Group Blog
 
All Blogs
 
ความงามที่น่าใฝ่หา

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต


บุคคลในโลกย่อมประสงค์ให้ตนมีความงามด้วยประการต่างๆ


ประสงค์ให้มี รูปสวย น่าดู น่าชม เช่น ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงามปากงาม คิ้วงาม นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขางาม มืองาม แข้งงาม นิ้วงามหรือว่าเล็บงาม เป็นต้น และต่างหาแสวงหาวิธีที่จะได้มาซึ่งความงาม ทำไฉนหนอจึงจะเพิ่มพูนความงามให้กับตนได้ ?

แท้จริงแล้วอันความงามภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะในไม่ช้าก็เปลี่ยนแปลงไป

พระเถรีอัพปาลี ท่านเคยได้กล่าวถึงความงามที่เปลี่ยนแปลงไปของตนว่า

“เมื่อก่อน.....มวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยดอกมะลิเป็นต้นเต็มไปด้วยดอกไม้
เดี๋ยวนี้.....มีกลิ่นเหม็นเหมือนขนกระต่าย เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...นัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม
เดี๋ยวนี้..ถูกความชราครอบงำไม่น่าดูเลย

เมื่อก่อน...ฟันของเราขาวงามดี เหมือนสีดอกมะลิตูม
เดี๋ยวนี้...กลายเป็นฟันหักและมีสีเหลืองเพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..ถันทั้งคู่ (หน้าอก)ของเราเต่งตั่งกลมชิดสนิทกันและมีปลายงอนขึ้นงดงาม
เดี๋ยวนี้...กลับหย่อนเหมือนลูกน้ำเต้า เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...กายของเราเกลี้ยงเกลางดงาม เหมือนแผ่นทองที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้..สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นอันละเอียด เพราะความแก่ชรา


เมื่อก่อน..เราพูดเสียงไพเราะ เหมือนเสียงนกดุเหว่าที่ร่ำร้องในป่าใหญ่

เดี๋ยวนี้..คำพูดของเราพลาดไปทุกคำ เพราะความแก่ชรา” ฯลฯ

(อัพปาลีเถรีคาถา ๒๖/๔๘๐)

ความงามนอกกายนั้น จึงหาได้มีคุณค่าอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และเปลี่ยนไปมาได้อยู่ตลอดเวลา

ในทางตรงกันข้าม โสภณธรรม จักเป็นธรรมอันทำให้งามทั้งภายนอกและภายในอย่างแท้จริงซึ่ง มี ๒ ประการคือ ขันติ ๑ โสรัจจะ ๑ ลักษณะ ของขันติ โสรัจจะ มีดังนี้

๑. ขันติ หมายถึง ความอดทน คือมีลักษณะอันมั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นสภาพธรรมที่อดทนอดกลั้น ด้วยกุศลด้วยธรรมฝ่ายดี
๒. โสรัจจะ หมายถึง ความเสงี่ยม ความเรียบร้อยแห่งหายวาจาใจ


ธรรมอันทำให้งาม คือขันติและโสรัจจะนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความความงามทั้ง ๒ ประการ คืองามภายนอก ๑ งามภายใน ๑

๑. ขันติ หรือ ความอดทน ว่าโดยลักษณะมี ๓ คือ
๑). ตีติกขาขันติ อดทนด้วยการกลั้นไว้ได้ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดีไม่มีความกระสับกระส่าย มีสภาพเบาเป็นกุศลจิต

๒). ตปขันติ อดทนจนเป็นตบะเดชะ เป็นธรรมเผาบาปคืออกุศลให้หมดไปทั้งสามารถอดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจ
๓).อธิวาสนขันติ คือมีการยับยั้งไว้ได้ รับไว้ได้ คือยับยั้งทุกข์ทั้งปวงดังกล่าวนั้น มิให้มาเป็นเหตุทำให้ต้องขัดข้อง รับไว้ได้ก็คือแม้ว่าจะต้องพบกับทุกข์เหล่านั้น ก็รับได้

๒. โสรัจจะ แปลว่า ความเสงี่ยม ได้แก่ความรื่นรมย์ของใจ การรู้จักทำจิตใจให้แช่มชื่นผ่องใสเบิกบาน มีกายวาจาสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดีงาม เพราะเมื่ออดทนได้แล้ว ก็ไม่แสดงกิริยากาย วาจา ให้ผิดปกติ เช่นคนที่ถูกด่าว่าให้ได้รับความเจ็บใจ ก็ไม่แสดงการโต้ตอบ หรือ ตาหน้าแดง หูแดง ขว้างปาข้าวของเพราะอดทนได้ โสรัจจะ ธรรมข้อนี้ย่อมเข้าสนับสนุนขันติให้สูงเด่นขึ้น นับว่าเป็นศีลสังวร เพราะมีอาการกายวาจาเป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม และทำใจให้สบาย ตรงตามศัพท์ของโสรัจจะ ที่แปลว่ารื่นรมย์ดี สบายดี ใจดี

สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญขันติธรรม เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

ครั้งงหนึ่งพระองค์ผู้เป็นพระจอมมุนีได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ดุร้ายเหี้ยมโหด มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร ผู้เข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีที่ทรงฝึกฝนเป็นอันดี คือ ขันติบารมี โดยอาฬวกยักษ์แผลงฤทธานุภาพเป็นประการต่างๆ เช่นทำให้เกิดพายุใหญ่บ้าง ทำให้เม็ดฝนตกลงมาเป็นศาสตราวุธต่างๆบ้าง

แต่ศาสตาวุธเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับพระองค์เลย ซ้ำยังกลับกลายเป็นทิพยมาลา บ้าง เป็นของสุคันธทิพย์บูชาบ้าง อาฬวกยักษ์ตรวจดูเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงไม่เกรงกลัวตน

เนื่องจากทรงตั้งอยู่ในเมตตาธรรม จึงคิดราวีกลั่นแกล้งหมายจะให้พระองค์ทรงกริ้วโกรธ โดยการขับไล่ออกไปบ้าง แล้วเชื้อเชิญกลับมาบ้าง ซ้ำๆกันอย่างนี้หลายครั้ง

ทั้งยังข่มขู่ว่าจะควักหัวใจของสมเด็จพระผู้มีพระภาคมาขยี้บ้างจะจับข้อพระบาทของพระองค์ยกขึ้น แล้วขว้างไปที่ฝั่งของแม่น้ำคงคาบ้าง เหมือนที่เคยกับกับดาบส หรือปริชาพกอื่นที่ตอบคำถามของตนไม่ได้


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ เรายังไม่เห็นบุคคลใดในโลก พร้อมทั้งภพสาม จักทำเราเช่นนั้นได้ ดูก่อนยักษ์ เมื่อท่านหวังจะถาม เราก็จักตอบ ” อาฬวกยักษ์จึงได้ทูลถามปัญหา ดังนี้

..........อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของ คนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด
..........อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

..........อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไร จึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ทำเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้ คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูซิว่า ในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ

..........อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจึงจะต้องถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากในบัดนี้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงสัมปรายิกประโยชน์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่เมืองอาฬวี เพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก ข้าพเจ้าจักเที่ยวจากบ้านไปสู่บ้าน จากบุรีไปสู่บุรี พลางนมัสการพระสัมพุทธเจ้าและพระธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ดี

..........ในที่สุดแห่งการทูลถามปัญหา ๘ ข้อ อาฬวกยักษ์ ก็ตั้งอยู่ ในโสดาปัตติผล (อาฬวกสูตรที่ ๑๒)

ด้วยเหตุที่ว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระบรมครู ของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย เหล่าภิกษุผู้ทรงธรรมวินัยก็ต่างมีความงามด้วย

ศีลสังวร เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี และเป็นนาบุญของโลกซึ่งไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าด้วย ธรรม ๕ ประการ เช่นนั้นเหมือนกันคือ คือ ความซื่อตรง ๑ ความเร็ว (ด้วยกำลังแห่งญาณ) ๑ ความอ่อนโยน ๑ ความอดทน ๑ ความเสงี่ยม ๑ (อาชานิยสูตร)

ความเสงี่ยมคือนอกจากการทำจิตให้ผ่องใส เบิกบานแล้ว ยังหมายถึงการรักษากาย วาจา ใจและเรียบร้อย ให้น่าดู น่าชม มีอินทรีย์สำรวม คือ มีการระวังกาย วาจาและใจ ด้วยการรักษามารยาทอันดีงาม ทุกอิริยาบถกล่าวคือ นั่ง เดิน ยืน นอน พูด คิด ทำ ทำให้มีอากัปกริยาภายนอกที่น่าดูน่าชม

อันความงามด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเช่น งามรูปนั้น สู้ความงามด้วยจรรยามารยาทและความประพฤติดีงามซึ่งออกมาจากความงามภายในไม่ได้ เพราะหากมีแต่ความงามภายนอก ไม่ประพฤติอบรมตนให้เป็นผู้มีความงามจากภายในชีวิตก็คงไม่มีคุณค่าอะไรทั้งป้จจุบันและสัมปรายภพ

อุปมาเหมือน ผลไม้งาม อันเน่าในด้วยหนอนบ่อน รังแต่จะถึงกาลล่วงลับหล่นไป ให้ประโยชน์กับผู้ใดไม่ได้

ดังนั้นบุคคลผู้มุ่งหมายทำตนให้เป็นที่รัก และมีความงามที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง จึงควรบำเพ็ญขันติ และโสรัจจะดังมีที่มาจากพระธรรมคำสอนด้วยประการฉะนี้ ฯ




Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2559 13:39:10 น. 0 comments
Counter : 2414 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.