Group Blog
 
All Blogs
 
ธรรมาธรรมะสงคราม (สงครามกับนักฆ่า ภายใน) - น้อมเศียรเกล้า

“ดูก่อนนิกรชน.........................อกุศลบทกรรม
ทั้งสิบประการจำ.........................และละเว้นอย่าเห็นดี

การฆ่าประดาสัตว์.........................ฤ ประโยชน์บ่พึงมี
อันว่าดวงชีวี........................ย่อมเป็นสิ่งที่ควรถนอม

ถือเอาซึ่งทรัพย์สิน.......................อันเจ้าของมิยินยอม
เขานั้นเสียดายย่อม.......................จิตตะขึ้งเป็นหนักหนา

การล่วงประเวณี........................ณ บุตรีและภรรยา
ของชายผู้อื่นลา-........................มกกิจบ่บังควร

กล่าวปดและลดเลี้ยว........................พจนามิรู้สงวน
ย่อมจะเป็นสิ่งควร........................ นรชังเป็นพ้นไป

ส่อเสียดเพราะเกลียดชัง........................บ่มิยังประโยชน์ใด
เสื่อมยศและลดไม........................-ตริระหว่างคณาสลาย

พูดหยาบกระทบคน........................ก็ต้องทนซึ่งหยาบคาย
เจรจากับเขาร้าย........................ฤ ว่าเขาจะตอบดี

พูดจาที่เพ้อเจ้อ........................วจะสาระบ่มี
ทำตนให้เป็นที่........................นรชนเขานินทา

มุ่งใจและไฝ่ทรัพ-........................ยะด้วยโลภเจตนา
ทำให้ผู้อื่นพา........................กันตำหนิมิรู้หาย

อีกความพยาบาท........................ มนะมุ่งจำนงร้าย
ก่อเวรบ่รู้วาย........................ฤจะพ้นซึ่งเวรา

เชื่อผิดและเห็นผิด........................ สิจะนิจจะเสื่อมพา
เศร้าหมองมิผ่องผา........................สุกะรื่นฤดีสบาย

ละสิ่งอกุศล.....................สิกมลจะพึงหมาย
เหมาะยิ่งทั้งหญิงชาย........................สุจริต ณ ไตรทวาร

จงมุ่งบำเพ็ญมา-........................ตุปิตุปัฏฐานการ
บำรุงบิดามาร-........................ดรให้เสวยสุข

ใครทำฉะนี้ไซร้........................ก็จะได้นิราศทุกข์
เนานานสราญสุข........................และจะได้คระไลสวรรค์

ยศใหญ่จักมาถึง........................กิตติพึงจักตามทัน
เป็นนิจจะนิรัน-........................ดรย่อมจะหรรษาฯ


(พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)



พระราชนิพนธ์เรื่อง"ธรรมาธรรมะสงคราม" ที่ผู้เขียนยกขึ้นมาตอนต้นนี้ เป็นวรรณคดีที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประพันธ์ขึ้นไว้เมื่อทรงได้ฟังพระธรรมเทศนามงคลวิเศษ ซึ่งสมเด็จพระสมณะ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงในงานเฉลิมพระชนมพรรษาปี ๒๔๖๑....

แท้จริงแล้ววรรณคดีเรื่องนี้มีเค้าโครงมาจากพระไตรปิฏก ชาดกเรื่อง ธัมมเทวปุตตจริยา ประวัติเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็น มหายักษ์ชื่อ “ธรรมะ”ชักชวนมหาชนให้ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ ทำการต่อสู้กับยักษ์ฝ่ายชั่วซึ่งชักชวนมหาชนให้ทำความชั่ว

ครั้นเมื่อธรรมเทวปุตรทำใจให้สงบเพื่อที่จะรักษาศีล เทวปุตรฝ่ายชั่วกลับถูกธรณีสูบ คือรถบ่ายหัวตกลงพื้นโลก พ่ายแพ้ไปเอง ทำให้เห็นว่าในที่สุดธรรมะก็ต้องย่อมชนะอธรรม



วรรณคดีเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงอย่างหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ แม้บางท่านจะตระหนักหรือไม่ตระหนักก็ตาม นั่นก็คือเรื่องราวของสงคราม

พอกล่าวถึงสงครามอาจจะทำให้ท่านจินตนาภาพไปถึง สมรภูมิดุเดือดที่สองฝ่ายทำการโรมรัน ต่อสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย พรั่งพร้อมไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ต่างฝ่ายต่างนำออกมาเพื่อที่จะช้ำทำลาย ฆ่าฟัน คู่ต่อสู้ในสนามให้พินาศไป และชื่อว่าสงครามย่อมเป็นเช่นนั้น คือมีความรุนแรง เพราะจุดประสงค์ของสงครามก็คือการทำให้ได้เหนือชัยชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และมีความจงใจอย่างแรงกล้าจะทำให้อีกฝ่ายมีความพินาศ



อย่างไรก็ตามสงครามภายนอกที่หลายท่านพอจะเข้าใจว่ารุนแรงอาจจะยังเปรียบเทียบไม่ได้กับสงครามภายในจิตใจที่เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะ คือการที่ธรรมะฝ่ายกุศล และอกุศลเข้าทำการช่วงชิงอำนาจซึ่งกันและกันในการบังคับบัญชามนุษย์

ซึ่งหากฝ่ายกุศลเป็นผู้มีชัยชนะ ก็จะทำให้มนุษย์ผู้นั้นอยู่ใกล้เส้นทางสายกลางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นเส้นทางที่อยู่บนกระแสพระนิพพาน อันเป็นแหล่งของความสุข ความสำเร็จและความบริสุทธิ์

แต่หากอกุศลเข้าทำการโรมรันชิงช่วงใจของมนุษย์ได้สำเร็จแล้วก็จะทำให้มนุษย์ผู้นั้นหลุดออกจากทางสายกลางของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันห่างไกลจากกระแสพระนิพพาน และประสบแต่ความทุกข์ยากเดือดร้อน



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่าเมื่อใดที่กุศลเกิดขึ้นจิตใจ ก็เกิดความสุข ความสงบความเจริญ เมื่อใดอกุศลเข้าครอบงำจิตใจก็เกิดเป็นความวุ่นวายเดือดร้อน เพราะความสุขหรือความทุกข์ทั้งมวลย่อมเกิดจากใจก่อนทั้งสิ้น

“ธรรมทั้งหลาย มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ ถ้าใจอันโทษประทุษร้ายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามไป..ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ ถ้าใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามไป”



สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสสอนให้คนเรานี้ควรฝึกฝนใจ และทำให้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะใจนี้เองเป็นนาย เป็นประธานในการควบคุมให้คนเราดำเนินชีวิตไปในลักษณะต่างๆที่แตกต่างกันไป แม้กระทั่งนำมหาชนสู่ความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดกระทั่งเปลี่ยนแปลงปุถุชนเป็นอริยชน หรือทำให้มหาชนตกต่ำที่สุดถึงขนาดไปนรกได้รับความทุกข์ความเดือดร้อน



จริงอยู่การฝึกฝนจิตใจอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายและกระทำให้เสร็จสิ้นไปเพียงเวลาชั่วคืน เพราะการต่อสู้ระหว่างกุศลกับอกุศลนี้แท้จริงแล้วเปรียบดัง มหาสงครามใหญ่ที่ต้องเอาชีวิตเข้าเป็นเดิมพัน

และอาวุธที่จะเข้ามาห้ำหั่นกันนั่นก็คือ บุญและบาปที่ติดตัวมากับมนุษย์เรา เป็นดังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จะนำมาทำร้ายทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง

ผู้ใดที่มีบุญมากก็จะสั่งสอนตัวเองได้ จะรู้หนทางบุญ บาป คอยให้กำลังใจตัวเอง คอยสอนตัวเอง ผู้ที่สะสมบาปไว้มาก บาปก็มีกำลังทำให้อกุศลเข้าครอบงำได้ง่าย..



การเกิดเป็นมนุษย์จึงต้องต่อสู้อย่างมาก ต่อสู้กับทั้งเวลาที่กลืนกินชีวิตของเราไปทุกขณะจิต และต่อสู้ที่จะขจัดมลทินหรือ*ศัตรูภายใน*ในการทวนกระแสกิเลสสร้างความดี เพราะการทำดีไม่ใช่เรื่องง่าย อุปมาเหมือนการว่ายทวนกระแสน้ำซึ่งต้องอาศัยกำลังทั้งกายและใจเข้าแลก

***มลทินภายใน อมิตรภายใน ศัตรูภายใน ผู้ฆ่าภายใน ข้าศึกภายใน มี ๓ ประการได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ (อิติวุตตก ๒๕/๒๙๕) ***



จึงมีผู้คนจำนวนมากยอมพ่ายแพ้ให้กับบาปอกุศล เนื่องจากบาปเป็นสิ่งที่ทำง่าย และไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย ส่วนการทำความดีเป็นเรื่องยาก และต้องอาศัยการลงุทนที่ทำได้ยากลำบาก คือการข่มใจเข้าสู้.. สู้กับหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นเหยื่อล่อ ให้เพลิดเพลินและติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ


<
a href="//www.bloggang.com/data/t/tilltomorrow/picture/1286983463.jpg" target=_blank>


การต่อสู้ระหว่างกุศลกับอกุศลในใจของเรานี้ เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันเกิดจนวันกระทั่งวันตาย วันใดก็ตามที่เราไม่ลุกขึ้นสู้ กิเสสก็ชนะเราจึงต้องพยายามให้กุศลหรือความดีเกิดขึ้นในตัวบ่อยๆ

"แม้บางครั้งเราจะพลาดไปบ้างก็ตาม ต้องคิดเสมอว่าสู้ก็ตายไม่สู้ก็ตาย แต่ถ้าไม่สู้ ชีวิตที่เหลืออยู่ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่ตายแล้ว นั่นก็คือตายไปจากความดีนั่นเอง แถมมีผลพวงเป็นความทุกข์ความเสียหายเดือดร้อน"

ผู้ที่พ่ายแพ้ต่อกิเลส คือไม่พยายามต่อสู้นั่นเองสมเด็จพระสัมมาสัมพทุธเจ้าทรงตรัสว่า มารย่อมข่มเห่งคนผู้นั้น เปรียบเสมือนลมทำลายต้นไม้ที่ไม่แข็งแรง
ส่วนผู้ที่มีความเพียร ไม่มักเห็นว่าสวยงาม สำรวมอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) รู้ประมาณในการบริโภค มีศรัทธา ปรารภความเพียร มารย่อมไม่ข่มเหงผู้นั้น เหมือนลมไม่ทำลายภูเขาอันล้วนด้วยศิลาฉะนั้น



วรรณคดีเรื่องธรรมาธรรมะสงครามนี้เป็นวรรณดคีสอนให้คนรู้จักทำความดีและเชื่อถือในความดี เชื่อถือธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน ว่าท้ายที่สุดแล้วการยึดมั่นทำความดีจะนำสิ่งที่เป็นความสุขความสำเร็จมาให้

ส่วนผู้ที่ทำบาปบาปย่อมทำลายตัวเขาเอง ดังอธรรมเทวปุตรที่ต้องพ่ายแพ้ภัยตนเองไป ....แท้จริงเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นพระสมัยพระบรมศาสดาเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ทั้งยังสามารถเปรียบเปรยเป็นบุคคลาธิษฐานเรื่องการต่อสู้กับนักฆ่าคือกิเลสภายในได้อย่างดีอีกด้วย

ก็สมดังพุทธศาสนาสุภาษิตที่ขออนุญาตยกมาเป็นธรรมภาษิตว่า

“ธรรมและอธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้ย่อมหาเสมอกันไม่ ธรรมทั้ง ๒ อย่างนี้เสมอกันหามิได้”

อธมฺโม นิรยํ เนติ อธรรมนำไปนรก
ธมฺโม ปาเปติ สุคฺคตึ ธรรมให้ถึงซึ่งสวรรค์




เนื้อเรื่อง : น้อมเศียรเกล้า
ขอขอบพระคุณภาพชุด"ยักษ์"จาก : @single mind for peace



Create Date : 13 ตุลาคม 2553
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 14:30:49 น. 0 comments
Counter : 2999 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.