Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๔ ปฏิจจสมุปบาท ข้อสังขาร วิญญาณ

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๔ ปฏิจจสมุปบาท ข้อสังขาร วิญญาณ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงอธิบายข้อสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ตามพระเถราธิบายของท่าน พระสารีบุตรมาโดยลำดับ พระเถราธิบายของท่านนั้นก็ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิ จับตั้งแต่เบื้องต้นและเลื่อนขึ้นสู่ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท นับแต่ชรามรณะ มีเพราะชาติสืบไปจนถึงอวิชชาอาสวะแต่ละข้อก็แจกออกเป็น ๔ ตามหลักอริยสัจทั้ง ๔ และในการอธิบาย ก็ได้อธิบายในข้อที่ ๑ ของแต่ละหมวด เมื่อจบแล้วก็ได้จับอธิบายในข้อที่ ๒ ของแต่ละหมวด คือเป็นปัจจัยให้บังเกิดกันขึ้นได้อย่างไร จับแต่เพราะอาสวะบังเกิดขึ้นอวิชชาจึงเกิดอย่างไร เพราะอวิชชาบังเกิดขึ้นอาสวะจึงเกิดอย่างไร อันนับว่าเป็นการแสดงอริยสัจสายสมุทัยที่สุดยอด จับอาสวะและอวิชชาหรืออวิชชาและอาสวะเป็นสุดยอดขอสายสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และก็แสดงถอยลงมาว่าเพราะอวิชชาเกิดสังขารเกิดขึ้นอย่างไร

จึงมาถึงในข้อว่า เพราะสังขารเกิดวิญญาณจึงเกิด

ธาตุ ๕ ผสมปรุงแต่งขึ้นเป็นสังขาร

สังขาร นั้นก็ได้แสดงอธิบายแล้ว กล่าวรวม ๆ ก็ได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่ง ซึ่งตามพระเถราธิบายก็ได้ยกเอา

กายสังขาร เครื่องปรุงแต่งกาย อันได้แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก
วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งวาจา ก็ได้แก่วิตกวิจาร ความตรึกความตรอง
จิตตสังขาร เครื่องปรุงจิต ก็ได้แก่สัญญาเวทนา

อาศัยสังขารทั้ง ๓ นี้ จึงมีการทำบุญทำบาป มีการปฏิบัติสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิได้

ทำบุญเรียกว่า ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ
ทำบาปก็เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบาปที่ไม่ใช่บุญ
ทำสมาธิจนถึงอัปปนาสมาธิก็เรียกว่า อเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว

และก็ได้แสดงแล้วว่า กายและใจนี้ของทุกคนซึ่งรวมเรียกว่าอัตภาพนี้เป็นสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่ง ต้องมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดเวลาหยุดไม่ได้ ชีวิตจึงดำรงอยู่ และการที่จะเข้าใจในข้อว่าเพราะสังขารเกิดขึ้นวิญญาณจึงเกิด หรือเพราะสังขารเป็นปัจจัยวิญญาณจึงเกิดขึ้น ดังที่ได้แสดงถึงชาติกำเนิดของสัตว์ บุคคลซึ่งมีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ว่า บุรุษบุคคลนี้มีธาตุ ๖ คือ ปฐวีธาตุ ธาตุดิน อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เตโชธาตุ ธาตุไฟ วาโยธาตุ ธาตุลม อากาศธาตุ ธาตุอากาศ และวิญญาณธาตุ ธาตุวิญญาณ ซึ่งแปลกันว่า ธาตุรู้

ธาตุ ๕ ข้างต้น คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมธาตุอากาศ คือช่องว่าง เป็นรูปธาตุ ธาตุที่เป็นส่วนรูป ไม่มีความรู้อยู่ในตัว หรือเรียกว่าเป็นส่วนที่เป็นวัตถุ

วิญญาณธาตุเข้ามาประกอบกับธาตุ ๕ เป็นสัตว์บุคคล

เมื่อธาตุทั้ง ๕ นี้มาเป็นสังขารคือผสมปรุงแต่งกันขึ้น ดังที่มีพระบาลีแสดงไว้ถึงความเกิดขึ้นของบุคคลในครรภ์ของมารดาว่าเริ่มตั้งต้นแต่เป็นกลละ ซึ่งเปรียบเหมือนเป็นหยดน้ำที่ละเอียดที่สุดติดอยู่ที่ปลายขนทราย ซึ่งในกลละนี้ก็กล่าวได้ว่า ธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลมธาตุอากาศได้รวมกันอยู่วิญญาณจึงลงปฏิสนธิ อันเรียกว่า ปฏิสนธิวิญญาณ ก็คือธาตุรู้

วิญญาณธาตุ ธาตุรู้ เข้ามาประกอบ เริ่มเป็นสัตว์บุคคล เพราะว่าจะเป็นบุคคลชายหญิง ก็ต้องประกอบด้วยธาตุทั้ง ๖ คือต้องมีวิญญาณธาตุ ธาตุรู้เข้ามาประกอบด้วย และวิญญาณธาตุ ธาตุรู้ นี้ก็เข้าสู่ปฏิสนธิในครรภ์มารดา ในเมื่อธาตุทั้ง ๕ ประกอบกันพร้อมเป็นสังขาร คือผสมปรุงแต่ง วิญญาณจึงเข้าปฏิสนธิ ซึ่งมีพระบาลีเรียกว่า คันธัพพะ (ดูเชิงอรรถ ๑) คนธรรพ์ หมายถึงสัตว์ที่จะบังเกิดก็เข้าสู่ครรภ์ ก็คือปฏิสนธิวิญญาณนั้นเอง

เกิดวิถีวิญญาณหรือวิญญาณ ๖ เพราะสังขาร

เพราะฉะนั้น เพราะสังขารคือส่วนผสมปรุงแต่งนี้เกิด วิญญาณจึงเกิดมาตั้งแต่เบื้องต้นดังนี้ และแม้เมื่อก่อเกิดเป็นบุคคลชายหญิง มีธาตุ ๖ ดังกล่าวสมบูรณ์ โดยลำดับตั้งแต่ในครรภ์ของมารดาจนถึงเมื่อคลอดออกมาแล้ว กายใจอันนี้ก็ต้องผสมปรุงแต่งกันอยู่เป็นกายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร วิญญาณจึงบังเกิดขึ้น วิญญาณที่บังเกิดขึ้นถัดมาจากปฏิสนธิวิญญาณก็เป็นวิถีวิญญาณ ก็คือวิญญาณ ๖

รู้ทางตาคือเห็นรูปเรียกว่า จักษุวิญญาณ
รู้ทางหูคือได้ยินเสียงก็เรียกว่า โสตวิญญาณ
รู้ทางจมูกทางลิ้นทางกายก็เรียกว่า ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
รู้ทางมโนคือใจซึ่งเรื่องราวทั้งหลายที่ใจคิดใจรู้ก็เรียกว่า มโนวิญญาณ

เกิดกายสังขาร เกิดวิญญาณ

แม้วิถีวิญญาณดังกล่าวนี้จะบังเกิดขึ้นก็ต้องอาศัยกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขาร ปรุงแต่งกันอยู่ วิญญาณจึงเกิดได้ ดังจะพึงเห็นได้ว่า กายสังขาร เครื่องปรุงกาย ได้แก่ ลมหายใจเข้าออก ซึ่งต้องหายใจเข้าออกกันอยู่ตลอดเวลาหยุดไม่ได้

ดับกายสังขาร ดับวิญญาณ

เมื่อเป็นดั่งนี้ วิญญาณจึงเกิดขึ้นได้ตามวิถีคือทางตาทางหูเป็นต้นดังที่กล่าวมาแล้ว ถ้าหากว่าดับลมหายใจเข้าออก กายนี้แตกสลายวิญญาณก็ดับ ชีวิตนี้ย่อมมีความตายเป็นที่สุดเหมือนกันหมด ก็คือว่าจะต้องถึงเวลาหนึ่งซึ่งจะต้องหยุดหายใจ ที่เรียกว่าตายหรือสิ้นชีวิต ก็แปลว่าดับกายสังขาร ดับลมหายใจเข้าออก วิญญาณก็ดับไม่เกิด ดังที่ได้มีพระพุทธภาษิตแสดงเอาไว้ว่า

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวึ อธิเสสฺสติ ไม่นานหนอกายนี้จักนอนทับแผ่นดิน
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ มีวิญญาณไปปราศแล้วคือปราศจากวิญญาณต้องถูกทอดทิ้ง
นิรตฺถํ ว กลิงฺครํ เหมือนอย่างท่อนไม้ท่อนฟืนไม่มีประโยชน์

เกิดวจีสังขาร เกิดวิญญาณ

และแม้วจีสังขาร เครื่องปรุงแต่งกาย วิตกวิจารไม่เกิดขึ้น คือเมื่อไม่คิดไม่นึก ไม่ตรึกไม่ตรองถึงเรื่องอะไร วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น ต่อเมื่อตรึกตรองคิดนึกถึงเรื่องอันใด วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องอันนั้น เพราะฉะนั้น เมือความตรึกความตรองความคิดความนึกดับ วิญญาณก็ดับ เมื่อความตรึกความตรองคิดนึกบังเกิดขึ้น วิญญาณก็เกิดขึ้นในเรื่องที่ตรึกตรองคิดนึกนั้น

เกิดจิตตสังขาร เกิดวิญญาณ

แม้จิตตสังขารคือสัญญาเวทนาก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีสัญญาเวทนา จิตจึงจะคิดนึกตรึกตรอง วิญญาณจึงเกิดขึ้นในเรื่องที่จิตคิดนึกตรึกตรองนั้น เพราะว่าจิตจะคิดนึกตรึกตรองได้ ก็เพราะมีเวทนามีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลาง ๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข มีสัญญาจำได้หมายรู้อยู่ในเรื่องอันนั้น จิตจึงคิดถึงเรื่องอันนั้นได้ ถ้าไม่มีเวทนา ยกตัวอย่างเช่นฉีดยาชาที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หมดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ที่ร่างกายส่วนนั้น แม้จะเอามีดมาผ่าตัดอย่างหมอผ่าตัดคนไข้ ความรู้สึกเจ็บก็ไม่มี เมื่อความรู้สึกเจ็บไม่มี ก็ไม่ทำให้เกิดความคิดถึงส่วนนั้น วิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น ต่อเมื่อมีความรู้สึกเจ็บขึ้นในส่วนนั้น วิญญาณจึงจะเกิดขึ้นในส่วนนั้น คือเป็นความรู้ รู้ทางกายที่เรียกว่ากายวิญญาณ แต่เมื่อกายส่วนนั้นไม่มีความรู้สึกเจ็บ กายวิญญาณก็ไม่เกิดขึ้นในส่วนนั้น

มาถึงสัญญาความจำก็เช่นเดียวกัน จิตจะคิดจะนึกถึงเรื่องอันใดก็เพราะจำเรื่องอันนั้นได้ ถ้าลืมเสียแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะคิดนึกได้ จะคิดนึกได้ก็คิดนึกได้ในเรื่องที่จำได้เท่านั้น ถ้าจำไม่ได้หรือไม่จำก็คิดนึกไม่ได้ วิญญาณก็บังเกิดขึ้นในเรื่องนั้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อมีสัญญามีเวทนา จิตคิดถึงเรื่องอันใด อาศัยสัญญาเวทนา ก็เกิดวิญญาณขึ้นในเรื่องนั้นตามวิถี ถ้าดับสัญญาเวทนาเสีย วิญญาณก็ดับ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ดังเช่น โสตวิญญาณ วิญญาณทางหูคือได้ยินเสียง ในขณะนี้กำลังแสดงธรรมบรรยายเป็นเสียง เป็นเสียงที่ไปกระทบโสตประสาทคือกระทบหู จิตตั้งใจฟัง ก็หมายความว่ามีสัญญามีเวทนาอยู่ในเสียงที่ไปกระทบโสตประสาท โสตวิญญาณ ความรู้เสียงทางหูจึงบังเกิดขึ้นคือได้ยิน ได้ยินถ้อยคำที่ได้แสดงนี้ แต่ถ้าจิตไม่ตั้งอยู่ในเสียงที่แสดงนี้ ส่งจิตไปคิดถึงเรื่องอื่น ก็ไปมีสัญญาเวทนาในเรื่องอื่นที่ส่งจิตไปนั่น วิญญาณก็ไปบังเกิดขึ้นในเรื่องอื่นนั้น แต่ว่าวิญญาณไม่บังเกิดขึ้นในเสียงที่กำลังแสดงอยู่นี้ แปลว่าหูดับ แม้ว่าเสียงที่แสดงนี้จะไปกระทบโสตประสาทอยู่เป็นปกตินั่นแหละ โสตประสาทก็ดีอยู่ แต่ว่าจิตไม่ตั้งใจฟัง จิตไปคิดถึงเรื่องอื่น หูก็ดับจากเสียงที่กำลังแสดงนี้ ไม่ได้ยิน ไม่เกิดโสตวิญญาณในเสียง แต่ว่าไปเกิดมโนวิญญาณในเรื่องต่าง ๆ ที่ส่งจิตไปคิดถึงนั้น โสตวิญญาณทางหูนี้ก็ดับไปเกิดมโนวิญญาณในเรื่องที่คิดไป

เพราะฉะนั้น จึงต้องอาศัยสังขาร เมื่อมีสังขารจึงมีวิญญาณดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาดังกล่าว คือตั้งแต่ปฏิสนธิวิญญาณ และมาถึงวิถีวิญญาณคือวิญญาณที่บังเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางมนะคือใจ ก็เช่นเดียวกัน ต้องอาศัยสังขาร กายสังขารวจีสังขารมโนสังขารจิตตสังขารดังกล่าวนี้ เป็นปัจจัยจึงได้เกิดวิญญาณขึ้น เป็นวิถีวิญญาณทางตา ทางหูเป็นต้นตามประเภท เพราะฉะนั้น เพราะสังขารบังเกิดขึ้นวิญญาณจึงเกิด

ข้อที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงมาโดยลำดับเป็นธรรมะที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกัน เมื่อได้ตั้งใจฟังและตั้งใจที่จะทำความเข้าใจ ย่อมจะได้ความเข้าใจในธรรมะ ที่เป็นสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล จะทำให้จับเหตุจับผล ตั้งต้นแต่จับทุกข์จับสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์และทำให้จับเงื่อนต้นเงื่อนปลายได้ เพราะทุก ๆ ข้อที่เป็นเหตุเป็นผลสืบต่อกันนั้น ต่างเป็นเงื่อนต้นเงื่อนปลายของกันและกันไปทุก ๆ ข้อ และเมื่อจับได้ถูกต้อง ก็ย่อมจะมีความเข้าใจถึงเหตุและผลอันถูกต้อง การพิจารณาตามทางที่ท่านแสดงดังนี้ย่อมเป็นทางเจริญปัญญาและโดยเฉพาะเรียกว่าเป็นทางวิปัสสนาทางที่ให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง อันจะทำให้จับสัจจะความจริงที่เป็นตัวเป็นเหตุและเป็นผลได้ แม้การที่ปฏิบัติทำสติหรือว่าตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นตัวสติปัฏฐานทุกข้อ ก็เป็นการพิจารณาจับเหตุจับผลแต่ละข้อเช่นเดียวกัน ทำให้ได้สมาธิและทำให้ได้ปัญญาเป็นเครื่องขัดเกลากิเลสไปได้โดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๒๗ เมษายน ๒๕๒๘

____________________________________

๑. “คนฺธพฺพ” ศัพท์ในอภิธานัปปทีปิกาสูจิ ให้คำแปลโดยพยัญชนะไว้ว่า บริโภคกลิ่น อ่อนไหว ในสวรรค์ ด้วยอำนาจการขับการฟ้อนเป็นต้น เมื่อเป็นไปในอรรถแปลไว้ว่า ๑. คายน (ความขับร้อง) ๒.คายก (คนขับร้อง) ๓.อสฺส (ม้า) ๔.เทวตนฺตร (เทพคนธรรพ์) ๕.ตตฺรูปคสตฺต (สัตว์ที่จะเกิดในท้องมารดา)

สำหรับในอรรถว่า ตตฺรูปคสตฺต สัตว์ที่จะเกิดในท้องมารดานั้น เป็นภาษาพื้นเมืองที่เข้าใจกันอยู่แล้วโดยทั่วไป มีหลักฐานปรากฏในอัสสลายนสูตร พระพุทธเจ้าตรัสกับอัสสลายนมาณพ ยกเรื่องอสิตเทวลฤษีว่า ... เคยมีพราหมณ์ฤษี ๗ คน ผู้มีความเห็นผิดในเรื่องวรรณะพราหมณ์ว่า ประเสริฐสุด ต่อมาอสิตเทวฤษีได้เดินทางไปแก้ทิฏฐิพราหมณ์ฤษีทั้ง ๗ คน ได้ถามคันธัพพปัญหาว่า ท่านรู้หรือไม่ว่าการก้าวลงแห่งสัตว์ในครรภ์ (การตั้งครรภ์) เป็นอย่างไร พราหมณ์ฤษีตอบว่า ข้าพเจ้าทราบคือ ๑. มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน ๒.มารดามีระดู (อรรถกถาธิบายว่า มารดาอยู่ในสมัยที่จะตั้งครรภ์ได้) ๓.คนธรรพ์ปรากฏ (สัตว์ผู้จะเกิดในครรภ์ปรากฏ) อสิตเทวลฤษีจึงถามว่า ท่านรู้หรือไม่ว่า “คนธรรพ์” นั้นเป็นกษัตริย์ หรือพราหมณ์ หรือแพศย์ หรือศูทร พราหมณ์ฤษีตอบว่า ไม่รู้ ... เรื่องอสิตเทวลฤษีนี้ พระองค์ตรัสเป็นเรื่องภูตปุพพํ คือมีแล้วในปางก่อน คำตอบของพราหมณ์ฤษีตอนนี้ตรงกับพระพุทธภาษิตในมหาตัณหาสังขยสูตรซึ่งตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงเหตุ ๓ อย่างประชุมกันเป็นเหตุให้มีการตั้งครรภ์

อภิธานสันสกฤตได้อธิบาย “คนฺธรฺว” คล้าย ๆ กับอรรถเช่นนี้ไว้ว่า “... The soul after death and previous to its being born again (corresponding in some respects to the western notion of a ghost) “วิญญาณภายหลังตายและก่อนที่จะเกิดอีก” ในบางเล่มให้ที่มาประกอบไว้ว่า ตสฺยาสีทฺทุหิตา คนฺธรฺวคฺฤหิตา.

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 30 กันยายน 2555
Last Update : 30 กันยายน 2555 9:11:02 น. 0 comments
Counter : 1129 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.