชังของประชาชนและพากันสรรเสริญพระจันทกุมาร ในที่สุดพระเจ้าเอกราชาก็ทรงมอบหมายหน้าที่พิพากษาคดีให้แก่พระจันทกุมารแต่ผู้เดียว จึงทำให้กัณฑหาลปุโรหิตโกรธแค้นพระจันทกุมารที่มาตัดประโยชน์ของตน คิดหาอุบายที่จะแก้แค้นอยู่เสมอ กระทั่งวันหนึ่งพระเจ้าเอกราชาทรงสุบินเห็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ครั้นทรงตื่นจากบรรทมแล้ว ก็ทรงปรารถนาจะไปอุบัติขึ้นในที่นั้น จึงทรงปรึกษากับปุโรหิตว่า ทำอย่างไรพระองค์จึงจะได้ไปอุบัติขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น เมื่อปุโรหิตได้ช่องที่จะแก้แค้นพระจันทกุมารเช่นนั้น ก็ทูลว่า จะต้องทำบูชายัญสังเวยพระเจ้าด้วยชีวิตของบุคคลที่เป็นที่รักของพระองค์ อันประกอบด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ช้างแก้ว ม้าแก้ว คหบดี อย่างละ ๔ พระเจ้าเอกราชากำลังทรงลุ่มหลงในสวรรค์จึงทรงยอมรับจะกระทำตามคำแนะนำนั้น แม้พระมเหสีและพระจันทกุมารจะทรงอ้อนวอนว่า การทำเช่นนั้นเป็นบาปกรรม ขอให้ล้มเลิกเสีย พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อ ในที่สุดก็ได้ทรงให้จัดเตรียมพิธีบูชายัญขึ้น พระราชมารดาของพระจันทกุมารจึงทรงตั้งอธิษฐานว่า หากเป็นบุญบารมีที่พระองค์จะได้อยู่ร่วมเศวตฉัตรต่อไป ขอให้การบูชายัญนั้นจงมีอันต้องล้มเลิกไปเสีย ฝ่ายประชาชนผู้มาในที่นั้น ครั้นรู้ถึงพระประสงค์ในการบูชายัญของพระเจ้าเอกราชา และความชั่วร้านของกัณฑหาลปุโรหิตแล้ว จึงพากันลงประชาทัณฑ์กันฑหาลปุโรหิต และจับพระเจ้าเอกราชาประกาศให้เป็นคนจัณฑาลเนรเทศออกไปนอกเมืองเสีย และพากันทำพิธีราชาภิเษกพระจันทกุมารขึ้นครองราชสมบัติสืบไป

อธิวาสนขันติ ความอดทนที่เป็นไปสามัญ

ขันติ คือความอดทนที่เป็นไปสามัญนั้น มีความอดกลั้นเป็นลักษณะเรียกว่า อธิวาสนขันติ เช่นอดทนต่อหนาวร้อนเป็นต้น ที่เรียกว่า ทนตรากตรำ ๑ อดทนต่อทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เรียกว่า ทนลำบาก ๑ อดทนต่อถ้อยคำจาบจ้วงล่วงเกิน ที่เรียกว่า ทนเจ็บใจ ๑ เพราะว่าหนาวร้อนมี ทุกขเวทนามี แต่อดกลั้นเอาไว้ และความโกรธมี แต่ว่าอดกลั้นเอาไว้ในใจ ไม่ผลุนผลันแสดงออกไป คือว่าไม่ปล่อยโกรธออกไปทางวาจา ทางกาย อดทนเอาไว้ในใจ เมื่อเป็นดั่งนี้ ใจก็ยังโกรธอยู่ เรียกว่าใจไม่ปกติ

โสรัจจะ ความแช่มชื่นแจ่มใส

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงธรรมอีกข้อหนึ่ง อันได้แก่ โสรัจจะ ที่แปลกันว่า ความเสงี่ยม ตามศัพท์แปลว่า ความแช่มชื่นแจ่มใส อันหมายความว่าพึงมีธรรมอีกข้อหนึ่งคือโสรัจจะนี้ มาเป็นเครื่องประดับใจ ทำให้ใจแช่มชื่น ให้แจ่มใสหายความขุ่นมัว เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย สำเร็จเป็นขันติได้เต็มที่ โสรัจจะ ความเสงี่ยมสงบ หรือความที่มีจิตใจแช่มชื่นแจ่มใสนี้ จะแสดงเฉพาะที่เป็นเครื่องดับความโกรธ เพราะดูเป็นการที่จะทำได้ยากในเวลาที่มีความโกรธ คราวนี้ ก็ควรพิจารณาดูว่า ความแช่มชื่นแจ่มใส ความสงบเสงี่ยมใจที่ทุกๆ คนต่างเคยมีอยู่ด้วยกันนั้น มีเพราะอะไร ลองคิดค้นพิจารณาดู ก็น่าจะเห็นได้ว่า ที่มีความแช่มชื่นแจ่มใสนั้น ก็เพราะว่าได้รับสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ จึงทำให้เกิดความแช่มชื่นแจ่มใส เป็นต้นว่าได้เห็นรูปที่น่าปรารถนาพอใจ ได้ยินเสียงที่น่าปรารถนาพอใจ หรือเมื่อกล่าวโดยวัตถุ ก็ได้วัตถุที่น่าพอใจ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ ได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปรารถนาพอใจ เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เกิดความแช่มชื่นแจ่มใส โดยปกติย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้ อีกอย่างหนึ่ง ความแช่มชื่นแจ่มใสนั้นเกิดจากความสงบใจ คือเมื่อทำใจให้บังเกิดความสงบได้ รสของความสงบนั้นก็ปรากฏออกมาเป็นความชื่นบานแจ่มใส พิจารณาดูว่า ความแช่มชื่นแจ่มใสที่ได้รับนั้น ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะเหตุดังเช่นที่กล่าวมานี้ ฉะนั้น เมื่อรู้เหตุที่มาทำให้จิตใจเกิดความแช่มชื่นแจ่มใสดั่งนี้ ก็ปฏิบัติในการที่จะสร้างเหตุเช่นนั้นขึ้นแก่จิตใจนั้น ประการหนึ่งก็คือ สร้างเรื่องที่น่าปรารถนาพอใจให้แก่จิตใจขึ้นส่วนหนึ่ง สร้างอารมณ์ที่ทำให้จิตใจสงบระงับส่วนหนึ่งตามควรแก่เหตุ

รักษาจิตใจให้เป็นโสรัจจะด้วยการไม่รับคำด่า

แต่ว่าคราวนี้เรื่องที่ประสบมานั้นเป็นเรื่องที่ยั่วโกรธ เช่นว่าแทนที่จะเป็นสรรเสริญ ก็เป็นนินทาหรือเป็นด่าว่าเป็นต้น เมื่อเป็นดั่งนี้จะทำอย่างไร เพราะว่าเรื่องที่ประสบนั้นเป็นเรื่องที่ยั่วโกรธต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่น่าปรารถนาพอใจ ในวิธีปฏิบัตินั้น ในเบื้องต้นก็คงไม่สามารถที่จะแปลเรื่องนั้นให้กลับเป็นเรื่องที่น่าพอใจได้ เพราะว่าอย่างที่เคยได้ยินที่เขาด่า จะฟังคำด่านั้นให้เป็นสรรเสริญไปและให้ยิ้มอยู่กับคำด่านั้น ก็ดูจะเป็นการทำได้ยาก แต่เมื่อยังไม่สามารถที่จะแปลเรื่องให้เป็นไปดั่งนั้นได้ ก็มีวิธีปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในที่บางแห่ง ในเรื่องหนึ่งคือ ไม่รับ ดังมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งไม่นิยมในลัทธิศาสนาการถือบวช ได้มีความโกรธพระพุทธเจ้ามาตั้งแต่ได้ข่าวว่าเสด็จออกทรงผนวช และในวันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านบ้านของเขา เขาก็ด่าพระองค์ด้วยคำหยาบช้าต่างๆ พระพุทธเจ้าได้ทรงหยุดฟังแล้วก็ตรัสถามเขาว่า โดยปกติเมื่อมีแขกมาถึงบ้าน ท่านจะปฏิสันถารต้อนรับแขกอย่างไร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็ต้อนรับด้วยอาหาร ข้าว น้ำ เป็นต้น ตามควร พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า ถ้าแขกที่มานั้นไม่บริโภคอาหาร ไม่ดื่นน้ำที่ได้จัดไว้รับ อาหารและน้ำที่จัดไว้นั้นจะตกเป็นของใคร พราหมณ์ก็ตอบว่า ก็ต้องตกเป็นของเจ้าของบ้านคือของตนเอง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นคำที่ท่านด่านั้นเราไม่รับ ก็เมื่อเป็นเช่นนี้กลับความก็คือ คงตกเป็นของเจ้าของได้แก่ผู้ด่านั้นเอง และได้ตรัสต่อไปว่า ถ้าพระองค์ทรงรับคำนั้น ก็เหมือนอย่างแขกที่มาเยี่ยมได้บริโภคอาหาร บริโภคน้ำดื่มที่เจ้าของบ้านจัดไว้ต้อนรับ แต่ว่าพระองค์ไม่ทรงบริโภคร่วมด้วย ไม่ดื่มร่วมด้วย ดั่งนี้ พราหมณ์นั้นก็กลับได้คิดตาม พระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้นี้ ถอดความออกก็คือว่าไม่รับ หมายความว่าปฏิเสธ ไม่ออกไปรับการด่านั้น เมื่อไม่ออกไปรับการด่านั้น การด่านั้นก็ไม่มาเกี่ยวกับตน ความโกรธก็ไม่บังเกิดขึ้น ความโกรธที่บังเกิดนั้น ก็เพราะว่าออกไปรับ เหมือนอย่างว่าออกไปร่วมบริโภคข้าวน้ำที่เจ้าของบ้านได้จัดไว้รับรอง ถ้าไม่ออกไปรับแล้วก็ไม่มาเกี่ยวอะไรด้วย เพราะฉะนั้นการที่ไม่ออกไปรับนี้ จึงเป็นวิธีหนึ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันด้วย และเป็นเครื่องระงับความโกรธด้วย ซึ่งจะทำให้จิตใจเป็นโสรัจจะคือความแช่มชื่นแจ่มใสอยู่ได้เป็นปกติ

รักษาจิตใจให้เป็นโสรัจจะด้วยการรับเข้ามา แต่แปลความเสียใหม่

อีกวิธีหนึ่งคือการรับเข้ามา แต่ว่าแปลความเสียใหม่ ดังมีเรื่องเล่าถึงพระพุทธเจ้าอีกเหมือนกัน ในคราวหนึ่งได้มีพราหมณ์ผู้หนึ่ง ได้ด่าว่าพระองค์ต่างๆ เป็นต้นว่า พระองค์เป็นผู้ที่ไม่เป็นรส ไม่เป็นชาติอะไร เป็นผู้ที่ขัดสนจนยาก เป็นผู้ที่น่าเกลียดน่าชัง เป็นผู้ที่เป็นคนวิบัติ ดั่งนี้เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสว่า พระองค์ไม่มีรสมีชาติจริง คือว่าพระองค์ไม่ได้ปรารถนารสในรูปในเสียงเป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไม่มีรสไม่มีชาติเหมือนอย่างที่ว่านั้น พระองค์เป็นผู้ที่ไม่มีทรัพย์สมบัติยากจนขัดสนจริง คือว่าได้ทรงเป็นผู้ที่ได้ละทรัพย์ อันได้แก่รูป เสียง เป็นต้น เสียจนหมดสิ้นแล้ว พระองค์เป็นผู้ที่น่าเกลียดน่าชังจริง เพราะว่าได้ตรัสให้มีความเกลียดชังต่อบาปทุจริต พระองค์เป็นผู้ที่วิบัติจริง คือว่าเป็นผู้ที่วิบัติอันได้แก่ การสิ้นกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ดั่งนี้ อันนี้ก็คือรับเอามาแล้วก็แปลความเสียใหม่ นี้ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เป็นเครื่องรักษาจิตใจของตนให้เป็นโสรัจจะ คือให้แช่มชื่น

หัดทำจิตใจให้มีตีติกขาขันติและโสรัจจะ

นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีพิจารณาอื่นๆ อีกหลายวิธี ตามทางพระพุทธศาสนาทุกวิธีนั้นก็สุดแต่บุคคลที่จะพิจารณานำไปใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้ เมื่อหัดทำใจให้ชื่นบานแจ่มใสในเวลากระทบกับ อนิฏฐารมณ์ ในตอนแรกก็ไม่สามารถ แต่ว่าเมื่อหัดไปๆ ก็สามารถที่จะทำจิตใจได้โดยลำดับ และเมื่อทำจิตใจให้สงบได้เป็นปกติไม่กระเทือน มีอาการคงที่มั่นคง ไม่มีอารมณ์อะไรมากระทับกระทั่งได้ ขันติก็มีความทนทานเป็นลักษณะเรียกว่า ตีติกขาขันติ ที่ตรัสว่า “ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ตีติกขาขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง” ขันติเป็นอลังการวิเศษอำนวยผลแก่ผู้ที่มีอยู่ทุกคน เหมือนอย่างบุคคลผู้ต้องปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสั่งสอนหรือการเจรจาความต่างๆ จะต้องหัดให้มีจิตใจเข้มแข็งอดทน และมีจิตใจแช่มชื่น เผชิญกับความโต้แย้ง ความขัดแย้งต่างๆ อยู่เสมอ ผู้ที่สามารถทำได้เช่นนี้จึงเป็นผู้ชนะ สามารถที่จะปฏิบัติกิจหน้าที่ของตนให้สำเร็จได้ นี้เป็นคุณที่เกิดจากขันติและโสรัจจะข้อนี้เป็นประการสำคัญ เมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้ ก็เป็นการบำเพ็ญบารมีประการหนึ่ง

ขันติบารมี ๓ ชั้น

การปฏิบัติทำขันติคราวหนึ่งๆ เป็นกรรม ดังจะเรียกว่า ขันติกรรม ขันติที่เป็นกรรมอันบุคคลทำอยู่เสมอๆ นี้แหละเป็นเครื่องสร้างสันดานแห่งขันติ เก็บสั่งสมไว้อยู่เสมอ นี้แลเป็นบารมี ขันติบารมีนี้แบ่งออกเป็น ๓ ชั้นคือ

ขันติบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน คือระหว่างขันติและสิ่งเหล่านี้ ถ้าจะต้องเสียไปอย่างหนึ่ง ก็ไม่ยอมเสียขันติ รักษาขันติไว้ยิ่งกว่าอย่างอื่น

ขันติอุปบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง คือแม้จะต้องเสียอวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อรักษาขันติก็ยอมเสียเพื่อรักษาขันติไว้ ไม่ยอมเสียขันติเพื่อรักษาอวัยวะร่างกาย

ขันติปรมัตถบารมี ได้แก่ ขันติที่บำเพ็ญเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต คือบำเพ็ญขันติ รักษาขันติไว้อย่างยอมสละชีวิต ไม่เห็นค่าของชีวิตยิ่งกว่าขันติ

ในจริยาปิฏกอันแสดงอดีตจริยาของพระพุทธเจ้า เมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ท่องเที่ยวไปบำเพ็ญบารมีแสดงว่า ขันติของพระโพธิสัตว์เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น ธรรมบาลกุมาร เป็นขันติบารมี ขันติเมื่อทรงเป็น ธรรมเทพบุตร ผจญกับอธรรมเทพบุตร เป็นขันติอุปบารมี ขันติเมื่อครั้งทรงเป็น ขันติวาทีดาบส เป็นขันติปรมัตถบารมี

เมื่อพิจารณาตามกระแสธรรม พระบารมีขันติเป็นต้น ที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยม ประมวลเข้าเป็น มรรคสมังคี ในขณะที่จะตรัสรู้ เป็นปรมัตถบารมีพร้อมกันทุกข้อ

ฉะนั้น ผู้ที่ปรารถนาความเจริญแก่ตน และปรารถนาความชนะในทางที่ชอบดังที่กล่าวมา ก็ควรอบรมขันติ โสรัจจะให้บังเกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ

๑๗ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 12 กันยายน 2554    
Last Update : 12 กันยายน 2554 9:56:25 น.
Counter : 1262 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๗ มัททวะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



มัททวะ ความเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อ ๕ มัททวะ แปลว่า ความอ่อนโยน
อธิบายทั่วไปว่า คือความเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน ไม่ดึงดื้อถือตนด้วยอำนาจ ถัมภะ คือความดื้อดุจเสา มีความอ่อนโยนไปตามเหตุผล ตามความสมควร ดังที่เรียกว่า การณวสิกะ เป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุการณ์ที่ควรดำเนิน และมีสัมมาคารวะต่อท่านผู้ใหญ่ผู้เจริญ อ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า วางตนสม่ำเสมอ ไม่กระด้างดูหมิ่นผู้อื่นด้วยอำนาจมานะ เพราะชาติ เพราะโคตร เพราะยศ เพราะทรัพย์ เป็นต้น

ข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงมีพระราชอัธยาศัยอ่อนโยน เมื่อมีผู้มากราบทูลด้วยข้ออรรถข้อธรรมที่กอปรด้วยเหตุผล ซึ่งเป็นวิสัยของบัณฑิตชน มิได้ทรงห้ามปราม ทรงวิจารณ์โดยถ้วนถี่ ถ้าดีชอบก็ทรงอนุโมทนา อนุวัตรตาม ไม่ทรงถือพระองค์ด้วยอำนาจมานะ ทรงสัมมาคารวะอ่อนน้อมแก่ผู้เจริญโดยวัย โดยคุณ ไม่ทรงดูหมิ่น จัดเป็นมัททวะ ความอ่อนโยน

หลักสมานัตตตาในพุทธศาสนา

อันคำว่า มัททวะ ตามที่อธิบายข้างต้น และตามที่แสดงถึงพระราชจรรยาของพระมหากษัตริย์ ว่าทรงประกอบด้วยความอ่อนโยน ดั่งที่ได้แสดงมานั้น เป็นการแสดงโดยทั่วไป นอกจากนี้คำว่าความอ่อนโยนนี้ ยังมีข้อที่ควรอธิบายเข้าหลักธรรมปฏิบัติได้อีกหลายประการ คือความอ่อนโยนนี้ย่อมเป็นไปทางจิตใจและเป็นไปทางกาย ต่อความประพฤติ ต่อบุคคล และต่อการงานต่างๆ ที่เป็นไปทางจิตใจนั้น ก็คือมีจิตใจที่ไม่ดื้อกระด้าง ไม่ประกอบด้วยความคิดหมิ่นแคลน มีจิตใจที่รู้สึกในบุคคลทั้งปวงเป็นไปโดยสม่ำเสมอ แต่ว่าเมื่อดำรงตำแหน่งฐานะอย่างใด ก็มีจิตใจรักษาตำแหน่งฐานะนั้นไว้โดยชอบให้เหมาะให้ควร แต่ไม่ใช่มีความหมายไปในด้านดูหมิ่นดูแคลนผู้อื่นที่ต่ำกว่า ทางพระพุทธศาสนานั้นสอนให้มี สมานัตตตา คือความเป็นผู้มีตนเสมอ ดังที่แสดงไว้ใน สังคหวัตถุ ธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดเหนี่ยวนำใจของกันและกันไว้ด้วยความเคารพรัก และพระพุทธศาสนานั้น ได้มุ่งถึงหลักความประพฤติเป็นข้อสำคัญ เมื่อประพฤติดี ประกอบกรรมดี ก็ชื่อว่าเป็นคนดี เมื่อประพฤติชั่ว ประกอบกรรมชั่ว ก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ว ความเป็นคนดีหรือความเป็นคนชั่วนั้น ทางพระพุทธศาสนามิได้จำแนกไว้เพราะเหตุอื่น เช่นเพราะเหตุว่ามีทรัพย์มากหรือน้อย มีตระกูลสูงหรือตระกูลต่ำเป็นต้น แต่ว่ามุ่งถึงกรรมคือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาที่ดีหรือชั่วของคนนี่แหละเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ใดประกอบกรรมดีก็ชื่อว่าเป็นคนดี แม้จะเป็นคนยากจนขัดสน เป็นคนที่เกิดในตระกูลสามัญ และเมื่อทำชั่วก็ชื่อว่าเป็นคนชั่ว แม้ว่าจะเป็นผู้มีทรัพย์ เป็นผู้ที่ได้รับนับถือว่าเกิดในตระกูลดี ตระกูลสูง เพราะฉะนั้น จึงไม่ยกเอาทรัพย์ชาติ ตระกูลเป็นต้นดังกล่าวเป็นหลักในการแบ่งความเป็นคนดี ความเป็นคนชั่ว เพราะฉะนั้น หลักอันนี้จึงเป็นหลักที่เป็นสามัญทั่วไป เพราะฉะนั้น ทุกๆ บุคคลเมื่อต่างถือหลักอันนี้เสมอกันว่า เป็นคนดีเพราะทำกรรมดี เป็นคนชั่วเพราะทำกรรมชั่ว ก็ตั้งใจประกอบกรรมที่ดีต่อกัน เกื้อกูลกัน ดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติตามหลัก สมานัตตตา ความเป็นผู้ที่เสมอกันโดยกรรม และก็มุ่งที่จะนับถือกรรมเสมอกันตามหลักของศรัทธาคือความเชื่อ และตามหลักของการปฏิบัติก็มุ่งที่จะละความชั่ว ประกอบกรรมดีเสมอกัน นี่ก็เป็นสมานัตตตาอย่างหนึ่ง

ทรงสอนให้มีทิฏฐิสามัญญตา

ความที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสอน ทรงบัญญัติพระวินัยสั่งเอาไว้สำหรับที่จะเป็นข้อประพฤติปฏิบัติ ทุกๆ บุคคลก็เคารพนับถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยเสมอกัน ให้เป็นผู้ที่มีทิฏฐิคือความเห็นชอบถูกต้อง อันเป็นความเห็นที่ประเสริฐที่นำออกจากทุกข์ได้สม่ำเสมอกัน อันเรียกว่า ทิฏฐิสามัญญตา และความเป็นผู้ที่มีความประพฤติอันเรียกว่าศีล ตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพระบัญญัติของพระพุทธเจ้าสม่ำเสมอกัน ละข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต ดั่งนี้ อันเรียกว่า สีลสามัญญตา ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีสมานัตตตา ปฏิบัติตนให้เสมอกัน และในทางบ้านเมืองก็มีกฎหมาย มีกฎระเบียบต่างๆ สำหรับปฏิบัติ ก็ปฏิบัติให้สม่ำเสมอกัน ดั่งนี้ก็เป็นหลักสมานัตตตาอย่างหนึ่ง และที่แสดงถึงทิฏฐิสามัญญตาเมื่อกี้นี้ว่า มีความเห็นที่ประเสริฐที่นำออกจากทุกข์ ก็เพราะว่าทุกคนนั้นมีความเสมอกันในอริยสัจ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในทุกข์นั้นต่างก็มีเกิดมีแก่มีตาย มีโศก ทุกข์กายทุกข์ใจ ป่วยไข้เป็นต้น เสมอกันอันเป็นตัวทุกข์ และต่างก็มีเหตุเกิดทุกข์คือตัณหาเสมอกัน เมื่อดับทุกข์ ก็ต้องดับตัณหาเสมอกัน จึงจะเป็นความดับทุกข์ได้ และจะต้องปฏิบัติในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จึงจะดับทุกข์ได้ เป็นหลักสัจจธรรมที่เป็นไปเสมอกัน ไม่มียกเว้นใคร อันนี้ก็เป็นหลักสมานัตตตาอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น เมื่อได้ระลึกถึงหลักของสมานัตตตาอย่างนี้แล้ว ก็ปฏิบัติอาศัยความอ่อนโยนของจิตใจ ให้เป็นไปตามหลักของสมานัตตตาเหล่านี้ นี่ก็เป็นสมานัตตตาในหลักธรรมเป็นต้นทางจิตใจ เป็นความอ่อนโยนทางจิตใจ อันประกอบด้วยหลักธรรมในสมานัตตตา เพราะว่าความที่จิตใจจะยอมรับในหลักสมานัตตตาดังกล่าวมานี้ ต้องเป็นจิตใจที่ปราศจากความดื้อถือรั้นไปตามอำนาจของกิเลส คือโลภโกรธหลงเป็นต้น ในจิตใจของตัวเอง ไม่ดื้อถือรั้นไปตามอำนาจของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง ถ้าหากว่าลุอำนาจของกิเลสเป็นทาสของตัณหาแล้ว ใจก็จะแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับในหลักธรรมทั้งปวงเหล่านี้ จะปฏิบัติฝืนหลักธรรมเหล่านี้ไปตามอำนาจของกิเลส นี่ก็เพราะว่าจิตใจไม่อ่อนโยน เพราะกิเลส เป็นจิตใจที่แข็งกระด้าง ต่อเมื่อจิตใจที่ไม่ดื้อถือรั้นเพราะอำนาจของศรัทธาปัญญาเป็นต้น จึงได้อ่อนโยนไปตามหลักธรรม ด้วยอำนาจของศรัทธาปัญญาเป็นต้น ก็จะทำให้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีความอ่อนโยนในหลักธรรม

ปฏิบัติพรหมวิหารธรรมให้จิตใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น

ความอ่อนโยนที่เป็นไปในบุคคลนั้น ก็คือมีจิตใจที่แข็งกระด้าง ดูหมิ่นดูแคลน ดังเช่นที่กล่าวนั้น ยอมรับนับถือว่าทุกคนมีสมานัตตตา ตามหลักธรรมที่เสมอกันไม่แตกต่างกัน ต้องเป็นเพื่อนแก่เพื่อนเจ็บเพื่อนตายด้วยกัน ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว ทำกรรมดีก็ได้ดีด้วยกัน เมื่อปฏิบัติในทุกขสมุทัยก็ย่อมได้ทุกข์ ปฏิบัติในมรรคก็ย่อมได้ความดับทุกข์เสมอกัน จิตใจก็มีความอ่อนโยนไปในคนทั้งปวง และเมื่อแถมมา แผ่นเมตตา แผ่กรุณา แผ่มุทิตา แผ่อุเบกขา อันเป็น พรหมวิหารธรรม ไปในกันและกันอีกด้วยแล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้อ่อนโยนมากยิ่งขึ้น เหมือนว่าสัตว์บุคคลทั้งปวงในโลกนี้เป็นญาติเป็นมิตรกันทั้งหมด เป็นผู้ที่ควรเมตตาควรกรุณาเป็นต้นต่อกันทั้งหมด ก็เป็นความอ่อนโยนที่เป็นไปในบุคคล

มีความอ่อนโยนในการปฏิบัติการงาน

และในส่วนการงานนั้นก็จะต้องมีความอ่อนโยน จึงจะปฏิบัติการงานนั้นๆ ได้ แม้ร่างกายที่ปฏิบัติการงานเอง ร่างกายก็ต้องมีความอ่อนโยนเป็นธรรมชาติธรรมดา เช่นว่าคนเราจะเดินจะยืนจะนั่งจะนอนได้ ร่างกายนี้ก็ต้องอ่อนโยน สามารถที่จะพับขาเข้าได้ เหยียดขาออกได้ พับแขนได้ เหยียดแขนออกได้ สำหรับอาจที่จะก้มได้ ที่จะเงยได้ ที่จะอ้าปากพูดได้หรือบริโภคอาหารได้ แม้มือที่จะเขียนหนังสือ จะเขียนหนังสือได้ มือก็ต้องอ่อน นิ้วที่จับปากกาดินสอก็ต้องอ่อน สามารถที่จะจับปากกได้ ที่จะเขียนได้ เหล่านี้เป็นความอ่อนโยนของร่างกายทั้งนั้น เพราะฉะนั้นความอ่อนโยนของร่างกายนี้ จึงชื่อว่าเป็น อุปาทายรูป รูปอาศัยอย่างหนึ่ง ดังร่างกายของคนเป็น เป็นร่างกายที่มีความอ่อนโยน ส่วนร่างกายของคนตายนั้นแข็งกระด้าง ไม่สามารถที่จะมีความอ่อนโยนเหมือนอย่างร่างกายของคนเป็นดังที่กล่าวได้ เพราะฉะนั้น แม้ธรรมชาติธรรมดาของร่างกาย ก็ต้องมีความอ่อนโยนที่เรียกว่ามัททวะ ดั่งนี้

ความอ่อนโยนทางกายและวาจาเนื่องมาจากจิตใจ

และความอ่อนโยนทางจิตใจ อันสืบเนื่องมาถึงความอ่อนโยนทางร่างกายที่แสดงต่อกัน เพราะเมื่อมีจิตใจอ่อนโยน ประกอบด้วยเมตตากรุณาเป็นต้นดังที่กล่าวมานั้น ก็จะทำให้ความประพฤติทางกายทางวาจาทางใจต่อกัน เป็นไปด้วยความอ่อนโยน ร่างกายที่แสดงออก เป็นวาจาที่พูด ก็จะเป็นวาจาที่เรียกว่า ปิยวาจา วาจาซึ่งเป็นที่รักอันเป็นที่จับใจ นำให้เกิดความรัก ไม่เป็นวาจาที่แข็งกระด้างหมิ่นแคลน อันนำให้เกิดความเกลียดชัง อาการทางกายที่แสดงออกก็เป็นอาการที่สุภาพนิ่มนวล ชวนให้เคารพรัก ไม่ขัดขวางลูกตาใคร เพราะเหตุที่แสดงท่าทางที่เรียกว่าเป็นการแบ่งก็ดี เป็นการหมิ่นแคลนก็ดี เหล่านี้เป็นต้น เหล่านี้ก็รวมเป็นเรื่องของความอ่อนโยนทางกาย อันหมายถึงวาจาด้วย เพราะฉะนั้น คุณสมบัติข้อนี้จึงเป็นข้อที่สำคัญมาก

ทรงมีความอ่อนโยนออกมาจากพระราชหฤทัย

และสำหรับองค์พระมหากษัตริย์นั้น ก็ปรากฏว่าได้ทรงมีความอ่อนโยนออกมาจากพระราชหฤทัย ปรากฏทางพระอาการทางพระวรกายและทางพระวาจา ดังที่ปรากฏ และนอกจากนี้ ยังทรงทำให้เกิดความอ่อนโยน เป็นความสามัคคี ร่วมการร่วมงานกันในการงานทั้งหลายด้วย ดังที่ปรากฏว่าอันการจัดโครงสร้างองค์กรที่มีการจัดระบบการบริหารขั้นแบ่งแยกแจกแจงหน้าที่กันอย่างแน่ชัดว่า หน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในพื้นที่ หน่วยงานใดบ้างที่จะเข้ามาประสานการดำเนินงาน เพื่อให้การพัฒนาได้ดำเนินไปสู่เป้าหมายอย่างสมบูรณ์ อันนี้เป็นบ่อเกิดของพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ขึ้น ด้วยมีพระราชดำริว่า กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้าน ได้สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ปรองดองกัน ประสานงานกัน ตามธรรมดาแต่ละฝ่ายต้องมีศูนย์ของตน แต่ว่าอาจมีการถือว่าเป็นศูนย์ของตัวเอง คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง และศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ เป็นศูนย์ที่รวบรวมกำลังทั้งหมดของเจ้าหน้าที่ทุกกรมกอง ทั้งในด้านเกษตรหรือในด้านสังคม ทั้งในด้านที่งานการส่งเสริมการศึกษา ก็หมายความว่าประชาชนที่จะใช้วิธีการทั้งหลายสามารถจะมาดู ส่วนเจ้าหน้าที่ที่จะให้ความอนุเคราะห์แก่ประชาชนก็มาอยู่พร้อมกัน ในที่ซึ่งเป็นที่เดียวกัน จึงหมายความถึงที่สำคัญปลายทาง ประชาชนจะได้รับประโยชน์ ต้นทางของผู้เป็นเจ้าหน้าที่ที่จะให้ประโยชน์ นอกจากนั้นยังพระราชทานแนวพระราชดำริที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่า ส่วนราชการต่างๆ ที่เคยจัดตั้งหน่วยหรือสถานีทดลองแยกกัน แต่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน หากจะตั้งโครงการพัฒนาขึ้นใหม่ ก็น่าจะมาอยู่ร่วมในสถานที่เดียวกันในลักษณะศูนย์ศึกษาการพัฒนา เพราะฉะนั้น จึงได้ปรากฏผลดี เพราะเหตุว่าทำให้โครงการต่างๆ สามารถดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังที่เห็นได้เด่นชัดก็อย่างศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่นราธิวาส ที่เรียกว่า ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงที่ดินที่เรียกว่าพรุ มาใช้ในการเกษตรและการเลี้ยงสัตว์ให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรและทำรายได้ให้แก่เขา ใช้เป็นที่อยู่ได้ ทำมาหากินได้ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่น้ำท่วม และเป็นที่ที่ไม่สามารถจะประกอบการเกษตรใดๆ ได้ ดั่งนี้เป็นต้น

การมีศูนย์ทำให้เกิดความอ่อนโยน

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้โปรดจัดให้มีศูนย์ขึ้นดังนี้ ก็ทำให้เกิดความอ่อนโยน คือทำให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยต่างๆ ซึ่งแยกกันอยู่ ซึ่งเคยถือว่าหน่วยของใครก็หน่วยของใคร ไม่ประสานงานกัน แต่อันที่จริงนั้นควรจะประสานงานกัน เพราะเป็นเรื่องที่สืบเนื่องต่อเนื่องกัน สัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้น จึงเป็นการปฏิบัติงานที่เรียกว่าแข็งตัว ไม่ใช่อ่อนตัว แต่เมื่อมามีศูนย์รวมกัน ก็เป็นอันว่าทำให้เกิดความอ่อนโยน คือ ทำให้ทุกฝ่ายนั้นพ้นจากภาวะที่เรียกว่าแข็งตัว ต่างคนต่างอยู่ต่างคนต่างทำ มาร่วมกันคิด ร่วมกันจัดทำในเรื่องที่สืบเนื่องกันไป ในที่อันเดียวกัน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์มาก อย่างในแหล่งที่อ้างมานั้น ซึ่งมีพรุ ซึ่งมีเนื้อที่มากมาย อันเป็นที่น้ำเค็มมาขังสะสมอยู่นาน จึงทำให้ไม่สามารถที่จะประกอบเกษตรกรรมอะไรได้ แต่เมื่อมามีการค้นคว้าพิสูจน์ที่จะแก้ไขภาวะที่ดินที่เป็นพรุนี้ให้กลับเป็นประโยชน์ และใช้ดินที่เป็นพรุนั้นทำประโยชน์ด้วย ก็ได้ปรากฏผลที่คืบหน้า เช่นเป็นต้นว่า ดินที่พรุนั้นเมื่อเอามาพิสูจน์ และเอามาผสมกับส่วนประกอบอีกบางส่วนสามารถใช้ทำเป็นปุ๋ยได้ และก็ได้ทดลองไปให้โรงเรียนทั้งหลาย นำเอาดินพรุซึ่งผสมส่วนให้เป็นปุ๋ยได้นั้นไปทดลองใช้ปลูกผัก ก็ปรากฏว่าได้ผล ทำให้ผักที่ปลูกนั้นเติบโตได้ และให้ผลได้ เป็นตัวอย่างแห่งการแก้ที่ดินที่ว่าใช้ไม่ได้นั้นให้ใช้ขึ้นมาได้ได้ด้วยและก็เสาะหาข้าวเป็นต้นที่สามารถจะนำมาปลูกในพื้นที่นั้นได้ ในเมื่อที่ได้มีการแก้ไขเอาน้ำเค็มออกไป และแก้ไขที่ดินให้ดีขึ้นตามสมควร โดยที่ได้รวบรวมพันธุ์ข้าวทั้งหมดในประเทศ แล้วก็พันธุ์ไหนบ้างสามารถจะปลูกในที่ดินที่เป็นพรุนั้นได้ และพันธุ์ไหนบ้างที่สามารถจะปลูกในที่ดินอื่นนอกจากนั้นเป็นแห่งๆ ไป ก็สามารถพบพันธุ์ข้าวที่สามารถปลูกในที่นั้นได้ ดั่งนี้เป็นต้น เพราะเหตุที่ได้มีศูนย์ศึกษาการพัฒนาขึ้นดั่งนี้ จึงพบเหตุ แก้ไขเหตุให้ถูกต้อง ให้ได้รับผลในด้านการเกษตร ทำที่ดินที่ไร้ประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ขึ้น ทำที่ดินมากมายที่ว่างเปล่า ให้คนได้เข้าทำมาหากินและเข้าอยู่อาศัยได้ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติในหลักของความอ่อนโยนนั้นเอง คือทำให้บุคคลทุกๆ ฝ่ายที่มีความแข็งตัว ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ประสานกันมารวมตัวกัน และช่วยกันคิดช่วยกันทำเป็นความอ่อนโยน อันนี้แหละคือหลักมัททวะที่จะพึงเห็นได้เป็นหลักอันสำคัญทั่วไปที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติในสิ่งทั้งหลาย เพราะฉะนั้น คำว่ามัททวะคือความอ่อนโยนนี้ จึงไม่ใช่มีความหมายเล็กน้อย แต่มีความหมายที่เป็นประโยชน์มาก ซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้หลักการคือหลักธรรมข้อนี้มาในการที่ทรงปฏิบัติราชกิจ

ความเนื่องกันระหว่างวิริยะและมัททวะ

อนึ่ง ในบารมีข้อที่ ๕ คือ วิริยะ กับทศพิธราชธรรมข้อที่ ๕ คือ มัททวะ ความอ่อนโยน ดูถ้อยคำต่างความหมายกัน แต่เมื่อพิจารณาจากหลายพระสูตรจะพบว่า มีความเนื่องกันอยู่ในประการที่สำคัญ ยกตัวอย่างใน กันทรกสูตร แสดงว่า “จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีเนิน ปราศจากอุปกิเลส เป็นจิตอ่อน ควรแก่การงาน ตั้งอยู่ ถึงความไม่หวั่นไหว ย่อมน้อมไปเพื่อญาณปรีชาซึ่งเป็นอภิญญาชั้นสูงได้ คือจิตที่ควรแก่การงานคือปฏิบัติงานเพื่อปรีชาญาณได้จะต้องมีจิตที่มีสมาธิ มีลักษณะอ่อน” ใช้คำว่า “มุทุภูตะ เป็นจิตอ่อน” เมื่อพิจารณาดูก็จะเห็นว่า จิตที่ไม่มีสมาธิเป็นจิตที่แข็งกระด้างด้วยอำนาจนิวรณ์ คือกิเลสที่เกิดขึ้นกลุ้มรุมอยู่ในจิต ทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวาย ไม่อาจใช้จิตนี้ทำงาน ไม่อาจน้อมไปเพื่อพิจารณาเพื่อปัญญาได้ เป็นอันว่าใช้ความเพียรไม่ได้ ไม่มีกำลังที่จะตั้งความเพียร จึงชื่อว่าไม่ควรแก่การงาน ต่อเมื่อจิตเป็นสมาธิ จิตควรแก่การงาน คือควรตั้งความเพียรทำการงานได้ เพราะเป็นจิตอ่อนโยน เรียกว่ายอมให้น้อมไปทำงาน แม้ในการทำงานทั่วไปด้วยความเพียร จิตก็ต้องอ่อน ยอมให้น้อมไปเพื่อตั้งความเพียรเพื่อทำงานนั้น เพียรเพื่อทำอะไรให้สำเร็จ จึงต้องมีความอ่อนโยนยินยอมพอใจของจิตประกอบอยู่ด้วย ใน ธาตุวิภังคสูตร แสดงอุปมาที่ทำให้เห็นได้ง่ายขึ้น ว่าเปรียบเหมือนช่างทองสุมทองในเบ้า คือตั้งความเพียรให้พอดี มิให้มากไปน้อยไป บางคราวก็ต้องสูบลมให้แรง บางคราวก็ต้องพรมน้ำให้ไฟลดลง เพื่อให้ทองละลายให้พอดี ทองจึงอ่อนเหลว ควรแก่การงาน ผุดผ่องได้ที่ จึงเททองที่อ่อนเหลวได้ที่ ทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ตามปรารถนา วิริยะ ความเพียร กับ มัททวะ ความอ่อนโยน จึงต้องประกอบไปด้วยกัน ดั่งนี้

และในอุปมาในธาตุวิภังคสูตรนี้ ก็แสดงว่า อันทองคำที่จะใช้หล่อให้เป็นทองรูปพรรณต่างๆ ได้นั้น จะต้องสุมให้เหลว ในอ่อนเหลว ดังนี้แหละคือ มัททวะ ความอ่อนโยน หรือเมื่อทองอ่อนเหลวแล้ว จึงจะเททองที่อ่อนเหลวได้ที่ ทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ตามปรารถนา ถ้าหากว่าทองไม่อ่อนเหลว ก็ไม่สามารถจะทำทองรูปพรรณต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้น มัททวะคือความอ่อนโยนของจิต ยอมที่จะประกอบความเพียร จึงเป็นจิตที่สามารถประกอบความเพียรได้ อันเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า วิริยะ ความเพียร กับ มัททวะ ความอ่อนโยน ต้องประกอบไปด้วยกัน

๑๖ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 05 กันยายน 2554    
Last Update : 5 กันยายน 2554 7:10:52 น.
Counter : 815 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๖ วิริยบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



วิริยะ ความเพียร

จะแสดง วิริยบารมี ข้อที่ ๕

สมเด็จพระบรมศาสดา เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ก็ได้ทรงเปี่ยมด้วยความพยายามที่เรียกว่า วิริยะ แปลว่า ความเพียร อันจัดเป็นพระบารมีข้อหนึ่งของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาโดยลำดับ คำว่า วิริยะ หรือ ความเพียร ตามศัพท์แปลว่า ความเป็นวีระ คือคนกล้า หมายความว่ากล้าทั้งในทางไม่ทำ ทั้งในทางทำ จึงยังเป็นคำกลางๆ เพราะเป็นอุปการะในทางชั่วก็ได้ ในทางดีก็ได้ จะทำชั่วก็ต้องอาศัยความเพียร คือต้องกล้าที่จะไม่ทำดี กล้าที่จะทำชั่ว จะทำดีก็ต้องอาศัยความเพียร คือต้องกล้าที่จะไม่ทำชั่ว กล้าที่จะทำดี

ปธาน การตั้งความเพียร

ทางพระพุทธศาสนาสอนให้เพียรแต่ในทางดี คือให้กล้าที่จะละเว้น ไม่ทำชั่ว ให้กล้าที่จะทำดี ดังที่สอนให้มี ปธานะ การตั้งความเพียร ๔ สถาน ได้แก่

๑. เพียรระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
๒. เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรทำบุญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
๔. เพียรรักษาบุญกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งอยู่และให้เจริญยิ่งขึ้น

อิทธิบาท ธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ

ในการตั้งความเพียรดังกล่าวนี้ ให้มี

๑. ฉันทะ ความพอใจ
๒. วิริยะ ความเพียรพยายาม
๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ ไม่ทอดธุระ
๔. วิมังสา ความพิจารณา ใคร่ครวญ

ทั้ง ๔ นี้เรียกว่า อิทธิบาท แปลว่า ธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ ความเพียรที่มีลักษณะเป็นปธาน และอิทธิบาทดังกล่าวนี้ สรุปลงได้เป็น ๒ คือ กล้าที่จะไม่ทำชั่ว และกล้าที่จะทำดี

ความเกียจคร้านเป็นข้าศึกของความเพียร

ข้าศึกของความเพียรคือความเกียจคร้าน ตามศัพท์ว่า โกสัชชะ ความนอนจม เมื่อกำจัดความเกียจคร้านได้แล้ว จึงจะตั้งความเพียรขึ้นได้ และความเพียรจะล้มทะลายลงเมื่อเกิดความเกียจคร้านขึ้นเต็มที่ ถ้าไม่ถึงล้มก็อ่อนแอลง ลักษณะความทรงตัวอยู่อย่างเข้มแข็งของความเพียรเรียกว่า ธาตุ กำหนดเป็น ๓ วาระ คือ เริ่มต้น (อารัมภธาตุ) ดำเนิน (นิกกมธาตุ) ก้าวหน้า (ปรักกมธาตุ) ถ้าอ่อนแอล้มเหลวลงระยะใดระยะหนึ่งก็เพราะเกียจคร้านนั้นแหละ เหตุของความเกียจคร้านมีหลายอย่าง เป็นต้นว่า ความติดสุข สนุกสบาย ความกลัวลำบากตรากตรำ ความมักง่าย ความผัดวันประกันพรุ่ง ถ้าปล่อยให้มีครอบงำอยู่เป็นอาจิณ ก็จะสร้างสันดานเกียจคร้านขึ้น ทำให้เป็นคนทำอะไรหยิบโหย่งมักง่าย ไม่สำเร็จ ทิ้งการงานเสียง่ายๆ ไม่เช่นนั้น ก็หลีกเลี่ยงการงาน หนักไม่เอาเบาไม่สู้ ทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

พระพุทธศาสนาสรรเสริญความเพียรชอบ

เหตุของความเพียรในทางตรงกันข้ามก็มีหลายอย่างเหมือนกัน เป็นเหตุในทางไม่ดีก็มี ในทางดีก็มี ในทางไม่ดีนั้นเป็นต้นว่า ความอยากได้ ความโกรธ ความลุ่มหลง เป็นเครื่องดันใจให้กล้า ให้เพียรพยายามไปตามแรงส่งของความอยาก ความโกรธ ความหลงใหล สุราก็เป็นเหตุอีกอย่างหนึ่ง ไม่ดื่มสุรายังไม่กล้า ต้องดื่มสุราย้อมกายย้อมใจเข้าไป จึงกล้าแบบที่เรียกว่า “เห็นช้างเท่าหมู” ก็คือย้อมใจให้กล้าอย่างหย่อนสตินั้นเอง เพราะถ้าสติยังดีอยู่ก็ไม่กล้า จึงต้องหาทางลดสติลงไปเสีย ส่วนในทางดีนั้นเป็นต้นว่า กุสลฉันท ความพอใจต้องการกุศล ความดี ความมีสติ รักษาใจให้ไม่ประมาท ความเมตตากรุณา ความคอยเตือนคน ความตั้งใจไว้แน่วแน่และรักษาความตั้งใจไว้ให้เป็นจริงที่เรียกว่า รักษาสัจจะ เหล่านี้เป็นเครื่องหนุนใจให้กล้า ให้พยายามในทางดีได้ทุกอย่าง จิตใจนี้เป็นของปลุกขึ้น หนุนขึ้น ถ้ามีพื้นอัธยาศัยนิสัยไม่สู้ดีอยู่ก็ปลุกปั่นหนุนไปในทางนั้นได้ง่าย แต่ก็อาจหนุนแก้ให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน และถ้ามีพื้นอัธยาศัยนิสัยดีอยู่ ก็ปลุกขึ้นหนุนขึ้นในทางดีได้ง่าย แต่ก็อาจหนุนให้หมุนผิดไปได้เหมือนกัน ฉะนั้น ข้อสำคัญจึงอยู่ที่ความไม่ประมาท มีสติรักษาใจ และรักษาความถูกต้องไว้ ใช้ความเพียรไปในทางที่ถูกให้สม่ำเสมอ ทางพระพุทธศาสนาติความเกียจคร้าน สรรเสริญความเพียรชอบในที่ทุกสถาน ดังที่ได้ตรัสไว้ใน ลักษณะตัดสินพระธรรมวินัย ข้อหนึ่งว่า “ธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระศาสดา ส่วนธรรมเหล่าใด เป็นไปเพื่อเริ่มต้นความเพียร ธรรมเหล่านั้น เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา”

อานิสงส์ของความเพียรในมหาชนกชาดก

และในชาดก ก็ได้แสดงนิทานสาธกให้เห็นอานิสงส์ของความเพียรไว้มากเรื่อง เช่น มหาชนกชาดก ได้เล่าเรื่องพระราชกุมารพระนามว่า มหาชนก ในอดีตกาลก่อนพุทธกาลนานไกล ผู้มีความเพียรแรงกล้า เรื่องย่อมีว่า พระมหาชนกโอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กรุงมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในการรบด้วยทัพของพระอนุชาแล้ว พระมารดากำลังทรงครรภ์พระมหาชนก ปลอมองค์หนีไปประทับลี้ภัยในกาลจัมปากะนคร ได้รับอุปการะจากพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ในนครนั้น พระมหาชนกได้ประสูติในนครนั้น มีจิตใจกล้าหาญ มีความเพียรแรงกล้าเรียนจบไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงเมื่อมีพระชนม์เพียง ๑๖ ปี ต่อมาขอทรัพย์จากพระมารดาเป็นทุน เพื่อจะข้ามมหาสมุทรไปค้าขายในสุวรรณภูมิ (เป็นที่เข้าใจว่าคือแถบแหลมทองหรือแหลมอินโดจีนนี้) จัดหาสินค้าบรรทุกเรือกับพ่อค้าทั้งหลายผู้จะไปสุวรรณภูมิ ลามารดาแล้วออกเรือแล่นใบไปในมหาสมุทร พระมหาชนกเป็นผู้ฉลาดและเป็นผู้กล้าหาญ รู้ว่าเรือจะจมแน่ก็ไม่ตกใจ เตรียมองค์ว่ายน้ำ กำหนดทิศนครมิถิลา กระโจนจากเรือที่กำลังจม ว่ายน้ำไปทางทิศนครมิถิลาเป็นเวลาหลายวัน ในวันที่ ๗ เทพธิดารักษาสมุทรชื่อมณีเมขลาได้ผ่านมาพบ ประสงค์จะลองสอบกำลังจิตใจ จึงตั้งปัญหาถามให้ตอบโดยลำดับว่า ในท่ามกลางมหาสมุทร ไม่เห็นฝั่ง เห็นประโยชน์อะไร จึงพยายามแข็งอยู่อย่างนี้ ไม่ถึงฝั่งจักตายแน่ พยายามไปก็เป็นโมฆะเสียแรงเปล่ากระมัง การงานที่ไม่น่าจะสำเร็จ ไม่มีผล ให้เกิดความลำบากเปล่า จะมีประโยชน์อะไรด้วยความพยายามไปในการงานนั้นซึ่งให้ความสำเร็จคือความตาย พระมหาชนกได้ตอบโดยลำดับว่า ข้าพเจ้าตรองเห็นโลกวัตรคือคติปฏิบัติของโลก และตรองเห็นผลดีของความพยายาม จึงพากเพียรอยู่กลางมหาสมุทรทั้งที่ไม่เห็นฝั่ง อนึ่ง เมื่อเพียรทำกิจของบุรุษ ก็ชื่อว่าไม่เป็นหนี้ญาติ ไม่เป็นหนี้เทวดา ไม่เป็นหนี้บิดามารดา ทั้งไม่ต้องเดือดร้อนในภายหลัง อนึ่งเล่าถึงรู้ว่าไม่ถึงฝั่งคือความสำเร็จแน่ ก็ไม่ควรรักษาชีวิตของตนไว้ พึงรู้ไว้เถิด ถ้าจะต้องทิ้งความเพียร (ว่า) คนบางพวกในโลกนี้ มองเห็นผลแห่งความประสงค์ของตนจึงพากันประกอบการงาน แต่การงานเหล่านั้นก็สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ผลของการงานปัจจุบันก็เห็นกันอยู่ดังนี้มิใช่หรือ คนอื่นจมไปแล้วก็ตาม ข้าพเจ้าก็จะว่ายข้ามต่อไป ข้าพเจ้าเห็นท่านผู้เป็นเทวดาในที่ใกล้ (เป็นผลของความเพียรของข้าพเจ้า) ข้าพเจ้าจักพยายามต่อไปเต็มสติกำลัง จักทำกิจที่บุรุษพึงทำ คือเพียรไปให้ถึงฝั่งสมุทร เทพธิดาจึงได้นำพระมหาชนกไปส่งถึงกรุงมิถิลา พระมหาชนกได้เป็นราชาแห่งรัฐนั้นสืบต่อไป

ตามเรื่องพิสดารในชาดกนั้น พึงเห็นสารคติแห่งเรื่องนี้ว่า พระมหาชนกมิได้หวังพึ่งเทวดา แต่คิดพึ่งตนเองมาตั้งแต่ต้น เมื่อเห็นเรือจะอัปปาง ก็คิดเตรียมตนว่ายน้ำ แล้วก็เพียรว่ายน้ำมุ่งให้ถึงฝั่งให้จงได้ ตลอดเวลาหลายวัน เมื่อเทวดามาปรากฏกล่าวชวนให้ท้อแท้หมดกำลังใจ ก็ไม่ทิ้งความเพียร คงมีใจเข้มแข็งมั่นคงมุ่งเพียรว่ายจนกว่าจะตายไปกับความเพียร ทั้งที่เห็นเทวดาอยู่เฉพาะหน้าก็ไม่ขอให้เทวดาช่วย ตั้งหน้าช่วยตนด้วยตนต่อไป เทวดาจึงได้เข้าช่วย บุคคลเช่นนี้เองเรียกว่าเป็นผู้ที่เทวดาช่วย คือผู้ที่เพียรช่วยตนเองโดยไม่หวังขอให้เทวดาช่วย คือความเพียรนี้เองพึงเห็นว่าเป็นเทวดา เมื่อจับทำการงานทีแรก มักเห็นความเพียรเป็นความยากลำบากน่าเบื่อหน่าย ต่อเมื่อเพียรไปจนใกล้จะสำเร็จก็จะเห็นว่า ความเพียรนี้เป็นเทวดาขึ้นมาทันที ลืมความเหนื่อยยาก เพราะเห็นผลที่จะทำให้ปลื้มใจอยู่เบื้องหน้าแล้ว ผู้ที่เคยพากเพียรเหนื่อยยากในการที่จะอำนวยผลที่ปรารถนาอย่างยิ่ง เมื่อใกล้จะสำเร็จผล ย่อมจะรู้สึกเห็นดังนี้อยู่ด้วยกัน เพราะงานที่จะสำเร็จผลแน่นอนย่อมมีทางทะลุปรุโปร่ง เป็นอานิสงส์ของความเพียรที่ผุดขึ้นมาให้เห็นชัด คนเกียจคร้านจะไม่มีโอกาสเห็นเทวดา คืออานิสงส์ของความเพียรได้เลย

วิริยาบารมีคือนิสัยสันดารเพียร

การทำ ความเพียรชอบ เป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิริยบารมี คือความเพียรที่ทำคราวหนึ่งๆ ไม่หมดสิ้นไป ย่อมสร้างนิสัยสันดานเพียรให้กล้าแข็งขึ้นโดยลำดับ เหมือนอย่างทำสวนเพาะปลูกต้นไม้ คนเพาะปลูกและบำรุงต่างๆ นี้เป็นกรรม คือความเพียรที่ตนทำ ต้นไม้เองแตกหน่อเติบโตและให้ผล คนทำหรือตั้งความเพียรซึ่งเรียกว่าเป็นกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า วิริยกรรม และความเพียรเองเกิดแตกหน่อเติบโตกระทั่งให้ผล นี้คือวิริยบารมี พุดง่ายๆ ก็คือนิสัยสันดานเพียร

วิริยบารมี ๓ ชั้น

สมเด็จพระบรมศาสดาได้ทรงบำเพ็ญวิริยบารมีมามาก ตัดกังวลห่วงใยในคนที่รักและทรัพย์สิน นับเป็น บารมีสามัญ ดังเช่นที่แสดงไว้ใน มหากปิชาดก ว่า พญากระบี่เพียรช่วยพราหมณ์ผู้ตกเหวให้ขึ้นจากเหวได้
ทั้งตัดกังวลห่วงใยในอวัยวะร่างกาย นับเป็นบารมียิ่งยวดอันเรียกว่า อุปบารมี ดังเช่นที่พรรณนาไว้ใน มหาสีลวชาดก ว่า พระเจ้าหมาสีลวราชทรงเพียรช่วยพระองค์เองและหมู่อำมาตย์ ให้รอดชีวิตและให้ได้รับราชสมบัติคืนมา
จนถึงตัดกังวลห่วงใยในชีวิต เป็นบารมีที่ยิ่งยวดเต็มเปี่ยมอันเรียกว่า ปรมัตถบารมี ดังเช่นที่พรรณนาไว้ใน มหาชนกชาดก ที่สาธกมาข้างต้น

ทรงสละทุกอย่างเพื่อธรรมสมบัติ

อนึ่ง แม้ในพุทธประวัติในพุทธกาลนี้ก็แสดงว่า พระโพธิสัตว์ (อันเป็นคำเรียกพระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้) ได้ทรงทำความเพียรอย่างยิ่ง เมื่อเป็นพระกุมารในวัยเล่าเรียนศึกษา ก็ทรงได้เพียรศึกษาเป็นอย่างดียิ่ง และทรงกล้าคิดกล้าทำเกินสามัญชน ทรงคิดถึงเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทรงคิดถึงธรรมเป็นเหตุหลุดพ้น ทรงกล้าสละผลต่างๆ ที่โลกปรารถนาเพื่อธรรมนั้น ผลที่โลกปรารถนานั้นสรุปลงคือ ลาภ เช่นแก้วแหวนเงินทอง ทรัพย์ต่างๆ ยศ เช่นอำนาจ ชื่อเสียง บริวาร สรรเสริญ เช่นการยกย่องชมเชย และ สุข ความสุข สะดวกสบายต่างๆ ผลเหล่านี้ได้ทรงสละแล้วทุกๆ อย่าง ตามที่กล่าวว่า พวกพราหมณ์ได้ถวายการทำนายไว้ว่า ถ้าทรงอยู่ครองฆราวาสจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชบิดาได้ทรงเชื่อ และทรงปรารถนาจะให้พระโอรสเป็นอย่างทำนาย ข้อนี้จะพึงเป็นได้ อย่างไรก็ตาม แต่ข้อที่เป็นไปแล้วก็คือทรงสละได้ทุกๆ อย่าง ตั้งแต่สมบัติธรรมดาจนถึงจักรพรรดิสมบัติ และแม้ทิพยสมบัติที่ประณีตกว่า ถึงจะนำจักรพรรดิสมบัติอย่างสูงสุด รวมทั้งทิพยสมบัติมาถวายกั้นหน้าไว้ ก็ไม่ทรงหยุดยั้งถอยหลัง ไม่มีอะไรจะกางกั้นไว้ ไม่ให้ทรงออกไปแสวงหาโมกขธรรมได้

ทรงแสวงหาธรรมด้วยการบำเพ็ญสัมมาวายามะ

วิธีแสวงหาธรรมของพระองค์ คือ ทรงเสาะแสวงอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล คือชอบถูกต่อผลที่ทรงประสงค์ อันได้แก่ความหลุดพ้นนั้น ทรงพากเพียรกล้าคิดกล้าทำสอบเหตุสอบผลเรื่อยไป แม้ทุกรกิริยาก็ทรงบำเพ็ญเพื่อสอบเหตุผล กระทั่งเมื่อทรงพบทางที่ถูกแล้ว ก็ได้ทรงตั้งความเพียรอย่างเด็ดเดี่ยว ขณะที่ประทับนั่งที่ควง
โพธิพฤกษ์ในเวลาเย็นแห่งราตรีที่จะตรัสรู้ มีความว่า “เนื้อและโลหิตในสรีระของเราทั้งหมดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่พึงบรรลุได้ด้วยความเพียรของบุรุษ จักไม่หยุดความเพียร” จึงได้ทรงประสบธรรมเป็นเหตุผลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง นี้พึงเห็นว่าเป็นปรมัตถบารมีโดยแท้ จัดเป็น สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) ใน อัษฏางคิกมรรค แห่งความตรัสรู้

๑๓ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2554    
Last Update : 28 สิงหาคม 2554 8:21:36 น.
Counter : 783 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๕ ทศพิธราชธรรม ข้ออาชชวะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



อาชชวะ ความเป็นผู้ตรง

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อ ๔ คือ อาชชวะ

อาชชวะ แปลว่า ความเป็นผู้ตรง อันคำว่า “ตรง” นี้ ก็มีปัญหาว่า ตรงไปไหน ตรงไปอย่างไร ที่พูดกันนั้นมีความหมายถึงตรงไปตามเรื่องราวที่เกิดขึ้น เช่นเมื่อไต่ถามเรื่องใดเรื่องหนึ่งกับผู้ใดผู้หนึ่ง ก็มีการเตือนว่าให้พูดไปตามตรง เช่นได้ทำไปอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ตรงตามเรื่องราวที่เป็นไปแล้ว หรือตามเรื่องราวที่เป็นจริง อีกอย่างหนึ่งมักพูดกันว่า ตรงคือซื่อสัตย์สุจริต โดยมุ่งเอาสัตย์คือความจริง สุจริตคือความประพฤติดีเป็นที่ตั้ง เมื่อสัตย์ หรือสัจจะ ความจริงเป็นอย่างไร ก็ตรงไปอย่างนั้น มักจะใช้หมายทางวาจา คือพูดตามตรงดังกล่าวข้างต้น สุจริตนั้นคือความประพฤติดี ตรงต่อสุจริตก็คือประพฤติตรงต่อความดี และคำว่า ตรง นี้ ก็ใช้คำว่า ซื่อ เป็นความหมายของตรงด้วย ตรงคือซื่อ และก็มีเป้าหมายของความตรงดังเช่นที่กล่าว และก็มักจะพูดในความหมายถึงว่า ซื่อตรง ก็คือมีความไม่คิดคดทรยศ หรือซื่อสัตย์สุจริตดังกล่าวนั้น ต่อองค์การหรือบุคคลที่พึงซื่อสัตย์สุจริต รวมถึงต่อมิตรสหายทั้งหลาย เพราะว่าองค์การหรือบุคคลดังกล่าวนั้น เป็นบุคคลหรือเป็นองค์การที่ตนเองไม่พึงคิดคดทรยศ และมิตรสหายก็เช่นเดียวกัน ไม่เป็นบุคคลที่มิตรสหายด้วยกันพึงคิดคดทรยศต่อกัน

ตรงมักหมายถึงตรงในทางที่ดี

อันคำว่า ความคิดคดทรยศ นั้น ก็มีความหมายว่าไม่ตรงอยู่ในตัวแล้ว คดก็คือไม่ตรง คิดคดก็คือคิดไม่ตรง ทรยศก็หมายถึงคิดทำให้เสื่อมเสีย ยศ อันหมายถึง เสื่อมเสีย เกียรติยศ ยศคือเกียรติชื่อเสียง เสื่อมเสีย อิสสริยยศ ยศคือความเป็นใหญ่ บริวารยศ ยศคือบริวาร เมื่อคิดทำให้เสื่อมเสียต่างๆ ก็รวมเข้าในคำว่าทรยศต่อบุคคลหรือองค์การที่พึงจงรักภักดี ซื่อสัตย์สุจริต คำว่า ตรง นั้น จึงมักใช้พูดกันหมายถึงตรงในทางที่ดีดังเช่นที่กล่าวนั้น แต่อันที่จริงคำว่าตรงนี้เป็นคำกลางๆ ดั่งที่ได้ตั้งเป็นปัญหาขึ้นว่า ตรงไปไหน หรือตรงต่ออะไร ตรงอย่างไร คนที่เป็นศัตรูกันหรือคนที่เป็นคู่แข่งกัน คนที่กำลังทำเพื่อเอาชนะกัน ต่างฝ่ายต่างก็มีเป้าหมายของตน คือว่าความชนะ ต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ เพราะฉะนั้น การปฏิบัติของแต่ละฝ่ายนั้น จึงตรงไปตามเป้าหมายของตน คือมุ่งที่จะทำลายล้าง หรือมุ่งที่จะแข่งขันเอาชนะของตน ก็ตรงไปตามเป้าหมายของตน ในการกระทำที่ตรงไปตามเป้าหมายของตนนั้น ก็จะต้องมีการทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแพ้ด้วยวิธีต่างๆ ด้วยการหลอกลวงก็ตาม ด้วยการทำลายอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ดั่งนี้ก็เป็นตรงเหมือนกัน แต่ตรงไปในทางไม่ดี ทำลายล้างกัน

อาชชวะหมายถึงตรงในทางดี ซื่อสัตย์สุจริต

แต่อีกอย่างหนึ่งนั้นตรงไปทางดี ดั่งที่เรียกว่าซื่อสัตย์สุจริตดั่งที่กล่าวนั้น และเป็นข้อที่ยกขึ้นสอนทุกคนให้เป็นผู้ตรงต่อหน้าที่การงานของตน ต่อมิตรสหายของตน ต่อองค์การหรือหลักการของตน เช่น เป็นคนไทยก็ตรงหรือซื่อตรงต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของตน อันเป็นหลักไตรรงค์ของชาติ และองค์พระมหากษัตริย์เองก็ทรงปฏิบัติอยู่ในราชธรรมข้อนี้ คือความตรง ที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยความตรง ปราศจากมายาสาไถย ดำรงในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตร พระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง และประชาชน ไม่ทรงคิดร้ายโดยอุบายผิดยุติธรรม แม้ความที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นส่วนเหตุ ถูกตรงต่อความต้องการที่เป็นส่วนผล ด้วยกำลังพระปัญญาปรีชาสามารถ จัดเป็น อาชชวะ คือความเป็นผู้ตรง ความมีอัธยาศัยตรง ปฏิบัติซื่อตรง ปราศจากมายาสาไถย ไม่ปฏิบัติลวงกันหรือหลีกเลี่ยงแอบแฝง อันเป็นความหมายของคำว่าอาชชวะในข้อนี้

ปัญญาแท้จะต้องรู้ตรงต่อความเป็นจริง

ทศบารมีข้อ ๔ คือ ปัญญา กับทศพิธราชธรรมข้อ ๔ คือ อาชชวะ ความเป็นผู้ตรง ดูเป็นถ้อยคำ เป็นคนละความกัน แต่เมื่อเพ่งพินิจเข้าจริงจะเห็นว่า เนื่องกันอย่างใกล้ชิด เพราะปัญญาจะต้องมีความตรงจึงจะเป็นปัญญาแท้ คือจะต้องรู้ตรงต่อความเป็นจริง ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่นจะต้องรู้ตรงต่อเหตุผลที่เป็นจริงไม่ผิดไปจากความจริง ถ้าคดต่อเหตุผลที่เป็นจริงหรือคดต่อความจริง ก็มิใช่ปัญญาแต่เป็นโมหะ ความหลง อวิชชา ความไม่รู้ คือความรู้ไม่ถูกไม่ตรง ปัญญาจึงต้องมีความตรง และความตรงก็จะต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะเป็นความตรงแท้ คือตรงต่อเหตุผล ตรงต่อความถูกต้อง ตรงต่อธรรม ตรงต่อวินัย ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มีคำพูดว่า ซื่อ โง่ ก็คือซื่อ หรือตรงที่ขาดปัญญา ดังเรื่องเถรตรงหรือเถรส่องบาตร เรื่องเถรตรงคือเรื่องของพระแก่รูปหนึ่ง ที่มุ่งจะถือปฏิบัติตรงเป็น อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรงแล้ว จะเดินไปไหนก็เดินตรง ไม่ยอมเหลียวหลีกอะไร พบตอไม้กอไผ่ขวางหน้าก็ไม่ยอมหลีก เดินบุกตรงเข้าไป ก็ต้องติดอยู่กลางกอไผ่ เรื่องของเถรส่องบาตรก็คือ พระเถระผู้เป็นอุปัชฌาจารย์ ฉันล้างบาตรแล้ว ก็ส่องดูบาตรที่มีรูรั่วทะลุ ว่ามากถึงกับขาดเป็นบาตรครองตามพระวินัยแล้วหรือยัง ส่องดูหลังจากฉันแล้วทุกวัน พระทั้งหลายผู้เป็นศิษย์เห็นอาจารย์ส่องดูบาตรหลังจากฉันเสร็จแล้วอยู่ทุกวัน ก็ส่องดูบาตรของตนตามอาจารย์บ้าง โดยไม่รู้เหตุผล คิดว่าเป็นข้อวัตรหรือธรรมเนียม ที่ฉันล้างบาตรแล้วจะต้องส่องดูบาตร ก็ต้องทำตามอาจารย์ ทั้ง ๒ เรื่องนี้เป็นเรื่องแสดงนิทัสสนะของความตรงหรือความซื่อที่ขาดปัญญา ความเป็นผู้ตรงด้วยปัญญาจึงถูกต้อง ปัญญากับอาชชวะ คือความเป็นผู้ตรง จึงต้องประกอบไปด้วยกัน ดั่งนี้

ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจถูกตรง

อาชชวะ คือความเป็นผู้ตรงนี้ ได้กล่าวแล้วว่า แม้ความที่พระมหากษัตริย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นส่วนเหตุ ถูกต้องต่อความต้องการที่เป็นส่วนผลด้วยกำลังพระปรีชาปัญญาสามารถ ก็เป็นความตรง คือตรงต่อความจริง รู้ตรงต่อความจริง เพราะฉะนั้น การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีโครงการพระราชดำริช่วยประชาชนต่างๆ และได้เสด็จพระราชดำเนินไปเอง ทรงพบปะประชาชน ไต่ถามถึงความเป็นไปของการอาชีพเป็นต้น ทอดพระเนตรดูแหล่งประกอบอาชีพต่างๆ จึงได้ทรงมีพระปัญญาคือความรู้ที่ถูกตรง ตามเหตุผล เพราะฉะนั้นโครงการพระราชดำริอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น จึงมีลักษณะมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาในจุดที่ต้องการแก้ไขอย่างรีบด่วน ซึ่งประชาชนไม่สามารถจะรอได้ ทั้งเป็นจุดที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริงในพื้นที่นั้นโดยถูกต้อง ได้ทรงพระราชดำริชัดเจนว่า จะต้องถือจิตวิทยา ต้องไปเร็วที่สุด หลักจิตวิทยาและแนวทางที่จะมุ่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ประชาชน จะเห็นได้จากกรณีของโครงการแพทย์หลวงและแพทย์พระราชทาน ซึ่งเริ่มในปี ๒๕๐๘ ตลอดจนโครงการธนาคารข้าว และธนาคารโคกระบือ ทุกสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่เกษตรกรไทยต้องการอย่างมากมายเพราะขาดแคลนอยู่ในด้านชนบท เพราะฉะนั้น โครงการตามพระราชดำริจึงเป็นการช่วยเหลือเสริมงานตามโครงการในระบบปกติของรัฐนั้นเอง โครงการตามพระราชดำรินั้น จึงมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเข้ามาแย่งงานของรัฐ หรือมีลักษณะซ้ำซ้อนกับงานของรัฐ ทั้งนี้เพราะไม่มีพระราชประสงค์ที่จะให้แผนงานปกติของหน่วยงานใดๆ ที่มีอยู่เดิม ต้องหยุดชะงักหรือเสียหายได้ ด้วยเหตุนี้ ที่ใดหรือสิ่งใดที่รัฐทำอยู่และได้ผลดีอยู่แล้ว ก็จะไม่มีโครงการพระราชดำริเข้าไปในที่นั้น แต่ไปมีทำในที่อื่นที่เหมาะสม ตามหลักการพัฒนาประการหนึ่งตามโครงการพระราชดำริก็คือหลักสังฆทานในพุทธศาสนานั่นเอง หมายความว่า พื้นที่ใดเหมาะสม มีบรรยากาศที่สมควรได้รับการพัฒนา ก็พิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ ความกระตือรือร้นของคน ตลอดจนสภาพทางเศรษฐกิจของสังคม ของชุมชม จึงได้มีโครงการพระราชดำริที่จะทำ เพราะการพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และสังคมวิทยาเกี่ยวแก่นิสัยใจคอของคน จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ ต้องแนะนำเขา เข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปดูว่า เข้าต้องการอะไรจริงๆ แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการ เข้าไปพัฒนาก็จะเกิดผลอย่างยิ่ง คือไม่ใช่ไปบังคับเขาให้รับอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไปคล้ายๆ กับไปถามว่า ชาวชนบทในกลุ่มนั้นมีความประสงค์ มีความต้องการอย่างไร จึงจะช่วยในสิ่งที่เขาต้องการ และจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนราษฏรประชาชนในที่ต่างๆ ทำให้ทรงทราบปัญหาต่างๆ ของประชาชนเป็นอย่างดี มีพระราชประสงค์อันแรงกล้าที่จะมุ่งแก้ปัญหาให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ทำให้มีพระราชดำริโครงการในลักษณะเป็นการริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาอยู่เสมอ ทั้งนี้โดยที่จะทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อศึกษาค้นคว้าทดลอง และทรงปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จนกระทั่งแน่พระทัยว่าโครงการนั้นจะให้ผลดี เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างจริงแท้จึงมีโครงการพระราชดำรินำไปปฏิบัติในที่ต่างๆ โดยที่มีลักษณะคล้ายกับเป็นการเริ่มต้นให้รัฐบาลก่อน เพราะบางครั้งโครงการอาจจะแลดูใหญ่โตกว้างขวาง เป็นโครงการระดับชาติ ทำให้รัฐบาลไม่แน่ใจ แต่เมื่อทรงริเริ่มไปแล้ว รัฐบาลเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ก็จะเข้ามาร่วมสนับสนุน คล้ายๆ กับทรงทำเป็นแบบที่เรียกว่าเป็นโครงการแนะนำ เป็นการที่จะนำให้รัฐบาลได้เข้าไปพิจารณาและจัดทำต่อไป

ทรงใช้ปัญญาและอาชชวะคือวิธีการที่ถูกต้องไปพร้อมกัน

เพราะฉะนั้น สิ่งที่พระองค์ได้ทรงจัดทำนั้น จึงทำไปด้วยวิธีการที่ถูกตรงด้วยอาศัยใช้ปัญญาคือความรู้อันถูกต้อง เพราะว่าในการแก้ไขทั้งปวงนั้น ต้องมีปัญญาจับเหตุจับผลให้ถูกต้อง และต้องเข้าไปแก้ตรงที่เหตุ ถ้าหากว่าแก้ไม่ตรงเหตุก็ไม่ได้ผลที่ต้องการ ต้องแก้ตรงต่อเหตุ จึงจะได้ผลที่ต้องการ เป็นข้อที่เป็นนิทัสสนะว่า อันปัญญากับอาชชวะคือความตรงนั้น ต้องไปด้วยกัน ทศบารมีข้อ ๔ คือปัญญากับทศพิธราชธรรมข้อ ๔ คือ อาชชวะ คำต่างกันแต่ว่าต้องไปด้วยกันดั่งนี้ จึงจะสำเร็จเป็นประโยชน์ได้

อาชชวะเป็นข้อที่ทุกคนพึงปฏิบัติ

และอาชชวะคือความตรงข้อนี้ ก็เป็นข้อที่บุคคลทั่วไปจะพึงประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าบุคคลทั่วไปนั้น ย่อมมีภาวะ มีหน้าที่ของตนที่จะพึงปฏิบัติต่อกันในทางดี ไม่ใช่ปฏิบัติต่อกันในทางชั่วร้าย เช่นว่า เมื่อมีภาวะคือความเป็น เช่นเมื่อเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา ก็มีหน้าที่ๆ จะพึงปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะเป็นมนุษย์ อันเรียกว่า มนุสสธรรม หรือ มนุษยธรรม ดังที่กล่าวแล้ว และเมื่อมีภาวะเป็นคนไทย เป็นพลเมืองไทย ก็มีหน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติในฐานะเป็นคนไทย เป็นพลเมืองไทย เพื่อให้ประเทศชาติพร้อมทั้งสถาบันต่างๆ ของประเทศชาติ ดังที่ประมวลเข้าเป็นไตรรงค์ดังกล่าวนั้นดำรงอยู่ด้วยดี เหมือนอย่างว่าร่วมอยู่ในเรือเดียวกัน ก็จะต้องช่วยกันประคับประคองคนที่อยู่ในเรือลำเดียวกันนั้น ตลอดถึงเรือให้แล่นไปด้วยดี ไม่ให้เป็นอันตรายต่างๆ เพราะอยู่ร่วมเรือลำเดียวกัน และเมื่อได้รับตำแหน่งหน้าที่โดยแต่งตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือโดยสมมติบัญญัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปฏิบัติตรงต่อหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติตามที่ได้รับแต่งตั้ง หรือโดยสมมติบัญญัตินั้นๆ เหล่านี้ล้วนแต่จะต้องใช้ความตรงประกอบอยู่ด้วยทั้งนั้น ตลอดจนถึงอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เป็นสามีภรรยากัน เป็นพ่อแม่เป็นลูกกันเป็นต้น ก็จะต้องมีความตรงต่อกันในฐานะทั้งปวงดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นไปในทางดี ในทางเกื้อกูลกันให้มีความสุข และเมื่อได้รับตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ปกครองตั้งแต่ชั้นต่ำขึ้นมาจนถึงชั้นสูง ก็ย่อมมีหน้าที่จะพึงปฏิบัติ ทั้งหมดนั้นก็เพื่อความสุขความเจริญของส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนั้น เพื่อรักษาไว้ซึ่งองค์กร หรือบุคคลที่พึงรักษา เช่นรักษาประเทศชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักษาสถาบันที่ย่อยๆ ลงมาของตนๆ ด้วยดี ต่างมีหน้าที่ที่จะพึงปฏิบัติ เพื่อดำรงรักษา เพื่อส่งเสริมไปในทางดีด้วยกันทุกๆ อย่าง เป็นมิตรเป็นสหายกันก็ต้องเกื้อกูลกัน และแม้ว่าเมื่ออยู่ด้วยกัน แต่เกิดโกรธแค้นขัดเคืองเป็นศัตรูกันขึ้น ก็ยังมีหลักของพระศาสนา คือหลักของความสุจริตกาย สุจริตวาจา สุจริตใจ หลักของกฎหมายบ้านเมืองที่จะพึงประพฤติปฏิบัติ ก็จะต้องงดเว้นไม่กระทำต่อกันในทางที่ผิดหลักสุจริต หรือเรียกว่าหลักศีลธรรม หลักกฎหมายบ้านเมือง เหล่านี้เป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ก็ควรจะต้องมีความตรงต่อศีลธรรม ต่อกฎหมาย แม้เป็นศัตรูกัน

ความเป็นผู้ตรงจำเป็นต้องใช้ปัญญา

เพราะฉะนั้น จึงจำต้องการความเป็นผู้ตรง ในลักษณะของความซื่อตรง ซื่อสัตย์สุจริต ต่อการปฏิบัติหน้าที่การงานทั้งหลาย ต่อกันและกัน ต่อหลักศีลธรรม เช่นหลักสุจริต ต่อหลักกฎหมายบ้านเมืองดังกล่าว และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะอยู่ด้วยกันเป็นสุข ในการที่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้ปัญญา จับเหตุจับผล เช่นจะต้องให้รู้ว่า ในการปฏิบัติตรงนั้น จะปฏิบัติตรงอย่างไรจึงจะเกิดผลดี โดยจับเหตุจับผลให้ถูกต้อง เช่นว่าต้องการผลอะไรซึ่งเป็นผลสำเร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์สุขเกื้อกูลตามที่ต้องการ ก็ปฏิบัติให้ตรงต่อเหตุซึ่งจะให้เกิดผลเช่นนั้น จึงจะต้องมีความรู้ซึ่งเป็นตัวปัญญา ว่านี่เป็นเหตุของผลเช่นนั้น ถ้าไปปฏิบัติเหตุผิด คือต้องการปฏิบัติเหตุให้เกิดประโยชน์ แต่ไปปฏิบัติเหตุให้เกิดโทษ แทนที่จะได้รับประโยชน์ แต่กลับได้รับโทษซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก เพราะเป็นการใช้ความตรงไปในทางที่ผิด เพราะฉะนั้น จึงต้องมีปัญญาจับเหตุจับผลให้ถูกต้อง เป็นตัวปัญญาคู่กันไปเป็นความตรงจึงจะเป็นความตรงที่เป็นประโยชน์ แล้วตัวปัญญานั้นสรุปเข้าก็คือ อายโกศล ความฉลาดรู้ในทางเจริญ อปายโกศล ความฉลาดรู้ในทางเสื่อม อุปายโกศล ความฉลาดรู้ในทางหรือในวิธีปฏิบัติที่จะให้พ้นจากความเสื่อมเข้าสู่ความเจริญ นี่เป็นหลักสำคัญของปัญญา ซึ่งจะต้องให้มีคู่กันอยู่กับความตรงเสมอ

ปฏิบัติใช้ปัญญาคอยระงับใจของตนเอง

และประการสำคัญนั้น จะต้องรู้จักว่าอย่าตรงไปทางโลภ โกรธ หลง ถ้าตรงไปทางโลภ โกรธ หลง แล้วเป็นโทษมหันต์ ให้ตรงไปทางอโลภะ อโทสะ อโมหะ ในทางที่ถูกต้องทั้งหลาย นั่นจึงจะมีคุณอนันต์ จึงต้องปฏิบัติใช้ปัญญาอันนี้แหละคอยระงับใจของตัวเอง ดูใจของตัวเองว่า ถ้ากำลังโลภ โกรธ หลงอยู่ โลภโกรธหลงก็จะสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นผิด แต่เมื่อใจสงบโลภ สงบโกรธ สงบหลง ใจมีความสำนึกในหน้าที่ มีความรู้จักโทษของโลภ โกรธ หลง ของอกุศลทุจริตต่างๆ แล้ว ก็จะเห็นทางปฏิบัติอันถูกต้อง ก็ปฏิบัติตรงไปสู่ทางที่ถูกต้องนั้น อันนี้จึงจะทำให้เกิดประโยชน์ เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงต้องปฏิบัติให้มี อุชุ คือความตรงดังกล่าวนี้ประกอบด้วยปัญญา

๑๑ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2554    
Last Update : 5 กันยายน 2554 7:13:50 น.
Counter : 1394 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๔ ปัญญาบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



พระปัญญาบารมีในมโหสถชาดก

จะแสดง ปัญญาบารมี ข้อที่ ๔

พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญพระปัญญาบารมี คืออบรมความรู้ทั่วถึง เก็บสั่งสมเพิ่มเติมมาโดยลำดับ ดังเช่นที่แสดงไว้ใน มโหสถชาดก ในทศชาติ มีความย่อว่า

มโหสถเป็นบุตรของเศรษฐีสิริวัฒกะ และนางสุมนาเทวี ในปาจีนยวมัชฌคาม เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาดมาแต่เด็กๆ แม้จะยังมีอายุน้อย ก็สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่มีผู้ถามทั้งยากและง่ายได้หมด จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วพระนคร แม้จะเป็นเด็กแต่ก็มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เช่นคิดสร้างศาลาสำหรับพักของคนอนาถา คนเดินทางเป็นต้น เพราะความฉลาดของมโหสถ พระเจ้าวิเทหราชแห่งมิถิลานคร จึงให้เข้ารับราชการในราชนสำนักของพระองค์ แม้จะถูกริษยากลั่นแกล้งต่างๆ ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยปัญญา ความหลักแหลมของตน ครั้นพระเจ้าวิเทหราชสวรรคตแล้ว พระเจ้าจุลนีพรหมทัตต์แห่งอุตรปัญจาลนคร ก็ได้ให้เข้ารับราชการในราชสำนักของพระองค์ต่อไปอีกจนถึงอายุขัย มโหสถบัณฑิตได้แสดงความฉลาดในเรื่องต่างๆ ไว้เป็นอันมาก ดังที่เล่าไว้ในชาดกนี้ เช่นมีเรื่องหนึ่งแสดงว่า ได้มีหญิง ๒ คนนำเด็กมาฟ้องกล่าวหากันทั้ง ๒ ฝ่ายว่า เด็กคนนี้เป็นลูกของตนทั้ง ๒ คน เมื่อเป็นเช่นนี้ มโหสถบัณฑิตจึงให้วางเด็กลง และให้หญิงทั้ง ๒ นั้นเข้าไปยืนที่ศีรษะของเด็กคนหนึ่ง ที่เท้าของเด็กคนหนึ่ง และก็ให้ยกตัวเด็กขึ้นทางศีรษะและทางเท้า และสั่งว่า ให้คนทั้ง ๒ ยื้อแย่งเด็กคนนี้ที่ต่างถือกันอยู่คนละข้างนั้น ถ้าใครแย่งไปได้สำเร็จ เด็กนี้ก็เป็นของคนนั้น เมื่อมีคำสั่งดั่งนี้ หญิงทั้ง ๒ ก็เข้าจับเด็กทางศีรษะคนหนึ่ง ทางเท้าคนหนึ่งดึงกันไป ฝ่ายเด็กก็ร้องขึ้น มารดาจริงของเด็กนั้นก็สงสารลูกของตัว จึงได้ปล่อยตัวเด็ก ฝ่ายหญิงที่ไม่ใช่เป็นมารดาก็ได้ตัวเด็กไป มโหสถบัณฑิตจึงเรียกเข้ามาทั้ง ๒ คน และก็ตัดสินว่าให้เด็กคนนั้นเป็นของหญิงที่เป็นมารดาจริง เพราะว่าธรรมดามารดานั้นย่อมเป็นผู้ที่มีเมตตา มีใจอ่อน เมื่อเห็นบุตรเป็นทุกข์ ร้องไห้ขึ้น จึงมีความสงสาร ไม่สามารถที่จะดึงเด็กต่อไปได้ ต้องปล่อยตัวเด็กออกไป จึงแสดงว่าหญิงคนที่ปล่อยตัวเด็กนั้นเป็นมารดาของเด็กจริง จึงได้มอบเด็กนั้นให้แก่หญิงที่เป็นมารดาจริงไป

นี้เป็นตัวอย่าง และได้มีเรื่องอื่นๆ ที่ได้แสดงไว้อีกเป็นอันมาก เพราะฉะนั้นจึงได้ยกมโหสถบัณฑิตว่าเป็นเรื่องหนึ่งในชาดกที่รวมอยู่ในทศชาติ คือพระ ๑๐ ชาติ อันแสดงถึงปัญญาบารมี

ปัญญาบารมี ๓ ชั้น

แม้ปัญญาบารมีที่พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญมา ท่านก็แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ
ปัญญาบารมีที่บำเพ็ญด้วยหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน เป็น ปัญญาบารมี
ปัญญาบารมีที่บำเพ็ญด้วยหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณ ยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน เป็น ปัญญาอุปบารมี
ปัญญาบารมีที่บำเพ็ญด้วยหวังพระโพธิญาณเป็นเบื้องหน้า รักปัญญาเพื่อพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิต เป็น ปัญญาปรมัตถบารมี

ตถาคต แปลว่า ผู้พบความจริงอันถ่องแท้

ในจริยาปิฏกท่านแสดงว่า ปัญญาที่ทรงบำเพ็ญเมื่อเสวยพระชาติเป็นวิธุรบัณฑิต เป็นปัญญาบารมี เมื่อเสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต เป็นปัญญาอุปบารมี เมื่อเสวยพระชาติเป็นสัตตุภัสตะ เป็นปัญญาที่เป็นปรมัตถบารมี เป็นต้น เพราะได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาช้านาน ในที่สุดจึงทรงมีความรู้บริบูรณ์เต็มที่ ที่เรียกว่าตรัสรู้ธรรม คือความจริง ตามที่ได้ตรัสไว้ใน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนาคือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ความจริงที่ถูกแท้แน่นอน ๔ ประการ กล่าวคือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เหตุฉะนี้ จึงได้พระนามว่า ตถาคต แปลอย่างหนึ่งว่า ผู้พบความจริงที่ถ่องแท้ และทรงใช้คำนี้เป็นคำเรียกพระองค์เองเหมือนเป็นคำแทนชื่อของพระองค์ในบางโอกาส ดังในพระสูตรนั้น

ละมิจฉาปัญญา ปฏิบัติให้ได้สัมมาปัญญา

ปัญญานี้เป็นธรรมข้อสำคัญ แม้ในทางปฏิบัติ ก็มุ่งปฏิบัติให้เกิดปัญญาในธรรมเป็นข้อสำคัญ เช่นในสิกขา ๓ ก็มี ปัญญาสิกขา เป็นข้อสูงสุด ในธุระ ๒ ก็มี วิปัสสนาธุระ เป็นข้อสูงสุด เพราะการปฏิบัติทุกอย่างถ้าขาดการปฏิบัติให้เกิดปัญญาก็เหมือนอย่างการเดินไปโดยไม่ลืมตาดู ไม่มีความรู้ความเห็นอะไรเกิดขึ้น แต่ว่าคำว่า ปัญญานี้ ได้มีความหมายที่ใช้กัน ทั้งในทางรู้ผิด ทั้งในทางรู้ถูก เมื่อเป็นความรู้ผิด เรียกว่า มิจฉัปปัญญา คือมิจฉาปัญญา รู้ผิด เมื่อเป็นความรู้ถูก เรียกว่า สัมมาปัญญา หรือ สัมมัปปัญญา ความรู้ถูกต้อง ทางพุทธศาสนาต้องการให้ละมิจฉัปปัญญา แต่ปฏิบัติให้ได้สัมมัปปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกต้อง ก็แหละความรู้นี้เป็นธรรมชาติของจิต ของทุกคน เพราะทุกคนนั้นมีจิตซึ่งเป็น วิญญาณธาตุ คือธาตุรู้คือย่อมรู้อะไร ๆ ได้ แต่ว่าธาตุรู้ของจิตนี้ เมื่อยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ อันหมายความว่าความไม่รู้จริงประกอบอยู่ ก็ทำให้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้นี้เป็นความรู้ผิด เพราะฉะนั้น จิตซึ่งเป็นธาตุรู้อันประกอบด้วยอวิชชา และเมื่ออวิชชาแสดงออกมา จึงทำให้เป็นความรู้ผิด เป็นความรู้หลง อันเรียกว่า โมหะ คือความหลง เพราะที่เรียกว่าโมหะคือความหลงนั้น ก็ต้องมีความรู้อยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่าเป็นความรู้ผิด รู้ที่ถือเอาผิด จึงเรียกว่าเป็นความหลง ก็คือเป็นความรู้หลงหรือความรู้ผิดนั่นเอง

ความรู้ทางอายตนะ

ความรู้ที่บุคคลและสัตว์ดิรัจฉานได้รับกันอยู่เหมือนๆ กัน ก็คือความรู้ทางอายตนะ สำหรับคนนั้นมีอายตนะที่เป็นภายใน สำหรับต่อให้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ออกมารู้อะไร ๆ ได้ ๖ ทาง จึงเรียกว่ามีทวารทั้ง ๖ อันได้แก่ จักขุทวาร ทวารตาคือทางตา โสตทวาร ทวารหูคือทางหู ฆานทวาร คือทางจมูก ชิวหาทวาร คือทางลิ้น กายทวาร คือทางกาย และ มโนทวาร คือทางใจอันได้แก่มโน ซึ่งมโนทวารคือทางใจนี้ ในบัดนี้บางท่านได้มีความเห็นว่าได้แก่มันสมอง แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้นได้แสดงไว้ในด้านของความรู้ซึ่งเป็นหลักการ และก็ยังนับว่าตั้งอยู่ในระหว่าง รูป และ นาม เพราะว่าเป็นสื่อสำคัญที่จะให้รูปนั้นได้เกิดเป็นความรู้ซึ่งเป็นนามธรรมขึ้นมา ถ้าไม่มีมโนเป็นสื่อกลางอยู่ รูปธรรมก็ไม่อาจจะก่อให้เกิดนามธรรมได้ ดังเช่น ตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้ง ๕ นี้เป็นรูปทั้งหมด ส่วนเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งแสดงไว้ในขันธ์ ๕ นี่เป็นนาม

มโนเป็นตัวเชื่อมระหว่างรูปและนาม

คราวนี้รูปกับนามนี้จะมาต่อกันเข้าได้ สัมพันธ์กันได้ ก็ด้วยมีมโนเป็นสื่อ สำหรับที่จะทำให้จิตซึ่งเป็นธาตุรู้ออกมาอาศัยมโน รับรู้เรื่องรูปทางตา เรื่องเสียงทางหู เรื่องกลิ่นทางจมูก เรื่องรสทางลิ้น เรื่องสิ่งถูกต้องทางกาย และเรื่องของเรื่องเหล่านี้ทางมโนคือใจเอง เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงว่า ในการที่ตาจะมองเห็น หูจะได้ยิน และจมูกลิ้นกายจะได้ทราบ ก็ต้องมีมโนคือใจนี้เข้าไปประกอบอยู่ด้วย ในขณะที่เห็น ในขณะที่ได้ยิน ในขณะที่ได้ทราบนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งจะต้องเข้าไปประกอบด้วยจักขุประสาท โสตประสาท ฆานประสาท ชิวหาประสาท และกายประสาท ซึ่งเป็นที่ ๕ นั้นด้วย จึงจะทำให้เกิดการมองเห็น เกิดการได้ยิน เกิดการได้ทราบ เป็นต้น ทางทวารทั้ง ๕ ข้างต้นนั้น และแม้ปราศจากทวารทั้ง ๕ นั้น ตัวมโนเองซึ่งเป็นข้อที่ ๖ นั้น ก็คิดรู้ถึงเรื่องอะไรต่ออะไร มีเรื่องรูปเป็นต้นที่ประสบพบผ่านมาแล้วได้ เช่นว่าเมื่อไปเห็นรูปอะไรมาเมื่อเช้านี้ มาบัดนี้ก็นึกถึงคิดถึงรูปที่เห็นเมื่อเช้านั้นได้ โดยไม่ต้องอาศัยตาในปัจจุบัน ดังนี้เป็นวิสัยของมโนเอง

วิถีจิตใจเกี่ยวกับมโนตรงกับระบบมันสมอง

การที่มีมโนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทุกทางดั่งนี้ ก็ไปตรงกับแผนที่ของมันสมอง ดังที่มีแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์กรรมฐานที่ตึก ภปร ดังที่มีแสดงไว้ว่า รูปที่ตาเห็นนั้นก็ไปกระทบประสาทตา แล้วก็ต้องเข้าไปกระทบประสาทอีกอันหนึ่งซึ่งเป็นมันสมองส่วนหนึ่ง จึงจะสำเร็จเป็นการเห็นได้ เสียงเป็นต้นก็เช่นเดียวกัน แปลว่าต้องมี ๒ อย่าง คือจะต้องมีประสาทตาส่วนหนึ่ง และจะต้องมีประสาทที่เป็นมันสมองส่วนหนึ่ง สำหรับรับสิ่งที่เข้าไปทางประสาทตานั้น ต้องมี ๒ อย่าง และอันนี้แหละที่ท่านผู้ศึกษาธัมมะบางท่านเห็นว่า มโนเป็นมันสมอง ก็หมายถึงมันสมองส่วนนั้น แต่ว่าการจะเทียบกับอวัยวะร่างกายนั้น จะเทียบอะไรกับอะไรก็สุดแต่ผู้รู้จะเทียบกันไป แต่พุทธศาสนานั้นได้แสดงเอาสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ของจิตใจเป็นสำคัญ เมื่อปรากฏการณ์ทางจิตใจได้ปรากฏว่า มีมโนอีกอันหนึ่งมาประกอบอยู่ดั่งนี้ จึงได้แสดงเอาไว้ ก็เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เกี่ยวกับเรื่องวิถีจิตใจไว้อย่างถูกต้องและมาตรงกับระบบมันสมองในปัจจุบัน และวิถีจิตใจดังที่กล่าวมาถึงมโนนี้ ดังที่ยกมาเทียบนี้ ทุกคนก็สามารถที่จะพิสูจน์ได้ในบัดนี้ว่า ในเวลาที่ประสาท ๕ ข้างต้นปฏิบัติหน้าที่อยู่ จะต้องมีมโนเข้าไปประกอบด้วย จึงจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของประสาทนั้นสำเร็จ เช่น ตา ก็สำเร็จเป็นการเห็นรูปดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าไม่มีมโนเข้าไปประกอบแล้ว ตาเห็นรูปจริง แต่ก็เหมือนกับไม่เห็น ถ้าไม่มีมโนเข้าไปเกี่ยว เสียงที่พูดนี้ก็เหมือนกัน หูฟังคือประสาทหูกระทบเสียง แต่ว่าต้องมีมโนเข้าไปเกี่ยวด้วยจึงจะได้ยินเสียง ดังเช่นที่กำลังพูดอยู่นี้ ถ้ามโนคือใจของผู้ฟังไม่ตั้งใจฟังไปพร้อมกับหู คือส่งใจไปคิดถึงเรื่องอื่น เมื่อส่งใจไปคิดถึงเรื่องอื่นเมื่อใด หูก็ดับเมื่อนั้นคือฟังไม่ได้ยิน ต่อเมื่อส่งใจมาฟังพร้อมกับหูด้วย จึงจะได้ยินทุกถ้อยคำ ถ้ามโนคือใจของตนเองนั้นออกไปเมื่อใด หูก็ดับเมื่อนั้น ไม่ได้ยินเสียงที่พูดนี้ หากจะถามว่าการที่ไม่ได้ยินนั้น เป็นเพราะหูหนวกหรือไม่ ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่เพราะหูหนวก ประสาทหูยังดี เสียงที่พูดอยู่นี้กับหูก็ยังกระทบกัน ประสาทหูนั้นรับเสียงได้ แต่เพราะมโนคือใจ คือไม่ได้ตั้งใจฟัง ใจไม่ฟังด้วย เพราะฉะนั้น หูก็ดับ ต้องมโนคือใจ คือตั้งใจฟังด้วย หูจึงจะใช้ได้คือได้ยินเสียงและทราบเรื่อง ทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็เช่นเดียวกัน ต้องมีมโนคือใจ คือต้องมีความตั้งใจเข้าไปประกอบอยู่ ในการดูอะไร ถ้าไม่มีใจเข้าไปประกอบอยู่ ตาแม้จะตาดีไม่บอด ก็เหมือนตาบอด ไม่เห็น จมูกก็เหมือนกัน ลิ้นก็เหมือนกัน กายก็เหมือนกัน ต้องมีมโนคือใจเข้าไปประกอบด้วย เพราะฉะนั้น ตัวมโนนี้จึงเป็นตัวเชื่อมในระหว่างรูปและนาม ถ้าหากว่าไม่มีมโนเป็นตัวเชื่อมแล้ว รูปกับนามก็ต่อกันไม่ได้ คือรูปเองนั้นที่เป็นประสาทต่างๆ ก็ไม่สำเร็จประโยชน์คือใช้ไม่ได้ ต่อเมื่อมีมโนเข้าไปประกอบ ประสาทต่างๆ นั้นจึงใช้ได้ และก็ก่อให้เกิดนามธรรม เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร เป็นวิญญาณ ในอารมณ์นั้นๆ คือในเรื่องนั้นๆ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีมโนอยู่ดั่งนี้

ความรู้ทางอายตนะไม่ใช่ตัวปัญญา

และจิตซึ่งเป็นธาตุรู้นี้ ก็ออกรู้เรื่องต่างๆ เรื่องรูป เรื่องเสียง เรื่องกลิ่น เรื่องรส เรื่องโผฏฐัพพะ คือสิ่งที่กายถูกต้อง อยู่โดยปกติ สัตว์ดิรัจฉานก็มีอายตนะ มนุษย์ก็มีอายตนะ สัตว์ก็มองเห็นอะไรได้ ได้ยินอะไรได้ มนุษย์ก็มีตามีหูที่เห็นที่ได้ยินอะไรได้ และก็มีความรู้ทางอายตนะดังกล่าวนี้ด้วยกัน บางอย่างสัตว์มีความรู้ทางอายตนะยิ่งกว่าคนหรือดีกว่าคนในบางอย่าง ในบางอย่างคนก็มีอายตนะที่ให้รู้อะไรยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉาน แต่ว่าความรู้ทางอายตนะดังที่กล่าวมานี้ เป็นความรู้ที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา ยังไม่เรียกว่าเป็นตัวปัญญา มนุษย์นั้นเป็นสัตวโลกที่ได้รับนับถือว่ามีพื้นปัญญามาแต่กำเนิด เรียกว่า สชาติปัญญา ปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติ เพราะว่าความเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ เกิดมาได้ด้วยอำนาจของกุศลกรรม กรรมที่เป็นกุศล คือเป็นกรรมที่กระทำด้วยความฉลาด กุศลแปลว่ากิจของคนฉลาด แต่ก็แปลอย่างอื่นได้อีก เพราะฉะนั้น เมื่อมีกุศลอันเป็นกิจของคนฉลาด ก็แปลว่าเป็นกรรมของคนมีปัญญา นำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ จึงได้มีปัญญาที่เป็นตัวความฉลาด อันสูงยิ่งกว่าความรู้ทางอายตนะนี้มาแต่กำเนิด เพราะฉะนั้น มนุษย์เราจึงมีปัญญาที่เป็นตัวความรู้ทั่วถึง ที่เป็นตัวความฉลาดติดมาด้วยแต่กำเนิด มีความรู้ถึงสัจจะคือความจริงของโลกในเรื่องต่างๆ และสามารถที่จะนำมาพัฒนาให้เกิดความเจริญขึ้นทั้งทางร่างกาย ทั้งทางจิตใจ ต่างจากสัตว์ดิรัจฉานเป็นอันมาก ที่ก็มีความรู้ทางอายตนะอยู่ด้วยกัน บางอย่างสัตว์มีความรู้ทางอายตนะดียิ่งกว่าคน สัตว์บางชนิดสามารถที่จะเห็นอะไรในกลางคืนในความมืดได้ดียิ่งกว่าคน สามารถที่จะได้มีสัมผัสทางกายอะไรได้ดียิ่งกว่าคน ดั่งนี้เป็นต้น แต่ว่าทำไมสัตว์ดิรัจฉานจึงได้มีภาวะอยู่แค่นั้น ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์มาอย่างไร เดี๋ยวนี้ก็เป็นอย่างนั้น ไม่มีความเจริญขึ้นในทางร่างกายและในทางจิตใจแต่อย่างใด แต่ว่าคนเรานั้นมีความเจริญทางร่างกายและทางจิตใจขึ้นมากมาย ทั้งนี้ก็เพราะมีตัวปัญญาที่เป็นพื้นอยู่ และก็มาประกอบสั่งสมปัญญาที่เป็นความรู้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงนี้ให้มากขึ้นๆ พัฒนามาโดยลำดับ

ทางให้เกิดปัญญา

และความรู้ที่เป็นตัวปัญญาที่พัฒนามาโดยลำดับนี้ ก็อาศัยความรู้ทางอายตนะนี่แหละมาประกอบกระทำการปฏิบัติปลูกปัญญาต่างๆ ด้วยวิธีที่ทางพุทธศาสนาได้ย่อลงเป็น ๓ คือ
ทาง สุตะ คือการฟัง หมายรวมทั้งการอ่าน และหมายรวมทั้งการที่ทราบทางอายตนะอื่น อันการฟังนั้นได้ทางหู อ่านได้ทางตา การทราบนอกจากนี้ก็ได้ทางจมูกทางลิ้นทางกาย อาศัยทางทั้ง ๕ นี้เสริมความรู้ให้มากขึ้น แต่ว่าทางเสริมความรู้เหล่านี้ครั้งโบราณไม่มีตัวหนังสือ ก็ต้องอาศัยหู อาศัยฟังทางหูเป็นข้อสำคัญ จึงได้ยกเอาสุตะคือการสดับฟังขึ้นมาเป็นทางให้เกิดปัญญา และปัญญาที่ได้จากการฟังอันรวมทั้งการอ่าน และการทราบทางจมูกทางลิ้นทางกายเหล่านี้ ก็รวมเรียกว่า สุตมัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการสดับ

และอาศัย จินตา คือความคิด คิดค้นพิจารณาจับเหตุจับผลที่ถูกต้อง เรียกว่า จิตตา ก็เป็นทางให้เกิดปัญญา เรียกว่า จินตามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดทางจินตา คือความคิดพินิจพิจารณา

และยังต้องอาศัยการประกอบกระทำ ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น อันเรียกว่า ภาวนา ที่แปลว่า การกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ได้แก่ภาคปฏิบัติ ปัญญาที่ได้ทางนี้เรียกว่า ภาวนามัยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากภาวนา การปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

ทางพุทธศาสนาได้ตรัสแสดงปัญญาไว้ ๓ ทางดั่งนี้ แต่ก็พึงทราบว่า ทั้ง ๓ ทางเหล่านี้นั้น คือตัวสุตะ การสดับฟัง จินตา ตัวความคิดพินิจพิจารณา กับภาวนา การปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น เป็นทางให้เกิดปัญญา แต่ไม่ใช่ตัวปัญญา

ปัญญาที่แท้จริงต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงสัจจะ

ตัวปัญญาที่เป็นปัญญาที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นปัญญาที่รู้ทั่วถึงสัจจะ คือความจริง ตามเหตุและผล หรือรู้ทั่วถึงเหตุผลตามความเป็นจริง คือว่าปัญญาต้องรวมกับสัจจะคือความจริง เป็นความรู้จริง รู้จริงรู้ถูกต้อง จับเหตุจับผลได้จริงได้ถูกต้อง ในสิ่งอันใด สิ่งอันนั้นเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญากับสัจจะจึงต้องประกอบกันเป็นความรู้ทั่วถึงจริงหรือเป็นความรู้จริง จึงจะเป็นตัวปัญญา ความรู้ทางอายตนะนั้นเหมือนดังที่สัตว์ดิรัจฉานมีอยู่ และที่คนก็มีอยู่ด้วยกันนั้น เป็นความรู้ที่ยังไม่ให้ความจริงโดยแท้จริง แต่เป็นทางให้เกิดปัญญาที่เป็นความรู้จริงได้ เช่นว่าเมื่อมองดูด้วยตาไปตามถนน คือเมื่อยืนกลางถนนและเมื่อมองดูไปสุดตา จะเห็นว่าถนนนั้นเล็กเข้ามาทุกที จนถึง ๒ ข้างถนนนั้นรวมเข้ามาเป็นเส้นเดียว เมื่อเรามองสิ่งที่ห่างออกไปจากสายตา จะเห็นว่าเล็กเข้าทุกที เช่นว่าเห็นดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์เป็นวงกลม เล็กไม่โตนัก เห็นดวงดาวยิ่งเล็กเข้าไปอีกที่มีอยู่บนท้องฟ้า เพราะเหตุว่ามีขอบเขตของตาและหู เช่นตาก็ดูได้เห็นชัดเจน และก็เห็นใกล้เคียงกับความเป็นจริงในรูปร่างสัณฐานในเมื่ออยู่ใกล้ แต่เมื่อไกลออกไปแล้วจะเห็นไม่ชัด และสิ่งที่ใหญ่ก็จะเห็นเล็กเข้าๆ จนเห็นเล็กที่สุด แต่ความจริงนั้นถนนไม่ได้เล็กเข้าอย่างนั้น ถนนก็ยังคงเป็นถนนอยู่ตามเดิมนั่นแหละ แต่ตาคนเห็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึงเชื่อตาไม่ได้ เมื่อตาเห็นอย่างนั้น จะบอกว่าถนนนี้สายนี้ตรงที่ยืนอยู่นั้นโต แต่ว่าข้างหน้านั้นเล็กเข้าๆ ทุกที จะไปเชื่อตาอย่างนี้ไม่ได้ หูก็เหมือนกัน จะไปเชื่อหูก็ไม่ได้ ยิ่งไปมีความยึดถือ มีสมมติมีบัญญัติเข้ามาอีก ก็ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องเสียงอีกเป็นอันมาก ดังคนเราได้ยินเสียงลมพัด ก็ไม่รู้สึกว่าอะไร เป็นลมพัดอู้ อู้ อู้มา แต่ว่าถ้าได้ยินเสียงคนพูด ถ้าเป็นเจ็กพูด หรือว่าฝรั่งพูดที่เราไม่รู้ภาษาของเขา เราก็ไม่รู้อะไร ก็เฉยๆ แต่ว่าถ้าได้ฟังคนไทยพูดที่รู้ภาษากัน หรือคนพูดภาษาอื่นที่รู้ภาษากันแล้ว ก็รู้ว่าเขาพูดนินทาบ้าง เขาพูดสรรเสริญบ้าง เขาพูดเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง ใจก็เลยไปยึดถือในเสียงซึ่งปรากฏออกมาเป็นภาษา แล้วก็มีสมมติมีบัญญัติเป็นโน่นเป็นนี่อะไรต่างๆ ตามที่โลกได้บัญญัติกันขึ้น จึงได้มีความเข้าใจผิดในเสียงว่าเป็นสรรเสริญบ้าง ว่าเป็นนินทาบ้าง ความยึดถือในเสียงนั้นว่าเป็นอย่างนั้นก็เขายึดถือกันอย่างนั้น ก็ต้องยึดถือไปตามกัน แต่ว่าเมื่อไปยึดถือเป็นจริง ก็ทำให้เกิดความสบายใจบ้างไม่สบายใจบ้าง เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งสมมติบัญญัติกันขึ้น ก็ไม่ต่างอะไรกับเสียงลมที่พัดอู้ๆ มาที่ฟังแล้วก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ไม่เป็นอะไร

ปัญญาในอริยสัจเป็นปัญญาสูงสุด

และนอกจากนี้ยังมีอื่นๆ อีกมาก ตลอดจนถึงความคิดทางใจที่เกิดขึ้นจากการที่ได้เห็นได้ยินนั้น ก็เป็นไปต่างๆ ซึ่งก็ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง หรือว่าผิดมากถูกน้อยอะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็ขาดปัญญาที่เป็นความรู้จริงดังที่กล่าวนี้นั้นเอง เพราะฉะนั้นคนเราจึงได้มีความฉลาด ที่รู้จักใช้ความรู้ทางตาทางหูนี้เอง มาพัฒนาขึ้นให้เป็นความรู้ที่เข้าถึงความจริงขึ้นได้โดยลำดับ คือรู้จักว่าอำนาจของตาของหูเป็นต้นนี้มีขอบเขตอย่างไร และสิ่งที่ตาเห็นนั้น เช่นว่าเห็นถนนตรงที่ยืนอยู่ใหญ่ ข้างหน้าเล็ก เห็นดวงเดือนดวงตะวันเล็ก ดาวยิ่งเล็กขึ้นไปอีกนั้น ความจริงนั้นไม่ใช่อย่างนั้น ดวงอาทิตย์นักวิทยาศาสตร์บัดนี้ก็พบว่าใหญ่ยิ่งกว่าโลก ดวงดาวต่างๆ ก็ต่างว่าเป็นดวงอาทิตย์บ้าง เป็นดาวบริวารต่างๆ บ้างเป็นต้น ซึ่งล้วนแต่ใหญ่โตทั้งนั้น ไม่ใช่เล็กอย่างนั้น นี่อาศัยความรู้ที่เกิดจากจินตา เอาการดูการเห็นนั่นแหละมาคิดพินิจพิจารณา และก็เอามาพิสูจน์ทดลองต่างๆ เป็นภาคปฏิบัติ จนถึงกับจับได้ คือจับสัจจะคือความจริงได้ เป็นขั้นๆ เป็นตอนๆ ขึ้นมา จึงมีความรู้ที่พัฒนาขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน พระพุทธเจ้าเองก็ทรงพัฒนาความรู้ดังกล่าวนี้แหละขึ้นมาเป็นบารมี คือเป็นความรู้ที่ถูกต้องขึ้นโดยลำดับ จนถึงได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำทุกข์ให้สิ้นไป เป็นอันว่าได้ทรงพัฒนาความรู้ทางจิตใจขึ้นมาจนถึงที่สุด ส่วนในทางโลกก็มีการพัฒนาความรู้ขึ้นมาอีกมากมายดังที่ปรากฏนี้ ทั้งในด้านสร้างทั้งในด้านทำลาย แต่ความรู้ของพระพุทธเจ้าที่เป็นปัญญาบารมีนั้น เป็นความรู้ที่ยิ่งไปกว่าความรู้ในทางโลกนี้ เพราะเหตุว่ามีความรู้ในอริยสัจ ๔ ซึ่งทรงรู้จักเหตุผลในด้านเป็นทุกข์ ทรงรู้เหตุผลในด้านความดับทุกข์ ส่วนในทางโลกนั้นมีความรู้เหตุผลในด้านสร้าง ในด้านทุกข์ ไม่ได้มุ่งถึงความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงได้มีการสร้างกันทั้งในด้านเกื้อกูล ทั้งในด้านทำลายดังที่ปรากฏอยู่ แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงตรัสรู้ถึงว่า ความรู้ในทางโลกนั้นจะมากเท่าไหร่ก็ตาม แต่ก็ยังเป็นไปในด้านก่อทุกข์อยู่ร่ำไป เพราะยังดับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไม่ได้ เมื่อดับตัณหาได้จึงดับทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสรู้ทั้งในด้านทุกข์ ทั้งในด้านดับทุกข์ ซึ่งเป็นปัญญาในอริยสัจอันนับว่าเป็นปัญญาสูงสุด อันนี้ก็เป็นผลจากปัญญาบารมีที่ทรงได้บำเพ็ญมาโดยลำดับนั้นเอง

๙ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 14 สิงหาคม 2554    
Last Update : 14 สิงหาคม 2554 8:57:01 น.
Counter : 1024 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.