Group Blog
 
All Blogs
 
"เจดีย์"บุญเขตอันเยี่ยม (ตอน มิติทางสถาปัตยกรรม)-น้อมเศียรเกล้า

รวบรวมและเรียบเรียงโดย : น้อมเศียรเกล้า
ขอบพระคุณข้อมูล/ภาพประกอบจาก:

1.ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2.//krookong.net
3.@Single Mind for Peace
4.น้อม360
5.ภาพประกอบอื่นๆจากอินเตอร์เน็ต


SmileySmileySmileySmileySmiley

“เจดีย์ ถือเป็นปูชนียสถานหรือวัตถุเพื่อระลึกถึงพระพุทธเจ้าหรืออาจจะหมายถึงตัวแทนของพระพุทธองค์ มีความมุ่งหมายให้เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือบรรจุพระบรมธาตุ เจดีย์จึงเป็นประธานในวัด ต้นกำเนิดของเจดีย์มาจากอินเดียเรียกว่า “สถูป” ในภาษาบาลี หรือ “ถูป” ในภาษาสันสกฤต แต่เดิมก่อนมีพระพุทธศาสนาเป็นที่ฝังอัฐิ ในล้านนาเรียกเจดีย์ว่า กู่ เช่น กู่เต้า กู่กุด ต่างจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนิยมเรียกเจดีย์ว่า ธาตุ เช่น พระธาตุพนม ในทางพุทธศาสนาแบ่งเจดีย์ออกเป็น 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ อุเทสิกเจดีย์ และบริโภคเจดีย์ ต่อมาสามัญชนหรือบุคคลชั้นปกครองได้นิยมนำอัฐิเจดีย์ของผู้มีเกียรติสูง บรรจุไว้ในเจดีย์ด้วยแต่ต่างวัตถุประสงค์กัน”

(โชติ กัลยาณมิตร, 2539:94 – 97)



"สถาปัตยกรรมที่เรียกว่าเจดีย์นั้นไทยเราเรียกรวมถึงสถาปัตยกรรมในรูปอื่นที่สร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างเดียวกันด้วยดังเช่นพระปรางค์ ในงานวิทยานิพนธ์เรื่องThe Origin and Developement of Stupa Architecture in Indiaโดย Sushila Pant พิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1976 กล่าวว่า “สิ่งที่ไทยนิยมเรียกว่าเจดีย์นั้น มิได้เรียกเหมือนกันไปหมดทุกภาค” ในสถาปัตยกรรมแบบล้านนานั้นชาวภาคเหนือเรียกว่า “กู่” แทนคำเรียกว่าเจดีย์ เช่นกู่เต้า กู่กุฏิ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมแบบภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแล้วชาวภาคอีสาน นิยมเรียกว่า “ธาตุ” เช่น ธาตุพนม ธาตุบัวบก ฯล"




ลักษณะและรูปแบบทางสถาปัตยกรรม

พระเจดีย์ในประเทศไทย จากหลักฐานที่ปรากฏที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้ในปัจจุบันคือสมัย ทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๘) ซึ่งส่วนใหญ่พังทลายเหลือแต่แนวฐาน จึงต้องสันนิษฐานรูปแบบจากพระสถูปจำลองขนาดเล็ก หรือจากภาพปูนปั้นเหนือผนังถ้ำบางแห่งหรือจากภาพสลักบนใบเสมาสมัยเดียวกัน ทำให้พอเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบสำคัญ ๔ อย่าง คือ ฐาน องค์ระฆัง บัลลังก์ และยอด


ภาพสถาปัตยกรรมของเจดีย์ในยุคสมัยต่างๆ



รูปทรง

รูปทรงของเจดีย์อาจแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆดังนี้

เจดีย์ทรงระฆัง :

เจดีย์ที่มีองค์ระฆังเป็นลักษณะเด่นโดยมีฐานรองรับอยู่ส่วนล่างเหนือองค์ระฆังเป็นส่วนยอดมีบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม,ปล้องไฉนและปลีทรงกรวยแหลม





เจดีย์ทรงปราสาท :

ปราสาทหมายถึงเรือนที่ซ้อนหลายชั้นหรือมีหลังคาลาดหลายชั้นซ้อนกันเจดีย์ทรงปราสาทในประเทศไทยมีทั้งลักษณะเรือนธาตุซ้อนชั้นหรือหลังคาซ้อนชั้น






เจดีย์ทรงปรางค์ :

เป็นเจดีย์ที่มีทรงคล้ายดอกข้าวโพดประกอบด้วยส่วนฐานรองรับเรือนธาตุส่วนยอดเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปซึ่งคลี่คลายมาจากรูปแบบของปราสาทขอมแต่เจดีย์ทรงปรางค์โปร่งเพรียวกว่าปราสาทแบบขอม




เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม :

เจดีย์ทรงนี้เรียกชื่อตามลักษณะของยอดเจดีย์ที่คล้ายดอกบัวตูมบางองค์ทากลีบบัวประดับตรงดอบัวตูมด้วยบางครั้งเรียกว่า “เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์” เป็นความนิยมที่สร้างกันมากในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี




เจดีย์ทรงเครื่อง :

“เจดีย์ทรงเครื่องเป็นเจดีย์ที่ประดับลาย*เฟื่องรอบองค์ระฆังเพื่อแสดงลักษณะเด่นพิเศษจากเจดีย์องค์อื่น

เจดีย์ทรงเครื่องนี้มักสร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่ผู้ทรงเกียรติเช่น ที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างถวายเป็นพระราชอุทิศ แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ด้านทิศตะวันออก) และสร้างขึ้นเป็นส่วนพระองค์โดยเฉพาะ (ด้านทิศตะวันตก)

ขยายความลักษณะพิเศษก็คือการประดับองค์ระฆังด้วยปูนปั้นเป็นลายเฟื่องนั้น น่าจะสื่อความหมายเช่นเดียวกับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่มีความเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความหมายมาจากความเชื่อจักรพรรดิราชาที่มีอยู่ทั้งในพุทธศาสนาทั้งในมหายานและเถรวาท

(หนังสือพจนานุกรม สถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์โชติกัลยาณ มิตร)

*ลายเฟื่องคือลายไทยอย่างหนึ่งที่มีแรงบันดาลใจมาจากธรรมชาติรอบตัว***




เจดีย์ย่อมุม :




ปรางค์ :













ลักษณะและรูปทรงของพระปรางค์

พระปรางค์ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากศิลปะสถาปัตยกรรมขอมมีลักษณะจำแนกเป็น 4 แบบ คือ

1.ทรงศิขร เป็นปรางค์รูปแบบดั้งเดิม สร้างขึ้นตามแบบแผนเดิมของขอมเน้นคติความเชื่อว่าเป็นการ จำลองภูเขา และ สวรรค์ชั้นฟ้า ตัวอย่างได้แก่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ปราสาทหินพนมรุ้ง บุรีรัมย์ เป็นต้น

2.ทรงงาเนียม มีลักษณะคล้ายงาช้าง ลักษณะใหญ่แต่สั้นตอนปลายโค้งและค่อนข้างเรียวแหลม ถือเป็นประดิษฐกรรมของช่างไทยโดยมีการพัฒนาจากรูปแบบเดิมจนมีลักษณะเฉพาะของตนเองในสมัยอยุธยาตอนต้นตัวอย่างได้แก่ ปรางค์เหนือปราสาทพระเทพบิดรวัดพระศรีรัตศาสดารามกรุงเทพฯ พระปรางค์วัดพระศรีมหาธาตุเมืองเชลียงสุโขทัย เป็นต้น

3.ทรงฝักข้าวโพด มีลักษณะ ผอมบางและตรงยาวคล้ายฝักข้าวโพดส่วนยอดนั้นจะค่อยๆเรียวเล็กลง ก่อนรวบเป็นเส้นโค้งที่ปลายเป็นลักษณะเฉพาะของพระปรางค์สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างเช่น วัดเทพธิดารามกรุงเทพฯ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เป็นต้น

4.ทรงจอมแห มีลักษณะคล้ายแหที่ถูกยกขึ้น ตัวอย่างได้แก่วัดอรุณราชวรารามธนบุรี

ปรางค์อาจถือเป็นรูปแบบหนึ่งของเจดีย์ เช่นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ (เจดีย์ยอดทรงดอกบัวตูม) ของสมัยสุโขทัยเช่นเจดีย์ทรงระฆัง ของสมัยสุโขทัยก็มี ของสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือสมัยรัตนโกสินทร์ก็มี


เจดีย์แบ่งตามประเภทและตำแหน่งที่ตั้งของอาคาร
(www.phuttha.com)

พระเจดีย์ที่ใช้ประกอบในผังเขตพุทธาวาส โดยทั่วไปแยกออกได้เป็น 5 ประเภทตามตำแหน่งที่ตั้งและหน้าที่ คือ

1.เจดีย์ประธาน หมายถึง พระเจดีย์ที่ถูกกำหนดให้เป็นอาคารหลักประธานของวัด จึงมักเป็นพระเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่สุดในผัง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ ณ บริเวณกึ่งกลางผังหรือบนแนวแกนหลักด้านหลังพระอุโบสถหรือพระวิหาร ตำแหน่งเจดีย์ประธาน เช่น วัดกุฎีดาว อยุธยา, เจดีย์ประธาน วัดโสมนัสวิหาร

2.เจดีย์ทิศ(เจดีย์ประจำมุม) หมายถึง พระเจดีย์รองสำคัญในผังที่ถูกกำหนดให้ตั้งประกอบในผังที่ทิศทั้ง 4 หรือมุมทั้ง 4



เจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล


3. เจดีย์ราย หมายถึง พระเจดีย์ขนาดย่อมที่ประกอบในผังในฐานะพระเจดีย์รอง โดยจะวางอยู่เรียงรายรอบอาคารประธาน เจดีย์ราย วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา, เจดีย์ราย วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ


เจดีย์รายวัดพระเชตุพนฯ


4. เจดีย์คู่ หมายถึง พระเจดีย์ที่ทำเป็นคู่ ตั้งอยู่ด้านหน้าอาคารสำคัญอย่างพระอุโบสถหรือพระวิหาร หรือพระปรางค์ เจดีย์คู่ วัดชิโนรส ธนบุรี เจดีย์คู่ วัดไชยวัฒนาราม อยุธยา


เจดีย์คู่วัดพระแก้วมรกต


5. เจดีย์หมู่ หมายถึง พระเจดีย์ที่สร้างเป็นกลุ่มหรือหมู่ในบริเวณเดียวกัน โดยเน้นความสำคัญของทั้งกลุ่ม ไม่ได้เน้นที่องค์ใดองค์หนึ่ง


เจดีย์หมู่13องค์วัดอโศการาม


ภาพแสดงองค์ประกอบของเจดีย์
องค์ประกอบของเจดีย์โดยทั่วไป ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังแสดงในรูปต่อไปนี้



1. ลูกแก้ว องค์ประกอบส่วนที่ตั้งอยู่บนปลายยอดสุดของพระเจดีย์นิยมทำเป็นรูปทรงกลมเกลี้ยง บางแห่งทำเป็นรูปคล้ายหยดน้ำ ซึ่งเรียกว่า “หยดน้ำค้าง”



2. ปลี องค์ประกอบของยอดพระเจดีย์ส่วนที่ทำเป็นรูปกรวยกลมเกลี้ยงคล้ายปลีกล้วยต่อจากส่วนของปล้องไฉนขึ้นไป บางแห่งยืดปลีให้ยาวแล้วคั่นด้วย “บัวลูกแก้ว” ตอนกลางทำให้ปลีถูกแยกเป็น 2 ส่วน ซึ่งจะเรียกส่วนล่างว่า “ปลีต้น” และส่วนบนว่า “ปลียอด"



3. บัวกลุ่ม ชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งซึ่งทำเป็นรูป“บัวโถ” ต่อซ้อนให้มีขนาดลดหลั่นกันขึ้นไปอย่าง“บัวลูกแก้ว” สำหรับใช้เป็นส่วนของ“ปล้องไฉน” ในเจดีย์ย่อเหลี่ยม



4. ปล้องไฉน ชื่อเรียกส่วนปลายที่เป็นยอดแหลมของพระเจดีย์ ซึ่งทำเป็นบัวลูกแก้วคั่นเป็นข้อๆใหญ่เล็กลดหลั่นลงตลอดแท่ง ตรงเชิงฐานรับด้วย “บัวถลา” ก่อนวางเทินบน “ก้านฉัตร”



5. ก้านฉัตร องค์ประกอบทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำเป็นรูปทรงกระบอกกลม ทำหน้าที่เทินรับปล้องไฉนให้ตั้งฉาก



6. เสาหานองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ทำหน้าที่ช่วยเสริม “ก้านฉัตร” ในการรับน้ำหนักของ “ปล้องไฉน” และ “ปลี” นิยมทำเป็นรูปทรงกระบอกกลมหรือแปดเหลี่ยมขนาดเล็กแต่สูงเท่ากับก้านฉัตร วางล้อมก้านฉัตรในตำแหน่งของทิศประจำทั้ง 8



7. บัลลังก์ องค์ประกอบสำคัญที่ทำเป็นรูป “ฐานปัทม์” 4 เหลี่ยม หรือ4 เหลี่ยมย่อมุม หรือ กลม หรือ 8เหลี่ยมวางเทินเหนือหลังองค์ระฆัง เพื่อตั้งรับ “ก้านฉัตร” และ “เสาหาน”



8. องค์ระฆัง องค์ประกอบส่วนที่สำคัญที่สุดของพระเจดีย์ในฐานะตัวเรือนของอาคารที่ทำเป็นรูปทรงกลมปากผายคล้ายระฆังคว่ำปากลงในงานสถาปัตยกรรมไทยองค์ระฆังนี้มีทั้งแบบทรงกลม ทรง 8 เหลี่ยม และทรง4เหลี่ยมย่อมุมตามคตินิยมของแต่ละยุคสมัย
ที่แตกต่างกัน





9. บัวคอเสื้อองค์ประกอบตกแต่งที่ทำเป็นรูปกระจังปั้นทับลงบนส่วนของสันบ่า“องค์ระฆัง”
*บัวคอเสื้อ คือ ปูนปั้นตกแต่งลวดลาย*





10. บัวปากระฆังชื่อเรียกส่วนประกอบที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงายบางแห่งปั้นปูนประดับเป็นรูปกลีบบัว

11. บัวโถชื่อเรียกองค์ประกอบสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของเจดีย์ย่อเหลี่ยมที่ทำเป็นรูปบัวมีกลีบขนาดใหญ่ดอกเดียวเทินรับองค์ระฆังแทน“บัวปากระฆัง”ในเจดีย์ทรงกลมบ้างเรียกว่า “บัวคลุ่ม” ก็มี



12. มาลัยเถาชื่อเรียกองค์ประกอบชุดหนึ่งที่ทำเป็นชั้นของ “บัว” หรือ “ลูกแก้ว”คล้ายพวงมาลัยซ้อนต่อกันขึ้นไป
3 ชั้น ใต้บัวปากระฆัง



ฐาน

ฐานมีหลายชื่อ แต่สำหรับหมุ่ช่างจะเรียกว่าฐานบัว ซึ่งพัฒนามาจากฐานหน้ากระดานโดยเพิ่มองค์ประกอบบัวคว่ำและบัวหงายลงไป



13.ฐานสิงห์ หรือฐานเท้าสิงห์เป็นฐานที่ช่างยกย่องว่าเป็นฐานชั้นสูงกว่าฐานอื่น ฐานเท้าสิงห์ ซ้อนกัน 3 ชั้น ใช้เป็นชุดของ“มาลัยเถา” สำหรับเจดีย์ย่อเหลี่ยม



14. ฐานปัทม์ เป็นองค์ประกอบสำคัญทางโครงสร้างของพระเจดีย์ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งองค์หรือใช้เสริมองค์พระเจดีย์ให้ดูสูงขึ้นเหตุที่เรียกว่า “ฐานปัทม์” เนื่องเพราะโดยทั่วไปฐานชนิดนี้ก่อรูปด้วยลักษณะของฐานบัวชุด“บัวคว่ำ”และ“บัวหงาย” (ปัทม์หมายถึง ดอกบัว)

***การประดับฐานปัทม์เช่นครุฑ หรือมารทำให้ส่วนที่ประดับครุฑต้องคอดเข้าจึงมีที่เรียกส่วนนี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เชิงบาตร” หรือ “เอวขัน***



ภาพแสดงพระปรางค์วัดอรุณ ที่เชิงบาตรประดับด้วยมารแบก กระเบื้องเคลือบสีลายดอกไม้ ใบไม้ ฯลฯ



ภาพแบบฐานเชิงบาตรมารแบกโดยรองศาสตราจารย์สมใจ นิ่มเล็ก


15. ฐานเขียง เป็นชื่อเรียกฐานหน้ากระดานเกลี้ยงๆชั้นล่างสุดขององค์พระเจดีย์ ซึ่งแต่ละองค์แต่ละรูปแบบอาจจะมีฐานเขียงได้ตั้งแต่1-5 ชั้น ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปแล้วแต่จะกำหนด



ภาพฐานเขียงภูเขาทอง


SmileySmileySmileySmileySmiley


กรุณาติดตามชม..."เจดีย์บุญเขตอันเยี่ยม" ตอนต่อไปค่ะ





Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 5 กุมภาพันธ์ 2555 19:22:20 น. 7 comments
Counter : 52531 Pageviews.

 
ภาพที่ 2 เป้นภาพเจดีย์ที่วัดไหนคะ สมัยไหน ขอบคุณค่ะ


โดย: ju IP: 118.172.180.160 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:11:40:29 น.  

 
ขอบคุณมากเลยค้าบ ข้อมูลนี้ผมใช้สอบ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีไทยด้วย

มีประโยชน์มากๆครับ ^^


โดย: เนทนะจ๊ะ IP: 125.25.200.93 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:2:49:46 น.  

 

ภาพที่ 2 เป็นภาพของวัดแคนอก นนทบุรีค่ะ


โดย: น้อมเศียรเกล้า วันที่: 17 เมษายน 2555 เวลา:0:04:23 น.  

 
เย้ๆ มีงานส่งแล้ว ขอบคุณค่ะ


โดย: ชบา IP: 110.77.193.137 วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:22:41:59 น.  

 
ขอบคุณมากคะ ช่วยได้เยอะเลย


โดย: sasi IP: 180.183.239.44 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:1:44:25 น.  

 
ข้อมูลมีประโยชน์มากถึงมากที่สุดเลยค่ะ พรุ่งนี้สอบวิชาหลักการมัคคุเทศก์ เต็มแน่นอนค่ะ


โดย: นิรนามค่ะ IP: 49.230.67.108 วันที่: 23 ธันวาคม 2557 เวลา:1:03:17 น.  

 
ข้อมูลเยี่ยมมากค่ะ


โดย: aoipp IP: 110.171.166.155 วันที่: 8 กรกฎาคม 2558 เวลา:9:22:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.