Group Blog
 
All Blogs
 
ครั้งที่ ๓๓ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร (๒)

สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมสวนะ
ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึงกรกฎาคม ๒๕๒๘
ณ ตึก สว. วัดบวรนิเวศวิหาร


--------------------------------------------------------------



ครั้งที่ ๓๓ ปฏิจจสมุปบาท ข้ออวิชชา สังขาร (ต่อ)

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุก ๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจ ให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะได้แสดงขยายความ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หรือ เมื่ออวิชชาเกิดสังขารก็เกิด ต่อไปอีก

อวิชชาปรุงแต่งจิตให้รู้ผิดรู้หลง

อันสังขารนั้นก็ได้แสดงมาแล้วถึงหมวดธรรมต่าง ๆ ที่มีคำว่าสังขาร และได้แสดงความหมายของสังขารที่เป็นส่วนกลาง ๆ อันเป็นที่มุ่งหมายว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขารในที่นี้ แต่ยังมีอีกบางหมวด และลักษณะของสังขารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ อันสมควรแสดงรวมเข้าในข้อนี้ด้วย อวิชชาคือความไม่รู้อันหมายถึงไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงดังที่ได้กล่าวมาแล้ว และเกิดขึ้นที่จิตนี้เอง อันหมายถึงจิตที่เป็นวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุก ๆ คน บุรุษบุคคลนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่าประกอบด้วยธาตุ ๖ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาศ ทั้ง ๕ นี้เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้เป็นข้อที่ ๖ เพราะฉะนั้น จึงรู้อะไร ๆ ได้ และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้หรือที่เรียกว่าจิตในที่นี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ว่าเป็นธรรมชาติประภัสสรคือผุดผ่อง แต่เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนาคือการอบรมจิต จิตหรือธาตุรู้นี้ก็ยังประกอบด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันหมายถึงว่าแม้จะเป็นธาตุรู้ แต่ก็เป็นความรู้ผิดรู้หลง ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นอวิชชา ดังที่ได้แสดงแล้ว แต่เพราะอวิชชา คือไม่รู้นี้เองจึงเป็นเหตุให้ปรุงแต่ง ปรุงแต่งเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้นั้นเอง เหมือนอย่างบุคคลที่ไม่รู้ในเรื่องอะไร เมื่อต้องการที่จะรู้ในเรื่องนั้นก็ต้องปรุงแต่ง เช่นว่าต้องค้นคว้า ต้องไต่ถามสดับตรับฟัง ต้องสืบสวนสอบสวน ต้องคิดพินิจพิจารณา เพื่อจะให้รู้ในเรื่องนั้น นี้คือสังขารคือปรุงแต่ง และเมื่อรู้แล้วก็เป็นอันว่าหยุดคิด เพื่อที่จะรู้ในเรื่องนั้นได้ แต่ว่าที่ว่าคิดว่ารู้แล้วนั้น บางทีก็ไม่ใช่รู้จริงรู้ถูก เป็นความรู้ผิดรู้หลงก็มี ก็เป็นอันว่า ก็คงเป็นอวิชชาคือไม่รู้อยู่นั่นเอง แต่สำคัญว่ารู้

เพราะฉะนั้น จึงยังมีสังขารคือปรุงแต่ง อันหมายความว่า ความรู้ที่คิดว่ารู้นั้นไม่ใช่เป็นตัวความรู้ แต่เป็นความปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ คือไม่ใช่รู้จริง เมื่อไม่ใช่รู้จริง ความรู้นั้นจึงเป็นความปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ ไม่ใช่เป็นความรู้จริง ต่อเมื่อเป็นความรู้จริง จึงจะไม่ใช่เป็นสังขาร คือความปรุงแต่ง

ความรู้ที่ปรุงแต่งไม่เป็นความรู้จริง

เพราะฉะนั้น วิชชาคือความรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าในอริยสัจ ๔ ท่านจึงได้แสดงไว้ว่า

จักษุ คือดวงตาผุดขึ้น
ญาณ คือความหยั่งรู้ผุดขึ้น
ปัญญา คือความรู้ทั่วถึงผุดขึ้น
วิชชา คือความรู้ถูกต้องผุดขึ้น
อาโลก คือความสว่างผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลายที่ยังมิได้เคยสดับมาก่อนว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น

ความรู้ที่ผุดขึ้นดั่งนี้ไม่ใช่เป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง แต่เป็นความรู้จริง ส่วนความรู้ที่ปรุงแต่งนั้นยังไม่ใช่เป็นความรู้จริง แต่เป็นความปรุงแต่งต่างหากอันเรียกว่า สังขาร แม้ความรู้ที่เป็นปริยัติคือที่เล่าเรียน อันได้แก่สดับตรับฟังอ่านท่องบ่นจำทรง ดังเช่นสดับตรับฟัง อ่าน ท่องบ่น จำทรงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จำอริยสัจได้ นี้ก็เป็นสังขารคือเป็นความปรุงแต่งขึ้นของผู้เรียน ไม่ใช่เป็นความรู้ของตนเอง แต่เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ แล้วก็มาฟัง มาจำทรง เป็นความจำเป็นความจำทรง ซึ่งเป็นตัวสังขารคือเป็นความปรุงแต่ง ไม่ใช่เป็นความรู้ที่เป็นตัวปัญญาของตนเอง จะเป็นความรู้ที่เป็นปัญญาของตัวเองนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้น ไม่ใช่คิดขึ้น มิใช่จำเอาไว้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นโดยที่มิได้คิด มิได้แต่ง มิได้จำ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในปฐมเทศนา พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือธรรมจักรแก่พระปัญจวัคคีย์ได้ตรัสแสดงถึงทางที่ทรงปฏิบัติมา ทรงละทางที่เป็นสุดโต่ง ๒ อย่าง ทรงปฏิบัติทางที่เป็นมัชฌิมา ซึ่งอยู่ในท่ามกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งทั้ง ๒ นั้น อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ ก็ทรงแสดงอริยสัจทั้ง ๔ และทรงแสดงพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจทั้ง ๔ และเพราะพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจทั้ง ๔ นี้ บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้วดั่งนี้ ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา
นี้เป็นตัว ปัญญา

เห็นสังขารเห็นความเกิดดับของสังขาร จึงชื่อว่าเห็นทุกข์

จะเห็นได้ว่าธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะนี้ ไม่เกี่ยวแก่ถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงในปฐมเทศนานั้น แต่เมื่อท่านพระโกณฑัญญะ ท่านได้ฟังแล้ว ท่านเข้าใจ ความเข้าใจของท่านนั้น ก็ผุดขึ้นมาแก่ท่านว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

คือท่านเห็นเกิดดับของทุก ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น ก็และอันทุก ๆ สิ่งที่เกิดดับนี้เป็นตัวสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง สิ่งที่มีที่เป็นขึ้นทุกอย่างในโลกนี้เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุกอย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น จึงต้องเกิดดับเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับคู่กันไปในขณะเดียวกัน นี้เป็นตัวธรรมดาหรือเป็นธรรมะของทุก ๆ สิ่งทุก ๆ อย่างในโลก ที่มีเกิดขึ้นก็ต้องมีดับ นี้แหละคือตัวสังขาร และเมื่อเห็นสังขารและเห็นเกิดดับของสังขารจึงชื่อว่าเห็นทุกข์ ซึ่งเป็นทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ ก็คือทุกขอริยสัจที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเอง

แต่ว่าความรู้ที่ผุดขึ้นแก่ท่านนั้น ไม่ได้อิงพยัญชนะถ้อยคำในปฐมเทศนา แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผุดขึ้นซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอรรถรส หรือเป็นสาระคือแก่นสารของเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น อันจะเปรียบได้ว่า เทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหรือที่พระสาวกแสดงกันต่อมาก็ตาม ซึ่งทุก ๆ คนได้สดับตรับฟัง ได้เล่าเรียนศึกษาได้ท่องบ่นจำทรง ก็เหมือนอย่างอาหารที่จัดใส่ไว้ในสำรับ และที่ทุกคนก็ตักหยิบบริโภคคือนำเข้าใส่ปาก อาหารเหล่านี้ก็รวมกันและกลืนลงไปสู่ท้อง เมื่อเข้าไปสู่ท้องแล้วก็ต้องย่อยให้โอชะของอาหารนั้นแผ่ไปเลี้ยงร่างกาย ถ้าหากว่าไม่ย่อยเอาโอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกาย อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นไม่ย่อยก็กลายเป็นพิษ ทำให้ปวดท้อง ทำให้เป็นโรค ต่อเมื่อย่อยเอาโอชะไปเลี้ยงร่างกาย และส่วนกากนั้นก็เป็นอาหารเก่าถ่ายทิ้งต่อไป ใช้แต่โอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกายเท่านั้นดังนี้ อาหารนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ แผ่ไปเลี้ยงร่างกายได้ ธรรมะที่ฟังก็ฉันนั้น ก็เหมือนอย่างอาหารที่ยังใส่อยู่ในสำรับ แม้ที่หยิบใส่ปากเคี้ยวก็เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ แต่ว่าที่จะเป็นธรรมะที่เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นนั้น จะต้องใช้ปัญญาย่อย ย่อยให้เหลือแต่โอชะ โอชะของถ้อยคำ โอชะของปริยัติ โอชะของแบบแผน ส่วนที่เป็นกากที่ไม่ใช่โอชะนั้นก็วางทิ้งไป ให้เหลือแต่โอชะ

ฉันใดก็ดี เมื่อท่านพระโกณฑัญญะฟังธรรม ท่านก็มิได้จับเอาพยัญชนะถ้อยคำมิได้จับเอาปริยัติ แต่ว่าย่อยปริยัติคือย่อยถ้อยคำนั้นด้วยปัญญาที่พิจารณา จนได้โอชะของปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าผุดขึ้นแก่ท่าน คือท่านเห็นเกิดดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นความเห็นเกิดดับที่ผุดขึ้นมา เพราะฉะนั้น ข้อความในธรรมจักษุของท่านพระโกณฑัญญะนั้น จึงคล้าย ๆ กับเป็นคนละเรื่องกับปฐมเทศนา แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นคนละเรื่อง แต่เป็นตัวโอชะของปฐมเทศนานั้น อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ที่จะเห็นธรรมะได้นั้นก็อาศัยถ้อยคำนั่นแหละ อาศัยปริยัตินั่นแหละ แต่ว่าจับเอาโอชะของปริยัติของถ้อยคำนั้นได้ เป็นสาระคือตัวแก่นสารจริง ๆ ให้ความรู้ดั่งนี้ผุดขึ้น นั่นแหละจึงจะเป็น ธรรมจักษุ คือดวงตาเห็นธรรมเป็น วิชชา

และเมื่อเป็นวิชชาแล้วก็สิ้นสงสัย ไม่ต้องคิดปรุงแต่งกันอีกต่อไป แต่ที่ยังต้องปรุงแต่งกันอยู่นั้น ก็เพราะยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ในข้อนี้เห็นได้ธรรมดาทั่วไป ดังเช่นเมื่อเห็นอะไรทางตา เพราะอวิชชาคือไม่รู้ในรูปที่ตาเห็นนั้น จึงได้ยึดถือและก็ปรุงแต่งรูปนั้น ว่านี่สวยนี่งามนี่ไม่สวยนี่ไม่งาม นี้เป็นสังขารคือปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว แต่งให้รูปที่ตาเห็นนั้นว่างามบ้างไม่งามบ้าง และเมื่อแต่งให้เห็นว่างามบ้างไม่งามบ้างขึ้นแล้ว กิเลสก็เกิดขึ้นจับทันที

เมื่อแต่งให้เห็นว่างาม ราคะ ความติดความยินดี โลภะ ความโลภอยากได้ก็บังเกิดขึ้น

เมื่อเห็นว่าไม่งาม ก็ไม่สนใจ หรือว่า โทสะ ปฏิฆะ ความหงุดหงิดกระทบกระทั่งขัดเคืองก็บังเกิดขึ้น ก็เป็นความปรุงแต่งที่เพิ่มเติมขึ้นไปอีก

เหล่านี้สังขารทั้งนั้น คือใจปรุงขึ้นทั้งนั้น ว่างามก็ใจปรุงขึ้น ว่าไม่งามก็ใจปรุงขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีอวิชชาคือไม่รู้ คือไม่รู้ว่านี่คือสังขาร รูปที่ตาเห็นนี้คือสังขารเป็นสิ่งที่เกิดดับ เห็นรูปนั้นก็เป็นเกิด แล้วก็รูปนั้นก็ดับทันที คือหมายความว่าการเห็นนั้นเป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีตไปทันที เมื่อเป็นอดีตก็คือว่าดับไปแล้ว อันที่จริงนั้นเมื่อคนเห็นอะไรทางตา รูปที่ตาเห็นนั้นก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น และเห็นรูปอื่นขึ้นอีกก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น แต่คราวนี้ยังไม่ดับอยู่ในใจ เพราะว่าจิตใจนี้ยังมีอวิชชาคือไม่รู้ว่านี่คือตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงยึดถือ ยึดถือเอารูปนั้นมาตั้งอยู่ในใจ

เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงไม่ดับอยู่ในใจ เป็นที่ตั้งของราคะบ้าง ของโทสะบ้าง หรือว่าของโลภะบ้าง โทสะบ้างสืบต่อไป นี้เป็นสังขารตัวปรุงแต่งทั้งนั้น คราวนี้เมื่อเห็นรูปอะไรทางตาแล้วรู้ทันทีว่าเกิดดับ รูปที่เห็นในบัดนี้เกิดในบัดนี้ก็ดับไปในบัดนี้แล้ว คือผ่านไปแล้วเป็นอดีตไปแล้ว ถ้าเห็นเกิดดับทันทีดั่งนี้แล้ว จะไม่เกิดความปรุงแต่ง คือไม่ยึดเอารูปที่ดับไปแล้วนั้นมาปรุงแต่งในใจว่างามหรือไม่งาม และก็เกิดชอบหรือเกิดชังขึ้นมา ก็เป็นสังขารคือปรุงแต่งสืบต่อไป อวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารคือปรุงแต่งขึ้นดั่งนี้ แต่ว่าถ้ารู้แล้วก็จะหยุดปรุงแต่งทันที ไม่ปรุงแต่ง ปล่อยให้รูปที่ตาเห็นนั้น รู้ว่าดับไปแล้ว เสียงที่ได้ยินก็ดับไปแล้ว จะเป็นเสียงสรรเสริญเสียงนินทาก็ดับไปแล้ว กลิ่นรสโผฏฐัพพะเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในใจที่คิดที่นึก เกิดก็ดับไปแล้ว คือเป็นอดีตไปแล้วทันทีคู่กันไปกับเกิด เกิดดับเกิดดับไปทันที ดังนี้เรียกว่า ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดังนี้แล้ว ก็จะหยุดไม่ปรุงแต่งในสิ่งเหล่านี้ ว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แล้วก็ชอบแล้วก็ชังกันเป็นต้นต่อไป ซึ่งเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ชอบหรือชังเป็นต้นต่อ ๆ ไปนั้น ก็เป็นความปรุงความแต่งทั้งสิ้นเป็นสังขารทั้งสิ้น คือใจนี้เองปรุงขึ้นแต่งขึ้น แต่งเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วว่ายังมีอยู่ อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญคือไม่เห็นเกิดดับ

ความเห็นเกิดดับเป็นธรรมจักษุ

เพราะฉะนั้น ความเห็นเกิดดับที่เป็นธรรมจักษุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ฟังธรรมะทุกข้อทุกบทที่จะเป็นตัวธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมนั้นซึ่งก็คือเห็นเกิดดับนี้เอง และเมื่อเห็นเกิดดับ ก็ไม่ใช่หมายความว่า เห็นเกิดดับเฉพาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ แต่ว่าทำให้เห็นเกิดดับในธรรมะคือในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ในโลกที่เป็นปัจจุบันนี้ทุกอย่าง คือสิ่งที่มาประสบทางตาเป็นรูปที่ตาเห็น มาประสบทางหูเป็นเสียงที่หูได้ยิน เป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะที่จมูกที่ลิ้นที่กายได้ทราบ และเป็นธรรมะเรื่องราวต่าง ๆ ที่ใจได้คิดนึกที่รู้เหล่านี้ทั้งสิ้น ที่ประสบพบผ่านอยู่ทั้งขณะนี้ เมื่อประสบพบผ่านขึ้นเมื่อใด ก็เกิดดับไปเมื่อนั้นทันที คู่กันไปเลย ไม่มีเหลืออยู่ นี้เป็นวิชชา เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดั่งนี้ได้จริง ๆ แล้ว ก็จะหยุดปรุงหยุดแต่ง หยุดยึด ไม่ยึดให้เป็นสังโยชน์คือข้อที่ผูกพันจิตใจอยู่ จิตใจไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ผูกพันจิตใจอยู่ และไม่ปรุงแต่งว่าสิ่งเหล่านั้นงามหรือไม่งามดีหรือไม่ดี ชอบใจหรือไม่ชอบใจ กิเลสที่เป็นกองราคะโทสะโมหะ ก็ไม่บังเกิดขึ้น ซึ่งล้วนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น

ดับอวิชชา ดับสังขาร ด้วยวิชชา

เพราะฉะนั้น ธรรมจักษุที่เป็นตัวเห็นทุกข์นั้น จึงต้องเห็นเกิดดับ และเมื่อเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ฉะนั้น จะเห็นทุกข์ได้ก็ต้องเห็นสังขาร คือเห็นว่าเป็นสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเห็นสังขารก็จะเห็นเกิดดับของสังขาร เมื่อเป็นดั่งนี้รวมกันเข้าก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ต้องอาศัยวิชชาจึงจะเห็นทุกข์ เห็นสังขาร เห็นเกิดดับ และเมื่อเห็นเป็นวิชชาขึ้นดังนี้ก็หยุดปรุงหยุดแต่ง หยุดกิเลสได้ในสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ในโลก แต่ที่ทุกคนยังต้องยึด ยังต้องปรุง ยังต้องแต่ง เป็นตัวสังขารอยู่นี้ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้ คือไม่เห็นเกิดดับของสิ่งทั้งหลายในโลก ในขณะที่ประสบพบผ่านทางตาทางหูเป็นต้น จึงต้องยึดต้องปรุงต้องแต่งก็ใจนี้เอง นี้เป็นสังขารคือการผสมปรุงแต่งเท่านั้นที่บังเกิดขึ้นจิตใจ อวิชชาจึงทำให้เกิดสังขารขึ้น ดังนี้

และก็กล่าวได้ว่าก็เพราะอวิชชานี้เองก็จะทำให้เกิดวิชชาขึ้น คือทำให้เกิดปรุงแต่งเพื่อที่จะรู้จะเห็นขึ้นดังที่เมื่อได้ฟังพระธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้เช่นดังที่นำมาแสดงนี้ก็ตั้งใจที่ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา หรือในมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา และเมื่อปฏิบัติได้ ดังนี้ ก็จะได้วิชชาคือความรู้ ตรงกันข้ามกับอวิชชา คืออวิชชาก็จะดับไป วิชชาก็จะบังเกิดขึ้น ก็จะทำให้หยุดปรุง หยุดแต่งในที่สุดได้

เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้อีกว่า ก็เพราะอวิชชานี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดปรุงแต่ง เพื่อที่จะรู้เป็นวิชชาขึ้นมา และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมา อวิชชาดับ ก็หยุดปรุงหยุดแต่ง เพราะว่ารู้แล้วก็ไม่ต้องปรุงแต่งกัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเห็นเกิดเห็นดับทุก ๆ อย่างที่ประสบพบผ่านทางตาทางหูเกิดดับอยู่ในปัจจุบัน ทุกอย่างไม่มีอะไรเหลืออยู่ ก็ไม่มีอะไรที่จะไปยึดถือ เพราะว่าดับไปแล้วจึงไม่ต้องคิดปรุงคิดแต่งว่างามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดี แล้วก็เกิดยินดีหรือเกิดความยินร้าย ก็เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นเหตุให้เกิดสังขารคือความปรุงแต่ง และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาก็หยุดสังขารคือความปรุงแต่งได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

๑๓ เมษายน ๒๕๒๘

-------------------------------------------------------------

หมายเหตุ
บทความนี้เป็นการแสดงธรรมจากจำนวนทั้งสิ้น ๔๒ ครั้ง ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) แสดงไว้ในการปฏิบัติอบรมจิต ทุกวันธรรมสวนะและวันหลังวันธรรมะสวนะ ณ ตึก สว วัดบวรนิเวศ ระหว่างเดือนตุลาคม ๒๕๒๗ ถึง กรกฎาคม ๒๕๒๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ถวายเป็นเครื่องบูชาเฉลิมพระเกียรติคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ในโอกาสอันควรที่เจริญชนมายุครบ ๖ รอบ ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

คัดลอกจาก หนังสือสัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
พิมพ์ครั้งที่ ๗/๒๕๕๓ ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๒๙ หมู่ ๓ ถ.ศาลายา – นครชัยศรี ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม



Create Date : 23 กันยายน 2555
Last Update : 23 กันยายน 2555 10:03:48 น. 0 comments
Counter : 1030 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sirivajj
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




บทความในกลุ่ม ข้อคิด-ธรรมะ ได้ถูกเรียบเรียงขึ้น โดยบางบทความได้คัดลอกและสำเนาภาพมาถ่ายทอดจากหนังสือธรรมะต่างๆ หรือหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ด้วยเจตนาประสงค์จะให้ธรรมะอันเป็นสัจจะและมงคลของพระพุทธศาสนาได้รับการเผยแพร่และเข้าถึงพุทธศาสนิกชนหรือผู้ที่สนใจให้ได้มากที่สุด รวมทั้งให้บทความธรรมะได้ถูกรวบรวมไว้ในรูปแบบที่จะสะดวกแก่การสืบค้นและเข้าถึงในภายหลัง

ผู้ที่ประสงค์จะคัดลอกไปเพื่อประโยชน์ทางพาณิชย์ กรุณาตรวจสอบกับต้นฉบับหรือเจ้าของลิขสิทธิ์ ด้วยครับ
Friends' blogs
[Add sirivajj's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.