Group Blog
 
All Blogs
 
๒๙. ประโยชน์ภายหน้า



หลักพระพุทธศาสนา

๒๙. ประโยชน์ภายหน้า

ความหมายของประโยชน์ภายหน้า


ได้แสดงแล้วในกัณฑ์ก่อนว่า สิ่งที่ต้องการได้มาเกื้อกูลให้เกิดสุข ได้ชื่อว่าประโยชน์ ประโยชน์เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเป็นประโยชน์ปัจจุบัน มีเป็นต้นว่าทรัพย์ ศิลปวิทยา ยศ ไมตรี และความผาสุกไม่มีโรค ประโยชน์เหล่านี้พึงได้มาด้วยสมบัติ ๔ ประการ มีถึงพร้อมด้วยความหมั่นเป็นต้นและเว้นจากอบายมุขต่างๆ มีปัญหาต่อไปว่า ทุกๆ คนต้องการประโยชน์ทั้งหลายมีทรัพย์เป็นต้นเฉพาะในปัจจุบันเท่านั้นหรือ ? ส่วนอนาคตหรือกาลข้างหน้าไม่ต้องคำนึงถึง พูดขยายความออกอีกสักหน่อยก็ว่าได้ว่า วันนี้เดือนนี้ปีนี้หรือชาตินี้ทรัพย์สำหรับกินอยู่ใช้สอยบริบูรณ์ก็แล้วกัน ไม่ต้องคำนึงถึงว่าวันพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าปีหน้า เป็นต้นจะเป็นอย่างไร ผู้ที่มีความคิดเช่นนี้อาจจะมีบ้าง แต่เรียกว่าเป็นคนมีความคิดสั้น ส่วนคนที่ฉลาดย่อมมีความคิดยาวออกไปถึงกาลข้างหน้า และทำสิ่งที่ให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวสืบไปถึงกาลข้างหน้า สำหรับเด็กๆ โดยปกติย่อมมีอนาคตของชีวิตอยู่อีกมาก การศึกษาเล่าเรียนในบัดนี้ก็เพื่อสร้างอนาคตของชีวิตให้มีความสุขความเจริญ อันความสุขความเจริญในอนาคตคือในกาลข้างหน้าของชีวิตนี้แหละ เป็นความหมายประการที่หนึ่งของคำว่าประโยชน์ภายหน้า ถ้าทุกๆ คนไม่มีอนาคตภายหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องศึกษาเล่าเรียนหรือทำอะไรไปวุ่นวายเหมือนอย่างนี้ แต่เพราะทุกๆ คนต่างมีอนาคตจึงต้องพากันศึกษาเล่าเรียนและทำกิจต่างๆ เพื่อให้มีความสุขความเจริญในอนาคต โดยเฉพาะก็อนาคตของชีวิตนี้นั่นแหละ

อีกอย่างหนึ่ง อนาคตของเด็กก็คือความตั้งตนได้เป็นหลักฐาน มีความสุขความเจริญ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ คราวนี้ เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว อนาคตของชีวิตนี้ก็น้อยเข้าสั้นเข้า หน้าที่ในการเตรียมสร้างตนเองสำหรับโลกนี้ก็จะน้อยลง แต่ก็ช่วยอุปการะผู้อื่นตามที่เกี่ยวข้องเช่นเมื่อเป็นมารดาบิดา เป็นพี่ลุงป้าน้าอา เป็นปู่ย่าตายาย หรือเป็นญาติเป็นมิตร เป็นผู้อุปการะ ก็ต้องทำการสงเคราะห์บุตรหลานญาติมิตรและผู้อยู่ในอุปการะต่างๆ บางทีถึงมิใช่เป็นญาติมิตรแต่เมื่อมีจิตเป็นกุศลก็ทำการสงเคราะห์อนุเคราะห์ผู้อื่นด้วยวิธีต่างๆ จนถึงตั้งเป็นสมาคมหรือองค์การก็มีเป็นอันมาก ทั้งนี้เพราะคนย่อมอยู่รวมกันเป็นครอบครัวเป็นกลุ่มเป็นหมู่ ตลอดจนถึงเป็นประเทศชาติ แต่ละประเทศก็ยังรวมกันเป็นฝ่าย จึงต่างต้องอาศัยกันและกัน คนที่มุ่งประโยชน์สุขเฉพาะตนเท่านั้นไม่เกื้อกูลใคร โดยที่สุด เป็นพ่อแม่ไม่อุปการะลูก ซึ่งเป็นจำพวกคนที่เห็นแก่ตนโดยส่วนเดียว เป็นคนคับแคบ ไม่ประพฤติการเป็นคุณประโยชน์แก่ใคร อาจเจริญด้วยประโยชน์ปัจจุบันมีทรัพย์เป็นต้นเฉพาะตน แต่ก็เป็นคนไม่มีประโยชน์แก่คนอื่นหรือแก่หมู่คณะ เรียกว่าเป็นคนมีความคิดแคบสั้น เพราะฉะนั้น คนฉลาดจึงมีความคิดยาวและกว้างออกไป เมื่อตนเองได้รับประโยชน์มีความสุขความเจริญ ก็ทำการที่เป็นประโยชน์แผ่ความสุขความเจริญให้แก่ผู้อื่นตามที่เกี่ยวข้องและตามสามารถ ประโยชน์ที่แผ่ออกไปถึงคนอื่นดังกล่าวมานี้เป็นความหมายประการที่สองของคำว่าประโยชน์ภายหน้า เพราะประโยชน์ปัจจุบันเท่ากับเป็นประโยชน์ตน ซึ่งต้องทำก่อน เมื่อตนมีประโยชน์ขึ้นแล้ว จึงสามารถเผื่อแผ่ประโยชน์ไปถึงคนอื่นได้ ประโยชน์ผู้อื่นจึงนับเป็นประโยชน์ภายหน้า ซึ่งถัดไปจากประโยชน์ตน เหมือนอย่างใครที่จะบริจาคทรัพย์ให้แก่คนอื่นตนก็ต้องมีทรัพย์ขึ้นก่อน ถ้าตนไม่มีทรัพย์จะบริจาคได้อย่างไร ใครจะเป็นครูอาจารย์สั่งสอนศิลปวิทยาให้แก่คนอื่น ตนก็ต้องศึกษาเล่าเรียนมีความรู้ในศิลปวิทยานั้นก่อน ถ้าไม่มีความรู้จะสอนเขาได้อย่างไร

อีกอย่างหนึ่ง เมื่อกล่าวถึงประโยชน์ปัจจุบัน มีทรัพย์เป็นต้น คนย่อมต้องการอยู่ด้วยกัน เพราะจำเป็นแก่การครองชีวิตประจำวัน และอาจใช้จ่ายอำนวยความสุขต่างๆ แต่การแสวงหาของคนนั้นต่างๆ กัน บางคนพากเพียรประกอบอาชีพเพื่อให้ได้ทรัพย์มาในทางที่ชอบเป็นชาวนาชาวสวนก็ทำนาทำสวน เป็นพ่อค้าก็ทำการค้า เป็นข้าราชการก็ตั้งใจรับราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น ทำการแสวงหาในทางไม่ชอบ เช่นลักขโมยปล้นสะดมและทำการทุจริตต่างๆ ก็อาจได้ทรัพย์มาเหมือนกัน และบางทีก็ได้มาก ทั้งนี้เพราะความคิดเห็นตลอดถึงนิสัยสันดานของคนต่างๆ กัน คนที่แสวงหาในทางสุจริตไม่ยอมทำในทางทุจริตก็เพราะเห็นว่าทางสุจริตดีทางทุจริตไม่ดี ส่วนคนที่แสวงหาในทางทุจริตก็เพราะเห็นว่าทางทุจริตดีทางสุจริตไม่ดี ฉะนั้น ความเห็นที่เป็นพื้นฐานว่าอะไรดีอะไรไม่ดี จึงเป็นข้อสำคัญ เพราะคนโดยปกติย่อมทำไปในสิ่งที่ตนเห็นว่าดี ไม่ทำในสิ่งที่ตนเห็นว่าไม่ดี คนที่ทำทุจริตก็เพราะเห็นว่าทุจริตดี ด้วยอาจได้ทรัพย์มาโดยง่าย ไปขโมยเขาเพียงครู่เดียวก็อาจได้มาแล้ว ในเวลาเขียนบันทึกหรือสอบ คอยลอกเขาถามเขาสบายกว่า ส่วนที่ทำสุจริตก็เพราะเห็นว่าสุจริตดีอย่างตรงกันข้าม ถึงจะได้ทรัพย์ได้วิชามาทีละเล็กละน้อยในทางสุจริตก็มีความเย็นใจสบายใจ บุคคลทั้งสองจำพวกนี้ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า ผู้ที่เห็นว่าทางทุจริตดีนั้นยังเป็นผู้ติดแน่นในวัตถุ คือเห็นแก่จะได้เป็นประมาณ ให้ได้มาแล้วก็แล้วกัน ไม่คำนึงถึงทางที่จะได้ ไม่ยอมรับนับถือความดีความชั่วตามหลักกรรม แต่ถือหลักของวัตถุที่จะพึงรวบรวมได้มาเป็นใหญ่ จะเรียกว่าเป็นคนไม่มีศาสนาก็ได้ คนที่นับถือวัตถุเป็นใหญ่ จะทำอะไรก็ต้องมุ่งจะได้วัตถุ เพื่อวัตถุ ชื่อว่าเป็นทาสของวัตถุ ส่วนผู้ที่นับถือหลักกรรม ย่อมมีเลือกเฟ้นว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ยอมตีราคาวัตถุสูงกว่าความดี ยอมเสียสละวัตถุเพื่อประพฤติความดี ดังเช่นผู้บริจาคทรัพย์อุปการะคนอื่น หรือผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่คนอื่นในทางใดทางหนึ่ง ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งไม่มีวัตถุอะไรตอบแทน ทั้งนี้ก็เพราะเห็นว่าการบำเพ็ญประโยชน์แก่คนอื่นนี้เป็นความดี อันความดีดังกล่าวมานี้เป็นความหมายประการที่สามของคำว่าประโยชน์ภายหน้า อันที่จริงก็เป็นประโยชน์ปัจจุบัน คือทำความดีเมื่อใดก็เกิดความสุขเมื่อนั้น คือเป็นสุขใจขึ้นก่อน ส่วนผลสะท้อนของความดีนั้นซึ่งเป็นผลทางกายหรือทางวัตถุอาจเกิดตามมาภายหลัง จึงเรียกว่าเป็นประโยชน์ภายหน้า

รวมความว่า คำว่าประโยชน์ภายหน้า มีความหมายถึงประโยชน์จะพึงได้ในอนาคตก็ได้ ประโยชน์แผ่ไปถึงคนอื่นก็ได้ หมายถึงความดีก็ได้ แต่ก็มีความหมายรวมๆ กันทั้งสามอย่าง คือความดีที่ให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและแก่คนอื่น ตั้งแต่บัดนี้สืบไปจนถึงภายหน้า

ทางเกิดของประโยชน์ภายหน้า

ประโยชน์ภายหน้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงทางเกิดไว้ ๔ อย่าง คือ

(๑) สัทธาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศรัทธา คือเชื่อสิ่งที่ควรเชื่อ คือเชื่อในเรื่องความดีความชั่ว สำหรับทางพระพุทธศาสนาคือเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และเชื่อหลักกรรมตามคำสั่งสอนของพระองค์ เช่นตรัสว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น เพราะใครก็ตามที่นับถือความดี ก็ต้องมีความเชื่อในหลักของกรรมตามพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และเชื่อพระพุทธเจ้าด้วย คือเชื่อว่าพระองค์ได้ตรัสรู้จริง คำของพระองค์ต้องจริงแท้แน่นอน

(๒) สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล คือรักษากายวาจาเรียบร้อยดี ไม่มีโทษ เพราะงดเว้นจากโทษนั้นๆ เมื่อมีศรัทธาในหลักของกรรมดังกล่าวแล้ว ก็ย่อมเว้นจากความชั่วได้ตามความเชื่อของตน

(๓) จาคสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการบริจาค คือสละให้ปัน เป็นการเฉลี่ยสุขให้แก่ผู้อื่น ได้แก่การบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ซึ่งเป็นการทำความดีอย่างหนึ่งดังกล่าวมาแล้ว

(๔) ปัญญาสัมปทา ถึงพร้อมด้วยปัญญา รู้จักบาปบุญคุณโทษหรือความดีความชั่ว มีประโยชน์มิใช่ประโยชน์ เป็นต้น ปัญญาทำให้รู้จักเปรียบเทียบว่าอะไรเป็นอะไรดังกล่าวและให้รู้จักค่าของบุญหรือคุณความดี ทำให้รู้จักเลือกเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ และทำให้รู้จักเลือกเว้นการที่ควรเว้น เลือกประพฤติการที่ควรประพฤติ

ทางเกิดประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่างนี้ เป็นบุญกุศลคือความดีโดยตรง เป็นเหตุสนับสนุนประโยชน์ปัจจุบันให้มั่นคงถาวร และความดีที่แต่ละคนได้ทำไว้แล้วคราวหนึ่งๆ เรียกว่าเป็นปุพเพกตปุญญตา (ความมีบุญที่ทำไว้ก่อน) ย่อมเป็นคุณสมบัติประจำตน ดังที่เมื่อเราจะติดต่อการงานกับใครเป็นต้น ก็ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติประการหนึ่ง จึงเป็นตัวโชควาสนาอำนวยประโยชน์ให้ตามที่ต้องการ ในปัจจุบันนี้คนบรรลุถึงฐานะแห่งประโยชน์ต่างๆ กัน เพราะอำนาจความดีที่ทำไว้แต่ก่อนต่างกัน เมื่อความดีกำลังให้ผลก็เป็นสิริที่หลั่งไหลมาแห่งสมบัติทั้งหลาย เมื่อสิ้นดีดังที่เรียกว่าสิ้นบุญ สมบัติทั้งปวงย่อมพินาศ

ประโยชน์ภายหน้าทำให้คนอยู่เป็นสุข

ประโยชน์ภายหน้าดังกล่าว ยังเป็นเหตุทำให้ประชาชนที่อยู่รวมกันเป็นสุข เพราะเมื่อต่างเว้นจากการทำร้ายเบียดเบียนกัน ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จึงพากันประกอบอาชีพได้โดยสะดวก ทำให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขในบ้านเมือง จึงเป็นหลักสำคัญแห่งการปกครองด้วย ดังมีเรื่องเล่าในกุรุธัมมชาดกว่า ในอินทปัฏนคร ในกุรุรัฐ พระเจ้ากุรุและประชาชนตั้งอยู่ในศีลธรรมจึงมีสุขสมบูรณ์ ส่วนในทันตปุระนคร ในกาลิงครัฐ เกิดฝนแล้งจึงเกิดภัย ๓ ประการ คือความอดอยาก โรค และความขาดแคลนอาหารขึ้นโดยทั่วไป ประชาชนจึงพากันร้องขอให้พระเจ้ากาลิงคะส่งทูตไปทูลขอช้างมงคลพระเจ้ากุรุ ด้วยพากันคิดว่าเมื่อได้ช้างมงคลมาฝนจะตก พระเจ้ากาลิงคะจึงทรงส่งพราหมณ์ ๘ คนเป็นทูตไปสู่กุรุรัฐ เพื่อไปทูลขอช้างมงคล พราหมณ์ทั้ง ๘ คนนั้นได้เดินทางไปยังกุรุรัฐ ได้คอยดักขอพระราชทานช้างมงคลเมื่อพระเจ้ากุรุทรงช้างมงคลเสด็จเที่ยวไปในพระนครในเวลาเช้าวันหนึ่ง พระเจ้ากุรุเสด็จลงจากหลังช้าง ทรงจับงวงวางไว้ในมือของพวกพราหมณ์แล้วทรงหลั่งน้ำพระราชทานด้วยพระสุวรรณภิงคาร (พระเต้าทองคำ) พวกพราหมณ์ก็นำช้างไปสู่กรุงทันตปุระแคว้นกาลิคะ เมื่อได้ช้างมาแล้วฝนก็ยังไม่ตกอยู่นั่นเอง พระราชาทรงพระดำริว่า ในแคว้นกุรุพระราชาทรงรักษาพระกุรุธรรมคือศีล ๕ ฝนจึงตกเสมอด้วยอานุภาพของศีล จึงควรจะไปทูลขอกุรุธรรมมาดีกว่า ครั้นทรงพระดำริดังนี้ จึงโปรดให้นำช้างมงคลไปถวายคืน แล้วให้ทูลขอกุรุธรรม พระเจ้ากุรุก็โปรดให้จารึกกุรุธรรมลงในพระสุพรรณบัฏ (แผ่นทอง) มอบแก่พราหมณ์ให้นำไปถวาย พราหมณ์ก็นำพระสุพรรณบัฏกลับมาถวายพระเจ้ากาลิงคะ พระเจ้ากาลิงคะพร้อมทั้งประชาชนก็พากันรับกุรุธรรมนั้นมาปฏิบัติ คือตั้งอยู่ในศีล ๕ ฝนก็ตกบริบูรณ์ ภัยทั้งปวงก็สงบ บ้านเมืองก็เกิดความผาสุกสมบูรณ์ ชาดกนี้แสดงอานุภาพของศีล แม้ไม่เชื่อในอานุภาพเหนือธรรมดา คิดดูตามเหตุผลตามธรรมดานี้แหละก็จะเห็นได้ว่าเมื่อพากันมีศีล คือไม่ทำร้ายกัน ไม่ลักขโมยฉ้อโกงกันเป็นต้น และพากันมีธรรมคือประพฤติประโยชน์เกื้อกูลกันโดยทั่วไป แล้วก็จะเกิดความสุขสมบูรณ์แน่นอน นี้คืออานุภาพของศีลหรือพูดรวมๆ กันว่าศีลธรรม สามารถระงับภัยต่างๆ ได้แน่ โดยเฉพาะคือภัยที่คนก่อให้แก่กันเอง ภัยที่คนก่อขึ้นนี้อาจทำให้ดินฟ้าอากาศแปรปรวนไปได้ด้วย เช่นเมื่อตัดทำลายป่าเสียโดยมาก ไม่ปลูกขึ้นทดแทนให้พอกัน ก็ทำให้เกิดความแห้งแล้งเป็นต้น ฉะนั้น คนเรานี้เอง เมื่อไม่มีศีลธรรมก็เป็นผู้ก่อภัยให้เกิดขึ้นแก่กัน ตลอดถึงเป็นผู้ก่อความวิปริตแปรปรวนแห่งธรรมชาติได้ด้วย ต่อเมื่อพากันตั้งอยู่ในศีลธรรมความปกติสุขย่อมเกิดขึ้นตลอดถึงธรรมชาติดินฟ้าอากาศก็ย่อมเป็นไปโดยปกติ ทั้งคนอาจปรับปรุงธรรมชาติให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้ด้วย แต่ทั้งนี้ต้องพากันนับถือความดี ประพฤติความดีหรือศีลธรรม กล่าวโดยเฉพาะคือทางเกิดประโยชน์ภายหน้า ๔ อย่าง ซึ่งโดยแท้ก็คือประโยชน์ปัจจุบันนั่นเอง แต่ยั่งยืนไปนานดังกล่าวแล้วแล

การกรวดน้ำ

วิธีให้ด้วยการหลั่งน้ำ ดังเล่าในชาดกนี้หรือในเรื่องอื่น เท่าที่สังเกตุดูเห็นว่าใช้ในการให้ของใหญ่ที่ไม่สามารถจะยกให้ได้ ดังเช่นให้ช้างหรือให้ที่ดินบ้านเรือน ดังเช่นพระเจ้าพิมพิสารทรงหลั่งน้ำถวายสวนไผ่หลวงเป็นวัด อีกอย่างหนึ่งให้สิ่งที่มองไม่เห็นตัวเช่นให้ส่วนบุญก็ใช้หลั่งน้ำให้ ดังวิธีกรวดน้ำที่ใช้กันอยู่ หรือประกาศที่สำคัญ เช่นพระนเรศวรมหาราชเจ้าทรงหลั่งน้ำประกาศอิสรภาพ พระพุทธเจ้าเมื่อจะตรัสรู้ทรงเสี่ยงพระบารมีผจญมาร ท่านก็ได้แสดงว่าได้ทรงชี้พระธรณี (แผ่นดิน) เป็นพยาน ดังพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ชนะมาร) พระหัตถ์ขวาพาดพระเพลา บางท่านอธิบายว่าคือทรงชี้พระธรณี อาจอธิบายว่าให้หนักแน่นอย่างแผ่นดินก็ได้แล

ธมฺมจารี สุขํ เสติ
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข


๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๐๓

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 11 กรกฎาคม 2553
Last Update : 11 กรกฎาคม 2553 6:00:42 น. 1 comments
Counter : 874 Pageviews.

 
อยู่ในศีลกินธรรมโลกคงไม่วุ่นวาย


โดย: แฟนหล่อ วันที่: 11 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:53:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.