Group Blog
 
All Blogs
 

ให้แล้วให้เลย กลับคืน ๑๐๐ บาท - น้อมเศียรเกล้า

นึกย้อนไปสมัยเด็กๆ เราเคยมีคำพูด และเพลงต่างๆที่ร้องง่ายๆ ใช้กันในกลุ่มเด็กๆ อยู่หลายประโยคทีเดียว พอเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังคงจดจำกันได้ และบางคนอาจจะต้องแอบยิ้มถ้าได้ยินประโยค หรือเพลงเหล่านี้

สมัยวัยเด็กของผู้เขียน จะมีคำพูดอยู่คำหนึ่งที่ใช้กันในหมู่เด็กว่า
“ให้แล้วให้เลย กลับคืนคืนร้อยบาท”

แปลได้ว่า ให้แล้วอย่าเอาคืนนะ...เด็กๆเมื่อเวลาได้รับของอะไรจากเพื่อน ก็มักจะพูดประโยคนี้เป็นการดักคอไว้ก่อน ว่า...ได้โปรดเถอะให้แล้ว อย่าเอาคืนเลย แต่เด็กๆก็คงจะพูดอ้อนวอนกันไม่เป็น ครั้นจะให้พูดจาจ๊ะจ๋าขอร้องอ้อนวอนเด็กด้วยกัน ก็ทำไม่ได้ จึงได้คิดคำพูดนี้ขึ้นมา และกลายเป็นคำติดปากไปทั่วในสมัยนั้น

"ให้แล้วให้เลย" ตรงกับคำสอนของพระผุ้มีประภาคเจ้าที่ว่า เมื่อให้ทานแล้วก็จงตัดขาดจากทานนั้น ไม่นึกเสียดายอีกภายหลัง เป็นการให้ทานตรงตามหลักของพระพุทธศาสนา การทำทานหรือการให้นี้ จัดเป็นการบำเพ็ญบารมีอย่างหนึ่งในบารมีสิบทัศ

จุดประสงค์ของการให้อาจแบ่งออกเป็น ๔ ประเภทใหญ่ๆ คือ

๑. ให้เพื่ออนุเคราะห์ โดยมากเป็นการให้เพื่อ ช่วยเหลือ อย่างผู้ใหญ่ให้แก่เด็ก
๒. ให้เพื่อสงเคราะห์ คือให้เพราะต้องการช่วยเหลือให้เขาพ้นจากความเดือดร้อน
๓. .ให้เพื่อแสดงความกตัญญูตอบแทนคุณ
๔. ให้เพื่อสละคลายความตระหนี่ และความหวงแหนออกจากใจ เป็นการให้เพื่อบำเพ็ญบุญลดละกิเลสตามหลักของพระพุทธศาสนา (พระภาวนาวิริยคุณ)

การให้ประเภทที่ ๔.จึงจัดเป็นการให้ที่สูงที่สุดของบุคลผู้ที่มีปัญญามาในทุกสมัย สิ่งของที่จะมอบให้แก่กันมีหลายอย่าง แบ่งออกเป็นประเภทดังนี้

๑.ให้สิ่งของเป็นทาน เรียกกันว่า อามิสทาน เช่น ให้ข้าวปลาอาหาร ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้วัตถของน่าชอบใจ เป็นต้น

๒.ให้ความรู้เป็นทานหรือ ธรรมทาน ให้ความรู้ ทางโลกท่านเรียกว่า วิทยาทาน ให้ความรู้ ทางธรรม ท่านเรียกว่า ธรรมทาน

๓.ให้อภัยทาน คือ ให้อภัย ไม่ถือโกรธ ไม่จองเวรกับผู้ใดในโลก

นี้ถือว่าเป็นทานในพระพุทธศาสนา




การทำทานนี้ยังเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงสภาวะจิตใจที่สูงส่ง เพราะสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ประการหนึ่งก็คือ ทาน หรือการให้นี่เอง มนุษย์เท่านั้นที่ให้เป็น แต่สัตว์ให้กันไม่เป็น หากจะให้ก็ให้เพียงเพราะสัญชาตญาณเท่านั้น เช่นแม่นกหาอาหารมาป้อนลูกนกครั้นลูกเติบโตแล้วก็ไม่ให้อีก ครั้นมาแย่งกลับจะโดนแม่ทำร้ายนี่ก็มี..นี่เป็นเรื่องของสัตว์

ต่างจากมนุษย์ที่รู้จักให้ เพราะมีภูมิธรรมที่สูงกว่าสัตว์ การให้ทานของมนุษย์มีสาเหตุมากจาก ๒ ประการคือ ๑) ให้เพราะมีปัญญาสัมมาทิฏฐิ และ ให้เพราะ ๒) มีความไม่ตระหนี่ และสิ่งจะทำให้ทานนั้นมีผลมาก ผู้บำเพ็ญทานจะต้องมี “เจตนาสัมปทา” คือมีจิตศรัทธา เลื่อมใสในการให้ทานไม่เสียดายวัตถุข้าวของใน ๓ กาลคือ

๑. บุพพเจตนา- ก่อนให้ทานมีใจเบิกบาน รู้สึกยินดี ที่จะได้ให้
๒. มุญจนเจตนา- ขณะให้ ก็มีความปิติเบิกบาน ชื่นอกชื่นใจ
๓. อปราปรเจตนา- ครั้นเมื่อให้ทานผ่านไปแล้วเมื่อย้อนนึกถึงการให้ทานครั้งนั้นเมื่อใดก็เกิดปิติชื่นชมโสมนัสไม่รู้สึกเสียดาย

เมื่อมีเจตนาพร้อมทั้ง ๓ กาล ท่านเรียกว่า เจตนาสัมปทา คือถึงพร้อมด้วยเจตนา และยิ่งถ้าประกอบด้วย วัตถทานที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ไม่ผิดศีลผิดธรรมได้มา ชื่อว่า วัตถุสัมปทา อีกอย่าง ย่อมทำให้ทานมีผลมากมีอานิสงฆ์มาก ยิ่งถ้าผู้รับเป็นผู้มีความบริสุทธิ์มาก มีคุณธรรมมาก ทานนั้นย่อมมีอานิสงค์

คำสอนในพระพุทธศาสนาสอนว่า ให้บำเพ็ญทาน อันว่า “หม้อที่เต็มด้วยน้ำ ที่เขาวางคว่ำปากลง น้ำย่อมไหลออกหมด ไม่ขังติดอยู่ในหม้อนั้น ฉันใด ท่านเห็นยาจกทั้งหลาย ทั้งชั้นต่ำ ชั้นกลาง และชั้นสูงแล้ว จงให้ทานอย่าให้เหลือ ดุจหม้อน้ำที่เขาวางคว่ำปากไว้ ฉันนั้นเหมือนกัน”.

และเมื่อให้แล้วก็จงตัดขาดทานนั้นออกจากใจ ไม่เสียดาย ไม่เรียกคืนอีก..สมัยหนึ่งพระบรมโพธิ์สัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเวสันดร ทำมหาบริจาค สละบุตรอันเป็นทีรักให้ชูชก เมื่อกุมารน้อยทั้งสองร้องไห้ ร้องขอความช่วยเหลืออย่างน่าสงสาร พระองค์ดำริหมายจะช่วยเหลือด้วยเกิดมีความอาลัยในพระกุมารทั้งสองนั้นแต่ เมื่อรำลึกได้ว่า มหาบริจาคนี้เป็นเพื่อพระโพธิญาณ มิควรเรียกคืนอีก และจึงสงบพระทัยและประทับนิ่งอยู่ตามเดิม

มีพระพุทธพจน์บทหนึ่ง ที่ว่า ขุมทรัพย์ทั่วไปมักมีอันตรายจากอัคคีภัย โจรภัย และราชภัย แม้จากลูกหลานอันไม่เป็นที่รัก แต่ขุมทรัพย์คือ บุญ ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ขุมทรัพย์คือ บุญ ติดตามตนไปทุกหนแห่ง เป็นของเฉพาะตัว ใครๆในโลกก็ขโมยไปไม่ได้ ขุมทรัพย์คือ บุญ ย่อมให้ผลในมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติ”

สรุปแล้ว อะไร อะไรก็เอาไปไม่ได้ มีเพียง บุญและบาปเท่านั้นที่จะติดตามเจ้าของไป ทั้งภพชาตินี้และชาติหน้า

ไม่ว่าใครไม่เว้นแต่เด็ก เเมื่อได้รับของที่รักที่ชอบใจ ก็ชื่นอกชื่นใจ ปรารถนารักใคร่ ไม่อยากให้เขานำคืนไป หากเขาเอาคืนแล้วย่อมรู้สึกเสียดาย เสียใจก็มี เด็กๆพูดไม่เป็น เก็บความรู้สึกปิติไม่อยู่ เป็นที่มาของคำว่า “ให้แล้วให้เลย กลับคืน ๑๐๐บาท”

อาจแปลเป็นภาษาที่เข้าใจได้ง่ายๆว่า “ ขอบคุณนะ ฉันชอบมากและได้โปรดเถอะ ให้แล้วอย่าเรียกเอาคืนเลย”..ดังนี้




ขอขอบพระคุณ @ Single Mind for Peace ที่อนุเคราะห์ภาพ
บทความธรรมะโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2553    
Last Update : 14 กรกฎาคม 2555 11:11:39 น.
Counter : 2222 Pageviews.  

ไม่อยากเสียคนก็..อย่าไปรักอะไรให้มากนัก - น้อมเศียรเกล้า

“พลอยเคยสังเกตบ้างหรือเปล่า” ของต่างๆที่คนเขาว่ามีราคานั้น ที่มันมีราคาจริงๆก็เพราะปากคนว่า

ถ้ามีใครที่คนเชื่อถือบอกว่าอย่างนั้นดีอย่างนี้ดี อีกหน่อยคนก็ตามไปหมดพลอยเห็นดีเห็นงามได้ด้วยกัน เมื่อข้ายังเด็กๆยังได้เคยเห็นชาววังตัดผมสั้นๆถอนไร มีผมทัดยาวเกือบถึงบ่า แต่งตัวก็รุงรังเต็มทีใส่ปะวะหล่ำกำไลราวกับละครรำ แต่สมัยนั้นก็เห็นกันว่าสวยงามไปหมด เดี๋ยวนี้ทรงผมก็เปลี่ยนเป็นยาวขึ้น ผมทัดไม่ปล่อย เครื่องเพชรเครื่องพลอยก็แบบนอก มีงานมีการก็ใส่เสื้อแบบฝรั่ง คนก็เห็นสวยอีก อย่างเจ้านายในวัง จะนัดกันเอากรวดมาแขวนคอ ก็คงจะมีคนเห็นสวยเห็นงามตามไปบ้างกระมัง

แต่ก็นั่นแหละ...จะเป็นกรวดหรือเพชร ถ้าเราไปนึกรักมันเข้าแล้วหายไปเมื่อไร ก็เสียดายยิ่งรักมากยิ่งเสียดายมาก บางคนถึงกับเสียคนไปก็มี ถ้าเราไม่อยากทุกข์มาก ไม่อยากเสียคน ก็อย่าไปรักอะไรให้มากนัก”

จาก: วรรณกรรมเรื่องสี่แผ่นดิน


วรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เป็นวรรณกรรมน้ำเอกประพันธ์โดย ม.ร.ว. ศึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ฉันได้หยิบวรรณกรรมชิ้นนี้ขึ้นมาอ่านทบทวนอีกครั้ง เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเพราะบังเอิญไปได้ยินเพลง “ มยุราภิรมย์ “ ที่ประกอบละครเรื่องนี้เข้า พอได้ยินเสียงเพลง ก็พลันนึกถึงความประทับใจสมัยที่ได้ชมละครเรื่องนี้ทางโทรทัศน์

ประกอบกับได้กลับไปอ่านบทประพันธ์จากหนังสืออีกครั้ง จึงได้เห็นว่า ในวรรณกรรมเรื่องนี้ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับเรื่องคุณธรรมต่างๆ ทั้งคุณธรรมของตัวละคร ก็คือ แม่พลอยเอง หรือ จะเป็นแนวคิดต่างๆที่ผ่านมาจากบุคคลรอบตัวของแม่พลอย คราหนึ่งสมัยที่พลอยต้องอกหัก เพราะคนที่พลอยรักต้องไปแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น เสด็จฯรับสั่งหาพลอย เพื่อให้พลอยคัดเลือกเม็ดทับทิมให้ แล้วก็รับสั่งกับพลอยเปรยๆดังข้อความข้างต้น

ข้อความในบทประพันธ์ที่เสด็จรับสั่งกับพลอย ทำให้ฉันนึกถึงคำสอนในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่งก็คือ

"เมื่อเอาใจไปยึดกับสิ่งใดเข้าแล้วก็ย่อมมีทุกข์"




ครั้งหนึ่งหลวงพ่อชาท่านเคยเทศนาสอนว่า สิ่งใดก็ตามจะดีหรือไม่ดีเป็นสุข หรือ ทุกข์ ก็เพราะใจของเราที่ไปปรุงแต่งมันขึ้นมา อย่างเช่นไม้ท่อนหนึ่ง มาถามคนๆหนึ่งว่าอันนี้สั้นหรือยาว ถ้าถามคนที่ อยากจะได้ไม้ที่ยาวกว่านี้ก็จะมองไม้นี้ว่าสั้น ในขณะที่คนที่อยากจะได้ไม้ที่สั้นกว่านี้ก็จะมองไม้นี้ว่ายาว หลวงพ่อชาท่านว่า “เพราะตัณหาของคุณต่างหาก ทำให้มีสั้นมียาว มีชั่ว มีทุกข์ มีสุขขึ้นมา”


สิ่งที่เสด็จรับสั่งกับพลอยก็คงเป็นไปในแนวนี้ คือสิ่งไหนที่คนพากันปรุงแต่งว่าดี ก็กลายเป็นสิ่งที่ดี สิ่งใดที่คนพากันปรุงแต่งว่าไม่ดี ก็กลายเป็นสิ่งที่ไม่ดี สิ่งเดียวกันนี่แหละ เดี๋ยวก็กลายเป็นของดีในกาลหนึ่ง และกลับกลายเป็นของไม่ดีไปในอีกกาลหนึ่ง เพราะการปรุงแต่งของใจคน


เรื่องการแต่งตัวของคนสมัยก่อนที่เสด็จรับสั่งกับพลอย ฉันก็เห็นว่ายังคงเป็นจริงมาอยู่จนทุกวันนี้ เช่นครั้งหนึ่งที่รองเท้าส้นตึก กางเกงขาบาน กลายมาเป็นแฟชั่นยอดนิยม ต่อมาก็ตกยุคไปเมื่อคนพากันไปชมชอบแฟชั่นแบบอื่น และในที่สุดก็กลายมาเป็นที่นิยมอีกสมัยหนึ่ง เป็นอย่างนี้รอบแล้วรอบเล่า วนเวียนเป็นวัฏฏะ ทั้งที่เป็นของอย่างเดียวกัน แต่ถูกมองว่าดีในสมัยหนึ่ง และไม่ดีในสมัยหนึ่ง


ความปรุงแต่ง มีมาตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน เมื่อใดที่ปรุงแต่งสิ่งต่างๆไป ว่าดี ว่าสวย ว่าน่าใคร่ ว่าน่าปรารถนา ก็พากันยึด อยากจะให้สิ่งที่ดีที่สวยที่น่าใคร่ที่น่าปรารถนาอยู่กับเราตลอดไป สิ่งที่ไปปรุงแต่งว่าไม่ดี ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถเราก็ไม่อยากได้ ไม่อยากเป็น เรียกว่ารักสุข เกลียดทุกข์



พระพุทธองค์ท่านตรัสแสดงว่า การที่บุคคลเมื่อมีความพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้ว่าเป็นความพอใจของกาม เช่น ..เมื่อประกอบอาชีพลำบากตรากตรำ หนาวร้อน หิวกระหาย เป็นต้น การที่เพียรพยายามแต่ไม่ได้ผล ก็ต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือได้ผลแล้วก็ต้องทุกข์กาย ทุกข์ใจ เพราะต้องการจะรักษาสิ่งที่หามาได้ เช่น ลาภ ยศต่างๆไม่ให้หายไป ไม่ให้เป็นอันตราย, แต่พอมีอันตรายก็โศกเศร้าอีก มีการทะเลาะกับคนทั้งหลาย แล้วทำร้ายร่างกายกัน, ใช้อาวุธฆ่ากัน, ต่อมาก็ถูกลงโทษทรมานต่างๆเพราะทำความผิด แต่ละอย่างที่ว่านี้ เป็น “กองทุกข์ที่เห็นทันตา” เมื่อตายไปแล้วยังเข้าถึง อบาย ทุคคติ วินิบาต และนรก

(มหาทุกขักขันธสูตร)

เรียกว่าเป็นทุกข์ จากสิ่งที่เราไปปรุงแต่งว่าเป็นของชอบใจหรือไม่น่าชอบใจ

มนุษย์ทั้งหลายต่างเกลียดทุกข์ รักสุข แต่หารู้ไม่ว่า สุขก็คือทุกข์อย่างละเอียดถ้าเราไปยึดไปถือ โดยเปรียบเทียบได้ว่าสุขและทุกข์ก็คือ งูตัวเดียวกัน

“มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุข ความจริงสุขนั้นก็คือ ทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง ส่วนทุกข์ก็คือ ทุกข์อย่างหยาบ

พูดอย่างง่ายๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน
คือ ตัณหา ความลุ่มหลงนั่นเอง”

“ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้มาแล้วก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆเพราะยังมีความเคลือบแคลงใจ ว่ามันจะสูญเสียไป กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่หมายความว่า ถึงจะสุขก็จริงแต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย แต่เราไม่รู้จัก เหมือนกันกับว่าเราจับงู ถึงแม้ว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลับมากัดได้” (พระโพธิญาณเถระ)

ความยึดติดยึดมั่นยึดถือในสิ่งต่างๆนอกจากเปรียบเหมือนการจับงูแล้ว ยังเปรียบเหมือนการถือคบเพลิงหญ้า ซึ่งในไม่ช้าก็จะทำให้ผู้ถือ ผู้ติด ผู้ข้องได้รับความเดือดร้อน ประดุจดังผู้ถือเอา คบหญ้าที่มีไฟติด เดินทวนลมไป ถ้าผู้ถือไม่รีบโยนทิ้งเสียโดยเร็ว ไฟย่อมไหม้มือหรือแขนส่วนอื่นๆของร่างกาย ได้รับทุกข์ทรมานอย่างมาก

ก็คงจะสมดังที่เสด็จจับสั่งกลับพลอยว่า “หากไม่อยากจะเสียคนก็อย่าไปรักอะไรให้มากนัก ดังนี้”

น้อมเศียรเกล้า

๒๖ มิถุยายน ๒๕๕๑




ขอขอบพระคุณภาพชุด"อโศการามแดนธรรมนำล่วงโศก"จาก @Single Mind for Peace
บทความธรรมะโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:08:42 น.
Counter : 1116 Pageviews.  

"เพื่อน" กับ คนที่"ไม่ใช่เพื่อน"- น้อมเศียรเกล้า

เราทุกคนล้วนแต่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งตัวเราและผู้คนเหล่านี้ต่างก็ค่อยๆเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนกระทั่งวันหนึ่งเราก็พบว่าเราได้เอา ความคิด ค่านิยม ทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่งของเขามาเป็นของเราโดยไม่รู้ตัว และเขาเองก็ได้เรียนรู้และซึมซับเอาความคิด และค่านิยมของเราไปด้วย เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม

คนเราอยู่รวมกันเป็นสังคม และไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว การที่เรามารวมกันเช่นนี้ ทำให้เรามีแบ่งแยกและจัดลำดับของความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ เช่น กลุ่มครอบครัว ญาติ คนรัก เพื่อนหรืออาจจะเป็นศัตรู!

ในชีวิตเราอาจจะมีคนที่เราเรียกว่า เป็น "เพื่อน" อยู่มากมาย คนนั้นก็เพื่อน คนนี้ก็เพื่อน คนรู้จักกันนิดๆหน่อยก็เรียกเพื่อน แต่จริงๆแล้วใครกันที่เรียกได้ว่าเป็น ”เพื่อน” ???




ลักษณะของคนที่ไม่ใช่เพื่อน ๑๖ ประการในมิตตามิตชาดก

ผู้ไม่ใช่เพื่อน เมื่อเห็นเพื่อนแล้วก็จะไม่ยิ้มแย้ม
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่แลดูเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะกล่าวคำย้อนเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน คบหาศัตรูของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน
ผู้ที่ไม่ใช่เพื่อน ไม่บอกความลับแก่เพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
ผู้ไมใช่เพื่อน จะยินดีในความหายนะของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ได้อาหารที่ดีมีรสอร่อยมาแล้วก็มินึกถึงเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่าทำอย่างไรถึงเพื่อนของเราจะได้ลาภอย่างนี้บ้าง



ส่วนผู้เป็นเพื่อนนั้นย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ยินดีต้อนรับ เพื่อนผู้มาหา รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาไพเราะ คบหามิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่มิใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน ผู้เป็นมิตรย่อมบอกความลับแก่เพื่อนได้ ปกปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของเพื่อน และสรรเสริญปัญญาของเพื่อน ผู้เป็นมิตรยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีความเสื่อมของเพื่อน หากได้อาหารอร่อยย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อน คิดว่าทำอย่างไรเพื่อนของเราจะได้ลาภอย่างนี้บ้าง

พอลองนึกถึงคนรอบๆตัวเรา แล้วเอามาเปรียบเทียบกับเกณฑ์นี้ก็จะพบว่าคนที่เข้าข่ายในลักษณะต่างๆ ก็รู้ว่าคนไหนใช่เพื่อน และไม่ใช่เพื่อน

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการพิจารณา “คนที่นับว่าเป็นเพื่อน”ไว้ในชาดกต่างๆ ยกตัวอย่างดังนี้

ปากบอกว่าเป็นเพื่อน แต่ไม่ช่วยเพื่อน อย่างนี้ไม่ใช่เพื่อน

“ผู้ใดไม่มีความอายทำลายเมตตา พูดแต่ว่าเราเป็นเพื่อนท่านๆ แต่มิได้เอื้อเฟื้อช่วยทำการงาน บัณฑิตรู้จักผู้นั้นดีว่ามิใช่มิตรสหาย เพราะว่าบุคคลทำอย่างไรก็ควรกล่าวอย่างนั้น ไม่ทำอย่างไร ก็ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ผู้ใดมุ่งความแตกร้าวคอยแต่จับผิด ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ส่วนเพื่อนที่ผู้อื่นยุยงให้แตกกันไม่ได้ ไม่มีความรังเกียจในเพื่อน นอนอยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรนอนแอบอกมารดา ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้ “ (หิริชาดก.)



ความพินาศจักบังเกิดหากคบหากับคนพาล

“ผู้ใดคุ้นเคยกะเจ้าแล้วอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ ผู้ใดเชื่อถือคำพูดเจ้ายกโทษให้เจ้าได้ เจ้าไปจากที่นี้แล้วคบหาผู้นั้นเถิด ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เจ้าไปจากที่นี้จงคบหาผู้นั้น ทำตนให้เหมือนบุตรของผู้นั้นเถิด

คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น กลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าไปคบคนเช่นนั้นแม้พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไม่มีมนุษย์อื่นเหลืออยู่ก็ตาม จงหลีกคนนั้นให้ห่างไกล เหมือนอยู่ห่างอสรพิษดุร้าย หรือเหมือนหลีกทางที่เปื้อนอุจจาระ ความพินาศมีแก่ผู้คบคนพาล การอยู่ร่วมคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อดุจอยู่ร่วมกับศัตรู”

เพื่อนไม่ดี ก็จากไปเสีย ไม่จำเป็นต้องคบหา

“บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือนไม่ดี พึงอ่อนน้อมต่อผู้อ่อนน้อม พึงคบผู้ที่เขาพอใจจะคบด้วย และทำกิจแก่ผู้ช่วยทำกิจ ไม่ควรทำความเจริญแก่ผู้หวังความเสื่อมให้ตน ไม่ควรคบผู้ที่ไม่พอใจจะคบหาด้วย ไม่พึงสิเน่หาในผู้เลิกลา ไม่พึงสมาคมกับผู้มีจิตคิดออกห่าง นกรู้ว่าต้นไม้ผลหมดแล้วย่อม บินสู่ต้นอื่น คนก็รู้ว่าเขาหมดอาลัยแล้วควรเลือกหาคนอื่นที่เขาสมัครรักใคร่เพราะโลกกว้างใหญ่พอ (โคธชาดก)



คบคนเช่นไรก็เป็นคนเช่นนั้น พึงคบหาบัณฑิต ไม่คบหาคนลามก (คนพาล)

“ผู้คบคนเช่นใดเขาย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของบุคคลนั้น บุคคลคบคนเช่นไรย่อมเป็นเช่นคนนั้น อาจารย์คบอันเตวาสิกย่อมทำอันเตวาสิกที่ยังไม่แปดเปื้อนให้แปดเปื้อนเหมือนลูกศรเปื้อนยาพิษ ทำแล่งลูกศรให้เปื้อนด้วย

ฉะนั้น นักปราชญ์ไม่พึงมีเพื่อนลามกเพราะจะแปดเปื้อนบาป นรชนใดห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา ใบหญ้าคานั้นก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไป ฉันใด การเข้าไปคบหาคนพาลก็เช่นนั้น นรชนใดห่อกฤษณาด้วยใบไม้ ใบไม้นั้นหอมฟุ้ง การคบหานักปราชญ์ย่อมเป็นเช่นกัน บัณฑิตรู้ความเปลี่ยนแปลงของตนดั่งการห่อใบไม้แล้วไม่ควรเข้าไปคบหาพวกอสัตบุรุษ ควรคบหาแต่เหล่าสัตบุรุษ ด้วยว่าอสัตบุรุษฉุดไปนรก สัตบุรุษพาให้ถึงสุคติ (สัตติคุมพชาดก)

การคบเพื่อน มี ๓ แบบ คบคนที่ดีกว่า คบกันที่เสมอกัน และคบคนทีเลวกว่า
“คนสูงส่งแต่คบคนต่ำทรามจะเป็นคนเลวกว่าคนนั้นทีเดียว ผู้คบหาคนเลวทรามเป็นปกติจะเสื่อมเสีย แต่ผู้คบหาคนเสมอกันเป็นปกติจะไม่เสื่อมเสียในกาลไหนๆ ส่วนผู้คบหาคนที่ประเสริฐสุดจะเข้าถึงเขาโดยเร็ว เพราะฉะนั้นควรคบแต่คนที่สูงกว่าตน

หมายเหตุ : มีความเห็นว่า หากจะคบกับผู้ที่ด้อยกว่าตน ก็ควรเป็นไปเพื่ออนุเคราะห์ คนเราไม่จำเป็นต้องแบ่งพักแบ่งพวกกันก็จริงอยู่ แต่หากจำเป็นจะต้องคบหามิตรที่คุณธรรมด้อยกว่าตน ก็ไม่ควรที่จะประพฤติตนตามแบบนั้น



บุคคลไม่ควรประทุษร้ายต่อมิตร

ในปัณฑรกชาดก กล่าวว่า บุคคลไม่ควรประทุษร้ายมิตร เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทรามที่สุด จะหาคนอื่นที่เลวกว่าเป็นไม่มี เช่นเดียวกับผู้ที่ไปอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่น พอได้ประโยชน์ก็ทำลายเขา คนอย่างนี้ไม่ควรคบ โดยเฉพาะผู้ที่ไปร่ำเรียนกับท่านสุดท้ายก็เนรคุณท่านประพฤติตนดังศิษย์เนรคุณเป็นต้น

“บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใดไม่ควรหักรานกิ่งของไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า ผู้ขจัดความสงสัยได้ชื่อว่าเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งพาของบุรุษนั้น คนมีปัญญาไม่พึงละ มิตรภาพกับอาจารย์เช่นนั้น.” (ภูริปัญหาชาดก)

คบคนเช่นไรถูกมองว่าเป็นคนเช่นนั้น ท้ายสุดก็เป็นไปเหมือนบุคคลเช่นนั้นจริงๆ

ผู้ที่มีอุปนิสัย มีรสนิยม มีความชอบ มีพื้นฐานทางสังคม แนวคิด ศาสนาที่คล้ายกันแม้นอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายกันก็จะคบหากัน

...ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ ส่วนใครมีอุปนิสัยเป็นเช่นไร ก็พึงดูเอาได้จากบุคคลที่เขาคบหาอยู่ แม้นตอนแรกบางคนอาจมิได้มีนิสัยเหมือนกับคนที่เราคบ แต่พอนานเข้าก็ย่อมรับอุปนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งของเขามาเป็นของเราอย่างแน่นอน ถ้ารับของดีมาก็ดีไป แต่ถ้ารับสิ่งไม่ดีมา ถึงกับพินาศได้ทีเดียว



สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนเราคบกันโดยธาตุ มีเรื่องเป็นมาดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสป พระอนุรุทธ พระปุณณมันตานีพระอุบาลี พระอานนท์ แม้พระเทวทัตต์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสารีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก
พ. พวกเธอเห็นมหากัสสปกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท
พ. พวกเธอเห็นอนุรุทธ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ
พ.พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก
พ.พวกเธอเห็นอุบาลีกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย
พ.พวกเธอเห็นอานนท์ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต
พ.พวกเธอเห็นเทวทัตต์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี แม้ในอดีตกาล ปัจจุบัน อนาคต สัตว์ทั้งหลายก็คบหากันเช่นนี้ (จังกมสูตร)

เมื่อจะคบกันให้นำความเจริญมาสู่ซึ่งกันและกัน และคบกันให้ได้ยืนยาว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสอนวิธีการวางตนกับบุคคลต่างไว้ในเรื่อง ทิศ ๖ เป็นหลักการปฏิบัติกับบุคคลต่างๆที่เราต้องเกี่ยวข้อง อุปมาดังทิศที่อยู่รอบตัวเรา ๖ ทิศ

การปฏิบัติต่อเพื่อนซึ่งเปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้ายมีดังนี้
พึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้ และมิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. พูดจามีน้ำใจ
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔. มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

(สิงคาลกสูตร)



อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จ เสวนา การไม่คบคนพาล และคบแต่บัณฑิต จัดเป็นมงคลชีวิตข้อต้นๆจากมงคลทั้ง ๓๘ ข้อ เห็นได้ว่าการเลือกคบเพื่อนนั้นมีความสำคัญมากในชีวิต เพื่อนที่ดีเรียกว่า “กัลยาณมิตร” ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแต่เพื่อนที่ดีตามความหมายทั่วไป แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม และชักนำไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม

"เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นก่อนเป็นบุรพนิมิตฉันใด การมีกัลยาณมิตรเป็นบุรพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของหนทางพระนิพพานแก่ผู้ประพฤติธรรมฉันนั้น"

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำเป็นบุพพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”

(สํ.ม.)



ภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “งูพิษที่เลวร้ายมีค่ากว่าเพื่อนเลวที่หักหลัง” ก็สมดังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ให้หลีกหนีคนพาลซะยิ่งกว่าหลีกหนีอสรพิษ อันงูพิษถึงจะกัดบางก็ไม่ถึงตาย ถึงจะตายก็ไม่ได้เจ็บใจ แต่เพื่อนเลวหักหลังทั้งเจ็บตัว ชีวิตพังพินาศและเจ็บใจไปจนตายก็มี

ตอนนี้ถึงจะรู้แล้วว่าใครเป็นเพื่อน ใครไม่ใช่เพื่อนก็ตาม แต่ก็ “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่ออยู่ดี !!! แต่ช่างเถิด..เพราะท่านว่า “ถ้าไม่ประสบคนดีกว่าหรือเป็นเช่นกับตน ควรเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นไว้ เพราะความเป็นสหายในคนพาลย่อมไม่มี.”

“หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” การจะรู้จักใครสักคนไม่ใช่อาศัยเวลาอันสั้น ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน ขอให้ทุกท่านได้พบมิตรแท้ค่ะ.




ภาพชุด "ใจเดียวเที่ยวขุนสมุทร" จาก @Single Mind for Peace และ
ภาพชุด "ใจหนึ่งซึ่งอาวรณ์. จาก น้อมเศียรเกล้า


บทความธรรมะเรียบเรียงโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:11:07 น.
Counter : 1617 Pageviews.  

"กาลกิณี"กับ"สีเสื้อ"- น้อมเศียรเกล้า

ส้มหวานกึ่งวิ่งกึ่งเดินตามหลังฉันมาติดๆ พอเทียบข้างก็คล้องแขนฉันเบาๆ อย่างที่ฉันรู้ว่า กำลังถูกเอาใจ

หน้าตาจิ้มลิ้ม เริ่มส่งเสียงเจื้อยแจ้วชวนคุยแล้วก็พูดกับฉันว่า “พี่น้อม หนูน่ะแต่งตัวตามตามตารางสีเสื้อทุกวันเลย”

ฉันจึงก้มมองชุดที่ตนเองกำลังสวม และหันไปมองส้มหวานอย่างเต็มตา จึงพบว่าวันนี้เราสองคนใส่เสื้อสีเดียวกัน แม้ว่า..จะคนละสไตล์ก็ตาม ของฉันวันนี้เป็นเดรสสีขาวปลอดสไตล์เรียบๆ ส่วนส้มใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงยีน พร้อมเข็มขัดหนังสีน้ำตาลแต่ก็ดูเข้ากันดีกับหน้าหวานๆใบนั้น

สิ่งที่ส้มหวานพูดถึงฉันเข้าใจโดยทันที โดยที่ไม่ต้องรอคำอธิบาย ว่ามันหมายถึง ตารางสีเสื้อของคนที่มีความเชื่อว่า ถ้าเป็นวันนี้ต้องใส่สีนี้ ห้ามใส่สีนั้น และสีของเสื้อแต่ละวันจะมีผลต่อความมีเดช มีศรี มีลาภ รวมถึงความเป็นกาลกิณีอีกด้วย

ฉันอมยิ้มเล็กน้อย เมื่อนึกขึ้นมาได้ว่า เอ้อ.. วันนี้เป็นวันจันทร์ วันจันทร์ต้องใส่สีขาวเพื่อให้เกิดบารมี มีผู้คอยช่วยเหลือ

และที่ฉันรู้ได้ว่าเสื้อสีไหนถูกเชื่อว่าเป็นโชค เป็นมงคล เป็นกาลกิณี เพราะสมัยเด็กๆเคยถูกให้คัดลายมือ เขียนตารางสีเสื้อติดไว้ที่หน้าโต๊ะเครื่องแป้งนั่นเอง และคุณแม่คนสวยของฉันจะใส่เสื้อตามสีในตารางเปี๊ยบบบบ

ทุกเช้าที่เห็นคุณแม่อ่านตาราง ฉันเมื่อตัวน้อยๆจะภาคภูมิใจเป็นหนักหนาและพอเริ่มเป็นสาวน้อยก็หัดที่จะแต่งตัวตามสีเสื้อในตารางบ้าง

แต่งมาไม่นาน..แม่กับฉันก็มีเหตุทำให้เลิกความเชื่อนี้ไปอย่างสิ้นเชิง...

แล้วจึงชวนส้มหวานคุยว่า “ส้มรู้ไหม พี่ก็เคยแต่งตัวตามตารางสีเสื้อแบบนั้นนะ ทุกวันนี้ก็พยายามหลีกเลี่ยงสีเสื้อที่เขาบอกว่าเป็นกาลกิณี อยู่บ้าง แต่จริงๆพี่ว่ามันก็ไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไร

ส้มดูอย่างแม๊กซ์เมื่อวันเสาร์สิ ...ใส่เสื้อสีเขียวสดเด่นมาเลย สีเขียวเป็นกาลกิณีของวันเสาร์ใช่ไหม แต่แมกซ์ก็ไม่รู้เรื่องอะไร แล้ววันนั้นพี่ก็เห็นแม๊กซ์สบายใจ และมีความสุขดี ไม่เห็นโชคร้ายอะไร

ส้มพยักหน้างหงึกหงักร้องว่า.. เออจริง


พี่ก็เคยนะ วันหนึ่งเป็นวันอังคาร แต่ไม่มีเสื้อสีที่อยากใส่เลย เพราะส่งซักหมด เหลือแต่สีขาว จึงจำใจใส่สีขาว และวันนั้นก็ทุกอย่างก็ปรกติดี

ส้มว่าไหม ถ้าสีขาวเป็นกาลกิณีของวันอังคารจริง..
ทุกวันอังคาร แม่ชีในวัด..คนปฏิบัติธรรมทำความดี ก็เป็นกาลกิณีสิ....
นักเรียนทั้งประเทศก็เป็นกาลกิณีสิ....
หมอด้วย พยาบาลทั้งประเทศก็ด้วย....


ถึงตอนนี้ส้มหวาน หัวเราะร่าอย่างถูกอกถูกใจ และเราก็พากันเดินต่อไปยังโรงอาหารช่วงพักกลางวันอย่างมีความสุข



ความเชื่อที่ไม่ประกอบไปด้วยเหตุด้วยผล อันเป็นความเห็นผิด ในทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า “สีลัพพตปรามาส” ในพระอภิธรรมปิฏก (ธัมสังคณี) อธิบายว่า เป็นทิฏฐิ (ความเห็น)อันเป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐิ เช่นความตั้งมั่น ยึดมั่นในทางชั่ว ทางผิด การถือโดยวิปลาส

ขอเรียกง่ายๆว่า ความงมงาย ความยึดติดในมงคลข่าว หรือยึดติดในพิธี อันไม่ใช่ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสังโชน์ ๑๐ คือกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, สิ่งที่มัดสัตว์ไว้กับความทุกข์ สิ่งที่ร้อยรัดสัตว์ให้อยู่กับทุกข์ไม่อาจจะสลัดหลุด มีทั้งหมด ๑๐ ประการคือ ๑. สักกายทิฏฐิ ๒. วิจิกิจฉา ๓. สีลัพพตปรามาส ๔. กามราคะ ๕. ปฏิฆะ ๖. รูปราคะ ๗. อรูปราคะ ๘. มานะ ๙. อุทธัจจะ ๑๐. อวิชชา

ความยึดติดในทิฏฐิผิดมีอยู่มากในทุกยุคทุกสมัย การยึดคึดติดเช่นนี้บ้างก็ทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายน้อย แต่บ้างก็ทำให้เกิดความเสียหายมาก เช่น ความเชื่อเรื่องชื่อ ความเชื่อเรื่องโชคยาม ความเชื่อเรื่องดวงดาว ความเชื่อต่อเรื่องสัตว์รูปร่างประหลาด ความเชื่อในไสยเวทย์ ฯลฯ



สมัยโบราณในประเทศอินเดีย เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่บังเกิดมาประกาศพระศาสนา ก็มีความเชื่อว่าอาบน้ำในแม่น้ำจะช่วยชำระบาปได้ ในคราวหนึ่ง สุนทริกภารทวาชพราหมณ์นั่งอยู่ใกล้พระศาสดา ทูลถามพระศาสดาว่า พระองค์จะไม่ทรงเสด็จไปแม่น้ำพาหุกา เพื่อสรงสนานดอกหรือ พระศาสดา ตรัสว่า สุนทริกะ คนพาลที่ทำบาป มีกรรม ไม่ว่าจะไปยังแม่น้ำ พาหุกา อธิกักกะ คยา สุนทริกา สรัสสดี ปยาคะ พาหุมดี เพื่ออาบน้ำเป็นนิตย์ ก็ทำให้บริสุทธิ์ไม่ได้เลย แต่บุคคลผู้มีศีล มีวัตรงาม มีการงานอันสะอาด ย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ต่างหาก

(พระสุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)


และถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบนํ้าชะลอย กบ เต่า นาค จรเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่นํ้า ก็จะพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน...และถ้าแม่นํ้าเหล่านี้พึงนําบาปที่ทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่นํ้าเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย

(ขุทฺทกนิกาย เถรีคาถา ๒๖/๔๖๖/๔๗๓)

พระพุทธศาสนาสอนให้หลักเหตุและผล แต่ทุกวันนี้มีการนำความเชื่ออื่นเข้ามาปนกับหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ทุกวันนี้บางคนจึงกล่าวว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมกลับกลายเป็นเรื่องงมงาย เป็นที่น่าเสียดายเพราะไม่มีโอกาสได้ศึกษาความรู้แก่นของพระพุทธศาสนา ส่วนผู้ที่มีสีลัพพตปรามาส คือเชื่อในสิ่งที่ไม่ควรเชื่อควรยึดก็ไม่มีโอกาสที่จะสลัดออกจากเครื่องยึด ไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกได้ตามความเป็นจริง

บุคคลจึงควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ไม่เชื่อสิ่งที่ไม่ควรเชื่ออันไม่ประกอบด้วยเหตุและผล ควรเชื่อว่าความสุขความเจริญขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของตน มากกว่าเชื่อเรื่องชื่อ ฤกษ์ยาม ภูเขาและต้นไม้ อันจะทำให้ห่างไกลจากความเพียรที่จะกระทำความดีตามหลักในพระพุทธศาสนา

ผู้ใดปฏิบัติได้ดังนี้ ย่อมชื่อว่าไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดีหรือชั่ว หากผู้ใดทำได้เช่นนี้ ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว อันครอบงํากิเลสที่ผูกสัตว์ไว้ในภพ อันประดุจคูกั้นเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก


สุดท้ายขอน้อมนำพุทโอวาทว่าด้วยการพินิจด้วยปัญญาเพื่อละสีลัพพตปรามาสมาดังนี้ว่า

“บุคคลประพฤติชอบ ปฏิบัติดีในเวลาใด เวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคลดี เป็นเช้าดี อรุณดี เป็นขณะดี ยามดี และเป็นอันได้ทําบูชาดีแล้ว ในท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย แม้กายกรรมของเขาก็เป็นสิทธิโชค วจีกรรมก็เป็นสิทธิโชค มโนกรรมก็เป็นสิทธิโชค ประณิธานของเขาก็ย่อมต้องเป็นสิทธิโชค ครั้นกระทํากรรม(การกระทําใดๆ)ทั้งหลายที่เป็นสิทธิโชคแล้ว เขาย่อมได้ประสบแต่ผลที่มุ่งหมายอันเป็นสิทธิโชค”

(สุปุพพัณหสูตร, องฺคุตฺตรนิกาย ติกนิปาต ๒๐/๕๙๕/๓๗๙)

ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุดจงสำเร็จแด่ผู้เขียน ผู้อ่านพร้อมครอบครัววงศ์ตระกูลทุกประการด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้เทอญ



บทความธรรมะและถ่ายภาพโดย: น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:12:12 น.
Counter : 1495 Pageviews.  

เมื่อก่อน..และ..เดี๋ยวนี้ - น้อมเศียรเกล้า

ว่ากันว่า..บุคคลผู้ยังอยู่ในวัยเยาว์ มักจะมองชีวิตไปเบื้องหน้า เป็นต้นว่า อาจจะจินตนาการถึงสิ่งที่ตนเองอยากจะมี และอยากจะเป็นในอนาคต ชีวิตของบุคคลในวัยเยาว์จึงเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน,แรงปรารถนาและกำลังใจอย่างล้นเหลือ

ต่างจากบุคคลที่ผ่านร้อนผ่านหนาว และชีวิตกำลังก้าวย่างลงจากจุดสูดสุด นั่นก็คือ"วัยชรา" กลับจะมองชีวิตในทิศทางที่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คือมองย้อนไปยังวันวานและมีห้วงคำนึงถึงอดีตอันหวานหอม

ไม่น่าแปลกใจหากคุณโตเป็นผู้ใหญ่และอยู่กับครอบครัว เช่นคุณพ่อและคุณแม่ที่ชราแล้ว ก็มักจะได้ยินท่านพูดถึงแต่ความหลังเสมอ เป็นต้นว่า พูดถึงคุณเมื่อยังอยู่ในวัยเด็กบ้าง พูดถึงตัวท่านเองเมื่อครั้งยังสนุกสนานอยู่ในวัยหนุ่มสาวบ้าง

หลายท่านอาจลืมไปว่าท่านทั้งสองชรามากแล้ว จนกระทั่งรู้สึกตัวว่า ท่านเริ่มพูดถึงความหลังบ่อยครั้งมากขึ้นนั่นแหละ จึงอาจจะรู้สึกสะท้อนใจและเริ่มใจหาย

...เพื่อนของฉันคนหนี่งซึ่งเป็นคนสวยมาก เธอมีความมั่นใจสูง แล้วก็มักจะแต่งตัวตามสมัยนิยมจนเป็นที่สะดุดตากับคนอื่นๆ วันหนึ่งเธอถือเอาถาดอาหารเข้ามาวางบนโต๊ะที่ฉันและเพื่อนคนอื่นกำลังนั่งอยู่ บ่นกระฟัดกระเฟียด ว่ามีผู้หญิงสูงวัยคนหนึ่งชำเลืองมองเธออย่างไม่เป็นมิตร แล้วก็ทำปากเบะว่า “ช่วยไม่ได้ ก็คนมันสวย (พูดถึงตัวเอง) อยากแก่เองทำไม”

รุ่นพี่ที่นั่งอยู่ด้วยกัน จึงสอนกลับเธอไปว่า “อีฟ วันหนึ่ง อีฟก็ต้องแก่ และสวยน้อยลงกว่าเดิมอย่างนั้นแหละ” เพื่อนของฉันจึงได้เลิกบ่นไป

ความมัวเมาในวัยหนุ่มสาว และมัวเมาในความงาม ปรากฏมีอยู่มากในบุคคลทั่วไป หากใช้ชีวิตอย่างประมาท ไม่เร่งประกอบคุณงามความดี ให้ควรค่าแก่การได้เกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งมีเวลาอยู่บนโลกอันจำกัด ถึงมีชีวิตอยู่ก็ถือว่าตายไปแล้ว

พระคาถาจากพระเถรีผู้ทรงคุณอันประเสริฐซึ่งจะนำมาเสนอต่อไปนี้ จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราท่านทั้งหลายดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ




จาก : อัพปาลีเถรีคาถา ๒๖/๔๘๐

เมื่อก่อน......ผมของเรามีสีดำคล้ายกับสีปีกแมลงภู่มีปลายงอน
เดี๋ยวนี้.....กลายเป็นเช่นเชือกปอเพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน.....มวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยดอกมะลิเป็นต้นเต็มไปด้วยดอกไม้
เดี๋ยวนี้.....มีกลิ่นเหม็นเหมือนขนกระต่าย เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน.....ผมของเรามีปลายอันงดงาม วิจิตรด้วยหวีและเครื่องปักผม เหมือนป่าไม้อันปลูกเป็นแถวงามสะพรั่ง
เดี๋ยวนี้....กลายเป็นผมโกร๋นในที่นั้นๆ

เมื่อก่อน.....ผมของเราประดับด้วยทองคำอันละเอียด มีกลิ่นหอม
เดี๋ยวนี้.....ล้านตลอดหัวเพราะความแก่ชรา




เมื่อก่อน...คิ้วของเรางดงามคล้ายรอยอันนายช่างเขียนดีแล้ว
เดี๋ยวนี้..กลายเป็นคิ้วคดเคี้ยวเหมือนเถาวัลย์เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...นัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม
เดี๋ยวนี้..ถูกความชราครอบงำไม่น่าดูเลย

เมื่อก่อน...จมูกของเราโด่งงามเหมือนเกลียวหรดาล
เดี่ยวนี้..กลับห่อเหี่ยวไปเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ

เมื่อก่อน..หูของเรางดงาม เหมือนตุ้มหูที่ทำเสร็จเรียบร้อยดี
เดี๋ยวนี้...หย่อนยานเหมือนเอาเถาวัลย์ห้อยไว้ เพราะความชรา



เมื่อก่อน...ฟันของเราขาวงามดี เหมือนสีดอกมะลิตูม
เดี๋ยวนี้...กลายเป็นฟันหักและมีสีเหลืองเพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..เราพูดเสียงไพเราะ เหมือนเสียงนกดุเหว่าที่ร่ำร้องในป่าใหญ่
เดี๋ยวนี้..คำพูดของเราพลาดไปทุกคำ เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..คอของเรากลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้...เหี่ยวย่นเพราะความชรา

เมื่อก่อน แขนทั้งสองของเรางดงาม เปรียบดังกลอนเหล็กอันกลมนั้น
เดี๋ยวนี้...ลีบคดดุจฝักแคฝอย เพราะความแก่ชรา




เมื่อก่อน...มือทั้งสองของเราประดับด้วยแหวนทองคำงดงาม
เดี๋ยวนี้...เหมือนเหง้ามันเพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..ถันทั้งคู่ (หน้าอก)ของเราเต่งตั่งกลมชิดสนิทกันและมีปลายงอนขึ้นงดงาม
เดี๋ยวนี้...กลับหย่อนเหมือนลูกน้ำเต้า เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...กายของเราเกลี้ยงเกลางดงาม เหมือนแผ่นทองที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้..สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นอันละเอียด เพราะความแก่ชรา



เมื่อก่อน...ขาอ่อนทั้งสองของเรางดงามเปรียบเหมือนงวงช้าง
เดี๋ยวนี้...เป็นปุ่มเป็นปมเหมือนข้อไม้ไผ่ เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..แข้งทั้งสองของเราประดับด้วยกำไลทองอันเกลี้ยงเกลางดงาม
เดี๋ยวนี้..กลับเหี่ยวแห้งเหมือนต้นงา เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..เท้าทั้งสองข้างของเรางดงามเหมือนปุยนุ่น
เดี่ยวนี้..กลับแตกเป็นริ้วรอยงองุ้มดังเถาวัลย์ เพราะความแก่
ชรา



ดังข้างต้นมีที่มาจากอัพปาลีเถรีคาถา ซึ่งภิกษุณีอัมพปลีรึพึงถึงอดีตเมื่อท่านยังเป็นสาวมีรูปร่างสวยงามมากจนเป็นที่กล่าวขวัญ

ภายหลังเมื่อท่านฟังธรรมจากพระพุทธองค์ได้เกิดความเบื่อหน่ายในอาชีพและสังขารของร่างกายจนได้ออกบวชและบรรลุธรรมขั้นสูงสุด

คนเราทุกคนหากไม่หลับตาอำลาโลกไปก่อนวัยอันควร ก็ต้องพบกับจุดที่ร่างกายมาถึงยังความเสื่อมเช่นนี้ ไม่มีผู้ใดล้วงพ้นไปได้

บุคคลผุ้มีปัญญาพึงยกตนให้พ้นจากความมัวเมาทั้งหลาย เพราะความมัวเมาทำให้ประมาทพลาดจากความดี

พึงระวังตนไม่ให้ประมาทในอารมณ์และพึงไม่ประมาทในธรรมทั้งปวง ดังพุทธพจน์สุดท้ายที่มีว่า

“ ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่าน สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"



บทความธรรมะและถ่ายภาพโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:13:26 น.
Counter : 1458 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.