Group Blog
 
All Blogs
 

ครั้งที่ ๓๓ อวิหิงสา

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ความไม่เบียดเบียนต้องอาศัยกรุณา

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๘ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน

กิริยาที่ไม่เบียดเบียนให้ลำบาก คือความไม่ก่อทุกข์ยากแก่ผู้อื่น ตลอดถึงสัตว์ด้วยเห็นเป็นสนุกของตนเพราะอำนาจโมหะ เช่นทำร้ายคนและสัตว์อื่นเล่น ชื่อว่าอวิหิงสา คนผู้รวมกันอยู่เป็นหมู่ ทั้งผู้ปกครอง ทั้งผู้อยู่ในปกครอง จะอยู่ด้วยกันได้เป็นสุขก็เพราะไม่เบียดเบียนกัน โดยเฉพาะผู้ปกครองถึงจำต้องอาศัยเก็บภาษีอากรจากราษฏรผู้อยู่ในปกครองเพื่อจ่ายบำรุงประเทศ และต้องเกณฑ์กำลังแรงบ้างในคราวที่จำเป็น แต่ถ้าเก็บและเกณฑ์รุนแรง อันเป็นการรีดเกินสมควร ราษฎรผู้อยู่ในปกครองก็เดือดร้อน ระส่ำระสายอยู่ไม่เป็นสุข มีเรื่องครั้งโบราณว่า ผู้อยู่ในปกครองถูกผู้ปกครองเบียดเบียน ต่างอพยพไปอยู่ต่างถิ่นก็มี ความไม่เบียดเบียนจะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัย กรุณา เป็นเบื้องหน้า และอันความไม่เบียดเบียนนี้เมื่อมาคู่กับอักโกธะคือความไม่โกรธ ก็มีความที่ต่างกันอยู่บ้างและสัมพันธ์กันบ้าง

อันอักโกธะคือความไม่โกรธ อันเป็นทศพิธราชธรรมข้อที่ ๗ ที่ได้แสดงมาแล้วนั้น คือ ความที่ไม่ลุอำนาจต่อความโกรธ อันรวมความถึงโทสะพยาบาทอันจะทำให้ทำร้ายผู้อื่นสัตว์อื่นด้วยอำนาจของความโกรธ ด้วยอำนาจของโทสะ ซึ่งหมายถึงความที่มีเมตตานั้นเอง แต่การที่ไม่ยกเอาเมตตาเป็นที่ตั้งออกหน้า แต่ยกเอาอักโกธะคือความไม่โกรธออกหน้า ก็เพื่อที่จะจี้จุดอันสำคัญของผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ซึ่งตั้งแต่โบราณกาลมามักจะเป็นผู้ที่ลุอำนาจของความโกรธ เมื่อโกรธขึ้นมาก็มักจะสั่งทำร้ายทารุณต่อผู้ที่ถูกโกรธนั้น ผู้มีอำนาจตั้งแต่โบราณมามักจะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น จึ่งต้องคอยที่จะเอาอกเอาใจเพื่อไม่ให้โกรธ โดยการที่พยายามตามใจต่างๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีอำนาจที่ไม่มีธัมมะจึงมักจะเป็นผู้โกรธง่าย สั่งทำร้ายใครง่ายๆ ดังที่ปรากฏมาในครั้งโบราณ เพราะฉะนั้น เมื่อแสดงธัมมะของผู้ปกครองเพื่อจะจี้ถึงจุดนี้ จึงได้ยกเอาความไม่โกรธขึ้นมาตั้งไว้เป็นหัวข้อ ซึ่งโดยความก็คือความมีเมตตานั้นเองดังที่ได้แสดงมาแล้ว และในข้อนี้ยกเอาอวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนมาเป็นหัวข้อ ก็เพราะว่าบรรดาผู้ปกครองตั้งแต่ในอดีตมา เมื่อมีอำนาจขึ้น แม้ว่าไม่โกรธ แต่ว่าลุอำนาจของความโลภความหลง ไม่ได้พิจารณาให้เหมาะสม ก็สั่งปฏิบัติการต่างๆ เป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยอำนาจของโลภะบ้าง ด้วยอำนาจของโมหะคือความหลงบ้าง เช่นว่าเมื่อไปที่ไหน เมื่อเห็นสิ่งที่ชอบใจก็มักจะหาทางที่จะนำมาให้ได้เป็นของๆ ตน เช่น จะเป็นทรัพย์สินก็ดี จะเป็นสตรีก็ดี จะเป็นแก้วแหวนเงินทองก็ดี เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ จึงมักจะต้องคอยซ่อนเร้นไม่ให้ผู้ปกครองที่มีอำนาจได้เห็น เพราะฉะนั้น จึงต้องยกเอาข้ออวิหิงสา ไม่เบียดเบียนขึ้นมาเป็นที่ตั้ง และโดยความก็คือว่าความที่มีกรุณานั้นเอง เพราะความกรุณานั้นตรงกันข้ามกับอวิหิงสา อันได้แก่ความที่สงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ และปฏิบัติช่วยให้พ้นทุกข์ เพราะฉะนั้น กรุณาข้อนี้จึงได้ถือเป็นพระคุณอันสำคัญของพระพุทธเจ้าในพระคุณทั้ง ๓ พระคุณทั้ง ๓ นั้นก็ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และ พระกรุณาคุณ พระกรุณาคุณนั้นนับเป็นพระคุณที่ ๓ เป็นพระคุณของพระพุทธเจ้า ก็ได้แก่การที่มีพระกรุณาอันแสดงออก เป็นการเสด็จจาริกไปทรงแสดงธัมมะสั่งสอนโปรดแก่หมู่เวไนยนิกร คือหมู่ชนที่พึงแนะนำได้ ให้ได้ประสบประโยชน์ตามภูมิตามชั้น

พระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชน

และพระมหากษัตริย์ก็มีคำว่า พระมหากรุณาธิคุณ และใช้เป็นคำนำเช่นทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ซึ่งคำว่ากรุณานี้ก็เป็นการปฏิบัติที่ช่วยให้พ้นทุกข์ คือ เป็นการปฏิบัติช่วยเหลือต่างๆ ที่ได้ทำให้แก่ประชาชนในด้านต่างๆ แสดงออกมาถึงความกรุณา และแม้กรุณานี้ก็ยังเนื่องด้วยเมตตานั้นเอง จะต้องมีเมตตาความมุ่งดีปรารถนาดีเป็นพื้นของจิตใจอยู่ จึงจะมีกรุณาความช่วยให้พ้นทุกข์ซึ่งเป็นการที่แสดงออกมา และมีธัมมะหลายหมวดที่แสดงออกมาด้วยอำนาจของกรุณา เช่นใน สังคหวัตถุ ๔ ธัมมะเป็นที่ตั้งแห่งความยึดเหนี่ยวน้ำใจของกันและกันนั้น ก็ได้แก่ ทาน การให้ เป็นการเฉลี่ยเผื่อแผ่เจือจานความสุขของตนแก่ผู้อื่น ปิยวาจา เจรจาถ้อยคำอันเป็นที่รักจับใจ อัตถจริยา ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่างๆ และ สมานัตตตา ความวางตนสม่ำเสมอ ไม่เป็นผู้ที่ถือ เข้ากันได้กับหมู่ชนทั้งปวง เพราะฉะนั้น กรุณาจึงตรงกันข้ามกับวิหิงสาคือความเบียดเบียน และอวิหิงสาคือความไม่เบียดเบียนนั้นก็หมายถึงกรุณานั่นเอง

โครงการพระราชดำริแสดงถึงพระมหากรุณา

กล่าวโดยเฉพาะข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้ามีพระราชอัธยาศัยกอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงปรารถนาก่อทุกข์แก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทรงเบียดเบียนพระราชวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท และอาณาประชาราษฎรให้ลำบากด้วยเหตุอันไม่ควรทำ หรือด้วยตั้งพิกัดเก็บภาษีอากรเกินขนาด ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร ดั่งนี้จัดเป็นอวิหิงสา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาดังที่กล่าวมานี้ มีเป็นอันมากซึ่งได้กล่าวมาโดยลำดับแล้ว และวันนี้จะได้นำข้อความบางตอนจากหัวข้อเอกสารวิจัยบทบาทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการสนับสนุนการรักษาความมั่นคงของชาติในพื้นที่ชนบทของประเทศของนักศึกษาท่านหนึ่ง โดยที่แผนพัฒนาได้มีระบุว่าชนบทล้าหลังเป็นเขตที่มีคนไทยอีกประมาณ ๑๐ ล้านคนที่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมด้วยความขาดแคลน ยากจนและยากไร้ อาทิขาดความรู้และปัจจัยในการประกอบอาชีพขาดน้ำในการเกษตรและบริโภค ขาดแคลนที่ดินทำกิน และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดการศึกษาและขาดการสาธารณสุข และถูกเบียดเบียนด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ถึงแม้การพัฒนาที่ผ่านมากว่า ๒๐ ปีซึ่งได้ทำตามโครงการ ได้ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศดีขึ้น แต่ชาวชนบทไม่ได้ดีขึ้นตามไปด้วย เพราะการพัฒนาไม่ได้ไปถึงมือของกลุ่มชนเหล่านี้อย่างแท้จริง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาเหล่านี้ เพราะได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ เป็นประจำเสมอมา โดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดารที่รัฐบาลเองอาจเข้าไปได้ไม่ทั่วถึง จึงทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเหล่านี้ เสมือนเป็นความสุขทุกข์ส่วนพระองค์ และที่สำคัญพระองค์ไม่ได้ทรงนึกแต่เพียงว่า ทรงเป็นพระประมุขของประเทศโดยนิตินัยหรือตามรัฐธรรมนูญอย่างประมุขประเทศอื่นๆ เท่านั้น แต่พระองค์ทรงระลึกอยู่เสมอว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทย ที่จะต้องร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคนไทยทุกคนทั่วประเทศ ไม่ว่าเพศวัยศาสนาหรืออาชีพใด และมีหน้าที่จะต้องปกป้องรักษาอธิปไตยและแผ่นดินไทยไว้อย่างสุดกำลัง เหมือนอย่างคนไทยทั่วไป จึงทรงมีพระราชดำริพัฒนากลุ่มชนผู้ยากไร้เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยทรงเน้นการพัฒนาให้เกิดความพออยู่พอกิน พระราชดำริแรกเริ่มที่มีลักษณะเป็นกิจกรรมหรือโครงการช่วยเหลือประชาชนได้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นกิจกรรมตามพระราชดำริกิจกรรมแรกที่อาจจะเรียกได้ว่าโครงการประมงพระราชทาน นอกจากนั้นก็ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างสม่ำเสมอตลอดมา เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทรงใช้พระราชวังเป็นที่ค้นคว้าทดลองงานทุกด้านที่เกี่ยวกับการพัฒนา อย่างไรก็ตามผลการพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในระยะแรก ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์เท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่มีระบบรองรับการดำเนินการเพื่อสนองพระราชดำริอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์จากโครงการพระราชดำริ จึงได้วางระบบดำเนินงานสนองพระราชดำริขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๔ โดยออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นหลักให้หน่วยงานต่างๆ ยึดถือปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ได้ยึดถือระเบียบดังกล่าวเป็นแนวทางในการบริหารโครงการในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการพระราชดำริช่วยรักษาความมั่นคงของชาติ

อาจกล่าวได้ว่า โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้มีบทบาทอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนและปัญหาหลักอื่นๆ ของประชาชนยากจนในชนบทโดยที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้มุ่งเน้นการพัฒนาแบบผสมผสาน การพัฒนาแหล่งน้ำ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาการเกษตรและส่งเสริมอาชีพ การสาธารณสุขและการสาธารณูปการ เป็นต้น ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้ได้มีผลอย่างสำคัญ ทำให้ชาวชนบทมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก ยิ่งกว่านั้น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ยังมีบทบาทสนับสนุนต่อการรักษาความมั่นคงของชาติโดยตรงอีกหลายประการ เช่นในกรณีของการใช้ประโยชน์จากแนวคิดของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาตามพระราชดำริในเรื่องของแผนเตรียมพร้อมเพื่อการป้องกันประเทศ การักษาความมั่นคงภายใน ในการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรตามพื้นที่ต่างๆ ทุกครั้ง จะโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะแพทย์อาสาสมัครที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาจากโรงพยาบาลต่างๆ โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในขบวนอย่างใกล้ชิด พร้อมด้วยเวชภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ครบครัน พร้อมที่จะให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยไข้ได้ทันทีในลักษณะหน่วยแพทย์ชั่วคราว ราษฎรผู้ใดที่เจ็บป่วยก็จะโปรดเกล้าฯ ให้รับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ผู้ป่วยรายใดที่มีอาการหนัก ก็จะทรงขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอนุเคราะห์นำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ โดยจะพระราชทานเงินค่าเดินทางอย่างเพียงพอ ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น คนไข้ก็ไม่จำเป็นต้องเสียแม้แต่น้อย ในการนี้จะมีเจ้าหน้าที่บันทึกประวัติและอาการคนไข้เพื่อเก็บรักษาไว้เป็นข้อมูลในการตามผลการรักษาพยาบาลนั้นด้วย คือ ไม่ได้ทรงทอดทิ้งเลย มีการติดตามรักษาจนผู้ป่วยนั้นหายจากการเจ็บป่วยดังกล่าว หากมีการเสด็จไปเยี่ยมวัดซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของชุนชนในชนบทของไทยมาทุกสมัย ก็จะพระราชทานกล่องยากรักษาโรคแก่วัดเพื่อพระภิกษุใช้เมื่อเกิดอาพาธและเพื่อช่วยเหลือแจกจ่ายราษฎรผู้เจ็บป่วยในหมู่บ้านนั้นๆ เช่นเดียวกันกับเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมหน่วยทหาร ตำรวจ อาสาสมัครในถิ่นทุรกันดาร ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของจำเป็นต่างๆ รวมทั้งยารักษาโรคสำหรับใช้ในหมู่บ้าน ทั้งเพื่อเผื่อแผ่แก่ราษฎรในท้องที่ด้วยตามความจำเป็น อันจะทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่ได้มีความเข้าใจอันดีต่อกัน รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

อธิษฐานะนำให้ปฏิบัติอวิหิงสา

ในทศพิธราชธรรมข้อที่ ๘ นี้ก็คืออวิหิงสา ส่วนในทศบารมีข้อที่ ๘ นั้นได้แก่ อธิษฐานะ คือความตั้งใจมุ่งมั่น เมื่อเทียบกันดูแล้ว ถ้อยคำจะต่างกัน ในบารมีคือ อธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่น แต่ว่าในทศพิธราชธรรมคืออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน ได้แก่กรุณา แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วทั้ง ๒ ข้อนี้ก็ต้องมีความสัมพันธ์กัน อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้น ความตั้งใจมุ่งมั่นในเรื่องอะไร ข้อที่ควรตั้งใจมุ่งมั่นสำคัญก็คือ ตั้งใจมุ่งมั่นในการที่จะมีกรุณา มีความสงสาร ใคร่จะช่วยให้พ้นทุกข์และปฏิบัติการช่วยให้พ้นทุกข์ต่างๆ ให้ประสบความสุขต่างๆ ความกรุณานี้จะเป็นไปได้ก็ต้องอาศัยมีอธิษฐานะ คือความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะกรุณา ซึ่งเป็นการไม่เบียดเบียนหรือจะยกเอาอวิหิงสาขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ก็ต้องมีอธิษฐานะคือความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะไม่เบียดเบียนใคร เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะทำให้เกิดการปฏิบัติไม่เบียดเบียนอันเป็นความกรุณาขึ้นได้ และเพราะความกรุณานั้นเอง ก็ทำให้มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลืออันเรียกว่าอธิษฐานะอีกด้วย เพราะฉะนั้น อธิษฐานะ หรือ อธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น นำให้เกิดกรุณา หรือจะกล่าวว่ากรุณานำให้เกิดอธิษฐานะ ความตั้งใจมุ่งมั่นก็ได้ ก็แปลว่าทั้ง ๒ ข้อนี้จะต้องมีด้วยกัน เมื่อปฏิบัติในบารมีข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น ก็นำให้ปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนหรือกรุณานี้ด้วย หรือเมื่อปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณา ก็เป็นการปฏิบัติในข้ออธิษฐานะ หรืออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนี้ด้วย เพราะฉะนั้น พระมหากษัตริย์ผู้ที่ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมข้อนี้ คืออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน อันได้แก่พระราชทานพระมหากรุณาแผ่ทั่วไป ก็เป็นอันว่าได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีในข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้นด้วย และบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นผู้ปกครองก็ดี เป็นผู้อยู่ในปกครองก็ดี หรือว่าใครๆ ทุกๆ คนเมื่อปฏิบัติในหลักธรรมข้อนี้ คือ อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณาดังกล่าว ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติในหลักธรรมข้อบารมีคืออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่นนั้นด้วย และเมื่อปฏิบัติในหลักธรรมข้ออธิษฐาน ความตั้งใจมุ่งมั่น ก็เป็นอันนำให้ปฏิบัติในข้ออวิหิงสา ความไม่เบียดเบียน คือความกรุณา ดังกล่าวมาด้วย

๒๕ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2554    
Last Update : 20 ตุลาคม 2554 7:14:22 น.
Counter : 898 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๒ อธิษฐานบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



อธิษฐานบารมีในเนมิราชชาดก

จะแสดง ทศบารมี ข้อ ๘ คือ อธิษฐานบารมี

คำว่า อธิษฐานะ ที่เรามาพูดใช้เป็นภาษาไทยว่า อธิษฐาน ได้แก่ความตั้งใจมุ่งมั่น ท่านได้เล่าชาดกแสดงว่า พระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญบารมีข้อนี้มาในชาติต่างๆ เป็นอันมาก ในทศชาติได้ยกเนมิราชชาดกเป็นตัวอย่างแห่งอธิษฐานบารมีมีเรื่องย่อในเนมิราชชาดกนั้นว่า

กษัตริย์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่าเนมิราช ครองเมืองมิถิลาในแคว้นวิเทหะ เป็นกษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในการกุศล โปรดการทำบุญกุศล ทรงบริจาคทานรักษาศีลอุโบสถอยู่เป็นนิตย์ ตามประเพณีกษัตริย์ที่ครองเมืองมิถิลานี้ เมื่อครองราชสมบัติจนมีพระชนมายุเข้าสู่วัยชราแล้ว ก็จะทรงมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสแล้วพระองค์เองก็ออกทรงผนวช แต่พระเจ้าเนมิราชทรงมีความคิดแปลกไปจากกษัตริย์พระองค์อื่นๆ กล่าวคือพระองค์ทรงครุ่นคิดว่า พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญทานอยู่เป็นนิตย์ ทานกับพรหมจรรย์อย่างไหนจะมีผลมาก ร้อนถึงท้าวสักกเทวราชเสด็จมาทรงอธิบายผลของพรหมจรรย์ต่างๆ ซึ่งมีมากกว่าทาน และด้วยความประสงค์ของทวยเทพ ให้เชิญพระเจ้าเนมิราชเสด็จไปเยี่ยมเทวโลก ท้าวสักกเทวราชจึงส่งมาตุลิเทพบุตรมาเชิญ และนำพระเจ้าเนมิราชเสด็จไปทอดพระเนตรนรกก่อนแล้วจึงนำเสด็จไปเทวโลก หลังจากได้ทอดพระเนตรนรกและสวรรค์แล้ว พระเจ้าเนมิราชก็ทรงเห็นว่า แม้พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญทานอย่างมากมายแล้วก็ตาม แต่พระองค์ก็ควรเสด็จออกผนวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์อีก ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จออกทรงผนวชตามพระราชจริยาวัตรของกษัตริย์พระองค์ก่อนๆ

ในชาดกนี้แสดงว่า พระเจ้าเนมิราชได้ทรงมีอธิษฐานคือความตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นในเหตุที่พึงทำ และในผลที่พึงได้ด้วยปัญญา ดังที่ได้ทรงตั้งเป็นปัญหาขึ้น และทรงแสวงหาผู้ที่สามารถที่จะแก้ปัญหาของพระองค์ได้ ด้วยความตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นจึงได้ทรงพบผู้มาถวายวิสัชชนา ซึ่งได้ถวายวิสัชชนาได้แจ่มแจ้งอย่างเปิดนรกสวรรค์ให้เห็น ทำให้พระเจ้าเนมิราชทรงได้รับความเข้าพระราชหฤทัยแจ่มแจ้งว่า เพียงแต่ทานอย่างเดียวที่ทรงบำเพ็ญอยู่หาเป็นการเพียงพอไม่ ควรจะต้องปฏิบัติในพรหมจรรย์ด้วย ชาดกนี้แสดงว่า ผู้ที่ต้องการแสวงหาความจริง ต้องการจะรู้เห็นอะไร เมื่อมีความตั้งใจมุ่งมั่นจริงแล้ว จะรู้จะเห็นได้ เพราะจะทำให้แสวงหาผู้รู้ จะได้พบผู้รู้ที่จะแสดงให้รู้ให้เห็นได้ ทั้งในเรื่องของมนุษย์ ทั้งในเรื่องนรกสวรรค์ ตลอดถึงนิพพาน

อธิษฐานบารมีในเตมิยชาดก

ส่วนในจริยาปิฎกกถา เตมิยชาดกเป็นตัวอย่างแห่งอธิษฐานบารมี มีความว่า ในรัฐกาสีในอดีตกาลล่วงไปแล้วนานไกล พระเจ้ากาสีทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเตมีย หรือที่คำไทยเรียกว่าพระเตมีย์ พระองค์ทรงรักทะนุถนอมเป็นอย่างยิ่ง ทรงหวังจะให้สืบราชสมบัติแทนพระองค์ต่อไป แต่พระเตมีย์ทรงมีพระหฤทัยน้อมไปใน เนกขัมมะ คือการออกบวช ไม่ทรงปรารถนาราชสมบัติ ได้ทรงมีความตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นว่าจะผนวชให้จงได้ จึงได้ทรงนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่รับสั่งถ้อยคำอะไรทั้งสิ้น เมื่อมีใครมาทูลมาพูดด้วยก็ทรงเฉยๆ อีก และไม่ทรงใช้พระหัตถ์พระบาท คนทั้งหลายก็สงสัยว่าทรงเป็นใบ้หนวกหรือเป็นเปลี้ยหรือเป็นอัมพาต จึงได้ตรวจพระหัตถ์พระบาทพระชิวหาพระกรรณ ก็เห็นบริบูรณ์ไม่มีบกพร่อง เมื่อไม่พบว่ามีโรคอะไรก็คิดสงสัยต่อไปว่า ไฉนจึงเป็นเช่นนั้น เมื่อเวลาล่วงไปๆ นานถึง ๑๖ ปี ก็คงเป็นอยู่เช่นนั้น และตรวจไม่พบว่าประชวรด้วยโรคอะไร คนทั้งปวงตั้งแต่ประชาชนขึ้นมาจนถึงเสนาบดีและปุโรหิตก็ลงความเห็นเป็นอันเดียวกันว่า เป็นคนกาลกิณีไปเสียแล้ว และได้มีความเห็นชอบพร้อมกันว่า ให้นำไปฝังทิ้งเสีย เขาจึงนำพระองค์ขึ้นประทับรถออกไปในป่า เมื่อนำพระองค์ไปถึงที่ซึ่งกำหนดจะฝังทั้งเป็น สารถีก็หยุดรถแล้วลงไปขุดหลุม ขณะนั้นพระองค์จึงได้เสด็จลงจากรถ แสดงพระกำลังพระกายว่ายังมีสมบูรณ์ ได้ทรงถือเพศเป็นบรรพชิต ประพฤติพรตพรหมจรรย์ตามที่ได้ทรงตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นไว้ ท่านกล่าวว่าพระเตมีย์ทำเช่นนี้ มิใช่ว่าทรงชิงชังพระราชมารดาบิดา มิใช่ว่าทรงชิงชังพระองค์เอง แต่ทรงรัก พระสัพพัญญุตญาณ คือความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้ทรงตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นอย่างนั้น ทรงอธิษฐานองคสมบัติทั้ง ๓ คือ ใบ้ หนวก และเปลี้ย อยู่จนถึงเขานำออกไปจะฝังเสีย ด้วยเข้าใจว่าเป็นคนกาลกิณี เรื่องนี้แสดงอธิษฐานบารมีคือความตั้งใจมุ่งมั่นอันหมายความถึงว่า เมื่อมีความตั้งใจมั่นในสิ่งอันใด ก็ทำไปดำเนินไปให้สำเร็จอันนั้นรักษาความตั้งใจไว้อย่างมั่นคง ไม่กลับกลายเปลี่ยนแปลง

พระเตมีย์ในชาดกนี้ทรงอธิษฐาน คือ ข้อแรกตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นว่าจะทรงผนวช แต่พระราชบิดาและประชาชนต้องการพระองค์ จึงต้องทรงหาวิธีที่จะไม่ให้เขาต้องการ ให้เขาทิ้งพระองค์เสียเอง จึงทรงอธิษฐานข้อต่อไป คือตั้งพระหฤทัยเป็นใบ้เป็นหนวกเป็นเปลี้ย เพื่อให้สำเร็จอธิษฐานข้อแรก อธิษฐานข้อหลังเห็นได้ว่ารักษาได้ยากยิ่ง เหมือนอย่างคนที่ไม่ใบ้ทำเป็นใบ้ ไม่หนวกทำเป็นหนวก เดินได้ทำเป็นเดินไม่ได้ ชั่วครู่ชั่วคราวก็อาจไม่ยาก แต่ทำนานๆ จะเห็นว่ายากมาก ทั้งในเรื่องรายละเอียดก็มีเล่าถึงการทดลองต่างๆ เพราะคนทั้งหลายก็สงสัยเหมือนกันว่าน่าจะแสร้งทำ พระเตมีย์ก็รักษาพระหฤทัยไว้ได้มั่นคงจนคนทั้งหลายหมดสงสัยว่าแกล้งทำ จึงได้ประสบความสำเร็จในอธิษฐานข้อแรก คือออกผนวชได้สำเร็จ ด้วยวิธีที่เขานำออกไปทิ้งเสียเอง ข้อที่ควรกล่าวในตอนนี้ก็คือ การทำเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการหลอกลวงคน เพราะพระองค์ไม่มีเจตนาที่จะหลอกลวง แต่ทรงอธิษฐานพระหฤทัยของพระองค์เองว่า ตั้งแต่บัดนี้ไปจะไม่พูด จนกว่าจะหลุดออกไปได้จากที่นี้ ดั่งนี้เป็นต้น เหมือนอย่างบางคนบางคราวก็คิดว่าจะหลอกทำหนวกไม่พูดไม่โต้ตอบ ใครว่าอะไรก็นิ่ง ผู้ที่นิ่งได้อย่างนี้ไม่ถูก ถือว่าทำหนวกหลอกลวงคน เมื่อนิ่งได้ในที่ควรนิ่งกลับได้รับชมว่าเป็นคนมีสติปัญญา หากมีปัญหาว่าในที่เช่นไรควรนิ่งควรเฉย ก็จะต้องตอบว่า สุดแต่เรื่องแต่ละบุคคล ในชาดกนี้เล่าเรื่องพระโพธิสัตว์ผู้มุ่งจะเป็นพระพุทธเจ้า จึงต้องใช้ความนิ่งมากตามควรแก่ผลที่ประสงค์ ฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจว่า ท่านผู้เป็นพระโพธิสัตว์ย่อมมีอธิษฐานบารมีที่พิเศษ อันอาจเห็นว่าเกินวิสัยของสามัญชน ความจริงก็เป็นเช่นนั้น สิ่งที่คนทั้งหลายปรารถนา แต่พระโพธิสัตว์ไม่ปรารถนา แม้จะมีอยู่ในพระหัตถ์แล้วก็ทรงสละเสีย แม้การสละจะยากเย็นเท่าใด ก็ยอมทนยากเพื่อสละจนได้ คนทั้งหลายมีมือเปล่าพากันแบมือออกรับ ไม่มีใครให้ก็เอื้อมมือออกไปหยิบเอาเอง แต่พระโพธิสัตว์มีมือเต็ม ก็แบมือออกให้ได้ทั้งหมด ฉะนั้น การเล่าเรื่องพระเตมีย์จึงมิใช่หมายความว่า เพื่อให้ใครๆ ต้องปฏิบัติให้เหมือนท่าน แต่เพื่อแสดงถึงลักษณะของบารมีข้อหนึ่งคืออธิษฐาน ซึ่งทุกๆ คนจะต้องในกิจที่พึงทำทุกอย่าง

วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน

คนทุกคนจะทำอะไร ย่อมมีความต้องการในผลที่จะพึงได้จากการกระทำความสำเร็จคือการได้บรรลุถึงผลนั้น จึงจำต้องอาศัยธัมมะข้อหนึ่งคืออธิษฐาน ได้แก่ความตั้งใจมุ่งมั่นดังกล่าวแล้ว และจำต้องมีอธิษฐานทั้งในผลทั้งในเหตุ เช่น ในการศึกษาเล่าเรียน ต้องมีอธิษฐานในผลคือความสำเร็จการศึกษา ในเหตุคือทำการศึกษาไปโดยลำดับ ในการงานต้องมีอธิษฐานในผลคือความได้ทรัพย์ ยศ เป็นต้น ในเหตุคือการทำงานให้ดี ในด้านความดี ต้องมีอธิษฐานในผลคือความมีเกียรติด้วยความดี ในเหตุคือความเว้นความชั่ว ทำความดี คนโดยมากมีอธิษฐานในผลที่ตนชอบอยู่ด้วยกันทั้งนั้น เช่นตั้งใจมุ่งมั่นจะเป็นนักปราชญ์ จะเป็นเศรษฐี จะได้นั้นได้นี่ เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ แต่ขาดอธิษฐานในเหตุ คือขาดความตั้งใจมุ่งมั่นในอันที่จะประกอบเหตุในสมแก่ผลที่ประสงค์ เช่นเกียจคร้านที่จะเล่าเรียนเขียนอ่านจะให้เป็นนักปราชญ์ขึ้นมาเอง เกียจคร้านที่จะประกอบอาชีพในทางที่ชอบ เก็บหอมรอมริบสั่งสมขึ้นโดยลำดับ เหมือนอย่างก่อไฟกองน้อยให้ค่อยโตขึ้น จะให้เป็นกองโตขึ้นมาทันที ไม่ชอบที่จะเว้นความชั่วทำดี หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ชอบทำชั่วไม่ชอบทำดี แต่ก็อยากเป็นคนมีเกียรติมีความดี ใครว่าไม่ดีเป็นไม่ได้ ฉะนั้นอธิษฐานในเหตุจึงเป็นข้อสำคัญ คือตั้งใจมุ่งมั่นในการทำเหตุให้ได้ผลที่ประสงค์ให้ดำเนินไปโดยสม่ำเสมอ มีความเพียรคือพยายามทำไป มีขันติคืออดทน มีสัจจะคือความจริง และรักษาอธิษฐานคือความตั้งใจมุ่งมั่นไว้เสมอ

อธิษฐานเป็นพลังนำไปสู่ความสำเร็จ

ตามที่กล่าวมานี้ จะพึงเห็นได้ว่า วิริยะ เพียร ขันติ อดทน สัจจะ จริง และ อธิษฐาน ทั้ง ๔ ประการนี้เป็นธัมมะที่มีประกอบกันอยู่ เมื่อยกขึ้นข้อหนึ่ง ก็ย่อมมีอีก ๓ ข้อประกอบอยู่ด้วยเสมอ ไม่เช่นนั้นจะมีไม่ได้เลยสักข้อเดียว เช่นอธิษฐานความตั้งใจมุ่งมั่น ในที่นี้ถ้าไม่มีอีก ๓ ข้อก็เป็นอธิษฐานคือสำเร็จอธิษฐานขึ้นมาไม่ได้ เตมียชาดกแสดงอธิษฐานไว้ สมบูรณ์ทั้ง ๒ ประการ อธิษฐานในผล ได้แก่พระเตมีย์ทรงตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นในเนกขัมมะ ในเหตุได้แก่พระเตมีย์ทรงตั้งพระหฤทัย ไม่รับสั่ง ไม่รับฟัง ไม่ใช้พระหัตถ์พระบาท อธิษฐานนี้เป็นธัมมะที่พึงอบรมให้มีขึ้นได้ คือจะทำอะไรก็คิดเสียก่อนว่าเพื่ออะไร หรืออยากจะได้อะไรก็คิดเสียก่อนว่าสมควรที่ตนจะพึงได้หรือไม่ ถ้าเป็นสิ่งที่ตนจะพึงได้ ก็คิดว่าทำอย่างไรจึงจะได้ และการอธิษฐานใจคือตั้งใจมุ่งมั่นต่อผลที่ประสงค์นั้น จะตั้งใจมุ่งมั่นประกอบเหตุที่จะนำไปสู่ความสำเร็จผลที่ประสงค์ เมื่ออธิษฐานใจไว้อย่างไร ก็รักษาอธิษฐานไว้ให้มั่นคง เว้นไว้แต่อธิษฐานใจในทางที่ผิดไม่เหมาะ ถ้ารู้ว่าผิดไม่เหมาะก็ต้องเลิกเสีย กลับอธิษฐานใจใหม่ในทางที่ถูกที่เหมาะ ฉะนั้น ก่อนที่จะอธิษฐานในสิ่งใด ก็จำต้องใคร่ครวญเลือกให้เป็นสิ่งที่เหมาะที่ควร ดังที่มีคำเตือนว่าใคร่ครวญก่อนดีกว่า เมื่อเป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรจริงแล้ว จึงอธิษฐานใจในสิ่งนั้น เมื่อได้อบรมอธิษฐานดังกล่าวอยู่เสมอ จะทำให้จิตใจมีความมุ่งที่มั่นคง เป็นพลังใจสำคัญอันจะนำไปสู่ความสำเร็จ

สัจจาธิษฐานช่วยให้พ้นอันตราย

อนึ่ง อธิษฐานนี้ยังอาจใช้ป้องกันบำบัดทุกข์ภัยโรคในคราวคับขันได้อีกด้วย ในเมื่ออธิษฐานนั้นเป็น สัจจาธิษฐาน ดังที่พูดกันว่า ตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นมุ่งจะให้พ้นอันตราย จึงอธิษฐานใจ อ้างสิ่งที่เป็นสัจจะคือความจริงของจริงเรื่องจริง เช่นอ้างคุณพระรัตนตรัยซึ่งเป็นสรณะได้จริง ดังที่เคยได้แสดงแล้วในข้อสัจจะ อ้างคุณทานศีลภาวนาของตนเอง ท่านกล่าวถึงเรื่องอ้างความชั่วของตนเองก็ได้ ว่าตนได้ทำชั่วไว้เช่นนั้นจริง เท่ากับอ้างสิ่งที่จริง พูดความจริงชนิดที่ไม่มีเท็จทั้งรู้ปนอยู่แม้แต่น้อย ครั้นแล้วก็อธิษฐานใจว่า ด้วยอำนาจกล่าวคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีดังจะได้แสดงเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่แม้คนไทยในปัจจุบันก็นับถือกัน คือเรื่องของคาถาดับไฟ ซึ่งคาถาดับไฟนี้ก็เป็นบทสวด มีมาใน ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน ขึ้นต้นว่า อตฺถิ โลเก สีลคุโณ เป็นต้น มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จจาริกไปในแคว้นมคธ โดยเสด็จจาริกไปในคามนิคมแห่งแคว้นมคธ วันหนึ่งได้เสด็จไปถึงคามคือหมู่บ้านในแคว้นมคธหมู่หนึ่ง ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้านในเวลาเช้าพร้อมกับหมู่แห่งภิกษุเป็นอันมาก ในเวลาภายหลังภัต คือหลังจากที่ได้เสวยภัตตาหารและพระภิกษุสงฆ์ก็ได้ฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว เสด็จกลับจากบิณฑบาต ก็ได้เสด็จจาริกต่อไป ดังที่ภาษาไทยเราชอบเรียกว่าเดินธุดงค์ ตามพุทธประวัตินั้นแสดงว่าพระพุทธเจ้าออกเดินธุดงค์ทุกปี เมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาก็หยุดอยู่จำพรรษาในรัฐใดรัฐหนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง ออกพรรษาปวารณาแล้วและพระภิกษุสงฆ์รับกฐินกันแล้ว ก็เสด็จออกเดินธุดงค์ต่อไปในรัฐโน้นรัฐนี้ต่างๆ เสด็จเดินด้วยพระบาท สำหรับคราวที่เกี่ยวแก่ตำนานเรื่องนี้ ได้เสด็จเดินธุดงค์ไปในหมู่บ้านในแคว้นมคธดังกล่าว เมื่อทรงรับบิณฑบาตเสร็จแล้ว อันหมายความว่าเสวยและฉันเสร็จแล้ว ก็ออกเดินทางต่อไป เมื่อเดินทางพ้นหมู่บ้านเข้าป่า ก็พอดีมีไฟป่าบังเกิดขึ้นอย่างแรง ลุกลามมาโดยเร็วจนคล้ายกับว่าจะมาถึงพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ที่กำลังเดินทางอยู่ แต่ว่าเมื่อไฟป่าได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้า ก็ดับไปโดยรอบ หมู่ภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นความอัศจรรย์ที่ไฟป่าไม่ลุกมาที่ตรงพระพุทธเจ้าและหมู่แห่งภิกษุกำลังเดินทางอยู่ เมื่อมาใกล้ก็ดับไปโดยรอบ เหมือนดังถูกน้ำราดดับ จึงได้กราบทูลสรรเสริญพระพุทธคุณ พระพุทธเจ้า ก็ได้ตรัสเล่า วัฏฏกชาดก คือชาดกเรื่องที่ได้เคยมีมาแล้ว ที่ได้เกิดมาแล้วในอดีตเกี่ยวแก่ลูกนกคุ่ม บางทีก็เรียกว่านกคุ่มไฟ ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า ได้มีรังนก มีนกอาศัยอยู่บนต้นไม้ในป่า และรังหนึ่งเป็นที่อยู่ของนกคุ่มสามีภรรยาตัวผู้ตัวเมีย ซึ่งก็ได้ออกไข่ และฟักไข่เป็นตัวลูกนกคุ่มเล็กๆ เมื่อไข่ออกมา นกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ก็ให้ลูกอยู่ในรัง บินออกไปหากินแล้วนำอาหารมาป้อนลูก ในขณะที่ลูกยังเล็ก ยังมีปีกที่บินไม่ได้ มีขาที่ยังเดินไปไม่ได้ ก็ได้มีไฟป่าไหม้มาโดยรอบ บรรดานกทั้งหลายก็พากันบินหนี และแม้นกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ของลูกนกคุ่มก็บินหนีออกไป ลูกนกคุ่มนั้นยังบินไม่ไหว จะเดินไปก็ยังไปไม่ได้ จึงได้ระลึกถึงคุณศีลเป็นต้น และก็ได้ตั้งสัจจกิริยา คือการกระทำสัจจะด้วยการกล่าวสัจจะคือความจริง ด้วยการที่ได้ระลึกถึงคุณของศีลเป็นต้นว่าคุณของศีลมีอยู่เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นการระลึกยืนยันในสัจจะคือความจริงข้อหนึ่ง คือข้อที่ว่าคุณศีลมี ตลอดจนถึงคุณของคุณธรรมอย่างอื่น ตลอดจนถึงคุณของพระชินพุทธเจ้ามี และก็ได้กล่าวสัจจะคือความจริงถึงตัวเอง ว่าถ้าตัวเองนั้นมีปีกก็ยังบินไปไม่ไหว มีเท้าก็ยังเดินไปไม่ได้ จึงขอให้ไฟป่าที่ลุกเข้ามานี้ จงอย่าได้มาถึง จงดับเสีย ด้วยอำนาจของอธิษฐานคือความตั้งจิตมุ่งมั่น แสดงสัจจะคือความจริงอันเรียกว่าสัจจกิริยา การกระทำสัจจะคือความจริง กล่าวคำจริง ระลึกรับรองสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นจริง ทั้งที่เป็นความจริงเกี่ยวแก่คุณศีลเป็นต้น ทั้งที่เป็นความจริงเกี่ยวแก่ตัวเองที่ว่า มีปีกก็ยังบินหนีไปไม่ได้ มีเท้าที่ยังเกินไปไม่ได้ มีการระลึกถึงและการที่อ้างถึงกล่าวถึงเหล่านี้ล้วนเป็นความจริง ก็อธิษฐานในใจ ขอให้อำนาจแห่งความจริงนี้บันดาลให้เกิดผล ความสวัสดีดังกล่าว ไฟป่าที่ลุกมานั้น เมื่อเข้ามาใกล้ก็ดับไปโดยรอบ

ฉะนั้น การอธิษฐานสัจจะอันเรียกว่าสัตยาธิษฐานหรือสัจจาธิษฐานของนกคุ่มนี้ ที่ท่านรจนาไว้เป็นคาถาแสดงในวัฏฏกชาดก อ้างว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงเล่าดังกล่าว จึงได้นำมาใช้เป็นบทสวดซึ่งขึ้นต้นว่า อตฺถิ โลเก สีลคุโณ เป็นต้น ที่แปลความว่า “คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ความสะอาดและความเอ็นดูกรุณามีอยู่ในโลก ด้วยคำสัตย์นั้น ข้าพเจ้าจะทำสัจจกิริยาอันเยี่ยม ข้าพเจ้ารำลึกถึงกำลังแห่งธรรม รำลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังแห่งสัจจะ ขอให้สัจจกิริยา ปีกทั้งหลายของข้าพเจ้ามีอยู่ แต่ก็ยังบินไม่ได้ เท้าทั้งหลายของข้าพเจ้ามีอยู่ก็ยังเดินไม่ได้ มารดาและบิดาของข้าพเจ้าก็ออกไปแล้ว ดูก่อนไฟป่า ขอท่านจงถอยไป ครั้นเมื่อสัจจะอันข้าพเจ้าทำแล้ว เปลวไฟอันลุกโพลงมากก็สงบ เว้นไปได้ ๑๖ กลีบ พร้อมกับคำสัตย์ ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกถึงน้ำ สิ่งใดเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา” ดั่งนี้ เรื่องนี้แสดงถึงสัตยาธิษฐานคืออธิษฐานซึ่งเป็นสัจจะนั้นเอง

อธิษฐานบารมี ๓ ชั้น

พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมีมาโดยลำดับ เป็นบารมีสามัญคือรักษาอธิษฐานยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน เรียกว่า อธิษฐานบารมี เป็นอุปบารมีคือสูงกว่าสามัญ ได้แก่รักษาอธิษฐานยิ่งกว่าอวัยวะร่างกาย เรียกว่า อธิษฐานอุปบารมี เป็นปรมัตถบารมีคืออย่างยิ่งยวดขึ้นไปโดยลำดับ ได้รักษาอธิษฐานยิ่งกว่าชีวิต เรียกว่า อธิษฐานปรมัตถบารมี พระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าเรื่องอดีตจริยาครั้งเป็นพระเตมีย์ที่อ้างมาแล้วนั้น มีอยู่ว่า “ข้าพเจ้าถูกคุกคาม ให้ทำลายอธิษฐานที่ตั้งไว้ด้วยเหตุต่างๆ ถึงกับขุดหลุมจะฝังข้าพเจ้าเสียในแผ่นดิน แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ยอมทำลายอธิษฐานนั้น ข้าพเจ้าจะเกลียดชังพระมารดาและพระบิดาก็หาไม่ ข้าพเจ้าจะเกลียดชังตนเองก็หาไม่ แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณเป็นที่รักของข้าพเจ้า ดั่งนั้นข้าพเจ้าจึ่งอธิษฐานเป็นคนใบ้ คนหนวก และง่อยเปลี้ยอยู่ถึง ๑๖ ปี ผู้เสมอข้าพเจ้าด้วยอธิษฐานเป็นไม่มี นี้คืออธิษฐานบารมีของข้าพเจ้า”

พระพุทธเจ้าเมื่อพระองค์ทรงผจญมารในราตรีที่จะตรัสรู้ ท่านแสดงว่าได้ทรงอธิษฐานพระหฤทัยถึงพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญ มีทานศีลเป็นต้น ทรงอ้างพระธรณีเป็นประธาน จึงได้ทรงชนะมาร เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้ทรงทำ สังขาราธิษฐาน คือตั้งพระหฤทัยมุ่งมั่นว่าจะทรงดำรงพระอายุสังขารอยู่ต่อไป ยังไม่เสด็จปรินิพพานจนกว่าบริษัท ๔ จะตั้งขึ้น พรหมจรรย์คือพระพุทธศาสนาจะตั้งลงมั่นคงในโลก ครั้นถึงเวลานั้นจึงได้ปลงอายุสังขาร เสด็จปรินิพพาน จึงกล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนาเป็นผลของ พระพุทธาธิษฐาน ซึ่งมีอานุภาพอำนายผลแก่ผู้ปฏิบัติอยู่ทุกกาลสมัย

๒๔ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 12 ตุลาคม 2554    
Last Update : 12 ตุลาคม 2554 8:19:38 น.
Counter : 934 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๑ อักโกธะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



อักโกธะ ความไม่โกรธ

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๗ อักโกธะ

กิริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ตลอดถึงไม่พยาบาทมุ่งร้ายผู้อื่น แม้จักต้องลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล ไม่ทำด้วยอำนาจของความโกรธ ชื่อว่า อักโกธะ คนผู้รวมกันอยู่เป็นหมู่ย่อมมีการกระทบกระทั่งกันบ้าง เมื่อข่มใจไว้ไม่ได้เกิดโกรธขึ้งต่อกันขึ้นและผูกเวรไว้ ก็เป็นสมุฏฐานให้เกิดโทสะ ความประทุษร้ายกันทางใจก่อน แล้วประทุษร้ายกันทางกายทางวาจาสืบไป อันเรียกว่า พยาบาท ทำให้อยู่ด้วยกันไม่เป็นสุข ต่อเมื่อรักษาใจข่มใจไว้ไม่เกิดโกรธขึ้น หรือเมื่อเกิดโกรธขึ้นในใจ ก็ระงับไว้ไม่แสดงออกมาให้ปรากฏ ไม่ปฏิบัติลุอำนาจแห่งความโกรธ จักอยู่ด้วยความสงบเรียบร้อยเป็นสุข ความไม่โกรธจักมีได้ ก็เพราะมี เมตตา หวังความสุขความเจริญแกตนและต่อกันและกัน คนที่เป็นหัวหน้าปกครองก็ตาม เป็นผู้อยู่ในปกครองก็ตาม เมื่อแสดงความโกรธออกมาให้ปรากฏ ก็แสดงว่าตนเองลุอำนาจของความโกรธ กิริยาที่แสดงความโกรธออกมานั้นก็ไม่งดงาม น่าเกลียดน่าชัง

ปฏิฆะ โกธะ โทสะ

นี้เป็นอธิบายทั่วไปของคำว่าอักโกธะ ที่แปลว่าไม่โกรธ เพราะฉะนั้น ควรที่จะเข้าใจถึงเรื่องความโกรธซึ่งเป็นกิเลสข้อหนึ่งในกิเลส ๓ กอง ดังที่พูดกันว่า โลภโกรธหลง หรือโลภะโทสะโมหะ ตามคำที่พูดกันนี้ ถ้านำมาคิดก็อาจจะสงสัยว่า เมื่อพูดว่าโลภโกรธหลงใช้ว่าโกรธ แต่เมื่อพูดว่าโลภะโทสะโมหะ เรียกว่าโทสะแทนคำว่าโกรธ เพราะฉะนั้น จึงควรทำความเข้าใจว่า คำว่า โกธะ ที่แปลว่าโกรธก็ดี คำว่าโทสะก็ดี คำว่าพยาบาทก็ดี ย่อมมีความหมายถึงกิเลสกองนี้ด้วยกัน แต่ว่ามีอธิบายถึงลักษณะที่แตกต่างกัน อันความเริ่มต้นของความโกรธนั้นเรียกว่า ปฏิฆะ แปลว่า ความกระทบกระทั่ง มีอาการเป็นความหงุดหงิด ดังที่เรียกกันอย่างไทยๆ ว่าเริ่มมีอารมณ์เสีย และเมื่อปฏิฆะคือความกระทบกระทั่ง อันมีลักษณะดังกล่าวแล้วกำเริบยิ่งขึ้น ก็เรียกว่า โกธะ ที่แปลว่าโกรธ มีอาการเป็นความขึ้งเคียด ไม่พอใจ เมื่อโกธะซึ่งมีอาการดังกล่าวกำเริบขึ้นมาอีก ก็เรียกว่า โทสะ ที่แปลว่าประทุษร้าย แต่ว่าเป็นการประทุษร้ายใจของตัวเอง ยังไม่ถึงคิดออกไปทำร้ายประทุษร้ายผู้อื่น คือโกธะความขึ้งเคียดนั้นเองมีอาการที่แรงขึ้น จนเผาใจตัวเองให้เดือดร้อน ดังคนที่แสดงอาการโทสะออกมา ไม่ทำร้ายใคร แต่ว่ามีอาการที่ออกทางกาย เช่นว่า ตาแดง หน้าแดง มือสั่น แสดงอาการเต้นเร่าๆ หรือบางทีก็ถึงกับเหวี่ยงเข้าเหวี่ยงของที่อยู่ข้างตัวออกไป แต่ว่ายังไม่คิดออกไปทำร้ายผู้อื่นข้างนอก อาการดั่งนี้เรียกว่าโทสะ ประทุษร้ายใจตัวเอง ทำใจตัวเองให้ร้ายด้วย และประทุษร้ายใจตัวเองให้เดือดร้อนด้วย

พยาบาทเกิดจากโทสะ

คราวนี้เมื่อโทสะอันนี้แรงขึ้นอีก จนถึงมีความคิดมุ่งร้ายออกไปยังผู้อื่นต้องการจะด่าเขา ต้องการจะทำร้ายเขา คือบุคคลที่ตนโกรธนั้น อาการดังที่กล่าวมานี้เรียกว่า พยาบาท การทำร้ายกันที่ปรากฏออกด้วยวิธีต่างๆ เป็นอาชญากรรมต่างๆ ที่ปรากฏอยู่นั้น สืบเนื่องมาจากจิตใจที่เป็นพยาบาท มุ่งร้ายหมายทำลายและพยาบาทนี้ก็เป็นสิ่งที่แรงขึ้นจากโทสะ แค่เพียงโทสะก็ยังไม่ทำร้ายใคร เป็นแต่ว่าทำร้ายใจตัวเองให้เดือดร้อน เผาใจตัวเองให้เดือดร้อน แล้วก็ทำใจตัวเองให้ร้ายด้วย ให้หยาบด้วย และโทสะนี้ก็เป็นสิ่งที่แรงขึ้นมาจากโกธะ ที่แปลว่าความโกรธนี่แหละ ที่มีอาการขึ้งเคียดไม่ชอบใจ และโกธะนี้ก็แรงขึ้นมาจากปฏิฆะซึ่งเป็นความกระทบ กระทบกระทั่ง และกิเลสกองนี้อันเริ่มขึ้นจากปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งนี้ ก็เปรียบเหมือนอย่างว่าไม้ขีดไฟก้านเดียว ที่ขีดเข้ากับข้างกล่องไม้ขีดเป็นไฟขึ้น และเมื่อไฟแห่งไม้ขีดก้านเดียวนี้ เมื่อไปจี้เข้าที่เชื้อไฟ ก็เป็นไฟลุกกองโตขึ้น โตขึ้น โตขึ้น คือเป็นโกธะ เป็นโทสะ เป็นพยาบาท เป็นอกุศลกรรมทางกายทางวาจาทางใจ ที่ทำร้ายเบียดเบียนกันต่างๆ มาจากไม้ขีดก้านเดียวคือปฏิฆะอันนี้ และปฏิฆะอันนี้นั้นซึ่งมาจากไม้ขีดก้านเดียวนั้น ก็มาจากกล่องไม้ขีดที่มีกล่องมีข้างสำหรับขีด และตัวไม้ขีดอยู่ในกล่อง ถ้าหากว่าไม้ขีดไม่มาขีดเข้ากับกล่องที่ข้างกล่อง ก็ไม่เกิดไฟ ฉันใดก็ดี บุคคลเรานี้ก็มีอายตนะภายนอก อายตนะภายในที่มากระทบกัน ดังเช่นเมื่อตากับรูปมากระทบกัน ที่เรียกว่าเห็นรูป ก็ปรากฏขึ้นเป็นความเห็นรูป เห็นรูปนั่นเห็นรูปนี่เป็นต้น หูกับเสียงมากระทบกัน ก็ปรากฏขึ้นเป็นการได้ยินเสียง และเมื่อมีการเห็นการได้ยินเป็นต้นขึ้นดั่งนี้ ก็ทำให้เกิดเวทนา เป็นสุขเกิดจากการเห็นรูปสัมผัสในรูปนั้นบ้าง เกิดจากได้ยินเสียงสัมผัสในเสียงนั้นบ้าง ถ้าเป็นรูปเป็นเสียงที่ชอบใจก็เกิด สุขเวทนา ถ้าเป็นรูปเป็นเสียงที่ไม่ชอบใจก็เกิด ทุกขเวทนา ถ้าเป็นกลางๆ ก็เป็น อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข

เวทนาทำให้เกิดตัณหา

คราวนี้สุขเวทนานี้เอง เมื่อจิตเข้ายึดถือ เข้ารับและยึดถือ ก็ทำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี หรือโลภะ ความโลภอยากได้ ถ้าเป็นทุกขเวทนา จิตรับยึดถือ ก็ทำให้เกิดโทสะ เริ่มจากปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งขึ้นก่อน เป็นอันว่าเหมือนอย่างเอาไม้ขีดมาขีดข้างกล่องไม้ขีด ก็เป็นไฟคือเป็นปฏิฆะขึ้นมา แล้วเมื่อไม่ดับเสีย แค่นี้ไปจี้เชื้อเข้า ก็ลุกขึ้นเป็นโกธะ เป็นโทสะ เป็นพยาบาท ก็เป็นไฟกองโต ไหม้บ้านไหม้เรือน ก็ปรากฏเป็นความประทุษร้ายกับเบียดเบียนกัน ดังที่ปรากฏอยู่ในภายนอกต่างๆ เหมือนอย่างที่ปรากฏเป็นไฟไหม้บ้านไหม้เรือนอยู่ต่างๆ อันมาจากต้นไฟเพียงนิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ใช้คำว่า อักโกธะ คือไม่โกรธนี้ ก็เป็นอันว่าหยิบเอาชื่อของกิเลสกองโทสะมาใช้คำหนึ่ง แต่ก็หมายความถึงว่า ระวังใจไม่ให้กระทบกระทั่ง ไม่ให้โกรธ ไม่ให้มีโทสะ ไม่ให้มีพยาบาท เพราะว่าทุกคนนั้นจะต้องรับอารมณ์ คือเรื่องที่เข้ามาทางตาทางหู เป็นต้น ดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นอยู่เสมอ และก็ให้เกิดเวทนา ที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดความยินดีบ้าง เกิดความยินร้ายบ้าง อันเนื่องมาจากสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง และถ้าเป็นเวทนากลางๆ ไม่ได้จับมาพิจารณา ก็ย่อมจะเกิดโมหะคือความหลง และก็หลงติดอยู่ในเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เวทนานี้เองจึงเป็นที่ตั้งของตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากและกิเลสทั้งหลาย ดังเช่นที่ใน ปฏิจจสมุปบาท พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหา และตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนี้ก็มีอาการเป็นโลภโกรธหลงนี่แหละ เพราะว่าเมื่อโลภโกรธหลงบังเกิดขึ้นแล้ว จิตใจจะมีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เมื่อจับเอาอาการที่ดิ้นรนกวัดแกว่างกระสับกระส่ายนี้ ก็เรียกว่าตัณหา เมื่อจับเอาอาการที่ชอบก็เป็นโลภหรือราคะ ที่โกรธก็เป็นโทสะ ที่หลงก็เป็นโมหะ แต่เมื่อจับเอาอาการที่ดิ้นรนกวัดแกว่างกระสับกระส่ายก็เป็นตัณหา เพราะฉะนั้น กิเลสเหล่านี้จึงอยู่ด้วยกัน เนื่องกันเป็นไป

ตรัสสอนให้ดับโกรธด้วยเมตตา

เพราะฉะนั้น การที่จะปฏิบัติทำใจให้ไม่โกรธได้ ก็ต้องอาศัยสติที่คอยสำรวมระวังใจอยู่ อาศัยปัญญาที่เป็นตัวความรู้จักว่า กิเลสทุกกองแม้กองโกรธนี้เป็นอกุศลมีโทษ เป็นปัญญา ความรู้จักโทษ เมื่อมีสติระวังใจอยู่และมีปัญญาที่คอยรักษาใจอยู่ดั่งนี้ ก็จะป้องกันระงับได้ อีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ถึงธัมมะที่จะเป็นเครื่องป้องกันโกรธได้ด้วย ดับโกรธได้ด้วยก็คือ เมตตา ความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุขหรือความปรารถนามุ่งดี เหมือนอย่างที่มารดาบิดามีเมตตาต่อบุตรธิดาครูอาจารย์มีเมตตาต่อศิษย์ มิตรสหายมีเมตตาต่อมิตรสหาย คนที่รักมีเมตตาต่อกัน และโดยเฉพาะทุกคนก็มีเมตตาต่อตัวเองอยู่เป็นประจำ เพราะว่าย่อมปรารถนาจะให้ตัวเองนั้นมีความสุขความเจริญ และปกติก็ไม่โกรธตัวเอง แม้ตัวเองจะทำผิดก็ไม่โกรธตัวเอง ตัวเองจะทำให้ทรัพย์เสียหายก็ไม่โกรธตัวเอง แต่ว่าถ้าคนอื่นมาทำก็เกิดโกรธ เพราะฉะนั้น ก็หัดให้จิตนี้มีเมตตา แผ่เมตตาออกไปในบุคคลที่เจาะจงบ้าง ในสัตว์บุคคลทั่วไปไม่เจาะจงบ้าง เป็นการหัดปลูกเมตตาให้บังเกิดขึ้นที่จิตใจ และจิตใจนี้เป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้ น้อมไปในทางดีก็ได้ น้อมไปในทางชั่วก็ได้ น้อมไปในข้อก็ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อหักน้อมไปในทางปลูกเมตตาอยู่เสมอแล้ว จะทำให้เมตตามีขึ้นจิตใจ เหมือนอย่างปลูกต้นไม้ ก็ต้องมีการปลูกตั้งแต่เบื้องต้น แล้วก็หมั่นรดน้ำพรวนดินอะไรเป็นต้น ต้นไม้ก็จะอยู่ได้ ก็จะเติบโตขึ้นจนถึงให้ผล การปฏิบัติธัมมะก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องอาศัยการปฏิบัติบ่อยๆ ทำบ่อยๆ หมั่นปลูกให้ตั้งขึ้นในจิตใจอยู่เสมอ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะเป็นเมตตาขึ้นมาได้ เมื่อมีเมตตาอยู่แล้ว เมื่อไปประสบอารมณ์อันทำให้เกิดทุกขเวทนา ก็จะทำให้ไม่เกิดความโกรธ หรือว่าเมื่อเกิดความโกรธขึ้น หวนคิดถึงเมตตาขึ้นมาได้ ทำจิตให้ปรากฏเป็นเมตตาออกไป ก็จะดับโกรธได้

อักโกธะหมายรวมถึงเมตตา

เพราะฉะนั้น ทศพิธราชธรรมข้อนี้ คือ อักโกธะ ความไม่โกรธนั้น จึงหมายรวมถึงเมตตาด้วย ความมีเมตตาก็คือมีความไม่โกรธ ถ้าจิตที่ขาดเมตตาแล้วก็จะต้องมีโกรธ ไม่อย่างนั้นก็ไม่อย่างนี้ แต่ถ้าหากว่ามีเมตตาอยู่เป็นประจำแล้วจะไม่โกรธ เพราะฉะนั้น อักโกธะกับเมตตาจึงมีความหมายที่รวมอยู่ด้วยกัน และข้อที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้ามีพระราชอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตา ไม่ทรงปรารถนาก่อภัยก่อเวรในผู้ใดผู้หนึ่ง ไม่ทรงพระพิโรธด้วยเหตุที่ไม่ควร แม้มีเหตุให้ทรงพระพิโรธแต่ก็ทรงข่มเสียได้ ให้สงบระวังอันตรธาน ทรงปฏิบัติโดย โยนิโสมนสิการ จัดเป็นอักโกธะอันเป็นข้อที่ ๗ และก็พึงสาธกได้ถึงพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติ ว่าเป็นไปด้วยอำนาจพระเมตตา มุ่งดีปรารถนาดีต่อประชาชน ดังเช่นที่เล่าเรื่องที่ทรงปฏิบัติในสวนจิตรลดามาแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าจะเล่าต่ออีกหน่อยหนึ่งคือได้โปรดให้มีการทดลองปลูกข้าวไร่ในสวนจิตรลดา ซึ่งสามารถผลิตข้าวไร่ได้ในอัตรา ๒๐ ถังต่อไร่ เพื่อพระราชทานไปแพร่พันธุ์ในชนบทต่างๆ ในปี ๒๕๒๘ ก็ได้ทดลองนำดินดังกล่าวมาผสมสารต่างๆ เพื่อลดกรด รวมทั้งทำการทดลองผสมดินลูกรังในส่วนผสมต่างๆ แล้ว ก็ทำโครงการปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์เพื่อไปใช้ในโครงการต่างๆ โครงการที่สำคัญอีกอันหนึ่งที่น่าจะใหม่เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๘ คือโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิทยาการสมัยใหม่ คือเป็นโครงการทดลองตามพระราชดำริ จะอนุรักษ์พันธุ์ไม้ที่ไม่สามารถใช้วิธีเพาะเม็ด ติดตา หรือต่อกิ่งได้ วิธีการนี้เรียกว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช โดยนำเซลล์เนื้อเยื่อพืชมาเพาะเลี้ยงในอาหารและพืช ปรับสูตรจนพืชสามารถงอดรากงอกลำต้นออกมา จนนำไปปลูกได้และไม่กลายพันธุ์ เมื่อทดลองได้ดีแล้ว โปรดเกล้าให้ทำการเพาะเลี้ยงเยื่อของพันธุ์ไม้ที่เคยมีแต่โบราณ ได้แก่ ต้นขนุน ซึ่งได้ทราบว่าปลูกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นขนุนนี้ปลูกอยู่ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เป็นขนุนเนื้อหนาถึง ๑ ซม. รสหวานสนิท แม้กระทั่งซังก็ว่ารับประทานได้หมดเลย ต้นขนุนนี้ไม่สามารถจะนำไปเพาะพันธุ์ได้ด้วยวิธีอื่น ก็ใช้วิธีที่เรียกว่าเพาะพันธุ์ด้วยเนื้อเยื่อพืชนี่แหละ นอกจากนั้นก็มีต้นสมอไทย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงปลูกที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีผลใหญ่ไม่ฝาด ต้นไม้ทั้ง ๒ ต้นนี้คือต้นขนุนและต้นสมอ มีอายุเกือบ ๑๐๐ ปี นอกจากนั้น ทางโครงการได้ทำการทดลองเพาะเลี้ยงพืชต่างๆ ในวังหลวง เช่น ต้นมณฑา ต้นพุฒ สำหรับนำดอกมาร้อยมาลัย ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือก้านยาวและทิ้งไว้ ๒ – ๓ วันก้านยังสดไม่เปลี่ยนสี นอกจากนั้นในสวนจิตรฯ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมผลิตนมผงและนมที่เป็นเม็ด และนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนเป็นที่แพร่หลาย นอกจากนั้นโปรดให้มีการทดลองนำอ้อยมาทดลองเพื่อใช้เป็นวัสดุเชื้อเพลิง โดยเฉพาะที่จะใช้ในการประเภทน้ำมันเบนซิน ซึ่งเป็นขั้นทดลอง ทรงพระราชดำริว่า ปัญหาเรื่องอ้อยคงจะเป็นปัญหาที่เกษตรกรจะต้องได้รับความลำบากเพราะปลูกกันมาก ก็น่าจะมีการทดลองที่ใช้อ้อยให้เป็นประโยชน์ในทางอื่นนอกจากการทำน้ำตาล นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังโปรดที่จะทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง การที่ทรงสนพระราชหฤทัยในการเกษตร บางคราวทรงปลูกพืชด้วยพระองค์เอง เช่น ทรงปลูกพืชถั่วด้วยพระองค์เอง ที่ทรงปลูกไว้ที่พระตำหนักไกลกังวลเป็นต้น เพื่อจะได้ทรงทราบว่าการเพาะปลูกพืชนั้นๆ มีปัญหาอย่างไร

การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในชนบทในต่างจังหวัดนั้น ถือว่าเป็นพระราชภาระกิจหลัก ก็จะแบ่งเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเป็นทางการ ไปเยี่ยมงานโครงการต่างๆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีต่างๆ ตามที่จังหวัดกราบบังคมทูลเชิญเสด็จ แต่โดยปกติงานพิธีต่างๆ จะรับเชิญต่อเมื่อมีโอกาสอำนวยเท่านั้น ปกติมักจะทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปในการทอดพระเนตรและไปเยี่ยมโครงการในพระราชดำริเป็นส่วนใหญ่ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทำให้มีโอกาสทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และสภาพความเป็นอยู่ของราษฎร ลักษณะของการเสด็จส่วนใหญ่เป็นการส่วนพระองค์ บางแห่งทางฝ่ายเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ได้ช่วยกันพิจารณาตามความเหมาะสม โดยกลั่นกรองจากข้อมูลที่รวบรวมจากหนังสือขอพระราชทานอันเชิญเสด็จจากหน่วยราชการต่างๆ ส่วนที่หมายอื่นๆ บางทีก็ทรงกำหนดเอง คือบางทีคล้ายๆ กับว่าเสด็จไปยังจุดต่างๆ เพื่อที่จะไม่ให้เจ้าหน้าที่รู้ล่วงหน้า เป็นการป้องกันสิ่งที่เรียกว่าผักชีโรยหน้าอย่างนี้เป็นต้น การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรทุกครั้ง จะทรงศึกษาสถานการณ์ล่วงหน้า จะทรงพิจารณาเส้นทางภูมิประเทศตลอดจนความยุ่งยาก ปัญหาที่ราษฎรในพื้นที่ประสบอยู่ และจะทรงวางแผนพัฒนาไว้อย่างคร่าวๆ จนกว่าจะทอดพระเนตรสภาพที่แท้จริง แล้วจึงปรับแผนให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง จะทรงสังเกตสภาพภูมิประเทศ สภาพความเป็นอยู่ สภาพแหล่งน้ำ สภาพเส้นทางคมนาคม สภาพพื้นที่เพาะปลูก สภาพป่าไม้ตลอดทาง เมื่อเสด็จถึงที่หมายจะมีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่รอบรู้เกี่ยวกับสภาพพื้นที่ในบริเวณดังกล่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายท้องถิ่น ในโอกาสนี้หากทรงพบปัญหาเกี่ยวกับการดำรงชีพของราษฎร หรือในกรณีที่ราษฎรทูลเกล้าถวายฎีกา ก็จะเสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ที่ประสบปัญหาด้วยพระองค์เอง แล้วจึงมีพระราชดำรัสกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาและฝ่ายรักษาความมั่นคงที่โดยเสด็จ ถึงแนวทางที่จะวางแผนแก้ไขปัญหาต่อไป สำหรับฎีกาที่ทูลเกล้าถวายนั้น จะทรงรับกลับมาแล้วโปรดเกล้าให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาประกอบพระราชดำริก่อนที่จะดำเนินการช่วยเหลือตามความเหมาะสม

สัจจะกับอักโกธะต้องอาศัยซึ่งกันและกัน

ตามเรื่องที่ได้ขอยกมาอ้างนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องสนับสนุนว่า ทรงปฏิบัติอยู่ในทศพิธราชธรรมข้อว่าอักโกธะ คือเมตตา เพราะทรงมีพระเมตตามุ่งดีปรารถนาดีต่อประชาชน จึงได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทุกอย่าง เช่นดังที่ได้ยกมานั้น

อนึ่ง ในข้อ ๗ นี้ สำหรับบารมีนั้นได้แก่สัจจบารมี ส่วนในทศพิธราชธรรมนั้นได้แก่อักโกธะ ความไม่โกรธ อันหมายถึงเมตตาประกอบอยู่ เมื่อพิจารณาดูแล้วแม้ว่าทั้ง ๒ ข้อนี้จะมีพยัญชนะที่ต่างกัน แต่ว่าในด้านการปฏิบัตินั้นก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน กล่าวคือการที่จะปฏิบัติให้มีความไม่โกรธหรือมีเมตตาขึ้นได้นั้น จะต้องมีจิตใจประกอบด้วยสัจจะคือความตั้งใจจริงในการที่จะปลูกเมตตาขึ้นมาในจิตใจคือให้เป็นเมตตาจริง ให้เป็นเมตตาจริงในจิตใจ เมื่อเป็นดั่งนี้ จึงจะทำให้เกิดความไม่โกรธ อันตรงกันข้ามขึ้นได้ และเมื่อเกิดความไม่โกรธและเกิดเมตตาขึ้นแล้ว ก็จะทำให้มุ่งดีปรารถนาดี จึงอดอยู่มิได้ที่จะอยู่เฉยๆ จึงต้องขวนขวายที่จะทำให้ผู้ที่มีเมตตานั้นบังเกิดความสุขความเจริญตามความหมายของเมตตา เพราะถ้ามีเมตตาจริงแล้วก็อยู่เฉยๆ ไม่ได้ จะต้องไปปฏิบัติทำให้เกิดความสุขความเจริญขึ้นในที่นั้นๆ ในที่ที่มีเมตตานั้น เมื่อมีเมตตาอยู่ในราษฎร จึงต้องขวนขวายที่จะเสด็จไปทำให้เกิดความสุขความเจริญแก่ราษฎร ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยมีสัจจะคือความจริงใจที่จะปฏิบัติให้มีเมตตาขึ้นจริง เพราะฉะนั้น เมตตานั้นจะเป็นเมตตาจริงขึ้นมาได้ต้องมีสัจจะไม่โกรธ จะไม่โกรธจริงขึ้นได้ก็ต้องมีสัจจะคือความจริงใจที่จะไม่โกรธ ความจริงใจที่จะมีเมตตา ถ้าหากว่าขาดความจริงใจ คือขาดสัจจะเสียข้อเดียว เมตตาก็เป็นเมตตาไม่จริง เป็นเมตตาที่แสดงกันออกมาแต่ภายนอก เช่นทางวาจาว่าเมตตา หรือทางกิริยาว่าเมตตา แล้วก็ละทิ้งทอดทิ้งไม่ได้ช่วยอะไรจริงจัง แต่หากว่าถ้าเป็นเมตตาจริง คือมีเมตตาที่ประกอบด้วยสัจจะคือความจริงใจ ทำให้เมตตาเป็นเมตตาจริงขึ้นมา ไม่โกรธก็ไม่โกรธจริงขึ้นมา ดั่งนี้แล้ว จึงจะทำให้ปฏิบัติขวนขวายเพื่อประโยชน์สุขต่างๆ ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิบัติ เพราะฉะนั้นธัมมะทั้ง ๒ ข้อนี้คือสัจจะกับอักโกธะที่หมายถึงเมตตา จึงมีความหมายที่ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป

๒๐ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2554    
Last Update : 5 ตุลาคม 2554 8:15:56 น.
Counter : 1138 Pageviews.  

ครั้งที่ ๓๐ สัจจบารมี

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



สัจจะ ความจริง ความตั้งใจทำจริง

จะแสดง ทศบารมี ข้อที่ ๗ สัจจบารมี

คำว่า สัจจะ แปลว่า ความจริง ใช้ในความหมายว่า พูดไว้อย่างไรก็รักษาคำพูด เช่นที่เรียกว่ารักษาสัญญาก็ได้ ทำไว้อย่างไรก็แจ้งว่าทำอย่างนั้น เช่นที่เรียกว่ารับตามที่เป็นอย่างไรก็ได้ ได้เห็นอย่างไรหรือเรื่องเป็นอย่างไร ก็บอกตามที่เห็นตามเรื่องที่เป็นไปเช่นนั้น เรียกว่าพูดความจริงก็ได้ สัจจะเหล่านี้มีลักษณะเป็นความซื่อตรง ทำให้พูดจริงเป็นสัจจวาจา ตรงกันข้ามกับพูดเท็จ และทำให้รักษาคำพูดรักษาหน้าที่ เพราะเมื่อรับหน้าที่อันใดแล้ว ก็รักษาหน้าที่อันนั้นด้วยดีตลอดเวลาที่ยังอยู่ในหน้าที่นั้น อีกอย่างหนึ่งหมายถึงความตั้งใจทำจริง มุ่งแสวงหาความจริงหรือความถูกต้องเที่ยงธรรม และรักษาความเที่ยงธรรมไว้ จึงอาจแบ่งสัจจะได้หลายอย่างดังต่อไปนี้

สัจจบารมีชั้นธรรมดา

สัจจะชั้นสามัญทั่วไป ดังที่เรียกว่าความจริง ไม่เลือกว่าดีหรือไม่ดี คือเมื่อทำอะไรลงไป จะดีหรือชั่วก็ตาม ก็เป็นความจริงขึ้นอย่างหนึ่งๆ เมื่อแสดงออกไปตามเป็นจริง อะไรที่ทำก็บอกว่าทำ ที่ไม่ทำก็บอกว่าไม่ทำ เรียกว่าพูดจริง เป็นสัจจะอย่างหนึ่ง ในชั้นนี้ทางพระพุทธศาสนาสอนไว้โดยความว่า เมื่อจะพูดก็ให้พูดจริง ไม่เช่นนั้นก็ไม่พูด และมีสอนไว้อีกว่า ความจริงต่างๆ นั้นเมื่อมีประโยชน์และชอบด้วยกาละจึงควรพูด มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้โดยความว่า “วาจาที่ไม่จริงหรือแม้จะจริงแต่ไม่มีประโยชน์ พระตถาคตไม่ตรัส ส่วนวาจาที่จริงและมีประโยชน์ พระตถาคตย่อมทรงรู้กาลเวลาที่จะตรัส” การบำเพ็ญสัจจะในชั้นนี้ คือพูดความจริงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ผู้บำเพ็ญสัจจะในข้อนี้ ย่อมจะเว้นจากการพูดเท็จธรรมดา จากการพูดเท็จใส่ความป้ายร้าย จากการพูดเท็จบิดเบือน หรือเสริมตัดความ หรือการพูดไม่จริงที่มุ่งจะให้ผิดไปจากความจริงทุกอย่าง ทั้งจะเว้นจากการพูดความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ และที่จะให้เกิดโทษทุกข์เดือดร้อน เป็นอันเว้นจากการพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อเหลวไหลได้ด้วย เพราะวาจาเหล่านี้บางทีก็จริง บางทีก็เท็จ บางทีก็เท็จปนจริง แต่ไม่มีประโยชน์ สัจจะในข้อนี้เกี่ยวแก่วาจาที่พูดออกไปและทุกๆ คนย่อมต้องพูดอยู่เสมอ ในปัจจุบันยังมีการเขียนแทนการพูด และมีเครื่องมือที่จะทำให้คนทั้งปวงได้อ่านได้ฟังกันกว้างขวางออกไปได้เป็นอย่างมาก คุณและโทษอันเกิดจากวาจาจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึงมีพระพุทธภาษิตตรัสสอนไว้ว่า “สาธุ วาจาย สํวโร ความสำรวมวาจาเป็นการดี” และได้ตรัสโทษของการพูดพล่อยๆ ไม่สำรวมวาจาไว้ว่า เท่ากับสร้างขวานขึ้นที่ปากสำหรับที่จะถากตนเองเป็นต้น สัจจะที่เป็นประโยชน์เกี่ยวแก่วาจา จึงเป็นบารมีธรรมข้อสำคัญที่พึงบำเพ็ญทางปากทุกๆ ปากที่พูดกันอยู่ทุกวันเวลา ควรเรียกว่าเป็น สัจจบารมีชั้นธรรมดา

สัจจบารมีชั้นกลาง

สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นสัจจชั้นกลาง คือการรักษาสัจจะที่ให้ไว้ หมายถึงว่าเมื่อรับคำไว้ รับสัญญาปฏิญญาไว้ รับหน้าที่ไว้ ก็รักษาปฏิบัติให้เป็นไปตามที่รับไว้ เช่นที่เรียกว่ารักษาวาจา สัญญา ปฏิญญา หน้าที่ รวมเรียกว่ารักษาสัจจะ ผู้ที่ไม่รักษาสัจจะในข้อนี้ บางทีก็ไม่คิดจะปฏิบัติมาตั้งแต่ต้น เช่นเมื่อมีผู้มาขอให้ทำกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง คือว่าจะไม่ทำให้อยู่แล้ว แต่ก็ออกปากรับว่าจะทำให้เสร็จแล้วก็ทิ้งปล่อยเสีย บางทีก็มิได้คิดจะรับ บางทีก็มิได้คิดจะทำ รับส่งๆ ไปอย่างนั้น แต่รับแล้วก็ปล่อยทิ้งเฉยเสีย ไม่เห็นความสำคัญของถ้อยคำที่ให้ไว้ บุคคลเช่นนี้เรียกว่าเป็นคนไม่จริงเหมือนกัน เพราะเสียสัจจะสัญญาที่ให้ไว้ นอกจากเสียสัจจะต่อคนอื่นแล้ว ยังอาจเสียสัจจะต่อตนเองได้อีกบ่อยๆ เช่นรับกับตนเองไว้ว่า จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วไม่ทำ หรือผลัดเพี้ยนไปเรื่อยๆ รับแก่ตนเองว่าจะไม่ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้อีก แล้วก็ทำอีก อีกอย่างหนึ่งปฏิญญาตนไว้ว่าอย่างไร เช่นเป็นภิกษุเป็นสามเณรเป็นผู้ดำรงฐานภาวะอย่างไร รับหน้าที่ไว้อย่างไร ซึ่งควรจะปฏิบัติให้สมกับฐานภาวะที่ปฏิญญาไว้ให้ถูกต้องตามหน้าที่รับไว้ ก็ไม่ปฏิบัติให้สมควร เรียกว่าไม่รักษาสัจจะได้อย่างหนึ่ง เพราะทำผิดจากฐานภาวะหน้าที่ ส่วนผู้ที่รักษาสัจจะในข้อนี้ ย่อมจะรักษาวาจาสัญญาปฏิญญาหน้าที่ที่รับไว้ ย่อมจะพิจารณาก่อนที่จะรับวาจาแก่ใครๆ ในทุกเรื่อง เมื่อเห็นว่าจะทำได้ตามที่รับ จึงรับปาก ไม่รับพล่อยๆ และพยายามปฏิบัติตามที่รับ ถ้าขัดข้องก็บอกเหตุที่ขัดข้องแก่อีกฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อมิให้ต้องเกิดความเสียหาย และเพื่อมิให้ตนต้องเสียวาจา สัจจะดังกล่าวนี้ต้องใช้อยู่เสมอในทางคดีโลก เช่นคนทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องกัน จะทำอะไรด้วยกัน หรือที่เกี่ยวข้องกัน ก็จะต้องพูดจาตกลงกันก่อน เมื่อรับข้อตกลงกันแล้วก็เกิดเป็นวาจาที่ตกลง หรือสัญญาขึ้นทางศีลธรรม เช่นจะดำรงตำแหน่งฐานะอะไรก็จะต้องมีการบรรจุแต่งตั้ง ซึ่งเมื่อไม่ปฏิเสธก็เป็นการรับ ภาวะบางอย่างไม่มีการแต่งตั้ง แต่ก็เป็นจริงขึ้นตามเหตุต่างๆ เช่นภาวะแห่งมารดาบิดาบุตรธิดา เรียกว่าเป็นสัจจะอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะก็เป็นมารดาบิดาจริง เป็นบุตรธิดากันจริง ส่วนในทางคดีธรรม การแสดงตนเป็นพุทธศาสนิก เช่นเป็นพุทธมามกะ พุทธมามิกา การับศีล ๕ ศีล ๘ การบรรพชาอุปสมบท ก็เป็นการปฏิญญาตน ฉะนั้น เมื่อรับไว้อย่างไรก็ปฏิบัติอย่างนั้น เรียกว่าเป็นการรักษาสัจจะ ในชั้นนี้ ทางพระพุทธศาสนาสอนให้ดำรงอยู่ในสัจจะที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม ดังที่ตรัสไว้ว่า สจฺเจ อตฺเถ จ ธมฺเม จ อหุ สนฺโต ปติฏฺฐิตา แปลความว่า “คนดีทั้งหลายตั้งอยู่ในสัจจะที่เป็นประโยชน์ด้วย เป็นธรรมด้วย” ดั่งนี้ การตั้งสัจจะและการรักษาสัจจะในข้อนี้ นับว่าเป็นการบำเพ็ญ สัจจอุปบารมี คือ สัจจบารมีชั้นกลาง เป็นธัมมะข้อสำคัญที่ทุกคนผู้ตั้งอยู่ในฐานภาวะทั้งปวง จะพึงอบรมให้มีขึ้นโดยควรแก่ฐานภาวะของตน ไม่เช่นนั้นก็ไม่อาจจะเจริญอยู่ในฐานภาวะของตนได้

สัจจบารมีชั้นสูง

สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เป็นสัจจะชั้นสูง คือการแสวงหาความจริงจนถึง ปรมัตถสัจจะ คือความจริงอย่างยิ่ง ดังเช่นสมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ได้ทรงแสวงหาอยู่ว่า อะไรเป็นกุศล ด้วยความตั้งพระหฤทัยทำจริง จนทรงได้พบ อริยสัจจะ ท่านแสดงว่าพระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญสัจจบารมีมาในทุกๆ ทาง ท่านได้เล่าถึงพระราชาองค์หนึ่งทรงพระนามว่าสุตโสม ได้ถูกมนุษย์กินคนจับพระองค์ไปเพื่อที่จะปลงพระชนม์บูชายัญ พระองค์ได้ทรงขอกลับไปฟังธรรมของพราหมณ์ผู้หนึ่งก่อน เพราะได้ตรัสไว้แล้วว่าจะไปฟัง ปฏิญญาพระองค์ว่าจะกลับไปหามนุษย์กินคนนั้นอีก มนุษย์นั้นก็ยอมให้ท่านเสด็จกลับไป พระองค์ได้เสด็จกลับไป ทรงฟังธรรมของพราหมณ์นั้นแล้ว ก็ทรงรักษาสัจจะเสด็จกลับมาหามนุษย์ป่านั้นอีก ทำให้เขาเลื่อมใส ได้ทรงแสดงความไม่กลัวของพระองค์ เพราะทรงมีความมั่นในพระหฤทัยว่า โลกหน้าของพระองค์ได้ชำระไว้ดีแล้ว ทรงรักษาธรรมคือสัจจะที่ให้ไว้ ทั้งได้ทรงรักษาธรรมที่ได้ฟังจากพราหมณ์ซึ่งได้ทรงจำสืบกันมา ว่าเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง ใจความของข้อธรรมที่พราหมณ์แสดงถวายมีอยู่ว่า “สมาคมกับคนดีคราวเดียวก็คุ้มครองได้ สมาคมกับคนไม่ดีมากครั้งคุ้มครองหาได้ไม่ จึงควรเข้ามาคนดี ทำความคุ้นเคยกับคนดี รู้ธัมมะที่ดีของคนดี ย่อมมีแต่ความดีหาความเสื่อมมิได้ ราชรถที่งดงามคร่ำคร่าไป แม้สรีระแก่ทรุดโทรมไป แต่ธัมมะของคนดีไม่มีเก่า คนดีย่อมเข้าใจกับกับคนดี ธัมมะของคนดีกับคนไม่ดีห่างกันไกลมาก เหมือนฟ้ากับดิน หรือเหมือนอย่างฝั่งทั้ง ๒ ด้านของมหาสมุทร” มนุษย์กินคนนั้นได้ฟังแล้วก็เกิดเลื่อมใส ปล่อยพระองค์และผู้จับไว้ทั้งหมด ทั้งได้รับโอวาทของพระองค์เลิกบริโภคเนื้อมนุษย์ตั้งแต่นั้นมา

เรื่องนี้แสดงถึงการรักษาสัจจวาจา ดังที่ได้กล่าวมาในการบำเพ็ญสัจจบารมีชั้นสามัญและชั้นกลาง ทั้งเป็นการแสวงหาธัมมะซึ่งเป็นตัวความจริงและปฏิบัติจริงในธัมมะนั้น พระโพธิสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญบารมี ได้ทรงแสวงหาความจริงยิ่งขึ้นทุกทีจนถึงได้ตรัสรู้ คือทรงพบสัจจะอย่างยิ่งดังกล่าว สัจจะในชั้นที่กล่าวว่าเป็นชั้นสูง หมายความว่าสูงกว่าอีก ๒ ชั้นข้างต้นนั้นเพราะละเอียดกว่า ไม่ใช่หมายความว่าสูงสุดที่จะปฏิบัติ ทุกคนต้องอาศัยสัจจะนี้อยู่ ดังจะพึงเห็นได้ว่า ทุกคนต้องการทราบความจริงของเรื่องทั้งหลาย และก็มีความไม่จริงปกปิดความจริงอยู่ สิ่งปกปิดที่สำคัญคือโมหะ ความหลงมัวเมาประมาทที่เกิดจากเครื่องชักจูงใจทั้งหลาย จึงทำให้แสวงหาสิ่งที่ไม่จริงมาปิดบัง ฉะนั้น การที่จะพบความจริงได้ จึงอยู่ที่การชำระจิตใจให้สะอาดพอสมควร เครื่องชำระก็มีแต่ธัมมะเท่านั้น เมื่อได้พบความจริง กุศลคือความดีทั้งหลายก็จะอยู่แค่เอื้อมถึง ผลักดับอกุศลออกไปไกล จะได้ประสบรสจองสัจจะว่าล้ำเลิศ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า สจฺจํ หเว สาธุตรํ รสานํ แปลความว่า “สัจจะและเป็นรสที่ให้สำเร็จประโยชน์กว่ารสทั้งหลาย” การบำเพ็ญสัจจะในการแสดงหาความจริง เป็นสัจจะชั้นสูง และเมื่อได้พบ ปรมัตถสัจจะ ย่อมเป็น ปรมัตถบารมี เต็มบริบูรณ์ สัจจธรรมนี้เมื่อได้สนใจปฏิบัติอบรม ให้เป็นให้มีเป็นบารมีธรรมสำหรับตน ย่อมจะอำนวยความสุขความเจริญสวัสดีได้ในที่ทั้งปวง

ชาดกที่แสดงสัจจบารมี

ในทศชาติชาดก ท่านจัดวิธุรบัณฑิตเป็นชาดกที่แสดงสัจจบารมี มีเรื่องย่อว่า วิธุรบัณฑิตเป็นปราชญ์ของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ ผู้ครองเมืองอินทปัตถ เป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม แสดงเนื้อความได้ไพเราะเป็นที่นับถือของคนทั่วไป และเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชยิ่งนัก วันหนึ่งสักกเทวราช วรุณราชและพระยาครุฑพากันมารวมกันรักษาอุโบสถศีลที่เมืองอินทปัตถ และได้สนนทนากันถึงเรื่องศีลที่ประเสริฐสุด โดยต่างก็อ้างว่า ศีลที่ตนรักษาอยู่นั้นประเสริฐสุด วิธุรบัณฑิตก็ถวายข้อคิดเห็นว่า สิ่งที่นรชนควรยึดถือว่าเป็นศีลที่ประเสริฐสุดนั้นคือความสงบ กษัตริย์ทั้ง ๔ พระองค์ก็พอพระหฤทัยในข้อคิดของวิธุรบัณฑิต ส่วนพระวรุณนาคราชนั้นเมื่อกลับไปยังนครของตนแล้ว ก็เล่าความปลาดเปรื่องของวิธุรบัณฑิตในพระนางวิมาลาเทวีมเหสีของตนฟัง พระนางวิมาลาเทวีเมื่อได้ฟังก็เกิดอยากจะฟังการแสดงธรรมของวิธุรบัณฑิต แต่ไม่กล้าบอกให้สวามีทราบ จึงทำอุบายเป็นประชวร แล้วบอกว่าต้องรักษาด้วยหัวใจของวิธุรบัณฑิตจึงจะหาย พระวรุณนาคราชก็จนปัญญาที่จะกระทำตามได้ แต่นางอิรันทตีรับอาสาว่านางจะช่วยโดยจะยอมเป็นภรรยาของผู้ที่สามารถนำหัวใจของวิธุรบัณฑิตมาให้ได้ ปุณณกยักษ์เกิดหลงใหลในความงามของนางอิรันทตี ก็รับอาสาว่าจะไปเอามาให้ จึงได้ไปที่เมืองอินทปัตถ ท้าพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชเล่นสกา เมื่อพระเจ้าธนัญชัยโกรพยราชทรงแพ้ ก็ขอเอาตัวของวิธุรบัณฑิตไปเป็นค่าพนัน และได้นำไปถวายพระวรุณนาคราช วิธุรบัณฑิตก็ได้แสดงธรรมแก่ทั้ง ๒ พระองค์จนเป็นที่พอพระทัย ได้โปรดรางวัลอีกเป็นอันมาก แล้วก็กลับอินทปัตถนคร เรื่องนี้แสดงถึงวิธุรบัณฑิตว่า เป็นผู้รักษาสัจจะที่เป็นชั้นสามัญและชั้นกลาง เป็นผู้รู้และแสวงหาสัจจะที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรมยิ่งๆ ขึ้น

สัจจะ ๓ ชั้น

อนึ่ง ท่านอุปมาสัจจะว่า เหมือนอย่างดาวประจำรุ่งไม่คลาดวิถี เที่ยงตรงอยู่ทุกฤดูกาล และแบ่งออกมาเป็น ๓ ชั้นดังที่แสดงมา แต่อธิบายว่า

หนึ่ง สัจจบารมี ผู้บำเพ็ญมีนิสัยหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าคนที่รักและทรัพย์สิน แม้จะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่คนที่รักหรือทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจหาให้ใช้กโลบายเล่ห์กระเท่ห์ และเงื่อนงำอำพรางถึงกับเสียสัตย์ได้ ก็ไม่ยอมเสียสัตย์เพราะเห็นแก่คนที่รักและทรัพย์สิน มีพระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าเรื่องอดีตจริยาครั้งเป็นพระยาปลาว่า เราพระยาปลาอยู่ในสระใหญ่ น้ำแห้งขอด เพราะแสงแดดเผาในฤดูร้อน กาแร้งนกกระสานกตะกรุม และเหยี่ยวมาคอยจับกินปลา เราพระยาปลากับหมู่ญาติถูกบีบคั้น จึงนึกถึงธรรมของสัตตบุรุษคิดถึงการไม่เคยเบียดเบียนสัตว์ ได้ทำสัจจกิริยาว่า ตั้งแต่เราพระยาปลารู้ความมาจนบัดนี้ ไม่รู้สึกว่าแกล้งเบียดเบียนสัตว์แม้ตัวหนึ่ง ด้วยสัจจวาจานี้ขอเมฆคือฝนห่าใหญ่จงตก จงเปล่งสายฟ้าคำรามให้ฝนตก ทำขุมทรัพย์ของกาให้พินาศ ให้กาต้องเดือดร้อนด้วยความโศก ปลดเปลื้องฝูงปลาจากความโศก พร้อมกับเรา พระยาปลาทำสัจจกิริยานี่เอง เมฆส่งเสียงสนั่นครั่นครื้น ยังฝนให้ตกลงครู่เดียวเต็มเปี่ยมทั้งที่ลุ่มและที่ดอน เมื่อเราพระยาปลาทำความสัตย์ อาศัยกำลังอานุภาพของความสัตย์เห็นปานนี้ จึงยังในให้ตกห่าใหญ่ ผู้เสมอเราพระยาปลาด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี้คือสัจจบารมีของเราพระยาปลา

สอง สัจจอุปบารมี ผู้บำเพ็ญมีนิสัยหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าอวัยวะร่างกายของตน แม้จะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่อวัยวะร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งซึ่งอาจชักให้ใช้กโลบายเล่ห์กระเท่ห์ และเงื่อนงำอำพรางถึงกับเสียสัตย์ ก็ไม่ยอมเสียสัตย์เพราะเห็นแก่อวัยวะร่างกายของตน ได้มีพระพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าถึงอดีตจริยาว่า ครั้งเราเป็นพระยาวานรที่อยู่ซอกเขาใกล้ฝั่งแม่น้ำ ถูกจระเข้เบียดเบียนไปไม่ได้ จระเข้มันอยู่ที่ซึ่งเราพระยาวานรเคยยืนอยู่ โดยจากฝั่งนี้ไปฝั่งโน้น มันกล่าวกับเราพระยาวานรว่ามาซิ แม้เราพระยาวานรก็บอกมันว่าจะมา และโดดลงเหยียบศีรษะของมัน แล้วโดดไปยืนอยู่ที่ฝั่งโน้น เราพระยาวานรไม่ทำตามคำหลอกลวงของจระเข้นั้นหามิได้ ผู้เสมอเราพระยาวานรด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี่คือสัจจบารมีของเราพระยาวานร

สาม สัจจปรมัตถบารมี ผู้บำเพ็ญมีนิสัยหนักแน่นแน่นอน รักพระโพธิญาณยิ่งกว่าชีวิตของตน แม้จะมีอันตรายเกิดขึ้นแก่ชีวิต ซึ่งอาจนำให้คิดใช้กโลบายเล่ห์กระเท่ห์และเงื่อนงำอำพรางถึงกับทำลายสัตย์ได้ ก็ไม่ยอมเสียสัตย์เพราะเห็นแก่ชีวิตถือเสียว่าเสียชีพดีกว่าเสียสัตย์ ยอมเอาชีวิตแบกความสัตย์เข้าเผชิญกับมรณภัย พึงเห็นในพุทธดำรัสที่ตรัสเล่าเรื่องอดีตจริยาครั้งเป็นพระเจ้าสุตโสมถูกจับว่า เราพระเจ้าสุตโสมยอมรักษาสัจจวาจา ยอมสละชีวิตเข้าไปหาพระยาโปริสาทซึ่งเป็นมนุษย์กินคน ผู้เสมอเราด้วยความสัตย์เป็นไม่มี นี้คือสัจจบารมีของเราพระเจ้าสุตโสม ดั่งนี้

อำนาจของสัจจวาจา

อันการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดีก็ตามชั่วก็ตาม และเมื่อถึงวาระที่คับขันก็อ้างสิ่งที่ตนประพฤตินั้นตามเป็นจริง ทำอันใดที่เป็นความชั่วก็บอกว่าได้ทำจริง ทำอันใดที่เป็นความจริงก็บอกไปตามจริงเป็นสัตย์ และก็อ้างคำสัตย์นี้ ขอให้ภัยอันตรายที่บังเกิดขึ้นสงบไปหายไป เมื่อได้อ้างสัจจวาจาดั่งนี้ ก็ได้มีเล่าไว้หลายเรื่องในอดีตว่าบังเกิดความสำเร็จ เป็นอำนาจของสัจจวาจา และแม้ในบทสวดมนต์ทุกวันนี้ ก็มีบทสวดมนต์ขอให้บังเกิดความสวัสดีด้วยอำนาจสัจจวาจา คือได้สวดเป็นบทแสดงสัจจะคือความจริง เช่นว่า

นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
พุทฺโธ เม สรณํ วรํ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
โสตฺถิ เต หรือ ขอความสวัสดีจงมีแกท่านทุกเมื่อ หรือ
โสตฺถิ เม โหตุ สพฺพทา ขอความสวัสดีจงมีข้าพเจ้าทุกเมื่อ
นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
ธมฺโม เม สรณํ วรํ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
โสตฺถิ เต หรือ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน
โสตฺถิ เม โหตุ สพฺพทา หรือว่า จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ
นตฺถิ เม สรณํ อญฺญํ ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี
สงฺโฆ เม สรณํ วรํ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า
เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้
โสตฺถิ เต หรือ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน
โสตฺถิ เม โหตุ สพฺพทา หรือว่า จงมีแก่ข้าพเจ้าทุกเมื่อ ดั่งนี้


๑๙ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 26 กันยายน 2554    
Last Update : 26 กันยายน 2554 22:32:13 น.
Counter : 988 Pageviews.  

ครั้งที่ ๒๙ ตบะ

ทศบารมี ทศพิธราชธรรม

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร
บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐


--------------------------------------------------------------



ตบะหมายถึงกุศลสมาทาน

จะแสดง ทศพิธราชธรรม ข้อที่ ๖ คือ ตปะ หรือ ตบะ

คำนี้คนไทยเราคงได้ยินกันอยู่เสมอ เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ที่เกี่ยวแก่ศาสนาพราหมณ์นั้น เช่นว่าฤษีบำเพ็ญตบะ คำว่า “ตบะ” นี้เราใช้เป็นภาษาไทย มาจากภาษาบาลีว่า ตปะ ตามศัพท์ก็แปลว่า เผาผลาญ ใช้เป็นกิริยา แปลว่าเดือดร้อนก็มี เช่นว่าทำกรรมชั่วย่อมเดือดร้อนเพราะว่ากรรมชั่วนั้นให้ผลเป็นทุกข์ มีลักษณะที่เผาผลาญความสุข เผาผลาญบุคคลผู้ทำให้เดือดร้อน และเมื่อมาใช้ในด้านของลัทธิศาสนาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธศาสนาอย่างเช่นฤษีบำเพ็ญตบะ ก็มีความหมายถึงทั้งที่ใช้วิธีแผดเผาภายนอก เช่นว่าเผาไม้เป็นการบูชา และในขณะเดียวกัน ก็เผากิเลสในใจลงไปด้วย ตามลัทธิที่ถือกันนั้นๆ มาถึงพุทธศาสนา ก็นำเอาคำนี้มาใช้ในความหมายว่าเผาผลาญเหมือนกัน แต่ว่าไม่ใช่เผาผลาญแบบก่อไฟเผา แต่ว่าเผาผลาญกิเลส อกุศลต่างๆ ในจิตใจ คือหมายถึงกุศลสมาทาน การสมาทาน คือถือปฏิบัติกิจที่เป็นกุศล อันเผาผลาญอกุศลวิตกบาปธรรม สมาทานวัตรคือถือปฏิบัติ วัตรคือข้อปฏิบัติตามแบบบัญญัติ อันเป็นอุบายอันจะสังหารอกุศลวิตกบาปธรรม แม้เพียงขณะหนึ่งสมัยหนึ่ง ก็เรียกว่าตบะ

ตบะหมายถึงความเพียร

และคำว่าตบะนี้ ยังมีใช้หมายถึงกุศลสมาทานอื่นๆ อีกเป็นอันมาก เช่นหมายถึงความเพียร และความเพียรนั้นก็ต้องมีลักษณะที่เผาผลาญ เช่นเผาผลาญความเกียจคร้านอันตรงกันข้ามกับความเพียร เผาผลาญกิเลสที่บังเกิดขึ้น เผาผลาญอกุศลบาปธรรมทั้งหลายดั่งที่กล่าวมาข้างต้น

ตบะหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้องและปรากฏผล

และแม้ในพราหมณสมัยคือลัทธิพราหมณ์เอง ก็ยังให้ความหมายของตบะนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่น “ก่อไฟเผากองกูณฑ์อัคคีบูชา” คือมาหมายถึงข้อที่ปฏิบัติถูกต้องตามหน้าที่ เช่นการปกครองประชาชน เป็นตบะของพระมหากษัตริย์ ในบัดนี้ก็เพิ่มว่า เป็นตบะของรัฐบาล มีคำเป็นคาถาหนึ่งแสดงว่า “พระอาทิตย์มีตบะส่องแสงในกลางวัน พระจันทร์มีตบะในกลางคืน” เป็นต้น

ผู้บำเพ็ญตบะ คือปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จด้วยดี ย่อมเป็นผู้มีตบะปรากฏเป็นผู้มีสง่าเป็นที่ยำเกรง ดังที่พูดกันว่า มีตบะเดชะ ส่วนผู้ที่ไม่ปฏิบัติให้สมกับหน้าที่ฐานะของตน ย่อมเป็นผู้ที่ไม่มีตบะอย่างนั้น ไม่ปรากฏเป็นผู้มีสง่า ไม่เป็นที่ยำเกรง มีภาษิตกล่าวไว้ใน มหาสุตโสมชาดก ว่า “พระราชาผู้เอาชนะผู้ที่ไม่ควรชนะไม่ชื่อว่าพระราชา เพื่อนเอาชนะเพื่อนไม่ชื่อว่าเพื่อน ภริยาผู้ไม่ยำเกรงสามีไม่ชื่อว่าภริยา บุตรผู้ไม่เลี้ยงมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าไม่ชื่อว่าบุตร สภาที่ไม่มีสัตตบุรุษคนดีไม่ชื่อว่าสภา ผู้ไม่พูดเป็นธรรมไม่ชื่อว่าสัตตบุรุษ ผู้ละ หรือสงบราคะ โทสะ โมหะ พูดเป็นธรรม ชื่อว่าสัตตบุรุษ” ในพราหมณสมัยดังที่กล่าวมาว่า พระอาทิตย์มีตบะส่องแสงสว่างในกลางวันเป็นต้นนั้น แสดงไว้โดยสมบูรณ์ว่า “ตบะของพราหมณ์คือการเล่าเรียนพระเวทที่ศักดิ์สิทธิ์ ตบะของกษัตริย์คือการคุ้มครองไพร่ฟ้าประชาชน ตบะของเวศะหรือไวศยะคือการทำบุญให้ทานแก่พราหมณ์ ตบะของศูทรคือการรับใช้ ตบะของฤษีคือการกินอาหารที่เป็นผัก”

อีกคาถาหนึ่งแสดงว่า “อาทิตย์มีตบะส่องแสงสว่างในกลางวัน จันทร์มีตบะในกลางคืน กษัตริย์ผู้ทรงเครื่องผูกสอดอาวุธอย่างเต็มที่แล้ว เป็นผู้มีตบะ พราหมณ์ผู้ที่เข้าฌานทีตบะ” และในคำท้ายก็มีแสดงว่า “พระพุทธเจ้ามีตบะทั้งกลางวันทั้งกลางคืน ด้วยพระเดชแห่งพระพุทธคุณทั้งปวง”

เพราะฉะนั้น คำว่าตบะนี้ในทางปฏิบัติ จึงมีความหมายถึงการปฏิบัติหน้าที่โดยถูกต้อง และการปฏิบัติหน้าที่นั้นให้บังเกิดผลปรากฏเป็นที่ยำเกรง ดังเช่นอาทิตย์มีตบะเวลากลางวัน อาทิตย์นั้นส่องแสงสว่างปรากฏ จันทร์มีตบะกลางคืน จันทร์ก็ส่องแสงเวลากลางคืนปรากฏ พระมหากษัตริย์ที่ผูกสอดพระขันธ์ศร ซึ่งเป็นอาวุธประจำพระองค์ ประจำพระราชอิสริยยศ มีตบะคือเป็นที่สง่าพึงยำเกรง พราหมณ์มีเข้าฌานมีตบะ พระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ทรงพระคุณ จึงปรากฏพระเดช ชื่อว่ามีตบะทั้งกลางวันทั้งกลางคืนด้วยพระคุณ เพราะฉะนั้น คำว่าตบะนี้จึงมีความหมายอันสำคัญ หมายถึงการที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง และให้เกิดผลปรากฏ และความที่มีคุณเป็นเครื่องยำเกรงปรากฏเป็นเดช เป็นที่ยำเกรง ไม่เป็นที่หมิ่นแคลน

การบำเพ็ญตบะต้องอาศัยความเพียร

และในการปฏิบัติให้บังเกิดตบะดังกล่าวนี้ จำต้องอาศัยวิริยะคือความเพียร เพราะฉะนั้น จึงมักจะแสดงอธิบายตบะด้วยวิริยะคือความเพียร ความเพียรในพุทธศาสนาก็คือความเป็นผู้กล้า ละความชั่ว กระทำความดีต่างๆ ข้อที่พระมหากษัตริย์ทรงพระวิริยะอุตสาหะ ใส่พระราชหฤทัยในการปกครองพระราชอาณาเขตและประชาชน ให้เกษมสุขปราศจากอันตราย มีพระตบะเดชะเป็นที่ยำเกรงแห่งบุคคลทั่วไป ไม่อาจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้ ทั้งทรงสมาทานกุศลวัตรทรมานพระกายพระกมล เพื่อระวังบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เสื่อมสูญ ไม่ตั้งอยู่ได้ ดั่งนี้จัดเป็นตปะ หรือเป็นตบะ

ตัวอย่างโครงการพระราชดำริอันนับว่าเป็นตบะ

ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงบำเพ็ญตบะที่เป็นความเพียรพยายาม ให้บังเกิดผลต่างๆ อันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติประชาชนเป็นอันมาก ดังเช่นโครงการหนึ่งที่ได้ทรงพระราชอุสาหะจัดขึ้นในพระราชวังสวนจิตรเอง หรือที่เรียกว่าพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีลักษณะที่เรียกว่าคล้ายๆ หมู่บ้านเล็กๆ ในใจกลางกรุงเทพมหานคร ในหมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งโครงการด้านการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม มีโรงพยาบาล มีโรงเรียน มีแม้กระทั่งโรงช้างเผือกอยู่ในนั้นด้วย ซึ่งชาวต่างประเทศมาเห็นก็รู้สึกชื่นชม และค่อนข้างจะประหลาดใจอยู่มาก โครงการแห่งนี้เป็นจุดสำคัญในการที่จะทำให้โครงการตามพระราชดำริต่างๆ ได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้องในทางวิชาการในระยะเริ่มแรก แล้วก็นำไปใช้ปฏิบัติในโครงการต่างๆ ที่เสด็จพระราชดำเนินออกไปช่วยประชาชนในชนบท โครงการต่างๆ เหล่านี้เริ่มมานานแล้ว ที่ปรากฏหลักฐานก็อย่างเช่นในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำแปลงปลูกต้นไม้ เรียกว่ายางนา ประมาณจำนวน ๑,๒๕๐ ต้น และได้โปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา ในลักษณะป่าสาธิต ก็เพราะเหตุว่าทรงพระปรีชาญาณเห็นการณ์ไกลว่า ป่าของเราเริ่มถูกทำลายในปีหนึ่งๆ มิใช่น้อย เพราะฉะนั้น ก็น่าจะทดลองปลูกต้นไม้ในสวนจิตร ว่าต้นไม้ใดสามารถที่จะปลูกและใช้นำไปปลูกที่อื่นได้ด้วย เท่ากับเป็นตัวอย่างที่จะให้ราษฎร์ชาวไทยได้ประพฤติปฏิบัติ คือส่งเสริมให้มีการปลูกป่า

และในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว จัดทำนาข้าวทดลองปลูกข้าวพันธุ์ต่างๆ และในภายหลังก็ได้ใช้ข้าวเปลือกที่ปลูกได้ส่วนหนึ่ง เป็นข้าวใช้ในพิธีพืชมงคลและในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กับแจกให้ชาวนาและเกษตรกร โดยใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ ก็ปรากฏว่าเป็นที่นิยม คล้ายๆ กับว่าเป็นข้าวที่นับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เป็นมงคลในการที่เขาจะนำไปปลูกในนาของเขา ในปีต่อๆ มาจากปี ๒๕๐๔ นั้น ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาแรกนา หลังจากทำพิธีที่สนามหลวงแล้ว เข้าไปหว่านข้าวในนาแปลงทดลองต่อท้ายงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ อันนี้ก็เป็นโอกาสที่จะมีรับสั่งพระราชทานพระราชดำริต่างๆ ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงเกษตร ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงนี้ ก็เพราะถืองานของกระทรวงเกษตรเป็นงานที่สำคัญทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เป็นอย่างมาก ก็แสดงถึงว่าได้ทรงมีความพากเพียรอันนับว่าเป็นตบะ ทำให้บังเกิดผลเป็นที่ยำเกรงในพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเพราะปรากฏว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

พระตบะเดชะในธรรมปฏิบัติ

ส่วนในทางศาสนานั้นก็ต้องกล่าวว่า ได้ทรงมีพระตบะในทางศาสนา คือทรงปฏิบัติในพระพุทธศาสนา เป็นการที่ได้ทรงควบคุมพระราชหฤทัยและพระวรกายให้ตั้งอยู่ในศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา ทรงปฏิบัติระงับอกุศลวิตกต่างๆ ที่บังเกิดขึ้น อันจะนำให้ปฏิบัติไปในทางที่ไม่ถูกไม่ชอบ ส่งเสริมให้บังเกิดกุศลวิตกตรึกตรองไปในทางที่ถูกที่ชอบ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกที่ชอบ ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาในพระราชพิธีต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังอยู่เป็นประจำ ปีหนึ่งๆ ก็มีเป็นจำนวนมากครั้ง และเมื่อถึงเวลาที่สมควร ก็ได้เสด็จออกทรงพระผนวช ทรงประพฤติพรตบำเพ็ญเนกขัมมะในพระพุทธศาสนาอยู่เป็นเวลาช่วง ๑๕ วัน นับเป็นพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีนี้ที่เสด็จออกทรงผนวชเมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วเป็นพระองค์ที่ ๒ พระองค์ที่ ๑ ก็คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช รัชกาลที่ ๕ ก็ได้เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติอยู่เป็นเวลา ๑๕ วัน แต่รัชกาลที่ ๕ นั้น พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประทับอยู่ในกุฏิพระราชตำหนักที่ได้สร้างขึ้นเป็นพิเศษ ในเขตวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งพระตำหนักทรงผนวชนั้น บัดนี้ก็ได้รื้อไปสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตร ส่วนในรัชกาลปัจจุบันนี้ พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาประทับอยู่ในวัด ในสำนักพระราชอุปัธยาจารย์ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรณาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหารนี้ตลอดเวลา ๑๕ วัน ได้ทรงปฏิบัติพระวินัย โดยเคร่งครัด ทรงปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ ของภิกษุ ทรงศึกษาพระธรรมวินัยจากพระอาจารย์ทุกวัน ทั้งได้เสด็จไปทรงนมัสการปูชนียสถานสำคัญในประเทศอีกหลายแห่ง แม้เมื่อทรงลาผนวชปริวัตร เสด็จทรงปฏิบัติพระราชกิจเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปแล้ว ก็ได้ทรงสนพระราชหฤทัยในธรรมปฏิบัติอยู่เป็นอันมาก แม้ในเวลาที่ประชวร ก็ได้ทราบว่าได้โปรดฟังเทปธัมมะอยู่เป็นประจำ เป็นการใช้ธัมมะรักษาพระราชหฤทัยให้สงบ ให้เข้าถึงธัมมะ จึงยังให้บังเกิดผลเป็นตบะในข้อนี้ คือเป็นธัมมะที่ใช้ขัดเกลาหรือแผดเผากิเลส ทำพระราชหฤทัยให้บริสุทธิ์สะอาด ทำให้เกิดพระราชวิริยะอุตสาหะต่างๆ อันเป็นความเพียร ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งที่เป็นไปตามโครงการพระราชดำริต่างๆ เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีหน้าที่ปกครองโดยธรรม คือทศพิธราชธรรมนี้อย่างไม่หยุดยั้ง จึงปรากฏเป็นตบะเดชะ เป็นตบะเดชะคือเป็นพระเดชที่บังเกิดขึ้นโดยพระคุณ พระคุณที่ปรากฏเป็นความเกื้อกูลแก่ประชาชนทั่วไป

พระบรมเดชานุภาพจากกุศลสมาทาน

เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงมีความพอใจ ในอันที่ถวายความจงรักภักดี ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลในกิจการนั้นๆ อยู่เป็นอันมาก เมื่อได้ทรงนำในกิจการอันใดแล้ว ก็ได้รับความร่วมมือจากประชาชน บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล หรือว่าโดยเสด็จในพระราชกิจนั้นๆ เป็นอันมาก ได้รับความร่วมมือจากข้อราชการทุกกรมกอง ได้รับความร่วมมือจากประชาชนต่างๆ แม้เมื่อเสด็จไปประทับที่นราธิวาสอันเป็นถิ่นไทยมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ก็ได้รับความร่วมมือจากหมู่ไทยมุสลิมนั้น และด้วยความที่เขามีความจงรักภักดี ดั่งนี้ จึงนำให้ชาวมุสลิมกับชาวพุทธได้มีความสัมพันธ์กันดียิ่งขึ้นในถิ่นเหล่านั้น ดังเช่นในคราวหนึ่งที่เสด็จไปที่วัดหนึ่งซึ่งเป็นวัดพุทธ ก็ได้มีชาวมุสลิมไปรับเสด็จในวัดนั้นเป็นอันมาก และพระสงฆ์พุทธนี้ก็สวดมนต์ทำน้ำมนต์ถวาย แล้วก็ถวายน้ำมนต์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยน้ำพระพุทธมนต์แกประชาชน ก็ได้ทรงโปรยน้ำพระพุทธมนต์ที่พระสงฆ์พุทธทำนี้เองแก่ประชาชนทั้งพุทธทั้งมุสลิม ยินดีรับทั่วกันหมด ไม่มีความรังเกียจ ถ้าหากว่าถ้าพระสงฆ์พุทธจะไปโปรยน้ำมนต์เองแล้วละก็ คงจะไปโปรยในหมู่ชาวมุสลิมไม่ได้ แต่สำหรับเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรยพระราชทานแล้ว เขาก็มารับพร้อมกันหมด ไม่มีความรังเกียจ และเสด็จไปที่ไหนก็ปลอดภัยอันตราย ดังที่ได้เล่าเรื่องหนึ่งแล้วเมื่อวันก่อนนี้ อันนี้แหละเป็น ตบะเดชะ หรือที่เรียกว่าเป็น พระบรมเดชานุภาพ อันบังเกิดขึ้นโดยพระคุณ ที่ทำให้คนทั้งปวงมีความไว้ใจ มีความเชื่อใจ เมื่อเขาบริจาคทรัพย์โดยเสด็จ เขาก็เชื่อใจว่า จะทรงใช้ทรัพย์ไปในทางที่ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน กลับคืนไปให้แก่ประชาชน ไม่ใช่ว่าจะทรงนำทรัพย์เขาไปใช้ในเรื่องอะไรเพื่อพระองค์เอง แต่นำไปใช้เพื่อประชาชน นำไปใช้เพื่อเป้าหมายในพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงกระทำนั้น อันนี้แหละเป็นตัวตบะเดชะ เป็นพระบรมเดชานุภาพที่บังเกิดขึ้นโดยพระคุณ ไม่ใช่บังเกิดขึ้นโดยการขู่เข็ญหรือการวางอำนาจซึ่งทำให้เขากลัวด้วย เขาเกลียดด้วย เขาแช่งชักด้วย แต่การที่ทรงปฏิบัตินี้ เป็นตบะเดชะที่เป็นกุศลสมาทาน ซึ่งทำให้บุคคลมีความเกรงกลัวด้วย มีความเคารพรักนับถือด้วย ไม่หมิ่นแคลน พระบรมเดชานุภาพหรือตบะเดชะดังกล่าวนี้ จึงได้มีอยู่ในพระองค์ ซึ่งเสด็จไปที่ไหนก็เป็นที่ยำเกรง เป็นที่รักเคารพและเป็นที่ยินดีต้อนรับว่าเป็นผู้ที่มาดีแล้ว ไม่ใช่มาร้าย มาดี พระเจ้าอยู่หัวไปที่ไหนก็เรียกว่ามาดีหรือไปดี ไม่ใช่ไปร้าย จึงเป็นที่ต้อนรับ เป็นที่ยินดีต้อนรับด้วยความชื่นบานแจ่มใสในที่ทุกสถาน เป็นพระบรมเดชานุภาพ เป็นตบะเดชะที่เกิดจากกุศลสมาทาน เกิดจากความดี

ตบะเป็นธรรมที่ทุกคนพึงปฏิบัติ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ทุกๆ คนพึงปฏิบัติตามหลักธรรมในทศพิธราชธรรมข้อตบะนี้ จะเป็นข้าราชการก็ตาม จะเป็นประชาชนก็ตาม จะเป็นคหบดีพ่อค้าชาวนาชาวสวนเป็นต้นก็ตาม ควรปฏิบัติในตบะธรรมข้อนี้คือเพียรเผากิเลส อันเป็นเหตุให้ก่อกรรม เบียดเบียนซึ่งกันและกันให้เดือดร้อน ส่งเสริมกุศลสมาทาน ถือปฏิบัติกระทำความดีนี่แหละให้มากขึ้น เกื้อกูลตัวเองด้วย ผู้อื่นด้วย ให้มีความสุขด้วยกัน ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้ ก็เป็นที่เคารพนับถือยำเกรงของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง ถ้าเป็นชาวบ้านด้วยกัน ถ้าเป็นข้าราชการก็ได้รับความนับถือจากประชาชน เพราะฉะนั้น ตบะข้อนี้จึงเป็นหลักธรรมที่พึงปฏิบัติได้ทั่วถึงกัน

ขันติบารมีและตบะมีความหมายถึงกันและเนื่องกัน

และสำหรับในทศพิธราชธรรมข้อนี้ คือตบะ ส่วนในทศบารมีนั้นคือขันติ แม้ว่าจะต่างกันโดยชื่อ แต่ว่าตบะกับขันตินั้นก็ย่อมเนื่องกัน เพราะจะบำเพ็ญตบะได้ก็ต้องมีขันติคือความอดทน และคำว่าตบะนี้ ย่อมหมายถึงขันติได้ด้วย ดังพระพุทธภาษิตใน โอวาทปาติโมกข์ ที่ตรัสไว้ว่า “ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ขันติคือความทนทาน เป็นตบะ คือธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง” เพราะว่าเมื่อกิเลสบังเกิดขึ้นแล้ว หากมีขันติคือความอดทนไว้ได้ กิเลสนั้นก็จะต้องดับไปในที่สุด เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “ขันติเป็นบรมตบะ คือธรรมเป็นเครื่องแผดเผากิเลสอย่างยิ่ง” ฉะนั้น แม้ในทศบารมีจะแสดงขันติเป็นข้อที่ ๖ ส่วนในทศพิธราชธรรมธรรมนี้แสดงตบะเป็นข้อที่ ๖ ก็มีความหมายถึงกันและเนื่องกันดังที่กล่าวมา

๑๘ กันยายน ๒๕๓๐

--------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้บรรยายแก่พระนวกะภิกษุ ในพรรษากาล ๒๕๓๐ รวมทั้งสิ้น ๓๘ ครั้ง วัดบวรนิเวศวิหารได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง ทศบารมี ทศพิธราชธรรม นี้ขึ้นขอพระราชทานถวายเฉลิมพระเกียรติ ในมหาอุดมมงคลวโรกาสพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช วันที่ ๒ - ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๓๑

คัดลอกจาก หนังสือทศบารมี ทศพิธราชธรรม ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชวนพิมพ์ ถนนพระสุเมรุ แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ




 

Create Date : 20 กันยายน 2554    
Last Update : 20 กันยายน 2554 8:48:48 น.
Counter : 2870 Pageviews.  

1  2  

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.