Group Blog
 
All Blogs
 
ธุดงควัตร ไม่ต้องรอเป็นพระ ก็สามารถฝึกปฏิบัติได้ - น้อมเศียรเกล้า

ฤดูกาลออกพรรษา เป็นช่วงที่เหมาะสมในการปฏิบัติธุดงค์อย่างมากเลยดีเดียว

พระภิกษุหลายรูปหลังจากจำพรรษาอยู่ที่วัดตลอดกาลเข้าพรรษา ก็เริ่มเตรียมจาริกออกแสวงหาที่ปฏิบัติสงบวิเวก หลายวัด หลายสถานธรรม ก็เริ่มเตรียมการอบรมวิชาธุดงค์ให้แก่พุทธศาสนิกชน

พอพูดกันถึงคำว่า “ธุดงค์” หลายๆท่านก็นึกภาพพระภิกษุ แบกกลด เดินเข้าป่าไป ซึ่งความจริงก็ใช่ แต่ยังไม่ครบทุกส่วน ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆคนเข้าใจว่า กิจธุดงค์ เป็นกิจของพระสงฆ์เท่านั้น ฆราวาสอย่างเราๆไม่เกี่ยว ไม่มีส่วน ทำไม่ได้ หรือไม่ต้องทำ …

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสสเถระ ท่านให้ข้อธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติของพระอริยเจ้าไว้ว่า “มักมีผู้สำคัญว่า ทางนี้เป็นของพระอริยเจ้าส่วนเดียว ปุถุชนไม่มีส่วน" แท้ที่จริงข้อฏิบัติของพระอริยเจ้าก็คือแบบอย่างที่ทิ้งรอยไว้ให้ พุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธา มีความเพียรได้เดินตามเส้นทาง สั่งสมบารมีตามกำลังความศรัทธา ความเพียร ความจริงจังของผู้ต้องการดำเนินรอยตาม



การปฏิบัติธุดงค์ จริงๆแล้ว มิได้หมายถึงการที่พระภิกษุ แบกกลด เดินเข้าป่า ไปเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว ธุดงค์ มีความหมายว่า“องค์คุณเป็นเครื่องกำจัดกิเลส, องค์คุณของผู้กำจัดกิเลส หมายถึง เจตนาความตั้งใจขัดเกลากิเลส, เจตจำนงความจงใจที่ทำให้ละกิเลสได้” และ เป็นการบำเพ็ญตบะที่ยิ่งยวดกว่าการประพฤติธรรมโดยทั่วไป



การธุดงค์นี้ เป็นวัตรปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ไม่บังคับ แล้วแต่ผู้ใดจะสมัครใจปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่างทั้ง ๑๓ ข้อก็ได้

เป็นอุบายวิธีกำจัดขัดเกลากิเลส ทำให้เกิดความมักน้อยสันโดษยิ่งขึ้น ไม่สะสม เพื่อให้เบาสบายไปมาได้สะดวกด้วยไม่มีภาระมาก มิใช่เพื่อสะสมหรือเพื่อลาภสักการะและชื่อเสียง แต่สำหรับพระสงฆ์แล้ว พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ว่าหากพระภิกษุรูปใดทำเพื่อลาภ เพื่อชื่อเสียง จะต้องอาบัติทุกกฏ



จุดประสงค์ของธุดงค์วัตร

๑) ฝึกความเป็นผู้มักน้อย
๒) ฝึกเป็นผู้มีความสันโดษ
๓) ฝึกเป็นผู้มีความขัดเกลากิเลสให้เบาบาง
๔) ฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้รักความสงบ สงัด
๕) ฝึกการแสวงหาสิ่งที่เป็นสาระของชีวิต



ปฏิบัติธุดงค์ไม่ได้เป็นของคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นข้อปฏิบัติของทุกคนที่ต้องการจะขจัดขัดเกลากิเลสในตน เพียงแต่ต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสม ธุดงควัตรมี ๑๓ ข้อ ดังต่อไปนี้

หมวดที่ ๑ จีวรปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับจีวร)

๑) ละเว้นใช้ผ้าปราณีตเหมือนฆราวาส สมาทานใช้แต่ผ้าเก่าที่คนเขาทิ้งเอาไว้ตามกองขยะบ้าง ข้างถนนบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง นำผ้าเหล่านั้นมาซัก ย้อมสี เย็บต่อกันจนเป็นผืนใหญ่แล้วนำมาใช้ งดเว้นจากการใช้ผ้าของโยมโดยตรงทุกชนิด (วางใกล้เท้าได้)
๒) ละเว้นการครอบครองและใช้สอยผ้าเกิน ๓ ผืน คือการใช้ผ้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น อันได้แก่ สบง (ผ้านุ่ง) จีวร (ผ้าห่ม) สังฆาฏิ (ผ้าสารพัดประโยชน์ เช่น คลุมกันหนาว ปูนั่ง ปูนอน ปัดฝุ่น ใช้แทนสบง หรือจีวรเพื่อซักผ้าเหล่านั้น



หมวดที่ ๒ ปิณฑปาตปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับบิณฑบาต )
๑) ละเว้นอดิเรกลาภ สมาทานบิณฑบาตร คือการบริโภคอาหารเฉพาะที่ได้มาจากการรับบิณฑบาตเท่านั้น ไม่บริโภคอาหารที่คนเขานิมนต์ไปฉันตามบ้าน

๒) ละเว้นเครื่องยึดติด สมาทานบิณฑบาตรไปตามบ้าน คือจะรับบิณฑบาตโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นบ้านคนรวยคนจน ไม่เลือกว่าอาหารดีไม่ดี มีใครใส่บาตรก็รับไปตามลำดับ ไม่ข้ามบ้านที่ไม่ถูกใจไป (วัดป่าบางที่จะเพิ่มข้อปฏิบัติคือบิณฑบาตรไม่ซ้ำที่เดิม คือย้ายสายบิณฑบาตรทุกวัน เป็นต้น)

๓) ละเว้นฉันอาสนะที่สอง สมาทานอาสนะเดียวคือ ในแต่ละวันจะบริโภคอาหารเพียงครั้งเดียว เมื่อนั่งแล้วก็ฉันจนเสร็จ หลังจากนั้นก็จะไม่บริโภคอาหารอะไรอีกเลย นอกจากน้ำดื่ม( ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ จะกำหนดเวลาฉันในแต่ละวัน เช่นกำหนดฉันเวลา 9 นาฬิกา ก็จะฉันในเวลานั้นทุกวัน จะไม่เปลี่ยนเวลาฉันตามความอยากฉัน หรือ ไม่อยากฉันตามอารมณ์ แต่ฉันตามสัจจะตามเวลาที่อธิฐานไว้)

๔) ละเว้นฉันภาชนะที่สอง สมาทานฉันเฉพาะในบาตร คือจะนำอาหารทุกชนิดที่จะบริโภคในมื้อนั้น มารวมกันในบาตร แล้วจึงฉันอาหารนั้น เพื่อไม่ให้ติดในรสชาดของอาหาร (ส่วนของวัดป่าบางที่นั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ จะต้องคนอาหารรวมกันด้วย ซึ่งแม้จะไม่มีในข้อธุดงค์ตามคัมภีร์แต่ก็ทำได้ไม่ผิดอะไร.)

๕) ละเว้นฉันอาหารเหลือ สมาทานเมื่อรับอาหารมามากพอแล้ว ตัดสินใจว่าจะไม่รับอะไรเพิ่มอีกแล้ว ถึงแม้อาหารนั้นจะถูกใจเพียงใดก็ตาม

***ข้อเกี่ยวกับบิณฑบาตรนี้ หลายข้ออุบาสก อุบาสิกา สามารถปฏิบัติได้เมืออยู่ที่บ้าน และวัดบางแห่งเมื่ออุบาสก อุบาสิกาไปอบรมธรรมปฏิบัติที่วัด ก็จะสอนธุดงควัตรเหล่านี้ให้ด้วย



หมวดที่ ๓ เสนาสนปฏิสังยุตต์ (เกี่ยวกับเสนาสนะ )

๑) ละเว้นการอยุ่ในเสนาสนะใกล้บ้าน คือสมาทานการอยู่ในป่าไกล 500 ชั่วคันธนู หรือ ราว 1 กิโลเมตร โดยจะต้องให้ตะวันขึ้นในป่า หากตัวอยู่ในบ้านตอนตะวันขึ้น เป็นอันธุดงค์แตก สมาทานถืออยู่ในป่า เพื่อไม่ให้ความพลุกพล่านวุ่นวายของเมืองรบกวนการปฏิบัติ หรือเพื่อป้องกันการพอกพูนของกิเลส

๒) ละเว้นนอนในที่มีที่มุงที่บัง (เช่นบ้าน ถ้ำ กุฏิ) สมาทานอยู่โคนไม้ แต่ท่านอนุญาตให้ทำซุ้มจีวร บางที่ใช้ปักกลดแทนใต้ต้นไม้แทน ซึ่งเป็นวิธีการของพระสายวัดป่าไทยโดยเฉพาะแต่เดิมครั้งพุทธกาลไม่มีมาก่อน

การปักกลดมี 2 ลักษณะ คือ ๑) ผูกเชือกแล้วแขวนกรด ๒) วางกับพื้น เรียกว่ากางโลงศพเพราะได้แต่อิริยาบทนอนในกรดเท่านั้น ลุกมานั่งสมาธิไม่ได้ (แต่สามารถถือวางพาดบ่าก็ลุกนั่งได้) โดยปกติจะครอบคลุมด้วยผ้ามุงทรงกระบอกเพื่อกันยุง โดยทรงอนุญาตให้ใช้ร่มเมื่อเข้าไปในใต้ต้นไม้เพื่อป้องกันการร่วงหล่นใส่ของกิ่งไม้แต่ในเบื้องต้นยังไม่อนุญาตให้กางนอกต้นไม้เพื่อใช้กันแดดกันฝน อย่างไรก็ตามการใช้กลดใต้ต้นไม้ไม่ผิด เพราะก็อยู่โคนไม้ไม่ใช่อยู่ในกุฏิ).


๓) ละเว้นการเข้าในที่มีที่มุงที่บังและใต้ต้นไม้ สมาทานอยู่กลางแจ้ง คือจะอยู่แต่ในที่กลางแจ้งเท่านั้น จะไม่เข้าสู่ที่มุงบังใดๆ เลย แม้แต่โคนต้นไม้ เพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่อาศัย (วัดป่าบางทีก็ถือการไม่ใช่อาสนะใดๆเลยเช่น เก้าอี้ เตียง ผ้าปูหรือ แม้แต่ผูกเปล รวมทั้งไม่นอนบนต้นไม้ โดยถือหลักการไม่อิงอาศัยสิ่งใดเกินจำเป็น แม้แต่รองเท้าก็ตาม)

๔) ละเว้นจากที่พักอันสุขสบายทั้งหลาย แล้วไปอาศัยอยู่ในป่าช้า เพื่อจะได้ระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ไม่ประมาท คำว่าป่าช้านี้ ในคัมภึร์หมายถึงป่าช้าเผาศพ ซึ่งต้องเคยมีการเผาศพมาก่อนอย่างน้อยครั้งหนึ่ง แต่ไม่ใช่ป่าช้าฝังผี และถ้าไม่ได้อยู่ในป่าช้าตอนตะวันขึ้นธุดงค์ก็แตก



๕) ละเว้นการโลเล (ยึดติด) ในเสนาสนะ สมาทานอยู่ในที่ตามมีตามได้ เสนาสนคาหาปกะ (ผู้ให้ ผู้แจก) จัดให้อย่างไรก็อยู่ตามนั้นไม่เลือกว่าสะดวกสบาย หรือถูกใจหรือไม่ และเมื่อมีใครขอให้สละที่พักที่กำลังพักอาศัยอยู่นั้น ก็พร้อมจะสละได้ทันที ( ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นการนอนซ้ำที่เดิม (เพื่อไม่หวงแหนในติดในสถานที่) โดย

- ถืออย่างเบาคือนอนย้ายที่ในอาวาสทุกวัน
- ถืออย่างหนักคือออกเดินทางย้ายที่นอนทุกวัน
- ถ้านอกอาวาส ถ้าหลายรูปให้พรรษาที่สูงกว่าเลือกให้และให้พรรษาสูงกว่าเลือกก่อน (ข้อนี้เป็นสมาจาริกศีล ไม่ใช่ธุดงค์) และ
- อยู่บนกุฏิวิหารให้ทำให้สะอาด ถ้าตามโคนไม้ไม่กวาดหรือทำอะไรเพราะใบไม้มีประโยชน์เช่นทำให้เท้าไม่ เปื้อนก่อนเข้าอาสนะ และสัตว์หรือคนเข้ามาย่อมได้ยินเสียง.

๖) เนสัชชิกังคะ ละเว้นอิริยาบถนอน สมาทานถืออิริยาบถนั่ง-อิริยาบถยืน-อิริยาบถเดินเพียง 3 อิริยาบถ ส่วนของวัดป่านั้นจะมีวิธีการเพิ่มออกนอกไปจากคัมภีร์อีก คือ ละเว้นการหลับด้วย ซึ่งก็ทำได้ไม่ผิด (มักเรียกการประพฤตินี้ว่าเนสัชชิก)


ตัวอย่างการฝึกธุดงค์ของคฤหัสถ์เมื่อไปปฏิบัติอยู่ที่วัด/อยู่ที่บ้าน

ธุดงควัตรบางข้อคฤหัสถ์สามารถปฏิบัติได้ที่บ้าน แต่บางข้อจะสะดวกกว่าเมื่อไปปฏิบัติที่วัด โดยทีวัดจะอบรมบุญธุดงค์เหล่านี้ให้ด้วยเช่น

๑) สมาทานละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน โดยปลีกเวลาออกมาอยู่ตามวัดป่า ใครจริงจังหน่อยก็เลือกเป็นป่าจริงๆบ้างเป็นต้น

๒) เมื่อมาถึงวัด สามารถฝึกโดยการสมาทานอยู่ในที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ เช่นให้นอนศาลาไหน กุฏิไหน ตรงไหน ก็นอนตรงนั้น ไม่เลือกนอน ละเว้นการยึดติดในที่นอน

๓) เมื่อมีเวลาว่างจากกิจ การอบรมต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่วัดจัดให้ ก็ปลีกตัวออกมานั่งปฏิบัติกลางแจ้ง เป็นเวลาเท่านั้น เท่านี้ตามที่ตนได้สมาทานไว้

๔)แทนที่จะนอนตามศาลา กุฏิอาคารต่างๆ ก็สมาทานนอนในที่ไร้มุงบังโดยกางกลดใต้ต้นไม้ เป็นต้น

๕) เวลาทานอาหารก็สมาทานอาหารมื้อเดียว ไม่ลุกระหว่างรับประทานอาหาร ไม่ทานอาหารเหลือ

๖) บางวันก็ไม่นอนเลยเป็นต้น ปฏิบัติอิริยาบถสามเท่านั้น

นอกจากนี้อาจฝึกฝนตนเองเพิ่มเติมได้เช่นการพิจารณาอาหารก่อนที่จะรับประทาน การละเว้นนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเข้ามาอยู่ธุดงค์ เป็นต้น



แม้แต่ผู้ที่ยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ จะเห็นได้ว่าข้อปฏิบัติเหล่านี้ บางข้อสามารถปฏิบัติได้เมื่ออยู่ที่บ้าน และหลายๆข้อจะสัปปายะกว่าเมื่อไปปฏิบัติตามสถานธรรมที่สงบวิเวก เป็นวัดป่าเป็นต้น และสามารถฝึกกันได้ทั้งผู้หญิงทั้งผู้ชาย ไม่จำกัดว่าเป็นข้อวัตรของภิกษุ...


และการธุดงค์สามารถปฏิบัติได้ไม่จำกัดเวลา

การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ครูบาอาจารย์บางท่านว่าให้หมั่นฝึกฝน ผู้ที่คิดว่าปีหนึ่งค่อยออกจากบ้านไปปฏิบัติธรรม ไปอยู่วัด ไปอยู่ป่า มันไม่ไหว ไม่ทันการณ์ น้อยเกินไป ควรแบ่งเวลาจากชีวิตตามปกติมาฝึกฝนการปฏิบัติด้วย

ให้ดูแบบอย่างพระมหากัสสปเถระผู้เป็นเอตทัคะผู้อยู่ธุดงค์ ถึงแม้ท่านเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงตรัสให้เลิกอยู่ป่าเพราะท่านชราภาพแล้ว ท่านก็กราบทูลพระองค์ว่าที่ท่านปฏิบัติอย่างนี้ก็เพื่อให้เป็นแบบอย่างให้พุทธศาสนิกชนรุ่นหลังได้ปฏิบัติตามแบบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงยังไม่เลิกจากสมาทานธุดงควัตร

ธุดงควัตรเป็นการบำเพ็ญตบะที่ยิ่งยวด เป็นการบำเพ็ญของผู้ประเสริฐ เมื่อฝึกปฏิบัติคุณธรรมต่างๆ ในตัวจะงอกงามพัฒนาขึ้นมาได้ง่าย ทำให้มีสติตื่นอยู่กับตัวตลอดเวลา จิตใจจะค่อยๆพ้นจากสุขภายนอกกิน กาม เกียรติ คน สัตว์ สิ่งของ อาหารรสโอชาทั้งหลายอันเป็นเครื่องยึดถือหน่วงเหนี่ยว

และที่สำคัญทำให้จิตรวมเป็นสมาธิได้เร็วขึ้น มีตบะ และสามารถรองรับคุณธรรมตลอดจนธรรมะขั้นสูงกว่าได้อีกด้วย

พอออกพรรษาแล้ว อีกไม่นาน ฝนก็จะซาไป ท้องฟ้าสดใส แล้วเราก็จะได้เห็นกลดแขวนตามต้นไม้ หรือนักปฏิบัตินั่งกันอยู่ตามสนามในวัดบางแห่ง อย่าลืมปลีกเวลาไปธุดงค์เพราะ เวลาอันใกล้นี้จะเป็นเวลาแห่งการฝึกปฏิบัติธุดงค์



เนื้อหา : น้อมเศียรเกล้า
ขอบพระคุณภาพชุด "เกิดมาไม่อบรมใจ จะได้อะไรในการเกิด" จาก อินเตอร์เน็ต



Create Date : 16 ตุลาคม 2553
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2559 11:52:37 น. 0 comments
Counter : 4434 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.