Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๑ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออาสวะ อวิชชา

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๑ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออาสวะ อวิชชา

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรในข้อสัมมาทิฏฐิมาโดยลำดับ จนถึงในข้อสุดท้ายซึ่งได้แสดงอธิบายข้อว่า เพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ และท่านก็ได้แสดงเหตุผลของธรรมะที่เป็นเหตุเกิดสืบเนื่องกันไปเหมือนดังลูกโซ่ โดยเฉพาะในข้อสุดท้ายนี้ เมื่อแสดงว่าเพราะอวิชชาเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ และเมื่อแสดงถึงเหตุปัจจัยที่สืบกันไปเหมือนดังลูกโซ่ ก็แสดงต่อไปว่า เพราะอาสวะเกิด จึงเกิดอวิชชา ก็เป็นอันว่าในหมวดสุดท้ายนี้อันเป็นยอดของปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จึงต่างเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันได้แก่ อวิชชาและอาสวะ หรือ อาสวะและอวิชชา

เมื่อท่านแสดงถึงอวิชชา ก็จะต้องมีปัญหาว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอวิชชา ท่านจึงแสดงว่า เพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชา
และมีปัญหาต่อไปอีกว่า เพราะอะไรเกิดจึงเกิดอาสวะ ท่านจึงแสดงว่า เพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดอาสวะ

ก็เป็นอันว่าอาสวะกับอวิชชานี้เป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน อันนับว่าเป็นเหตุปัจจัยสุดท้ายที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่จะแสดงสืบต่อขึ้นไปอีก และก็ได้แสดงอธิบายแล้วว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดอาสวะ หรือเพราะอวิชชาบังเกิดขึ้นจึงเกิดอาสวะ จึงจะได้แสดงในทางที่กลับกันอีกครั้งหนึ่งว่า เพราะอาสวะเกิดจึงเกิดอวิชชาหรือเพราะมีอาสวะจึงมีอวิชชาบังเกิดขึ้น

จิตไม่มีสรีระสัญฐาน

ในข้อนี้ก็พึงทำความเข้าใจไว้ก่อนข้อหนึ่งว่า บรรดาเหตุปัจจัยเหล่านี้ เหตุปัจจัยที่สุดยอดคืออวิชชากับอาสวะหรืออาสวะกับอวิชชา และเหตุปัจจัยที่สืบต่อกันไป รวมว่าทั้งหมดย่อมเป็นสิ่งที่เกิดได้เพิ่มเติมได้ และเป็นสิ่งที่ดับได้ จิตวิมุตติหลุดพ้นจากเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต เนื้อแท้หรือธรรมชาติของจิตนั้นเป็นสิ่งที่ประภัสสรคือผุดผ่อง และเป็นธาตุรู้ที่เรียกว่าวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ และจิตนี้ไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย แต่มีกายนี้เป็นที่อาศัยดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

อสรีรํ ไม่มีสรีระคือไม่มีร่างกาย ไม่ใช่วัตถุ
คูหาสยํ มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย

คูหาคือถ้ำนี้ พระอาจารย์ได้แสดงอธิบายคลุม ๆ ว่ากาย คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกายและจิตซึ่งอาศัยกันอยู่ กายนั้นเป็นวัตถุประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ที่แสดงไว้ก็คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งหมายถึงว่า

ส่วนที่แข้นแข็งในกายนี้ก็เรียกว่า ธาตุดิน
ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่า ธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่า ธาตุไฟ
ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่า ธาตุลม
และในบางพระสูตรยังเติมอีก ๑ ธาตุ คือ อากาศธาตุ ช่องว่าง คือบรรดาช่องว่างทั้งหลายในกายอันนี้ก็เรียกว่าอากาศธาตุ ธาตุคือช่องว่าง เป็นธาตุ ๕

แต่โดยมากแสดงไว้เพียงธาตุ ๔ เพราะอากาศธาตุคือช่องว่างนั้นไม่ใช่วัตถุ แต่ว่าเติมขึ้นอีกก็เพราะว่า ในกายนี้เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป ย่อมมีอากาศธาตุ คือช่องว่างอยู่เป็นอันมาก เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก และช่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนถึงทุกขุมขน และช่องว่างเหล่านี้เองทำให้แบ่งขอบเขตของอวัยวะร่างกายเป็นส่วน ๆ ออกไปได้ เช่นว่านิ้วทั้ง ๕ ของบุคคลมีช่องว่างอยู่ในระหว่างจึงได้แบ่งออกได้เป็น ๕ นิ้ว ถ้าไม่มีช่องว่างอยู่ในระหว่างก็จะต้องรวมกันเป็นพืดแบ่งออกเป็น ๕ นิ้วไม่ได้ ร่างกายเช่นแขนทั้ง ๒ ขาทั้ง ๒ และทุกส่วนก็ต้องมีช่องว่างอยู่ในระหว่าง ๆ ทั้งนั้น จึงแบ่งออกได้เป็นส่วน ๆ ตลอดจนถึงอวัยวะภายใน เช่น เส้นเอ็น ตับ ปอด หัวใจ เป็นต้น ต่างก็มีช่องว่างในระหว่าง ๆ จึงทำให้แบ่งออกเป็นส่วน ๆ ไปได้ และบรรดาช่องว่างอันนี้ถ้ายุบรวมเข้า ไม่ให้มีช่องว่างเลยแม้แต่น้อย ร่างกายของทุก ๆ คนที่ใหญ่โตอยู่เท่านี้จะเหลือเล็กนิดเดียว อย่างเช่นขนาดปลายไม้ขีด มีท่านหนึ่งแสดงว่าอย่างนี้ แต่ว่าที่ใหญ่โตปรากฏเป็นอาการต่าง ๆ ๓๑ หรือ ๓๒ เป็นต้น ก็เพราะมีช่องว่างอยู่เป็นอันมากเพราะฉะนั้น ในบางพระสูตรจึงได้ยกขึ้นเป็นอีกธาตุอันหนึ่ง เรียกว่าอากาศธาตุ ธาตุคือช่องว่าง นี้เป็นส่วนกายซึ่งมีสรีระ รูปร่างสัณฐานทรวดทรง

จิตเป็นธาตุรู้

แต่ว่าจิตไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างกาย แต่ว่ามีคูหาเป็นที่อาศัย ที่ท่านอธิบายว่าก็คือมีกายนี้เป็นที่อาศัย จึงมีปัญหาว่าถ้าจิตไม่มีสรีระสัณฐาน มองเห็นไม่ได้จับต้องไม่ได้ก็จะรู้ได้อย่างไรว่ามีจิต ก็ตอบได้ว่ารู้ได้ที่ความรู้ เพราะจิตนี้เป็นธาตุรู้อะไร ๆ ได้ หากจะถามว่าจิตอยู่ที่ไหน ก็ตอบได้ว่า จิตอยู่ที่ตัวรู้ รู้อยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น และจิตนี้เพราะเป็นธาตุรู้และไม่มีสรีระสัณฐาน จึงกำหนดได้ที่ตัวรู้หรือที่ความรู้ที่ทุก ๆ คนมีอยู่ดังกล่าว และนอกจากนี้ทุกคนก็รู้จิตใจของตัวเองได้ว่าจิตเป็นอย่างไร ตั้งต้นแต่จิตคิดอะไร ดำริอะไร ทุกคนก็รู้จิตของตัวเอง และเมื่อจิตคิดอะไรรู้อะไรแล้ว จิตชอบอะไร ชังอะไร อยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร หรือว่ายินดีอะไรยินร้ายอะไร หลงใหลอะไร ทุกคนก็รู้ และโดยที่จิตนี้เป็นธาตุรู้ ทุกคนจึงเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นไปได้ดั่งที่ทุก ๆ คนเรียนกันอยู่ ตั้งต้นแต่ขั้นอนุบาล ขั้นประถม ขั้นมัธยม ขั้นอุดม ตามหลักสูตรต่าง ๆ แต่ว่าเมื่อเรียนรู้อะไร ๆ สิ่งที่รู้นั้นก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน จะบอกว่าความรู้ที่เรียนนั้นกว้างเท่าไร ยาวเท่าไร ใหญ่เท่าไร เหมือนอย่างวัตถุ เช่นว่าตึกรามบ้านช่องใหญ่เล็กหนึ่งชั้น สองชั้น สามชั้น กี่ห้อง อะไรเป็นต้น จะเอามาแสดงความรู้ที่เรียนหรือที่รู้ว่ากว้างเท่านั้นยาวเท่านี้ใหญ่เท่านั้นนี้หาได้ไม่ ความรู้ที่เรียนกันมาก็ไม่มีสรีระสัณฐานอีกเช่นเดียวกัน แต่ว่าความรู้ทั้งหมดนี้ก็เก็บอยู่ที่จิตอันนี้ และจิตอันนี้เมื่อปฏิบัติทางสมาธิได้อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ดังเช่นพระพุทธเจ้าก่อนจะตรัสรู้ทรงได้อัปปนาสมาธิ ก็ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ระลึกชาติได้ ระลึกชาติในหนหลังได้ว่าทรงเกิดเป็นอะไร มีชื่อมีนามสกุลหรือโคตรอย่างไร มีสุขมีทุกข์อย่างไรเป็นต้น เป็นอันมาก อันแสดงว่าจิตนี้เป็นที่เก็บสิ่งที่ประสบพบผ่านไว้ทั้งหมด เก็บอยู่ในจิตที่ขอยืมคำมาพูดว่าจิต ส่วนลึกหรือที่พบกันในบัดนี้เรียกกันว่าจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้น เมื่อทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิรู้ถึงจิตใต้สำนึกหรือจิตส่วนลึกนี้ได้ สิ่งที่เก็บไว้ในจิตส่วนลึกก็ปรากฏเป็นความรู้ขึ้นมา ดังความรู้ระลึกชาติได้ของพระพุทธเจ้า

จิตเก็บบารมีและอาสวะ

และจิตนี้เองก็ยังเก็บดีเก็บชั่วไว้อีกด้วย เมื่อทำดี กิริยาที่ทำนั้นทำแล้วก็เสร็จกันไปเป็นคราว ๆ แต่ว่าความดีที่ทำไว้นั้นก็ยังเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก เรียกว่า บารมี เก็บดี ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หายไปไหน แม้ว่ากิริยาที่ทำเสร็จไปเป็นคราว ๆ แต่ว่าความดีที่ทำนั้นก็ยังเก็บไว้ในจิตส่วนลึก

ทำชั่วก็เหมือนกัน เมื่อทำชั่วทางกายทางวาจาทางใจอะไรไว้ ทำไปแล้วความชั่วก็ยังเก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึก ก็เป็น อาสวะ ดองจิตสันดาน

เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงมีทั้งส่วนดีที่เป็นบารมี ทั้งส่วนชั่วที่เรียกว่าอาสวะ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ลึกเข้าที่จิตของพระองค์เองจนทรงพบอาสวะ จึงได้ตรัสรู้และก็ได้ตรัสแสดงสั่งสอนเอาไว้เป็น

กามาสวะ อาสวะคือกาม
ภวาสวะ อาสวะคือภพ
อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

ก็เป็นอันว่าใจจิตของบุคคลทั่วไปมีกามเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก คือความใคร่ความปรารถนา ต้องการพร้อมกับสิ่งที่ใคร่ สิ่งที่ปรารถนา สิ่งที่ต้องการ มีภวาสวะ อาสวะคือภพ ความเป็น คือเป็นเราเป็นของเราเป็นนั้นเป็นนี่เก็บอยู่ในจิตส่วนลึก มีอวิชชาสวะ อาสวะ คืออวิชชาซึ่งเป็นตัวไม่รู้ อันหมายถึงว่ารู้ที่เป็นรู้หลงรู้จิต ก็เหมือนอย่างไม่รู้ ก็คือไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น เป็นตัวอวิชชาเก็บอยู่ในจิตส่วนลึก นี้เป็นส่วนอาสวะ

อาสวะทำให้เกิดกาม เกิดภพ และเกิดอวิชชา

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นอะไรทางตา ได้ยินอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้องทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ได้คิดเรื่องอะไรต่าง ๆ ทางใจ ตัวกามซึ่งเก็บอยู่ในจิตส่วนลึกนั้นจึงโผล่ขึ้นมา ปรากฏเป็นความรักใคร่ปรารถนา พอใจในรูปเสียงเป็นต้นที่ประสบพบผ่านนั้น เป็นฝ่าย ราคะ หรือ โลภะ หรือว่าฝ่ายความยินดี

แต่ว่าถ้าขัดกับกามที่เก็บไว้ในจิตใจส่วนลึกนี้ก็เป็น ปฏิฆะ คือความกระทบกระทั่งอันเป็นมูลของโกธะ ความโกรธ โทสะ ความประทุษร้ายใจ พยาบาท ความมุ่งร้ายต่าง ๆ อันเป็นกองโทสะ

และ ภวาสวะ อาสวะคือภพ คือตัวเราของเราก็โผล่ขึ้นมาเป็นตัวเราเป็นนั่นเป็นนี่เป็นของเราในสิ่งนั้นในสิ่งนี้

อวิชชาสวะ อวิชชาคือตัวความไม่รู้ ก็โผล่ขึ้นเป็นความรู้ที่หลงรู้ผิด คือว่าไม่เห็นทุกข์ไม่เห็นเหตุเกิดทุกข์ ไม่เห็นความดับทุกข์ ไม่เห็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ แต่เห็นตรงกันข้าม เห็นทุกข์นั้นว่าเป็นสุข เห็นเหตุเกิดทุกข์คือตัณหานั้นว่า เป็นตัวความเพลิดเพลินยินดีสนุกสนาน ความรักใคร่พอใจ เห็นตรงกันข้ามกับอริยสัจ นี้เป็นตัวอวิชชา

อวิชชาตกตะกอนในจิตเพราะอาสวะ

เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาเป็นกาม เป็นภพ เป็นอวิชชา ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ สิ่งถูกต้อง ในเรื่องราวที่ประสบพบผ่านทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อยู่เป็นปกติ จึงเป็นอวิชชาคือความไม่รู้จริง หรือความไม่รู้ที่เป็นความรู้จริง แต่ว่าเป็นความรู้ความเห็น ว่าน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง ไม่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจบ้าง น่าเพลิดเพลินยินดีบ้าง เห็นทุกข์ว่าเป็นสุข เห็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์คือตัณหาว่าเป็นสิ่งที่น่าเพลิดเพลินยินดี เป็นตัวความสนุกสนาน ความติดใจยินดี จึงติดใจยินดีอยู่ในตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์และในตัวทุกข์ ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ตามที่เป็นจริง ไม่เห็นอนิจจัง ไม่เห็นทุกขัง ไม่เห็นอนัตตา แต่เห็นว่าเที่ยง เห็นว่าเป็นสุข เห็นว่าเป็นตัวเราของเรา ความรู้ความเห็นดั่งนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิต่อองค์มรรค เป็นอวิชชา คือตัวความไม่รู้เป็นโมหะ คือความหลง เพราะฉะนั้น เมื่ออาสวะโผล่ขึ้นมาในอารมณ์ คือเรื่องทั้งหลายที่ประสบพบผ่านอยู่เป็นปกติดั่งนี้ ความรู้ความเห็น จึงเป็นอวิชชาไปหมด ไม่เห็นอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเอาไว้ เห็นตรงกันข้าม เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงได้เพิ่มมากขึ้น ตกตะกอนลงในจิตส่วนลึกเพิ่มขึ้น ๆ อาสวะ จึงเป็นเหตุให้เกิดอวิชชาดั่งนี้ คือเมื่ออาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น

ปฏิบัติเพิ่มวิชชาเพื่อละอวิชชา

เป็นอันว่าอาสวะเกิดขึ้น อวิชชาก็เกิดขึ้น และก็ลงไปเพิ่มเติมอวิชชา ซึ่งเป็นอวิชชาสวะ อันเป็นข้อสำคัญนั้นให้มากขึ้น แต่ว่าเมื่อบารมีโผล่ขึ้นมา คือความดีที่ได้กระทำเอาไว้เก็บเอาไว้ในจิตส่วนลึกโผล่ขึ้นมา ดังบุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุก ๆ คนนี้ก็กล่าวได้ว่าบารมีให้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็คือตัวปัญญาหรือตัววิชชานั้นเอง ซึ่งเป็นตัวความรู้ความฉลาดรู้ถูกต้อง ตั้งต้นแต่รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ดั่งที่สามัญชนรู้กันอยู่ เมื่อประสบอารมณ์ทางตาทางหูเป็นต้น บารมีโผล่ขึ้นมา ทั้งได้ฟังได้สดับคำสอนของพระอริยะทั้งหลาย โดยตรงคือของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนเอาไว้ ชี้ให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ปฏิบัติกำหนดพิจารณารู้ว่า

สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยินเป็นต้น เหล่านั้นเป็นตัวทุกข์ คืออนิจจะไม่เที่ยง เกิดดับเป็นทุกข์ คือต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไม่ตั้งอยู่คงที่ บังคับไม่ได้ คือบังคับให้เป็นไปตามปรารถนาต้องการไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ไม่ใช่ตัวเราของเรา มองเห็นตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจว่าเป็นตัวสมุทัย เห็นความดับตัณหาว่า เป็นตัวดับทุกข์ เห็นมรรคมีองค์ ๘ ย่นลงในศีลสมาธิปัญญาว่าเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังนี้

ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติเพิ่มวิชชา ผ่อนคลายอวิชชาให้น้อยลง วิชชาคือความรู้ก็ลงไปเพิ่มบารมีส่วนดีในจิตส่วนลึกนี้ให้มากขึ้น

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๘ มีนาคม ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 09 กันยายน 2555
Last Update : 9 กันยายน 2555 11:27:25 น. 0 comments
Counter : 856 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.