Group Blog
 
All Blogs
 
สำเภาพยาบาท - น้อมเศียรเกล้า

หน้าที่ของฉัน วันๆก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก… ดังนั้นพอตะวันคล้อยคล้าย อากาศเริ่มเย็นสบาย ฉันจึงมักแอบมานั่งลอบดู นั ง “มาลัย” ที่กระท่อมของมันท้ายคลอง ฉันชอบมานั่งดูนั ง “มาลัย” ตอนค่ำๆอย่างนี้แหละ ที่มานั่งดูอย่างนี้ก็มิใช่ว่ามันจะมีดีอะไรหรอก นั ง “มาลัย” ตอนนี้มันก็กระเซอะกระเซิง หน้าตาเว้าวอกดูได้เสียเมื่อไหร่ ต่างกับฉันตอนนี้ที่ยังจะสาวกว่ามันเป็นไหนๆ ทั้งๆที่ฉันไม่เคยได้กินข้าวกินปลาบำรุงอะไร

พูดถึงนั ง”มาลัย” สมัยก่อนนี่นะ มันเคยทำฉันเจ็บแสบหนักหนา ตอนที่ฉันอยู่กินกับพ่อขวัญ มันก็ยังชอบลักลอบมาหาพ่อขวัญตอนที่ฉันต้องออกไปเก็บพริกอยู่ท้ายไร่ พอฉันรู้ข่าว ฉันเลยตรอมใจไม่ยอมกินยอมนอน และก็เริ่มป่วยเรื่อยมาทีเดียว ฉันนึกแค้นก็แต่มัน แต่ต่อมาฉันก็ไม่เห็นพ่อขวัญอีก ไม่รู้ว่าพ่อขวัญหายไปไหน เพราะหลังจากป่วยความทรงจำบางช่วงของฉันมันก็หายไป จำได้ก็แต่นั งมาลัยนี่แหละ พอฉันหายป่วยแล้ว ก็เลยมาดูมันอยู่ที่ท้ายคลองทุกเย็น

ฉันไม่ชอบมันเท่าไรหรอก เรียกว่าเกลียดก็ได้ บางวันฉันก็แกล้งทำอะไรๆทีบ้านของมาลัยให้เลอะเทอะไปเรื่อย และที่สำคัญฉันไม่อยากเห็นมันรวย หรือได้ดีอะไรเพราะความที่มันทำกับฉันไว้มาก

ระยะนี้ฉันเห็นว่านั งมาลัยมันแปลกไป ลูกหลานของมันก็ทำอาหารแล้วก็ใส่ตระกร้า หายไปไหนกับมันทุกๆเช้า พอตกค่ำบางวัน ฉันได้ยินมันพึมพำพึมพำอะไร อยู่ในห้อง แต่ฉันก็ไม่ได้ใคร่สนใจไปซะทุกอย่างหรอก

วันหนึ่งฉันพบว่า ทีแท้นั งมาลัย มันก็ไปวัด “ชิ!! ไปวัดทำบุญ คงได้บุญอยู่หรอก” “บุญมันจะหาได้จากไหน มาลัย มรึงมาแย่งผัวของกรูอย่างนี้” ฮึ…นั งมาลัยมันก็ไม่ได้เป็นคนดีอะไร แต่…ไม่รู้สินะ ฉันไม่ค่อยเข้าใจเรื่องบุญมากนักหรอก เมื่อก่อน มีพระห่มผ้าเหลืองมายืนขออยู่หน้าบ้านฉัน ฉันรำคาญก็ให้ๆไปบ้าง เพื่อนมันบอกได้บุญได้บุญ แต่ฉันก็ไม่ได้ใส่ใจมาก

บางทีฉันได้ยินมาลัยมันพูดกับตัวเองเบาๆ “ขอให้ลูก แข็งแรง รวยๆ “… “เออ ฝันไปเถอะนั งมาลัย” “ฉันคิดในใจ

ผ่านไปนานเข้า วันหนึ่งฉันเดินกลับเข้าไปในป่า ฉันไม่มีอารมณ์จะไปดูมันเท่าไรแล้ว ฉันมองไปรอบๆ มันมีแต่ความเปล่าเปลี่ยว มีแต่นกมีแต่กา นานเท่าไรแล้วนะ ที่ฉันมาอยู่ที่นี่

บางวันความจำของฉันมันก็คุๆขึ้นมา แต่บางวันฉันยังคงไปนั่งแอบมองมัน เดี๋ยวนี้ฉันชอบมันที่เอ่ยชื่อฉันบ่อยๆ ฉันรู้สึกสุขใจ ไม่รู้สินะ…

“สำเภาเอ้ย วันนี้กรูใส่บาตร รักษาศีล และไปนั่งสมาธิที่วัดมา กรูแบ่งบุญให้… ที่แล้วๆมาหลายปีก่อนกรูขอโทษที่ไปแย่งอ้ายขวัญของเอ็งมา จนเองต้องตรอมใจ…” สัพเพ สัพตา…

นั่น …นั งมาลัยมันพูดชื่อฉันอีกละ ฉันยิ้มกว้าง ขณะนั่งอยู่ในเงามืด ห้อยหัวอยู่ใต้ต้นมะม่วงของบ้านมัน!



สวัสดีค่ะ

************************************

ทีแท้” ฉัน” ในเนื้อเรื่องก็เป็นผีนี่เอง!!!! สำหรับท่านใดที่อ่านแล้วทราบตั้งแต่ต้นว่า”ฉัน” ในเรื่องไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา ก็ขอชื่นชมอย่างใจจริงค่ะ จริงๆผู้เขียน(น้อมเศียรเกล้า)ให้เงื่อนงำสิ่งที่ ”ฉัน”เป็นไว้ในเนื้อเรื่องหลายประการ ประการแรก คือ “ฉันไม่มีหน้าที่อะไรมาก” (ไม่ได้ทำงานการอะไร) ประการที่สอง ”ฉันไม่ได้กินข้าวปลา” สาม “ฉันหายป่วยแต่ความทรงจำบางช่วงหายไป” สี่ “ฉันกลับเข้าไปในป่า (ฉันอยู่ในป่า) และห้า “ฉันนั่งห้อยหัวอยู่ใต้ต้นมะม่วง ( คนดีๆที่ไหนเขาเอาเท้าชี้ฟ้า เอาหัวลงดินกันบ้าง ^_^) จากเงื่อนงำต่างๆที่แฝงไว้นี้ทำให้พอจะทราบว่า “ฉัน” เป็นผู้ดำรงชีวิตแบบ“กัมมนูปชีโว” คือผู้ดำรงชีวิตอยู่เพราะมีกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง ไม่ใช่มนุษย์ผู้เป็น“วิริยูปชีโว” หรือผู้ที่ดำรงชีวิตด้วยความเพียร เพราะมีแต่เผ่าพันธุ์มนุษย์เท่านั้นค่ะ ที่ต้องประกอบอาชีพทำงานการหาเลี้ยงปากท้องตนและครอบครัว เป็นผู้มีความเพียรในการสร้างสมคุณงามความดี ต่างจากเผ่าพันธุ์อื่นๆ



สิ่งที่กักขังหน่วงเหนี่ยวไม่ให้ “ฉัน” เป็นอิสระ ทั้งยังทำลายประโยชน์และความสุขของ “ฉัน” ให้หายไปจนต้องมาวนเวียนผูกใจเจ็บอยู่กับผู้ที่ตนโกรธเกลียดเช่นนี้ เป็นกิเลสร้ายอย่างหนึ่ง เรียกว่า “ความพยาบาท”

ความพยาบาทเป็นกิเลสตระกูลเดียวกันกับความโกรธ มีมีความรุนแรงกว่าดังนี้คือ

ความโกรธ เป็นแค่ ความไม่พอใจ ความขัดใจ ความกระทบกระทั่งใจ ที่เป็นไปตามธรรมดา ยังไม่ได้คิดจะทำลายเขา และไม่ได้มีความคิดให้เขาเกิดความ พินาศ อย่างนี้เรียกว่าความโกรธ

แต่ความพยาบาทนั้น รุนแรงกว่าความโกรธ เป็นกิเลสตระกูลโทสะชนิดที่หยาบมาก มีอาการมุ่งร้ายต่อผู้อื่น มีความปรารถนาที่จะทำลาย ประโยชน์และความสุขของเขา เช่น คิดในใจว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ผู้นั้นเกิดความเสียหาย หรือนึกแช่งให้ผู้นั้นได้รับ ความเสียหายต่างๆ โทสะชนิดนี้ จัดเป็นพยาบาทมโนทุจริต (อภิธัมมัตภสังคหะ)



เมื่อไรก็ตามที่มีองค์ประกอบ ๒ ประการครบ ตัดสินได้ว่าเป็นความพยาบาท ไม่ใช่แค่ ความโกรธโดยทั่วๆ ไป องค์ประกอบ ๒ ประการนั้นได้แก่

๑) ปรสตฺโต ผู้อื่นสัตว์อื่น ในที่นี่ของ”ฉัน”คือ” มาลัย”
๒ ) วินาสจินฺตา มีจิตคิดทำร้าย ให้ผู้อื่น สัตว์อื่นถึงแก่ความวินาศ เช่นการที่ “ฉัน” มีความประสงค์ให้ “มาลัย” มีความเดือดเนื้อร้อนใจ ประสบความเสียหายเป็นต้น



ลำดับการเกิดขึ้นของพยาบาท (พยาบาทเกิดขึ้นได้อย่างไร? )

กว่าจะมาเป็นความพยาบาทได้ มีขั้นตอนความเป็นไปดังนี้ :

ขั้นแรก เกิด กิเลสโทสะอย่างอ่อน คือ ตัว ปฏิฆะ เกิดขึ้นในใจก่อน ได้แก่ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งใจ ความขัดใจ อันเนื่องมาจากความประสบกับอนิษฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหลาย) เช่นว่า ทราบว่าคนนั้นคนนี้นินทาว่าร้าตน ได้ยินคนนั้นคนนี้ด่าว่า ได้ถูกคนนั้นคนนี้มาทำประดักประเดียดกับคู่ครองของตน ได้ถูกคนนั้นคนนี้ทำลายร่างกาย ได้ถูกคนนั้นคนนี้รังแก ได้ถูกคนนั้นคนนี้ลักขโมยของที่ตนรัก ดั่งนี้เป็นต้น ก็เกิดความกระทบกระทั่งใจ ขึ้นมา เป็นความกระทบกระทั่งใจอย่างอ่อนๆ ไม่รุนแรง

-ขั้นที่สอง- จากปฏิฆะก็ กลาย มาเป็นความโกรธ คือมีอาการกระทบกระทั่งใจที่รุนแรงยิ่งขึ้น เกิดความขัดเคืองใจที่รุนแรง เมื่อมีความโกรธจิตก็กำเริบ : โกโธ จิตฺตปฺปโกปโน ความโกรธทำจิตให้กำเริบ

ขั้นที่สาม เมื่อจิตกำเริบจากโกรธก็กลายเป็นโทสะ
สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชท่านอธิบาย โทสะว่าเป็น “ประทุษร้าย ” ก็คือประทุษร้าย จิตของตน ให้รุ่มร้อน เป็นการประทุษร้ายภายในคือจิตใจของตนเองก่อน”


ขั้นที่สี่ กลายร่างเป็นพยาบาทเต็มขั้น
คือมีความปองร้ายมุ่งร้ายหมายล้างผลาญ ทีนี้อกุศลก็สิงจิต ทำให้มืดมัว ไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใดๆ อันกระทำให้ เขาด่าก็ด่าตอบ เขาประทุษร้ายก็จะต้องประทุษร้ายตอบ เขาเอาชนะก็จะเอาชนะตอบและพยาบาทนี้ก็เป็นเหตุให้ประทุษร้ายผู้อื่น เป็นที่มาแห่งกายทุจริต อีกเป็นประการต่างๆ เช่น ฆ่าเขา ขโมยของเขา เป็นต้น




ปฏิฆะนิมิต นั้น ก็ได้แก่จิตนี้กำหนดหมาย จดจำ รำลึกถึง อยู่ที่ปฏิฆะคือการกระทบกระทั่งที่ตนได้รับ ดังเมื่อเขาด่ามา ก็มีตัวเราออกรับการด่าของเขา ตัวเราก็ไปกระทบกับการด่าของเขา ก็บังเกิดเป็นการกระทบกระทั่งกระทั่งขึ้น

แต่ถ้าเขาด่ามา ถ้าไม่มีตัวเราออกรับ การกระทบกระทั่งก็ไม่มี การด่าของเขาก็เป็นลมๆ แล้งๆ คือเป็นลมปากที่ผ่านมากระทบหูแล้วก็ผ่านไปเท่านั้นไม่ข้องติด แต่เพราะมีตัวเราออกรับ รับว่าเขาด่าเรา จึงเกิด “สังโญชน์” คือความผูกใจ ผูกใจอยู่ในคำด่านั้น ก็เป็นปฏิฆะนิมิต คือจิตใจก็กำหนดอยู่ ระลึกถึงอยู่ถึงการกระทบกระทั่งนั้น เมื่อมีปฏิฆะนิมิต จิตใจก็คิดปรุงหรือปรุงคิด ส่งเสริมความกระทบกระทั่งนั้น จึงกลายเป็นความโกรธ กลายเป็นโทสะ กลายเป็นพยาบาทขึ้นโดยลำดับ เพราะจิตนี้เองคิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางส่งเสริม

เหมือนอย่างเมื่อขีดไม้ขีด ติดไฟขึ้นมาที่ปลายก้านไม้ขีด แทนที่จะให้ไม้ขีดดับลงแค่นั้น ก็เอาก้านไม้ขีดไปจ่อเชื้อเข้า เกิดไฟลุกขึ้นมากองโต แล้วก็คอยเติมเชื้อให้แก่กองไฟนั้น เมื่อเติมเชื้อให้มากไฟก็กองโตมาก และเมื่อไฟได้เชื้อก็คงติดเป็นไฟ เป็นกองไฟอยู่ตลอดเวลาที่ยังมีเชื้อ (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)




ส่วนอโยโสมนสิการ ก็คือการทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ตรงข้ามกับโยโสมนสิการ ตราบใดที่จิตใจนี้คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางโกรธ ไม่คิดปรุงหรือปรุงคิดไปในทางดับ เรียกว่ากระทำให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ ดังกล่าวนี้ เป็นอาหารของกิเลสกองโทสะ หรือกองพยาบาทอันทำให้กิเลสกองนี้ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เติบโตมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติจึง ต้องไม่ให้อาหารแก่กิเลสกองนี้ กล่าวคือ ไม่ทำปฏิฆะนิมิตความกำหนดหมายผูกความกระทบกระทั่งไว้ในใจ โดยที่หัดดับใจ คือดับโทสะเสีย ดับกระทบกระทั่งเสีย หรือว่าหัดที่จะไม่เอาตัวออกรับ เช่นเมื่อติดก้านไม้ขีดขึ้นมาแล้ว ก็ให้ไฟดับอยู่แค่ก้านไม้ขีดเท่านั้น ไม่เอาไปจ่อเชื้อให้ไฟกองโตขึ้น (สมเด็จพระญาณสังวรฯ)




หากยังไม่หยุดให้อาหารกิเลสคือโทสะ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบรรลุ ธรรมอันเกษม ดังชุมนุมธรรมะที่มี ๑ ข้อ อันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดังนี้

“ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ไม่รู้ยิ่ง ไม่กำหนดรู้สิ่งทั้งปวง ไม่ทำจิตให้คลายความกำหนัดในสิ่งนั้น ไม่ละสิ่งนั้น ก็ไม่ควรที่นะสิ้นทุกข์ได้”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็น (องค์คุณ) อื่นแม้ข้อหนึ่ง ที่เป็นองค์ภายในของภิกษุผู้ยังศึกษา ผู้ยังไม่บรรลุอรหัตถผล ปรารถนาธรรมอันเกษม (ปลอดโปร่ง) จากโยคะ (กิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้ในภพ) อันยอดเยี่ยม, อันเป็นองค์ ที่มีอุปการะมาก เหมือน โยนิโสนสิการ (การใส่ใจหรือการพิจารณาโดยแยบคายนี้เลย)”


การดับความพยาบาท

ความพยาบาทสร้างความร้อนร้ายให้ตนก่อนเป็นอันดับแรก จิตที่มีความพยาบาท ก็เป็นดังจิตที่ร้อยรัดตนให้ขาดความเป็นอิสระทั้งปวง ทั้งยังเผาไหม้ตนให้มีแต่ความร้อนเร่า เป็นจิตที่ไม่ควรแก่การงาน ไม่สามารถบรรลุธรรมอันเกษม เป็นจิตที่เศร้าหมอง, เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติก็เป็นอันหวังได้ พระผู้มีพระภาคท่านอุปมาดัง ผ้าที่เศร้าหมองมีผลทินจับ ช่างย้อมจะย้อมในน้ำสีใด ก็มีสีไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ (วัตถูปมสูตร)

การดับความพยาบาทสามารถทำให้ดังนี้

๑) สมเด็จพระผู้มีพระภาค ท่านให้พิจารณาให้เห็นถึงโทษของจิตที่มีความพยาบาท ให้เป็นผู้พิจารณาความจริงเกี่ยวกับอุปกิเลสแห่งจิตทั้งหลาย เมื่อรู้จริงย่อมละอุปกิเลสแห่งจิตนี้ได้ เมื่อละได้ก็มีความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงได้รู้อรรพ รู้ธรรมว่า ตนมีความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหว ในพระรัตนตรัย ได้ความปราโมทย์ อันประกอบด้วยธรรม เกิดปีติ มีกายอันสงบระงับ ได้เสวยสุข มีจิตมั่น

สมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชทรงตรัสให้ลด”อัสมิมานะ” ก็จักลดความพยาบาทได้ด้วย ทรงอธิบาย “อัสมิมานะ” ว่าเป็น ความสำคัญว่าเรามีเราเป็น หรือว่าเป็นเรา หรือเป็นของเรา เป็นตัวเรา เป็นของๆ เรา ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะคือการกระทบกระทั่ง เพราะมานะคือความสำคัญหมายนี้เมื่อสำคัญหมายว่าเป็นตัวเราขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีตัวเขา และย่อมจะมีการเทียบเคียงกัน และแบ่งพรรคแบ่งพวก ว่านี่เป็นของเรา นี่เป็นของเขา เมื่อมีของเราของเขาก็ย่อมมีการกระทั่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา



๒) พิจารณาโดยแยบคาย ดังนี้

๒.๑) เรื่องราวทั้งหลายในโลกเป็นอันมากดังที่กล่าวนั้น ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา
๒.๒ ) สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม
๒.๓) ขัดเกลาจิตใจตนว่า คนอื่นเขาทำความชั่ว แต่เราจักทำความดี, คนอื่นเขาเบียดเบียน แต่เราจักไม่เบียดเบียนเป็นต้น.

๓) พึงเจริญ เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา แผ่ไปในทิศทั้ง ๔ รวมทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขว้าง และในที่ทั้งปวง เพราะพรหมวิหารดังกล่าว ช่วยลดความโกรธ ความพยาบาท และการวางอุเปกขาก็ช่วยลดความยินดียินร้ายต่อผัสสะต่างๆทั้งดี ทั้งร้ายที่มากระทบได้



น่าสงสารสำเภาแท้ๆ เพราะไม่พิจารณาโดยแยบคายจึงปล่อยให้ความพยาบาทกัดกินใจตน จนต้องวนเวียนอยู่ในห้วงความคิดอันเป็นเครื่องกั้นความประภัสสรแห่งจิตเช่นนี้...

--------------------------------------------------------------------------
กระทู้เรื่องความพยาบาทนี้ ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวและอารมณ์ผ่านตัวละครชื่อสำเภา และน้อมนำธรรมะจากในพระไตรปิฏกและจากโอวาทธรรมของสมเด็จพระญาณสังวรฯ สมเด็จพระสังฆราชมาหลายประการ มีจิตเจตนางามเพื่อมอบป็นธรรมะบรรณาการแด่เพื่อนห้องศาสนา เพื่อให้ศึกษาและทบทวนข้อธรรมต่างๆไปพร้อมๆกัน

ขอกราบถวายสุดเศียรเกล้าเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อขอขมาสิ่งที่เคยผิดพลาดประการทั้งปวงต่อคุณพระพุทธศาสนา และเพื่อขอความเป็นอภิมหามงคลชัยสูงสุดให้แด่ตนและครอบครัว

ด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้ ขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุดทุกประการจงสำเร็จแด่ผู้เขียน ผู้อ่านทุกท่านทุกประการเทอญ.



เนื้อหา : น้อมเศียรเกล้า
ขอขอบคุณภาพชุด "ลอยเลือนเดือนดับ" จากอินเตอร์เน็ต



Create Date : 16 ตุลาคม 2553
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 14:37:56 น. 5 comments
Counter : 1774 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะคุณผี..เอ้ย..คุณพี่

อ่านไป ก็ขนหัวลุก..ฮิๆ

จะมีใครมาห้อยหัวอยู่ใต้ต้นไม้แถวๆบ้านไหม?

สาธุ...สัพเพสัพตา สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์

เกิดแก่เจ็บตาย ทั้งหมดทั้งสิ้น

สุขีอัตตานัง ปริหะรัญตุ..

จงมีความสุขกาย สุขใจ

รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเทิด..!!



โดย: คนผ่านทางมาเจอ วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:14:23:42 น.  

 
เข้ามารับทั้งสาระและบันเทิงค่ะ


โดย: ร่มไม้เย็น IP: 58.10.198.171 วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:15:56:30 น.  

 
สาธุ...

สาธุ...

สาธุ...


โดย: กรรไกรรัตนะ (กรรไกรรัตนะ ) วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:17:15:03 น.  

 
แวะมาทักทายยามเย็นจ้า


โดย: หน่อยอิง วันที่: 16 ตุลาคม 2553 เวลา:17:27:04 น.  

 
หงุดหงิด โกรธแค้น อาฆาต พยาบาท จองเวร
เป็นกิเลสสายเดียวกัน ที่พัฒนาขึ้นจากในจิตใจ

แล้วก็ส่งออกมาทางวาจา ผิดศีลข้อสี่

ทางกาย ผิดศีลข้อหนึ่ง ตั้งแต่ทำร้ายจนถึงฆ่า

ถ้าเริ่มระงับได้ตั้งแต่โกรธอยู่ในใจ ก็จะเป็นกุศลยิ่งครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 17 ตุลาคม 2553 เวลา:6:48:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.