Group Blog
 
All Blogs
 

Book Review : "กิร ดังได้สดับมา"




Smileyเป็นหนังสือที่ดึงดูดความสนใจตั้งแต่แรกเห็นปกค่ะ เพราะขึ้นต้นด้วยภาษามคธี ที่ไม่คุ้นเคยกับคนโดยทั่วไป คำว่า “กิร”นี้ แปลว่าเล่าลือ หรือ เรื่องเล่า เป็นภาษาของชาวมคธซึ่งใช้ในการละคร

หนังสือเล่มนี้จึงจัดว่าเป็น วรรณกรรม ประเภทเรื่องเล่าแฝงคติความคิด และหากนึกถึงวรรณกรรมที่แฝงคติเช่นนี้ หลายคนคงคุ้นเคยกับนิทานอีสปอันโด่งดัง ซึ่งเมื่อจบแต่ละตอน ก็จะลงท้ายด้วยคติสอนใจให้กับผู้อ่าน

หนังสือประเภทนี้มีอยู่โดยทั่วไปค่ะ แต่มีสิ่งที่ทำให้เล่มนี้แตกต่างจากหนังสือประเภทเดียวกัน ได้แก่ความหลากหลายของเนื้อหาที่รวมอยู่ในเล่มเดียวกัน รวบรวมมาจากพระไตรปิฏกบ้าง จากนิทานปรัมปราบ้าง หรืออุทาหรณ์จากสังคมปัจจบัน โดยตั้งชื่อตอนด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ทั้งยังเดาเนื้อเรื่องจากชื่อเรื่องได้ยาก ทำให้เพียงแค่เปิดหน้าสารบัญก็ห้ามความรู้สึกที่อยากจะติดตามต่อได้ยาก

ม้าขากะเผลก สไตร์คท้อง กลัวเมีย ลิงเปิดแผล พระอุ้มผู้หญิง เลี้ยงลูกด้วยลูกยอ ลิงล้างหู ฯลฯ

ด้วยความที่เนื้อหาแต่ละตอน ไม่สั้นและไม่ยาวเกินไป ได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน และจรรโลงใจ จึงทำให้เป็นหนังสือที่อ่านได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้นสิ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ทรงคุณค่าทวีคูณ ก็คือ ผู้ประพันธ์ซึ่งท่านได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักปราชญ์ ราชบัณฑิตแห่งคณะสงฆ์ไทย “พระเดชพระคุณ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช)”

พระเดชพระคุณท่าน เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการตรวจสอบต้นฉบับพระไตรปิฎกฉบับสังคายนา และได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาตันติภาษาอันหมายถึงภาษาที่มีแบบแผน

จึงเป็นเครื่องรับประกันได้ว่า นอกจากจะได้คำสอนที่ที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม ได้ดื่มด่ำถ้อยคำอันเป็นวิจิตรศิลป์ที่อำนวยประโยชน์ทางใจ มีเนื้อหาที่เพลิดเพลิน ไม่น่าเบื่อ ยังจะได้มีโอกาสศึกษา“ศาสตร์” และ “ศิลป์” ในการนำเสนอพุทธธรรมของท่านอย่างใกล้ชิด

หนังสือเล่มนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป นอกจากนี้รายได้จากการขายหนังสือเล่มละ 200 บาท ยังจะนำไปสบทบทุนเพื่อสร้างประโยชน์ในกิจการของพระพุทธศาสนา

นับว่าเป็นหนังสืออีกเล่มที่ทรงคุณค่าเต็มเปี่ยม และอยากแนะนำให้มีเก็บไว้คนละเล่มค่ะ...



BOOK REVIEW โดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2555 23:11:25 น.
Counter : 2132 Pageviews.  

BOOK REVIEW : "พบกันเวลาคิดถึง" หนังสือสอนเด็กให้รับมือกับความเศร้า

"ว่ากันว่า คนไทยอ่านหนังสือโดยเฉลี่ย 8 บรรทัดต่อปี"

ในขณะที่ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2548 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 1.59 ชั่วโมง โดยมีอัตราการอ่านหนังสือเฉลี่ย 5 เล่มต่อคนต่อปี

สี่ปีหลังจากนั้น สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกับคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการวิจัยเรื่อง "การศึกษาสถานการณ์การอ่านและดัชนีการอ่านของคนไทยปี 2552" และพบว่าคนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือเฉลี่ยวันละ 94 นาทีต่อวัน ซึ่งหมายถึงว่าคนไทยกำลังอ่านหนังสือน้อยลงทุกทีๆ”

(ข้อมูลจากนิตยสาร Secret ฉบับที่ 77 วันที่ 10 กันยายน 54)

Smiley Smiley


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีว่า ปี 2556 กรุงเทพมหานครได้รับคัดเลือกจาก องค์การสหประชาชาติ UNESCO ให้กรุงเทพมหานครเป็น "เมืองหนังสือโลก",“WORLD BOOK CAPITAL 2013”

เพื่อร่วมส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าว ขอนำเสนอหนังสือและบทความดีๆ มาแนะนำตั้งแต่ปีนี้เพื่อส่งเสริมการอ่านของคนไทยอย่างต่อเนื่องค่ะ


.............................................................................................

"พบกันเวลาคิดถึง"-คิคุตะ มาริโกะ





วันนี้ขอรื้อ หนังสือ”พบกันเวลาคิดถึง”เป็นหนังสือภาพเล่มเล็กๆ เขียนโดย คิคุตะ มาริโกะ ซึ่งตีพิมพ์มาแล้วหลายปี แต่ยังคงความคลาสสิค และมีเแง่มุมของธรรมะสอนเด็ก ทั้งให้ข้อคิดกับผู้ใหญ่ได้อย่างไม่เคยล้าสมัย (แน่นอนเพราะธรรมะย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยล้าสมัย)

หนังสือเล่มนี้ มี รางวัลชมเชยจากงานมหกรรมหนังสือเด็กโบโลนญา ปี 1999 และยอดจำหน่าย กว่า 1,000,000 เล่มในประเทศญี่ปุ่น เป็นเครื่องรับประกันความน่าสนใจ

สิ่งที่น่าชมเชยของหนังสือเล่มนี้ คือความสมจริงในการถ่ายทอดอารมณ์ของ ชิโระที่มีต่อมิกิ ด้วยการใช้เพียงคำง่ายๆ สั้นๆ ไม่ซับซ้อน แต่ผู้อ่านสามารถเข้าใจถึงอารมณ์อันลึกซึ้งดังกล่าวได้อย่างง่ายดายและชัดเจน

เรื่องของความพลัดพราก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การจากอย่างไม่มีวันกลับ" เป็นเรื่องที่อธิบายให้เด็กได้ไม่ง่าย แม้กระทั่งการปลุกปลอบผู้ใหญ่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก หนังสือเล่มนี้กลับแนะนำวิธีการรับมือกับความศร้าด้วยวิธีที่โอนโยนและปฏิบัติได้อย่างไม่ยากให้กับเด็กๆ หรือแม้กับใครต่อใครที่ยังต้านทานอารมณ์แห่งการพลัดพรากไว้ไม่ไหว...



“ภายใต้เปลือกตา เราไม่เคยเปลี่ยนแปลง
เรายังคงเหมือนวันเวลานั้น
เราพบกันทุกเวลาที่คิดถึง”



Smiley


ขอบคุณวีดีโอ “พบกันเวลาคิดถึง” ประกอบบทเพลงจนกว่าฟ้าจะมีเวลา” จาก : Thawiphop
Book Review โดย : น้อมเศียรเกล้า






 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 11 กุมภาพันธ์ 2555 22:21:52 น.
Counter : 883 Pageviews.  

เจดีย์ บุญเขตอันเยี่ยม (ตอน: แนวคิดการออกแบบพระเจดีย์)-น้อมเศียรเกล้า

รวบรวม/เรียบเรียง โดย : น้อมเศียรเกล้า


SmileySmileySmileySmileySmiley


พระเจดีย์เป็นสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญสูงสุดกว่าสถาปัตยกรรมอื่นในพระพุทธศาสนา พระเจดีย์ในยุคดั้งเดิมแรกเริ่มประดิษฐานอยู่ในประเทศอินเดีย โดยมีการพัฒนารูปแบบมาจากสถูปซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างเพื่อบรรจุอัฐธาตุของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยสถูปจะทำเป็นรูปเนินดินและบรรจุอัฐิไว้ภายใน

จุดประสงค์ของการสร้างพระเจดีย์เริ่มแรกสุดมีความมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าไว้เป็นที่สักการะบูชา ซึ่งเรียกว่า”ธาตุเจดีย์” และต่อมาได้มีการสร้างพระเจดีย์โดยมีวัตถุประสงค์ในการอุทิศและน้อมรำลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยเรียกพระเจดีย์นี้ว่า ”อุทเทสิกเจดีย์” [พิบูลย์, 2549]


Worship at a Stupa.India,Bharhut,early 2d centuryB.C.E Stone.ภาพแกะสลักบนศิลาสมัยจักรวรรดิศุงคะ (หลังการล่มสลายราชวงศ์เมาริยะของพระเจ้าอโศก)ทั้งสองภาพเป็นภาพการแสดงความเคารพต่อพระเจดีย์ทำโดยการเดินรอบพระเจดีย์ และนำมือทั้งสองสัมผัสที่ฐานพระเจดีย์



ถึงแม้สถาปัตยกรรมของพระเจดีย์จะแตกต่างกันไปในแต่ละดินแดนที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปถึงแต่พระเจดีย์ทุกองค์ล้วนถูกออกแบบขึ้นให้มีรูปลักษณ์ที่แสดงถึงความมั่นคง ความแข็งแรง ความสูงศักดิ์และ ความสง่างาม [Paranavitana,1946]


ภาพพระเจดีย์ในรูปแบบต่างๆ



พระเจดีย์สมัยแรกสุดที่อินเดีย เชื่อว่ามีลักษณะเป็นเนินดินและก่ออิฐเตี้ย ๆ เป็นรูปวงกลมอยู่บนเนินดินนั้น [Longhurst,1987] นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏสัญลักษณ์เกี่ยวกับคนหรือรูปสัตว์ใดๆ [Banerjee,2001]

ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนารูปแบบ เป็นเจดีย์ที่มีฐานรองรับองค์เจดีย์ มีลวดลายที่เป็นสัญลักษณ์แห่งปรัชญาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เช่นมีฉัตรปักอยู่เหนือองค์เจดีย์ ตลอดจนการเพิ่มความสูง เพิ่มขนาดขององค์เจดีย์ และการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ [Ranaweera,2004]

มหาเจดีย์ Sanchi (สาญจิ) ประเทศอินเดีย ที่ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก เป็นเจดีย์ศิลปะ Mauryan (เมารยะ) ซึ่งมีลักษณะเรียบง่าย มีรูปทรงโอคว่ำสร้างจากอิฐขนาดใหญ่ที่แข็งแรง เหนือสถูปมีกล่องหินเรียก "หรรมิกา" มีฉัตรซ้อน 3 ชั้น รอบฐานเมีรั้วเรียก "เวทิกา" และมีรั้วรอบสถูปอีกชั้น มีประตูใหญ่ทั้ง 4 ทิศ มีปรากฏหลักฐานอยู่มาจนถึงปัจจุบัน


มหาเจดีย์สาญจิสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พุทธศตวรรษที่ 3) เป็นสถูปเจดีย์เก่าแก่ที่สุดของโลก



เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆ ดินแดนนั้นก็มีการสร้างพระเจดีย์ โดยมีพระเจดีย์แบบดั้งเดิมของประเทศอินเดีย (ทรงโอคว่ำ)เป็นต้นแบบของพระเจดีย์อื่นๆในเอเซียที่สร้างขึ้นภายหลัง [Snodgrass,1985]

และกาลต่อมาแต่ละดินแดนจึงได้พัฒนารูปแบบเจดีย์ของตนขึ้นมา เช่น จากบทความวิชาการของ Ranaweera M.P. เรื่อง “Ancient Stupas in Sri Lanka-Largest Brick Structures in the world” กล่าวว่า "พระเจดีย์แรกเริ่มในศรีลังกา มีรูปทรงเดียวกันกับพระเจดีย์ที่อินเดียแต่ต่อมาก็พัฒนาเป็นรูปทรงต่างๆ เช่นมีการเพิ่มยอดแหลมทรงกรวยบนบัลลังก์"


พระเจดีย์แบบอินเดีย



ฉัตร (บนภาพหมายเลข7) แต่เดิมมีไว้เพื่อกันฝนสำหรับเจดีย์ที่ขนาดเล็ก แต่เมื่อพระเจดีย์มีขนาดใหญ่ขึ้นฉัตรจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์อย่างหนึ่งเท่านั้น [Ranaweera,2004]


ภาพยอดเจดีย์แบบต่างๆในอินเดีย



องค์ประกอบหลักของพระเจดีย์ศรีลังกา




รูปทรงที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากอีกแห่งหนึ่งคือรูปทรงของพระเจดีย์ Thuparama ในศรีลังกา แต่เดิมเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยมีโครงสร้างด้านนอก (Vatadage)เป็นทรงกลม และมีเสาหินรองรับหลังคา จึงทำให้พระเจดีย์มีอายุเป็นพันๆปี แต่โครงสร้างปัจจุบันเหลือเพียงพระเจดีย์และเสาหิน


Votadage of Thuparama ภาพจาก//upasaka-greg.blogspot.com



ภาพ Thuparama ปี ค.ศ.2010จาก//www.zoomsrilanka.com


ปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบพระเจดีย์นั้น เขื่อว่ามาจากวัฒนธรรมประเพณี ศิลปะและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ดังแนวคิดการออกแบบพระเจดีย์ในประเทศอินเดีย ที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อทางศาสนา

แนวคิดการออกแบบเจดีย์ในประเทศอินเดียนั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง โดยอ้างอิงจากวิทยานิพนธ์ของ พิบูลย์ ลิ้มพาณิชย์ [พิบูลย์, 2549]


๑.แนวคิดการออกแบบเจดีย์ตามหลักพระพุทธศาสนา

ตามหลักฐานในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ไม่ปรากฏเกี่ยวกับการกำหนดรูปทรงของเจดีย์ หลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกกล่าวเพียงว่า พระพุทธเจ้าตรัสกับพระอานนท์ให้สร้างเจดีย์ของ พระองค์ไว้ที่ทางใหญ่สี่แพร่งเพื่อทำการสักการะบูชา หลังจากพระองค์ปรินิพพานแล้ว ดังนั้น ในทางพระพุทธศาสนาจึงไม่มีข้อกำหนดที่แน่นอนเกี่ยวกับรูปทรงของเจดีย์ แต่นักวิชาการเชื่อว่า เจดีย์มีวิวัฒนาการมาจากประเพณีการฝังศพหรือสถานที่ฝังศพ ที่มีลักษณะเป็นเนินดินของพวก อารยันที่แพร่หลายมาตั้งแต่ยุคโบราณของอินเดีย

ซึ่งในยุคแรกเจดีย์มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่ง ของรูปทรงกลม เรียบง่าย ไม่มีลวดลาย ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนามหายานกำเนิดขึ้นและพัฒนา เต็มรูปแบบในยุค พ.ศ. ๕๐ – ๑๐๐๐ เจดีย์ก็ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบมหายานซึ่งเห็นได้ชัดจากเจดีย์อมราวดีที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๘ มีภาพแกะสลักพระพุทธรูปยืน มีสัตว์หลายชนิด เช่น สิงห์ ม้า ช้าง เป็นการรวมตัวของสัตว์ในศาสนาพราหมณ์

เท่ากับเป็นการ ข่มศาสนาพราหมณ์โดยตรง เพราะคติของพระพุทธศาสนามหายานในขณะนั้นต้องแข่งขันกับศาสนาพราหมณ์ ภาพแกะสลักที่เป็นศิลปะแบบมหายานจึงต้องแสดงอานุภาพไม่แพ้เทพเจ้า ของศาสนาพราหมณ์ เจดีย์บางแห่งในอินเดียเมื่อแรกสร้างเป็นศิลปะแบบหินยาน
แต่ต่อมา ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์และตกแต่งให้เป็นศิลปะแบบมหายาน
เช่น เจดีย์ธรรมราชิกา ซึ่งแต่เดิมเป็นเจดีย์ที่มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่งของรูปทรงกลม สร้างขึ้นบนฐานเตี้ยไม่มีการตกแต่งลวดลาย ที่องค์เจดีย์ แต่ได้มีการตกแต่งเจดีย์ขึ้นในภายหลัง

โดยมีการตกแต่งสายคาดที่เป็นเครื่องประดับบนองค์เจดีย์ ซึ่งพบชิ้นส่วนการตกแต่งนี้จากซากปรักหักพังของเจดีย์ นอกจากนี้ยังมีการตีความเกี่ยวกับการ สร้างเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แห่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชว่า เจดีย์ ๘๔,๐๐๐ แห่งเปรียบเหมือนกับ ตัวแทนของบทแต่ละบทหรือแต่ละส่วนของคำสอน เนื่องจากธรรมทั้งปวงต้องประกอบไปด้วย ส่วนต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้นเจดีย์แต่ละแห่งจึงเป็นส่วนหนึ่งของพระธรรมและตัวพระธรรม ทั้งหมดด้วย

๒. แนวคิดการออกแบบเจดีย์ตามหลักศาสนาพราหมณ์

ศาสนาพราหมณ์เกิดขึ้นในประเทศอินเดียเมื่อประมาณ ๑๔๕๕ – ๙๕๗ ปี ก่อน พุทธศักราช ศาสนาพราหมณ์เป็นศาสนาที่สืบสายมาจากศาสนาดั้งเดิมของพวกอารยัน และ เป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย เมื่อพวกอารยันได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในอินเดียก็ทำให้ ชาวพื้นเมืองเดิม คือพวกมิลักขะหรือทัสยุ หรือดราวิเดียนนับถือเทพเจ้าและประพฤติปฏิบัติ ตามประเพณีของพราหมณ์ ต่อมาพระพุทธศาสนาได้นำเอาลัทธิประเพณีที่นิยมแพร่หลายของ พราหมณ์มาดัดแปลงแก้ไขไว้เพื่อวัตถุประสงค์ของตน ที่นับว่ามีชื่อมากก็คือ ลัทธิพราหมณ์ เกี่ยวกับการสร้างเจดีย์ ดังนั้นการสร้างเจดีย์ในพระพุทธศาสนาจึงมีศิลปะของพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง

องค์ประกอบหลักของเจดีย์ในอินเดีย ที่มักจะนำมาตีความหาความหมายนั้น มีอยู่ด้วยกัน ๓ ส่วน คือ

๑. องค์เจดีย์ มีลักษณะเป็นรูปครึ่งหนึ่งของรูปทรงกลม เช่น เจดีย์ที่สาญจี มีการตีความว่าองค์เจดีย์เปรียบได้กับไข่แห่งจักรวาล ในคัมภีร์วิษณุปุราณะของพราหมณ์ กล่าวว่าธาตุอันได้แก่อากาศะ เป็นต้น ได้รวมตัวกัน ทำให้ไข่หรืออัณฑะเกิดขึ้นมา ไข่นั้นลอยอยู่เหนือน้ำเหมือนฟองน้ำ และโตขึ้นโดยลำดับจนกลายเป็นฟองมหึมา เป็นที่สถิตอันสูงสุดของพระวิษณุที่อยู่ในรูปของพระพรหม ไข่ฟองนี้เกิดขึ้นจากวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของประกฤติ หลังจากตกอยู่ใต้อิทธิพลของพระวิษณุ และมีชื่อเรียกว่า หิรณฺยครฺภ พระวิษณุเจ้าโลกซึ่งเดิมทีเดียวไม่ปรากฏรูปร่างก็ได้กลายเป็นผู้ปรากฏรูปร่างสถิตอยู่ในไข่ฟองนั้นแต่อยู่ในสภาวะของพระพรหม มีภูเขาพระสุเมรุทำหน้าที่เป็นรกหุ้มห่อพระพรหมนั้น ภูเขาอื่น ๆ ทำหน้าที่เป็นมดลูก

มหาสมุทรทั้งหลายทำหน้าที่เป็นน้ำหล่อเลี้ยงทารกภายในครรภ์ บรรดาภูเขาและทวีปต่าง ๆ โลกและดวงดาวทั้งหลาย เทวดามนุษย์และอสูรต่างอยู่ในไข่นั้นทั้งสิ้น๘๘ เจดีย์จึงเปรียบได้กับไข่ที่ลอยอยู่เหนือน้ำเหมือนฟองน้ำ ซึ่ง เจดีย์บางแห่งได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญลักษณ์นี้อย่างชัดเจน เช่น ภาพสลักนูนเจดีย์ที่สาญจีเป็นภาพเจดีย์ลอยอยู่บนน้ำ

๒. หรรมิกา คือ ส่วนที่อยู่เหนือองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นแท่นสี่เหลี่ยม มีการตีความว่าหรรมิกามีวิวัฒนาการมาจากแท่นบูชาเทพในยุคพระเวท เป็นแท่นบูชาสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีบูชายัญในยุคพระเวท

พวกอายันในยุคพระเวทได้พัฒนาการบูชาไฟชนิดหนึ่งขึ้น คู่เคียงไปกับศาสนาแห่ง จักรวาลนี้ ศาสนาแห่งจักรวาลของพวกอารยันสมัยพระเวท มีความโน้มเอียงไปในทางลัทธิที่ถือ มนุษย์เป็นเกณฑ์ เพราะฉะนั้นจึงถือว่าไฟเป็นสื่อกลางระหว่างเทวดากับมนุษย์

๓. ฉัตร เป็นจุดยอดสุดของเจดีย์ คือ ส่วนที่อยู่ตรงกลางของหรรมิกา มีลักษณะเป็น แท่งหินหรือด้ามหินรองรับฉัตรหรือร่มที่ซ้อนกันสามชั้น หรือเจดีย์บางแห่งก็มีชั้นเดียว แสดงให้เห็นถึงเจดีย์ในยุคแรกของอินเดีย

แต่ในสมัยหลังก็มีจำนวนฉัตรที่ซ้อนกันเพิ่มมากขึ้น ในคัมภีร์พระเวท ฉัตรแสดงถึงอำนาจสูงสุดและความมีเกียรติ ด้ามฉัตรหรือด้ามร่มนั้นแสดงถึงอำนาจสูงสุดของ สิ่งก่อสร้างทั้งหมด

ฉัตรหรือร่มแสดงถึงความมีเกียรติของกษัตริย์ซึ่งเห็นได้จากการสร้าง เจดีย์ที่สาญจีในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำให้พระพุทธศาสนา กลายเป็นศาสนาประจำชาติของอินเดีย ร่มหรือฉัตรของกษัตริย์แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่อง กับเจดีย์ ร่มหรือฉัตรแสดงถึงสัญลักษณ์อำนาจของกษัตริย์ดังที่ปรากฏในภาพแกะสลักเจดีย์ ที่สาญจี[พิบูลย์,2549]


อ้างอิง

พิบูลย์ ลิ้มพาณิชย์. (2549). อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อการสร้างเจดีย์ในสมัยสุโขทัย.วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต

Longhurst, A.H.,The Story of the Stupa,(New Deli : New Printindia (P) Ltd,1997), p.13

Paranavitana, S, 1946, The Stupa in Ceylon,Memoirs of the Archaeological Survey of Ceylon,Volume V, Colombo Museum, Reprint 1988.

Snodgrass, A. The Symbolism of the Stupa 1985, Architecture, Time and Eternity, (Satapitaka Series, No. 356–7, two vols) 1988

Banerjee Radha. Buddhist Art in India. Retrieve Feb 8, 2012. From //ignca.nic.in/budh0002.htm





โปรดติดตามเจดีย์ บุญเขตอันเยี่ยมตอนต่อไปค่ะ




 

Create Date : 09 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2555 10:01:12 น.
Counter : 7178 Pageviews.  

"เจดีย์"บุญเขตอันเยี่ยม (ตอน มิติทางสถาปัตยกรรม)-น้อมเศียรเกล้า

รวบรวมและเรียบเรียงโดย : น้อมเศียรเกล้า
ขอบพระคุณข้อมูล/ภาพประกอบจาก:

1.ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.//krookong.net
3.@Single Mind for Peace
4.น้อม360
5.ภาพประกอบอื่นๆจากอินเตอร์เน็ต


SmileySmileySmileySmileySmiley

“เจดีย์ ถือเป็นปูชนียสถานหรือวัตถุเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรืออาจจะหมายถึงตัวแทนของพระพุทธองค์ มีความมุ่งหมายให้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือบรรจุพระบรมธาตุ เจดีย์จึงเป็นประธานในวัด ต้นกำเนิดของเจดีย์มาจากอินเดียเรียกว่า “สถูป” ในภาษาบาลี หรือ “ถูป” ในภาษาสันสกฤต แต่เดิมก่อนมีพระพุทธศาสนาเป็นที่ฝังอัฐิ ในล้านนาเรียกเจดีย์ว่า กู่ เช่น กู่เต้า กู่กุด ต่างจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเรียกเจดีย์ว่า ธาตุ เช่น พระธาตุพนม ในทางพุทธศาสนาแบ่งเจดีย์ออกเป็น 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุเทสิกเจดีย์ และบริโภคเจดีย์ ต่อมาสามัญชนหรือบุคคลชั้นปกครองได้นิยมนำอัฐิเจดีย์ของผู้มีเกียรติสูง บรรจุไว้ในเจดีย์ด้วยแต่ต่างวัตถุประสงค์กัน”

(โชติ กัลยาณมิตร, 2539:94 – 97)



"สถาปัตยกรรมที่เรียกว่าเจดีย์นั้นไทยเราเรียกรวมถึงสถาปัตยกรรมในรูปอื่นที่สร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างเดียวกันด้วยดังเช่นพระปรางค์ ในงานวิทยานิพนธ์เรื่องThe Origin and Developement of Stupa Architecture in Indiaโดย Sushila Pant พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1976 กล่าวว่า “สิ่งที่ไทยนิยมเรียกว่าเจดีย์นั้น มิได้เรียกเหมือนกันไปหมดทุกภาค” ในสถาปัตยกรรมแบบล้านนานั้นชาวภาคเหนือเรียกว่า “กู่” แทนคำเรียกว่าเจดีย์ เช่นกู่เต้า กู่กุฏิ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแล้วชาวภาคอีสาน นิยมเรียกว่า “ธาตุ” เช่น ธาตุพนม ธาตุบัวบก ฯล"




ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

พระเจดีย์ในประเทศไทย จากหลักฐานที่ปรากฏที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้ในปัจจุบันคือสมัย ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๘) ซึ่งส่วนใหญ่พังทลายเหลือแต่แนวฐาน จึงต้องสันนิษฐานรูปแบบจากพระสถูปจำลองขนาดเล็ก หรือจากภาพปูนปั้นเหนือผนังถ้ำบางแห่งหรือจากภาพสลักบนใบเสมาสมัยเดียวกัน ทำให้พอเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบสำคัญ ๔ อย่าง คือ ฐาน องค์ระฆัง บัลลังก์ และยอด


ภาพสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในยุคสมัยต่างๆ



รูปทรง

รูปทรงของเจดีย์อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้

เจดีย์ทรงระฆัง :

เจดีย์ที่มีองค์ระฆังเป็นลักษณะเด่นโดยมีฐานรองรับอยู่ส่วนล่างเหนือองค์ระฆังเป็นส่วนยอดมีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม,ปล้องไฉนและปลีทรงกรวยแหลม





เจดีย์ทรงปราสาท :

ปราสาทหมายถึงเรือนที่ซ้อนหลายชั้นหรือมีหลังคาลาดหลายชั้นซ้อนกันเจดีย์ทรงปราสาทในประเทศไทยมีทั้งลักษณะเรือนธาตุซ้อนชั้นหรือหลังคาซ้อนชั้น






เจดีย์ทรงปรางค์ :

เป็นเจดีย์ที่มีทรงคล้ายดอกข้าวโพดประกอบด้วยส่วนฐานรองรับเรือนธาตุส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปซึ่งคลี่คลายมาจากรูปแบบของปราสาทขอมแต่เจดีย์ทรงปรางค์โปร่งเพรียวกว่าปราสาทแบบขอม




เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม :

เจดีย์ทรงนี้เรียกชื่อตามลักษณะของยอดเจดีย์ที่คล้ายดอกบัวตูมบางองค์ทากลีบบัวประดับตรงดอบัวตูมด้วยบางครั้งเรียกว่า “เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” เป็นความนิยมที่สร้างกันมากในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี




เจดีย์ทรงเครื่อง :

“เจดีย์ทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่ประดับลาย*เฟื่องรอบองค์ระฆังเพื่อแสดงลักษณะเด่นพิเศษจากเจดีย์องค์อื่น

เจดีย์ทรงเครื่องนี้มักสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ทรงเกียรติเช่น ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างถวายเป็นพระราชอุทิศ แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ด้านทิศตะวันออก) และสร้างขึ้นเป็นส่วนพระองค์โดยเฉพาะ (ด้านทิศตะวันตก)

ขยายความลักษณะพิเศษก็คือการประดับองค์ระฆังด้วยปูนปั้นเป็นลายเฟื่องนั้น น่าจะสื่อความหมายเช่นเดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความหมายมาจากความเชื่อจักรพรรดิราชาที่มีอยู่ทั้งในพุทธศาสนาทั้งในมหายานและเถรวาท

(หนังสือพจนานุกรม สถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชติกัลยาณ มิตร)

*ลายเฟื่องคือลายไทยอย่างหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว***




เจดีย์ย่อมุม :




ปรางค์ :













ลักษณะและรูปทรงของพระปรางค์

พระปรางค์ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปะสถาปัตยกรรมขอมมีลักษณะจำแนกเป็น 4 แบบ คือ

1.ทรงศิขร เป็นปรางค์รูปแบบดั้งเดิม สร้างขึ้นตามแบบแผนเดิมของขอมเน้นคติความเชื่อว่าเป็นการ จำลองภูเขา และ สวรรค์ชั้นฟ้า ตัวอย่างได้แก่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ เป็นต้น

2.ทรงงาเนียม มีลักษณะคล้ายงาช้าง ลักษณะใหญ่แต่สั้นตอนปลายโค้งและค่อนข้างเรียวแหลม ถือเป็นประดิษฐกรรมของช่างไทยโดยมีการพัฒนาจากรูปแบบเดิมจนมีลักษณะเฉพาะของตนเองในสมัยอยุธยาตอนต้นตัวอย่างได้แก่ ปรางค์เหนือปราสาทพระเทพบิดรวัดพระศรีรัตศาสดารามกรุงเทพฯ พระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุเมืองเชลียงสุโขทัย เป็นต้น

3.ทรงฝักข้าวโพด มีลักษณะ ผอมบางและตรงยาวคล้ายฝักข้าวโพดส่วนยอดนั้นจะค่อยๆเรียวเล็กลง ก่อนรวบเป็นเส้นโค้งที่ปลายเป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างเช่น วัดเทพธิดารามกรุงเทพฯ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เป็นต้น

4.ทรงจอมแห มีลักษณะคล้ายแหที่ถูกยกขึ้น ตัวอย่างได้แก่วัดอรุณราชวรารามธนบุรี

ปรางค์อาจถือเป็นรูปแบบหนึ่งของเจดีย์ เช่นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม) ของสมัยสุโขทัยเช่นเจดีย์ทรงระฆัง ของสมัยสุโขทัยก็มี ของสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยรัตนโกสินทร์ก็มี


เจดีย์แบ่งตามประเภทและตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร
(www.phuttha.com)

พระเจดีย์ที่ใช้ประกอบในผังเขตพุทธาวาส โดยทั่วไปแยกออกได้เป็น 5 ประเภทตามตำแหน่งที่ตั้งและหน้าที่ คือ

1.เจดีย์ประธาน หมายถึง พระเจดีย์ที่ถูกกำหนดให้เป็นอาคารหลักประธานของวัด จึงมักเป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่สุดในผัง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ ณ บริเวณกึ่งกลางผังหรือบนแนวแกนหลักด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหาร ตำแหน่งเจดีย์ประธาน เช่น วัดกุฎีดาว อยุธยา, เจดีย์ประธาน วัดโสมนัสวิหาร

2.เจดีย์ทิศ(เจดีย์ประจำมุม) หมายถึง พระเจดีย์รองสำคัญในผังที่ถูกกำหนดให้ตั้งประกอบในผังที่ทิศทั้ง 4 หรือมุมทั้ง 4



เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล


3. เจดีย์ราย หมายถึง พระเจดีย์ขนาดย่อมที่ประกอบในผังในฐานะพระเจดีย์รอง โดยจะวางอยู่เรียงรายรอบอาคารประธาน เจดีย์ราย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา, เจดีย์ราย วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ


เจดีย์รายวัดพระเชตุพนฯ


4. เจดีย์คู่ หมายถึง พระเจดีย์ที่ทำเป็นคู่ ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารสำคัญอย่างพระอุโบสถหรือพระวิหาร หรือพระปรางค์ เจดีย์คู่ วัดชิโนรส ธนบุรี เจดีย์คู่ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา


เจดีย์คู่วัดพระแก้วมรกต


5. เจดีย์หมู่ หมายถึง พระเจดีย์ที่สร้างเป็นกลุ่มหรือหมู่ในบริเวณเดียวกัน โดยเน้นความสำคัญของทั้งกลุ่ม ไม่ได้เน้นที่องค์ใดองค์หนึ่ง


เจดีย์หมู่13องค์วัดอโศการาม


ภาพแสดงองค์ประกอบของเจดีย์
องค์ประกอบของเจดีย์โดยทั่วไป ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังแสดงในรูปต่อไปนี้



1. ลูกแก้ว องค์ประกอบส่วนที่ตั้งอยู่บนปลายยอดสุดของพระเจดีย์นิยมทำเป็นรูปทรงกลมเกลี้ยง บางแห่งทำเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ ซึ่งเรียกว่า “หยดน้ำค้าง”



2. ปลี องค์ประกอบของยอดพระเจดีย์ส่วนที่ทำเป็นรูปกรวยกลมเกลี้ยงคล้ายปลีกล้วยต่อจากส่วนของปล้องไฉนขึ้นไป บางแห่งยืดปลีให้ยาวแล้วคั่นด้วย “บัวลูกแก้ว” ตอนกลางทำให้ปลีถูกแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะเรียกส่วนล่างว่า “ปลีต้น” และส่วนบนว่า “ปลียอด"



3. บัวกลุ่ม ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งซึ่งทำเป็นรูป“บัวโถ” ต่อซ้อนให้มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปอย่าง“บัวลูกแก้ว” สำหรับใช้เป็นส่วนของ“ปล้องไฉน” ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม



4. ปล้องไฉน ชื่อเรียกส่วนปลายที่เป็นยอดแหลมของพระเจดีย์ ซึ่งทำเป็นบัวลูกแก้วคั่นเป็นข้อๆใหญ่เล็กลดหลั่นลงตลอดแท่ง ตรงเชิงฐานรับด้วย “บัวถลา” ก่อนวางเทินบน “ก้านฉัตร”



5. ก้านฉัตร องค์ประกอบทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลม ทำหน้าที่เทินรับปล้องไฉนให้ตั้งฉาก



6. เสาหานองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเสริม “ก้านฉัตร” ในการรับน้ำหนักของ “ปล้องไฉน” และ “ปลี” นิยมทำเป็นรูปทรงกระบอกกลมหรือแปดเหลี่ยมขนาดเล็กแต่สูงเท่ากับก้านฉัตร วางล้อมก้านฉัตรในตำแหน่งของทิศประจำทั้ง 8



7. บัลลังก์ องค์ประกอบสำคัญที่ทำเป็นรูป “ฐานปัทม์” 4 เหลี่ยม หรือ4 เหลี่ยมย่อมุม หรือ กลม หรือ 8เหลี่ยมวางเทินเหนือหลังองค์ระฆัง เพื่อตั้งรับ “ก้านฉัตร” และ “เสาหาน”



8. องค์ระฆัง องค์ประกอบส่วนที่สำคัญที่สุดของพระเจดีย์ในฐานะตัวเรือนของอาคารที่ทำเป็นรูปทรงกลมปากผายคล้ายระฆังคว่ำปากลงในงานสถาปัตยกรรมไทยองค์ระฆังนี้มีทั้งแบบทรงกลม ทรง 8 เหลี่ยม และทรง4เหลี่ยมย่อมุมตามคตินิยมของแต่ละยุคสมัย
ที่แตกต่างกัน





9. บัวคอเสื้อองค์ประกอบตกแต่งที่ทำเป็นรูปกระจังปั้นทับลงบนส่วนของสันบ่า“องค์ระฆัง”
*บัวคอเสื้อ คือ ปูนปั้นตกแต่งลวดลาย*





10. บัวปากระฆังชื่อเรียกส่วนประกอบที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายบางแห่งปั้นปูนประดับเป็นรูปกลีบบัว

11. บัวโถชื่อเรียกองค์ประกอบสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ย่อเหลี่ยมที่ทำเป็นรูปบัวมีกลีบขนาดใหญ่ดอกเดียวเทินรับองค์ระฆังแทน“บัวปากระฆัง”ในเจดีย์ทรงกลมบ้างเรียกว่า “บัวคลุ่ม” ก็มี



12. มาลัยเถาชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งที่ทำเป็นชั้นของ “บัว” หรือ “ลูกแก้ว”คล้ายพวงมาลัยซ้อนต่อกันขึ้นไป
3 ชั้น ใต้บัวปากระฆัง



ฐาน

ฐานมีหลายชื่อ แต่สำหรับหมุ่ช่างจะเรียกว่าฐานบัว ซึ่งพัฒนามาจากฐานหน้ากระดานโดยเพิ่มองค์ประกอบบัวคว่ำและบัวหงายลงไป



13.ฐานสิงห์ หรือฐานเท้าสิงห์เป็นฐานที่ช่างยกย่องว่าเป็นฐานชั้นสูงกว่าฐานอื่น ฐานเท้าสิงห์ ซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้เป็นชุดของ“มาลัยเถา” สำหรับเจดีย์ย่อเหลี่ยม



14. ฐานปัทม์ เป็นองค์ประกอบสำคัญทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งองค์หรือใช้เสริมองค์พระเจดีย์ให้ดูสูงขึ้นเหตุที่เรียกว่า “ฐานปัทม์” เนื่องเพราะโดยทั่วไปฐานชนิดนี้ก่อรูปด้วยลักษณะของฐานบัวชุด“บัวคว่ำ”และ“บัวหงาย” (ปัทม์หมายถึง ดอกบัว)

***การประดับฐานปัทม์เช่นครุฑ หรือมารทำให้ส่วนที่ประดับครุฑต้องคอดเข้าจึงมีที่เรียกส่วนนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เชิงบาตร” หรือ “เอวขัน***



ภาพแสดงพระปรางค์วัดอรุณ ที่เชิงบาตรประดับด้วยมารแบก กระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ ใบไม้ ฯลฯ



ภาพแบบฐานเชิงบาตรมารแบกโดยรองศาสตราจารย์สมใจ นิ่มเล็ก


15. ฐานเขียง เป็นชื่อเรียกฐานหน้ากระดานเกลี้ยงๆชั้นล่างสุดขององค์พระเจดีย์ ซึ่งแต่ละองค์แต่ละรูปแบบอาจจะมีฐานเขียงได้ตั้งแต่1-5 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปแล้วแต่จะกำหนด



ภาพฐานเขียงภูเขาทอง


SmileySmileySmileySmileySmiley


กรุณาติดตามชม..."เจดีย์บุญเขตอันเยี่ยม" ตอนต่อไปค่ะ





 

Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2555 19:22:20 น.
Counter : 52528 Pageviews.  

อยู่ก็รัก จากก็คิดถึง - น้อมเศียรเกล้า



"การระลึกถึงเป็นความดี การไม่ระลึกถึงเลยเป็นความเลวทราม"


-ปุณณนทีชาดก-



ชีวิตเป็นของน้อย ช่วงเวลาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลคู่หนึ่งยิ่งถือว่าน้อยไปกว่านั้น

มีคำเปรียบเปรยไว้ว่า ชีวิตของคนเราเปรียบประดุจดั่งน้ำค้างบนยอดหญ้า...
อธิบายว่าหยาดละอองน้ำค้างบนยอดหญ้าในรุ่งอรุณมีเพียงเล็กน้อย เมื่อถูกแสงอาทิตย์พลันก็เหือดแห้งสลายไป

สมัยหนึ่งพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นเจ้าชายแห่งมหานครอันรุ่งโรจน์ วันหนึ่งทรงขึ้นประทับรถอันประเสริฐแต่เช้าตรู่เสด็จทอดพระเนตรเห็นหยาดน้ำค้างที่ค้างอยู่บนยอดไม้ ยอดหญ้าปลายกิ่งและใยแมลงมุมเป็นต้นมีลักษณะเหมือนข่ายแก้วมุกดา ตรัสถามสารถีว่านั่นอะไร.

แล้วทรงได้สดับว่านั่นคือ...."หยาดน้ำค้าง"ที่ตกในเวลามีหิมะ.

ทรงเพลิดเพลินอยู่ ณ พระราชอุทยาน ตอนกลางวันครั้นตกเย็นเสด็จกลับ ไม่ทรงเห็นหยาดน้ำค้างเหล่านั้น จึงตรัสถามถึงหยาดน้ำค้างเหล่านั้น

ครั้นทรงสดับว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นหยาดน้ำค้างทั้งหมดก็สลายละลายไป ก็ทรงดำริว่า "หยาดน้ำค้างเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วสลายไปฉันใดแม้สังขารคือชีวิตของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ก็ฉันนั้น เช่นกับหยาดน้ำค้างที่ยอดหญ้า".

(อรรถกถายุธัญชยจริยาที่ ๑)

ชีวิตจึงเป็นของน้อย..ขึ้นชื่อว่าน้อย เพราะมีจำกัด และไม่นานนัก ก็ถูกต้อนไปสู่ ความชรา และความตายเหมือนหยาดน้ำค้าง

แนวความคิดเรื่องหยาดน้ำค้าง ไม่ได้ให้ข้อคิดเรื่องความน้อยของอายุมนุษย์เท่านั้น แต่ให้แนวคิดเรื่องปฏิสัมพันธ์ต่อบุคคลคู่หนึ่ง ว่ามีระยะเวลาที่สั้นนัก เมื่อเทียบกับอายุที่มีน้อยแล้ว

ชีวิตหนึ่งชีวิตถึงแม้ มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลมากมาย แต่ล้วนแล้วไม่ยืนยาวเลย เพราะเมื่อถึงเวลาหนึ่ง ก็ต้องประสบกับความพลัดพรากเป็นที่สุด

ในโคลงโลกนิติอันเป็นสุภาษิตเก่าแก่ มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงปฏิสัมพันธ์ ๒ แบบว่า

รักกันอยู่ขอบฟ้าเขาเขียว
เสมือนอยู่หอแห่งเดียว ร่วมห้อง
ชังกันบ่แลเหลียวตาต่อ กันนา
เหมือนขอบฟ้ามาป้อง ป่าไม้มาบัง


มีความหมายว่าบุคคลถ้ามีจิตเลื่อมใสต่อกัน ถึงแม้กันกันสุดขอบฟ้าก็เหมือนอยู่ใกล้ชิดกัน ตรงกันข้าม หากมีจิตคิดประทุษร้ายต่อกัน และชิงชังต่อกัน แม้ใกล้กันเพียงอยู่ต่อหน้าย่อมชื่อว่า...อยู่ไกลกัน

บุคคลควรสร้างไมตรีอันดีงามต่อกัน เพราะช่วงเวลาที่ได้มาพบกันนั้น เป็นเวลาที่น้อย

มีพระคาถาบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ญาติยิ่งมีมากยิ่งดี... แม้ต้นไม้ที่เกิดในป่า หากอยู่เป็นหมุ่ได้เป็นดี เพราะต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่โดดเดี่ยว ถึงจะใหญ่โต ลมย่อมพัดให้หักโค่นได้…คำว่าญาติในที่นี้มิได้หมายถึงญาติทางสายโลหิตอย่างเดียว แต่หมายถึงบุคคลที่มีความสนิทสนมรักใคร่ มีไมตรีต่อกันกันประดุจญาติ...เพราะความสนิทสนมแท้จริงแล้วกล่าวว่า..เป็นญาติอย่างยิ่ง

สมเด็จพระผู้มีพระภาคประทานโอวาทธรรมเกี่ยวกับการผูกไมตรี และ หลักธรรมที่ทำให้ระลึกถึงกัน เรียกว่า สาราณียธรรม ไว้ ๖ ประการต่อไปนี้

๑.เมตตากายกรรม ตั้งใจทำกายกรรมด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง กายกรรมคือ จะทำอะไรก็ทำต่อกันด้วยเมตตา ทำต่อกันด้วยความรัก ช่วยเหลือกันเป็นต้น

๒.เมตตาวจีกรรม ตั้งใจทำวจีกรรม คือพูดด้วย,พูดถึง ด้วยจิตเมตตาต่อกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๓.เมตตามโนกรรม ตั้งใจทำมโนกรรม ตั้งจิตด้วยเมตตาทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔.สาธารณโภคี แบ่งปันลาภที่หามาได้โดยชอบธรรมแก่กันและกัน

๕.สีลสามัญญตา มีศีลเสมอกัน คือ ความประพฤติกางกาย ทางวาจา ได้ดีเสมอกัน

๖.ทิฏฐิสามัญญตา มีความเห็นเสมอกัน ไม่ทะเลาะวิวาทกัน

ธรรม ๖ ประการนี้ มีคุณคือ

๑.เป็นสารณียะ : ทำให้เป็นที่ระลึกถึง
๒. เป็นปิยกรณ์ : ทำให้เป็นที่รัก
๓. เป็นครุกรณ์ : ทำให้เป็นที่เคารพ
๔. เป็นไปเพื่อความสงเคราะห์ : ความกลมกลืนเข้าหากัน
๕. เพื่อความไม่วิวาท เพื่อความสามัคคีและ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

(พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม )

มิตรสหายใดๆ เมื่อปฏิบัติหลักธรรม ทั้ง ๖ ประการนี้แล้ว เชื่อว่า ได้ปฏิบัติธรรม อันเป็นไมตรีต่อกัน ยามเมื่ออยู่ด้วยกันก็เป็นเหตุให้ รักใคร่สมัครสมานกัน และเมื่อกาลเวลาแห่งกาลพลัดพรากมาถึง ไม่ว่าจะเป็นการพลัดพรากด้วยสาเหตุใดก็ตาม ก็เป็นการพลัดพราก ด้วยจิตรักใคร่เลื่อมใส และระลึกถึงกัน ดั่งภาษิตไทยโบราณที่กล่าวไว้ว่าเมื่ออยู่ทำให้เขารัก เมื่อจาก... ให้เขาคิดถึง


ขอขอบพระคุณ @Single Mind for Peace 6 ม.ค 2553
ถ้อยคำโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 06 มกราคม 2555    
Last Update : 8 มกราคม 2555 5:51:26 น.
Counter : 2795 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.