Group Blog
 
All Blogs
 
๓๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้



หลักพระพุทธศาสนา

๓๑. พระพุทธเจ้าตรัสรู้

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร


พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา ได้มีหนังสือหลายเล่มเขียนแสดงเรื่องนี้ เฉพาะบางเล่ม เช่นพุทธประวัติเล่ม ๑ ตอนพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ ของรัชกาลที่ ๖ พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เรื่องพระพุทธศาสนา และพระรัตนตรัย ส่วนที่เป็นหนังสือสำนวนเก่าเช่น ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ฉบับหนึ่ง พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) ฉบับหนึ่ง ส่วนพระสูตร (คือเรื่องพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ที่พระอาจารย์ดั้งเดิมได้ร้อยกรองไว้ อ้างว่าได้สดับฟังมาจากพระพุทธเจ้าโดยตรง) เล่าถึงพระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าเรื่องความตรัสรู้ของพระองค์เอง ได้มีหลายพระสูตร พระสูตรแรกที่สุดคือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พระสูตรแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าหมุนจักรคือพระธรรม (ล้อธรรม) ให้แล่นไป) พระสูตรนี้เป็นปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงแก่พระปัญจวัคคีย์ (พวกพระ ๕ รูป) ซึ่งจะถือเป็นหลักแสดงในกัณฑ์นี้

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” มีคำที่เป็นเสมือนคำตอบหลายคำ เช่น “พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม” “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์” “พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ” หรือคำเต็มว่า “ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” คำเหล่านี้ถูกต้องทั้งนั้น แต่เป็นคำตอบที่กว้างอย่างไม่ผิดเหมือนอย่างถามว่ารู้อะไร ก็ตอบว่ารู้วิชา ยังมีปัญหาต่อไปอีกว่า วิชาอะไร และคำตอบนั้น ก็ยังเป็นคำศัพท์อยู่ แปลไม่ออก ไม่รู้ความหมาย ก็ยังไม่รู้อยู่นั่นเอง ฉะนั้น จะอธิบายความหมายของคำศัพท์ในคำตอบสั้นๆ นั้นก่อน เพราะเป็นคำที่จะต้องพบเสมอในหนังสือพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม

คำว่า ธรรม แปลตามศัพท์ว่า ทรงไว้ คือดำรงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง คำนี้ใช้ในความหมายมากมาย เฉพาะในที่นี้ ท่านว่าหมายถึงสัจจะ คือความจริง เพราะความจริงที่เป็นความจริง มิใช่เป็นของเท็จของปลอม ย่อมทรงหรือดำรงความจริงอยู่เสมอ ความจริงที่แน่แท้ จึงมีลักษณะของธรรม คือทรงหรือดำรงอยู่นั่นเอง และคำว่าสัจจะที่แปลว่าความจริง ก็แปลตามศัพท์ว่าสภาพที่มีอยู่เป็นอยู่ อันสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ได้ก็ต้องเป็นสิ่งที่ทรงตัวหรือดำรงตัวอยู่ได้เหมือนอย่างชีวิต ทรงชีวิตหรือมีชีวิตก็หมายถึงยังเป็นอยู่ยังไม่ตายเช่นเดียวกัน ฉะนั้นธรรมจึงได้แก่ความจริง เรียกควบกันเป็นศัพท์ว่าสัจจธรรม พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม คือตรัสรู้ความจริง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจจ์

คำว่าอริยะ ตรงกับคำว่าอารยะ แปลกันว่า ประเสริฐ อริยสัจจ์ แปลว่าความจริงอย่างประเสริฐ (คือจริงอย่างแน่แท้หรือแน่นอน) ความจริงที่ทำให้ผู้รู้เป็นพระอริยะ (ผู้ประเสริฐ) ความจริงที่พระอริยะพึงรู้ ความจริงของพระพุทธเจ้าผู้อริยะ ข้อนี้เท่ากับเป็นข้ออธิบายของข้อก่อน คือข้อก่อนว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมคือความจริง ข้อนี้ชี้ลงไปชัดว่าธรรมคือความจริง (สัจจธรรม) ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น คืออริยสัจจะ ไม่ใช่สัจจะทั่วๆ ไปของบุถุชน (คนที่ยังหนา)

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ

คำว่า โพธิ แปลว่า ตรัสรู้ ญาณ แปลว่า หยั่งรู้ ทั้ง ๒ คำแปลว่ารู้ ด้วยกัน แต่โพธิมีความหมายสูงกว่า รวมกันว่าโพธิญาณ แปลว่า ญาณคือความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณ เมื่อแปลเข้าก็คงซ้ำๆ กันว่า ตรัสรู้พระญาณคือความตรัสรู้ มีความหมายว่ารู้จนตรัสรู้ความจริงแจ่มแจ้งหมดทุกอย่าง สัจจธรรมหรืออริยสัจจ์แจ่มแจ้งอยู่ในความรู้อันเรียกว่า พระโพธิญาณของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระโพธิญาณจึงมีความหมายง่ายๆ ว่าตรัสรู้ความรู้ในสัจจธรรม

พระพุทธเจ้าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

คำว่า อนุตตระ แปลว่า อย่างยิ่ง ไม่มียิ่งกว่า สัมมา แปลว่า โดยชอบ สัม แปลว่า เอง โพธิ ก็ตรัสรู้ ญาณ ก็หยั่งรู้ รวมกันว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ญาณคือความตรัสรู้เองโดยชอบไม่มียิ่งกว่า เป็นคำขยายออกไปจากบทก่อนว่าพระโพธิญาณนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เอง ตรัสรู้แล้วโดยชอบ ไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าอีกแล้ว คือรู้ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครจะรู้ยิ่งขึ้นไปกว่า ไม่มีอะไรจะพึงรู้ยิ่งขึ้นไปอีกแล้ว

พระสัพพัญญู

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” ได้ยกคำที่พบกันอยู่เสมอมาแสดง เหมือนอย่างคำตอบอย่างสั้นๆ ดังกล่าวมานั้น แต่ความรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอนุตตระ ไม่มีที่จะยิ่งไปกว่าดังบทที่แสดงแล้ว จึงเป็นความรู้สิ่งทั้งหมด เรียกว่าสัพพัญญุตาญาณ (สัพพัญ ทั้งหมด ญุต ความรู้ ญาณ ก็ความหยั่งรู้ รวมกันว่า ญาณคือความรู้สิ่งทั้งหมด) พระพุทธเจ้าจึงเป็นพระสัพพัญญูผู้รู้สิ่งทั้งหมด แต่มิใช่ว่าทรงรู้เท่าไรทรงแสดงทั้งหมด ทรงแสดงตามควรแก่ภูมิชั้นของผู้ฟังเท่านั้น เพราะทรงมุ่งสอนให้ผู้ฟังรู้เข้าใจ ถ้าสอนเกินภูมิไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์เหมือนอย่างมีภูมิรู้ขนาดชั้นมัธยม ๓ ก็สอนขนาดที่นักเรียนชั้นนั้นจะเข้าใจได้ แต่เมื่อทรงสอนแก่คนที่มีภูมิรู้ชั้นสูงๆ ขึ้นไปก็ทรงสอนสูงขึ้นตามชั้น ข้อสำคัญที่เป็นพิเศษนั้น คือได้ทรงศึกษารู้จบทางคดีโลกเหมือนอย่างเป็นดุษฏีบัณฑิตมาก่อนแล้ว และมาทรงค้นคว้าจนรู้จบทางคดีธรรม จึงทรงรู้โลกรู้ธรรมแจ้งชัดหมด อาจสั่งสอนคนได้ทุกชั้น อาจโต้วาทะกับใครๆ ที่เลื่องลือว่าเป็นนักปราชญ์ได้ทั้งนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงไว้จึงมีหลากหลาย ซึ่งพระสาวกได้ฟังจำกันไว้ต่อๆ มาจนถึงจดเป็นอักษร แล้วพิมพ์เป็นหนังสือพระไตรปิฏกจำนวนหลายสิบเล่มเหมือนอย่างรวมหลักสูตรตั้งแต่ชั้นอนุบาล ชั้นประถม ชั้นมัธยม จนถึงชั้นอุดมไว้พร้อมเสร็จ ฉะนั้น เมื่อศึกษาพระพุทธศาสนาไปโดยลำดับย่อมจะเข้าใจได้ดี และจะยิ่งรู้ความจริงยิ่งขึ้นทุกที แต่ถ้าเริ่มศึกษาผิดชั้นจะเข้าใจยากหรืออาจไม่เข้าใจ เหมือนอย่างยังไม่รู้เลขชั้นประถมไปจับเรียนเลขชั้นมัธยมสูงๆ ทีเดียว จะเข้าใจได้อย่างไร และพระธรรมของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบทมีเหตุผลที่ผู้ศึกษาอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ และทรงแสดงส่องเข้ามาที่ตัวของเราเองทุกๆ คน มิได้ทรงแสดงไกลออกไปๆ จนมองไม่เห็น ฉะนั้น เมื่อมีใครถามพระองค์ถึงเรื่องที่ไกลออกไปเช่นนั้น เช่นเรื่องโลกมีที่สุดหรือไม่มีที่สุดเป็นต้น ก็ไม่ได้ตรัสตอบเพราะตรัสตอบไปก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร ผู้ถามเองก็มองไม่เห็น คนอื่นก็มองไม่เห็น ได้แต่เชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ถึงจะเชื่อก็เป็นเรื่องอย่างหลับตาเชื่อ ไม่มีทางจะเกิดปัญญารู้เห็นได้เอง ทางที่ถูกควรจะไม่เชื่อมากกว่า พระพุทธเจ้าทรงมุ่งให้คนเชื่อด้วยความรู้ จึงทรงงดแสดงเรื่องที่คนไม่อาจจะรู้จะเห็น ทรงแสดงแต่เรื่องที่คนอาจจะรู้จะเห็นได้ คือเรื่องส่องเข้ามาที่ตัวของเราเองดังกล่าวแล้ว ใครๆ ที่มีจิตใจมีสติปัญญาอย่างสามัญอาจรู้เข้าใจพระธรรมของพระองค์ได้ทั้งนั้น และไม่ต้องไปรู้ไกลออกไปที่ไหน รู้ที่ตัวของตัวเองนี้แหละอย่างมีเหตุผลตามเป็นจริง ทั้งสามารถจะปฏิบัติได้ทำได้ตามที่ทรงสั่งสอนด้วย เมื่อทำได้แล้วก็ได้รับผลดีจริงเช่นทรงสอนไม่ให้ทำความชั่ว ให้ทำความดี ให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด นี้ก็คือทรงสอนแก่ตัวของเราทุกๆ คน เราทุกๆ คนสามารถไม่ทำความชั่ว สามารถทำความดี สามารถชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ไม่ใช่ไม่สามารถ แต่บางอย่างไม่สามารถจริงๆ เช่นถ้าจะมีใครสอนให้กลั้นลมหายใจเรื่อยไป สอนไม่ให้กิน สอนไม่ให้นอน เช่นนี้ไม่มีใครสามารถปฏิบัติตามได้แน่ ใครขืนปฏิบัติตามเป็นตายแน่ ส่วนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เป็นเช่นนั้น ไม่มีใครต้องตายต้องเสียหายเพราะปฏิบัติตาม มีแต่จะดีขึ้น มีสุขมีเจริญขึ้นไปทุกที และยิ่งจะรู้จักความจริงที่ตัวเราเองของตัวเราเองมากขึ้นทุกที เพราะดีชั่วของตัวเราเองใครเล่าจะทำให้ได้ ตัวของเราเองนั่นแหละทำให้แก่ตัวเราเอง และตัวเราเองเป็นอย่างไรเราก็รู้ ถึงจะปกปิดคนอื่นได้ก็ปกปิดตัวเราเองไม่ได้ ปกปิดพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้ เพราะเข้าอยู่ในพระธรรมของพระพุทธเข้าที่ทรงสั่งสอนไว้ทั้งนั้น แต่พระพุทธเจ้าทรงมีพระกรุณายิ่งใหญ่ ใครทำอะไรไม่ดีน้อยหรือมากอย่างไร ใครเสียใจว่าไม่มีใครคบใครรัก ใครคิดว่าถูกใครๆ พากันเกลียดหรือรังเกียจ หรือเกิดเกลียดตนรังเกียจตนขึ้นเอง ใครมีทุกข์ร้อนน้อยหรือมากต่างๆ ขอให้รู้สึกสำนึกตน รับรองความจริงของตน และระลึกถึงพระพุทธเจ้าเถิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงเกลียดรังเกียจใครๆ ไม่ทรงสาปแช่งใคร มีแต่พระกรุณาเปี่ยมอยู่เสมอ และได้ประทานทางออกให้แก่ทุกๆ คนไว้แล้ว คือละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เดิมทำมาไม่ดีก็ตั้งต้นใหม่ตามทางออกนั้น พระพุทธเจ้าไม่ทรงทิ้งผู้ที่ตั้งต้นทำความดี ขอให้ตั้งต้นเถิด ขอให้ตั้งใจพึ่งพระพุทธเจ้าเป็นกำลังใจเถิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงทอดทิ้งผู้ที่ตั้งใจพึ่งพระองค์จริงๆ เลย และผู้ที่ดำเนินชีวิตไปในทางแห่งพระธรรมที่ทรงสั่งสอนตามภูมิชั้นของตนก็ไม่มีพลาดผิดไปจากผลดีต่างๆ เลย ตามที่กล่าวเยิ่นเย้อออกมานี้ เพื่อจะชี้ให้เห็นชัดในหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมสั่งสอน ซึ่งสรุปลงอย่างย่นย่อสำหรับเป็นข้อกำหนด ๓ ประการ

อาการสั่งสอน ๓ อย่าง

(๑) ทรงสั่งสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้ยิ่งเห็นจริงในธรรมที่ควรรู้ควรเห็น

(๒) ทรงสั่งสอนมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

(๓) ทรงสั่งสอนธรรมที่ปฏิบัติได้ผลสมจริง เรียกว่ามีปาฏิหาริย์ คือเป็นจริงทั้งเหตุผลอย่างเห็นๆ ตลอดหมด เป็นอัศจรรย์ที่ผู้ปฏิบัติย่อมได้ประโยชน์โดยสมควรแก่ความปฏิบัติจริง

ฉะนั้น พระธรรมที่ทรงแสดงสั่งสอนจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเสี้ยวแห่งความตรัสรู้ พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้เช่นนั้น ดังที่พระอาจารย์เล่าไว้ว่า สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ในป่าไม้สีเสียดใกล้กรุงโกสัมพี ได้ทรงกำใบไม้สีเสียดที่หล่นเรี่ยรายอยู่เพียงเล็กน้อยด้วยพระหัตถ์ ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบไม้สีเสียดที่ทรงกำไว้ กับใบไม้สีเสียดในป่าสีเสียดทั้งหมด ส่วนไหนจะมากกว่ากัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ใบไม้สีเสียดในป่าสีเสียดทั้งหมดมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่ทรงรู้ยิ่งแล้วมิได้บอกแสดงก็มากกว่าฉันนั้น เพราะเหตุอะไรจึงไม่ทรงบอกแสดง เพราะเหตุว่าไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นข้อปฏิบัติชอบ ฉะนั้น จึงไม่ตรัสบอก ส่วนที่ตรัสบอกนั้นคืออริยสัจจ์ ๔ เพราะประกอบด้วยประโยชน์ ตามพระพุทธดำรัสที่เล่ามานี้ จึงแสดงว่านอกจากที่ทรงบอกแสดงไว้แล้ว ยังมีเรื่องที่ทรงรู้แล้วมิได้บอกอีกมากมาย แต่ก็เป็นที่พึงยินดีว่า สิ่งที่มีประโยชน์อันเป็นข้อควรรู้ควรเห็น ตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวมาแล้วได้ทรงแสดงไว้แล้วทั้งหมด ไม่มีข้ออะไรที่ทรงซ่อนเร้นไว้ สมดังที่ตรัสไว้ในที่แห่งหนึ่งว่า พระองค์ไม่ทรงมีกำมือของอาจารย์ คือซ่อนเร้นศิลปวิทยาไม่บอกแก่ศิษย์ ข้อที่ควรรู้ควรเห็นอันเป็นประโยชน์ได้ทรงบอกแสดงแล้วทั้งหมด

“พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” อาจตอบได้ด้วยคำตอบกว้างๆ ดังกล่าวมาแล้ว ซึ่งเมื่อจะตอบอย่างกว้างขวางที่สุด ก็ตอบว่า ตรัสรู้ทั้งหมด เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู แต่เมื่อตอบในฐานะเป็นผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็พึงตอบได้ตามพระพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งท่านก็ได้กล่าวแล้วว่าเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งนิดหนึ่งของความตรัสรู้เท่านั้น แม้ในพระพุทธศาสนาก็มีพระสูตรต่างๆ แสดงเรื่องนี้ไว้มากหลายเหมือนกัน จะเลือกมาแสดงเป็นหลักแต่เพียงพระสูตรเดียว ซึ่งเป็นเทศน์ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสแสดงถึงพระองค์เองว่า พระองค์ได้ตรัสรู้อะไรจึงพอพระหทัยว่าตรัสรู้แล้ว ในลำดับต่อไป

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
อุตฺตมํ ธมฺมมชฺฌคา ได้ทรงบรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว
มหาสงฺฆํ ปโพเธสิ ทรงยังสงฆ์หมู่ใหญ่ให้ตรัสรู้ตามแล้ว
อิจฺเจตํ รตนตฺตยํ นี้คือพระรัตนตรัย ดังนี้


ใจความปฐมเทศนา

ณ วันจันทร์เพ็ญแห่งเดือนอาสาฬหะ
ซึ่งโดยปกติตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ หน้าวันเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเทศนาครั้งแรกโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ สวนเลี้ยงกวาง กรุงพาราณสี พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศความตรัสรู้ของพระองค์ พร้อมทั้งทางแห่งความตรัสรู้ พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศว่าได้ทรงตรัสรู้จตุราริยสัจจ์ (จตุร + อริยสัจจ์ แปลว่าอริยสัจจ์ ๔) พระปฐมเทศนานี้นับถือกันทั่วไปว่าเป็นเทศนาที่แสดงหลักสำคัญ เป็นการเริ่มต้นพระพุทธศาสนา ซึ่งผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาควรทราบ ฉะนั้น จะย่อความของปฐมเทศนานี้เพื่อเป็นที่กำหนดง่าย ดังต่อไปนี้

ทางสุดโต่ง ๒ ข้าง

ตอนที่ ๑
พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทาง ๒ ทาง ที่นักบวชผู้มุ่งความตรัสรู้ไม่ควรดำเนินคือ

(๑) ความประกอบพัวพันอยู่ด้วยความสุดสดชื่นในทางกาม

(๒) ความประกอบการทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อน (เช่น วิธีทรมานตนของพวกโยคีต่างๆ)

หนทางทั้งสองนี้เรียกว่าหนทางสุดโต่ง ๒ ข้าง ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงหนทางที่ควรดำเนินเพื่อตรัสรู้ คือ

มรรคมีองค์ ๘

(๑) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
(๒) สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
(๓) สัมมาวาจา เจรจาชอบ
(๔) สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
(๕) สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ
(๖) สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ
(๗) สัมมาสติ ความระลึกชอบ
(๘) สัมมาสมาธิ ความตั้งใจชอบ

หนทางนี้เรียกว่าเป็นทางกลาง เรียกเป็นศัพท์ว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่าข้อปฏิบัติหรือทางปฏิบัติ หรือทางดำเนินสายกลาง มีข้อที่ควรซ้อมความเข้าใจไว้ก่อนคือ หนทางนี้เรียกว่าสายกลาง หมายความว่าอยู่ในระหว่างหนทางทั้งสองดังกล่าวแล้ว คือเมื่อรวมกันเข้าทั้งหมดก็เหมือนเป็นทางสามสาย หนทางทั้งสองดังกล่าวแล้วอยู่สุดโต่งสองข้าง ส่วนทางนี้อยู่ตรงกลาง ขาดตอนกันไม่เกี่ยวกันกับทางทั้งสองนั้น ไม่มีทางซอยหรือทางเล็กอะไรที่สัมพันธ์กันได้เลย มิใช่เป็นทางกลางชนิดที่จะสัมพันธ์กับทางโน้นก็ได้ทางนี้ก็ได้อย่างทางการเมือง เพราะทางในธรรมเมื่อเป็นทางไหนก็เป็นทางนั้นแยกกันคนละทางทีเดียว และคำว่าหนทางสุดโต่งทั้งสองข้างก็ดี คำว่าทางสายกลางก็ดี ต้องมีความหมายดังที่กล่าวแล้ว มิใช่เอาชื่อไปอ้างว่าทางสายกลางแล้วตั้งข้ออธิบายเอาเอง ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าหรือทางสายกลางในพระพุทธศาสนา แต่เป็นทางสายนอกพระพุทธศาสนา ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าต้องมีองค์ประกอบ ๘ ประการดังกล่าวแล้ว อีกอย่างหนึ่ง ทางสายกลางของพระพุทธเจ้าเป็นทางอันเดียวมิใช่ ๘ ทาง แต่มีองค์ประกอบกันอยู่ ๘ ประการเท่านั้น เหมือนอย่างถนนราชดำเนินซึ่งเป็นถนนสายหนึ่งสร้างขึ้นด้วยสิ่งต่างๆ เช่นเหล็ก กรวด ปูน ทราย มาเทเป็นถนนคอนกรีตและประดับด้วยสิ่งต่างๆ เช่นเสาโคมไฟฟ้า ต้นไม้ เป็นต้น ถ้าจำแนกออกไปก็มากมายหลายอย่างแต่รวมเป็นถนนสายเดียว

อนึ่ง เมื่อเทียบกับถนนหนทางเช่นนี้ ก็อาจจะนำองค์ประกอบทั้ง ๘ นั้นไปเทียบความยาวของถนนว่าเหมือนถนนยาว ๘ กม. สัมมาทิฏฐิ เป็น กม.ที่ ๑ จนถึงสัมมาสมาธิ เป็น กม.ที่ ๘ ถ้าเทียบเช่นนี้ก็ไม่ตรงกับความหมาย เพราะองค์เหล่านี้ต้องประกอบรวมกันอยู่ตั้งแต่ต้น เหมือนอย่างเหล็ก ปูน กรวด ทราย ก็ต้องรวมเป็นคอนกรีตตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ กม.ที่ ๑ เป็นเหล็กโครงใน กม.ที่ ๒ เป็นทราย กม.ที่ ๓ เป็นกรวด กม.ที่ ๔ เป็นปูน กม.ที่ ๕ เป็นน้ำ เป็นต้น ทุกสิ่งต้องรวมกันหล่อเป็นคอนกรีตตั้งแต่ต้นทีเดียว ทางสายกลางก็เหมือนเช่นนั้น ต้องประกอบด้วยองค์ทั้ง ๘ รวมกันเป็นทางเดียวและเป็นอันเดียวกันทุกระยะ

อันสิ่งต่างๆ โดยมาก เรียกว่าเป็นสิ่งอันหนึ่งๆ แต่ประกอบด้วยเครื่องประกอบหลายอย่าง เช่นคนๆ หนึ่งก็มีร่างกายประกอบด้วยอวัยวะภายนอกภายในเป็นอันมาก รถคันหนึ่งๆ ก็มีเครื่องประกอบมาก แต่ก็เรียกเป็นคนๆ เดียว เป็นรถคันเดียว เมื่อคนจะเดินไปไหน รถจะวิ่งไปไหน ร่างกายของคนทุกส่วนก็ต้องไปพร้อมกัน รถก็ต้องไปทั้งคัน ทางสายกลางก็เช่นเดียวกัน องค์ประกอบทั้ง ๘ อย่างนั้นต้องรวมกันไป ถ้าแยกกันก็เป็นทางแตก ให้เกิดความตรัสรู้ไม่ได้ เหมือนอย่างรถที่แยกเครื่องประกอบออก เช่นถอดล้อถอดเครื่องออก ก็วิ่งไปไม่ได้

อริยสัจจ์สี่

ตอนที่ ๒
พระพุทธเจ้าทรงประกาศอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งพระองค์ได้ตรัสรู้แล้วในเมื่อทรงเว้นทางสุดโต่งทั้งสอง ทรงดำเนินไปในทางสายกลางนั้น คือ

(๑) ทุกข์
(๒) ทุกขสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์
(๓) ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์
(๔) มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คือทางมีองค์ ๘ ได้แก่ทางสายกลางดังกล่าวแล้ว อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ในพระปฐมเทศนานั้นด้วย แต่ในที่นี้จะงดไว้ก่อน

ญาณสาม

ตอนที่ ๓
พระพุทธเจ้าได้ตรัสลักษณะของความตรัสรู้ของพระองค์ดังต่อไปนี้

(๑) รู้ในความจริง โดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ตามเป็นจริงอย่างชัดเจน ไม่คลุมเครือว่า นี่เป็นทุกข์ นี่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ นี่เป็นความดับทุกข์ นี่เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกเป็นศัพท์ว่า สัจจญาณ แปลว่ารู้ในความจริง

(๒) รู้ในกิจ คือหน้าที่ซึ่งควรกระทำโดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น คือควรทำอย่างไรกับทุกข์ ควรทำอย่างไรกับเหตุให้เกิดทุกข์ ควรทำอย่างไรกับความดับทุกข์ ควรทำอย่างไรกับทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้ตรัสแสดงไว้ว่าหน้าที่ซึ่งควรทำกับทุกข์ก็คือการกำหนดให้รู้จัก กับเหตุให้เกิดทุกข์ก็คือการละเสีย กับความดับทุกข์ก็คือการทำให้ปรากฏแจ่มแจ้งขึ้น กับทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ก็คืออบรมให้มีขึ้นโดยบริบูรณ์ รู้ดังนี้เรียกว่ารู้กิจคือหน้าที่ เรียกเป็นศัพท์ว่า กิจจญาณ แปลว่ารู้ในกิจ

(๓) รู้ในความทำกิจสำเร็จ โดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือเมื่อรู้หน้าที่แล้วก็ปฏิบัติในหน้าที่นั้นจนสำเร็จโดยตลอดในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือกำหนดรู้ทุกข์แล้ว ละเหตุให้เกิดทุกข์แล้ว ทำความดับทุกข์ให้ปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว อบรมทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์บริบูรณ์แล้ว ครั้นทำหน้าที่สำเร็จแล้วก็รู้ว่าได้ทำแล้ว เสร็จกิจที่จะทำต่อไป เรียกเป็นศัพท์ว่า กตญาณ แปลว่ารู้ในความทำกิจสำเร็จ

พระพุทธเจ้าได้ทรงมีพระญาณหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ แต่ละข้อด้วยพระญาณทั้ง ๓ นั้นโดยตลอดครบทุกข้อ ในอริยสัจจ์ข้อหนึ่งๆ จึงต้องรู้ ๓ อย่าง คือรู้ในความจริง รู้ในกิจคือหน้าที่ รู้ในความทำกิจสำเร็จ เรียกว่ารู้ ๓ รอบ รวมอาการที่รู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทั้งหมดจึงเป็น ๑๒ ( ๓ x ๔ )

ความรู้ ๓ รอบ รวมอาการ ๑๒ เรียกทางเทศนาโวหาร (ถ้อยสำนวนเทศน์) ว่า “พระญาณมีปริวัฏ (วนรอบ) ๓ มีอาการ ๑๒” ของพระพุทธเจ้า ได้เกิดผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยที่ไม่ได้เคยทรงสดับตรับฟังมาก่อน ดังที่ได้ตรัสไว้ว่า จกฺขุ อุทปาทิ จักษุเกิดผุดขึ้น ญาณํ อุทปาทิ ญาณเกิดผุดขึ้น ปญฺญา อุทปาทิ ปัญญาเกิดผุดขึ้น วิชฺชา อุทปาทิ วิชชาเกิดผุดขึ้น อาโลโก อุทปาทิ ความสว่างเกิดผุดขึ้น ในธรรมทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาแต่ก่อนว่า นี้เป็นทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ควรละ เหตุให้เกิดทุกข์ละได้แล้ว นี้เป็นความดับทุกข์ ความดับทุกข์ควรทำให้ปรากฏแจ่มแจ้ง ความดับทุกข์ได้ทำให้ปรากฏแจ่มแจ้งแล้ว นี้เป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ควรอบรมให้มี ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ได้อบรมให้มีแล้ว และในตอนท้ายได้ตรัสว่า เมื่อพระญาณดังกล่าวยังไม่บริสุทธิ์พระองค์ก็ไม่พอพระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้ ต่อเมื่อพระญาณดังกล่าวบริสุทธิ์จึงพอพระหฤทัยว่าได้ตรัสรู้แล้ว ผู้ที่เรียนรู้เรื่องอริยสัจจ์จำได้ เรียกว่ารู้จำมิใช่รู้จริง ต่อเมื่อเกิดญาณในอริยสัจจ์ดังกล่าว จึงชื่อว่ารู้จริง

โดยมากคงเคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เอง ไม่มีครูอาจารย์ แต่ก็อาจไม่ทราบจะอธิบายว่าตรัสรู้เองได้อย่างไร หรืออาจสงสัยว่า ในเบื้องต้นก็ได้ศึกษาเป็นอย่างดีมาก่อนจนเมื่อทรงออกผนวชแล้ว ทีแรกก็ได้ศึกษาในสำนักของ ๒ ดาบส ซึ่งน่าจะทรงมีครูอาจารย์เหมือนกัน การแสดงลักษณะของความตรัสรู้ในพระปฐมเทศนานี้เป็นการอธิบายและเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว คือที่เรียกว่าตรัสรู้เอง เพราะได้ทรงพบทางสายกลางนั้นเอง ได้ทรงดำเนินไปจนความรู้ในอริยสัจจ์ดังกล่าวแล้วได้เกิดผุดขึ้นแก่พระองค์เอง โดยที่มิได้ทรงเคยสดับตรับฟังมาก่อน อย่างที่เรียกว่าต้นคิด จึงได้พระนามว่า พระสัมมาสัมพุทธะ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เรียกสั้นๆ ว่าพระพุทธเจ้า วิชาที่เคยทรงเรียนมามิใช่วิชาทางสายกลาง ไม่ใช่วิชาอริยสัจจ์ และลักษณะความรู้ก็ไม่เหมือนกัน ยังไม่เรียกว่า “ตรัสรู้” (ตรัส แปลว่า แจ้ง สว่าง รวมกับรู้ ก็คือรู้แจ้ง รู้สว่าง) เทียบอย่างในปัจจุบัน คนที่ค้นพบวิชาอะไรขึ้นก่อน เช่นค้นพบวิชาไฟฟ้า ประดิษฐ์เครื่องกำเนิดไฟฟ้าขึ้นใช้ได้ เรียกว่าเป็นต้นคิด อาจกล่าวเพื่อเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นต้นคิดวิชาทางสายกลาง วิชาอริยสัจจ์ ทรงรอบรู้ในความจริง ในกิจ ในความทำกิจสำเร็จ ในอริยสัจจ์ทุกข้อโดยครบถ้วนบริสุทธิ์บริบูรณ์ วิชาและความรู้นี้เกิดขึ้นเองแก่พระพุทธเจ้า ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์ มีเป็นพิเศษเฉพาะในพระพุทธศาสนาแล

สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท
ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธะทั้งหลายให้เกิดสุข


๒๑ มกราคม ๒๕๐๔

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นกัณฑ์เทศน์หนึ่งจากทั้งหมด ๓๕ กัณฑ์ ในเรื่องหลักพระพุทธศาสนา ที่สมเด็จพระญาณสังวร ได้เรียบเรียงขึ้นและเทศน์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ – ๒๕๐๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักราชเลขาธิการเลือกสรรหนังสือ เพื่อจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มสมุด สำหรับทรงถวายสมเด็จพระญาณสังวร เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในการฉลองชนมายุครบ ๖๐ ทัศ วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖

คัดลอกจาก หนังสือทศพิธราชธรรมและหลักพระพุทธศาสนา
พิมพ์ที่ บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด พ.ศ. ๒๕๑๖



Create Date : 26 กรกฎาคม 2553
Last Update : 26 กรกฎาคม 2553 6:03:47 น. 3 comments
Counter : 1442 Pageviews.

 
ขอบพระคุณท่านเจ้าของกระทู้ครับ อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:6:49:21 น.  

 
สาธุครับ


โดย: นายไวรัส IP: 222.123.75.46 วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:7:16:57 น.  

 


แวะมาทักทายในวันหยุด ไปทำบุญที่ไหนเอ่ย




โดย: หน่อยอิง วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:15:27:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.